ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

แก้เวทนา

๑๕ ส.ค. ๒๕๕๒

 

แก้เวทนา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

โยม ๑ : ทีนี้จนกระทั่งทิ้งมาจนบัดนี้นะคะ ทุกวันนี้ที่โยมอยู่ได้อย่างไม่ทุกข์ ก็เพราะว่า เราเห็นสิ่งในโลกทั้งหมดนี้นะมันไม่มีคุณค่า ไม่มีความหมาย ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่าธรรมะ นะคะ

หลวงพ่อ : ธรรมะนี่จริง เรื่องนี้เราเห็นจริงด้วย อันนี้เพียงแต่ว่าที่มานี่เพราะว่า อย่างเวลาโยมพูดนี่ เราจะฟังโยมพูด แต่สำหรับเรา เวลาที่ลูกศิษย์มาหาเราจะถามเลยว่า “มาจากไหน มาจากใคร”

ถ้ามาจากใครนี้เราจะถามประจำ อย่างเช่นโยมคนนี้มาหาเรา เราจะถามว่ามาจากอาจารย์องค์ใด ถ้าอาจารย์องค์ใด พอเขาบอกอาจารย์ปั๊บ เราจะรู้เลยว่าเขาได้รับข้อมูลอะไรมา เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเราไม่ได้ดูที่โยมด้วย “แต่เราดูที่อาจารย์ของโยม” เพราะอาจารย์องค์นั้นเขาสอนอะไรกันมา

โยม ๑ : ท่านอาจารย์คะ แต่โยมก็ไม่ได้มีอาจารย์ที่ไหน ก็หลวงตาเป็นอาจารย์โยม

หลวงพ่อ : ถ้าบอกว่าหลวงตาเป็นอาจารย์ แต่หลวงตาไม่ได้สอนอย่างนี้ ทีนี้ถ้าไม่สอนอย่างนี้ เพราะคำพูดนี่มันก็เหมือนทฤษฎี คือแนวทางนี้มันจะเข้ากับแนวทางนี้ แนวทางนี้จะเข้ากับแนวทางนี้

ทีนี้คำพูดอย่างนี้ คำพูดแบบโยมนี่ มันมีอาจารย์องค์หนึ่งบอก ว่า “อะไรก็สักแต่ว่า”

โยม ๑ : ค่ะ สักแต่ว่า ใช่

หลวงพ่อ : พอทุกอย่างเป็นสักแต่ว่า พอเริ่มการสักแต่ว่า ทำอะไรก็เป็นสักแต่ว่า ธรรมะเป็นสักแต่ว่า ทุกอย่างเป็นสักแต่ว่า อริยสัจเป็นสักแต่ว่า ผมเป็นอริยสัจ ผมเป็นอริยสัจ... ไม่ใช่! ถ้าเป็นการสักแต่ว่า ของที่เป็นสักแต่ว่านี้มันต้องเป็นพระอรหันต์พูด แต่ถ้าเป็นปุถุชนพูด มันจะเป็นสักแต่ว่าไม่ได้

อย่างเช่นชีวิตนี้ เห็นไหม เขาบอกว่าชีวิตนี้เป็นสมมุติๆ ใช่! เราบอกว่าชีวิตนี้เป็นสมมุติ ถ้าเป็นพระอรหันต์พูด แต่ความจริงนะ “ชีวิตเป็นความจริงโว้ย! ”

ถ้าชีวิตเป็นความจริง เราจริงตามสมมุติไง ถ้าชีวิตไม่เป็นความจริง แล้วเราร้องไห้ทำไม เราโศกเศร้าทำไม ทำไมพ่อแม่ต้องเลี้ยงเรา “มันจริงตามสมมุติ” คือบอกว่าเริ่มต้นนี้ เราต้องจริงจังกับมันก่อน หลวงตาสอนอย่างนี้

หลวงตาบอกว่า “ใครจะมาเหลาะแหละไม่ได้นะ ใครทำอะไรโดยพลการไม่ได้ ต้องทำด้วยความจริงจังก่อน”

ความจริงจัง พอเราไปจริงจังกับมัน ทางโลกเขาบอกว่า “นี่คือความจริงจังกับมัน” ถ้าความจริงจังกับมัน เพราะเราทำจริงจังกับมัน เราถึงได้ความจริงมา พอเราได้ความจริงมา “คือความจริงมันเห็นความจริง”

อย่างที่พูดนี่เห็นไหม “จิตจริงไง” เพราะถ้าจิตมันไม่จริงนะ เราจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ จิตเราไม่จริง เราเห็นอาการอย่างไร คืออาการอย่างนั้นปลอมหมด เห็นไหม แม้แต่จิตสงบนี่ก็ยังไม่จริง จิตเป็นสมาธิก็จิตไม่จริง “เพราะจิตนั้นมันเป็นเหมือนหินทับหญ้า”

พอหินทับหญ้านี้มันออกไปวิปัสสนา “การวิปัสสนา” มันเท่ากับไปแก้ปัญหาตัวจิตด้วย วิปัสสนาไปแล้วมันปล่อยเข้ามา มันแก้ถึงตัวจิตด้วย จิตจากที่ไม่จริง มันจะจริงขึ้นมาเรื่อยๆ เพราะสิ่งที่สกปรกมันจะออกไปเรื่อยๆ

เวลาถ้ามันจริงนะ หลวงตาสอนอย่างนี้ เวลามันจริงขึ้นมานะ “เวทนาก็เป็นจริงของเวทนา จิตก็เป็นจริงก็จิต ทุกข์ก็เป็นจริงของทุกข์” ถ้ามันจริงต่างอันต่างจริง “จิตก็จริง! ” ถ้าจิตจริงนี่เป็นโสดาบัน

แต่นี่เริ่มต้นบอกสักแต่ว่า “พอสักแต่ว่านี่มันเป็นกิเลสซ้อนกิเลส” กิเลสซ้อนกิเลสบอก “สรรพสิ่งนี้เป็นสักแต่ว่า” พอกิเลสมันว่านี่ จิตมันบอกสักแต่ว่าก็เป็นสักแต่ว่าอยู่แล้ว พอเป็นสักแต่ว่านะ ประสาเรา “คือมันก็อยู่โดยธรรมชาติของมัน เป็นอันหนึ่งที่จิตมันไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว”

พอจิตไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ตัวจิตเองอย่างที่ว่า “แม้แต่ว่าจิตเป็นสมาธิ มันก็ไม่จริงอยู่แล้ว” พอไม่จริงนี่มันไปเห็นว่า “สรรพสิ่งนี้เป็นสักแต่ว่า” คือว่ามันไม่จริง มันอยู่ของมันโดยเอกเทศ เพราะเราไม่เกี่ยวกับมัน พอไม่เกี่ยวกับมัน ต่างคนต่างไม่เกี่ยวกัน แล้วก็ว่าว่างๆ ว่างๆ ไง

เราจะบอกว่า “กระบวนการของการกระทำอย่างนี้ มันไม่เป็นกระบวนการของวิปัสสนา”

โยม ๑ : แต่ว่าอีกประการหนึ่งที่โยมจับได้ก็คือว่า ไอ้สิ่งที่มันเกิดที่บอกว่า เราปล่อยให้มันดับไปนี่นะคะ แล้วบางครั้งไอ้สิ่งที่ว่ามันดับไป ที่เราว่ามันดับไปได้แล้วนี่ มันย้อนกลับคืนมาอีก แสดงว่ามันดับไม่ขาด

หลวงพ่อ : นี่ไง ถูกต้อง

โยม ๑ : อันนี้ที่โยมรู้ข้อนี้นะคะ “ถ้ามันเป็นปัญญาจริงมันต้องขาด” แต่นี่มันไม่ขาด

หลวงพ่อ : ใช่ มันไม่ขาด

โยม ๑ : มันไม่ขาดก็แสดงว่าเรายังบกพร่อง

หลวงพ่อ : มันไม่ขาดเพราะประสาเรานะ ประสาเราอย่างที่โยมบอกว่า โยมเป็นลูกศิษย์หลวงตา เราก็ลูกศิษย์หลวงตา เราถึงบอกว่า เราเองนี่เราอยากให้องค์กรลูกศิษย์ของครูบาอาจารย์เรานี้ อยู่ในหลักของความจริง ถ้าอยู่ในหลักของความจริง “นี่มันไม่ขาดเพราะอะไร”

มันไม่ขาดเพราะคำพูดมันบอก แล้วอย่างที่ว่า “พอไม่ขาดปั๊บนะเราก็ต้องกลับมาที่ความสงบแล้วซ้ำ! ซ้ำ!” แล้วพอซ้ำไปเรื่อยๆ พอมันขาด เราพูดบ่อย เห็นไหม “ตทังคปหาน คือการปล่อยวางชั่วคราว” การปล่อยวางแบบยังมีเศษเหลืออยู่ ทีนี้พอเศษเหลืออันนี้ พอเราปล่อยแล้วนี่เศษเหลือ เศษเหลือเพราะจิตเราดีมันถึงเหลือเศษ

ทีนี้พอมันปล่อยแล้วใช่ไหม เราเข้าใจ เข้าใจว่าเพราะมันยังไม่สิ้นสุด ถ้าเราไม่มีสติเราไม่ควบคุม สิ่งที่เป็นเศษเหลือมันกลับใหญ่โตขึ้นมาไง มันจะกลับเข้มแข็งขึ้นมา แล้วเราจะมาสู้กับมันอีกนี่ มันก็แบบว่าต้องใช้แรงพอสมควร

ฉะนั้นถ้าพอเราไล่เข้าไปแล้ว ไล่เข้าไป พอจิตมันจับกาย เวทนา จิต ธรรม พิจารณาเข้าไปเรื่อย มันจะปล่อยขนาดไหน ก็พิจารณาเข้าไปเรื่อยๆ พิจารณาเข้าไปเรื่อยๆ เวลามันขาดนะ

มันเหมือนอย่างที่ใครมาพูดให้ฟังนี่ ว่ามีพระมาหาหรือใครมาหา ที่ว่าสิ้นกิเลสแล้ว เป็นนิพพานแล้ว เราบอกไม่เป็นไร นิพพานก็นิพพานของเอ็ง แล้วเราย้อนถามกลับว่าละกายอย่างไร ตรงนี้ไง

ถ้าเขาบอกการละกายคือขั้นโสดาบัน ละกาย ละเวทนา ละจิต ละธรรม ถ้าขั้นแรกใครพูดไม่ถูก... หมดสิทธิ์!

นี่ที่เวลาหลวงตาท่านไปคุยกับใคร เห็นไหม หรืออย่างที่ไปหาหลวงปู่แหวน “ไม่รู้ถามไม่ได้ ไม่รู้ตอบไม่ได้” มี ๒ จุด จุดแรกถามมันเลยเข้าทางอย่างไร สรุปจุดสุดท้ายอย่างไร... จบ

แต่นี้พอใครมาบอกว่านิพพานหมดเลย แต่เข้าจุดแรกไม่ถูก ทีนี้คำว่าจุดแรกไม่ถูก เมื่อวานฟังอยู่พอดี เพราะเมื่อวานพูดถึงอาจารย์สิงห์ทอง ท่านพูดถึงอาจารย์สิงห์ทองปั๊บ ท่านก็บอกเลยนะ ที่ท่านคุยชัดๆ นี่ก็มีหลวงปู่ขาว หลวงปู่แหวน กับหลวงปู่คำดี นี่คำนี้ไง “แล้วนอกนั้นเราไม่แน่ใจองค์ไหน เราก็ไม่คุยกับเขา เพราะถ้าคุยกับเขาแล้วนี่ มันมีได้มีเสีย” คือถ้าคุยแล้วมันรู้ถูกรู้ผิดไง

โยม ๑ : แล้วโยมกราบเรียนถามท่านอาจารย์อย่างนี้ว่า หลวงตาท่านสอนอย่างนี้นะคะว่า “ความสุข ความทุกข์ ความดิ้นรนของจิตที่เกิดกับเรานี้ แต่ไม่ใช่ของเรา อย่าไปเป็นกับเขา ให้รู้อย่างเดียว” อันนี้นะคะคือคำเทศน์หลวงตา

แต่โยมว่าจากคำเทศน์ที่ว่ามาแก้ทุกข์ทุกวันนี้ เพราะว่าพอมันเกิดขึ้นมา “อู๋ย.. มันไม่ใช่ของเรา เดี๋ยวมันก็ดับ” อย่างนี้นะคะ

ทีนี้มันที่มาที่ไปเป็นอย่างไร ท่านบอกว่า “ให้รู้ให้ดูมันอย่างเดียว อย่าไปเป็นกับเขา ทุกสิ่งทุกอย่าง เกิดแล้วมันต้องดับเอง มันไม่มีตัวไม่มีตน” โยมก็จับแต่ตัวนี้มาตลอด จนบัดนี้มันก็เลย ความทุกข์มันไม่มาก เพราะตรงนี้ค่ะท่านอาจารย์

หลวงพ่อ : อันนี้เห็นด้วย

โยม ๑ : ทีนี้ที่มาที่ไปนี่มันอย่างไรคะ

หลวงพ่อ : พูดถึงอันนี้นะ เวลาพูดถึงใช่ไหม ดูอย่างเมื่อคืนคุยกันเยอะมาก ออกมาเยอะมาก เดี๋ยวเขาว่า ไอ้ที่เขาพูดอย่างนี้ บอกเวลาหลวงตาท่านอยู่ในปัจจุบันนี้ พออยู่ในปัจจุบันนี้ เหตุการณ์มันเข้ามา เห็นไหม

อย่างเมื่อวานมีคนเขาบอกว่า เวลาใครมาบอกว่า หลวงตาว่าอย่างนั้นๆ จะอยู่อย่างนั้น ได้อยู่กับท่าน ท่านบอกว่า เอ้อ.. แค่นี้แหละ เอ้อ.. แค่นี้แหละ

เวลาท่านพูดเห็นไหม คือทุกคนอยากจะมาคุยกับท่าน แต่ท่านมีปากเดียว ท่านจะไปรับรู้กับใครไม่ได้หรอก เราจะบอกว่า “เวลาท่านอยู่กับโลก โดยไม่ติดโลกไง” สิ่งนั้นมันก็เป็นทุกข์นะ แต่เรารู้ทันมัน เราไม่เอามัน

อันนี้คือว่า นี่หลวงตาเป็นพระอรหันต์ ท่านก็พูดจากมุมมองของท่าน แล้วท่านก็สอนเราให้มีมุมมองอย่างนั้น แต่คำว่า “มุมมองอย่างนั้น” คือมันเป็นมุมมอง แต่ไอ้จิตใต้สำนึกของเรา ที่มันมีตะกอนอยู่นี้ มันทำอย่างนั้นไม่ได้ “แต่ท่านพูดถูกและทำได้ และท่านเป็นชีวิตแบบอย่าง ให้เราดูเป็นตัวอย่าง”

โยม ๑ : แต่เราก็วางได้ในระดับหนึ่ง

หลวงพ่อ : ใช่... ใช่

โยม ๑ : เราวางได้ในระดับหนึ่ง เพราะที่เราวางได้นี้ สาเหตุเพราะว่าเกิดจากการที่เราภาวนามา แต่ว่ามันยังไม่ถึงขนาดนั้น ทีนี้เหตุผลมันต้องมีมากกว่านั้น

หลวงพ่อ : ใช่ มากกว่านั้น ถ้าเหตุผลนี่ เวลาท่านพูด ท่านพูดของท่านอย่างนั้น เป้าหมายคืออย่างนั้น แล้วอย่างที่ว่า “โมฆราช เธอจงมองโลกนี้เป็นความว่าง” ก็จบกันแค่นี้ไง แต่ถ้าพูดถึงว่า “โมฆราช เธอจงมองโลกนี้เป็นความว่าง แล้วกลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิ” คือถอนจิตว่ารู้ว่าว่างไง

ถ้ามองโลกว่าว่าง เราก็เห็นว่าโลกนี้ว่าง ขวดมันก็มองโลกอยู่ แล้วมันรู้ว่าว่างหรือเปล่าล่ะ ขวดมันก็มอง มันก็รู้ว่าโลกว่างนะ ไอ้กูมอง กูก็รู้ว่าโลกว่างนะ เพราะขวดนี้มันไม่มีความรู้สึก มันไม่มีอัตตานุทิฏฐิ มันไม่มีความเจ็บความปวด ความผูกพันของมัน แต่กูมีนะ

ทีนี้พอเป็นอย่างนั้น เพราะ “มองว่าโลกนี้ว่าง” โทษนะ ผู้ที่ปฏิบัติก็พยายามจะมองโลกนี้ว่าว่าง แต่พวกโยมจะมองว่าว่างได้ไหม เพราะพวกโยมมีภาระที่ต้องรับผิดชอบ “คือจิตเรามันไม่ถึงจุดนั้น มันจะมองว่าว่างไม่ได้”

