ธรรมนอกระบบ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
จะชำระความเห็นผิดของตัวไง ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายอดเยี่ยมมาก
ตั้งใจมาเพื่อฟังธรรม ทำเพื่อให้ความเห็นของตัวถูกต้อง ฟังเพื่อความเห็นของตัวให้ถูกต้อง ความเห็นผิด ความเห็นผิดของเรา ให้ธรรมเข้าไปชำระล้างให้ความเห็นนั้นถูกต้องขึ้นมา ความเห็นผิดแล้วชำระความมืดบอดของตัวอีกต่างหาก ความเห็นผิดกับความมืดบอดภายในหัวใจ เพราะเห็นผิดจึงทำความผิดไปเรื่อย ถ้าเห็นถูกขึ้นมาจะทำความกระจ่างแจ้งขึ้นมา
ถึงว่า ความมืดบอด คือความผิดนั้นปกคลุมเอาไว้
ธรรมะ คือการแก้ไขชำระกิเลสความเห็นผิดของใจของตัวเอง
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม ถึงว่า มองเห็นสรรพสิ่งนี้เป็นธรรมไปทั้งหมด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอริยสาวกต่างๆ สาวก พระอรหันต์ต่างๆ ในสมัยพุทธกาลมองเห็นโลกนี้เป็นของที่ว่าน่าเบื่อหน่าย น่าสลัดทิ้งคืนไป อันนั้นเพราะอะไร เพราะใจที่เป็นธรรม ทำไมใจที่เป็นธรรมถึงมองเห็นสรรพสิ่งต่างๆ นี้เป็นของที่สว่างกระจ่างแจ้ง ไม่เป็นเหยื่อของโลกไง ไม่เป็นเหยื่อของสรรพสิ่งที่ว่าเกาะเกี่ยวให้ชีวิตนี้เป็นเหยื่อ ต้องรับใช้ไปตลอด
แต่ถ้าเป็นความมืดบอดของกิเลส กิเลสนี้มืดบอดว่า สิ่งนั้นเป็นความสุข สิ่งนั้นเป็นยศถาบรรดาศักดิ์ สิ่งนั้นเป็นที่ยึดเหนี่ยวของชีวิตนี้ ชีวิตนี้ถึงได้ตกทุกข์ได้ยากไปเพราะความเห็นผิดของใจ ความเห็นผิดของใจ พยายามว่าสิ่งนั้นมืดบอด ความมืดบอดนี้มันต้องสงสารตัวเองนะ ตัวเองนี่มืดบอดแต่เราไปว่าคนมืดบอดคือคนตาบอด...ไม่ใช่ ใจมันบอด หัวใจนี้บอดสนิท มองไม่เห็นสรรพสิ่งต่างๆ ไม่มีความสว่างไสวเข้ามาในใจเลย จิตใจนี้เป็นจิตใจที่ว่าล้มลุกคลุกคลานไปกับในวัฏฏะนี้มาตลอดชีวิตนี้ แล้วพอมันจะมาฟังธรรม ผู้ที่มาฟังธรรม ถึงว่าเริ่มเปิดไง เริ่มยอมรับความเป็นจริง ยอมรับว่าธรรม ยอมรับว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ธรรมนี้ถึงเป็นสิ่งที่ประเสริฐ นี่ยอมรับ พอยอมรับก็เริ่มมีศรัทธา หัวใจที่มีศรัทธา หัวใจที่ว่าเริ่มจะออกไปจากความมืดบอดนั้น ความมืดบอดคือมันปฏิเสธทุกสรรพสิ่งทุกอย่าง แต่ในเมื่อเชื่อในสิ่งที่ว่าตาบอดก็มียาแก้ได้
คนตาบอดแล้วก็บอดเลย เพราะว่ามันตาบอดแล้วหมดทางแก้ไข
แต่ใจบอดนี้แก้ไขได้ แก้ไขได้ให้ใจสว่างนี้แก้ไขได้
ดูอย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ตรัสธรรมไว้ สมัยพุทธกาลน่ะไม่มี ฟังจากพระโอษฐ์ทั้งหมด ผู้ใดปฏิบัติธรรม แสวงหา ฟังจากพระโอษฐ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วผู้ที่ฟังแล้วก็จำต่อๆ กันไป เวลาสาธยายมาเป็นการออกจากพระโอษฐ์
ผู้ที่เข้าถึงธรรมจะเข้าถึงธรรม ไม่มีตำรับตำรา จะเข้าถึงธรรมด้วยปัจจุบันธรรม ด้วยสัจจะความจริงอันนั้น แต่ในปัจจุบันนี้ ในปัจจุบันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้แค่ ๕,๐๐๐ ปี เห็นไหม น้อย คือว่าวางศาสนาไว้ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ มาถึงว่า หมด หมด หมด หมด ชีวิตก็สิ้นกันไป ศาสนาสิ้นสุดไป แต่นี่วางไว้ต่อไป แล้วจดจารึกไว้ไง
จดจารึกไว้ให้พวกเราเป็นคนที่ว่าขี้เกียจขี้คร้าน ขี้เกียจ ถ้าเมื่อก่อนไม่มีการจดจารึกมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดคำไหน พระอานนท์จำได้หมด ถ้าองค์ไหนคลาดเคลื่อนต้องถามพระอานนท์ พระอานนท์นี้จำได้หมด ในพระวินัยนี้ พระอุบาลีนี้จะทะลุปรุโปร่ง เข้าใจหมด เข้าใจ จำได้หมด ตรัสที่ไหน ตรัสเรื่องอะไร ตรัสเหตุผลอย่างไร พระอุบาลีนี้จะจำไว้ได้ แล้วจะเป็นผู้ที่เอตทัคคะทางวินัย เป็นทางวินัยนี้จะชำนาญมาก
พระอานนท์นี้พหูสูต จำได้มากเรื่องพระธรรมนี้ จากทางพระอานนท์ออกมา แล้วก็จำต่อๆ กันมา เพราะว่าอะไร เพราะจำต่อๆ กันมา พยายามศึกษาค้นคว้า ถึงได้มาด้วยความจริง เขามุมานะ เขาตั้งใจจริง เขาทำภาชนะเขาให้สะอาด แต่พวกเราปัจจุบันนี้ ภาชนะนี้สกปรก ภาชนะนี้มีแต่ความมืดบอด ตาบอด พอใจบอด แล้วมันก็ยังคิดว่า พระไตรปิฎกอยู่ในตู้ศึกษาเมื่อไรก็ได้ นี่มันถึงว่าไม่ได้เห็นร่องรอยของธรรมเลยแม้แต่นิดเดียว เพราะใจอะไร ใจขี้เกียจ ขี้คร้านไง ใจปฏิเสธที่จะศึกษาเล่าเรียน
การที่จะศึกษา สุตมยปัญญา คือการศึกษา ศึกษาธรรมมาเพื่อมาเป็นแนวทาง ศึกษาธรรมเพื่อเป็นแนวทาง สุตมยปัญญาคือการศึกษา ศึกษามา จำมาเพื่อเป็นแนวทางการประพฤติปฏิบัติ การประพฤติปฏิบัติเพื่อจะให้หัวใจนี้สว่างไสวขึ้นมาบ้าง ให้หัวใจนี้พอมีที่พัก ที่ผ่อน ที่พักใจ แต่การศึกษามาก็ยังศึกษามาเพื่อการประพฤติปฏิบัตินั้นล้มลุกคลุกคลานอีก
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายในกระทบอายตนะภายนอก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบกันกับรูปสรรพสิ่งนั้น ก็ว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม สิ่งนั้นเป็นธรรม ตากระทบรูป รูปเกิดขึ้น เป็นธรรมเกิดขึ้น ธรรมเกิดขึ้นก็ทำความเข้าใจกับธรรมนั้น
จิตนี้มันมหัศจรรย์ยิ่งกว่านั้นมากมายนักนะ รูปเกิดขึ้นจากตาเห็นรูป รูปเกิดขึ้นจากตาเห็น ตาเห็นการกระทบมา จิตวิญญาณรับรู้ แล้วก็บอกบังคับให้จิตวิญญาณนี้รู้แค่นั้นไง จิตวิญญาณนี้รู้ได้ผ่านด้วยอายตนะทั้ง ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใจสัมผัส ใจต้องรับรู้ด้วย ว่าแค่นั้น ว่าสิ่งที่สัมผัสได้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้ ธรรมะ ใจนี้จะสื่อได้เท่านั้น แล้วความเห็นของเรา เราก็คิดว่าอย่างนั้น นั่นน่ะ การศึกษาธรรมมาเพื่อจะเป็นเครื่องมือการชำระกิเลส เลยกลายเป็นการศึกษาขึ้นมาจำกัดกรอบของใจให้อยู่ในกรอบของนั้นไง ธรรมะในระบบที่เราคิดว่าเป็นระบบ ที่เราศึกษามา ศึกษาธรรมมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มี
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า...ศึกษาจากพระโอษฐ์ ศึกษาจากปากต่อๆ กันมา ศึกษามา ความเข้าอกเข้าใจจะเป็นแนวทางเดียวกัน สื่อทางภาษาก็เป็นภาษาในปัจจุบันนั้น ปัจจุบันนี้เราศึกษามา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบ รูป รส กลิ่น เสียง เกิดขึ้น พยายามทำ รูป รส กลิ่น เสียง นั้น วิปัสสนาให้มันปล่อยวางให้ได้ ปล่อยวางให้ได้
การปล่อยวางขนาดนี้มันเป็นอะไร? มันเป็นโลกียะ มันเป็นความคิดของเรา
ถ้าเราปล่อยวาง ความมหัศจรรย์ของจิตเป็นไปได้ ความมหัศจรรย์ของจิต จิตนี้มันจะปล่อยวางโดยตัวมันเองก็ได้ อย่างเช่น ปกติของเรา เราจะมีความคิด ความเดือดร้อนใจโดยถ้ามันยังมีความเดือดร้อนใจอยู่ ทำไมไม่อยู่กับใจเราตลอดไปล่ะ ความเดือดร้อน ความสุขใจ ความทุกข์ใจ ความสุขใจของเราที่จิตใจนี้เข้าไปเสวย เข้าไปสัมผัส ทำไมมันปล่อย มันหายไปขณะที่ว่าเรามานั่งปัจจุบันนี้ เรามาภาวนาอยู่ปัจจุบันนี้ สิ่งที่ว่าเป็นความทุกข์ใจ สิ่งที่เป็นขัดข้องใจมันไม่มี ปัจจุบันนี้ก็ตั้งใจฟังธรรมอยู่เฉยๆ
