เทศน์บนศาลา

ภาวนาส่งออก

๘ ส.ค. ๒๕๔๓

 

ภาวนาส่งออก
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ทุกข์จริงๆ นะ เวลาทุกข์ทำให้เจ็บแสบปวดร้อน เวลาจะหาที่พึ่งน่ะ ทำแหยงๆ มันจะไม่ได้ของจริง ตั้งใจดีๆ ฟังธรรม ธรรมนี้ประเสริฐมาก ฟังธรรม ธรรมที่ว่าเราเกิดมาแล้วมาพบพระพุทธศาสนานี่ประเสริฐที่สุด ประเสริฐจริงๆ ถ้าไม่มีพุทธศาสนา เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราทำผิดหรือทำถูก ภาวนาส่งออกหรือภาวนาได้ประโยชน์

ภาวนาเหมือนกัน เห็นไหม แต่ภาวนาอันหนึ่งภาวนาส่งออกไป ส่งออกไปแล้วไม่ได้ผลไม่ได้ประโยชน์ขึ้นมา...มันได้ผลของเขา แต่ผลเรื่องการภาวนาส่งออกนี้มันก็เป็นโลก ในโลกนี้เป็นอยู่ในโลกนั้น จิตนี้สงบเข้ามาอย่างไรอยู่อย่างนั้นแล้วก็วนออกไป มันไม่สามารถภาวนาเข้ามาเป็นมรรคอริยสัจจัง

แต่เพราะพบพระพุทธศาสนา เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้บุกเบิกไง ต้องออกไปประพฤติปฏิบัติ ออกจากครองราชย์สมบัติ ออกเพื่อจะหาสัจธรรมความจริง เพื่อให้พ้นจากทุกข์ เพื่อให้ไม่เกิด แก่ เจ็บ ตายไง...เห็นการเกิด การแก่ การเจ็บ การตายขึ้นมา ก็ยังมีทางที่ว่าไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายได้ แต่ก็ออกไป ๖ ปี นั่นน่ะ การปฏิบัติแบบนั้นปฏิบัติแบบส่งออกไง

ส่งออกหมายถึงว่า พอทำความสงบของใจเข้ามาขนาดไหน นี่ความสงบของใจเราทำเข้ามา สงบเข้ามาก็ส่งออกไป ความส่งออกไป จิตมันพุ่งออก นี่การภาวนาส่งออก ลัทธิศาสนาต่างๆ ก็สอนกันอยู่ แม้แต่อาฬารดาบส เห็นไหม สมาบัติ ๘ ก็เหมือนกัน สมาบัติ ๘ ความเป็นสมาบัติ ก็จิตนั้นเข้ามาถึงความสงบเท่านั้น แต่ไม่ได้หักเข้ามานี่

ยิ่งการประพฤติปฏิบัติในเจ้าลัทธิต่างๆ การทรมานตน นั่นน่ะ การทรมานตน การพยายามดัดแปลงตน ดัดแปลงที่กาย เห็นไหม ทรมานตนตามโยคีต่างๆ พระพุทธเจ้าไปประพฤติ ไปศึกษาเล่าเรียนมาตลอดทั้งหมด นั่นน่ะ ออกไปทดลองมาเป็นสักขีพยานกับความเป็นจริง แล้วถึงน้อมกลับมาตั้งแต่ที่ว่าโคนต้นหว้า นึกถึงอานาปานสติของที่ตอนออกแรกนาขวัญกับพระเจ้าสุทโธทนะ

อานาปานสติ ความสงบของใจ พอใจนั้นสงบเข้ามา ยกขึ้น เห็นไหม ใจกำหนดเข้าไปถึงบุพเพนิวาสานุสติญาณ เข้าไปได้ในปฐมยาม นี่ความเห็นของตัว ความทำของตัว ศาสนาเป็นสยัมภู ตรัสรู้ด้วยตนเอง สิ่งนี้ไม่มีในโลก

โลกเขาศึกษามาตลอดแล้วเขาก็สอนกันไปว่าจิตสงบแล้วเป็นผลๆ สิ่งที่ว่าสงบๆ เข้ามานี่เป็นผล ถ้าไม่เป็นผลก็ส่งออกไปรู้ สักแต่ว่ารู้ รู้นรก รู้สวรรค์ รู้ต่างๆ นั้นส่งออกหมด ออกไปแล้วกลับมาตนได้ประโยชน์อะไร? ได้ประโยชน์จากความสุขจากจิตที่เป็นความสงบเท่านั้น ความสุขที่ว่าเป็นโลกียะอยู่ในโลกนั้นมันก็เวียนตายเวียนเกิดไปในโลกนั้น

