ส้ม-เปลือกส้ม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เด็กมันก็คือเด็ก แต่ผู้ใหญ่น่ะ เพราะเราเป็นเด็กมาก่อน ทุกคนต้องเป็นเด็กมาก่อน แต่อยู่ที่วาสนานะ เราพูดบ่อยมาก เวลาพูดถึงเด็กอายุ ๗ ขวบเป็นพระอรหันต์ไง พวกเราคุยกันบ่อยว่าเรานี่ทำอะไรไม่ได้ แต่เด็กอายุ ๗ ขวบ สามเณรอายุ ๗ ขวบเป็นพระอรหันต์ การเป็นพระอรหันต์นะไม่ใช่ลอยมาจากฟ้า!
เด็กจะอายุมาก อายุน้อยขนาดไหน เขาจะมีเชาว์ปัญญาของเขา นี่เป็นลูกศิษย์ของพระสารีบุตร เห็นไหม ถือบาตรตามพระสารีบุตรไป เห็นเขาชักน้ำเข้านานี่เด็กมันคิดได้ น้ำมีชีวิตไหม เห็นเขาดัดคันศรไง แล้วคันศรมีชีวิตไหม ถามพระสารีบุตร พระสารีบุตรบอกไม่มี...
เด็กมันคิดนะ ของไม่มีชีวิตเขายังใช้ประโยชน์ได้ แล้วเรานี่เป็นคน เป็นสิ่งที่มีชีวิต ทำไมเอาจิตเรามาใช้ประโยชน์ไม่ได้ นี่กลับไปวิปัสสนาเป็นพระอรหันต์เลยล่ะ สามเณร ๗ ขวบ แต่นี่เราไปดูกันแค่ว่าวัยวุฒิ.. วัยวุฒินี่มันเป็นเปลือก แต่ถ้าเขาสร้างบุญของเขามา ไอ้เรานี่อายุ ๗๐-๘๐
นี่เวลาพระสารีบุตรไปฟังพระอัสสชิ เห็นไหม ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ไปแก้ที่เหตุนั้น ท่องจนปากเปียกปากแฉะ ไม่เห็นได้อะไรเลย เพราะอะไรรู้ไหม เพราะใจมันไม่เปิด
เวลาหลวงตาท่านพูดไง ท่านบอกว่าพระอะไรที่จะไปถามพระพุทธเจ้า ไปถามเรื่องปัญหาภาวนา แล้วพอไปถึงกุฏิพระพุทธเจ้าฝนมันตก พอฝนมันตกนี่นะน้ำมันเจิ่งนองเลย แล้วหยดน้ำจากชายคาหยดลงไปที่น้ำแล้วมันเป็นฟองน้ำแล้วมันแตกไง นี่พระองค์นั้นเพ่งอยู่ เห็นไหม ใจนี่มันหมุนอยู่ เพราะจะไปถามปัญหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะใจใช้ปัญญา.. ปัญญากับกิเลส นี่ธรรมกับกิเลสมันต่อสู้กันในจิต แล้วกำลังต่อสู้กันรุนแรงมาก มรรคญาณมันหมุน ทีนี้ตัวเองยังแก้ไม่ได้ จะไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พอทีนี้จิตมันหมุนอยู่ ในหัวใจนี่งานมันทำของมันอยู่ พอไปเจอน้ำมันเป็นจุดเป็นฟองเป็นต่อมนี่แตกพั่บ! พั่บ! นี่ไงมันเป็นไตรลักษณ์ เห็นไหม คือเกิดขึ้น... ตั้งอยู่... แล้วก็ดับไป... มันเป็นสิ่งกระทบเตือนเข้ามาในหัวใจ จิตเพ่งอยู่นะ พอเห็นปั๊บบรรลุธรรมเลยเป็นพระอรหันต์เลย ไม่ขึ้นกุฏินะ เดินกลับเลย เห็นไหม
สิ่งที่มันจะเป็นไปมันต้องมีตัวจิต
ตัวความรับรู้อันนี้สำคัญ ตัวจิตไง! ดูสิอย่างเหตุการณ์ๆ หนึ่งที่เกิดขึ้นมา มันอยู่ที่มุมมองของแต่ละคน ใครมีอาชีพใด วิชาชีพสิ่งใดมองเหตุการณ์อย่างนั้น ก็ตีความหรือแก้ไขเหตุการณ์ตามวิชาชีพของตัว แล้วก็เถียงกัน.. เถียงกันว่าต้องแก้ไขด้วยวิธีการใด
นี้ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันมีหลักมีเกณฑ์ เห็นไหม จิตนี้สำคัญ! นี่ย้อนกลับมาเลย.. ย้อนกลับมาที่เขาบอกว่า ไม่ต้องทำสมาธิ
นี่ค้านหัวชนฝาเลย! ถ้าไม่ทำสมาธิ ถ้าจิตไม่สงบมา มันเป็นโลกียปัญญา เป็นปัญญาสามัญสำนึก เป็นปัญญาของกิเลส... ปัญญาทั้งหมด วิชาชีพจะสูงส่งแค่ไหน ทำวิจัยได้มากมายขนาดไหน สิ่งที่เกิดขึ้นมาเป็นกิเลสทั้งหมด! กิเลสทั้งหมด! เพราะมันมาจากจิต ตัวจิตนี้มีอวิชชา.. แต่ถ้าทำความสงบของใจเข้ามา นี่ตรงนี้!
ถ้าทำความสงบของใจเข้ามา จากโลกียปัญญา ปัญญาของกิเลส มันจะเกิดเป็นปัญญาของธรรมขึ้นมาได้
นี่ถ้าคนภาวนาเป็น ปฏิเสธตรงนี้ไม่ได้เลย พอเขาปฏิเสธตรงนี้ปั๊บ เราฟังตั้งแต่ครั้งแรกเลย ตั้งแต่ ๑๐ กว่าปีที่แล้ว เราบอกว่าพวกนี้เป็นไปไม่ได้! พวกนี้เป็นไปไม่ได้! เป็นไปไม่ได้!
แต่ความเป็นไปได้ของเขา นี่เขาจะพูดบ่อย คือเขาสร้างสังคมของเขาขึ้นมาอีกสังคมหนึ่ง สังคมของเขาเอง แต่ถ้าเป็นสังคมจริง จะเป็นอย่างนั้นได้ต้องทำจิตสงบเข้ามาก่อน เห็นไหม แล้วพอจิตสงบเข้ามาแล้ว...
คำว่าจิตสงบไม่ใช่ฌาน! ไม่ใช่ฌาน! ฌานเป็นฌาน.. สมาธิเป็นสมาธิ
สมาธิคือความสงบของใจ.. ฌานคือพลังงานของจิต
ฌาน เห็นไหม ฌานสมาบัติ.. เวลาเข้าฌานสมาบัตินี่ความว่าง ๘ ระดับ ตั้งแต่รูปฌาน-อรูปฌาน แล้วพอย้อนขึ้นไป.. ย้อนขึ้นไปสังโยชน์เบื้องบน รูปราคะ-อรูปราคะ มานะ กุกกุจจะ อวิชชา
รูปราคะ-อรูปราคะ นี่แหละฌานสมาบัติ! รูปฌาน-อรูปฌาน... รูปราคะ-อรูปราคะ..
เวลาจิตมันสงบ มันเป็นธรรมชาติของมัน พัฒนาการของมันจะเป็นอย่างนั้น พอถึงที่สุดแล้วพอจิตมันว่าง อนาคาไง พอฆ่ากามราคะ ปฏิฆะขาดปั๊บ เป็นจิตเดิมแท้ พอจิตเดิมแท้นี่มันติดสังโยชน์อีก
พระอนาคา กิเลสของพระอนาคา รูปราคะ-อรูปราคะ มานะ กุกกุจจะ อวิชชา.. รูปราคะ-อรูปราคะ!
นี้ฌานสมาบัติ เวลาเราสงบเข้ามา รูปราคะ-อรูปราคะ นี่รูปฌาน-อรูปฌาน แต่เวลาฌานสมาบัติของเรา ฌานสมาบัติ เห็นไหม กิเลสเต็มตัวไง ฤๅษีชีไพรก็เข้าฌานสมาบัติไง มันไม่ใช่พระอนาคา
คำว่ารูปราคะ-อรูปราคะ นี่จิตมันเป็นอย่างนั้นโดยธรรมชาติ แต่ฌานสมาบัตินี่เราต้องเข้า เพราะเราพยายามจะกดกิเลสไว้เพื่อให้จิตของเรามีกำลัง นี่ฌานสมาบัติ!
