ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

หลงจิต

๒๓ ส.ค. ๒๕๕๒

 

หลงจิต
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เรามีความคิดมานาน เพราะเราอยู่ในวงสังคมของกรรมฐาน เราอยู่กับครูบาอาจารย์มาหลายองค์ แล้วเราใฝ่ดี แหม อวดตัวด้วย เราใฝ่ดี อยู่กับครูบาอาจารย์เราศึกษามาเยอะ ในสังคมถ้าเราใฝ่ดี เราอยู่กับครูบาอาจารย์ ประสบการณ์ของครูบาอาจารย์แต่ละองค์เป็นยังไง นั้นเราก็คิดมาอยู่ตลอดเวลา ว่าการดูจิตนี้ การดูจิตของหลวงปู่ดูลย์นะถูก เพราะมันเป็นวงกรรมฐาน วงกรรมฐานเห็นไหมหลวงปู่ดูลย์นะ นี่เวลาหลวงปู่ฝั้นนะ เห็นไหมเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์เป็นคนเอาหลวงปู่ฝั้นมาบวชเองเห็นไหม แล้วหลวงปู่ฝั้นท่านก็พุทโธมาตลอดนะ ไม่มีปัญหาหรอก ถ้าดูจิตจริงๆ นะ ปัญญาอบรมสมาธิจริงๆ นะ มันก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ

แล้วในกระบวนการของเรานะ พระกรรมฐาน ครูบาอาจารย์เรานี้มันเป็นที่น่าเชื่อถือ ฉะนั้นฝ่ายอภิธรรม เขาพยายามจะเข้ามาสวมรอยเข้ามาให้เป็นเนื้อเดียวกันมาตลอด แต่ถ้าการเป็นเนื้อเดียวกันแล้วนะ มันเป็นแบบว่าก้ำกึ่งไง เหมือนลูกครึ่งนะ อย่างเช่นเราเลี้ยงปลาเห็นไหม คนที่เลี้ยงปลาเห็นไหม เลี้ยงปลาสวยงาม เลี้ยงปลาขาย เลี้ยงปลาต่างๆ เขาต้องเลี้ยงปลาในแม่น้ำใช่ไหม คนที่เขาเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงวัว เลี้ยงควายเห็นไหม เขาต้องเลี้ยงบนทุ่งใช่ไหม แต่ถ้าเราเลี้ยงกบนะ เราจะทำยังไง เลี้ยงกบ เลี้ยงเต่านะ นี่มันสัตว์กึ่งบกกึ่งน้ำไง ฉะนั้นการทำอะไรมันควรจะชัดเจนใช่ไหม จะเลี้ยงปลาก็เลี้ยงปลาไปเลย จะเลี้ยงกบก็เลี้ยงได้ ไอ้สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำนั้นกรณีหนึ่ง

แล้วกรณีอย่างนี้เราเห็นมาเยอะไง แล้วกรณีที่เกิดขึ้น เราถึงบอกเลยนะ นี่ว่าการดูจิตนี่อย่างนี้มันจะไปลงอภิธรรม นี่คำนำมาละ เขาเขียนเองสดๆ ร้อนๆ เลย

“เมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อนการดูจิตยังเป็นพิธีการที่ปฏิบัติธรรมที่รู้จักกันอยู่ในวงแคบ” วงแคบเพราะมันเป็นความจริง คนที่ทำได้มันทำได้ยาก คนที่ทำได้มันต้องมีความตั้งใจจริง มันอยู่ในวงแคบ กรรมฐานของเราประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ก็อยู่ในวงแคบ “ฉะนั้นในหมู่ลูกศิษย์ของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล บางส่วนเท่านั้น บางส่วนเท่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่นักปฏิบัติส่วนมากเมื่อได้ยินคำว่าดูจิต ถ้าไม่งุนงงก็มักจะประมาท ว่าไม่ใช่หนทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ หลุดพ้น เพราะยังไม่คุ้นเคยกับคำว่าดูจิต และไม่ทราบวิธีดูจิตด้วย แต่ก็ปฏิเสธไว้ก่อน เนื่องจากไม่ใช่วิธีการปฏิบัติที่ตนคุ้นเคย ทั้งที่การดูจิตนั้นลงกันได้พอดี (นะเห็นไหม ลงแล้ว) ลงกันได้พอดีกับคำสอนเรื่องการเจริญสติปัฏฐานตามพระสูตร หรือแม้กระทั่งกับอภิธรรม”

อื้อ! นี่! ลงกันได้พอดี ลงกันได้พอดีกับอภิธรรม ถ้ามันลงกันได้พอดีกับอภิธรรมนะ แล้วทำไมสอนดูจิตทำไม ทำไมไม่บอกว่ากำหนดนามรูปไปเลยล่ะ ถ้ากำหนดนามรูปมันก็เป็นอภิธรรมเลยใช่ไหม แต่ถ้ามันกำหนดดูจิตใช่ไหม ก็เป็นกรรมฐานใช่ไหม เป็นการปฏิบัติที่ได้ผลไง เพราะครูบาอาจารย์เราเป็นพระอรหันต์ไง หลวงปู่ดูลย์เป็นพระอรหันต์ไง

ในเมื่อการดูจิตนี่มันลงกันได้แม้กระทั่งอภิธรรม ลงกันได้เหมือนอภิธรรม ถ้าเหมือนอภิธรรมทำไมไม่สอนอภิธรรม มาสอนดูจิตทำไม แล้วพอสอนดูจิตไป ถ้าดูจิตแบบหลวงปู่ดูลย์ท่านเป็นกรรมฐานใช่ไหม นี่! เราคิดเรื่องนี้มานาน เริ่มต้นมานานเพราะเราอยู่ในสังคม นี่ไงถึงบอกว่าเราใฝ่ดี ใฝ่ดี เราอยู่ในวงการปฏิบัติมาเห็นอย่างนี้มาเยอะ เห็นอย่างนี้มาเยอะ

แล้วการกระทำนี้ ของทุกคนนะ สินค้าเห็นไหม สินค้าลอกเลียนแบบนะเขายังถือลิขสิทธ์กันเลย เขาไม่ให้ลอกเลียนแบบ นั่นเป็นผลประโยชน์ทางโลกนะ แต่ในการประพฤติปฏิบัตินี้มันถึงกับได้มรรคผลหรือไม่ได้เลยล่ะ มีจริงหรือไม่มีจริง ในเมื่อมันมีจริงของใครมีจริงก็ทำไปสิ ทำไมต้องมาสวมรอยนะ ทำไมต้องสวมรอยเห็นไหม เพราะมันสวมรอยเพราะมันไม่มีความจริงนะสิ

ถ้ามีความจริง อย่างพุทโธเรานี่ไม่สวมรอยเลย เราทำของเราจริงจัง ครูบาอาจารย์ของเราตั้งใจจริง ก็ทำของเราจริงจัง ไม่ต้องไปอ้างใครเลย พุทโธคือพุทโธไง นี่ปฏิบัติคือปฏิบัติไง นี่สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานก็คือการทำจริงไง ไม่ต้องอ้างใคร ไม่ต้องอ้างใคร หลวงปู่มั่นรื้อค้นขึ้นมาเอง หลวงปู่มั่นเป็นอาจารย์ใหญ่ นี่ครูบาอาจารย์เรามีหลักมีเกณฑ์ ทำมาเรียบร้อยแล้วสอนหมด อ้าว ถ้าจริงมันก็ว่ากันตามจริงสิ เพราะมันไม่จริง เพราะมันไม่จริงจึงขอแอบอิง ขอเกาะขอเกี่ยวไปด้วย เกาะเกี่ยวไปด้วยก็สารภาพมาสิ สารภาพมาตามความเป็นจริง ไม่ยอมสารภาพ

แต่พอความจริง เรื่องมาเปิดเผยนะ อย่างตอนเช้ามาถามเห็นไหม เรารู้ ฟังทีเดียวก็รู้เลย จิตหลงเป็นอย่างหนึ่ง จิตว่างเป็นอย่างหนึ่ง นี่จิตหลงเป็นอย่างหนึ่ง จิตว่างเป็นอย่างหนึ่ง

“เอ้อ! มีหลงด้วยหรือ จิตหลงมีหลงด้วยหรือ”

ถ้ามึงรู้ว่าหลง มึงหลงได้ยังไง ที่มันหลงคือมันหลงไปแล้ว จิตหลงนะก็บอกว่าจิตหลงๆ จิตหลงเพราะเราไม่รู้เราถึงหลง ถ้าเราเข้าใจผิด เราเข้าใจผิด เราคิดไม่ถึง สิ่งนั้นคือเราไม่รู้ใช่ไหม ถ้าเราเข้าใจผิดนั่นคือเราหลง เราไม่เข้าใจ แล้วจิตหลงจิตหลงนะ ถ้าจิตหลงนะมันหายไปเลย จิตหลงคือความเข้าใจผิดทั้งหมด “อันนี้บอกจิตหลงๆ มันบอกว่ามันรู้จิตหลง แล้วพอจิตว่างเป็นอย่างหนึ่ง” ไม่มีหรอก!

นี่ในอภิธรรมเห็นไหมบอกเลยนะ “นี่สภาวธรรมมันปกติ ถ้ามีอารมณ์ความรู้สึกธรรมดาอย่างนี้สิเป็นธรรม ถ้ามีอารมณ์โกรธมันถึงเป็นกิเลส” มีอย่างนี้จริงๆ ด้วยหรือวะ? มีหรือ? ในตำราก็เขียนไว้ในนี้อภิธรรมมันเป็นทฤษฎีไง ทฤษฎีพระพุทธเจ้าสอนมาอย่างนั้น นี่ธรรมะของพระพุทธเจ้า แต่เรามาปฏิบัติล่ะ กำปั้นทุบดิน เราไม่รู้อะไรเลย เวลาความคิดบอกนี่สภาวธรรม สภาวธรรมอะไร ก็มันซื่อบื้อไง ฟังแต่ความรู้สึกตัวเองไง เวลามีอารมณ์ปกติ เออ...นี่ เฉยๆ เฉยๆ นี่สภาวธรรม ไม่มีทาง! ความเฉยๆ นี่มันเสวยอารมณ์แล้ว มันมีความรู้สึก ความรู้สึกว่าเฉย มีความรู้สึกอยู่ แล้วบอกจิตหลงๆ มันหลงอะไร! มึงเห็นจิตไม่เจอ! มันก็รู้สึกๆ รู้สึกว่าคิด รู้สึกว่าอารมณ์อยู่ ในปัจจุบันธรรม ปัจจุบันที่มันเป็นธรรม ปัจจุบันธรรม สภาวธรรมที่เกิดในปัจจุบัน อันนี้เป็นสภาวธรรม นี่เขาว่าของเขานะ

มันสภาวะกิเลส ไม่มีสภาวธรรมหรอก กิเลสในจิตมึงเต็มหัวใจ แล้วมึงคิดออกมา เหมือนเรานี่ โจรนะ กูปล้นนะ ถ้ากูปล้นอยู่นะ ก็โจรปล้นมา ก็ของกูปล้นนะ ก็กูเป็นโจร ถ้าใจมึงมีอวิชชาอยู่ ใจมีกิเลสอยู่ มึงคิดอะไรก็เป็นกิเลสทั้งนั้นนะ มันมีอะไรเป็นสภาวธรรมบ้าง ไม่มีหรอก! สภาวะที่คิดออกมา ความคิดมาจากอะไร? ความคิดมาจากจิต จิตคืออะไร? จิตคืออวิชชา อวิชชาคืออะไร? อวิชชาคือพญามารไง มารมันครอบงำอยู่ไง แล้วความคิดมึงมาจากไหนนะ สภาวธรรมหรือ เราบอกไม่มีหรอก

นี่ไง เขาบอกเป็นสภาวธรรม สภาวะที่ปกติที่เป็นธรรม มันเป็นไปไม่ได้! แล้วสภาวะถ้าเป็นกิเลสนะ โอ้โฮ! มันต้องโกรธ มันต้องเกลียดนะ เป็นสภาวะกิเลส แล้วคุมน่ะ ของอย่างนี้นะของมันปฏิเสธไง มันปฏิเสธความเป็นจริงทั้งหมดเลย นี่แล้วเวลาบอกสภาวธรรมปกติธรรมดา จิตหลงเห็นไหม จิตหลงก็รู้ว่าจิตหลง นี่จิตว่างก็รู้ว่าจิตว่าง ไม่มี เราจะบอกไม่มีหรอก จิตหลงก็คิดเอาเอง เพราะอะไร?

เพราะจิตหลง เราเห็นคนหลงผิดไหม เห็นลูกของเราไหม เวลามันเก มันงอแง นี่มันตีโพยตีพายตามใจ นั่นนะอารมณ์มันไปหมดแล้ว นี่มันหลงตามอารมณ์มัน แล้วของเรานี่เรารู้ตัวนี่ว่าจิตหลงๆ มันจิตหลงอะไร มันมีอะไรหลง มันจิตหลงต่อเมื่อมันคิดมาแล้วไง เหมือนเรานี่ มือเรานี่ เราไปจับความร้อนนี่ เราได้รับสัมผัสความร้อน มือเราจับความเย็นได้สัมผัสความเย็น

แล้วมึงไปจับแล้วนี่ ความร้อนมันเป็นอยู่อย่างนั้น แล้วมึงไปหลงอะไร มันความร้อนชัดๆ มันเป็นความร้อนที่มือเราสัมผัสใช่ไหม แล้วจิตที่ว่าหลงมันหลงในอะไร นี่! มันหลงเพราะมันไม่เจอจิตมันเลยไง นี่จิตหลงก็ว่าจิตหลงๆ มันไม่ใช่จิตหลง มันไม่ใช่อะไรเลย มันเป็นสัญญาอารมณ์ มันไม่มี มันไม่มี

แต่เวลากรรมฐานเราเห็นไหม พุทโธๆ ๆ นี่ เขาบอกว่าพุทโธๆ นี่นะ เขาบอกว่ามันเป็นอะไร มันเป็นสมถะ มันไม่มีปัญญา พุทโธๆ นี่จะเข้าไปหาจิต ถ้าไปถึงตัวจิตนี่เห็นไหม พุทโธๆ ๆ ถ้าใครพุทโธนะ พุทโธๆ เห็นไหม มันจะพุทโธขนาดไหนนะ มันจะเข้าไปถึงตัวจิต มันจะหลงไม่หลงมันไปรู้กันตรงนั้น ถ้ามันหลง มันวูบวาบ มันมีอาการของมัน ตัวจิตของมันนั่นนะ มันจะมีจิตหลงไง

ไอ้นี้มันหลงจิต! หลงออกจากจิตไม่เห็นจิตไง หลงออกไปแล้วคิดเองใช่ไหม ถ้าเราไม่มีตัวจิตนะ ไม่มีพลังงานคิดอะไรไม่ได้เลย สังเกตได้ไหมเวลาเราพบภาพสิ่งใด เราเห็นสิ่งใดนี่เรารับรู้เฉยๆ แต่เราไม่รู้เนื้อหาสาระอันนั้นเห็นไหม เวลาเรานั่งเฉยๆ เวลาภาพมันผ่านไป เราเห็นสิ่งต่างๆ นี่ เห็นแวบไปแวบมานี่ เราไม่รู้อะไรนี่ เรานึกไม่ออกเห็นภาพอยู่ แต่ไม่รู้อะไรมันผ่านหน้าเราไปแวบ เพราะจิตมันไม่รับรู้ อายตนะมันไม่ทำงาน จิตไม่ทำงาน นี่เห็นไหมถ้าจิตมันไม่ทำงานนี่ แม้แต่นี่ เสียงที่ฟังสิ่งต่างๆ นี่มันฟังผ่านไปเฉยๆ แต่ถ้ามันตั้งสติไว้นะ เสียงอะไรมาก็ชัดเจนมาก ตั้งสติไว้

สติเกิดจากใคร คำว่าตั้งสติ สติมันตั้งอยู่บนอะไร สติตั้งอยู่บนจิต สตินี้ตั้งอยู่บนจิต ถ้าพูดถึงจิตมันมีอยู่แล้วโดยธรรมชาติของมัน จิตมีอยู่แล้วคนมีชีวิตอยู่ จิตมีอยู่แล้ว พอเราตั้งสติขึ้นมา สติมันเกิดจากอะไร เกิดจากจิต พอจิตตั้งมั่น เสียงอะไรที่มันผ่านมา มันชัดเจนมาก จิตตั้งมั่นๆ เพราะมีสติ

ถ้าพูดถึงขาดสติ จิตมันก็มีอยู่ แต่มันเผลอตัวมันเอง นี่ไง! หลงจากจิตไง ไม่เห็นตัวจิตไง แล้วบอกว่านี่ จิตหลง จิตหลงคืออารมณ์ความรู้สึก เขาบอกว่าจิตหลงใช่ไหม วันนี้เขาบอกว่า “จิตมันหลงก็รู้ว่าหลง จิตมันว่างก็รู้ว่าว่าง” มันหลงไป แล้วมึงรู้ได้ยังไง! มึงเอาอะไรไปรู้! มึงเอาอะไรไปรู้ ไปรู้ว่าหลง มันไม่มี! มันหลงไปแล้ว

คือว่ามันบอกว่านี่มันเป็นปัจจุบันๆ นี่ มันหลงจากจิตไง พอหลงจากจิต เพราะมันไม่เคยเห็นจิต พวกนี้ไม่เคยเห็นจิต พวกนี้ไม่รู้จักจิต พวกนี้มีแต่สัญญาอารมณ์! พวกนี้มีแต่ความคิดเกิดดับ แต่ไม่เข้าถึงตัวความจริง ไม่เข้าถึงตัวความจริง

ถ้าเข้าถึงตัวความจริงนะ นี่เวลาเราหาครูบาอาจารย์นะ เวลาเราปฏิบัติไม่ถูกต้องเห็นไหม เวลาปฏิบัติแล้วนี่จิตเข้ายาก จิตเข้าง่ายเห็นไหม หลวงตานะท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น เวลาท่าน จิตท่านเสื่อม ท่านเสื่อมนะ แล้วก็คอตกเลย อยู่กับหลวงปู่มั่น อุปัฏฐากหลวงปู่มั่นอยู่นี่

“มหาเป็นยังไง”

“จิตไม่ดีเลย มันเสื่อมหมดเลย มันหาไม่เจอเลย”

หลวงปู่มั่นบอกเลยนะ “จิตนี่มันเปรียบเหมือนเด็ก” เพราะว่าเขาว่าหลงนะ นี่มันหาจิตไม่เจอ “จิตนี่มันเหมือนเด็ก เวลามันเหมือนเด็กนี่นะ เด็กนี่มันต้องกินอาหารของมัน ตอนนี้เด็กมันเกเร มันทิ้งไป มันหายไป ฉะนั้นเด็กมันต้องกินอาหารนะ ไม่ต้องไปยุ่งกับมันเห็นไหม”

คำว่าไม่ต้องยุ่งกับอะไรเลย ไม่ต้องยุ่งกับอะไรเลยนะ อย่าไปเดือดร้อน อย่าไปตีโพยตีพาย ให้นึกพุทโธๆ ๆ ไว้ นึกพุทโธๆ ไว้นะ เพราะจิตนี่มันต้องกินอาหาร เหมือนเด็กต้องการอาหาร พุทโธๆๆๆ พอพุทโธไป...เราละทิ้งสิ่งต่างๆ ทั้งหมด เราละทิ้งสิ่งต่างๆ ทั้งหมด

เรานึกแต่พุทโธๆ ๆ นี้ พอมันสงบเข้ามาๆ นะ ท่านปฏิบัติท่านผ่านมาแล้ว แล้วท่านปฏิบัติท่านได้อารมณ์อย่างนั้น ท่านจิตสงบอย่างนั้น แล้วท่านมานึกถึงตอนที่ว่าท่านปฏิบัติยังไม่ได้ แล้วหลวงปู่มั่นสอนท่าน ท่านบอกเลยนะ ท่านเคารพหลวงปู่มั่นมาก ท่านรักมาก ท่านบอกเลยสอนเราเหมือนกับเด็กไร้เดียงสา สอนคนที่มันโง่เง่าเต่าตุ่นนี่สอนแบบเด็กๆ สอนแบบอนุบาลมากๆ เลยนะ ไม่ต้องไปยุ่งกับอะไรนะ อยู่กับพุทโธๆ นี่ แล้วมันก็สงบจริงๆ

