เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๙ ม.ค. ๒๕๕๑

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๕๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เพราะธรรมะเวลาเทศน์ออกไปมันมีฤทธิ์มีเดช มีฤทธิ์มีเดชเพราะว่ามันข่มขี่กิเลสได้ แต่ถ้าไม่มีฤทธิ์มีเดช มันคำพูดเหมือนกัน แต่มันข่มขี่กิเลสไม่ได้หรอก แล้วกิเลสมันก็ไม่ยอมรับด้วย

ดูสิ อย่างอาทิตย์ที่แล้ว เห็นไหม พวกโยมถามว่าเวลาเราไปบวชพระ ทำไมอุปัชฌาย์ถึงบอก “เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ” ทำไมไม่บอกดวงแก้ว ทำไมไม่บอกกสิณ ทำไมไม่บอกเรื่องทำความสงบของใจ?

เราบอกว่าถ้าทำความสงบของใจ เห็นไหม ถ้าพูดประสาเราโดยสามัญสำนึก ไอ้เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ พวกเรามองเป็นของพื้นๆ นะ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นของพื้นๆ เลย เป็นของที่แทบไม่มีค่าเลย แต่ถ้าเป็นกสิณนี่ โอ๋..เป็นฌานสมาบัติ อู๋ย..มีค่า

แต่ถ้าเป็นผู้ปฏิบัตินะ ตรงนั้นถ้าพูดถึงสภาวะตรงนี้นะ คนติดหมดเลย ถ้าพูดถึงตรงนี้มีคนติดเพราะอะไร เพราะว่าสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ปรารถนาใช่ไหม มันติดเพราะอะไร ติดเพราะมันแบบว่าในสมัยก่อนพระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ขึ้นมา มันมีฤๅษีชีไพร เขาก็ทำได้อยู่แล้ว เรื่องเพ่งกสิณเขาทำได้อยู่แล้ว เรื่องสมาบัติเขาทำได้อยู่แล้ว ถ้าไปพูดอย่างนั้นปั๊บศาสนาแทบไม่มีค่าเลย

แต่ทางพวกเรา พวกสามัญสำนึกบอกมีค่ามากเลย เพราะมันเป็นกสิณใช่ไหม มันเป็นสมาธิ มันเป็นฌาน มันทำให้มีฤทธิ์มีเดช แต่ถ้ามันเป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นความเห็นถูกต้อง พระพุทธเจ้าบอกเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เพราะเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ มันเป็นคำบริกรรมก็ได้ เป็นคำบริกรรมแล้วมันเป็นสะพานทอดเข้าไปหาปัญญาได้ไง เพราะอะไร?

เพราะพวกเราติดกันที่เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ แล้วการที่จะเข้าผ่านตรงนี้ไปได้ มันก็ต้องมีสมาธิเป็นพื้นฐาน ถ้ามีสมาธิเป็นพื้นฐาน ถ้าเราบอกว่าเป็นกสิณเป็นเรื่องสมาธิ มันก็ติดที่สมาธิไง พอทำแล้วมันก็เข้าเป้าแล้วใช่ไหม?

ไอ้นี่มันไม่เข้าเป้า เรื่องกสิณและสมาธิไม่ใช่เข้าเป้า มันเป็นพื้นฐานเฉยๆ พื้นฐานเข้าไป เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ มันเอามาเป็นคำบริกรรมก็ได้ เอามาเป็นวิปัสสนาก็ได้ ถ้าวิปัสสนาเพราะอะไร?

เราทะลุผิวหนัง เราติดกันที่ผิวหนัง แล้วเราทะลุผิวหนังเราก็ด้วยสามัญสำนึกใช่ไหม เราก็ทะลุผิวหนัง นึกเอาสิ แสงเลเซอร์มันก็ยิงทะลุได้ เพราะว่าเวลามันตรวจภายในเขาแผ่ทะลุได้ แล้วมันได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา?