ฌานสมาบัติ.. เวลาจิตมันมีกำลังของมัน เวลาเข้าฌานสมาบัติ นี่ตั้งโปรแกรมไว้เลย เราตั้งโปรแกรมกับจิตไว้เลย เราต้องการสิ่งใด.. อยากเป็นอะไร.. อยากรู้อยากเห็นอะไรตั้งโปรแกรมไว้ แล้วเข้าฌานสมาบัติ พอจิตมันสงบพั่บ! ถึงตรงนั้นแล้วนะ โปรแกรมนั้นแสดงตัวเลย ขึงโปรแกรมไว้เลย เหาะ.. แล้วเข้าฌานสมาบัติเลย นี่มันขึ้นมันลงจนถึงที่สุดแล้วเหาะเลย
นี่พูดถึงมันเป็นนะ ถ้ามันทำของมันได้ แล้วมันได้อะไรล่ะ ฤๅษีชีไพรก็ตายไปแล้ว เทวทัตเห็นไหม นี่เหาะเหินเดินฟ้าได้ แปลงตัวได้ เทวทัตก็ตกนรกอเวจีไปแล้ว อ้าว.. ฌานสมาบัติมันได้อะไร ?
ฌานสมาบัติถ้าเรากิเลสหนา เรานี่เป็นคนกิเลสหนามาก แล้วเราทำฌานสมาบัติได้ เราเป็นคนมีคุณวิเศษ เอาคุณวิเศษนี้ไปทำลายคนอื่นมหาศาลเลย ฌานสมาบัตินี้ถ้ามันทำกับคนที่เลวนะ สิ่งที่มันเกิดขึ้นมานะ เขาเอาไปทำคุณไสย เอาไปทำให้ครอบครัวคนอื่นเขาแตกแยก เห็นไหม นี่แล้วมันได้อะไรขึ้นมา นี่ไงฌานสมาบัติ!
เพราะฌานสมาบัตินะ ถ้าเป็นคนดี คนที่ดีเขาก็ติดในสมาบัตินั้น ติดในความรู้ความเห็นอันนั้น นี้ฌานสมาบัตินั้นไม่ใช่สมาธิ!
แต่เวลาเราพูดนะ ฌานสมาบัติ... ฌานกับสมาธินี่ใช้แทนกัน เพราะมันเป็นคำพูดไง เหมือนกับเราจะสื่อความหมายกับคนๆ หนึ่ง แบบว่าภาษาท้องถิ่นไง ภาษาท้องถิ่นเขาพูดอย่างนั้น อย่างเช่นนะ เช่นเขาบอกว่า ยี่สิบ อีสานเขาว่า ซาว ก็ยี่สิบเหมือนกัน ยี่สิบกับซาว อ้าว.. แล้วอะไรถูกล่ะ นี่เวลาภาษาท้องถิ่นเขาบอกซาว
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าภาษาท้องถิ่นเขาทำความสงบ แต่เขาบอกว่าเป็นฌาน เราก็ว่า เออ! ฌาน แต่จริงๆ แล้วคำว่าฌาน... คือคำว่ายี่สิบก็ต้องยี่สิบ ซาวก็คือซาว ก็คือยี่สิบเหมือนกัน
นี้ฌานมันก็เกิดจากความสงบเหมือนกัน แต่เป็นการสงบด้วยการเพ่ง เป็นการสงบด้วยกำลังของมัน ที่มันมีพลังงานของมัน ถ้าเป็นความสงบเป็นสมาธิ นี่มันสมาธิ.. อัปปนาสมาธิ ดูสิขณิกสมาธิ... อุปจารสมาธิ.. อัปปนาสมาธิ..
คำว่าเป็นสมาธิเข้ามา นี่มันมีผู้ดูแลนะ คำว่าสมาธิที่เขาว่าว่างๆ ว่างๆ นั้นไม่ใช่สมาธิ ใครมาก็ว่าง! ว่าง! อย่างนั้นไม่ใช่สมาธิ.. เป็นสัญญาอารมณ์ว่าว่าง! สัญญาอารมณ์ เวลาเราฟุ้งซ่านเรามีความคิด คือเรามีความคิดในหัวใจใช่ไหม เราคิดให้ว่าง.. คิดให้ว่าง ตรึกในธรรมะนี่มันว่างไหม.. ว่าง
แต่ถ้าเป็นสมาธินะ ปัญญาอบรมสมาธินี่มันมีสติ ถ้ามีความคิดขึ้นมา นี่สติมันตามความคิดไป.. สติมันตามความคิดไป พอตามความคิดไป ตามความคิดไป ความคิดนี่โดยธรรมชาติของมัน ทุกคนคิดแล้วมันต้องเหนื่อยล้า เห็นไหม ดูอย่างเช่นผู้บริหารสิ เครียดมาก ผู้รับผิดชอบนี่ผมขาวเลย วิตกกังวลมาก นี่มันเหนื่อยของมัน
นี้ธรรมชาติมันเป็นหน้าที่การงาน แต่เวลาเราปฏิบัติธรรม เราใช้สติตามความคิดไป ความคิดนี่ธรรมชาติของมันเกิดดับอยู่แล้ว แต่มันเกิดดับโดยสัญชาตญาณ เกิดดับโดยข้อมูล เกิดดับโดยการกระทำของมัน เกิดดับโดยธรรมชาติของมัน มันเกิดดับในหน้าที่การงานของมันไง
มันเป็นหน้าที่การงานของมันอย่างนั้น โดยธรรมชาติของมันอย่างนั้น แล้วเราไม่ได้ประโยชน์สิ่งใดจากมัน พอเรามาศึกษาธรรมปั๊บ เราตั้งสติตามความคิดไป ตามความคิดไป พอเราตามความคิดไป พอปัญญามันทันนี่ความคิดมันดับ
นี่ปัญญาในพุทธศาสนา! ปัญญารอบรู้ในกองสังขาร
สังขารคือความคิด ความปรุงความแต่ง นี่ความคิดของเราคือกองสังขารในขันธ์ ๕ แล้วปัญญาของเรามันรอบรู้ในกองสังขาร มันรอบรู้ในความคิด พอรอบรู้ในความคิด นี่ความคิดมันหยุด ความคิดมันดับ พอความคิดมันดับ...
ความคิดมันเกิดจากอะไร! ความคิดมันเกิดจากอะไร... ความคิดเกิดมาจากจิต! ความคิดเกิดมาจากจิต ความคิดไม่ลอยมาจากฟ้า ความคิดไม่มีที่มาไม่ได้ ทุกอย่างจะมีเหตุมีปัจจัย จะต้องมีที่มาที่ไป จะต้องมีที่เกิดที่ดับ จะต้องมีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นกระบวนการของมัน
นี่ความคิดมันเกิดมาจากจิต เวลามันดับไปแล้วเหลืออะไร.. มันเหลืออะไร ถ้ามีสตินี่มันเหลือจิต เห็นไหม มันเหลือจิตเพราะสติมันเห็น มันเหลือจิต! พอมันเห็นจิต นี่ไง นี่ความสงบ นี่ปัญญาอบรมสมาธิ
ถ้าอย่างนี้ คือมีสติปัญญา มีการตามตรงนี้ มันจะเกิดสมาธิ.. เกิดสมาธิหมายถึงว่า ตัวมันเองว่าง เราไม่ได้บอกว่าว่างนะ ไอ้ที่บอกว่าว่างๆ นั้นตัวมันไม่ว่าง ตัวเราเองไม่ว่าง แต่เราบอกว่าว่าง เพราะอะไร เพราะตัวเราอยู่นี่ เราไปมองสภาวะแวดล้อมว่าว่าง! แต่ตัวมันไม่ว่าง!
นี่เรามองสิ มองลงไปในอากาศว่างไหม.. ว่าง... แล้วใครเห็นว่างล่ะ ก็มึงไง.. ก็เราไปมองอากาศว่าว่างไง แต่ถ้ามันเป็นสมาธินะ ตัวของมันเอง ตัวที่ดูอากาศอยู่น่ะ โฮ่.. อากาศมันเป็นอากาศ อากาศมันไม่ให้ผลกับใครนะ แต่เราโฮ่...
นี่! นี่ความสงบ! นี่ความสงบมันเกิดตรงนี้! สมาธิมันเกิดตรงนี้! แล้วตัวสมาธินี่เป็นตัวฐีติจิต เป็นตัวก่อเกิดกระบวนการทุกๆ อย่างทั้งดีและเลว แล้วตอนนี้เขามาบอกว่าเป็นอัพยากฤต เป็นธรรมะนะ เป็นอารมณ์ของพระอรหันต์ เป็นอารมณ์ของมรรค... เป็นไปไม่ได้เลย!
ตัวอัพยากฤตมันก็เหมือนกับตัวตอนั่นแหละ นี่ตอของจิต! ตัวตอ เห็นไหม ดูสิอย่างเช่นตาชั่ง เข็มมันไม่กระดิกไปนี่อัพยากฤต แต่ถ้าตาชั่งที่เข็มมันกระดิกนะ มันจะไปดีและชั่วไง ตัวอัพยากฤตคือตัวตอ คือตัวจิตมันกลับมารวมตัวของมัน แต่มันก็ยังไม่ว่าง!
นี่พูดถึงสมาธินะ คำว่าสมาธิคือจิตสงบ แล้วตรงนี้ตัวจิตสงบนี่มันออก สรรพสิ่งทั้งหมด เวรกรรมทั้งหมด ทุกอย่างเกิดจากจิตหมดเลย การกระทำดีทำชั่วทั้งหมดเกิดจากจิต!