พอเราไม่กังวลกับอะไรเลยนะ สิ่งที่เราเป็นอยู่นี่ ๑. กังวลว่าจิตเสื่อม แล้วเมื่อไหร่มันจะฟื้นซะที แล้วจิตมันอยู่ที่ไหน แล้วพุทโธจะพุทโธยังไง แล้วสติก็เป็นยังไงก็ไม่รู้จัก แล้วมันกังวลไปหมดเลย โอ๊ย!..งานนี้มันใหญ่โตมหาศาลเลย งานอย่างนี้มันแบกโลกทั้งโลกเลย มันไม่ไหว

ท่านบอกว่าทิ้งให้หมดเลยนะ คำว่าทิ้งให้หมด มันต้องสอนนะ บอกว่าจิตนี้มันเหมือนเด็ก คำว่าเด็กคือเด็กมันไร้เดียงสา เด็กไร้เดียงสามันจะรับผิดชอบอะไร เด็กไร้เดียงสามันจะไม่รับผิดชอบอะไรใช่ไหม พอเด็กไร้เดียงสามันไม่รับผิดชอบอะไรนี่ เด็กมันต้องกินอาหาร เราไม่ต้องไปสนใจกับมัน ไม่ต้องไปสนใจกับจิต ไม่ต้องไปสนใจกับอะไรใดๆ เลย แล้วเราเอาอาหารให้มัน เราไม่ต้องสนใจจิต แต่เราตั้งสติ เรานึกพุทโธ นี่มันมาจากไหน มันมาจากจิตโดยที่เราไม่รู้ตัว มันมาจากจิตโดยที่เราไม่รู้ตัวนะ เพราะเราไปกังวลหมดใช่ไหม จิตอยู่ที่ไหน แล้วเราจะทำยังไง กังวลไปทุกๆ เรื่องเลย

ยิ่งกังวลยิ่งทำยิ่งผิด ให้ปล่อยวางให้หมด แล้วกำหนดพุทโธอย่างเดียว พุทโธๆๆๆ ๆ ๆ ไปเลยนี่ นี่คืออาหารของจิต อาหารของเด็กที่มันจะมากิน พุทโธไปนี่ เพราะอาหารอยู่ที่ไหน เด็กมันต้องเข้าไปที่นั่น สัตว์นะ มันหิวกระหายที่ไหน ที่ไหนมีอาหาร มันจะวิ่งไปหาที่มันจะกิน เพราะมันประทังชีวิตของมัน โดยสัญชาตญาณของมันหิวโหยมาก มันต้องหาอาหารของมัน

นี่เหมือนกัน พุทโธๆๆๆ นี่ แล้วจิตนี้มันอยู่ไหน ก็ตัวนึกพุทโธก็คือตัวจิตนั่นแหละ แต่เพราะเรากังวล เราไม่รู้จัก เราไม่รู้อะไรไปหมดเลย ตัวนึกพุทโธ พุทโธใครเป็นคนนึกขึ้นมา ก็จิตไง เมื่อก่อนมันไม่ได้คิดพุทโธ มันกังวลแต่ว่าจิตมันเสื่อม กังวลแต่เรื่องอื่นไปหมดเลย กังวลทุกๆ เรื่อง กังวลไปหมดเลย กังวลทั้งนั้น แบกโลกทั้งหมดเลย แล้วก็พุทโธก็สักแต่ว่าทำ แต่ไปแบกอย่างอื่นไว้หมดเลยเห็นไหม

แล้วนี่คนสอนฉลาดมากๆ หลวงปู่มั่นโคตรฉลาดเลย ตัดความกังวลของจิตโดยเอาอุบายมาบอกเห็นไหม เอาอุบายบอกเลยนะ จิตนี้เปรียบเหมือนเด็ก เด็กนี่มันหลงผิดไป มันก็ไปเที่ยวเล่น ไปเที่ยวเล่นของมัน มันทิ้งเจ้าของมันไป ทิ้งเราไปเห็นไหม จิตนี้มัน เหมือนกับลูกเรานะมันไม่พอใจ มันก็ทิ้งเราไป เราก็นั่งเสียใจ

นี้มันไปมันจะไปรอดไหม มันหากินไม่เป็นนะ มันก็ต้องกลับมาขอสตางค์เรานะ ทีนี้ไปไม่รอด วิ่งไปตามมันมันก็ยิ่งวิ่งหนีใช่ไหม อยู่เฉยๆ แล้วนึกพุทโธๆ ๆ หาสตางค์ไว้ๆ พุทโธๆ ๆ พุทโธๆ ๆ นะ พอพุทโธ ธรรมชาติ เพราะมันก็คือจิตเรานี่แหละ แต่มันเพราะความวิตกกังวลมันหลงออกไป พุทโธๆๆๆ พอมันชัดขึ้นมานะ

หลวงตาท่านเล่า ท่านเล่าแล้วมาสังเวชตัวเองไง ว่าไม่ประสีประสาเลย เหมือนกับไม่ประสีประสาไม่รู้อะไรเลย แล้วพ่อแม่ถนอมมาขนาดนั้น ท่านมารำพัน ท่านมารำพึงรำพัน คน พุทโธๆ พอพุทโธๆๆๆ ๆ มันคลายวิตกกังวลหมดแล้ว ทิ้งภาระผูกพันทุกอย่างหมดเลย นึกพุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธๆๆๆ พอจิตมันสงบเข้ามา โอ้โฮ! มันสงบ มันแนบแน่น นี่ไง นี่จิต มันไม่หลงจากจิตไง

นี่ที่ว่า “จิตหลง จิตว่าง จิต...” นี่หลวงตาก็หลง หลงผิด หลงต่างๆ แต่หลวงปู่มั่นสอนให้กลับมา หายหลง! หาจิตเจอ!

นี่มันมาถึงนะ นี่จิตว่างก็รู้ว่าจิตว่างนะ จิตหลง อันนี้มันหลงอยู่ ไอ้นี่มันหลงจากจิต มันยังไม่รู้จักจิตมันหรอก นี่เราจะยกให้เห็นว่าอภิธรรม หรือความเข้าใจทางวิชาการ เขาเข้าใจกันอย่างนั้น แล้วเวลาเขาปฏิบัติกัน เขาก็เอาสิ่งนั้นมาพูดกัน มาพูดกันสัญญาอารมณ์ไง “นี่เอ็งก็ว่าง ข้าก็ว่าง เอ็งก็รู้ข้าก็รู้ นี่จิตดีก็ว่าดี จิตหลงก็ว่าหลง” ไม่ใช่หรอก มันเป็นมารยาสาไถยทั้งนั้น

มันเป็นมารยาสาไถย มันเข้าไม่ถึงจิตเห็นไหม เพราะไม่มีสติ มันเป็นมารยาสาไถยของทางโลก มันไม่เป็นการปฏิบัติจริงเลย ถ้าปฏิบัติจริงนะ กรรมฐาน ๔๐ ห้อง พุทโธๆ ปัญญาอบรมสมาธิ มันถึงไม่ตัดรากเหง้า

กระแสนะ คนเรานี่นะ นี่เวลาคนเรานี้บอกว่าเดี๋ยวจิตออกจากร่างจะเข้าไม่ได้ ฝันกันไปนี่ ไม่มีทาง ในเมื่อรากฐาน พุทธะมันอยู่ที่ใจ มึงจะไปที่ไหนต้องกลับมาที่นี่ จิตออกจากร่างก็ต้องย้อนกลับมาที่นี่ ไม่มีทางไปไหนเลย เว้นไว้แต่มึงตาย ฉะนั้น พุทโธๆ นี้ มันออกมาจากจิต แต่นี่ไม่ตัด ไปตัดรากของจิตซะเอง

คำว่าจิตหลงนี้คือสัญญาอารมณ์ ไม่ใช่จิตหลง ถ้าคนจิตหลงคือคนไม่รู้เรื่อง คนจิตหลงก็เหมือนคนโดนหลอกนะ คนหลงคือคนไม่รู้ตัว แต่นี้บอกว่าจิตหลง จิตหลงเพราะอะไร จิตหลงเพราะจำตำรามา จำมา ก็ว่าจิตว่าง จิตหลง ก็สร้างอารมณ์หลง หลงก็คือทำอะไรไม่ถูกไง โอหลงๆ ไม่ใช่หรอก! หลงจากจิต! หลงทาง! ไม่ใช่ความจริงเลย

ทีนี้เพียงแต่เวลาเราพูดตอนเช้านี้ เขาก็จะพูดโต้แย้ง พูดต่างๆ เราไม่คล้อยตามไง เขาคงคิดว่าการกระทำอย่างนั้นมันถูกต้อง การกระทำอย่างนั้นเขาทำกันเป็นกระบวนการ แล้วมาพูดในวงกรรมฐานนี้ ในกรรมฐานอาจจะเห็นด้วย หรือว่าในวงกรรมฐานนี่ กรรมฐานนี่ซื่อบื้อ กรรมฐานไม่มีปัญญา กรรมฐานจะรู้อะไร นี่ขนาดบอกจิตหลงมันยังไม่รู้ว่าจิตหลงเลยนะ (หัวเราะ)

แต่มันไม่ใช่ ที่เราไม่ชักไปทางนั้นเลย แบบดูจิตกับอภิธรรมนี้ คือเขาพยายามจะบอกว่าอภิธรรมนี้ก็คือการประพฤติปฏิบัติในวงกรรมฐาน ในการปฏิบัติเพื่อจะเข้าไปชำระกิเลส แต่ในวงอภิธรรมนี้ เราบอกว่ามันเป็นมารยาสาไถย สร้างภาพกันขึ้นมา สร้างอารมณ์สัญญากันขึ้นมา สร้างธรรมะขึ้นมา สร้างขึ้นมา เป็นสิ่งที่สร้าง

เขาบอกเลยนะ “การตั้งสติการกำหนดพุทโธนี้ เป็นของสร้างทั้งหมด ทำไม่ได้ ต้องให้เป็นเอง” สิ่งที่เป็นเองเห็นไหม มันเป็นสามัญสำนึก มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันไม่เข้าถึงจิต แล้วเห็นจิตไม่ได้ แล้วหลงจากจิต ไม่รู้จักจิต ว่านี่จิตหลงๆ คำว่าจิตหลงนี้ พอเขาบอกว่าจิตหลงใช่ไหม มันก็มีสติขึ้นมาใช่ไหม แล้วก็รู้สร้างอารมณ์ขึ้นมา ก็เลยบอก เออ เห็นไหม ในอภิธรรมนี้จะไม่เห็นนิมิต ในอภิธรรมนี้เป็นปัญญาจะไม่หลงทาง ไอ้พุทโธๆ นี้จะหลงทาง

ไอ้พุทโธๆ เรานี่ เวลาเราพุทโธๆๆๆ พอจิตสงบ พอจิตมันสงบ มันเป็นเอกเทศของมัน แล้วมันจะออกหา ออกรู้ของมัน ออกรู้ โลกุตตรปัญญา ออกรู้ปัญญาที่จะชำระกิเลส มันละเอียดกว่านี้ แต่นี่พอจิตของเขานี่มันว่าจิตหลง จิตว่าง จิตรู้ จิตเข้าใจ จิตรู้หมดนะ เวลามันออกไปนี้มันก็เป็นสามัญสำนึก มันไม่ลงถึงราก

เราถึงบอกว่า อภิธรรม นามรูป การกำหนดหนอ การต่างๆ ตัดรากๆ ๆ ตัดรากคือตัดฐีติจิต ตัดที่มา นี่เราพุทโธนี้เราเข้าถึงตัวจิต เราเข้าถึงตัวจิตเห็นไหม ตัวจิตคือตัวสมาธิ ฐีติจิต จิตเป็นสมาธิจะเข้าถึงตัวจิต

แต่เขาสร้าง เขาเป็นสัญญาอารมณ์ เขาไม่ใช่จิต เพราะเขาไม่ใช่จิต เขาถึงไม่รู้จักจิต พอเขาไม่รู้จักจิต เขารู้จักสัญญาอารมณ์ แล้วสัญญาอารมณ์นี้ไปตรึกในธรรมะของพระพุทธเจ้า ยิ่งตรึกในธรรมะพระพุทธเจ้ามากเท่าไร ยิ่งปัญญายิ่งเยอะเห็นไหม ยิ่งเป็นปัญญาขึ้นมา

มันเป็นโลกียปัญญาไง มันเป็นสัญญาอารมณ์ที่จำมา แล้วมาโม้กันไง เพราะเขาไม่รู้จัก เขาไม่เคยเห็น เขาถึงพูดผิดไปหมด นี่พอเริ่มต้นจากความผิด ความผิดของเขามันก็ยังผิดต่อไปเห็นไหม บอกว่า “นี่จิตส่งออกของหลวงปู่ดูลย์นี้คลาดเคลื่อน” ต้องเป็นความเห็นของเขา “จิตส่งออกนอกเป็นสมุทัย ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอกเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตแจ่มแจ้งเป็นมรรค ผลแห่งการจิตเห็นจิตแจ่มแจ้งนั้นเป็นนิโรธ” นี้เป็นโศลกของหลวงปู่ดูลย์ แต่ความขยายความ ขยายความถ้าเป็นความจริงที่เป็นความเห็นของเขา หลวงปู่ดูลย์นี้พูดถูกหมด เพราะหลวงปู่ดูลย์พูด หลวงปู่ดูลย์เข้าใจกระบวนการของมันทั้งหมด

แต่กระบวนการของเขานะ “อนึ่งตามสภาพที่แท้จริงของจิต ย่อมส่งออกนอกเพื่อรับอารมณ์นั้นๆ โดยธรรมชาติของมันเอง ก็แต่ว่าถ้าจิตส่งออกนอกไปรับอารมณ์แล้วจิตเกิดความหวั่นไหว เมื่อเกิดกระเพื่อมไปตามอารมณ์นั้นเป็นสมุทัย (นี่เขาจะบอกว่าสมุทัย) ผลอันเกิดจากจิตหวั่นไหวเมื่อกระเพื่อมไปตามอารมณ์นั้นเป็นทุกข์ ถ้าจิตส่งออกนอกไปรับอารมณ์แล้ว แต่ไม่หวั่นไหว หรือไม่กระเพื่อมไปตามอารมณ์นั้นๆ มีสติอยู่ตามสมบูรณ์เป็นมรรค ผลอันเกิดจากจิตที่ไม่หวั่นไหว จิตที่ไม่กระเพื่อม และมีสติอยู่ทุกอย่างสมบูรณ์เป็นนิโรธ พระอริยะเจ้าทั้งหลายมีจิตไม่ส่งออก จิตไม่หวั่นไหว จิตไม่กระเพื่อม เป็นวิหารธรรม จบอริยสัจ ๔”

แหม... ใครฟังก็ทึ่งหมดนะ จิตส่งออกนอกเป็นทุกข์ หลวงปู่ดูลย์นะ “จิตส่งออกนอกเป็นสมุทัย จิตส่งออกนอกเพราะตัวจิตมันเป็นอวิชชา” มันอวิชชาอยู่แล้ว อวิชชาเป็นตัวจิต ความคิดข้างนอกมันเป็นกิเลส กิเลสแบบหยาบๆ มันเป็นสมุทัยโดยพื้นฐาน เมื่อจิตมันเป็นสมุทัยอยู่แล้ว ผลอันเกิดจากจิตส่งออกนอกเป็นทุกข์ เป็นทุกข์ทั้งหมด ทุกอย่างเป็นทุกข์ทั้งหมดเลย พลังงานก็เป็นทุกข์ ทุกข์ของพระอนาคาแค่เฉา แค่สว่างไสว แค่ผ่องใส นี่ทุกข์อันละเอียด ทุกข์ทั้งนั้นนะ

จิตเห็นจิต จิตเห็นจิตมันต้องมีจิต ตัวเห็นจิต แล้วจิตเห็นแจ้งเป็นมรรค ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นนิโรธ ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต ฉะนั้นพระอรหันต์ถึงไม่มีจิต! นี่ไง

แล้วนี่อันหนึ่ง “ที่จิตเดิมแท้นี้ ผลของส่งออกเพื่อไปรับอารมณ์โดยธรรมชาติของมันเอง โดยธรรมชาติของมันเอง” นี่แสดงว่าพระอรหันต์มันก็ยังค่อมอยู่นั่นนะ ค่อมตออยู่ มันยังค่อมตอของมันอยู่นะ

“นี่แล้วจิตส่งออกนี้เป็นอารมณ์ต่างๆ เพราะพระอริยะเจ้าทั้งหลายไม่มีจิตส่งออก จิตไม่หวั่นไหว พระอริยะเจ้าไม่มีจิตส่งออก” พระอริยะเจ้าไม่มีจิตส่งออกแล้วพระพุทธเจ้าเทศน์อยู่นั่นเอาอะไรมาเทศน์ล่ะ พระพุทธเจ้าเทศน์อยู่เอาอะไรมาเทศน์ ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นพระอรหันต์ท่านเอาอะไรมาเทศน์ ถ้าจิตไม่ส่งออก จิตไม่คุยกับชาวบ้าน จิตไม่สัมผัสกันแล้วเอาอะไรมาเทศน์นะ

“พระอริยะเจ้าทั้งหลายไม่มีจิตส่งออก ไม่มีจิตหวั่นไหว ไม่มีจิตกระเพื่อม” โอ้! นี่ไง มันฟ้องชัดๆ เลยนะว่า “จิตว่าง จิตหลง จิตนี่..” คือการสอนของอภิธรรม อภิธรรมนี้เขาบอกว่าเป็นปรมัตถ์ ปรมัตถ์คืออภิธรรมของพระพุทธเจ้า ธรรมะของพระพุทธเจ้า แต่ตัวเองไม่รู้อะไร ตัวเองเอาธรรมะพระพุทธเจ้ามาอ้างอิง แต่ตัวเองไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จักจิตของตัวเอง ตัวเองไม่เห็นจิตของตัวเอง ตัวเองไม่เข้าใจจิตของตัวเอง แต่สัญญาอารมณ์ ธรรมะของพระพุทธเจ้าล้วนๆ นะ

คำพูดคำสอนนี้มันผิดหมด ผิดหมด อันนี้ชัดๆ เลยพึ่งเขียนสดๆ ร้อนๆ ลายเซ็นของเขายังอยู่ที่นี่ ชื่อเสียงยังอยู่ที่นี่หมด นี่แล้วก็บอกว่าจิตว่าง จิตหลง จิตต่างๆ มันจะเอาอะไรมาหลง ในเมื่อมึงยังไม่รู้จักอะไรหลงเลย สิ่งที่เป็นไป สิ่งที่มีอยู่นี้มันเป็นสัญญาอารมณ์ทั้งนั้นนะ แล้วก็บอกว่านี่จิตหลง สิ่งนั้นเป็นสภาวธรรม ปกติธรรม เป็นสภาวะปัจจุบันธรรม

เขาพูดกัน เขาว่ากันนะ เขาว่ากันไปตามกระแสของเขา เราไม่เป็นอย่างนั้น เราไม่คิดเห็นเป็นอย่างนั้น ฉะนั้นสิ่งที่เป็นไป มันเป็นสิ่งที่เขาพยายามจะมากลืนกันนะ เราจะบอกว่ากรรมฐานมันจะไม่เหลือ กรรมฐานมันจะไม่เหลือนะ กรรมฐานมันจะไม่เหลือเพราะว่ามันไม่มีใครรู้ มันไม่มีใครรู้ มันไม่มีใคร

อันนี้คำถามนี้มันใกล้เคียง

ถาม : การบริกรรมพุทโธถี่ๆ พร้อมสติ กับการบังคับควบคุมความคิดไม่ให้ปรุง งานไหนเป็นสิ่งที่ต้องทำก่อนหลังหรือทำพร้อมกัน

