เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๓o ม.ค. ๒๕๕๓

 

เทศน์เช้า วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้วันพระ วันโกน ชาวพุทธแสวงหาบุญกุศล เวลาชีวิตเรามันเดือดร้อนนัก ชีวิตนี้เดือดร้อนนัก ความเดือดร้อนของเรา เห็นไหม เราก็ต้องหาที่พึ่งพาอาศัย เวลาคนเขาร้อนกัน เขาก็หาที่ร่มเพื่อความร่มเย็น ชีวิตของเราเวลามันเดือดร้อน เราเป็นแผลเจ็บไข้ได้ป่วยเขาก็มียารักษา เวลาหัวใจมันเดือดร้อนมันอยู่กลางหัวอก มันจะคันมันจะเกา เราจะรักษามันอย่างไร ถ้ารักษาอย่างไรแล้วเราไม่มีการถ่ายเท เห็นไหม สิ่งที่ถ่ายเทความตระหนี่ถี่เหนียว ความตระหนี่ถี่เหนียวนี้มันถี่เหนียวในอะไร มันถี่เหนียวในอารมณ์ความรู้สึก เวลาเรามีอารมณ์ความรู้สึก เรามีสิ่งใดในหัวใจ เราก็เอาสิ่งนั้นเป็นความคิดความถูกต้องของเรา เราสงวนรักษามันไว้เอง ทั้งๆ ที่มันเป็นพิษ สิ่งที่เป็นพิษ สิ่งที่เป็นของไม่ดีนี้เรายังจะสลัดทิ้ง แต่อารมณ์ความรู้สึกที่มันขุ่นข้องหมองใจ เราก็สลัดทิ้งมันไม่ได้ สิ่งที่เราจะสลัดทิ้งมัน เราถึงต้องมาทำกันอย่างนี้ การทำอย่างนี้คือการเสียสละทาน เราทำต่างๆ นี้มันเป็นการฝึกใจ

การฝึกใจเห็นไหม สิ่งที่ฝึกใจคือศาสนา ถ้ามนุษย์ไม่มีศาสนา เดี๋ยวนี้คนรุ่นใหม่ไม่นับถือศาสนาใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าเวลาพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้ว สิ่งใดก็เป็นความไม่น่าเชื่อถือไปทั้งหมด แต่พุทธศาสนา เราบอกว่าเราเป็นชาวพุทธ พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา แล้วปัญญาของใคร วุฒิภาวะของใคร ปัญญาของศาสนา มันต้องมีการเสียสละทาน เราสอนลูกเราเวลาลูกมีความผิดพลาดต่างๆ เราสอนโดยตรงไม่ได้ เราจะสอนเป็นตัวอย่าง เอาตัวอย่างเอาสิ่งต่างๆ เอาบุคลาธิษฐานมาเป็นตัวอย่าง นี่ก็เหมือนกัน นี้คือเราสอนลูกเรา แต่ถ้าเราสอนตัวเราเอง ความประพฤติความเป็นอยู่ของเรานี้ เราก็ว่าเราถูกต้องทั้งนั้น ถ้าเราถูกต้องของเราแล้วเราจะเอาอะไรมาสอน ถ้าจะมาสอน มันถึงต้องมีสิ่งเปรียบเทียบ การเสียสละต่างๆ การกระทำต่างๆ

สิ่งที่ขุ่นข้องหมองใจนี้มันจะสละออกไปได้อย่างไร สละออกไปได้เพราะเรามีการฝึกฝนของเรามา เรามีสติสัมปชัญญะของเรามา มันจะเข้ามาถึงหัวใจของเรา สิ่งที่มันคับข้องหมองใจนี้ถ้ามันเสียสละออกไป เราจะโปร่งเราจะโล่งเราจะโถง ถ้าเราเสียสละไม่ได้ การเสียสละไม่ได้เพราะอะไร เพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันหลอกเราอีกชั้นหนึ่ง มันหลอกว่าสิ่งนั้นเป็นคุณงามความดี สิ่งนั้นเป็นความเห็นของเรา