บุพเพนิวาสานุสติญาณ.. ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขยนี่ การทำคุณงามความดีเป็นอนันตชาติ คือสิ่งที่นับไม่ได้ถึง ๘ หน ๑๖ หน แล้วมันซับซ้อนกันมา จนเกิดอำนาจวาสนาเป็นพระโพธิสัตว์ เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่มันขาดช่วงกันไหม ถ้ามันขาดช่วงกัน มันต้องขาดไป คือ ๔ อสงไขยมันไม่ครบไง ๘ อสงไขยก็ครบไม่ได้เพราะมันขาด มันไม่ถึง ๘ อสงไขย เพราะบารมีไม่เต็ม แล้วเป็นพระพุทธเจ้าได้อย่างไร
๑๖ อสงไขย... นี่ไงมันซับซ้อนกันมา เห็นไหม มันซับซ้อนกันมา ข้อมูลนี้มันซับซ้อนกันมา จนเป็นอำนาจวาสนา เป็นบารมีไง เป็นบารมีของจิตที่บารมีเต็ม ที่จะมาตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ฉะนั้นถ้าจิตมันไม่สงบถึงข้อมูลนี้ นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมณโคดมของเราเนี่ยเป็นพระอรหันต์จากตรงไหน
นี่บุพเพนิวาสานุสติญาณ.. จุตูปปาตญาณ.. อาสวักขยญาณ..
อาสวักขยญาณมันทำอะไร มันก็ทำตออันนี้ไง! มันมาทำตอ มาทำตัวจิตที่มันสร้างบารมีมา มันมาชำระล้างจนตอนี้มันสะอาด แล้วเวลาเขาบอกว่า ไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องทำสมาธิเลย คือมันหาตอนี้ไม่เจอ! มันไม่รู้จักที่เกิดที่ดับของความคิด! มันไม่รู้ที่มาที่ไปของกิเลสมันอยู่ที่ไหน แล้วมันบอกว่ามันเป็นพระโสดาบันกัน มันเป็นพระอรหันต์กันนะ แต่มันยังไม่รู้เลยว่าไปชำระความสะอาดกันตรงไหน แล้วมันจะเป็นไปได้อย่างไร ถ้าคนรู้จริงนะ เขาจะไม่กล้าปฏิเสธตรงนี้ไง
พวกโยมนี่มาจากบ้าน ออกจากนี้ไปเราก็กลับบ้าน ความคิดเราออกมาจากไหน ออกมาจากจิต โยมนี่กลับบ้านหมดนะ ออกจากนี่ไปกลับบ้านหมด บ้านใครบ้านมัน แล้วความคิดของเราออกมานี่ แล้วมันจะกลับไปที่ไหน แล้วความคิดมันมาจากไหน
นี่ไง พูดถึงถ้าคนมันไม่เคยรู้เคยเห็นนะ มันจะปฏิเสธตรงนี้ไง... มันปฏิเสธตรงนี้ แล้วคิดเองว่าตัวเองพูดแล้วมันเท่ห์ ไอ้พวกพระป่านี่ไอ้พวกดึกดำบรรพ์ไง ไอ้พวกไดโนเสาร์ พูดนี่ซ้ำซาก พุทโธ พุทโธอยู่นั่นแหละ น่าเบื่อหน่าย พอเสนอแนวคิดใหม่ๆ มานี่ โอ้โฮ..ไปไกลเลยนะ
นี่โดนหลอก เพราะบอกว่าเวลาพุทโธคือพวกเรานี้เคลื่อนออกจากฐาน ชาวไทยเดี๋ยวนี้ไม่ภูมิใจในชาติของตัวเอง ชาวไทยนี่เวลามีคนสัญชาติอื่นเข้ามา เราก็ว่า อู้ฮู.. เขามีศักยภาพ เขามีทุกอย่างดีไปหมดกับคนไทย
นี่ก็เหมือนกัน... พุทโธ พุทธะ นี้มันเป็นศาสดาของเรา
นี่เรากำหนดพุทโธ พุทโธ ถ้าเราทำได้เราเป็นชาวพุทธ นี่มันเป็นเหมือนกับสัญชาติของเรา เราเป็นชาวพุทธ แต่เวลาเราพุทโธขึ้นมา ทุกคนบอกว่าไม่มีประโยชน์ มันไม่มีประโยชน์อย่างไร..
พุทโธ ธัมโม สังโฆ.. พุทธานุสติ.. ธัมมานุสติ.. สังฆานุสติ..
พุทธานุสติ พุทธะ... พุทธานุสติ เรามีสติอยู่กับพุทธะ! พุทธะ คือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แล้วพุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ แต่พวกเรามันทำกันไม่ได้ แล้วทำกันไม่เป็น แล้วเอามาเหยียบย่ำกัน เยาะเย้ยถากถางกัน ว่าชาวพุทธนี่เป็นคนโง่ ชาวพุทธเป็นผู้ที่ไม่ทันคน
โธ่! พระพุทธเจ้าพูดไว้ในธรรมะนะ อย่าดูถูกความนิ่งอยู่ของพระอริยเจ้า พระอริยเจ้านิ่งอยู่นี่ รู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นมากับเรานะ ไฟจะเกิดขึ้นมาจากเรานี่ดับไว้ก่อน ไฟไม่เผาเรานะ แล้วไฟนี้ก็จะไม่ลามไปเผาคนอื่น
ในพวกทางวิทยาศาสตร์ใช่ไหม กลัวจะไม่ทันคนไง ไฟที่มันเกิดมาจากหัวใจเรามันเผาจนร้อนเลยนะ แล้วมันก็ลามไปเผาคนอื่นนะ มันบอกว่าพวกนั้นเก่ง ทันคน แล้วพอเห็นชาวพุทธนะ เห็นนิ่งๆ เซ่อๆ ไง ก็ว่าไอ้พวกนี้ไม่ทันคน นี่มันเกิดไฟ เขาเรียกว่าเบียดเบียนตนก่อน เราเกิดโทสะ เกิดสิ่งต่างๆ เกิดความไม่พอใจ นี่มันเบียดเบียนตนก่อน เบียดเบียนตนแล้วก็ไปเบียดเบียนคนอื่น
ทีนี้ความทัน! นี่สติมันทัน เห็นไหม เราไม่ให้มันเบียดเบียนเรา เรานิ่งอยู่นะ แล้วไอ้พวกข้างนอกบอกว่า เซ่อ! ไม่ทันคนนะ ให้เขาเอารัดเอาเปรียบไง
เวรกรรมนะ... เขาทำของเขา เขาได้ของเขา เราทำของเรา เราได้ของเรา นี่เพราะเราคิดกันอย่างนั้น เห็นไหม เราถึงมองข้ามคุณงามความดี ดูสิอย่างเช่นคนต่างประเทศ เขามาเมืองไทยนี่เขามาเที่ยวอะไร เขามาเที่ยวประเพณีวัฒนธรรมของเรานะ แล้วเราอยู่กับประเพณีวัฒนธรรมของเรา นี่เราดูถูกเหยียดหยามกัน
ประเพณีวัฒนธรรมไม่ใช่ธรรม ประเพณีวัฒนธรรมเกิดจากความตกผลึกของใจเรา
ใจของชาวพุทธมันมีศาสนา มีคุณธรรม แล้วถึงเวลาทำบุญกุศล เห็นไหม มันทำออกเป็นประเพณีเป็นวัฒนธรรม แต่มันไม่ใช่ธรรม! ไม่ใช่ธรรมเพราะมันไม่ใช่ตัวธรรม มันไม่ใช่ตัวจิต.. ไม่ใช่ตัวจิตที่เป็นธรรม!
นี้มันจะเป็นธรรม ประเพณีวัฒนธรรม เห็นไหม มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด พอเราไปติดประเพณีวัฒนธรรม ติดพิธีกรรม ติดตรงนั้นหมด มันก็เข้าถึง ย่อยสลายเข้ามาละเอียดเหมือนเปลือกไง เห็นไหม
เวลาซื้อส้มมา พวกโยมก็ปอกเปลือกส้มกินกันอร่อย โอ๋ย.. หวาน หวานเลย เราไม่กินเปลือกไงเรากินเนื้อส้ม ได้ส้มมา... ก็เหมือนกับประเพณีวัฒนธรรมนั้นคือเปลือก เราก็ปอกเปลือกออก เรากินเนื้อส้ม เราไม่กินเปลือกส้ม
ประเพณีวัฒนธรรมไม่มีก็ไม่ได้! ถ้าไม่มีนี่ดูอย่างเช่นเด็ก เห็นไหม เด็กของเราไม่เข้าวัดเข้าวา เด็กของเราไม่มาฝึกฝน มันจะเก้อๆ เขินๆ ไหม
ประเพณีวัฒนธรรม เรามีไว้เพื่อ! เพื่อเป็นแบบอย่าง
แต่เวลาเราปฏิบัตินะ หลวงตาท่านสอนอย่างนี้ เวลาเราจะปฏิบัตินะ ต้องเปรียบเหมือนตัวเองนี่โง่ที่สุดในโลก.. โง่ที่สุดเลย! คือโลกนี้ไม่รับรู้อะไรเลย ตั้งสติไว้ รับรู้แต่ความรู้สึกของตัว ถ้าฉลาดที่สุดนะ มันก็ไปเอากว้านมาหมดเลย เอาโลกนี้มาทับหัวใจเราแบนแต๋ดแต๋เลย
แต่ถ้าเราทำเหมือนคนโง่ที่สุดเลย! โลกนี้มีส่วนของโลก เราคือเราไม่เกี่ยวกัน พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ โลกไม่เกี่ยว ไม่รับรู้อะไรเลย เห็นไหม มันจะได้ดี แต่พวกเราทำอย่างนั้นไม่ได้ กลัวว่าจะโง่ เลยต้องฉลาดไว้ก่อน ถ้าฉลาดก็ต้องปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ามึงฉลาดจริง!
