ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ประสบการณ์จริง

๒๔ ต.ค. ๒๕๕๒

 

ประสบการณ์จริง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

บางทีคนเรามันคิดไม่ถึง ผู้ที่วางตัวเป็นอาจารย์ มันมีเยอะนะ ครูบาอาจารย์เขาจะให้ค่าลูกศิษย์ ว่าคนนี้ได้ขั้นนั้น ขั้นนั้น แล้วก็มีข้อแม้ ข้อแม้ว่าห้ามกลับมาจับผิดอาจารย์ ถ้าจับผิดอาจารย์หรือมาดูว่า อาจารย์... การเคลื่อนไหวของอาจารย์นี่ผิด ผิด ผิดอย่างไร? ธรรมะที่ให้ไปเสื่อมหมดทันทีเลย อย่างนั้นก็มี

แล้วมาบอกว่า มรรคผลมันจะเป็นไปโดยธรรมชาติ ทุกอย่างจะรู้ไปเอง นี่ไงมันก็มาลงที่ธรรมะเป็นธรรมชาตินี่แหละ ถ้าธรรมะเป็นธรรมชาติ ฝนตกแดดออกเป็นธรรมชาติ ทุกคนบังคับมันไม่ได้ แต่นี่ฝนเทียมบังคับได้นะ ฝนเทียมจะให้ตก บังคับทิศทางให้มันตกได้เลย นี่คือฝนเทียม

แต่ถ้าเป็นสัจธรรมนะ โสดาบันต้องรู้ตัวเองว่าเป็นโสดาบัน ถ้าไม่รู้ตัวว่าเป็นโสดาบัน เป็นไปไม่ได้ พระพุทธเจ้ามาการันตีทีหลัง โสดาบัน สกิทาคา อนาคานี่ตัวเองต้องรู้ แล้วไม่ใช่รู้ธรรมดาด้วยนะ บางทีตัวเองต้องรู้ แต่รู้มากเกินไป ไม่เป็นโสดาบันสำคัญว่าเป็นโสดาบัน รู้ผิดไง

แต่ถ้าเป็นความรู้ถูกต้อง มันต้องรู้ถูกต้องด้วย ถ้าสำคัญตนผิดไง สำคัญตนผิดว่าเราได้โสดาบัน แล้วพอมันเสื่อมหมดแล้ว ไม่รู้ว่าเสื่อมหมด โสดาบันเสื่อม เวลามันเสื่อมมันรู้ได้ ผู้ที่ปฏิบัตินะ ผู้ที่เคยปฏิบัติมันจะเจริญแล้วเสื่อมหมดทุกคนแหละ ทุกคนมีมาถึงขั้นตอนนั้นแล้วมันจะเสื่อมของมัน ถ้าไม่เป็นความจริงนะ เราเข้าใจว่าไง

พอเวลาปฏิบัติไป พอไปเห็นกาย พิจารณาแล้วมันปล่อย โอ้โฮ ! ว่างหมดเลย มัน ตทังคปหาน มันปล่อยวางชั่วคราว พอปล่อยวางชั่วคราวปั๊บ คำว่าปล่อยวางชั่วคราว

เหมือนเราเก็บล้างถ้วยล้างจาน ล้างยังไม่เสร็จเห็นไหม มีถ้วยจานค้างอยู่นั่น เราคิดว่าเสร็จแล้ว พอใครไปเจอเข้า โอ ! ถ้วยชามนี่มันตั้งอยู่ในหลุม อยู่ที่เรามองไม่เห็นอย่างนี้ เราไปเห็นเข้า นี่ไงถ้วยชามมันคาอยู่

นี่ก็เหมือนกัน เราเข้าใจว่าเราเป็นโสดาบัน มันปล่อยวางหมดเลย โอ้โฮ ! มันว่างมาก โอ้โฮ ! มันมีความสุขมาก แต่พอมันสุขมาก ความสุขนี้สุขเพราะเราทำ เราประพฤติปฏิบัติมา มันสดชื่น แต่โดยธรรมชาติของจิต จิตนี้ถ้ามันทรงตัวไม่ได้มันจะเสื่อมเป็นธรรมดา

พอเสื่อมเป็นธรรมดาแล้วมันก็เหมือนกับเราไปเห็นถ้วยชามที่ยังไม่ล้าง กองอยู่ไง พอมันมาเสื่อม มันก็มาเห็นความขัดข้องหมองใจ อ้าว ! โสดาบัน ทำไมเป็นอย่างนี้ล่ะ ! ทำไมโสดาบันมันยังเฉาอยู่อีกล่ะ !

คำว่ารู้ มีแต่รู้เกินไป ไอ้ที่ว่าไม่รู้ ไม่มี สำคัญตนรู้ สำคัญตนเกินไปว่าเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคา เป็นอนาคา ไม่เป็นความจริง แต่ถ้าเป็นความจริงไม่ใช่เป็นความสำคัญนะ คำว่าสำคัญเห็นไหม สำคัญ คาดหมายผิดหมดล่ะ มันเป็นความจริงของมัน

เราไม่มีสิทธิเลยว่าจะให้มันเป็นหรือไม่ให้มันเป็น แต่ถ้าเหตุผลมันพอ เหตุผลมันพอเห็นไหม ถึงบอกถ้าต้มน้ำนะ เรารักษาไฟไว้ น้ำต้องเดือดเป็นธรรมชาติของมัน น้ำมันเดือด หน้าที่ของเราคือรักษาไฟไว้ น้ำมันเป็นส่วนหนึ่งใช่ไหม ?

หน้าที่ของเรากำหนดพุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา ใช้ปัญญาใคร่ครวญชำระกิเลส ใคร่ครวญในอะไร? ใคร่ครวญในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม มันจะปล่อยอย่างไร? หน้าที่ของมัน ให้มันปล่อย ตทังคปหาน ปล่อยแล้วปล่อยเล่า ปล่อยแล้วปล่อยเล่า พิจารณาไปซ้ำบ่อยเข้า ถึงที่สุดมันขาดของมัน

ตรงนี้ไม่มีใครจัดการให้มันเป็นไปเองได้ จัดการให้เป็นไปตามเราต้องการได้ มันจะเป็นไปตามกำลัง..เป็นไปตามกำลัง.. เป็นไปตามจริตนิสัย เป็นไปตามผู้ที่ประพฤติปฏิบัติสมดุลของมัน

มรรคสามัคคี ความสามัคคี ความสมดุลของมรรค มรรคสามัคคีมันสมดุลของมัน มรรคเห็นไหม มรรค ๘ แล้วรวมตัวอย่างไร ? มรรคสามัคคีอย่างไร ? งานนี้สำเร็จได้อย่างไร? ถ้างานนี้ไม่สำเร็จ มันจะเป็นโสดาบันได้อย่างไร? แล้วถ้าไม่มีผลงานสำเร็จ จะเป็นโสดาบันได้อย่างไร ?

ไม่มีผลงานก็เป็นโสดาบันไม่ได้ ไม่รู้ว่าตามเป็นจริงก็เป็นโสดาบันไม่ได้ แล้วโสดาบันนะ เราฟังเทปบ่อย เขาเอามาให้ฟัง หลวงพ่อนี้โสดาบัน นี้โสดาบัน เราก็ตั้งใจฟังนะ พอตั้งใจฟังเขาพิจารณาของเขาเลย พิจารณากาย โอ้โฮ! พิจารณากายของเขาไปเรื่อยๆ เราก็ฟังไปเรื่อยๆ นะ พอไปถึงที่สุดปั๊บ พอมันสรุปปั๊บ เขาสรุปลงอริยสัจ คือสรุปในตำรา เออ ! เราก็ให้ ธรรมดานะศาลถ้าพูดถึงเหตุผลไม่ชัด ต้องยกผลประโยชน์ให้จำเลยก่อน

ทีนี้พอเขาพูดอะไรไป เราก็ยกผลประโยชน์ให้กับจำเลยก่อน เขาอาจจะผิดพลาด เขาอาจจะเริ่มต้นปฏิบัติยังไม่ได้ อ้าว..ฟังไปเรื่อยๆ ฟังไปฟังมามันไม่มี มันไม่มี ถึงบอกว่า พอจิตมันจะเป็นใช่ไหม? พอมันจะเป็นโสดาบันปั๊บเขาจะบอกเลย เขายกไปในพระไตรปิฎก อริยสัจจะเป็นอย่างนั้นๆ อ้างโสดาบันในตำราแต่ไม่บอกถึงผลการกระทำ อย่างไรก็ไม่เชื่อ เขาบอกว่า องค์นี้พระโสดาบัน องค์นี้พระสกิทาคา โอ ! เอามาให้ฟังนะ ไม่เชื่อ

เรามีตังค์นะ เราควักสตางค์ของเราออกมาโชว์เขาไม่ได้ เอ็งจะมีสตางค์ได้อย่างไรวะ? คนนี้มีสตางค์คนละพันบาท แบงก์พันมีคนละใบ แล้วบอกให้ควักแบงก์พันมาให้ดูนะ อุ้ย ! กระมิดกระเมี้ยนไม่ยอมควักกันเลย โอ๊ย ! เอ็งไม่มีหรอก กูไม่เชื่อว่าเอ็งมีสตางค์ ถ้าเอ็งมีสตางค์นะ ไหนดูหน่อย ควักแบงก์มา นี่ไงเห็นไหม แบงก์พันเห็นไหม เออ! ใช่ มีตังค์ ไอ้นี่มีสตางค์พันหนึ่ง