“คำว่ามองว่าว่างนี้ มันก็เป็นภาระหนักหน่วงอันหนึ่งแล้ว เสร็จแล้วยังต้องมาถอนไอ้ตัวรู้ว่าว่างอีกเหรอ” แต่ถ้าไม่ถอนตัวนี้นะ “โลกว่างก็คือมันว่าง ก็กูไม่ว่างไง” ไอ้โลกมันก็ว่าง แต่กูไม่ว่าง กูทุกข์ไง

ทีนี้พอโลกมันว่างนี่มันก็หดเข้ามาที่เราแล้ว ถ้าเราบอกว่า ถ้าโลกนี้ไม่ว่างนะ มันก็พุ่งออกไปข้างนอก ถ้าเรามองว่าโลกนี้ว่างหมด มันก็หดเข้ามาที่ตัวของมัน

โยม ๑ : อันนี้ที่ท่านอาจารย์พูด โยมเห็นชัดเจนเลย เพราะว่า ถ้าเราอยู่ในที่สงบ คนที่ไม่รู้เรื่องก็คือ โอ้โฮ.. ที่สงบดีนะ “ข้างนอกสงบ แล้วใจเราสงบหรือเปล่า” บางครั้งนี่เราต้องดูนะ ไอ้สิ่งข้างนอกมันสงบ แต่ใจเราสงบหรือเปล่า มันไปกันไม่ได้ ถ้าอาจารย์เปรียบเทียบอย่างนี้โยมเข้าใจแล้วค่ะ

หลวงพ่อ : ใช่ พระเรา เห็นไหม หาที่สงบสงัด ต้องที่วิเวก แต่พอไปคุ้นชินแล้วเขาก็หนี

มันแปลกนะ เวลาเราอยู่ในที่คลุกคลี เราก็ทุกข์ไปอย่างหนึ่ง เราก็อยากจะหนีมา พอหนีมานะ มันก็ทุกข์อีกอย่างหนึ่ง อยู่คนเดียวนี่ให้ระวังความคิด พอหนีมาอยู่คนเดียวนี่มันก็คิดเลย “ที่นั่นก็เป็นอย่างนั้น ที่นี่ก็เป็นอย่างนี้”

มึงหนีออกมาแล้วมึงยังเสือกไปแบกโลกนี้ไว้อีกนะ แต่เวลาอยู่กับโลกมันก็เบื่อโลกนะ

นี่เหตุนี้ เหตุที่ออกธุดงค์นี่มันถึงมีการเปลี่ยนแปลงไง มันมีการเปลี่ยนแปลง เราจะพูดบ่อย อย่างเช่นเราไปสร้างวัดมานี่ เห็นไหม พระอยู่ในป่าๆ เราเอาไปทิ้งไว้ในป่า แล้วเราก็ให้เขาหมุนเวียนเหมือนกัน ให้เขาออกมาเที่ยวเหมือนกัน เพราะอะไร เพราะว่าถ้าอยู่ในป่าแล้วเป็นคุณธรรมนะ ที่ห้วยขาแข้ง ช้าง เสือ ลิง ชะนี เป็นพระอรหันต์หมดแล้ว เพราะมันอยู่ในป่ามาตั้งแต่เกิดจนตาย

เราไปอยู่ในป่า เราเป็นมนุษย์ เราไปหาชัยภูมิที่จะฝึกเรา การอยู่ในป่า ถ้าอยู่ในป่าแล้วมันเป็นคุณธรรม ไอ้สัตว์ป่านี่เราต้องไปกราบมันเลย แล้วมันเป็นพระอรหันต์เลย เราไม่ต้องไปฝึกพระอรหันต์ เพราะพระอรหันต์มีอยู่แล้วในป่า แต่นี่มันไม่มี แต่เราไปฝึกในป่า

มันก็กลับมาตรงนี้ไง กลับมาที่ว่า ถ้าเรามองอย่างนี้ ประสาเรา โทษนะ โยมหรือพวกเราที่ปฏิบัตินี่ อย่าใจเร็ว อย่าด่วนสรุป ที่ท่านพูดอะไร นี่มันเป็นคุณธรรมของพระอรหันต์ เสร็จแล้วนี่เราต้องมาทดสอบเรา ถ้าเราพูดอย่างนั้นปั๊บ ประสาเราเลย เศรษฐีเขามีตังค์อยู่แล้ว ไอ้กูไม่มีตังค์เลยนะ กูนึกว่ากูเป็นเศรษฐีเหมือนกันนะเว้ย เวลาเขาเซ็นเช็คทีหนึ่งนี่กูเซ็นไม่ได้ไง กูเซ็นไม่ได้ เพราะกูไม่ใช่เศรษฐี เขาเซ็นมาแต่กูเซ็นไม่ได้ แล้วกูทำอย่างไรล่ะ เพราะกูไม่ได้เป็นเศรษฐี

พูดคำนี้ออกมาเพื่ออะไรรู้ไหม เพื่อแบบว่าให้มันคุ้ยของเราขึ้นมาไง ถ้าเห็นเขาเซ็นเช็คนี่ เราคิดว่าเราเป็นเศรษฐี เราจะเซ็นเช็ค แต่ข้างในเรานี่ยังอีกกองเบ้อเร่อเท้อเลย เราต้องทำตรงนี้ให้สะอาดก่อนไง

จะพูดอะไรก็แล้วแต่นะ “มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด” เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดนี่ ท่านสอนถึงระหว่างขั้นตอน

โยม ๑ : แล้วเมื่อกี้นี้ที่ท่านอาจารย์บอกว่า “อะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าเราดูเกิดดับ” ทีนี้เราดูมันเกิดเสร็จนี่ แล้วไม่ให้มันดับจะทำอย่างไร วิธีไม่ให้มันดับ

หลวงพ่อ : ไม่ให้มันดับ ฟังแล้วเปรียบเทียบนะ หลวงตาท่านบอก “ให้พิจารณาอสุภะ” พิจารณาอสุภะจนหายหมดเลย ว่างหมดเลย เพราะท่านบอกว่า นี่เป็นประโยชน์ของการเรียนมหา พอมันว่างหมดเลย เอ๊ะ... นี่มันไม่ใช่หมดกิเลสแล้วเหรอ ถ้ายังสงสัยอย่างนี้ไม่เอา

พอท่านไม่เอาปั๊บนะ ไปเอาสุภะไง ไปเอาความสวยความงาม เอาสิ่งที่หัวใจชอบมาแนบกับจิตไว้ แนบกับจิตไว้นะ ๓ วันเหมือนกัน

วันแรกก็เฉย... เฮ้ยกูไม่มีกิเลสเว้ย

วันที่ ๒ ก็เฉย..

วันที่ ๓ ก็เฉย..

พอวันที่ ๔ นี้เอาสิ่งที่มันชอบ คือความรู้สึก เห็นไหม ผู้ชายก็ชอบผู้หญิง เอาสิ่งที่สวยที่สุดมาแนบไว้ที่จิต จิตมันรับรู้ไง นี่ไง... ไหนว่าไม่มี! พออย่างนี้ปั๊บท่านก็ออกมาพิจารณาอสุภะจนปล่อยหมดเลย สุดท้ายแล้วต้องเอาสุภะมาแนบกับจิต

แล้วสุดท้ายนี่พิจารณาอสุภะอย่างเดียวไม่ได้ ต้องพิจารณาสุภะด้วย เพราะบางทีพอเราพิจารณาอสุภะไปอย่างเดียว มันเหมือนกับว่ามันตกไปอีกข้างหนึ่ง

โยม ๑ : แล้วอีกประการหนึ่งค่ะท่านอาจารย์ พูดถึงอสุภะนี้โยมก็พิจารณามามากนะคะ ไอ้ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เอ็น กระดูก ตับ ไต ไส้ ปอดนี้นะคะ บางครั้งเดินจงกรมโยมก็เอามันออกมาปูทางจงกรมเลย แล้วก็เดินๆๆ มันก็สงบดี ทีนี้นะคะโยมดูอสุภะทีไร มันไม่เห็นมีเป็นอะไรขึ้นมาเลย มันไม่มี... แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่านั่นน่ะ คือพิจารณาไม่ออกเลยว่า “เอ๊ะ... มันก็ไม่เห็นมีอะไร มันก็ค่อนสกปรก ไม่เห็นมีความหมายอะไร” ถ้าอย่างนั้นมันจะทำอย่างไร

หลวงพ่อ : มันไม่ใช่อสุภะ เราจะบอกเลยนะ มันไม่ใช่อสุภะเพราะเราเข้าใจเรื่องอย่างนี้ เมื่อก่อนพวกเราพิมพ์กัน เห็นไหม พิมพ์หนังสืออสุภะมาแจกกัน เราบอกว่านี่เป็น “ธรรมโทษ... ธรรมโทษของวงกรรมฐาน”

โยม ๑ : มันเป็นสัญญาเหรอคะ

หลวงพ่อ : ใช่! ธรรมโทษของวงกรรมฐานเพราะอะไร เพราะถ้ากูได้อสุภะมาแล้วนี่ เหมือนกับเราเป็นพระกรรมฐาน พอเวลาเราไปหาครูบาอาจารย์

ท่านบอกว่า “ได้ปาฏิโมกข์ไหม” เราบอกว่า “ได้ครับ”

“ได้ปาฏิโมกข์จริงๆ นะ ไม่ใช่ได้หนังสือปาฏิโมกข์อยู่ในย่ามนะ”

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าว่าได้อสุภะ... อสุภะ แล้วพิมพ์หนังสือมาแจกกัน ถ้าอย่างนั้นคือ

๑. มันทำให้เราชะล่าใจ

๒. อสุภะไม่เกิดอย่างนี้ “อสุภะเกิดจากจิต” ถ้าจิตไม่สงบ แล้วจิตไปเห็นอสุภะ จิตไปเห็นกาย ฉะนั้นคำว่าอสุภะอย่างนี้ เราไม่ให้ค่าเป็นอสุภะ

บุคคลคนหนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติใหม่ บุคคลนี้ทำจิตสงบขึ้นมาแล้ว พอจิตสงบแล้วพิจารณาไปเห็นกาย การเห็นกายอย่างนี้ไม่ใช่เห็นอสุภะ เห็นกายอย่างนี้คือละสักกายทิฏฐิ เห็นกายผิดปั๊บ เพราะมันมีทิฐิผิด

ถ้ามันพิจารณาของมันแล้ว มันจะพุพอง มันจะเปื่อยเน่าขนาดไหน จนถึงที่สุดนี่ “กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ นี่เป็นโสดาบัน” ถ้าพิจารณาอสุภะเข้าไปอีก พิจารณากายซ้ำเข้าไป มันจะเกิด...

อย่างที่หลวงตาท่านพิจารณาของท่าน คือพิจารณากายไป แล้วกายนี้มันคืนสู่สภาพเดิม พิจารณากายนี้ กายมันจะย่อยสลายไป ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ มันจะคืนสู่สภาพเดิมของมัน ถ้าอย่างนี้เป็น “สกิทาคามี”

พอเป็นสกิทาคามี คือจิตมันสงบแล้ว พอจิตสงบแล้ว พอจิตมันเข้าไปพิจารณากาย “อสุภะ มันแก้กามราคะ อสุภะนี้ต้องเป็นอนาคามรรค ปุถุชนไม่มีอสุภะ! ไม่มี! ”

อสุภะจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเป็นอนาคามรรค แล้วเวลาปฏิบัติกันก็ว่า “ไอ้นู้นก็เป็นอสุภะ ไอ้นี่ก็เป็นอสุภะ” คำนี้มันพูดกันเป็นศัพท์นะ คือเวลาที่เราพิจารณาซากศพ พิจารณาอย่างนี้นะ แต่พอพิจารณาไปแล้ว เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเราพิจารณาไปแล้วนี่ การปล่อยของมัน คือ

พระโสดาบัน เป็นพระโสดาบัน เพราะละสักกายทิฏฐิ ละสักกายะคือละกายไง ละทิฐิ ทิฐิความเห็นผิดในกาย พิจารณากายมันก็ปล่อยกาย พอพิจารณาซ้ำเข้าไป มันจะคืนสู่สภาพเดิมได้ นั่นคือพิจารณากาย

อย่างเช่นหลวงปู่เจี๊ยะพิจารณากาย.. พิจารณากาย.. พิจารณากาย.. จนเป็นพระอรหันต์เลย

ทีนี้การพิจารณากาย คำว่าสุภะ... อสุภะนี้ เวลาครูบาอาจารย์ อย่างเช่นหลวงปู่กงมา คำนี้มันเป็นคำของหลวงปู่กงมา แล้วหลวงปู่ฝั้น แล้วครูบาอาจารย์เรามาเล่า ว่าหลวงปู่กงมานี้ท่านขึ้นรถเมล์แดงจากสกลฯ มาอุดรฯ ในสมัยก่อนรถมันแน่นไง แล้วท่านก็นั่งอยู่ แล้วไปเห็นพวกคนเขายืนที่ราว แต่จิตท่านสงบไง เห็นเวลาคนพูดกันนี้เห็นแต่กาม เห็นแต่กระดูกมันเคลื่อนไหว ไม่มีร่างกายไง

“นั่นเพราะเป็นพระอรหันต์เว้ย หลวงปู่กงมาเป็นพระอรหันต์” ท่านก็เห็นด้วยคุณธรรมของท่าน

ฉะนั้นพออย่างนี้แล้ว นี่เป็นสิ่งที่วงกรรมฐานเขาคุยกัน แล้วไอ้พระเด็กๆ ไอ้พระกิ๊กก๊อกนั้น ใครก็ว่า “อู้ฮู.. เห็นโครงกระดูก เห็นโครงกระดูก” กูจะมึนหัว...ไม่เชื่อ!

เราจะบอกว่า คุณสมบัติของจิตนี้มันมีคุณสมบัติขนาดไหน มันถึงเห็นภาพอย่างนี้ได้ คุณสมบัติของจิตมันมีขนาดไหน มันถึงจะเห็นมุมมองอย่างนี้ได้ แล้วเวลาเขาพูดกันมานี่ พฤติกรรมของพระนี่เราก็รู้จักหมด แล้วไปบอกว่าเห็นโครงกระดูกเอย

คือเห็นโครงกระดูกนี้ มันมีแต่พวกโยมเรานี่แหละ มีหลายคนมากที่มาปฏิบัติอยู่ฝั่งนู้น แล้วเวลาเดินจงกรมอยู่นี่ ว่าเห็นโครงกระดูกเดินอยู่ข้างหน้า เห็นโครงกระดูกอย่างนี้ คือจิตมันสงบมันก็เห็นนิมิตไง

พูดถึงที่เราเดินอยู่นี้ ข้างหน้าเราคืออากาศ มันจะมีธาตุกระดูกนี้มาแขวนต่อหน้าเราไหม มันเป็นไปไม่ได้หรอก แต่ทำไมมึงเห็นภาพล่ะ ถ้าจิตมึงไม่สงบ จิตมึงไม่มีหลัก มึงจะเห็นภาพอย่างนี้ได้ไหม แล้วถ้าคนที่เห็นภาพอย่างนี้ แล้วครูบาอาจารย์แก้อย่างไร

แต่ที่เราไปเห็นอสุภะ ทีนี้คำว่า “อสุภะ” เมื่อก่อนนะเริ่มต้น...

