ปัญญาโลก
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ความจริงเราจะรอดูคนหน้าใหม่ๆ ไอ้หน้าเก่าๆ พูดไปมันเหมือนกับว่าซ้ำซาก น่าเบื่อ พูดอะไรก็ ฮู้ น่าเบื่อ ถ้าหน้าใหม่ๆ มา เอ้อ.. เอ๊ะ หลวงพ่อพูดอะไรแปลกๆ ดีเว้ย แต่ไอ้คนฟังทุกวันนี่น่าเบื่อ มันเรื่องเก่า แต่ไอ้นี่จะพูดนิดหนึ่งเพราะมันดูหนังสือ เมื่อวานให้คนเอามา มันถามมาในเว็บไซต์ไง แล้วเราไม่มีเวลาอ่าน เมื่อวานอ่านไปเพิ่งจบ จบแล้วมันก็มาอยู่ข้างหลังนี้เอง
ถาม : ดังนั้นจึงขอโอกาสเรียนถามว่า สภาวธรรมที่ผมกล่าวแล้วข้างต้น เป็นการ เข้ากระแสนิพพานจริงหรือไม่?
หลวงพ่อ : เห็นไหมเข้ากระแสนิพพานจริงหรือไม่? เขาจะบอกว่าเข้ากระแสอยู่ตลอด นี่ไงในหนังสือนี้ก็บอกอยู่ตลอด พูดอย่างนี้ปั๊บ นี่แสดงว่าลูกศิษย์เขาด้วย
ถาม : ถ้าไม่ใช่ พอถึงขั้นตอนนั้นจะรู้เองได้อย่างไร? และผมจะมีโอกาสบ้างไหมครับ ? ในการที่จะปิดอบายภูมิ ที่ชาตินี้อย่างน้อยที่สุด
หลวงพ่อ : เวลามัน..ไอ้นี่เดี๋ยวเราจะตอบข้างหลังไง เราจะพูดถึงพื้นฐานเลย เวลาจะพูดถึงธรรมะนี่ ธรรมะ ถ้าผู้ที่ปฏิบัติแล้วให้พูดที่ไหน พูดอย่างไรก็แล้วแต่ มันจะเป็นแบบว่าสืบเนื่องต่อเนื่องกัน มันจะไม่ขัดแย้งกัน ธรรมะพระพุทธเจ้าจะบอกเลยว่าจะไม่มีการขัดแย้งกัน
ถ้ามีการขัดแย้งกันนะ มันต้องผิดอันหนึ่ง นี่เวลาเราพูดเทศน์ธรรมะมันไม่ใช่ขัดแย้งกัน มันมีแต่หยาบ ละเอียด ถ้ามันหยาบอยู่ มันก็เป็นธรรมะขั้นพื้นฐาน ถ้ามันละเอียดขึ้นมาเห็นไหม มันต้องส่งขึ้นมา อันนี้เวลาพูดถึง เวลาพูดธรรมะกัน เพราะพูดถึงผล ผลมันต้องเป็นอย่างนั้น ถ้าพูดถึงผลอย่างเดียวมันก็ไม่ได้ เพราะผลนั้นมาจากไหน? ผลนั้นมาแต่เหตุ แล้วเหตุมันคืออะไร? ฉะนั้นถ้าเหตุมันคืออะไรปั๊บ มันก็ต้องย้อนกลับมาที่นี่ไง ย้อนกลับมาที่การทำไปหาเหตุ การทำจากเหตุไปหาผล แล้วเหตุมันอยู่ที่ไหน?
แต่ถ้ามันไม่เป็นนะ มันไม่เข้าใจ ดูสิ เราพูดถึงอะไรนะ? พูดถึง จิตส่งออก ความไม่เข้าใจของเขา เขาก็ไปพูดอยู่ อันนี้ก็เหมือนกัน อันนี้เวลาเขาพูดถึงนะ เขาพูดถึงบอกว่าเวลาหลวงปู่ดูลย์นะ เวลาหลวงปู่ดูลย์บอกว่า สว่าง เวลามีพระไปถามหลวงปู่ดูลย์ใช่ไหม ว่าง สว่าง บริสุทธิ์ หยุดความปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาของจิต ไม่มีอะไรเลย ไม่เหลืออะไรสักอย่าง
ไอ้คำว่าไม่เหลืออะไรสักอย่างนี้ ก็คำว่าผล ว่าไปหาผล ถ้าผลความเป็นจริง คนพูดพูดถูกนะว่าถึงที่สุดแล้ว นิพพานไม่เหลืออะไรเลย ไม่เหลืออะไรสักอย่างเลย
ทีนี้ถ้าเอาทางโลกไปเปรียบเทียบ คำว่าไม่เหลืออะไรสักอย่างก็คือว่า ไม่มีอะไรเลย ไม่ได้อะไรเลย เราไม่ได้อะไรเลย ไม่เหลืออะไรสักอย่าง โทษนะ.. เหมือนไฟไหม้บ้าน ถ้าใครโดนไฟไหม้บ้านแล้วเผาหมดเลยนะ โอ๊ย.. จะนั่งร้องไห้แล้วนั่งร้องไห้อีกเลยนะ มันหมดเนื้อหมดตัวไม่เหลืออะไรเลย แต่เหลือคนนั่งร้องไห้อยู่ ไอ้คนนั่งร้องไห้น่ะมันเหลืออยู่นะ แต่มันไม่ได้ดู ไอ้คนร้องไห้มันไม่ได้คิดว่าเรา ยังเหลือเราอยู่นะ มันจะเสียใจมาก เวลาบ้านเรือนเรา สมบัติของเราโดนไฟเผาผลาญหมดเลย แล้วก็นั่งร้องไห้ ไม่เหลืออะไรสักอย่าง นี่พูดถึงทางโลก
ประเด็น : แต่ถ้าในการปฏิบัติเห็นไหม ว่าง สว่าง บริสุทธิ์ หยุดความปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาของจิต ไม่มีอะไรเลย ไม่เหลืออะไรสักอย่าง แล้วเขาก็ตอบนะ ที่จริง ท่านตอบเลี่ยงๆ นิดหนึ่ง ตอบแบบอ้อมๆ นิดหนึ่ง ถ้าจะพูดจริงๆ ท่านอยู่ที่จิตหนึ่งต่างหาก ท่านอยู่ที่จิตหนึ่ง
หลวงพ่อ : จิตหนึ่งเห็นไหม คือมันพยายามจะตอบว่า ต้องมีอะไรที่เกาะเกี่ยวที่อธิบายได้ไง คนไม่เป็นเห็นไหม มันขัดแย้งกัน มันขัดแย้งที่ไหน? คำว่าจิตหนึ่งคืออะไร? ถ้าคำว่าจิตหนึ่งเป็นนิพพานนะ พวกเรานั่งสมาธิ จิตหนึ่งไหม? นิพพานแล้ว นิพพานแล้ว
จิตหนึ่ง แล้วไอ้คำว่าจิตหนึ่ง เราก็มาอ้างบ่อย อ้างตรงพระสารีบุตร เวลาพูดกับนักบวชนอกศาสนาใช่ไหม ที่เขาเถียงๆ ธรรมะกัน นางอะไรนะที่มาบวชภิกษุณีน่ะ บอกว่าเขาเถียงโต้แย้งเรื่องธรรมะ เขาท้าทายกัน นี่มาโต้แย้งกับพระสารีบุตร ให้พระสารีบุตรตอบ เขาถามอะไร? พระสารีบุตรตอบได้หมดเลย ถึงเวลาพระสารีบุตรถามเขาบ้างว่า หนึ่งไม่มีสองคืออะไร? ตอบไม่ได้ ถ้าตอบไม่ได้ ถามว่าอยากรู้ไหม? อยากรู้ก็ต้องมาบวช พอบวชเสร็จเขาก็หนึ่งไม่มีสอง พิจารณาหนึ่งไม่มีสองจนถึงที่สุดเขาก็สิ้นไป
นี่มาบอกจิตหนึ่ง จิตหนึ่ง เป็นจิตหนึ่ง ฐีติจิต จิตหนึ่ง แต่เวลาธรรมพระพุทธเจ้าบอกว่า ธรรมอันเอกเห็นไหม เอโกธัมโม ธรรมนะ ดู หลวงตาท่านพูด ธรรมธาตุ หลวงตาไม่ได้พูดว่าธรรมชาติ หลวงตาพูดว่า ธรรมธาตุ ธรรมธาตุ ธรรมธาตุไม่ใช่ธรรมชาติ เพราะธรรมชาติมันก็แปรปรวน ธรรมธาตุ
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ไม่เหลืออะไรสักอย่าง ว่าง สงบ หยุดคิด หยุดหมดเลย สุดท้ายแล้วไม่เหลืออะไรสักอย่าง เหลือจิตหนึ่งก็ไม่ได้ จิตหนึ่ง จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลสเห็นไหม จิตเดิมแท้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส จิตหนึ่ง จิตหนึ่ง จิตหนึ่ง มันจะขัดแย้งกันไม่ได้ นี่ขัดแย้งมาก