ทำปัจจุบันธรรม จะเข้าใจตามสัจจะความจริง แล้วเข้าไปชำระล้าง ชำระล้างคือความเข้าใจ ใจ ความเข้าใจ ความเห็นถูกเกิดขึ้น นี่ความเข้าใจเป็นความเห็นถูก แต่การศึกษา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบ แล้วความเข้าใจตามหลักความเป็นจริงนี่มันเป็นวิปัสสนาไปไหน ความเป็นวิปัสสนา คือว่ามันเป็นวิปัสสนา เราเข้าใจไง เราบังคับ เราทำตามระบบ เราคิดว่าสิ่งนั้นเป็นหลักสัจจะความจริง
ธรรมะนอกระบบ นอกระบบคือว่า มันเป็นปัจจุบันธรรมที่มันเลยระบบนั้นออกไป
ความระบบนั้น อภิธรรม การศึกษามา เราจำมา มันเป็นระบบของมันขึ้นไปเป็นชั้นๆ ขึ้นไป แต่ไม่ได้มองว่าจิตใจนี้มืดบอดอยู่ คนมืดบอด คนจับพลัดจับผลู มันจับสวมส่งไปส่ง สวมจับพลัดจับผลูจับให้เข้าเป็นหลักเกณฑ์ไม่ได้ พอจับเข้าเป็นหลักเกณฑ์ได้มันก็จะปล่อย ปล่อย มันจะปล่อย ปล่อยด้วยความจับพลัดจับผลู ความจับพลัดจับผลูคือความไม่เป็นจริง ความไม่เป็นจริงเพราะอะไร เพราะว่ามันไม่เห็นจริงจากคนหูตาสว่างเห็น
คนมืดบอดเห็น คนมืดบอดเห็นเพราะมันเอาตัวตนเห็น ตัวตนความเห็นของเรา ความเห็นความยึดมั่นถือมั่นของเรา มานะทิฏฐิ ความเห็นผิด-เห็นถูก เห็นถูกก็เห็นถูกชั่วคราว เห็นถูกในโลกียะ เห็นถูกในสมมุติ เห็นถูกในความเป็นไปอันนั้น แต่ไม่เห็นถูกด้วยสัจธรรมหรอก ไม่เห็นถูกในสัจธรรมเพราะอะไร เพราะความเห็นนี้มันเป็นความเห็นข้างนอก
ความเห็นภายในมันมีสิ่งตัวหนึ่ง เพราะใจเรานี้ไม่เป็นอิสระเสรี ใจเรานี้มืดบอดไป มันไม่ใช่มืดบอดเพราะว่าความเป็นมืดบอดของมัน มันมืดบอดโดยสัจจะ คือ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา มืดบอดเพราะว่าตัวอวิชชาปกคลุมใจอยู่ นี่โดยความเป็นจริงอวิชชาคือปกปิดใจเรานี้ให้ใจเราไม่เข้าใจธรรม แต่เข้าใจในเรื่องของกิเลส ในเรื่องของโลกนี้จะผลักไส จะฉุดลากไป ความคิดของตัวว่า ความเห็นสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ เป็นเครื่องอยู่อาศัย เป็นเครื่องที่เราจะพึ่งพิงได้ เป็นเครื่องที่จะอบอุ่นใจได้
มันจะดึงขับไสให้ใจเราวนเวียนไปในความยึดมั่นถือมั่น ในความผิด ในความเป็นสูญเปล่า ความแสวงหา ความพยายามของเราด้วยการกอบโกย ด้วยการแสวงหามา มันเป็นการแสวงหาภายนอก เป็นของที่เป็นวัตถุ เป็นปัจจัย เป็นเครื่องอาศัยของการดำรงชีวิตเท่านั้นเอง มันไม่ใช่เป็นสัจจะความจริง เห็นไหม อวิชชาผลักไสให้หัวใจนี้มองเห็นสภาวะนี้ผิดจากธรรม
ธรรมมันคืออะไร? ธรรมคือศีล สมาธิ ปัญญา ธรรมคือโพชฌงค์ ๗ ธรรมคือธรรม
ธรรมอันนี้เป็นของใคร? ธรรมอันนี้เป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ ธรรมคือมรรคอริยสัจจัง นี่เกิดขึ้นที่ไหน เกิดขึ้นว่าเรา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบสิ่งใดๆ ต่างๆ นั้น เป็นรูป รส กลิ่น เสียงภายนอก ความที่เป็นรูป รส กลิ่น เสียงภายนอกนั้น จิตนี้มันโดนอวิชชาปกคลุมอยู่ มันไปรับรู้ ความรับรู้แล้วปล่อยวางเข้ามานั้น มันเป็นความเข้าใจ เป็นความเข้าใจว่าสรรพสิ่งนี้เกิดขึ้น เพราะจิตนี้มหัศจรรย์ จิตนี้รับรู้ พอจิตนี้รับรู้ จิตนี้ก็ให้ค่าออกไป
เราต้องกลับมาดูที่จิต ย้อนกลับมา ถ้าจิตนั้นปล่อยวางเข้ามา จิตนี้จะปล่อยวางเข้ามา ความปล่อยวางเข้ามาอันนี้เป็นธรรม เป็นธรรมพื้นๆ ไง ธรรมพื้นๆ คือธรรมเริ่มสมถกรรมฐาน มันต้องมีพื้นฐานของธรรมอันนี้ ถ้าไม่มีพื้นฐานของธรรม พื้นฐานคือปัจจัย ทักษะของหัวใจ การชำนาญการจะเริ่มการทำงาน
ไม่มีทักษะ ไม่มีพื้นฐาน คนที่ไม่มีพื้นฐานเลยทำงาน คนที่ไม่มีพื้นฐานทำงานงานนั้นจะคล่องงานไปได้อย่างไร งานนั้นจะเป็นงานผิดงานพลาดไปเพราะว่าเราไม่เคยงาน นักกีฬาจะเล่นกีฬาต่างๆ เขาต้องฝึกซ้อมขึ้นมา ฝึกซ้อมขึ้นมาแล้วไม่ใช่ว่าจะเก่งไปทุกคน แต่จะเก่งหรือไม่เก่งก็แล้วแต่ คนที่มีความมุมานะอุตสาหะเล่นกีฬาชนิดนั้นต้องเล่นกีฬานั้นได้
ในการวิปัสสนา ในการจะยกใจขึ้นมาทำวิปัสสนามันต้องมีพื้นฐานของใจตัวนี้ไง พื้นฐานของใจ เห็นไหม เราทำความสงบกันขึ้นมา เราก็ต้องทำพื้นฐานของใจ เป็นสัมมาสมาธิ เพราะเราเริ่มบุกเบิกใจของเราเข้าไปหาพื้นฐานอันนี้ เราบุกเบิกใจของเรา บุกเบิกเข้าไปกลางหัวใจเพื่อให้ใจนี้สงบเข้ามา ใจนี้สงบเข้ามา แต่ในการที่ว่า ในระบบที่เราคิดเราศึกษามา เราจะรีบ ความรีบร้อน กิเลสมันอยาก มักง่าย ความอยากได้ ความมักง่าย ต้องไปทางลัด อันนี้เป็นเรื่องของอวิชชาเสี้ยม หลอกให้การกระทำนั้น สิ่งที่จะเข้าหลักเข้าเกณฑ์ ตามเหตุตามผลเข้าไป ตามสัจจะความจริง เพราะว่าอะไร
เพราะว่าแก่นของอวิชชา แก่นของอวิชชาที่อยู่ในหัวใจมันเป็นแก่นที่เหนียวมาก เป็นแก่นที่ว่าผูกติดมากับใจ บังคับให้ใจนี้เกิดใน ๓ โลกธาตุมาตลอด แล้วเราจะคิดว่า เราจะจับพลัดจับผลูให้อวิชชาหลุดออกไปจากใจด้วยความเป็นง่ายๆ เห็นไหม มันเป็นไปไม่ได้
สิ่งที่เหนียวแน่น แก่นของสิ่งต่างๆ ที่เป็นสิ่งคงทนที่สุด ไม่มีแก่นของใดเท่ากับแก่นของอวิชชา
ในทางของโลกเขา ทางโบราณว่าสิ่งที่คมที่สุดคือ น้ำ น้ำ ของนิ่มๆ คมที่สุดเลย ถ้าน้ำนี้รวมตัวกันแล้วไหลเป็นน้ำป่านะ มันพัดเอาบ้านเรือนพังทลายไปหมดเลย สิ่งที่คมที่กวาดต้อน กวาดทุกอย่างไปคือน้ำ นี่ตามโบราณกาลของเราชาวไทยพูดไว้อย่างนั้น โบราณกาลว่าสิ่งที่คมที่สุด เราจะว่าเป็นมีด เป็นจอบ เป็นอะไรที่ว่ามันจะเป็นของที่คมแข็งที่สับสิ่งได้ อันนั้นทำได้เล็กๆ น้อยๆ สิ่งที่กวาดต้อน เห็นไหม เกิดพายุขึ้นมาทั้งที มันกวาดต้อนหมดไปทั้งประเทศๆ นี่มันคมขนาดไหน
ความคมแข็งของใจ ของน้ำนั้นมันกวาดต้อนสิ่งที่เป็นวัตถุ นี่เปรียบเทียบไง แต่ใจ สิ่งที่เป็นน้ำ เป็นสิ่งที่เหลว ของเหลว ของที่ไม่ควรจะมีเลย มันทำไมมันสามารถรวมตัวขึ้นมา รวมตัวขึ้นเพื่อสิ่งที่มันรวมตัวไปแล้ว โดยลมพัดกระพือไป มันจะให้ได้คุณค่าได้ขนาดนั้น
ใจก็เหมือนกัน สิ่งที่เป็นนามธรรมไง มันแก่น แก่นลึกซึ้ง แก่นที่ว่ามันทำลายได้ยากแสนยาก ฉะนั้น จะทำด้วยความมักง่าย ด้วยความเห็นของเรา ความเห็นของโลกียะ โลกียารมณ์ มันเป็นทางออกของอุปกิเลส นี่วิปัสสนาไปเพื่อชำระกิเลส วิปัสสนาเพื่อจะชำระกิเลสหรือวิปัสสนาเพื่อจะเพิ่มกิเลส จิตนี้มันเป็นไป ความเป็นไปที่มันปล่อยวาง อย่างที่ว่า เราปล่อยวาง มันปล่อยวาง เราจะไม่ทำให้มันปล่อยวาง
มันก็ปล่อยวาง โดยที่ว่า ทุกข์นี้เกิดขึ้น ทุกข์นี้ตั้งอยู่ ทุกข์นี้ต้องดับไป มันเป็นอนิจจังโดยธรรมชาติ ธรรมชาตินี้เป็นอนิจจัง สิ่งที่เป็นอนิจจังมันเป็นอยู่แล้ว เราต่างหาก เราต้องการให้เป็นนิจจัง เราต้องการให้ความเป็นสุขอยู่กับเรา เราต้องการความพอใจ เราไม่ยอมรับต่างๆ เรามีตัณหา-วิภวตัณหา ความแสวงหามา ความพอใจขึ้นมา นั่นก็เป็นตัณหา ความที่ว่าปฏิเสธสิ่งที่ไม่พอใจ นั่นก็เป็นวิภวตัณหา เราไปปฏิเสธอารมณ์ของเรา ในขณะที่ว่ามันเกิดขัดข้องใจมันก็เลยเป็นทุกข์
ขัดข้องใจ คือความไม่พอใจ ความไม่เห็นลงตัวกับใจที่ว่าใจจะพอใจอย่างนั้น มันถึงเป็นทุกข์ขึ้นมา เพราะว่ามันเป็นอนิจจังโดยธรรมชาติ แล้วมันก็แปรปรวนโดยธรรมชาติของมัน แล้วเราต้องการสงวนไว้ ต้องการดึงไว้ให้อยู่ในอำนาจของเรามันก็เป็นไปไม่ได้ มันเลยเป็นอนิจจังซ้อนอนิจจัง ความเป็นอนิจจังของมันเราก็ไม่เห็น
ความเป็นอนิจจังของมันเราก็ไม่เห็น ๑.