โยม ๑ : อย่างนี้นะคะ เดี๋ยวโยมกราบเรียนถามท่านอาจารย์อีกอย่างหนึ่งว่า เมื่อประมาณปี ๓๙ ลูกสาวคนโตนี่ น้องเขาไปเรียนแล้วเขาเหงา เขาเลยชวนให้ไปดูหนัง ตอนนั้นเขายังไม่เข้าวัด ทีนี้โยมก็เลยไป พอไปแล้วเสียงมันดังมากเลย ในโรงหนัง Sound surround ทีนี้เราก็ไม่อยากขัดความสุขของคนอื่นเขาก็ดู เสร็จแล้วเขาก็ดูหนังแต่โยมนั่งดูจิต ระหว่างที่มีหนังนี้โยมนั่งดูจิต ดูจนกระทั่งเสียงนี้มันดับไปหมดเลย ๒ ชั่วโมงกว่านี่ไม่ได้ดูหนัง ดูแต่จิตนี้ พอออกมาจากโรงหนังนี่เห็นคนเป็นโครงกระดูกไปหมดเลย เป็นอยู่ ๗ วัน อย่างนี้เรียกสมาธิใช่ไหมคะ สมาธินะคะ

หลวงพ่อ : อืม

โยม ๑ : มันสลดสังเวชมากเลยนะคะ ๗ วันนี้ อู้ฮู... มันเห็นแล้วมันก็ร้องไห้อยู่

หลวงพ่อ : เห็นคนเดินนี่เป็นโครงกระดูกหมดเลย

โยม ๑ : เป็นโครงกระดูกหมดเลยค่ะ อย่างดิฉันเห็นท่านอาจารย์ทำท่าทำทางนี้มันเป็นโครงกระดูกเคลื่อนไหวไปมา เด็กก็โครงเล็ก ผู้ใหญ่ก็โครงใหญ่ อะไรอย่างนี้ มันเห็นอย่างนี้มา ๗ วัน แล้วมันก็เกิดความสลดสังเวชมากเลย อู้ฮู... คนเรานี่นะ อันนี้โยมคิดว่ามันคงเป็นสมาธิ มันแน่นมาก

หลวงพ่อ : เป็นสมาธิ แน่นมากเพราะอะไรรู้ไหม เวลานั่งอยู่ในโรงหนังนี้ เพราะธรรมดาสมาธินี่มันเกิดได้ยาก แต่คราวนี้ด้วยความจำเป็น เพราะรักลูก ลูกขอให้ไป มันหนีไม่ได้ไง มันเหมือนกับเข้าไปเผชิญกับสิ่งที่มันขัดแย้งกับใจ แล้วควบคุมจิต

เราจะบอกว่า เวลาเราทำสมาธิเองนี้ เราไปรักษาของเราเอง แต่นี้พอการทำสมาธินี่มันเข้าไปเผชิญกับสิ่งเร้า เผชิญกับสิ่งตรงข้ามไง แล้วพอมันบังคับได้ พอมันบังคับได้ จิตมันก็ลงได้ลึกไง เพราะคำว่าลงได้ลึกทำไมถึงอยู่ได้ ๗ วันล่ะ

แต่ถ้ามันเป็นไปเอง คือพอมันเจออย่างนั้นปั๊บอย่างที่ว่านี่มันก็หนี แต่นี่เพราะความรักลูกไง ฉะนั้นผลงานนี้ต้องบอกว่าอานิสงส์นี้เกิดจากลูก แล้วก็ไปบังคับให้จิตนี้มันไปต่อสู้กับอย่างนั้น แล้วจิตมันลง ถ้าจิตลงอย่างนี้เราจะย้อนกลับมา

เวลาจิตลงอย่างนี้นะเราจะย้อนกลับมา เวลาพวกเราเป็นมนุษย์เกิดขึ้นมา ทุกอย่างทุกคนนี่มีเบื้องหลังมา คือบุพเพนิวาสานุสติญาณ คืออดีตชาติมา พอมีอดีตชาติมา แล้วพอจิตมันลง นี่เขาจะมองกันตรงนี้นะ เวลาเราทดสอบลูกศิษย์ว่าใครที่ปฏิบัติ คือถ้ามันเห็นอะไรมันรู้อะไร อย่างที่เราบอกว่ามันเกิดขึ้นมาจากอำนาจวาสนาเดิมไง

อันนี้มันเป็นวาสนาเดิม เพราะมันไม่เข้าอริยสัจ นี่เพราะเห็นเป็นโครงกระดูกๆ เห็นเป็นโครงกระดูกมันเห็นได้ ดูอย่างที่วันนั้นเขามาที่นี่ เขานั่งอยู่เขาก็เห็นเราเป็นโครงกระดูกนี่แหละ พอเห็นเป็นโครงกระดูกแล้วเขาขยี้ตาเขาใหญ่เลยว่าเขาเห็นโครงกระดูก เห็นไหม

ที่เราพูดไว้ในกรรมฐาน ในแวดวงพระธุดงค์ แวดวงกรรมฐานเรานี้ ที่ว่ากรรมฐานผิด มันผิดตรงนี้ คำว่าผิด.. ผิดนี่คือพลาดตรงนี้ไง พลาดที่ว่า เวลาวิปัสสนาจิตมันสงบแล้วเห็นโครงกระดูก เห็นอะไรต่างๆ นี้ มันเป็นวิปัสสนาไป แต่เวลาใครมานั่งปั๊บแล้วเห็นโครงกระดูก เขาบอกว่าอันนี้เป็นวิปัสสนาไง

“อันที่เห็นอย่างนี้ มันเป็นส้มหล่น มันเป็นบุญอำนาจวาสนาเดิม”

ทีนี้บุญอำนาจวาสนาเดิมนี้มันมาเป็นคราวเดียว เหมือนเรา เช่นโยมนี่เคยทำบุญมา ต้องถูกรางวัลที่ ๑ หนหนึ่ง ก็ซื้อรางวัลที่ ๑ ถูกใบเดียว จะเอาใบที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ นะ โดนกินเกลี้ยงเลย

โยม ๑ : แล้วทีนี้นะคะ หลังจากที่ว่าโยมเห็นโครงกระดูกแล้วนะคะท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วโยมก็ภาวนามาตลอด อย่างต่อเนื่องเลย เรื่องการภาวนานี้ไม่เคยลดละ ทีนี้หลังจากนั้นแล้วมันเบื่อชาติความเกิดมากเลย ตั้งแต่ปี ๓๙ ปี ๔๐ ถึงปี ๔๑ โยมเป็นอยู่ ๓ ปี เวลาพูดถึงชาติความเกิดโยมจะร้องไห้ตลอด ๓ ปีนี้โยมไม่ได้มากราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่าทำไมมันจึงเป็นอย่างนั้น มันร้องไห้ตลอดเลย มันสลดสังเวชตลอดเลยค่ะ

หลวงพ่อ : เวลาปฏิบัติไปนี่เวลาเขาถลำกันไป แล้วพอถลำกันไปนี้ มันเหมือนกับที่เวลาใครมาเขาก็บอกว่า “นิพพาน นิพพานไง” เราจะย้อนกลับมาที่ “เอ็งผ่านกายอย่างไร”

เริ่มต้นนี่เราต้องเปิด หลวงตาพูดบ่อย ถ้าคนที่ฟังเป็นแล้วเราจะจับได้ หลวงตาบอกว่า

“การปฏิบัติมียากอยู่ ๒ จุด จุดแรกคือจุดเปิดประตู คือโสดาบันนี้ กับจุดสุดท้าย ๒ จุดนี้ยากที่สุด”

เพราะจุดแรก คำว่าจุดแรก เพราะเราไม่เคยทำงาน เราทำอะไรไม่เป็น ถ้าผ่านจุดนี้เข้าไปแล้ว คนทำงานผ่านโสดาบันแล้ว พอสกิทาคา อนาคานี่ มันเหมือนกับงานรูทีนที่เข้าไปได้เลย พอจบที่อนาคาปั๊บ มันขาดหมด เพราะว่าจิตเดิมแท้นี้มันขาดจากขันธ์ มันเป็นอิสระอีกอันหนึ่ง จะต้องเข้าไปหามันอีกชั้นหนึ่ง แต่ถ้าผ่านขั้นแรกไป เหมือนมันเป็นงานต่อเนื่อง มันจะผ่านเข้าไปได้

ฉะนั้นเวลาที่ว่าพิจารณาต่างๆ แล้วมันจะสลดสังเวช หรืออะไรก็แล้วแต่ นั่นโยมพิจารณาของโยม “แต่ถ้าเป็นความจริง เราต้องมาเอาตรงนี้ให้ผ่านก่อน!” มีลูกศิษย์มาหาเยอะเลย บอกว่า “พิจารณากาย.. พิจารณากาย” เพราะเขาฟังเทศน์...

“คำเทศน์ของหลวงตานี่มันเป็นดาบสองคม” หลวงตาบอกว่าเวลาท่านผ่านที่พิจารณาจนธาตุ ๔ กลับไปสู่สภาพเดิม แล้วมันรวมใหญ่ ท่านก็ขึ้นไปรายงานหลวงปู่มั่น แล้วพอเสร็จแล้วมันสุขมากไง ก็อยากจะไปเอาอีก ก็ขึ้นไปรายงานว่าจะทำอย่างไรต่อ

หลวงปู่มั่นบอกว่า “มันจะบ้าหรือ มันก็เป็นหนเดียวเท่านั้นแหละ เราก็เป็นอย่างนี้ ที่ถ้ำสาริกาก็เป็นอย่างนี้ รวมใหญ่หนเดียวมันก็มีหนเดียวเท่านั้นแหละ” แค่นี้นะ หลวงตาติดอยู่ถึง ๕ ปี เพราะมันมีหนเดียว

“นี่ไงดาบสองคม” เพราะพอท่านพูดแล้วลูกศิษย์ได้ยินมาใช่ไหม พอพิจารณากายแล้วมันปล่อยไง เพราะบอกมีหนเดียวไงแล้วเขาก็ปล่อยเลย พอปล่อยเลยนี่แล้วพอมันเสื่อมเขาก็มาหาเราอีก เราบอกว่าเอ็งต้องทำจิตสงบเข้ามา แล้วให้กลับมานี่ เขาร้องไห้โฮเลยบอกว่ามันไม่ไหว มันร้องไห้โฮเลย

เพราะอะไรรู้ไหม พอเวลาจิตมันสงบแล้วไปเห็นกาย พอพิจารณาไปแล้วมันก็ปล่อย พอปล่อยแล้วมันเป็น “ตทังคปหาน คือมันปล่อยชั่วคราวไง” เพราะอะไร เพราะคนไม่เคยปฏิบัติ ถ้าคนไม่ถึงที่สุดนะ...

โยม ๑ : มันไม่สมุจเฉท ใช่ไหมคะ

หลวงพ่อ : ใช่! มันมีตทังคปหาน... แล้วซ้ำๆๆๆๆ จนมันขาดเองเป็นสมุจเฉทปหาน พอเป็นสมุจเฉทปหานนะ “กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ มันแยกพั่บ! เอ้อ...”

ถ้าถึงตรงนี้ปั๊บ โสดาบันไม่ต้องมีใครตั้ง มันจะเป็นเอง

โยม ๑ : แล้วทีนี้ค่ะท่านอาจารย์ เสร็จแล้วโยมก็มีความเพียรตลอดเลย ตั้งแต่ที่ว่านี้นะคะมาตลอด มาถึงจนปี ๔๓ พอปี ๔๓ ตอนนั้นโยมก็.. หลวงตาท่านมาช่วยชาติตั้งแต่ทีแรกปี ๔๑ ทีแรกโยมก็ว่าจะเข้าไปช่วย มาตอนหลังแล้วเห็น อู้ฮู.. แต่ละคนนี่เขาชิงดีชิงเด่น โยมก็เลยดีดตัวออก โยมก็เลยบอก “โอ๋ย.. ไม่มีเราชาติก็ไปรอดนะคะ” โยมก็ว่า “ชาติไปรอด ไม่มีเราก็มีแต่คนเก่งๆ ทั้งนั้นเลย ไอ้เรามันแค่จบ ป.๔ จะไปมีท่าอะไร” แล้วคนเขาก็ไม่ฟังเราด้วย แต่จริงๆ เราทุ่มมาก โยมก็เลยดีดตัวออกเลย

พอดีดตัวออก ทีนี้โยมก็เลยเร่งทำความเพียรตลอดเลย จนมาถึงปี ๔๓ นี้ โอ้โฮ.. มันเกิดอาการที่ว่าโยมจะอยู่กับโลกไม่ได้แล้วค่ะ คือจิตนี้มันทิ้งโลกเลย มันเห็นอะไรไม่มีสาระหมดเลยในโลกนี้ ไม่ว่าจะลูก สามี หรือสมบัติอะไรมันก็ไม่เอาหมดเลย คือมันไม่เอาแล้ว มันไม่เอาตั้งแต่ยังไม่บวช ทีนี้มันมีอยู่วันหนึ่ง อยู่ๆ โยมก็จะต้องบวช เราก็ไม่คิดหรอกนะคะ แต่ถ้าไม่บวชมันต้องตายแน่ๆ อยู่ไม่ได้แล้ว ก็เลยบวชปี ๔๓ เดือนตุลา

ทำไมอาการอย่างนี้มันเกิดขึ้นจากอะไรคะท่านอาจารย์ มันอยู่ไม่ได้จริงๆ

หลวงพ่อ : ใช่.. จิตคนมันมีขึ้นมีลง

โยม ๑ : แล้วมันก็ถามก่อนนะคะว่า ลูกเอาไหม.. ไม่เอา สามีเอาไหม.. ทรัพย์เอาไหม แต่งตัวไหม.. ช้อปปิ้งไหม... มันบอกว่าไม่เอาหมด เอาอย่างเดียวคือบวช แล้วมันก็อยู่ไม่ได้จริงๆ

หลวงพ่อ : ได้! เพราะคำว่าอำนาจวาสนาของคนนี้มันมาได้ แต่พูดประสาเราอย่างนี้ คือมันก็เปลี่ยนแปลงได้ไง นี้เพียงแต่ว่าเวลาทำ...

เราอยู่กับหลวงตามา อยู่กับครูบาอาจารย์มา แล้วครูบาอาจารย์เวลาเราขึ้นไปถามปัญหา เราจะรู้ว่าหลวงตานี่ท่านจะตอบแบบหลวงปู่มั่น คือแบบล้มโต๊ะ คือจะพูดสั้นๆ เวลาขึ้นไปถามปัญหานะท่านพูดสั้นๆ คือสรุป แล้วให้เราไปหาเอง เพราะเราเคยขึ้นไปถามปัญหาอย่างนั้น

ฉะนั้นพอเวลาลูกศิษย์เรามานี่เราจะเคลียร์มาก เข้าใจไหม อธิบายซ้ำแล้วอธิบายซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วพระที่บ้านตาดเวลามีปัญหาปั๊บ เมื่อก่อนที่เราออกมาใหม่ๆ เห็นไหม เอารถออก.. เอารถออก คือจะไปแก้เขาตลอดเลย เพราะเรารู้อยู่ว่าครูบาอาจารย์เราท่านจะตอบอย่างไร ทัศนคติของคนมันเป็นอย่างไร

อย่างเช่นในปัจจุบันนี้ไปหาหลวงปู่ลีสิ ใครไปถามปัญหานะ “เอ้อ... เอ็งนั่งตลอดรุ่งเดี๋ยวเอ็งก็รู้เอง” ลองไปถามหลวงปู่ลีสิ ใครไปหาหลวงปู่ลีนะ ท่านจะบอกว่า “พุทโธนี่ตั้งแต่ ๖ โมงเช้าถึง ๖ โมงเย็น...ได้! จบ” หลวงปู่ลีจะตอบอย่างนี้ตลอด

นี่เราจะรู้ครูบาอาจารย์ รู้ว่าทัศนคติของคนจะเป็นอย่างไร แล้วเวลามีคนไปถามปัญหานี่ เอ็งจะรู้เลยว่าไอ้นี่จะได้คำตอบอะไรมา ฉะนั้นเวลามาหาเรานี่ เอ็งเห็นไหม กูอธิบายแล้วอธิบายอีก อธิบายแล้วอธิบายอีก

อันนี้ย้อนกลับมาที่โยมนี่ไง เวลาที่โยมเป็นมันก็เป็น อาการของโยมที่เป็นนี่เป็นหมด เราไม่อยากจะเอ่ยเมื่อก่อนที่ครัวบ้านตาดเลย ในครัวบ้านตาดก็มีอย่างนี้ เวลาหลวงตาท่านบอกว่าท่านพิจารณากายผ่านกาย เขาก็สร้างอารมณ์ผ่านกายกัน ใครผ่านกายเป็นโสดาบัน สกิทาคา เมื่อก่อนนะอู้ฮู... ในครัวนี่เต็มไปหมดเลย แต่เดี๋ยวนี้มันก็เงียบไป

โยม ๑ : อ๋อ เหรอคะ โยมไม่ทราบ เขาสร้างการผ่านกาย... เขาสร้าง

หลวงพ่อ : ใช่! สร้าง! เพราะอะไรรู้ไหม เพราะทีแรกเข้ามาเขาบอกว่าผ่านกายไง เอ๊ะ.. ผ่านกายมันผ่านกันอย่างไรวะ แล้วผ่านกายพอถึงที่สุดนะ อย่างของเขาเห็นไหม เวลาถึงที่สุดนี่เห็นดอกบัวอย่างนี้

“มันสร้างนิมิต แล้วเอานิมิตทำลายนิมิต”

เพราะอะไรรู้ไหม เพราะหลวงตาท่านพิจารณากาย พิจารณาเวทนา แล้วพอเราจะพิจารณากับมัน เราจะทำอย่างไร เพราะเราไม่เคยมีมรรคญาณที่ทำลายมันได้

