เทศน์บนศาลา

ภูเขากิเลส

๑๖ ก.ค. ๒๕๔๓

 

ภูเขากิเลส
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว แล้วเสวยวิมุตติสุขจนถึงที่สุดแล้ว ถึงได้มาประกาศธัมมจักฯ จนเทวดา อินทร์ พรหมต่างสาธุการขึ้นไป เป็นผู้ที่มีความดีใจมาก ดีใจที่ว่าจะมีทางออกไง ดีใจว่าประกาศธรรม ธรรมนี้เปิดโลก ธรรมจักรนี้เกิดขึ้นแล้ว จะมีทางออกจากกิเลสได้ ตั้งแต่เทวดาขึ้นไป สาธุการขึ้นไป แล้วมีความแช่มชื่นแจ่มใส มีความสุข มีความปีติมากที่ว่าคนเรามันมืดบอดไง คนเราไม่มีทางออก แล้วจะมีทางออก เหมือนกับคนเป็นโรคอยู่แต่ไม่มียาจะรักษา แล้วยานี้มารักษา ดีใจ ชื่นใจดีใจขนาดนั้น

แล้วเราล่ะ ย้อนกลับมาเรา เรามีความปีติดีใจขนาดไหน เรามีความชื่นใจของเราขนาดไหน ดูของเรานะ เราเกิดมาเราว่าเราไม่มีวาสนา เราเป็นคนอาภัพวาสนา เราทำบุญทำกุศลแล้ว เราอยากจะประพฤติปฏิบัติ เราอยากจะพ้นจากทุกข์ เราจะเป็นไปไม่ได้ ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำให้ตัวเองไม่มีกำลัง มีแต่ความจะตัดทอนตัวเองให้ก้าวเดินไม่ออก ให้ก้าวเดินไปไม่ออกในทางที่ว่ามีอยู่ ในทางที่ว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตรตรัสแล้ววันนี้ วันอาสาฬหบูชา มีความรื่นเริง

เราเกิดเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนานี้เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด เป็นสิ่งที่ประเสริฐเพราะเราได้พบพุทธศาสนา พร้อมพบยาไง ถ้าเราไม่มีวาสนา เราจะเกิดกึ่งพุทธกาล กึ่งขณะที่ว่าศาสนานี้เจริญรุ่งเรืองขนาดที่ว่ามีครูบาอาจารย์ผ่านพ้นไป ผ่านพ้นไป เราย้อนกลับมาที่เรา เราขึ้นมา ถ้าเรามีอำนาจวาสนา เราต้องมีความเข้มแข็ง ความเข้มแข็งความอดทนของเรา ความจริงจังของเรา ภูเขาทั้งลูกเขายังทำลายได้ “ภูเขา ภูเรา” ภูเขาของเราไง ภูเขาของกิเลส

“ภูเขาของกิเลส” กิเลสมันอยู่ที่เรา กิเลสอยู่กับเรา เราอยู่กับกิเลส ถ้าภูเขาเขายังทำลายได้ แต่เราคิดว่าเราจะทำลายภูเขาสมัยปัจจุบันนี้ใช้ระเบิด ใช้ให้มันรวดเร็ว แต่สมัยก่อนเขาก็ทำลายภูเขาทั้งภูเขายังทำลายกันได้ เพราะอะไร เพราะว่าเขามีความจริงจัง มีความจงใจ แต่ “ภูเขา ภูเรา” ภูของกิเลส ภูเขากิเลสนี้ครอบงำเราอีกชั้นหนึ่งไง ภูเขาของกิเลสนี้ใหญ่โตมหาศาลมาก

จิตของเราที่ว่าเป็นเราๆ อยู่โดนครอบงำด้วยภูเขาของกิเลสทั้งภูเขาเลย กิเลสนี้ปิดป้องมองจนมืดมิด จนทำให้เราได้วิตกวิจารณ์อยู่นี่ไงว่าเราไม่มีวาสนา เราเกิดมาเราอาภัพวาสนา คนอื่นทำไมเขาผ่านพ้นไปได้ เขาออกบวชประพฤติปฏิบัติจนพ้นออกไปเป็นบุคคลๆ ไป ครูบาอาจารย์ได้ยินแต่ข่าวของบุคคนอื่นที่พ้นออกไปจากเลส เป็นขั้นเป็นตอนออกไป เราต่างหากทำไมไม่มีอำนาจวาสนาจะเป็นไปได้ไง นี่เกิดจากอะไร?

เกิดจากภูเขาบังนะ ภูเขานี้ กิเลส เงาของกิเลส นี่เงา ภูเขาทั้งภูเขาเวลาตั้งอยู่ พระอาทิตย์ขึ้นส่องเงาของกิเลส แค่เงาของกิเลสเท่านั้นเองทาบมาเฉยๆ แค่เงาของกิเลส เราก็ไม่มีกำลังใจ เราก็ท้อแท้อ่อนแอ เรายังไม่เคยเห็นภูเขาของกิเลสโดยชัดเจน เราไม่เคยเห็นเลย เห็นไหม พูดอย่างนี้ไม่ใช่พูดเพื่อจะให้อ่อนด้อยนะ ถ้าพูดแล้วมันทำให้เราไม่มีกำลังใจ เรายิ่งจะท้อใจเข้าไปใหญ่ เราต้องมีกำลังใจของเราขึ้นมา พูดนี้ให้เห็นถึงว่า เห็นโทษของกิเลส

“โทษของกิเลส” กับ “การต่อสู้กับกิเลส” คนละคำพูดกันนะ โทษของกิเลส คือว่ามันมีอำนาจวาสนา มันใหญ่โตขนาดนั้น มันปกคลุมเรามาขนาดนั้น แล้วเราเกิดมาท่ามกลางของกิเลสพาเกิด คนที่เกิดมาทุกคนนี้กิเลสพาเกิดทั้งหมด แล้วจะเข้าไปขอมองหน้า ขอดูหน้ากิเลสสักหน่อยหนึ่งก็เข้าไปไม่ได้ เห็นแต่เงาของเขา เราก็ล้มไป ยังไม่เคยเห็นตัวภูเขาของกิเลส แก่นของกิเลสที่ปกคลุมวัฏจักร ปกคลุมวัฏจักรเพราะอะไร เพราะจิตนี้วนเวียนตายในวัฏวนเท่านั้น ปกคลุมผลักใสให้เราเวียนไปในวัฏจักรนี้ ปกคลุมอยู่เราถึงมองไม่เห็น

ทีนี้เราจะต่อสู้ เรามาเจอสัจจะ สัจธรรมความจริงสิ่งที่มีอยู่นี้ ถึงว่าต้องมีธรรมเครื่องแก้ ธรรมเครื่องแก้ ธรรมฝ่ายเหตุ ธรรมฝ่ายเหตุทำขึ้นไปจนธรรมนี้เป็นภาวนามยปัญญาขึ้นไป แก้ไปเรื่อย แต่ภาวนามยปัญญายังไม่เกิด ให้ปัญญาพื้นฐานของเรา ปัญญาพื้นฐานมันต้องกล่าวแก้กันตั้งแต่ที่ว่าเรานี้เป็นคนมีอำนาจวาสนาที่สุด เราเป็นคนที่เกิดมาแล้วมีความเลื่อมใส ความเลื่อมใสในศาสนานี้ สิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก

ความเลื่อมใสในศาสนา เลื่อมใสในศาสนาแล้วยังออกประพฤติปฏิบัติอีก ได้ออกบวชได้โกนคิ้วโกนผมบวชเป็นพระนั่นอีกชั้นหนึ่ง ผู้ที่ไม่ได้บวชก็มีโอกาส วันนี้มีโอกาสที่ว่าพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นสงฆ์องค์แรกของโลกที่ผ่านพ้นออกไป พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นพยานได้ว่าพ้นออกไปจากนั้นเพราะอะไร เพราะความเข้มแข็ง รอมาตั้ง ๖ ปีนะ อุปัฏฐากเจ้าชายสิทธัตถะอยู่ ๖ ปี เพื่อจะให้เจ้าชายสิทธัตถะนี้บรรลุธรรมเพื่อจะชี้ให้ตนออก เห็นไหม รอเวลาอยู่ พยายามอุปัฏฐากอุปถัมภ์เพื่อจะขอให้มีคนชี้ทางออก

แต่เรานี้เกิดมาพบแล้วตั้งใจประพฤติปฏิบัติ วาสนาบารมีเราจะมีมากกว่าหรือไม่มีมากกว่า คิดเอาสิ อันนี้คือปัญญาฝ่ายเริ่มต้นแหวกจอกแหนออกไปไง จอกแหนปกคลุมให้เรามืดมิดเราไม่กล้าก้าวเดินออกไป เราไม่รู้ว่าข้างหน้านี้มืด มืดแล้วมันเป็นสิ่งที่ว่าเราออกไปจะตกหลุมตกร่องขนาดไหน เราไม่สามารถออกไปได้ “แหวกจอกแหน” แหวกจอกแหนหรือขุดดินหาน้ำ นี่น้ำอมฤต น้ำอมตธรรม

น้ำอมตธรรมที่เราจะให้มาใช้ดื่มกินใช้สอย เพื่อจะให้มีความร่มเย็น มีความร่มเย็นของใจให้ใจนี้เข้าไปถึงสัจจะความจริงของธรรม พอเข้าไปถึงสัจจะความจริงของธรรม กำลังใจจะเริ่มมาเองเรื่อยๆ กำลังใจจะเริ่มมาๆ ถ้ามีกำลังใจ สรรพสิ่งทุกอย่างนี้ ภูเขาทั้งลูกเขาก็ทำลายกันมาแล้ว นั้นภูเขาข้างนอก ภูเขาของเรา ภูเขาของกิเลส ให้มีน้ำขึ้นมา คือว่าถ้าทำความสงบเข้าไป ทำความสงบของใจ ใจนี้สงบขึ้นไปก็ได้ดื่มกินน้ำอันนั้น ได้เห็นไง แหวกจอกแหนออกมาเพื่อให้เห็นน้ำ

จะขุดบ่อหาน้ำ บ่อลึกบ่อตื่น ดินนั้นเป็นดินแดง เป็นดินดาน หรือว่าเป็นหิน เป็นลูกรัง มันต้องใช้ความขุด แล้วจะมีน้ำหรือไม่มีน้ำ นี่มันเป็นที่อำนาจวาสนาของบุคคล วาสนาของบุคคล ทำง่าย-ทำยากต่างกัน ทำยาก-ทำง่าย วาสนาของบุคคลนี้เป็นความสะสมมา นี่มันถึงมาเกี่ยงกันตรงนี้ไง ตรงที่เราจะสร้างคุณงามความดี เราจะสร้างคุณงามความดีมันก็ไม่อยากทำ เกี่ยงให้คนนู้นทำคนนี้ทำ หรือเราจะทำนี่ แต่เวลาบุญกุศล คือว่าอำนาจวาสนาจะขุดหาน้ำ จะขุดหาง่ายๆ นี่ สิ่งนั้นมันอยู่ที่การกระทำของเรา เรานี้ทำมาทั้งหมด

สิ่งที่เราทำมา ชีวิตนี้เป็นของเรา ชีวิตนี้อยู่ในกำมือของเรา อำนาจวาสนาอยู่ในกำมือของเรา เราสร้างของเรามาเอง ในเมื่อเราสร้างมาเราต้องภูมิใจ ภูมิใจในสิ่งที่เกิดมาพบพุทธศาสนาแล้วมีความจริงจัง มีความศรัทธาออกประพฤติปฏิบัติ มันจะยากมันจะง่ายอันนั้นมันเพราะว่าเราสร้างสมมา จะโทษใครไม่ได้ เราจะไปโทษเรื่องของศาสนา จะไปโทษธรรมะ ว่าเพราะการประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วถึงทำให้เป็นความลำบาก นี่เงาของภูเขา เงาของกิเลส

เงาของภูเขา มันทำให้เราจะเดินย่ำเข้าไป เราจะเดินย่ำเข้าไปมองหน้ากิเลส นี่แค่เงา ร่มเงาทำให้เราเคลิบเคลิ้ม ถ้าเราเดินมา เดินท่ามกลางแดดเราจะร้อนมาก ถ้าเราเดินในร่มเงา เงาของภูเขาที่ทอดมา เราเข้าไปที่ความร่มเย็นของภูเขานั้น เงาของกิเลสไง เงาของกิเลส กิเลสยังไม่แสดงตัวเลยนะ แค่เงาของมันพาดผ่านเข้ามาที่หัวใจเราก็เชื่อแล้ว เพราะอะไร เพราะมันเกิดขึ้นมา

ตัวจิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นอวิชชา จิตเดิมแท้นั้นคือตัวภูเขา คือ “ภูเขา ภูเรา” คือตัวอวิชชา ตัวที่ปกคลุมอยู่ แต่มันยังไม่แสดงตัวเพราะเขาอยู่ภายในลึกๆ นั้น เขาใช้ออกมาสืบสายออกมาหาเหยื่อหาอะไรด้วยผ่านทางขันธ์เขาออกมา อันนี้ก็เหมือนกัน ภูเขาโดนแดดส่อง พระอาทิตย์ขึ้นนี่ทาบเงาออกมา ความทาบเงาออกมาความร่มเย็นไง เราย่ำเดินเข้าไปในความร่มเย็นนั้น แล้วเราก็เคารพนบนอบ เราต้องสยบตัวยอมกับกิเลสของเราเองไง

เรายอมกิเลสของเราเองว่า เราไม่มีอำนาจวาสนา เราเป็นคนที่ว่าทุกข์ยาก นี่ความคิดออกไป ความคิดที่ทำให้เรา...นี่กิเลสมันคิดแล้ว เราจะหยุดเดินอยู่แค่นั้น นอนจมอยู่ตรงนั้นไง เห็นไหม เราต้องพยายามของเรา เรา อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ครูบาอาจารย์สอนขนาดไหนก็แล้วแต่ ตำรับตำราในพระไตรปิฏก วิชาการเราอ่านมาขนาดไหนก็แล้วแต่ เราก็ต้องน้อมรับเข้ามาด้วยใจ บางข้อความในใจเราปฏิเสธ ไม่ยอมรับ บางข้อความ แถมแทบจะไม่คิดเลยว่าสิ่งนั้นมีจริง นี่ภูเขามันบังอยู่ข้างใน ปกคลุมอยู่ข้างใน

ความเชื่อเข้ามา ความอ่านเข้ามา ความที่เข้ามา นี่มันถึงเป็นสิ่งที่ข้างนอกยื่นให้ไง สิ่งที่ข้างนอกยื่นให้เหมือนกับของนี้แปลกปลอมเข้ามาในหัวใจ แต่ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อยู่ในหัวใจนี้ มันเกิดขึ้นมาเป็นเนื้อเดียวกับใจ สิ่งที่เป็นเนื้อเดียวกับใจ มันถึงเชื่อได้ง่าย ความเชื่อได้ง่าย ความเป็นไปตามเขา กลิ้งไปตามเขาตลอดเส้นทางของทอดเงาร่มเงาเท่านั้นเอง

เราต้องต่อสู้ให้เห็นโทษของกิเลส เริ่มต้นตั้งแต่การประพฤติปฏิบัติ เริ่มต้นตั้งแต่การก้าวเดินไง การก้าวเดินก็จะทำให้เราล้มหมอนนอนเสื่อตั้งแต่เริ่มต้นจะก้าวเดินออกไปแล้ว ถ้าเราไม่มีความจริงจังเราจะก้าวเดินไหม อันนี้เป็นสัจจะความจริงอันหนึ่ง แต่มันต้องแพ้ธรรมวันยังค่ำ กิเลสนี้ต้องแพ้ธรรม เพียงแต่ผู้ที่ปฏิบัติไม่ได้เอาเนื้อธรรมหรือธรรมเข้าไปชำระกิเลส คือยาไม่ตรงกับโรค ยาไม่ตรงกับโรค โอสถ-ธรรมโอสถไม่ตรงกับกิเลสตัวนั้น กิเลสตัวนั้นจะไม่ยอมให้โอกาสนั้นเลย เพราะอะไร เพราะต่างเกิดสงคราม สงครามธาตุสงครามขันธ์ สงครามระหว่างการต่อสู้กันระหว่างกิเลสกับธรรม กิเลสนี้ไม่ต้องต่อสู้ เขาเป็นโดยธรรมชาติ แต่ธรรมนี้ต้องสร้างขึ้นมา มันทุกข์มันทุกข์ตรงนี้ไง ทุกข์ที่ว่าต้องพยายามสร้างขึ้นมา สร้างขึ้นมาๆ เพราะธรรมนี้เป็นสิ่งที่ประเสริฐ

“ธรรมนี้มีอยู่โดยดั้งเดิม” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้หรือไม่ตรัสรู้ ธรรมก็มีอยู่โดยดั้งเดิม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วก็ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปกับใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สัจจะความจริงเป็นสัจจะความจริงวันยังค่ำ ธรรมนี้มีอยู่ ใจนี้สามารถสัมผัสได้ ความสัมผัสนี้เข้าถึงสัจจะอันนั้น ความเข้าถึงสัจจะ อยู่ที่เราเท่านั้น อยู่ที่เรา เราพยายามเข้าไปถึงธรรม ต้องถึงธรรม ธรรมนี้เป็นกลาง เป็นทุกๆ ดวงใจ ทุกๆ ดวงใจจะเข้าไปถึงธรรมดวงนี้ได้ทั้งหมด ถึงว่าของนั้นมีอยู่ ออกมาจาก เราต้องพยายามสร้างสมขึ้นมาเพื่อจะดึงเข้ามา ให้เข้ามาในใจของเรา

เริ่มต้นขึ้นมาจากการก้าวเดินเข้าไป ก้าวเดินเข้าไปในร่มเงาของกิเลส แล้วต้องย่ำเท้าเข้าไป อย่าไปเชื่อไง อย่าไปนอนตรงนั้น อย่าไปเคารพนบนอบกิเลส ตั้งแต่ว่าเราเข้าไปในร่มเงาของกิเลสแล้วก็จะพอใจว่าสิ่งนั้น เหมือนกับว่าขุดบ่อได้น้ำนั่นน่ะ ขุดบ่อได้น้ำ น้ำนั้นขึ้นมาจะใช้ประโยชน์ได้หรือยัง ขุดบ่อได้น้ำ เห็นน้ำมันก็เป็นความตัดความสงสัยของตัว

“กึ่งพุทธกาลแล้ว ปัจจุบันนี้จะมีมรรคผลไหม ธรรมมีจริงๆ จะมีหรือเปล่า?”

นี่มันเป็นความลังเลสงสัย ถ้าเราแหวกจอกแหนเห็นน้ำ หรือเราพยายามขุดขึ้นไป ขุดดินจนถึงน้ำ เราเห็นน้ำนั้น ใครจะบอกว่าน้ำมีหรือไม่มี เรื่องของปากของคน แต่สัจจะความจริงที่เราเข้าไปประสบนั้นเป็นสัจจะความจริงที่เราประสบจริงๆ เห็นไหม เราเดินเข้าไป กำหนดพยายามทำความสงบเข้าไป จิตนี้สงบเข้าไปถึงตรงร่มเงาของใจ ร่มเงาของอวิชชานั่นน่ะ อวิชชานี้เป็นภูเขา เป็นภูเขาของกิเลสนั้น แต่เงาของกิเลสทาบทามาก็แล้วแต่ แต่เราได้เห็นธรรมแล้ว เราได้เห็นธรรมนั้น ร่มเงานั้นก็กลายเป็นร่มเงาของธรรมไป

จากเป็นร่มเงาของกิเลสที่เราต้องเดินย่ำอยู่ตรงนั้นนะ ย่ำอยู่เพื่อจะว่าเป็นการต่อสู้กัน ย่ำเดินเข้าไปเพื่อไม่ให้นอนใจ ทำความสงบของใจขึ้นมาแล้วใจมันจะนอนใจ ความนอนใจ พอเจอน้ำแล้วมันดีใจ ความดีใจว่าเราได้น้ำ เรารอดตาย ความรอดตายชั่วครู่ชั่วยาม เพราะน้ำนั้นมันเพิ่งขุดได้ จอกแหนเราแหวกออกไป เดี๋ยวจอกแหนมันก็เข้ามาปกคลุมอย่างเก่า จอกแหนเราเอาออกไปแล้วต้องแหวกออกไป แล้วน้ำจะใช้ประโยชน์อย่างไหน เราต้องตักน้ำขึ้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ของเรา ไม่ใช่ว่าเห็นจอกแหนแล้วดีใจ แล้วให้จอกแหนเข้ามาปกคลุม มันก็ไม่เห็นน้ำเหมือนเดิมโดยธรรมชาติของมัน

น้ำในขุดก็เหมือนกัน น้ำในบ่อขุดแล้ว ถ้ามันขุดไม่ลึก ขุดโดยไม่ได้ถูกต้องไว้อย่างดีให้น้ำใช้ประโยชน์ได้ น้ำนั้นก็จะต้องเหือดแห้งไปโดยธรรมดา แต่ความมีอยู่นั้นไม่สงสัย แต่ความเหือดแห้งไปความเหือดแห้งไปธรรมดา นี่ก็เหมือนกัน ร่มเงาของกิเลสนั้น เราเข้าไปถึงในร่มเงาของกิเลสแล้วเราต่อสู้ จนกิเลสนี้เป็นความร่มเย็นของใจ นี่สัมมาสมาธิเป็นแบบนั้น เงาของใจ ร่มเงาของใจ ภูเขากิเลสนั้นมีร่มเงาที่ปกคลุมใจให้ใจอยู่ในอำนาจของมัน ด้วยการสืบต่อมา ด้วยการเป่าหู ด้วยการคิดการคำนึงขึ้นมา นั้นคือกิเลสพาคิดทั้งหมด กิเลสอยู่กับใจ

กิเลสเวลาความคิดออกมา ขยับออกมานั้นกิเลสตามมาพร้อม ความคิดขยับออกมาจะกิเลสตามมาๆ ความที่เป็นกิเลสนั้นจะทำให้เราเชื่อไง เราเชื่อโดยธรรมชาติเพราะเป็นเรา ทุกคนจะไว้ใจตัวเองที่สุด ทุกคนจะเชื่อมั่นตัวเองที่สุดว่าตัวเราจะไม่หาความลำบาก หาโทษภัยมาใส่เรา ความเชื่อเรานั้นคือความเชื่อกิเลส ความดัดแปลงตน ความขัดข้องตน ความพยายามถูไถแก้ไขดัดแปลงตนนั้นคือการชำระกิเลส การดัดแปลงคือการต่อสู้กับกิเลสนั้นคือการดัดแปลงตน การไม่เชื่อเรา ไม่เชื่อเรา จนกว่าจะเข้าไปถึงสัจจะความจริงนั้น ร่มเงานั้นจะเปลี่ยนจากร่มเงาของกิเลสเป็นร่มเงาของธรรม

ร่มเงาของธรรม พอร่มเงาของธรรมใจก็ชุ่มชื้น ใจก็มีความยึดความเชื่อมั่นตนเอง ความเชื่อมั่นพร้อมกับความสุข อ๋อ! นี่เองความเป็นธรรม แล้วเรามีอยู่ในเงื้อมมือของเรา แล้วเราจับไว้ ไม่หลุดมือออกไป ฟังนะ! ธรรมที่เกิดขึ้นมาจากเรา เกิดขึ้นมาจากเรา สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายต้องแปรสภาพไปทั้งหมด เกิดขึ้นมากับเรา เราสะสมขึ้นมา เราแสวงหาขึ้นมา ด้วยพยายามพลิกแพลงจากความเป็นร่มเงาของกิเลส คือความที่ว่ากิเลสมันผูกมัดอยู่จนขึ้นมาเป็นธรรม เป็นธรรมหมายถึงมันเป็นสัจจะความจริง

กิเลสไม่สามารถจะเข้ามาให้ค่ามันได้ ไม่สามารถหลอกลวงได้ เราแสวงหาเข้ามาได้จากมือแล้ว เราก็ทำหลุดมือออกไป ความหลุดมือออกไปคือมันต้องแปรสภาพโดยธรรมดาของมัน ความที่เป็นความสงบนี้ ความสงบเกิดขึ้น เกิดขึ้นมาจากอะไร? เกิดขึ้นมากจากการที่เราสร้างเหตุคำบริกรรมใช่ไหม เกิดขึ้นมาจากเราใช้ปัญญา ใช้สติสัมปชัญญะพยายามไตร่ตรองใคร่ครวญ พยายามให้ใจนี้หยุดสงบนิ่ง