๒. พอมันแปรสภาพไป เราก็ไม่พอใจ เพราะเราต้องการดึงไว้กับเรา
เห็นไหม ทุกข์ ๒ ชั้นขึ้นไปเลย ทุกข์ ๒ ชั้นคือตัณหาซ้อนตัณหา อยากซ้อนอยาก มันเป็นไปโดยธรรมชาติโดยความอยากโดยธรรมชาติอันหนึ่ง แล้วความอยากฝืนธรรมชาติอีกอันหนึ่งเป็นความอยากซ้อนเข้าไป นั่นน่ะ มันถึงไม่เห็นตามความเป็นจริงไง ความที่ไม่เห็นตามความเป็นจริง คือว่าไม่วิปัสสนามันก็เป็นอย่างนี้อยู่โดยธรรมชาติ คือว่ามันจะต้องอนิจจัง สรรพสิ่งตั้งอยู่ต้องแปรสภาพโดยธรรมชาติของมัน
แล้วเราจับตั้งขึ้นมาด้วยว่า รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสกับอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วบังคับ บังคับให้ใจรับรู้เท่านั้น นี่ศึกษาเข้ามาก็เพียงว่า ใจนี้ อาการของใจผ่านทางลูกตา อายตนะ ตากระทบรูป เห็นรูป พอเห็นรูปขึ้นมานะ คือว่าใจรับรู้ได้ผ่านตา ได้อายตนะเท่านั้น แต่เวลาเราทำความสงบเข้าไป จิตนี้มหัศจรรย์ มันรู้สิ่งต่างๆ รู้มากกว่านั้น ใจนี้จะรู้ได้มหัศจรรย์มาก เวลาความสงบของจิตเข้ามา ถ้าจิตนั้นมีความคึกคะนองของใจสามารถเห็นตัวเองขึ้นไปเดินจงกรมอยู่บนอากาศ ความสงบของใจมันยังรับรู้สิ่งต่างๆ ได้มหาศาลเลย
มันไม่ใช่ว่าต้องบังคับให้เป็นตายตัว ตามการที่ว่าอายตนะภายนอก อายตนะภายในเข้าไป แล้วเป็นเท่านั้น อันนั้นเป็นสูตรทฤษฎี เป็นสุตมยปัญญาที่เราศึกษามา แต่ไม่ใช่จำกัดตายตัวอยู่อย่างนั้นนี่ แต่ถ้าโดยสมมุติ โดยจะสื่อกันด้วยเอาธรรมะมาศึกษาในร่างมนุษย์ของเรา เราศึกษาความเป็นของเรา เราศึกษาร่างของมนุษย์ มนุษย์คือเรา เราต้องทำความเข้าใจกับเรา เราเข้าใจว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันจะรับรู้กับสิ่งอารมณ์ภายนอก เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้นจริงๆ เป็นอย่างนั้นเพื่อต้องการให้เราเข้าใจเรื่องสิ่งนี้ไงว่ามันเป็นเท่านั้นเอง สิ่งที่ว่ารับรู้อยู่นี้ มันเป็นเท่านั้น
มนุษย์นี้เป็นที่ว่ามักใหญ่ใฝ่สูง อยากมีอำนาจวาสนา อยากจะขี่คอมนุษย์ต่อมนุษย์ด้วยกัน อยากมีอำนาจ อยากเหนือตน เหนือคนอื่นไง แต่สุดท้ายแล้วมันก็มีเท่านี้ แล้วมนุษย์ทุกรูป ทุกนามก็มีสิ่งนี้ มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหมือนๆ กัน มันก็ต้องสัมผัสไปเหมือนๆ กัน แต่คนหยาบหรือบางของกิเลสนั้นต่างกัน ความเห็นหยาบ-บางของกิเลสต่างกัน การเข้าใจนั้นมันเลยเดินเรื่องของโลกๆ ไง ความเดินเรื่องของโลกๆ เพื่อโลกเขาจะให้เข้าใจเรื่องกายกับใจ
การศึกษาภาคปริยัติขึ้นมาเพื่อให้เข้าใจเรื่องร่างกายของมนุษย์กับเรื่องหัวใจ ร่างกายของมนุษย์มีศักยภาพเท่านี้ แล้วเราก็เอาร่างกายของมนุษย์ตั้ง แล้วก็วิปัสสนาไป วิปัสสนาเท่านั้นเองเหรอ นี้ถ้าเป็นฝ่ายสมถกรรมฐานของครูบาอาจารย์เรา เรียกว่า พิจารณากายนอก รูปภายนอก ตากระทบรูปข้างนอก รูปคนเจ็บคนป่วยในโรงพยาบาล รูปคนง่อยเปลี้ยเสียขา เราก็น่าเห็นใจเขา แล้วถ้าเราเป็นอย่างนั้นล่ะ รูป รูปภายนอก
ถ้า รูปภายใน ล่ะ เรายังไม่เห็นรูปภายใน ถ้ารูปภายนอกมันปล่อยรูปภายนอกเข้ามา จิตมันก็เป็นอิสระเข้ามา พอจิตมันเป็นอิสระเข้ามา นั่นน่ะ อันนั้นมันเป็นผลของสมถะ ผลของสมถะคือการพิจารณารูป รส กลิ่น เสียง ภายนอก แล้วปล่อยวาง รูป รส กลิ่น เสียง เข้ามา เป็นตามความเป็นจริง ถ้าเราเข้าใจว่าอันนี้เป็นธรรม มันก็เป็นได้ เป็นได้ด้วยอะไร ด้วยการอนุโลมของกิเลส กิเลสผลักไสใจกับความรู้สึกนี้ อนุโลมไปด้วยกันว่า อันนี้เป็นธรรม อันนี้เป็นธรรมเป็นอะไร เป็นอุปกิเลส อุปกิเลส ๑๖ ความสว่าง ความว่างของใจ
เราวิปัสสนามาเพื่อจะชำระกิเลส เพื่อจะต่อสู้เอาชนะกิเลส แต่ทำไมเราวิปัสสนาเข้ามาแล้ว เราไปตกในอุปกิเลส ๑๖ ล่ะ อุปกิเลสคือกิเลสที่ละเอียดเข้าไปไง จิตที่ละเอียดอ่อนเข้ามา จิตที่สงบเข้ามา จิตที่ปล่อยวางจากอารมณ์ภายนอกเข้ามามันเป็นว่างภายใน แต่ว่างภายในว่างด้วยอะไร ว่างด้วยความยึดมั่นถือมั่น ว่างด้วยความมีตัวตนของเรา ความมีตัวตนอยู่ในความว่างนั้น ความว่างอย่างนี้เป็นอุปกิเลส ถ้าเราเข้าใจว่าอันนี้เป็นธรรม
ถ้าเราเดินตามระบบไป เดินตามระบบถูกต้อง ตามภาคปริยัติเป็นสุตมยปัญญาเดินไปอย่างนั้น แล้ววิปัสสนาไปในสุตมยปัญญาอย่างนั้น มันต้องเดินไปตามปัจจุบันธรรม สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับการกระทบรับรู้ต่างๆ นี้ให้เป็นปัจจุบันธรรม แล้วแต่อำนาจวาสนา ไม่มีระบบ มันจะเป็นปัจจัตตัง ความเป็นปัจจัตตัง ความกระทบรู้ต่างๆ จากดวงจิตดวงใดดวงหนึ่งนั้นไม่มีการสูตรสำเร็จให้เหมือนกัน ความสูตรสำเร็จเหมือนกันไม่มี
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ เป็นศาสดาองค์เอก เป็นผู้สอนอริยสาวกต่างๆ อุบายวิธีการสอนพระสารีบุตรไปอย่างหนึ่ง อุบายสอนพระโมคคัลลานะไปอย่างหนึ่ง อุบายสอนพระอุบาลี สอนไปคนละอย่าง คนละอย่าง อย่างหนึ่งไม่มีซ้ำกันเลย
แต่ทำไมเราศึกษาเป็น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นเหมือนกัน ทุกๆ คนต้องทำอย่างนั้นเหมือนกัน เห็นไหม ทุกๆ ดวงใจสามารถทำความสงบได้เหมือนกัน อันนี้ถูก
แต่ทุกๆ ดวงใจ จะมีคุณค่าความหยาบ ความละเอียด ต่างกันเรื่องของกิเลสที่อยู่ในหัวใจนั้น เป็นไปไม่ได้
ทำความสงบ พื้นฐานของความสงบ คนเรากินข้าวเป็นพื้นฐานของอาหาร ข้าวนี่เป็นพื้นฐาน แล้วสิ่งที่เสริมอันนั้นมาเป็นอีกอย่าง ข้าวนี่พื้นฐาน ความสงบของใจก็เหมือนกัน ความสงบของใจ ทุกๆ ลัทธิ ทุกๆ ศาสนาสอนเรื่องความสงบนี้แน่นอน นี้ความสงบขึ้นมา เราต้องมีพื้นฐาน หาความสงบเข้ามา เป็นสมถกรรมฐาน สมถกรรมฐานทำความสงบของใจเข้ามาให้ได้เข้ามาก่อน ใจเป็นสมถกรรมฐานเข้ามา นี่ควรแก่การงาน ถ้าใจทำความสงบเข้ามา อันนี้เป็นควรแก่การงาน
เราไม่เคลม ไม่เห็นว่าอันนี้เป็นผลไง ถ้าเราเคลมว่าอันนี้เป็นผล เป็นตกไปในอุปกิเลส นี่ถ้าเราเดินตามระบบต้อยๆๆ จนเราไม่พลิกแพลงออกไปในการวิปัสสนา ในการทำสมถกรรมฐาน-วิปัสสนากรรมฐานด้วยประสบการณ์ตรงของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นก็ต้องเดินตกหลุมไป เดินตกหลุม ตกร่อง ตกไปแล้วเราก็ง่อยเปลี้ยเสียขาก้าวเดินไปไม่ได้อีก ตกอยู่นั่น พอตกอยู่นั่นเพราะอะไร เพราะความยึดติด ติดได้จริงๆ
จิตนี้ปล่อยวาง จิตนี้มีความสงบเป็นพื้นฐาน...ติดได้ ความติดของใจ ใจจะติดสิ่งนั้น พอติดสิ่งนั้นขึ้นมา สิ่งกิเลส อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อยู่ในหัวใจนั้นมันแก่นของกิเลส พอแก่นของกิเลส ว่าเป็นแก่นของกิเลส แล้วเวลาติดนี่เอาอะไรไปติด ก็ต้องเอาแก่นของกิเลสไปติด เอาความเหนียวหนับของกาวที่ว่าในโลกนี้กาวอะไรที่เหนียวขนาดไหนก็ยังไม่เท่าสิ่งนั้น จะไปติด
นี่พอติดด้วย อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ติดด้วยความไม่รู้ ติดด้วยความมืดบอด เห็นไหม มืดบอดอยู่ในหัวใจชั้นหนึ่งแล้ว ยังไปติดในความปล่อยวางอันนั้นน่ะ ติดได้ ของมันมีรสชาติให้ติด มันถึงติด มันมีรสชาติของความปล่อยวางเข้ามา
ใจ เวลาเราสุขใจ เราพอใจสิ่งต่างๆ เราความสุขใจอันนั้นยังเป็นคุณค่าของให้ใจนี้ชุ่มชื่นขึ้นมาขนาดไหน เวลาเราสุขใจจากภายนอก แล้วใจไปประสบสิ่งที่ว่า ตากระทบรูป เสียงกระทบหู แล้วทำความเข้าใจ สิ่งนั้นเป็นแค่ประสาทสัมผัส สิ่งที่ประสาทสัมผัสเราจะปล่อย ถ้าเราจิตไม่รับรู้ ปล่อยวางได้ นี่ปล่อยวางได้จริงๆ ถึงได้ไม่ติด พอติดแล้วก็ลงอุปกิเลส กิเลสที่ละเอียดเข้าไปอีก ติด ๒ ชั้น ๓ ชั้น นี่การติด มันถึงต้องแก้ไข
แก้ไข ๑.
