ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ทำบุญทิ้งเหว

๑๘ ส.ค. ๒๕๕๒

 

ทำบุญทิ้งเหว
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

หลวงพ่อ : เพราะทำบุญได้อานิสงส์ที่ดีนี่นะ นี้มันเป็นการคาดหมาย การอยากได้ มันในสิ่งที่ได้มา ได้มาด้วยความแบบว่าเป็นสัญญา เป็นรูปแบบไง ไอ้สิ่งที่เราได้ เราได้กันในสมัยพุทธกาล มันได้มาโดยสัจธรรม อย่างที่มีทุคตะเข็ญใจ มาเป็นคนรับจ้างไถนา พระสารีบุตรท่านออกจากฌานสมาบัติ ถ้าทำบุญกับผู้มีฌานสมาบัติจะได้อานิสงส์แรงมาก นี่อานิสงส์อย่างนี้ตามทฤษฎีใช่ไหม

นี่พระสารีบุตรท่านออกจากฌานสมาบัติ ไอ้ทุคตะเข็ญใจ เขาไถนาอยู่ ตอนนั้นเขาไม่รู้เรื่องอะไรเลย เขาเป็นคนจนน่ะ ทีนี้พอเขาเห็นพระสารีบุตรมา เขารับจ้างไถนาอยู่ แล้วรอภรรยาจะเอาอาหารมาส่ง แล้วมาผิดเวลา หิวมาก โกรธในใจมาก ถ้าภรรยามาจะมีปัญหา พอเห็นพระสารีบุตรมานี่ใจมันโน้มเอียงไปทางศรัทธา พอดีภรรยาก็เอาอาหารมาส่ง ก็ถวายพระสารีบุตรหมดเลย

แต่ก่อนหน้านั้นถ้าไม่เห็นพระสารีบุตรนี่โกรธมากนะ แต่พอเห็นพระสารีบุตรก็มีความศรัทธาก็ถวายไป พอถวายไปแล้วกลับไปไถนาต่อ พอไถนาไปพลิกออกมานะผืนนาดินนี่กลายเป็นทองคำหมดเลย พอกลายเป็นทองคำ

เพราะคนสมัยก่อนนั้น สังคมมันแคบใช่ไหม ถ้าเราเป็นทุคตะเข็ญใจแล้วเรามีทองคำเป็นก้อนๆ ใครจะเชื่อเรา ก็ไม่กล้าหยิบ ไม่กล้าเอาทองคำนั้น ก็ไปรายงานพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าพิมพิสารเป็นพระโสดาบัน พระเจ้าพิมพิสารก็เข้าใจ ก็เลยบอกให้มหาดเล็ก ให้ทหารไปขนทองคำนั้นมา ทหารก็ไม่รู้ก็ไปขนทองคำตามคำสั่งของพระเจ้าพิมพิสาร

พอหยิบทองคำขึ้นมา ก็กลายเป็นดินหมดเลย ก็แปลกใจ ก็กลับมารายงานพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าพิมพิสารก็ให้กลับไปใหม่ บอกว่า มาเอาทองคำของทุคตะเข็ญใจนั้น ไม่ใช่ของพระเจ้าพิมพิสาร ไม่ใช่ของทหารนั้น สิทธิของใครของมันน่ะ พอหยิบขึ้นมาก็เป็นทองคำอย่างเก่า เอากลับมาเทในท้องพระโรง มากองไว้ได้ ๘๐ เล่มเกวียน นี่เห็นไหม พอทำบุญแล้วนี่ได้บุญกุศลต่างๆ มันได้ตามธรรมชาติ

แต่ในปัจจุบันนี้ โยมดูย้อนไปในสังคมไทยเรา เห็นไหม โอ้โฮ โฆษณากันนะ ถ้าทำอย่างนั้นจะได้อย่างนี้ ทำอย่างนี้จะได้อย่างนั้น ขนาดเราไปซื้อหวยยังไม่ถูกเลย แล้วจะไปทำอย่างนั้นแล้วจะได้อย่างนั้นจริงเหรอ

เราธุดงค์ไปนะ ไปเจอคฤหบดีคนหนึ่ง เขามานั่งคุยธรรมะกับเรา “ก็หลวงพ่อมันจะจริงหรือที่ทำบุญแล้วจะได้อย่างนั้น แล้วพระพูดอย่างนั้น พระนี่อวดอุตริหรือเปล่า” เขาบอกพระองค์องค์นั้นรู้ได้อย่างไร เขาเป็นคฤหบดีนะ แล้วเขาบอกเขาเชื่อในหลักศาสนา เขาบอกไอ้ที่มันทำอย่างนั้น แล้วที่พระเราโฆษณากัน คนนั้นทำบุญไอ้นั่นจะได้ไอ้นี่ ทำบุญไอ้นี่จะได้อย่างนั้น มันจะเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า

แต่ถ้าพูดถึงคนที่เขาไม่ได้ตั้งใจ เขาทำของเขา เขาได้ของเขาจริง เพราะเขาไม่ได้ตั้งใจ เขาไม่รู้ใช่ไหมตอนนั้น มันเป็นข้อเท็จจริงของเขา แต่พอเราไปเห็นตัวอย่าง มันไม่ได้เหมือนกัน เพราะอะไรรู้ไหม เพราะว่าเราไม่ได้ลงเจตนาของเราจริงจังเหมือนกับเขา เราทำบุญเหมือนกับเราทำธุรกิจ เราทำไปแล้วเราอยากได้ แต่คนที่เขาได้ขึ้นมานี่เขาทำด้วยชีวิตของเขา เขาศรัทธาของเขา

แล้วเขาทำกับพระที่เป็นพระจริงๆ พระสารีบุตร ลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา ไอ้พระของเรานี่ เนื้อนาบุญของเรานี่มันไม่สะอาดบริสุทธิ์ ปฏิคาหก ๑. ผู้ให้ให้ด้วยความบริสุทธิ์ สิ่งที่ได้มาด้วยหยาดเหงื่อแรงงานของตัวเราเอง พอได้มาแล้วตั้งใจทำถวายพระ ๒. ถวายไปแล้วนี่เรามีความอิ่มใจ นี่ผู้ให้ ปฏิคาหก ๓. ผู้รับ รับด้วยความบริสุทธิ์ รับแล้วทำสิ่งนั้นให้เป็นประโยชน์ขึ้นมา แล้วเนื้อนาบุญคือจิตใจสะอาดบริสุทธิ์

ปฏิคาหก นี่ ทำบุญแล้วได้บุญมหาศาลเลย ที่ว่า ทิ้งเหวๆ อย่างนี้ไง ทิ้งเหวหมายถึงว่าเราไม่ไปผูกพัน เราไม่ไปยึดติด ถ้าโยมมา ๑๐๐ คน แล้วเอาแก้วน้ำนั้นมา ๑๐๐ แก้ว แล้วจะให้หลวงพ่อฉันคนเดียว ๑๐๐ แก้วนี่ ฉันหมดไหม เพราะเจตนาเขาผูกมัด แต่ถ้าโยมมาแล้วนี่ใครๆ ก็มาถวายหมด นี่พระรับแล้ว และพระนี่ฉัน การฉันนี่ ดื่มน้ำก็เพื่อแก้กระหาย แล้วฉันแค่ แก้วสองแก้ว

ถ้า ๑๐๐ แก้วก็ยังเหลืออีก ๙๙ - ๙๘ แก้ว ๙๘ แก้วนี่ เราจะเจือจานพระเราได้ไหม พระอานนท์เป็นผู้ที่มีคนอุปัฏฐากมาก แล้วพระอานนท์ไปบิณฑบาต มันมี จำชื่อไม่ได้นะ เป็นมเหสีของกษัตริย์ เขาศรัทธาพระอานนท์มาก เขาถวายผ้าไตรแก่พระอานนท์ ๕๐๐ ชุด พอถวายไป กษัตริย์กลับมา กษัตริย์รู้ กษัตริย์โกรธมากเลย โกรธว่าพระอานนท์ทำไมโลภมากขนาดนั้น หาว่ารับของเขาแล้วทำไมไม่มีบันยะบันยังเลย

ก็ตามไปต่อว่าพระอานนท์ “ว่าพระอานนท์เป็นเอตทัคคะ เป็นผู้อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำไมรับของเขาไม่บันยะบันยังเลย”