ความไตร่ตรอง ความใคร่ครวญนั้นเกิดขึ้นจากปัญญาอบรมสมาธิ พร้อมกับสติสัมปชัญญะควบคุมเข้าไป ความไตร่ตรองนั้นเป็นสัมมาสมาธิ พลิกจากความเป็นร่มเงาของกิเลสเป็นร่มเงาของธรรม แล้วก็รักษาไว้ รักษาไว้แล้วต้องก้าวเดินเข้าไปไง ถ้าไม่ก้าวเดินเข้าไป เรามัวแต่นั่งพอใจกับความสงบนั้น ความสงบนั้นเกิดขึ้น แล้วความสงบนั้นก็จะอัตรธานไป เกิดเป็นธรรมชาติของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป มันเป็นสัจจะความจริงของสัจธรรม เพราะธรรมนี้ยังเป็นธรรมที่แปรปรวนอยู่

ธรรมที่แปรปรวนอยู่ เราแสวงหาไง แสวงหามาอยู่ในมือเรา ของที่อยู่ในมือเราแล้วเราต้องพยายามสงวนรักษา ต้องพยายามทำเข้าสมาธิหรือทำความสงบของใจ เราต้องพยายามทำความสงบของใจ ชำนาญในวสี ในการแสวงหา ในการรักษาไว้ไง ในการรักษาไว้ตั้งสติสัมปชัญญะอย่างไร การพลิกแพลงอย่างไร ใจพยายามไตร่ตรอง พยายามดูตรงนี้เข้ามา พอเห็นความสงบเข้าไป

๑. จิตนี้สงบ จิตนี้แหวกจอกแหนเห็นน้ำได้ ด้วยความเป็นจริงอันหนึ่ง แล้วมันก็ต้องแปรสภาพไปเป็นธรรมดา แต่เราก็มีการแหวกได้บ่อยๆ เรามีความชำนาญในการแหวกออกไป แล้วพยายามจะรักษาให้น้ำนั้น เราจะพยายามกางกั้นไม่ให้จอกแหนเข้ามาปกคลุมไม่ให้เราเห็นน้ำอันนั้น ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ จิตนี้ถึงจะตั้งมั่น

จิตตั้งมั่น หมายถึงเรามีความสงบของใจ เรามีความชำนาญในการเข้าออกในวสีที่เข้าไปในหัวใจนั้น ความเข้าไปในหัวใจนั้นนั่นน่ะ สิ่งที่ว่าเป็นร่มเงาของใจนี้ถึงจะไม่หลุดจากมือเราไป สิ่งที่เราศึกษามา สิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมาจากครูบาอาจารย์นั้นเป็นธรรมจากภายนอกที่เราพยายามจะเอาเข้ามาในหัวใจเรา กับสิ่งที่เราประพฤติปฏิบัติ เราใคร่ครวญของเราแล้วเราแสวงหาของเรา บุญกุศลที่เราสร้างมาขนาดไหน เราสร้างมาเพื่อสิ่งนี้

บุญกุศลเป็นบุญกุศลเสริมขึ้นมาด้วยศรัทธา ด้วยความเชื่อของเรา แต่ความเข้าไปประสบกับความเป็นจริงนี้ไม่ใช่ความเชื่อ ความเชื่อเป็นความเชื่อ ความเข้าไปถึงประสบความเป็นจริงนี้เพราะความวิริยอุตสาหะของหัวใจเรา ของจิตใจของเราที่เข้าไปประสบกับธรรมอันนี้

ใจเราเข้าไปประสบกับธรรม รู้ถึงธรรม เข้าใจถึงธรรมนั้น อันนั้นก็เป็นวาสนาบารมีของเรา เราทำขึ้นมาของเราเอง อันนั้นเป็นปัจจัตตัง นี่ความที่รู้จำเพาะตน รู้จำเพาะตนแบบนี้ รู้จำเพาะตนเพราะมันเกิดขึ้นกับเรา เราแสวงหาของเราขึ้นมา เราทำขึ้นมาแล้วเราก็รักษาไว้ ชำนาญในวสี ชำนาญในการเข้าออก สิ่งที่เรารักษาไว้นี้จะเป็นธรรมาวุธ

เราจะเข้าไปทำลายภูเขาทั้งภูเขา เราเอามือเปล่าๆ เข้าไปผลักได้อย่างไร เราจะเอามือเปล่าๆ นี้เข้าไปผลักไสให้ภูเขานี้กลิ้งไป มันเป็นไปได้หรือ เราไม่ใช่มีฤทธิ์มีเดชขนาดที่ว่ามีฤทธิ์มีเดชสามารถทำให้ได้อย่างนั้น ฤทธิ์เดชมันก็ไม่เกิดขึ้น มันต้องมีอาวุธขึ้นมา มีสัมมาสมาธิ จิตนี้ตั้งมั่น จิตนี้เป็นสัมมาสมาธิ การก้าวเดินเข้าไปหาภูเขานั้น “ภูเขา ภูเรา” ภูเขากิเลสมันเกิดที่ไหน กาย ร่างกายกับจิตใจนี้เป็นที่ตั้งของภูเขา ภูเขาครอบงำหัวใจทั้งหัวใจ กับร่างกายนี้ทั้งร่างกายอยู่ในอำนาจของเขา โดยความปิดบังตาเราที่เรามองไม่เห็น นี่จิตนี้มันต้องก้าวเดินเข้ามาตรงนี้ไง ก้าวเดินเข้าไปจากร่มเงาของภูเขาเข้าไปหาตัวภูเขานั้น เข้าไปหาตัวภูเขานั้น จิตก้าวเดินเข้าไปอย่างไร ถ้าทำความสงบเข้ามาแล้ว จิตก้าวเดินคือการยกขึ้น ยกขึ้นคือการพิจารณาหาเหตุหาผล

ใหม่ๆ จะไม่เจอหรือไม่เห็น นั้นเรื่องของการฝึกฝน การฝึกฝนมันต้องมีการผิดก่อน มีความผิดพลาดเป็นเรื่องของธรรมดา นี่ไง เป็นประสบการณ์ที่เราสร้างสมขึ้นมาจากหัวใจของเรา เราสร้างสมขึ้นมา สร้างสมหัวใจ หัวใจแต่เดิมที่โดนปกคลุมโดยภูเขากิเลสนี้ ภูเขากิเลสมองเข้าไป เห็นแต่ภูเขาทั้งลูก แล้วเราค่อยมองโดยปกคลุมไว้ด้วยวัชพืชมองอะไรไม่เห็น พอร่มเงามา เราเข้าไป เราก็ไปเชื่อสิ่งนั้น

นี่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่ความเห็นของตัว ผู้ที่สัมผัสกับความร่มเย็นของใจ มันจะคิดว่าเป็นอย่างนั้น ความคิดว่าเป็นอย่างนั้นมันถึงไม่ก้าวเดิน ความไม่ก้าวเดินออกไป สิ่งนั้นมันก็ต้องแปรสภาพไปโดยธรรมดา ๑

๒. พอแปรสภาพไปแล้วจิตนั้นเสื่อมสภาพขึ้นไป แล้วจะพยายามทรงขึ้นมาใหม่นั้นต้องใช้ความวิริยอุตสาหะเท่าเข้าไปเป็น ๒ เท่า ๓ เท่า

ถึงว่าความทุกข์ของกิเลสนั้นเป็นส่วนหนึ่ง ความทุกข์ของกิเลสคือความทำลำบาก ๑

แล้วก็ความคิดของเรา การลังเลสงสัยในความทุกข์ของกิเลส ๑

ความทุกข์ของความเพียรที่จะสะสมขึ้นไปเพื่อให้จิตนั้นสงบต้องเพิ่มเข้าไปอีก นั่นน่ะ ถ้าเราปล่อยอันนั้นไป เราว่าสิ่งที่ประพฤติปฏิบัติอยู่นี้เป็นความทุกข์อยู่แล้ว แล้วเรายังไม่มีสติสัมปชัญญะ ไม่พยายามรักษา สมบัติของตน สมบัติของตนที่เป็นเราสะสมขึ้นมา นี่สมบัติของตน

ถ้ามันรักษาได้มันก็จะทรงอยู่ได้ แล้วยกขึ้น ยกขึ้นนั้นเป็นวิธีการที่ก้าวเดินออกไป ถ้าไม่ยกขึ้นเข้าไป ถ้าพิจารณาอย่างนี้ พิจารณาเพื่อให้เราระวังตัว ให้เราพยายามตั้งสติสัมปชัญญะเพื่อความก้าวเดินออกไปของใจเราจะเกิดขึ้น นี่ความรอบคอบไง ความไม่สุกเอาเผากิน ความสุกเอาเผากิน พอเข้าไปเจอแค่เงาของภูเขาก็คิดว่าเงาของภูเขานั้นเป็นภูเขา แล้วก็นอนมีความสงบร่มเย็น นอนอยู่ที่ร่มเงานั้น โดยที่ไม่เคยเห็นสติปัฏฐาน ๔ เลย ไม่เคยพิจารณาความจริงโดยสัจจะความจริง

สิ่งที่พิจารณาอยู่ที่เป็นความเห็นอยู่นั้นมันเป็นเงาเฉยๆ เงาคือมันเป็นนิมิตที่เห็นจากสิ่งที่ว่า อวิชชาหลอกให้ลูกให้หลานใช้งานออกมาไง แค่ลมปลายอ้อปลายแขมของกิเลสที่มันแสดงตัวเท่านั้นเอง นี่เราต้องย้อนกลับ การจะชนะตน การชนะตนต้องชนะซึ่งจุดศูนย์กลางของหัวใจนั้น จุดศูนย์กลางของหัวใจ ตัวอวิชฺชา ปจฺจยาสงฺขารา ตัวพาตายพาเกิด ตัวนี้ต่างหาก แล้วอวิชชาจุดศูนย์กลางของใจก็อยู่ในหัวใจของเรา แต่มันจะโดนผลักไสไว้เพราะธรรมชาติของจิตนี้มันส่งออก

ความคิดของมนุษย์ ความคิดของมนุษย์คิดขึ้นมาจากความคิดเดิม แล้วแย็บขึ้นมาเป็นสัญญาออกมา แล้วออกมาเป็นชั้นๆ นะ จากสัญญาในเป็นสัญญานอก จากสัญญานอก จากขันธ์นอก ขันธ์ใน ขันธ์ในขันธ์ ออกมาเป็นชั้นๆ แต่เราผู้ที่จะก้าวเดินเข้าไป เราไม่เห็นหรอก

ครูบาอาจารย์ที่ผ่านเข้าไปแล้วถึงบอกชี้แนะนำทางเข้ามาให้เราก้าวเดินเข้าไป ก้าวเดินเข้าไป ความก้าวเดิน ทำไมจิตต้องก้าวเดิน ทำไมจิตอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ทำไมจิตอยู่กับที่ทำงานไม่ได้หรือ? จิตอยู่กับที่มันก็เป็นร่มเงาของภูเขา แล้วก็นอนอยู่นั่น เพราะอาการของความคิด ความคิดที่มันส่งออกโดยธรรมชาติของความคิดนี้ ขันธ์นี้ต้องเป็นไปโดยธรรมชาติ เพราะเราเป็นมนุษย์

มนุษย์มีธาตุ ๔ และ ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ นี้เป็นนามธรรม ธาตุ ๔ นั้นเป็นร่างกายของเรา ทั้งธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ นี้โดนปกคลุมไว้ทั้งหมด ความโดนปกคลุมไว้ สิ่งที่ปกคลุมแล้วสั่งการของเขาออกมา มันก็เลยเป็นทางเดินโดยถูกต้องของกิเลส ทางเดินที่เดินออกไปๆ นี่ย้อนกลับๆ ถึงต้องเดิน ต้องก้าวเดิน ใจต้องก้าวเดินเข้าไป ถ้าไม่ก้าวเดินเข้าไปจะไม่เห็นสิ่งนั้น ถ้าไม่เห็นสิ่งนั้นคือไม่ได้ทำลายใดใดทั้งสิ้น ไม่ได้ทำลายอะไรเลย เพียงแต่เห็นน้ำนั้น จะแหวกจอกแหนแล้วเห็นน้ำ มีความเชื่อมั่นในศาสนา

ความเชื่อมั่นในศาสนานั้นเป็นปัจจัตตังความรู้จำเพาะตน จิตดวงนี้ประเสริฐขึ้นมาส่วนหนึ่ง จิตที่ประเสริฐ กิเลสมันเหนือความประเสริฐนั้น กิเลสคลุมอยู่บนความประเสริฐนั้น สิ่งที่ประเสริฐนั้นเป็นธรรมาวุธ เป็นการก้าวเดินเข้าไป