๒. เราต้องไม่เดินรอยนั้น
เราต้องเดินตามสมถกรรมฐาน-วิปัสสนากรรมฐาน
วิปัสสนากรรมฐาน ต้องยกขึ้นไง ถ้าจิตนี้สงบ จิตนี้มีพื้นฐานควรแก่การงาน จิตนี้สงบแล้วยกดูกาย ถ้าเห็นกายชั้นนี้ ถ้ายกดูกายนะ เห็นกายชั้นนี้ นั่นน่ะ มันถึงจะเป็นกาย ถ้าเห็นกายจากความเห็นจากจิตที่สงบเป็นพื้นฐานมาแล้ว จิตที่สงบเป็นพื้นฐานขึ้นมานั้นควรแก่การงาน
พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกนี่ว่า เราปฏิบัติทีแรกควรแก่การงานเลย ควรแก่การงานในการเดินจงกรม ในการนั่งสมาธิภาวนา ไม่ใช่ควรแก่การงานในการวิปัสสนากรรมฐาน มันควรแก่การงาน ควรตั้งแต่เริ่มต้น ควรตั้งแต่มีชีวิตขึ้นมา ควรตั้งแต่ออกมาจากท้องพ่อท้องแม่เพราะอะไร เพราะว่าชีวิตนี้ประเสริฐมาก ชีวิตนี้ถ้ามีความเข้าใจ ชีวิตนี้ประเสริฐเพราะมีหัวใจ
หัวใจเท่านั้นเข้าไปสัมผัสกับธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
หัวใจเท่านั้นรู้สุข-รู้ทุกข์
กายนี้เป็นแค่เครื่องมือผ่านให้หัวใจนั้นได้อาศัยอยู่แล้วดำรงชีวิตไป เพราะเราเกิดเป็นมนุษย์ มนุษย์นี้มี กายกับใจ กายกับใจถึงว่าส่วนแบ่งแยก เวลามันบังคับให้เราทุกข์ ให้เราสุข อันนี้ถ้าเราเอาอันนี้มาวิปัสสนา เอาอันนี้มาทำสมถกรรมฐาน เอาอันนี้เข้ามาหาศึกษาธรรม ศึกษาธรรมเพื่อแก้ความมืดบอดของใจ ถ้าความมืดบอดของใจเปิดออก เห็นไหม จากคนที่มืดบอด คนที่ไม่เข้าใจสิ่งใดๆ เลย มองสิ่งในโลกนี้เป็นสิ่งที่ว่าด้วยอวิชชาพามอง ด้วยความลูบๆ คลำๆ ด้วยความลังเลสงสัย รู้ รู้จริง มองสิ่งใดก็รู้สิ่งนั้นจริง สิ่งนั้นรู้ในสิ่งที่ว่าเขาสมมุติเป็นรูปร่างขึ้นมาสิ่งนั้น ให้เรารู้จริง แต่ไม่ได้มองภาคปรมัตถ์
ภาคปรมัตถ์ สิ่งใดสิ่งหนึ่งโลกนี้ไม่มีหรอก มันเอาสิ่งอย่างอื่นบางอย่างแปรสภาพมาหลอมละลายขึ้นมาเป็นรูปใหม่ขึ้นมา รูปเก่าก็มาจากรูปเก่าแปรสภาพไปเป็นรูปใหม่ เป็นรูปใหม่ นั้นคือภาคปรมัตถ์ คือโลกนี้เป็นความว่างโดยธรรมชาติของมัน สรรพสิ่งเกิดขึ้นมาแล้วต้องวินาศ ต้องทำลายไปทั้งหมด ไม่มีสิ่งใดคงที่อยู่ในโลกนี้ได้ เป็นไปไม่ได้เลย ในภาคของวัตถุ
แล้วในทางกลับกัน ในภาคของหัวใจ กับแก่น กลับคงทนเหนียวแน่นเพราะอะไร เพราะมันเกิดตาย เกิดตาย ความเกิดตาย สิ่งที่วัตถุนี้แปรสภาพแล้วเขาแล้วกัน เขาโดนทำลายจากรูปเก่าแล้ว เขาโดนทำลายไป เขาจะไม่มีการสืบต่อ แต่หัวใจที่อยู่ในร่างกายนี้สิ หัวใจที่อยู่ในร่างกาย เราตายจากชาตินี้ไปมันไม่แล้ว บุญกุศลพาตายพาเกิดไป อกุศลพาทุกข์พายากไป จะต้องเวียนตาย เวียนเกิด เห็นไหม ในหัวใจ สิ่งที่เป็นหัวใจ สิ่งที่ว่าเป็นแก่นของกิเลส สิ่งที่ว่าไม่เป็นภาคของนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ มันกลับเป็นแก่น ที่พาเกิดพาตายไปตามวัฏวน
วัฏฏะ กามโลก รูปโลก อรูปโลก กามภพ รูปภพ อรูปภพ ภพต่างๆ ที่เข้ากับภพที่ใจยังเป็นภพอยู่ หัวใจนี้เป็นภพ ภพแน่นๆ เลย เป็นอาสวะ ๓ ในหัวใจนั้น เข้ากับ ๓ กามภพ รูปภพ อรูปภพ เข้ากันเวียนตายเวียนเกิดไป นี่ภาคของหัวใจ ถ้ารับความทุกข์แล้วมันรับไม่มีที่สิ้นสุด มันรับไปเต็มๆ แล้วรับไปทุกภพทุกชาติ จะมีสุขพอให้เราประทังพอหายใจ พอผ่อนคลายเท่านั้นเอง แต่อริยสัจคือทุกข์นี้ สัจจะนี้มันจะแนบไปกับใจตลอด นี่มันเวียนตายเวียนเกิดพร้อมกับความทุกข์ยากไปตลอด เวียนไปตลอด
วัตถุที่เราไปเห็น ที่ว่าเราไปเห็นจากข้างนอกมันยังสิ้นแล้วแล้วกัน สิ้นแล้วแล้วกันแล้วเราไปติดเขาทำไม ถ้าเราไปติดเขา แล้วร่างกายของเราใช้สรรพสิ่งนี้เป็นประโยชน์ใช่ไหม เราต้องย้อนกลับมา ถ้าร่างกายนี้ยังต้องแปรสภาพ ยังต้องแตกสลายเป็นธรรมดา รูปข้างนอกทำไมไม่เป็นธรรมดา
การที่ว่าตามืดบอดมองโลกมองอย่างหนึ่ง นี้เราก็เกิดมาในโลก เกิดมาในโลกแล้วไม่ใช่ว่าการเกิดมานี้จะเป็นสิ่งที่ไม่มีคุณค่าไปเสียทั้งหมด การเกิดมาในโลกนี้อวิชชาพาเกิด เกิดมาในโลก พระพุทธเจ้าก็เกิดมาในโลก เราก็เกิดมาในโลก ทุกๆ คนเกิดมาในโลก แต่เกิดมาแล้วต้องสลัดโลกให้ได้สิ เกิดมาในโลกแล้วไม่หลงติดกับโลกเขาไปไง เราเกิดมาในโลกแล้วหลงโลก ติดโลกอยู่ เสร็จแล้วเราก็เป็นเหยื่อของโลก แล้วเราเป็นทุกข์อยู่ เราต้องพาเกิดพาตาย ยังต้องมาเกิดซับเกิดซ้อนอยู่ต่อไปอย่างนั้นเหรอ
นี่มองโลกในแง่ของมืดบอดมอง กับถ้ามีธรรมมอง
เราต้องสร้างธรรมขึ้นมาในหัวใจ พอสร้างธรรมขึ้นมาในหัวใจ สิ่งที่เราติดๆ อยู่นี่ พอเราผ่านขึ้นไปแล้ว ทำไมสิ่งเล็กๆ น้อยๆ นี้เมื่อก่อนนี้เป็นของมีคุณค่ากับใจนักล่ะ แต่ในเมื่อถ้าใจมันยังไม่เห็นว่าสิ่งนั้นเป็นของที่ว่าของพึ่งพาอาศัยชั่วคราว มันเห็นเป็นคุณค่ายิ่งกว่าร่างกายแล้วก็หัวใจของเรา ถ้าเรามองคุณค่าขึ้นมา เราจะเห็นร่างกายขึ้นมาก็เป็นประโยชน์ การเกิดในโลกไม่เสียเปล่าแล้ว ร่างกายนี้เป็นประโยชน์ แล้วหัวใจนี้สงบเข้ามา แล้ววิปัสสนาที่ไหนล่ะ วิปัสสนาที่กายเรานี่ไง
แต่เดิม รูป ใจกับตากระทบรูปภายนอก เราเข้าใจ รูป รส กลิ่น เสียง ภายนอก มันจะปล่อยวางเข้ามา ความปล่อยวางเข้ามานี้เรียกว่า ปัญญาอบรมสมาธิ
เรียกว่า การวิปัสสนา การทำความเข้าใจกับ รูป รส กลิ่น เสียง กับที่ว่าเป็นเหยื่อของมาร มารอยู่ในหัวใจเรานี่มันคอยกินเหยื่อ มันเป็น อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อยู่ในคูหาของใจแล้วพยายามอาศัยขันธ์ ๕ ออกมาแล้วก็มาถึงกาย แล้วก็อาศัยกายนี้ออกไปทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไปกินเหยื่อข้างนอก แล้วก็ต้องแสวงหามาเพื่อป้อนเหยื่ออันนั้น ป้อนเหยื่ออันนั้นเราก็ทุกข์ร้อนอยู่กับสิ่งนั้น ถ้าเราเข้าใจแล้วก็ปล่อยวางเข้ามา เห็นไหม ปัญญาอบรมสมาธิ นี่ในระบบ ถ้าธรรมะในระบบเป็นอย่างนั้น
แต่ถ้าเราวิปัสสนาของเรา พอเจอกายภายใน กายภายใน ในตำราบอกไว้ว่าอย่างไร ในตำราบอก กายภายนอก ถ้าเราเดินตามถนนสายนี้ไปมันต้องไปเจอกายภายใน ถ้าเจอกายภายใน เพราะเราไม่ยอมอนุโลมให้ลงเป็นอุปกิเลส ๑๖ ความสว่างไสวของใจ ความเป็นความว่างของใจ อันนั้นมันก็เป็นว่าอันนี้เป็นผล
แต่ในการกระทำของเรา เราว่าอันนี้เป็นเริ่มต้นจากการยกขึ้นดูกายภายใน สาวขึ้นมา เราไม่ยอมให้จิตนั้นนอนเนื่อง ไม่ยอมให้จิตนั้นติดอยู่กับความสุขอันนั้น ติดอยู่กับความสุขที่ว่ามันปล่อยวางเข้ามา นี่อันนี้อยู่ในระบบ ถ้าเราเดินตามระบบ มันเป็นโลกียะ เราก็ยังเดินมาตามระบบ แล้วหัวใจนี้มันจะพ้น มันจะสลัดโลกได้อย่างไร ในเมื่อหัวใจเราเดินตามระบบไป เดินตามอวิชชาสอน
เดินตามธรรมะเข้ามา เราศึกษาธรรมะเข้ามาเพื่อจะให้เราฉลาด ให้เราพ้นจากกิเลส ในเมื่อเราศึกษาธรรมะเข้ามา กิเลสอยู่ในหัวใจของเราก็อาศัยธรรมะนั้นเป็นเครื่องมือให้เราหมุนตามไป วิปัสสนานั้นถึงไม่สลัดโลก ถ้าไม่สลัดโลกยังต้องเกิดตายใน กามภพ รูปภพ อรูปภพ อย่างเดิม ภพชาติในหัวใจนั้นไม่ได้ทำลาย การไม่ได้ทำลายภพชาติเพราะเราอาศัยภพชาติ คือตัวตนของเรารับรู้ไง ถ้าตัวตนรับรู้มันก็นอนอยู่ในความเวิ้งว้างอันนั้น นั้นเป็นการติด เป็นการติดที่จะทำให้เราเนิ่นช้าไป ภพชาติจะไม่ได้ทำลายเลย เพียงแต่ว่ามันเป็นบุญกุศลอันหนึ่ง หมุนไป หมุนไป อันนั้นเป็นธรรมะในระบบ
ธรรมะนอกระบบนี่สิ นอกระบบ ยกขึ้นอีก พยายามยกขึ้นมาพิจารณากายใน กายในกาย
นอกระบบ หมายถึงว่าเป็นการสัมผัส เป็นการประสบของใจดวงนั้น ไม่ต้องเป็นห่วงเป็นใยว่าจะผิดตำรับตำรา ตำรับตำรา...สาธุ ยกไว้ก่อน วางไว้ตำรานั้น เป็นตำรานี่เราต้องเคารพ เคารพเป็นเพราะพระพุทธเจ้าสอนอยู่ แต่ในเมื่อใจมันจะสัมผัส มันจะมีความแตกแขนงออกไป ความรับรู้ของใจที่มันจะรับสัมผัส แล้วเจอภาพซ้อน ภาพใหม่ ภาพเชิงซ้อน ภาพหลอกลวง ภาพอะไรก็แล้วแต่ นั่นน่ะ อันนั้นอยู่ที่ใจจะเข้าไปสัมผัส ถึงว่าไม่ต้องกังวล ต้องให้มันอยู่ในระบบตลอด ถ้าเรากังวลอยู่ในระบบตลอดไป การเดินของใจนี้จะเดินไม่ถูกกับการชำระอวิชชา เพราะอวิชชานั้นอาศัยธรรมะ อาศัยระบบของธรรมนั้นมาหลอกล่อใจ ให้ใจเข้าไปตกติดอยู่ในความละเอียดอ่อนของใจอีกชั้นหนึ่ง อันนี้เป็นอะไร?
อันนี้เป็นปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้นจากการสัมผัส เกิดขึ้นจากการหลงผิด เกิดขึ้นจากการพลั้งพลาดไป เพราะถ้าเราไม่มีปัญญาตัวนี้ขึ้นมา มันยังเข้าไม่ถึงจุดแก่นของธรรม ถ้าเข้าไม่ถึงแก่นของธรรม แก่นของธรรมก็แก่นของกิเลส กิเลสมันอยู่ตรงนั้น แต่ทีนี้กิเลสมันไม่ยอมให้เข้าไปทำลายตัวมันเอง มันไม่ยอมให้เข้าทำลายตัวมัน มันก็ให้อยู่ในวงนอกของเขา อยู่ในวงนอกของเขามันก็หมุนเวียนไป
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องแตกสลายเป็นธรรมดาทั้งหมดเลย
นี่ก็เหมือนกัน...