นี่พูดถึงเวลาปฏิบัติเห็นไหม เวลาไปถึงฝ่ายเหตุ เวลาเหตุน่ะ มันมีเป็นไปได้ แต่ถ้ามันฝ่ายผล พูดผลเหมือนกัน แต่ผลที่เหมือนกันนั้น ถ้าเหตุมันถูกต้อง มันจะไม่เป็นอย่างนี้ อันนี้เวลาคนมันปฏิบัติไม่ได้ มันปฏิบัติไม่เป็น มันก็ว่าไปตามนั้น
อย่างเช่น เห็นไหมผลของการปฏิบัตินะ ที่เราออกมาพูด ที่เราออกมาพยายามจะอธิบายอยู่ เพราะว่าเวลาเราปฏิบัติตามความเป็นจริง ปฏิบัติตามเป็นจริง มันต้องลงทุนลงแรง เวลากำหนดพุทโธๆ เห็นไหม เวลากำหนดพุทโธเพื่อให้จิตสงบ เพราะจิตมันมีของมันมี เห็นไหม ของมันมี ของมันเป็นไป กิเลสมันมี
ประเด็น : แต่เวลาพวกฝ่ายที่ว่าเขาดูจิต เขาจะบอกว่า จิตนี้เป็นนิพพานอยู่แล้ว จิตนี้มันมีอยู่โดยนิพพานอยู่กับจิตอยู่แล้ว เข้าไปถึงธรรมชาตินั้นมันก็สิ้นกิเลส ฉะนั้นไม่ต้องกำหนดพุทโธ การกำหนดพุทโธ การกระทำของเรามันเป็นอัตตกิลมถานุโยค จงใจ คือ ผิดหมด จงใจตั้งใจผิดหมด ต้องปล่อยให้เผลอๆ ยิ่งเผลอเท่าไรยิ่งดีที่สุดเลย เพราะเผลอแล้วสติก็มา เขาใช้คำว่าเผลอปั๊บ พอเผลอหมดไปสติก็มา เขาอธิบายอย่างนี้ตลอด เผลอ เผลอปั๊บ สติก็จะมาเอง สติจะมาเอง แต่ถ้าตั้งใจจงใจเป็นอัตตกิลมถานุโยคหมดเลยเห็นไหม
หลวงพ่อ : เพราะอะไรล่ะ? เพราะโลกทัศน์เขาเป็นอย่างนี้
ประเด็น : เขาบอกว่าจิตนี้มันมีนิพพานอยู่แล้ว พอไปถึงรู้จักมันก็ถึงนิพพาน พอรู้จักมันถึงนิพพาน เขาถึงปฏิเสธคำบริกรรม ปฏิเสธหมดเลย ปฏิเสธการตั้งใจจงใจ เพราะจงใจเป็นอัตตกิลมถานุโยค ต้องเผลอ ถ้าเผลอ เผลอไปแล้วรู้เอง รู้เองเพราะมันรู้เอง
หลวงพ่อ : เดี๋ยวจะไล่ไปเรื่อยๆ เดี๋ยวจะเห็นแล้วตลกมาก ถ้าเผลอมันจะรู้เอง แต่พวกเราพอจงใจ พุทโธๆ พุทโธๆ เขาบอกผิดหมด ผิดหมด แล้วเขาก็ดูถูกนะบอกว่า พวกพุทโธหลงมาทั้งชีวิต หนังสือเขาเขียนออกมามากเลยว่า พวกพุทโธหลงมาทั้งชีวิต ชีวิตนี้ทั้งชีวิตเลยทำอะไรกันได้ แล้วเมื่อไรจะได้วิปัสสนาไง เขาบอกว่าพุทโธ มันทำให้เราเสียเวลากัน นี่พอพุทโธเสียเวลานะ
ประเด็น : ย้อนกลับมาดูผลการปฏิบัติของเขา การเกิดปัญญา หนึ่งจบไปแล้ว เห็นไหม หนึ่งรู้สภาวะและเกิดความยินดียินร้าย ก็รู้เห็นตามความยินดียินร้ายจะดับ ความยินดียินร้ายจะดับ เราจะรู้ทุกอย่างด้วยใจเป็นกลาง ปัญญาจะเกิดขึ้น เช่น พระโสดาบัน จะรู้สภาวธรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นแล้วไม่ปฏิเสธ
หลวงพ่อ : แล้วไม่ปฏิเสธนี่นะ
ประเด็น : ใจก็ไม่ทุกข์เห็นไหม ปัญญาจะเกิดขึ้น ไม่ปฏิเสธ ปัญญาจะเกิดขึ้น ใจก็ไม่ทุกข์ เพราะเห็นทุกอย่าง ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายก็ดับไปเป็นธรรมดา แค่นี้เป็นพระโสดาบัน ปัญญาของพระโสดาบันนะ
๒. เมื่อเกิดสติตัวจริงก็จะมีสัมมาสมาธิ และเกิดปัญญา เมื่อทำไปมากเข้า จนมากพอเห็นซ้ำซาก จะเป็นสภาวธรรม ลักษณะเฉพาะ และของกิเลสแต่ละตัว และเมื่อเห็นชัดเจนทุกตัว จิตจึงจะเห็นลักษณะรวมเป็นสามัญลักษณะ ว่าเป็นไตรลักษณ์ ถ้ากำลังของวิปัสสนาแก่กล้าพอ ก็จะเกิดความรู้รวบยอดเป็นปัญญา โดยจิตเข้าอัปปนาสมาธิ
หลวงพ่อ : โดยจิตเข้าอัปปนาสมาธิเห็นไหม แล้วพุทโธๆ ล่ะ พุทโธเป็นสมาธิไหม? แล้วปฏิเสธสมาธิ แล้วทำอย่างนี้เป็นสมาธิได้ไหม ? เป็นไปไม่ได้
ประเด็น : นี่เหลือสองประเด็นนะ เพราะถ้าเข้าอัปปนาสมาธิ เกิดกระบวนการของอริยมรรคขึ้นมา ตัดสินใจในชั่วขณะจิต พระโสดาบัน พระสกิทาคามีก็เห็น มีความเห็นว่า ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่มีตัวตนในที่ใด พระอนาคามีก็ไม่มีกามราคะ ปฏิฆะ ไม่ยึดในกาย พระอรหันต์ก็มีจิตแจ่มแจ้ง ว่ามันเป็นทุกข์ล้วนๆ เพราะปล่อยวางความยึดถือ
หลวงพ่อ : มันขัดแย้งกันไปหมด ขัดแย้งไปถึงว่า เมื่อสติตัวจริงเกิดขึ้นก็จะมีสัมมาสมาธิ จะมีอะไรทุกอย่างไปหมดเลย สุดท้ายแล้วพอพิจารณาไปแล้ว มันกลับมาลงที่อัปปนาสมาธิ
คำว่าลงที่อัปปนาสมาธิ อัปปนาสมาธินะมันเป็นรวมใหญ่ หลวงตาจะพูดบ่อยมากเลย บอกว่าถ้าใครไม่เคยรวมใหญ่จะไม่รู้เรื่องรวมใหญ่ จะไม่รู้อาการของความรวมใหญ่ คือว่าไม่รู้ว่าจิตนี้มันรวมอัปปนาสมาธิอย่างไร? แล้วถ้ามันเป็นอัปปนาสมาธิตัวจริง คำว่าตัวจริงหมายถึงว่า ถ้ามันลงอัปปนาสมาธิ
อัปปนาสมาธิเกิดปัญญาไม่ได้ มันไม่มีทางเกิดปัญญาได้ อัปปนาสมาธิเกิดปัญญาไม่ได้ มันต้องถอยออกมา ถอยออกมาที่อุปจารสมาธิ พออุปจารสมาธิจิตมันออกรู้ มันถึงเกิดปัญญา เข้าไปอัปปนาสมาธิรวมใหญ่ คือ สักแต่ว่ารู้ มันไปนิ่งอยู่ มันเกิดปัญญาไม่ได้
แต่นี่บอกว่า มันจะลงอัปปนาสมาธิ แล้วเกิดกระบวนการอริยมรรคเกิดขึ้น อัปปนาสมาธิเกิดปัญญาได้หรือ? อัปปนาสมาธิมันเกิดปัญญาไม่ได้ แล้วบอกว่าเวลาบอกพุทโธ มันจะเป็นสมาธิเห็นไหม เราจะบอกว่าคนนี้ไม่รู้อะไรเลย ไม่เป็นอะไรเลย ไม่มีประสบการณ์ของจิตเลย
เรามีต้นข้าว กินได้ไหม? ต้นข้าวเขาไว้ให้ควายกินนะ เรากินเมล็ดข้าว ไอ้กระบวนการของข้าว มันเกิดจากต้นข้าวใช่ไหม? เกิดจากต้นข้าว จะมีรวงข้าว แล้วรวงข้าวนั้นเขาถึงต้องเอาไปสีใช่ไหม ? ข้าวถึงมาหุงเป็นอาหารได้ใช่ไหม ?