พระอานนท์บอกว่า “บันยะบันยัง ก็รับตามสภาพ”

“อ้าว ตามสภาพได้ไง ทำไมโยมเขาถวายผ้า ๕๐๐ ชุด ทำไมต้องรับถึง ๕๐๐ ชุดล่ะ ใครจะเอามาทำอะไร”

“ก็เอามา ก็ดูซิ พระเณรของเรา พระเณรในป่าในเขาก็มี เราก็เจือจานพระเณรไป”

“อ้าว แล้วอย่างผ้าของพระอานนท์เอาไปทำอะไร”

“ก็เอาไปเปลี่ยนเป็นผ้าจีวรเพราะเขาถวายมา”

“แล้วผ้าของพระอานนท์ที่ห่มเปลี่ยนแล้วจะทำอย่างไร”

“ผ้าของพระอานนท์ก็เอาไปเป็นที่กั้นม่าน”

“แล้วม่านที่พระอานนท์ไม่ใช้แล้วจะเอาไปทำอะไร”

“ก็เอามาทำเป็นผ้าเช็ดเท้า”

“แล้วผ้าเช็ดเท้าของพระอานนท์เอาไปทำอะไร”

“ผ้าเช็ดเท้านั้นก็เอามาขยำกับดิน ปั้นกับดิน”

เพราะคนโบราณเขาอยู่บ้านดินกันไง แล้วเขาก็เอาดินนั้นมาฉาบไง ก็เอาผ้านี่แหละไปทำ พอพระอานนท์บอกมา โอ้โฮ ถวายมา ๕๐๐ ชุดนี่นะ พระอานนท์ใช้ไม่มีเหลือเศษทิ้งเลยล่ะ ศรัทธามาก ถวายมาอีก ๕๐๐ ชุด ทีแรกมาต่อว่านะ ว่าพระอานนท์รับอะไรไม่ได้คิดเลย เอาไว้ตั้ง ๕๐๐ ชุด เอาไปได้อย่างไร

พอสุดท้าย มาต่อว่าพระอานนท์ ท่านอธิบายถึงการใช้ผ้านั้น การเจือจานกันในสังคมสงฆ์นั้น ให้อีก ๕๐๐ ทีแรกจะมาต่อว่านะ นี่ถ้าผู้รับได้รับบริสุทธิ์นะ แล้วไม่ผูกมัด แต่เป็นไปตามนั้น ถ้าผู้ให้ ให้ด้วยศรัทธา ด้วยความเชื่ออย่างนั้น มันจะมีบุญกุศลมาก ไอ้ที่ว่าทิ้งเหวๆ นี่ เราสอนเขาเอง ว่าทำบุญทิ้งเหว นี่จะได้บุญมาก ทำบุญแล้วเราไปยึดมั่นถือมั่นอย่างนั้นน่ะ ปฏิคาหก ขณะที่เราหามามันก็เหนื่อยยากเต็มทีแล้ว แล้วเราถวายพระไปแล้วเห็นไหม ถวายแล้ว ด้วยมีเจตนา ด้วยความศรัทธา ถวายแล้วมีความสบายใจ จบ

พระที่เราเคารพนับถือว่าเป็นครูบาอาจารย์ของเรา ท่านมีวุฒิภาวะ สิ่งที่ท่านได้มา ท่านใช้ประโยชน์ของท่าน โดยสมบูรณ์บริบูรณ์ แล้วท่านเจือจานในวงการสงฆ์นั้น

แต่ถ้าไปทำบุญทั่วไปเห็นไหม มีพระมาเล่าให้ฟัง บอกว่าของเขานี่ เขารับสังฆทานเยอะมากเลย แล้วของมันเหลือใช้ เราถาม จริงหรือเปล่า เยอะจริงหรือเปล่า เดี๋ยวเราจะไปขนมา เราจะเอาไปแจก คือว่าเขาได้มาแล้วเขาไม่เจือจานใคร เขาได้มา เขาก็สะสมไว้ไง ล้นไปหมดเลย แล้วก็บอกว่าอย่างนี้มันถึงเกิดการเวียนเทียนไง พอโยมเอามาแล้วใช้ไม่หมด โยมแลกเปลี่ยนไปเถอะ พวกเราทำไม่ได้

เจตนาของเขา เจดีย์ของโยม นี่เจดีย์ของโยม เจตนาของโยมตั้งใจแล้ว เอามาถวายปั๊บ นี่เอามาถวายหลวงตา หลวงตาก็เอาเข้าคลังหลวง เอาเข้าคลังหลวงเป็นสมบัติของชาติไทยทั้งหมด เพราะมันเป็นสิ่งที่เป็นเงินสำรองเงินตรา พิมพ์เงินที่เราใช้กันน่ะ สำรองด้วยทองคำอยู่ในคลังหลวง โยมให้มา โยมถวายมา เราถวายหลวงตา หลวงตาเอาเข้าคลังหลวง คลังหลวงเอามาค้ำเงินตรา เงินตรานี่ก็กลับมาอยู่ในกระเป๋าพวกเรา

โยม : หมุนเวียน

หลวงพ่อ : ไอ้นี่มันเป็นวัตถุนะ แต่บุญของเราซิ เท่ากับโยมนี่นะช่วยคนทั้งประเทศ โยมทำบุญกับหลวงตาองค์เดียว แต่หลวงตาเอาเงินของโยม เอาของๆ โยมนี่ ไปเจือจานคนทั้งประเทศ ได้มีสิทธิใช้เงินร่วมกัน นี่ทำบุญทิ้งเหว

โยม : เราไปทำกันมาแล้วค่ะกับหลวงตา ที่นู่น

หลวงพ่อ : เห็นด้วย นี่สุดยอด พอใจมาก เราเห็นด้วยนะ เพราะว่าเราเคารพ เราเชื่อมั่นว่าหลวงตาของเรานี่ สะอาด บริสุทธิ์ ทำแล้วได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย ถ้าเราไปทำที่อื่น ทำถึงที่ไหนแล้วนี่ เราจะแน่ใจได้ไหม พระก็มาจากโยม แล้วพระก็มีนิสัยหลากหลาย นี่คำว่า ทำทิ้งเหวนี่ เป็นคำอุปมาอุปไมย เพราะพระพุทธเจ้าสอนพระไง

เพราะสมัยโบราณ เขามีหน้าผาทิ้งของนะ มีอะไรก็ไปทิ้งไว้ที่นั่น แล้วพอทิ้งที่นั่นปั๊บ พระพุทธเจ้าสอนบอกว่า ให้พวกเราอย่าไปยึดติด ทำอะไรเปรียบเหมือนเอาของทิ้งเหว เราก็เลยพูดสั้นๆ ชัดๆ ว่า การเอาของทิ้งเหว มันก็หมดภาระเราไง แล้วเราสบายใจ แต่บุญนั้นไม่ใช่ว่าเราทิ้งเหวแล้วไม่ได้อะไรหรอก แต่ทิ้งเหวคือทิ้งความผูกมัดของเรา แต่ผลที่ตอบสนองมาเห็นไหม ไม่ใช่ว่า แหม ทำทิ้งเหวแล้วไปทิ้งที่เหวอย่างนั้น ไม่ใช่! ทิ้งไอ้ความยึดติดของใจนั่นล่ะ เอาไปทิ้งเหว แต่บุญนี้คือบุญของเรา

โยม : แต่หลวงพ่อเจ้าค่ะ ก็ทำบุญทุกครั้งก็ต้องปรารถนาให้ถึงนิพพาน ถ้าอยู่ในโลกมนุษย์ก็ปรารถนาให้อยู่เย็นเป็นสุข ให้สมบูรณ์พูนสุข เพื่อบำรุงพระศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อไป ก็ตั้งอธิษฐานอย่างนี้ทุกครั้งเลย

หลวงพ่อ : อย่างนี้ถูก ไอ้คำว่า “ทิ้งเหว” ของเรานี่ เวลาเขาไปถวายพระแล้วใช่ไหม เขาจะตามไป ว่าต้องการให้เป็นอย่างนั้นๆ หรือว่าเวลาเห็นพระทำอะไร โดยที่เราไม่เข้าใจ เราจะกลับไปเป็นปมในใจของเราขึ้นมา แล้วเราไม่ได้รับรู้อย่างนั้น แต่การอธิษฐานของโยมนี่นะถูกต้อง ต้องทำอย่างนี้ด้วย

