เทศน์บนศาลา

ขอบกระด้ง

๑ มิ.ย. ๒๕๔๓

 

ขอบกระด้ง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

คนเราเกิดมาอย่าประมาท ชีวิตนี้สั้นนัก เกิดมาในชีวิตแล้ว ชีวิตเกิดมาเพราะติดในชีวิตนั้นไง คิดว่าเกิดมาชาตินี้แล้วก็ยังอยู่ยั่งยืนยงตลอดไป ชีวิตนี้ไม่แน่นอน อนิจจังทั้งหมด การเกิดการตาย เกิดซ้ำเกิดซาก เกิดมาก็นึกว่าเกิดใหม่ เกิดมาเหมือนมดไต่ขอบกระด้ง มดไต่ไปขอบกระด้ง ไต่วนไปเวียนมาในขอบกระด้งนั้น ก็ว่าเดินอยู่ตลอด ไต่ไปตลอด นี่วัฏวน

จิตเหมือนมดตัวนั้นเวียนตายเวียนเกิดมาตลอดเวลา เราเกิดขึ้นมาก็เหมือนกับของใหม่อยู่ตลอดเวลา ของใหม่ไง ติดอยู่ในของใหม่นั้น เกิดขึ้นมาแล้ว ชีวิตนี้เกิดมา เกิดขึ้นมาก็ยึด ความยึดมั่นถือมั่นในชีวิตนั้น ติดอยู่ในชีวิตนั้น ชีวิตนั้นยึดถือ ความยึดถืออันนั้นเป็นทุกข์ ถ้าไม่ยึดถือล่ะ ความไม่ยึดถือนั้นก็ไม่เป็นทุกข์ แต่ชีวิตนี้ก็เวียนไป เห็นไหม เวียนในวัฏวน เวียนในขอบของกระด้ง

การเกิดมาในขอบของกระด้ง ในการศึกษาเล่าเรียนมาก็แล้วแต่ การศึกษา การธรรม เราศึกษาธรรม เพราะมีธรรมเราถึงยอมรับ เราถึงเข้าใจในชีวิต ในวัฏวนนั้น ถ้าไม่มีธรรมนั้น ความศรัทธา ความเชื่อ ความเข้าใจในสัจจะของชีวิต ที่ว่าศาสนาพุทธประเสริฐ ประเสริฐตรงนี้ไง ประเสริฐเพราะว่าตอบปัญหาของชีวิตได้ทั้งหมด

กรรมพาเกิด เพราะเรามีกรรมเราถึงได้มาเกิดเกิดซ้ำเกิดซากอยู่ ไต่อยู่บนขอบของกระด้ง แต่พอเกิดมาแล้วมันใหม่ตลอด เพราะชีวิตนี้ชีวิตเดียว

เราเข้าใจว่าชีวิตนี้เป็นชีวิตของเรา แล้วเราก็ใช้ชีวิตนี้อย่างความเพลิดเพลินของโลกนี้ไป นี่โลกเขาเพลินกันไป การเวียนว่ายตายเกิดนั้นมันเป็นของเก่า ไม่ใช่ของใหม่เลย เกิดซ้ำเกิดซาก เกิดตาย เกิดตายอยู่ในวัฏฏะมาตลอด โลกก็หมุนไปเปลี่ยนไป เกิดมาใหม่ก็ต้องมาศึกษาชีวิต เห็นไหม เด็กเกิดขึ้นมาใหม่ก็ต้องมาศึกษาเล่าเรียนวิชาการ วิชาการในการเลี้ยงดำรงชีวิตเท่านั้นนะ

การดำรงชีวิต ปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัย แสวงหามาก็เพื่อแลกปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัยให้ชีวิตนี้ดำเนินไปได้ พอมีความดำรงอยู่ได้ในชีวิตนี้เท่านั้น นี่หาปัจจัย ๔ มา การหาปัจจัย ๔ การศึกษาเล่าเรียนของโลกเขา เรียนของโลกเขา การศึกษาเล่าเรียน เรียนมาเพื่อมีวิชาชีพ วิชาชีพมาก็เพื่อดำรงชีวิตนี้เท่านั้นเอง นี่วิชาชีพ แต่การแสวงหาอันนั้นมามันเป็นทุกข์

การดำรงชีวิตนี้ การดำรงชีวิตอยู่เพื่อให้มีความสุขความสบาย เราเข้าใจตรงนั้น แต่ศาสนาสอนว่า ปัจจัย ๔ นี้เครื่องอยู่อาศัย เครื่องอยู่อาศัย อาศัยในโลกนี้เป็นที่อาศัย ไม่ยึดมัน ไม่ยึดมันแล้วให้เข้าใจสัจจะในชีวิตของเรา ในสัจจะของชีวิต ชีวิตนี้ สัจจะของชีวิตนี้คืออะไร สัจจะของชีวิตของโลกของมนุษย์เขา การเกิดและการตาย เวียนตายเวียนเกิดอยู่ แต่สัจจะของชีวิตคือหัวใจ หัวใจที่ว่ามันไม่เคยตาย มันเวียนเกิดเวียนตายเหมือนมดไต่บนขอบของกระด้งนั้น มดไต่ไปภพชาติหนึ่งก็เป็นของใหม่ ภพชาติหนึ่งก็เป็นของใหม่

“จิตนี้ไม่เคยตาย” สัจจะความจริงอันนี้ในหลักของศาสนา ในหลักของศาสนาว่า ใจนี้ใจไม่เคยตาย พระพุทธเจ้าถึงสอนลง ศาสนาสอนลงภาชนะที่เครื่องเข้าไปสัมผัสธรรมคือใจ ใจทุกๆ ดวง ใจของมนุษย์ ใจของเทวดา ใจทุกดวงนั้น ใจเป็นที่อยู่ของกิเลส ใจนั้นถึงสัมผัสกิเลส ใจนั้นบรรจุกิเลสแล้ว แล้วไต่ไปๆ ในวัฏวนนั้น นี่ความลึกเข้ามาของหลักของใจ หลักของใจที่ไต่ไปขอบของกระด้ง เห็นไหม นี่เวียนไป

เราศึกษามา ศึกษาเพื่ออะไร? เราศึกษามาเพื่อทรมานตนให้เห็นไง ให้เห็นตนขึ้นมาก่อน แต่โลกเขาศึกษามา ความศรัทธาของชีวิต ความศรัทธา ความเชื่อ มันก็มีความลังเลสงสัย กิเลสความลังเลสงสัยของเรานี่ ว่าการดำรงชีวิตอยู่เมื่อนั้นเมื่อนี้ จะปฏิบัติต่อเมื่อเราพร้อมก่อน จะปฏิบัติต่อเมื่อเราดำรงชีวิต

ความกิเลสในหัวใจของสัตว์โลกมันมีหยาบ มีกลาง มีละเอียด ความหยาบๆ ของกิเลสก็ทำให้เราเวียนตาย ชีวิตนี้หมดไป ว่าจะออกประพฤติปฏิบัติจนเผลอไปลืมไป ผัดวันประกันพรุ่งไป แล้วกว่าจะได้ปฏิบัติ ชีวิตนี้หมดแล้ว ความเพลินความเคลิบเคลิ้มไปชั่วครั้งชั่วคราว แล้วว่าชั่วครั้งชั่วคราวนะ แต่มันปิดใจไว้

ความปิดใจไว้ ปิดคือว่าปิดการเวลาไว้ กาลเวลาล่วงไปๆ ถึงไม่ให้ประมาทในชีวิตไง ชีวิตนี้สั้นนัก ๘๐ ปีก็ตายไป ๑๐๐ ปีก็ตายไป นี่ชีวิตนี้ แล้วเราก็เพลินกันอยู่ในชีวิตนี้ เวียนตายเวียนเกิด เวียน ๒ ชั้น ๓ ชั้น

ในหัวใจเหมือนมดไต่ขอบกระด้ง การเสวยภพเสวยชาติขึ้นมาเป็นชาติๆ ขึ้นมา มดไต่ขอบกระด้งมา พอไต่ขึ้นมาขอบกระด้ง ความใช้ชีวิตในชีวิตปัจจุบันนี้ ๑๐๐ ปีก็วนไปในวันคืนล่วงไปๆ วันคืนก็ ๒๔ ชั่วโมงอยู่อย่างนี้ ตั้งแต่เด็กจนเป็นผู้ใหญ่จนแก่จนตายไป แต่วันคืนเสียเวลาไป นี่ไต่ขอบกระด้งของชีวิตปัจจุบันนี้ กับไต่ขอบกระด้งของวัฏวน

วัฎวนจิตมันเวียนตายเวียนเกิด มันไปลึกลับกว่านี้อีกมากนัก แต่แค่ชีวิตเรานี้ เราก็ยังสงสัยในชีวิตของเรา เราสงสัย เราเคลิบเคลิ้ม เราปรารถนา เราหวังในชีวิตเราอยากให้มีความสุข อยากให้มีความเจริญของเราตลอดไป นี่มดไต่ขอบกระด้งเวียนไป ๒๔ ชั่วโมง เวียนไปวันหนึ่งๆ วันหนึ่งก็ขอบกระด้งรอบหนึ่ง วันหนึ่งก็ขอบกระด้งรอบหนึ่ง หมุนไปๆ หมุนไปอยู่อย่างนี้หรือ

แล้วในความว่า อยากประพฤติปฏิบัติ อยากจะหาทางออกนั้นก็เป็นความคิดไว้เฉยๆ เห็นไหม กิเลสมันบังไว้ มันบังอย่างนั้น มันบังไว้เฉยๆ ให้ความคิดมี แต่การคิดจะประพฤติปฏิบัติ การดำรงชีวิต การพยายามจะหาทางออก ความจะหาทางออก ออกไปประพฤติปฏิบัติ ออกป่า ออกหาที่วิเวกเพื่อจะทำความสงัดของใจขึ้นมา ทำความสงัดของใจขึ้นมาเพราะอะไร

เพราะมีศาสนาแล้ว ในเมื่อมีศาสนามีมรรคมีผลอยู่แล้ว มรรคผลนี้พระพุทธเจ้าวางประทานไว้เป็นเครื่องดำเนินของชาวพุทธเรา นี่เพราะเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา พุทธศาสนาศาสนาสอนตรงไหน? ศาสนาสอนทาน ศีล ภาวนา

ทาน ศีล ภาวนา เราก็มีพร้อมอยู่แล้ว ทาน ศีล ภาวนาก็ทำภาวนา แต่ผลที่ได้ขึ้นมาจากภาวนามันเป็นเนื้อเป็นหนังขึ้นมาไหมล่ะ ทานก็ทานไป ทานเพื่อจะให้จิตใจนี้ควรแก่การงาน จิตใจนี้ได้สละทานออกไป พอสละทานออกไป จิตใจอ่อน จิตใจควรแก่การงาน มีศีลเพื่อควบคุมใจของตัวให้ศีลมีปกติ ความเป็นปกติ ศีลคือความปกติของใจ ใจไม่มีมโนกรรม ความดำริ ความคิดออกไปในทางนอกเรื่องนอกราว ถ้าความคิดออกไปนอกเรื่องนอกราว มโนกรรมก็เกิดขึ้น นี่ศีลบังคับใจให้เป็นความปกติตรงนั้น ตรงความปกติของใจ ความปกติของใจเพื่อทำให้เกิดสมาธิขึ้นมา แล้วเกิดภาวนาขึ้นมา ภาวนาให้เป็นชิ้นเป็นอันไง

ความภาวนาเป็นชิ้นเป็นอัน เห็นไหม ขอบกระด้ง ความหมุนไปของใจ ความหมุนไปของใจ ใจนี้มีอะไรเป็นขอบของใจ ใจนี้กว้างขวางมาก ใจนี้พุ่งไป ๓ โลกธาตุนี้คิดได้หมดเวลาคิดออกไป นี่ใจไม่มีขอบไม่มีเขต หมุนออกไปตลอดเลย แต่เวลาถ้าเราภาวนาเข้ามาจนจิตนี้สงบเข้ามา จิตสงบเข้ามาเพื่อหาอะไร? หาขอบไง หาขอบหาเขตของใจ ขอบเขตของใจ ใจที่จะสงบเข้ามามีขอบเขตของใจ