สิ่งที่เราว่าประเสริฐๆ ๑ สิ่งที่ว่าร่มเย็นนี้ ความร่มเย็นก็เป็นความร่มเย็นเฉยๆ แต่ในการยกขึ้นสติปัฏฐาน ๔ มันจะมีอาการต่างกันเพราะมันจะขนพองสยองเกล้า ใจดวงนี้เกิดตายๆ ในวัฏฏะมาไม่มีต้นไม่มีปลาย สิ่งที่ไม่มีต้นไม่มีปลาย เห็นไหม บุพเพนิวาสานุสติญาณ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายืนยันว่าสาวไปแล้วไม่มีที่สิ้นสุด จิตนี้ตายเกิด ตายเกิดมา เสวยภพชาติมา เสวยภพเสวยชาติมาตลอด แล้วใครไม่เคยเข้าไปเห็นว่าตัวภูเขานี้พาตายพาเกิดมาขนาดไหน

ถ้าตัวภูเขานี้มันเป็นวัตถุที่เราอุปมาอุปไมยขึ้นมาให้มันเห็นภาพชัดไง แต่จริงๆ แล้วมันเป็นนามธรรม สิ่งนี้ไม่มีใครเคยเห็น ใครจับต้องคือก้าวเดินเข้าไป เหยียบถึงภูเขา ก้าวเดินเข้าไปเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม นั่นน่ะ สิ่งที่สยดสยองขนพองสยองเกล้า มันจะสยดสยองขนพองสยองเกล้า เพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุด สิ่งที่มีคุณค่าเพราะอะไร เพราะสะสมมาในวัฏฏะ พาเกิดพาตายมาไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีต้นไม่มีปลาย แล้วไม่มีใครเคยเจอ

แต่พอเราไปเจอเข้า ด้วยธรรมาวุธ ด้วยอาวุธที่เราสร้างสมขึ้นมา อาการที่ว่ามันร่มเย็นเป็นสุข ตอนนอนจมอยู่กับความร่มเงาของภูเขานั้น มันจะมีอาการต่างกันกับความเห็นอันนี้ไง การเห็นอันนี้มันถึงเป็นสิ่งที่ประเสริฐ สิ่งที่ประเสริฐเพราะมันเป็นผลงานของเรา ผลงานของเรา เราสร้างของเราขึ้นมา นั่นน่ะ เป็นเริ่มต้นนับหนึ่งที่จะก้าวเดินเข้าไปทำลายภูเขานั้น ถ้าทำลายภูเขาของกิเลสได้ เราก็จะเป็นอิสระจากการครอบงำของภูเขาและเงาของภูเขานั้น

การก้าวเดินเข้าไป เริ่มต้นมันจะผ่านเงานี้ก่อน เงาของภูเขานี้สำคัญมาก เพราะรูปร่างมันเหมือนกัน เงากับตัวจริงเหมือนกัน เราแค่เจอเงา เราจะเหยียบย่ำอยู่ที่เงานั้น แล้วก็เดินวนเวียนอยู่ที่เงานั้น เห็นไหม การพลัดหลงไปในการประพฤติปฏิบัติมันจะเป็นแบบนั้น พลัดหลงไปอยู่ที่เงานั้นแล้วเวียนไปเวียนมา เวียนจนจิตนี้เสื่อมสภาพไป จนกลายเป็นว่าจิตใจแห้งผาก พอจิตใจแห้งผากก็อาศัยแต่ของเดิมไง อาศัยแต่ความปัจจัตตังความรู้เห็นจริงอันนั้นเฉยๆ ไว้เป็นเครื่องอยู่ เกาะเกี่ยวไว้เท่านั้น แล้วจะสร้างคุณงามความดีขึ้นมา สร้างสิ่งสะสมขึ้นไปเพื่อจะหาธรรมาวุธอันนี้ก็ต้องพยายามขึ้นไป

อันนี้มันเป็นโทษ ๒ ชั้น ๓ ชั้น ในการที่เราไม่เข้มแข็ง ๑ ไม่จริงจัง ไม่มีความอุตสาหะ ไม่มีการวิเคราะห์วิจัย ไม่มีการพินิจพิจารณาตัวเอง ไม่มีการสุกเอาเผากินไง สุกเอาเผากินแล้วเราจะก้าวเดินไปไม่ได้ ความก้าวเดินของเราไปไม่ได้ ทุกข์ไหม? เวลาเราไปพูด เวลาไปหาครูบาอาจารย์หรือหาใครก็แล้วแต่ ทำไมเราภาวนาไม่เป็นไป ทำไมเราไม่เป็นไป

ครูบาอาจารย์ก็ให้กำลังใจ ครูบาอาจารย์ให้กำลังใจ กับเราให้กำลังใจ ถ้าเราให้กำลังใจ “ครูบาอาจารย์ก็เป็นคน เราก็เป็นคน” กำลังใจเกิดจากเรานี่ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ของที่อยู่ในเรือนกายของเรา ของอยู่ในครัวของเรา มีดอยู่ในครัวของเรานั้นอย่างหนึ่ง มีดที่เราพกไว้กับตัวนี้อย่างหนึ่ง มีดที่เราพกไว้กับตัว เวลาเราเจอศัตรูเราต้องการใช้ เราจะหยิบได้ทันทีเลย ถ้ามีดจากครัวเราต้องเดินเข้าไปหาครัว มันช้าต่างกัน

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ก็เหมือนกัน ความเกิดของกิเลสมันไวมาก ความเกิดของกิเลสมันไว มันจะเกิดเดี๋ยวนั้นๆ แล้วก็ทำไปแล้ว เรานั่งอยู่ในสมาธิหนหนึ่ง ดูสิ มันพยายามจะทำให้เราล้มเลิกไปน่ะกี่ร้อยหน กี่พันหน เห็นไหม มันจะเกิดขึ้นเร็วมาก เกิดขึ้นเร็วมาก แล้วเราไปจะมัวแต่ว่าไปหาครูบาอาจารย์คอยให้กำลังใจอยู่ๆ แต่ไปท่านก็ต้องให้กำลังใจเป็นธรรมดา

ศาสดาองค์เอง ครูองค์เอกของเราคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทุกข์มา ๖ ปี พระปัญจวัคคีย์รออยู่ถึง ๖ ปี เราไม่ต้องรอเลย มีก่อนที่เราเกิดอีก เราเกิดท่ามกลางพุทธศาสนา ศาสนานี้มีอยู่แล้ว เราต่างหากชุบมือแล้วก็เปิบ ชุบมือแล้วเปิบ แล้วทำไมเรายังเปิบเข้ามาในใจของเราไม่ได้

นี่วนเข้ามา วนเข้ามา กำลังใจของเราเอง เราสร้างขึ้นมาเองๆ สิ่งที่ว่าเกิดขึ้นจากภายนอกเป็นภายนอก กิเลสภายนอกเป็นภายนอก นี่เงาของภูเขา แล้วก็เดินเข้าไปๆๆ จนจับต้องได้ ขนพองสยองเกล้า มันเป็นการยืนยันไง สิ่งที่ยืนยันว่าวุฒิภาวะของใจมันเป็นคนละขั้นตอนกัน วุฒิภาวะของใจในความสงบ สมถกรรมฐานนั้นเป็นส่วนหนึ่ง วุฒิภาวะของใจที่พยายามพัฒนาขึ้น วุฒิภาวะพัฒนาขึ้นเป็นภูมิเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไป มันจะพัฒนาของมันขึ้นไป ความพัฒนาของขึ้นไปนี้เราต้องเป็นคนผลักไสขึ้นไป

พลังของจิต พลังของงาน วิริยะ ความเพียรชอบ วิริยอุตสาหะของเรา เราไสของเราขึ้นไป งานชอบ มันจะชอบขึ้นมาแล้ว เพราะว่าเราผ่านจากสมถกรรมฐานขึ้นมานั้น อารมณ์ ความวุฒิภาวะของใจที่เสวยนั้นเป็นภพภพหนึ่ง เป็นความเห็นอันหนึ่ง พอยกขึ้นมาวิปัสสนา ขนพองสยองเกล้า เป็นความเห็นอีกอันหนึ่ง มันถึงยืนยันกันได้ว่า สมถกรรมฐานนี้เป็นพื้นฐานให้ยกใจขึ้นเป็นวิปัสสนากรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานเป็นการทำลายภูเขานั้นด้วยธรรมาวุธ ด้วยอาวุธ ด้วยระเบิด ด้วยนิวเคลียร์ นิวตรอนของพลังของจิตนั้น

อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ต้องโดนทำลายไปด้วยวิชชา วิชชาคือปัญญาญาณไง ปัญญาญาณสามารถระเบิดได้ นั่นน่ะ สิ่งที่ทำลายกันมีอยู่ เพราะกิเลสนี้เป็นนามธรรม เกิดขึ้นอยู่ในหัวใจ หัวใจกับกิเลสนี้เป็นนามธรรมด้วยกันก็อยู่ด้วยกัน สิ่งที่เป็นสัจธรรมอยู่ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนอยู่นี้เป็นนามธรรม สอนเข้ามาถึงหัวใจนี้ก็เป็นนามธรรมเหมือนกัน

สิ่งที่เป็นนามธรรม วนเข้ามาๆ นี่ความวนเข้ามา การใคร่ครวญ วุฒิภาวะของใจต่างกันแล้วเราก็จับไว้ แล้วพิจารณากาย พิจารณากาย ดูกาย ถ้าจิตนี้สงบพื้นฐาน ธรรมาวุธพอ พิจารณากายนี้ กายนี้จะแปรสภาพ ความแปรสภาพของกายนี้จะแปรสภาพออกไป ออกไปด้วยกำลังของสมาธิ ด้วยกำลังของปัญญา กำลังของสมาธิคือตั้งให้กายนั้นทรงอยู่ ถ้าสมาธิไม่ดีกายนั้นจะตั้งไม่ทรงอยู่ จะคอยหมุนเวียนไป คอยหลุดมือไปไง

ความหลุดมือไปเพราะกำลังของสมาธิไม่พอ กำลังพื้นฐาน พลังงานตัวธรรมาวุธนี้ไม่พอ ความพอของสมาธิคือความตั้งไว้ให้มีฐาน คือจุดที่จะเราจะทำลาย คือตัวภูเขาที่เราจะทำลาย นั้นคือสมาธิให้ผลแบบนี้ แต่สมาธิไม่สามารถทำลายภูเขาได้ เพราะสมาธิเป็นพลังงานที่ทรงไว้ ตั้งไว้ ความที่เป็นภพเป็นภูมิอันหนึ่ง แต่ปัญญาที่อยู่ในสมาธินั้น สมาธินั้นตั้งกายขึ้นมาให้เราพิจารณาด้วย สมาธินั้นขับเคลื่อนพลังงานของปัญญาด้วย ปัญญาคือสังขารที่มาสมาธินี้แยกออกจากกิเลส

เดิมนี้สังขารนี้เป็นเครื่องมือของกิเลส อยู่ในร่มเงาของกิเลส เราพลิกออกมาเป็นร่มเงาของธรรม เพราะมีสัมมาสมาธินี้เบี่ยงเบน...

(เทปขัดข้อง)

...จากเดิมกิเลสพาใช้สังขาร กิเลสพาใช้...