มันจะไปขัดแย้งกับทางทฤษฎี ทางทฤษฎีเขาบอกว่า “ชาวพุทธนี่โลภมาก ค้ากำไรเกินควร ตักบาตรทัพพีเดียวปรารถนานิพพาน” เขาคิดว่าเป็นไปไม่ได้ไง แต่ทางฝ่ายปฏิบัติเรานี่เป็นไปได้ ทุคตะเข็ญใจ ตักบาตรทัพพีเดียว คนทุคตะเข็ญใจ นี่อยากบวชมาก ไปบวชที่ไหนก็ไม่ให้บวช เรื่องนี้จึงไปถึงพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าเลยประชุมสงฆ์ แล้วถามว่า “ทุคตะเข็ญใจนี่เขาเคยมีคุณกับใครบ้าง”

พระสารีบุตรยกมือเลย “เคยมีคุณกับเกล้ากระผมครับ”

“พระพุทธเจ้าถามว่า มีคุณอะไร”

“ทุคตะเข็ญใจคนนี้ เขาเคยใส่บาตรให้ข้าพเจ้าทัพพีหนึ่งครับ”

“ถ้าอย่างนั้น สารีบุตรเธอจงให้ทุคตะเข็ญใจนี่บวชเถิด”

พระสารีบุตรเอาผู้เฒ่านี้มาบวช ในตำราพระพุทธเจ้านะ ภิกษุบวชเมื่อเฒ่า ที่จะว่าง่ายสอนง่ายนั้นไม่มี จะดื้อมาก แต่พระภิกษุเฒ่าองค์นี้เป็นผู้ที่ว่าง่ายสอนง่าย แล้วพระสารีบุตรก็สอนให้เป็นพระอรหันต์ด้วย เห็นไหม ข้าวทัพพีเดียวเขาบอกถึงนิพพานไม่ได้

ถ้าในฝ่ายปฏิบัติเรานี่ ข้าวทัพพีเดียวหรือเจตนาไม่ต้องมีข้าวเลยนะ เราเป็นคนทุคตะเข็ญใจ เราไม่มีสมบัติที่จะสละอะไรได้เลย แต่เรามีอนุโมทนา เห็นเขาทำดีแล้วเราอยากดีด้วย เราก็อนุโมธนาด้วย จิตใจเราดี จิตใจเราเปิด เราสามารถถึงนิพพานได้

ฉะนั้นไอ้ที่ว่า อธิษฐานว่าขอให้ถึงที่สุดแห่งนิพพาน ขอให้มีผลบุญส่ง อันนี้ไม่ใช่การค้ากำไรเกินควร เพราะอะไร เขาเรียกว่าเป็นสัมมาทิฐิ ความเห็นที่ถูกต้อง เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาได้นั้น จะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ เขาเรียกอธิษฐานบารมี บารมี ๑๐ ทัศไง (ใช่ค่ะ) ทานบารมี อธิษฐานบารมี

แล้วอธิษฐานนี่ มันผิดตรงไหน แต่เดี๋ยวนี้ พระที่เรียนทางวิทยาศาสตร์ เรียนทางบาลีนี่ เขาบอกว่า “ชาวพุทธนี่คิดอย่างนี้ เป็นการค้ากำไรเกินควร เขาบอกว่า นิพพานนี่มันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ ที่สุดแห่งความคาดหมาย” แต่หลวงตาท่านบอกว่า ไม่ใช่ นิพพานคืออยู่ในหัวใจของเรา นิพพานสัมผัสได้ในหัวใจของเรา

โยม : ตั้งแต่เด็กๆ มาแล้ว ใส่บาตรก็อย่างนี้ (เห็นด้วย) ใส่บาตรก็ขอให้มั่งมีศรีสุข ขอให้ได้ทำบุญถวายพระพุทธเจ้า สุดท้ายก็ พระนิพพาน ปัจจโย โหตุ อย่างนี้ทุกครั้งเลย

หลวงพ่อ : อธิษฐานบารมี แล้วเราก็ทำของเราไป ไอ้ที่ว่าให้มั่งมีศรีสุขนะ ถ้าคิดอย่างเขาและไปอย่างเขา เพราะตรงนี้นะ มันเป็นช่องทางของให้พระแบบว่า เขาเอาลาภสักการะมาล่อเราไง เราจะไปอย่างนั้นได้ แล้วเราจะมั่งมีศรีสุขของเรา ก็ต้องให้มันมีการสะสมด้วยบุญกุศล บุญคือว่า ทำดี สิ่งที่เป็นบุญกุศล เป็นความดี ที่ไม่ขัดแย้งกับศีลธรรมจริยธรรมขอให้เป็นอย่างนั้น ขอให้ดีเป็นดีไง

โยม : แต่ก็เลือกทำบุญนะหลวงพ่อ

หลวงพ่อ : เห็นด้วย

โยม : อย่างเขาสร้างวัด อะไรล่ะ ก็ไปสร้างกับเขา ทำบุญแล้ว พอได้ตังค์ก็เอาไปสร้างกับท่าน

หลวงพ่อ : เห็นด้วยๆ ทำบุญแล้วเราสบายใจ ทำที่ไหน ก็บุญของเรา

โยม : มองดูว่ามันเป็นประโยชน์อย่างนี้ ก็รีบไปสร้าง แล้วก็อธิษฐานทุกทีให้ถึงนิพพาน

หลวงพ่อ : อธิษฐานทุกทีให้ถึงนิพพานนี่ มันต้องรอไปถึงข้างหน้า แต่ถ้าอธิษฐานนิพพานเดี๋ยวนี้นะ พุทโธเดี๋ยวนี้นะ จะได้นิพพานเดี๋ยวนี้เลยล่ะ

โยม : (หัวเราะ) คิดว่าคงจะไม่มีวาสนาถึงขนาดนั้นค่ะ

หลวงพ่อ : ทำไม

โยม : เราคงไม่ได้ทำบุญใหญ่มาขนาดนั้น อยากจะนิพพานเดี๋ยวนี้ แต่มันคงจะไปไม่ได้

หลวงพ่อ : โยม เวลาเราเทศน์ที่นี่นะ เราจะบอกเลยว่า พวกเรานี่ เหยียบย่ำตัวเอง ดูถูกตัวเอง ในปัจจุบันนี้มันจะเป็นไปไม่ได้ ได้หรือไม่ได้นี่ โยมฟังตรงนี้ พระพุทธเจ้าสอนไว้นะ ทำบุญร้อยหน พันหน โยมนี่ทำทาน ไปทำบุญนี่ ทั่วไปหมด ไปทั่วประเทศไทยเลย พันหน กับโยมถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง มีค่าเท่ากัน ถือศีลบริสุทธิ์ ร้อยหนพันหนไม่เท่ากับจิตใจสงบได้หนหนึ่ง

ถ้ามีศีลบริสุทธิ์ร้อยหนพันหน ไม่เกิดปัญญาที่ทำให้ถึงวิมุตติได้หนหนึ่งนี่ อันนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราทำบุญพันหนใช่ไหม เราทำจิตสงบได้หนหนึ่ง ถ้าทำสมาธิได้หนหนึ่งนี่ เท่ากับโยมทำบุญหมื่นครั้ง ถ้าทำบุญหมื่นครั้งนี่ แล้วไปทำสมาธินี่มันอยู่ที่ไหนล่ะ นี่ไง เราตั้งสตินี่จะทำไม่ได้เชียวหรือ

โยม : แต่ดิฉันก็ทำทั้งเช้าทั้งเย็น

หลวงพ่อ : นี่ไง เอาที่นี่เลย

โยม : แต่ว่าไม่ได้ทำหลายๆ ชั่วโมงนะ สวดมนต์แล้วก็ทำสัก ๑๕ นาที ๒๐ นาที

หลวงพ่อ : ก็ยังดี แต่ถ้าทำ ๕ นาที ๑๐ นาที แล้วเราทำต่อเนื่อง เราทำบ่อยๆ นี่ ถ้าวันไหน โยมทำแล้วจิตมันเคยสบายๆ สงบๆ มีไหม