ถ้าฉลาดจริงนะ ทุกคนรักตัวเองไหม ถ้าทุกคนรักตัวเอง แล้วทำไมทุกคนไม่หาความสงบให้เจอ ทุกคนบอกว่ารักตัวเองนะ แต่หาตัวเองไม่เจอ หาตัวเจอคือหาจิตเจอ เราบอกประจำว่าชีวิตเรา นี่นาย ก. นาย ข. นาย ค. นาย ง. ถ้าอยากจะเปลี่ยนนะ ก็ไปเปลี่ยนทะเบียนก็จบแล้ว แล้วเราอยู่ไหนล่ะ แต่พอจิตสงบเข้าไปนะ มันซึ้งมาก... พอจิตสงบเข้าไป นี่ๆ ตัวเราคือตัวจิต.. นั่นแหละคือฐีติจิต.. นั่นแหละคือตัวปฏิสนธิจิต...
นี้เขาบอกว่าจิตส่งออกไม่ได้ไง ตัวจิตส่งออกไม่ได้ จิตเป็นวิญญาณขันธ์ ตรงนี้ก็ผิด! จิตเป็นวิญญาณขันธ์ไม่ได้! ขันธ์.. คือขันธ์ ๕! จิตเป็นตัวจิต ไม่ใช่ขันธ์!
ถ้าจิตเป็นขันธ์นะ... อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง.. ปัจจยาการ นี่อิทัปปัจจยตามันเกิดตรงไหน ทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ ไอน์สไตน์บอกทฤษฎีสัมพัทธภาพเขารู้หมด แต่จุดระเบิดเขาไม่รู้ เพราะเขาไม่เคยทำตรงนี้ไง ถ้าเคยทำตรงนี้นะ...
นี่กระบวนการของมรรคญาณ กระบวนการของปัจจยาการ เวลามันทำลายตัวมันเองนี่ พระอรหันต์ต้องเห็นตรงนี้ พระอรหันต์ต้องรู้จักจุดระเบิดของมัน แล้วมันระเบิดทำลายฐีติจิต ระเบิดทำลายจิตเดิมแท้ เจอพุทธะที่ไหน ต้องฆ่าพุทธะนั้นก่อน ทำลายผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นี่ฐานของพลังงานตัวนั้น... แล้วทำลายอย่างไรล่ะ..
นี่กระบวนการของมันเวลามันทำลายของมัน มันเห็นของมันหมด เห็นตั้งแต่ตัวจิต! ตัวจิตมันละขันธ์อย่างหยาบๆ มาเป็นโสดาบัน.. ละขันธ์อย่างกลางมาเป็นสกิทาคา.. ละขันธ์อย่างละเอียด.. นี่ปฏิฆะ กามราคะ ข้อมูลของใจ มันละตรงนี้หมดไง ถ้าละหมดแล้วนี่มันปล่อยขันธ์หมดเลย ปล่อยเปลือกหมดเลย เหลือแต่ตัวมันเอง แล้วระเบิดตัวมันเองอย่างไร... แล้วบอกว่าจิตส่งออกไม่ได้
จิตมันส่งออกเพราะอะไรรู้ไหม จิตส่งออกเพราะมันไม่รู้ตัวของมันเอง มันเป็นอวิชชา เป็นพลังงานเฉยๆ เวลามันส่งออกมา นี่มันส่งไปที่ขันธ์ เพราะมัน... อย่างเช่นส้มนี่มันมีเปลือกหุ้มอยู่ แล้วนี้เปลือกหุ้มอยู่ เวลาส้มมันกลิ้งไปนี่อะไรกลิ้งไป ส้มเวลามันกลิ้งไปบนพื้น เปลือกมันกลิ้งไปใช่ไหม แต่ตัวเนื้อส้มมันอยู่ในเปลือกส้มนั้นใช่ไหม
นี่จิต.. ตัวจิต มันอยู่ในขันธ์.. ขันธ์นี่มันเป็นเปลือก... ขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันหุ้มจิตไว้ พอหุ้มจิตไว้ ความคิดทั้งหมดคือตัวความคิด เป็นตัวขันธ์! ขันธ์ ๕
ทีนี้พอจิตมันส่งออก พลังงานมันส่งออก เห็นไหม ดูส้มกับเปลือกส้มสิ ส้มมันกลิ้งไปไหน เปลือกส้มมันก็เป็นผู้สัมผัส นี้จิตที่มันส่งออกมา นี่มันส่งมาที่เปลือกไง มันส่งมาที่ความรู้สึกความคิด แล้วนี่ความคิดมันส่งออกไปข้างนอกไง
นี่ไง มันส่งออกอย่างนี้! แล้วมันส่งออกโดยธรรมชาติ! จิตส่งออกเป็นสมุทัย! ผลที่ส่งออกเป็นทุกข์!! จิตเห็นจิต.. จิตทำความสงบเข้ามา.. ทำจิตสงบเข้ามา ปัญญาอบรมสมาธิ.. สมาธิอบรมปัญญา.. พุทโธ พุทโธก็ได้ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ
นี่จิตเห็นจิต คือเนื้อส้มกับเปลือกส้มที่มันอยู่ด้วยกันนี่ ส้มมันไม่มีชีวิตมันไม่รู้เรื่อง แต่สิ่งที่มีชีวิตนะ ดูสิเราเอามือสองมือจับกันสิ เรารู้ใช่ไหม เราสัมผัสกันได้ไหม สัมผัสกันได้ เนื้อส้มต้องมีชีวิต ความรู้สึก.. เปลือกก็มีชีวิต แล้วมันสัมผัสกัน
จิตคือเนื้อส้ม.. มันสัมผัสกับเปลือกของมัน! จิตเห็นอาการของจิต.. วิปัสสนาเกิดตรงนี้ ถ้าวิปัสสนาเกิดตรงนี้ นี่มันวิปัสสนา มันทำลายเปลือกของมัน มันแยกแยะเปลือกของมัน ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ กระบวนการมันขับเคลื่อนไปได้อย่างไร มันขับไปด้วยสังโยชน์...
สังโยชน์คืออะไร! สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส..
สักกายทิฏฐิ คือความเห็นผิดในกาย.. ความเห็นผิดในขันธ์.. ความเห็นผิดหมด.. นี่ปากเปียกปากแฉะเลยนะ ว่าคนเราเกิดมาต้องตาย... มันเป็นไตรลักษณ์.. มันเป็นธรรม.. โอ้โฮ.. ปากเปียกปากแฉะเลย แล้วความจริงล่ะ..
ปากเปียกปากแฉะ หมายถึงว่าสัญญา ความรับรู้ แต่เวลาถอนสังโยชน์นะ สังโยชน์มันถอน พอถอนแล้ว เปลือกส้มกับส้มนี่มันขาดออกจากกันเลย หลุดออกจากกันเลย! หลุดออกจากกันไป
หลวงตาใช้คำว่า ห่างกัน แยกกันเหมือนสามทวีปเลย กายเป็นกาย.. จิตเป็นจิต.. ทุกข์เป็นทุกข์.. แยกออกจากกัน จิตที่เป็นความจริง คือเนื้อส้มที่เป็นจริงมันจะรวมลง! รวมลงไปนะ รวมลงไปเลย นี่ปล่อยหมด ขาดหมด.. สังโยชน์หลุดหมด..
มันเป็นความจริงอย่างนี้! ความจริงที่เกิดขึ้น กระบวนการของมันจะเป็นอย่างนี้!