ในลัทธิศาสนาต่างๆ เขามีสงครามศาสนา มีสงครามศาสนาเพราะความเห็นต่างของเขา พุทธศาสนาไม่เคยมีการเกิดสงครามศาสนา แต่มันมีการฉ้อฉล มีการฉ้อฉลเพราะอะไร เพราะเราเป็นฆราวาส เราเป็นโยม เราทำบุญกุศลมามหาศาล เราจะรู้ของเรา เพราะพระเรานี้ทำให้เราไม่น่าเชื่อถือ ถ้าไม่เชื่อถือขึ้นมา ศรัทธาความเชื่อของเรามันก็คลอนแคลน พอศรัทธาความเชื่อของเราคลอนแคลน เราจะทำสิ่งใดมันก็ลังเลสงสัย มันลังเลสงสัยตั้งแต่เริ่มต้น เราไม่แน่ใจเลยว่าเราจะทำอย่างไร เราจะทำได้อย่างใด ถ้าเราทำไม่ได้เพราะเราไม่แน่ใจของเราใช่ไหม เพราะสิ่งนั้นมันไม่น่าเชื่อถือ เพราะอะไร เพราะวุฒิภาวะของคน ความเห็นของเราก็หลากหลาย

ดูสิพระของเราเวลาบวชเป็นสามเณรน้อย บวชพระใหม่นี้นิสัยของคฤหัสถ์มันยังเต็มตัว นิสัยของพระ ข้อวัตรปฏิบัติมันจะกลายเป็นนิสัย

ครูบาอาจารย์ท่านจะบอกว่า ดีทั้งนอกดีทั้งใน นอกคือข้อวัตรปฏิบัติ นอกคือสิ่งที่เป็นขนบธรรมเนียมประเพณี ในคือความเห็นของเรานี้ไง ดีทั้งนอกดีทั้งใน นอกมันดีเห็นกริยานุ่มนวล เห็นกริยาน่าเชื่อถือศรัทธา แต่ในล่ะ ในมันเป็นอย่างไร ในมันเน่าในไหม นี้มันดีนอกแต่เน่าใน ถ้าในมันดี ครูบาอาจารย์เรานี้มีมาก คือถ้าในดี คือว่าหัวใจมันรู้ถึงกิเลสตัณหาทะยานอยากของคน เพราะอะไร เพราะครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติก็มีกิเลสตัณหาทะยานอยากมาเหมือนกัน สิ่งที่มีกิเลสตัณหาทะยานอยากแล้วกว่าเราจะเผชิญหน้ากับมัน แต่ละชั้นแต่ละตอน ที่เราจะเข้าไปเผชิญหน้ากับมัน แก้ไขมันนี้มันยากลำบากแค่ไหน มันจะหลอกลวงเราแค่ไหน ฉะนั้นพอเห็นญาติโยมผู้ที่ประพฤติปฏิบัติใหม่ ท่านจะรู้เลยว่า ผู้เริ่มปฏิบัติใหม่มันจะมีความรู้สึกอย่างนี้ มันจะมีความเห็นอย่างนี้

พอมีความเห็นอย่างนี้ พูดถึงแล้วมันเหมือนเด็ก พูดอะไรไปนี้ พ่อแม่สอนลูก ลูกจะเถียงทุกคำว่ามันถูกทั้งนั้น เราจะสอนใจเราใหม่ๆ นะ มันก็ว่ามันถูกทั้งนั้น “พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้” มันไม่วางไว้ก่อน มันไม่วางสิ่งที่เรารู้เราเห็น พระพุทธเจ้าสอนว่า เหมือนเงินผู้ที่หาเงินมาได้ พ่อแม่หาเงินมาได้แสนยากลำบาก ควรใช้ด้วยความประหยัดมัธยัสถ์ เวลาเด็กมันขอตังค์มันแบมือขอ มันใช้จ่ายด้วยความฟุ่มเฟือย เพราะมันได้มาโดยง่าย นี่ก็เหมือนกัน ธรรมะของพระพุทธเจ้า ถึงเวลาก็หยิบฉวยเอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาเป็นของเรา มันไม่เป็นจริงหรอก