(เทปขัดข้อง)

...มันก็แยกอันนี้เข้าไป พอเข้าไป จะหมุนออกไป นี่ปัญญาเกิด พอปัญญาเกิด ปัญญาเกิดหมายถึงว่า พิจารณาดูกาย กายนี้จะแปรสภาพ สังขารขันธ์ สังขารคือความคิด ความปรุง ความแต่ง ความคิดว่ากายนี้เป็นเรา ความคิดยึดมั่นกายนั้น สังขารผูกพันผูกมัดอยู่กับกายนั้น กายกับจิต กายกับเรา ทุกอย่างเป็นเราทั้งหมด “ภูเขา ภูเรา”

ภูเขาข้างนอกระเบิดทำลายได้หมด แต่ภูเขาของกิเลส ภูเขากลางหัวใจ ภูเขาของเราไม่มีใครเคยทำลายได้เลย ไม่มีใครเคยเห็น ๑ เราสะสมบุญญาธิการขึ้นมา สะสมความจงใจของเราขึ้นมาจนเห็นภูเขานั้น จนจับต้องภูเขานั้น จนหัวใจนี้สั่นไหว หัวใจนี้สั่นไหวหมดเวลาจับต้องภูเขานี้ หัวใจจะสั่นไหวเพราะมันกระเทือนเรือนลั่นไปถึงใจนั้น การจับภูเขาภูเรานี้มันก็กระเทือนเรือนลั่นออกไปอยู่แล้ว โลกธาตุไหวไหวได้อย่างนั้น ร่างกายนี้ไหวหมด นั่นน่ะ แล้วยังวิเคราะห์วิจัยด้วยสังขารขันธ์ ความคิด ความปรุง ความแต่ง ความเห็นไง ความเห็นจากตาของธรรม ความเห็นจากตาของธรรมว่าภูเขานั้นมันตั้งอยู่แล้ว สรรพสิ่งธรรมดามันต้องทำลายโดยธรรมชาติของมัน ด้วยอำนาจของสมาธิ ด้วยอำนาจของปัญญานั้นให้ภูเขานั้นทำลายไป ให้กายนี้แปรสภาพออกไป นี่ความเห็น

ถ้าพิจารณาด้วยปัญญาอันนี้ พิจารณาเข้าไป กายกับจิตนี้ต้องแยกออกจากกัน กายกับจิต ความผูกพันไง ความผูกพันยึดมั่นถือมั่นว่ากายเป็นเรา เราว่าเราศึกษามา เราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา เราก็เข้าใจว่าเราก็คิดอยู่ว่ากายกับเรานี้มันอาศัยกัน ทุกคนเลยบอกกายกับใจนี้คนละส่วนกัน แต่อันนี้มันเป็นสัญญา สัญญาความจำได้หมายรู้ อย่าให้เข้ามายุ่งในขณะที่ว่าปัญญากำลังก้าวเดินออกไปนะ

ถ้าปัญญากำลังจะก้าวเดินออกไปแล้วมีความคิดอันนั้นว่าเรารู้แล้ว อย่างนี้ออกไป ตัณหาไง ตัณหาซ้อนตัณหา ตัณหาความทะยานอยากมันเป็นไป มันอยากจะรวบรัดไง ความรวบรัดมักง่าย ความรวบรัดมักง่ายจะทำให้สิ่งที่มันจะเป็นสัจจะความเป็นจริงให้สงบตัวลง หรือว่าเป็นไปโดยสัจธรรมอันนั้นมันไม่เป็นสัจธรรมอันนั้น มันเป็นสัญญาปรุงแต่ง เป็นสัญญาของดั้งเดิม สัญญาแล้วจิตนี้ปรุงแต่งไป

ทิ้งได้เลย ทิ้งหมายถึงว่าปล่อยวางงานนี้ ปล่อยงานนี้กลับมาทำความสงบของใจให้ได้ ทำความสงบของใจ ถ้าใจมันจะเกี่ยวข้องกับงานนั้น มันอยากทำงาน คนเรานะ พอมันอยากได้ดิบได้ดีขึ้นมามันจะเอาดิบเอาดี เอาเดี๋ยวนั้นๆ ด้วยความมักง่าย ด้วยความคิดว่ามันเป็นความรวดเร็วไง ด้วยความรวดเร็ว ด้วยความจะเอาทางลัด ด้วยความที่คิดว่าจะลัดขั้นตอนจะได้สะดวกสบาย ยิ่งลัดเท่าไรมันลัดลงหากิเลสหมด มันลัดลงหา ดูสิ เราอยู่ในร่มเงาของกิเลสตั้งแต่ปลายอ้อปลายแขมเรายังเชื่อ แล้วสิ่งนี้ขึ้นมา มันละเอียดอ่อนไปกว่านั้น ความละเอียดอ่อนคือว่าจิตมันพิจารณาแล้วมันจะปล่อย ความปล่อยวางใจ อาการที่ปล่อยวางกับอาการที่พิจารณาแล้วปล่อยวาง กับอาการของสมาธิต่างกัน อาการของสมาธิ ความเวิ้งว้างนั้นเป็นหลักตั้งมั่น มันอิ่มเต็ม แต่ความเวิ้งว้างของการพิจารณาแล้วปล่อยวางนี้มันว่าง ว่างจนปล่อย เวิ้งว้างไปหมด ความว่างต่างกัน

คือว่าความสุขในสมถกรรมฐานอย่างหนึ่ง ความสุขในวิปัสสนาอย่างหนึ่ง มันละเอียดขึ้นไปเป็นวุฒิภาวะของใจ เป็นภูมิเป็นชั้นขึ้นไป ความรู้ความเข้าใจมันจะเป็นชั้นขึ้นไป แล้วพอเราไปได้ประสบไง ไปได้ประสบแล้วมันก็ชอบใจ ดูสิ เราประสบขึ้นมา เราแหวกจอกแหนเห็นน้ำเราก็ดีใจ จอกแหนนั้นมันก็เข้ามาปกคลุมอย่างเก่า ความร่มเย็น ความเชื่อมั่นอันนั้นอันหนึ่ง อันนี้กำลังยกขึ้นมาแล้วคิดว่าจะโยนจอกแหนขึ้นจากฝั่งให้ได้

การพยายามจะให้บ่อน้ำนั้น ให้น้ำนั้นทรงที่ไง พยายามเอาเครื่องกันที่ว่าน้ำซึมซับออกไปจากบ่อนั้น นี่วิปัสสนาญาณอย่างนั้นมันถึงว่าความสุขต่างกัน เพราะว่ามันได้ร่มเย็น ได้ดื่มกินตลอดเวลาเพราะมันทรงตัวอยู่ แล้วความมั่นใจ ความคิดว่าจะได้ผลอันนั้น นี่กิเลสมันก็เลยเข้าไง

การวิปัสสนานี้ไม่ใช่ว่าวิปัสสนาแล้วจะเป็นการชำระกิเลสตลอดไป เพราะกิเลสภูเขานั้น ภูเขาธรรมดานี้มันไม่มีชีวิตนี่ แต่ภูเขาของกิเลสนี้มันมีชีวิตจิตใจ มันรู้ทันดีกว่าเราอีก เพราะมันอยู่หลังความคิด มันเคลื่อนตัวออกมาพร้อมกับเราตลอดเวลา ความเคลื่อนตัวพร้อมออกมากับเรา มันจะเบี่ยงเบนที่ว่าเราคิดเราทำให้ผิดเป้าหมาย ผิดเป้าหมายของธรรม แต่ตรงเป้าหมายของกิเลส ตรงเป้าหมายของความยึดมั่นถือมั่นในหัวใจที่มันยึดมั่นถือมั่นอยู่นั่นไง แต่มันเป็นสิ่งที่ละเอียดที่เราไม่รู้ เราไม่รู้สิ เพราะเรายังไม่เคย สิ่งที่เราไม่เคยผ่านเราจะรู้ได้อย่างไร สิ่งที่เราไม่รู้เราก็ต้องติดข้องไป

ความติดข้อง ความเชื่อใจ ความนอนใจไป นั่นน่ะ ทำให้เสื่อมลง เสื่อมจากวิปัสสนาญาณออกมาเป็นสมถะ เสื่อมหมด ต้องยกขึ้นๆ ตลอด เวลาเสื่อมไปแล้วทำงาน จะทำใหม่ก็อย่างนั้น จากภูเขาเป็นเงาของภูเขาแล้วก็หายไปเป็นวัชพืช หายไปหมดเลย นี่เวลาเสื่อมหมด เสื่อมหมดในหัวใจนะ เวลาใจมันเสื่อม

ทุกผู้ที่ปฏิบัติจะเข้าใจเรื่องอย่างนี้ แล้วจะทุกข์มาก จะเร่าร้อนๆ แต่ความเร่าร้อนนั้น ถ้าเราพยายามเอามาเป็นพลังงานนะ เอามาเป็นยาบำรุงหัวใจ ในเมื่อความทุกข์ในการเกิดการตายนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด หัวใจของเรายังต้องก้าวเดินต่อไป หัวใจของเรา ก้าวเดินเข้าไปในหัวใจของเรานี้ ไม่ใช่ก้าวเดิน ชีวิตนี้เป็นชีวิต ไม่ต้องพูดถึงชีวิตเลย ชีวิตนี้มันเป็นภพชาติที่ว่าต้องหมุนเวียนไปโดยธรรมชาติของมัน ธรรมชาติของใจ ถ้ายังไม่ชำระกิเลสได้ จะเวียนในวัฏฏะนี้โดยธรรมชาตินี้ นี่เรื่องของชีวิตเลย แต่เรื่องของใจเป็นอารมณ์ เป็นปัจจุบันธรรม เป็นการชำระกิเลสได้เดี๋ยวนี้ไง นี่มันเป็นโอกาสเดียว โอกาสที่เราจะสู้ขึ้นมา

ความสู้ขึ้นมา ความยกใจขึ้นมาให้มีกำลัง ให้มีปัญญา ให้มีเครื่องอุ่นใจ อุ่นใจสิ อุ่นใจที่ว่า เราก้าวเดินมาขนาดนี้ เพียงแต่เราไม่รู้วิธีการ แล้วเราเป็นคนอยากได้ดิบได้ดีเร็วเกินไป เราเป็นคนมักง่าย เราทำปุบปับหุนหันพลันแล่น...ต้องก้าวเดินใหม่ ความก้าวเดินใหม่ นี่วิปัสสนาระหว่างกิเลสกับธรรมที่มันต่อสู้กันในท่ามกลางของหัวใจผู้ที่ปฏิบัติ หัวใจของผู้ที่ปฏิบัติจะมีการต่อสู้กันไประหว่างกิเลสกับธรรมตลอดไป

ถ้าวันไหนธรรมเป็นฝ่ายมีกำลังมากกว่า ธรรมเป็นฝ่ายที่ชนะ จะมีความชุ่มชื่นใจ จะมีความพอใจ จะมีความอบอุ่นของใจ แล้วทำได้ง่าย บางวันง่าย ง่ายจริงๆ พอเข้าสมาธิปั๊บ ปั๊บ ปั๊บ เข้าแล้ว เข้าไปได้ วิปัสสนาไปยกขึ้นมา ปล่อย ปล่อย ปล่อย ถ้าวันไหนยาก ยากแสนยาก ถูไถขนาดไหนมันก็ไม่ลง ไม่ลงส่วนไม่ลงนะ ถ้าลงไปแล้ววิปัสสนามันก็ไม่พอ ไม่มีกำลัง ไม่มีกำลังต้องถอนกลับมา นี่ระหว่างกิเลสกับธรรมต่อสู้ในภูเขาภูเรานี่ล่ะ

เราจะทำลายภูเขาที่ปกคลุมเราอยู่ในหัวใจเราเดี๋ยวนี้ นี่อำนาจวาสนาของเราต้องมี ถ้าไม่มี จากเดิมที่ว่าทำอะไรไม่เป็นเลย จนทำเป็นขึ้นมาเป็นการต่อสู้ขึ้นมาแล้ว นี่กองทัพธรรมกับกองทัพกิเลสกำลังทำสงครามสัปยุตกลางหัวใจ แล้วเราเป็นคนเฝ้าดูอยู่ ทำไมเราจะไม่เห็นผลงาน เราต้องเห็นผลงานของเรา นี่คืออำนาจวาสนา นี่คือสัจจะความจริง สัจจะที่เราเห็นจริง

สัจจะ อริยสัจจะในหัวใจของเราจะเกิดขึ้นมาเพราะเราก้าวเดินออกไป เราก้าวเดินออกไป สัจจะ อริยสัจจะของครูบาอาจารย์ สัจจะ อริยสัจจะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากใจดวงหนึ่งเพราะท่านได้ผ่านมาแล้ว ยืนยันด้วยหลักธรรมชาติว่าท่านได้ผ่านไปจริง ๑ แล้วท่านสอนเรา ผู้รู้จริงเห็นจริงสอนนี่มันจะคลาดเคลื่อนไปไหน ผู้รู้จริงเห็นจริงสอนนี้มันต้อง...จะว่าสำเร็จรูปเลยก็ได้ แต่สำเร็จรูปเพราะคำสอนของท่าน แต่มันผิดเพราะเราคาดหมาย

ความสำเร็จรูปหมายถึงว่า มันจริงอย่างนั้นเด็ดขาด อริยสัจนี้เป็นเรื่องจริง มรรคอริยสัจจังเป็นความจริง ภาวนามยปัญญานี้หมุนไปด้วยจริง ธรรมจักรจะเคลื่อนออกจากใจได้จริงๆ แต่ความคาดการหมายของเราเป็นเงาหมดเลย การเป็นเงาอันนั้น มันถึงว่า หันกลับมาโทษตัวเอง หันกลับมาโทษตัวเองแล้วก้าวเดินขึ้นไป ก้าวเดินขึ้นไป วิปัสสนาไป