ขันธ์ ๕ ขันธ์นี้เป็นขอบเขตของใจ ขอบเขตที่ว่าใจนี้ออกไปด้วยความคิด ความคิดเกิดมาจากสังขารปรุง สังขารแต่ง นี่ขอบเขตของใจ ใจนี้มีขันธ์ ๕ ควบคุมอยู่ ขันธ์ ๕ ควบคุมใจไว้ นี่ขอบของใจ มันก็ไต่ไปในขอบของใจนี้เหมือนกัน ความคิด ความอ่าน ไต่ไปกับขอบของใจนี้ วิปัสสนาไปก็วิปัสสนาไปในขอบของใจนี้ ขอบของกระด้ง ขอบจากวัฏวนนี่ขอบใหญ่มากนะ ขอบวัฏวน วนไปวนไปในวัฏวนนี้ขอบใหญ่มาก จิตนี้หมุนไปแล้วก็ได้เป็นมนุษย์มา ได้เราเป็นมนุษย์มา เพราะเราเกิดมาถึงภพของมนุษย์ นี่ขอบวัฏวน

เราได้เป็นมนุษย์ขึ้นมา เพราะกรรมทำให้ใจนี้เกิดดับ เกิดดับ ใจนี้เกิดดับ เกิดดับ เกิดแล้วเสวยภพเป็นมนุษย์ พอได้เป็นมนุษย์ก็หลงในความเป็นมนุษย์นี้ หลงในความเป็นมนุษย์ไป เพลิดเพลินไปในโลก เพลิดเพลินไป เพลิดเพลินไปจนสร้างครอบครัว สร้างขึ้นมา สร้างบ้านสร้างเรือน สร้างขึ้นมาให้เป็นภาระรุงรังไปหมด ความเป็นภาระรุงรังอันนั้นก็สร้างทุกข์ขึ้นมาพร้อมกันไง ความโศกเศร้าพิไรรำพันออกไปเมื่อไม่ประสบความสมใจของชีวิต

เห็นไหม ชีวิตนี้เนื่องด้วยกรรม กรรมนี้เป็นเผ่าพันธุ์ กรรมนี้เป็นแดนเกิด กรรมนี้เป็นเผ่าพันธุ์ กรรมนี้กระทบกระทั่งกันไป ในโลก ในการดำรงชีวิตนี้ก็มีกรรมนั้นเป็นเครื่องดำเนินไป กรรมอันนี้ทำให้กระทบกระทั่งกันไปตลอดเวลา เห็นไหม ความไม่ประสบความพอใจ ความไม่ประสบความสมใจของชีวิตนั้น ชีวิตนั้นถึงได้พิไรรำพันความเศร้าโศกความเสียใจของชีวิตนั้น ความคร่ำครวญ ความร้องไห้ความพิไรรำพัน

น้ำตานี้แม้แต่ในพระไตรปิฎกว่า แม้ชีวิตๆ หนึ่งนะ น้ำตาที่ร้องไห้แล้วกักเก็บสะสมไว้ ทะเลนี้เทียบไม่ได้นะ แต่นี้เพราะชาติหนึ่งกาลเวลามันร้องไห้ไปๆ กาลเวลาเผาไป เราถึงไม่เห็นความทุกข์อันนั้น นี่ความหลงใหลในชีวิต

เพราะเราได้ภพของมนุษย์ เพราะภพของมนุษย์นี้มีกายกับใจ กายนี้เป็นขอบเขตที่ควบคุมใจไว้ ใจอยู่ในกาย เพราะมีร่างกายแข็งแรง หัวใจก็เข้มแข็ง เราถึงสมควรที่จะออกรบ ออกรบกับตัวเองไง อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ชนะโลกทั้งโลกก็สร้างเวรสร้างกรรมขึ้นมา แล้วไม่มีประโยชน์กับใจดวงนี้ เพราะชนะโลกขนาดไหนก็แล้วแต่ เราได้ชัยชนะเขามา ชนะโลก เกิดสงครามขนาดไหนที่เขามีการต่อสู้กัน จะแพ้หรือชนะมันสร้างเวรสร้างกรรม ผู้แพ้หรือผู้ชนะนั้นต้องหมุนไปในขอบของกระด้งทั้งหมด คือต้องหมุนเวียนตายเวียนเกิดไง ความชนะนั้นก็สร้างกรรมสร้างเวร

ความดีความชั่วในฝ่ายแพ้ ฝ่ายชนะ ฝ่ายอธรรม ฝ่ายธรรม เขาก็มีกรรมดีกรรมชั่วของเขาทั้งนั้น กรรมดีกรรมชั่วนั้นก็ส่งหมุนเวียนไป ความหมุนเวียนไปมันก็อยู่ในขอบของกระด้ง นั่นน่ะ ชีวิตก็วนไปในวัฏฏะที่หมุนเวียนไป

เราเกิดมาแล้ว พระพุทธศาสนาถึงว่าให้ขอบนี้เป็นขอบของเรา ให้ขอบกระด้งนี้เป็นปัจจุบันนี้ให้เราทำของเราให้ได้ ให้เราหมุนเวียนเข้ามาถึงอาการของใจ เห็นไหม ขอบกระด้งเป็นอาการของใจ แล้วเข้าไปถึงใจให้ได้ไง

พอเข้าไปถึงใจ ใจเข้าไปสงบเข้าไป ความสงบเข้าไป ความเวิ้งว้างของใจที่จะสงบเข้ามา เห็นไหม มันต้องมีความเข้าใจชีวิตก่อน เข้าใจชีวิตว่า ชีวิตเกิดขึ้นมาแล้ว ความดำรงออกไป มันเป็นไปด้วยโลกปัจจุบันนี้ มันเป็นฐานไง ถึงว่าในขอบกระด้งนี้ก็เป็นประโยชน์ ประโยชน์เพราะเราเกิดเป็นมนุษย์แล้วเราใฝ่ใจในการที่จะเข้าใจ เราถึงศึกษาธรรม มีธรรมแล้วเข้าไปศึกษาธรรม ไม่เหยียบแผ่นดินผิดไง พบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาจะให้คุณประโยชน์กับใจของเรา

พบพระพุทธศาสนา แล้วอยู่กับพระพุทธศาสนาไปสักแต่ว่า เข้าใจว่าเราเป็นชาวพุทธ เป็นชาวพุทธ เป็นชาวพุทธก็ทำบุญกุศลไปเฉยๆ เป็นชาวพุทธอย่างนั้น มันเหยียบแผ่นดินถูกแล้ว เจอหลักของศาสนาแล้ว แต่ไม่สามารถชักใจนี้เข้าไปให้เป็นเนื้อเดียวกันกับธรรมอันนั้นได้ ไม่สามารถดึงธรรมกับใจนี้ให้เป็นเนื้อเดียวกันได้

ให้ภพชาติสั้นเข้า ให้ขอบกระด้งนั้นแคบเข้ามา แคบเข้ามา ชีวิตนี้ก็วนไปโดยธรรมชาติของมัน เพราะมีกรรมอยู่ในจิตดวงนั้น จิตดวงนั้นมี อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ยางเหนียวอยู่ที่ต้องเหวี่ยงไป ความเหวี่ยงไปของใจดวงนั้น แรงขับไสของอวิชชา แรงขับไสของกิเลสตัณหามันต้องหมุนเวียนไป ความเหวี่ยงออกไปนั้น มันไม่มีที่สิ้นสุด

ถ้าเราเข้าถึงหลักธรรมปฏิบัติเข้ามานี่ นี่ภพชาติสั้นเข้าๆ เพราะภพชาติสั้นเข้า บุพเพนิวาสานุสติญาณที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ บุพเพนิวาสานุสติญาณไม่มีขอบ ไม่มีเขต ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติของมันก็เวียนตายเวียนเกิดอยู่อย่างนี้ มันเป็นที่น่าสลดสังเวช เห็นไหม น่าสลดสังเวชว่า เวียนตายเวียนเกิดมาทุกข์ยากมาขนาดไหนก็ไม่รู้ มืดบอด มืดบอดมาตลอด ไม่รู้ แต่พอมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนไง สอนว่า เวียนตายเวียนเกิดมาจนไม่มีขอบไม่มีเขตแล้ว แล้วจะไปข้างหน้าอีกหรือ ทำไมไม่สงสารตัวเอง

การประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนสงสารตน ตนนั้นยกตนขึ้นมาไง ต้องตนยกตนเพราะอะไร เพราะว่าร่างกายนี้ใครยกขึ้นมา ใครอุ้ม ใครพยายามยกขึ้นมาก็เท่ากับยกร่างกาย แต่หัวใจมันหนักหน่วงอยู่ในในนั้น มันยกไม่ได้ คนจะอยู่ตึกสูงขนาดไหน คนอยู่ตึกชั้นล่างขนาดไหน ความสูงความต่ำของใจมันไม่ใช่ร่างกายที่อยู่สูงอยู่ต่ำนั้น ความยกของเราคือต้องยกอาการของใจขึ้น

ใจ ใจเบา ใจหนัก ใจเบาก็เป็นกุศล ใจหนักก็เป็นอกุศล อกุศลมันเข้ากับทาน ศีล ภาวนาได้ไหม อกุศลมีแต่เรื่องทำให้จิตใจนี้เวียนตายเวียนเกิดยาวขึ้นไป แรงขับไสต้องให้หนักก้าวไปออกไป ถ้าเป็นกุศลขึ้นมา ผลักดันเข้ามา ใกล้เข้ามา ใกล้เข้ามา กุศล อกุศลทำให้ขับใจเคลื่อนไหวออกไป นั่นน่ะ ใจเบาใจหนักอยู่ที่ตรงนั้น คือว่ายกใจเราขึ้น พอใจเราขึ้นจนเป็นปกติ

ถ้าใจไม่เป็นปกติเราจะทำอย่างไรให้เป็นสมาธิได้ ใจเป็นปกติ ใจทำความสงบขึ้นมาได้ ทำความสงบขึ้นมา พอความสงบขึ้นมามันก็เวิ้งว้าง ความสงบคือมันปล่อยอารมณ์ ปล่อยสิ่งที่เป็นธรรมชาติ

มนุษย์เกิดเป็นมนุษย์ มนุษย์นี้มีธาตุ ๔ กับขันธ์ ๕...ขันธ์ ๕ นี้ควบคุมใจอยู่ ขันธ์ ๕ นี้ ขันธ์กับธาตุ ๔ เพราะขันธ์นี้มันเป็นธรรมชาติที่ว่ามนุษย์มีขันธ์ ๕...ขันธ์ ๕ นี้มีร่างกายด้วย มีขันธ์ ๕ รูปของความคิด มีเวทนา มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณ นี่ขันธ์ ๕

ขันธ์ ๕ นี้ปกคลุมใจอยู่เป็นเนื้อเดียวกันกับใจ อารมณ์ถึงหมุนเวียนไปตามนี้ หมุนเวียนไปตามนี้ เราไม่สามารถเห็นอาการอย่างนี้ได้ ไม่สามารถเห็นอาการของขันธ์ ๕ ได้ เพราะเราเป็นมนุษย์อยู่ เป็นมนุษย์ปุถุชน ผู้ที่ไม่ได้ทำความสงบเป็นธรรมชาติที่ว่ากายกับใจมันจะเคลื่อนออกไปเป็นอารมณ์ เป็นความฟุ้งซ่าน เป็นความคิดไปตลอด ไม่เคยเห็นขันธ์ ๕ เป็นอย่างไร