แต่อานาปานสติจนจิตสงบเข้ามา ถึงจะรู้บุพเพนิวาสานุสติญาณก็ยังเข้าไปถึงเปลือกของไข่ก่อน เพราะใจนี้ปกคลุมไปด้วยอวิชชา จุตูปปาตญาณ จิตนี้ละเอียดเข้าไปก็ยังเกิดตายๆ อยู่ เห็นไหม ตายแล้วไปเกิดที่ไหน จุตูปปาตญาณ

นั่นน่ะ พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้เอง เป็นผู้ค้นคว้าเอง อาสวักขยญาณขึ้นมานี่ กำจัดกิเลสสิ้นไป ถึงเสวยวิมุตติสุขอยู่ จนกว่าอิ่มแล้วถึงคิดออกมาว่าจะสอนใครได้ เพราะสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ว่าประเสริฐมาก ประเสริฐแบบว่าเหมือนเป็นเรื่องสุดวิสัยที่จะรู้ได้ จนถึงว่าทอดอาลัย ทั้งๆ ที่ว่าปรารถนามาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อจะตรัสสอน สอนโลก เพื่อจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ออกไปให้หมด

แต่เวลาจิตเข้าไปสงบ เพราะมันเป็นความลึกซึ้ง มันเป็นความมหัศจรรย์ มหัศจรรย์ที่ว่าใครจะเข้ามาถึงตรงนี้ได้ แต่พอย้อนกลับมามันก็เป็นได้ หนึ่ง เพราะว่าจิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เหมือนกับเรา เพราะตอนพยายามค้นคว้าอยู่ก็ไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ ก็ออกไปศึกษา ออกไปค้นคว้า ออกไป เห็นไหม นั่นน่ะ แล้วผู้ที่เรามาประพฤติปฏิบัติอยู่ปัจจุบันนี้ เราก็หวังจะออกจากสิ่งนั้นเหมือนกัน เราหวังจะออกเราถึงมาพบ

เพราะว่าเรามีโอกาส เราเป็นคนมีวาสนา เราถึงได้มีความดำริที่จะพ้นออกจากกิเลสให้ได้ แล้วก็มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ศาสนธรรมคือคำสั่งสอน ศาสนธรรม ธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นเครื่องยืนยันว่าอันนั้นเป็นจริง อันนั้นมีจริง ใจที่หลุดพ้นไปแล้วเป็นจริง แล้วผู้ที่ตามเสด็จไป อริยสาวกต่างๆ ตามเสด็จไปเป็นพยาน อันนั้นเป็นพยานต่อกันนั้นเป็นเรื่องจริง

เราเกิดมาแล้วเรามีความคิด ถ้าเกิดมา เราเกิดมา ดูในโลกนี้สิ เขาเกิดมาพบพระพุทธศาสนาแล้วเขาไม่สนใจในศาสนา เขาทำมาหากินของเขา เขาอยู่ของเขาตลอดไปเป็นวันหนึ่งๆ มันมีประโยชน์อะไรขึ้นมากับชีวิตแบบนั้น เราก็เกิดมาเหมือนกัน เราก็ต้องแสวงหาการอยู่การกินเหมือนกัน ทุกคนมีปากมีท้องเหมือนกัน แต่ในการเกิดมานี้แล้วก็ต้องตายไป ตายไป ใช้ชีวิตชาติหนึ่งจะเสียเวลาเปล่า ชาติหนึ่งๆ เห็นไหม

การเกิดการตายเสวยภพเสวยชาติ เป็นการยืนยันอยู่ในบุพเพนิวาสานุสติญาณที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เข้าไปค้นคว้าเจอแล้วบอกไว้หมด แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ้นกิเลสไป แล้วเป็นศาสดาองค์เอก พูดไม่มีปด ไม่มีการมดเท็จแม้แต่นิดเดียว แล้วพูดถึงว่า จิตทุกดวงต้องเป็นอย่างนั้นหมด เห็นไหม แล้วถ้าเราไม่เชื่อตรงนั้นแล้วเราจะเชื่อใคร

แต่เราเชื่อแล้ว พอเราเชื่อแล้ว แต่ความลังเลสงสัยในหัวใจของเรา การทำของเราเลยทำแบบไม่ยึดไม่มั่นคั้นไม่ตายไง ถ้าเราไม่ยึดไม่มั่นคั้นไม่ตาย ทำไม่จริง คนทำไม่จริง ความเหลาะแหละขึ้นมา เห็นไหม ธรรมนี้เป็นของจริง เข้ากับหัวใจที่จริง หัวใจที่จริงพยายามจะค้นคว้าสิ่งที่จริง แล้วพยายามกำหนดเข้ามาให้เข้าถึงใจเราให้ได้ ถ้าเราเข้าถึงใจเราให้ได้ เห็นไหม