โสดาบันนะ มันพูดออกมานี้ชัดเจนมาก โธ่ ! เขาไม่ชัดเจนเพราะอะไรรู้ไหม ? ถ้าไม่ชัดเจนนะ มันจะแบ่งแยกได้อย่างไร? ว่าปุถุชน แล้วเป็นพระโสดาบัน ปุถุชน กัลยาณปุถุชน แล้วไปเป็นโสดาบัน เพราะอะไร? เพราะปุถุชนนี่จิตมันยังเวียนตายเวียนเกิด ถ้าเป็นปุถุชนนะ วัฏฏะนี้มันไม่มีที่สิ้นสุด

พอโสดาบันปั๊บ จากที่จิตมันต้องวนไปไม่มีที่สิ้นสุดอีก ๗ ชาติ เหมือนกับของที่มันอยู่ในน้ำ มันต้องลอยไปในน้ำตลอดเวลา ไม่มีอะไรเลย แล้วของที่อยู่ในน้ำมันจะขึ้นฝั่ง มันต่างกันนะ มันมีผลต่างไง แล้วมีผลต่าง มันไม่มีความแตกต่างได้อย่างไร? มันมีความแตกต่างมหาศาล

แล้วความแตกต่างมหาศาลอย่างนี้เพราะอะไร? เพราะผู้ที่ปฏิบัติอย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ มันมีแต่รู้เกิน รู้เกินกับรู้มากเกินไป รู้ว่าเป็นไง ให้ค่าตัวเองสูงเกินไป พอพิจารณาไปแล้วนะ มันจะให้ค่าโสดาบัน สกิทาคา อนาคา คือจิตพอพิจารณาไปนะ

ดูนั่งสมาธิสิ พอนั่งสมาธิ พอจิตเป็นสมาธิ พอสมาธิหนึ่งหนก็เป็นโสดาบัน พอสมาธิหนที่สองเป็นสกิทาคา พอสมาธิหนที่สามเป็นอนาคา พอสมาธิหนที่สี่เป็นอรหันต์ แล้วเป็นอะไร? เป็นแค่สมาธิไม่ได้เป็นมรรคผลเลย

นี่ก็เหมือนกัน พอเวลาวิปัสสนา คือจิตมันพิจารณาของมันไป มันเข้าใจเรื่องของกาย มันปล่อย พอปล่อยปั๊บ โอ้ ! โสดาบัน พอปล่อยสกิทาคา พอปล่อยอนาคา พอปล่อย เป็นอรหันต์ ทั้งๆ ที่ไม่มีอะไรเลยนะ เพราะมันไม่มีผลตอบสนอง มันไม่มีผลตอบสนอง

ถ้ามีผลตอบสนองนะ นั่งอยู่นี่ อิ่มหนำสำราญหมดเลย นี่ผลตอบสนอง กินข้าวกันแล้ว อิ่มหนำสำราญเลย แล้วถ้ามีคนมานั่งอยู่กับเราด้วย แล้วไม่ได้กินข้าว เขานั่งอยู่กับเรา เขาจะมีความรู้สึกอย่างเราไหม ? ไม่มีทาง ผลตอบสนองมันมี

ทีนี้ผลตอบสนอง ที่บอกผลตอบสนอง อย่างการกินข้าวของเรา ผลตอบสนองชั่วคราว เพราะกินข้าวแล้ว เดี๋ยวก็ต้องกินข้าวอีก แต่ถ้าเป็นโสดาบันนะ ผลตอบสนองมันตายตัวคงที่ ถึงบอกว่าเหนือธรรมชาติไง

คำว่าเหนือธรรมชาติคือกุปปธรรมกับ อกุปปธรรม กุปปธรรมคือสัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวะที่ยังแปรสภาพอยู่ เห็นไหม เราปฏิบัติอยู่ต้องแปรสภาพอยู่ตลอดเวลา จิตนี่มันจะแปรสภาพของมัน จะปรับสมดุลของมัน พัฒนาการของมัน มันจะมีพัฒนาการของมัน

ถ้าจิตไม่มีพัฒนาการของมัน จิตมันจะโตขึ้นมาได้อย่างไร? วุฒิภาวะของจิตจะแตกต่างกันได้อย่างไร? การพัฒนาการของมันเห็นไหม ผลตอบสนองของมัน มันมีผลตอบสนองของมันต่อไปเรื่อยๆ วิวัฒนาการมันจะมีของมันไปเรื่อย วิวัฒนาการอันนี้สำคัญมาก วิวัฒนาการของจิตที่มันพัฒนา วุฒิภาวะของจิตที่มันพัฒนาขึ้นมา

อย่างจิตที่มันเป็นสมาธิ จิตที่เป็นสมาธิ จิตเป็นสมาธิแล้วเสื่อม เป็นสมาธิแล้วเสื่อมอยู่อย่างนั้น กับจิตที่ออกวิปัสสนาแล้ว แล้วมันเสื่อมมันก็ต่างกัน พัฒนาการของจิตที่มันพัฒนาการอย่างนี้ ผู้ที่ปฏิบัติมา เพราะมีพัฒนาการอย่างนี้ไง ถึงครูบาอาจารย์ที่ท่านมีพัฒนาการอย่างนี้แล้ว ท่านถึงมาสอนเรา สอนเราเพราะอะไร? สอนเราเพราะท่านผ่านมาก่อน ท่าน อู้ฮู้ ! ล้มลุกคลุกคลานนะ

เวลาครูบาอาจารย์ ที่ท่านเป็นครูบาอาจารย์ของเรา ท่านจะซึ้งใจมาก เพราะว่าเป็นครูบาอาจารย์ของเรา ท่านสละชีวิตของท่านมา ท่านล้มลุกคลุกคลานมา ท่านต่อสู้กับกิเลสของท่านมา ด้วยความผิดพลาด ด้วยความพลั้งเผลอ ผิดเพราะไม่เข้าใจ ผิดเพราะอวิชชา ผิดเพราะความเข้าใจผิด ผิดเพราะว่ากิเลสมันยุ ผิดเพราะกิเลสมันหลอก ผิด ๆ ผิด ๆ ผิดทั้งนั้นเลย

กว่าจะมาเริ่มสมดุลกับมัน กว่าจะเริ่มสู้กับมันได้ กว่าจะเริ่มปรับตัวได้ แล้วกว่าจะเริ่มชนะมัน ครูบาอาจารย์ท่านทำมาขนาดนี้ เวลาเห็นลูกศิษย์ลูกหาถึง..เห็นหลวงปู่มั่นไหม เห็นครูบาอาจารย์ไหม เก็บเล็กผสมน้อยนะ ต้องระวังตลอดเวลา ความผิดพลาดของลูกศิษย์

เห็นองค์หลวงตาท่านบอกเลย ท่านคอยตีมือเราไว้เลยนะ คิดไอ้โน่นก็ผิด คิดไอ้นี่ก็ผิด ไอ้พวกเราก็ แหม ! ทำไมอาจารย์เคร่งเกินไป ทำไมอาจารย์.. แต่ความจริงนี่นะ มือเรา เด็กๆ มันจับไฟ มันไปจับของร้อน มันไปจับความทุกข์ แล้วท่านก็พยายามตบมือออก ตบมือออกคือเอ็ดคือว่าไง ตบมือออกคือพูดให้เราสำนึกไง ให้เราไม่ทำอย่างนั้นๆ ๆ อีกไง ไอ้เราก็บอกว่า อู้ฮู้ ! ดุมาก ดุมาก

แต่ความจริงนะ เมตตามาก เมตตามากเพราะท่านทุกข์ยากมาก่อนเรา ถ้าทำอย่างนั้นไป แล้วข้างหน้าไปจิตมันจะเสื่อม ถ้าทำอย่างนั้นไปแล้ว ด้วยความผิดพลาด ด้วยความไปกอดรัดมันไว้ ด้วยเข้าใจว่าเป็นสมบัติของเรา ติดแล้วยังยึดอีก ยังเข้าไปผูกมัดกับมันอีก เห็นไหม ท่านบอกว่ามันผิดนะ ตบมือออก ตบออก ตบออก ตบเพื่อจะให้เรารู้สำนึกตัว ให้เรามีการแก้ไข

ความมุ่งหมายของอาจารย์กับความคิดของลูกศิษย์มันแตกต่างกัน มันถึงบอกว่าอู้ฮู้ ! อู้ฮู้ ! ไม่อู้ฮู้ ! หรอก เวลาครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมาแล้วนะ แหม ! ใช่เลย.. ใช่เลย.. สาธุ สาธุเลย