มันทะลุผิวหนังมันทะลุด้วยปัญญา ถ้าทะลุผิวหนังด้วยปัญญา ปัญญามันจะเกิดขึ้นใหม่ ดูสิ ดูเวลาเราเห็นผิวหนัง เห็นไหม รูขุมขนมันแยกส่วนขยายส่วนได้เลย รูขุมขนนี่มันแยกออกขึ้นมา แล้วมันจะกลับมาเป็นสภาวะเดิม มันแยกออก สภาวะนี่วิภาคะ นี่การแยกส่วนขยายส่วน ถ้าแยกส่วนขยายส่วน นี่ปัญญามันเกิดอย่างนี้ แต่เกิดอย่างนี้มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไรถ้าจิตไม่เป็นสมาธิ

แสงเลเซอร์หรือว่ามีด หรือสิ่งต่างๆ ที่ใช้ฟันเข้าไป มันก็ฟันเข้าไปโดยวิทยาศาสตร์เฉยๆ แต่ถ้าเป็นปัญญามันแยกส่วน มันทำให้ภาพเคลื่อนไหว ภาพขยายส่วนออกไป พอภาพขยายส่วนออกไป เราจะเห็นรูขุมขนของเราว่ารูขุมขนเรามันเป็นอะไร ข้างในใต้ผิวหนังมันมีเลือดมีน้ำหนอง มันเป็นอาหารอะไรของขน ขนมันอาศัยอยู่ได้อย่างไร แล้วผิวหนังนี่มันรักษาได้อย่างไร แล้วมันหยุดอยู่ชั่วคราวได้อย่างไร เห็นไหม ปัญญามันเกิด มันเกิดอย่างนี้

ถึงว่าเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจสำคัญ แต่พวกเรามองไปเห็นเป็นเรื่องสามัญสำนึก เป็นเรื่องธรรมดา แล้วโดยความรู้สึกของเรา เราก็คิดกันอย่างนั้น เรื่องกสิณ เรื่องฌานสมาบัติต้องเหนือกว่าเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ

แต่ในทางปัญญานะต่ำกว่า ต่ำกว่าเยอะด้วย ต่ำกว่าเยอะมากเลยเพราะพระพุทธเจ้าไม่เกิดขึ้นมา ทำไมฤๅษีชีไพรเขาเหาะเหินเดินฟ้าได้ล่ะ ไอ้นั่นที่เขาเหาะเหินเดินฟ้าเขาใช้อะไร แล้วฤๅษีชีไพรที่เขาทำความสงบเขาใช้สมาบัตินั้น อันนั้นอะไร มันไม่ใช่กสิณเหรอ ไม่ใช่ความว่างเหรอ เป็นความว่างอยู่ แล้วความว่างมันได้อะไรถ้าไม่มีปัญญาขึ้นมา แล้วปัญญามันอยู่ไหน นี่ศาสนาพุทธสำคัญตรงนี้ไง

ศาสนาพุทธสำคัญตรงนี้ สำคัญว่าปัญญาความรอบรู้ในกองสังขาร รอบรู้ในความคิดไง เอาสังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง นี้มาเป็นปัญญาของเรา จากเป็นโลกียปัญญา ปัญญาเราใช้สมอง เราใช้ในเรื่องของโลก แต่ถ้ามันพลิกกลับมาด้วยความว่างมันเป็นสากลแล้ว ความเป็นสากล เห็นไหม ภราดรภาพ ความเสมอภาคของสมาธิ แล้วปัญญาเกิดอย่างไรทีนี้ ถ้าสมาธิแล้วปัญญาเกิดไม่เป็นแล้ว

ถ้าปัญญาเกิดเป็นโดยอัตโนมัตินะ อาฬารดาบสต้องเป็นพระอรหันต์ไปแล้ว ฤๅษีชีไพรต้องเป็นพระอรหันต์ไปหมดเลย แต่เขาเป็นไม่ได้เลยเพราะเขาไม่ได้สร้างมา ปัญญาอย่างนี้ ปัญญาที่ลึกซึ้งอย่างนี้มันจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร นี่ถึงทอดสะพานอันนี้ไว้ไง

อุปัชฌาย์ถึงทอดสะพานเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ถ้าไม่บอกกรรมฐาน ๕ นี้บวชพระไม่สำเร็จเป็นพระ ไม่สำเร็จเป็นพระเลย แล้วสำเร็จเป็นพระขึ้นมาเพราะมันทอดเข้ามาถึงอริยมรรค มันทอดเข้ามาถึงความเห็นจากภายใน ทอดเข้ามาถึงหัวใจ