นี่ไงถ้าเป็นสมาธิ จิตเรา เราต้องทำให้เกิดสมาธิ เช่น ต้นข้าว แล้วต้นข้าว เราออกวิปัสสนา มันจะเกิดรวงข้าว พอเกิดรวงข้าวแล้วจะเอาไปกินใช่ไหม? นี่เขาบอกว่าปฏิเสธตั้งแต่เมล็ดข้าว ปฏิเสธทั้งหมดเลย แล้วก็บอกพอลงอัปปนาสมาธิ อัปปนาสมาธิมันก็ต้นข้าว แล้วต้นข้าว รวงข้าว มันเกิดมาได้อย่างไร? รวงข้าวจะเกิดจากต้นข้าวไหม? รวงข้าวเกิดจากต้นข้าวต่อเมื่อต้นข้าวมันโตขึ้นมา แล้วรวงข้าวก็ออกจากต้นข้าวนั้น แต่ตัวต้นข้าวนั้น นี่พูดถึงต้นข้าว ต้นข้าวทั้งต้นที่มันเจริญงอกงามนะ
แต่เวลาพูดอย่างนี้มันตัดตอน มันตัดตอนนะ ลงอัปปนาสมาธิ เกิดขบวนการของอริยมรรค มันเป็นไปไม่ได้ อัปปนาสมาธิเกิดปัญญาไม่ได้ อัปปนาสมาธิเกิดมรรคไม่ได้ ไม่ได้ แล้วเวลากำหนดพุทโธๆ เวลาจะลงสมาธิก็ปฏิเสธสมาธิเสียก่อน เห็นไหม มันขัดแย้งกันไหม ? เวลาพุทโธๆ ใครกำหนดพุทโธ พวกนี้ พวกสมถะ ปฏิเสธสมถะ
แต่เวลากำหนดดูจิต ดูไปดูมาเป็นอัปปนาสมาธิ อ้าว ! ก็ปฏิเสธพุทโธ ห้ามทำ สมถะไม่มีประโยชน์ แล้วไม่มีประโยชน์ แล้วกำหนดดูไป ดูไปเรื่อยๆ พอดูไปถึงเกิดปัญญา โดยจิตเข้าอัปปนาเกิดขบวนการของมรรค คือมันไม่มีเหตุมีผลไง หนึ่งมันไม่มีเหตุมีผล มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว พอเป็นไปไม่ได้ ถ้าคนรู้จริงจะไม่กล้าพูดอย่างนี้ออกมา
ถ้าคนรู้จริงนะ จิตของเราปุถุชน ปุถุชนเห็นไหมคนที่หนา คนหนาความคิดของเราเป็นโลกียปัญญา ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ก็ใช้ปัญญาไล่สมาธิเข้ามา สมาธิมันจะอยู่ มันเข้าอัปปนาไม่ได้หรอก อัปปนาสมาธิจะเข้าได้ด้วยกำหนดพุทโธๆ ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ มันจะไล่เข้าไป
อย่างเช่น ที่หลวงตาท่านบอกว่า ท่านใช้ปัญญาอบรมสมาธิที่หนองผือ นั่งทั้งคืนไง เอาเวทนาเป็นตัวตั้ง แล้วต่อสู้กับเวทนาไป ต่อสู้กับเวทนาไป แล้วแยกแยะเวทนาไป แล้วจิตมันลง จิตมันลงใช่ไหม? จิตมันลง ลงเพราะอะไร? ลงเพราะจิตมันมีพื้นฐาน แล้วมันออกสู้กับเวทนา ออกไปต่อสู้ มันเป็นวิปัสสนา
แล้วผลที่มันรวมออกมา รวมลงมา รวมอย่างนั้น มันรวมด้วยปัญญา คำว่ารวมด้วยปัญญาน่ะเวลาพูดนะ ความสงบของการทำสมาธิ คำว่าทำสมาธินะ เวลาเราใช้คำว่าทำสมาธิ สมาธิ ผลของมันคือ ความสงบร่มเย็น มันเป็นแบบว่า เข้าไปสงบนอนพักผ่อน แต่ถ้าเราใช้ปัญญาแล้ว มันเหมือนกับเราเข้าไปถากถาง เราเข้าไปทำลาย มันทำลายกิเลสออกไป
เวลามันรวมลง มันรวมลงพร้อมกับถอนกิเลส ถอนอุปาทานด้วย อารมณ์ความรู้สึกระหว่างจิตที่มันลงนี่ต่างกัน อารมณ์จิตที่มันวิปัสสนาแล้วลงอย่างนั้น มันไม่ใช่อัปปนาสมาธิ มันเป็นผลของวิปัสสนาญาณ
ถ้าจิตมันพิจารณาของมันไป มันพิจารณาจนมันปล่อย มันปล่อยของมัน มันปล่อยต่างกัน ถ้าเป็นสมาธินี่มันเป็นอีกความรู้สึกหนึ่ง ถ้าเป็นผลของการวิปัสสนา มันเป็นผลอีกความรู้สึกหนึ่ง มันแยกออกไปเลย โลกียปัญญาได้ผลอย่างนี้ โลกุตตรปัญญาให้ผลอย่างนี้ มันให้ผลแตกต่างกัน
แต่นี่ถ้ามันไปลงอัปปนาสมาธิ คำว่า อัปปนาสมาธิมันไม่มีปัญญา ไม่มีปัญญา แล้วปัญญาเกิดจากอัปปนาสมาธิไม่ได้ ปัญญาจะเกิดที่อุปจารสมาธิ เวลาเข้าอัปปนาสมาธิแล้ว มันถอนออกมาที่อุปจาระ เพราะจิตออกรู้ จิตออกรู้ จิตออกค้นคว้า จิตออกแสวงหา จิตออกแยกแยะ จิตออกอย่างนั้น ตอนนั้นเกิดปัญญาตรงนั้น
แต่ถ้าอัปปนาสมาธิมันออกรู้ไม่ได้ มันก็ไปสักแต่ว่ารู้อยู่ มันสักแต่ว่ารู้อยู่ มันจะออกรู้ได้อย่างไร? อย่างเช่น คนนอนหลับทำงานได้ไหม? คนจะทำงานคนต้องตื่นขึ้นมา แต่คนที่ตื่นขึ้นมาคนที่อ่อนเพลียก็ทำงานไม่ได้ แต่คนที่เข้ามาทำความสงบของใจ มันร่างกายแข็งแรงขึ้นมาเป็นอุปจารสมาธิแล้วออกทำงานได้
แต่ถ้ามันลึกเข้าไปมันก็หลับ คำว่าหลับ นี่เปรียบเทียบนะ แต่อัปปนาสมาธิไม่ใช่หลับ อัปปนาสมาธิสักแต่ว่ารู้ แต่เปรียบเทียบให้เห็นว่าคนหลับทำงานไม่ได้ อัปปนาสมาธิทำงานไม่ได้ เกิดปัญญาไม่ได้ แล้วเกิดปัญญาไม่ได้ เวลาผลของมัน.. เวลาผลของมันถึงผิดหมด
ประเด็น : แล้วพูดถึงเวลาบอกว่าไอ้ที่ว่าเบื่อๆ มาเจออยู่นี่หมดเลยไง พระโสดาบันก็แค่เบื่อหน่าย.. แค่เบื่อหน่าย.. เกิดทัสสนะ พอเกิดทัสสนะแล้ว พระโสดาบันเกิดทัสสนะ มันมีเกิดทัสสนะแล้ว เกิดแค่ความรู้อย่างนั้นเอง นี่ความเห็นนะ ถ้าเกิดละความผิดแล้ว รู้กายรู้ใจ สติปัญญาแก่รอบ ก็จะตัดครั้งที่สอง ตัดครั้งที่สองอาสวะกิเลสก็จะแหวกออกไป ที่เคยแหวกออกไปก็ถูกห่อหุ้ม ก็ถูกแหวกออกไปอีก แต่แหวกออกไปแล้วแวบเดียวก็จะกลับมาใหม่
หลวงพ่อ : อ้าว ! แล้วเวลาพูด เขาจะพูดถึงขณะจิต ขณะจิตว่ามันเป็นไป แล้วถ้ากิเลสมันแหวกออกไปแล้ว แล้วมันกลับมาใหม่ มันเป็นพระโสดาบันอะไรของมัน พระโสดาบัน พระสกิทา พระอนาคา ไม่ได้แก้กิเลสอะไรเลย ไม่ขาด ไปขาดเอาที่พระอรหันต์ พูดถึงคนมันไม่เคยเห็นใช่ไหม? ไม่เคยเห็นอาการของขาดใช่ไหม? ถึงบอกว่าพระโสดาบันแค่เบื่อๆ เวลารู้เท่าแล้วมันก็จบ ก็เป็นพระโสดาบัน พระโสดาบันมีทัสสนะเห็นไหม ญาณทัสสนะ เขาบอกทัสสนะคือความเห็น
แต่ถ้าเป็นญาณเห็นไหม ญาณทัสสนะมันไม่ใช่เป็นความเห็น มันเป็นการใช้ปัญญาต่อสู้กันจนทุกอย่างมันแยกออกคืนสู่ธรรมชาติเห็นไหม ที่บอกจิตจริงโสดาบันก็จริง จิตปลอมก็โสดาบันปลอม ถ้าจิตมันปลอม มันจะเห็นความปลอมอย่างนี้
ถ้าจิตเป็นความจริงเห็นไหม เพราะจิตเป็นความจริงมันจะแยกออกไปตามความจริงเห็นไหม กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ มันแยกออกจากความจริง เวทนา ก็สักแต่ว่าเวทนา เวทนาก็จริงของเวทนา จิตก็จริงของจิต ทุกข์ก็จริงของทุกข์ แล้วใครรู้ ใครรู้ตรงนั้น สิ่งที่รู้นั้นมันรวมลงเห็นไหม พอรวมลงแล้ว มันขาด พอขาดแล้ว มันจะกลับมาอีกไหม ถ้ามันกลับมาอีก มันก็เป็นกุปปธรรมสิ
แต่ถ้ามันขาด นี่ไงธรรมะที่เป็นธรรมชาติไง ธรรมะธรรมชาติก็มันไปๆ มาๆ นี่ไง ธรรมะเป็นธรรมชาติ ประเดี๋ยวดีเดี๋ยวชั่วไง กิเลสขาดแล้วก็กลับมากลบอีก กลบอีกก็ตั้งสติไว้ สติขาด มันเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะมันไม่เคยเห็น มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ มันถึงได้พูดโดยที่ไม่มีเหตุไม่มีผล มันจะเข้ามากับอันนี้
วันนี้มั่วเลย เพราะเมื่อวานมันจะเข้าตรงนี้ก่อน กลัวไปก่อน เดี๋ยวจะไปสิ้นสุด เขาถาม ติดโสดาบันมา มีความเห็นว่าเข้าใจว่า ตัวเองเป็นโสดาบัน
ถาม : กราบเรียนพระอาจารย์สงบ โดยเว็บไซต์ เมื่อวานเอามา เขาถามเข้ามาไง อ่านจบแล้ว มันยาว ปัจจุบันนี้ก็ศึกษา และปฏิบัติตามสายวัดป่า โดยใช้ภาวนาพุทโธ มีสติรู้คำบริกรรมพุทโธอยู่ในใจเป็นหลัก อยู่ได้ ๓ ปีกว่าๆ แล้ว ก็เข้าใจการทำงานของขันธ์ ๕ มากขึ้น โดยใช้ปัญญาพิจารณาเป็นหลัก เวลาเกิดอะไรขึ้นกับจิตใจก็พอที่จะรู้ทันว่า เป็นแค่สภาวะที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยที่ขันธ์มันปรุงแต่งขึ้นมา เวลาเกิดความคิด พอมีสติรู้ที่ใจมันก็ดับไป
หากเป็นกรณีที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น ก็ตามหาเหตุผลไปแก้ไขให้ มันถึงจะลง ใจก็เบา เผลอๆ มันก็มาหลอกอีก ก็พอเข้าใจว่าการทำงานของขันธ์ ๕ และต้องพยายามมีสติเท่าทันปัจจุบันโดยเฉพาะที่ใจ
ดังนั้น จึงขอโอกาสกราบเรียนถามว่า สภาวธรรมที่ผมกล่าวมาแล้วในข้างต้น เป็นการเข้ากระแสนิพพานจริงหรือไม่? ถ้าไม่ใช่พอถึงขั้นนั้นรู้เองได้อย่างไร? และผมจะมีโอกาสบ้างไหมครับในการที่จะปิดอบายภูมิในชาตินี้เป็นอย่างน้อย ?