เวลาพูดมันถึงบอกว่า สิ่งที่เขาพูดมาโดยไม่มีเหตุมีผล เวลาเขาพูดไปเป็นมรรคเป็นผลของเขา เป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แล้วเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าเขามีความคิดอย่างนั้น มันก็เรื่องของเขา ไอ้นี่มันก็กรรมของสัตว์นะ กรรมของสัตว์เพราะพวกเรา ผู้ที่ไปฟังและผู้ที่ต้องการ มันคิดว่าสิ่งนั้นมันทำได้ง่าย

แล้วพอมาฟังมรรคผลของโดยสัจจะข้อเท็จจริง มันเป็นเหมือนกับจะสุดวิสัย อู้ฮู้ ! อู้ฮู้ ! อู้ฮู้ ! ทุกคนจะท้อแท้ ทุกคนจะสู้ไม่ไหว แต่ไปฟังอย่างนั้นปั๊บ ทุกคนเห็นดีเห็นงาม พอเห็นดีเห็นงามแล้วก็ให้ค่ากันเอง ก็เป็นสังคมๆ หนึ่งขึ้นมา สังคมว่ามันเป็นอย่างนั้นเป็นความจริง เป็นอย่างนั้นเป็นความจริง ไม่เป็นหรอก เป็นการปฏิบัติเป็นแค่พิธี หลวงตาท่านพูดคำนี้เท่านั้น บอกว่าพวกปฏิบัติพอเป็นพิธี พอเป็นพิธีก็ได้พิธีเฉยๆ ไง ได้พิธีว่าได้ปฏิบัติแล้ว พอได้ปฏิบัติแล้วก็ให้ค่ากันเองว่ามันได้มรรคได้ผล

อันนั้นเป็นอีกอันหนึ่งนะ อันนี้เราจะตอบเรื่อง

ถาม : กราบเรียนหลวงพ่อเรื่องอริยมรรคมีองค์แปด ทุกวันพระเพียงวันละข้อ ขอเมตตายกตัวอย่างให้ใช้ได้จริงกับชีวิตประจำวันในแต่ละวัน

๑. สัมมาทิฐิ ทุกข์เห็นไหม ทุกขะสะมุทะโย ทุกขะนิโรธ ทุกขะนิโรธคามินี

๒. สัมมากัมมันโต เนกขัมมะ

หลวงพ่อ : ไอ้อย่างนี้ เพราะส่วนใหญ่แล้ว ไอ้คำที่พูดว่า “มรรค” ให้พูดอธิบายให้ชัดเจน ให้พูดอธิบายให้ใช้ในชีวิตประจำวัน ถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บ ที่ปัญญาชนที่เราใช้ปัญญาแล้ว เราศึกษามรรค ๘ แล้ว เราก็จะบอกว่าเอามรรค ๘ เราจะทำให้ได้แบบนั้น เราพยายามประพฤติปฏิบัติมรรค ๘ ให้ได้มรรค ๘ แล้วให้มรรค ๘ เราได้ผลในมรรค ๘ นั้น มันเลยไม่ได้อะไรเลย ไม่ได้อะไรเลย

แล้วถ้าทางวิชาการ ทางวิชาชีพถูกต้องนะ เราศึกษามาแล้วเราต้องทำให้ได้ทางวิชาชีพอย่างนั้น เราต้องแบบว่าวัดค่าของมันให้ได้ผลอย่างนั้น แต่ในการปฏิบัติ ในการปฏิบัติมรรค ๘ ต้องแบบว่าให้วันละข้อ แล้วให้ใช้ในชีวิตจริง เวลาบอกอย่างนี้ปั๊บ ! พวกโยมจะเกร็งหมดเลย บอกไว้นะ ออกไปแล้วเดี๋ยวจะขึ้นรถนะ แล้วขยับให้ดีนะเดี๋ยวรถมันจะมีปัญหานะ อุ้ย ! มีปัญหาทันทีเลย แต่ถ้าไม่บอกอะไรนะ โยมกลับไปโยมก็ขึ้นรถ ขับรถออกไปโดยธรรมดา โดยที่ไม่มีอะไรไปเป็นความกังวล

หลวงปู่มั่นบอกทุกเที่ยวเลย หลวงปู่มั่นพูดในมุตโตทัย บอกว่าการประพฤติปฏิบัติ การดื่ม การเหยียด การคู้ การดำรงชีวิตประจำวันให้มีสติอยู่ตลอดเวลา ให้มีสติอยู่ตลอดเวลา การฝึกสติอยู่ตลอดเวลา นี่คือการฝึก

แต่ถ้าบอกว่าดำริชอบนะ พอบอกว่าดำริชอบ ดำริชอบคือปัญญา ปัญญาก็บอกว่า ต้องเลี้ยงชีพชอบ เป็นปัญหาเลยนะ เลี้ยงชีพชอบจะเลี้ยงอย่างไรล่ะ? โอ้ ! อาชีพนี้มันชอบหรือไม่ชอบล่ะ? อาชีพนี้ชอบหรือไม่ชอบ? พออาชีพนี้ชอบไม่ชอบแล้ว กินข้าวนี่ชอบหรือไม่ชอบล่ะ? กินข้าวเสร็จแล้วกินน้ำ กินน้ำเสร็จแล้วชอบหรือไม่ชอบล่ะ ?

เกร็งไปหมดเลย ไม่ต้องไปวิตกกังวลอย่างนั้นสิ ในเมื่อเราไม่มีความผิดอยู่แล้วใช่ไหม ? ในปกติใช้ชีวิตประจำวันนี่แหละ มรรค ๘ มรรคนะมันเหมือนกับเด็ก เหมือนเด็กกับผู้ใหญ่ ที่เราพูดเรื่องมรรคบ่อยครั้งๆ เราจะบอกว่า สิ่งที่เขาพูดกัน เขาคิดกัน เขาตั้งใจกระทำกันนั้น เราบอกว่าผิดหมดๆ

เราพูดในสติปัฏฐาน ๔ เห็นไหม ในสติปัฏฐาน ๔ ที่เราพูดไว้บอกว่า คนที่ปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ผิดทุกคนเลย ผิดหมดเลย ผิดเพราะอะไร? ผิดเพราะจิตมันไม่เป็นความจริง จิตไม่มีสมาธิในสติปัฏฐาน ๔ การประพฤติปฏิบัติ ถ้ามันเป็นสติปัฏฐาน ๔ โดยตามความเป็นจริง จิตต้องสงบก่อน

พอจิตสงบแล้ว จิตสงบเป็นสัมมาสมาธิ กิเลสมันเบาบางลง แล้วออกวิปัสสนาไป วิปัสสนาไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมโดยตามเป็นจริง โดยข้อเท็จจริง มันเริ่มจะถูกขึ้นมาบ้าง ก็ยังผิดอยู่ ยังผิดอยู่หมายถึงว่ากิเลสเรายังมีอยู่นะ ถ้าสติปัฏฐาน ๔ โดยตามความเป็นจริง พิจารณาสติปัฏฐาน ๔ ต้องเป็นโสดาบัน สกิทาคา อนาคา เป็นอย่างนั้นถึงจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ แล้วในการปฏิบัติมันก็ผิดเป็นธรรมดา

ในการปฏิบัติ เราปลูกคอนโดนะ คอนโดนี้เขาสร้างจากชั้นบนลงมาหรือชั้นล่างขึ้นไป เคยเห็นคอนโดสร้างจากชั้นบนลงมาไหม? เคยเห็นไหม? ไม่เคยเห็นหรอก คอนโดมิเนียมไม่มีใครสร้างจากชั้นบนลงมาหรอก เขามีแต่สร้างจากชั้นล่างขึ้นไป มรรค ๘ ก็เหมือนกัน เราบอกว่าจะให้มรรค

ตอนนี้นะที่ปฏิบัติ วิปัสสนาสายตรง เขาจะสร้างคอนโดจากข้างบนลงมา เขาสร้างคอนโดจากชั้นบนลงมาใช่ไหม? ถ้ามีความอยากปฏิบัติไม่ได้ มีความอยากปฏิบัติไม่ได้นะ ความอยากเป็นพื้นฐานของเรา ความอยากกับจิตมันก็เหมือนพื้นดิน เราต้องสร้างจากดินขึ้นไป ไม่ใช่สร้างจากข้างบนลงมา มันกลับหัวกลับหางกัน

พอจะสร้างจากข้างบนลงมานะ ทุกคนมรรคต้องสะอาดก่อนนะ ต้องไม่มีความอยากนะ ใครมีความอยากคนนั้นปฏิบัติไม่ได้ ต้องมีสัมมาสมาธิ ทุกอย่างพร้อม มันก็เหมือนกับสร้างคอนโดจากชั้นบนไง เราต้องสร้างจากชั้นที่ ๑๐๐ เลย แล้วก็สร้างลงมาจากชั้นที่ ๙๙ ลงมาเรื่อยๆ แล้วให้มันลอยอยู่บนอากาศนะ มันจะเป็นไปได้ไหม ?