นี่ต้องทำความสงบก่อน ทำความสงบใจเข้ามาเพื่อให้ใจนี้เห็นไง ให้ใจนี้เป็นเครื่องมือเข้าไปจับขันธ์ ๕ อีกทีหนึ่ง เห็นไหม ใจแก้ใจ ใจจะแก้ใจเพราะใจนี้เป็นมดไต่ไปขอบกระด้ง ใจนี้เวียนตายเวียนเกิด จิตดวงนี้เวียนไปตลอด แล้วจะจับอย่างไรให้เห็นมด ถึงเป็นกระด้ง ถึงเป็นมดที่ไต่ไปเราก็ไม่รู้เราก็ไม่เห็น เป็นการอุปมาอุปมัยของธรรมเท่านั้น ของธรรมว่า ชีวิตนี้เวียนไปเหมือนไง เหมือนเฉยๆ

แต่ในเมื่อถ้าเราใช้สายตามองไปที่มดไต่ขอบกระด้งเราก็ต้องเห็นว่ามดนี่ไต่ไปขอบกระด้ง นี่เห็นชัดๆ ทำไมมดตัวนั้นมันยังเดินไปด้วยความใหม่ตลอด ไม่เคยคิดว่าเป็นของเก่าคร่ำคร่า ทำไมมดตัวนั้นโง่นัก เราจะติเตียนมดตัวนั้นได้ เห็นไหม เราสามารถติเตียนมดตัวนั้นได้ว่า ทำไมมดไม่รู้เรื่องเลย ทำไมมีปัญญาแค่นี้เองหรือ วนเวียนในขอบกระด้ง ก็ไม่เข้าใจว่าอันนั้นเป็นขอบกระด้ง เดินไปก็ว่าเป็นของใหม่ไปตลอดเวลา นี่เรายังคิดติเตียนเขาได้ แต่ทำไมเวลาใจมันหมุนไปในวัฏวนนี้แล้วใครจะไปเห็นมัน ไม่มีใครเห็นมัน แต่การอุปมาอุปมัยนั้นเพื่อเทียบเข้ามาเรื่องของจิตวิญญาณ เรื่องของจิตที่เกิดตายๆ ในวัฏฏะนี้

มันจะเห็นมดตัวนั้นได้ก็ต้องทำความสงบก่อน ทำความสงบก่อน ความสงบ จิตที่ตั้งมั่นนั่นคือมดตัวนั้นไง มดตัวที่หมุนไปในขอบกระด้งนั้น เวียนตายเวียนเกิดในขอบกระด้งนั้น นั่นน่ะ มันต้องเห็นมดก่อน เห็นมดคือเห็นใจของตัวเองก่อน

เห็นใจตัวเองคือการทำความสงบเข้ามา ถึงต้องมีทาน มีศีล มีภาวนา มีทานเพื่อได้ฟังธรรม ธรรมคือสิ่งที่ครูบาอาจารย์ชี้แนะ เป็นการชี้ทางดำเนินให้ใจทำความสงบเข้ามา เห็นไหม มีทาน ทานเพราะพอทานเข้าไปแล้วจิตได้ฟังธรรมอันนั้น ธรรมอันนั้นจะเข้ามา เข้ามาถึงทำให้ใจสงบ ใจสงบ ทำอย่างไรให้ใจสงบ

จิตนี้มันไต่ไป มันหมุนเวียนอยู่ในขันธ์ มันก็ฟุ้งซ่านอยู่ไปในขันธ์นั้น กำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ เข้าไป ให้มันหยุดนิ่ง ไม่ให้มันเดินไปในขอบนั้น ให้หยุดนิ่งด้วยอะไร? ด้วยอารมณ์ว่า พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธนี้เป็นพุทธานุสติ พุทโธนี้เป็นชื่อขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทโธนี้เป็นคำบริกรรมของใจ เป็นอาหารของใจแทน

จิตที่มันหมุนไปในขอบกระด้งนั้นคือมันเสวยอารมณ์ในขันธ์ ๕ มันก็หมุนเวียนไป มันก็ฟุ้งซ่านไปตลอดตามขันธ์ ๕ นั้น เพราะมันเสวยเป็นอาหาร เป็นอารมณ์ เสวยขันธ์ ๕ นั้นเป็นอาหาร เห็นไหม จิตถึงไม่เห็นมด มดมันเป็นนามธรรม “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยกิเลส” จิตเดิมแท้มันผ่องใส ผ่องใสจนไม่สามารถจะมองเห็นได้ จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส หมองไปด้วยอาการของใจที่ปกคลุมอยู่ เราถึงไม่สามารถเห็นมดตัวนั้นได้ เราถึงต้องทำความสงบเข้ามา ถึงต้องมีอาหารของใจ

อาหารของใจคือพุทโธ พุทโธ พุทโธ

เปลี่ยนจากเคยจิตเดิมแท้นี้ผ่องใส หมองไปด้วยอุปกิเลส นี้เป็นเนื้อเดียวกัน แยกออกมาไง แยกความผ่องใส แยกตัวให้ออกจากอาการของขันธ์ คือแยกความฟุ้งซ่านให้มีความสงบขึ้นมา จะแยกมดนั้นออกมาให้ได้ ให้เราเห็นมดตัวนั้น ให้เห็นมดตัวนั้นคือจิตนั้นสงบเข้าไป ความสงบคือความว่าง ความสุขของใจ นี่มันจับต้องใจได้

ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ กำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ จนจิตนี้สงบเข้าไป จิตนี้สงบเข้าไป สงบเข้าไป นั่นน่ะ จะรู้ด้วยตัวเอง จะรู้ด้วยตัวเองว่านี่คือความตั้งมั่นของใจ จะรู้ด้วยตัวเองว่านี่คือมด นี่คือแสงสว่าง คือจิตเดิมแท้ที่ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้มันสว่างไสวถ้าจิตนั้นมีบารมีธรรม มีบารมีจิตนั้นจะสว่าง จะผ่องใสขึ้นมา แต่ถ้าไม่มีบารมีธรรม มันจะว่างขึ้นมาเฉยๆ ว่างโดยปล่อยวางอารมณ์ ปล่อยขันธ์ ๕ ปล่อยขันธ์ ๕ จนเป็นอิสระขึ้นมา ความว่างอันนี้มันเป็นผลมหาศาล

ความเป็นผลมหาศาลเพราะมันปล่อยจากอาการขันธ์เข้ามา มันเป็นอิสระชั่วคราว ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติด้วยการสุกเอาเผากิน คนที่ไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะ จะว่าอันนี้เป็นผลแล้วนะ เพียงแต่เราหาตัวที่ไต่ไปในขอบของวัฏฏะ เราหาสิ่งที่หมุนเวียนออกไปในวัฏวนนั้น สิ่งที่ไต่เวียนไปในขันธ์ ๕ นี้

จิตเดิมแท้นี้หมุนไปในขันธ์ ๕ เสวยอารมณ์ไปในขันธ์ ๕ นั้น เราแยกอันนั้นออกมามันเป็นความเวิ้งว้าง มันเป็นความสว่างไสว มันเป็นความผ่องใส ก็ว่าอันนี้มันเป็นธรรม เพราะอะไร เพราะเป็นผู้ที่สุกเอาเผากินไง

ความไม่มีสติ ไม่มีความยับยั้ง ไม่มีความชั่งใจ ควรจะได้ผลจากการประพฤติปฏิบัติ กับจะได้แค่เป็นความผ่องใสแล้วจะเคลิบเคลิ้มว่าเป็นผล สุกเอาเผากินอยู่ตรงนี้ไง อยู่ตรงความผ่องใส ความปล่อยออกมาจากขันธ์ คือจิตนั้นปล่อยขันธ์ออกมาเฉยๆ ความปล่อยขันธ์ออกมาเฉยๆ เป็นความอิสรเสรี ความเป็นอิสรเสรีมันจะมีความเวิ้งว้างมีความสุขในตัวมันเอง อันนี้เราเป็นคนที่ว่ากิเลสในขณะประพฤติปฏิบัติ กิเลสในการประพฤติปฏิบัติมันจะให้ค่าไง นี่มันไม่เป็นปัจจุบันธรรม

ปัจจุบันธรรมคือปัจจุบันธรรม ปัจจุบันคือเดี๋ยวนั้น เหตุที่เกิดซึ่งหน้าเป็นปัจจุบันเดี๋ยวนั้นที่ว่าสิ่งนี้เป็นความสงบของใจเท่านั้น เป็นความสงบของใจ ณ ปัจจุบันเป็นอย่างนี้ แต่ในความคาดความหมายของกิเลส ของมดตัวนั้น มดตัวนั้นมีกิเลส มดตัวนั้นคือใจทุกดวงต้องมีกิเลสในธรรมชาติของมัน มันคาดมันหมายไป ความผ่องใส ความเวิ้งว้างอันนี้ว่าเป็นผล ผลของความเวิ้งว้างไง หาสิ่งที่มารองรับ เพราะสุกเอาเผากิน

คนที่สุกเอาเผากิน คนไม่มีความใคร่ครวญจะหาเหตุมาหนุน จะพยายามหาเหตุมาหนุน มาเสริมไง หาเหตุมาเสริมว่าสิ่งนี้เป็นผล ควรคุณค่ามรรคผลนิพพานขั้นไหนขั้นใดๆ นี่ความเสริมอันนี้เข้าไป พอเสริมขึ้นมาว่าจิตดวงนี้มันเป็นผลแล้ว นี่สุกเอาเผากิน ความสุกเอากินควรที่ควรแก่การงาน มันเลยไม่เป็นการงานขึ้นมา มันไม่ควรเป็นการงานในมรรคอริยสัจจัง เห็นไหม มันเป็นการงานของสมถธรรม นี่สมถะ วิปัสสนา

ถ้าเป็นการงานของสมถะขึ้นมามันเป็นความสงบ...ถูกต้อง ถูกต้องแล้วต้องวิปัสสนาขึ้นไป วิปัสสนาในขอบของใจนั้นล่ะ ถ้าวิปัสสนาในขอบของใจ เห็นไหม วิปัสสนาในขันธ์ ในสังขารที่ปรุงที่แต่งให้ใจนี้ฟุ้งซ่าน ในสัญญาที่ยึดมั่นถือมั่นนั้น ในเวทนา ในความสุข พอใจไม่พอใจในขอบนั้น ในรูป ในรูปคือหมุนเวียนไป ในสัญญา ในการยึดมั่น ในสัญญาเกิดก่อน ขอบของใจนี้ก็จะเกิดขึ้นมา วิปัสสนามันจะเกิดขึ้นด้วยการใคร่ครวญอย่างนั้น ใคร่ครวญแล้ว ถ้าปล่อยออกมาก็ต้องไม่สุกเอาเผากินอีกล่ะ

ถ้าการสุกเอาเผากิน ปล่อยขอบของกระด้งเข้ามา ในเมื่อมดตัวนั้นไต่ไปในขอบของกระด้งนั้น ไต่ไปในอารมณ์ในขันธ์ ๕ นั้น แล้วปล่อยออกมา การปล่อยออกมาก็ปล่อยอะไรออกมา? ปล่อยขันธ์ ๕ ออกมา ปล่อยขอบของกระด้งแล้วตัวมดนั้นล่ะ ตัวมดนั้นเข้าใจเรื่องของกระด้งไหม เข้าใจเรื่องของขันธ์ไหม ความเข้าใจเรื่องของขันธ์ เห็นขันธ์ตามสภาวะตามความเป็นจริง ถ้าความไม่เข้าใจในเรื่องของขันธ์ การวิปัสสนาไป วิปัสสนาไปมันก็จะปล่อยออกมาเหมือนกัน จะแยกออกมาเป็นครั้งเป็นคราว

ความแยกออกมาเป็นครั้งเป็นคราว ถ้าไม่เป็นปัจจุบันธรรม มันก็จะมีการเสริม ความด้นความเดา ความหาสิ่งที่มาคาดมาหมาย มารับรองไง ความรับรองของกิเลส กิเลสรับรองตัวเอง ความคิดของตัวเองรับรองว่าการปล่อยขันธ์เข้ามานั้นเป็นสัจจะความจริง แต่มันไม่ใช่สัจจะความจริงเพราะอะไร เพราะอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นนั้นมันแก่นของกิเลส แก่นของกิเลสคือความยึดมั่นถือมั่นระหว่างใจกับขันธ์มันจะยึดกันมาก ความยึดกันมาก เพราะขันธ์นี้มันก็เทียบมาถึงกายด้วย นี่มันยึดโดยธรรมชาติของมัน