ใจปกตินี่มันก็เป็นความฟุ้งซ่าน ปกติของจิตใจนี่เป็นความคิด ความคิดเหมือนร่มกางออกไป แผ่ออกไปเป็นร่มกางออก ความคิดเราแผ่ออก ๓ โลกธาตุ ความคิดเราแผ่ออกไป พอแผ่ออกไปนี่ครอบคลุมไปหมด มันยึดมั่นถือมั่น เห็นไหม นี่ส่งออกโดยธรรมชาติ จิตนี้ส่งออกโดยปกติของมัน มันมีหน้าที่อย่างนั้นน่ะ จิตที่ส่งออก ขณะที่ว่าเกิดในภพชาติต่างๆ ก็อยู่ในภพชาติอย่างนั้นก็ส่งออกไปเหมือนกัน มีความคิด เพราะธรรมชาติของเขาเป็นแบบนั้น

หุบร่มเข้ามา เราพยายามจะหุบร่มเข้ามา เห็นไหม หุบร่มเข้ามา ดึงความคิดนั้นกลับเข้ามา ถ้าดึงความคิดนั้นกลับเข้ามานั่นน่ะ นี่ความคิดนั้นกลับเข้ามาก็ยังไม่ถึงจุดของมัน มันก็ยังเป็นความคิด แต่มันละเอียดเข้ามาๆ พุทโธๆ เข้าไป จนถ้าละเอียดสุดแล้วจนความคิดนั้นไม่มี เงียบหายหมดเป็นเนื้อเดียวกัน สักแต่ว่ารู้เฉยๆ นี่จิตที่ทำความสงบได้มันต้องทำตรงนี้ขึ้นมาก่อน ทำตรงนี้คือว่า สมถกรรมฐานไง ควรแก่การงาน

ดินจะปั้นโอ่ง ดินจะมาปั้นโอ่งต้องนวดดินก่อน ต้องเตรียมดินก่อน อันนี้ก็เหมือนกัน ความคิดของโลกๆ เขามันไม่ใช่ส่งออก มันออกโดยธรรมชาติ สิ่งที่ความคิดเราคิดอยู่นี่มันเป็นความคิดโดยปกติที่คิดอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่คิดอยู่นี้ คิดอยู่ เราว่าเราคิด เราว่าความคิดที่ละเอียด ความคิดเรื่องภายใน เรื่องภายนอก ว่าเรื่องภายนอกจะเป็นการส่งออก เรื่องภายในจะเป็นเรื่องของเรา...ไม่ใช่

จะเรื่องข้างนอก เรื่องข้างใน ธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้สอน เราก็เตลิดเปิดเปิงไปอย่างนั้น ชีวิตโลกเขาเป็นอยู่อย่างนั้น เขาถึงกว้านเอาแต่ความทุกข์ร้อนเข้ามาใส่ตนไง กว้านเอาความทุกข์ร้อน เพราะคิดเท่าไรนะ มันควรหยุดคิด ในเมื่อควรหยุด ถึงเวลาหยุดคิดเราควรหยุดคิด ขณะทำงาน ขณะประกอบอาชีพต่างๆ เวลาคิดเราไปคิดเอาตอนนั้น มันก็ควรจะเป็นประโยชน์ตอนนั้น เวลาหยุดต้องหยุดให้ได้ แต่นี้หยุดไม่ได้เลย มันหมุนไปตลอดเวลา แม้แต่อยู่ในห้องอยู่ในหับ อยู่ในที่ของเรา อยู่ในกุฏิ อยู่ในวัดในวา มันคิดทั้งหมด เห็นไหม

คนเราจะทำความสะอาดบ้านของเรา แล้วเราจะไปทำความสะอาดบ้านของคนอื่น บ้านของเราจะสะอาดได้อย่างไร เราจะทำความสะอาดวัดของเรา แล้วเราไปคิด แต่เราไม่เคยกลับเข้าวัดของเราเลย เราไปคิดแต่เรื่องข้างนอก เราจะทำความสะอาดได้อย่างไร เราจะทำความสะอาดในกุฏิของเรา เราต้องเข้ามาทำความสะอาดในกุฏิของเราใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อจิตมันคิดฟุ้งซ่านออกไปอย่างนั้นน่ะ มันส่งออกโดยธรรมชาติของมัน นี่ธรรมชาติของจิตเป็นอยู่อย่างนั้น มันฟุ้งซ่านไปตลอดเวลา แล้วให้ผลออกมาเป็นความทุกข์ ความทุกข์เพราะอะไร เพราะว่ามันไม่ได้สมความปรารถนา