ทำไปเรื่อยๆ เจริญแล้วเสื่อม เจริญแล้วเสื่อม จนถึงพิจารณาบ่อยเข้าๆ ความสุขมาเรื่อย ความชำนาญมีขึ้นมาเรื่อยนะ ความชำนาญของการวิปัสสนานี้มีขึ้นมาเรื่อย ในกาย เวทนา จิต ธรรม วิปัสสนามีความชำนาญขึ้นไป ความชำนาญขึ้นไป เหมือนกับพวกสกรู พวกน็อตที่เขาขันไว้ ถ้าไม่เคยขันเลย ไม่เคยถอดออกเลยมันจะถอดยากแสนยาก แต่ของเคยขัน เคยเอาเข้าเอาออก เคยขันเข้าไปนี่มันจะขันได้ง่าย

นี้ก็เหมือนกัน หัวใจเราเคยปล่อยวาง วิปัสสนาจนวาง วาง วาง จับจอกแหนขึ้นมาๆ ถ้าจอกแหนนี้โยนขึ้นฝั่งเมื่อไร น้ำนั้นโดยธรรมชาติจะต้องสะอาดอยู่อย่างนั้น เรากำจัดจอกแหนออกไป จอกแหนนี้คือตัวภูเขาภูเรา คือตัวภูเขาของกิเลส คือตัวกิเลสไง ตัวกิเลสความยึดมั่นถือมั่น ระหว่างเงาคือใจ กับรูป กับกายนั้นเป็นตัวภูเขา นี่กายกับใจมันยึดติดกัน ยึดติดกันด้วยกิเลสนั้น นี่จอกแหนคือเครื่องสมานตัวนั้น จอกแหนมันเพราะความลังเลสงสัยของใจมันปิดกั้นใจไว้อย่างหนึ่ง ปิดไม่ให้เห็น จนเราแยกจนเห็นนั้นอันหนึ่ง แยกจนเห็นแต่ยังไม่ได้ทำลาย

วิปัสสนาจนทำลายออกไป โยนจอกแหนขึ้นไป ความเห็นจริงอยู่กับน้ำนั้น น้ำนั้นกับใจนั้นเป็นอันเดียวกัน แล้วความเข้าใจมันจะปล่อยออกไป ปล่อยกายออกไป ใจนี้จะปล่อยกายออกไป ปล่อยโดยสัจจะความจริงนะ ไม่ใช่ปล่อยโดยที่ใครไปตบแต่งปั้นขึ้นมาให้เป็นการปล่อย มันจะเป็นสัจจะความจริงว่าปล่อยหลุดออกไป เพราะภาวนามยปัญญาเกิดขึ้น สมุจเฉทปหานขาดออกไป ใจนี้หลุดออกไป สักกายทิฏฐิ ความเข้าใจว่าใจเป็นเรา คราวนี้ไม่ต้องมีใครบอกหรือว่าไม่ต้องมีใครมาให้ผูกให้มัด ถ้ามันขาดออกไปจากใจโดยหลุดออกไปแล้ว จิตเป็นจิต กายเป็นกาย สักกายทิฏฐินี้หลุดออกไป

ความที่หลุดออกไปแล้วมันเป็นสิ่งที่ว่าเป็นไปไม่ได้อีกแล้วที่มันจะมาติดกันอย่างเก่า กับตอนที่วิปัสสนาแล้วปล่อยวางๆ มันยังมีเชื้ออยู่ เชื้อตัวนั้นตัวสมานอยู่ ตัวสมานยังกลับมา ปล่อยวางเฉยๆ แต่ไม่สมุจเฉทปหาน ปล่อยวางพร้อมกับสมุจเฉทปหาน กายแยกออกไป ขันธ์ ๕ แยกออกจากจิต ขันธ์ ๕ แยกออกจากจิตนะ กายส่วนกาย จิตส่วนจิต ขันธ์ ๕ ส่วนขันธ์ ๕

เพราะตัวขันธ์ ๕ นั้นเป็นตัวความทุกข์ไง ตัวขันธ์ ๕ เป็นตัวให้ค่าใช่ไหม ตัวเวทนา ตัวเวทนาตัวให้ค่า ขันธ์เป็นขันธ์ จิตเป็นจิตแยกออกจากกัน ความแยกออกจากกันแล้วจะให้ใครมาผูกมัดอย่างไร มันก็ผูกมัดไม่ได้ นี่ปัจจัตตัง รู้จำเพาะตน ปล่อยวางสัจจะความจริง ปล่อยวางสัจจะความจริง

เราทำลายลายภูเขาส่วนหนึ่ง ภูเขานั้นแหว่งไปเลย พอภูเขานั้นแหว่งออกไป ร่มเงาก็แหว่งออกไปพร้อมกันไปหมด ทุกอย่างจะแหว่งออกไปพร้อมกัน ใจนี้เป็นสัจจะความจริง เป็นอยู่ในหัวใจดวงนั้น หัวใจดวงนั้นเข้าถึงกระแส ความเข้าถึงกระแสนั้นจะเดินเข้าไป เดินเข้าไปทำลายภูเขาภูเราทั้งหมด ภูเขาภูเรานี้มันต้องผ่านเข้าไปเป็นชั้นเป็นตอนๆ เข้าไป เพราะมันเวไนยสัตว์

เวไนยสัตว์นี้เป็นการก้าวเดิน เวไนยสัตว์เป็นผู้ที่สอนได้ฝึกได้ พยายามแล้วมันจะสำเร็จผล ผู้ที่ผ่านเร็วทำเร็วนั้น สมัยพุทธกาลนั้นทีเดียวผ่านไปๆ ความผ่านไปนั้นสำเร็จประโยนช์นั้นออกไป แต่เราเป็นเวไนยสัตว์อยู่ อำนาจวาสนาเราก็มีอยู่ การวิปัสสนามันยังมีกายนอก กายใน กายในกาย จิตในจิต วิปัสสนาเข้าไป ภูเขานั้นก็ซ้อนเข้าไปๆๆ ความซ้อนเข้าไป ยกวิปัสสนาเข้าไป

ผ่านขั้นตอนส่วนแรกเข้าไปแล้วมันจะมีความภูมิอกภูมิใจ งานจะง่ายขึ้น งานจากงานเด็กๆ งานเด็กๆ เวลามันเข้าโรงเรียน ก. ไก่ ก. กา เป็นสิ่งที่ยุ่งยากลำบากที่สุด แต่พอเขียนจนชำนาญแล้ว ก. ไก่ ก. กา ก็เขียนโดยที่ว่าจะเขียนตอนไหนก็ได้ จะรวมเป็นพยัญชนะ จะรวมเป็นอักษร รวมเป็นคำก็ได้ นี่เหมือนกัน เราเคยเขียนได้ เราเคยรวมคำได้แล้ว เราจะทำให้คำนั้นกว้างขวางออกไป เราจะก้าวเดินออกไป แต่ต้องใช้สัมมาสมาธิขึ้นไปตลอด

ภูมิจิตภูมิธรรม วุฒิภาวะของใจนะ อริยบุคคลส่วนอริยบุคคลนั้นเป็นภูมิฐานของใจ ใจนั้นขาด กิเลสขาดออกไป เวิ้งว้าง แต่สมาธิที่จะสร้างขึ้นมา สมาธิกับใจอันนั้นเป็นคนละอัน ใจที่จะสร้างสมาธิคือว่า เป็นสัมมาสมาธิขึ้นไป ในมรรค ๔ ผล ๔ มรรค ๔ ผล ๔ การก้าวเดินของใจนั้นต้องสร้างผลขึ้นมาตลอด สร้างขึ้นมาตลอด เรากินอิ่ม อิ่มวันนี้เป็นอิ่มของวันนี้ อิ่มวันหน้าเป็นอิ่มของวันหน้า แต่วันหน้ายังไม่เคยกินอิ่ม เราจะคาดการณ์ว่ากินอิ่มได้อย่างไร ก็ต้องสร้างหาอาหารขึ้นมาถึงจะได้กินใช่ไหม วันนี้เรากินไปแล้ว มื้อนี้เป็นอันว่าจบกัน มื้อนี้เข้าใจแล้ว ความสัจจะความจริงในใจนี้สมบูรณ์ สมบูรณ์แล้วทำไมไม่ผ่านพ้นไปให้ถึงที่สิ้นสุด มันทำไมยังมาติดอยู่นั่น ทำไมพระอานนท์ติดอยู่

พระพุทธเจ้าบอกว่า “อานนท์ เธออย่ากังวลไปเลย” อุปัฏฐากพระพุทธเจ้าอยู่ ๒๕ ปี เป็นพระโสดาบันอยู่ ไม่ก้าวเดินออกไป เพราะว่าพอผ่านออกไปแล้วถึงจะก้าวเดินเข้าไปใหม่ นี่พระโสดาบันไง ผู้ที่แยกกายโดยสัจจะความจริงนี้เป็นพระโสดาบัน พระโสดาบันนี้ไม่ติดในกายนี้ กายนี้กับใจนี้ไม่ข้องเกี่ยวกันโดยความจริงของอริยสัจอันที่อยู่ในหัวใจดวงนั้นเอง

แต่ในการจะก้าวเดินต่อไป คือทำสมาธิขึ้นมา ต้องกลับไปทำความสงบอีก ทำความสงบนี้อย่าสงสัย บางทีว่าทำความสงบแล้ว มันมีความสงบอยู่นี้ ทำไมเราสงสัยว่าต้องทำความสงบอันนี้อีก ทำไมต้องทำอีกเหรอ? นี่เป็นสัมมาสมาธิ มันเป็นพลังงานที่ต้องสร้างขึ้นตลอด ต้องมีตลอดไป เพราะกิเลสอยู่ในหัวใจ เพราะกิเลสส่วนใหญ่ กิเลสส่วนย่อยเราได้ทำลายลงแล้ว แต่กิเลสส่วนใหญ่อยู่ในหัวใจ

ความปลิ้นปล้อนของมัน มันจะคล่องตัวเหมือนกัน เราว่าเราฉลาดขึ้นเพราะเราผ่านงานมาแล้วเราจะเข้าใจ ความเข้าใจของเราเป็นเข้าใจของเรา เด็กๆ หลอกกันมันก็เป็นเด็กๆ หลอกกัน ผู้ใหญ่หลอกกันมันก็เป็นผู้ใหญ่หลอกกัน ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เขาจะหลอกกัน ผู้เฒ่าผู้แก่นี้เขามีประสบการณ์มามาก เขามีประสบการณ์ กิริยาท่าทางเขาจะสมจริงสมจังมาก กิเลสในหัวใจของเราก็เหมือนกัน จากที่เราชนะขึ้นมานั้นมันเป็นการชนะแค่หลานของกิเลสเท่านั้นเอง ลูกของกิเลสล่ะ แล้วตัวพ่อล่ะ แล้วตัวเจ้าวัฏจักรล่ะ

เวลาพูดถึงกิเลส พูดถึงความคิดนี่มันน่าเบื่อ ว่าทำไมต้องพูดถึงกิเลสบ่อยๆ กิเลสแล้วกิเลสเล่าอยู่อย่างนี้ เพราะกิเลสนี้เราพูดขนาดไหนมันเวลาเห็นข้างนอกนี้มันเข้าใจ ทุกดวงใจนี้ทุกดวงใจ ธรรมชาติของจิตนี้ส่งออก ความส่งออกรู้แต่เรื่องข้างนอก เรื่องที่ตาเห็น เรื่องที่ใจกระทบนี้รู้ไปหมด รู้แต่เรื่องข้างนอก

แต่อวิชชานี้มันอยู่หลังความรู้ มันอยู่หลังความคิด เราไม่เคยเห็นมัน เราถึงว่ามันเป็นกิเลสๆ เพราะผู้ที่ผ่านพ้น ครูบาอาจารย์เป็นคนชี้นำ พระพุทธเจ้าบอก “นี่คือกิเลสๆ” กิเลสมันแฝงมา มันแฝงมาในความคิด ความส่งออกออกไปโดยธรรมชาติที่ส่งออกอยู่นี่ แล้วมันย่นระยะสั้นเข้าๆ ความสั้นเข้าของสายดำเนิน สายที่ดำเนินออกไป ความสั้นเข้ามันจะเร็วขึ้นๆ ความเร็วขึ้นทำให้เราไม่ทัน