ตอบ : “การบริกรรมพุทโธถี่ๆ พร้อมสติ เห็นไหม การพุทโธถี่ๆ มันเป็นอันหนึ่ง การควบคุมบังคับนี้ การควบคุมบังคับความคิดไม่ให้ปรุง งานไหนนี่ การควบคุมบังคับนี้” นี่อันนี้พูดถึงนี้ อันนี้คำถามนี้ถามมาผิด การควบคุมบังคับนี้มันแบบว่า น้ำ หรืออากาศนี้ เราเอามาควบคุมบังคับได้ แต่ความคิดนี้มันเป็นนามธรรม มันจะมีความคิดบ่อยๆ การควบคุมบังคับนี้ มันไปบังคับนี้ มันจะเกิดการต่อต้าน มันจะเกิดความเครียด แต่นี้ปัญญาอบรมสมาธินี้ มันไม่ใช่ควบคุมบังคับ มันต้องตั้งสติ ตั้งสตินะ ความคิดเป็นธรรมชาติใช่ไหม มันจะไหลของมันไป แล้วสติตามความคิดนี้ไป ธรรมชาติของมันนะ มันเกิดดับ

“ทีนี้การไปควบคุมบังคับนี้ ก็คิดว่าความคิดนี้มัน…” ใช่ ความคิดเรานี้พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนวัตถุอันหนึ่ง ความคิดนี้นะ ความรู้สึกนี้นะเปรียบเหมือนวัตถุอันหนึ่ง แต่วัตถุอันนั้นนะมันเป็นวัตถุที่เป็นนามธรรม แล้วนี่สติถ้าตามมันไปนี้มันเห็นการเกิดดับ เห็นวัตถุอันนั้นเกิดดับ วัตถุนั้นเกิดดับเกิดมาจากไหน วัตถุอันนั้นมันมาจากไหน วัตถุอันนั้นมันมาจากจิต จิตนั้นมีพลังงาน พลังงานเฉยๆ แล้วถ้าใครไปจับจิตได้มันจะเห็นอีก นี่เขาบอกว่า “จิตจับไม่ได้ จิตมันเป็นนามธรรม จิตไม่มี เห็นไหมมันต้องเป็นสัญญาอารมณ์ นี่จิตส่งออกไม่ได้ มันจะต้องเป็นอารมณ์ความรู้สึกต่างหากส่งออก จิตส่งออกไม่ได้” แล้วอารมณ์ความรู้สึกมันมาจากไหนนะ ถ้าไม่มีจิต อารมณ์ความรู้สึกมาจากไหน? คำพูดมันฟ้องทั้งนั้นเลย ฟ้องถึงความไม่เป็นใช่ไหม

ถาม : อันนี้คำว่าพุทโธถี่ๆ พร้อมสติ กับบังคับควบคุมความคิดไม่ให้ปรุงนี้ งานไหนเป็นสิ่งที่ต้องทำก่อนหรือหลังหรือทำพร้อมกัน

ตอบ : มันอยู่ที่จริตนิสัย สิ่งที่เราว่าพุทโธๆ นี้ พุทโธถี่ๆ คำว่าพุทโธถี่ๆ แสดงว่า เคยปฏิบัติแล้ว พุทโธถี่ๆ พุทโธๆๆๆ ๆ ๆ นี่ ถ้าไม่เคยปฏิบัติพุทโธถี่ๆ ไม่ได้หรอก พุทโธทีมันก็ลืม พุทโธทีมันก็สะดุด นี่การทำงานนี้ ความชำนาญของเรานี้ เราเข็นรถเห็นไหม ถ้ารถนี้มันไปในโพรงหญ้า ไปต่างๆ นี่ รถมันจะไปไม่ได้ มันจะติด แต่ถ้ารถเราเข็นบ่อยๆ เห็นไหม ทางนี้จะราบไปเพราะโดยล้อรถนี้จะบด จะทับให้หญ้านี้ราบไป พอหญ้าราบไปนี่รถนี้จะเข็นไปได้ง่าย พุทโธๆ นี้มันเหมือนกับเราเข็นรถในโพรงหญ้า

ใหม่ๆ ปฏิบัติกันทุกคนนะ พุทโธ ชนนู่น พุทโธ ชนนี่ พุทโธไม่อยู่ นี่มันเป็นไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเราตั้งสติ เราพยายามของเรา พุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธนี้ รถเข็นนี้มันจะเข็นทับหญ้าไป เข็นไปเข็นมานี้ เดี๋ยวหญ้านั้นมันจะเรียบ ทางนั้นมันจะชัดเจนขึ้น นี่คำว่าพุทโธถี่ๆ แสดงว่านี่ เริ่มภาวนาได้ คือว่ามีช่องทางให้รถนั้นไปได้ รถนั้นคือจิต พุทโธๆ นั้นคือคำบริกรรมของเรา นี่ทำไปเรื่อยๆ พุทโธๆ ๆ อันนี้เป็นศรัทธาจริต ศรัทธาจริตนี้เราจะมีความเชื่อมั่น มีความตั้งใจของเรา ถ้ามีความเชื่อมั่นมีความตั้งใจของเรานี้ เราพุทโธของเราไปบ่อยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ เพราะพุทโธนี้ พุทโธนะ มันไม่ได้มาจากฟ้านะ พุทโธของคนใด มันก็มาจิตของดวงนั้น ถ้าเราไม่นึกพุทโธ พุทโธก็ไม่มี

พระพุทธเจ้านิพพานมาแล้ว ๒,๐๐๐ กว่าปี พระพุทธเจ้าคือพุทธะ คือศาสดาของเรา เรานึกถึงพุทโธ พระพุทธเจ้าก็สถิตในกลางหัวใจของเรา เรานึกถึงพุทโธนะ พระพุทธเจ้าก็สถิตในกลางหัวใจของเรา พุทโธนี้ พุทโธๆ นี้เราว่าพุทโธนี่ เวลาเรานึกพุทโธเราก็พุทโธท่องเป็นคำบริกรรม แต่ถ้าเวลาเราไม่ปฏิบัตินี้ เราคิดสิ ว่าพุทธะๆ พระพุทธเจ้านี้ ท่านปรารถนาเป็นพุทธภูมินะ ท่านสร้างมา ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย ท่านทุกข์ทรมานมาขนาดไหน ท่านรื้อสัตว์ขนสัตว์ ท่านต้องเตรียมตัวมากมายมหาศาล ท่านสละชีวิตของท่าน ท่านสละแล้วสละเล่าเพื่อสัตว์โลก เพื่อสังคม สละมาตลอดเลย ถึงที่สุดแล้วท่านตรัสรู้ธรรมขึ้นมา

เราต้องพยายามนึกว่าพระพุทธเจ้านี้มีคุณกับเรามหาศาล เราจะนึกว่าพระพุทธเจ้านี้ โอ้โฮเคารพบูชา ทีนี้พอพุทโธขึ้นมามันก็ดูดดื่ม เหมือนเรา ไม่ได้บอกว่าไม่รักสาวเลยละ ถ้ารักสาวคนไหน นึกถึงสาวคนนั้นก็มีความสุขเห็นไหม นี่รักพุทโธใช่ไหม นึกถึงพระพุทธเจ้านะ พุทโธๆ นี้ คำว่าพุทโธนี้มันจะชัดเจนขึ้น คำว่าพุทโธนี้มันจะมีรสชาติขึ้น

แต่นี้สักแต่ว่าทำ พุทโธเป็นอะไรก็ไม่รู้ พุทโธก็ไม่รู้จัก พุทโธนี้ ให้ท่องพุทโธก็ท่องกันอยู่นี้ ไม่รู้เรื่อง อาจารย์ก็บังคับให้พุทโธ ก็พุทโธๆ กันอยู่นี่ นี่มันก็เลยทำให้ไม่มีรสชาติ ถ้าเรามีศรัทธามีความเชื่อนี่มันจะมีรสชาติมาก พุทโธๆ นี่ แล้วรสดูดดื่มมาก แล้วพุทโธๆ พุทโธๆๆๆๆ ถ้าเราหลีก มันจะโธๆๆๆๆๆ มันออกมาจากจิตนะ พอมันออกมาจากจิตนะ พุทโธมันละเอียดเข้าไปเรื่อย พอมันถึงเนื้อจิตนะ เอ๊อะ! เอ๊อะ! มันนึกพุทโธไม่ออก พอนึกพุทโธไม่ออก เพราะพุทโธมันคุมอยู่นี่ มันนึกพุทโธไม่ออก แล้วมันไม่ได้คิดอะไรด้วย นึกพุทโธยังนึกไม่ออก มันจะคิดอย่างอื่นได้ไหม จิตที่ไม่เป็นสมาธิเพราะมันส่งออก มันรับรู้อารมณ์ มันไปตามธรรมชาติของมัน แล้วพอสติ คำบริกรรมพุทโธนี่ มันล้อมเข้ามาๆ จนถึงมันตัวมันเอง มันนึกพุทโธไม่ได้หรอก นี่ตัวจิต

นี่ที่ว่าจิตส่งออกๆ มันส่งออกไปนี่ พุทโธๆ เราก็นึก มันไม่ส่งออกเราก็บังคับนึกพุทโธขึ้นมา เพื่อจะให้พลังงานนี้ไม่ไหลไปทางอื่น นี่เวลาพุทโธถี่ๆ ใช่ไหม ฉะนั้นถ้าพุทโธถี่ๆ เราใช้ร่วมกันได้ หมายถึงว่าเราบังคับความคิด เพราะเราไม่ทำพร้อมกัน พุทโธๆ ไปเลย

“การควบคุมความคิดนี้ไม่ให้ปรุง” เราควบคุมนี้มันจะไม่เป็นความจริง เพราะเราไปควบคุม แต่เราใช้ปัญญาตามมันไปนะ ปัญญานี้เราตามความคิดไป ปัญญานี้ไม่ใช่ตามความคิด จับความคิด ธรรมดานี่เราคิดนี้เราไม่รู้ตัวว่าเราคิดหรอก คิดจบแล้วถึงรู้ว่าคิด โกรธ โมโห โกรธา ค่อยโมโห โกรธา ทีหลัง แต่ถ้าเราตั้งสติ สตินะ แล้วคอยดูความคิด

เห็นไหม ที่บอกว่าสามเณรสอน โปฐิละ นี่กายของเรานี้เหมือนกับจอมปลวก มีรูอยู่ ๖ รู เราก็หลับตานี่ ตั้งใจจับ ดูความคิด ถ้าเห็นความคิดนะ มันคิดอะไรตามมันไป ตามมันไป ตามความคิดไป ถ้าตามความคิดไปนี้ ความคิดมันเกิดดับ ถ้าความคิดเกิดดับ เห็นความคิดมันดับ ความคิดดับมันเหลืออะไร ความคิดดับนี้มันเหลืออะไร ถ้ามันไม่ดับ มันคิดฟุ้งซ่านไปเรื่อย คิดฟุ้งซ่านไปเรื่อย สติตามความคิดนี้ไป ใครเป็นคนคิด คิดมาทำไม คิดมาเพื่อทำร้ายตัวเอง คิดมาให้เจ็บแสบปวดร้อน คิดทีไรก็ร้องไห้ทุกที คิดแล้วก็ทุกข์ๆ ยากๆ ไอ้ความคิดมันมาจากไหน

เห็นไหม ปัญญาอบรมสมาธินี้คือมันเอาความคิดนี้มาแยกแยะ ว่าความคิดนี้มันมาอย่างไร มาเพื่ออะไร ถ้าปัญญามันทันนะ มันปล่อย เห็นไหม ใครเป็นคนปล่อย ใครเป็นคนปล่อยความคิด ตัวจิตมันปล่อยความคิด ตัวจิตนี้มันปล่อยขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ คือความคิด ถ้ามันปล่อยความคิด คำว่าปล่อยความคิด มันต้องมีคนปล่อยใช่ไหม คนปล่อยใครเป็นคนปล่อย นี่ไง! ที่ว่าคำว่าไม่ตัดรากนะ ที่เขาทำกันอยู่เขาตัดรากกันตรงนี้ เขาตัดราก เขาตัดรากเหง้า เขาถอนรากเหง้าของจิต เขาไม่มีตัวจิตออกวิปัสสนา เขาไม่มีจิตสงบ เขาไม่หาจิต เขาไม่รู้จักจิต เขาหลงจากจิต!

แต่เพราะกรรมฐานเห็นไหม กรรมฐานครูบาอาจารย์นะ ท่านทำของท่านถูกเห็นไหม ถ้าพุทโธๆๆ พุทโธๆ ที่สุดแล้วมันสงบเข้ามา มันก็คือจิตสงบ เพราะพลังงานมันส่งออกไปใช่ไหม แล้วคำบริกรรมนี้มันมีคำบริกรรม มันทวนกระแสกลับมา พุทโธๆๆๆๆๆ นี่ เข้ามาถึงตัวจิตนะ อั้นตู้เลยนะ เอ๊อะๆๆๆ คือตัวจิตมาถึงตัวของมันเลย นี่คือ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ

หรือว่าใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็เหมือนกัน มันก็ปล่อย คนก็ปล่อย คือจิตปล่อย จิตปล่อยขันธ์ ความคิดขันธ์ ๕ ไม่ใช่จิต ไม่ใช่จิต สัญญาอารมณ์ไม่ใช่จิต สัญญาอารมณ์มันเป็นสัญญาอารมณ์ สัญญาอารมณ์มันเป็นธรรมชาติของมัน จิตส่งออกคือพลังงานส่งออก ไม่ใช่สัญญาอารมณ์ส่งออก จิตส่งออก! จิตส่งออก! ไม่ใช่สัญญาอารมณ์ส่งออก เพราะจิตส่งออกถึงมีสัญญาอารมณ์ “จิตไม่ส่งออก จิตนิ่งอยู่ สัญญาอารมณ์ช็อตเลย” ไม่มีๆ

“นี่เขาว่าการบังคับควบคุม ทำอย่างใดก่อนหรือหลัง” เราจะบอกว่า ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเราพุทโธๆ ๆ นี่ พอเราพุทโธแล้วนี่จิตมันสงบ จิตมันมีกำลังของมัน แล้วจะมีความคิดของมันเห็นไหม มีความคิดนี่นะ มีความคิดของมันนี้ สิ่งที่เป็นจุดบอดของกรรมฐานนี้ บอกว่าต้องให้พุทโธๆ จนจิตสงบก่อน พอจิตสงบแล้วค่อยออกวิปัสสนา แต่นี่คนทำนี้มันทำแล้วนี่มันทำได้กระบวนการของมันทำไม่ต่อเนื่อง พอไม่ต่อเนื่องนี้พวกเราก็ทำงานแล้วมันไม่ได้ผลมันไม่เห็นผลก็น้อยเนื้อต่ำใจ เขาเสนอทางที่ว่า ทำอย่างนี้มันชักช้า ใช้ปัญญาไปเลย ใช้ปัญญาวิปัสสนาสายตรงๆ

คำว่าวิปัสสนาสายตรงนี้ ใครเป็นคนบอก ใครเป็นคนบอก มีวิปัสสนาจริงๆ เหรอ ก็มึงพูดกันเอง แต่ข้อเท็จจริงมันไม่ใช่ ก็มึงใช้ปัญญา ก็ความคิดของมึง ปัญญาอะไร มันก็โลกียปัญญาไง ไหนว่าปัญญาพิจารณาสายตรง สายตรงอะไรของเอ็ง ไม่ได้พิจารณาอะไรเลย ไปตรึกในธรรมะพระพุทธเจ้าต่างหาก เอาธรรมะพระพุทธเจ้ามาตรึกกันไง พระพุทธเจ้าพูดไว้ข้อนั้น ข้อนั้น เอามาตรึกกันไง แล้วมึงตรึกในธรรมะพระพุทธเจ้า มึงฆ่ากิเลสเหรอ กิเลสอยู่ที่ธรรมะพระพุทธเจ้าเหรอ กิเลสอยู่ที่จิตมึงนะมึง จิตมึงก็ไม่เห็น แต่มึงเอาจิตนี้ไปตรึกในธรรมะพระพุทธเจ้า แล้วบอกนี่ปัญญาสายตรง

จุดบอดของพุทโธนี้ เขาบอกพุทโธๆๆ แล้วนี่ พุทโธแล้วกว่าจะสงบ แล้วมันอีกกี่ชาติละ เราถึงจะได้วิปัสสนา นี่ไง เพราะทำความสงบกันอยู่นี่แหละ พุทโธกันอยู่นี่แหละ นี่มันก็เลยปฏิบัติกันไม่ได้ นี่ปฏิบัติหลงทางกัน ชาวพุทธหลงทาง หลงกันมากี่ร้อยกี่พันชาติ นี่ถ้ามันใช้ปัญญาสายตรงมันจะไปได้เร็ว นี่มันก็มีจุดบอดตรงนี้ ตรงที่ว่าถ้าพุทโธไปอย่างนี้

ถาม : นี่คำถามนี้มันตรงตัว ถ้าพุทโธถี่ๆ ถ้าบริกรรมพุทโธถี่ พร้อมสติกำกับ พร้อมสติกับบังคับควบคุมดูจิต นี่พร้อมกันเห็นไหมกับดูจิต ถ้ามันพุทโธๆ จนจิตมันสงบ คำว่าสงบนี้แค่มันสบายใจมันอิ่มใจนี้ ถ้าเราพุทโธไปไม่ได้ เราใช้ปัญญานี่ ถ้าปัญญาที่เราใช้อยู่นี่ เราใช้จับความคิดนี้

ตอบ : ความคิดนี้มันเกิดจากจิตนะ ทุกอย่างเกิดจากจิต แล้วเราพิจารณาแล้วนี้มันจะย้อนกลับไปสู่จิต เพราะตัวจิตเป็นผู้รับข้อมูล ตัวจิตเป็นผู้รับรู้เห็นไหม คือว่ามันใช้ปัญญาได้ พอจิตสงบพอสมควรนี่ ออกใช้ปัญญาออกฝึกออกฝน นี่คือการใช้ปัญญา ปัญญาอย่างนี้มันก็สงบเข้ามา ให้มันต่อเนื่องกันไป ให้มันต่อเนื่องกันไป ทำกันไป แต่นี้บอกว่า “เมื่อไหร่จิตมันสงบล่ะ พุทโธๆ นี่ แล้วเมื่อไหร่มันจะได้ออกวิปัสสนาล่ะ” อย่างนี้ไม่ใช่วิปัสสนาหรอก มันเป็นสมถกรรมฐานทั้งหมด ปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา แต่เราใช้คนละจังหวะ ไม่ใช่ไปพร้อมกัน ทำพร้อมกันไม่ได้

แม้แต่อัปปนาสมาธิ อานาปานสติคือการกำหนดลมหายใจเข้าออก กับกำหนดพุทโธนี้ มันยังทำพร้อมกันเลย ลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธนี้ ลมหายใจนี้กำหนดอานาปานสติ กำหนดลมหายใจ พุทโธๆ นี้พุทธานุสติ แต่เพราะเวลาปฏิบัติใหม่เห็นไหม เราให้ลมกับพุทโธนี้พร้อมกัน เพราะว่ามันเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ง่าย ขณะที่พุทโธพร้อมลมหายใจออก พอไปนานๆ เข้านี้ลมหายใจจะหน่วง หน่วงแล้วจะทำให้ตกภวังค์ พอถึงที่สุดแล้วต้องทิ้งอันใดอันหนึ่งเห็นไหม ถ้ากำหนดลมก็กำหนดลมชัดๆ ถ้ากำหนดพุทโธก็ท่องไปเลย แยกออก

ทีนี้ย้อนกลับมาที่ว่า บริกรรมพุทโธกับบังคับควบคุมจิต เห็นไหม มันก็แยกกัน ทำงานคนละวาระ แต่ทำงานเกื้อกูลกันได้ ขณะทำสิ่งใด ทำสิ่งหนึ่งชัดๆ แล้วคนที่เขาบอกว่า แล้วเมื่อไหร่เอ็งจะได้วิปัสสนาล่ะ แล้วเมื่อไหร่เอ็งจะได้ภาวนาล่ะ