แต่กระบวนการที่เขาพูดกันอยู่นั้น มันเป็นกระบวนการธรรมชาติของจิตที่มันทำงาน เหมือนกับไฟฟ้าไง ถ้าเรามีสื่อทุกอย่าง ไฟฟ้า พลังงานไฟฟ้านี่มันใช้ประโยชน์ของมันได้ แต่เราเข้าไปไตร่ตรอง เราเข้าไปควบคุมตรงนี้ รักษาตรงนี้ ไปเห็นตามความจริงอย่างนี้ มันถึงจะเป็นประโยชน์กับการปฏิบัติ
ฉะนั้นอย่างที่พูดนี่ อย่างที่การออกมาสื่อธรรมะกัน ที่ว่าเราออกมาสื่อธรรมะ เราต้องการสื่อไว้ให้เป็นสัจจะเฉยๆ ถ้าคนไหนเป็นธรรม เขาจะเป็นประโยชน์กับเขา ถ้าคนไหนเป็นกิเลสนะ
คำว่ากิเลส.. นี่มันเหมือนกับว่าตาข่าย คือมันกรองสิ่งต่างๆ ถ้าสิ่งนั้นมันเล็กกว่าตาข่าย มันก็ผ่านตาข่ายนั้นไป ถ้าสิ่งนั้นมันใหญ่กว่า มันหยาบกว่า มันก็ผ่านตาข่ายไปไม่ได้
ทิฐิมานะของคน... ถ้าทิฐิมานะเขาหยาบ สิ่งที่มันใหญ่กว่าตาข่ายนั้น มันจะผ่านมาไม่ได้ มันก็กรรมของสัตว์.. เราไม่สามารถไปบังคับให้สิ่งต่างๆ ของโลกนี้เป็นได้ตามความประสงค์ของเรา เพียงแต่ว่าเวลาเราพูดนี่เราท้าทายว่า สิ่งที่เขาพูดนี่ยืนยันได้ว่า.. เพราะเรายืนยันตลอดมาว่าผิดตลอด! เพียงแต่เมื่อก่อนไม่ค่อยพูดชัดเจน แต่ตอนนี้พูดชัดเจนเพราะว่าอะไร เพราะออกมาเป็นข้อเท็จจริง เป็นทฤษฏีแล้วว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดถูก เราชี้ชัดว่าผิด!
ฉะนั้นสิ่งนี้ไม่ต้องสื่อไปถึงเขา เพียงแต่ว่าสิ่งที่เขาทำอยู่นี่ เขาพูดอยู่ข้างเดียว พูดว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น ไปตามมุมมองไปตามความเห็นของเขา แล้วมันไม่มีใครมีวุฒิภาวะที่สามารถจะแก้! ไม่มีวุฒิภาวะที่จะแก้ได้ ทีนี้พอเราแก้ เราก็ไม่ได้ไปแก้ที่ตัวเขา เราแก้ที่ข้อเท็จจริง สิ่งที่สื่อขึ้นมาอย่างเช่นตาข่ายนี่ ความถี่ความห่างของมันกว้างแคบแค่ไหน นี่มันเป็นสิ่งที่คำนวณได้ สิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้ ข้อเท็จจริงที่เขาพูดมานี่ เราก็สามารถพูดโต้แย้งได้ เหมือนกับสิ่งที่เราคำนวณว่ากว้างแคบแค่ไหน... เท่านี้เอง!
แล้วให้ชาวพุทธนี่ได้เอามาคำนวณ ได้เอามาพิสูจน์ ได้ตรวจสอบว่าสิ่งที่เขาคำนวณเป็นอย่างหนึ่ง... สิ่งที่เราคำนวณเป็นอย่างหนึ่ง.. แล้วเอามาเปรียบเทียบกันว่าสิ่งใดเป็นความจริง... นี่เอาแค่นี้! เพราะถ้าเอาแค่นี้แล้วมันจบ ถ้าไม่อย่างนั้นมันไม่จบเพราะอะไร เพราะมันตะแบงไง
ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ การสนทนาธรรมเป็นมงคลอย่างยิ่ง
หลวงตาพูดบ่อยว่า ธรรมะหมากัดกัน น้ำลายแตกฟองเลย หน้านี่แดงเลยนะ ทะเลาะกันมันเต็มที่เลยนะ นี่เห็นไหม ธรรมะหมากัดกัน!
ธรรมะหมากัดกันมันไม่มีเหตุมีผล... ธัมมสากัจฉา นี่มันฟังเหตุฟังผลนะ.. พระกรรมฐานเรานี่ไม่ต้องพูดมากหรอก ครูบาอาจารย์ท่านพูดคำเดียว... พูดคำเดียวนะหยุดเลย สะอึกเลยนะ แล้วมันแทงหัวใจ เขาใช้คำๆ เดียวนั่นแหละ แต่ครูบาอาจารย์ท่านฉลาดมาก ท่านจะรอความสมดุล ต้องดูเวลา ความเหมาะสม ท่านไม่ใช่ว่า... ใครเป็นอาจารย์ พอลูกศิษย์มาก็จะสอนๆ นะ ไอ้นั่นมันจานกระเบื้อง! เขาเอาไว้ใส่ข้าว!
ถ้าเป็นครูบาอาจารย์นะ... คำว่าครูบาอาจารย์นี่ เพราะครูบาอาจารย์ทุกองค์ จะต้องผิดพลาดมามหาศาล การกระทำของทุกคน แม้แต่พระพุทธเจ้าผิดอยู่ ๖ ปี พระพุทธเจ้าปฏิบัติอยู่ ๖ ปีนี่ผิดหมดเลย มาคืนสุดท้ายพระพุทธเจ้าถึงตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
หลวงปู่มั่นท่านผิด ท่านต่อสู้มา ปฏิบัติมา แล้วก็สั่งสอนมา จนมาถึงนี่ตั้งแต่อุบลฯ ลงมาขอนแก่น ท่านว่า กำลังไม่พอ! กำลังไม่พอ! ... กำลังไม่พอ! กำลังไม่พอ! นั่นน่ะท่านยังไม่ถึงที่สุด ท่านสลัดหมู่คณะทิ้งไว้ให้กับหลวงปู่สิงห์ แล้วท่านขึ้นไปเชียงใหม่ ไปสำเร็จที่เชียงใหม่กลับมาแล้ว ไม่เคยพูดว่ากำลังไม่พอเลย
นี่สิ่งที่ผิดมา หลวงปู่มั่นท่านผ่านประสบการณ์ ท่านผ่านของท่านมาเยอะมาก แล้วค้นคว้าหาด้วยตัวท่านเอง เพราะมีแต่ที่ปรึกษาไม่มีครูบาอาจารย์ เพราะคนที่สร้างบุญบารมีมามาก แล้วสมัยนั้นความเชื่อถือทางการปฏิบัติมันน้อยแล้ว แล้วเวลาความเชื่อถือทางการปฏิบัติมันน้อยแล้ว นี่เวลาไปถามเช่นในปัจจุบันนี้ ในภาคกลางเรานี่มันมีแต่เกจิอาจารย์! เกจิอาจารย์หมายถึงทำฌานสมาบัติแล้วเพ่ง! เพ่งพวกวัตถุมงคล
เขาทำอย่างนั้นจริงๆ นะ เราพิสูจน์มาแล้ว อย่างครูบาอาจารย์เราไปอยู่ด้วยหลายองค์ นี่ทำตะกรุด ทำของคุณไสยแล้วเพ่ง จนมันหมุนในบาตรเลย นี่สิ่งที่เป็นโลหะนะ ตะกรุดนี่เป็นโลหะ แล้วเพ่งด้วยจิตนี่มันหมุนนะ ถ้าไม่หมุนไม่เอาออก คือไม่เอาออกมาแจกจ่าย ท่านจะเพ่งจนตะกรุดนี้หมุนเลย
เกจิอาจารย์ หมายถึงการเพ่งด้วยกสิณ ด้วยพลังจิต... ด้วยพลังจิตนี้! เป็นพลังจิต เห็นไหม เหมือนกับฤๅษีชีไพร นี่ไงภาคกลางเรานี่มีแต่เกจิอาจารย์ แต่หลวงปู่มั่นท่านไม่สอนอย่างนี้ หลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติตามบุคคล ๘ จำพวกในสังฆคุณ
นี่บุคคล ๘ จำพวก... โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล... สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล... อนาคามิมรรค อนาคามิผล... อรหัตมรรค อรหัตผล...
บุคคล ๘ จำพวก...เป็นผู้ปฏิบัติดี! ปฏิบัติตรง! ปฏิบัติชอบ! ต่อธรรมวินัย
อุชุ ญาย สามีจิปฏิปันโน... ผู้ที่ปฏิบัติตรง ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ.. นี่พระกรรมฐานเราปฏิบัติกันอย่างนี้!