สุดท้ายนี้ ขอถามว่าเวลาจิตรวมใหญ่สามารถฆ่ากิเลสและดับอวิชชาได้หรือไม่ ? หรือต้องใช้ปัญญาพิจารณารวมร่วมด้วยครับในตอนนั้น ด้วยความเคารพเป็นอย่างสูง
หลวงพ่อ : เพราะเขาดูตรงนี้ไป แล้วเขาเข้าใจว่าเป็นโสดาบัน ที่เขาถามมา ทีแรกบอก เขาคิดว่าเข้าใจว่าเป็นโสดาบัน พอเข้าใจว่าเป็นโสดาบันปั๊บ ก็เทียบเคียงอยู่ กลัวโสดาบันจะเสื่อมไป ก็แบกโสดาบันนั้นอยู่ ๒-๓ ปี พอแบกไปแบกมา ก็มีความลังเลสงสัย ก็เข้าใจว่าไม่ใช่
ตอนนี้เขาเข้าใจแล้วว่าไม่ใช่ แต่ตอนนั้นเขาพูดเองว่า มันเข้าใจว่าเป็นโสดาบัน แล้วก็แบกความเป็นโสดาบัน จนทุกข์มากนะ เอาโสดาบันเทียบกับอะไร ก็ห่วงแต่โสดาบันมันจะเสื่อมไง แล้วถามมาว่าใช่ไหม? ไม่ใช่เลย ไม่ใช่เพราะเหตุนี้ไง ไม่ใช่ ที่ว่าไม่ใช่เห็นไหม
ประเด็น : แล้วถามว่า แล้วรวมใหญ่อัปปนาสมาธิ สุดท้ายนี้เวลาจิตรวมใหญ่สามารถฆ่ากิเลสได้ไหมครับ ? สามารถดับอวิชชาได้หรือไม่ ?
หลวงพ่อ : ดับไม่ได้หรอก มันหินทับหญ้า หินทับหญ้าไว้เฉยๆ ดับไม่ได้ แล้วนี้พอดับไม่ได้ อันนี้พอมันมาเข้าเห็นไหม เข้าอัปปนาสมาธิมันรวมใหญ่ คำว่ารวมใหญ่เป็นชื่อนะ แต่ในความรู้สึกเราว่า คนที่พูดเรื่องรวมใหญ่ ไม่รู้จักรวมใหญ่
เพราะถ้าไม่รู้จักรวมใหญ่ เขาถึงไม่เข้าใจว่า การรวมใหญ่ กับ สมาธิ อุปจาระ ขณิกะ อัปปนา มันแตกต่างกันอย่างไร คนไม่เคยเข้ารวมใหญ่ แต่เวลาบอกว่า ถ้าไม่มี พุทโธ แล้วมันถึงไม่มีสมาธิใช่ไหม? ก็ต้องบอกสมาธิที่เข้มข้น ก็เลยบอกว่าอัปปนาสมาธิ
ทีนี้อัปปนาสมาธิมันเป็นรวมใหญ่ มันก็เกิดปัญญาไม่ได้ ถ้าเขาเข้าใจว่า เขาเคยทำนะ เพราะเวลามรรคสามัคคี มันไม่ใช่อัปปนาสมาธิ มันเป็นอุปจารสมาธิ สมาธิขนาดกลาง ไม่ถึงกับสมาธิเข้มข้นขนาดนั้น
ถ้าเข้มข้นนะ เราอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะไง เวลานั่งอยู่ต่อหน้า ให้กำหนดพิจารณากายใสหมดเลยนะ ท่านถามว่า ไอ้หงบทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ? โอ้โฮ.. ตอนนั้นไม่รู้ ก็มันจริง พูดตามที่เห็นนะ โอ มันใสหมดเลย มันใสมาก ท่านบอก นั่นแหละสมาธิมึงมากเกินไป ท่านพูดอย่างนี้นะ สมาธิมึงมากเกินไป มึงต้องใช้ปัญญามากๆ
ถ้าสมาธิมากเกินไปมันไม่สามัคคี คือ มันไม่บาลานซ์ มันไม่สมดุล เป็นไปไม่ได้หรอก ถ้าอย่างนั้นนะ คนไม่เคยมันถึงบอกว่าเข้าอัปปนาสมาธิ แล้วพอเข้าอัปปนาสมาธิแล้ว ขบวนการของอริยมรรค มันตัดสินเองในชั่วขณะจิตเลย ถ้าไปพูดกับคนอื่นเขาก็ฟัง แต่ถ้ามันเป็นความจริงมันจะฟังได้อย่างไร? มันเป็นไปไม่ได้หรอก
ประเด็น : เวลาเขาพูดของเขา ตรงนี้มันจะเข้าอัปปนาสมาธิ มันเข้าเองนะ นี่อันนี้อันที่ ๒ แล้วนะ อันแรกอัปปนาสมาธิเหมือนกัน อันนี้เขาก็อัปปนาสมาธิเหมือนกัน มันเรียกว่าสัจจานุโลมิกญาณ ตรงนี้จิตจะเข้าอัปปนาสมาธิ มันเข้าเอง มันเข้าเอง
หลวงพ่อ : ถ้ามันเข้าเองเห็นไหมที่บอกว่า นั่งเฉยๆ จิตเป็นสมาธิ จิตเป็นนิพพานอยู่แล้วนะ ดูเฉยๆ ไง มันเข้าเองมันเป็นเอง มันเป็นธรรมชาติของมัน พอมันเข้าเองทุกอย่างเป็นเองหมด แล้วพอนิพพานคืออะไร ก็เบื่อๆไง มันเป็นของมันเองไง ฝนตกแดดออก มันเป็นของมันเองไง แล้วเราได้อะไร? มันไม่มีความรู้อะไรขึ้นมาเลย มันไม่เคยได้อะไรเลย
ถ้าไม่เคยได้อะไรเลย แล้วมันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ทั้งนั้นนะ อันนี้มันเข้าอย่างนี้ปั๊บ ตอนนี้พอมันพูดอย่างนั้น พอพูดถึงมันมีเยอะมาก เยอะจนเราเรียงลำดับขั้นตอน..จะพูดตรงไหนก่อนล่ะ? ถ้าพูดพูดได้ทั้งวันเลย มันเต็มทุกๆ หน้าเลย
ประเด็น : อันนี้เพียงแต่มาตรงนี้ มาอันที่ว่า ที่พูดนี่นะ ๖ เมษา ๕๑ นาทีที่ ๖ เขาพูดมาเรื่อย ตั้งแต่การบรรลุธรรม มีจุดสำคัญ จุดสำคัญเสมอภาค ความเสมอภาคของมัน เวลาพูดถึง เขาพูดถึงการบรรลุธรรมนะ ถ้าบรรลุธรรมแล้ว มันมีค่าไม่เหมือนกัน ระหว่างบรรลุธรรมจนถึงอาสวกิเลส เวลา ครั้งที่ ๑ ครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ ไม่ใช่ จนถึงครั้งที่ ๔ นั่นแหละจิตถึงจะหลุดออกจากอาสวะ แต่ครั้งที่ ๑ ที่ ๒ คือรู้เท่าเฉยๆ รู้เท่าแล้วเป็นโสดาบัน รู้เท่าแล้วเป็นสกิทาคา รู้เท่าเป็นอนาคา จนถึงครั้งที่ ๔ คือจิตหลุดออกจาก อาสวะ เพราะไม่ยึดถือในขันธ์ ๕
จิตพระอรหันต์นะ จิตพระอรหันต์เป็นจิตพระอรหันต์เพราะอะไร ? เพราะจิตละขันธ์ ๕ แต่เวลาเขาพูดในจิตส่งออกเห็นไหม ว่าจิตคือขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ จิตนี้คือขันธ์ ๕ จิตคือขันธ์ ขันธ์เป็นทุกข์ จิตส่งออกไม่ได้ เพราะจิตเป็นขันธ์ แล้วบอกว่าจิตเป็นขันธ์ แล้วจิตละขันธ์ ๕ ได้อย่างไร? แล้วพอจิตละขันธ์ ๕ ไปแล้วเหลืออะไร? เหลือจิตหนึ่ง
หลวงพ่อ : ไอ้แค่นี้แค่มึงนั่งสมาธิเฉยๆ เท่านั้นนะ คนนั่งสมาธิมันก็เป็น.. คือคำพูดของเขามันฟ้องถึงอารมณ์ ฟ้องถึงความเป็น..ถ้าคนปฏิบัติมานะ คำพูดอย่างนี้มันบอกเลยนะ ถ้าจิตละขันธ์ ๕ โดยที่เขาคิด เห็นไหมเวลาเราพูดถึงความคิด รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ถ้าจิตสงบมันทะลุผ่าน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเข้าไป ถ้ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จิตมันออกมาอยู่ที่ขันธ์ เวลามันหดตัวเข้ามานะ
ที่หลวงตาบอกว่า จิตนี้เป็นของคู่ ความคิดกับจิตมันเป็นของคู่เห็นไหม เพราะเป็นของคู่ พอเป็นของคู่ปั๊บ เพราะจิตกับอารมณ์กับขันธ์ เวลามันทะลุเข้าไปขันธ์ มันก็เข้าไปที่จิตหนึ่ง จิตหนึ่งก็เป็นสมาธิ จิตหนึ่งเป็นสมาธิทั้งนั้น เวลามันบรรลุขึ้นมาเห็นไหม แล้วเวลามันพูดถึงเวลาจะขาด บางทีนะ คนมันพูดไปเห็นไหม เห็นครูบาอาจารย์บอกว่า ขาดๆ มันก็คิดว่าจะขาดเป็นอย่างไร
ประเด็น : ในเมื่อฉะนั้น ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ที่รู้แจ้งแล้ว สมุทัยรู้แจ้งแล้ว นิโรธรู้แจ้งแล้ว มรรครู้แจ้งแล้ว จิตขณะหนึ่งเดียว กำลังกุศลของมันแก่กล้า มันก็จะรวมลงเป็นกุศล เข้าตะลุมบอนกันกับสังโยชน์ในใจของเรา มันจะแหวกสิ่งที่ห่อหุ้มจิตใจเราให้ขาดกระเจิงออกไป ขาดควาก ! ออกไป ขาดดังควาก ! ออกไปเลย
หลวงพ่อ : เวลาคนอุปมาอุปมัย มันชอบอุปมาอุปมัยถึงวัตถุ ฉะนั้นเวลาเราอุปมา อุปมัย เราไม่เคยเห็นสิ่งใด เราจะอุปมาอุปมัยกับอะไร? บุคลาธิษฐานเห็นไหม เวลาพระพุทธเจ้าสอนธรรมะ จะบุคลาธิษฐานเปรียบเทียบ
ถ้าพูดถึงเวลาเป็นธรรมะนะ ครูบาอาจารย์น่ะท่านจะเปรียบเทียบเข้ามาที่ใจ แต่ถ้าเราเป็นโลกๆ เราจะเปรียบเทียบออกไปที่วิทยาศาสตร์ เปรียบเทียบออกไปกับสิ่งที่ทุกคนเข้าใจได้ เห็นไหม อยู่ในทวนกระแสของพระองค์หนึ่งเห็นไหม ว่าเวลาตัดกิเลสน่ะ ตัดกิเลสดังป๊าบ
พวกนี้เวลาหลวงตาท่านพูดนะ โลกธาตุหวั่นไหว ทุกสรรพสิ่ง เวลากิเลสขาด โลกธาตุนี้ไหวหมดเลย ทุกอย่างไหวหมดเลย สิ่งที่ไหวนะ มันเป็นสภาวะแวดล้อม อย่างเช่น เวลาฝนตกแดดออก ฝนตกแรงมากเลย เรายืนอยู่กลางฝน เราเป็นคนยืนอยู่กลางฝน ใช่ไหม ? ฝนก็คือฝน เราก็คือเราใช่ไหม ?