นี่ภาวนาแล้ว นี่ภาวนาแล้ว นี่ภาวนาโดยข้อเท็จจริงเลย ทำโดยข้อเท็จจริง นี่พูดถึง อันนี้พอทำไป นี่แค่พื้นฐาน คนที่ปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัตินะ ท่านต้องมีพื้นฐานมาก่อน นี่ทำการพื้นฐาน พอพื้นฐานมันดีขึ้นมานะ เราจะพัฒนาของเราไป สิ่งที่เราทำนี้เราต้อง ทำได้ตามข้อเท็จจริง ที่เราได้เนื้อหาสาระ แต่ที่ทำกันอย่างนั้น มันเป็นการสร้างภาพ เป็นการสร้างความคิด แล้วบอกชาวพุทธๆ นี่ เขาบอกพุทโธๆ นี่นะ อีกกี่ชาติ แล้วหลงทำพุทโธๆ กันมาเท่าไรแล้ว แล้วพระกรรมฐานที่ทำมานี้ มันมีมรรคมีผลไหม

ดูครูบาอาจารย์เราสิ เราเชื่อมั่นในครูบาอาจารย์เรานะ แล้วครูบาอาจารย์ของเราในประเทศไทย ที่เขาปฏิบัติกันมา เขามีครูบาอาจารย์ที่น่าไว้ใจ เชื่อใจได้อย่างครูบาอาจารย์เราสักองค์หนึ่งไหม เขาไม่มีเลย! ไอ้ที่ว่าพุทโธๆ นี่ แล้วอีกกี่ชาติ หลงมากี่ชาติ แล้วปฏิบัติแล้วจะไม่ได้ผลนะ ถ้าไม่ได้ผล เอ็งต้องมาอ้างอิง มาเกาะกรรมฐานทำไม มาเกาะทำไม เอ็งก็สร้างพวกเอ็งขึ้นมาสิ เอ็งมาเกาะกรรมฐานทำไม ก็ผมพุทโธหลงมานานแล้วไง พุทโธผิดพลาดมาเยอะแล้ว ไปวิปัสสนาสายตรงมันจะมีประโยชน์กว่า แล้วประโยชน์กว่าตรงไหนนะ ประโยชน์กว่ายังไง

อันนี้พูดถึงบริกรรมพุทโธนะ พร้อมกับการกำกับควบคุมความคิด การควบคุมความคิดนี้มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ บริกรรมพุทโธนี้มันเป็นสมาธิอบรมปัญญา เกิดสมาธิแล้วนะ ปัญญาที่เกิดขึ้น ปัญญาที่เกิดขึ้นจากสมาธิ ปัญญาที่เกิดจากจิตเป็นฐาน เปรียบเทียบความคิดเรานี้ ถ้าความคิดปกติเราก็ความคิดพื้นฐาน แต่บางวันความคิดเราลึกซึ้ง ความคิดเราสะเทือนใจมาก นั่นนะ เพราะจิตมันมั่นคง ถ้าสมาธิมันดีๆ ขึ้นมานะ ความคิดจะลึกกว่านี้ ความคิดมันถอดถอนกิเลสได้มากกว่านี้ มันจะลึกกว่านี้ สิ่งนั้น นั่นนะถึงจะเป็นวิปัสสนา วิปัสสนาคือปัญญาเกิดจากจิต

หลวงตาพูดคำนี้ คนอื่นฟังไม่ออกนะ หลวงตาบอกว่า ภาวนามยปัญญา คือเป็นปัญญาที่เกิดจากจิตล้วนๆ ไม่ได้เกิดจากการศึกษา ไม่ได้เกิดจากการจำ ไม่ได้เกิดจากการกระทำต่างๆ มันเกิดจากจิตล้วนๆ ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากจิตล้วนๆ ปัญญาเกิดจากจิตล้วนๆ ก็ไปแก้ไขจิตตรงๆ ไง ภาวนามยปัญญา แล้วคนไม่เป็นพูดไม่ถูก คนเป็นเท่านั้นพูดออก

หลวงตายังพูดเลย พูดบ่อยมาก ว่าถ้าจิตรวมนะ ใครไม่เคยรวมจะไม่รู้จักหรอก จิตรวมเป็นยังไง จิตรวมเป็นยังไง จิตที่ สมาธิที่รวมลงมันเป็นยังไง ใครไม่เคยเป็น หลวงตาพูดบ่อย พูดถึงว่าเวลาเสือมาคาบคอนี้ จิตรวมวูบนี่ หายไปทีหนึ่งถึง ๔-๕ ชั่วโมงนี่เป็นยังไง คนไม่เป็นไม่รู้ จิตรวมใหญ่นี้เป็นยังไง แค่รวมเฉยๆ นะ ยังไม่ได้ใช้ปัญญาเลย แล้วนี่บอกว่าวิปัสสนาสายตรง สายตรงก็จิตสามัญสำนึก แล้วมรรคผลไม่มี มันตัดราก ตัดรากเหง้าของมรรคผล ตัดรากเหง้าของมรรคผล! เข้าถึงมรรคผลไม่ได้! ถ้าใครเข้าได้ จะท้าเลยล่ะ ท้าคุยกันได้

ถาม : มีคนตายมาเข้าฝัน บอกไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด ให้ช่วยทำบุญพระพุทธรูปให้ด้วย จะทำให้เขาไปเกิดได้จริงไหมคะ

ตอบ : ถ้ามีคนตายมาเข้าฝันนะ อย่างนี้มันแบบว่านี่ การเข้าฝันนี้ การเข้าฝันการต่างๆ นี้มันเป็นสายบุญสายกรรม ถ้ามาเข้าฝันนะ อย่างพวกเรานี้มีพรรคมีพวกใช่ไหม เพราะเรามีพรรคพวก มีต่างๆ นี่ เวลาใครตกทุกข์ได้ยากเราก็ช่วยเหลือเขา อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเขามาเข้าฝัน ถ้าเราคิดว่าเราจะทำประโยชน์เราก็ทำเพื่อเขา อุทิศส่วนกุศล ทำบุญอุทิศให้เขาไป

ถาม : แล้วเขาจะไปเกิดจริงๆ ได้ไหมคะ

ตอบ : คำว่าจะเกิดหรือไม่เกิดนี้ เราให้นะ เวลาเราทำบุญกุศลกันนี้ เราอุทิศส่วนกุศลนี้ อุทิศส่วนกุศล เจ้ากรรมนายเวร อุทิศต่างๆ นี้เขาได้บุญอันนี้ไป เขาได้บุญอันนี้ไปนะ แล้วถ้าพูดถึงถ้าเขาไม่ใช่สายบุญสายกรรมเขาจะไม่มาเข้าฝันเรา อย่างเช่นเรานี้ เรานั่งอยู่นี้ ถ้ามีญาติพี่น้องที่มีปัญหา มีแบบว่าเขาเสียชีวิตไป แล้วเขาต้องการสิ่งใด ถ้าเขามาหาเราเห็นไหม เราจะอุทิศส่วนกุศลให้เขาได้ ถ้าคนอื่นอุทิศเขาก็ได้เหมือนกัน ได้แต่อนุโมทนา ได้ส่วนน้อย มันมีเห็นไหม

นี่หลวงตาท่านเล่าอยู่ หลวงปู่มั่นนี่ท่านปฏิบัติไป ท่านไปอยู่ในหมู่บ้าน หมู่บ้านหนึ่ง แล้วจิตวิญญาณมาเข้าในนิมิตของท่านนะ ให้ไปบอกญาติพี่น้องทำบุญให้ที แต่นี้พอบอกแล้วก็ทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้เขา ทีนี้หลวงปู่มั่นพอออกจากสมาธิก็มาถามชาวบ้านว่า “บ้านนั้นๆ มีอยู่ไหม” นี่ถ้ากาลเวลาถ้าเขาตายไปยังปัจจุบันอยู่ บ้านนั้นๆ ก็มีอยู่ สมมุติว่าเขาตายไปแล้ว เห็นไหม กาลเวลาของจิตวิญญาณกับกาลเวลาของเรานี้มันต่างกัน บางทีก็บอกว่าให้ไปบอกบ้านนั้นๆ ทีสิ ว่าให้มาทำบุญให้ทีสิ โยมชื่อนั้นๆ พอหลวงปู่มั่นไปหาไม่เจอนะ ไปถามชาวบ้านว่าบ้านนั้นไปไหน มันเป็นเรื่องดึกดำบรรพ์นะ กาลเวลามันคนละกาลเวลา คือว่าเขาจะหาญาติของเขา ญาติของเขาตายไปหมดแล้ว แล้วญาติเขาไปเกิดที่ไหนแล้วก็ไม่รู้ แต่เขายังผูกพันกับญาติของเขาอยู่ แล้วบางทีนี่พอมีสิ่งนี้มา นี่ในประวัติหลวงปู่มั่นก็มีนะ

นี่พอหลวงปู่มั่นไปเห็นสิ่งนี้ปั๊บนี่ เวลาจิตวิญญาณนี่จะมาขอร้อง ขอให้ช่วยเหลือเยอะมาก ถ้าตัวเองช่วยเหลือได้ก็ช่วยเหลือไปเลย แล้วทำไม นี่จะย้อนกลับมา ทำไมเขามาเข้าฝันเราล่ะ ถ้าช่วยเหลือเลยก็ช่วยเหลือให้ไป ก็ช่วยเหลือได้แล้วนะ ทำไมต้องมาเกี่ยวกับญาติพี่น้องอีกล่ะ ทำไมต้องให้ญาติพี่น้องมาอุทิศให้ ที่ให้ญาติพี่น้องอุทิศให้ นี่มันสายบุญสายกรรมไง มันสายบุญสายกรรมเห็นไหม นี่ต้องญาติอุทิศให้ ก็ต้องเอาญาติคนนั้น แล้วญาติคนนั้นก็ตายไปแล้วนะ

อ้าว ! ก็กาลเวลานะ กาลเวลาของจิตวิญญาณเห็นไหม ๑๐๐ ปีของเรา เท่ากับในสวรรค์วันเดียว วันเดียว ๑๐๐ ปีนี้เท่ากับวันเดียว แล้วถ้าเขาตายไปสักปีหนึ่งนะ เทียบเวลามนุษย์เท่าไร อ้าวแล้วจะบอกที่ไหนนะ อ้าวเขาตายไปแล้ว

๒. บางทีนี่ พอรับรู้สิ่งนั้นปั๊บนี่ ก็ถาม หลวงปู่มั่นนะท่านประสบการณ์ท่านเยอะมาก เวลาจะพูดเรื่องนี้กับชาวบ้านหรือพูดกับใครนี้ ต้องดูก่อน ว่าพูดแล้วจะได้ประโยชน์หรือไม่ได้ประโยชน์ไง ถึงบอกว่า มีจิตวิญญาณมาเข้านิมิต แล้วบอกให้ญาติช่วยทำบุญส่งให้ด้วยสิ ต้องทำส่งให้หน่อยหนึ่ง หลวงปู่มั่นก็ไปถามว่า บ้านนั้นมีไหม ถามชาวบ้านที่มาทำบุญ บ้านนั้นมีไหม แล้วบ้านนั้นมีนิสัยยังไง เขาเชื่อในเรื่องบุญกุศลไหม ถ้าเขาไม่เชื่อเรื่องบุญกุศลไปบอกเขา เขาจะฟังเราไหม

โอ..เรื่องความคิดของคนนะ เรื่องทิฐิมานะนะ มันหลากหลายมาก เวลาต้องอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้เขา ถ้าอุทิศบุญกุศลให้เขา เขาก็ได้ประโยชน์ของเขา

นี่พูดถึงว่าหลวงปู่มั่นท่านปรารถนาพุทธภูมิมา บารมีธรรมของท่านกว้างขวางมาก ท่านสร้างประโยชน์ได้มหาศาล แล้วท่านรู้จริงของท่าน ท่านไม่หวั่นไหว ท่านไม่ตื่นเต้นไปกับความรู้จริงของท่าน ท่านไม่หวั่นไหว ท่านไม่ตื่นเต้นไปกับความรู้จริงด้วย รู้แล้วต้องอวดคนนู้น รู้แล้วต้องเป็นอย่างนั้น ท่านรู้แล้วนะ ยังคิดว่าจะทำประโยชน์ยังไง ทำแล้วมันจะได้สมประโยชน์ไหม กับจิตวิญญาณที่เขาขอพึ่ง กับญาติพี่น้องที่เขาจะอุทิศให้ พูดแล้วนี่ญาติพี่น้องจะเชื่อไหม จะเป็นไปได้ไหม

ต้องคิด ต้องพิจารณา เพราะท่านเคยใช้ไปแล้วมันเกิดโทษไง รู้มามันคนละมิติ คนละภพ แล้วจะมาคุยกันยังไง แต่ไอ้คนรู้นี่ รู้แล้วตัวเองมันต้องเข้าใจ นี่ไงปัญญาของผู้ที่ปฏิบัติ เขาจะเข้าใจเรื่องอย่างนี้ ว่าสมควรไม่สมควร แล้วมันมีความเชื่อถือมากน้อยได้แค่ไหน

ฉะนั้น เวลาเราฝันของเราเอง ชักแม่น้ำทั้งห้านะ กว่าจะมาเข้าได้ (หัวเราะ) ถ้าเราฝันของเราเองเห็นไหม เราก็ทำซะก็จบไง ง่ายนิดเดียวเลย แต่ที่ว่าทำแล้วจะขึ้นสวรรค์ได้จริงหรือเปล่าคะ? คนเรานะ มันเป็นเวรกรรม เจ้ากรรมนายเวรมันผูกโกรธผูกแค้นกันมา ถ้าทำแล้วมันชื่นใจ สุขใจนะ ไปได้ทั้งนั้นนะ มันไปของมันได้

หลวงปู่มั่นธุดงค์ไปทางเชียงใหม่ จิตสงบไปนะ เห็นพี่น้องสองคน พี่ผู้หญิงเป็นชี น้องเป็นเณร เดินวนเจดีย์อยู่นั่น เดินวนแล้ววนอีกนะ หลวงปู่มั่นก็เห็นคืนแรก คืนที่สองก็นิมิตขึ้นอีก พอจิตสงบเข้าไปก็ถาม ทำไมมาเดินวนกันอยู่นี่ล่ะ อ้าว ก็สองคนนี้ร่วมหาเงินหาปัจจัยกันมาสร้างเจดีย์ พอสร้างเจดีย์ไปนี้เกิดป่วยตายซะก่อน เจดีย์ไม่เสร็จมันก็ผูกพันอยู่นี่ นี่เดินอยู่นั่น เดินด้วยความผูกพันนะ

หลวงปู่มั่นก็เทศน์ให้ฟัง ต้องเทศน์นะ ต้องแก้ไขความผูกพันของใจ นี่หลวงปู่มั่นบอกว่า อ้าว ก็สร้างเจดีย์แล้วก็สร้างแล้ว บุญก็ได้แล้วนะ เจดีย์มันก็เป็นอิฐ เป็นหิน เป็นทราย เป็นปูนนะ ในเมื่อเราพยามสร้าง เราก็อยากสร้างให้มันเสร็จนี่แหละ แต่มันสร้างไม่เสร็จ แล้วมันเกิดมีกรรมตายไปก่อน สิ่งที่เป็นบุญไปแล้ว บุญมันก็ได้แล้วไง ไอ้อิฐหินทรายปูนไปติดมันทำไมนะ สิ่งที่เป็นกุศลก็ได้ทำกุศลแล้ว แต่เพราะกุศลเรามีเท่านี้ เราสร้างแล้วมันไม่จบ มันสร้างจบไม่ได้ แล้วเกิดป่วยไข้ตายไปก่อน แล้วไปผูกพันทำไม ในเมื่อเราสร้างเจดีย์เป็นความดีใช่ไหม เราสร้างเพื่อความดี แล้วทำไมเรามาติดพันกับสิ่งนี้ล่ะ

เทศน์จนเข้าใจนะ พอเข้าใจก็สละ กราบหลวงปู่มั่นด้วยความชุ่มชื่นหัวใจ ทิ้งเลยว่า ไม่กังวลละ ทิ้งเลย ทำแล้วก็แล้วกันจบ พอทิ้งปั๊บ หลวงปู่มั่นก็นั่งสมาธิ เพราะพระเราปฏิบัติทุกวัน พอนั่งสมาธิวันรุ่งขึ้นนะ วันต่อไปนั่งนะ แม่ชีนี้กับสามเณรน้อยสองคนไปเกิดเป็นเทวดา เปลี่ยนจากความยึดมั่น ติดในบุญนั้น ยึดในบุญนั้น พอปล่อยบุญนั้นปั๊บก็ไปเกิดเลยเห็นไหม

นี่แค่บอกให้ปล่อยใจเฉยๆ ไง แล้วนี่เขามาขอ เขามาเข้าฝันนี้เขาจะได้ไปสวรรค์ไหมล่ะ? เออ... นี่มันอยู่กับเรานะเราทำของเรา เพราะว่าสิ่งนี้เราทำบุญกุศลของเราอยู่แล้ว สิ่งนี้ทำของเรา เราควรทำนะ

ถาม : เมื่อนั่งสมาธิ พุทโธจิตแน่น เห็นความคิดหยุด ก็พุทโธต่อเรื่อยๆ มีแต่ความว่าง ทำอย่างไรถึงจะเป็นสมาธิคะ

ตอบ : นี่เพราะมันไม่เป็นสมาธิ คำถามรู้เลยว่าไม่เป็นสมาธิ จึงถามว่า “แล้วทำอย่างไรถึงเป็นสมาธิคะ?” แสดงว่ามันไม่เป็นไง มันไม่เป็นเพราะอะไรล่ะ มันไม่เป็นเพราะความเข้าใจผิด

ถาม : เมื่อนั่งสมาธิ พุทโธติดแน่น เห็นแต่ความว่าง เห็นความหยุดคิด ก็พุทโธต่อเนื่องมีแต่ความว่าง ทำอย่างไรถึงจะเป็นสมาธิคะ

ตอบ : ก็พุทโธต่อเนื่อง พุทโธต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ก็พุทโธไปเรื่อยๆ สิ ในเมื่อมีความว่าง ความว่างมันเป็นความว่าง อย่างเรานี้มีความเหน็ดเหนื่อยมาก มีร่างกายล้ามาก พอเรามาหยุดพักร่างกาย ร่างกายเราก็แข็งแรงขึ้นมา เราก็มีความสุขเป็นธรรมดา

พุทโธๆๆๆ นี้ จิตมันเคยคิดไปตามกำลังของตัณหาความทะยานอยาก ก็คิดของมันไปเรื่อยนะ พอมันคิดพุทโธๆ นี้ พอคิดพุทโธไปถึงพุทธานุสติ คิดจนมีสติปัญญาขึ้นมา จิตมันไม่ได้ออกไปตามแรงเหวี่ยงของมันเห็นไหม มันคิดเฉพาะในวงของพุทโธนะ มันก็มีกำลังเหลือใช้ พอมีกำลังเหลือใช้นะมันก็เริ่มว่าง เริ่มอิ่มเอม เริ่มปีติ เริ่มเกิดตัวของมันขึ้นมาเห็นไหม แต่มันยังไม่ถึงจุดของมันเห็นไหม ก็พุทโธไปเรื่อยๆ สิ ในเมื่อมันเป็นความว่างนะ มันเป็นความว่าง มันมีแต่ความว่าง “แล้วทำยังไงให้มันเป็นสมาธิ”

ทำยังไงให้มันเป็นสมาธิ เพราะเรายังสงสัยใช่ไหม ปัจจัตตัง สันทิฐิโก จิตทุกดวงจะรู้ตามความเป็นจริง ถ้าจิตมันเข้าเป็นสมาธิ มันก็เข้าเป็นสมาธิต่อหน้าเรา เออะ! อ๋อ สมาธิเป็นอย่างนี้เอง อ๋อ นี่หรือสมาธิ อ้อ ไอ้นี่บอกว่า แล้วเป็นอย่างไรถึงจะเป็นสมาธิคะ (หัวเราะ) ก็ยังไม่เห็นสมาธิไง พุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ อย่าปล่อย มันว่างขนาดไหนนะ