ตัณหาความทะยานอยาก อยากเท่าไรก็ไม่สมกับใจตัวที่ตัวอยากนี้ ใจตัวอยากคิดเท่าไรมันก็ไม่สม คิดจนสติฟั่นเฟือน จนเสียสติไปก็คิดไปเถอะ คิดจนเสียคนก็คิดไป ความคิดอันนั้นคิดเป็นโลกเขาออกไป เห็นไหม นี่กางร่มออกไป นี่กระแสของจิตมันพุ่งออกไป ส่งออกไปโดยธรรมชาติ ธรรมชาติของจิตทำงานอย่างนี้

ร่างกายนี้เป็นที่อยู่อาศัยของจิตเท่านั้น จิตนี้อยู่ในร่างกายของเรา

เราจะหาความสุข ความสุขในศาสนา พูดถึงว่า กิเลสพาให้เกิด การเกิดและการตายนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เป็นบ่อใหญ่ของเราที่ว่าเราต้องเกิดต้องตายอีก จะต้องกลับมาชำระที่หัวใจดวงนี้ แต่ความชำระที่หัวใจดวงนี้ เห็นไหม เพราะความมั่นคงของใจ ความองอาจกล้าหาญของใจที่จะชำระกิเลสออกได้ นี่ความสุขที่แท้จริงจะเกิดขึ้นจากหัวใจดวงนั้น

ใจดวงนี้เท่านั้นที่สัมผัสธรรม ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เห็นไหม ผู้ใดปฏิบัติธรรมคือผู้นั้น แล้วเอาอะไรปฏิบัติ ถ้าหัวใจไม่มีศรัทธา หัวใจไม่พยายามค้นคว้า ไม่พยายามวนเข้ามาภายใน เอาอะไรไปค้นคว้า เอาอะไรไปทำ ร่างกายนี้ไป เจ็บไข้ได้ป่วยมันก็เป็นเจ็บไข้ได้ป่วย แม้แต่เจ็บไข้ได้ป่วยนี้ยังต้องไปหาหมอให้หมอรักษาให้ เราไม่สามารถรักษาเราเองได้ เว้นไว้แต่ผู้ที่มีจิตใจ มีภูมิจิตภูมิธรรมขึ้นมา ธรรมโอสถสามารถแก้ไขร่างกายได้ นี่จิตมหัศจรรย์ ๒ ชั้น ๓ ชั้นนะ

ขณะที่ว่าจิตที่ปฏิบัติขึ้นมาจนมีภูมิจิตภูมิธรรมแล้ว แต่ถ้ายังไม่มีภูมิจิตภูมิธรรมอยู่นี่ มันเป็นธรรมชาติของมันเองที่ส่งออกไป เราถึงต้องทำความสงบเข้ามานะ กำหนดพุทโธๆ ก็แล้วแต่ ในขณะคำบริกรรมที่เราใช้อยู่ หรือเราใช้ความคิด เห็นไหม ความคิดที่มันฟุ้งซ่านออกไปมันเป็นความคิดที่ฟุ้งซ่านเป็นธรรมชาติของมัน เราใช้หนามยอกเอาหนามบ่ง หนามยอกเอาหนามบ่ง ใช้ความคิดนั้นย้อนกลับมา นั้นเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ความคิดนี้คิดด้วยมีสติสัมปชัญญะ

ความคิดมีสติสัมปชัญญะ ก็คิดย้อน คิดแล้วคิดว่า...คิดย้อนกลับ ธรรมหมายถึงว่า คิดว่าความคิดนี้คิดออกไปแล้วมีประโยชน์คุณค่าอะไร เห็นไหม ความเตือนใจไง เราเตือนตัวเองแล้วความคิดก็หมุนออกไป แต่สติจะตามเตือนตัวเองออกไปว่าสิ่งที่ฟุ้งซ่านออกไปที่เป็นพลังงานออกมา มันคิดออกไปโดยธรรมชาติของมัน แล้วมันก็ต้องมีตัวเสริมออกไปเรื่อยๆ เพราะมันสืบต่อๆ แล้วมีอารมณ์พอใจ

เพราะมีความพอใจ มีความอยาก มันก็คิดมากเข้าไป แต่ถ้าใช้สติสัมปชัญญะยับยั้ง แล้วความคิดให้เห็นโทษ เห็นไหม ความคิดเห็นโทษมันจะปล่อยวางเข้ามา อันนี้เป็นปัญญาอบรมสมาธิ

นี่เอาความส่งออกความส่งออกต่อสู้กันมันก็จะย้อนกลับมาถึงความสงบเข้ามาภายใน ถ้าเราทำนี่ด้วยปัญญาอบรมสมาธิ กำหนดพุทโธด้วยคำบริกรรม ก็พยายามทำกำหนดพุทโธๆ ให้บริกรรมเข้ามาให้จิตนั้นสงบให้ได้