เวลาเกิดอาการของใจ เวลาจิตที่มันฆ่ากิเลส ตัดกิเลสออกไป สภาพแวดล้อมเห็นไหม จิตใจมันอยู่ในธาตุ มันอยู่ในร่างกาย สภาวธรรม สภาวะสิ่งแวดล้อมมันสะเทือนเลื่อนลั่น แต่ตัวรู้ตัวใจมันรับรู้
มันไม่ใช่กิเลสจะไปขาดที่สภาพแวดล้อม สิ่งแวดล้อมจากข้างนอก ปรากฏการณ์เกิดขึ้นมา แต่ปรากฏการณ์เกิดขึ้นมาจากจิต ทีนี้ตัวจิตมันเป็นตัวรู้ใช่ไหม ?
เวลาเกิดโลกธาตุหวั่นไหว ทุกอย่างสะเทือนเลื่อนลั่นไปหมดเลย ความสะเทือนเลื่อนลั่นไปนะ มันไม่ใช่เป็นตัวขาด มันตัวกิเลสขาดนะ กิเลสขาดที่ใจ แต่ผลตอบสนอง ถึงว่าผลบุญอันนั้นนะ มันทำให้สภาวะของจิตที่สภาวะแวดล้อม มันสะเทือนเลื่อนลั่นไปหมดเลย นี่คนเป็นเวลาพูดเขาพูดอย่างนั้น
แต่ถ้าคนไม่เป็นมันแสดงผลอย่างนี้ใช่ไหม? มันบอกขาด มันไปขาดที่วัตถุไง มันไม่ได้ขาดที่ใจไง เห็นไหมกิเลสขาดดังตั้บ ! กิเลสขาดดังควาก !โอ้.. แล้วไปขาดดังควาก ! เลย เวลาบอกว่า เวลาพูดอธิบายนะ ก็บอกว่ารู้เท่ามันก็จบ แล้วพอบอกว่า วันไหนพอพูดมันๆ เห็นไหมพูดว่ากิเลสมันจะขาด อ้าว ! มันจะเทียบอะไรดีล่ะ เทียบเคียงให้เห็นผลชัดเจนว่ามันขาด ก็ขาดดังควาก ! เลย อ้าว ! แล้วขาดดังควาก ! แล้วอะไรมันดังวะ? แล้วพอจิตขาดดังควาก ! ก็บอกว่าจิตเป็นอิสระ
โอ้โฮ.. ก็ว่ากันไป คนไม่เป็นนะ อย่างไรก็ไม่เป็น มันไม่เป็นสักอย่างหนึ่ง ถ้ามันเป็นนะ เป็นธรรมดา เวลาอธิบาย อธิบายเป็นธรรมดาๆ ไปหมด
ประเด็น : เวลาขันธ์ ๕ เป็นตัวทุกข์ เวลาปล่อย ปล่อยขันธ์ ๕ พระโสดาบันต้องรู้อย่างนั้น นี่กิเลสแหวกออกนะ แล้วมันมีจิตพระอรหันต์ เข้าใจว่าจิตเป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์ เวลานอนไม่รู้หรอก เวลานอนจิตตกลงภวังค์ จิตพระอรหันต์ ๕ มีนา ๕๐ นาทีที่ ๔๔ พระอรหันต์เวลานอนไม่รู้ตัว เวลานอน จิตจะลงภวังค์เลย จิตที่เกิดของพระอรหันต์มี ๒ ชนิด ชนิด ๑ วิบากจิต
หลวงพ่อ : กูปวดหัวเลย (หัวเราะ)
ประเด็น : วิบากจิต จิตพระอรหันต์มี ๒ ชนิด แล้วไปบอกว่านิโรธนะ ก็นิโรธ ๒ อีก นิโรธของอริยบุคคลที่มีชีวิต กับนิโรธที่ตายไปแล้ว นิโรธ ๒ นะ เขาบอกว่านิโรธนะมี ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือพระอริยบุคคลที่มีชีวิต กับพระอริยบุคคลที่ตายไปแล้ว
หลวงพ่อ : นิโรธนะ มันเกิดขณะที่กิเลสมันขาดไปจากใจ พระอรหันต์มีชีวิตอยู่ กับพระอรหันต์ที่ตายไปแล้ว หัวใจเท่ากันเหมือนกัน ต่างกันเฉพาะที่ว่า ภาราหเว ปัญจักขันธา เท่านั้น คือสิ่งที่มีชีวิตนะ มันมีขันธ์ ๕ กับธาตุ ๔ มันเป็นภาระ
ดูสิที่พระพุทธเจ้าบอก เราฉันอาหารของนางสุชาดา เราถึงซึ่งกิเลสนิพพาน เราฉันอาหารของนายจุนทะ เราถึงซึ่งขันธนิพพาน ขันธ์นิพพานได้ไหม? แต่เพราะเป็นพระอรหันต์แล้ว มันมีขันธ์อยู่ใช่ไหม? ขันธ์ ฉันอาหารของนายจุนทะนะ ฉะนั้นพอฉันอาหารของนางสุชาดาน่ะ ถึงซึ่งนิพพานแล้วจบแล้ว นิโรธมีเท่านั้น ไม่มีนิโรธ ๒ ไม่มีนิโรธที่ว่าฉันอาหารของนายจุนทะ แล้วจะเกิดนิโรธอีกไม่มี เพราะมันนิโรธอันนั้นแล้ว เพียงแต่มันแบกรับภาระ แบกรับสิ่งที่เหลือมา สิ่งที่เหลือมาเห็นไหม พอถึงที่สุดแล้ว มันสละทิ้งก็จบ มันไม่มีนิโรธ ๒ หรอก
ประเด็น : นิโรธของพระอริยบุคลที่มีชีวิตอยู่ กับนิโรธของพระอริยบุคคลที่ตายไปแล้ว แล้วสมุทัยจะดับโดยอัตโนมัติ สมุทัยจะดับไปเอง ๑๕ มิถุนา ๕๐ นาทีที่ ๔๔ ต้องรู้นะ ต้องรู้ลงที่กายที่ใจ ต้องรู้ลงที่สิ่งที่ทุกข์ล้วนๆ มันจะสลัดคืน ไม่ยึดถือกายยึดถือใจ คืนกายคืนใจให้กับโลกเขา ไม่ยึดถือกาย ไม่ยึดถือใจนี้เลย สมุทัยจะดับ ดับเองโดยอัตโนมัติ เวลาเห็นสมุทัยจะดับไปเอง รู้แจ้ง สมุทัยก็จะดับไปโดยอัตโนมัติ
หลวงพ่อ : อันนี้อัตโนมัติหมดเลย เวลาพูดถึงอัตโนมัติ อัตโนมัติหมดเลย อัตโนมัติคือไม่มี อัตโนมัตินะ อัตโนมัติคือไม่มีนะ อัตโนมัติคือมันเป็นไปเอง ถ้าบอกอัตโนมัตินี่ไม่มี
แต่เวลาครูบาอาจารย์เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหมเวลาจิตมันเข้ารวมตัวเข้ามา มรรคมันปล่อยวาง แต่มันเป็นตทังคปหาน มันปล่อยวางชั่วคราวเพราะอะไร? เพราะความสมดุลมันไม่สมดุลของมัน แต่พอความสมดุลมันสมดุลปั๊บ กิเลสมันขาด มันไม่เป็นอัตโนมัติ
มันไม่เป็นอัตโนมัติเพราะอะไร? เพราะเรามีสติใช่ไหม ? เรามีความเพียรชอบ มีงานชอบ มีจิตเป็นผู้กระทำ แล้วจิตเป็นผู้กระทำ จิตมันรับรู้แล้ว เวลามันขาด มันขาดโดยที่มันรู้ตัวของมัน
ถ้าอัตโนมัติคือไม่มีไง อัตโนมัติ อัตโนมัติคือไม่รู้ว่ามันเป็นอะไรตอนไหน มันเป็นได้อย่างไร ไม่มี อัตโนมัติไม่มี แต่เวลาจิตเวลาสิ้นกิเลสไปแล้วที่เป็นอัตโนมัติ อัตโนมัตินะ นั่นเป็นอัตโนมัติ
ประเด็น : ๓๐ มีนาคม ๕๑ ดูไปเรื่อยๆ นะ จนวันหนึ่งใจมันตั้งมั่นเด่นดวงอยู่ มันแยก มันไม่เข้าไปรวมกันอีกแล้ว ตรงนี้แหละ แยกแล้วไม่รวมกันอีกเลย ภูมิของพระอนาคามี
หลวงพ่อ : โอ้..