ถ้าหัวใจมันทอดเข้ามาอย่างนี้ปั๊บ มันทอดสะพานไว้ให้เราก้าวเดินตาม แต่พวกเราเข้าใจไม่ถึง ไปเห็นมันไม่มีคุณค่าไง แต่ถ้าเห็นคุณค่าจากหัวใจนะ มันจะเห็นสภาวะแบบนั้นนะ แล้วจะไม่ติดอะไรเลย ไม่ติดในความเห็นของเรา

เราหามาปรนเปรอมันนะ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ มันเป็นเรื่องของร่างกาย แต่ขันธ์ ๕ เป็นความคิด เห็นไหม ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ธรรม ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เป็นการแสดงออกของธรรม ที่ว่าเวลาพระอรหันต์สิ้นกิเลสไปแล้ว การแสดงออกก็แสดงออกจากขันธ์ ๕ นี่แหละ แสดงออกจากสื่อความหมายนี่แหละ แต่พลังงานอันสะอาดมันสื่อออกมา

แต่ของเราพลังงานนี้มันสกปรกอยู่แล้ว พอสกปรกอยู่แล้วมันเป็นอวิชชา มันไม่เข้าใจ มันก็ดูดเป็นเนื้อเดียวกันหมดเลย พอดูดเป็นเนื้อเดียวกันหมด มันก็เป็นสามัญสำนึกไง แล้วธรรมะโดยสามัญสำนึกไง เราว่าสามัญสำนึกเพราะเราทำอะไรไม่ได้ขึ้นมา เราก็ว่าฌานโลกีย์นี้มันของสูงส่งเพราะอะไร เพราะเราทำไม่ได้ แต่พอทำได้ขึ้นไปแล้วมันก็ไปไม่รอด นี่มีฤทธิ์มีเดชอย่างนี้

ถ้าทำมันมีฤทธิ์มีเดชเพราะมันรู้ว่าสิ่งทำอย่างนี้แล้วจะไปติดข้องอะไร จากผ่านประสบการณ์นี้ไปมันจะผ่านอะไร ถ้าผ่านอะไรไป วิธีการผ่านมันจะผ่านอย่างไร มันต้องผ่านวิธีการอย่างนี้เข้าไปๆ นี้วิธีการอย่างนี้เข้าไปเหมือนเราเลี้ยงเด็กเลย เลี้ยงเด็ก ดูสิ ถ้ามันให้ตามใจมัน มันก็อยู่ประสาของมันใช่ไหม เราต้องให้ความรู้เขา ต้องให้มีการศึกษากับเขา เพื่ออะไร เพื่อให้เขาดำรงชีวิตของเขาได้

นี่ก็เหมือนกัน เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เราฝึกพระใหม่ไง พระใหม่ผู้บวชใหม่ขึ้นมาต้องทอดสะพานให้เขาเลย ถ้าเขาเดินสะพานนี้ขึ้นไปแล้วเขาจะซึ้งมาก เวลาครูบาอาจารย์ท่านผ่านไปแล้วท่านบอกว่ากราบพระพุทธเจ้าด้วยหัวใจนะ “ท่านรู้ได้อย่างไร ท่านรู้ได้อย่างไร” มันเป็นสิ่งที่กลับกับโลก มันเป็นปัญญามุมกลับจากความเห็นของเราทั้งหมดเลย ปัญญาของเราหมุนไปตามปัญญาของเรา มันจะเป็นไปของเรา

แต่ปัญญาธรรมะมันปัญญาหมุนกลับ แล้วปัญญาหมุนกลับนี่ทวนกระแสเข้าไป แล้วทวนกระแสอย่างไร นี้ทวนกระแสเพราะเราบอกเราทวนกระแสกัน เราก็ทวนกระแสแล้ว เราทวนกระแสด้วยการจัดตั้งไง เราบอกนี่ธรรมะพระพุทธเจ้าแล้วเราก็ศึกษากัน แล้วนี่ทวนกระแสแล้วซึ้งมาก ซึ้งมาก ตรรกะทั้งนั้นล่ะ เพราะอะไร เพราะมันออกมาจากอวิชชา ออกมาจากความไม่รู้