(เทปขัดข้อง)
...มันว่างไป เราได้แต่สัญญาเดิม ถ้าเสื่อมแล้วนะ สัญญาเดิมคือจิตเราเคยเข้าไปสงบอย่างนั้น เราจะจำสัญญาเดิมได้ เพราะอันนี้มันเป็นธรรมะที่ยังแปรสภาพอยู่
๑. ยังแปรสภาพอยู่
๒. ไม่ได้ยกขึ้นการชำระสะสาง
การชำระสะสาง การชำระสะสางนี้คือการเราค้นคว้าหาผู้ที่เป็นโทษ ใจนี้เป็นนักโทษ นักโทษตรงไหน? นักโทษเพราะว่ามันมืดมันบอด มันไม่เข้าใจ มันเข้าใจมันก็เลยไปติดที่กายนี้เป็นเรา สรรพสิ่งนี้ก็เป็นเราทั้งหมด แล้วความรู้ก็เป็นเรา จิตนี้สงบก็เป็นเรา เห็นไหม เราสงบ เราเป็นเรา เราตลอดเลย พอเราตลอดไปมันก็ต้องหมุนเวียนในไปตามวัฏฏะ ต้องแปรสภาพไปตามธรรมชาติของมัน ถ้าเราไม่ติดข้องไปกับเรา เราทำความสมาธิมาจนตั้งมั่น ตั้งมั่น ยกขึ้นวิปัสสนา ดูกายให้ได้ ยกขึ้นให้ได้นะ
มันมีอยู่ปัญญาหนึ่ง ปัญญาคือว่าถ้าคนไม่มีอำนาจวาสนา ยกอย่างไรมันก็ไม่เห็นกาย เห็นไหม ถึงต้องมีสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม
เวทนา เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ต้องมีโดยทุกคน ถ้าไม่ดูอันนี้ ถ้ายกขึ้นไม่เห็นกายให้ดูเวทนา เวทนาดูความกระเพื่อมของใจไง ใจมันจะกระเพื่อมนะ มันจะสุข มันจะทุกข์ มันจะไหวติง อันนั้นเป็นเวทนาอย่างละเอียด เวทนาอย่างหยาบๆ คือเวทนาของกาย เวทนาของกาย เวลากายเรานั่งอยู่นานนี่มันวิกาล เพราะเราอยู่ในสถานะเดียวนาน มันจะมีความเจ็บปวดขึ้นมา
วิปัสสนาคือวิปัสสนาตรงนี้ไง ตรงนี้เพราะอะไร เพราะว่าความเจ็บปวดของเวทนานี้ใครไปติด สรรพสิ่ง สิ่งนั้น ท่อนไม้ท่อนฟืนเขาอยู่ของเขา กองไว้เป็นปีเป็นเดือนเขาก็ไม่เดือดร้อน สิ่งใดที่คมแข็งนี้เป็นดินทั้งหมด แล้วร่างกายเรานี้ก็เหมือนกับท่อนไม้ท่อนฟืนอันหนึ่ง ถ้าใจมันปล่อยวางได้ ถ้าใจไม่ปล่อยวางมันก็ให้ความทุกข์เข้ามาเต็มที่ นี่ใครไปติด? ใจนี้ไปติด วิปัสสนาก็เพื่อจะให้ใจมันฉลาดขึ้นไง ใจมันฉลาดในสรรพสิ่งที่มันรับรู้
แต่เดิมเราเดินตามระบบ แล้วเวทนาอยู่ภายนอก รูป รส กลิ่น เสียง อยู่ภายนอก มันรับรู้เอาภายนอก ตอนนี้มันตัดเข้ามา ถ้าไม่ตัดเข้ามา อันนี้มันเป็นนอกระบบ นอกระบบหมายถึงมันเป็นประสบการณ์ตรงของเรา เราไม่ต้องเชื่อใครทั้งสิ้น กาลามสูตรไม่ให้เชื่อแม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้ ให้สัมผัสจากความเป็นจริง ถ้าเรายังไม่ได้ปล่อยวางสิ่งใด เรายังไม่ได้ละสิ่งใดออกไปจากหัวใจ สิ่งนั้นยังไม่ใช่วิปัสสนา
แล้วสิ่งที่ว่าเราไม่ได้ปล่อยวาง เราไม่ได้ละอะไร เราปล่อยวาง ปล่อยวางเข้ามาเฉยๆ มันเป็นสมถะโดยสัจจะในตัวมันเอง โดยความเป็นจริงของตัวมันเอง แต่เป็นเพราะความหลงของเราเอง เป็นเพราะความไม่รู้ เราให้ค่าเขาเอง เราไปให้ค่าเขาว่าเขาเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น นี่เราให้ค่า เราเป็นใคร? เราก็คือกิเลส เราคืออวิชชา เพราะอวิชชาอยู่ที่หัวใจ พอหัวใจขยับ อวิชชาขยับ นี่มันติด มันติดตรงนั้น ติดถึงทำให้การวิปัสสนาไปนี้ผิดๆ ถูกๆ
การวิปัสสนาไป เราเดินธรรม เดินธรรมหมายถึงเดินธรรมฝ่ายเหตุ เราสร้างอินทรีย์ทั้ง ๕ อินทรีย์แก่กล้าขึ้นมา เราสร้างโพชฌงค์ นี่ธรรมทั้งหมด ศีล สมาธิ ปัญญารวมเป็นธรรม เราสร้างธรรมขึ้นมา ธรรมเข้าไปชำระกิเลส ธรรมเข้าไปคัดง้างกับกิเลส คัดง้างกับกิเลส กิเลสมันตัวขับไส ให้ความคิดเป็นคิดออกไปตลอด เราสร้างธรรมเข้ามา ธรรมอันนี้ นี่ในระบบทั้งหมดเลย แต่เป็นระบบมันก็ให้เป็นระบบไปก่อน ถึงเวลาเป็นนอกระบบ ความรู้จริงเห็นจริงจะเป็นนอกระบบ มันเป็นปัจจัตตัง รู้จำเพาะตน ความรู้จำเพาะตนนั้นเป็นสมบัติส่วนตน
สมบัติสิ่งใดๆ ธรรม ผู้ที่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมที่ผู้ปฏิบัติสมควรแก่ธรรมนั้นเป็นธรรมของใจดวงนั้น ใจดวงนั้น ธรรมที่สัมผัสกับใจดวงนั้นถึงเป็นธรรมของดวงใจนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปก็ใจดวงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไป ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ววางไว้นี้เป็นกิริยาของธรรม เป็นธรรมในภาคทฤษฎี
กิริยาคือทฤษฎีที่ว่าเราจะเรียนขึ้นมา แล้วเราพยายามสร้างสิ่งที่เป็นทฤษฎีขึ้นมานี้ให้เป็นเนื้อแก่น ให้เป็นเนื้อหนังมังสาของเราขึ้นมา ให้เป็นเนื้อเป็นกำลังของใจขึ้นมา จากเราฝึกฝน ฝึกฝนจนเรามีความคล่องแคล่ว มีความคล่องแคล่วเข้ามา ต้องมีความคล่องแคล่ว ถ้ามีความคล่องแคล่วนั้น เราต่อสู้กับกิเลส นั่นน่ะ คือการต่อสู้กับข้าศึก
เราขึ้นเวทีมวย นักกีฬาชกมวยมีศัตรูฝ่ายตรงข้าม กับเราซ้อมอยู่ต่างกัน เราซ้อมอยู่ เราคนเดียวซ้อมอยู่กับกระสอบทราย มันต่อต้านเราไม่ได้ หน้าที่รับแต่กำลังของเราที่เราโถมใส่เข้าไป อันนั้นมันเป็นการฝึกฝน ฝึกฝนในเวลาเราทำสมถกรรมฐาน เราฝึกฝน พยายามฝึกใจให้คล่องแคล่วขึ้นมา นั่นเราฝึกฝนได้เพราะอะไร เพราะเรายังไม่เจอ เรายังไม่ได้ต่อสู้
วิปัสสนาคือการยกขึ้นต่อสู้กับคู่ต่อสู้คืออวิชชา การยกตนขึ้นต่อสู้กับอวิชชา นั้นคือขึ้นเวทีที่จะต่อสู้กับอวิชชา แล้วถ้าเราไม่มีทักษะ ความไม่คล่องตัวขึ้นมา เราจะเป็นฝ่ายแพ้ตลอด เราเป็นฝ่ายแพ้หมายถึงว่า เวลาวิปัสสนาไป
ยังไม่ถึงกาล ไม่ถึงเวลา
กาลเวลาผ่านล่วงไปแล้ว มรรคผลจะไม่มีแล้ว
ชีวิตของเรายังมีคุณค่า ต้องเมื่อนั้นเมื่อนี้
พรุ่งนี้ลุกไม่ไหวแล้ว
ทุกอย่างนี้...กิเลสจะออกช่องนี้ ช่องที่จะให้เราเลิกก่อนไง เราหยุด เราไม่ทำต่อสู้ไป
ถ้าเราต่อสู้ เราต่อสู้ เราเข้มแข็งต่อสู้ไป นั้นคือการหักแข้งหักขาของความเคยใจ ถ้าหักแข้งหักขาของความเคยใจ คือกิเลส กิเลสมันเคยใจ เคยใจถ้าเกิดความหงุดหงิด เกิดความอะไร เราจะลุกขึ้น เราจะผลัด เราจะเปลี่ยนอิริยาบถ ความเปลี่ยนอิริยาบถอันนั้นเราแพ้แล้ว เพราะในการสืบต่อขึ้นมา ในการทำใจขึ้นมา ใจมันสืบต่อขึ้นมา จาก ๑ ๒ ๓ ๔ นับขึ้นไป ยังไม่ถึง ๑๐ เราเริ่มต้นเปลี่ยนอิริยาบถ ต้องไปนับ ๑ ขึ้นมาใหม่
กำลังของใจ ความสงบของใจ ใจนี้มันจะเป็นเนื้อหาของใจ เวลาทำความสงบเข้าไป จะต่อเนื่องเข้าไป ต่อเนื่องเข้าไป ต่อเนื่องเข้าไป ต่อเนื่องเข้าไป แล้วละเอียดอ่อนเข้าไป ความละเอียดอ่อนเข้าไปคือจิตนั้นจะลงเป็นพื้นฐานไง จะลงถึงอัปปนาสมาธิเลย ถ้าลงลึกเข้าไป ลึกเข้าไป
แต่ถ้าเราเริ่มต้นใหม่ มันก็ต้องถอนใจออกมาขึ้นต้นใหม่ เหมือนกัน ถึงว่าถ้าเราพยายามทำเข้าไป ทำเข้าไป แต่อวิชชาจะให้เรายกเว้นตรงนี้ ให้เราถอยเริ่มต้นใหม่ ให้เราเริ่มต้นใหม่ เราก็ต้องเสียเวลาของเราแล้ว แล้ววิปัสสนายิ่งแล้วเข้าไปใหญ่เลย ถึงว่า ถ้าเราทำแรงเข้าไป แรงงานของเรามาก เราตั้งกายขึ้นมาได้แล้วนะ จับกายจากภายใน จับกายจากภายใน กายจากภายนอกบังไว้ หมดปัญหาไป เพราะเราเข้าใจแล้วเราปล่อยวางเข้ามาแล้ว หมดปัญหา หมดปัญหาแล้ว เรายกขึ้นวิปัสสนา เราไม่ติดอยู่ตรงอุปกิเลสตรงนั้น ยกขึ้นวิปัสสนา ยกขึ้นวิปัสสนาแล้วพิจารณากาย
ถ้าพิจารณากาย ความวิปัสสนาอยู่นี้ถ้าจิตนั้นสงบ จิตนี้ตั้งมั่น การทรงตัวอยู่ของสิ่งที่ว่าเราจะต่อสู้ เราต้องทรงตัวอยู่ ทรงตัวเห็นภาพนั้นได้ชัดเจน ภาพนั้นอยู่ให้เราเห็นได้ ภาพนั้นจะให้เราแปรสภาพได้ นั้นคือการวิปัสสนากาย วิปัสสนาคือว่าให้วิภาคะแยก-ขยายส่วน ถ้าเห็นเป็นภาพอยู่ปกติ มันเห็นอยู่ ความเห็นของใจภายในนะ ความเห็นของตาธรรม ความเห็นจากภายใน เห็นตั้งอยู่ ความตั้งอยู่นั้นเป็นภาพคงที่