เราเป็นคนภาคกลาง เราไปอยู่อีสานใหม่ๆ เรามีความน้อยเนื้อต่ำใจ... น้อยเนื้อต่ำใจว่าทำไมกรรมฐานในภาคอีสานมันเข้มแข็งนัก ทำไมภาคกลางกรรมฐานนี่มันอ่อนแอนัก ไปศึกษาไปค้นคว้านะด้วยความเห็นของเราไง
ในเรื่องเริ่มต้นของกรรมฐานในธรรมยุติ นี่เริ่มต้นมาจากกรุงเทพฯ จะไปตามคมนาคม ที่ไหนมีทางรถไฟ มีแหล่งน้ำที่ไปถึง ธรรมยุติจะไปตั้งที่นั่น นี่เป็นกรรมฐานผู้ดี สุดท้ายแล้วนี่มีหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นมาค้นคว้า ออกจากอุบลฯ มานี่ มาทางภาคอีสาน มาลงกรรมฐาน... มาลงกรรมฐานคือว่าลูกศิษย์หลวงปู่มั่นตั้งหลักขึ้นมาเลย กรรมฐานมันถึงได้เป็นปึกแผ่นเพราะอะไร นี่อุชุ ญาย สามีจิปฏิปันโน.. ครูบาอาจารย์นี่ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบต่อธรรมวินัย
นี่ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบต่อธรรมวินัย นี่มันเป็นธรรมจักร! มันเป็นมรรคญาณ มันเป็นสิ่งที่ชำระกิเลส นี่ถ้ามันปฏิบัติไป.. เพราะเราไปอยู่อีสานนะ เราไปศึกษาด้วย ไปปฏิบัติด้วย แล้วความหลงผิดไง ที่ว่าครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติมาไม่เคยหลงผิด... ไม่มี!
พูดถึงความผิดพลาด ความหลงในตัวเอง พูดถึงไปติดกับกิเลส นี่ให้เราอธิบาย ๓ ปีไม่จบนะ ที่เราผิดพลาดในตัวเราเองมา ปฏิบัติไปนี่แล้วไปจนตรอก ปฏิบัติไปแล้วไปอั้นตู้ ปฏิบัติไปแล้วเอาหัวไปชนภูเขาไว้ มันทะลุไปไม่ได้ เรานี่มันถึงเคารพครูบาอาจารย์มากไง พวกเรานี่ปฏิบัติไปเหมือนเป็นไข้ เราเป็นเอดส์ เราเป็นมะเร็งขั้นสุดท้าย เหมือนจิตใจนี้มันเต็มที่ของมันแล้ว มันไปไม่ไหวแล้ว แล้วครูบาอาจารย์มาเปิดช่องทางเรา มาจับเรา ดึงเราขึ้นมานี่ ใครบ้างไม่เคารพครูบาอาจารย์ของตัว!
แล้วครูบาอาจารย์ที่ผ่านวิกฤติมาอย่างนั้น แล้วมาถึงการปฏิบัติที่เขาปฏิบัติกัน.. ปฏิบัติกันโดยการจับพลัดจับผลู เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคา เป็นอนาคานี่ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรอก แล้วเวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านพูด เห็นไหม ว่าธรรมะนี่อยู่ฟากตาย! อยู่ฟากตาย แล้วฟากตายอย่างไรมันตายล่ะ ก็มึงไม่เคยปฏิบัติไง มึงลองปฏิบัติดูสิ เพราะอะไร พออดอาหารไปถึงที่สุดแล้วมันช็อกตายนะ
พระพุทธเจ้าช็อก ๓ หน ตายแล้วฟื้น ๓ หน ครูบาอาจารย์เรานี่ ดูสิหลวงตาท่านบอกว่าท่านไม่เคยถึงกับช็อก แต่หลวงปู่มั่นสลบถึง ๓ หนเหมือนกัน เป็นไข้ไม่สบาย พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ช็อกไปเลย รู้สึกตัวขึ้นมารีบลุกขึ้นมานั่งเลย หลวงปู่มั่นนี่ช็อกถึง ๓ หน คือสลบไปถึง ๓ ที ครูบาอาจารย์เราปฏิบัติมาอย่างนั้น
นี่เราจะบอกว่าการที่ผิดพลาด การประพฤติปฏิบัติ ถ้าครูบาอาจารย์จะมาสอนถึงบอกว่าพูดคำเดียว พูดถึงจี้เข้าหัวใจเลยนี่ ถ้าตัวเองเราไม่เคยผิดพลาดมาก่อน ตัวเองไม่เคยผิดพลาด ไม่เคยผ่านประสบการณ์อย่างนั้นมา จะเอาอะไรมาสอนใคร แต่เวลาครูบาอาจารย์เราท่านไม่ใช่คนโง่นี่ จะมาถึงก็ทำวิทยานิพนธ์เลยนะ แหม.. เราเคยผิดมาอย่างนั้นนะ เป็นหางว่าวเลยแล้วเอามาอวดกัน อย่างนั้นมันไม่ใช่!
ความผิดเป็นครู.. การกระทำถูกต้องมันเป็นครูของเรา.. ในหัวใจของเรา.. แล้วเวลามองลูกศิษย์ มองเวลาเขากระทำ..
ใจดวงหนึ่ง สู่ใจดวงหนึ่ง
ใจดวงหนึ่งที่ปฏิบัตินี่มันต้องหลงผิดมา จนปฏิบัติจนใจดวงนั้นผ่องแผ้ว! จนใจดวงนั้นพ้นไปจากกิเลส! ใจดวงนั้นมันจะเข้าใจ.. เข้าใจใจทุกๆ ดวง แล้วใจทุกดวงที่ปฏิบัติ มันจะรู้เลยว่าปฏิบัติมานี่มันจะเจอวิกฤติอะไรบ้าง แต่! แต่มันก็ต้องเจอ
เหมือนเด็กของเรานี่ เด็กของเราเราจะให้มีประสบการณ์ในการดำรงชีวิตของเขา เขาจะต้องผ่านประสบการณ์ของเขาบ้าง เราจะโอ๋ เราจะปกป้องลูกของเรา จนลูกของเรายืนในสังคมไม่ได้เลยเหรอ
จิตของเราเวลาปฏิบัติ นี่ธรรมะส่วนบุคคลไง! ธรรมะมันจะเกิดจากจิต จิตนี้มันเกิดวิกฤติอะไร มันเคยผ่านประสบการณ์อย่างไร จนถึงที่สุดมันชนะวิกฤติอันนั้น นี่มันฆ่ากิเลสเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา จิตดวงนั้นจะพ้นจากกิเลสไป
ฉะนั้นจะบอกว่า จิตที่ประพฤติปฏิบัติมานี่มันต้องเจออย่างนั้น แล้วก็ต้องเจอ! ต้องเจอเพราะมันต้องพัฒนาจิตดวงนั้น ให้พ้นจากวิกฤติอันนั้นไป มันก็ผ่านขั้นตอนแต่ละขั้นตอนๆ นั้นไป ไม่มีหรอกที่บอกว่า ง่ายๆ... สั้นๆ... ลัดสั้น...
เราพูดบ่อย เราพูดประชดไงว่ามันจะลัดลงนรกกันน่ะ นารกก็ไม่จำเป็น นารกเหรอ ก็เผามันทิ้งให้มันเรียบๆ นาก็เลยไม่รก ก็เลยไม่มีนารกไง
เวลาพูดถึงโวหารนี่มันพลิกแพลงกันไป บอกนารก.. นามันรกใช่ไหม ก็จุดไฟเผา นาก็ไม่รก ดูถูกเหยียดหยามกันไง นรก-สวรรค์ไม่มี ดูถูกเหยียดหยาม ด้วยความเยาะเย้ยถากถาง ด้วยกิเลสตัณหาในหัวใจ แต่ไม่เข้าใจว่าอะไรเป็นธรรม และอะไรไม่เป็นธรรม สิ่งที่เป็นธรรมมันคือเป็นธรรม
ฉะนั้นสิ่งที่เป็นธรรม! มรรค ๘... เป็นสัมมาสมาธิ สัมมาสติ ทุกอย่างกระบวนการของมันต้องมี แล้วต้องฝึก สติก็ต้องฝึก สติไม่เกิดเองหรอก ถ้าสติเกิดเองนะ ทุกคนนี่มันเป็นไปได้หมดแล้ว สติไม่มีเกิดเอง สติต้องฝึก ยิ่งปัญญานะ ถ้าปัญญาไม่ฝึกยิ่งเป็นไปไม่ได้เลย เพราะครูบาอาจารย์เราติดมาหมดแล้ว
ฉะนั้นมีครูบาอาจารย์บางองค์บอกว่า ทำสมาธิไปแล้วปัญญาจะเกิดเอง นี่กล้ายืนยันนะว่าพวกนี้ภาวนาไม่เป็น ไม่มีประสบการณ์จริง เป็นแต่มุมมองความเห็นที่ฝังใจว่า คิดว่าอย่างนั้น แล้วแสดงออกมาอย่างนั้น ไม่เป็นความจริง! ไม่เป็นความจริงเพราะมันเข้าสู่ความเป็นสากลไม่ได้ มันเข้าสู่ความเป็นมรรคญาณของกระบวนการที่เป็นความจริง สัจจะจริงของครูบาอาจารย์ เพราะมรรคมีหนึ่งเดียว!
นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมกับอริยสัจ ๔ นี่พระศรีอริยเมตไตรยก็จะมาตรัสรู้อันนี้ อนาคตวงศ์ก็จะมาตรัสรู้อันนี้ มันมีอันเดียว แล้วบอกให้มันเกิดเอง... ถ้าเกิดเองแล้วเจ้าชายสิทธัตถะทำไมต้องมาสมบุกสมบั่นขนาดนั้นล่ะ ถ้ามันเกิดเอง... มันเกิดเองไม่ได้!