น้ำขุ่นๆ อยู่ ถ้าเราตั้งไว้นี่ตะกอนมันต้องนอนลงไป น้ำต้องใสสะอาดโดยธรรมชาติของมัน ถ้าเราตั้งไว้โดยไม่ขยับ ให้น้ำนั้นเคลื่อนไหว น้ำนั้นจะสงบลงไป สิ่งนี้มันไม่มีวิญญาณ มันต้องสงบไปโดยธรรมชาติของมัน แต่หัวใจนี่มันเป็นธาตุรู้ เป็นสิ่งที่มีชีวิต มันมีความทะยานอยากอยู่ จะให้มันสงบโดยตัวมันเอง มันสงบได้โดยไม่มีสติสัมปชัญญะ ความสงบโดยธรรมชาติของเรานี่ คิดจนถึงที่สุดแล้วมันจะปล่อยวางเองโดยธรรมชาติ แต่ปล่อยวางแล้วชั่วคราว ปล่อยวางได้เล็กน้อย เห็นไหม แต่เราต้องใช้กำหนดพุทโธๆ นี่คำบริกรรมทับเข้าไป

เพราะจิตนี้เสวยอารมณ์ จิตนี้กินอารมณ์เป็นอาหาร อารมณ์ความคิดนั้นเกิดดับๆ จรมาๆ ความคิด เวลาเราไม่คิดมันก็ไม่มี เวลาเราคิดขึ้นมา ความคิดนั้นมาจากไหน ความคิดนั้นกับใจนั้นถึงเป็นอาการที่มันเสวยอารมณ์ ตัวจิตจริงๆ แล้วไม่ใช่สิ่งที่ความคิดนี้ ตัวจิตจริงๆ คือจะรู้เฉยๆ แต่รู้แล้วมีอารมณ์ขึ้นมานี้ รู้เพราะความคิดมันฟุ้งซ่านออกไป

ฉะนั้น มันกินอารมณ์ มันเสวยอารมณ์เป็นอาหาร เราก็จะต้องหนามยอกเอาหนามบ่งเหมือนกัน ใช้กำหนดพุทโธๆ เข้าไป พุทโธๆ เข้าไปเพื่อให้จิตนั้นกินพุทโธ เห็นไหม เกาะเกี่ยวกับพุทโธไว้

จิตนี้เหมือนเด็ก ทรงตัวเองอยู่ไม่ได้ ต้องเกาะเกี่ยวอยู่กับอารมณ์ตลอดไป จะมีอารมณ์ จะแสดงตัวได้ เหมือนน้ำ น้ำที่ใสอยู่นี่มันอยู่ในแก้ว เราอาจจะไม่รู้ว่าน้ำเลย ถ้าเราใส่สีลงไปเราจะเห็นว่าน้ำนี้เป็นสีแดงสีอะไรก็แล้วแต่เราจะใส่ลงไป จะเห็นสีในน้ำนั้น อารมณ์นี้ก็เหมือนกัน โดยธรรมชาติของมัน มันไม่เห็น ถ้าเราเกาะเกี่ยวกับความคิดขึ้นมา ความรู้นี้เกาะเกี่ยวกับความคิดขึ้นมา อารมณ์จะเกิดขึ้น ความคิดเกิดขึ้นๆ เรากำหนดพุทโธๆ ขึ้นไป พุทโธนี้แทนความคิดตัวนี้ไง แทนอารมณ์ที่เขาเสวยอยู่

เราเอาธรรมนี่ พุทโธคือพุทธานุสติ กรรมฐาน ๔๐ ห้อง ทำความสงบ กรรมฐาน ๔๐ ห้อง เพื่อให้ใจนี้สงบเข้ามาๆ สงบหมายถึงว่า มันคิดพุทโธๆ อยู่ มันไม่ต่อเนื่อง ความคิดพุทโธๆๆ ย้ำลงที่ใจๆ จนอารมณ์กับใจนั้นสมานเป็นเนื้อเดียวกัน จะย้อนกลับมาเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่ก็ปล่อยความคิดนั้นออกไป จิตนี้เป็นอิสระขึ้นมาไง

จากจิตนี้ไม่เคยทรงตัวเองได้ ต้องอาศัยเกาะเกี่ยวไปกับอารมณ์ต่างๆ เกาะเกี่ยวกับความคิด คิดมากคิดน้อย คิดจนฟุ้งซ่านขนาดไหน ให้ผลเป็นทุกข์ตลอด แต่พอจิตมันเริ่มสงบเข้ามา ถ้าจิตนี้ได้รับความสงบ สงบจากพุทธานุสตินี้กดเข้าไป ความกดเข้าไปด้วยมีสติสัมปชัญญะกำหนดเข้าไป นี่จะมีความสงบขึ้นมาได้โดยความเป็นจริง