วิภาคะคือเป็นอนิจจัง เป็นไตรลักษณ์ คงที่เป็นนิจจัง ความเป็นนิจจังกับจิตที่มันหลงอยู่แล้ว มันเข้ากันได้ จิตที่หลงใหล จิตที่ต้องการให้สรรพสิ่งต่างๆ นั้นคงที่อยู่ตลอดเวลา สิ่งต่างๆ นี้ให้อยู่กับเรา ไม่ให้แปรสภาพ แต่มันเป็นไปไม่ได้ ตามสัจจะความจริง ตามสัจธรรม เพราะใจเราค้านกับธรรม ใจเราค้านกับความจริง ความจริงคือต้องเป็นไตรลักษณ์ทั้งหมด สรรพสิ่งเกิดขึ้นมา ต้องตั้งอยู่ แปรสภาพอยู่แล้วต้องดับไป ต้องดับไป เกิดใหม่ สรรพสิ่งใหม่ เกิดสรรพสิ่งใหม่ เพราะมันยังมีหัวใจมีภวาสวะอยู่ วิปัสสนาไปให้แปรสภาพ
ความแปรสภาพของกายรูปใดก็แล้วแต่ ของกายที่เห็นต่อหน้านั่นน่ะ มันจะสลดสังเวชนะ มันจะสลดสังเวช มันจะรู้สึก ความรู้สึกของใจมันจะตื่นเต้น มันจะฟู่ ฟูขึ้นมา มันจะพอง ขนพองสยองเกล้าไง มันจะปล่อยเป็นคราวๆ ไป ความปล่อยเป็นคราวๆ เพราะอะไร เพราะมันเห็นความแปรสภาพนั้นไง ความเห็นแปรสภาพนั้นมันก็จะสอนใจใช่ไหม เพราะใจเราเข้าใจเองนี่ว่าสิ่งนั้นต้องเป็นเรา ความหลงของใจ ความหลงของใจว่าสรรพสิ่งนั้นเป็นเรา เราเป็นสิ่งเดียวกัน สรรพสิ่งนี้เป็นเรา เรายึดไว้หมด เราจะพูดหรือไม่พูดก็แล้วแต่ ถ้าเราเข้าใจ เราว่าเราเข้าใจ เราเข้าใจนั้นเป็นระบบ
ธรรมในระบบ สัญญาทั้งหมด สัญญาเราจำมา เราว่าเราเข้าใจแล้ว เพราะว่าเราเข้าใจแล้ว อวิชชามันถึงยิ้มไง เพราะว่าเข้าใจแล้วก็คือสิ้นสุดของการประพฤติปฏิบัติแล้วไง ก็นอนซะ ต้องก้มกราบกรานอวิชชาอีกแล้ว จิตนี้ก้มกราบกรานอวิชชา แล้วก็เป็นขี้ข้าเขา ให้เขาขับไสไปอีก ๑ วงความเพียรในรอบนั้น เราแพ้เขาอีกแล้ว นี่เพราะว่าเราเข้าใจ เราเข้าใจ นี่ธรรมในระบบ
ธรรมในระบบคือเป็นสุตมยปัญญา เป็นสัญญา สัญญาคือความจำได้หมายรู้ ความจำได้หมายรู้นี่เราจำมาขนาดไหนนะ ความจำกับความจริงมันคนละอัน ความจำมา แล้วจำมา ใครเป็นคนจำ? เราเป็นคนจำ เราเป็นคนศึกษา แล้วอวิชชา มันอยู่หลังความจำนะ มันใช้ความจำนั้นเป็นมีดกลับมาฟันหน้าเราไง หน้านี้เลือดเต็มหน้ายังไม่รู้สึกตัวไง ถึงต้องก้มกราบกรานว่า เราแพ้เขาอีก ๑ วงรอบของการประพฤติปฏิบัตินั้น นี่อวิชชาเป็นอย่างนั้น แล้วมันอยู่ในเรา
นี่พูดให้เห็นโทษของอวิชชา เราจะยกย่องว่าเราจะดีขนาดไหน เราเป็นนักปฏิบัติขนาดไหน เรามีคุณค่าขนาดไหน แต่ทำไมสิ่งที่ว่าเรามีคุณค่า เราทำไมไม่สามารถเห็นสิ่งนี้ได้ล่ะ ไม่สามารถเพราะอะไร เพราะใจดวงนี้ยังไม่เห็นธรรมไง จะสามารถเห็นได้ถ้าใจดวงนี้ฝึกฝนขึ้นไป จนใจดวงนั้นเห็นกายนี้แปรสภาพ แล้วจะฟูฟ่องขนาดไหน พิจารณาซ้ำเข้าไปอีก มันฟูฟ่องไปมันก็ปล่อย ปล่อยเหมือนกับที่ว่าเราเข้าใจรูป รส กลิ่น เสียง ภายนอก มันจะปล่อยเข้ามาอย่างนั้น ปล่อยเข้ามาอย่างนั้นคือปล่อยเข้ามาเป็นพื้นฐาน เป็นตัวตนของใจ แต่ใจวิปัสสนานี้กำลังต่อสู้กับกิเลส การปล่อยนี้ปล่อยพร้อมกับกิเลสด้วยนะ ไม่ใช่ปล่อยธรรมดาจากปล่อยข้างนอกเข้ามา
ปล่อยข้างนอกเข้ามาคือมันกายนอก มันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ตัวตน มันจะปล่อยอะไร มันปล่อยเทียมๆ ปล่อยเพราะว่าในระบบที่เราศึกษามา เราเข้าใจเอาเอง ปล่อยเพราะความใจไปยึดมั่นถือมั่นในความยึดมั่นถือมั่นอยู่แล้วรอบหนึ่ง เวลาปล่อยก็บอกว่า ใจ ความยึดมั่นถือมั่นบอกให้ปล่อย ก็ปล่อย แกล้งๆ ปล่อยอย่างหนึ่ง มันแกล้งๆ ปล่อยเพื่อจะเข้าไปในอุปกิเลส ๑๖ เข้าไปในความว่างนั้น
แต่ในการปล่อยในอวิชชานี้ ความปล่อยในอวิชชา ความปล่อยความไม่รู้ ความปล่อยในตัวตนของกายที่เราวิปัสสนาที่มันแปรสภาพ แล้วมันปล่อย มันเห็นไตรลักษณ์จริง เห็นการแปรสภาพจริง เห็นความเป็นอนัตตาจริง มันก็ปล่อย ความปล่อยนี้ปล่อยพร้อมกับกิเลสมันเริ่มไหวตัว ความว่างอันนี้กับความว่างอันข้างนอกมันถึงต่างกัน ความว่างจากสมถกรรมฐานนั้นเป็นความว่าง ว่างเฉยๆ ว่างแบบมีตัวตน ความว่างอันนี้ว่างพร้อมกับตัวตนสั่นไหว ตัวตนยังมีอยู่ ยังสั่นไหว สั่นไหว สั่นไหวไป
นี้การวิปัสสนากาย กาย เวทนา จิต ธรรม จิตก็เหมือนกัน ธรรมก็เหมือนกัน วิปัสสนาไปให้แยกออกไป ถ้าวิปัสสนาจิต จิตหรือธรรมนี้ต้องเป็นขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ แยกออกจากกัน แยกออกจากกัน นี่ความแยกออกจากกันเพราะว่าอวิชชาความมีตัวตนของเรามันซ้อนอยู่ ซ้อนอยู่ ซ้อนอยู่ในตรงนั้น ซ้อนอยู่ในขันธ์ ๕ ความไม่เข้าใจ ไอ้นี้ก็เหมือนกัน วิปัสสนากายก็เหมือนกัน ความยึดมั่นถือมั่นของกายว่าเป็นจริง เป็นจริง เป็นจริง เป็นจริงไง กายเป็นจริง มันไม่ยอมตาย มันไม่ยอมให้แปรสภาพ มันจะอยู่ค้ำฟ้าไง แต่สัจจะความจริงแล้วมันต้องสลัดออกไปหมด นี่มันถึงว่า ต้องทำความเข้าใจตั้งแต่เสียเดี๋ยวนี้ ฝึกฝนใจไว้แต่เสียเดี๋ยวนี้ ให้ใจเข้าใจเสียเดี๋ยวนี้
ความแปรสภาพอันนั้นมันจะแปรสภาพไปเรื่อย แล้วเราก็ดูไป ดูไป ดูพร้อมกับปัญญาไป ไม่ใช่ดูแบบเพ่งดูอยู่ การเพ่งดูอยู่นั้นดูภาพคงที่ การเพ่งดูอยู่ด้วยปัญญาคือว่าให้แปรสภาพ คือว่าให้ขยายส่วน ให้แปรสภาพไป ให้ขยายส่วนออกไป แล้วดูไป ซับๆ ซ้อนๆ เข้าไป เพราะแก่นของกิเลสเหนียวแน่นมาก ความยึดมั่นถือมั่นของใจกับวัฏวนนี้ผูกติดกันมาไม่มีต้นไม่มีปลาย ความไม่มีต้นไม่มีปลายนี้ทับซ้อนกันแล้ว ๓ โลกธาตุนี้รับไว้ไม่ได้ ๓ โลกซ้อนกันนี้มันจะเวิ้งว้างขนาดไหน
นี่ถึงต้องซับ ต้องตัด ต้องซ้ำ ต้องซ้ำ ความซ้ำคือการคราด การไถ การต้องการสิ่งนั้นให้แยกส่วนสัดออกไป สัจจะความเป็นจริงไง ให้ตัวตนนั้นทำลายออกไป ตัวตนนั้นทำลายออกไปจากความยึดมั่นถือมั่น นี่วิปัสสนาตามความเป็นจริงมันถึงไม่มีในระบบ
ความไม่มีในระบบเพราะว่ามันจะเกิดขึ้นจากอำนาจวาสนาบารมีของใจแต่ละดวง พร้อมกับการวิปัสสนาไปของอำนาจ ของพลังงานของใจ พลังงานของใจนั้น พลังงานของสัมมาสมาธิ ความดำริชอบ ความเห็นชอบ การงานชอบ ความเพียรชอบ ความตั้งสติชอบ สัมมาสมาธิชอบ นี่คือธรรมจักร จักรอันนี้เคลื่อนออกไปจากหัวใจ จากหัวใจที่เราสร้างขึ้นมา เห็นไหม หัวใจแต่เดิมเป็นหัวใจที่ว่ามืดบอด หัวใจที่ไม่มีคุณค่า หัวใจที่ใช้ชีวิตนี้เพื่อจะให้มันภพชาติสิ้นไปชาติหนึ่งเท่านั้นเอง แล้วก็ต้องตายไป เหมือนกับสัตว์เขาเอามาฆ่า เข้าโรงฆ่าสัตว์ก็ต้องตายไป ไปเกิดใหม่ เกิดใหม่ นั่นหัวใจที่ไม่มีค่า หัวใจที่ว่าไม่รู้จักคุณค่าของใจของตัวเอง
ใจตัวเองสร้างสมบุญญาธิการสร้างขึ้นมา บุญญาธิการสร้างขึ้นมา กรรมดีคือการกระทำจากหัวใจ การกระทำภายใน ไม่ใช่การกระทำภายนอก สร้างสมขึ้นมาจนวิปัสสนาญาณเกิด วิปัสสนาญาณเกิดก็ธรรมจักร ธรรมจักรเกิด ธรรมจักร จักรอันไหน? จักรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่นก็ชำระล้างในหัวใจองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จักรของใจดวงใด จักรในดวงใจก็ต้องทำลายอวิชชา ทำลายกิเลสในดวงใจดวงนั้น
นี่มันต้องสร้างขึ้น แล้วสร้างขึ้นมาจนได้ขนาดนั้น ความมหัศจรรย์จะเกิดจากความเห็นภายใน ความเห็นของใจดวงนั้นมันจะปล่อยวางไปเป็นชั้นเป็นตอน เป็นชั้นเป็นตอน เป็นชั้นเป็นตอนเพราะว่าอะไร เพราะว่าความปล่อยอันนั้นความสุขจะเกิดขึ้นจากใจพร้อมขึ้นมา เพราะมันปล่อยวางว่างสบาย ว่างสงบ ว่างสบาย แล้วว่างปล่อยจากความหมักหมมของใจ
ฟังสิ แต่เดิมมันว่างเฉยๆ ว่างเหมือนกับเราเก็บกวาดไว้ อันนี้ว่างแบบไม่มีเลย สิ่งใดก็ไม่มี ลึกละเอียดกว่ากัน นี่จะเหมือนกับว่า เบา ลอยไปหมด ความสุขจะเกิดขึ้น เกิดขึ้น ก็ซ้ำไป ต้องซ้ำไป ส่วนใหญ่แล้วพระที่เราถอย ท้อถอยกันเพราะว่าปล่อยหนเดียว ถ้าเจอแล้วก็ปล่อยหนเดียว คิดว่า คำว่า ปล่อย นั้นเป็นสิ่งเป็นผลงานแล้วไง เห็นไหม เอาระบบไปจับระบบมาเทียบไง