หลวงตาท่านดูจิตมาเสื่อมมา ๑ ปีกับอีก ๖ เดือนใช่ไหม แล้วกำหนดพุทโธตลอดเวลา พุทโธๆ ๓ วันอกแทบแตกเลย พุทโธๆ จนมันลงไง นี่พอพุทโธๆๆๆ ไป จนพุทโธมันไม่ได้นะ เพราะมันเป็นสมาธิแล้ว เอ๊อะ...เป็นสมาธิแล้ว พุทโธไม่ได้ ไม่ได้ก็อยู่กับความรู้สึก อยู่กับสมาธิสิ พอมันคลายออกมาเห็นไหม หลวงตาท่านใช้คำนี้นะ “เอาพุทโธสวมมันเข้าไปเลย” เพราะความมันเสื่อมมานี้มันเจ็บแค้นนัก ความเสื่อมนี้ ความที่จิตใจเรานี้ไม่มีหลักมีเกณฑ์นะมันเจ็บปวดนัก ฉะนั้นพอมันพุทโธๆ จนพุทโธไม่ได้มันก็เป็นสมาธิ มันก็แนบแน่นของมัน พอมันคลายตัวออกมาด้วยความกลัว ด้วยความกลัวว่ามันจะหลุดมือไปจากเรา เอาพุทโธสวมมันเลย พุทโธใส่เข้าไปเลย พุทโธๆๆๆๆ พอพุทโธจนพุทโธไม่ได้ มันก็หยุด มันก็เต็มอิ่ม มันก็เป็นสมาธิ พอมันคลายออกมา พุทโธยัดเข้าไปเลยนะ

นี่คนมีเชาวน์ปัญญา ไอ้ของเรานี้มันมีแต่ความว่าง ไอ้ความว่างนี้มันนึกพุทโธได้ นึกจนนึกไม่ได้ แล้วส่วนใหญ่แล้วพอพุทโธๆๆๆๆ แล้วก็หลับไปเลย แล้วบอกว่าว่างค่ะ ใครมาก็ว่างค่ะ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะบอกว่า ถ้าไม่นึกพุทโธมันก็หยาบไง พุทโธมันหยาบ นี่จิตมันละเอียด เราคิดไปเองนะ สัญญาอารมณ์ อย่างที่ว่าหลงจิตๆ ที่เราว่าเขานะมันเป็นสัญญาอารมณ์ เราก็อย่าให้มีสัญญาอารมณ์สิ เราก็ต้องให้เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากความเป็นจริงสิ

ถ้ามันยังนึกพุทโธได้นะ ถ้ามันยังนึกได้เห็นไหม เราก็รู้เองใช่ไหม แล้วเราก็อยากได้ผลที่ดีใช่ไหม เราก็พุทโธตั้งสติเข้าไป แล้วพุทโธเข้าไปๆๆ ถ้าพุทโธๆ จนเรา มันจะเป็นไปไม่ได้หรอก ถ้าเราตั้งใจและทำจริงแล้วมันจะไม่ได้ผลนะ เพียงแต่เรา ๑.อ่อนแอ ๒.มักง่าย ๓.ไม่มีสติ ๔.ไม่จริงจังกับความเป็นจริงของเรา แต่อยากได้ แต่ไม่จริง อยากได้แต่ไม่จริง นี่ฟังให้ดี อยากได้แต่ไม่จริง ถ้าจริงต้องได้ ถ้าจริงต้องได้ พุทโธไปเรื่อยๆ นะ พุทโธไปเรื่อยๆ ถ้ามันจะว่างขนาดไหนก็พุทโธ ถ้ายังนึกพุทโธได้

เราทำมาแล้ว เราอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะนะ หลวงปู่เจี๊ยะสอนเลย

“ไอ้หงบ มึงนึกพุทโธไปเรื่อยๆ นะ แล้วห้ามเป็นสมาธิ ถ้ามันเป็นสมาธินะ สมาธิจะเข้าไปจิ่มหน่อยเดียวแล้วมันจะออก ห้ามเป็นสมาธิ ห้ามเป็นสมาธิ”

เราก็ตั้งเลยนะ “กูไม่เอาสมาธิ กูจะเอาแต่พุทโธ”

พุทโธๆๆๆ พุทโธอยู่อย่างนั้นนะ เป็นเดือน เป็นอาทิตย์ พุทโธๆ ทุกวัน พุทโธตลอดเวลา นึกได้ก็พุทโธตลอดเวลาๆ พอพุทโธๆ ไปนะ ปากก็นึกพุทโธไปนะ จิตมันลงนะ โอ้โห กูตะโกนพุทโธๆ จิตมันยังเป็นสมาธิเลยนะ จิตมันลงนะ มันควงสว่านลง โดดหอลง วื้ดๆๆๆ กึ๊ก! ไปนิ่งอยู่ที ๓-๔ ชั่วโมง พอถอนออกมา เออ หลวงปู่พูดถูกว่ะ หลวงปู่พูดสอนของจริงว่ะ ไอ้เรามันโง่เองว่ะ ทำไปเถอะ ทำจริงๆ

เราอยู่กับครูบาอาจารย์องค์ไหนนะ ท่านสอนอะไรเราลองหมด เราลอง ลองว่าคำสอนนี้มันจริงไหม คำสอนอย่างนี้ถูกต้องไหม นี่ขนาดพุทโธเฉยๆ เป็นสมาธิเฉยๆ นะ แล้วพอเป็นสมาธิแล้วท่านบอกว่า ให้ดูกาย ตามข้อกระดูกหมุนอยู่ในนี้ ถ้าจิตมันหมุนอยู่ได้แสดงว่าสมาธิมึงมีหลัก ถ้ามันหมุนอยู่ในกายไม่ได้ มันแวบออกนะแสดงว่าสมาธิมึงอ่อน ต้องกลับมาพุทโธอีก นี่หลวงปู่เจี๊ยะ หลวงตาท่านก็สอนให้ใช้ปัญญา

ครูบาอาจารย์นะ ท่านของจริงนะพูดกี่ร้อยองค์พูดแล้วนะ ผลสรุปเหมือนกันหมดเลย ไม่มีองค์ไหนผิดนะ ไม่มีองค์ไหนผิดเลย องค์ที่ผิดก็คือองค์ที่ไม่รู้นะ องค์ไหนสอนแล้วมันแตกต่าง เออ อันนี้ต้องเอาปูนป้ายหัวไว้ก่อน กูไม่เชื่อมึง เพราะว่าครูบาอาจารย์กูเยอะแยะเลย สอนมาไม่เคยผิดกันเลย เอ็งมาสอนยังไงวะ ทำไมมันออกนอกทางวะ

เพียงแต่ว่าพอสอนมันบ่อยครั้งๆ นี่พวกเรานะ ใกล้เกลือกินด่าง ได้ยินทุกวัน ครูบาอาจารย์ไหนก็สอน หลวงปู่มั่นก็สอน หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่ขาว หลวงปู่แหวน ครูบาอาจารย์สอนหมดเลย พุทโธๆๆๆๆ พุทโธไป พุทโธมา จนจะไม่พุทโธกันแล้วไง เพราะมันใกล้เกลือกินด่างไง เห็นเป็นของใกล้ชิด คุ้นเคยกับมันจนไม่มีค่าไง พอใครมาเสริมแนวทางใหม่ๆ นะ โอ้โฮ พุ่งไปเลยนะ เข้าก๊อเลยนะ เข้าก๊อเลย เสร็จเรียบร้อย

ถาม : ค้าขายอย่างไรจึงจะเรียกว่า ค้ากำไรเกินควร ถ้าเราเอากำไร ๖๐-๗๐ เปอร์เซ็นต์ อย่างนี้เรียกว่าเกินควรหรือเปล่าครับ

ตอบ : การค้าอะไรเกินควรหรือไม่เกินควร การค้ากำไรเกินควร การค้าของเรานะ ถ้าการค้าของเรา ในเมื่อสินค้าของเรามีคุณภาพขนาดไหน นี่มันเป็นเรื่องของราคา การค้ากำไรเกินควร มันเป็นคำโวหารของพระ พระเขาเอามาใช้กันว่า เราทำบุญนะ ทำบุญแล้วหวังผลนะเป็นการค้ากำไรเกินควร

เราไม่เห็นด้วยนะ ดูสิ เรามาโต้แย้งตรงนี้ประจำ ว่ามีคนทุคตะเข็ญใจเคยตักบาตรทัพพีเดียว แล้วอยากบวชมาก ไม่มีใครบวชให้เพราะคนจน จนอยากบวชนะ พระพุทธเจ้าเล็งอนาคตังสญาณแล้วว่าพระองค์นี้มีโอกาสไง ทุคตะเข็ญใจนี้มีโอกาส ก็เลยประชุมสงฆ์ว่า

“นี่ทุคตะเข็ญใจอยากบวชมาก ทุคตะเคยมีคุณกับใครบ้าง”

พระสารีบุตรยกมือเลย “เคยมีคุณกับข้าพเจ้าครับ”

“มีคุณอะไร”

“เคยตักบาตรผมทัพพีหนึ่งครับ”

“อย่างนั้นเธอเอาบวช”

พอบวชเสร็จแล้วนะ สอนจนเป็นพระอรหันต์เลย ค้ากำไรเกินควรไหม ข้าวหนึ่งทัพพี กับสถานะของพระอรหันต์ เกินควรไหม มีอะไรเกินควรบ้าง

เพราะอรหันต์เกิดที่จิต มรรคผลนิพพานมันเกิดที่จิต จิตนั้นมีคุณค่ามาก ทำสิ่งใดก็ได้ แล้วบอกว่าทำบุญหน่อยนะ ก็ค้ากำไรเกินควร ปรารถนานิพพาน เอ็งทำบุญมากกว่าข้าวทัพพีหนึ่งไหม ถ้ามากกว่าทัพพีหนึ่งนะไม่ควรแล้ว ขนาดข้าวทัพพีเดียวยังปรารถนาเป็นพระอรหันต์ พระสารีบุตรบวชให้สอนให้จนเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา เกินควรตรงไหน พอดีกันเลย ข้าวทัพพีหนึ่งเป็นพระอรหันต์ได้ แล้วอะไรเกินควร

นี่พูดถึงคำ นี่เวลาพระพูดกันทำบุญแล้วนะปรารถนานิพพาน ทำบุญหวังมรรคหวังผล นี่ค้ากำไรเกินควร ไม่เกินควร! ไม่เกิน! เพราะมันเป็นแรงปรารถนา เป็นแรงความปรารถนาของใจ มีอะไรมันเกินควร แต่ถ้าเป็นการค้าทางโลกนะ อันนี้การค้าทางโลกนะ มันอยู่ที่ว่าสินค้ามีการแข่งขันไหม ถ้าเรามีการแข่งขันมีคู่แข่งนะ ถ้าเอ็งเอา ๖๐-๗๐ เปอร์เซ็นต์นะ เอ็งขายได้วันละชิ้นหรือเปล่า เราอยู่ที่การตลาด ไอ้อย่างนี้เรื่องโลกไง เรื่องโลกเราต้องคิดกันเอง อย่าเอาธรรมะนี้มาแบบว่าต้องเป็นอย่างนั้นๆ เอาเป็นสูตรตายตัวไม่ได้

การกระทำต่างๆ มันมีเปลี่ยนแปลง มีการหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่ไม่มีอยู่นี้ ของเรามีเฉพาะเรานี้ เราจะตั้งราคาอย่างไรก็ได้ แต่ถ้าเราตั้งราคานี้ มีสินค้าที่เหมือนกันมานะ เขาตั้งราคาถูกกว่าเรา เอ็งจะลงไหม เอ็งจะสู้เขาไหม นี่พูดถึงทางโลกนะ ทางโลกเป็นทางโลก อันนี้คำว่าค้ากำไรเกินควรนะ คำนี้เอามาพูดกันบ่อย ถากถางกันบ่อย ในวงชาวพุทธเรา ทำนู้นก็ไม่ได้ ทำนี่ก็ไม่ได้ มันเกินควรๆ ถ้าไม่มีการเกินควรจะไม่มีพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า อะไรเกินควร ไม่มีอะไรเกินควรเลย ทำได้ทั้งนั้น ฉะนั้น สิ่งนี้มันความเหมาะสม ไม่เหมาะสม มันอยู่ที่เรา มันอยู่ที่เรานะ เหมาะสมหรือไม่ อันนี้เราจะค่อยๆ พูดนะ

ถาม : ๑. ในกรณีที่เราจำเป็นต้องพึ่งพาตัวเอง การพูดคุยไม่สามารถช่วยคลายปัญหาจริงๆ ได้ เมื่อเราเกิดความรู้สึกนึกคิดที่มันเบื่อหน่ายโลก เบื่อหน่ายในทุกสิ่งขึ้นมา เราจะจัดการกับสิ่งเหล่านั้นอย่างใด

ตอบ : ใช่ ในกรณีที่เราจำเป็นต้องพึ่งพาตนเอง การพูดคุยไม่สามารถช่วยคลายปัญหาได้จริง ถูกต้อง เราจะต้องพึ่งพาเรา อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ในเมื่อเรามีเวรมีกรรมนี้ เรามาเกิดกับพ่อกับแม่นี้ เราต้องอาศัยพ่อแม่ พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก เป็นพระอรหันต์ของลูกเพราะท่านให้ชีวิตเรา ท่านให้เรากำเนิดมา อยู่ในท้องนี้เรากินเลือดของท่าน น้ำเหลืองกินจากหัวอกนะ เรากินเลือดจากพ่อจากแม่มา นี่ดีเอ็นเอมาตรวจแล้วเป็นของพ่อของแม่หมดเลย แต่จริตนิสัยนี้มันเป็นของของเรา

นี่ อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แต่ตนเกิดมาจากกรรม แต่ในเมื่อสายบุญสายกรรม เรามีพ่อมีแม่เรามีสังคม เห็นไหมเราต้องอยู่กับสังคม ในเมื่อเราต้องอยู่ในสังคม เราต้องพึ่งพาตนเองโดยเด็ดขาด เด็ดขาด ธรรมะละเอียดมาก อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ไม่มีใครเป็นที่พึ่งให้เราได้ การเกิดและการตายไม่มีใครจะช่วยเหลือเจือจานกันได้ การเจ็บไข้ได้ป่วย ความทุกข์ความร้อนในหัวใจจะไม่มีใครเจือจานกันได้ ได้แต่การปลอบประโลมจากภายนอก ฉะนั้นการที่จะพึ่งพาตนเอง ต้องพึ่งพาตนเองแน่นอน

ถาม : นี้การพูดคุยไม่สามารถคลายปัญหาจริงๆ ได้

ตอบ : การพูดคุยเห็นไหม นี่ในปัจจุบันนี้เรากำลังคุยให้โยมฟังเห็นไหม คลายปัญหาได้ไหม นี่กำลังคุยให้ฟังอยู่ นี่เทศน์ให้ฟังอยู่นี้ การพูดคุยนี้ถ้าเรามีปัญญาของเรา สิ่งที่พูดคุยก็ต้องสังเกต สังเกตว่า ถ้าเป็นครูบาอาจารย์เห็นไหม ดูสิ หลวงปู่มั่นเทศนาว่าการนะ การฟังธรรมนี่แสนยาก วันไหนหลวงปู่มั่นจะเทศน์นะ พระนี่จะชื่นใจมากเลย เหมือนกับฝนตก ฝนกระหน่ำลงมานี้จะทำให้พื้นดินนี้ชุ่มเย็นไปมาก

การพูดคุย เราจะพูดคุยกับใคร เราจะไม่พูดคุยกับเด็กๆ พูดคุยกับสิ่งที่เขาไม่รู้วุฒิภาวะที่เขาจะมากวนเวลาเรา เราจะมีเวลาการพูดคุยบ้างกับผู้ที่มีปัญญา ผู้ที่เป็นนักปราชญ์ ผู้ที่เสนอช่องทางให้เรา ให้เรามีช่องทางออกมา เห็นไหมการพูดคุยต้องดูก่อน ไม่ใช่ว่าไม่พูดคุยกับใครก็ไม่พูดกับใครเลย หรือจะพูดคุยกับใครก็พูดคุยกันทั้งวันทั้งคืนเลย คุยกันจนเป็นพระอรหันต์เลย ไม่มี คุยไปคุยมามึงคลุกคลี มึงก็อยู่กับอารมณ์สิ่งแวดล้อมอย่างนั้น

การพูดคุยมันจะบอกว่า ไม่พูดคุยทั้งหมด ไม่ยอมรับสิ่งใดๆ ทั้งหมดมันก็ไม่ใช่ จะไปพูดคุยกับเขาอยู่ตลอดเวลามันก็ไม่ใช่ เพียงแต่การพูดคุย การปรึกษาหารือกัน ก็เพื่อประโยชน์กับเรา เพื่อประโยชน์ในทางออกเห็นไหม เราต้องใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เรามีสหธรรมมิก เรามีเพื่อนมีฝูง เรามีความช่วยเหลือเจือจานกัน ไม่อย่างนั้นมันจะมีการสร้างบุญสร้างกรรมกันมาเหรอ

การสร้างบุญสร้างกรรมกันมาเห็นไหม การสร้างบุญสร้างกรรมกันมานี้ เพราะมันมีบุญมีกรรมต่อกันมา มันถึงมาเกิดร่วมกันนะ นี่ความเป็นญาติ ความไปมาหาสู่กัน ดีกว่าญาติทางสายเลือด ญาติทางสายเลือดเราเขายังดูแลเราบ้างหรือเปล่า แต่การห่วงใยกัน ห่วงหาอาวรณ์อาลัยอาวรณ์ต่อกัน การห่วงหาอาลัยอาวรณ์ นี่ไงเพื่อน เพื่อนเป็นสหธรรมมิกที่เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน มีคุณค่ายิ่งกว่าญาติทางสายเลือด การดูแลการเจือจานกันเห็นไหม อันนี้เป็นอันหนึ่ง

ถาม : เมื่อเกิดความรู้สึกนึกคิด มันเบื่อหน่ายโลก มันเบื่อหน่ายในทุกสิ่งเราจะจัดการอย่างไร

ตอบ : นี่ไง หลวงตาท่านบอก เวลาท่านปฏิบัติไป ท่านไปอยู่ที่บ้านผือ นี่มีคนเป็นโรคเสียดอกตายเต็มไปหมดเลย แล้วมีพระนะไปกุสลา ธัมมา กุสลา ธัมมา วันหนึ่ง ๘ ศพ ๙ ศพนะ ถึงที่สุดนะท่านเป็นเองนะ พอท่านเป็นเองเห็นไหม พอท่านเป็นเองแล้วนะ บอกกับชาวบ้านเลย บอกว่านี่เป็นแล้วล่ะ ขอเวลาเถอะ ขอเวลาให้ได้รักษาตัวเองไง

ก็มานั่งเลยนะ ธรรมโอสถเลย พอมันเจ็บปวดขึ้นมานะ เพราะมันเสียดแทงใจมาก มันช็อตที่หัวใจเลยมันจะตาย นี่พอจะตายขึ้นมาเห็นไหม เราไม่อยากตาย เรายังไม่อยากตาย ถ้าเราตายไปแล้วนะ พระที่ปฏิบัติพระอริยะเจ้านะ การตัดกิเลสนี้ ตั้งแต่โสดาบัน สกิทาคา อนาคามี ขึ้นไปนี่มันเป็นสมุจเฉทปหาน มันเป็นสันทิฐิโก มันรู้จากใจดวงนั้น มันรู้จากใจจริงๆ ไม่มีใครบอก ไม่มีใครการันตี ไมมีใครให้ค่า ไม่มีใครให้ค่าใครได้ ใจดวงนั้นจะรู้จากใจดวงนั้นเองว่าเราอยู่ขั้นไหน ดูตามเป็นจริง

ฉะนั้นท่านบอกท่านไม่อยากตาย ท่านไม่อยากตาย เพราะท่านถ้าตายแล้วท่านจะไปเกิดบนพรหม ท่านพูดคล้ายๆ ว่าท่านจะเปิดเลย เพราะท่านไปเกิดบนพรหม ตอนนั้นท่านเป็นพระอนาคา ท่านยังไม่จบสิ้น ท่านยังไม่ยอมตายไม่อยากตาย ถ้าตายแล้วต้องไปเกิดอีกนี้ ไปเกิดอีกนะมันเสียเวลา ถ้าไปเกิดอีกนะ ดูเวลาสิมันแตกต่างกันมาก แต่ถ้าในปัจจุบันนี้ ถ้าสิ้นกิเลสแล้วนะ ตายเดี๋ยวนี้ได้เลย! ตายที่ไหนก็ได้