ทีนี้ด้วยความสามัญสำนึกใช่ไหม ถ้าสิ่งใดเป็นวัตถุนี่เราก็เอาระเบิดทำลายมัน หลวงตาบอกว่าต้องทำลาย แต่มันไม่รู้วิธีการทำลาย จนเขาสอนกันนะ ว่า “สร้างกายขึ้นมา แล้วเอาระเบิดปามันเข้าไป” อู้ฮู.. ฟังแล้วกูสะดุ้งเลย

โยม ๑ : ทีนี้ท่านอาจารย์คะ อันนี้โยมก็เข้าใจที่ท่านอาจารย์พูด เพราะว่าไอ้เราภาวนานี่เรารู้นะ บางครั้งมันถึงจุดนี้ เราแทงไม่ทะลุเพราะว่า “สติกับปัญญากำลังไม่พอ” มันไม่มีกำลังพอ มันเลยแทงไม่ทะลุค่ะ มันค้างอยู่

หลวงพ่อ : อีกอันหนึ่ง... อีกอันหนึ่งคือโยมถลำไง โยมถลำ พระที่พลาดนี้นะ ส่วนใหญ่มันถลำเข้าไป อย่างเช่นเราปฏิบัติแล้วเราเคยหลงมา แล้วหมู่คณะหลงเราจะรู้

เวลาเราปฏิบัตินี่เราพิจารณากาย หรือพิจารณาอะไรต่างๆ มันก็สมุจเฉท คือมันปล่อยวางหนหนึ่ง เราก็ไปบอกว่าเป็นโสดาบันแล้ว แล้วมันยังมีอยู่ใช่ไหม มันยังไม่ขาด พอเราพิจารณาซ้ำอีกมันก็เห็นได้ พอพิจารณาครั้งที่ ๒ มันก็ปล่อยอีก เป็นสกิทาคา พอพิจารณาครั้งที่ ๓ เป็นอนาคา พิจารณาครั้งที่ ๔ เป็นพระอรหันต์ แต่มันไม่ทำอะไรเลยไง แล้วพอสุดท้ายไปมันก็เสื่อมหมด เป็นกันอย่างนี้เยอะ

เพราะเวลาเราตรวจสอบพระ จะถามว่า “ปล่อยอย่างไร” จะปล่อยอย่างไรก็ไม่เป็นไร ปล่อยเถอะ แต่ถ้าคนไม่เคยสมุจเฉทปหาน มันจะบอกอาการของสมุจเฉทปหานไม่ถูก คนไม่เคยผ่านจะบอกไม่ได้ พูดให้มันจำอีกล้านหน มันก็บอกไม่เหมือน

โยม ๑ : ทีนี้ท่านอาจารย์คะ ปัญหาของโยมก็คือว่า ที่โยมกราบเรียนท่านอาจารย์เมื่อกี้นี้ว่า ไอ้สังขารมันดับพรึ่บ! ไปเลยอย่างนี้ แล้วเวลานั่งสมาธิพอมันสงบ มันไม่รู้จะยกตัวไหนขึ้นมาพิจารณาแล้วค่ะท่านอาจารย์

หลวงพ่อ : พอจิตสงบแล้วนะ ให้อยู่กับสงบ พอออกมานี่จับได้.. ออกมาจับได้ อย่างเวลาคนเราบอกว่าเป็นไข้ แล้วอาการไข้มันมี นี่ก็เหมือนกัน เพราะโยมก็บอกแล้วว่ามันดับพรึ่บไป แล้วมันก็มีอะไรคาใจอยู่ พอออกมานี่มันจับได้

เพียงแต่นี่คำว่า “ถลำ” คือกิเลสมันบังเงา เวลามันถลำไปแล้วนี่มันจะบอกว่าไม่มีอะไร ว่างแล้ว ปลอดภัยแล้ว มันปิดกั้นอยู่

แต่ถ้าเรามีความคิดฝ่ายตรงข้าม ถ้ามันมีต้องเจอ!

โยม ๑ : อ้าว... แล้วจะยกตัวไหนขึ้นมา

หลวงพ่อ : ประสาเรานะ ถ้ากูเดินเอาหัวชนกำแพงนี่ หัวกูแตกแน่ๆ เลย

นี่ก็เหมือนกัน “จิต... ถ้ามันมีอยู่ให้ทิ่มมันเข้าไปเลย! มันเจอแน่นอน” เหมือนเอาหัวโขกนี่มันต้องโดน คือของมันมีอยู่

เราไปแก้พระมาองค์หนึ่ง เขาสิ้นเป็นพระอรหันต์แล้ว เขาพิจารณาข้าว เขาบอกว่าเขาบิณฑบาตเขาพิจารณาข้าวจนสิ้นพระอรหันต์เลย แล้วพระเพื่อนก็ชวนเราไป แล้วพอเขาบอก เราก็รู้แล้วว่าไม่ใช่ ไม่ใช่เพราะอะไร เพราะวิทยานิพนธ์นี้เป็นของหลวงปู่ขาว

ไอ้นี่เป็นสัญญาล้วนๆ เลย พอเป็นสัญญาล้วนๆ ก็บอกให้พิจารณาซ้ำสิ ก็ว่า “มันไม่มี... มันปล่อยหมดแล้ว มันไม่มีหรอกๆ” กูก็บอกว่า “มันมีสิ” คือของมันมีอยู่ ถ้าเอ็งค้นหามันจะเจอ

อันนี้มันอยู่ที่วาสนาของคน ถ้าวาสนาของเขาแล้วเขาเอะใจ หรือเขาซื่อสัตย์ของเขา เขาจะได้ประโยชน์กับตัวเขาเอง แต่ถ้าเป็นกิเลสนะมันบอกว่ามันไม่มี ค้นแล้วก็ว่ามันไม่มี ก็กิเลสมันบอกให้ไม่มีมันก็ไม่มี

เพราะตัวเราก็อยากจะเป็นพระอรหันต์อยู่แล้ว อยากจะสิ้นกิเลสอยู่แล้วใช่ไหม แล้วพอบอกว่าไม่มี.. ไม่มีมันก็เข้าทางว่ามันเป็นพระอรหันต์ไง กิเลสก็ถีบตูดเลย ใช่ๆๆ เพราะกิเลสมันถีบตูดใช่ไหม

รับประกันได้เลยว่าพระองค์นี้ ถึงที่สุดแล้วถ้าเขาไม่หลงไป เขาก็หลงไปเลย แต่ถ้าวันไหนเขารู้ตัวขึ้นมานะ เขาต้องกลับมาเจอตรงนี้ คือของที่ไม่ได้ชำระแล้วมันมีอยู่นะ อีกกี่ร้อยปีกี่ร้อยชาติ มันก็จะฝังใจเราไป ไม่มีทางจะหลุดจากใจเราไปได้ ถ้าเราไม่กำจัดมันเสีย

มี! แล้วพอฟังโยมพูดนะ ตอนที่บอกว่าออกจากโรงหนัง ของอย่างนี้มันเป็นการยืนยันว่าคนมีบารมี บารมีของคนมันจะยืนยันกันตรงนี้ ตรงที่จิตรวม จิตรับรู้ จิตกระทบ ถ้าคนไม่มีบารมีนะ ถ้าสงบมันก็สงบเฉยๆ

โยม ๑ : แล้วมันเกิดความเบื่อหน่ายมากเลยค่ะ มันถึงได้สลดสังเวช แล้วมันก็ร้องไห้อยู่ ๒-๓ ปี มันสลดสังเวชมาก

หลวงพ่อ : มีบารมีมากนะ มันก็ต้องมีครูบาอาจารย์ที่มีความเหนือกว่า แต่นี่ไปพบครูบาอาจารย์ที่... โยมคุมได้ไง อาจารย์จะสอนได้อย่างไร ก็โยมไปสอนอาจารย์หมดเลย

ถ้าคนมีอย่างนี้ โธ่... จิตคึกคะนองนะ มันต้องมีคนถึง ถ้าจิตคึกคะนองแล้วคนคุมไม่ถึง มันไม่มีสิทธิ์

โยม ๑ : โยมภาวนาแล้วโยมไม่มีนิมิตอะไร แต่ว่ามันดีอยู่ที่ว่าโยมจับหลักนะคะว่า “ไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่ที่เกิดขึ้นกับจิต หรือเกิดขึ้นขณะภาวนา โยมไม่เอามาเป็นเรื่องหมดเลย” ไม่เอามาว่า เอ๊ะ.. ทำไมอย่างนู้น เอ๊ะ.. ทำไมอย่างนี้ ไม่เลย คือรู้เรื่องของมันเท่านั้นเอง คือปล่อยให้มันเป็นอิสระเป็นธรรมชาติของมันค่ะ อะไรเกิดขึ้นมาก็เป็นอย่างนั้น

หลวงพ่อ : นี่วาสนาของคนไง นี่ทัศนคติ เห็นไหม

โยม ๑ : ค่ะ ไม่ได้ติดอะไร

หลวงพ่อ : โธ่.. ของเราไม่เป็นอย่างนี้ ของเรานี่เราไปยอกใจ ประวัติของหลวงปู่เทสก์กับหลวงปู่หลุย องค์หนึ่งติดสมาธิ ๑๗ ปี อีกองค์หนึ่งติด ๑๑ ปีไง ตอนบวชนี่เราไปอ่านเจอเข้า อู้ฮู.. กลัวฉิบหาย กลัวจนช็อกเลยนะ อะไรก็ไม่เอา เจออะไรก็ไม่เอา... ไม่เอา แล้วพอใครมาเราบอกว่าไม่เอา พอเวลาเราสอนลูกศิษย์ไป ลูกศิษย์บอกว่า

“มันจะเป็นไปได้อย่างไรนิมิตอย่างนั้น”

“ก็กูก็เห็นมาแล้ว! แล้วกูก็วางไว้แล้วไง”

แล้วพอวางไว้แล้วนะ พอจิตมันผ่านไปแล้วนะ กลับมาใช้ประโยชน์ได้มหาศาลเลย แต่ถ้าเราไม่วาง แล้วพอเราใช้มันไปนะจิตมันเสื่อมหมดไง

ถ้าไม่วางมันนะ แล้วไปยุ่งกับมันด้วย แล้วมันก็ลากให้จิตนี้หมดไปด้วย แต่ถ้าเราวางมันไว้นะ แล้วเราเดินผ่านทะลุไปนะ แล้วกลับมา พอมีกำลังแล้วกลับมาเอามันมาใช้ประโยชน์นะ อู้ฮู.. โธ่.. จักรวาลนี่กูไปมาหมดเลย

โยม ๑ : ค่ะ แล้วมีอยู่วันหนึ่งนะคะ โยมก็เอาสตินี่ คือเริ่มนั่งมันยังไม่มีเวทนา ก็จับลมนะคะ พอจับลม แล้วพอเวทนาเริ่มเกิด โยมก็ไปจับเวทนา... กาย เวทนา จิต ธรรม ไอ้ดูลมมันก็คือกายใช่ไหมคะ อ้าว.. ดูเวทนา เอ๊ะ.. ดูไปดูมา โอ๋ย.. ไอ้เวทนานี่เราเข้าใจว่ามันอยู่ในกาย จริงๆ เวทนามันไม่ได้อยู่ในกาย มันอยู่นอกกายนะคะ

เอ้อ... ไอ้เวทนากับกายนี่มันคนละส่วนกันนี่นะ อ๋อ.. ก็จิตก็ดูมัน พอดูๆๆ ไป ลมมันก็ดับหายไป.. ดับหายไป ไอ้ขันธ์ ๕ ก็ดับไป ลมก็ดับไป มันก็เหลือแต่รู้อย่างเดียว แต่มันไม่ใช่สงบนะคะ มันเฉย...

ทีนี้พอมันเฉย ตอนนี้มันก็เลย เอ๊ะ.. อะไรวะ เฉย.. แล้วเอาอะไรมาดูมันก็เฉย มันก็ติดแต่ตัวเฉย นี่ค่ะท่านอาจารย์ ติดแต่ตัวเฉย

หลวงพ่อ : อันนี้อันหนึ่งนะ กับอันที่เมื่อกี้เอากายปูเป็นทางเดินจงกรม เห็นไหม นี่มันเหมือนกัน อันนี้กับอันที่เอากายไปปูเป็นทางเดินจงกรม

พูดถึงนะ เวทนานี้มันไม่ได้อยู่ข้างนอกหรอก เพราะถ้าเวทนาอยู่ข้างนอก นี่วัตถุหรือของทุกอย่างเป็นเวทนาไม่ได้

“เวทนามันอยู่ที่จิต... ถ้าจิตโง่ เวทนาเกิด.. ถ้าจิตฉลาด เวทนาไม่มี”

เวทนาคืออะไร ถ้าเป็นทางวิทยาศาสตร์นะ อย่างเช่นคลื่นหัวใจ เห็นไหม เขาจับได้ อันนั้นเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ไอ้ความรู้สึกมันอยู่ที่นี่ พออยู่ที่นี่ แล้วเวทนานี้เป็นเพราะจิตโง่! ถ้าจิตฉลาดเวทนาไม่มี เวทนาเป็นนามธรรมไง

ทีนี้พอโยมไปเห็นอย่างนั้นใช่ไหม เวลาเจอเวทนาอยู่ข้างนอก ทุกอย่างอยู่ข้างนอก ทีนี้พอเป็นอย่างนั้นเพราะจิตมันส่งออกไป พอส่งออกไปแล้วพอมันปล่อยวางเข้ามา พอมันปล่อยวางเข้ามามันเหลือตัวจิต มันก็เลยซื่อบื้อไง คือเฉยๆ ไง

“นี่ขันติธรรมคือการอดทน” ถ้ามีปัญญามันจะไล่เข้ามา พอไล่เข้ามา พอตัวจิตมันไล่เข้ามาถึงตัวจิต ตัวจิตนี่เวลาภาวนาปัญญามันเกิด

แต่เราฟังโยมมาหลายทีแล้ว โยมฟังคำนี้นะ... เวลาหลวงตาท่านบอกว่าท่านพิจารณาของท่าน “เวลาปัญญามันหมุนนี่เหมือนธรรมจักรมันหมุน… เวลาปัญญามันหมุนนี่เหมือนธรรมจักร”

เราจะพูดบ่อยเวลาธรรมจักร คือมรรคสามัคคี มรรคญาณ... เวลาธรรมจักรมันหมุน คือมรรคญาณมันหมุนนี่มันทำอย่างไร “นี่ภาวนามยปัญญา”

มันมีพระเอาซีดีเราไปฟังแล้วมันบอกว่า เมื่อก่อนมันฟังอยู่ เพราะเมื่อก่อนเราจะพูดตรงนี้หนักมาก ตอนมาใหม่ๆ เห็นไหม เขาบอกว่าเวลาฟังเทศน์มานี่มีของหลวงตากับของเราที่บอกว่า เวลาจักรมันหมุน.. เวลาปัญญามันหมุน

ทีนี้พอฟังโยมพูดเมื่อกี้นี้ บอกว่าพิจารณาอย่างนั้น ทุกอย่างเป็นอยู่ข้างนอกๆ มันเป็นโลกียปัญญา มันเป็นปัญญาของเราที่เกิดขึ้นมา ทีนี้พอทำความสงบแล้วนี่มันย้อนกลับมา... ย้อนกลับมา แล้วต้องจี้มันลงไป

โยม ๑ : ท่านอาจารย์คะ มรรคญาณนี่มันเป็นญาณที่ละเอียดใช่ไหมคะ

หลวงพ่อ : มรรคญาณ คือมรรค ๘ นี่แหละ

โยม ๑ : ระดับไหนคะมรรคญาณนี้

หลวงพ่อ : มรรคญาณคือจิตสงบ พอจิตมันสงบแล้วจิตมันออกจับกายได้ มันวิปัสสนากายได้ วิปัสสนาเวทนา วิปัสสนาจิต วิปัสสนาธรรม นี้คือมันหมุนแล้ว พอมันเห็นแล้วมันหมุนเลย

พอมันหมุนนี่หมายถึงว่าปัญญามันหมุนไป วงรอบของจิตมันหมุนไป เห็นไหม พอหมุนไปนี่มันกลับมาชำระล้างจิตที่ว่ามันเป็นจิตจริง พอเป็นจิตจริงแล้วพอพิจารณารอบหนึ่ง พอมันสมดุลมันก็ปล่อย “นี่ตทังคปหาน มันก็ปล่อย” พอปล่อยแล้วเดี๋ยวมันก็เกิดอีก ก็ให้ซ้ำอีก.. ซ้ำอีก พอมันสงบแล้ว มรรคสามัคคี มรรครวมตัว “ยถาภูตัง”

“ยถาภูตังคือการทำลายทั้งหมด ญาณทัศนัง คือญาณทัศนะเกิดกับการหยั่งรู้ขึ้นมา”