เพราะเราเกิดเป็นมนุษย์ มันเหมือนกับเป็นสิ่งที่เป็นเนื้อเดียวกันมา สิ่งที่เป็นเนื้อเดียวกันเพราะอะไร เพราะขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ นี้เป็นภพของมนุษย์จะมีธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ โดยธรรมชาติ โดยสัจจะความจริง เพราะมนุษย์มีภพอย่างนี้ มนุษย์มีภพอย่างนี้มันก็เป็นเนื้อเดียวกันมาตลอดเพราะเราเกิดมาอย่างนี้

แต่เพราะเราเข้าใจธรรม เราเข้าใจธรรม เข้าใจโดยสุตมยปัญญา สุตมยปัญญาที่ว่าเราศึกษามา สุตมยปัญญา จินตมยปัญญาแล้วก็เป็นภาวนามยปัญญา ในเมื่อเราทำภาวนากันอยู่จะให้ตามความเป็นจริง ต้องให้เป็นปัจจุบันธรรม ภาวนามยปัญญาเคลื่อนไปแล้วมันจะเป็นความจริงของภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญาไปเป็นปัจจุบัน เป็นสมุจเฉทปหานขาดออกไปโดยสัจจะ

แต่ในการปล่อยวางมันไม่ใช่การขาดออกไปโดยสัจจะ การปล่อยวางออกไปเป็นการปล่อยวางโดยชั่วคราว การปล่อยวาง เพราะสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่น สิ่งที่เป็นเนื้อเดียวกัน มันต้องแตกสลายออกไปเพราะพลังงานที่เราเข้าไป เราพยายามส่งเสริมขึ้นไป ส่งเสริมขึ้นไปจากการวิปัสสนาของเรา ในเมื่อเราทำความสงบขึ้นมาแล้ว สงบนั้นเป็นพลังงานอันหนึ่ง ปัญญา เห็นไหม ขาดด้วยปัญญา ปัญญาอาศัยความสงบนั้น พลังงานตัวนั้น พลังงานส่งเสริมขึ้นมาให้ปัญญานั้นเคลื่อนออกไป

ความเคลื่อนออกไปของปัญญา ให้ระหว่างว่าปัญญาเข้าใจเรื่องกระด้ง ปัญญาเข้าใจเรื่องของขันธ์ ขันธ์นี้เกิดดับๆ ขันธ์ ๕ นี้มีพญามารใช้มาเป็นประจำ พญามารอาศัยขันธ์ ๕ มา แล้วพญามารใช้มา แล้วพอขันธ์ ๕ เคลื่อนออกไป พญามารก็ตามออกไป ความเคลิบเคลิ้ม ความเป็นอดีตอนาคต ความไม่เป็นจริง ความเห็นไม่เป็นจริง

แต่ความรู้เท่า ถ้าความรู้เท่าอยู่มันก็ต้องปล่อย ความปล่อยอันนี้มันเป็นการปล่อยโดยปัญญาหมุนไป แต่มันปล่อยออกมาแล้ว มันปล่อยแล้ว คำว่า “ปล่อย” ปล่อยแล้วตามรู้ ความตามรู้อันนั้นมันไม่เป็นปัจจุบัน มันเป็นอดีต เป็นอนาคตอยู่ อดีตอนาคตคือว่าความปล่อยแล้วไม่รู้ว่าปล่อย ต้องออกมาข้างนอกว่าสิ่งนั้นปล่อยหรือไม่ปล่อย

การเทียบเคียง ถึงว่าไม่เป็นปัจจุบัน เป็นอดีตอนาคต อดีตอนาคตมันปล่อยชั่วคราว เรากำหนดตามรู้เข้าไป ตามรู้ ตามรู้ กระทบแล้วมันปล่อย มันปล่อย มันปล่อยนี่ ความปล่อยของที่ว่าปล่อยอารมณ์ออกไป อารมณ์ไม่มี ความเวิ้งว้างความสุขก็เกิดขึ้นเหมือนกัน นั่นน่ะ มันไม่เป็นปัจจุบันตรงไหน มันไม่เป็นปัจจุบันตรงที่ว่าขณะที่เป็นปัจจุบันต้องขาดพร้อมกันหมด ขาดพร้อมกันหมดแล้วความรู้เท่าจะรู้ในปัจจุบันนั้น รู้ในปัจจุบันนั้นถึงเป็นผลในปัจจุบันนั้น ถึงไม่ใช่เป็นการคาด ไม่เป็นการด้นการเดา

ถ้าเป็นการด้นการเดานี่มันไม่มีตัวนี้ มันเป็นการปล่อยๆ คำว่าปล่อยเข้ามาแล้วมีไม่มีอารมณ์...มันไม่มีอารมณ์ในเมื่อเราทำความสงบเข้ามา สมถกรรมฐานมันก็ไม่มีอารมณ์มาแล้ว สมถกรรมฐานทำให้จิตนั้นสงบเข้ามา พอจิตสงบเข้ามามันก็เวิ้งว้าง ความเวิ้งว้างของใจอันนั้น นี่มันเป็นผลที่มีขึ้นมาโดยธรรมชาติของใจ

ใจมีสุขมีทุกข์นี้เป็นพื้นฐาน แล้วจิตนี้หรือใจตัวนี้เข้าไปเสวยกับความสงบขึ้นมา ความสงบนั้นมันมีความเวิ้งว้างเป็นอารมณ์อยู่แล้ว เห็นไหม ความฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านทำให้เดือดร้อน ทำให้ฟุ้งซ่านออกไป ทำให้กระวนกระวาย ทำให้จิตนี้ไม่มีความสงบ ทำให้กระเพื่อมไป นี่จิตนี้กระเพื่อมออกไปตามอารมณ์ทั้งหมดเลย แล้วสมถกรรมฐานกำหนดเข้ามา กำหนดเข้ามา จิตนี้สัมผัสกับความสงบ ความสงบกับจิตนี้เป็นเนื้อเดียวกัน มันก็เวิ้งว้างอยู่แล้ว

การพิจารณาวิปัสสนาโดยมันปล่อยขอบกระด้งเข้ามา ความปล่อยเข้ามา ปล่อยเข้ามาแต่ตัวมดนั่นน่ะ ขาของมดปล่อยออกมามันตกอยู่ที่ไหนล่ะ นั่นน่ะ มันยังมีตัวมด มีตัวปล่อย ตัวกระด้งกับตัวมด เห็นไหม ขันธ์ ๕ คือขอบของใจก็เหมือนกัน เวลาปล่อยเข้ามามันไม่ปล่อยขาด ความไม่ปล่อยขาดเพราะความเข้าใจไม่พอ พลังงานไม่พอ มันปล่อย ปล่อยเพราะพลังงานตามมา...ฟังนะ อย่างง งงตรงนี้ไม่ได้ ไหนว่ามีพลังงานแล้วทำไมพลังงานตามมาล่ะ? พลังงานคือว่าความวิปัสสนาไป วิปัสสนา มรรค ธรรมจักรมันหมุนไป ความหมุนไปแต่มันไม่สมดุล ความไม่สมดุลของปัญญา ความไม่สมดุลในมรรค ๘ นี้ เพราะอะไร เพราะความสุขเอาเผากินอยากได้ไว อยากได้ก่อน อยากรู้ก่อน อยากก่อน

ความอยาก เห็นไหม อยากตัวนี้เป็นอะไร? มันก็เป็นสมุทัย ความอยากในผลนั้น ถ้าความอยากในผลนั้น ความอยากอันนั้นมันก็จินตนาการสร้างคอกให้กับใจตัวเองอยู่แล้ว ใจก็เข้าคอกนั้น พอเข้าคอกนั้นก็หมุนออกไป หมุนคือว่าความคิดมันก็หมุนออกไป นี่งานพลาดแล้ว

เพราะจุดของงานที่จะให้จุดของการงานนั้น ต้องวิปัสสนาตรงเข้าไประหว่างกายกับใจนั้น ระหว่างขอบกระด้งนั้น ที่ว่าให้ขันธ์ ๕ ให้เห็นสภาวะตามความเป็นจริง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป นี้เป็นอะไร? เป็นอนิจจัง ความเป็นอนิจจังในตัวของเขาก็เป็นอยู่ แต่วิปัสสนาไปเขาก็แสดงตัวให้เห็น การแสดงตัวให้เห็นคือว่าระหว่างตาของใจ ตาของธรรมวิปัสสนาไป ให้เกิดขึ้น ตั้งอยู่...ให้เห็นคือว่ามันไม่เป็นสิ่งที่ควรจะพึ่งพาอาศัยได้ มันเป็นไตรลักษณะ เพราะไตรลักษณะมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป มันเป็นอนิจจัง

สิ่งที่เป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์ เพราะว่าไม่ใช่ที่พึ่ง สิ่งที่ไม่ใช่ที่พึ่ง การแสดงตัวของขันธ์นี้ไม่ใช่ที่พึ่ง สิ่งที่พึ่งพาอาศัยไม่ได้เลย แต่ในเมื่อมันเกิดขึ้นมามันอยู่ด้วยกัน สิ่งที่อยู่ด้วยกัน เห็นไหม ระหว่างกายกับใจ กระด้ง มดกับขอบกระด้งมันอยู่ด้วยกัน สิ่งที่อยู่ด้วยกันแล้วก็คิดว่าสิ่งนี้จะพึ่งได้ ความเวิ้งว้างอันนั้นก็เป็นความเวิ้งว้างไปเถอะ ความเวิ้งว้างเพราะเป็นความสงบเข้ามา แต่มันพึ่งไม่ได้ นี่วิปัสสนาเข้าไป พลังงานเกิดตรงนี้ พลังงานเกิดตรงนี้ถึงได้ปล่อยตรงนี้ นี่พลังงานเกิด แต่มันไม่แก่กล้าไง

จิตนี้ต้องแก่กล้า ความดำริชอบ ความดำริในการใคร่ครวญนั้นต้องซ้ำเข้าไป ความซ้ำเข้าไป ไม่มีตรงซ้ำเข้าไป เพราะว่าความมักง่าย ความอยากได้ผลไวไว นี่เป็นตัณหา พอตัณหาตัวนี้เกิดขึ้นมันก็เบี่ยงเบนประเด็น เบี่ยงเบนไปว่าเป็นผล พอเบี่ยงไปว่าเป็นผลนี่ทำให้การประพฤติปฏิบัตินั้นล้ม ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นไปควรจะเป็นการงาน ควรจะได้มรรคได้ผลขึ้นมาในหัวใจดวงนั้น หัวใจดวงนั้นควรจะได้ประโยชน์ขึ้นมาจากการประพฤติปฏิบัตินี้

ก็ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาใช้แรงงานมหาศาลเลย ทุ่มทั้งชีวิตนะ ชีวิตนี้ทั้งชีวิตยกให้ มีอุปสรรคขนาดไหน สละได้ทั้งชีวิตนี้ แต่วิปัสสนาไปแล้วทำไมเอาความอยากได้ในการสุกเอาเผากิน ความมักง่าย ความอยากได้ก่อน ความซื้อก่อนขายไง แล้ววิปัสสนาไป วิปัสสนาความอยากทำให้เบี่ยงเบนประเด็นออกมา ออกว่าอันนั้นเป็นผล อันนั้นเป็นผลก็ยึดผลนั้น ยึดผลที่ผิด

ขันธ์ ๕ ระหว่างกายกับใจก็ยังเชื่อไม่ได้ แล้วตัณหาความทะยานอยากที่อยากให้เป็นไปนั้น มันเป็นอะไร? มันเป็นที่เราสร้างขึ้นมาอีกเป้าหมายหนึ่ง พอสร้างขึ้นมาเป้าหมายอีกเป้าหมายหนึ่ง ใจมันก็ออกไปอยู่ตรงนั้นไง