ความคิดที่ว่า สิ่งนั้นก็ดี สิ่งนี้ก็ดี สิ่งนั้นควรจะเป็นอย่างไร นี่เราไม่ทัน เราถึงต้องทำความสงบเข้ามาให้ละเอียดเข้าไปอีกๆ ละเอียดเข้าไปแล้ว ดูกายใน “กาย เวทนา จิต ธรรม” ดูกายใน แต่การจะดูกายในนี้ต้องขุดคุ้ย การงานปฏิบัติ สมถกรรมฐาน-วิปัสสนากรรมฐานนี้เป็นส่วนหนึ่ง การชำระกิเลสก็เหมือนกัน

การชำระกิเลส การหากิเลส การที่ว่าวุฒิภาวะของใจที่ว่า การทำความสงบอย่างหนึ่ง กับการเห็นไดโนเสาร์ เห็นตัวอวิชชา เห็นตัวภูเขานั้นส่วนหนึ่ง อันนี้ก็เหมือนกัน ทุกขึ้นทุกตอนไป ความเห็น ความเห็นคือการขุดคุ้ยการหาจำเลย ถ้าการหาจำเลยนั้นคือการตั้งขึ้นมาเป็นวิปัสสนา การหาจำเลยหรือหาตัวกิเลสได้ หาตัวภูเขาได้ ก้าวเดินไปจับต้องถึง กาย เวทนา จิต ธรรมด้วยสัจจะความจริง ถ้าเป็นการคาดการหมายนั้นมันจะเป็นการคาดการหมาย การด้นการเดา

ธรรมะด้นธรรมะเดานั้นก็ได้ผลแบบธรรมะด้นธรรมะเดา ความด้นเดามันก็แปรสภาพโดยธรรมดาอยู่แล้ว สิ่งที่เป็นอุปาทานเป็นความยึดมั่นถือมั่นนี้เป็นกิเลสอยู่ในหัวใจเต็มๆ อยู่แล้ว แล้วเรายังจะไปเอาสิ่งที่คาดที่หมายนี้ มันก็ไปเข้าทางกับกิเลส นี่การต่อสู้กับกิเลส แล้วเราก็เดินเข้าทางกิเลสกันตลอด แล้วพอพูดถึงเรื่องกิเลสทำไมบอกว่ามันน่าเบื่อหน่ายที่พูดถึงกิเลส พูดถึงกิเลส

พูดถึงกิเลสคือความคิดชี้นำอย่างหนึ่งที่มันออกมาจากใจเรานั่นน่ะ มันเป็นความคิดผิด มันเป็นความคิดให้คลาดเคลื่อน ความคลาดเคลื่อน ความเร็วของใจแล้วสัจจะความจริงของใจนี้มันจะละเอียดอ่อน ความละเอียดอ่อนเข้าไปๆ ความพอดี ความมรรครวมตัว อันนั้นเป็นธรรม แต่กว่าจะพอดีมันต้องหมุนไปตลอด มรรคต้องหมุนออกไป มรรคต้องหมุนออกไป

ความที่มรรคจะหมุนออกไป เพราะเราใคร่ครวญ เราค้นขว้าออกไป ความค้นคว้า มันหมุนอยู่บ่อย ความหมุนบ่อยหมุนไปเรื่อยๆ นี่ความพอดีของมันจะเกิดขึ้น ความพอดีของธรรม ในมงคล ๓๘ ประการ “ตโป จ” “พฺรหฺมจริยญฺจ” ตบะธรรม ตบะธรรมที่แผดเผากิเลสตลอดไป “ตโป จ” “พฺรหฺมจริยญฺจ” ตบะของธรรม ตบะของความคิดของเรา ตบะของสัมมาสมาธิที่มันมีความสุขอยู่นี้มันเป็นตบะธรรม

ความตบะธรรมอันนี้มันจะเคลื่อน ความเคลื่อน เคลื่อนออกไปพร้อมกับปัญญา พร้อมกับสติสัมปะชัญญะ เคลื่อนไปในอะไร นี่ไง ถึงว่าต้องเคลื่อนไปในสิ่งที่เราหาสิ่งที่เป็นจำเลย สิ่งที่เราไม่รู้ สิ่งที่เกาะเกี่ยวอยู่กับใจ กายกับใจภายใน เราทิ้งกายนอก แล้วกายในที่มันเกาะเกี่ยวกันอยู่ ความเกาะเกี่ยวอยู่ข้างในมันมีอยู่ ความเกาะเกี่ยว เกาะเกี่ยวเพราะอะไร เกาะเกี่ยวเพราะไม่รู้ ความไม่รู้นั้นมันไม่รู้เพราะเราไม่เคยเข้าไปถึงจุดนั้น สิ่งที่เป็นจุดนั้นมันอยู่ลึกกว่าความคิด ความคิดนี้เป็นอาการของขันธ์ แต่อวิชชามันอยู่ใต้ความคิด ความที่เราไม่เข้าไปถึงจุดที่อวิชชานั้น เหมือนกับเราล้างสิ่งสกปรก น้ำนั้นไม่เคยซึมเข้าไปถึงตรงที่สิ่งสกปรกนั้น มันจะเข้าไปชำระล้างได้อย่างไร ความชำระล้างไม่ได้อันนั้นน่ะ

สิ่งที่สกปรกนั้นมันเข้าไม่ถึง ความเข้าไม่ถึงอันนี้ มันถึงว่ามันยังไม่ถึงตัวภูเขาภูเรา ถึงจุดของความสุดขีดตัวนั้นไง นั่นน่ะ มรรคมันถึงต้องเวียนไปๆๆ เวียนเข้าไปๆๆ ธรรมจักรถึงจะเคลื่อน ธรรมจักรไง ธรรมจักรเคลื่อนไปปัญญาก็เกิดขึ้น สิ่งที่ไม่รู้คืออวิชชา สิ่งที่รู้คือวิชชา วิชชาจะเกิดขึ้นจากการใคร่ครวญ การไตร่ตรอง การใคร่ครวญ ไม่เกิดขึ้นลอยๆ ปัญญาไม่เคยลอยมา ปัญญาลอยมานี้มันมาจากไหน ปัญญาลอยมานั้น นั่นน่ะ จำไว้เลย นั่นน่ะกิเลส

สิ่งที่ลอยมามันไม่มีเหตุมีผล มันลอยมาจากไหน ความรู้ของเราที่รู้ขึ้นมาๆ เราว่ามันเป็นปัญญา มันจะรู้มาจากไหน นั่นล่ะคือตัวอวิชชาเลยล่ะ แล้วเราก็เชื่อสิ่งนั้นๆ ความเชื่อสิ่งนั้นมันเป็นภายใน สิ่งที่เป็นภายในก็เชื่อไปๆ สิ่งที่เป็นภายในเป็นเรา นี่ตัวตน มานะ ๙ รูปราคา อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา เห็นไหม มานะ ๙

ความเป็นมานะทิฏฐิเกิดขึ้นจากความไม่รู้ ถึงทั้งๆ ที่ว่านะ ถ้าเราเสมอเขา สำคัญตนว่าเสมอเขา เราเสมอเขา สำคัญตน ความสำคัญตนนั้น นี่ตัวอวิชชา ความสำคัญตน ก็ตัวไม่รู้ เพราะไม่รู้ถึงสำคัญ ความสำคัญนั้นไม่ใช่ความจริง นี่มานะ ๙

มานะ ๙ อยู่ที่ไหน มานะ ๙ เราก็ไม่เห็น ไม่เห็นหรอก เราว่าเราเป็นเราคิด เราประเสริฐสุด มานะ ๙ ความเป็นมานะทิฏฐิ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ความเป็นทิฏฐิที่ผิด พอทิฏฐิที่ผิดมันก็เข้ากัน แล้วมันก็ลอยลมมาๆ ความคิดที่เกิดขึ้นเองๆ แต่ความคิดจากปัญญานี้มันไม่เกิดขึ้นเองหรอก มันต้องพยายามค้นคว้า ต้องพยายามกันเต็มที่ ความพยายามนี่เอาชีวิตเข้าแลก ไม่ใช่พยายามธรรมดานะ เอาชีวิตนี้เข้าแลกกันเลยนะ ฟากตาย

เวลาประพฤติปฏิบัติไป เดี๋ยวจะเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวจะเป็นอย่างนี้ มันเร่าร้อนว่าตัวเองจะวิกลวิการร่างกายนี้ นี่มันฟากตาย ฟากตายตรงนั้น เวลาทำความเพียร

๑. จะชนะมัน จะชนะกิเลส

๒. ทรงตัวเองไม่ได้ ถ้าเราทรงตัวเองไม่ได้นะ ถึงว่าทรงตัวเองไม่ได้ เราก็ยังมีปัญญาไปข้างหน้า มันล้มหมดเลย ความคิดล้มออกมา ถึงบอกเข้าไปอยู่ที่ฟากตายไง

ฟากของความตาย ความตายอยู่ไหน ถ้าอยู่ตรงเฉพาะหน้า สู้กับความตาย ความสู้กับความตาย กิเลสนี้กลัวความตาย พอถึงว่าสุดท้ายขึ้นมาต้องตาย ต้องตายไปพร้อมกัน แต่มันก็มีนะ ถ้ากิเลสบังเงา ชักให้ตาย ถึงว่าถ้าทำไปแล้วกิเลสมันต้องตาย มันถึงบอกว่า ถ้าเราตายไป กิเลสมันยังมีที่อยู่...มีอยู่ กิเลสบังเงา

คำว่า “กิเลสบังเงา” หมายถึงว่าเราประพฤติปฏิบัติเข้าไป มันจะดึงไปในทางที่อุกฤษฏ์ ความที่อุกฤษฏ์ แต่น้อยองค์ที่จะเป็นนะ นี้พูดถึงว่ากิเลสชนิดนี้ก็มีอยู่ กิเลสเป็นชนิดๆ ขึ้นไป มันยอกย้อนหลอกลวงอยู่ในหัวใจนั่นล่ะ ถึงว่ามันเป็นภูเขาภูเราที่เราจะทำลายได้ไหม วิปัสสนาขึ้นไป วิปัสสนาเข้าไป ผ่านเข้าไปกายนอก ผ่านเข้าไปกายในนี้แยกออก กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ผ่านเข้านะ

พอผ่านเข้าไป สังโยชน์เบาบางไปเฉยๆ ผ่านขั้นตอนเข้าไป ยกขึ้นวิปัสสนา ทำสัมมาสมาธิ มรรค ๔ ผล ๔ เข้าไปตลอด ต้องเป็นมรรค ๔ ผล ๔ ขึ้นไป จนเข้าไปถึงกายใน พอกายในอันนี้เป็นอสุภะ-อสุภัง เป็นตัวอสุภะ-อสุภังจะข้ามโอฆะ การข้ามโอฆะนี้ผ่านพ้นไป ความจะผ่านพ้นไปนี้ คิดดูสิ เราวิปัสสนาสักกายทิฏฐิเราก็ยังต้องทุ่มกันทั้งชีวิตจิตใจขนาดนั้น แล้วเวลาเข้าไปถึงกามราคะ

กามราคะคือกายใน การจะทิ้งกาย กายจริงๆ กายที่ว่าขันธ์กับกายมันผูกกันเป็นอสุภะ อสุภัง วิปัสสนาขึ้นไปพร้อมกับการทำสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ๑ พร้อมกับการขุดคุ้ยการค้นหากามราคะ ไอ้ตัวกามราคะ ไอ้ตัวจำเลย ไอ้ตัวที่จะมาไต่สวนกันนี่ ถ้าตัวไต่สวนไม่มีขึ้นมานี้มันไม่เป็นวิปัสสนา มันจะเป็นวิปัสสนาไปไม่ได้เลย มันเดินย่ำตามรอยร่มเงา แล้วก้มสยบให้กับกิเลสทั้งหมด

ความที่ว่าเราประพฤติปฏิบัติอยู่ว่าเป็นธรรมๆ อยู่นี้ เป็นการบูชากิเลสล้วนๆ เลย เราประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วเราก็บูชากิเลส บูชากิเลสแล้วมันจะทำลายภูเขานั้นได้อย่างไร แต่ถ้าเราวิปัสสนาของเรา เราใคร่ครวญของเราแล้วจับต้องขึ้นมาได้ จับต้อง ความจับต้องอันนี้มันจะละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ ผู้ที่จับต้องได้นะ ผู้ที่หากิเลสได้เหมือนกับพนักงานเจ้าหน้าที่เขาหาผู้ผิดได้ มันจะได้ความดีความชอบ ความดีความชอบนั้นมันจะขยับฐานะของใจขึ้นเป็นชั้นเป็นภูมิขึ้นไป