พอมันเป็นไปไม่ได้ แต่ความคิดของพวกเราคิดกันอย่างนั้น ความคิดทางโลก ที่เราบอกว่ามรรคทางโลก ที่เราบอกว่าเป็นมรรคเป็นมรรค เขาคิดอย่างนั้น เขาถึงวางเป้าหมายอย่างนั้น

ฉะนั้นเวลาปฏิบัติปั๊บ! ต้องห้ามมีความอยาก ห้ามทุกอย่างเลย พอห้ามทุกอย่างนะ คอนโดมันสร้างจากชั้นบนลงมามันเป็นไปไม่ได้ แต่สัญญาอารมณ์ในใจมันเป็นไปได้ มันเป็นความเพ้อฝัน ความเพ้อฝันเหมือนเป็นไปได้ไง พอความเพ้อฝันไปแล้ว นี่ไงปฏิบัติโดยการเพ้อฝัน พอเพ้อฝันขึ้นมา มันเป็นสัญญาอารมณ์ มันไม่เป็นความจริง

แต่ถ้าเป็นความจริง หลวงปู่มั่นสอนไว้ในมุตโตทัย ในชีวิตประจำวัน ดำรงชีวิตประจำวัน ให้มีสติอยู่ เราทำชีวิตประจำวันแล้วให้มีสติ แล้วใคร่ครวญในชีวิตของเรา มันจะรู้ของมัน พอมันจะรู้ของมันเห็นไหม สิ่งใดดีสิ่งใดชั่ว ความผิดพลาดสิ่งนี้มันยังเทาๆ อยู่ ยังไม่แน่ใจว่าผิดหรือถูก เราทำไปแล้ว

พอทำไปแล้ว มาพิจารณาย้อนหลังผิดหรือถูก ถ้าผิดหรือถูกแล้ว ถ้าผิดสิ่งนี้ไม่ควรทำ ถ้าถูกสิ่งนี้ควรทำ เห็นไหม โดยสามัญสำนึก พวกเราไม่รู้หรอกว่าอะไรผิดอะไรถูก เพราะสิ่งที่ชีวิตประจำวัน มันเทาๆ นะ มันก้ำกึ่ง จะว่าผิดหรือมันก็ผิด ถ้าจะว่าถูกมันก็ถูก ถูกหรือผิดเพราะเราให้ค่ามันเอง เราก็มีพันธะทำไป

นี่เราจะบอกว่าหัวใจของคน ถ้ามันยังไม่สะอาดบริสุทธิ์ มันมองสิ่งนี้ไม่ออกหรอก มันมองสิ่งนี้ไม่ออกหรอก อะไรผิดหรืออะไรถูก แต่ถ้าเราทำไปแล้ว เรามาใคร่ครวญชีวิตประจำวันของเราเห็นไหม ใคร่ครวญในธรรมว่ามันผิดหรือถูก ถ้ามันผิดควรทำไหม ปัญญาเกิดหรือยัง? สามัญสำนึกเกิดหรือยัง? นี่ไง เราจะสร้างคอนโดจากพื้นดินขึ้นไป ไม่ใช่สร้างคอนโดจากชั้นยอดลงมา

แต่ในการปฏิบัติปัจจุบันนี้ มันจะไปสร้างคอนโดจากชั้นบนลงมา ต้องไม่มีความอยากเลย ถ้ามีความอยากผิดหมด ความอยากมันจิตใต้สำนึก ทุกคนมีโดยสามัญสำนึก ทีนี้มีโดยสามัญสำนึกเราก็พยายามตั้งสติเห็นไหม โดยกำหนดพุทโธ ๆ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ พยายามจะละมัน ถ้าละมันได้แล้ว ทำของมันได้แล้ว พอละได้แล้ว ได้ตรงไหน ? ได้ตรงเรารู้ตัวเราเองไง

จิตมันมีจุดยืนไหม? เดินจงกรม นั่งสมาธิกันทั้งวันๆ บางทีมันปล่อยวางบ้างไหม นั่นแหละตัวมัน นั่นแหละมันละได้ แต่ละได้แป๊บเดียว แป๊บ! มาอีกแล้ว แป๊บ ! มาอีกแล้ว มันเป็นธรรมดาอย่างนี้ ทำอย่างนี้เพราะอะไร? ทำอย่างนี้เพราะว่าอนุสัยมันนอนเนื่องมากับจิต อวิชชามันมาอาศัยจิตมันอยู่กับเรา ธรรมชาติของกิเลสมันเป็นอย่างนี้ แล้วมันอาศัย

“มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา เราจะไม่ดำริถึงเจ้าอีกแล้ว” เห็นไหมเวลาพระพุทธเจ้าเย้ยมาร มารเอย เธอเกิดจากความดำริ เกิดจากความดำริ แล้วเราคิดเราดำริ มารมันเกิดด้วย มารมันจะยอมเราไหม ?

ทีนี้พอเรากำหนด พุทโธๆ พุทโธๆ พอมันปล่อยมันก็แวบเดียวแวบเดียว แวบเดียวก็ยังดี แวบเดียวก็เห็นร่องรอยแล้วไง แวบเดียวเห็นว่า อ้อ! อันนี้มันปล่อยได้ เหมือนกับเห็นว่าถ้ามารมันขี่หัวเราอยู่ เราจะมีความฟุ้งซ่าน เราจะมีความวิตกกังวล เราจะมีความทุกข์เห็นไหม แต่พอมันแวบเดียว เออ ! มันก็เป็นอิสระแวบเดียว ชั่วพยับแดดนะ

ตั้งใจทำ ตั้งใจ ตั้งใจบ่อยๆ ครั้งเข้า เห็นไหม สร้างฐานนะ สร้างคอนโดจากพื้นดินขึ้นไป สร้างตีเข็ม เทคานคอดิน แล้วพยายามสร้างมันขึ้นมา ขึ้นมา สร้างตัวเองขึ้นมา นี่เป็นมรรค มรรคเขาทำกันอย่างนี้ มรรคไม่ใช่บอกว่า หลวงพ่อบอกมาสิมรรคตัวไหน เหมือนจะไปซื้อทองเลยนะ ซื้อทองมา ๘ บาท ก็มรรค ๘ ไง แล้วไปหลอมให้เป็นหนึ่งเดียว มรรค ๘ รวมตัว

กรณีอย่างนี้ เราอยู่ที่โพธาราม เพราะว่าลูกศิษย์จะมาถามอย่างนี้บ่อยมาก เพราะเขาฟังซีดีเรา ฟังเทศน์เรา แล้วฟังเทศน์แล้ว หลวงพ่อจะบอกเลยว่ามรรคอย่างนั้น มรรค ๘ อย่างนั้น เราเน้นเรื่องมรรค เรื่องมรรคนี่นะ เพราะว่าเราจะบอกว่า สิ่งที่การดำรงชีวิตของเรา เขาเรียกว่ามรรคของฆราวาสธรรม ฆราวาสธรรมนี้ สัมมาอาชีวะเลี้ยงชีพชอบ ทุกอย่างชอบ มันทำให้ชีวิตเราสะอาดบริสุทธิ์ ถ้าชีวิตเราสะอาดบริสุทธิ์ ชีวิตของเรา มันไม่มีทุกข์มียาก ไม่มีเวรมีกรรมไปข้างหน้า

การดำรงชีวิต ความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน เขาเรียกว่ามรรค สัมมาอาชีวะเราเลี้ยงชีพเลี้ยงตัวเรา เลี้ยงชีวิตเราให้รอดไปด้วย สิ่งที่ถูกต้องดีงาม สิ่งที่ถูกต้องดีงามนี้ เวลาตายไป เราจะได้ไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เราไม่ต้องไปเกิดในนรกอเวจี มรรคอย่างนี้เขาเรียกฆราวาสธรรม มันเป็นมรรคของฆราวาส

ฉะนั้นมรรคของฆราวาสนี้มันมีมรรคหยาบ มรรคละเอียด เห็นไหม มรรคของฆราวาสนี้ยังไม่ใช่อริยมรรคเลย แต่พอทำความสงบของใจนะ พอมันเริ่มใช้ปัญญา ปัญญาอันนี้มันจะเป็นอาหาร มันเป็นเลี้ยงชีพเลี้ยงใจชอบ มรรคของฆราวาส เลี้ยงปากชอบ หาอาหาร หาปัจจัยเครื่องอาศัยมาดำรงชีวิต เห็นไหม มาเลี้ยงอะไร ? เลี้ยงชีวิตนี้ไว้ให้สะอาดบริสุทธิ์ เพื่อต่อไปเราเกิดเราตายจะได้ไม่มีเวรมีกรรม ถ้ามีเวรมีกรรมที่ดี เราก็ไปเกิดในที่ดีๆ ไป

แต่ถ้าการปฏิบัติ สิ่งนี้ฆ่ากิเลสไม่ได้ สัมมาอาชีวะก็คือการประกอบอาชีพ แต่สัมมาอาชีวะในมรรคญาณนี่นะ ความคิดนี้ ปัญญานี้มันเป็นมิจฉากับเป็นสัมมา ถ้าจิตสงบนะมันคิดเรื่องดีๆ คิดเรื่องธรรมะ มันจะมีสดชื่นของมันในหัวใจเห็นไหม

อันนี้เราไม่ได้กินทางปากนะ อาหารอย่างนี้ เลี้ยงชีพอย่างนี้ เราไม่ได้กินทางปาก เรากินทางใจ ใจมันสัมผัส พอใจสัมผัส ความคิดที่ดี ปัญญาที่ดี เห็นโทษเห็นภัยในการทำความผิดของเรา เห็นปัญญาที่ในการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของเรา เห็นผลของมรรคญาณ เขาเรียกว่าตบะธรรม