สร้างเป้าลวง พลังงานที่เราสร้างขึ้นมา มรรคอริยสัจจังเราสร้างขึ้นมา ควรจะสมุจเฉทปหานกิเลส กลับสร้างเป้าลวง สร้างตัณหาความทะยานอยาก นี่เวลาเราประพฤติปฏิบัติไม่ใช่ว่าเราประพฤติปฏิบัติไปแล้วมันจะเป็นธรรม ถึงว่าวิปัสสนาแล้วมันถึงไม่เป็นผล เพราะมีผลเกิดขึ้นมาไม่ได้ เพราะไม่เป็นปัจจุบัน ความปัจจุบันไม่มีหนึ่ง สอง ยังสร้างความหลอกลวงขึ้นมาให้กับใจขึ้นมากับใจ

พอสร้างความหลอกลวงขึ้นมากับใจขึ้นมาแล้ว เป้าหมายหนึ่งก็ว่าอันนี้เป็นผล แล้วยังกิเลสมันยังหลอกลวงไม่พอนะ ยังว่า ๑ ๒ ๓ ก้าวขึ้นไปเป็นขั้นๆ ขึ้นไปนะ ด้วยการก้าวเดินไป การก้าวเดินไปของใจที่ขอบกระด้งที่ไม่ได้สมุจเฉทปหานให้เป็นปัจจุบันธรรมเลยแม้แต่น้อย แล้วก็ก้าวเดินเป็นชั้นๆ ขึ้นไป นี่ตัณหาความทะยานอยาก

ความสุกเอาเผากิน ความสุกเอาเผากินมันถึงว่ามันไม่เป็นสมุจเฉทปหาน มดตัวนั้นไม่สามารถปล่อยขอบกระด้งออกมาได้ มันเป็นความซ้อนของมันไป มันละเอียด เงา เงาซ้อนๆ เป็นชั้นๆ เข้าไป เงาของใจ เห็นไหม เงาของใจ แล้วใจดวงนั้น นี่มันถึงไม่มีปัจจุบันธรรมเข้ามาระหว่างการปล่อยวาง ปล่อยอย่างไร

ขณะของจิตที่ปล่อยวางออกมาต้องมี จิตปล่อยวางออกมาเป็นชั้นเป็นตอน ขณะที่มันเป็นไป นี่ไง คือว่า อิ่ม อิ่มอย่างไร ความอิ่มในอาหารนั้น อิ่มเป็นอาหารใช่ไหม แต่ในเมื่อเราไม่มีจะกินเลย เราก็พยายามสร้างภาพว่าเราอิ่ม เราอิ่ม อิ่มขึ้นมา นี่เงาของใจมันก็หลอกใจขึ้นมา แล้วก็สร้างภาพขึ้นมา สร้างภาพขึ้นมาเพราะอาการของใจ ใจนี้เวลาตกอยู่ในนรก ไฟนรกเผาไหม้ขนาดไหนมันก็ไม่เคยตาย ความอิ่มหรือความหิวของใจก็เหมือนกัน เราสร้างจินตนาการขึ้นมาแล้วมันเป็นไปได้หมด

อิ่มทิพย์ เห็นไหม เป็นพวกเทวดาเขาน่ะอยู่ในสวรรค์ เขาอิ่มด้วยวิญญาณาหาร เขาอิ่มทิพย์เพราะใจไม่เคยตาย ความจินตนาการว่าอิ่ม คำว่า “อิ่มพอ” นี่เป้าลวงลวงให้ใจ ลวงไม่ลวงพอนะ ยังว่าผลเป็นอย่างนั้นแล้วมีความพอใจในผลของตัว ว่าตัวเองมีผลของใจอยู่แล้ว นี่มันถึงไม่ได้ผลขึ้นมา ถึงไม่ได้ปล่อยสิ่งใดออกมาเลย นี่การประพฤติปฏิบัติในวงในของใจ ระหว่างใจ ระหว่างขันธ์ มันไม่ปล่อยขันธ์จากข้างนอกเข้ามานะ ขันธ์นอกนี่ กระด้งนี้ไม่ได้ปล่อยเข้ามา

กระด้งคือขันธ์ ๕ ที่ว่าครอบใจอยู่นี้ มดตัวนี้ไม่สามารถปล่อยเข้ามา แล้วจะไปวิปัสสนาขันธ์ในขันธ์ได้อย่างไร ขันธ์ในไง ขันธ์ในก็ที่ว่าเป็นขันธ์ใน เป็นอสุภะอสุภัง ความเป็นอสุภะอสุภังในหัวใจนั้น อสุภะอสุภังว่าพิจารณาอสุภะแล้ว ปล่อยอสุภะเข้าไปเป็นชั้นๆๆ เข้าไป ใจนี่มันก้าวเดิน ก้าวล่วงไป ก้าวล่วงไปจากสิ่งที่ว่าเป็นไปโดยสัจจะ โดยสัจจะใจนี้มันจะปล่อยจากข้างนอกเข้ามา ปล่อยจากข้างนอกเข้ามามันถึงจะเห็นจากภายในใช่ไหม อย่างบ้านทาสีไว้ ถ้าสีนั้นก็ติดอยู่มันก็เป็นสีนั้น ถ้าลอกสีออกถึงจะเห็นเนื้อในว่าข้างในนั้นเป็นอย่างไร

นี่ก็เหมือนกัน อาการของใจ ขอบของกระด้งนี้ไม่ได้สมุจเฉทปหานเข้ามาแม้แต่ขั้นตอนเดียว เอาแต่ความมักง่าย ความมักง่ายแต่ ๑ แล้วความมักง่าย ๒ ก็เกิดขึ้น ความมักง่าย ๓ ก็เกิดขึ้น ความมักง่าย ๔ ก็เกิดขึ้น เอาความมักง่ายนี้มาเป็นเครื่องดำเนินไง เราประพฤติปฏิบัติมาเพื่อหวังผล หวังผลความเป็นจริงให้สลัดกิเลสออกไปจากใจ สำรอก คายกิเลสออกจากใจ

ถ้ากิเลสนี้ได้สำรอก คายออกไปจากใจ ใจนั้นจะเป็นอิสระเป็นเสรีขึ้นมา แล้วอาการของใจนั้นสื่อความหมายได้ จะสื่อว่าละขันธ์ ๕ นี่ละอย่างไร มดนี่ทิ้งขันธ์ ๕ ออกมาทิ้งอย่างไร มดจะทิ้งขันธ์ ๕ ได้เพราะว่าขันธ์ ๕ นี้ มดอยู่กับกระด้งมันก็หมุนไป แต่ขันธ์ ๕ นี้มันอยู่ที่ใจใช่ไหม อยู่ที่ใจ เพราะใจนี่จับขันธ์ ๕ พอปล่อยขันธ์ ๕ เข้ามา ปล่อย ความปล่อยขันธ์ ๕ เข้ามามันก็เป็นอิสระเข้ามา อิสระเข้ามาแล้วตัวที่อิสระนี้มีกิเลสไหม

มันมีกิเลสอยู่ที่ใจ ใจปล่อยขันธ์ ๕ ปล่อยไปบ่อยๆ พอปล่อยขันธ์ ๕ ออกไป ปล่อยขันธ์ ๕ ออกไป ปล่อยขันธ์ ๕ นี่สละกระด้งออกไป สละกระด้งออกไป...ซ้ำ การไม่มักง่าย การไม่สุกเอาเผากิน ต้องอยู่ตรงนั้น จี้ลงไปตรงนั้น ความคราดความไถต้องไถลงไปตรงนั้น ความไถไปตรงนั้นต้องใช้พลังงานอย่างมาก พลังอย่างมากเพราะอะไร เพราะว่ามันมีเจริญขึ้นแล้วเสื่อมลง พลังงานที่ใช้ไปแล้วมันจะไม่พอ มันจะไม่พอนี่มันจะถอยกลับมา

วิปัสสนาก็เหมือนกัน ถ้าปัญญานี้พอ พลังงานนี้พอ มันจะปล่อยออก ปล่อยนี้คือความว่าง ความว่างอันนี้มันยังต้องซ้ำ ซ้ำลงไปตรงกระด้งนั้นเพราอะไร เพราะความว่างนี้มันเป็นการปล่อยเฉยๆ แต่พญามารไม่ได้ปล่อยตาม ปล่อยเพราะพลังงานที่เราวิปัสสนาเข้าไป เราต้องซ้ำเข้าไปอีก ซ้ำเข้าไปอีก ซ้ำเข้าไปจนกว่าพญามารนั้นจะยอมรับความจริง จนกว่ามดตัวนั้นจะเข้าใจด้วย ต้องให้มดตัวนั้นฉลาดขึ้นมาจะรู้ว่าอันนี้เป็นขอบกระด้งชั้นหนึ่งนะ มดนี้ต้องปล่อยขอบกระด้งโดยสัจจะ

มดตัวนี้คือใจไง ต้องวิปัสสนาจนให้ใจนี้ฉลาดขึ้นมา ให้ใจนี้เข้าใจตามความเป็นจริงว่าอันนี้มันเป็นสิ่งที่พึ่งไม่ได้ กระด้งนี้ ขันธ์นี้ มันเป็นสิ่งที่เกิดเป็นมนุษย์แล้วมันมีโดยธรรมชาติ ธรรมชาตินี้เราสื่อโดยอาหารที่เรากินขึ้นมามันมีประโยชน์มันก็มีโทษ ขันธ์ ๕ นี้เป็นการสื่อกัน เป็นสิ่งที่ใช้ที่ใจที่ก้าวเดินตามขันธ์ ๕ นี้เป็นสิ่งที่เข้าใจตามโลกเขา ตามสัจจะที่มีอยู่ แต่สิ่งนี้เป็นแค่ปัจจัยเครื่องอาศัย ถ้าปัจจัยเครื่องอาศัยต้องสละทิ้ง

ทุกๆ คนไม่กล้าสละสิ่งนี้ออกเพราะว่ากลัวสละแล้วไม่มีที่อยู่ที่อาศัย เห็นไหม ทุกคนไม่กล้าทำลายดวงใจของตัวเอง เพราะว่าดวงใจนี้มีคุณค่ามาก คิดว่าดวงใจนี้มีคุณค่าแล้วจะถนอมดวงใจไว้ สละสิ่งข้างนอกออกมาแล้วมาอยู่ที่ดวงใจนั้น คิดว่าดวงใจนั้นเป็นผล แต่ดวงใจนั้นคือพญามาร มันสละขอบกระด้งเข้ามาแล้วต้องมาสละที่ใจนี้ ถึงต้องมีการวิปัสสนาซ้ำๆ ซากๆ จนกว่าใจนี้มันจะเข้าใจตามความเป็นจริง

ใจดวงนั้นคือมดตัวนั้นต้องฉลาดขึ้นมา ต้องเข้าใจสัจจะความเป็นจริงว่าสิ่งนั้นเป็นเครื่องอาศัย เครื่องอาศัยอาศัยชั่วคราว อาศัยเพราะเรามีร่างกาย มีขันธ์ ๕ มีจิต มีธาตุ ๔ อยู่ ก็อาศัยเป็นชั่วคราว แต่จริงๆ แล้วธรรมสามารถปล่อยวางได้ มันมหัศจรรย์ตรงนี้ไง

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้มหัศจรรย์ มหัศจรรย์ตรงที่ว่า สละทิ้ง สละขาดออกไปแล้วยิ่งเพิ่มมากขึ้น เหมือนกับการอุทิศส่วนกุศล ยิ่งอุทิศส่วนกุศล ยิ่งแผ่ส่วนกุศลออกไปมันจะกว้างขวางออกไปตลอดเวลา การสละออก การให้ทำไมมันเพิ่มมากขึ้น? เพราะมันเป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรมนี้ทบเท่าทวีคูณ