ฉะนั้นกระบวนการที่ทำ ที่เขาบอก... เราพูดนี่เราไม่ใช่ทึ่งในตัวเขาหรอก เพราะว่าเราเข้าใจตรงนี้ เราเข้าใจเรื่องกิเลสดี ไม่ใช่อวดนะ เราเข้าใจเรื่องกิเลสดี ถ้าอย่างเราปฏิบัตินี่ ภายใน ๑ ปีหรือ ๒ ปี ถ้าเราติดหรือมีปมในใจ มันต้องมีเครื่องแสดงออก มันต้องมีความสงสัย อย่างเช่นนี่เราหลงหรือเราติดในใจเรา เวลาเป็นปีๆ นี่นะ เรารักษานะถนอมมาก ถนอมเวลามันว่างนะ ถนอมมากเลยกลัวมันจะไม่ว่าง แล้วของที่ถนอมขนาดไหนมันก็ต้องมีความผิดพลาดเป็นธรรมดาใช่ไหม มันต้องมีความผิดพลาดเป็นธรรมดา
อย่างเช่นเราเป็นไข้ เวลาอาการแสดงออกของอาการไข้ นี่มันต้องแสดงออกเป็นธรรมดา จะหลงขนาดไหนนะ มันหลง! แต่มันหลงนี่มันจะรู้ว่ามันน่าจะรู้ แล้วถ้ารู้แล้วนะ พอรู้ปั๊บ ถ้ามันเป็นคนที่ใฝ่ดี มันจะพุ่งเข้าหาอาจารย์ อาจารย์องค์ไหนที่เราเชื่อใจได้ แล้วอาจารย์นี่เช็คได้ เราเคยเช็คมาแล้วสมัยที่เราติด
อ้าว... อาจารย์ ก. ดี เราก็ไปหาอาจารย์ ก. เลยว่า ผมเป็นอย่างนั้นครับ... ผมเป็นอย่างนั้นครับ แก้ได้ไหม อาจารย์ ก. แก้ไม่ได้ เออ.. อาจารย์ ก. นี่วุฒิภาวะสู้กูไม่ได้ ไปหาอาจารย์ ข. พูดแล้วอาจารย์ ข. ฟังออกไหม อาจารย์ ข. พูดแล้วนี่ท่านมีอุบายจะสอนเราไหม มันเช็คได้ง่ายๆ เลย! เอาความรู้ของเรานี่แหละไปรายงานท่าน แล้วท่านจะตอบจากความรู้ของท่านออกมา ถ้าวุฒิภาวะท่านต่ำกว่านะ ท่านจะพูดมาแล้วเราอ่านออกหมด ถ้าวุฒิภาวะท่านสูงกว่า เราเคยไปเจออาจารย์ที่สูงกว่าเยอะแยะ พอไปนี่ไปพูดอย่างนี้ปั๊บท่านไม่ฟังเลย แต่พอพูดพลิกปั๊บ เออ! ทำไมไม่พูดอย่างนี้
เหมือนที่หลวงตาท่านบอกไง สมัยหลวงปู่มั่นจะเทศน์นะ หลวงตานี่ท่านก็รู้อยู่ ท่านบอกว่าหลวงปู่มั่นเวลาเทศน์ นี่หลวงปู่มั่นจะเทศน์ถึงที่สุดแห่งทุกข์ทุกกัณฑ์เลย ถึงนิพพานหมด แต่ฟังแล้วมันเหมือนกับเราฟังทุกวัน เหมือนงานประจำ ทฤษฏีไง ไม่มันหรอก ต้องไขก๊อกให้ได้ คือเข้าไปถามปัญหาไง ถามผิดๆ ถามให้มันผิดไป.. ถามให้มันผิดไป.. หลวงปู่มั่นท่านก็ตอบไปเรื่อย พอถึงเวลามันไปสะเทือนใจท่านน่ะ ท่านว่า มันไม่ใช่อย่างนี้! ท่านบอกว่า นั่นล่ะ ไขก๊อกได้แล้ว แล้วพอหลวงปู่มั่นเทศน์นะ โอ้โฮ.. ยิ่งกว่าฟ้าถล่ม เพราะอะไร เพราะมันไปสะเทือนใจ
ถ้ามันไม่ใช่อย่างนี้ สิ่งที่ตรงข้ามคืออะไร เพราะถามเรื่องกิเลสไง เอากิเลสถามเรื่องกิเลส เอาเข้าไปสะกิดใจท่าน พอสะกิดใจท่าน แล้วท่านจะพูดถึงฝั่งตรงข้ามของกิเลสไง ฟ้าดินถล่มเลย แล้วท่านบอกว่าโอ้โฮ... ฟังเทศน์อย่างนั้นนะ ซึ้งใจมาก!
ในกรรมฐานของเราต้องการธรรมะที่เข้มข้น! แต่ในโลกมายาต้องการความสลักสลวย ต้องการความนิ่มนวล ต้องการมารยาสาไถย ต้องการการถนอมกิเลสไว้ เวลาพูดนะ ต้องขออนุญาตกิเลสก่อนนะ ขอพูดคำหนักๆ ได้ไหม จะเทศน์คำหนึ่งก็ต้องขออนุญาตกิเลสก่อน ขอพูดคำหนึ่งได้ไหม แล้วมารยาสาไถยมันก็ชอบกัน
แต่ในวงกรรมฐานเรานะ ฟ้าถล่มฟ้าทลายยิ่งมัน! ออกจากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง เราฟังกันก็รู้แล้ว ถ้าใจเป็นธรรมนะ ไม่มีมารยา ไม่มีสาไถย ไม่มีเล่ห์เหลี่ยมในหัวใจ ออกมาด้วยความเหมือนเด็กไร้เดียงสา เด็กๆ นี่มันไร้เดียงสา ออกมาจากธรรมชาติของมัน ธรรมะจากครูบาอาจารย์ของเรานี่มันออกมาจากจิตที่สะอาด เหมือนฝนตกฟ้าร้อง ยิ่งตกมากเท่าไร น้ำนองยิ่งมีคุณค่ามาก แต่โลกฟังกันไม่เป็นไง
นี่ไง ธรรมเหนือโลก
เราถึงบอกไง ถ้าเป็นตรรกะ เป็นปรัชญานี่โลกรับกันได้ สมมุติกับสมมุติเข้ากันพอดี แต่ถ้าเป็นธรรมที่เหนือโลก โลกต้องปีนบันได ๕๐๐ ขั้น แล้วก็ดึงหูให้สูงๆ ฟังออกไหม เพราะมันเป็นสิ่งที่จินตนาการไม่ได้
จิตทุกดวงเคยตั้งแต่ตกนรกอเวจี เคยเกิดบนสวรรค์ นรก-สวรรค์ทุกคนจินตนาการได้หมดเลย แต่จิตทุกดวงจินตนาการโสดาบัน สกิทาคา อนาคา อรหันต์ไม่ได้ เพราะจิตไม่เคยเข้า จิตไม่เคยมีข้อมูลในหัวใจ แต่ถ้าเป็นนรก-สวรรค์ทุกคนจินตนาการได้ ฉะนั้นปรัชญานี่มันถึงจินตนาการได้ แต่ถ้าเป็นธรรมเหนือโลก...
นี่พูดอย่างนี้มาไม่ใช่เหยียบย่ำหรือดูถูกใครทั้งสิ้น เราจะพูดตามข้อเท็จจริงว่าถ้าเป็นธรรมะ ธรรมที่เหนือโลก ธรรมะที่ทำให้เราพ้นจากกิเลส มันสูงกว่าความรับรู้ของเราไง พอมันสูงกว่าความรับรู้ของเรา เราพูดแนะนำลูกศิษย์ไปหลายคน แล้วเขามาบอกว่าทำตามหลวงพ่อเหมือนกัน
เราปฏิบัติใหม่ๆ เราได้หนังสือธรรมชุดเตรียมพร้อมมา แล้วเราเปิดวันละหน้า เราอยู่ในป่า นี้เป็นคำพูด เป็นการวินิจฉัยของพระอรหันต์ แล้วเรานี่เป็นขี้หมา แล้วพยายามปรับตัวเองให้รับรู้อย่างนี้ได้ไหม เราเอาสิ่งนั้นแหละมาเป็นประเด็น แล้วใช้ปัญญาตามไป ไล่ไป มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ หมุนไป.. หมุนไป ได้ประโยชน์มาก
คือสิ่งที่ครูบาอาจารย์ท่านพูดนี่เป็นธรรมอยู่แล้ว แต่เราเข้าไม่ถึง... เข้าไม่ถึงเข้าไม่ได้ สัมผัสไม่ได้ อ่านนี่รู้ตัวหนังสือ ภาษานี่อ่านได้ นี่ไงพยัญชนะอ่านได้ อรรถ ความหมายมันไม่รู้... นั่นหมายความว่าอย่างไรนี่ แต่อ่านออกนะ อ่านได้แต่ไม่รู้เรื่องไง แต่พยายามพัฒนาขึ้นไป นี่แล้วมันจะเป็นไปได้ มันอยู่ที่ตรงนั้นไง หลวงตาพูดเราถึงซึ้งมาก
ธรรมะนี้.. ภาชนะที่จะทำได้ คือหัวใจของคน!