ตบะธรรมคือสัมมาสมาธิ คือกำลังของจิต แล้วออกใช้ปัญญา นี่ตบะ ตบะธรรมมันแผดเผา มันแผดเผากิเลส พอกิเลสมันโดนแผดเผามันปล่อยอย่างไร? นี่ไง เวลาพูดถึงมรรคเห็นไหม เราจะพูดถึงมรรคตัวนี้ มรรคที่เลี้ยงใจชอบ แต่ถ้าเป็นฆราวาสธรรม มรรคที่เลี้ยงปากชอบ เห็นไหม พอมรรคเลี้ยงปากชอบมันยังไม่เข้าอริยมรรคเลย

ถ้าพอถึงมรรค เราเป็นพระปฏิบัติใช่ไหม? พวกเรานี้พวกสัมมาอาชีวะ พวกปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ พอเลี้ยงใจชอบ พอเลี้ยงใจชอบใจมันพัฒนาขึ้นมาอย่างไร? พอใจมันพัฒนาขึ้นมาอย่างไร? เราถึงบอกว่ามรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค มันก็มีความแตกต่าง พอคนปฏิบัติเป็นนะ คนที่มีความเห็นถูกต้องดีงาม มันก็จะไปเข้ากับพระไตรปิฎก

พระไตรปิฎก พระพุทธเจ้า ธรรมวินัยพระพุทธเจ้าวางไว้เห็นไหม สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญาแล้วยังมีสติปัญญา มีมหาสติมหาปัญญา มีปัญญาอัตโนมัติ มีมรรคญาณ ไปศึกษามานะ แล้วก็มานั่งท่องจำนะ แล้วอะไรเป็นอะไรล่ะ เราก็ให้ค่า เราก็คิดเลยนะ มรรคอย่างนี้เป็นอย่างนี้นะ ทางวิชาการไง แหมทำวิจัยนะ มันไม่มีผลเลย ! ไม่มีผลเลย !

แต่ถ้ามีผลใจมันเป็น พอใจมันเป็นขึ้นมา ใจมันเป็น พอใจมันเป็นเห็นไหม เหมือนขึ้นบันได ขั้นที่ ๑ ขั้นที่ ๒ ขั้นที่ ๓ ขั้นที่ ๔ ใจมันสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ใจมันมีวุฒิภาวะขึ้นมาเรื่อยๆ ใจมันพัฒนาการของมันมาเรื่อยๆ มันเห็นความละเอียดของมันเรื่อยๆ ไง

นี่ไงสร้างคอนโดมิเนียมไง ไปถึงชั้นที่ ๑๐๐ โอ้โฮ! ไปห้อยตัวอยู่ข้างบนนะ มันจะเสร็จอยู่แล้ว แล้วมันไปทำงานอยู่บนอากาศ เห็นไหมมันต้องใช้เครนทั้งหมดเลย มันไม่ได้ทำอยู่บนพื้นดินแล้ว แต่เริ่มต้นต้องทำจากพื้นดินขึ้นไป มันมั่นคงของมันขึ้นไป จิตมันจะพัฒนาของมันขึ้นไป

มันถึงแตกต่าง ที่เราพูดอยู่นี้ เราพยายามพูดอยู่นี่ เราพูดให้เห็นความแตกต่าง พอเห็นความแตกต่างแล้ว ให้เราขวนขวายไง ถ้าเราไม่พูดถึงความแตกต่างนะ เราก็จะบอกว่ามรรคก็คือมรรค มรรคมีอันเดียว แล้วพอไม่มีความแตกต่างแล้ว ถ้าคนฟังเป็นทางวิทยาศาสตร์ มันจะฟังแล้วมันจะแบบว่าข้องใจด้วย เหมือนเราคนพูดนี่พูดซ้ำซาก พูดวนเวียนอยู่ในที่เดิม แต่ความจริงไม่ใช่ ความจริงพูดแตกต่าง พูดแตกต่าง

ดูสิเวลาเทศน์ครั้งสุดท้ายนี่เห็นไหม ธรรมะมีบวกมีลบเห็นไหม มีบวกมีลบ มีคูณมีหาร ธรรมะมีความแตกต่าง แต่ละขั้นตอนไม่เหมือนกัน บวกกับคูณก็ต่างกัน ลบกับหารก็ต่างกัน แล้วเวลามันแตกต่างกัน เพราะแตกต่างกันแล้วมันให้ค่าแตกต่างกันด้วยสูตรคำนวณของมันแตกต่างกัน

จิตใจเวลามันพัฒนาขึ้นไปแล้ว มันจะมีความแตกต่างของมัน แล้วจะมาบอกว่าโสดาบันไม่รู้ สกิทาคาไม่รู้ มันจะไม่รู้นะ รู้ว่าเป็นโสดาบัน สกิทาคา อนาคานี้แน่นอน แต่ไม่รู้ว่าสิ้นสุด เพราะมันติด เห็นไหม

ดูสิเวลาหลวงตาท่านไปแก้พระเห็นไหม พอไปติดในขั้นไหนๆ เห็นไหม บอกให้พูดมาสิ ก็พูดมา ขั้นที่ ๑ ถ้าพูดเหตุผลถูกต้อง เพราะเขารู้อยู่แล้ว เขาพูดด้วยความถูกต้อง ใช่ ผ่านไป ขั้นที่ ๒ ถูกไหม ถ้าขั้นที่ ๒ ไม่ถูก จะติดขั้นที่ ๒ ถ้าขั้นที่ ๒ บอกถูก ถูกหมายถึงว่ามีเหตุมีผล แล้วพูดถึงสมดุลว่ามันขาดได้ถูกต้อง นี่ขั้นที่ ๒ ผ่าน ขั้นที่ ๒ แล้วขั้นที่ ๓ ถูกไหม

ถ้ามันติดนะ พอบอกขั้นที่ ๒ ปั๊บ ! โอ ! นิพพานแล้วนิพพาน นิพพานนี่ติดแล้ว ติดว่าคือนิพพาน แต่ถ้าบอกขั้นที่ ๒ ถูก แล้วขั้นที่ ๓ ล่ะ? ถ้าเขาติดของเขา ครูบาอาจารย์จะแก้เลย แก้บอกว่ามรรค ๔ ผล ๔ ที่ถูกต้องมามันขั้นที่ ๑ ถูกก็โสดาบัน ที่ ๒ ถูกก็เป็นสกิทาคา แล้วขั้นที่ ๓ มันเป็นพระอรหันต์ไม่ได้

เป็นพระอรหันต์ไม่ได้ เพราะว่าเราสร้างคอนโดมิเนียม สร้างชั้นที่ ๑ ชั้นที่ ๒ แล้วก็บอกว่าเราจะสร้างชั้นที่ ๑๐๐ เลย แล้วตรงกลางปล่อยมันว่างไว้หรือ? แล้วไอ้ที่ลอยอยู่บนอากาศนั่นมีอะไรไปค้ำมันล่ะ? แล้วตัวเองอยู่ชั้นสุดท้าย แล้วไอ้ตรงกลางมันอยู่ตรงไหนล่ะ? มันไม่มีเห็นไหม

มันต้องขั้นที่ ๑ ขั้นที่ ๒ แล้วขั้นที่ ๓ ก็ต้องมาต่อกัน แล้วขั้นที่ ๔ จะต่อขั้นที่ ๓ ขึ้นไป แล้วถ้าขั้นที่ ๓ มันไม่มี ขั้นที่ ๓ มันไม่เป็นไป แล้วมันจะเป็นนิพพานได้อย่างไร? ถ้าเป็นไม่ได้ กลับมาทำอย่างไรให้เป็นขั้นที่ ๓ ขั้นที่ ๓ ก็ต้องมีเหตุมีผลของมัน กามราคะเป็นอย่างไร? ถ้ากามราคะ ถ้าเห็นตัวมันไม่ได้ เห็นไหม มรรคจะเกิดไม่ได้ ! มรรคจะเกิดไม่ได้ !