แต่ในเมื่อมันเกิดมาแล้วนี้ เพราะมนุษย์สมบัตินี้มีค่ามาก มีค่าที่ไหนนะ มีค่าเพราะร่างกายมันบีบคั้น ร่างกายมันต้องการอาหาร จิตใจเรานี้มันมีความทุกข์บีบคั้นเห็นไหม นี่มนุษย์สมบัตินี้นะ นี่ถ้าไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม นี้เขาไม่มีร่างกาย เขามีแต่ความสุขของเขา เขาก็เพลิดเพลินของเขา เขาก็ตายฟรีๆ ไง เพราะเขาเพลินไง

ไปตกนรกอเวจีนี้ มันก็ทุกข์บีบคั้น ทุกข์เหยียบย่ำ ไม่มีโอกาสได้หายใจเลย มันก็ไม่มีโอกาสปฏิบัติ พอมาเกิดเป็นมนุษย์นี้เห็นไหม มันมีร่างกายคอยเตือนนะ ร่างกายนี้เป็นอนิจจังนะ ร่างกายนี้ยืมเขามาชั่วคราวนะ ร่างกายนี้ต้องส่งคืนเขานะ เดี๋ยวก็ต้องตายนะ นี่มันเตือนให้เราปฏิบัติ เพราะมันมีโอกาสไง เป็นเทวดา อินทร์ พรหม ก็เพลิน เพลินกับความเป็นทิพย์ เพลินกับความสิ่งที่ได้มา ตกนรกอเวจีก็ทุกข์บีบคั้นจนทำอะไรไม่ได้เลย

เกิดเป็นมนุษย์นี้มันมีโอกาสไง มันจะเบื่อหน่ายขนาดไหน ถ้ามันเบื่อหน่าย มันต้องเบื่อหน่ายกับการเกิดการตาย! มันไม่ใช่เบื่อหน่ายชีวิตอย่างนี้ มันต้องเบื่อหน่ายการเกิดการตาย ไอ้การเกิดการตาย อะไรมันเกิดมันตาย ปฏิสนธิจิตมันเกิดมันตาย ถ้าปฏิสนธิจิตมันเกิดมันตาย ต้องค้นคว้าหามันไง ต้องค้นคว้าหามัน ค้นคว้าหาจิตให้เจอ อย่างที่ว่าไม่ตัดรากๆ นี้ หามันให้เจอนะ เราจะจัดการเราใช้ปัญญาอย่างนี้ หลวงตาท่านบอกเลยไม่อยากตาย ไม่อยากตาย ทั้งๆ ที่โรคแทงเข้ามาเลย ไม่อยากตาย

ความเบื่อหน่าย มันเป็นกิเลส มันเป็นมาร มันเป็นมารเห็นไหม ดูสิเวลาพระปฏิบัติ มารมันจะบอกเลยปฏิบัติแล้วก็ไม่ได้ผล มารมันมาเตะตัดขาตลอดเวลาเลย นี่ก็เหมือนกัน เราเบื่อหน่าย ความเบื่อหน่ายก็คือความเบื่อหน่าย ทุกคนก็เบื่อหน่าย ความเบื่อหน่ายมันเบื่อหน่ายอยู่แล้ว แต่จะมากจะน้อย

ทีนี้ความเบื่อหน่ายนี่ก็ต้องบอกว่ามันเป็นกิเลสไง มันเป็นสิ่งที่อยู่ในใจของเราไง นี้มันเป็นสิ่งที่อยู่ในใจของเรา เราจะจัดการบริหารมันอย่างไร ถ้าจัดการบริหารของมันแล้วนี้ ความเบื่อหน่ายมันจะเกิดขึ้นจากอะไร ความเบื่อหน่ายมันเกิดขึ้นจากจิต แล้วจิตมันอยู่ที่ไหน ถ้าเราแก้ไขที่จิตเรียบร้อยแล้วนะ ความเบื่อหน่ายก็ไม่มี ทุกอย่างมันจะดับหมดนะ พอดับหมดแล้วนะ เออ ทีนี้มาสิ เออ จะไปไหนก็ไปกัน เพราะมันไม่มีอะไรมาถ่วงแล้วนะ

แต่นี้มันยังถ่วงอยู่นะ ถ้ามันถ่วงอยู่นี้ พอมันถ่วงอยู่ปั๊บเราก็ต้องกลับมานี้ไง เราจะพูดคุยกับใคร พูดคุยเพื่อประโยชน์ พูดคุยเพื่อเอามาเป็นทางวิชาการ พูดคุยมาเพื่อหาช่องทาง เพราะงานอะไรก็แล้วแต่นะ หลวงตาบอกเลยทำบุญกุศล จะสร้างอะไรก็แล้วแต่ สุดท้ายถ้าไม่ลงภาวนาเอาตัวรอดไม่ได้ จิตมันจะรอดได้แต่จิตตภาวนา

จิตตภาวนา ตัวจิตเห็นไหมแล้วมันภาวนา มันภาวนาของมัน ที่เขาว่าใช้ปัญญาสายตรงๆ นะ ไอ้นั่นมันมายาภาพ จิตตภาวนานะเห็นไหม หลวงตาท่านจะตายนะ โรคเข้ามาเสียดที่หัวใจนะ ท่านบอกท่านไม่อยากตายเลย ทั้งๆ ที่รู้ว่าตายแล้วไปอยู่บนพรหมนะ ถ้าตายนี้ก็ไปอยู่บนพรหม ไม่เอาๆๆ จะเอาให้รอดให้ได้ เห็นไหม จะเอาให้รอดให้ได้

นี่ก็เหมือนกัน ความเบื่อหน่ายมันคืออะไร ความเบื่อหน่ายมันเกิดจากจิต ความเบื่อหน่ายมันเกิดจากอวิชชา ใครไม่เบื่อหน่าย ดูสิกินข้าว พรุ่งนี้ก็กินข้าวอีกแล้ว ก็กินแล้วกินเล่าๆ เบื่อไหม เบื่อ แต่อายุขัยของเราไง เราต้องอยู่เพื่ออายุขัย เพื่อความสิ้นสุดของกระบวนการของมัน กระบวนการของมันนะ

คนเราเห็นไหม สัมภเวสี เทียนที่มันไฟยังจุดไม่หมดกำลังจะดับ เทียนมันจะคาอยู่นั่นนะ แต่ถ้าเทียนนะมันโดนจุดไฟจนมันหมดเล่มเห็นไหม ชีวิตเราอายุขัย เทียนไฟคือจิต ร่างกายก็คือร่างกาย มันจะเผาผลาญของมันตลอดเวลา ถึงที่สุดมันก็หมดเล่ม หมดเล่มก็หมดอายุขัยเห็นไหม ก็เกิดต่อๆๆ แต่ถ้ามันไม่หมดอายุขัยนะ เทียนก็คาอยู่อย่างนั้นนะ ดูสิ กาลเวลาของในวัฏฏะนะมันแตกต่างกัน เราตายจากนี้ไปอยู่ที่อื่นนะ โอ้โฮ เวลามันมากกว่านี้ พอไปเจอยิ่ง โอ้โฮ ไม่มาก็ดีนะ ทำตัวให้หายก่อน อันนี้เป็นอันหนึ่ง

ถาม : เราจะจัดการกับสิ่งเหล่านี้อย่างไร

ตอบ : เราตั้งสติ แล้วความเบื่อหน่ายมันมาจากไหน ความเบื่อหน่ายมันคืออะไร ความเบื่อหน่ายเราค้นคว้าไง ความเบื่อหน่ายมันเกิดจากจิต ถ้าจิตเราควบคุมมันเห็นไหม เราควบคุมมันแล้วนี่ ถ้ามันสงบเข้ามา เราก็มาค้นคว้าหา เพราะอะไรรู้ไหม เหมือนกับเมล็ดพันธุ์พืช ถ้ามันยังไม่ตาย ลงไปที่ดินมันจะงอกอีก จิตนี้มันมีกิเลสตัณหาอยู่นี้เดี๋ยวมันก็คิดขึ้นมาอีก เบื่อหน่ายหายไป เดี๋ยวก็เบื่อหน่ายอีก มันมีความสุขขึ้นมา เดี๋ยวก็หายไป เดี๋ยวเกิดทุกข์อีก เดี๋ยวเกิดสุข เดี๋ยวก็เกิดทุกข์เห็นไหม

เวลาหลวงตาท่านพิจารณาไปถึงจิตเดิมแท้นี้ผ่องใสเห็นไหม พอจิตเดิมแท้นี้ผ่องใส มันมาจากจุดและต่อม พอเข้าจุดและต่อม ก็บอกว่าจิตนี้มันมีสองขั้วเห็นไหม เหมือนมะพร้าวสองขั้ว ดีกับชั่ว เดี๋ยวผ่องใส เดี๋ยวเศร้าหมอง เดี๋ยวดี เดี๋ยวไม่ดี เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ โอ๊ย! มันยุ่งไปหมดเลย นี่มรรคญาณเข้าไปคว่ำ พั้บ! จบหมดเลย จบหมดเลยเห็นไหม นี่ไงมันเกิดมาจากไหน ความเบื่อหน่ายมันเกิดมาจากไหน มันเกิดมาจากจิต ความทุกข์มันเกิดมาจากไหน มันเกิดมาจากจิต ถ้าเราไม่เห็นตรงนี้ ไม่เห็นมะพร้าวสองขั้ว ไม่เห็นตัวจิต เราจะไปแก้ไขยังไงล่ะ

การแก้ไขที่ถูกต้องแก้ไขอย่างนี้ การแก้ไขที่เป็นจีรังยั่งยืน การแก้ไขกันที่เราคุยกัน คนนู้นช่วยกันคิด คนนี้ช่วยทำนะ มันเป็นการแก้ไขกันแบบไม่ยั่งยืน แต่เราเป็น เขาเรียกสหธรรมมิก เราเป็นผู้ปฏิบัติธรรมด้วยกัน เราต้องสังเกตว่าคนไหนพอจะแนะนำ คนไหนพอจะพูดให้เรามีโอกาสบ้าง ถ้าคนไหนพูดสัพเพเหระ พูดแล้วไม่เป็นประโยชน์ ไม่ฟังๆ เห็นไหม อันนี้เป็นอันหนึ่งว่าเราจะคิดยังไง

ถาม : ๒. เราต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคม การใส่ใจกับสังคมเท่าไรเรียกว่าพอดี ไม่ทำให้เราสูญเสียความเป็นตัวเราจนทุกข์ และหากมีความคิดต่อต้านสังคมจะจัดการอย่างไร

ตอบ : สังคมมันไม่มีตัวตนนะ สังคมเกิดจากอะไรเห็นไหม เกิดจากคนรวมกันเกิดสังคมที่รวมกัน สังคมคือสังคม สิ่งที่มันถูกต้องทางจิตวิทยานี้ เด็กที่มันมีการต่อต้านสังคมเห็นไหม เด็กที่เคยโดนความเจ็บช้ำน้ำใจจากครอบครัว จะต่อต้านสังคมอย่างไร นี่เป็นจิตวิทยา มันเป็นความคิดเปลือกๆ จิตวิทยาไง คืออาการของจิต ความคิดของจิตไง

แต่ถ้าพูดถึงเป็นธรรมะนะ ธรรมะมันลึกซึ้งกว่านั้นไง การที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม มนุษย์อยู่คนเดียวมนุษย์ก็กลัว มนุษย์อยู่คนเดียวมนุษย์ก็ไม่มีใครช่วยเหลือเจือจาน มนุษย์ก็อยากหาเพื่อนหาฝูง หาที่อยู่เห็นไหม มนุษย์เป็นสัตว์สังคมโดยธรรมชาติ ในเมื่อมนุษย์เป็นสัตว์สังคมโดยธรรมชาติมนุษย์ก็อยากหวังพึ่งพิงกัน นี่พออยากหวังพึ่งพิงกันนะ ความว่าอยากหวังพึ่งพิงกันนะ พอเราพึ่งพิงกัน มันก็มีการเอารัดเอาเปรียบกัน มันก็มีการกระเทือนหัวใจกัน สังคมก็เกิดขึ้นด้วยการเบียดเบียนกัน ทั้งๆ ที่เราอยากพึ่งพากัน อยากพึ่งพาอาศัยกัน แต่พออยู่ด้วยกันมันก็กลายเป็นเบียดเบียนกัน เอารัดเอาเปรียบกัน

ฉะนั้น ในเมื่อเราอยู่ในสังคม เราต้องอยู่ ถ้าเราอยู่ในชีวิตประจำวันนี้เราต้องอยู่กับสังคม มันต้องอยู่กับสังคม ทีนี้จะทำอย่างไร จะใส่ใจกับสังคมเท่าไรที่จะถึงความพอดี ถ้ามันเป็นมนุษย์สัตว์สังคมที่มันชอบอยู่ในสังคมเห็นไหม บางคนนะ จะว่านะ เหมือนเรานะ มันบ้าไมค์นะ บางคนเจอไมค์ไม่ได้เลย เห็นไมค์แล้ววิ่งเข้าใส่เลย มันบ้าไมค์ นี่มนุษย์สังคมไง ชอบพูดชอบ มันบ้าไมค์ เป็นโรคบ้าไมค์ (หัวเราะ) นั่นก็เกินไป

ความพอดีนี้มันอยู่ที่กิเลสของคน อยู่ที่ความหนาความหยาบของคน คนหนาคนหยาบอย่างใดนะ เขาต้องการสิ่งใดเห็นไหม มันถึงเปลี่ยนมาเป็นจริตเป็นนิสัย ถ้านิสัยของเขาชอบอย่างนั้นเป็นอย่างนั้น เพียงแต่กับเรานี้ เราต้องคำนวณเอา ไอ้อย่างนี้มันเหมือนกับการฝึกนะ การฝึกเห็นไหม

ดูสิ นี่พ่อแม่เห็นไหม มีลูกสาวนะบอกว่า ไปนั่งบ้านใครอย่าไปนั่งนานนะ อย่าไปนั่งนานเดี๋ยวเขาจะนินทากาเลเห็นไหม นี่ก็ฝึก ฝึกไปฝึกมาก็สอน สอนแล้วเราก็มาคำนวณดูว่าคำนวณแค่ไหน เพราะพ่อแม่อยู่ในสังคมอีกสังคมหนึ่ง สังคมเดี๋ยวนี้มันเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ฉะนั้นที่ว่าความพอดีนี้มันย้อนมาที่เรา ความพอดีนี้หมายความว่า มันกระทบแล้วมันกระทบจิตใจเรามากไหม ถ้ามันกระทบจิตใจเรามาก เราก็มานี่เห็นไหม มาทำความสงบของใจ นี่ที่เขามาวัดมาวากันนี้ก็มาเพื่อเหตุนี้แหละ มาเพื่อพักใจ

หลวงตาท่านพูดบ่อยนะ คนเรานะถ้าไม่นอนหลับนะ ตาย คนเรานี้มันจะพักผ่อนได้ก็ตอนนอนหลับ แต่ในปัจจุบันนี้เครียดจนนอนไม่ได้ คนเรานะนอนหลับไม่ได้นะ ตายเลย แต่นี้พอเราทำความสงบของใจนี้ ถ้าจิตมันสงบเข้าสมาธินี่มันสดชื่นดีงาม กว่าการนอนหลับ มันสุขกว่า มันลึกกว่า มันได้พักดีกว่า และธรรมชาติมันก็มีอยู่แล้ว คนเราต้องมีการพักผ่อน นี่การพักผ่อนมันก็เป็นการพักผ่อนแบบธรรมชาติใช่ไหม แต่ถ้าเราอยู่ในสังคม มันมีความเบียดเบียน มันมีการกระทบกระเทือนเราก็หลบมา พอหลบมา ความพอดีนี่มันอยู่ที่เรานะ

ตอนนี้ถ้าเราโตขึ้น เรารับผิดชอบขึ้น เราจะหาได้ อย่างเช่น เมื่อก่อนเราบวชใหม่ๆ เราไม่เข้าใจนะ เราเวลากลับบ้านนะเรามาเห็นคนทุกข์คนยาก เรามาคิดในใจนะ เอ้.. ทำไมพวกนี้มันไม่บวชวะ โอ้ มันไม่บวชโง่ฉิบหาย นี่คิดจริงๆ นะ เราบวชพรรษาแรกใหม่ๆ เวลากลับบ้านมานี่ รถมันวิ่งมาตามทางเห็นคน คิดแต่ในใจนะ เอ.. ไอ้พวกนี้มันโง่ฉิบหายๆ ทำไมมันไม่บวชวะ มันทุกข์น่าดูเลย

บวชก็ทุกข์ ถ้าจิตใจนะ พอบวชมาแล้วใช่ไหม ถ้าบวชแล้วแบบว่ามีบุญกุศลไง มันเห็นเป็นคุณงามความดี แต่ถ้ามันไม่มีบุญกุศลนะ บวชแล้วมันร้อนนะ บวชแล้วเหมือนโดนติดคุก เอาผ้าเหลืองห่มไว้ แล้วโกนหัวไปไหนก็ไม่ได้ ออกไปก็รู้ว่าพระ พระต้องอยู่วัด โอ๊ย ไปบ้านก็ไม่ได้ ไปไหนก็ไม่ได้ อู๊ย มันก็เดือดร้อน มันอยู่ไม่ได้หรอก

เมื่อก่อนนะ เราคิดอย่างนี้จริงๆ บวชมาใหม่ๆ กลับจากอีสานนะ ปีหนึ่งกลับมาเยี่ยมบ้านหนหนึ่ง นี่พอรถมันวิ่งมาตามถนนนะ คิดขึ้นมาในสมอง จำได้นะ เพราะมันแวบในสมองมันยังจำได้ คิดว่า อือ.. ไอ้พวกนี้ทำไมมันโง่แท้ๆ นี่จิตใจของคน มันแตกต่างมันหลากหลาย ความพอดีของเราเห็นไหม ความพอดีของเรา เราก็ดูความว่าสังคมเป็นยังไง ความพอดีเป็นยังไง

ถาม : ไม่ทำให้สูญเสียความเป็นตัวของเราจนทุกข์

ตอบ : ความสูญเสียตัวของเรา ศักดิ์ศรี เราอยู่กับเพื่อนนะ เมื่อก่อนอยู่กับเพื่อน เที่ยวอยู่กับเพื่อนนะก็เอาเรื่องพอสมควรนะ แล้วพอบวชแล้ว เวลาเรากลับบ้านเพื่อนจะมาเยี่ยม แล้วมันก็บอกว่ามันยังไปเหมือนเดิมนะ เจอใครไม่ได้มันก็อัดเขาทั่ว ศักดิ์ศรีเหมือนกัน เราบอก “เอ้ย อย่าไปทำ อย่าไปทำสิ” “อื้อ ก็เมื่อก่อนก็ยังไปด้วยกันนะ ทำไมเดี๋ยวนี้ไม่ให้ทำวะ นึกว่าพูดแล้วจะให้กำลังใจ” เมื่อก่อนก็ไปด้วยกันทั้งนั้นนะ ไม่ยอมใครทั้งสิ้น ไม่ยอมใคร

เมื่อก่อนนี้ โอ้โห เรานี้ไม่ได้เลยนะ กับเพื่อนฝูงนี้ใครอย่าแตะ เพื่อนเรานี้ใครแตะไม่ได้เลย เพื่อนเรานี้ใครมาสะกิดไม่ได้เลย โห นิสัยไม่บวชนี้ (ไปสืบเอาเอง) ไม่ยอมใครเลยนะ นี่พอสุดท้ายเพราะเป็นหัวหน้า พอกลับมาเขามาเยี่ยมไง เขาบอกว่า “มันมองหน้า อัดมันเลย” เราก็บอกว่า “ไม่ดีๆ” “อ้าว ก็เมื่อก่อนยังทำเลย เดี๋ยวนี้ทำไมไม่ดี” เราก็ยกเลยนะ ก็เพื่อนน่ะ นะเอ็งดูนะ