ระบบนั้นต้องให้ถึงความเป็นจริงก่อน ถึงความเป็นจริงมันสมุจเฉทปหานออกไป ถ้าถึงความสมุจเฉทปหานของธรรมจักรนี้เคลื่อนตัวแล้ว จะเห็นสัจจะความจริงว่า ตัวตนในกาย กายนี้เป็นเรา เราอยู่ในกาย เห็นเราอยู่ในกาย เห็นกายในเรา เห็นเราในกาย นี่ความเป็นตัวตน เห็นตนในจิต เห็นจิตในตน ความเป็นตัวตนอันนี้มันจะหลุดออกไป หลุดออกไปเพราะว่าใจกับกายแยกออกจากกัน สิ่งที่เป็นอวิชชา สิ่งที่เป็นความไม่รู้อวิชชา เป็นตัวตนอยู่นี่ อยู่ในหัวใจ ความยึดมั่นถือมั่น เป็นกระแสจะหลุดออก ต้องหลุดออกโดยธรรมชาติ หลุดออกโดยสัจจะความเป็นจริง
ความหลุดออกนั้นคือสมุจเฉทปหาน รู้จำเพาะตน ความรู้จำเพาะตนนี้ไม่มีในระบบ มันมีเฉพาะใจดวงนั้น เพราะมันเป็นผลงานของใจดวงที่ประพฤติปฏิบัติ มันไม่ใช่อยู่ในตำรับตำรา ไม่ใช่อยู่ในระบบของใครที่จะต้องเดินตามร่องรอยนี้ไง ตามร่องรอยนี้เดินตามกันไม่ได้ อำนาจวาสนาของใจไม่สามารถเท่าเทียมกันได้ การจะถึงจุดการทำลายตัวตน ตัวความยึดมั่นถือมั่นของใจ ทุกดวงใจทำได้ เพราะทุกดวงใจเป็นผู้ยึด ทุกดวงใจเป็นคนไข้ ทุกดวงใจมีความบกพร่องในหัวใจ ความบกพร่องในหัวใจ ดวงใจนั้นถึงทำความเต็มอิ่มของใจได้ หัวใจสามารถสะสมให้ใจดวงนั้นเต็มอิ่มเสริมขึ้นมาในหัวใจนั้นได้
ฉะนั้น ทุกดวงใจถึงทำได้ แต่ทำโดยปัจจัตตัง ทำโดยปัจจุบันธรรม ทำโดยอกาลิโก ไม่มีกาล ไม่มีเวลา อีกร้อยปีพันปีไปข้างหน้า ผู้ใดประพฤติปฏิบัติสมควรแก่ธรรม เขาก็ต้องรู้แบบนี้ กาลเวลา จาก ๒,๕๐๐ ปีมา จากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว
จนปัจจุบันนี้ ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
อกาลิโก ไม่มีกาล ไม่มีเวลา ไม่ต้องสนใจกับเรื่องเวลา ไม่ต้องสนใจกับเรื่องว่าเมื่อไรๆ ต้องสนใจว่า หัวใจนี้มีความพร้อมไหม หัวใจนี้มีความจริงจังไหม
ถ้าหัวใจนี้มีความจริงจังแล้วสะสมขึ้นมาจนเกิดภาวนามยปัญญา ธรรมจักรเคลื่อนออกไป สมุจเฉทปหานตัวตนออกไปจากใจ ตัวตนที่สำคัญตนผิดว่า กายกับใจนี้เป็นอันเดียวกัน ความสำคัญผิดหลุดออกไปจากใจ ไม่สีลัพพตปรามาส ไม่มีการลูบๆ คลำๆ ความลูบๆ คลำๆ ในการประพฤติปฏิบัติ...เลิก ยกกันไป จิตดวงนี้เป็นอจลศรัทธา ความศรัทธายึดมั่น ความศรัทธาจริงของใจดวงนี้จะก้าวเดินขึ้นไป จะก้าวเดินขึ้นไปในกาย เวทนา จิต ธรรม พร้อมกับทำพื้นฐานขึ้นมาเพื่อจะขุดคุ้ยไง ทำพื้นฐาน ทำความสงบของใจขึ้นมา จิตนี้เป็นความปล่อยวาง เป็นความว่าง เป็นความว่างอันหนึ่ง ความว่างนั้นเป็นผล แต่จะเดินกำลังออกมา การขุดคุ้ยต้องทำความสงบขึ้นมา ออกมาเป็นสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิถึงขับไสพลังงานของใจให้ก้าวเดินออกไป ขุดคุ้ยในกาย เวทนา จิต ธรรม อีก ขุดคุ้ยในกาย เวทนา จิต ธรรม เพื่อหาไง เพื่อหางานในวิปัสสนา
งานในระบบก็ก้าวเดินตามระบบไป มันก็จะตกหลุมตกร่องไปอย่างนั้น ถ้างานนอกระบบ แล้วตัวเองได้มีการยืนยัน ตัวเองได้ผลจากใจดวงนี้มาเป็นเครื่องยืนยัน มันจะก้าวเดินไป ความถนัดของใจ ความถนัดของการเคยทำงานขึ้นมา นี่ใจจะมีวิธีการ
แต่เดิมมาเดินตามครูตามอาจารย์มาแบบต้อยๆ มีความลังเลสงสัยมาพร้อมไปตลอดนะ มีความคาดความหมาย ความยังว่า จะจริงไหมในการประพฤติปฏิบัติ แต่มันเป็นอจลศรัทธาขึ้นมาแล้ว ไม่ต้องมีใครบอกใครสอน ใจดวงนั้นเป็นของแน่นอน เป็นของแน่นอนที่จะก้าวเดินขึ้นไป เดินขึ้นไป เดินขึ้นไปในทางที่สูงขึ้นไป สูงขึ้นไป สูงขึ้นไปเพื่ออะไร ทุกคนต้องการความสุขอย่างยิ่ง ความสุขในตัวตนของเรานี้เป็นความสุข เราว่ามีความสุขแล้ว เราเข้าใจแล้ว ตัวตนในกาย ไม่เข้าใจในกายแล้ว แต่ตัวตนของใจล่ะ ขันธ์นอก-ขันธ์ในไง
ขันธ์นอกคือว่า ขันธ์ที่เกี่ยวกับใจ แต่เดิมเรา เราเห็นรูปภายนอก มันวิ่งไปเอารูปข้างนอกนู่นน่ะ เราทำความเข้าใจ ปล่อยรูปข้างนอกเข้ามาอยู่ในตัวของเรา ในตัวของเราสงบขึ้นมาจนเห็นกายของเราขึ้นมา เห็นกายของเรา ขันธ์ ๕ กับหัวใจ หัวใจนี่เป็นขันธ์ ๕ มันก็ติดกายด้วยขันธ์ ๕ นั้น แล้วเราสลัดคืนแล้ว เราสลัดคืนด้วยความเป็นสัจจะความจริง ไม่ใช่สลัดคืนด้วยการอนุโลม-ปฏิโลมด้วยใครบอกไง ต้องมีคนค้ำประกันในความเป็นจริงอันนี้ อันนั้นเป็นความไม่จริง
ถ้าเป็นความจริงแล้วใครจะค้ำประกัน ไม่มีใครจะรู้จริงเท่ากับใจดวงนั้น ใจดวงนั้นเห็นตามความเป็นจริงแล้วสลัดคืนตามความเป็นจริง ไม่ต้องมีใครบอก พอไม่มีต้องใครบอกก็ก้าวเดินต่อไป ก้าวเดินต่อไป จากพื้นฐานเดิมอันนั้น ก้าวเดินทำความสงบเข้ามา ทำความสงบเข้าไป ต้องมีความสงบเข้ามาก่อน ความสงบเข้ามา เพื่อขุดคุ้ยหา กาย เวทนา จิต ธรรม
งานในการรื้อภพรื้อชาติ งานในการทำให้หัวใจนี้ฉลาดขึ้นมา แต่เดิมหัวใจนี้ติดทั้งกายเรา ติดทั้งรูป รส กลิ่น เสียง ภายนอก แต่เราชำระล้างเข้ามาแล้วกายนี้ใจนี้เป็นเอกเทศขึ้นมา แต่มันยังติดในตัวมันเองอยู่ ติดในตัวมันเองอยู่จะต้องชำระล้างด้วยสิ่งใด? จะต้องชำระล้างด้วยธรรมจักรเท่านั้น ญาณํ อุทปาทิ ญาณความหยั่งรู้ของใจ ใจนี้ติดกาย ติดกายแล้วก็ติดตัวมันเอง ในการเป็นตัวตน ตัวตนในตัวตนของตัวตนของใจนั้นสำคัญที่สุด ตัวตนของใจเป็นกระแสเข้ามา พยายามขุดคุ้ย เป็นกระแส กระแสคือความติดข้องมาเป็นชั้นเป็นตอนไง
มรรค ๔ ผล ๔ ต้องชำระล้างเข้ามาเป็นชั้นๆ เข้ามา ต้องรับกายนอก-กายใน ในเมื่อต้องการความสว่าง ความสว่าง-ความมืด ความสว่างของใจ ต้องให้ใจนี้ผ่องแผ้ว ใจนี้ถึงที่สุด ขุดเข้ามา ขุดเข้ามา ขุดที่อื่นเป็นงานข้างนอก งานข้างนอกเป็นงานข้างนอก ต้องขุดเข้ามาที่นี่ การขุดคุ้ยหาถึงเป็นวิธีการที่ว่างานนี้แสนยาก ผู้ร้ายที่ทำความผิดแล้วต้องพยายามซ่อนเร้นตัวให้เอาตัวรอดจากการโดนเจ้าหน้าที่เขาตรวจสอบ
อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าทำขึ้นมาไม่เกิดนี้ ความคิดของเราเป็นใหญ่ พอความคิดของเราเป็นใหญ่นี่มันก็ผลักไสให้เราคิดตามอำนาจของมัน แต่เราทำความสงบเข้ามา เพราะความสงบนี้บีบคั้น เหยียบย่ำความคิดนั้นไม่ให้เป็นอิสระ ถ้าความคิดนี้เป็นอิสระ มันเป็นความคิด มันเป็นความฟุ้งซ่าน ความคิดมันยังคิดได้ ยิ่งเข้าไปใกล้ความคิดนี้มันยิ่งดีดดิ้นรนเพื่อจะเอาตัวรอด เห็นไหม ความคิดที่จะเอาตัวรอด มันก็ต้องเป็นการหาอุบายวิธีการหลอกล่อใจไง
ที่ตรงนั้นจิตอยู่ที่นั่น จิตอยู่ควรจะเป็นอย่างนี้ ความสว่างจะเป็นอย่างนั้น อันนี้เป็นการเข้าใจผิด เป็นการสร้างผลเป้าลวงขึ้นมา
นี้คือผลของการวิปัสสนาเข้าไป จะมีเป้าลวง เป้าจริงเราไม่เคยเห็น ถ้าเป้าจริงเคยเห็น ใครจับเป้าจริงได้ เป้าลวงนั้นจะไม่มีความหมายเลย นี่เป้าลวงนั้นมันจะหลอกให้เราหลงทางไป ถ้าจับเป้าจริงได้คือเห็นกายใน กายในกาย วิปัสสนากายในกายขึ้นมา แยกออกไป วิปัสสนาต้องซ้ำ ซ้ำเพราะแก่น ทุกชั้นทุกตอนจะเป็นแก่น พอซ้ำเข้าไปจะแยกออก แยกออก ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ ถ้าดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ เพราะอะไร เพราะธาตุ ๔ นั้นแยกออกจากกัน ธาตุ ๔ นี้แยกออกจากกันมันก็เป็นอากาศธาตุ ความเป็นอากาศธาตุนี้แยกออกไป แล้วใจอยู่ที่ไหนล่ะ