ความฉลาดของใจก็เหมือนกัน ความฉลาดของใจมันจะปล่อยให้ใจนั้นสละทิ้ง นี่มดตัวนั้นฉลาดขึ้นมา เข้าใจขึ้นมา ซ้ำ ซ้ำ ต้องซ้ำ ไม่ซ้ำมันจะฉลาดขึ้นมาได้อย่างไร เราจะเอามันสมองยัดเข้าไปในหัวของมดนั้นหรือ มดนั้นมันเป็นสิ่งแค่อุปมาอุปมัยเท่านั้น

ใจนี้ก็เหมือนกัน เราต้องเอาธรรมนี้เข้าไปป้อนบ่อยๆ เห็นไหม ปัญญาธรรม สมถธรรมคือความเข้าใจ คือความสงบเข้ามานั้นคือสมถธรรม เราก็สร้างขึ้นมาจนจิตนั้นสงบควรแก่การงาน เรายกขึ้นวิปัสสนาแล้ว ความวิปัสสนานั้นก็ต้องซ้ำ ซ้ำนี้คือการยัดเอาสมองเข้าไปให้กับใจดวงนั้น เอาสมองคือเอาความฉลาด เอาปัญญาเข้าไปให้กับใจดวงนั้น จนใจดวงนั้นได้รับการวิปัสสนาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยความไม่สุกเอาเผากิน

สุกเอาเผากินสร้างผลขึ้นมา สร้างเหตุขึ้นมา สร้างตัณหาความทะยานอยากขึ้นมาให้หลงประเด็นว่าสิ่งนั้นเป็น เพราะสิ่งที่เป็นนามธรรม มันด้นเดา มันคาดการณ์ได้ทั้งนั้น แต่สัจจะความเป็นจริง ถ้ามีสัจจะความเป็นจริงพอแล้วมันจะปล่อย คำว่า “ปล่อยขาด” ไม่ใช่ปล่อยอย่างที่ปล่อยเข้ามา ปล่อยเข้ามานี้ปล่อยชั่วคราวเข้ามา แต่มันยังมีความโง่อยู่ มีอุปาทานอยู่ ปล่อยเดี๋ยวมันก็ยึดอีก

แต่การวิปัสสนาซ้ำ ซ้ำ ซ้ำ ซ้ำคือการเข้าไป แล้วจะปล่อย ปล่อย ถ้าซ้ำขนาดไหน ปัญญา พลังงานพอ คือสมถะพอ การใช้พลังงานเข้าไปแล้วต้องกลับมาทำความสงบ การกลับมาทำความสงบขึ้นมา เพิ่มพลังงานขึ้นมา สัมมาสมาธิเพื่อหนุนให้มรรคเคลื่อนไป ความดำริชอบคือปัญญาที่หมุนไป ถ้าสมาธิไม่พอ ความหมุนออกไปนั้นมันหมุนเข้าไปไม่เต็มที่

หมุนไม่เต็มที่มันก็ปล่อย ปล่อยด้วยความปล่อยแบบไม่เด็ดขาด มันปล่อยแบบการเหนี่ยวรั้ง ปล่อยแบบสิ่งที่มันยังมีสิ่งเกาะเกี่ยวอยู่กับใจ เห็นไหม มดกับกระด้งเกาะเกี่ยวกันอยู่ ใจกับขันธ์ ๕ เกาะเกี่ยวกันอยู่ ต้องวิปัสสนาซ้ำเข้าไป หมุนเวียนไป หมุนเวียนไป อันนี้คือการให้ปัญญา

การเบิกตาของใจ ให้ตาของใจเห็นตามสัจจะความเป็นจริงนั้น จนซ้ำเข้าไป จนถึงกับจุดของความเสมอภาค ความเสมอภาค ความเป็นภราดรภาพ ความเสมอกันระหว่างกิเลสกับธรรมทุกอย่างรวมกันเสมอกันแล้วปล่อยออกขาดเป็นปัจจุบันธรรม มันจะเห็นเดี๋ยวนั้นว่าขันธ์เป็นขันธ์

ขันธ์คือกระด้งเป็นกระด้ง มดเป็นมด ไม่เกี่ยวกัน กระด้งกับมดได้แยกออกจากกันแล้ว ความรู้สึกผูกมัดกันระหว่างกระด้งกับมดตัวนั้นแยกออก คือทุกข์แยกออกไป กระด้งเป็นกระด้ง มดเป็นมด สิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นหลุดออก ต้องเป็นปัจจุบันธรรมขณะของจิตจะเห็นตามความเป็นจริงว่าสิ่งนั้นแยกออกไป นี่ถ้าขณะจิตตรงนี้มี ความเข้าใจนี้มีอันนี้คือสมุจเฉทปหาน คือเป็นความจริงของระหว่างมดกับกระด้งปล่อยขอบออกชั้นหนึ่ง แต่ขอบของกระด้งมันก็มีเป็นหลายชั้นเข้าไป นี่จิตจะปล่อยเข้ามาตามความเป็นจริงด้วยความไม่สุกเอาเผากิน

ความสุกเอาเผากินนั้นมันเป็นการทำให้การประพฤติปฏิบัติของเราไม่สมกับผู้ปฏิบัติธรรมไม่สมควรแก่ธรรม เป็นการปฏิบัติธรรมแล้วคาดหมายเดาธรรม ด้นเดาธรรมเข้าไปเป็นขั้นเป็นตอนเข้าไป ความปฏิบัติธรรมแล้วคาดแล้วหมายมันก็มีผลในการคาดการหมาย เพราะใจนั้นมันพัฒนาขึ้นมาจากการปกติที่ไม่เคยรู้สิ่งใดๆ ในโลกนี้ รู้สิ่งใดๆ ในวงของธรรม เพราะเราเข้ามาประพฤติปฏิบัติ จิตมันสงบขึ้นมาแล้วมันจะรู้ความเวิ้งว้างของใจนั้น จะคาดหมายตามเข้าไป คาดหมายตามเข้าไป

แต่ปัจจุบันธรรมที่เข้ามาปฏิบัติเข้ามาด้วยใจอันนี้ มันจะปล่อยเข้ามาตามความเป็นจริงแล้วเป็นปัจจุบันธรรมแล้วจบกระบวนการ รู้จบกระบวนการ แต่การคาดการหมายนั้นรู้ไม่จบกระบวนการ รู้ครึ่งหนึ่งของกระบวนการนั้น กระบวนการของอริยสัจไง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นิโรธคือความดับทุกข์ ถ้านิโรธดับ ดับด้วยมรรค ดับอย่างไร ถ้านิโรธขึ้นมาปล่อยวางตามความเป็นจริง ขณะของจิตมันจะรู้เข้าตามอริยสัจ

อริยสัจ ทุกข์ สิ่งที่หลุดออกไป ความยึดมั่นถือมั่น สมุทัย ความหลง ความไม่เข้าใจ คือความโง่ ความจินตนาการที่ว่าเป้าหมายหลอก เป้าหมายลวง นี่สมุทัยทั้งหมดเลย มันหลุดออกไป สมุทัยหลุดออกไปทั้งหมด เกิดความดับคือนิโรธ ดับหมดด้วยมรรคอริยสัจจัง นี่จะเห็นตามความเป็นจริงอันนั้น

ถึงว่า ขันธ์เป็นขันธ์ กระด้งเป็นกระด้ง มดเป็นมด สมุทัยหลุดออกไปเป็นสมุทัย ความทุกข์มันหลุดออกไป นี่ขณะของจิตจะเข้าใจตามความเป็นจริง อันนี้เป็นปัจจุบันธรรม ปัจจุบันธรรมอันนี้เกิดขึ้น พอปัจจุบันนี้เกิดขึ้น นี้คือธรรม นี้คือเข้าถึงสัจจะความจริง นี้คือความที่ว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

ความสมควรแก่ธรรมย่นเข้าไป มันจะย่นเข้าไปเรื่อย ย่นเข้าไปเรื่อย ขอบของกระด้งจะมีมากขึ้น ต้องหากระด้งใหม่ หากระด้งเข้าไปเรื่อยๆ จนเข้าไปถึงตอของจิต ตอของจิตนั้นก็เป็นส่วนละเอียดอ่อนเข้าไปๆ เป็นชั้นๆ เข้าไป แต่ไม่มีการสุกเอาเผากินแต่ละขั้นตอน สุกเอาเผากินมันก็เป็นการตั้งกระบวนการนั้นไม่จบ ไม่เคยจบแม้แต่กระบวนการเดียว มีแบงก์ก็มีแบงก์ปลอม มีแบงก์แท้ มีเงินแท้ขึ้นมา ถึงจะใช้หนี้ได้ตามกฎหมาย ใช้หนี้ได้ตามกฎหมายก็สละออกเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป

แต่มีของเทียมขึ้นมา ธรรมเทียม ธรรมะที่เราตั้งขึ้นมาเทียม กระบวนการนั้นมันเป็นไปไม่ได้ พอกระบวนการเป็นไปไม่ได้ มันก็วิปัสสนาเข้าไปเป็นขั้นเป็นตอนเข้าไปเหมือนกัน ขั้นตอนด้วยกระบวนการที่ไม่เคยสำเร็จแม้แต่กระบวนการเดียว ผลนั้นถึงไม่มี บริษัทนั้นล้มละลาย ผู้ที่ปฏิบัตินั้นได้แต่สักแต่ว่าทำ สักแต่ว่าประพฤติปฏิบัติขึ้นมา แต่ธรรมที่จะมาชำระในหัวใจของตัวเองไม่เป็นสัจจะความจริง ความสุข ความอิ่ม ความเสมอภาคที่ว่าอิ่มแท้ๆ ถึงไม่เคยสัมผัสความอิ่มนั้น ความไม่สัมผัสความอิ่มนั้น ถึงสื่อความอิ่มนั้นออกมาไม่ได้ ไม่สามารถสื่อความอิ่ม

อิ่ม คำว่า “อิ่ม” อิ่มนี้เป็นสมมุติ เวลาพูดคำว่าอิ่มกันนี่ คำว่าอิ่มเป็นสมมุติ แต่เราก็ใช้ พอมีคำว่า “คนหนึ่ง” ผู้ปฏิบัติธรรมขึ้นมา แล้วสื่อคำว่าอิ่มขึ้นมา เราก็จะคิดว่าสิ่งนั้นเป็นความจริงหรือ เขาอิ่มด้วยความสุขเอาเผากิน เห็นไหม อะไรก็ไม่รู้ยัดเข้าไปในท้องขึ้นมาจะเป็นอาหารหรือไม่เป็นอาหาร ก็ไม่รู้ ยัดเข้าไปว่าเป็นความอิ่ม แล้วมันอิ่มจริงไหม นั่นน่ะมันเป็นสมมุติ ความที่เป็นสมมุติ สมมุติจินตนาการอย่างไรก็ได้

แต่ถ้าสิ้นกระบวนการแล้วนี่ ความอิ่มของสิ้นกระบวนการ อิ่มนั้นเป็นผล...วางไว้ เหตุล่ะ เหตุ ผลไง เหตุขึ้นมา ผลนั้นวางไว้ แล้วสาวไปหาเหตุสิ ถ้าไม่จบกระบวนการจะสาวไปหาเหตุได้อย่างไร

คนจบกระบวนการนั้น คนสร้างคนขึ้นมา บุคคลที่สร้างฐานะขึ้นมาจากผู้ง่อยเปลี้ยเสียขาจนเป็นผู้ที่เข้มแข็งขึ้นมา ทำไมจะบอกไม่ได้ว่าเราเริ่มต้นออกกำลังกายอย่างไร เราเริ่มต้นฟื้นร่างกายเราอย่างไร จากง่อยเปลี้ยเสียขาถึงกลับมาเป็นบุคคลปกติขึ้นมาได้ มันพูดได้ทั้งนั้นแหละ ถ้าเรากระบวนการที่เราสร้างขึ้นมาเอง กระบวนการที่บุคคลผู้นั้นเป็นผู้ที่รู้ขึ้นมาเอง ใจที่มันง่อยเปลี้ยเสียขาไง ใจที่มันง่อยเปลี้ยเสียขาที่หมุนไปตามกระด้งนั้น นี่ง่อยเปลี้ยเสียขาแล้วมันก็หมุนอยู่อย่างนั้น แล้วมันจะว่ามันพัฒนาขึ้นมา มันจะพัฒนาขึ้นมาได้อย่างไร