คนสองคนไปด้วยกัน คนหนึ่งโดนยิงด้วยธนู ไอ้เพื่อนมันโง่ มันก็บอกเลยว่าธนูนี่ยิงมาจากใคร ทำมาจากไม้อะไร กว่ามันจะสืบนะเพื่อนมันตายแล้ว แต่ถ้ามันโดนยิงมานี้ ถ้ามันถอนธนูมันออกเลยนี้ แล้วมันรักษาแผล เพื่อนมันจะรอดไหม เวลามึงไปไหนนี่ เขามองหน้ามึง มันเสียศักดิ์ศรี ศักดิ์ศรีคือใคร ศักดิ์ศรีคือโดนยิงไง ธนูปักอกไง ถ้าเราจะตามไปหาศักดิ์ศรี เราจะชนะมันนะ มึงก็ต้องไปยิงหัวมัน แต่ถ้ามึงดึงๆ นะ โอ๊ย อธิบายเท่าไร มันก็ไม่เข้าใจนะ เพราะมันอยู่คนละโลก

เพื่อนคนหนึ่งนี้ชอบมาก อูย แล้วเขามีฐานะ เขาชอบตกปลา โอ๊ย ชอบวิดปลา เห็นปลาไม่ได้ เห็นปลาต้องวิ่งเข้าไปตกเลยนะ แล้วคนก็มาฟ้องนะ ไอ้นี่มันชอบตกปลาๆ เราก็บอก “เอาอย่างนี้ เอาอย่างนี้ดีกว่านะ ให้ไอ้นี่มันไปยืนอยู่นั่น แล้วเราก็เอาหินปามัน” “อะไรวะ” “ก็กีฬาไง ตกปลาเป็นกีฬาใช่ไหม มึงไปนั่งอยู่นั่น แล้วกูเอาหนังสติ๊กยิงมึงๆ เป็นกีฬาได้ไหม” “ไม่ได้” “อ้าว แล้วมึงไปตกปลาได้ยังไง”

นี่เวลาเรากลับมานี่เพื่อนเราจะมาล้อมหมด โห ใหม่ๆ นะ เมื่อก่อนบวชนี้เพื่อนเยอะ แล้วเพื่อนนี้จะเชื่อถือมาก เพราะนิสัยจริงจัง และมีปัญญา แล้วไปเจอเหตุการณ์สิ่งต่างๆ จะมีอะไรเกิดขึ้นจะต้องมาปรึกษาเรา จะทำอะไร จะทำกับใคร จะทำยังไงต้องมาปรึกษา ให้วางแผน วางแผนแล้วทำยังไง แล้วมันจะรอด แล้วไม่เสียเปรียบสักที แต่ถ้าไม่ปรึกษานะ ไปกันเองนะ กลับมาเลือดซกมาทุกที (หัวเราะ) ต้องมาปรึกษา นี่เพราะคำว่าไม่สูญเสียความเป็นตัวเราไง

ถาม : ไม่สูญเสียในความเป็นตัวเราจนเป็นทุกข์ และหากมีการติดต่อกับสังคมเราจะจัดการอย่างไร

ตอบ : จัดการกับใจเรา อยู่กับหลวงตานี้ เวลาเราพูดอะไรที่กระทบกระเทือนออกไปในหมู่คณะที่แรง หลวงตาจะเอ็ดเราประจำ “หงบ ให้ดูใจตัว นั้นเป็นเรื่องของเขา นี้เป็นเรื่องของเรา ใจตัวรักษาให้ได้” คือท่าน ประสาเรานะ ท่านจะกันเราออกมาจากการไปกระทบมากๆ ไง ให้ดูใจตัว ที่เราออกไปนี้ก็เราออกไปเพื่อท่านนั่นแหละ เราออกไปทำงานให้ท่านนั่นแหละ แต่เราออกไปด้วยความรับผิดชอบ ออกไปทำทุกอย่างทำด้วยน้ำใจ ทำด้วยความซื่อสัตย์ ทำด้วยหัวใจ ทำจริงๆ แล้วมันกระทบกระเทือนคนอื่นมาก ท่านจะบอก “หงบ ดูใจตัวเอง เอาใจตัวเองให้อยู่” คือว่าไม่ให้เราคิดออกไปเลย เพราะว่าเราออกไปเสี่ยงภัยไง

ท่านบังคับเราเลย เรื่องใจของตัว ถ้าคุมใจเราสงบ เราก็ไม่มีความคิดออกไปเบียดเบียนคนอื่นใช่ไหม หรือไปทำงานเพื่อท่านนั่นนะ เราไม่ถือว่าเป็นการเบียดเบียน เราทำงานเพื่อท่าน แต่คนอื่นนะ ทำงานเพื่อส่วนตัวแต่แอบอ้างท่าน แต่เราพยายามทำเพื่อท่าน เข้าไปปะทะๆ ทั้งๆ ที่เราทำให้ท่านนั่นแหละ แต่ท่านบอกว่าไม่ให้ทำ คือให้รักษาใจ คือไม่ให้คิดอะไรออกมา ให้รักษาใจตัวให้ได้

นี่ไง การที่ว่าสังคมมันจะขนาดไหน ขนาดเราทำความดีขนาดนั้นนะ แล้วครูบาอาจารย์ท่านยังยับยั้งเรา ยับยั้งเลย เตือนบ่อยมาก จะรู้นิสัยนะ ถ้าใครเป็นพระ ใครไปอยู่กับเรานี้จะรู้ว่าถ้าเราไปเจอไปที่ไหนก็แล้วแต่ถ้าหลวงตาเห็นเรานี้ แวบเลยล่ะ เพราะมันจะถึงกันตลอด ท่านเห็นเราไม่ได้ ถ้าเห็นแล้วเป็นต้องอึ๊กเลย สะดุดทุกทีๆ อันนี้มันเป็นข้อมูลภายใน

นี่พูดถึงการสูญเสียตัวนะ เราจะไม่ให้เสียก็ได้ เรารักษาของเรา ประสาเราว่า เราปฏิเสธสังคมไม่ได้ แต่ในเมื่อหัวใจเราเป็นอย่างนี้ เรารู้ว่าเราออกไปกระทบกับสังคมแล้วนี้ เราจะมีปัญหายังไง เราก็หลบหลีกเอา เราต้องหลบหลีก เราต้องฉลาด เราต้องบริหารจัดการ

เราเป็นมาก่อนตั้งแต่บวชนะ ตั้งแต่ก่อนบวช เราก็คบเพื่อนมาอะไรมานี้ก็เยอะ เพราะมันธรรมดานะ การคบเพื่อนนี้ เพื่อนก็อยากหาเพื่อนที่จริง เพื่อนที่ดี คนดีนี้ที่ใครๆ ก็จะเอา ที่สุดแล้วเราอยู่กับสังคมโลก แล้วเราเห็นแล้วว่ามันจิตใจเรามันผ่านทุกๆ อย่างแล้วมันเป็นของโกหกนะ คือทำดีกับใครแล้วมันไม่เป็นความจริง เราเลยพยายามแสวงหามากขึ้น จนใจมันคิดมาถึงการบวช แล้วก็คิดว่ามันจริงแล้ว เราก็เลยเอาจริงจังเลย เห็นไหมมันก็ไม่เสียหายเราด้วย

แล้วก่อนบวชนะ เพื่อนทุกคนพูดอย่างนี้เลยนะ มรรคผลไม่มี มึงมันหน้าตัวเมีย มึงมันไม่สู้ ฮูย.. ด่ากันเช็ดเลย พอเราบวชเสร็จแล้วมันบอกไม่เป็นไรหรอก ที่พูดนั้นไม่อยากให้บวช ตอนหลังพอบวชเสร็จแล้ว เขามาพูดทีหลังนะ ที่พูดอย่างนั้นคือไม่อยากให้บวช แต่ก็บวชไปแล้ว คือไม่มีใครอยากให้บวชเลย เพราะทุกคน (โทษนะ) มันจะเอาไว้ใช้งาน มันจะเอาไว้เป็นขี้ข้ามัน นี้พูดถึงไม่เสียตัวตนเห็นไหม

พอพูดอย่างนี้ปั๊บนี่ เพราะมันเหมือนประสบการณ์เรามี ประสบการณ์เรามีนะ แล้วเราทำของเรามาแล้ว แล้วบวชไปแล้ว คิดดูสิ อยู่กับเพื่อนนะ เพื่อนเยอะแยะ แล้วเพื่อนก็เชื่อฟังทั้งหมด แต่บวชไปแล้วไปอยู่คนเดียว โอ้โฮ ในป่าเหงา.. ทุกข์เกือบตาย กว่าจะเอาใจอยู่นะ อ้าว คิดดูสิคนอยู่ในหมู่คณะนะ แล้วมันมีแต่ความรื่นเริง เที่ยวกันมาสนุกครึกครื้นนะ ถึงเวลาพรวดหายไปอยู่ในเหวอยู่คนเดียวนะ ไปนั่งคอตก อูย ทุกข์เกือบตาย เลยถือเนสัชชิกเลยไม่นอน ไม่ได้จิตมันฟุ้งซ่านมาก โทษนะมันติดเพื่อน มันติดเขา เวลาหนีเขาไปบวช พอบวชเสร็จแล้วคิดถึงเขา โอ๋ย เกือบตาย กว่าจะเอาใจอยู่ นี่ไง ไม่ให้เสียตัวตนของเรานะ นี่ดูเอา อยู่ที่วุฒิภาวะมันจะพัฒนาแค่ไหน

ถาม : ๑. ทำไมหลวงปู่จวนแตกฉานในบาลีท่านได้เรียนมาหรือไม่ ปฏิบัติแล้วรู้หรือ

ตอบ : ใช่ ไอ้อย่างนี้มันเป็นจริต มันเป็นบุญวาสนา อย่างเช่นหลวงปู่มั่น ในวงกรรมฐานมีหลวงปู่มั่นกับหลวงปู่จวน ที่เวลานั่งจิตสงบแล้วนี้มันจะขึ้นเป็นภาษาบาลี หลวงปู่มั่นก็เป็นบาลีเห็นไหม ตอนที่ประวัติหลวงปู่มั่นพอขึ้นบาลีปั๊บนี่ เออ เอาไว้ก่อน เอาไว้ฝากมหา เอาไว้ฝากหลวงตา พอหลวงตามานะ อ้าว มหามาแล้ว ท่านก็พูดบาลีออกมาเลย บาลีที่มันเกิดจากธรรม เกิดจากสมาธิ พอสมาธิมันลงแล้วนะเขาเรียกธรรมเกิด มันจะเกิดเป็นภาษาบาลีเลย ก็ตั้งบาลีขึ้นมาให้หลวงตาตอบ

หลวงตาท่านรู้ เพราะหลวงตานี้ท่านเป็นพระที่มีคุณธรรมแล้วท่านปฏิบัติมีหลักมีเกณฑ์ในใจ ท่านเข้าใจ ท่านเข้าใจว่าหลวงปู่มั่นไม่ได้ถามท่านจริง เพียงแต่หลวงปู่มั่นเอาไว้ฝากท่าน เอาไว้โชว์ท่านไง พอหลวงตามาก็ อ้าว ธรรมะเป็นอย่างนั้น เอาให้หลวงตาตอบ หลวงตาก็นั่งเฉย พอนั่งเฉยปั๊บ นี่หลวงตาเล่าเองนะ พอนั่งเฉยปั๊บ หลวงปู่มั่นก็ตอบ ผลัวะ! เลย อูย ถึงใจมาก ท่านพูดเลยนะ ถ้าท่านตอบท่านตอบด้วยภูมิมหานะ ท่านก็ตอบเป็นไอ้นั่นนะ เป็นพวกอรรถพยัญชนะ ก็ตอบเป็นภาษาบาลี แต่พอหลวงปู่มั่นตอบ มันตอบออกมาจากใจเห็นไหม

เราถึงบอกว่าอภิธรรมกับการปฏิบัติมันคนละเรื่อง พอตอบมาจากใจนะท่านบอกเลยนะ อูย ฟังแล้วนะมันแบบว่าทิ่มกลางหัวใจเลย นี่เวลาขึ้น ขึ้นเป็นภาษาบาลี แล้วมาหลวงปู่จวนนะ หลวงปู่จวนก็ขึ้นบาลี หลวงปู่จวนก็แตกฉานเรื่องบาลีมาก แล้วจิตพวนนี้นะ จิตมีอำนาจมาก มีวาสนามาก ก็มีนิมิตหลวงปู่มั่นนะ เห็นเอาหลวงปู่จวนขึ้นหลังนะ แล้วเอาขึ้นหลังเหมือนเราเล่นส่งม้า เอาหลวงปู่จวนขึ้นหลังแล้วเดินไป

หลวงปู่จวนมีวาสนามาก นี่เสียอย่างเดียวเท่านั้น เสียดายที่ว่าท่านมาเครื่องบินตกซะก่อน ท่านเป็นพระอรหันต์ แล้วท่านมีอภิญญา รู้ไปหมด พวกนี้จิตมีฤทธิ์ กับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นก็รู้ไปหมด รู้ไม่ใช่รู้ธรรมดาด้วย รู้แล้วยังเวลาเอามาใช้ประโยชน์ ให้ใช้ประโยชน์พอสมควร เพราะพอพูดไปแล้วเขาไม่เชื่อ แล้วมันจะเป็นการ ถ้าพูดแล้วไม่เชื่อเขาต่อต้านขึ้นมามันเป็นกรรมเขาไง คือไม่อยากให้คนอื่นมามีเวรมีกรรม คือเราเหมือนเราสอนเด็ก เราต้องการให้เด็กเป็นคนดี เราไม่ต้องการให้เด็กนี้มันผิดพลาดไปด้วย คือเด็กนี้มันจะมีโทษกับมันไง

หลวงปู่มั่นนะรู้แล้วนะ อย่าดูถูกความนิ่งอยู่ของพระอริยเจ้า รู้ถึงความเป็นจริง รู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วพูดออกไปนี้ มันเป็นโทษหรือเป็นคุณกับมันอีกล่ะ ทั้งๆ ที่รู้จริงๆ นี่ พูดออกไปนะ ถ้ามันไม่เชื่อแล้วมันดูถูกเหยียดหยามนะ เป็นโทษกับมันอีก ท่านถึงเก็บไว้ไง นี่เรื่องจริง เรื่องจริงคือคุณสมบัติของจิต คำว่าคุณสมบัติของจิต คือการทำดีทำชั่วของเราในชาติปัจจุบันนี้ คุณสมบัติของจิตคือจิตได้ทำความดีมาตั้งแต่อดีตชาติ ได้สร้างบุญกุศลมามากมหาศาลเลย

อย่างเช่น หลวงตาบอกว่าพระสิวลีนี้ พระสิวลีนี้ได้ทำบุญกุศลมาก เป็นหัวหน้าทำบุญกุศลมาก ลาภสักการะเลยได้เอตทัคคะในเรื่องลาภสักการะเลย ไปทำบุญที่ไหนคนจะทำบุญกับพระสิวลีหมดเลย เพราะพระสิวลีได้ทำบุญไว้ในอดีตชาติมหาศาลเลย ไอ้สิ่งที่จะเกิดเป็นอำนาจวาสนาบารมีในใจนี้ก็คือการกระทำมาของจิตดวงนั้นนะ จิตดวงนั้นได้ทำของท่านมาเอง จิตหลวงปู่มั่น จิตครูบาอาจารย์ท่านทำมาเอง ไม่มีใครทำให้ หรือไม่มีใครจัดการให้ มันเป็นการทำของจิตดวงนั้นขึ้นมาเอง ไม่ต้องไปต่อรอง ไม่ต้องไปอยากได้อยากดีอะไรกับใครทั้งสิ้น มันเป็นของจิตดวงนั้น ดวงนั้นได้ทำของท่านมา

ฉะนั้น ในปัจจุบันนี้ถึงต้องมีสติปัญญา คือทำความดีของเราเพื่อใจเราไง คือว่าทำความดี ทำบุญพระดีอย่างเดียว ให้อย่างเดียวไม่ได้อะไรเลย มันได้ที่จิต อันนั้นมันซับสมที่จิต จิตดวงนั้นมันเอาไปหมด

หลวงตาบอกเลย พระนี้ก็แค่ ไอ้แค่มีที่นา ชาวบ้านเขาก็ทำนาของเขา เวลาเขาเกี่ยวข้าวขึ้นมา เขาก็เอาข้าวเขาไปเลย ไอ้นาก็ได้แต่ฟางไง ได้แต่ตอข้าวนะ พระเราก็แค่ดำรงชีวิตเท่านั้นล่ะ บุญกุศลมันของเขา นี่เขาสร้างของเขา เขาทำของเขานะบุญของเขานะ มันเป็นบุญของเขาเข้าไป นี่ไง มันขึ้นบาลีไง มันเป็นเรื่องจริงๆ มันเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่มีใครโต้แย้งได้

ถาม : ๒. วิธีตั้งสติอย่างที่หลวงตาบอกให้ผู้ปฏิบัติที่ต้องการให้จิตสงบจะต้องทำตามวิธีนี้ใช่ไหมครับ ถ้าผู้ปฏิบัติใช้พุทโธเป็นคำบริกรรม

ตอบ : วิธีนี้ใช่ไหมครับ แล้ววิธีไหนล่ะๆ กูก็ไม่รู้ว่าวิธีไหน วิธีตั้งสติที่หลวงตาบอก หลวงตาให้ตั้งสติแล้วกำหนดพุทโธไป ถ้าพูดถึงว่าวิธีนี้ทำแล้วจะได้ขึ้นเป็นบาลีอย่างนี้ๆ ไม่ใช่ เพราะหลวงตาท่านยังขึ้นเป็นภาษาไทยเลย หลวงตาท่านพูดบ่อยในเทปนะ บอกของเราก็เป็นภาษาไทย ของหลวงตานี้เป็นภาษาไทยนะ เวลาธรรมเกิดนะ เวลาทำสมาธิจิตสงบ พอจิตสงบแล้วมันจะเกิดคำตอบ นี่เขาเรียก ธรรมเกิด คำตอบขึ้นมาจากใจนะ

อย่างเช่น เราสงสัยสิ่งใด เรามีความวิตกกังวลในใจอะไร พอจิตสงบปั๊บ มันจะผุดขึ้นมา เห็นไหมอย่างที่หลวงตาบอกว่า ท่านพิจารณาไปแล้วนะ อู้ฮู ใสไปหมดเลยนะ จิตนี้มหัศจรรย์มาก มองไปภูเขาทะลุไปหมดเลยนะเห็นไหม ท่านบอกว่านี่เห็นไหมท่านกำลังเพลินอยู่ ธรรมะกลัวท่านหลงเห็นไหม ธรรมะผุดเลยนี่ธรรมเกิด “จิตสว่างไสว จิตผ่องใส จิตมันมาจากจุดและต่อม” เห็นไหมจิตสว่าง จิตผ่องใส จิตผ่องใสนี่ หลวงตาท่านบอกธรรมะกลัวท่านหลง ธรรมะมาเตือน นี่ธรรมะเทศน์ นี่ธรรมเกิด จิตผ่องใส จิตสว่างไสว จิตสว่างขนาดไหนนี่มันเกิดจากจุดและต่อม นี่สิ่งสว่างไสวมันมาจากไหน มันมาจากนี่ ถ้าไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นจะชี้กลับมา นี่ธรรมะมาเตือนก็เทศน์ไง คำเทศน์คำสอน

ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากเราเห็นไหม ที่ว่าสิ่งที่ผุดขึ้นมานี้มันเป็นธรรมะ ธรรมะจะเตือนเรา ฟังเทศน์ตลอดเวลา หลวงปู่มั่นพูดกับสมเด็จนะ สมเด็จถามว่า “มั่นเอ๊ย เราบริหารจัดการ เราอยู่กับตู้พระไตปิฎก เราอยู่กับตำรา เรายังต้องค้นคว้าตลอดเลย แล้วท่านอยู่ในป่าท่านไปฟังเทศน์กับใครล่ะ” หลวงปู่มั่นบอกว่า “ผมฟังเทศน์ทั้งวันเลยครับ” พอจิตสงบมันก็ขึ้นตลอด มันจะมีเทศน์สอนตลอด นี่ปฏิบัติมันจะมีคอยบอก ว่าอันนี้ถูกอันนี้ผิด บอกเลยนะ