แต่เดิม ความเห็นตัวตนเป็นตัวตน ตัวตนภายนอกนี้มันเป็นตัวตนมันรวบยอด รวบยอดว่ากายเป็นเรา เราเป็นกาย แต่พิจารณากายภายในขึ้นไป มันแยกธาตุสลาย ความเป็นธาตุ เป็นอากาศธาตุ ความเป็นอากาศธาตุ ใจนี้ต้องไม่มีที่อยู่อาศัย ใจกับกายนั้นแยกออกจากกัน พอแยกออกจากกัน สังโยชน์เบาบางออกไป นี่แยกเข้ามา ยกขึ้นไป กายพิจารณาอีก กายพิจารณาเป็นอสุภะ-อสุภัง อันนี้มันจะหาได้ยาก ความหาได้ยาก เพราะอสุภะ-อสุภังนี้จะทำลายกามภพ
อสุภะอสุภังภายใน มันเป็นกายภายใน กายของกายละเอียด ความเป็นกายละเอียดขึ้นมา เพราะจิตมันละเอียดเข้าไป ความละเอียดเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ความละเอียดอันนั้นยกขึ้นดู ยกขึ้นดู ถ้ายกขึ้นดูนั้น แรงต้าน แรงต่อต้าน แรงต่อต้านเพราะมันใกล้ ใกล้กับเชื้อเพลิง ความเป็นเชื้อเพลิง เชื้อเพลิงเผาไหม้เพื่ออะไร เพื่อเชื้อเพลิงจะเอาตัวรอด เชื้อเพลิงจะเอาตัวรอดไว้ บังคับขับไสถึงกับว่า ให้เป็นให้ตายได้
ถ้าเราทำเราวิปัสสนาอยู่ตรงนี้ อดอาหาร ผ่อนอาหาร จะหลอกถึงกับว่า ให้อดให้ถึงกับดับชีวิตไปเลย เพื่ออะไร เพื่อว่าจะให้กิเลสนั้นมันจะได้อาศัยอยู่ในหัวใจนั้นต่อไป ถึงจะมีเวลาน้อยแล้ว เพราะว่าเราผ่านขั้นผ่านตอนเข้ามา ภพชาติมันสั้นเข้ามาแล้ว การเกิดการตายสั้นเข้ามา สั้นเข้ามา แต่มันก็ยังเกิดยังตายอยู่ ฉะนั้น อวิชชา หลอก เวลาหลอกผู้ปฏิบัติหลอกขนาดนั้น หลอกขนาดถึงกับว่าให้ถึงกับดับขันธ์ได้ หลอกขนาดถึงว่าให้สิ้นชีวิตเลย
เวลาหลอกขึ้นมา ไม่ให้ฉันอาหาร ไม่ให้กินอาหาร นี่หลอกขนาดนั้น เห็นว่าสิ่งนั้นมันขยะแขยง แล้วมันกินไม่ได้ มันจะลงไปจับต้องสิ่งนั้นไม่ได้เลย มันปฏิเสธไง พอปฏิเสธไป นี่เวลาทำขึ้นมา เวลาเราสู้ เราต่อสู้ขึ้นไป กิเลสนี้จะต่อต้านมาตลอด แล้วถ้าเราเดินตามระบบไป ในระบบนั้น เราจะเข้าใจว่าอย่างไร
แต่ถ้าเป็นนอกระบบ มันก็ต้องหาวิธีการนอกระบบ ธรรมนอกระบบ คือธรรมสัมผัส ธรรมที่ประสบเองในหัวใจ มันก็ต้องหาทาง หาปัญญาการแก้ไข ต้องแก้ไขจากความเป็นภายใน ภายในหมายถึงว่า มันคิดออกจากหัวใจใช่ไหมว่า เราจะต้องเป็นไป นี่มันต้องแก้จุดตรงนั้น ไฟเกิดที่ไหน น้ำต้องดับลงที่นั่น ถ้าน้ำดับลงที่นั่นมันจะแก้ไขเหตุการณ์นั้นไปได้ ถ้าน้ำไม่ดับลงที่นั่นมันจะเกิดไฟเผา ลุกไหม้เป็นเชื้อเพลิงตลอดไป
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าความสงสัยอันนี้เกิดขึ้น แล้วถ้าเราไม่แก้ไข ถ้าช้าเกินไปถึงกับตายได้ แต่ถ้าเราแก้ไขได้ ถ้าไม่ถึงกับตายได้ ถ้าออกมา มันก็ทำให้เราเสียเวล่ำเวลาไป ถ้าไม่หลอกถึงกับตาย หลอกถึงกับสิ่งต่างๆ ก็ทำให้เราเสียเวลา หลอกว่าเพื่ออะไร ต้องแก้ไขตรงนี้ ถ้าดับตรงนี้แล้วจบ พอจบนี้มันเป็นปัญญาหลอก นี่เป้าลวง แล้วเราหาเป้าจริงจนเจอ จนเจอการวิปัสสนา
งานวิปัสสนาเข้าไป ถ้าวิปัสสนาเข้าไป จักร จักรของธรรม จักรของธรรมที่ละเอียดอ่อน สูงขึ้น สูงขึ้น ความเป็นที่สูงขึ้น ความละเอียดอ่อน ความเป็นละเอียดอ่อนมันจะละเอียดอ่อนเข้าไป ละเอียดอ่อนเข้าไปจากหัวใจของเรา ใจหยาบๆ เป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา ละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป วิปัสสนาเข้าไป วิปัสสนาเข้าไป พอวิปัสสนาเข้าไปมันก็เหมือนตาธรรมเปิดขึ้น
ความมืดบอด มืดบอดไป ตรงนี้ธรรมมืดบอดมาก ตรงนี้ทำให้แบบว่าทุกคนต้องติดอยู่ตรงนี้ไง เรื่องของกาม ใครก็พ้นไปไม่ได้ ใครพ้นไปไม่ได้ แต่ถ้าสมุจเฉทปหานออกไป ครืน! โลกธาตุไหว ไหวเพราะอะไร ไหวเพราะไม่กลับมาเกิดในกามภพ ตั้งแต่เทวดาลงมา ไม่กลับมาเกิดอีกเลย ใจดวงนี้ ขันธ์ ๕ นี้ขาดออกไป ขาดออกไป เวิ้งว้างออกไป นี่พอเวิ้งว้างออกไป เวิ้งว้างเป็นสักแต่ว่าเลยนะ จิตนี้เป็นหนึ่งเดียว หนึ่งเดียวว่างหมดตลอด
จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส นี่ไง ผู้รู้อยู่ที่นี่ แต่ก็ไม่มีใครเคยเห็นผู้รู้ ถึงว่าถ้าเดินตามระบบ ผู้รู้หรือว่า ผู้รู้แล้วต้องฉลาด การศึกษาเล่าเรียนมา พุทธะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แต่ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานนั้นเป็นเจ้าวัฏจักร เจ้าวัฏจักรคือตัวเจ้าอวิชชา ตัวอวิชชาถ้าเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานนั้นมันเป็นตำรา ตำราบอกไว้ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พุทธะนี้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แต่ตามหลักความเป็นจริง ผู้รู้คือตัวอวิชชา ผู้รู้นี้จะบังคับขับไส จะพยายามหลบหลีกออกไป จะหลบหลีกออกไป ถึงตายไปก็ต้องไปเกิดเป็นพรหม ๕ ชั้น แล้วรอสุดไปข้างหน้า เพราะถึงที่สุดผู้รู้กับใจนี้เป็นอันเดียวกันแล้ว ละขันธ์เข้ามา
แต่ถ้าชำระล้าง ผู้รู้ที่เป็นผู้รู้อยู่นี้ เอาปัญญาญาณ เอาญาณหยั่งรู้เข้าไปจับตัวผู้รู้ พอจับตัวผู้รู้ได้ ผู้รู้ที่เราจับตัวได้ ยิ่งเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ มันเป็นสสาร เป็นตัวธาตุ แต่เดิมที่เราไปจับกันขึ้นมานี้มันเป็นระหว่างมือ ๒ มือ หรือว่าเครื่องมือเข้าไปจับ แต่อันนี้มันเป็นสสารตัวนั้นแปรสภาพเป็นตัวผู้รู้ หรือตัวผู้รู้แปรเป็นสสาร มันแปรสภาพเป็นอันเดียวกัน สิ่งเดียวกันจับต้องสิ่งเดียวกัน เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ที่สุด เป็นสิ่งที่ว่าในระบบนั้นไม่มี ถ้าเดินตามระบบ จะเดินหลงจากจุดนี้
ถ้าเดินนอกระบบ นอกระบบคือนอกความวิปัสสนาญาณขึ้นไปโดยธรรมชาติของความสัมผัสของใจ มันจะเข้าไปชน ไปชนกับสิ่งนั้นด้วย ไม่ใช่ชนด้วยอัตโนมัติ ชนด้วยความมุมานะ ชนด้วยความวิริยอุตสาหะ ชนด้วยการค้นคว้า ชนด้วยอำนาจวาสนาบารมีของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะพลิกคว่ำภพชาติ ให้สิ้นสุดไป จะพลิกไง จะต้องค้นคว้าให้เจอจุดนี้
ถ้าไม่เจอจุดนี้เป็นไปไม่ได้ ไม่เจอจุดนี้ก็ยังเวียนไปเวียนมา หลงละเมอเพ้อพกไปอยู่ในกับอากาศธาตุอยู่อย่างนั้น ไม่เคยเจอกับความเป็นสสาร จับสสารตัวนี้ได้ พอสสารจับสสารได้ มันก็เป็นตัว อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เป็นวิชชา พลิกขึ้นมาก็เป็นวิชชา ต้องพลิกฟ้าคว่ำดิน พลิกฟ้าคว่ำดินก็จบสิ้นกัน
สุดสิ้นแห่งการเป็นขี้ข้า สุดสิ้นแห่งการต้องเคารพนบนอบกับอวิชชาที่ปกคลุมใจนี้มา ใจนี้อวิชชานี้ปกคลุมหัวใจดวงนี้พาเกิดพาตายมาไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีภพ ไม่มีสิ้นไม่มีสุด ไม่มีต้นไม่มีปลาย สุดสิ้นของภพนั้น หัวใจสว่างไสว หัวใจนี้เป็นผู้ที่มองโลกนี้เป็นเหยื่อ โลกนี้เป็นสิ่งที่ว่าอาศัยกันไป ถึงบอกว่า
ผู้ที่มีธรรมแล้วมองธรรมในโลกนี้ มองโลกนี้เป็นธรรม
ผู้ที่ไม่มีธรรมมองโลกนี้เป็นที่เครื่องน่ารื่นรมย์ เป็นที่น่านอนอกนอนใจ
ผู้มีธรรมแบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระอริยสาวกต่างๆ มองโลกนี้ มองเป็นแบบสลดสังเวชไง มองแบบปลงธรรมสังเวช เป็นธรรม ธรรมที่ว่า ถ้าไม่เห็นธรรม มันก็เวียนตายเวียนเกิดอยู่อย่างนี้ แต่เพราะนี่เห็นธรรมแล้ว ก็ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย
ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย แต่ก็ยังมีขันธ์ ๕ มีร่างกายอยู่ ขันธ์ ๕ ร่างกายนี้ก็เหมือนมนุษย์ปุถุชนธรรมดานั่นล่ะ ต้องขับ ต้องถ่าย ต้องอาศัยกันไป ต้องอาศัย ต้องใช้ดำรงชีวิต ต้องกิน ต้องอยู่ เจ็บไข้ได้ป่วยเหมือนกัน แต่หัวใจดวงนั้นสว่างไสว หัวใจดวงนั้นไม่สามารถกระทบกระเทือนหัวใจดวงนั้นได้ หัวใจดวงนั้นถึงประเสริฐไง นี่ธรรมนอกระบบ (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)