เปรียบเหมือนความอิ่มเหมือนกันเลย คำว่าอิ่มๆๆ อิ่มของเขาเป็นอิ่มของเขา อิ่มของผู้ที่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม อันนี้เป็นอิ่มอีกอิ่มหนึ่ง คนละอิ่ม อิ่มตามสมมุติ อิ่มตามสัจจะตามความเป็นจริง นี่วิปัสสนาขึ้นมา มันถึงต้องวิปัสสนาขึ้นมาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไปนะ ถึงจะเป็นที่สิ้นสุดแห่งธรรมไง เอโก ธัมโม ถึงจุดของธรรมนั้น ธรรมนั้นยังแปรสภาพอยู่ ถ้ายังไม่หยุดอยู่ตรงนั้น ยังเป็นไป เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะที่ว่าวัฏวน ขอบของกระด้งที่หมุนไปใน ๓ โลกธาตุนี้ เวียนไปไม่มีที่สิ้นสุด ประพฤติปฏิบัติธรรมขึ้นมา ภพชาติสั้นเข้ามา สั้นเข้ามาอย่างนี้ ภพชาติจะสั้นเข้ามาโดยสัจจะความเป็นจริง

ถ้าเราประพฤติปฏิบัติไม่สามารถจบกระบวนการแล้วเราเข้าใจเอง คิดดูสิว่าคนเราประพฤติปฏิบัติธรรมว่าแล้วจะหลงใหลขนาดไหน เราประพฤติปฏิบัติธรรม เราประพฤติปฏิบัติธรรมแต่เริ่มต้นนะ เราประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร? เพื่อชำระสะสาง เพื่อจะให้เป็นคนหูตาสว่าง เพื่อจะเข้าถึงธรรม เพื่อถึงสัจจะความจริงนั้น แล้วประพฤติปฏิบัติธรรมไป

ยังเป็นผู้ที่ว่า งมงายมัวเมาอยู่กับสัจจะ มัวเมากับสิ่งที่กิเลสสร้างขึ้นมา มัวเมานะ สิ่งนั้นกิเลสสร้างขึ้นมาหลอกใจอีกชั้นหนึ่ง เราเป็นผู้ที่ปฏิบัติ แล้วกิเลสก็ยังสร้างว่าให้สิ่งที่ปฏิบัตินั้นเป็นผล เป็นผล เป็นผลที่ว่าได้สมควรแก่ธรรมแล้ว แต่มันเป็นจริงไหม? มันก็งมงายไป งมงายไป

ชีวิตนั้นกับชีวิตที่ว่าคนที่ยังไม่ประพฤติปฏิบัติ ยังอยู่เริ่มต้นที่ว่าชีวิตนี้เวียนในวัฏวน นี่เอามาเทียบกันดู เราต้องเทียบให้เห็นว่าคนที่ประพฤติปฏิบัติเหมือนกับคนที่ร่างกายปกติ หรือก้าวเดินไป ถึงจะเล่นกีฬาไม่เป็น ร่างกายแข็งแรงอยู่ เล่นกีฬาไม่เป็น ฝึกฝนมันก็เล่นได้ เพราะร่างกายปกติ

แต่คนที่หลงใหลไปนี่จะเอามาฝึกฝนได้อย่างไรในเมื่อเขาหลงใหลไปแล้ว ใจเราเป็นอย่างนั้นไหม ใจของเราประพฤติปฏิบัติแล้ว ใจของเราจะให้งมงายไปอย่างนั้นไหม ถ้าไม่ให้งมงายอย่างนั้นต้องตั้งสติสัมปชัญญะขึ้นมา แล้วไม่สุกเอาเผากิน ไม่ยอมสุกเอาเผากินลัดขึ้นลัดตอนขึ้นไปแล้วสร้างเป้าหลอกเป้าลวงขึ้นมาในหัวใจของเรานะ เราสร้างเป้าขึ้นมาเอง

เป้าหมายของอริยสัจ เห็นไหม ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ต้องให้รู้ตามความเป็นจริง ในกาย เวทนา จิต ธรรม ไม่ใช่ในเป้าหมายที่ตัวเองคาดหมายขึ้นมา ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรมที่เห็นหลุดชำระออกไปจากใจ ใจ เห็นไหม ใจที่ฉลาดขึ้นมา จากมดตัวนั้นที่ฉลาดขึ้นมา ฉลาดขึ้นมา นี่ปัญญาจะเกิดขึ้นได้ไง ปัญญาจะเกิดขึ้นได้

สุตมยปัญญาคือการใคร่ครวญการศึกษาเล่าเรียนมา การฟังธรรมนี่ก็เป็นสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา เราภาวนาขึ้นไปจินตมยปัญญาจะเกิดขึ้น เราพยายามทำขึ้นไป ภาวนามยปัญญามันเกิดขึ้นมาด้วยปัจจุบันนั้น ถ้าภาวนามยปัญญาหมุนเคลื่อนไปๆ ภาวนามยปัญญานั้นมันก็ไม่เป็นปัจจุบันธรรม แต่ภาวนามยปัญญานั้นก็มีพลังงานเพราะว่าเราสร้างขึ้นมา นี่มันปล่อยได้อย่างนั้น แต่ปล่อยไม่ขาด กระบวนการนั้นไม่จบ นี่ปัญญาที่เราสร้างขึ้นมา ปัญญาที่เราสร้างขึ้นมา สร้างให้ใจนั้นฉลาดขึ้นมาๆ ฉลาดขึ้นมาเพื่อชำระและยกตนขึ้นมา

ตนที่ว่าอยู่สูงอยู่ต่ำ นี่ใจเรายกขึ้นมา ยกขึ้นมาเรื่อยๆ ใจเรายกขึ้นมา ยกขึ้นมา ยกขึ้นมา ภพภูมิของใจ ความเจริญของใจ ใจนี้อยู่ในร่างกายใดล่ะ ก็ใจดวงนั้นประเสริฐขึ้นมา ประเสริฐขึ้นมา ถึงว่าผู้ใดเฉยๆ ผู้ใด เพราะสิ่งนี้เสมอกัน การที่มีกายกับใจนี้เสมอกัน ความเสมอกันเกิดมาเป็นมนุษย์ มันประเสริฐ ประเสริฐตรงนี้

มนุษย์ที่ว่ามนุษย์ประเสริฐ มนุษย์ประเสริฐ มนุษย์ประเสริฐเพราะเกิดเป็นมนุษย์นี้หนึ่ง เพราะมีบุญกุศลสร้างให้เกิดเป็นมนุษย์หนึ่ง หมุนวนในวัฏวนนี้ก็เป็นมนุษย์ขึ้นมา เป็นผู้มีอิสรเสรีขึ้นมาหนึ่ง แล้วใจที่พัฒนาขึ้นมา ใจที่พัฒนาขึ้นมาในร่างของมนุษย์ มนุษย์นั้นประเสริฐขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง เห็นไหม มนุษย์ที่ประเสริฐ ศาสนาที่ประเสริฐ ใจที่ประเสริฐ ประเสริฐเพราะว่าความมีสติ ความใคร่ครวญของตน ไม่ใช่ว่าก้าวเดินไปด้วยการก้าวเดินไปโดยพรวดพราดก้าวเดินไป

การก้าวเดินไปด้วยการพรวดพราดของหัวใจ ความมักง่าย ความมักง่ายถึงเป็นผลร้ายกับการประพฤติปฏิบัติพอสมควร จะว่าไม่สมควรว่าเป็นผลร้ายการประพฤติปฏิบัติมากก็ได้ ถ้าเราก้าวด้วยการพรวดพราดขึ้นไป ด้วยความอยากได้ผลไวไว ธรรมดาของการวิปัสสนาขึ้นไป จิตพัฒนาขึ้นมามันก็เสื่อม มันก็เสื่อม

สัจจะมันมี ๒ ชั้น ชั้นหนึ่งมันมีอยู่ตามความเป็นจริงที่มันเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป แต่เราไม่เคยสนใจ เราปล่อยให้ชีวิตนี้ล่วงไปวันหนึ่งๆ เราไม่ได้สงสารตัวเราเอง ถ้าเราว่าเราสงสารตัวเราเอง เราต้องหาทางออกแล้ว ไม่อย่างนั้นมันยังวนอยู่ในวัฏฏะ วัฏฏะนี้หมุนเคลื่อนไปๆ เราก็หมุนไปตามวัฏฏะนั้น นี่ชีวิตนี้หมุนไปตามนั้น

แล้วพอมาประพฤติปฏิบัติ มันหมุนอีกชั้นหนึ่ง ชั้นที่จะหมุนออกไง หมุนไปซ้ายกับหมุนไปขวา หมุนไปซ้ายกับหมุนไปในวัฏวน หมุนไปขวา หมุนเข้าธรรม หมุนเข้าธรรม เข้าหาธรรมนึกว่าจะเป็นของสะดวกสบาย หมุนเข้าธรรมคิดว่าเข้าธรรมแล้วธรรมจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ มันเป็นไปไม่ได้ หมุนเข้าธรรมนี้คือนักรบ คนที่จะรบกับกิเลส คนที่จะชนะกิเลส จะเอาความมักง่ายมาจากไหน เห็นไหม มันถึงต้องตั้งสติสัมปชัญญะแล้วเตือนตนอยู่ตลอดเวลา แล้วก้าวเดินไปด้วยความวิริยอุตสาหะ นี้คือมรรค

มรรค มรรคคือการงานชอบ การงานนั้นชอบ การงานนั้นชอบนี่มันเป็นผลหลายชั้นนะ การงานนั้นชอบ งานอะไร? งานของใจ งานของสมถะ งานของสมถะคือเปลี่ยนใจจากโลกียะเป็นโลกุตตระ งานของสมถะเพื่อหาเครื่องมือคือสัมมาสมาธิขึ้นมา หนุนขึ้นมาให้ปัญญานี้เป็นภาวนามยปัญญา ถ้าไม่มีสัมมาสมาธิหนุนขึ้นมาให้ภาวนามยปัญญา มันเป็นโลกียปัญญา โลกียปัญญา เห็นไหม จินตนาการไป จินตมยปัญญาหมุนขึ้น หมุนไป หมุนไป

ถึงว่างานชอบนี่งานอะไร งานชอบนี่สำคัญมาก งานธรรม สมถธรรม สมถธรรมเพื่อยกใจให้ขึ้นมาเป็นภาวนามยปัญญา นี่ถ้าเกิดภาวนามยปัญญา เกิดเป็นภาวนามยปัญญาเพราะอะไร ความดำริชอบ งานชอบ งานนั้นปล่อย ปล่อยจากอารมณ์โลก ปล่อยจากโลกียะ ปล่อยจากโลกียารมณ์ ปล่อยจากวัฏวนจากขอบกระด้งของวัฏฏะ เข้ามาหาขอบกระด้งของชีวิต สัจจะในอริยสัจนี้ ในกาย ในจิตที่มีชีวิตนี้ ชีวิตนี้หนึ่งชีวิตคือการเกิดเป็นมนุษย์นี้ นี่ขอบของกระด้งแคบเข้ามาจากวัฏวนนั้น หาขอบกระด้งอันนี้ให้พบ

ถ้าหาขอบกระด้งอันนี้ นี่แยกออกขวา แยกออกวิปัสสนา แยกออกธรรม ยกขึ้นวิปัสสนาได้ มันก็เป็นไปได้ ความเป็นไปได้ก้าวเดินโดยความเป็นจริง ก้าวเดินไป ก้าวเดินไปก้าวเดินออกไป นี่งานจะละเอียดขึ้นไปๆ