โยม ๑ : มรรคญาณนี่มันก็เป็นญาณระดับอัตโนมัติหรือเปล่าคะ

หลวงพ่อ : ถ้าอัตโนมัติคือมันเป็นเองเนาะ คำว่าอัตโนมัติคือมันเป็นเองใช่ไหม แต่นี่ไม่อัตโนมัติ เพราะว่าเกิดจากสติ เกิดจากปัญญาของเรา

เวลาทำขึ้นมานี่เขาบอกว่าเป็นสัญญาๆ เป็นการสร้าง มันเป็นสร้างขึ้นมาก่อน คือว่าเราฝึกฝนนี้มันเป็นการสร้างขึ้นมาก่อน สร้างขึ้นมาจนมันชำนาญ พอมันชำนาญแล้ว มันจะหมุนของมันเอง... มันจะหมุนของมันเองจากการสร้างด้วยสติปัญญา มันไม่ใช่หมุนโดยอัตโนมัติ

คำว่าอัตโนมัติๆ ที่เขาพูดกันนี้ เราจะบอกว่าเราปฏิเสธว่าพวกนี้ภาวนาไม่เป็น “มันจะเกิดอัตโนมัติ” ถ้ามันเกิดอัตโนมัติ มันก็ไม่มีที่มาที่ไปใช่ไหม

มันเกิดอัตโนมัติไม่ได้! มันเกิดจากการกระทำที่เราประกอบส่วนขึ้นมา แต่พอมันไปถึงระดับที่มันเป็นมรรคสามัคคี ที่มรรคญาณแล้ว มันจะเป็นไปโดยสัจธรรม ไม่ใช่มีเราเข้าไปมีส่วนประกอบ คือมีเราเข้าไปรับรู้ หรือเราเข้าไปบังคับบัญชา... ไม่ใช่! อันนั้นมันเป็นโลก แต่มันเกิดจากโลกนี่แหละ เกิดจากการกระทำของเรานี่แหละที่ทำมันขึ้นมา แล้วพอมันหมุนไปนะ โอ้โฮ.. มันชำนาญมาก

เพราะมันชำนาญมากนี่แหละ อย่างที่เราพูดกับพวกโยมเวลาปฏิบัติ เพราะอย่างที่ว่ามันตทังคปหาน ตทังคปหานนี้เราเป็นเป็นร้อยหนพันหนนะ เราพูดไว้ในเทปนี้บ่อยมาก ว่ากูนี้ปล่อยเป็นร้อยหนพันหน บางวันกูปล่อยทีหนึ่ง ๕ หน ๖ หน แต่เพราะเราเคยพิจารณาไปแล้ว เราเคยหลงเคยติดมา มันเลยเข็ด พอเข็ดมันก็สัญญากับตัวเองบอกว่า“ต่อไปนี้นะ มึงจะต้องพิจารณาไปเรื่อยๆ แล้วไม่ฟังใครทั้งสิ้น ไม่เชื่อใคร ไม่วอแวใคร”

พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันก็ปล่อย เช้าปล่อย บ่ายปล่อย เย็นปล่อย กลางคืนปล่อย ดึกปล่อย มันปล่อยกูก็ทำซ้ำอยู่อย่างนั้นแหละ ทำอยู่อย่างนั้น แล้วมันก็ปล่อยๆๆ ปล่อยอยู่อย่างนั้นแหละ มันปล่อยกูก็ไม่ทิ้ง เพราะกูเคยหันไปทางอื่น แล้วกูโดนมึงหลอกมาหลายทีแล้ว กูก็ซ้ำมันอยู่อย่างนั้นแหละ พอมันถึงที่สุดไง

เพราะอย่างนี้คือไม่มีใครคาดหมาย ถ้าไม่มีคาดหมายมันจะเป็นไปได้ พอถึงที่สุดมันก็พิจารณาอีก พอพิจารณาไป แล้วพอมันทำลาย พั่บ! กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ มันปล่อย พั่บ!

“เออ! อันนี้แหละใช่! เออ! ”

โยม ๑ : อ๋อ มันบอกเองนะคะ

หลวงพ่อ : เออ! อันนี้แหละ! อันนี้แหละ! เป็นปัจจัตตัง

โยม ๑ : ธรรมะไม่ต้องมีใครมาบอกเลย มันรู้ด้วยใจ

หลวงพ่อ : มันร้อง เออ! แล้วอัดขึ้นไปอีก อัดขึ้นไปอีก

ฉะนั้นเราเอาประสบการณ์ของเรานี่แหละ ใครจะเป็นอะไรก็แล้วแต่กูถามตรงนี้ ถ้ามันเข้าหลักนี้ เออ.. ใช่

โยม ๑ : ท่านอาจารย์คะ ทุกวันนี้โยมก็ภาวนาอยู่คนเดียวนะคะ อยู่คนเดียวค่ะ ไม่อยากให้ใครมาอยู่ด้วย แล้วก็รับประทานอะไรก็ง่ายๆ คนเดียวนะคะ แล้วก็รู้สึกว่าดีค่ะ พอคนอื่นมารู้สึกว่า บางทีจิตเราก็ส่งไปนู้นไปนี่ อย่างนี้นะคะ

หลวงพ่อ : ใช่ เราจะแนะตรงนี้ คือให้ซ้ำ! ที่ผิดพลาดไปนะ...

เวลาหลวงตาท่านไปแก้หลวงปู่ฝั้น ไปเผาศพหลวงปู่กงมา แล้วย้อนกลับมา พอย้อนกลับมานี่หลวงปู่ฝั้นอยู่ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ ที่สกลฯ แล้วพอหลวงตาเห็นสบโอกาสก็เข้ามาหาที่นั่น พอเข้ามาหาที่นั่นก็เข้ามาซักกัน พอซักกันก็ว่างหมดนะ พุทโธสว่างไสว พุทโธผ่องใสไง

หลวงตาว่า “โธ่... มานอนตายอยู่ที่นี่ นึกว่าไปถึงไหนแล้ว! ”

โอ้โฮ.. หลวงปู่ฝั้นช็อกเลย พอช็อกก็อัดเข้าไปนะ พออัดเข้าไปนะหลวงปู่ฝั้นว่า “เอ้อ... รู้แล้วๆๆ” ไปแก้กันที่นั่นไง พุทโธผ่องใส พุทโธสว่างไสว “จิตเดิมแท้ผ่องใส”

เราจะบอกว่า หลวงตาเวลาท่านจะแก้ คือท่านให้ย้ำตรงที่จุดนั้น ทีนี้พอเราปฏิบัติ “เราพยายามย้ำลงที่จุดนั้น” จากกาย เวทนา จิต ธรรมนี่ย้ำ แล้วอย่าแบบว่าเปรียบเทียบไปทางอื่น ซ้ำอยู่ที่เดิม.. ซ้ำอยู่ที่เดิม

โยม ๑ : อ๋อ กาย เวทนา จิต ธรรมนี่นะคะ

หลวงพ่อ : เวลามันเป็นนะมันเป็นต่อหน้าเรา... มันจะเป็นต่อหน้าเรา

โยม ๑ : ไม่ต้องดูอะไร ให้ดูกาย เวทนา จิต ธรรมนี้เท่านั้นเองนะคะ

หลวงพ่อ : แล้วเวลาจับนะ ให้พิจารณามัน จับแล้วพิจารณามัน... อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ พอโยมบอกว่ามันไม่มีไม่อะไร

โยม ๑ : ทีนี้เมื่อกี้ท่านอาจารย์บอกว่า “เวทนานี่ภายนอกมันไม่มี มันอยู่ที่ใจ”

หลวงพ่อ : ใช่! ใช่!

โยม ๑ : แล้วถ้ามันอยู่ที่ใจ แล้วเราทำอย่างไร เราจะจี้ไปที่ใจเราจะทำอย่างไรคะท่านอาจารย์ ตรงนี้แหละ

หลวงพ่อ : พอจิตสงบนะ พอจิตสงบแล้วนั่งพิจารณาเวทนา.. เวทนามีกายกับใจ กายคือมันเจ็บปวด แล้วเจ็บปวดประสาเรานี่ ซากศพมันเจ็บปวดไหม... ไม่มีทาง!

โยม ๑ : ไอ้เจ็บปวดนี่โยมผ่านเวทนาได้จริงๆ ไอ้ความเจ็บปวดนี่โยมไม่สนมันเลย

หลวงพ่อ : เดี๋ยว! ไม่สนก็นั่งให้มันเกิดมา เพื่อพิสูจน์กัน

โยม ๑ : กายนี่นะคะ เวลาโยมดูก็คิดว่า เอาจิตนี่ดูอาการของมันแค่นั้นเอง มันก็แสดงอาการของมันนี่แหละ เกิดดับมันก็เป็นธรรมชาติของมัน โยมคิดอย่างนี้จึงวางได้

หลวงพ่อ : วางได้นี่นั่งได้กี่ชั่วโมง

โยม ๑ : ๔ ชั่วโมงค่ะ

หลวงพ่อ : แล้วพอวางได้ขึ้นมาแล้ว พอจิตมันวางแล้วนี่จิตมันเป็นอย่างไร

โยม ๑ : มันเฉยๆ

หลวงพ่อ : แล้วพอไปเห็น เดี๋ยวเวทนามันเกิดอีกไหม

โยม ๑ : ระหว่าง ๓-๔ ชั่วโมง มันก็เกิด ๓ รอบ ๔ รอบ

หลวงพ่อ : นี่ไงมันก็เกิดอีก

โยม ๑ : มัน ๓ รอบ ๔ รอบ ท่านอาจารย์เดี๋ยวโยมกราบเรียนท่านอาจารย์นะคะ จริงๆ แล้วโยมชำนาญเรื่องว่าดูเกิดดับของมันจริงๆ

หลวงพ่อ : นี่เราจะบอกอย่างนี้ไง

โยม ๑ : ตรงนี้โยมจะแก้ยาก

หลวงพ่อ : นี่แก้ยาก เราจะบอกว่า ในเมื่อถ้าพูดถึงเวทนามันเฉยของมันใช่ไหม พอจิตมันเวทนาเกิดแล้วมันก็ดับไป นี่มันเฉยของมัน แต่มันไม่มีเหตุผลไง เหตุผลมันไม่พอไง แล้วพูดถึงถ้าปัญญามันเกิดนะ

เวทนามันเกิดที่ไหน... ทำไมมันไม่ไปเกิดที่กาย... มันเกิดที่จิต เพราะจิตไปรับรู้มัน แต่ที่บอกให้ดูเวทนานี้เพื่อเป็นการพิสูจน์กันว่า “เวทนาจริง”

หลวงตาบอกนะว่า “ถ้าเวทนาจริง จิตก็จริง” แต่นี่เวทนามันปลอม เวทนามันปลอมเพราะอะไร เพราะว่ามันเกิดดับ มันยังเกิดยังดับอยู่ใช่ไหม มันยังปลอมอยู่ คือมันยังหลอกเราได้ใช่ไหม ทีนี้พอมันหลอกเราได้นี่ เพราะว่าเวทนามันอยู่ที่จิต เพราะจิตนี้ไปรับรู้มันถึงเกิดเวทนา ทีนี้พอจิตไปกำหนดเราก็ไล่มันเข้าไปสิ ไล่เข้าไปที่จิต มึงออกไปรับรู้นี่มึงได้อะไร

โยม ๑ : อ๋อ หมายความว่าจิตเราไปทำความสำคัญมั่นหมายไว้ว่านั่นคือเวทนา ไปให้ความสำคัญมันใช่ไหมคะ

หลวงพ่อ : แน่นอน ตอนนี้นะโยมทำอะไรก็แล้วแต่ เราฟังแล้วนี่โยมทำแบบว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ กึ่งๆๆ แล้วมันไม่สรุปไม่จบ อย่างเช่นเวทนา ก็สักแต่ว่าเวทนา พอสักแต่ว่าเวทนานี่นะ “ทุกขเวทนา.. สุขเวทนา..อัพยากฤต” มันอยู่ตรงที่ว่า มันจะลงไปทุกข์กับสุขอีก มันไม่จบ

โยม ๑ : แต่ว่าพระอาจารย์คะ ทุกวันนี้กราบเรียนท่านอาจารย์เลยว่า โยมนี่นะมันไม่ค่อยมีความทุกข์นะคะ เพราะว่าอะไรรู้ไหมคะ เพราะว่าอะไรก็แล้วแต่... พระอาจารย์คิดดูนะคะ อย่างโยมนะคะบางทีมันมีเรื่องหรือมีอะไร ไม่ใช่เรื่องอะไรหรอก บางทีเรื่องสมบัติหรือเรื่องอะไรต่ออะไร แต่โยมก็วางมันได้หมดเลยนะ สมบัติเงินทองนี่โยมไม่สนใจเลยนะ ไม่สนใจเลย

หลวงพ่อ : โทษนะ ไอ้ของอย่างนี้เราไม่ฟังเลย เพราะมันเป็นของนอกกาย มันไร้สาระ คนเรานี่นะที่มันติด มันติดกันที่นี่

โยม ๑ : ทีนี้พออะไรก็แล้วแต่มันเกิดขึ้นกับจิต หรือขณะที่โยมป่วยเมื่อปี ๕๐ นี่โยมหกล้มนะ กระดูกแตก อู้ฮู.. ถ้าโยมไม่มีธรรมะนี่เสร็จเลยนะคะ ทีนี้โยมก็เดินไม่ได้ มันเวียนศีรษะ แล้วเวลานอนก็ป๊วด.. ปวด มันปวดอู้ฮู.. แต่โยมก็ดูมันนี่แหละ เอาวิชาที่เรียนมาใช้ ไม่คร่ำครวญไม่ทุกข์ไม่อะไรเลยค่ะท่านอาจารย์

หลวงพ่อ : มันไม่สรุป

โยม ๑ : จริงค่ะ มันยังไม่สรุป

หลวงพ่อ : มันไม่สรุป โสดาบัน สกิทาคา อนาคามันอยู่ที่การสรุปคือขาด

โยม ๑ : มันยังไม่ขาด ใช่ค่ะ

หลวงพ่อ : ถ้าไม่สรุปแล้ว นี่เราต้องตามขยี้ ถ้าไม่ตามขยี้ แล้วประสาเราว่า นี่เห็นมาแล้ว โทษนะ.. วงการพระ เรารู้ว่าพระองค์ไหนมันมีจริงหรือมีปลอม ถ้าไม่จริง มันสรุปไม่เป็นกันหมด วงการพระก็สรุปไม่เป็น โยมก็ไม่สรุป แล้วไอ้คนที่ไม่สรุปกับไม่สรุปมันมาอยู่ด้วยกันไง มันก็เลยคากันอยู่อย่างนี้ไง

ถ้ามันไม่สรุปนี่มันจบไม่ได้ เราจะต้องไล่เข้าไป.. ไล่เข้าไป อย่างที่เราทำนี่ไง แล้วเราจะมาสอนลูกศิษย์ทุกคน “เฮ้ย... วิ่ง ๑๐๐ เมตร นี่มันต้องวิ่งให้ถึงเส้นชัยนะ” ถ้าไม่ถึงเส้นชัย มึงวิ่งไป ๑๐ เมตร ๑๐ เมตร แล้วมึงกลับมาวิ่งใหม่ อย่างนี้ก็วิ่งทั้งชาติไง

จี้มันเข้าไป! จี้มันเข้าไป! ลุยมันเข้าไป

โยม ๑ : บางทีมันอย่างนี้ค่ะท่านอาจารย์ กิเลสมันบอกว่า “เฮ้ย.. มึงได้ขนาดนี้มึงก็มีความสุขแล้วนี่หว่า” กิเลสมันมาว่าอย่างนี้เลยนะ แต่พอไอ้ธรรมะมันก็ขึ้นมาว่า “เฮ้ย.. แต่มึงต้องมาเกิดนะ มึงไม่สิ้นนะ มึงมีเชื้อนะ” มันก็ว่าอย่างนี้ มันก็ต่อสู้กันไง.. มันต่อสู้กัน

หลวงพ่อ : แน่นอน ให้ไล่เข้าไปเลย! ไล่เข้าไปเลย พอไล่เข้าไปเลยนะ เหมือนงานเราเสร็จไง เหมือนเราทำความสะอาดในบ้าน ถ้าเราทำเสร็จแล้วคือจบ ถ้าเราทำไม่เสร็จแล้วมันก็ครึ่งๆ กลางๆ อยู่อย่างนั้นแหละทั้งปีทั้งชาติ ไล่เข้าไป.. ไล่เข้าไปให้จบ ไล่เข้าไป!

คำว่าไล่เข้าไปเวลาพูดกับเรานี่ เห็นไหม มันมีงานข้างหน้า โยมสังเกตตรงนี้สิ แต่เวลาไปพูดกับพระองค์อื่นนี่งานไม่มีข้างหน้า เพราะพระเขาไม่รู้ว่าข้างหน้าจะมีงานอีก ถ้างานข้างหน้ายังมี ให้ไล่เข้าไป! ไล่เข้าไป! ไล่เข้าไป!