ในเมื่อถ้ามันไม่มีเหตุมีผลที่จะไปจับอวิชชาได้ จับตัวกิเลสที่มันอยู่ในหัวใจได้ ถ้ามันจับไม่ได้ วิธีการปฏิบัติเห็นไหม เราจะปฏิบัติกัน น้ำใสจะเห็นตัวปลา น้ำใสจะเห็นตัวปลา ทำจิตให้ใสจะเห็นกิเลสนะ อีก ๑๐๐ ชาติ เพราะน้ำใสกิเลสมันใสกว่า นี่ไงพอจิตสงบเข้าไป มันไม่เห็นกิเลสหรอก

ผู้ที่ปฏิบัตินะ พอจิตสงบแล้วต้องออกขุดคุ้ย บางคน ถ้าคนมีอำนาจวาสนา มันความต่างของจิตมันเป็นอย่างนี้ อย่างเช่นเรานี้เป็นคนขี้ทุกข์ขี้ยากเลยนะ จิตสงบดีขนาดไหนนะ หากิเลสไม่เจอ มีปฏิบัติคู่กันอีกคนหนึ่ง เขาสร้างอำนาจวาสนามามาก พอจิตเขาสงบปั๊บ ! เขาเห็นกายของเขาเลยนะ เขาเห็นกิเลสเลย เพราะกิเลสมันอาศัยกายอาศัยจิตนี้ออกหาเหยื่อ ออกหากิน

ดูสิความวิตกกังวล ความทุกข์ อาการของจิตคือความคิดหมดเลย ที่ทุกข์อยู่นี้ ทุกข์บนความคิด แล้วความคิดนี้เราก็ไม่รู้ว่าใครคิด ? แล้วมันคิดมาอย่างไรก็ไม่รู้ พอจิตมันสงบไปแล้วมันก็ว่างหมดเลย แล้วไปจับไปต้องอะไรไม่ได้เลย

แต่พอจิตมันสงบแล้ว ถ้ามีอำนาจวาสนามันจะจับของมัน มันจะพิจารณาของมัน อ้อ ! จิตว่างก็มีความสงบ จิตคิด จิตเสวยอารมณ์ มันความคิดกับจิต กิเลสกับจิตมันเกี่ยวเนื่องกัน มันก็เลยเป็นความทุกข์ แล้วพอจิตสงบมันก็มีความสุข มันก็มีความว่าง เออ ! แล้วเวลาไปคิดมันก็มีความทุกข์ เวลาไปยึดไปมั่นมันก็มีความทุกข์

พอมันไปเห็นความแตกต่างแล้วใครเป็นคนคิด? เราคิดอย่างไร? จับมัด พอจับมัดแล้วก็เอามาขึงพืด เอามาวิปัสสนา คิดเพราะอะไร? คิดเพราะเหตุใด ? อะไรมันถึงทำให้คิด ? มันพิจารณาของมันไปเห็นไหม พอพิจารณาไปปัญญามันก็เกิด นี่ไง การขุดคุ้ยหากิเลส

ทีนี้เวลาปฏิบัติไปนะ มันเหมือนกับรับปริญญา ถึงเวลาก็แบมือรับมาเลย นี่ก็เหมือนกัน เป็นโสดาบันก็เหมือนกับแบมือรับมาเลย เป็นไปไม่ได้หรอก ไม่มี คนที่รับปริญญาเขาต้องมีการศึกษามา จบแล้วเขาถึงไปรับปริญญา คนที่จะประพฤติปฏิบัติยังไม่มีพื้นฐาน ยังไม่เห็นกิเลส เราจะจบถึงรับปริญญา เรามีศึกษาวิชาการทางเรื่องอะไร ? เราเรียนอะไรมา ? เรามีความรู้อะไรมาถึงจะไปรับปริญญา

จิตที่มันจะเข้าใจได้ มันมีวิปัสสนาญาณอะไรของมัน ? มันแก้ไขอะไรของมัน ? มันถึงจะเข้าใจได้ว่าตัวเองมาได้ขั้นไหน มันต้องมีเหตุมีผลของมัน นี่ก็เหมือนกัน พอถึงเวลา ถ้าพอออกขุดคุ้ย ออกหาเหยื่อ ออกหากิเลส ออกหากาย ออกหาเวทนา ออกหาจิตหาธรรม ถ้ามันเจอแล้วมันวิปัสสนาของมัน พอมันผ่าน เออ ! ที่ ๑ ผ่าน ที่ ๒ ผ่าน ที่ ๓ ผ่าน พอที่ ๓ ผ่านต้องขั้นที่ ๔ ต่อไป ขั้นที่ ๔ ยิ่งยากเข้าไปใหญ่เลย

จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้... แล้วมันผ่องใสหมดแล้ว มันว่างหมดแล้ว แล้วจะไปต่อสู้กับอะไร? มันก็ต้องต่อสู้ นี่ขั้นสุดยอดของมันบนเรือนยอดนี่ทำอย่างไร? พอเรือนยอดทำอย่างไร? มันต้องจับได้ มันต้องขุดคุ้ย ถ้าไม่ขุดคุ้ยหา..

หลวงตาท่านไปแก้หลวงปู่บัวนะ หลวงปู่บัวนี่ อ้าว..ว่ามาสิ ไปงานที่วัดป่าแก้วชุมพลนี่ไง ว่ามา หลวงปู่บัวท่านเข้าใจว่าหมดแล้ว เข้าใจว่าสิ้นแล้ว พอทีนี้เจ้าคุณจูมท่านก็จับ ท่านก็เอาหลวงปู่บัวกับหลวงตา ท่านให้คุยกัน “บอกว่าไม่ต้องไปสวดมนต์นะ คืนนี้ให้คุยกันก่อน” นี่เอาอย่างนั้น พอหลวงปู่มาบอกว่า

“มาเลยขั้น ๑ ผ่าน ๒ ผ่าน ๓ ผ่าน”

“เอาอีกต่อสิ”

“จบแล้ว” ก็คิดว่านี่ไง ก็คิดว่านี่นิพพาน

หลวงตาท่านอุทานเลยนะ อุ๊ยตาย ! เห็นไหม คนรู้กับคนไม่รู้

ไอ้คนไม่รู้ว่านิพพานไง “นิพพาน” หลวงปู่บัวบอกว่าจบแล้วนิพพาน หลวงตาบอก อุ๊ยตาย ! อุ๊ยตายปั๊บ ! คืนนี้ไม่ต้องไปสวดมนต์นะ นิมนต์ไปสวดมนต์งานศพแม่ของอาจารย์สิงห์ทอง ไม่ต้องไปสวดมนต์นะ ผมจะไปสวดเอง พออย่างนั้นปั๊บ ! เข้าเลยนะ ให้หาเลยนะ ขุดคุ้ยหา ก็ผ่านแล้วก็เข้าใจว่านิพพาน พอไม่ใช่นิพพานปั๊บ ! หลวงตาบอกมันไม่ใช่ พอไม่ใช่ก็ต้องบอกเหตุ

แล้วเวลาหลวงตาท่านไปพูดให้หลวงปู่คำดีเห็นไหม หลวงปู่คำดีพอพิจารณาไปแล้ว หลวงปู่คำดีไม่เหมือนหลวงปู่บัวนะ หลวงปู่คำดีท่านรู้ว่าท่านติด ท่านภาวนาของท่าน ท่านพยายามหาทางออก แต่ไปไม่รอด

พอไปไม่รอดท่านคิดไม่มีใครจะแก้ไง คนภาวนานี่มันเหมือนกับเราเป็นไข้ เราเป็นไข้นะ นอนอยู่คนเดียว โอ้ย ! ไม่มีใครรักษา โอ้ย ! รู้ว่าเป็นไข้นะ แต่หลวงปู่บัวท่านไม่รู้ ท่านบอกว่านิพพานแล้ว แต่หลวงปู่คำดีท่านรู้ พอรู้เสร็จแล้ว ตัวเองแก้ตัวเองไม่ได้

หลวงตาเล่าประจำเห็นไหม ในซีดีในเทปหลวงตา หลวงปู่คำดีท่านจุดธูปเทียนเลย อาราธนาเลย “ขอให้เทวดาอาราธนาให้หลวงตามหาบัวมาแก้ให้ที”

หลวงตามาเลยเห็นไหม มาถึงก็ อุ้ย ! มาเร็ว ก็เอาเข้าไปในห้องไปคุยกันตัวต่อตัว เห็นไหม พอคุยกัน พอบอก บอกให้คุ้ยๆ บอกขุดคุ้ย

พอหลวงตาท่านบอกปั๊บ ! หลวงปู่คำดี รู้แล้วๆ ๆ คำนี้เห็นไหม คำว่ารู้แล้วๆ รู้แล้วคือหาโจทย์เจอแล้ว หากิเลสเจอแล้ว รู้อยู่เป็นไข้ แต่ไม่รู้เป็นไข้อะไร? รู้อยู่ว่าเป็นไข้ไม่สบาย แต่ไม่รู้ว่ามันเป็นตรงไหน? หาไม่เจอ

คนติดต่างกันเห็นไหม หลวงปู่คำดีติดอย่างหนึ่ง หลวงปู่บัวเข้าใจว่านิพพานแล้ว หลวงตาบอกให้ค้นหา แต่หลวงปู่คำดีท่านรู้อยู่ว่าท่านติด พอท่านติดปั๊บ ! หลวงตามาถึงมาบอกว่า บอกว่าให้ค้นอย่างนี้ เป็นไข้นี้ เพราะเหตุนี้เหตุนี้ โอ! รู้แล้วๆ ๆ พอรู้แล้วก็กลับเห็นไหม

การขุดคุ้ยหากิเลสนะ การต่อสู้นี่ ไม่ใช่ว่าเราไปถึงก็แบมือรับปริญญาเลย ไม่ใช่ เราจะต้องต่อสู้ เราจะต้องแก้ไข เราจะต้องพิจารณาของเรา พอพิจารณาของเรา ถึงที่สุดแล้ว เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์เราบอกชี้ทาง แล้วพวกเราจะเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ พวกเราจะเข้าไปต่อสู้ คิดพลิกแพลง แล้วการต่อสู้พลิกแพลงนี้ มันจะเป็นสมบัติส่วนตน