ศีล สมาธิ ปัญญา สติปัญญาที่มันเกิดขึ้นมาจากเรา มันต้องมีถนอมรักษา ปริยัติ-ปฏิบัติ พอปฏิบัติมันต้องเข้าเผชิญกับความจริงอย่างนี้ ปริยัติเหมือนเราแบมือขอเอาเลย ธรรมะของพระพุทธเจ้าใช่ไหม ศึกษาจากกระดาษก็ได้ เปิดตำราเท่าไหร่ก็ได้ รู้ไปหมด เหมือนแบมือขอ แบมือขอนี้มันก็จะใช้จ่ายด้วยความฟุ่มเฟือยเพราะได้มาง่าย ลองไปอาบเหงื่อต่างน้ำได้มาสักบาทได้มาสักสลึงสิ มันจะทุกข์ยากขนาดไหน เราต้องใช้ประหยัดมัธยัสถ์ของเรา

นี่ก็เหมือนกัน ดีในเพราะในนี้มีกิเลสตัณหาทะยานอยากมันขัดขวางตลอดเวลา เราจะแก้ไขของเราอย่างไร เห็นไหมประเพณีวัฒนธรรม มันทำโดย ประสาเราว่าเด็กๆมันไม่มีเหตุผล ดูสิเด็กมาวัด มันสนุกครึกครื้นของมัน

แล้วนี่คบบัณฑิต เพราะอะไร เพราะเราเป็นผู้เสียสละ พวกเรามีจิตใจกว้างขวาง เราเห็นเด็กน้อยเราก็มีความเมตตาทั้งนั้น มันมาวัดแล้วมันปลอดภัยไง อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา ไม่คบคนพาล พาลจากข้างนอกพาลจากข้างใน พาลจากข้างนอกคือคนพาลที่ทำลายเขา คนพาลพาลจากหัวใจที่มันเอารัดเอาเปรียบ ทีนี้คบบัณฑิต บัณฑิตจากข้างนอกเขาเสียสละเจือจานกัน บัณฑิตในหัวใจเราเจอเด็ก เราก็มีความเมตตาต่อกัน เด็กมันอบอุ่น มันมาวัดมันปลอดภัยของมัน เราก็ดูแล

ประเพณีวัฒนธรรมมันเหมือนเด็กๆ ที่ไม่รู้ในสิ่งต่างๆ แต่ประเพณีวัฒนธรรมมันจะชักนำเราเข้ามา มันเป็นเปลือก ต้นไม้ถ้าไม่มีเปลือกต้นไม้มันอยู่ไม่ได้หรอก ต้นไม้ที่ไม่มีแก่นต้นไม้นั้นก็ไม่มีประโยชน์ใดๆ เลย ต้นไม้ไม่มีแก่นลมพัดมันก็หักโค่น ไม่มีประโยชน์ในสิ่งใดเลย ต้นไม้ที่จะมีประโยชน์คือต้นไม้ที่มีแก่น แล้วแก่นมันอยู่ตรงไหน

พ่อแม่ที่ดี พ่อแม่จะพาลูกไปในทางที่ถูกต้อง ครูบาอาจารย์ที่ดีจะพาลูกศิษย์ลูกหาไปสู่ความถูกต้องดีงาม ความถูกต้องดีงามจากข้างนอก ก็ต้องมีข้อวัตรปฏิบัติ ต้องมีกฎกติกา เราก็บอกว่ากติกามันเล็กน้อย เรามองข้ามกติกานี้ไปว่าไม่มีความจำเป็น มันมีความจำเป็นระดับหนึ่ง ระดับของกฎกติกานั้น แต่ความจำเป็นของกฎกติกานั้นคือถ้าเราผิดกฎกติกานั้น เราจะเข้าไปถึงความเป็นจริงในหัวใจเราไม่ได้เลย ถ้าเข้าไปถึงความเป็นจริงในหัวใจเราได้ เรานั่งเฉยๆ เรานั่งหลับตา กฎกติกามีไหม กฎกติกาเขามีไว้บังคับคนที่ฟุ้งซ่าน คนที่เขาทำความผิดพลาดใช่ไหม กฎกติกานี้เขาไม่บังคับคนที่เรียบร้อย คนที่จิตใจเป็นธรรมใช่ไหม แล้วจิตใจที่มันฟุ้งซ่านมันจะต้องใช้สิ่งใดมาบังคับมัน แล้วสิ่งใดที่ทำให้จิตมันเป็นสมาธิ มันเป็นขึ้นมาแล้ว มันมีความจำเป็น เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมาทั้งนั้น เราต้องไม่มองข้าม ครูบาอาจารย์ท่านไม่มองข้าม