โยม : มันสงบดีค่ะ สงบดี

หลวงพ่อ : ถ้ามันสงบดีนี่ ทำไมโยมไม่ต่อจาก ๑๕ นาที เป็น ๒๐ นาที หรือ ๓๐ นาทีล่ะ

โยม : บางที มันเป็นไปไม่ได้ เพราะบ้านเรามีคนเยอะ ถ้าไปวัดได้ ไปวัดขนาดแข่งขันกันได้เลย ๓ ชั่วโมงก็ยังทำได้เลย

หลวงพ่อ : แล้วถ้าอยู่บ้านนี่ทำไม่ได้ อย่างนี้ก็ต้องประชุมในบ้านแล้วว่า ถ้าเป็นป้า เป็นย่า เป็นยาย อะไรนี่ ขอเวลาให้มากขึ้นหน่อย เพื่อส่งเสริมกับตรงนี้

โยม : เขาก็ไม่รู้เหมือนกัน ถ้าเขาอยากจะเรียกเราเมื่อไหร่ เขาก็เรียก (หัวเราะ) เป็นอย่างนั้น

หลวงพ่อ : อย่างนี้แล้ว เราต้องบริหารไง เราต้องจัดการให้มันเสร็จแล้วเราก็ต้องล็อกเวลาเอง ถ้าเราฉลาด เราก็ล็อกเวลาเอง แล้วมันเป็นเรื่องในใจที่เราไม่ต้องวิตกกังวลด้วย ถ้าวันไหนล็อกเวลาไว้ชั่วโมงหนึ่ง นั่งไม่ดีเลย ถ้าวันไหนล็อกเวลาไว้ ๕ นาทีน่ะ แหม ดีมากเลย ไอ้จะขัด กิเลสนี่มันร้ายมาก (ใช่) ถ้าวันไหนเวลาน้อยๆ นี่ มันจะนั่งให้ดีๆ เลย (หัวเราะ)

โยม : อ้าว เรามีความทุกข์ในใจนี่ อู๋ย นั่งไม่ไปเลย เดี๋ยวก็มาๆ

หลวงพ่อ : นี่ใจมันอย่างนั้น กิเลสมันเป็นอย่างนั้น ฉะนั้นกิเลสมันมีอำนาจเหนือเรา ไอ้อย่างนี้ การฝึกอย่างนี้ มันเป็นการฝึก ที่โยมทำอยู่นี้มันเป็นการฝึกเราแล้ว นี่มันจะเป็นการสร้างอำนาจวาสนา พอเราตายไปนะ เรายกตัวอย่างเรื่อย กับพวกโยมนี่ อย่าง นาย ก. ทำความชั่วมากเลย เวลานาย ก. ตายไปเกิดเป็น นาย ข. นาย ข. ต้องทุกข์ทนเข็ญใจ ลำบากมากเลย แล้วนาย ข. มันเกี่ยวอะไรกับนาย ก. ล่ะ

อันนี้เป็นนาย ก. ทำความดีไว้มากมายมหาศาลเลยไปเกิดเป็น นาย ข. นาย ข. นี่โอ้โฮ สุขสมบูรณ์มากเลย เพราะนาย ก. ทำบุญไว้ แล้วทำไมนาย ก. นี่ทำบุญไว้ แล้วทำไมไปตกอยู่ที่นาย ข. ล่ะ เราจะบอกว่า จิตนี่ การที่เป็นนาย ก. มันก็เป็นนาย ก. พอมันตายจากนาย ก. ไป นาย ก. ไม่มีแล้ว มันเกิดเป็นนาย ข. นี่พอมาเกิดเป็นนาย ข. นี่ บุญกุศลที่สร้างมาหรือบาปที่สร้างมา นาย ข. ก็รับไป เพราะอะไร เพราะจิตดวงนั้นเป็น จิตดวงนั้นเป็น

เพราะพระพุทธเจ้าบอกเลย ว่าเราเคยเป็น พระเวสสันดร เราเคยเป็น พระสุวรรณสาม เราเคยเป็น เราเคยเป็นหมายถึง อดีตไง แต่ปัจจุบันนี้ จิตดวงนั้นไปเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ไปเป็นพระพุทธเจ้า

แล้วย้อนกลับมาที่โยม ขณะที่ว่าเราทำนี่ ๕ ชั่วโมง ๑ ชั่วโมง ๑๐ นาที ๒๐ นาที นี่ มันจะสร้างเชาว์ปัญญา เพราะมันจะตกผลึกลงที่ใจ ตอนนี้ โยมเจตนามาจากไหน เจตนามาจากใจ ผลของมันลงที่ไหน ก็ลงที่ใจนั้น พอใจนั้นมันเคลื่อนไป หมดอายุขัย ใจนั้นมันก็ต่อเนื่องกันไป นี่บุญกุศลมันจะไปติดไปตรงนั้น ที่บอกว่าเกิดชาติหน้า เกิดไปแล้วมันจะมีสุขมีผลมันจะเป็นอย่างนั้น

อันนี้เป็นอามิสไง มันเป็นผลของวัฎฏะ คือผลของเวรของกรรม แต่ถ้าปัจจุบันนี้ ไอ้ผลมันก็มี คือพยายามทำให้ดีที่สุด คือภาวนา เพราะการภาวนานี่มันทำให้เกิดเชาว์ปัญญา โยมสังเกตเห็นเด็กๆ ไหม เด็กบางคนมีเชาว์ปัญญาดีมากเลย

โยม : คืออย่างนี้นะคะ หลวงพ่อ เราก็ฟังเทศน์แล้ว มันจะขึ้นต้นด้วยทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ก็เข้าไปในใจว่า ถ้าเราเกิดเป็นมนุษย์ เราก็ต้องถวายทาน แล้วเราก็ต้องรักษาศีล เราก็ต้องเจริญภาวนา ก็เลยทำให้โยมน่ะทำ ๓ อย่าง (ดี) โยมนี่ใส่บาตรมา ๔๐ กว่าปีนะ ขาดอยู่ไม่กี่วันนะ พ่อแม่ตายขาดไปวันหนึ่งล่ะ แล้ววันนั้นลาไปต่างจังหวัด สัก ๔ วัน โยมจะไม่ยอมให้ขาดใส่บาตรเลย พระที่มาหน้าบ้านนี่ วันพระ ๙ องค์ (นี่ไงวาสนา) วันธรรมดาน่ะก็มี แล้วแต่ท่านไม่ลานะ ไม่ลาก็มี ๗ องค์ ใส่ทุกวัน

หลวงพ่อ : อย่างนี้ทำให้ครอบครัว ทำให้ทุกอย่างในบ้าน ร่มเย็นเป็นสุข

โยม : ค่ะ นี่ก็ทำอยู่

หลวงพ่อ : แล้วอย่างนี้ในบ้านเรา มันจะมีความร่มเย็นเป็นสุข อันนี้บุญอันหนึ่ง แต่บุญขนาดไหนมันก็เป็นอามิสใช่ไหม แต่ที่ว่า ทานบารมี เนกขัมมบารมีเห็นไหม ถ้าภาวนา

โยม : แล้วดิฉัน ก่อนนี้นะ รักษาศีล ๘ เฉพาะ ๑๕ ค่ำ วันพระแรม ๑๕ ค่ำกับขึ้น ๑๕ ค่ำ แล้วต่อมา ก็มารักษา ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ เรื่อยมา จนบัดนี้ ดิฉันก็ถือศีล ๘ มา ๗ ปีกว่าแล้ว

หลวงพ่อ : ดี ไอ้นี้ของเราทำดีคือดี ดีแล้วคือดีแล้ว ดีนอกดีใน เราจะบอกเลยนะ เวลาคนเขามาหาเรานี่ เขาบอกว่า “หลวงพ่อ อยากได้สมาธิมาก อยากมีความสุขมาก อยากจะได้พิสูจน์สัจธรรมมาก” เราบอกว่า ทุกคนปรารถนาสมาธิ ปรารถนาความสงบ ปรารถนาปัญญา ปรารถนาทุกอย่าง แต่! ปรารถนาที่เป้าหมาย แต่สิ่งแวดล้อมคือปัจจุบันนี่ เราไม่สร้างให้มันสมดุลไง