ต่างกัน ต่างกับความสงบของขั้นภูมิเด็ดขาด ความสงบเป็นการก้าวเดินหาธรรมาวุธนั้นเป็นส่วนหนึ่ง ส่วนนี้ต้องหาโดยธรรมชาติอยู่แล้ว เพราะเป็นการก้าวเดิน ๒ เท้า การก้าวเดินเป็น๒ เท้า ทุกอย่างเป็น ๒ เท้า ธรรมชาติของคนเราก็ ๒ เท้า การก้าวเดินวิปัสสนากรรมฐาน สมถกรรมฐาน-วิปัสสนากรรมฐานอย่างหนึ่ง การขุดคุ้ยหากิเลส กับการวิปัสสนากิเลส นี่การก้าวเดินไปต่างกันๆ

ความเห็นของใจจะเจริญจะพัฒนาขึ้นไป ความพัฒนาขึ้นไป การเห็นพัฒนาขึ้นไปแล้ววิปัสสนา วิปัสสนาจนขาดออกไป จนขาดนะ ทำไปๆ ทำไปด้วยการใคร่ครวญตลอด การใคร่ครวญความละเอียดเข้าไป เพราะถึงช่วงนี้แล้วจะเป็นมหาสติ-มหาปัญญา จากสติปัญญาเป็นมหาสติ-มหาปัญญา มหาสติ-มหาปัญญามันจะละเอียดอ่อนเข้าไป เพราะจิตกับอวิชชานี้มันใกล้ตัวกันเต็มทีแล้ว วิปัสนนาเข้าไป ผ่านเข้าไป ผ่านคือการทำลายหมด โลกธาตุนี้ไหวหมดออกไป ขึ้นไปนี่ นั้นคือตัว “ภูเขา ภูเรา” คือตัวภูของอวิชชาทั้งหมด ภูเขากิเลสอยู่ที่จุดตรงนั้น คือตอ คือการคร่อมอยู่ นี่จุดกระแสออกมาคือภวาสวะ คือตัวภพอยู่ตรงนั้น

จะทำลายภูเขามันก็ต้องเข้าไปถึงจุดนั้น ถึงจุดนั้น นี่ความว่างของ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ฟังสิ สังโยชน์เบื้องบน รูปราคะ อรูปราคะ ความที่เป็นรูป เป็นความว่างก็เป็นราคะ ความเป็นอรูปราคะ ความเป็นอากาศ เป็นอากาสานัญจายตนะ เป็นอากาศ เป็นความว่าง รูปฌาน-อรูปฌานเป็นสิ่งที่ติดข้องไปหมดเลย

รูปฌาน-อรูปฌานคือตัวมันไง เพราะคำว่า “รูปฌาน” ก็คือตัวตอ ตัวตอคือตัวภวาสวะ คือตัวภูเขา ตัวภูเขาคือตัวเริ่มต้น ตัวเริ่มต้นคือตัวที่ว่าแล้วจะเห็นอย่างไร ตนเห็นตน ทำอย่างไรให้ตนเห็นตน “ตนเห็นตน” ตัวอวิชชาเป็นสิ่งที่สุดท้ายอยู่ แล้วสิ่งที่จะขึ้นไปเห็น นี่ไม่มีสิ่งใดจะเป็นไปได้เลยถ้าไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ประกาศธัมมจักฯ ไว้แล้วใครจะก้าวเดินขึ้นมาถึงจุดนี้ได้ เป็นพยานกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานธรรมไว้ เทวดา อินทร์ พรหมนี้สรรเสริญสาธุการไปทั้งหมดเลย แล้วเราเป็นมนุษย์เกิดขึ้นมาพบพุทธศาสนา เป็นผู้ก้าวเดินตามธรรมอันนี้ ตามธรรมที่เราจะก้าวเดินขึ้นไป แล้วก้าวเดินขึ้นมาจนถึงนี้เพราะมีหลักวิชาอันนี้

ถ้าไม่รู้ๆ พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ครูบาอาจารย์รู้ได้อย่างไร ความจะรู้ได้ก็ต้องเพราะมีสิ่งที่ชี้นำอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าชี้นำ ทางอันเอกอยู่นั้น นี้คือตัวภูเขา ถ้าหันกลับมา ตนรู้ตน ตัวอวิชชารู้ตัวอวิชชา ตัวภูเขาจับต้องตัวภูเขา ตัวจิตกับภูเขาเป็นเนื้อเดียวกัน นี่ปัญญาญาณ จากมหาสติ-มหาปัญญา กลายเป็นปัญญาญาณ เป็นสติอัตโนมัติ เป็นการหมุนไปเคลื่อนไปพร้อมกัน เป็นจุดหนึ่งที่หมุนไปทำลายกัน จนทำลายกัน เพราะเห็นนั้นมหัศจรรย์สุดๆ มหัศจรรย์

เพราะเหนือโลก เหนือสงสาร แม้แต่เทวดา อินทร์ พรหมก็ไม่เคยเห็น ไม่มีใครเคยเห็นสิ่งๆ นี้ สิ่งๆ นี้มนุษย์ผู้นั้น ผู้ปฏิบัติผู้นั้น พระองค์นั้น ผู้ปฏิบัติคนนั้น ชีพราหมณ์องค์ไหนที่ปฏิบัติอยู่ จิตดวงนั้นถึงตรงนั้น พอถึงตรงนั้นเข้าจับต้องได้ หันกลับเข้าไป ต้องระเบิดทำลายหมด สังโยชน์เบื้องบน รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา คือตัวภูเขาภูเราโดนทำลายทั้งหมด

ความทำลายภูเขาของกิเลส ดวงใจดวงนั้นต้องหลุดพ้นออกไปจากอำนาจของกิเลส “ภูเขาของกิเลส” แม้แต่เงา ร่มเงาของภูเขานั้น ตัวที่หลอกลวงเราเราก็ก้าวเดินเข้าไป จนทำลายถึงตัวภูเขาภูเราจริงๆ ตัวทำลายภูเขาภูเราจริงๆ เพราะอะไร เพราะมันเป็นปัจจัตตัง มันรู้จำเพาะตน มันเป็นสิ่งที่เอโกธัมโม ธรรมอันเอกนั้นไม่ต้องไปถามใคร มันเป็นปัจจัตตัง มันระเบิดอยู่ท่ามกลางหัวใจ โลกธาตุหวั่นไหว เทวดาสาธุการเหมือนกับธัมมจักฯ เหมือนกัน

ธัมมจักฯ นี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ประกาศไว้ ธรรมในหัวใจผู้ที่ปฏิบัตินั้นเป็นที่หัวใจผู้ปฏิบัตินั้นกังวานขึ้นมาในหัวใจนั้นก่อน หัวใจนี้ได้ผ่านมาใน ๓ โลกธาตุนี้ ๓ โลกธาตุนี้หัวใจเคยไปเกิดทั้งหมด เพราะเคยไปเกิดทั้งหมดก็ทำลายหัวใจดวงนั้น เท่ากับทำลายวัฏวนทั้งหมด ทำลายวัฏจักรทั้งหมดจากหัวใจดวงนั้น หัวใจดวงนั้นเป็นอิสระ เป็นการประกาศธรรมโดยหัวใจดวงนั้น เป็นสัจจะความจริงท่ามกลางหัวใจดวงนั้น เอวัง

เพิ่มเติมท้ายกัณฑ์

ถ้าประเด็นหนึ่งเวลามันเจ็บขึ้นมานี่ ถ้าเรากำลังไม่พอ เราต้องหลบเอาก่อน หลบหมายถึง พุทโธๆๆ เรียกว่าหลบ ถ้าเวลาเจ็บขึ้นมานี่เราหลบ พุทโธๆๆๆ พุทโธนี้พอจิตเป็นพุทโธมันจะถอนกลับมาที่พุทโธ พอถอนกลับมาที่พุทโธนี่มันก็จะเบาแล้ว ถ้ามันถอนได้หมดนะ แต่ส่วนใหญ่มันถอนไม่หมด สมมุติเราพุทโธๆ นี่ มันก็พุทโธด้วยแล้วก็เจ็บด้วย เพราะสติเราไม่พอ ถ้าสติเราพอมันจะดึงมาที่พุทโธ อันนี้เป็นนักหลบ ใหม่ๆ ต้องเป็นอย่างนี้ก่อนเพื่อหลบกัน

แต่ถ้าความจริงแล้วมันต้องต่อสู้ ถ้ากำลังเราพอนะ ความจริงต้องต่อสู้ เวทนาเกิด สู้เลย ใหม่ๆ ทนเอา เจ็บปวดมากแต่เดิม เจ็บขนาดไหนก็ทนเอาๆ พอทนเอานี่ แล้วทนเอาเฉยๆ นะไม่ใช้ปัญญา มันจะหายไปโดยธรรมชาติของมัน ถึงจุดหนึ่งนะเวทนานี้มันต้องหาย

แต่ถ้าเราใช้ปัญญานะ ทีนี้ใช้ปัญญานี่ คิดดูคนอยู่ท่ามกลางไฟ พอท่ามกลางกองไฟมันร้อน เราจะทำอะไรในท่ามกลางกองไฟ เวลาเวทนามันเกิด เหมือนกับอยู่กองไฟ มันร้อน เจ็บมาก แล้วปัญญาอันไหนมันจะมาแยกอีกว่า อันไหนเป็นเวทนา อันไหนเป็นกระดูก อันไหนเป็นอะไร มันต้องแยกตรงนี้ไงว่าอะไรเป็นเวทนา กระดูกเป็นเวทนา เนื้อหนังมังสา เส้นเอ็นเป็นเวทนา ถ้ามันเป็นเวทนานี่มันต้องอยู่กับเราพร้อม ถ้าเราเปลี่ยนอิริยาบทอันนั้นมันก็ต้องไปกับเราตลอดสิ

พอเราเปลี่ยนอิริยาบท เวทนามันหาย นี่มันไม่ได้เป็นที่กระดูก ที่เอ็น ที่เนื้อหนังมังสานี่ มันเป็นที่เรายึด เพราะจิตมันยึดมันถึงเป็น ถ้าจิตไม่ยึด พอจิตไม่ยึดพอจิตมันปล่อยๆ มันก็เป็นอย่างเก่านั่นน่ะ ทำไมมันซ่า มันปล่อย มันหายไป นี่เวทนา สัจจะความจริงมันเป็นแบบนี้ สัจจะความจริง ธรรมเป็นแบบนี้

แต่ถ้าเป็นเราคิดกันไป มันก็ต้องอย่างที่ว่ามันแก้ง่ายๆ ถ้าเรานั่งนาน เราลุกมันก็หายซะ ใช่ไหม เราเคยทำกันแบบนั้น เราเลยมาติดตรงนี้ไง ติดที่ว่าถ้าเวลามันปวดก็พลิกซะ มันก็หาย นี่มันมีตรงนี้เป็นช่องออก ถ้าเราเป็นคนจริงนะ เราจะบอกเลย “ถ้านั่งท่าไหนเราจะไม่ลุก” ไม่ยอมพลิก ตายเป็นตาย เหงื่อนี่จะแตกพลั่กเลย แต่มันจะผ่านได้ พอมันผ่านได้หนสองหนเท่านั้นน่ะ มันจะบอกว่า อ๋อ! มันเป็นความอ่อนแอ

ก็อย่างที่ว่าเมื่อกี้นี่แหละ ที่ว่าแหวกจอกแหนเหมือนกัน ถ้าเราไปเห็นน้ำเข้า เราจะมั่นใจของเราเอง ถ้าเวทนาเราหายสักครั้งสองครั้งเราจะมั่นใจของเราเอง เพราะเวทนาเราเกิดขึ้นแล้วเวทนาเราหายเอง มันมี ๒ วิธี แต่วิธีแรกที่ว่าเมื่อกี้นี่ ถ้าใหม่ๆ นะ น่าสงสาร พุทโธๆๆๆๆ หลบเอาไง ถ้าพุทโธๆ นี่ จิตนี่ ธรรมชาติของจิตนะ ฟังนะ ธรรมชาติของจิตมันจะรับรู้อารมณ์เดียว แต่เพราะว่า...(เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)