โทษนะ อาหารเวลากินต้องผ่านปากเราคนเดียว ผ่านปากคนอื่นไม่ได้ ในการประพฤติปฏิบัติ มันจะต้องเป็นประสบการณ์ของจิตดวงนั้น หลวงตาท่านไปแก้หลวงปู่คำดี ท่านไปแก้หลวงปู่บัว หลวงตาท่านรู้อยู่แล้ว ทำไมความรู้ของหลวงตา ท่านส่งผ่านให้หลวงปู่คำดีกับหลวงปู่บัวไม่ได้ล่ะ? ความรู้ของหลวงตาท่านส่งผ่านให้กับหลวงปู่คำดีกับหลวงปู่บัวไม่ได้นะ แต่ท่านบอกวิธีการให้หลวงปู่คำดีกับหลวงปู่บัวท่านเข้าไปค้นคว้าในจิตของท่านต่างหากล่ะ

หลวงปู่คำดีท่านได้ศึกษาแล้ว ท่านได้ฟังจากหลวงตาแล้ว ท่านก็ย้อนกลับมาที่จิตของท่าน แล้วท่านก็มาแก้ไขของท่าน ท่านมาพิจารณาของท่าน ท่านทำของท่าน ท่านก็ผ่านพ้นเป็นพระอรหันต์สำเร็จไป เผาแล้วอัฐิเป็นพระธาตุ

หลวงปู่บัว เวลาหลวงตาท่านแนะนำแล้ว หลวงปู่บัวก็กลับ ย้อนกลับมาทำที่จิตของหลวงปู่บัวนั้น หลวงปู่บัวท่านมาเจอเหตุการณ์นั้น หลวงปู่บัวก็เข้าใจธรรมของหลวงปู่บัวนั้น จนสิ้นสุดไป หลวงปู่บัวเผาแล้วก็เป็นพระธาตุเหมือนกัน

มันส่งผ่านกันด้วยข้อเท็จจริงกับใจ จากใจดวงหนึ่งโดยการชี้นำ แล้วผู้ที่ประพฤติปฏิบัติต้องเห็นตามนั้น แล้วพยายามค้นคว้าหาให้ได้ แล้วทำของใจเราให้ได้ มันก็จะผ่านไปได้เหมือนกันพอผ่านไปได้แล้วนะ ถึงที่สุดเห็นไหม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก พระอรหันต์ทุกๆ องค์มีความเสมอกัน ด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ไง ต่างกันด้วยอำนาจวาสนาบารมีเห็นไหม แต่ความสะอาดบริสุทธิ์เสมอกัน เวลาถึงที่สุดแล้วมันเสมอกัน

จิตของเรามันพัฒนาการได้ มันปฏิบัติได้ มันเป็นไปได้ แต่มันต้องมีเหตุมีผลของมัน มีการกระทำของมัน ถ้าจิตของเรามันกำลังรื่นเริงอาจหาญนะ มีกำลังใจอยู่นะ มันต้องแยกแยะขุดคุ้ยให้ได้ ย้อนกลับมาหาให้เจอ หลวงปู่มั่นท่านพูดเห็นไหม “ปลาในสุ่ม ปลาในสุ่ม” หัวใจของเราอยู่ในร่างกายของเราปลาในสุ่ม แล้วถ้าพูดถึงเรื่องของปลาในสุ่มนะ ก็พูดถึงเรื่องของประสบการณ์ของเรา

ถ้าพูดถึงเรื่องอริยสัจพูดง่ายมาก เพราะอริยสัจ เพราะถ้ามัน..จิตนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจเห็นไหม ธรรมะเหนือธรรมชาติ บอกว่าธรรมะเหนือธรรมชาติ แล้วอริยสัจเป็นธรรมชาติหรือเปล่า? ใช่.. อริยสัจนี่เป็นธรรมชาติเลยล่ะ เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะเราเกิดมาโดยธรรมชาติ

เราอยู่ในธรรมชาติ เราเกิดมาโดยอวิชชา เกิดมาโดยธรรมชาติทำให้เราเกิด อริยสัจก็เป็นธรรมชาติ เพราะธรรมชาติกับธรรมชาติมันต้องแก้ไขกันไง ธรรมชาติกับธรรมชาติแก้ไขกัน แล้วพอจิตที่มันพ้นออกไปจากแก้ไขแล้ว มันเหนือธรรมชาติไป ถ้าแก้ไขเสร็จแล้วยังเป็นธรรมชาติอยู่ ก็ยังเกิดตายอยู่นะสิ

อริยสัจเป็นธรรมชาติ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ความทุกข์นี้เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ตัณหาความทะยานอยาก ความดีความชั่วความคิดเรามันเป็นธรรมชาติอันหนึ่งไหม ? สมุทัย สมุทัยควรละเห็นไหม ตัณหาความทะยานอยาก นิโรธะ นิโรธมันจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร? ถ้ามันไม่มีมรรค พอมรรคมันเกิดนิโรธขึ้นมา อันนี้เป็นธรรมชาติหรือเปล่า ? เป็นธรรมชาตินะเพราะเราเกิดมาในธรรมชาติ

อริยสัจ มาถามอริยสัจเป็นธรรมชาติไหม? บอกเป็น แต่จิตมันกลั่นออกมาจากอริยสัจ โสดาบันมันก็กลั่นออกมาจากอริยสัจ แต่ยังมีจิตอยู่นะ เพราะมันเป็นโสดาบันใช่ไหม ? สกิทาคาก็กลั่นออกมาจากอริยสัจ อนาคาก็กลั่นออกมาจากอริยสัจ

แต่เวลาขั้นสุดท้าย ขั้นสุดท้ายเห็นไหม มันทำลายอยู่ในวงอริยสัจนั้น มันทำลายอยู่ในวงอริยสัจนั้น อรหัตตมรรค อรหัตตผล อรหัตตมรรค อรหัตตผลเห็นไหม อริยสัจเห็นไหม อรหัตตมรรคก็มรรคญาณ มรรคญาณของอรหัตตมรรค

นี่เวลาผลคือการกระทำ สภาวะที่การเปลี่ยนแปลงนั้น พอสภาวะที่มันเปลี่ยนไปนั้น มันทำลายหมดแล้วมันเหลืออะไร? ถ้ามันเหลืออยู่ มันก็ยังเป็นธรรมชาตินะสิ ฉะนั้นพระอรหันต์ต้องไม่มีจิตไง จิตคือภพ มโนมิงปิ นิพพินทะติ มโนคือหัวใจ ตัวหัวใจโดนทำลายแล้ว ตัวจิตโดนทำลายแล้ว พอตัวมโนโดนทำลายแล้ว มโนมิงปิ นิพพินทะติ มโนสัมผัสเสปิ นิพพินทะติ ผลมันเกิดจากการสัมผัสนั้น

เบื่อหน่ายการเบื่อหน่าย เบื่อหน่ายมโน เบื่อหน่ายหัวใจไง หัวใจโดนทำลายหมดเลย หัวใจไม่มี ทำลายหัวใจหมดเลย สิ่งนี้เป็นนามธรรม เห็นไหมมันเหนือธรรมชาติ เหนือธรรมชาติตรงที่มารมันหาไม่เจอไง พอเวลาพระอรหันต์ตายแล้วมารหาไม่เจอ แต่ถ้าเป็นปุถุชนเป็นพระอนาคานะ มารมันยังเห็น เห็นเพราะมีภพ ภพคือสถานที่ ภพคือตัวใจไง ภพคือมโนไง

ความคิดเห็นไหม ดูความคิดสิ ความคิดที่เราเอาความคิดนั้นมากลั่นกรอง ความคิดมีไหม? ความคิดมี แล้วความคิดมันอยู่บนอะไร? เพราะความคิดอย่างนี้มันถึงสะสมลงอยู่ที่ใจไง เวลามีการกระทำไปเป็นธรรมชาติไหม

ธรรมดาเรื่องนี้เราก็ไม่ค่อยได้พูดนะ แต่พอบอกว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ แล้วสรรพสิ่งนี้เป็นธรรมชาติ มันเลยทำแบบ ประสาเรานะ คำนี้ที่เราออกมาบอกว่าธรรมะเหนือธรรมชาติ เราพูดให้ชัดเจน ให้คนที่คิดว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ เขายังได้มีโอกาสได้พิสูจน์ว่าที่เป็นธรรมชาติ กับที่เหนือธรรมชาติ มันแตกต่างอย่างใด? คือให้คนที่เข้าใจว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ มันจะได้แก้ไข ถ้ามันมีโอกาสได้แก้ไข เพื่อจะได้เห็นเข้าไปสู่ความจริงนั้น

แต่ถ้ายังคิดยังเข้าใจว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ ความรับรู้เป็นธรรมชาติ เพราะถ้าเป็นธรรมชาติ ความรู้สึกเราก็เป็นธรรมชาติ มันก็อยู่กับธรรมชาตินี้ แล้วอริยสัจเป็นธรรมชาติไหม? เป็น เราก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง แต่ธรรมชาติกับธรรมชาติมันต้องแก้ไขกัน แก้ไขกันทำลายกัน จนธรรมชาติเป็นกุปปธรรม กุปปคือความเจริญ สัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวะที่เป็นอนัตตานี้เป็นธรรมชาติ

อกุปปธรรม สิ่งที่คงที่ไม่แปรปรวน ไม่มีการบุบสลาย ไม่มีการย่อยสลาย ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีกแล้ว แล้วถ้ามันไม่เหนือธรรมชาติมันเป็นอะไรล่ะ? เพราะมันเหนือกาลเวลา เหนือกาลเวลา เหนือทุกอย่างเห็นไหม พ้นจากการคาดการหมาย พ้นจากกาลเวลา พ้นจากการย่อยสลาย พ้นจากทุกๆ อย่างไปเลย มันจะเหนือธรรมชาติไหมล่ะ?