หลวงตาท่านพูดประจำ หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านยังเก็บหอมรอมริบ สิ่งใดที่เป็นความผิดพลาด ท่านจะไม่ทำเลย ท่านจะทำเป็นตัวอย่าง เห็นไหม ครูบาอาจารย์ท่านก็บอกว่า “ก็ผู้เฒ่าแล้ว ก็ควรอยู่สุขสบายบ้าง”  ท่านบอกว่า “อยู่สุขสบายไม่ได้ตาดำๆ มันมองอยู่”  เพราะในสมัยหลวงปู่มั่น สมัยครูบาอาจารย์ของเรา การประพฤติปฏิบัติ มันยังไม่เข้มแข็งขึ้นมา มันมีแต่ภาคปริยัติ มันมีแต่การศึกษาขึ้นมา

ใครจะเชื่อใจใครได้ มนุษย์เชื่อมนุษย์ได้ไหม ทุกคนไม่เชื่อใจใครทั้งนั้น แล้วมาแสดงตัวกันอย่างนี้ ดูสิ มันน่าเชื่อถือได้ที่ไหน เพราะต้องทำความน่าเชื่อถือให้สังคม จะแก่เฒ่าขนาดไหน ท่านก็ยังไม่ยอมทั้งนั้น เพราะครูบาอาจารย์ท่านพูด แก่เฒ่าแล้วก็อยู่สุขสบายบ้าง ผ่อนปรนบ้าง ท่านบอก ไม่ได้ ไอ้ตาดำๆ มันมองอยู่ ไอ้ตาดำๆ คือพวกเรานี่ไง ไอ้พวกที่เราไม่เคยไว้ใจใครเลยนี่ไง ไม่ไว้ใจสิ่งใดเลย ครูบาอาจารย์ท่านต้องเป็นตัวอย่างของเรา ต้องทำให้เราเชื่อถือ ท่านก็เป็นชีวิตเป็นแบบอย่าง ชีวิตแบบอย่างต้องทำเป็นตัวอย่าง เพื่อความมั่นคงเพื่อความศรัทธาเพื่อความมั่นใจของเรา

จนมาถึงปัจจุบัน ตกทอดมาเป็นครูบาอาจารย์เป็นชั้นๆ มา เรามีความมั่นใจของเรา พอมีความมั่นใจว่าครูบาอาจารย์จะชี้นำเราได้ ครูบาอาจารย์จะชักนำเราขึ้นไปได้ จิตที่ต่ำกว่าหรือจิตที่เสมอกันจะดึงจิตดวงนั้นให้ขึ้นมาสูงกว่าไม่ได้ จิตที่สูงกว่ามันจะสูงขึ้นมาได้อย่างไร มันจะสูงขึ้นมาเพราะมันเห็นของมัน มันได้พัฒนาการของมัน มันเห็นพัฒนาการของจิตที่มันเปลี่ยนแปลงไป ความเปลี่ยนแปลงของจิต จิตถ้ามันยึดมั่นถือมั่นอารมณ์ของมันที่มันยึดมั่นของมันเป็นอย่างไร แล้วพอมันปล่อยวาง มันปล่อยวางเพราะเหตุใด ปล่อยวางแล้วมันอยู่ในสถานะใด สถานะที่สูงกว่า สูงกว่าเพราะเหตุใด อะไรรองรับความสูงกว่าอันนั้น จิตใจที่ต่ำกว่ามันต่ำกว่าอย่างไร จิตใจที่สูงกว่ามันสูงกว่าอย่างไร จิตใจที่ต่ำกว่ามันก็คลุกขี้ไง ขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง มันก็คลุกขี้ของมัน อารมณ์ความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นของมัน แล้วมันวางขี้แล้วใครเป็นคนไปวางล่ะ วางความขี้โลภขี้โกรธขี้หลงแล้วมันสูงกว่าขึ้นมา แล้วมันสูงกว่าขึ้นมาอย่างไร