ธรรมะของพระพุทธเจ้า ธรรมะพระพุทธเจ้ามันวิเศษอยู่แล้วแต่เอาความไม่รู้ไปศึกษาไง แล้วมันก็ย้อนกลับมาเป็นโลกียปัญญา ถ้าสูงกว่านั้นก็เป็นจินตมยปัญญา มันไม่เป็นภาวนามยปัญญาเพราะอะไร เพราะจิตมันไม่ปล่อยวาง มันไม่ปล่อยก่อน มันต้องปล่อยก่อน รถนะอยู่ในเกียร์ เราติดเครื่องไม่ได้หรอก ความรู้สึกเราอยู่ตลอดเวลา รถติดเครื่องปั๊บ รถมันจะวิ่งทันทีเลย แต่ถ้ามันปลดเกียร์ว่างก่อนแล้วเราติดเครื่อง มันถึงติดเครื่องได้

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าความคิดเรายังเป็นปุถุชนของเรา เป็นความคิดของเราอยู่ มันเป็นปัญญาไปไม่ได้ มันต้องปลดให้ว่าง การปลดให้ว่างนี่สมาธิไง ปลดให้สามารถเป็นเกียร์ว่าง พอเกียร์ว่างเสร็จแล้ว ถ้าเกียร์ว่างธรรม นี่ว่างๆๆๆ ถ้าไม่ใส่เกียร์รถก็ออกไม่ได้อีก มันยากตรงนี้ไง ยากที่เราต้องปลดให้ว่างก่อนเพื่อจะสตาร์ทเครื่องให้ได้

สตาร์ทเครื่องคือจิตมันจะเริ่มมีพื้นฐานของมัน ภวาสวะ ภพ อยู่ที่นี่ ความรู้สึกอยู่ที่นี่ เห็นไหมทวนกระแสเข้ามา นี่ปัญญามุมกลับ

ปัญญาอันหนึ่งปัญญาทำให้มันสงบเข้ามา แล้วพอเข้าเกียร์ว่างเสร็จแล้วติดเครื่องแล้ว ถ้าใส่เกียร์ไม่เป็นวิปัสสนาไม่เกิด วิปัสสนาไม่เกิดเป็นไปไม่ได้อีก นี่โลกุตตรปัญญา ปัญญาอันหนึ่งไง ปัญญามุมกลับไง ปัญญามุมกลับนี่ภาวนามยปัญญาเกิดอย่างนี้ ปัญญาไม่ได้เกิดจากสมองไง

สิ่งที่เป็นสมอง แล้วตรงไหนมันเป็นสิ่งที่ชี้ขาดว่ามันเป็นปัญญาอะไรล่ะ ความชี้ขาดอันนี้มันเป็นปัจจัตตังใช่ไหม แล้วคนเราไม่เคยเห็นไม่เคยผ่านมันจะพูดอย่างนี้ไม่ได้ พอพูดอย่างนี้ไม่ได้มันก็สื่อความหมายกันไม่ได้ ว่ามรรคผลเป็นเรื่องปัจจัตตัง เป็นเรื่องส่วนบุคคล สื่อกันไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ทำไมครูบาอาจารย์เราท่านคุยกันรู้เรื่องล่ะ?

“ธรรมสากัจฉา เอตัมมังคะละมุตตะมัง” เคยผ่านขนาดไหน เอ็งเข้าได้เกียร์ ๑ เอ็งก็พูดได้เกียร์ ๑ เกียร์เดียว เอ็งเข้าได้เกียร์ ๒ เกียร์ ๓ เกียร์ ๔ เอ็งจะเข้าได้อย่างไร เพราะการตบเกียร์เข้าแต่ละเกียร์มันเป็นตำแหน่งต่างกันใช่ไหม ตำแหน่งของคันเกียร์ที่มันไป เฟืองมันต่างกันไหม มันต่างกัน แล้วการทดของเฟืองก็ต่างกัน ทุกอย่างต่างกัน

แล้วผลของการที่ว่ารถมันแล่นไปด้วยความเร็วของเกียร์รถมันก็ต่างกัน มรรคผลต่างกันหมด ไม่มีอันเดียวกันหรอก ต่างกันหมดเลย ต่างกันเพราะเกียร์มันคนละเกียร์ เฟืองมันคนละเฟือง ความเป็นไป ความต้องการ แต่มันสำคัญเหมือนกันหมด ถ้าเกียร์ ๑ ออกไม่ได้ ไม่มีเกียร์ ๑ ออกมา รถน้ำหนักหนักมาก รถไปไม่ได้หรอก ออกเครื่องดับๆ ถ้าเราไปใส่เกียร์สูง เราต้องใส่เกียร์ต่ำ แล้วเกียร์ต่ำขึ้นมาเพื่อให้รถมันเคลื่อนไปได้