อกุปปธรรม โสดาบัน สกิทาคา อนาคา อรหันต์นี่อกุปปธรรม แต่ถ้าโสดาบันถึงอนาคามันยังมีสมมุติอยู่ มันเป็นอกุปปธรรมโดยที่ว่า เห็นไหมอย่างที่ว่าพระโสดาบัน เกิดอีก ๗ ชาติ คำว่าเกิดตายก็ยังเป็นธรรมชาติอยู่ แต่แค่ ๗ ชาติ

แต่ถ้าเป็นปุถุชน ถ้าเป็นธรรมชาติเลย มันจะไม่มี ๗ เลย มันแล้วแต่ค่าของมัน คือสูงต่ำแล้วแต่บุญกุศล หมุนไปตลอดไม่มีวันสิ้นสุด ไม่มีวันจบขบวนการของมัน ธรรมชาติเป็นอย่างนี้ แต่อกุปปธรรมแล้ว ๗ ๓ เกิดบนพรหมแล้วหมดเลย ไม่มีอีกแล้ว แต่มีความรู้สึกอยู่ นี่เหนือธรรมชาติอย่างนี้

เขาโต้แย้งมา ว่าถ้าธรรมะเหนือธรรมชาติ อริยสัจเป็นธรรมชาติหรือเปล่า ? เราก็บอก ใช่.. อริยสัจเป็นธรรมชาติแน่นอน แต่สิ่งที่กลั่นออกมาจากอริยสัจเว้ย ! อริยสัจก็สาธุ.. อริยสัจคืออริยสัจ เพราะพระพุทธเจ้ามารู้ตรงนี้

ถ้าพระพุทธเจ้าไม่เอาธรรมชาติ ไม่เอาอริยสัจมาบอกให้คนโง่ๆ อย่างพวกเรา ถ้าพูดธรรมะพูดเหนือความรับรู้ของเรา พวกเราจะปีนบันไดรับรู้ได้ไหม? ท่านถึงเอาความจริง เอาสิ่งที่ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เอามาบอกพวกเรา แล้วให้พวกเรานี้ขวนขวาย ดัดแปลง แก้ไข ต่อสู้ แล้วพอผลมันตอบมาแล้วนะ พระพุทธเจ้าไม่ต้องบอก เหอะ ! ผู้ที่เป็นนั้นจะรู้เอง

ครูบาอาจารย์ที่ท่านฉลาด ท่านจะต้องการให้เรารู้ ให้เราเข้าใจ ให้เราเห็นของเรา พอเห็นของเราเป็นอันนั้นแล้ว นั่นอันนั้นล่ะ อันนั้นไม่ต้องให้ใครสอนเลย เห็นไหมปัจจัตตังรู้เฉพาะตน เป็นสันทิฏฐิโก รู้จากหัวใจดวงนั้น นี่สัจจะมันเป็นอย่างนั้น แล้วถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วจะต้องไปสอนใครไหม ? อย่างพวกเราเป็นไข้ เจ็บไข้ได้ป่วยกันมา หมอรักษาหายหมดแล้วนะ หมอต้องมาโอ๋เราอีกไหม อ้าวหายแล้วก็จบไง

จิตที่มันกลั่นออกมาจากอริยสัจ จิตที่มันพ้นไปแล้วก็จบไง ไม่ต้องไปบอกมันอีกมันรู้แล้ว ไอ้บอกไอ้บอกคนไม่รู้ ไอ้เถียงกันปากเปียกปากแฉะอยู่ ต้องเถียงกัน นี่บอกไอ้พวกนี้ ให้มันเอามาเทียบเคียง ให้มันเอามาดูแลให้มันตรวจสอบ ตรวจสอบให้มันเป็นความจริงขึ้นมา

มรรค ด้วยความเข้าใจ เราทุกคนก็คิดอย่างนี้ไง คิดว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์ไง ว่าต้องบอกมาให้เข้าใจแล้วเราจะทำได้ ทำให้เป็นอย่างนั้น ถ้าจะให้ทำเป็นอย่างนั้นมันก็เลยกลายเป็นสร้างอีกความรู้สึกอันหนึ่งขึ้นมา ชีวิตเวลาเป็นทุกข์อย่างนี้ แล้วก็ไปสร้างนะ สัมมาอาชีวะที่ถูกอย่างนี้ไง ดีอย่างนี้ไง ถูกต้องอย่างนี้ไง ถูกต้องมันก็อยู่ข้างนอก ใจเรายังทุกข์อยู่เห็นไหม

แต่ถ้าเราทำ ทำโดยสามัญสำนึก เราถึงบอกถ้าทำอย่างนี้มันตัดรากถอนโคน เพราะความคิดไม่ใช่จิต ความรู้สึกมันไม่ใช่จิต จิตมันอยู่นี่ จิตคือพลังงาน แต่ถ้าเราพุทโธเราใช้ชีวิตปกติ ใช้ความรู้สึกปกติ ทุกอย่างปกติมันเกิดจากจิต ทุกอย่างมันจะหดเข้ามาที่จิต นี่คือรากเหง้า รากเหง้า

เวลาหลวงตาท่านสอนถึงรากอวิชชา รากอวิชชามันอยู่ที่จิต แล้วถอนพรวดออกมาจากรากอวิชชา กิเลสตาย แต่ถ้าไปตัดยอดมัน ตัดใบละกิ่งมัน ไม่ตัดรากถอนโคนจะไม่มีทางชำระกิเลสได้

ฉะนั้นพอบอกว่ามรรคเป็นอย่างนั้น ทุกอย่างเป็นอย่างนั้นปั๊บ! มันก็ส่งออก ส่งออกไปสร้างความคิดอีกความคิดหนึ่งขึ้นมา แล้วเราก็จะไปสร้าง โอ๊ย! มรรคเป็นอย่างนั้นนะ เกร็งไปหมดเลย ต้องตายตัวอย่างนั้นเลย กิเลสมันดิ้นอยู่ในหัวใจขลุกขลักขลุกขลักอยู่นี่ ไม่มีใครไปดูแลมันเลย กิเลสมันดิ้นขลุกขลักขลุกขลักอยู่นี่ หัวใจนี่ทุกข์มากเลย ไม่มีใครดูแลมันเลยนะ แต่ อู้ฮู้ ! มรรค ๘ นี่สมบูรณ์นะ สร้างมรรคสมบูรณ์แบบหมดเลย เห็นไหม

เราไปสร้าง ปฏิบัติโดยพิธีกรรม ทำกันอยู่อย่างนี้ ปัจจุบันทำกันอยู่อย่างนี้ ไปสร้างอารมณ์อีกอารมณ์หนึ่ง ไปสร้างความรู้สึกไว้อีกอันหนึ่ง ตัดรากถอนโคนข้อเท็จจริงของใจเรา

แต่หลวงปู่มั่นท่านสอนเลย ดำรงชีวิตประจำวัน คือการอยู่ในชีวิตประจำวันให้มีสติสัมปชัญญะ อยู่กับความเป็นจริงเรา หกล้มก็ว่าหกล้ม ลุกขึ้นมาก็ว่าลุก นั่งก็ว่านั่ง อยู่กับปัจจุบันเรา ไม่ต้องไปสร้างอารมณ์อีกอารมณ์หนึ่ง

ไปสร้างไง จะทำอะไรก็ต้อง อู้ฮู้! สร้างอารมณ์อีกอารมณ์หนึ่งคู่กันไปอยู่อย่างนั้นล่ะ มันเลยตัดรากถอนโคน ตัดรากถอนโคนตัวจิต ตัดรากถอนโคนความรู้สึกของเรา

แต่ถ้าทำชีวิตประจำวัน ไม่ต้องไปสร้างภาพอีกภาพหนึ่ง เหมือนมารยาทสังคมเลย มารยาทเป็นมารยาทนะ แต่นิสัยจริงๆ เป็นอีกอย่างหนึ่งนะ แต่มารยาทดีมาก แต่ความจริงหัวใจนี้เต้นโครมๆ เลยนะ แต่ข้างนอกเรียบร้อยมากเลย โครมๆ ก็โครมๆ อยู่กับมัน ดีก็ดีอยู่นี่ ชั่วก็ชั่วอยู่นี่ สู้กันความจริงอันนี้ อันนี้จะเป็นความจริง

นี่พูดถึงมรรคนะ จบหรือยัง จบนะ เอวัง