ประเด็น : เพราะฉะนั้น ไม่ต้องตกใจ ไม่ต้องตกใจนะที่มันไหลไปรวมกันอีก มันไหลไปไหลมา ไม่ต้องตกใจ นี่พระอนาคามี
หลวงพ่อ : เฮ้อ.. ไม่น่าเชื่อนะ ไม่น่าเชื่อ พอเห็นอย่างนี้แล้ว มันเป็นไปไม่ได้เลย
ประเด็น : นิพพานเป็นนิโรธชนิดที่ ๕ ชนิดที่ ๓ ก็คือนิพพานในขณะที่เกิดมรรค ขณะที่นิโรธเกิดขึ้น อริยมรรคหรือบางทีก็วิมุตติ ใช้คำเดียวกัน วิมุตติก็มี ๕ อย่าง นิโรธก็มี ๕ อย่าง อีกอันหนึ่งอันที่ ๔ ก็คือการเห็นนิโรธนิพพาน
หลวงพ่อ : คือว่ามันสับสนมากนะ แล้วมันพูดไม่มีต้นไม่มีปลาย เพียงแต่ว่าคนไม่กล้าคิดขัดแย้ง ไม่กล้าคิดขัดแย้งเลย แต่ถ้ามันคิดขัดแย้งสักอย่างเดียวนะ มันจะเห็นได้ เพราะคำพูดมันเป็นไปไม่ได้แม้แต่อย่างเดียว
ประเด็น : พระโสดาบัน พระสกิทา พระอนาคา พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ กับพระอรหันต์ที่ดับขันธ์แล้ว ความหมายไม่ตรงกัน นิโรธในความรู้สึกของพระโสดาบัน พระสกิทา พระอนาคาเพราะดับทุกข์ แต่นิโรธของพระอรหันต์คือการพ้นทุกข์ นี่การพ้นทุกข์ ว่าพ้นทุกข์เพราะอะไร? พ้นทุกข์เพราะจะละจากขันธ์นั่นเอง ขันธ์นั้นแหละคือตัวทุกข์ ขันธ์นั้นแหละคือตัวทุกข์ นิโรธก็คือความไม่เกิดทุกข์ขึ้นอีกแล้ว ขันธ์นั้นคือตัวทุกข์
หลวงพ่อ : โอ๊ย.. เวรกรรม ถ้าขันธ์เป็นตัวทุกข์นะ เราเอาทุกข์ไปฝากไว้ที่ขันธ์ เราจะเป็นพระอรหันต์หมดเลย ใจเราเป็นพระอรหันต์ได้ไหม ? ใจเป็นพระอรหันต์ นิโรธ ทุกข์มันอยู่ที่ใจ ทุกข์มันอยู่ที่ใจ ขันธ์เป็นความคิด แล้วมันคิดดีมันทุกข์ไหม? คนเรามันคิดดีมันทุกข์ไหม? ขันธ์เป็นตัวทุกข์ ถ้าละขันธ์แล้วก็เป็นพระอรหันต์ ละขันธ์แล้วจิตมันอยู่ไหน ? มันเข้าไม่ถึง ไม่ถึงสิ่งใดๆ เลย
เพราะมันขัดแย้งกันอย่างนี้ มันเป็นไปไม่ได้หรอก เราขีดไว้จนหมดเลย เราจะอธิบายทีละจุด ละจุด ทีนี้เราจะอธิบายให้เห็นว่า เวลาปัญญา ที่เขาบอกว่า นี่คือปัญญา ปัญญาของเขา เวลาปัญญาเห็นไหม เราต้องดูอุดมคติ ดูหลักเป้าหมายเขาก่อน คนมันไม่มีหลัก คนไม่มีเป้าหมาย มันพูดอะไรไม่เป็น
แต่พูดอะไรไม่เป็น เพียงแต่ว่าปฏิภาณไหวพริบ แล้วไปจำสิ่งใดมา แล้วก็พูดไปอย่างนั้นเอง พอพูดไปอย่างนั้นเอง เวลาเถียงกันนะ เวลาโต้แย้งกันเรื่องธรรมะ เขาก็จะไปเอาตามตำรามา เอาตำรามาเพราะอะไร? เวลาเขาโต้แย้งเรื่องธรรมกายเห็นไหม มันจะพูดกันตั้งแต่ทางวิชาการ พอพูดทางวิชาการ ทุกคนจะเห็นว่า คนเราละเอียดขนาดนี้ คนเราตรวจสอบได้ละเอียดขนาดนี้ เขาจะผิดพลาดได้อย่างไร ?
แต่คนคิดไม่ถึงนะว่าปริยัติ เวลาเราไปศึกษาทางวิชาการมา ทางวิชาการมันโต้แย้งกันได้ ทางวิชาการใช่ไหม ? เรารู้ทางวิชาการมาโต้แย้งกัน แต่ความรู้สึกของเรามันไม่มี วิชาการเราพูดได้ แต่ความรู้สึกที่ให้เหมือนทางวิชาการ ที่เขาบอกว่า มรรคผลนิพพานเป็นอย่างนี้ๆ เราไม่มี พอเราไม่มี เราก็พูดไม่ถูก พอเราพูดไม่ถูก เวลาพูดไม่ถูกเห็นไหม เวลามาพูด พูดถึงผลเห็นไหม เวลาเขาพูด เขาพูดทางเหตุ ทางการประพฤติปฏิบัติ ทุกคนฟังบอก ทุกคนคิดอย่างนี้ ทุกคนบอกว่า เขาละเอียดรอบคอบขนาดนี้ ถ้าเขาละเอียดรอบคอบอย่างนี้ เขาจะมีความผิดพลาดได้อย่างไร ?
นี่พูดถึงว่าความละเอียดรอบคอบ ก็มันละเอียดรอบคอบทางวิชาการ เหมือนเราทำงานนะ เราออกไปทำงาน เราไปทำหน้าที่การงาน เราทำได้ดีมากเลย แต่ในบ้านของเราล่ะ บางคนทำงานดีมากนะ แต่ในครอบครัวของตัวเองไม่ดูแล นี่เห็นไหมไม่ดูแล นี่ก็เหมือนกัน เวลาพูดทางวิชาการ ทางวิชาการนะ พูดได้หมดเลย แต่ความเป็นจริงในหัวใจ มันไม่ดูแล แล้วดูแลไม่เป็น
ถ้าดูแลเป็นจะพูดได้อย่างไรว่า เผลอปั๊บ สติมาเอง แล้วจำสภาวะ คำว่าจำสภาวะนะ เห็นไหมมันก็เข้าทางวิชาการ เพราะวิชาการมันคือการจำ เพราะต้องจำสภาวะ จำสภาวะนั้นให้ได้ จำสภาวะนั้นคือปัญญา จำสภาวะคือปัญญา นี่เวลาเขาพูดนะ ว่าจำสภาวะนั้นเกิดปัญญา ถิรปัญญา ปัญญาจะเกิดขึ้นมาจากการจำนั้น
ปัญญาจะเกิดขึ้นจากการจำ ไม่ได้ แต่เวลาเทศน์เห็นไหม เวลาพูดถึง พิจารณาดูกายดูใจไปแล้ว ดูกายดูใจไปแล้ว ดูกายไปเรื่อยๆ เห็นไหม มันจะลงอัปปนาสมาธิ เพราะอะไร ? เพราะความจำนั้น ความจำนั้นนะเขาบอกว่าเป็นปัญญา
แต่ปัญญา เวลามันพูดถึงปัญญา มันขาดมรรคใช่ไหม? มรรคคือสัมมาสมาธิ เพราะสัมมาสมาธิมันก็..เพราะคนมันไม่เคยเป็นใช่ไหม? พอคนไม่เคยเป็นว่าปุถุชนนะ เวลาทำความสงบของใจ เวลามันเป็นปุถุชน มันทำสมาธิได้ยากเลย แต่ถ้าเป็นกัลยาณปุถุชนล่ะ กัลยาณปุถุชนเพราะเห็นอะไร? เห็น รูป รส กลิ่น เสียง มันเข้ามาล่อ เข้ามาให้เราติดเห็นไหม รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้ของมาร
เวลาเราตัด รูป รส กลิ่น เสียง ตัวเป็นเอกเทศแล้ว จิตเป็นเอกเทศ พอจิตเป็นเอกเทศ จิตมันจะควบคุมจิตได้ง่ายขึ้น จิตควบคุมจิตได้ง่ายขึ้น คนเราเห็นไหม อย่างเรา ถ้าเราเป็นหนี้เป็นสิน เราจะมีความวิตกกังวลมากเลย แล้วเราต้องหาเงินมาใช้หนี้ใช้สิน
ถ้าเราไม่เป็นหนี้เป็นสิน เราสบายใจละ เราทำอะไรก็ได้ ปุถุชนเป็นอย่างนี้ ปุถุชนคนหนา เป็นหนี้ เป็นหนี้มาก เป็นหนี้อะไร เป็นหนี้อารมณ์ความรู้สึกของตัว อารมณ์ความรู้สึกมันจะแหย่ตลอดเวลา แต่พอมันพ้นจากหนี้ คือ มันวาง รูป รส กลิ่น เสียง ได้แล้ว มันพ้นจากหนี้เห็นไหม
มันก็เป็นกัลยาณปุถุชน พอกัลยาณปุถุชน คนที่ไม่เป็นหนี้จะทำอะไรก็ทำได้ง่ายขึ้น เพราะจิตมันพ้นจาก รูป รส กลิ่น เสียง ขึ้นมา มันเป็นตัวของมันเองเห็นไหม มันทำสมาธิได้ง่าย คนทำสมาธิได้ง่าย มันตั้งหลักได้ง่าย ตั้งหลักได้ชำนาญขึ้น พอชำนาญขึ้น มันออกใช้ปัญญา ออกใช้ปัญญาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม วิปัสสนามันเกิด พอวิปัสสนามันเกิด พอมันเกิดขนาดไหน ?