จากสมถะเป็นวิปัสสนา จากวิปัสสนาแล้วก็ต้องเป็นวิปัสสนา วิปัสสนาจนกว่าวิปัสสนานั้นจะออกมาเป็นงานชอบ ถ้าเป็นงานชอบมันก็รวมหมด เห็นไหม งานชอบ งานอย่างหยาบๆ งานอย่างต่อสู้ แล้วงานอย่างที่สำเร็จสิ้นงานนั้น นี่การงานชอบไง งานก็เป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไป ไม่ใช่ว่าเป็นงานแล้วจะเป็นงานอันเดียวกันทั้งหมด เห็นไหม ความดำริชอบ ความเห็นชอบ ความเพียรชอบ ชอบหมดอันนี้คือฝ่ายมรรค นี่เป็นฝ่ายมรรค

เพราะตัณหาความทะยานอยากที่ว่าสุกเอาเผากิน นี่ยังมีฝ่ายมรรค ฝ่ายมารคือในวิปัสสนานั้นก็มีมารเสี้ยม มารสอดเข้ามาตลอดเวลา นี่การออกไปทางขวาแล้ว หมายถึงว่ามันยังต้องมีพญามารตามไป เพราะพญามารนั้นอยู่ที่จุดของใจนั้นไง อยู่ที่ตัวมดนั้น ตัวมดนั้นมันมีส่วนอยู่แล้ว มันไม่รู้เพราะพญามารนี้อยู่เฉยๆ แล้วก้าวเดินไป ไต่ขอบกระด้งไป เราว่าเราเป็นงาน เป็นงานตลอด นี่มันมีอยู่ในตัวมันเองโดยธรรมชาติ

เพราะมีกิเลสมีกรรมถึงได้เกิดขึ้นมา กรรมนี้มีทุกดวงใจ คนที่เกิดขึ้นมาทุกคนมีกิเลสทั้งหมด แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ไม่มีกิเลสทำไมนางพิมพามีราหุลออกมาล่ะ เห็นไหม การเกิดทุกดวงใจมีกิเลสทั้งหมด ถึงมดตัวนั้นมีพญามารซ่อนตัวอยู่ในมดตัวนั้น ในใจจิตเดิมแท้ที่ผ่องใสที่สัมผัสกับขอบของกระด้งนั้น นี่พญามารอยู่ในนั้น การประพฤติปฏิบัติมันยาก ยากตรงนี้ ยากตรงเพราะพญามารนี้อยู่ที่กลางหัวใจ อยู่ที่ส่วนที่ลึกลับที่สุดของการประพฤติปฏิบัตินั้น ถึงได้เบี่ยงเบนการประพฤติปฏิบัตินั้นให้ไขว้เขวออกไป

การประพฤติปฏิบัติถึงไขว้เขวออกไปแล้ว ถ้าเราไม่รอบคอบ ไม่ละเอียดรอบคอบกับการประพฤติปฏิบัติของเราเอง มันเป็นการสร้างผลขึ้นมาด้วยการทำเหนื่อยแล้วมันควรจะได้ผลตามความเป็นจริง มันเลยได้เป็นตัณหาความทะยานอยากอันนั้นมา แล้วก็จะเสื่อมไป สิ่งนั้น ผลอันนั้นเป็นผลเทียมๆ เป็นของที่เทียมๆ ของที่เทียมๆ แล้วต้องแปรสภาพแน่นอน สิ่งที่เป็นธรรมนี้ สพฺเพ ธมฺมา ยังเป็น อนตฺตา เลย

เว้นไว้แต่อกุปปธรรม อกุปปธรรมคือสมุจเฉทปหานตามสัจจะความเป็นจริงเป็นอกุปปธรรมแล้วไม่มีการแปรสภาพอีก เจริญขึ้นอย่างเดียว จะต้องเจริญขึ้นไป ภพชาติสั้นเข้าแล้ว แล้วเจริญขึ้นไปข้างหน้า กับสิ่งที่ปลอมแปลง สร้างภาวนาขึ้นมาเพื่อจะได้ให้ได้ผล ให้ใจนั้นเป็นอิสรเสรีจากพญามารนั้น การสร้างขึ้นมาแล้วยังสร้างให้มัวเมาหลงใหลสิ่งที่เป็นอวิชชาซ้ำเข้าไปอีกนะ มารหลอก ๒ ชั้น ๓ ชั้น

ถึงว่า อยู่ที่การไม่มักง่าย การประพฤติปฏิบัตินี้มันเป็นของยากโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว งานใดๆ ในโลกนี้ไม่มีงานใดเลยที่จะหนักเท่ากับการชำระกิเลส เพราะกิเลสนี้เป็นแก่นของใจ พญามารนี้อยู่ในดวงใจของเราอยู่แล้ว เห็นไหม อยู่ในดวงใจของเรา แล้วเราจะพยายามเข้าไปทำลาย ทำลายพญามารที่ในดวงใจของเรา คิดดูสิ ความต่อต้านมีโดยธรรมชาติของมัน ความต่อต้าน แต่เพราะเราเชื่ออะไร

เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนานี้ประเสริฐสุด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เจ้าชายสิทธัตถะที่ว่ามีกิเลสๆ นั้นเป็นผู้บุกเบิก เป็นศาสดาองค์เอก ถึงจะมีกิเลสอยู่ในหัวใจก็ยังเป็นผู้ที่ไม่มีตำรับตำรา ก็ยังหาทางแสวงหาทางออกได้ แสวงหาทางออกเอง แล้ววางธรรมะไว้ให้เราสาวกะสาวกผู้ติดตามนี้เชื่อในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่จะก้าวเดินตามออกไป

สิ่งที่จะทุกข์ยากขนาดไหนมันไม่สุดวิสัยของดวงใจที่ใฝ่ธรรม มันจะสุดวิสัยกับดวงใจที่มืดบอดที่ไม่ปรารถนา ดวงใจเหมือนกัน ถ้ามีดวงใจกับพื้นที่ให้ธรรมนี้เข้าไปในใจนั้นได้ สัมผัสกับใจนั้นได้ พื้นที่ที่จะสัมผัสธรรมที่จะเก็บธรรมคือดวงใจดวงนั้น แต่ดวงใจนั้นมืดบอด ดวงใจนั้นปฏิเสธธรรมแต่เริ่มต้น พญามารก็เลยอิ่มเอมเปรมปรีดิ์ว่าดวงใจดวงนี้อยู่ในอาณัติเด็ดขาด แต่ดวงใจไหนมีมารอยู่ เพราะกิเลสพาเกิด มีมารอยู่ในหัวใจนั้น

แต่เพราะความเชื่อมั่น ความเชื่อมั่นในศาสดาองค์เอก ความยึดมั่นในศาสดาของเรา ความยึดในผู้ที่เป็นพยานกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ต่างๆ ที่ว่าสำเร็จออกไป เช่น พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระยสะที่ก้าวเดินตามไปๆ ในปัจจุบันนี้ครูบาอาจารย์ก็ก้าวเดินตามไป แล้วเราก็ยังอยู่ในปัจจุบันนี้ ในปัจจุบันที่ว่ามีครูบาอาจารย์ชี้นำอยู่ ชี้นำในทางที่ถูกต้อง

แต่กิเลสในหัวใจจะชี้นำในทางพอใจของมัน เอาแต่ความมักง่าย เอาแต่ความก้าวเดินไปตามความพอใจของตัว ก้าวเดินตามความพอใจ แล้วก็สร้างว่าเป็นผลขึ้นมาๆ นั่นน่ะเป็นความลุ่มหลงที่น่าสลดสังเวช เป็นความลุ่มหลงของใจดวงนั้นนะ ใจดวงนั้น ที่ว่ามืดบอด ปฏิเสธธรรมขึ้นมาแล้วมันก็ยังมืดบอดปฏิเสธธรรม เขาไม่ได้ทุ่มเททั้งชีวิตมาเพื่อปฏิบัติธรรม

นี้ทุ่มเทมานี่เหนื่อยแสนเหนื่อย ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแสนปฏิบัติ แต่ทำไมปฏิบัติมาแล้วให้ความความลุ่มหลงอันนั้นสร้างเป้าลวงขึ้นมาว่าอันนั้นเป็นธรรมล่ะ นี่มันน่าคิดตรงนี้ไง ใจดวงของเรามันต้องตั้งใจให้ดีนะ ใจของเราเองจะก้าวเดินไปทางไหน จะก้าวเดินไปตามทางที่ว่าถึงที่สุดแห่งวิมุตติหลุดพ้น จิตดวงนั้นอิ่มเอมจบกระบวนการของธรรม อันนี้เป็นสุขมาก

วิมุตติสุข ไม่มีในโลกนี้ รสของธรรมทั้งหมดที่สมาธิธรรมเข้าไปมีความสุข มีความอิ่มเอม มีความปล่อยวางขึ้นไป แล้วก็ปล่อยวางเป็นชั้นๆ ขึ้นไป ไม่มีรสของธรรมไหนเท่ากับวิมุตติรส รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง วิมุตติรสนี้เป็นรสประเสริฐที่สุด แต่การก้าวเข้าไปถึงตรงนี้เป็นการที่ว่าสาหัสสากรรจ์ขนาดไหน เราก็ต้องทุ่มเททั้งดวงใจเข้าไปเพื่อตรงนั้น

วิมุตติรสกับตัณหาความทะยานอยาก เป้าหมายของภาพลวงนั้น เห็นไหม รสชาติต่างกัน ถึงว่าความอิ่มถึงได้ว่าต่างกัน ที่ว่าอิ่มๆ นั้นวิมุตติรสนี้อิ่มแล้วสงบเย็น ถ้าเป้าหมายอันนั้นเราตั้งจินตนาการขึ้นมา เห็นไหม ใจเป้าลวง ยิงเข้าไปถึงเป้าลวงนั้นมันจะได้คะแนนเป็นไปไม่ได้ มันสูญเปล่า ความสูญเปล่ากับวิมุตติรส ที่รสของอิ่มรสของธรรมมันจะเสมอภาคกัน มันจะเหมือนกันเป็นไปไม่ได้ การแสดงออกมาของใจถึงแสดงออกมาไม่เหมือนกัน รสถึงไม่เหมือนกัน เราถึงว่าเราต้องถามเรา เราจะเข้าหารสไหน

วิมุตติรสนี้หรือว่ารสของตัณหา รสของความคิดจินตนาการของพญามาร นี้คือธรรม นี่ธรรมเป็นกลาง กลางคือเป็นสิ่งที่ธรรมชาติที่วางอยู่ แล้วใจเราต่างหากเป็นผู้คัดเลือกแล้วจะก้าวเดินถึงธรรมนั้น นี่ธรรมเป็นกลาง แต่กิเลสมันอยู่ในหัวใจของเรา กิเลสมันแบ่งแยก มันพยายามจะดันให้ใจเราคิดจินตนาการไปตามเป้าลวงนั้น แต่ธรรมนี้เบี่ยงเบนมาในวิมุตติรสนี้ เราถึงต้องพยายามฝืน ฝืนใจของเรา ถึงให้เป็นคนที่ว่าไม่สุกเอาเผากิน ประพฤติปฏิบัติให้ตั้งใจ ตั้งใจแล้วใคร่ครวญตามความเป็นจริงนั้น

แล้วให้เป็นจริงนั้น ถึงจะไม่เป็นจริงนั้น เราก็อยู่ในที่สัจจะ ที่ความจริง คือใจนั้นไม่มีเป้าลวง เห็นไหม มันเดินขึ้นไป หรือพัฒนาขึ้นไปโดยความเป็นจริง จะเจริญรุ่งเรืองโดยสัจจะความจริงนั้น ทำให้ไม่มีเป้าลวงมา คือให้เราหลงไปในทางที่ว่าให้สลดสังเวชกับดวงใจของเรา เราควรสลดสังเวชเรื่องของกิเลสของเราก็พอแล้ว อย่าสลดสังเวชคือว่าให้เราผิดพลาดไปอีกเลย เอวัง