เพราะงานข้างหน้ายังมี ไล่จนมันจบ จนมันหมดงาน ถ้าหมดงานในขั้นของโสดาบัน หมดงานในขั้นของสกิทาคา หมดงานในขั้นอนาคา

อันนี้เห็นไหม โยมก็พูดเองว่ามันครึ่งๆ กลางๆ ทุกอันเลย มันก็เลยเป็นสุกๆ ดิบๆ ดิบๆ สุกๆ นี่ไง แล้วคำว่าดิบๆ สุกๆ นะ เวลาเราไปฟังคนอื่นนี่มันไม่เข้าใจ จริงๆ นะนี่เราสะท้อนใจ เราสะท้อนใจเวลาฟังเทศน์พวกครูบาอาจารย์เรานี่แหละ จะบอกว่าเทศน์นี่นะมันกึ่งๆ มันไม่สุด แล้วถ้าสุดนะมันก็มีหลวงตาเรา มีหลวงปู่เจี๊ยะนี่ อู้ฮู... ต้องขาด! ขาดเลย! ขาดเลย! แต่องค์อื่นเวลาพูด ไม่มีใครพูดอย่างนี้

กูงงนะเวลาพูด พวกนี้แบบว่ามันไม่สุด พอไม่สุดก็พูดธรรมะ ก็เอาธรรมะพระพุทธเจ้ามาพูด ก็พูดธรรมะนั่นแหละ แต่ถ้ามาฟังหลวงตา ฟังหลวงปู่เจี๊ยะพูดนะ ผลัวะ! ผลัวะ! ผลัวะ! พอฟังแล้วแบบว่ามันสะใจไง แต่เวลาองค์อื่นนะ มันคันหัวใจไง คันฉิบหายเลย คันมาก แต่พูดอะไรไม่ออกนะ พูดอะไรไม่ได้

โยม ๑ : แล้วก็ขณะนี้จิตของโยมกับสตินี่นะ แหม.. มันแนบแน่นกันเหลือเกิน เวลานี้นะคะ นี่โยมก็มาเที่ยวนี้ มาจากเขาค้อเมื่อวานนี้ เจาะจงมากราบเรียนถามท่านอาจารย์โดยเฉพาะเลย

หลวงพ่อ : เจาะเลย! เจาะเลย! แล้วเอาขึ้นมาพิจารณา

โยม ๑ : กาย เวทนา จิต ธรรมนี่นะคะ

หลวงพ่อ : ใช่ แล้วที่โยมพูดอย่างนี้ บอกว่ามันยิ่งแนบแน่นอย่างนี้ พอมันแนบแน่นนะ เราห่วงอย่างเดียวเท่านั้นนะ คือห่วงเวลาเสื่อม แนบแน่นคือมีกำลัง พอเสื่อมแล้วหมดกำลังแล้วนะ โอ้โฮ.. นั่งคอตกเลย ถ้าแนบแน่นนี่ต้องรีบทำ แล้วเวลาพิจารณาเวทนาไปแล้วว่ามันหมด... ไม่หมดหรอก ให้จี้เข้าไป! เวทนากาย เวทนาจิตนี่แหละ แม้แต่เฉาๆ แม้แต่อั้นตู้ นี่คือเวทนาจิตแล้ว!

เวทนาอย่างละเอียดนะ เวลามันเศร้าหมองหรือผ่องใส เวลาจิตมันผ่องใส.. จิตเฉาๆ ไอ้ไฟสุมขอน นี่อันนั้นก็ทุกข์แล้ว! แค่นั่งอยู่คนเดียว นั่งว้าเหว่ นั่นก็มันไง

โยม ๑ : แต่โยมไม่เคยว้าเหว่เลยค่ะ อยู่คนเดียวก็ไม่เคยว้าเหว่ ไม่เคยเซ็ง ไม่เคยเบื่อ

หลวงพ่อ : แล้วจับให้ได้!

โยม ๑ : แต่ว่ามันคงจะเป็นละเอียด... ละเอียดที่เราหาไม่เจอ เหมือนกับมือเราไปโดนหนามเล็กๆ แล้วเราหาเท่าไรก็ไม่เจอ ต้องเอากล้องมาขยาย มันหายากนะ... มันคงมี มันต้องมีค่ะ มันมีแน่นอนอยู่แล้วแต่เราหามันไม่เจอ

หลวงพ่อ : เราอย่าให้ความคิดเรามันนำหน้า อย่าให้ความคิดบอกเวทนาไม่มี อะไรไม่มี นี่เราจะคิดไปก่อนไง ทำตามเนื้อผ้า ทุกอย่างเราขึงตามเนื้อผ้า แล้วดูกันตามเนื้อผ้า จริงก็ว่าจริง ปลอมก็ว่าปลอม ว่ากันตามเนื้อผ้า แล้วเอากันตามนั้นเลย เอาตามเนื้อผ้าเลย แล้วยิ่งจิตเราดีด้วยนี่ขึงเลย เอาผ้ามากางเลย ผ้านี้เลอะอะไร ผ้านี้มีอะไร ตามเนื้อผ้านั้น

โยม ๑ : แต่ท่านอาจารย์คะ ขณะนี้โยมมันมีความรู้สึกตัวที่เป็นธรรมชาติอยู่ในระดับหนึ่ง มีความรู้สึกตัวนะคะ ที่มันเป็นเองอยู่ในระดับหนึ่งเหมือนกัน

หลวงพ่อ : โทษนะ.. อันที่โยมพูดมาทั้งหมดนี่วางไว้ จำคำนี้เอาไว้นะ วางไว้! อย่าเอาอันนี้มาเป็นอารมณ์ อย่าเอาอันนี้ โทษนะ.. อย่าเอาอันนี้มาปิดกั้นการปฏิบัติของโยม จำคำนี้ไว้เลยนะ สิ่งที่โยมพูดๆ ถึงมานี้ ให้วางมันเอาไว้ แล้วพอจิตมันสงบแล้ว เอามันขึ้นมาพิจารณาจริงๆ จังๆ

ตอนนี้โยมนี่นะ ใจของโยมเองก็ ๕๐-๕๐ พอบอกจะพิจารณา ก็บอกว่ามันผ่านแล้ว มันคิดแล้ว อันนี้มันทำให้เราลังเลอยู่ วางอันนี้ไว้เลยนะ อันที่มันจะไปละเอียดนี่วางมันไว้ แล้วพอจิตสงบแล้ว นี่อย่างที่พิจารณาเวทนาจนมันปล่อยแล้ว...

เวทนานี่เราจะพูดอย่างนี้นะ โยมนี่เรายังไม่ได้พูดอย่างนี้เลย เวทนาประกอบไปด้วยอะไร.. เวทนามันเป็นรูป มันเป็นเวทนา มันเป็นสัญญา มันเป็นสังขาร มันเป็นวิญญาณ

ในเวทนานั้น ถ้าไม่มีสัญญาแล้วมันจะเป็นเวทนาไปได้อย่างไร...

ในเวทนานั้น ถ้าไม่มีความรู้สึกเป็นรูป แล้วเวทนามันจะเกิดไปได้อย่างไร..

ในเวทนานั้น ถ้าไม่มีสังขารปรุงแต่งว่าเป็นเวทนา แล้วมันจะรู้จักเวทนาไปได้อย่างไร...

ในเวทนานั้น ถ้าไม่มีวิญญาณรับรู้ว่าเป็นความสุขความทุกข์ มันจะเกิดเวทนาได้อย่างไร..

โยม ๑ : อ๋อ ค่ะๆ มันส่งไปสู่เวทนาทั้งนั้นเลยนะคะ

หลวงพ่อ : ขันธ์ ๕ นี่มันมีครบ! แต่โยมบอกพอสรุปจิตเกิดดับเกิดดับ เปิดปิด เปิดปิดอยู่ มันก็เลยไม่เอามาไตร่ตรอง เหมือนหมอไง ยังไม่ได้เอาหูฟังแปะเลย สรุปแล้วว่านี่เป็นอะไรๆ “เฮ้ย.. หมอมาเว้ย เฮ้ยๆ ฟังก่อนเว้ย เฮ้ย.. แปะข้างนี้มันมีอะไรฟังบ้างเว้ย” อันนี้พอเวทนาแล้วก็ต้องใคร่ครวญมันบ้าง อย่าด่วนสรุป พอด่วนสรุปนี่ปัญญาเราไม่ได้ใช้เลย เราไปคิดเอาแต่ว่ากำลังสมาธิ เกิดดับ รู้แล้วปล่อยวางแล้ว อย่างนั้นกิเลสมันยิ้มเลย บอกว่าคนโง่ๆ อย่างนี้กูหลอกง่ายฉิบหายเลย

โยม ๑ : จริงๆ เราโง่ให้มันจริงๆ ค่ะ

หลวงพ่อ : อ้าว... คนเราจะฉลาดขนาดไหน ก็อยู่ใต้กิเลสหมดแหละ ฉลาด... แต่กิเลสมันฉลาดกว่าไง แล้วกิเลสมันก็เอาอย่างนี้มาอ้าง

โยม ๑ : ฉลาดมากก็ทุกข์น้อย ฉลาดน้อยก็ทุกข์มาก

หลวงพ่อ : เออ.. แล้วยิ่งฉลาดมาก กิเลสมันก็ยิ่งหลอกมาก ฉลาดยิ่งมาก กิเลสมันก็ยิ่งหลอกมาก เพราะมันฉลาด กิเลสก็ยิ่งฉลาดกว่า เพราะกิเลสมันเกิดจากความฉลาดของเรา

ต้องตั้งมันให้ได้ แล้วอย่าด่วนสรุป เพราะเราด่วนสรุปนะ โทษนะ เหมือนเข้าข้างตัวเอง พอด่วนสรุปแล้ว ธรรมะนี่เป็นปัจจัตตัง เป็นสัจธรรม เกิดในธรรม เกิดในธรรม เกิดในสัจธรรมนั้น แต่นี้เรายังไม่เข้าถึงสัจธรรมนั้น เราจะสร้างอาณาจักรของเราขึ้นมาเลยล่ะ แต่เราไม่ได้ไปเกิดในธรรม ถ้าเกิดในธรรมนี่เราสร้างไม่ได้ เราแก้ไขดัดแปลงอะไรไม่ได้เลย

มันเป็นสัจธรรม! เราต้องทำตัวเราให้เป็นส่วนหนึ่งของสัจธรรม นี่โยมจะขวางเลยล่ะ ว่าปล่อยแล้ว วางแล้ว.. คือไปขวางสัจธรรมไว้ มันเลยไม่เข้าสัจธรรมไง ให้วางอันนี้ไว้

จริงๆ เราสะกิดใจอันเดียว อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ สะกิดใจว่าพอทำอย่างนี้ปั๊บ แล้วไปเจอพระ ไปเจอพระต่างๆ พระมันส่งตูดเลย เวลามาหาเรา เราเลยบอกให้วางก่อน เราไม่ส่งตูดด้วย แล้วให้วางด้วย แล้วทำให้มันเกิดสัจจะความจริงขึ้นมา

โยม ๑ : เอาจิตเข้าไปจับเลยนะคะว่ามันเป็นอย่างไร เหตุมันมาจากไหน

หลวงพ่อ : จับ ใช่ อย่างที่ว่านี้ ในเวทนาประกอบด้วยขันธ์ ๕... ในสัญญาประกอบด้วยขันธ์ ๕.. ในขันธ์ ๕ มีขันธ์ ๕! ขันธ์ในขันธ์ ถ้าพิจารณาขันธ์ ถ้ามันปล่อยแล้วก็จบ ถ้าพิจารณาขันธ์ไม่ปล่อย ก็พิจารณาขันธ์ในขันธ์ ในขันธ์นั้นพิจารณาแยกเข้าไปอีก เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเวลาบางคนกิเลสมันหนา บางคนอยู่ที่จริตนิสัย ถ้าบางคนมันแยกเข้าไปแล้ว อย่างเช่นขิปปาภิญญาไง พิจารณาง่ายรู้ง่าย มันปล่อยได้ แต่ถ้าคนเรากิเลสมันลึกซึ้ง พอพิจารณาแล้วมันไม่ปล่อย ไม่ใช่คนเราพิจารณาแล้วจะเหมือนกัน ไม่มีนะ

โยม ๑ : ท่านอาจารย์คะ ปัญหาของโยมก็คือว่าอย่างนี้นะคะ ถ้าเกิดว่าถ้าเรานั่งนี่นะ ยกตัวอย่างถ้ามันเกิดสัญญาขึ้นมา สัญญาที่ความคิดนี่นะคะ แล้วเราก็ดูมัน พอดูมันแล้วพอจับปุ๊บ แล้วมันก็ดับไป แล้วเราจะทำอย่างไรให้มันตั้งไว้ มันดับค่ะ

หลวงพ่อ : แล้วทำไมโง่ล่ะ ก็ให้มันดับสิ

โยม ๑ : ก็มันก็ดับ ก็เห็นตัวดับน่ะค่ะ แล้วเราจะไปทุกข์อะไรกับไอ้ตัวสัญญาอย่างนี้

หลวงพ่อ : นี่ไงๆๆ นี่หยาบไง พอจับสัญญา แล้วสัญญาก็ดับ แล้วเราก็ยอมรับว่ามันดับ เรายืมเงิน ๑๐๐ ล้าน แล้วกูไม่จ่าย อ้าว.. ไม่จ่ายก็ต้องไม่จ่าย ไม่เป็นไร อย่างนี้ได้ไหม... ยืมเงิน ๑๐๐ ล้านนะ เราไม่จ่าย ก็ต้องให้มาจ่ายกูนะมึง ไม่จ่ายไม่ยอม

สัญญา! มันจะดับไป มันก็เหมือนเขากู้เงินเรา ๑๐๐ ล้าน ถ้ามันยังไม่จ่าย เราก็ต้องตามมัน

สัญญา! ในเมื่อมึงจะดับ แต่กูไม่ให้มึงดับ! กูจับมึงไว้ ทำไมจะจับไม่ได้!

โยม ๑ : อ๋อ ลากลูกหนี้เข้ามา เอามาเชือดเลย

หลวงพ่อ : มาเลย! ใช่ ทุกอย่างนะทำได้ เพียงแต่เพราะความเข้าใจของเรา เรายอมรับไง ถ้ามันเกิดดับแล้วคือการสิ้นกิเลส เราไปสร้างความรู้สึกอันหนึ่ง ว่าคือการเกิดดับ ถ้ามันเกิดแล้วมันดับ คือกิเลสมันดับไป

โยม ๑ : หลวงตาท่านสอนว่า “สิ่งทั้งหลาย เกิดแล้วดับหมด”

หลวงพ่อ : แน่นอน! พระพุทธเจ้าพูดอย่างนั้น

โยม ๑ : “สิ่งทั้งหลาย เกิดแล้วดับหมด… สังขารทั้งหลาย เกิดแล้วดับหมด” พระอัญญาโกณฑัญญะนี้ไปเห็นธรรมก็บอกว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกเกิดแล้วดับหมด” โยมก็จับแต่ไอ้เกิดดับ เกิดดับนี้ค่ะท่านอาจารย์

หลวงพ่อ : เกิดแล้วดับหมดนี่เราเหลืออะไร ถามหลวงปู่เจี๊ยะสิ หลวงปู่เจี๊ยะบอกว่าดับแล้วเหลืออะไร หลวงตาก็บอกว่าเกิดดับ ดับแล้วเหลืออะไร พิจารณาไป พระอัญญาโกณฑัญญะตามพิจารณาไป พอพิจารณาไป นี่ขันธ์เป็นขันธ์... ขันธ์ ๕ เป็นขันธ์ ๕.. กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์... เหลือใจ! เหลือใจที่รวมลง นี่หลวงตาพูดบ่อย พวกนี้ฟังธรรมไม่ออก หลวงตาบอกเวลามันแยกนะ เวลามันแยก จิตมันรวมลง เห็นไหม

“กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ แล้วจิตรวมลงอีกต่างหาก”

ความรวมลง... คือยะถาภูตัง เกิดญาณทัศนะ จิตที่รวมลงไปนี้ จิตที่รวมลงไปเป็นอิสระขึ้นไป อันนี้แหละ! นี่มันเหลืออะไร

เกิดดับเกิดดับมันก็เกิดไฟฟ้าไง เกิดดับๆๆ เกิดดับมันต้องมีปัญญาเห็นสิ่งที่เป็นการเกิดที่เป็นการดับ อะไรมันเกิดขึ้น อะไรมันดับไป แล้วเหลืออะไร อย่างนี้คือคนภาวนาเป็น ถ้าคนภาวนาไม่เป็น นี่เกิดดับๆ อู้ฮู... ที่เราพูดกับพวกนั้น เห็นไหม ไอ้ไฟถนนไง มันก็เกิดดับของมันนะ ไฟบนถนนมันก็ติดมันก็ดับของมัน โอ้โฮ... นั่นพระโสดาบัน ถนนหนทางเต็มไปหมดเลย ไปถึงต้องยกมือไหว้ก่อนนะ

โยม ๑ : ค่ะ สิ่งทั้งหลายเกิดแล้วดับหมดเลย

หลวงพ่อ : สิ่งนี้เป็นคำพูดของครูบาอาจารย์ที่ท่านผ่านแล้ว แต่ถ้าเราไม่ผ่าน คือเราเป็นเด็ก วุฒิภาวะของเราไม่ถึง เราไปตีความอย่างนั้น แล้วเราจะเสียผลประโยชน์ คนที่เขารู้จริง เขาพูดแล้วเขารู้จริง มันเป็นประโยชน์ แต่พวกเรานี้ยังเข้าไม่ถึง ไปพูดก่อนนี่มันเสียประโยชน์

ฉะนั้นเวลาเราฟังเทศน์เราฟังออกนะ ครูบาอาจารย์ท่านพูดอย่างนั้นจริง แต่เราต้องให้เห็นจริงตามนั้นด้วย เราไปเห็นผลอันนั้นไง แต่เราไม่เห็นเหตุที่มาในการเป็นอย่างนั้น

โยม ๑ : เหตุที่มาไม่รู้

หลวงพ่อ : ใช่!