ไม่ใช่อักษร ไม่ใช่ตัวหนังสือ ไม่ใช่ใดๆ ทั้งสิ้น ตัวอักษรนะหลวงปู่มั่นเคารพมาก ว่าตัวอักษรนี่สื่อธรรมะของพระพุทธเจ้าได้ ตัวอักษรทุกภาษา หลวงปู่มั่นเคารพบูชามาก ว่าเป็นการสื่อธรรมะของพระพุทธเจ้า ฉะนั้นต้องไว้ที่สูง
ไอ้นี่ด้วยความเคารพ แต่เวลาเราพูดกัน เพราะเรานี่มันได้มาเยอะ เวลาลูกศิษย์มา เวลาปฏิบัติมานี่เขาติดมา แล้วเราบอกเขา เขาก็บอกว่า ก็ตำรามันสอนอย่างนี้ คือเด็กไง เด็กพอเห็นหนังสือ ก็คิดว่าหนังสือในตำรามันถูก
แต่สำหรับเรานะเราไม่ได้มองที่หนังสือ เรามองที่คนเขียนหนังสือ คนเขียนหนังสือนี่เขารู้อะไร! คนเขียนหนังสือนี่เขารู้อะไร! เขาเอาความรู้แค่ไหนมาเขียนหนังสือ แล้วเราไปอ่านหนังสือมา เราถือว่าหนังสือนี้ถูก หนังสือนี่เราเขียนถูกนะ เข้าโรงพิมพ์นะมันเรียงพิมพ์ผิดนะ มันก็ความหมายผิดแล้ว แต่ถ้ามันปฏิบัติ นี่มันเป็นความสัมผัสของใจเลย
หนังสือนี่ พูดถึงถ้ามันถูก.. หนังสือธรรมะพระพุทธเจ้านี่ถูก.. อย่างนี้เราเห็นด้วย พระไตรปิฎกนี่อ่านได้ ทุกอย่างอ่านได้ แต่เราก็ไม่เข้าใจ บางทีเราว่าแรงนะ เราพูดนี่ คำว่าแรงของเราอย่างเข้มข้น มีมานะมาบอกว่า นี่ก็หนังสือมันว่าอย่างนี้ เราบอกเลยว่า หนังสือก็ควายมันเขียนไง โอ้โฮ.. หน้ามุ่ยเลย หนังสือนี่ควายมันใช้ตีนเขียนมา
เพราะเวลาเขาปฏิบัติมามันรู้อยู่แล้วว่าผิด แต่เขาไปติดที่หนังสือ เขาอ้างว่าหนังสือคือเขาหลง เขาหลงแล้วเขายังเอาหนังสือนี่มาค้ำยันความหลงเขาอีกว่าถูกไง แล้วเราจะแก้เขานี่จะแก้อย่างไร เราก็ใส่เลยสิ หนังสือมึงนี่ควายเขียน มึงก็กลับไปอยู่กับควายไง เงียบเลยนะ โกรธมากแต่ไม่กล้าเถียง หน้าคว่ำเลย... จะแก้คน! จะแก้คน
โลกก็เป็นอย่างนั้นแหละ นี่มันเหมือนกับว่าเราไปเชื่อมั่นกัน เราอยู่ในวงการเราเห็นใจนะ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเราหลงมาก่อนโยม ตั้งแต่ปี ๒๑ ที่บวชมา สู้เต็มที่กับตัวเอง แล้วไม่มีใครสอน ทั้งๆ ที่สมัยนั้นนะครูบาอาจารย์เยอะแยะเลย แล้วของจริงๆ ทั้งนั้นเลย แต่เราเข้าไม่ถึง เราไปไม่ถึง แต่พอพรรษา ๒ พรรษา ๓ เราไปเลย แล้วเข้าเลย แล้วก็สู้กันมาจนมาอย่างนี้ เห็นอย่างนี้มาเยอะ
ฉะนั้นพอเกิดกระบวนการอย่างนี้ขึ้นมา แล้วในปัจจุบันนี้ไม่ได้คิดอะไรมาก เพียงแต่ถ้าในหัวใจนะรู้สึกว่าสงสารพวกโยมมาก สงสารชาวพุทธมาก เพราะชาวพุทธนี่มันเหมือนกับปลาในอ่าง เป็นผู้ที่ให้ผลตอบแทนเขาได้ มันก็เลยเกิดการตลาดขึ้นมา เพื่อหาผลประโยชน์กัน เห็นไหม อ่านในหนังสือพิมพ์แล้วเศร้า กรรมพานิช บุญพานิช ธรรมะขายได้ ธรรมะเป็นเงินเป็นทอง เพราะโลกเขามีมุมมองอย่างนี้
อยู่ที่วัดป่าบ้านตาด ท่านไม่ให้ธุรกิจเข้าไปยุ่งในวัดป่าบ้านตาดเลย ของที่มาในวัดเป็นของแจกทั้งหมด พระ... เป็นผู้ให้เป็นผู้เสียสละไม่ได้ โลกใครจะเสียสละ ท่านพยายามทำเป็นตัวอย่าง หลวงตาท่านบอกท่านเล่าให้ฟัง สมัยท่านเด็กๆ ท่านบอกว่าไม่มีตลาด อีสานเมื่อก่อนทำการตลาดไม่ขึ้น เพราะเป็นผู้ที่ชาวพุทธเข้มข้น ชาวพุทธเขาไม่กล้าค้าขายกันนะ เขาว่ามันเป็นธุรกิจ เป็นการเอารัดเอาเปรียบกัน
สมัยหลวงตาท่านบอกว่าท่านเป็นเด็กๆ เวลานายพรานล่าสัตว์ ได้เนื้อมาหรืออะไรมาจะตัดแบ่งกันทุกบ้าน หลวงตาท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านเคยถือพวกเนื้อสัตว์นี่ไปให้บ้านข้างเคียงมาตลอด เขาไม่มีการซื้อขาย เขามีแต่การให้กัน
นี่สมัยโบราณนะ แล้วพอโลกเจริญนี่มันเป็นอย่างนั้นไม่ได้ โลกไง โลกก็คือเครื่องอำนวยความสะดวก นั่นก็เรื่องของเขา แต่ถ้าในวัดเห็นไหม เราจะไม่มีการค้าการขาย จะมีแต่การให้กัน ถ้าเราให้ไม่ได้แล้วใครจะให้ได้
ฉะนั้นพอในปัจจุบันนี้บอกธรรมะขายได้ กรรมพานิช บุญพานิช พระก็เป็นพระนักธุรกิจ เราบอกเลยนะพระที่ทำธุรกิจต้องบอกให้สรรพากรเก็บภาษี เพราะเขาเอาเปรียบประชาชน ประชาชนค้าขายต้องเสียภาษี พระค้าขายไม่เสียภาษี นี่พระเอาเปรียบมาก
นั่นเรื่องของโลก นี่ที่เราสงสารโยม เราสงสารตรงนี้ไง ตอนนี้ออกมาเป็นพุทธพานิช แล้วทุกอย่าง ธรรมะก็เป็นธรรมพานิช แล้วก็เวลาพีอาร์กันขึ้นมา
ถ้าเขาบอกว่าปฏิบัติธรรม ปฏิบัติเพื่อความสุขสบายเราจะไม่ว่าเลย แต่นี่บอกว่า ถ้าไม่ได้โสดาบัน ไม่ได้สกิทาคา ไม่ได้อนาคา มันก็ไม่มีจุดขาย ไม่มีจุดเด่น เขาบอกว่านั่งกัน นั่งเล่นหมากเก็บกันนี่แหละ แล้วก็จะเป็นโสดาบัน ถ้าใครนั่งเล่นตี่ เล่นไล่กวดจับ ไอ้นั่นจะเป็นอนาคา ฟังแล้วมันหมดนะ คือศาสนาเราเป็นของเล่น หลวงตาท่านพูดบ่อยว่า ศาสนานี้ไม่ใช่ตุ๊กตา ไม่ใช่ของเล่น
ศาสนานี้ของจริง! แต่เพราะเราไม่จริงกับศาสนา เราถึงไม่เข้าถึงตัวศาสนธรรม
ศาสนธรรม คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อกาลิโก... คงทนต่อการตรวจสอบ! คงทนต่อการทุกๆ อย่าง เพียงแต่พวกเราเข้ากันไม่ถึง พอมันเสื่อมไป เสื่อมจากหัวใจของสัตว์โลกไป พระศรีอริยเมตไตรยจะมาตรวจสอบอีกรอบหนึ่ง
อกาลิโก... มีความคงทนต่อการตรวจสอบ ไม่มีกาล ไม่มีเวลา แล้วพวกเราทำอะไรกัน! พวกเราทำอะไรกัน... แล้วใครว่ารักตน.. รักตนต้องทำตน ทำตัวให้เป็นความจริง เอวัง