โดยสัจจะ จิตนี้สงบได้ จิตนี้ฟุ้งซ่านได้ ต้องสงบได้ แต่เราทำไม่ถึงตรงนั้นเราถึงไม่เคยเห็นความสงบของใจ จิตที่ไม่เคยเห็นความสงบ เห็นไหม มันส่งออกโดยธรรมชาติ แล้วเราจะเอาการงานอะไรขึ้นมาจากจิตที่ฟุ้งซ่านนั้น จิตที่ฟุ้งซ่านออกไปเหมือนกับมือนี้สกปรก มือที่สกปรก มือที่เปื้อนอยู่ไปจับวัตถุสิ่งใด สิ่งนั้นก็เปื้อนไปด้วย จิตนี้มีแต่ความคิดเป็นของเรา มีแต่ตัณหาความทะยานอยากอยู่ในความคิดอันนั้น แล้วจะวิปัสสนา จะทำให้เป็นการเป็นงานขึ้นมามันก็กลายเป็นการส่งออก ๒ ชั้น

๒ ชั้น หมายถึงว่า ตัวเองไม่รู้ว่าสิ่งนี้เป็นความผิด แล้วก็วิปัสสนาไป หมายถึงว่า ค้นคว้าต่างๆ ไปในธรรม พอค้นคว้าสิ่งต่างๆ ไปในธรรมนี่มันค้นคว้าไปคิดไป พอคิดออกไป ความคิดมันหมุนออกไป พอหมุนออกไปมันจะเกิด เพราะถ้าสุดท้ายของความพอใจของจิตมันปล่อย พอปล่อยอันนั้นเราเข้าใจว่าอันนั้นเป็นธรรม เห็นไหม นั่นน่ะส่งออก ส่งออกจนไม่รู้นะ

ไม่รู้ว่า

๑. ส่งออก

๒. ผลของสิ่งที่เกิดจากการวิปัสสนาโดยการส่งออก นึกว่าอันนั้นเป็นผล

นั่นน่ะทำให้เสียโอกาสของเรา

เราควรได้สัจธรรมตามความเป็นจริงที่เราประพฤติปฏิบัติตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัจธรรมตามความเป็นจริงต้องดัดความคิด ดัดตน ดัดความเห็นของตนให้ถูกต้อง ดัดความเห็นของตนให้ตรงหลักกับความเป็นจริง ความเป็นจริงที่ว่าสิ่งนั้นมันเป็นจริงอยู่แล้ว แต่เพราะความหลงใหลของ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ปกคลุมหัวใจไว้ ถึงไม่เข้าใจความเป็นจริงใดๆ ทั้งสิ้น แล้วยึดไว้ต่างหาก ยึดไว้ว่าสิ่งนั้นต้องเป็นเราๆ ไม่ยอมพลัดพรากจากสิ่งใดสักอย่างหนึ่ง จะยึดไว้ให้เป็นเจ้าวัฏจักร มีเท่าไรค้นคว้าพยายามยึดเข้ามาให้เป็นของตนไง แล้วมันเป็นของตนไปไม่ได้

แม้แต่ใจเราที่ว่าเป็นคนของตนอยู่ ยังต้องกลิ้งไปไม่รู้สึกตัวไง เวียนตายเวียนเกิด กลิ้งหมุนเวียนไปโดยเกิดมาก็ว่าเป็นคนใหม่ แม้แต่หัวใจที่ว่าไม่ใช่ของเรานี่มันก็ยังหมุนเวียนอยู่แล้วก็ไม่ใช่เราจริงๆ แต่มันก็ไม่รู้สึกตัว เห็นไหม ความรู้สึกตัวนี่ต้องย้อนกลับมา ย้อนกลับมาว่า สัจธรรมความเป็นจริงในอริยสัจนั้นจริง กับความเห็นของเราที่ว่าจริงๆ สิ่งใดจะให้คุณค่ามากกว่ากัน

เพราะเราไม่เคยสัมผัส สิ่งที่เราไม่เคยสัมผัสเราก็คาดหมายไป นี่มันถึงว่าตัณหาซ้อนตัณหา

ตามความเป็นจริงของใจส่งออกโดยธรรมชาติอยู่แล้ว เราก็ยังคิด ยังส่งเสริมด้วยความเห็นของเราส่งเสริมออกไป นี่ถึงว่า ทำความสงบของใจ พยายามทำความสงบเข้ามา หุบร่มของเราเข้ามาให้ได้ เอาความสงบของเราเข้ามาให้ได้ เพราะความสงบของเราเข้ามา เราจะทำความสะอาดภายในบ้านของเรา เราจะทำความสะอาดในร่างกายของเรา ในร่างกายกับจิตใจ จิตใจที่อยู่ในบ้านของเรา เราต้องย้อนใจของเราเข้ามา เราพยายามดึงความคิดของเราเข้ามาอยู่ในโครงร่างของเราให้ได้