อย่างนี้ว่าถือศีล ๘ แล้ว ตอนเย็นไม่มีอาหารตกถึงท้องเลย เรานั่งภาวนาก็ดีขึ้น ทุกอย่างต้องดีขึ้น สิ่งแวดล้อมก็ดีขึ้นแล้ว เราต้องทำ เอาสิ่งนี้มาเป็นประโยชน์ สิ่งนี้ดีนอก ดีคือความเตรียมตัวพร้อม เหมือนเราเตรียมพร้อมที่จะทำงานสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และหางานทำขึ้นมาได้อย่างหนึ่ง นี่เราเตรียมตัวพร้อมแล้ว ศีล ๘ ทุกอย่างมีพร้อมแล้ว พอมีพร้อมแล้วเราก็ต้องทำใจให้สงบ อย่างที่โยมพูดมาเมื่อกี้นี้ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี พอเนกขัมมบารมี เราเอาตรงนั้นขึ้นมา ถ้าเอาตรงนั้นขึ้นมาได้อีกนะ มันก็ไปเรื่อยๆ

โยม : ก็พยายามๆ อยู่นี่แหละเจ้าค่ะ

หลวงพ่อ : อันนี้เห็นด้วย อันนี้ คือสเต็ปของมัน แต่เราจะทำได้ประโยชน์ขนาดนั้นไหม เราทำได้ประโยชน์ขนาดนั้นนะ นั่งกันอยู่ ๔ คนนี่ ใครทำได้แล้วนะ คนนั้นรู้เลย มันเกิดขึ้นมาจากข้างในไง แต่นี้อย่างที่ว่า จะทำสิ่งใดก็ได้ วิธีการมันเยอะ ถ้ากำหนดอย่างไรก็แล้วแต่ กำหนดให้ได้ แล้วทำให้ได้ เพราะมันต้องมีที่เกาะเข้าไป

โยม : แต่หลวงพ่อที่วัดนู้น เขาสอนให้ ให้ภาวนา

หลวงพ่อ : อย่างไร

โยม : ยุบหนอ พองหนอ อย่างนี้ค่ะ ให้รู้ว่าสั้น ยาว

หลวงพ่อ : ถ้าทำได้แล้วเราเห็นด้วยไปเลย เราปล่อย เพราะเราจะไปดัดแปลงตรงนี้มันไม่ได้ประโยชน์ล่ะ เพียงแต่ว่าทำไปแล้ว ได้ประโยชน์มากหรือประโยชน์น้อย ถ้ามาพูดอย่างนี้ จะยุบหนอ พองหนอ ถ้ามันทำแล้วสงบก็สงบไป แต่เวลาของเราสอนนี่นะ เราบอกว่า เราพูดอย่างนี้ ไฟ ระบบของไฟ นี่มันมี ๑๑๐- ๒๒๐ ระบบของปกติเรา ๒๒๐ ปกติความรู้สึก ๒๒๐ ตลอดเวลา

คือว่าระบบนี้เราใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าเราใช้ได้ตลอดเวลา แต่ถ้าเขาเชื่อมไฟฟ้านี่เขาจะปรับระบบไฟเป็น ๑๑๐ นี่ เครื่องใช้ไฟฟ้าของเขาใช้ไม่ได้หรอก เราจะบอกว่าสมาธินี่ สมาธิกับอารมณ์ปกติธรรมดาของเรา ปกติธรรมดาอารมณ์สามัญสำนึก เรากำหนดอะไรก็เป็นสามัญสำนึกนี่ แล้วมันได้เปลี่ยนแปลงอะไรไปไหม จาก ๒๒๐ นี่ มันจะเปลี่ยนไป ๑๑๐ ไหม เวลาจิตมันลงเห็นไหม

เวลามันเปลี่ยนแปลงในจิตนี่เห็นไหม จิตมีการเปลี่ยนแปลง ถ้าจิตมีการเปลี่ยนแปลงนี่ มันจะลงในสมาธิ ถ้าลงสมาธิ ฐีติจิตนี่ รากฐาน ต้นไม้นี่มันมีรากแก้ว จิตใจของคนมันมีรากแก้ว มันมีที่มา แต่เรานี่อยู่บนพื้นฐานอยู่บนใบไม้ อยู่บนยอดไม้ แต่รากแก้วเราอยู่ที่ไหน เราไม่รู้จักมัน แล้วเวลาแก้ไขขึ้นมานี่ มันแก้ไขกิเลสไม่ได้เพราะว่า ตัดแต่กิ่ง ตัดแต่ยอดนี่ ต้นไม้มันจะโค่นต้นไม้ได้ไหม แล้วพอมีบางคนฉลาดขึ้นมาก็โค่นที่โคนต้น โคนต้นโค่นอย่างไรมันก็มีรากของมัน มีรากมันก็งอกขึ้นมาอีก

ถ้าจิตมันสงบเข้าไปเห็นไหม นี่จาก ๒๒๐ นี่ จะปรับมาเป็น ๑๑๐ เครื่องใช้ไฟฟ้ามันคนละระบบ จิตใจความรู้สึกของเรานี่ มันอยู่คนละชั้นกัน กิเลสนี่มันอยู่ที่รากแก้ว แต่สามัญสำนึกที่โยมพูดเมื่อกี้ เราพูดอย่างนี้นะ เนกขัมมบารมี ทานบารมี ศีลบารมีนี่ ไอ้นี่มันเป็นมนุษย์ใช่ไหม มันเป็นความคิดเห็นของมนุษย์ใช่ไหม นี่สมมุติบัญญัติ

ทีนี้เราอยู่ในวงของสมมุติ สมมุติก็คือสมมุติ ทีนี้ถ้าพระสอนสมมุติก็อยู่ในสมมุติกันอยู่วันยันค่ำนั้นแหละ สมมุติคืออะไร สมมุติบัญญัตินี่แหละ บัญญัติก็เป็นสมมุติ ธรรมะก็เป็นสมมุติอันหนึ่ง แต่เวลาที่จิตเข้าไปถึงอันนั้นแล้ว ฉะนั้นถึงบอกทำอะไรก็ได้ ถ้าเราเห็นในมัน จะยุบหนอ พองหนอ เราทันไหม สติเราทันขนาดไหน

โยม : อืม! ท่านสอนว่าถ้าหายใจยาว ก็ให้รู้ว่ายาว ถ้าหายใจสั้นก็ให้รู้ว่าสั้น แล้วถ้ามีอะไรมาแทรก ก็ให้รู้น่ะที่เขามาแทรก ท่านสอนอย่างนี้

หลวงพ่อ : มันสอนเด็กเล็ก เหมือนสอนเด็กๆ กินขนมเลยนะ มันสอนเด็กๆ เลยนะ อันนี้ใส่ปากนะ แล้วอมไว้นะ เดี่ยวมันจะละลาย อยู่ในปากแล้วเดี๋ยวมันก็ละลายลงในท้อง เขาสอนกันอย่างนั้น เราเห็น วันนี้ หลานนี่ ยัง งง เลยนะ ว่าทำไมวันนี้ เราคล้อยตามโยมมาก (หัวเราะ) ธรรมดานี่เราจะหักเต็มที่เลย เพราะอะไรรู้ไหม เพราะว่าเราเห็นผลประโยชน์ของคนปฏิบัติ

เราอยากให้คนปฏิบัตินี่ได้ผล เราอยากให้คนผู้ที่ปฏิบัติได้สัมผัสธรรมะของพระพุทธเจ้า ว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี่มันมีคุณค่าจริง แต่เพราะพวกเรานี่ปฏิบัติกันด้วยการลูบการคลำ การที่ปฏิบัตินี่ เราเห็นว่าเป็นการลูบการคลำกัน พอการลูบการคลำ นี่มันจะได้ผลไม่เป็นตามความเป็นจริง มันก็เลยไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงระหว่าง ๒๒๐ ลงมาเป็น ๑๑๐

แล้ว ๑๑๐ ลงไปนี่มันจะเป็นอย่างไรเข้าไป แล้วเวลามันจะลงไปนี่ มันจะมีอาการของมัน อย่างเช่น เราปรับเครื่องใช้ไฟฟ้าจาก ๒๒๐ เป็น ๑๑๐ นี่ เราเปลี่ยนระบบไฟ ระบบไฟมันจะมีการสับเปลี่ยนของมัน เครื่องใช้ไฟฟ้านี่จะมีอาการหมดเลย จิตของเราภาวนาขนาดไหน ถ้ามันจะลงขึ้นมานี่ มันจะมีอาการของมัน