มันต้องมีการกระทำ มีเหตุผลของมัน มันถึงจะปล่อยวางเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา นั่นคือครูบาอาจารย์ของเรา ครูบาอาจารย์ของเราท่านมีหลักมีเกณฑ์ของท่าน ท่านถึงมาสอนเราได้ ท่านถึงมาชักนำเราได้ ไม่ใช่ขี้สอนขี้ ไม่มีหลักเกณฑ์ใดๆ เลยไม่มีสิ่งใดเลยมันก็คลุกกันอยู่อย่างนั้น แล้วบอกว่า “สิ่งนั้นเป็นธรรม สิ่งนั้นเป็นธรรม” เป็นธรรมเพราะอะไร นี่ไงธรรมะของกิเลส

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้มาด้วยความทุกข์ยากลำบาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากว่าจะตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ต้องทุกข์ทรมาน ต้องต่อสู้กับกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ขนาดสร้างสมบารมีมาขนาดนั้น แล้วเวลาท่านปฏิบัติของท่าน ท่านเป็นคนวางธรรมและวินัยไว้ แล้วเราจะมาเอาแต่ความมักง่าย เอามาจากไหน นี่ไงในลัทธิต่างๆเขามีสงครามศาสนา ในพุทธศาสนาเราไม่มีสงครามศาสนา ไม่มีเพราะอะไร เพราะพระพุทธเจ้าสอนให้ฆ่าทิฏฐิมานะไม่ใช่ฆ่าคน ไม่ใช่ทำลายกัน พอไม่ทำลายกันเพราะว่ามันมีดีนอกดีใน มันพัฒนาการของมัน

มีคนพูดกับเราเหมือนกัน บอกว่าให้พระพุทธเจ้า ให้ธรรมวินัยตัดสินให้เด็ดขาดไปเลย ให้มีกฎตายตัว แล้วมันจะมั่นคงมาก เราบอกว่าอย่างนั้นไม่ใช่พระพุทธเจ้า ถ้ากฎตายตัวเหมือนกับกฎกติกานี้ มันบังคับแต่คนที่ทำผิด แต่คนที่จะพัฒนาขึ้นไปมันจะละเอียดกว่าเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป ถ้าเป็นกฎตายตัวขึ้นมา อย่างวิทยาศาสตร์ อย่างกฎข้อบังคับที่ตายตัว มันเป็นเรื่องบนโต๊ะ เหมือนกฎหมาย กฎหมายนี่มีไว้บังคับคนที่ทำผิดแต่คนที่ทำผิดแล้วมันปลิ้นไปตามกฎหมายได้ก็มีมหาศาลเลย

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่จิตมันพัฒนาขึ้นมา มันจะพัฒนาของมัน ถึงบอกว่าหยาบ กลาง ละเอียดความละเอียดขึ้นไปแล้ว อธิศีล เพราะจิตมันคิดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเวลาความคิดของเราเกิดขึ้นมา เราจะรู้ทันหมด เวลาคิดขึ้นมาเหมือนจุดไฟ มันร้อน ไฟเผาผลาญเรา มันร้อน มือเรากำถ่านแดงๆ มันร้อน มันต้องคายทิ้งไหม ความคิดเสวยอารมณ์ อารมณ์ที่มันไม่ดี มันทำให้ใจมันขุ่นมัว เราก็รู้อยู่ มันเกิดอธิศีล อธิศีลมันเกิดจากหัวใจ มันไม่ใช่ศีลแบบข้อบังคับของเรานี้ เวลาเราถือศีล ศีล ๕ เป็นข้อบังคับ ศีลคือความปกติของใจ ถ้าใจมันปกติแล้วนั่นคือศีลสมบูรณ์ ศีลสมบูรณ์เพราะใจมันไม่ส่ายใจ มันมั่นคงของมัน แต่เพราะใจเราส่าย ใจเรามันมั่นใจในตัวเองไม่ได้ ถึงต้องเอากฎกติกามาบังคับเห็นไหม

ศีลโดยอาราธนาศีล โดยขอเอา แต่ศีลที่มันเป็นศีลของใจขึ้นมา แล้วจิตมันเป็นสมาธิขึ้นมา มันมีหลักมีเกณฑ์ของมันขึ้นมา มันมีปัญญาของมันขึ้นมาทำลายมันขึ้นมา นี้ถึงบอกว่าสงครามในพุทธศาสนาไม่มี แต่ความฉ้อฉล ที่ทำให้เราคลอนแคลนกันนี้ มันเป็นอย่างนี้ มันเป็นวาระ ทุกอย่างมันจะเจริญขึ้น มันมีอนิจจัง มันมีสภาวะของมัน