หลวงตาบอกว่านี่บอกแล้วนะ ธรรมะมาบอกแล้วนะ ท่านยังงงเลย งงเลยและบอกว่านี่ ธรรมะ นี่ธรรม นี่ธรรมะเทศน์ให้ฟัง ธรรมะสอนละ แต่ธรรมะสอนแล้วยังใช้ธรรมไม่เป็นนะ ท่านบอกว่าถ้าไปหาหลวงปู่มั่นนะ หลวงปู่มั่นจะชี้เลยว่าจุดและต่อม ก็นั่นไง จุดและต่อมก็นี่ไง ฐีติจิตนะที่บอกไม่ตัดรากเหง้านี่ไง อภิธรรมนามรูปมันตัดรากเหง้าไง มันไม่เข้าถึงฐีติจิตไง มันไม่เข้าถึงรากเหง้าไง มันไม่เข้าถึงอวิชชาไง ไม่เข้าถึงจิตไง พุทโธๆ นี้พุทโธ ปัญญาอบรมสมาธินี้เข้าถึงจิต แล้วเอาจิตออกวิปัสสนาไง นี่ไงพอเข้าถึงรากเหง้าเห็นไหม มันทำลาย ทำลายที่รากเหง้าเลย นี่โลกธาตุหวั่นไหวไปหมดเลย สิ้นกระบวนการเลย

นี่เวลามันเกิด ธรรมมันเกิด เวลาธรรมเกิด ธรรมเกิดไม่ใช่อริยสัจ ธรรมเกิดเห็นไหม ธรรม เตือนแล้วยังงง พองงแล้วก็ออกมาค้นคว้า ออกมาหาเอง ออกมาใคร่ครวญเอง มากระทำเองเห็นไหม นี่คืออริยสัจ นี่คือสัจธรรม นี่คือวิปัสสนา วิปัสสนาเกิดขึ้นมันอีกเรื่องหนึ่งนะ

นี้ใครทำยังไงก็แล้วแต่ มันไม่มีวิธีหรอก มันไม่มีวิธีให้เราเกิดเป็นบาลี หรือภาษาไทยหรอก เพราะอะไรรู้ไหม เพราะสิ่งที่เกิดคือสิ่งที่บารมีธรรมที่สร้างมาแต่เป็นประวัติศาสตร์ไง พระพุทธเจ้าสร้างมา ๔ อสงไขย มึงจะบิดเบือนที่ ๔ อสงไขย มาไม่ให้เป็นพระพุทธเจ้าเหรอ พระพุทธเจ้านี่อยู่ปัจจุบัน พระพุทธเจ้า ๒,๐๐๐ กว่าปีไปแล้ว แต่สิ่งที่ผ่านมาคืออดีต

นี่ก็เหมือนกันหลวงปู่จวน สิ่งที่ได้มาคืออดีตชาติที่ท่านได้สร้างของท่านมา หลวงปู่มั่นก็สร้างของท่านมา ทุกคนก็สร้างของท่านมา ในปัจจุบันนี้เราทำให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงที่ใจเราให้ดีที่สุดเท่านั้นเอง เราจะไปดัดแปลงว่าเออ เราไม่ต้องการจริตอย่างนี้ เราจะเอาจริตอื่น มึงจะย้อนอดีตเหรอ มึงจะไปแก้ไขที่อดีตใช่ไหม เป็นไปไม่ได้

ในปัจจุบันนี้ทำให้ดีที่สุด ในปัจจุบันนี้ทำให้ตรงจริตที่สุด ในปัจจุบันนี้ทำให้ดีที่สุด ในปัจจุบันนี้แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว ในปัจจุบันนี้คือปัจจุบันธรรมที่จะทำให้สิ้นกิเลสได้หรือไม่สิ้นกันอยู่นี่ นี่คือปัจจุบัน สิ่งที่พูดถึงนี้ เราอธิบายนี่ไง นรก สวรรค์ อดีต อนาคต มันมีทั้งนั้นนะ แต่สิ่งนั้นมันเป็นการทำมาให้เราได้นั่งกันอยู่นี่ไง สิ่งนั้นทำมา แล้วนั่งกันอยู่นี่แล้วจะไปเพ้อเจ้ออยู่กับอะไรอีกล่ะ จะไปเพ้อเจ้ออยู่กับอดีต อนาคตอีกเหรอ ปัจจุบันนี้ทำไมไม่จัดการ จัดการที่ปัจจุบันนี้ เอาปัจจุบันนี้ให้รอดให้ได้ ปัจจุบันนี้ให้รอด นี่ธรรมะปัจจุบัน นี่ธรรมะของพระพุทธเจ้า

ถาม : ขณะที่อยู่ในชีวิตประจำวัน อยู่ดีๆ ก็เข้ามาดูลมหายใจเองโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ ก็รู้สึกอึดอัดขึ้นมา ควรดูลมหายใจต่อจนกว่าจะหายหรือไม่

ตอบ : ใช่ อยู่ดีๆ ไม่หรอก ไม่มีทางอยู่ดีๆ หรอก อยู่ดีๆ แล้วนอนหลับละสิ นี่อยู่ดีๆ มันเกิดขึ้นมาแสดงว่ามันแบบว่ามีสติ เคยฝึกไง คำว่าอยู่ดีๆ แล้วแวบขึ้นมา อยู่ดีๆ แล้วจิตมันต้องตั้งใจขึ้นมา คำว่าตั้งใจขึ้นมา มันเหมือนกับก่อเจดีย์ทรายนะ ถ้าทรายพื้นทรายมันก็ราบใช่ไหม เราก่อเจดีย์ทรายขึ้นมาก็เป็นทรายใช่ไหม จิตของเรานี้มันเป็นนามธรรม ขณะที่มันแวบขึ้นมาดูคือมันตั้งตัวแล้ว อยู่ดีๆ ก็กลับมาดูลมนะ อยู่ดีๆ เขาพยายามตั้งใจ เขาพยายามปฏิบัติเขายังเอาไม่ได้เลย แล้วอยู่ดีๆ มันมายังไง

คำว่าอยู่ดีๆ มันมานี่นะ บางทีมันมาอย่างนี้ เราปฏิบัติมาแล้ว นี้การปฏิบัติของเราบางทีมันเกร็งไป มันเก็กไป มันทำแล้วไม่ได้ประโยชน์ นี้เราตั้งสติของเรา พอจิตมันสมดุลของมัน มันจะเห็นของมัน มันจะย้อนกลับมา เหมือนหลวงตาท่านสอน หลวงตาท่านสอนทุกอย่างเหมือนพูดทีแรกนะว่า หลวงตานะท่านบอกว่าหลวงปู่มั่นนะสอนเหมือนเด็กๆ เลย เหมือนเรานี้เหมือนกับเด็กไร้เดียงสาไม่รู้อะไรเลย ทีนี้ปัจจุบันนี้ท่านก็พยายามตรงนี้

คนนะ มันผ่านอย่างนี้มาแล้ว มันรู้ว่าจิตของคนปฏิบัตินะมันเหมือนเด็กอ่อน จิตของคนปฏิบัติทุกๆ คนนะ ไร้เดียงสาทั้งนั้นนะ อายุมาก อายุน้อยนะ มันดีแต่ทางโลกนะ ทางโลกนะเก่งไปหมดนะ แต่ตัวเองไม่รู้จัก เด็กน้อยๆ มันก็ไร้เดียงสาของมันประสาเด็กน้อยๆ ไอ้ผู้ใหญ่อายุจะเข้าโลงอยู่แล้วนะ นึกว่าตัวเองมีวุฒิภาวะ นี่คนมีราตรีมานานไง นั่นนะขี้โรคทั้งนั้นนะ เพราะอะไร เพราะมันซับอารมณ์ทางโลกมาเยอะ อารมณ์ทางโลกมันคือยาพิษ ยาพิษที่มันอยู่กับใจ แล้วจะมากำหนดพุทโธๆ มันก็ยาก

นี่ไง ทีนี้พอเราปฏิบัติของเราบ่อยครั้งเข้าๆ เห็นไหม หลวงตาถึงสอน สอนว่า เวลาเราปฏิบัตินี้ จิตของเราเหมือนวัว เหมือนวัวเหมือนโค วัวโคนี่นะถ้าเราผูกไว้ เราผูกไว้กับหลัก เวลาใช้นะเราก็มาหยิบมันไป วัวโคนี้ถ้าเราปล่อยเลี้ยง เลี้ยงในป่า พออยู่ในป่าจะใช้งานมันก็ต้องไปหามัน นี่ก็เหมือนกัน วันๆ หนึ่งก็ปล่อยมันเพ่นพ่าน วันๆ ก็คิดร้อยแปดคิดอะไรก็ได้ ถึงเวลาก็จะพุทโธๆๆ ถึงเวลาก็จะเอาโคมาไง พอจะปฏิบัติก็วิ่งไปแล้ว ไหนวัวกูอยู่ไหน วัวกูอยู่ไหน นู่นอยู่ในป่านู่นนะ นี่ก็พุทโธๆ เอ้อ!เหนื่อย กว่าจะวิ่งกลับมาเหนื่อยเลิกดีกว่า

แต่ถ้ามันผูกไว้นี่นะ เวลาเราจะนั่งพุทโธเห็นไหม เราจะนั่งปั๊บนี่วัวเราผูกไว้ ก็สติสัมปชัญญะมีทั้งวันไง มีสติดูแลไง นี่ชีวิตประจำวันไง พุทโธนี้เห็นไหม กำหนดนามรูป กำหนดอะไร นี่ชีวิตประจำวัน เราก็ใช้ของเราอยู่แล้ว แต่มันใช้อยู่อย่างนี้มันเป็นจิตสามัญสำนึกคือรักษาไว้ ก็โคมันผูกไว้มันก็เล็มหญ้าไปทั้งวัน นี่ก็เหมือนกันเราตั้งสติไว้ เราพุทโธๆ ไว้ มันก็คิดของมันไปตามสามัญสำนึกของมันนะ มันก็อยู่กับธรรมชาติของมันนะ เวลาเราจะมาพุทโธ เราจะมาปฏิบัติเห็นไหม เราก็ได้มันมาเลย

ฉะนั้นสิ่งที่เราอยู่ดีๆ มันก็แวบมานี้เห็นไหม แวบมานะ พอแวบมาดูลมหายใจ เราก็ดูลมหายใจ ดีถ้าแวบมาดูลมหายใจได้ เราก็ดู ดูลมหายใจนะ

ถาม : ดูลมหายใจ รู้สึกอึดอัดขึ้นมาก็ควรดูลมหายใจต่อหรือไม่

ตอบ : อึดอัดนี้มันอึดอัด คำว่าอึดอัดนี่นะ นี่เขาจะพูดอย่างนั้นเลย เวลาอึดอัด เวลาขัด เวลามันเกร็งมันต้องวางเป็นกลาง อึดอัดเราก็ตั้งสติ ตั้งสติให้ดี ถ้าลมหายใจนะ ถ้ากำหนดลมหายใจ ถ้ามันจะเป็นสมาธิขึ้นมานี้ บางทีเราต้องหาที่นั่งเลยล่ะ ถ้าจิตมันจะลงนะ ลมหายใจมันจะเริ่มแบบว่าสติมันจะหดเข้ามาๆ ถ้าจิตมันจะเป็นสมาธินะ แต่ถ้ามันอึดอัดอย่างนี้ เราจะบอกว่าเราพูดดักหน้าไว้ ถ้าจิตอย่างนี้นะ เดี๋ยวมันวูบ มันจะลง บางคนนะภาวนาเห็นไหม กำหนดพุทโธ กำหนดลมหายใจทั้งวันไม่ได้เรื่องนะ เวลาไปขับรถนะ มันจะลงนะ มึงจอดข้างทางให้ดีๆ นะมึง มึงจอดข้างทางไม่ดีเดี๋ยวมึงมีปัญหา ลงไปแล้วมึง ข้างหน้ารถทั้งนั้นนะ

นี่เวลาตั้งใจมันจะไม่ได้ เวลาไม่ตั้งใจมันจะได้ไง เวลาไม่ตั้งใจมันจะได้ เวลาขับรถขึ้นมานี้ตั้งสติดีๆ นี้ จิตมันจะลงนี้วูบวาบๆ มันเป็นไปได้ไง ถ้าอย่างนั้นจิตมันเป็นอย่างนี้ เวลาจิตมันจะลง จิตมันจะไป จิตมันจะลงจริงๆ นะ ไอ้อย่างนี้มัน ประสาเรา มันเป็นวาสนาคน คนอย่างนี้มี ถ้าคนอย่างนี้มีเราก็ดูลมหายใจ เราตั้งลมหายใจของเราไว้ ถ้ามันแวบเข้ามา อย่าให้มันอึดอัด เราตั้งสติไว้

แต่ถ้าพูดถึงว่าเวลาชีวิตประจำวัน เราก็อยู่กับชีวิตประจำวันนี้ เหตุการณ์อย่างนี้มันควรจะไปอยู่เวลาเรานั่งสมาธิ หรือเราเดินจงกรม มันจะได้เป็นประโยชน์ต่อไปไง เหตุการณ์อย่างนี้มันควรจะไปอยู่ในทางจงกรม มันควรจะนั่งสมาธิภาวนา และถ้ามันสงบขึ้นมามันดีขึ้นมา เราก็จำ การจำเขาเรียกวสี การจำวิธีการเข้าออก การเข้าออก เราไม่ใช่เข้าออกประตู การเข้าออกนะเหมือนน้ำในแก้วนะ ตะกอนมันจะนอนอยู่ก้นแก้ว จิตมันสงบนี้มันเหมือนตะกอนนอนก้นแก้ว เวลาขยับตะกอนมันก็ขึ้นมาเห็นไหม นี่เข้าออกอย่างนี้

เวลาเป็นสมาธิมันจะเป็นสมาธิจากความรู้สึกหดเข้ามาถึงตัวจิต นี่คือสมาธิ อูย สมาธิต้องเข้าออก มันนึกว่าต้องเข้าบ้าน มันจะเปิดประตูนะไปเปิดนู่น ไม่ใช่ สมาธิการเข้าออกคือมันสงบตัวลง แล้วเวลามันจะออกนะคือมันคลายตัวออก การออกมานี้คือว่าถ้าจิตสงบปั๊บ มันดับหมดนะ สักแต่ว่า สักแต่ว่ารู้ เวลามันจะออกนี้ มันเริ่มรับรู้ไง เริ่มรับรู้อาการ เริ่มรับรู้ถึงความรู้สึกของใจของร่างกาย รับรู้ความรู้สึกนี้ก่อน พอรับรู้ความรู้สึกปั๊บนี่ มันก็ขยับขยาย ความคิดมันก็เริ่มกระจายออกมา นี่การเข้า-ออกสมาธิ

ถ้ามันจะเข้ามันจะออกนะ เราเข้าออกอย่างนี้ แล้วถ้าชำนาญ เข้า-ออกแล้วนี่ เราจำ เขาเรียก ครูบาอาจารย์ท่อนสอนว่า “ชำนาญในวสี ชำนาญในการรักษาจิตในการเข้า-ออก” ถ้าชำนาญในการเข้าออกนี้สมาธิไม่มีวันเสื่อม เราพูดบ่อย สมาธิเป็นอนิจจัง สมาธินี้มีไว้ให้เสื่อม ถ้าเอ็งรักษาสมาธิ แต่เอ็งไปรักษาวิธีการนะ การชำนาญในวสีนี้ เราฝึกฝนตรงนี้ เหตุผลนี้เราชำนาญตรงนี้ สมาธิมึงจะไม่มีวันเสื่อม สมาธิจะไม่มีวันเสื่อม ถีบมันไปมันก็ไม่ไป ถีบสมาธิไปมันก็ไม่ไปมันอยู่กับมึงนี่ เพราะอะไร เพราะเราชำนาญ เรารักษา เห็นไหม สมาธิมันมั่นคงแล้วนี่เราค่อยออกวิปัสสนา

เขาบอกไง พุทโธๆ แล้วเมื่อไหร่มันจะได้สมาธิละ โอ๊ย สมาธิชาติหน้าก็ไม่ได้ หลงทำพุทโธกันมานี้ไอ้พวกหลง พวกปฏิบัตินี้หลงกันมา กลับมาใช้ปัญญาดีกว่า”

ปัญญาอย่างนั้นเลยเป็นปัญญามายาภาพ มารยาสาไถย เพียงแต่เอาความคิดมาตรึกธรรมะพระพุทธเจ้าทั้งนั้นแหละ เอาความคิดไง เอาความคิดที่ทางโลก ทางสัญญาอารมณ์ มาตรึกธรรมะพระพุทธเจ้า แล้วก็เอาธรรมะพระพุทธเจ้ามาคุยอวดกันนะ โอ้ สัจธรรมนะ อูย สัญญานะ จิตดวง ละเอียดดวง มึงจำชื่อมันมาทั้งนั้นนะ มึงไม่เคยเห็นนะ ถ้ามึงเคยเห็นนะ คนภาวนาเป็นนะ จิตมีหนึ่งเดียว ไม่มีร้อยดวงพันดวงหรอก

ไอ้กี่ร้อยดวงก็แล้วแต่มันเกิดมาจากจิตดวงนี้ เกิดจากจิตที่ส่งออก จิตมีหนึ่งเดียว ไม่มีร้อยแปดร้อยเปิดไม่มี ไม่มี! มันมีแต่ว่ามันคิดไปแล้วไง อย่างเช่น เรากินข้าวนี้ คำที่หนึ่ง คำที่สอง คำที่สาม คำที่สี่ คำนั้นคืออย่างนั้นๆ แต่กินแล้วว่าปากมีอันเดียว กินทีเดียวจบ แต่กินกี่คำเท่านั้นเอง จิตมีร้อยดวงพันดวงไม่มีหรอก ไม่มี ไม่มีความเป็นไป

เราตั้งสติมาอย่างนั้น ถ้าเราตั้งสติของเรามา เราทำของเรามา จิตมีหนึ่งเดียว พอจิตสงบแล้วเราชำนาญของเรา แล้วออกรู้นะ พอจิตสงบออกรู้นะ สมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิ สมาธิที่ตั้งมั่น ถ้าเกิดปัญญาขึ้นมาจะเกิดปัญญาเป็นสัมมาปัญญา สัมมาปัญญานี้จะตรัสรู้จะวิมุตติสุข จะตรัสรู้กิเลสโดยชอบ ตรัสรู้นะมันจะฆ่ากิเลสโดยชอบ ความชอบธรรม แต่ในการปฏิบัติที่เขาว่ากันนี้มันไม่ชอบธรรม มันไม่ชอบธรรมเพราะอะไร เพราะมีตัวตน มีเรานี่แหละเข้าไปจัดการ มีจิตนี้แหละ มีตัวหลงนี้แหละ เข้าไปจัดการ เข้าไปบริหารไง มันเลยไม่เห็นความจริงไง

แต่ขณะที่จิตเราสงบนี้มันไม่มีตัวตน ไม่มีสิ่งใดๆ มันเป็นสัจจะ มันเป็นอริยสัจจะ มันเกิดจากสัจธรรม ธรรมะที่มีอยู่แล้วโดยดั้งเดิม เราพยายามก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาจะเป็นสติ เป็นสมาธิ เราก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาจนธรรมจักรมันหมุนนะ จนจักรมันหมุนนะ จนมรรคแปดมันรวมตัว มรรคแปดมันมรรคสามัคคีมันรวมตัวไป นี่ไงสิ่งที่มันหมุนไปนะ มันถึงจะตรัสรู้เองโดยชอบ ชอบธรรมเพราะอะไร เพราะไม่มีเราเข้าไปให้ค่า ไม่มีเราเข้าไปจัดการ ไม่มีกิเลส ไม่มีตัณหา ไม่มีสิ่งใดๆ เข้าไปกวนมันเลย

แต่วิปัสสนาสายตรงๆ นะ กูทำเองทั้งนั้นนะ กูคิด กูนึก กูจัดการเองเรียบร้อยหมดเลย มันเลยไม่เห็นจิตไง คำพูดมันฟ้องนะ เราเห็นชัดเจนมาก แล้วเราจะอธิบายออกไปเรื่อยๆ เพราะคำพูดของเรา เราพูดออกไปนี้ มันจะเป็นหลักฐาน แล้วถ้าคนเอาไปขยายความมันจะได้ประโยชน์ แต่ถ้าเอาไปขยายความแล้วได้ประโยชน์ มันจะไปลบล้างเขา แล้วเขาจะโต้แย้งกลับมา โต้แย้งกลับมามันก็เป็นอะไรนะ วิสัชนาในธรรมะเพื่อประโยชน์กับชาวพุทธเนาะ เอวัง