จิตก็เหมือนกัน กิเลสมันหนา ความรู้สึกมันเกาะหัวใจนักหนา แล้วทำอย่างไรให้มันเคลื่อนไหวไปได้ การเคลื่อนไหวไปมันผ่านแต่ละขั้นตอนขึ้นไปๆ มันผ่านไปแล้วมันถึงที่สุดเป้าหมายมันอย่างไร แล้วถ้าถึงที่สุด เร่งถึงที่สุดแล้วตบเกียร์ ๒ อย่างไร ผลของการกระทำต่อไปมันเป็นไปอย่างไร

นี่ถึงบอกมันมีฤทธิ์มีเดชตรงนี้ ว่าธรรมะนี่มันมีฤทธิ์มีเดชถ้าใจเป็นธรรม ถ้าใจไม่เป็นธรรม ธรรมะมันออกมาจากความจำ ธรรมะมันออกมาแต่เสียง มันไม่มีความรู้สึกหรอก มันไม่มีธรรมออกมาด้วย แต่ธรรมออกมาด้วย ธรรมออกมาจากความรู้สึกอันนี้ไง มันถึงแก้ไขได้ มันถึงเปลี่ยนแปลงได้

ดูสิ ปัจจุบันเห็นไหม เราขับรถได้เป็นหมดแหละ เจอใครก็ขับรถเป็นขับรถได้ แต่ซ่อมไม่เป็น แต่ผู้รู้จริงเขาต้องขับรถได้ ซ่อมได้ รู้ได้ทุกวิธีการถึงทำได้ นี่คือธรรมะแท้ ธรรมะแท้ต้องเอาตัวเองรอดได้ ปัจจัตตัง เห็นไหม สิ่งที่ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน มันพึ่งตัวเองได้ มันสามารถสร้างตัวเองได้ มันทำไมจะช่วยเหลือคนอื่นไม่ได้ ถ้าเราสร้างตัวเราเองไม่ได้ เราซ่อมไม่เป็น เราทำไม่เป็น เราก็ซื้อเทคโนโลยีเขามาใช้ ถอยมาใช้ แล้วถ้ามันเสียทำอะไรไม่เป็นหรอก

เราอาศัยกันอย่างนี้ ความคิดโลกๆ ไง อาศัยของเขามันเป็นธรรมะที่จำมา ธรรมะที่ความเป็นไป แต่เป็นธรรมไหม..เป็น ถ้าไม่ศึกษาเลย ไม่มีปริยัติเลย มันก็ไม่มีช่องทาง มันต้องมีช่องทางขึ้นมา แต่การประพฤติปฏิบัติ ปริยัติ ปฏิเวธไม่มี ปริยัติต้องมีปฏิบัติ จากปฏิบัติถึงปฏิเวธ แล้วพอปฏิบัติ ปฏิบัติเกิดอย่างไร

ถ้ามันรู้มากเกินไปสินะ ตามแต่ทฤษฎีวางไว้ แล้วซ่อมอะไรก็ไม่กล้าหยิบเลย ถอดมาแล้วเวลาประกอบเข้าไปนะมีชิ้นส่วนเหลือมากมายเลย ประกอบไม่หมด เห็นไหม เพราะอะไร เพราะทั้งๆ ที่มีตำรากางอยู่นะ แต่ถ้าเราปฏิบัติ เราทำของเรา เราคล่องตัวของเรา ไม่ต้องใช้ตำราเลย ฟังเสียงยังรู้เลยว่าเครื่องยนต์เป็นอย่างไร

จิตก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติ เวลาพูดมามันจะเข้าใจของมันเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป สิ่งนี้มันเป็นความจริง ถ้าความจริงอันนี้ สิ่งต่างๆ เห็นไหม ดูสิ ดูอย่างการซ่อมบำรุงรักษาประเทศของเรา ถ้ามีใครดูแลรักษามันจะเป็นประโยชน์ใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน ธรรมะถ้ามีคนรู้จริงรักษาไว้ มันจะเป็นประโยชน์ตรงนี้ไง ทุกคนถึงแสวงหา ขอให้ผู้รู้จริงแล้วประกอบสิ่งนี้ มันจะเป็นประโยชน์กับทุกๆ คนต่อไป เอวัง