บางคนไม่เข้าใจว่าอำนาจวาสนาบารมีมันอ่อน พอเกิดรอบหนึ่ง พอพิจารณากายรอบหนึ่ง พอมันปล่อยวางรอบหนึ่งก็เข้าใจว่าเป็นโสดาบัน เข้าใจว่า แต่ผลของมันไม่มี ขณะจิตไม่มี ถ้าเข้าใจว่านี่ก็เหมือนเขา เขาเข้าใจว่าใช่ไหม? จิตมันก็สบาย ทุกคนจะได้ผลตรงนี้ เฮ้อ.. ดี สบาย
ลูกศิษย์ส่วนใหญ่ของพวกเขามาจะบอกเลยนะ ปฏิบัติแล้วมันดี ผลของมันคือ สบาย โล่ง สบายมาก สบายดี มันก็ดีอย่างนั้น แต่ดีในความสงสัยนะ จิตใต้สำนึกสงสัยทุกคน จิตใต้สำนึก สงสัยทั้งนั้นล่ะ ดี แต่มันยังไม่ถอนอุปาทานไง ดีเพราะคนไม่เคย เพราะวุฒิภาวะมันต่ำ
แต่ถ้าผู้ที่มีวุฒิภาวะที่มั่นคงนะ พอดีปั๊บ เดี๋ยวมันก็เสื่อม เดี๋ยวก็เสื่อม แต่ถ้า เอ๊ะ ! เริ่มเอะใจ พอเอะใจ เริ่มทำความสงบให้มากขึ้น เพราะถ้าไม่มีความสงบ ปัญญาที่เกิดขึ้นมันจะเป็นโลกียปัญญา ปัญญาที่มันเป็นทางวิชาการ มันไม่เป็นปัญญาของจริง ถ้าปัญญาของจริงมันเกิดขึ้นนะ มันจะวิปัสสนาบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า จนถึงที่สุดมันปล่อยอีก ปล่อยอีก การว่าปล่อยอีกมันเข็ดไง
มันเข็ดจากการที่เราเคยปล่อย พอปล่อยแล้ว เราเข้าใจว่าเป็นผล พอเข้าใจว่าเป็นผลเราเผอเรอ เผอเรอมันก็เสื่อม พอเสื่อมขึ้นมามันก็ไปยึดไปมั่น คือมันก็มีความทุกข์ขึ้นมาอีก เราก็รักษาขึ้นมาเรื่อยๆ รักษาขึ้นมาเรื่อยเห็นไหม มันก็เกิดปัญญามากขึ้นๆ มันก็ปล่อย ปล่อยบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้าเห็นไหม
ใครไปถามหลวงตา ถามปัญหา ถามขนาดไหน? ท่านจะบอกว่า ถูกต้องแล้ว แล้วต้องซ้ำลงอีก หลวงตาท่านใช้คำว่า ซ้ำลงอีก ท่านอธิบายที่ไหน อธิบายมากขนาดไหน ? เราก็จะโต้เถียง กิเลสของเรามันมีใช่ไหม? ถ้าบอกว่าปล่อยก็ปล่อยแล้ว บอกว่าขาดก็ขาดแล้ว เพราะคำพูดของครูบาอาจารย์ เราจะเคลมว่าเหมือนเราหมดเลย เราจะเป็นอย่างนั้นหมด เพราะเราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น
เห็นไหมเราจะบอกว่าเป็นแบบนั้น หรือมีความสำคัญมากกว่านั้น คือ เราสำคัญว่าดีกว่านั้นด้วย แต่มันไม่เป็นความจริงเพราะอะไร? ไม่เป็นความจริง เพราะมันไม่เป็นความจริงในหัวใจของเรา
แล้วถ้าวิปัสสนาซ้ำแล้วซ้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก พอเวลามันขาด คำว่าซ้ำแล้วซ้ำอีก เหมือนกับเราเอามีดฟัน ฟันวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ฟันบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า มันยังไม่ขาด ขณะที่ขาดมันจะเห็นวัตถุสองชิ้นแยกออกจากกัน จิตที่พิจารณาไปบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า เวลามันขาดขึ้นมา เหตุผลขาดเพราะอะไร? เหตุผลว่ามรรคญาณมันสมดุลๆ นี่ไงภาวนามยปัญญา พอมันขาดอย่างนั้นปั๊บ เหตุผล ข้อเท็จจริง มันต่างจากเหตุผลที่ ตทังคปหาน ๑๐๐ % เลย มันต่างกันฟ้ากับดินเลย มันแยกกันเลย
เจ้าคุณอุบาลีพูดไว้เห็นไหม ท่านบอกว่าท่านเป็นนักปริยัติเลย แต่เวลาท่านปฏิบัติขึ้นมาท่านบอกว่า ปริยัติกับปฏิบัติห่างกันราวฟ้ากับดิน ราวฟ้ากับดินเลย แล้วนี่เวลาปฏิบัตินะ ขณะที่เป็นตทังคปหานนะ คือ การปล่อยชั่วคราว แต่มันปล่อยจริงเห็นไหม ขณะจิตที่มันปล่อย พอมันปล่อยปั๊บ มันขาดออก แยกออกหมด ปล่อยหมด จิตปล่อยหมด แล้วมันจะกลับมาอีกได้ไหม ? เพราะมันปล่อยแล้ว มันเป็นอกุปปธรรม
เวลาพระอัญญาโกณฑัญญะ พระพุทธเจ้าเทศน์ธรรมจักร พระอัญญาโกณฑัญญะรู้ตามทัน แล้วมันขาด อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณทัญญะรู้แล้วหนอ นั่นคือไม่ย้อนกลับแล้ว คือไม่กลับมารวมอีก จะบอกว่า พอมันแหวกกิเลสแล้ว เดี๋ยวกิเลสมันก็กลับมาปกคลุมอย่างเดิมอีก มันจะตกใจนะ เวลากิเลสมันปกคลุมแล้ว ไม่เป็นไรนะ มันเป็นอย่างนั้นเอง เดี๋ยวรู้เท่าไป มันไม่มีหรอก มันไม่มี
ถ้ามันมีกุปปธรรม กับอกุปปธรรม ธรรมะที่เป็นธรรมชาติ กับธรรมที่เหนือธรรมชาตินะ มันแตกต่างกันอย่างไร? ธรรมะเป็นธรรมชาติ ก็คือ มันกลับมาปกคลุม นี่ไงธรรมชาติ ธรรมชาติคือการแปรปรวน ธรรมชาติคือการเปลี่ยนแปลงไง ทีนี้ถ้าเป็นธรรมะ มันยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่อีกหรือ ? พระโสดาบันไม่มีการเปลี่ยนแปลงแล้วนะ พระโสดาบันไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีกิเลสกลับมากลบอีก ไม่มี พระโสดาบันเป็นพระโสดาบันตายตัว
ประเด็น : ถ้าพระโสดาบันนะ พระโสดาบันเขาบอกโสดาบัน สกิทา อนาคา กิเลสไม่ต้องขาด ไม่ขาด จะไปขาดเอาที่พระอรหันต์
หลวงพ่อ : ถ้าอย่างนั้นถ้ากิเลสไม่ขาดนะ นางวิสาขาตายไปก็กลับมาเป็นปุถุชน เพราะกิเลสยังไม่ขาด ถ้าไปขาดที่พระอรหันต์ พระโสดาบันก็อยู่ไม่ได้สิ อ้าว.. ก็ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ใช่ไหม? กิเลสยังไม่ได้ขาด มันก็เป็นธรรมชาติ มันก็กลับมากลบอยู่อย่างนั้น ฉะนั้นเวลาตายไป เวลาคน..พระโสดาบันตายก็เป็นปุถุชนตายใช่ไหม ?