โยม ๑ : การประกอบเหตุไม่มี เราก็ไปเอาตัวผลเลยนะคะ อย่างมะม่วงนี่เราก็รู้ว่ามันสุกมันหวานมันหอม แต่เราไม่รู้ที่มาของมะม่วงว่ามันเป็นอย่างไร

หลวงพ่อ : ครูบาอาจารย์ที่เขาคุยกับโยมเขาเป็นอย่างนี้หมด เพราะเราฟังนี่เรารู้หมด มันเลยพูดเป็นอันเดียวกัน พอพูดเป็นอันเดียวกัน ประสาเรานะ ถ้าคนอย่างนี้มีมากขึ้น มันจะเป็นสังคมอย่างนี้สังคมหนึ่ง สังคมที่จริงกับสังคมที่ปลอม สังคมจะซ้อนสังคมกันอยู่

โยม ๑ : ตรงนี้ท่านอาจารย์ ก็ยอมรับว่ามันแก้ค่อนข้างจะยากอยู่นะคะ โยมจับมานานแล้ว

หลวงพ่อ : ยาก! ยาก! เรารู้อยู่ เรารู้ว่ายากไง มันยากเพราะอะไรรู้ไหม พูดถึงถ้าเราปฏิบัติขึ้นมา เราหาครูบาอาจารย์ที่แก้มันก็จบใช่ไหม แต่นี้พอไปหาครูบาอาจารย์ที่บอกว่าอย่างนี้ถูก แล้วครูบาอาจารย์ที่บอกว่าอย่างนี้ผิด คือครูบาอาจารย์มี ๒ ฝ่ายไง อ้าว.. ก็ครูบาอาจารย์องค์นั้นบอกว่าผิดไง แต่ครูบาอาจารย์กูบอกว่าถูกไง นี่มันยากตรงนี้ไง

โธ่.. เราคุยกับพระนะ เราคุยกับพระที่ปฏิบัติ มาคุยกันเรื่องธรรมะนี่แหละ เราบอกว่าอย่างนี้ผิด... ผิดได้อย่างไร อาจารย์บอกว่าอย่างนี้ถูก อย่างนั้นกูเลิก เพราะถ้ากูพูดนี่กูต้องไปล้มอาจารย์องค์นั้นด้วย

เราคุยกัน ๒ คน พอมึงจนตรอก มึงอ้างอาจารย์องค์นั้นเลย ถ้าอย่างนั้นถ้ากูจะเอามึง กูต้องล้มอาจารย์องค์นั้นก่อน ถ้าอย่างนั้นจบดีกว่า คุยกันแค่นี้พอ

นี่ไงมันยากตรงนี้ไง ยากตรงที่ว่าสังคมของพระตอนนี้มันมีของจริง เห็นไหม หลวงตาเวลาพูดกับเรานะ “หงบเว้ย.. ของจริงกับของปลอม อยู่ด้วยกันนะมึง จะหาของจริงทั้งหมดนี่หาที่ไหน”

ในหมู่พระเรานี้มันก็มีจริง มันก็มีปลอมอยู่ด้วยกัน คนเรานี่นะถ้ามันปฏิบัติไม่ได้ จะฆ่ามันตายมันก็ตายเปล่า แล้วจะฆ่ามันเหรอ คือมันปฏิบัติไม่ได้ ก็แค่นั้นแหละ แต่คนไม่รู้เขานึกว่าจริงไง พอเขาไม่ได้ ที่เขาพูดมามันก็ปลอมไง

ทีนี้พอเป็นอย่างนี้เรารู้อยู่ มันอยู่ที่ทัศนคติไง ทัศนคติที่เราฟังเทศน์ครูบาอาจารย์ไงว่าเราเอะใจไหม เอ๊ะ... ทำไมองค์นี้ว่าอย่างนี้ เอ๊ะ.. ทำไมองค์นี้ว่าอย่างนี้ แล้วอันนี้อย่างนี้เอามาเทียบกัน เอ๊ะ.. อะไรมันถูกวะ

เรานี่ใช้ดุลพินิจอย่างนี้มาตลอดตั้งแต่เราบวชใหม่ๆ อาจารย์องค์นี้ว่าอย่างนี้... อาจารย์องค์นี้ว่าอย่างนี้... แล้วมาเทียบเหตุผล แล้วเราปฏิบัติด้วย แล้วมันลงอันไหน นี่มันแยกตรงนี้ไง!

เพราะมีพระองค์หนึ่งมาหา เราก็บอกว่านี่คือสมุจเฉทปหาน เขาบอกว่าเขาก็ไปหาอาจารย์มาแล้วแหละ อาจารย์ของเขาที่บอก “ไอ้พวกสมุจเฉทปหานนี่ช่างมันเถอะ เราก็อยู่ของเราอย่างนี้ ไม่ต้องสมุจเฉทปหาน เราก็อยู่ของเราอย่างนี้แหละ” เขาพูดอย่างนี้จริงๆ นะ!

โยม ๑ : อ๋อเหรอ เหรอคะ

หลวงพ่อ : เออ! กูก็ก่ายหน้าผาก เออ.. เรื่องของมึงเถอะ เราแก้กันไม่ได้เพราะอะไร เพราะมันมีกลุ่มสงฆ์กลุ่มหนึ่ง เขามีมุมมองอย่างนั้นกัน แล้วครูบาอาจารย์ของเรามีมุมมองอย่างนี้ แต่ครูบาอาจารย์ของเราส่วนใหญ่แล้ว เขาเรียกว่าเราพูดกันวงใน ไม่ออกมาข้างนอก

โยม ๑ : คือพระองค์นั้นที่ว่านะคะ เออ.. สมุจเฉทปหานก็ช่างเถอะ เราอยู่อย่างนี้ก็กิเลสมันสอน เพราะว่ามันก็ถูกใจสิ ถูกใจคนเรียนสิ

หลวงพ่อ : ถูกใจเขา แล้วเขาไปหาครูบาอาจารย์ที่เป็นพระผู้ใหญ่มา เขาเอ่ยชื่อขึ้นมา แต่เราไม่อยากเอ่ยชื่อ พระผู้ใหญ่หลายองค์บอกว่า นี่พวกหลวงตา พวกสมุจเฉทปหานก็ปล่อยเขาไป เราก็อยู่กันที่ไม่ต้องปหาน เราอยู่กันอย่างนี้แหละ ไอ้พวกนั้นมันก็เชื่อ

นี่เรื่องจริงนะ! มาหาเรา นั่งอยู่นี่ เรานี่มันเหมือนกับท่ารถเมล์เลย โอ้โฮ... รถมันมาจอดเยอะ มันเลยรับฟังไว้อย่างนี้เยอะ มันก็เลยรู้ว่าองค์ไหนเป็นอย่างไร องค์ไหนเป็นอย่างไร ทีนี้พออย่างนี้ปั๊บ เราบอกว่ามันแก้ยากๆ มันจริงนะ บางทีเราได้การรับรองจากพระบางองค์ที่เขาเป็นอย่างนั้น

โธ่.. บางทีเราโดนหนักกว่านี้อีก โดนทีหนึ่งเวลาเขามาหานะ เขาบอกว่า พระผู้ใหญ่หลายองค์รับรองเขาแล้ว แล้วมาหาเรานี่ทำไมเราไม่รับรอง เอ็งพรรษาเท่าไร โอ้โฮ... เอาพรรษามาบังคับกันเลยนะ กูก็ไม่รู้เว้ย

นี่เวลามันคิดอย่างนั้น... ทีนี้สรุป! สรุปของโยมนี้ ในเมื่อถ้าอย่างโยมพิจารณาเวทนามันเกิดดับ ทีนี้ให้พิจารณาเวทนาอีก แต่ไม่ให้มันดับ

โยม ๑ : ไม่ให้มันดับนะคะ อ๋อค่ะ

หลวงพ่อ : ใช่ เอามันมาตั้ง บอกไว้เลยในเวทนานี้มันประกอบไปด้วยอะไร ในเวทนานี้ประกอบไปด้วยอะไร.. โยมต้องบอกเลย ในเวทนานี้มันมีอะไรรับรู้ มันถึงเป็นเวทนา แล้วในเวทนานี้มันมาจากไหน มันตั้งอยู่เพื่ออะไร แล้วมันจะดับไปอย่างไร ถ้าเราไม่ใช้ปัญญาอย่างนี้ เห็นไหม ยะถาภูตัง ถ้าไม่เกิดปัญญาญาณ มันทำอะไรไม่ได้ ต้องเกิดปัญญาญาณ

ให้ซ้ำตรงนี้! ถ้าโยมไม่ซ้ำตรงนี้นะ มันเหมือนการปฏิบัติแบบทั่วๆ ไป บางคนปฏิบัติแล้วมันปล่อย มันทำสมถะแล้วมันก็ปล่อยได้วางได้ แต่วางได้ปล่อยได้นี้ มันก็อยู่แค่นั้น เป็นการปฏิบัติเหมือนกันแต่ไม่ได้ผล... กับปฏิบัติแล้วได้ผล

โยมต้องชั่งใจแล้วว่าโยมจะเอาอะไร ถ้าโยมยังทำอย่างนี้อยู่ โทษนะ หลวงปู่เจี๊ยะพูดบ่อย “แช่อยู่อย่างนี้ไม่พอกินหรอก… มึงไปแช่กันอยู่อย่างนั้นนะ มึงไปกันไม่รอด!” นี่ใจแช่อยู่อย่างนี้มากี่ปีแล้ว

โยม ๑ : ๒๐ กว่าปี

หลวงพ่อ : เข็ดหรือยัง!

โยม ๑ : แช่อย่างนั้นมันก็ไม่ได้แฉะอะไรนะคะ

หลวงพ่อ : หลวงปู่เจี๊ยะพูดอย่างนี้เลยนะ

โยม ๑ : ท่านอาจารย์มันก็ไม่ได้แฉะอะไร รู้สึกว่ามันก็ชื้นๆ เท่านั้นเอง มันไม่ขนาดนั้นค่ะ รู้สึกว่ามันไม่ทุกข์ค่ะท่านอาจารย์ มันไม่ทุกข์ค่ะ

หลวงพ่อ : คำนี้เราจำแม่นเลยล่ะ “พวกมึงแช่กันอยู่อย่างนั้นแหละ! แช่กันอยู่อย่างนั้นทำไม” คือกำลังไม่พอไง ไม่พอกินนะ “พวกมึงทำกันอย่างนี้ไม่พอกิน แช่กันอยู่อย่างนั้นแหละ ทำซ้ำ.. ซ้ำกันอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่พอกิน! ไม่พอกิน”

พอเราฟังแล้วเราสะเทือนใจ ท่านด่าพระ เรานั่งฟังอยู่ “พวกมึงทำอย่างนี้ไม่พอกิน สู้กูไม่ได้ กูนั่งแป๊บๆ ดีกว่าพวกมึงอีก”

ไม่จริงเหรอ ทำไมจะไม่จริงล่ะ...

โยม ๒ : เดี๋ยวขอถามปัญหาโง่ๆ หน่อยครับ สมมุติเรานั่งภาวนาพุทโธ พุทโธไปแล้วมันเกิดเวทนา เราก็ไม่ต้องไปสน เราไม่ดูเวทนา เราจะภาวนาพุทโธ ฝืนพุทโธไปดี หรือว่าจะหันจิตมาดูที่เวทนา

หลวงพ่อ : มันเป็น ๒ ประเด็น ประเด็นใหม่ๆ นี่เราพุทโธไปก่อน พุทโธ พุทโธนี้เขาเรียกขันติธรรม

โยม ๒ : ให้เราฝืนมัน

หลวงพ่อ : พุทโธ พุทโธ แล้วมันจะลงพุทโธไป อย่างนี้คือสมถะ แต่ถ้าพอมีกำลังแล้ว เราค่อยเข้าดูมันเลย เข้าดูเวทนาเลย แต่ถ้าสติเราไม่พอ กำลังเราไม่พอนะ พอเข้าไปเวทนา เวทนาจะปวดเป็น ๒ เท่า มันปวดๆ อยู่แล้วนะ พอไปดู อู้ฮู.. ยิ่งปวดใหญ่เลย อู้ฮู.. เลิกดีกว่า

โยม ๒ : ให้ฝืนพุทโธไปเรื่อยๆ

หลวงพ่อ : ใช่ มันต้องพุทโธก่อน พุทโธเพื่อให้หลักมันมีกำลัง พอจิตมันดี กำลังมันดี พอเราเข้าไปดูเวทนา นี่กำลังมันพอแล้วไง มันปะทะได้ พอจิตมันปะทะได้ พอไล่เข้าไป.. ไล่เข้าไป พอเวทนาไล่ไปที่เจ็บปวด.. ความจริงนี่มันเป็นนามธรรม พอความเจ็บปวดตรงนี้มันเริ่มปล่อยปั๊บ

“ความเกิดนามธรรมจะเกิดได้เพราะจิต” พอถ้ามันไล่ไปถึงตรงนี้ แล้วพอตรงนี้ปล่อยปั๊บ จิตก็รวมเลย หายหมดเลย แต่ชั่วคราว

โยม ๑ : ท่านอาจารย์คะ ถ้าเราไม่จับเวทนา เราจะพิจารณากายอย่างไรคะ ยกตัวไหนนี่กาย

หลวงพ่อ : ได้! พิจารณากายนี่เราพิจารณาอย่างนี้ก็ได้ พิจารณากายแบบหลวงปู่ดูลย์! พิจารณากายแบบหลวงปู่ดูลย์เขาเรียกพิจารณากายแบบเป็นนามธรรม พิจารณาว่ากายนี้มันประกอบแบบ คล้ายๆ กับว่ากายนี้ไปด้วยอะไร.. กายนี้มันกินอาหารอะไร.. อย่างนี้ก็ได้

โยม ๑ : ทีนี้โยมชำนาญเรื่องผมขนเล็บฟันหนัง

หลวงพ่อ : เอาอันนี้เลย

โยม ๑ : คือบางครั้งโยมนั่งอย่างนี้ค่ะ โยมคิดว่าโยมยกตัวผมนะคะ ผม ผม ผม ผมผม ผม.. บางทีโยมก็ท่องนะ ผม ผม ผม ผม.. เดินจงกรมนี่แหละ เอ๊ะ.. ไอ้ผมมันก็ไม่ได้ว่ามันเป็นผม

หลวงพ่อ : ไม่จริง! เดี๋ยวนะ โยมทำสมาธินะ แล้วจับผมตั้งไว้! จับผมนี่ตั้งไว้ แล้วขยายส่วนผม หลวงปู่กิมไง ผมเส้นเดียวนี่ แล้วจับผมตั้งไว้ พอจิตเป็นสมาธิ เห็นไหม

“จิตตภาวนา! ไม่มีจิต ไม่มีการภาวนา”

จิตตภาวนา! จับผมเส้นเดียวตั้งไว้ ขยายส่วนของผม ผมเส้นเดียวนี่ขยายเหมือนท่อนซุงเลย ในเส้นผมนั้นมันมีรูของอาหาร นี่พระกรรมฐานเขาเห็นกันล่ะ!