พอมันมีอาการของมัน โลกไม่เข้าใจ พอโลกไม่เข้าใจ มันจะเป็นนิมิต มันจะไปติดเห็นไอ้นู่น มันจะเห็นอย่างนั้นมันจะเสียหาย ความจริงไม่ใช่ ความจริงระบบของใจเราน่ะ มันปรับสภาพ ถ้าใจเราไม่ปรับสภาพนะ มันจะอยู่อย่างนั้น อย่างที่โยมทำกันอยู่อย่างนี้ มันเป็นสามัญสำนึก มันเป็นสัญญาอารมณ์ เป็นความคิดปกติของมนุษย์ มนุษย์มีความรู้สึกเป็นอย่างนี้ อย่าว่าแต่มนุษย์เลยนะ แม้แต่สัตว์มันก็มีความรู้สึกอย่างนี้

แล้วพระพุทธเจ้า ทำปัญญาอย่างนี้หรือ มันจะเป็นปัญญาฆ่ากิเลส ปัญญาความรู้สึกเรา สามัญสำนึกกันอย่างนี้เหรอ สามัญสำนึกอย่างเรานี้ เขาเรียกว่า ปัญญาอบรมสมาธิไง ถ้าปัญญามันไล่ความคิดเข้าไป ความคิดมันหยุดได้ มันจะเปลี่ยนระบบไฟจาก ๒๒๐ เป็น ๑๑๐

ถ้าเป็น ๑๑๐ ขึ้นมานี่ เครื่องใช้ไฟฟ้าอีกคนละระบบ ปัญญา พอมันเป็น ๑๑๐ ขึ้นมาแล้วนี่ มันออกใช้ปัญญา ปัญญามันจะไม่ใช่เป็นปัญญาอย่างที่เราเป็นกัน

โยม : แล้วพระอาจารย์คะ ถ้าเราจะเปลี่ยนระบบภาวนาอย่างไร มันถึงจะให้ผล

หลวงพ่อ : ตอนนี้เราไม่อยากให้โยมเปลี่ยน เพราะโยมทำมานาน พอทำมานานแล้วมันฝังใจ ถ้าเปลี่ยนไปแล้วน่ะ มันก็ต้อง โทษนะ เหมือนกับเราย้ายบ้านน่ะ ถ้าเราย้ายบ้าน ถ้าหนุ่มๆ ย้ายบ้านนี่ไม่ค่อยเท่าไรนะ คนแก่ย้ายบ้านนี่มันติดที่ มันห่วง มันยาก เราดีใจเราก็ไม่อยากให้โยมย้ายบ้าน เพราะใจน่ะ ถ้าไม่ย้ายบ้านก็ตั้งสติดีๆ ตั้งใจทำให้มันดี ให้มันมีคุณภาพขึ้นมา ถ้ามีคุณภาพนี่ ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นก็ต้องตั้งสติเข้าไป สำคัญต้องมีสติเข้าไป สติเข้าไป ตามสติ ตามความรู้สึกเข้าไป เพราะสมาธินี่มันอยู่ที่ความรู้สึกนั้นน่ะ อยู่ที่ความรู้สึก พอความรู้สึกนี่มันสงบลง ทีนี้มันย้อนกลับ

เมื่อ ๒ วันนี่เราเทศน์ เรื่อง “ไม่รู้พูดผิดหมดไง” เราบอกหลวงปู่ดูลย์บอกว่า ความรู้สึกเป็นรูป ความคิดเป็นนาม พอความรู้สึกเป็นรูปความคิดเป็นนาม ความรู้สึกมันมีขึ้นมานี่ พอมันมีนาม มีความรู้สึก ความคิดมันก็ว่าง มันก็หมุนไป เขาบอกว่า ไม่ได้หรอก เพราะความรู้สึกนี้ มหาพุทธรูปนี้มี ๒๔ เขาก็ว่าของเขาไป เราบอกว่าเราไม่ได้ปรารถนาตรงนั้น เราไม่ได้พูดตรงนั้น

มหาพุทธรูปน่ะมี ๑ เดียว จิตมีอันเดียวเท่านั้นแหละ มันเกิดจากอาการเกิดอย่างนี้ทั้งหมด ฉะนั้นพอมาถึงตัวจิตแล้ว ตัวสมาธิขึ้นมานี่ พอมาถึงตัวรูป ตัวรูปพอมันมั่นคงขึ้นมานี่ แล้วออกวิปัสสนา มันถึงเป็นอริยสัจ อริยสัจเกิดขึ้นมาแล้วนี่ ถ้ามันทำลายหมดแล้วนี่ ทำลายทั้งรูป ทำลายทั้งนาม ทำลายทุกอย่างเลย

ปรมัตถธรรม คือสิ่งที่เป็นสัจธรรมอีกอันหนึ่ง ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราพูดกัน เขาเข้าใจว่า สิ่งที่เราพูดกันนี้เป็นปรมัตถธรรมไง นี้พอบอกนู่นก็เป็นปรมัตถธรรม นี่ก็เป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่! ปรมัตถธรรมก็ที่คุยกันอยู่นี่ แล้วทำไมพูดกันรู้เรื่องวะ ก็เรื่องสมมุติกันอยู่นี่ ปรมัตถธรรมพระอรหันต์ทั้งหลายท่านจะรู้กัน

แต่ในปัจจุบันนี่ มันไม่ใช่ปรมัตถธรรมหรอก มันเป็นสิ่งที่เราไปศึกษาปรมัตถธรรมของพระพุทธเจ้า แต่เราไปศึกษาด้วยสมมุติของเรา ศึกษาด้วยสามัญสำนึกของเรา พอมันเป็นสัญญาอารมณ์ เป็นความรู้สึก เป็นอะไรต่างๆ เป็นสัญญาอารมณ์หมด นี่สัญญาอารมณ์นะเราจะมีสติตามเข้าไป ให้ทันสัญญาอารมณ์ สัญญาอารมณ์กับข้อเท็จจริง พอสัญญาอารมณ์กับข้อเท็จจริงปั๊บ มันจะปล่อยสัญญาอารมณ์ไปเป็นความจริง ความจริงคืออะไร ความจริงคือสมาธิไง

ทีนี้บอกว่าสมาธิมันเป็นสมถะ มันไม่มีประโยชน์อะไรขึ้นมา ถ้าไม่ขุดรากแก้วนะ เราถอนต้นไม้ เราฆ่าต้นไม้ไม่ได้ ถ้าไม่มีสมาธินะ สมาธินี่ เพราะอะไร เพราะความคิดเกิดจากความรู้สึก ความคิดเกิดจากความรู้สึก เข้าใจไหม เนี่ยความคิดเกิดจากความรู้สึก ไอ้ความรู้สึกเนี่ย (เสียงตบอก) เราเข้าไปสู่ความรู้สึกนี่ เพราะมันปล่อยความคิดเข้ามา ถ้าเราอยู่กับ หนอ ความรู้สึกหนอ มีอารมณ์อะไร เราอยู่กับความรู้สึกกับความคิด เราอยู่กับความคิดตลอดเวลา เราเข้าไม่ถึงความรู้สึก

พอเข้าสู่ความรู้สึก ความรู้สึกคืออะไร ไปตั้งประเด็นขึ้นมาอีก เป็นอุเบกขาญาณ อูย เป็นอารมณ์พระอรหันต์กันขึ้นไปอีก โอ๊ย! เวรกรรม คือพวกเราให้ค่ากันเองไปหมดเลย สัญญาอารมณ์ สร้างภาพแต่งภาพกันขึ้นมา แล้วก็ให้ค่ากัน แล้วมันเป็นความจริงอย่างที่เอ็งพูดกันหรือเปล่า มันเป็นความจริงอย่างที่พูดเพราะอะไร เพราะเราตั้ง เราบัญญัติศัพท์กันขึ้นมา เราบัญญัติศัพท์กันขึ้นมาแล้วเราใช้ศัพท์นั้นมาสื่อกัน แล้วความจริงมันเป็นอย่างนั้นไหม

ถ้าความจริงมันเป็นอย่างนั้นนะ พอคนที่เขาเป็น บัญญัติศัพท์ส่วนบัญญัติศัพท์ แต่ความจริงเวลามันเกิดขึ้นมาน่ะ โอ้โฮๆ เลยล่ะ พอเราโอ้โฮ ขึ้นมาแล้วนี่ มันอยู่ที่วาสนา คำว่าอยู่ที่วาสนานะ เวลามันออกรู้นี่เห็นไหม พอเวลาจิตมันสงบ มันตั้งมั่นแล้ว มันออกรู้ ออกรู้ในอะไร ออกรู้ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม

ไอ้แผ่นที่ให้ไปนั้นน่ะ “จิตจริงโสดาบันจริง” เราอธิบายเลย โสดาบันในขั้นของกาย โสดาบันของขั้นเวทนา โสดาบันของขั้นจิต โสดาบันของขั้นธรรม กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นโสดาบัน มันปิดล้อมไว้หมดเลย

เป็นโสดาบันอย่างไร ถ้าจิตปลอม ตอนนี้จิตเราปลอม อ้าว ตอนนี้จิตใครจริงบ้าง ปลอมหมด ปลอมเพราะอะไร ปลอมเพราะมันเป็นอนิจจัง ปลอมเพราะมันเปลี่ยนแปลง แล้วเราไปติดในธรรมพระพุทธเจ้า แล้วพอสัญญาอารมณ์รู้เข้า มันเป็นโสดาบันเหรอ พื้นฐานมันปลอม ผลจะจริงได้ไง

แม้แต่เป็นสมาธิยังปลอมเลย เพราะสมาธิมันเป็นตะกอนนอนก้นแก้ว เป็นสมาธิอะไร มันบอกว่า สิ่งที่มันเป็นความสงสัยอยู่มันสงบตัวลง นั่นหินทับหญ้า แล้วพอออกวิปัสสนาน่ะ มันจะทำให้จิตนี่มันสะอาดขึ้นเรื่อยๆ เพราะมันมีความเข้าใจ มันได้ใช้ปัญญาหมุนเข้าไปรอบหนึ่ง มันก็ทำความสะอาดรอบหนึ่งๆๆ จนจิตมันจริง กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ ความจริงเกิดขึ้น ทุกอย่างจริงหมด เวทนาก็จริง เวทนาก็เป็นเวทนา จิตก็เป็นจิต ทุกข์ก็เป็นทุกข์ มันปล่อยกันเองโดยธรรมชาติ

เพราะจิตมันจริง โสดาบันเลยจริงขึ้นมาเลย แต่ถ้าจิตยังปลอมอยู่นะ แม้แต่เป็นสมาธิก็ปลอม เพราะหินทับหญ้า ยังจริงไม่ได้ มันต้องวิปัสสนา ออกการฝึกฝน นี่ขั้นตอนที่มันจะเดินไปข้างหน้า ยังอีกตั้งเยอะแยะเลย

ทีนี้ในปัจจุบันนี้ ถ้าเรา จิตเรายังไม่สงบ หรือเรายังไม่ยอมลงจากยอดต้นไม้ เราอยู่บนยอดต้นไม้นี่ แล้วเราก็เด็ดกิ่ง เด็ดใบไป โอ้ มีความสุขมีความสบาย ไอ้อยู่โคนไม้ มันลำบาก เราอยู่บนยอดไม้ โอ๊ย สัญญาอารมณ์ ว่าง ปล่อยสบาย เราก็ทำตัวเราอยู่บนยอดไม้ คนอยู่ยอดไม้มันอยู่ได้อย่างไร สัญญาอารมณ์อยู่โดยธรรมชาติของมัน มันอยู่ได้อย่างไร มันอยู่ไม่ได้หรอก มันอยู่ไม่ได้ มันก็แปรสภาพของมัน แต่เราบัญญัติศัพท์กันไว้ไง อันนี้พูดถึงว่าจะทำอย่างไรต่อไปไง อันนี้ถ้าเขาทำมานาน (หัวเราะ) แต่ถ้ายังเป็นวัยรุ่นนะ เราจะให้เปลี่ยนเลย

โยม : เปลี่ยนเป็นอะไรคะหลวงพ่อ

หลวงพ่อ : เราเปลี่ยนเป็นปัญญาอบรมสมาธิเลย หรือสมาธิอบรมปัญญา เราให้เปลี่ยนเป็นพุทโธเลย พุทโธๆ พุทโธๆ เลย อันนี้ จิตส่งออก เดี๋ยวคอยดู “ขยะในใจ” นะ ๒ วันนี้ เขามาเรื่อง พุทโธมาก เขาบอกอะไรก็ผิด อะไรก็ผิดหมด เราพูดอะไรก็ถูกหมด เราบอกเลยนะ คนที่เป็นน่ะ หลวงตาท่านบอกเลย พุทโธนี่ สะเทือน ๓ โลกธาตุ มันสะเทือน ๓ โลกธาตุเพราะอะไร เพราะจิตเรานี่ เกิดในกามภพ รูปภพ อรูปภพ จิตเรานี่เกิด แล้วมันสะเทือนสิ่งในตัวที่มันเกิดใน ๓ โลกธาตุ มันสะเทือนหมดเลย เพราะอะไร เพราะถ้ามันพุทโธทีหนึ่งแล้ว มันสะเทือนที่หัวใจเลย เพราะจิตมันเป็นขึ้นมา นี่ขนาดสมาธิเฉยๆ นะ แต่เขาบอกสมาธินี่เป็นสมถะ ใช่ เป็นสมถะ แต่ไม่ใช่สมาธินี่...

โยม : ตอนเด็กๆ นะ หลวงปู่ที่วัดหนัง ดิฉันยังเด็กอยู่เลย ก็มีคนเขาเขียนอักขระมาให้ เอาไปให้ท่านดู นี่แหละ อีหนู ภาวนาพุทโธ แต่ตัวนี้เป็นอักขระนะคะ

หลวงพ่อ : ใช่

โยม : หลวงปู่ๆ นี่มันเป็นอะไรน่ะ เขาบอกให้มาถามหลวงปู่ เขาแปลว่า พุทโธ เอ็งภาวนาไปสิแล้วเอ็งจะได้รู้ ท่านว่า แต่ท่านก็ไม่ได้สอนให้นั่งสมาธิอะไร เพราะเห็นว่าเราเด็ก

หลวงพ่อ : ใช่ พุทโธนี่แหละ พุทโธนี่มันชื่อพระพุทธเจ้า เราถึงบอก พุทโธความจริงนี่มันเป็นของคู่กับศาสนาพุทธเรามาเลย แล้วมันเป็นของที่มีคุณค่า แต่คนมันเข้าไม่ถึงไง เหมือนไก่ได้พลอย ไก่มันไม่รู้จักพลอยว่ามีค่า ไปเห็นข้าวสารเม็ดหนึ่งว่ามีค่ากว่าพลอย มันก็บอกว่าพลอยกินไม่ได้ มันก็เลยเอาข้าวสาร นี่ก็เหมือนกัน โอ้โฮ ใช้ปัญญา ใช้อะไรก็ปัญญา แล้วปัญญามันก็เทียบเคียงได้เพราะเดี๋ยวนี้มันมีการศึกษา

แล้วปัญญาอย่างนี้มันก็เป็นโลกียปัญญา เพราะเป็นปัญญาการตรึก เป็นปัญญาการนึก มันไม่ใช่ปัญญาฆ่ากิเลส มันคนละปัญญาไง พระพุทธเจ้าสอนให้ใช้ปัญญา แต่! แต่ต้องใจเย็นๆ ก่อนที่จะใช้ปัญญานี่ เอ็งต้องมีพื้นฐานขึ้นมาก่อน เอ็งถึงจะใช้ปัญญาได้ นี่พอมาถึงบอกจะใช้ปัญญาๆ คนเจออะไรก็จะใช้ปัญญา เหมือนพวกเรานี่ไม่รู้อะไรเลย ก็จะเอา อยากจะทำๆ มันก็เละๆ

โยม : แต่ละอาจารย์ เพื่อนเขา อาจารย์เขาสอนว่า หายใจเข้า “พุท” หายใจออก “โธ” เพื่อนเขาบอก เพื่อนเขาก็สอนอย่างนี้

หลวงพ่อ : ใช่ อย่างนี้ก็ใช้ได้ ใช่ หายใจเข้า “พุธ” หายใจออก “โธ” พุทโธไปก่อน พุทโธๆ เพราะว่าลมหายใจกับอานาปานสติมันเข้ากันได้ ถ้ามันเข้ากันได้มันก็ใช้ได้ มันใช้ได้ ใช้ได้ไปเรื่อยๆ