อันนั้นมันเป็นผล ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือว่าได้รับความสุขขึ้นมา จิตนี้สงบจะสุขมาก เพราะสิ่งที่เราแบกภาระไว้หนักหน่วงในหัวใจนี้ แบกไว้รกรุงรัง แล้วสลัดออกทั้งหมด จิตที่มีความสงบหมายถึงว่าสลัดสิ่งที่กดถ่วงในหัวใจทุกอย่าง สลัดออกหมดเลย เป็นอิสรเสรีชั่วคราว เห็นไหม นี่ความสุขอันนี้เกิดขึ้นหนึ่ง

สอง จิตที่สงบขึ้นมานี้เป็นสมบัติอย่างมหาศาลที่เราควรเป็นพื้นฐานของการทำวิปัสสนา

การทำวิปัสสนาต้องมีจิตนี้เป็นพื้นฐานเข้ามาก่อน จิตนี้เป็นพื้นฐานเข้ามา เห็นไหม เพราะจิตนี้ไปติดเขา แล้วจิตนี้ไม่รู้เรื่องสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น ความสงบเข้ามาอันนี้มันก็สงบเข้ามา แต่ยังไม่ได้แก้ไขสิ่งใดๆ เลย จะบอกว่าสิ่งนี้จะส่งออกไปก็ถูกต้อง จะส่งออกไป เห็นไหม แม้แต่จิตที่สงบเข้ามา ถ้าจิตนี้มีวาสนานะ บางดวงจิตจะมีวาสนา จะเห็นนรกเห็นสวรรค์ เห็นเปรตเห็นผี นี่สิ่งนี้ก็คือการส่งออก ส่งออกเพราะเป็นอุปจารสมาธิ

จิตนี้มีความสงบแล้วมันจะไม่รับรู้ต่างๆ ถ้าอย่างนั้นแล้วเราควรปฏิเสธ ปฏิเสธไว้เห็นไหม การส่งออกไปนี่ส่งออกไปเห็น ความเห็น เห็นไหม พลังงานของใจ ใจนี้ตาของธรรม ตาของใจ ความรู้สึก ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี่ความเห็นแคบๆ ความเห็นของตา หู จมูก ลิ้น กาย รับรู้ได้ด้วยอายตนะกระทบ เสียงที่กระทบ คือวัตถุกระทบวัตถุเท่านั้นถึงจะรับรู้ต่างๆ ได้ แต่เรื่องของใจมันมหัศจรรย์ มหัศจรรย์ถ้าจิตนี้สงบ จิตนี้สงบเป็นอิสระชั่วคราว เห็นไหม จิตที่สงบเป็นอิสระชั่วคราว ไม่อยู่ใต้อำนาจของตา หู จมูก ลิ้น กาย

ปกติของจิตเราธรรมดามันอยู่ในตา หู จมูก ลิ้น กาย กระทบกันเท่านี้ แต่เวลาสงบขึ้นมานี่มันพ้นจากตรงนี้เข้าไป มันถึงจะรู้เห็นเรื่องนรกสวรรค์ได้ เป็นดวงใจเป็นบางดวงเท่านั้น นี้คือการส่งออก นี้ไม่ใช่สิ่งที่เป็นคุณวิเศษสักเท่าไร นี้เป็นเพราะใจนี้พัฒนาขึ้น ใจนี้ปกติของปุถุชน ปกติของผู้ไม่ปฏิบัติ ใจนี้ก็รับรู้ไปโดยธรรมชาติ แต่ใจนี้ถอนออกมาเป็นอิสระชั่วคราว นี่อย่างนี้ก็คือการส่งออก

ส่งออกนี้ ถ้าเราไม่เข้าใจ หลงไป เห็นไหม หลงว่าการส่งออกที่ว่าส่งออกไปรับรู้ต่างๆ คิดว่าสิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์กับเรา...จะไม่ได้ประโยชน์กับเราเลย เพราะใจนี้จะเสื่อมไป แล้วถ้าเห็นสวรรค์ก็มีความยึดมั่น มีความยึดว่าเราเห็นเรารู้ เห็นไหม อันนี้เป็นตัณหาซ้อนตัณหาให้ยึดหนักเข้าไปอีก

แต่ถ้าเราศึกษาธรรมขึ้นมา อันนี้จิตที่ส่งออกไปมันเป็นอำนาจวาสนา มันเป็นสิ่งที่เราเคยทำคุณงามความดีไว้ จิตถึงเป็นอย่างนั้น แต่ปล่อยเอาไว้ก่อน สิ่งที่ยังไม่ควรจะเป็นประโยชน์ เราควรวางไว้ สิ่งนี้ยังไม่เป็นประโยชน์กับใจดวงนี้ ใจดวงนี้ต้องพยายามชำระเรื่องความเห็นผิดของกายไง