พระโสดาบันตายก็คือพระโสดาบันที่ตายไปเกิดอีก ๗ ชาติเท่านั้น ปุถุชนก็คือปุถุชน พระโสดาบันจะไม่กลับมาเป็นปุถุชน ถ้ากิเลสมันยังกลับมากลบได้อีก กิเลสยังกลับมาได้อีก มันจะเป็นพระโสดาบันได้อย่างไร? นี่ไงมันเหนือธรรมชาติตรงนี้ไง มันเหนือธรรมชาติ ปุถุชนเวลาตายแล้ว มันก็เป็นปุถุชน พระโสดาบันตายก็เป็นพระโสดาบัน ต่างกัน ไม่มีการกลับอีก ไม่มีการกลับกลอก ถึงเป็นอกุปปธรรม มันเหนือธรรมชาติ
ธรรมชาติไม่มีสิทธิ์ ธรรมชาติคือสภาวะปกติ ธรรมชาติคือวัฏฏะ มันจะไม่มีอำนาจเหนือกับจิตที่เป็นพระโสดาบัน พระโสดาบันอีก ๗ ชาติ มันแตกต่างมาก นี่พูดถึงถ้ามันปฏิบัติได้จริง มันพูดความเป็นจริงอย่างนี้ พระโสดาบันจะเป็นอย่างนี้ พระสกิทาคาเป็นอย่างนี้ พระอนาคาเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างที่เขาพูด พระสกิทาคาเป็นอีกอย่างหนึ่ง
พูดอย่างนี้ปั๊บ เขาอ้างว่าจิตเป็นกระจกใสด้วย อ้างพระสององค์นะว่า ที่ว่าชิงเชาน่ะ ว่าองค์หนึ่งบอกว่า กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส แล้วเขาบอกว่า เวลาบอก..ยังมีฝุ่นมาจับอีก แล้วเขาบอกเว่ยหล่างบอกว่า ฝุ่นก็ไม่มี เขาว่านั่นเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน โอ.. เวร.. มันพูดผิด เพราะถ้าพูดถึงว่ากายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส แล้วบอกว่ายังไม่ถึง แล้วเว่ยหล่างบอกว่า กระจกก็ไม่มี ฝุ่นก็ไม่มี เพราะเป็นพระอรหันต์ แล้วพระอรหันต์ ทำไมสังฆราชไปเคาะที่ครกอีก ๓ ทีล่ะ แล้วตอนตี ๓ เดินเข้าไปหาสังฆราชอีกล่ะ
คนไม่เป็น อย่างไร อ้างตรงไหนก็อ้างผิดหมด อ่านแล้วนะผิดหมดเลย แล้วยิ่งเห็นอย่างนี้มันชัดเจน เพราะเราแปลก เราคิดอย่างนี้มาตลอด คิดว่าไม่รู้ ไม่จริง พอรู้ไม่จริงคำพูดมันเลยคลาดเคลื่อน พอคลาดเคลื่อน พอพูดไปก็ว่าอย่างนั้น
แต่วันนี้ที่เขาเอามาให้ดู มันเป็นผลของการปฏิบัติเลย แล้วเขาพูดเอง พระอนาคาเป็นอย่างนี้ พระอรหันต์เป็นอย่างนี้ พูดเอง ชัดเจนมาก พอชัดเจนมากก็ผิดหมด มันจะยืนยันว่า เวลาบอกว่า เขาเกิดปัญญาไง ถ้าปัญญามันเกิดเป็นอย่างนี้ เขาเรียกปัญญาโลก มันไม่เป็นปัญญาธรรมหรอก มันเป็นปัญญาโลกๆ ถ้าอย่างนี้แล้ว ถ้าทางวิชาการไม่ผิด ทางวิชาการเห็นไหม ต้องทำวิจัย ต้องค้นคว้า ความเห็นต่างสุดยอดเลย
แต่ถ้าผลสรุปของธรรมะ ไม่ใช่ อริยสัจมีหนึ่งเดียว พระโสดาบันก็ต้องพูดเหมือนพระโสดาบันหมด พระสกิทาคาก็เป็นพระสกิทาคาเหมือนกันหมด พระอนาคาก็เป็นพระอนาคาเหมือนกันหมด พระอรหันต์ก็เป็นพระอรหันต์เหมือนกันหมด ไม่มีความต่าง ถ้ามีความต่าง พระอริยบุคคลในชั้นนั้น องค์หนึ่ง..องค์ที่ต่างต้องมีองค์ผิด องค์หนึ่งผิด องค์หนึ่งถูก ในหลักความจริงมีหนึ่งเดียว แต่ทางวิชาการหลากหลายได้ ถ้าพูดออกไป มันเหมือนพูดออกไปทางหลักวิชาการ ถ้ามีวิชาการอย่างนี้ไม่มีใครโต้เถียง
แต่ถ้าเป็นกรรมฐานเห็นไหม หลวงตาพูดบ่อย ถ้าพระภาวนาไม่เป็นเทศน์ออกมา ฟังออกเลย ฟังรู้เลย ถ้าพระเป็นนะพูดอย่างไรก็ถูก เพราะมันเป็นหนึ่งเดียวเหมือนกัน ไม่แตกต่าง โสดาบันพูดโสดาบันเพี๊ยะ! เลย เราฟังมาหลายองค์ ขนาดมาถามเรานะ บอกเลยนะ ปีนั้นป่วย พอป่วยแล้วพิจารณาไป ขันธ์มันแยกเลย เรามองหน้าเลยนะ ใช่ แล้วให้มันอธิบายนะ ถูกต้องหมดเลย นั่นล่ะโสดาบัน ถ้าโสดาบันพูดนะไม่มีผิดเลย แต่ถ้าไม่ใช่โสดาบันพูดนะ พูดอย่างไรก็ผิด
แล้วองค์นี้เดี๋ยวนี้มีชื่อเสียงมาก ไปเจอกันอยู่ปีหนึ่ง เขาคงได้ยินชื่อเสียงเราอยู่ ไปถึงปั๊บ ไปเจอกันปั๊บคนนั่งอยู่ด้วยกันนะ เขาก็พูดเลยบอกว่า อารมณ์ความรู้สึกเหมือนวัตถุอันหนึ่งเลย เอ๊ะ ! พระองค์นี้พูดแปลก พอตกเย็นเขามาหาเลย อ้าว.. บอก ตอนฉันน้ำร้อนคนเยอะ ตอนนี้เอาเลย เขาอธิบายเลยนะ ปี ๒๔ ภาวนามา ธุดงค์มาแล้วมาป่วยไข้ แล้วพิจารณาไปเรื่อย พิจารณาไปเรื่อย โอ.. ขันธ์มันแยกเลย นั่นโสดาบัน เราบอกใช่.. แล้วบอกให้ทำไงต่อไปล่ะ เขาได้แค่นั้นไง บอกว่าต้องซ้ำเข้าไปเลย ไล่เข้าไปอีก แล้วมันก็จะลึกเข้าไป
ถ้าของจริงเหมือนกันหมด ไม่มีต่างเลย แล้วของจริงพูดอย่างไรก็เหมือน พูดอย่างไรไม่ใช่เหมือนนะ อันเดียวกันเลย แต่นี่ในคนๆ เดียว พูดที่หนึ่งพูดพลิกไปพลิกมา คนๆ เดียวยังพูดไม่เหมือนกับตัวเองพูดเลย มันไม่มีความจริง ไม่มีความจริงเลย ปัญญาอย่างนี้มันเป็นปัญญาโลกๆ ไม่มีหลักการ แล้วสอนใครไม่ได้ อย่างเช่น ลูกศิษย์เราเยอะอย่างนี้ เราสอนคนอย่างนี้ๆ แล้วเวลาคนนี้ก็เป็นโสดาบันอย่างหนึ่ง คนนี้ก็เป็นโสดาบันอย่างหนึ่งนะ โสดาบันทั้งหมดเถียงกันตายเลย แล้วโสดาบันใครถูกโสดาบันใครผิด เพราะมันไม่เหมือนกัน
แต่เวลาสอนไป ทุกคนให้ปฏิบัติไปตามความถนัดของตัว แต่เวลาลงโสดาบันนะ เหมือนกันหมดเลย ไม่มีความต่าง อริยสัจมีหนึ่งเดียว พระศรีอริยเมตไตรยจะมาตรัสอันนี้ อนาคตวงศ์ก็มาตรัสอันนี้ จะไม่มีใครต่างเลย ถ้าต่างต้องผิด อันนี้นี่เราพูดอย่างนี้แล้ว หนังสือเล่มนี้ ถ้าพูดถึงออกไปนะ แล้วถ้ามีคนรู้จริงนะ ขายขี้หน้าตายเลย พระอรหันต์เวลานอนตกภวังค์ คำว่าภวังค์ ปุถุชนเวลานั่งสมาธิ มันลงภวังค์ มันถึงลงภวังค์ได้
พระอรหันต์เอาอะไรมาลงภวังค์อีก จิตมันพ้นออกไปแล้ว เอาจิตที่ไหนมาลงภวังค์ เวลาพระอรหันต์นอนเข้าภวังค์ เวลาพระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระพุทธเจ้าเข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน เข้าสมาบัติ เข้าสมาบัติสติมันพร้อม สมาบัติเห็นไหม เข้าสมาบัติอะไรมาเข้า? เห็นไหมเอาธรรมธาตุอันนั้นมาเข้า เวลาตายไปเห็นไหม ระหว่างรูปฌาน อรูปฌาน พระพระพุทธเจ้านิพพานเลย
แล้วนี่เวลานอนกลับไปลงภวังค์ กลับไปลงภวังค์ พระอรหันต์เวลานอนเข้าภวังค์ โอ.. เราฟัง ถ้าพระอรหันต์ลงภวังค์ แล้วเวลาเรานั่งสัปหงกโงกง่วงเข้าภวังค์ไหม ? เวลาเรานั่งหลับ แล้วนิพพานเป็นอย่างนั้นหรือ?
เวลาพระอรหันต์นอนเข้าภวังค์ ภวังค์มันยังต่ำกว่าสมาธิเลย แล้วมาเข้าภวังค์ ไม่มี ไม่มีหรอก แต่ความคิดของเขาความเห็นของเขา คิดออกไปมันเป็นพยานหลักฐานทั้งหมด นี่พูดถึงปัญญานะ แล้วทีแรกเราจะเรียบเรียงไว้ พูดทีละชั้นๆ แต่พูดแล้วมันแบบว่า มันเปิดไม่ทัน มันเปิดไม่ทัน วันนี้ก็เลยพูดแค่นี้แหละนะ เอวัง