ฉะนั้นการเกิดร่วมกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้เป็นสหชาติ ใครๆ ทุกคนอยากเกิดร่วมกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามี อนาคตังสญาณ จะบอกว่าเราควรปฏิบัติอย่างไร เราควรทำอย่างไร แต่สมัยพุทธกาลที่คนในลัทธิต่างๆ เขาไม่เชื่อพระพุทธเจ้าก็มีมหาศาล ในสมัยปัจจุบันนี้ เราเกิดมาร่วมสมัยกับหลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่มั่นท่านเป็นผู้บุกเบิก เราก็มีครูบาอาจารย์ของเราเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา เราเกิดร่วมสมัย นี่เป็นสหชาติเป็นโอกาสของเรามหาศาล

ในสมัยองค์สมเด็จพระพุทธเจ้ามันมีคนปลอมบวชเข้ามาก็มาก ในเมื่อมีคนปลอมบวชเข้ามา เขาก็จบ แต่นี่เราปลอมใจ เราปลอมใจบวชว่ามันเป็นธรรม มันปลอม ธรรมปลอมๆ พอธรรมปลอมๆ ขึ้นมาเราก็เชื่อธรรมปลอมๆ อย่างนั้น เพราะอะไรเพราะธรรมปลอมๆ เห็นไหมของปลอมมันจะทำได้แนบเนียนมาก ดูสิ สินค้าของปลอมของเทียมนี้มันทำสวยมากเลยที่บรรจุภัณฑ์ของมัน แต่เนื้อหาสาระมันไม่มี เนื้อหาสาระใช้ประโยชน์ไม่ได้ แต่ของจริง ดูสิ สภาพข้างนอกดูไม่ดีเลย แต่มันคงทน มันดีมากๆ เลยนี่เราก็ใช้ประโยชน์ของมัน

นี่ก็เหมือนกัน พอเราเกิดร่วมสมัยขึ้นมาแล้ว เราควรมีหลักมีเกณฑ์ กาลามสูตร เริ่มต้นต้องมีความศรัทธาความเชื่อก่อน จะว่ากาลามสูตรไม่ให้เชื่ออะไรเลย แต่ถ้าไม่เชื่อศาสนาแล้วเราจะศึกษาธรรมะได้อย่างไร แต่พอศึกษาธรรมะแล้วเราต้องคัดเลือกคัดกรองของเรา สันทิฏฐิโก ปัจจัตตัง อันนั้นจะเป็นความจริง ถ้าครูบาอาจารย์ท่านสอนเราแล้วเราประพฤติปฏิบัติแล้ว ถ้าครูบาอาจารย์ตอบเราไม่ได้ หรือเราพัฒนาการไปมากกว่า เราจะรู้วุฒิภาวะของครูบาอาจารย์เรา นี่ก็เหมือนกัน สิ่งต่างๆ มันปฏิบัติถึงกันได้ ยอดเจดีย์ยอดแหลมอันเดียว อริยสัจมีหนึ่งเดียว ปฏิบัติแล้วมันก็ต้องไปสู่จุดๆ นั้น ถ้าไปจุดนั้นเราจะวัดภูมิได้เลยว่า อาจารย์ของเราหรือการปฏิบัติของเรา จริงหรือไม่จริง จริงหรือไม่จริง มันวัดกันได้ วัดได้ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมํคลมุตฺตมํ การสนทนาธรรมเป็นมงคลอย่างยิ่ง ลูกศิษย์กับครูบาอาจารย์สนทนาธรรมกัน ตรงนี้มันจะตรวจสอบกัน มันจะเป็นความจริงขึ้นมา นี่พูดถึงหลักเกณฑ์ แล้วเราเป็นชาวพุทธ ให้มีหลักมีเกณฑ์ของเราเพื่อประโยชน์กับตัวเราเอง เพื่อสัจธรรม เพื่อทำหัวใจให้ผ่องแผ้ว ให้ใจเราเข้าถึงความสุขอันเป็นความจริง เอวัง