โยม ๑ : อ๋อ.. อย่างนั้นต้องมีญาณสิคะ ปัญญาญาณถึงจะเห็น

หลวงพ่อ : ไม่มีปัญญาญาณจะฆ่ากิเลสอย่างไร

โยม ๑ : นั่นน่ะสิมันต้องใช้ญาณ ทีนี้เรายังไม่เกิดญาณ แล้วจะไปเอาผมขึ้นมาตั้งอย่างไร

หลวงพ่อ : เพราะโยมบอกว่าโยมชำนาญเมื่อกี้นี้ไง

โยม ๑ : อ๋อ ค่ะ ก็ชำนาญดูแต่ผม คือโยมคุยกับผมค่ะ โยมชำนาญคือโยมคุยกับผม

หลวงพ่อ : โยมบอกโยมชำนาญพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ก็บอกให้พิจารณาอย่างนี้(หัวเราะ) นี่มันก็เลยเป็นสัญญาอารมณ์หมดเลย เห็นไหม มันเป็นกระบวนการของความคิด มันไม่เป็นกระบวนการของความจริงเลย ทีนี้เราก็ต้องทำความสงบของใจ ถ้าพิจารณาอย่างนั้นนะ ถ้าโยมทำอย่างนี้.. มันก็เหมือนกับกระบวนการผิด มันก็หมุนไปรอบหนึ่งๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่อย่างนี้ มันก็เป็นเรื่องโลกๆ อยู่อย่างนี้...

แต่ถ้าเราทำจิตสงบของเราได้ แล้วพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง การพิจารณา.. ไอ้นี่มันพิจารณาอย่างที่เราพูดเมื่อกี้นี้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ที่โยมพูดเมื่อกี้ ก็เหมือนกับเกศา โลมา นขา ทันตา ตโจนั่นแหละ มันเป็นคำบริกรรม มันเป็นคำท่อง!

ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ก็มันท่องเอาๆ อย่างนั้นมันก็เหมือนกับพุทโธ พุทโธนี่แหละ พุทโธ พุทโธนี่ก็เป็นคำท่อง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ก็เป็นคำท่อง เป็นคำบริกรรม จิตมันก็เกาะที่คำบริกรรม พอจิตมันถึงที่มันก็ปล่อยเข้ามา

มันเป็นสมถะ! มันเป็นสมาธิ! มันไม่ใช่วิปัสสนาอะไรเลย! แต่ต้องจิตสงบก่อน เห็นไหม เพราะถ้าไม่จิตสงบก่อน เราไปทำอะไรแล้ว ผลของมันก็คือสมถะหมด แต่พวกเราไม่เข้าใจไง ถ้าสมถะรอบหนึ่งก็โอ้โฮ... นี่โสดาบัน พอรอบที่สองก็นี่สกิทาคา.. คือมันจิตสงบทีหนึ่งก็โสดาบัน.. จิตสงบทีหนึ่งก็สกิทาคา..

นี่ข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างนี้ไง แต่เวลาโยมไปพูดกับพระองค์อื่น... พระองค์อื่นเขาไม่มีฐาน ไม่มีราก มันเลยเรียงลำดับอะไรไม่ถูกไง อะไรเกิดก่อน อะไรเกิดหลังนี่พูดไม่ถูกนะ มันต้องมีอะไรเกิดก่อนเกิดหลัง

ไก่กับไข่ ใครเกิดก่อนกัน อ้าว.. ไก่กับไข่ใครเกิดก่อนกัน...

โยม ๑ : ทีนี้พูดถึงว่าถ้าเรานั่งแล้วสงบแล้วนี่ เราจะยกกายขึ้นมาพิจารณา

หลวงพ่อ : ใช่! ต้องพิจารณาจริงๆ นะ “พิจารณานี่อุคคหนิมิต... วิภาคะ” มันต้องมีวิภาคะ มีการแยกส่วนขยายส่วน มีการคำนวณ ถ้าเราคิดอย่างนั้นมันเป็นเรื่องโลกๆ ไง อย่างที่ว่าผม ขน เล็บ ฟัน หนังนี่ไง เขาทำกันอยู่นะ... ทีนี้ทำกันอยู่นี่มันก็เป็นได้ เวลาปฏิบัติใหม่ๆ เขาเรียกว่ามันเป็นได้ทั้งสมถะ เป็นได้ทั้งวิปัสสนา ถ้าจิตเรายังไม่ดีมันเป็นสมถะ ถ้าจิตเราดีแล้วเป็นวิปัสสนา

ทีนี้พอโยมใช้คำอย่างนี้ปั๊บ โยมเข้าใจว่ามันเป็นวิปัสสนาไง ถ้าวิปัสสนาอย่างที่เราพูด วิปัสสนามันต้องมีขยายส่วน.. ขยายส่วนวิภาคะ ไตรลักษณ์! ลักษณะ ไตรลักษณะญาณมันจะเกิด

ไอ้นี่ก๊อปปี้ไง ย้ำแล้วย้ำเล่า.. ย้ำแล้วย้ำเล่า แต่โยมคิดทีหนึ่งนี่เพราะผลมันยังไม่เกิด แต่เกิดเป็นความสบายนี่จริง! มันเป็นสมถะจริงๆ แต่มันไม่อยู่ในขั้นของวิปัสสนา

“ขั้นของวิปัสสนาต้องจิตสงบก่อน”

ถ้าจิตไม่สงบ วิปัสสนาไม่ได้ ถ้าจิตไม่สงบ เราวิปัสสนาคือสามัญสำนึก ผลของมันก็คือสมถะ แล้วเราก็ซ้ำอยู่ตรงนี้ มันไม่จบ

โยม ๑ : ค่ะ มันก็สงบอยู่ เหมือนกับเรายกกายขึ้นมาพิจารณา

หลวงพ่อ : ใช่... ให้ทำอย่างนี้! ให้ทำอย่างนี้แล้วขยันทำ.. ขยันนี่ขยันอยู่แล้ว แต่ทำนี่เราจะขอโยมอย่างหนึ่ง สิ่งที่ทำมาแล้ว ที่โยมทำมาแล้วนี่วางไว้ ถ้ามันมีสิ่งใหม่อะไรเกิดขึ้นมานี่ เราต้องลุยไปเลย แต่ถ้าโยมยังเอาอารมณ์ความรู้สึกอันเดิมอยู่นี้ ยังอยู่กับมันนี่ เวลาทำแล้ว... อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ หลวงปู่เจี๊ยะว่าจะแช่อยู่อย่างนี้ คือว่ามันเคยตัวแล้วไง มันเคยตัว... ถ้าเป็นหลวงตาจะบอกว่า โทษนะ

“จิตมันด้าน! จิตเรานี่มันดื้อ! จิตมันดื้อ จิตมันด้านแล้ว”

ฉะนั้นพอจิตมันดื้อมันด้าน แล้วเราจะแก้ไขมันไง เราต้องลงปฏักแรงๆ ต้องฝืน.. แล้วอย่าให้มันนอนจมอยู่กับความคิดเดิม จี้มันเข้าไป! ขยายมันเข้าไป! ขยายมันออกไป

โยมจะต้องดึงจิตของโยม.. โยมจะต้องดึงตัวของโยม ให้พ้นจากหล่มอันนี้ให้ได้! ถ้าไม่ดึงตัวเองพ้นจากหล่มอันนี้ มันจะติดหล่มอันนี้ไป ถ้าโยม... โทษนะ โยมตายตอนนี้ถ้าจิตสงบนะ ไปเกิดเป็นพรหม

โยม ๑ : ไม่ปรารถนาเลยพรหม

หลวงพ่อ : ถ้าไม่ปรารถนาต้องดึงออกจากหล่มนี้ ถ้านี่สบายๆ ก็พรหมไง จิตเป็นหนึ่งไง แล้วถ้าไม่ดึงจากหล่มนี้นะ นี่ก็ปฏิบัติธรรมใช่ไหม นี้นักปฏิบัติ... ตายลงก็เกิดเป็นพรหม

โยม ๑ : มันเป็นโลกียพรหมด้วย มันไม่ใช่พรหม

หลวงพ่อ : อ้าว.. แล้วจะเอาหรือไม่เอาล่ะ ถึงบอกว่าต้องดึงจิตเราออกไป แล้วเวลาทำอย่างนี้เราเคยติด เราเคยทำนะเหนื่อยมาก เราอดอาหาร แล้วพอมันอดอาหารแล้วพยายามลากออกไปอย่างนี้ โอ้โฮ.. แบบว่าเหมือนวัวลากเกวียนไง เต็มที่เลย

โยม ๑ : ตอนนี้สังขารมันไม่ไหว อดอาหารมันจะเป็นลม มันอดไม่ไหว

หลวงพ่อ : ไม่ต้องอด! ไม่ต้องอด เพียงแต่ว่าดึงความรู้สึกอันนี้ ให้ออกจากอันนี้ไป มันจะไม่ดึงไป เพราะพอจิตมันดื้อ พอมันเคยชิน แล้วมันสุข มันพอใจแล้ว และพอมันจะออกไป นี่เหมือนเด็กเลย ให้ออกทำงานมันไม่ไปหรอก กูจะนอนในห้องแอร์กูนี่แหละ เย็นสบาย.... อย่างนั้นก็เกิดเป็นพรหมนู้นไง ดึงมันออกมา!

ฮึ! ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้ แต่เวลาถ้าปฏิบัติทั่วไป คือคนทำได้เท่านี้ก็ว่าเก่งแล้ว ตอนนี้เวลาโยมทำมานี่ โยมติดมาอย่างนี้มา ๒๐-๓๐ ปีแล้ว เห็นไหม ที่เราพูดนี่เราเห็นใจนะ! ที่เราพูดนี่เราเห็นใจ

“เพราะเวลาการแก้จิตนี่มันทุกข์ยาก”

โยม ๑ : โอ้โฮ.. ท่านอาจารย์ มันยากมาก... การปฏิบัติธรรมนี่มันยากจริงๆ เลย

หลวงพ่อ : ใช่! ทำงานข้างนอกก็ทุกข์อยู่แล้ว แล้วการปฏิบัตินี่มันยาก

โยม ๑ : งานโลกมันยังง่ายนะคะ งานธรรมยากมาก...

หลวงพ่อ : แล้วมันติด! มันติด มันติด นี่ดีนะติดเราก็รู้ว่าติด แต่ถ้าติดแล้วนี่พอใจ คิดว่ายอมอันนี้ไง มันก็ติดตลอดไป

ทีนี้พอรู้ว่าติดแล้วนี่เราจะดึงมันออก ลากมันออก แต่ด้วยความเคยชินไง เหมือนจริตนิสัยเลย ๒๐ ปีนี่เห็นไหม คนเรานี่นั่ง ๒๐ ปีนะ ลุกขึ้นขาเป๋เลย

โยม ๑ : แต่อีกอย่างหนึ่งท่านอาจารย์คะ ที่โยมจับได้ก็คือว่า ไอ้สิ่งที่เราเห็นแล้วว่ามันเกิดแล้วมันก็ดับไป มันไม่มีความหมาย ไม่มีความสำคัญมั่นหมาย แต่ว่าไอ้สิ่งนั้นมันไม่ขาดจากใจเรา แสดงว่าเราเกิดขาดปัญญา... มันไม่ขาดใช่ไหมคะ

หลวงพ่อ : ไม่ขาดๆ

โยม ๑ : ค่ะ ถ้าเป็นปัญญาจริงมันต้องขาดเลยใช่ไหมคะ มันคาอยู่

หลวงพ่อ : ขาด! พอขาดปั๊บนี่ โธ่.. ง่ายๆ เลย พอขาดสังโยชน์ขาดหลุดปั๊บ! นี่รู้ได้อย่างไรว่าสังโยชน์ขาด ๒ ตัว... รู้ได้อย่างไรว่ากามราคะปฏิฆะอ่อนไป.. รู้ได้อย่างไรว่าสังโยชน์ ๕ ตัว... แล้วสังโยชน์ข้างบนอีก ๕ ตัว เวลามันพรึ่บ! หมดเลยนี่รู้ได้อย่างไร ถ้ารู้ไม่ได้ อธิบายลูกศิษย์ไม่ได้ และถ้าลูกศิษย์มันภาวนาเป็น มันจะมาถอนหงอกอาจารย์มันนะ ถ้าอธิบายไม่ได้ลูกศิษย์มันจะมาถอนหงอกเลยล่ะ ก็สอนอย่างนี้ๆ มันไม่เป็นอย่างที่อาจารย์สอน เสร็จมันอีก

โยม ๑ : ถ้าอย่างนั้นโยมจับกายดีกว่า โยมพิจารณากาย

หลวงพ่อ : โยมนะจับอะไรก็ได้ ทำใจให้สบาย ให้เข้มแข็ง แล้วสู้มันไปเรื่อยๆ แล้วคำนี้อีกคำหนึ่งนะ แล้วเวลาโยมปฏิบัติไป ถ้าอาจารย์องค์ไหนเขาจะบอกว่า “อันเก่าถูกแล้ว.. ไปทำให้เหนื่อยทำไม” นี่อย่าไปฟังเขา! อาจารย์ที่เขาเป็นอยู่ อาจารย์ที่เขาเคยสอนอยู่...

โยม ๑ : แต่กราบเรียนท่านอาจารย์ตรงๆ นะคะ โยมก็ไม่มีอาจารย์องค์ไหน ส่วนใหญ่โยมฟังจากเทปค่ะ โยมนี่ไม่ค่อยได้ไปถามครูบาอาจารย์องค์ไหนนะคะว่าภาวนาอย่างนี้ ไม่เคย มากราบเรียนถามท่านอาจารย์เป็นองค์แรกนะคะเนี่ย

หลวงพ่อ : ถ้าอย่างนั้นถ้าฟังเทศน์ครูบาอาจารย์นี่จับไว้ ถ้าไม่มีใครมาทำให้เราไขว้เขว

โยม ๑ : ไม่มีๆ ค่ะ

หลวงพ่อ : ถ้าไม่มีใครทำให้ไขว้เขวก็ใช้ได้ กลัว.. กลัวนะเวลานี่ เพราะส่วนใหญ่พระนักปฏิบัติมันจะมาหาเรา เราก็อธิบายแล้ว แล้วเขาไปหาอาจารย์องค์อื่น อาจารย์องค์อื่นก็แก้ไปอีกทางหนึ่ง โอ้โฮ.. กูปวดหัวเลย แล้วเขาก็วนกลับมาว่า อาจารย์แก้แล้วไม่เห็นได้ผลเลย อ้าว.. กูไม่รู้ว่ามึงนั่น

โยม ๑ : นี่โยมมาเรียนถามท่านอาจารย์เป็นองค์แรกเลย แล้วก็ครั้งหนึ่งโยมเคยถามหลวงตา แล้วก็มาถามท่านอาจารย์นี่ค่ะ แต่ว่าปกติโยมนี่ไม่ได้มีครูบาอาจารย์มาแก้ให้นะคะ ไม่มี ทีนี้โยมก็ใช้หลักวิธีนี้ค่ะว่า เออ... ดูกาย ดูจิต ไอ้จิตที่ว่ามันทุกข์ส่วนไหน เราก็วางทุกข์มันไปซะ มันก็วางไปได้เรื่อยๆ ๒๐ กว่าปีนี้ ก็เลยทำให้จิตเรามันไม่ค่อยติดโลก มันเห็นว่าไม่มีสาระหมดเลย ในโลกนี้หมด แล้วท่านอาจารย์คิดดู เวลานี้นะโยมไม่ได้ห่วงอะไรเลย ทางโลกนี่ไม่มีอะไรห่วง โยมก็เดินทางสายธรรมอย่างเดียวเวลานี้นะคะ แต่ว่ามันเดินอย่างนี้มันก็... ก็รู้ว่ามันเดินช้า

หลวงพ่อ : เดินช้าแล้วตอนนี้เรารู้ตัวแล้ว เราทำของเราได้เราก็ทำไป ไอ้นี่มันเป็นวาสนานะ คนเราปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ปฏิบัติยากรู้ยากนี่ บัว ๔ เหล่ามันมี! บัว ๔ เหล่ามี มันอยู่ที่คน ไม่ต้องไปน้อยเนื้อต่ำใจ เราจะพูดกับพวกลูกศิษย์ประจำ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากเรานี้มันเป็นกรรมไง เราทำมาเอง จริตนิสัยพวกเรานี้ มันมาจากที่เราทำทั้งนั้น

ฉะนั้นในปัจจุบันนี้เรามาแก้ไข อย่าไปน้อยเนื้อต่ำใจ ก็ทำมาด้วยมือเราเองไง เราจะน้อยใจกับใครล่ะ ก็เราทำมาเอง แล้วก็มาแก้ไขเอง แล้วในปัจจุบันนี้ เราก็ตั้งใจ.. จงใจ.. แก้ไข..ทำเพื่อดีกับเรา เนาะ!