โยม : หลวงพ่อที่วัดมหาธาตุ ที่ท่านเสียไป ท่านก็สอน ท่านสอนยุบหนอ พองหนอ องค์นั้นน่ะ ลูกศิษย์ของท่านเยอะเหมือนกัน

หลวงพ่อ : เยอะ เพราะพวกนี้เขาใช้ปัญญากันไง แล้วเขาอธิบายมาเป็นทางทฤษฎีกัน

โยม : แล้วก็ของใครอีกองค์ล่ะ ที่ท่านมรณะภาพไปแล้ว ท่านสอนพุทโธ สมัยนั้น ก็ไปวัดมหาธาตุก็มีเพื่อนที่วัดมหาธาตุเขาก็บอก อ้าว ท่านเจ้าคุณสอนอะไร คุณก็ไปถามซิ

หลวงพ่อ : ไอ้อย่างนี้มันหลากหลายนะ เพียงแต่ว่า เราเดินมาช่องทางไหนแล้ว แต่ถ้าเป็นประสาเรานะ ตอนนี้ เราจะพยายามทำให้ทุกคนกลับมายึดหลักที่พุทโธ ลมหายใจก็ได้ อะไรก็ได้ ให้มันชัดเจน แต่นี้เราบอกกำหนดเราก็กำหนดอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ากำหนดอยู่แล้วนี่มันเป็นการสร้างอันหนึ่ง

เวลาเราพูดกับคนทั่วๆ ไปนะ เราบอกว่า ธรรมดานี่ทุกคนทำให้คนตื่นตัว แต่การกำหนด ยุบหนอ พองหนอไปนี่ เราเปรียบเหมือนกับเอายาสลบโป๊ะจมูกตัวเองไว้ ให้มันหลับไป เพราะมันไม่จับต้องสิ่งใด เราพูดอย่างนั้นเลย แล้วเราอธิบายได้ชัดเจน แต่นี้เพียงแต่เราไม่ค่อยมีเวลา แล้วอีกอย่างหนึ่งไม่อยากพูดแรง เพระว่าคนแก่ ไม่อยากให้สะเทือนใจ

โยม : ไม่หรอกค่ะหลวงพ่อ ตอนนี้ก็จิตเริ่มตั้งมั่น (หัวเราะ)

หลวงพ่อ : เราอยากให้โยมมีกำลังใจทำไปอีกนะ ถ้าลองพุทโธได้ ถ้าพูดถึงสมมุติว่าโยมเปลี่ยนเป็นพุทโธได้นะ ลองเปลี่ยนพุทโธกับลมหายใจเข้าออก

โยม : โอ๊ย หลวงพ่อ คล่องมาก

หลวงพ่อ : พุทโธๆ พุทโธๆ ไปเลย ถ้าพุทโธๆ ไว้นะ ยึดตรงนี้ไว้เลย อยู่ตรงนี้เฉยๆ เลย แล้วไม่ไปไหนนะสักพักหนึ่ง ต้องพิสูจน์กันนะว่าจริงไม่จริง แล้วดูอาการเปลี่ยนแปลงอย่างที่เราพูดน่ะ เพราะสามัญสำนึกของเราก็อารมณ์หนึ่งนะ พอสมาธิมันลงนี่ แล้วพอลงมันจะมีแรงต้าน อย่างเช่น ตัวโยก ตัวคลอนนี่ อย่าไปตกใจกับอะไรทั้งสิ้น พอตัวโยก ตัวคลอน ก็บอกมันไม่ดี มันเป็นนิมิต มันเป็นสมถะ จะทำให้เราตกภวังค์ ไม่ต้องไปสนใจฟัง มันเป็นสิ่งที่เรารู้ อย่างเช่น เรากินอาหารนี่เราใส่ปากเรา เราจะไปห่วงใคร ใครจะบอกกินถูกไม่ถูก กินดีไม่ดี เรื่องของเขาใช่ไหม แต่มันของเข้าปากเรา เรารู้รสชาติไง พุทโธๆ พุทโธๆ ไปถ้าได้อย่างนี้นะไม่เกี่ยวกับอายุ แต่ตอนนี้เห็นว่า โทษนะ เท่าไรแล้ว

โยม : ๗๖

หลวงพ่อ : ๗๖

โยม : อ๋อ คล่องค่ะ พุทโธคล่อง

หลวงพ่อ : เราเห็นอายุมากแล้ว พุทโธ ถ้าพุทโธคล่องนะ โยมนะ ถ้าพุทโธคล่องนี่อย่างวันนี้ได้บุญ เห็นไหม น้องสาวบอก ทำไมน้องสาวบอก เราเห็นคนแก่ เราเห็นอะไร เราไม่อยากทำให้กระเทือนใจ

โยม : มันไม่กระเทือนใจหรอกค่ะ

หลวงพ่อ : แต่ถ้ามันเป็นอย่างนั้นเราพุทโธเลย

โยม : แต่สมัยนั้นที่ไป นั้นนะอายุยังไม่มากหรอก อายุประมาณ ๓๑- ๓๒ ไปกับเมียรองอธิบดีน่ะ ที่ไปลอง ที่หลวงพ่อนั่นล่ะ

หลวงพ่อ : นั่นแหละ พุทโธไว้ อันนั้นแล้วกันไป เพราะตอนนั้นสังคมเขาเชื่อถือศรัทธากัน คนไปเยอะใช่ไหม แต่ตอนนี้ เรามาคิดถึงว่า เรื่องคนเชื่อถือศรัทธาก็เป็นเรื่องของเขา เรื่องความจริงความเท็จ เรื่องความถูกต้องดีงามเป็นเรื่องของเรา โยมทำมานี่ ๓๐-๔๐ ปีแล้ว

โยม : ใช่ค่ะ

หลวงพ่อ : ตอนนี้กลับไปทำพุทโธเลย อีกสัก ๒- ๓ เดือน ลองทำให้ได้เลย แล้วเดี๋ยวให้หลานพามาหาเราใหม่ ถ้าทำไม่ได้นะ แล้วบอกว่าเนี่ย หลวงพ่อโกหก

โยม : (หัวเราะ) ไม่ใช่

หลวงพ่อ : ทำแล้วไม่ได้อย่างนั้น พุทโธๆ พุทโธๆ

โยม : ไม่หรอกค่ะ ไม่ว่าหลวงพ่ออย่างนั้นหรอก

หลวงพ่อ : ไม่ ไม่ใช่หรอก

โยม : เราอ่านหนังสือมาเยอะแล้วแต่ว่าเราจะไปเจอพระอาจารย์อะไรนี่

หลวงพ่อ: เราไม่ว่าหลวงพ่อ เราไม่ว่าใครทั้งสิ้น เราอยากจะท้าพิสูจน์ให้โยม ให้โยมได้สัมผัสเอง เนี่ยน้ำชาร้อน น้ำแข็งเย็น ถ้าจิตใจเราเป็นนะ เราจะสัมผัสอย่างนี้ เขาเรียกว่า สันทิฏฐิโก เราจะจับเองเลย คนอื่นพูด ไม่เหมือนเราจับ โอ๊ย นี่ร้อน เพราะเราจับ ถ้าจิตมันสัมผัสนะ มันจะร่มเย็นเป็นสุข มันเปลี่ยนแปลง โยมจะสัมผัสเอง

พอโยมสัมผัสเองแล้ว นี่สันทิฏฐิโก ใครจะบอกโยม แล้วโยมจะเชื่อมั่นเลยว่า อันไหน จะทำให้โยม อย่างว่าปรารถนาเห็นไหม ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ไม่ใช่อยู่ที่ไหนหรอก อยู่ที่ใจเรา ถ้าใจทำได้ เดี๋ยวโยมจะบอกว่า อ๋อ มันอยู่ที่นี่เอง

หลวงตาท่านขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นบอกเลย นิพพานไม่ได้อยู่ที่ภูเขา ไม่ได้อยู่ที่สภาพสมบัติ ไม่ได้อยู่ที่ก้อนเมฆ ไม่ได้อยู่ที่ใครเลย อยู่ที่ความรู้สึก อยู่ที่ใจ แล้วถ้าอยู่ที่นี่ทำไมมันจะเปลี่ยนแปลงพลิกที่นี่ไม่ได้

เอาแค่นี้ก่อนเนาะ อายุ วัณโณ สุขัง พลังเนาะ