ถ้ายกขึ้นวิปัสสนานี้ จิตสงบแล้วพยายามนึก ถ้าไม่เห็นกายนึกให้เห็นกาย เพราะว่านึกให้เห็นกาย ถ้าเห็นกายนี้เป็นการส่งออกไหม? ไม่ส่งออก เพราะควรแก่การงาน การงานที่ความเห็นผิดว่ากายกับใจนี้เป็นสิ่งเดียวกัน ระหว่างร่างกายของเรานี้เป็นของเรา ความเห็นผิดเรื่องของกาย เพราะความเห็นผิดมันถึงหลง เพราะความหลงถึงมีความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ตัวตนในฐานะของกายนี้ นี่มันติด มันติดที่ตรงนี้ ถ้าเรายกขึ้นมาเห็น

แต่ถ้ายกไม่เห็นขึ้นมา มันเห็นเป็นสิ่งต่างๆ เห็นเป็นรูปข้างเคียง เป็นวัตถุว่าอันนี้วิปัสสนาอยู่ เห็นไหม นี่ถ้าวิปัสสนาอยู่ มันปล่อยเหมือนกัน ความปล่อยในการวิปัสสนาบางอย่างมันจะปล่อย ความปล่อยของวิปัสสนานี้จะต่างกับความเห็นของความต่างระหว่างความสงบ

นี่พอจิตมันปล่อยขึ้นมามันจะเวิ้งว้างต่างกัน พอเวิ้งว้างต่างกัน อันนี้เราว่าเป็นผล เห็นไหม มันเป็นผลอันหนึ่ง แต่ถ้าเราก้าวเดินซ้ำเข้าไปว่าสิ่งนี้เป็นผลแล้วตามหัวใจนั้นไป ตามหัวใจนั้นส่งออกอีกแล้ว เห็นไหม การวิปัสสนาอยู่จะส่งออก ส่งออกหมายถึงผิดเป้าหมาย

แต่ถ้าวิปัสสนากาย กายนี้เป็นโครงกระดูกก็ได้ เป็นสิ่งใดก็ได้ วิปัสสนาตั้งอยู่แล้ววิปัสสนาไป ให้ใจเข้าใจว่ากายนี้เป็นกาย เห็นไหม บ้านกับเจ้าของบ้านเป็นคนละส่วนกัน เราอยู่ในบ้าน บ้านเป็นของเรา แต่เรากับบ้านเป็นคนละส่วนกัน นี่ถ้าเราว่าบ้านนั้นเป็นของเรา เรามีความวิตกกังวล เราพยายามยึดความวิตกกังวลนั้น มันจะทำให้ขุ่นใจ ทำให้เดือดร้อนใจ

แต่ถ้าบ้านก็เป็นบ้าน เราก็เป็นเรา มันก็เป็นคนละส่วนกัน ความเห็นมันก็ถูกต้อง ถ้าความเห็นถูกต้อง เห็นไหม วิปัสสนาไปเรื่อยๆ มันจะปล่อยเข้ามาๆ อันนี้เป็นงานที่ถูก ต้องซ้ำ งานที่ถูกหมายถึงว่าวิปัสสนาในเรื่องของกาย เป็นอาการ ๓๒ ก็ได้ เป็นทั้งร่างกายเลยก็ได้ สิ่งที่เป็นร่างกายนี้เปรียบเหมือนบ้าน วิปัสสนาไป วิปัสสนาสิ่งนี้ ตั้งขึ้นมาแล้ววิปัสสนา

เพราะความแปรสภาพไป สิ่งที่มันไม่คงที่ ไม่ตั้งมั่น มันจะคงที่อยู่ไม่ได้ มันจะเปลี่ยนแปลงสภาพเป็นความไวมาก เป็นความไว เห็นความสลายของมันไป ซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ ปล่อยแล้วปล่อยเล่านะ ต้องปล่อยซ้ำปล่อยซากอยู่อย่างนั้นนะ ถ้าปล่อยทีเดียว ปล่อยแล้วทำอีกไม่ได้ นี่ส่วนใหญ่แล้วปล่อย ปล่อยแล้วทำอีกไม่ได้ พอทำอีกไม่ได้ นี่มันต้องใช้พลังงาน ต้องใช้สติ ต้องใช้ทุกอย่างเข้ามาทำงาน นี่ถ้าเราพยายามขวนขวาย นี่ความเข้มแข็ง ความจริงจังของคนคนนั้น ความจริงจังของจิตดวงนั้น พยายามทำซ้ำตรงนี้ขึ้นมาให้ได้ ยกใจขึ้นมาแล้วก้าวเดินตามสิ่งนั้นไป เพราะเราเคยได้หนหนึ่ง

แต่ส่วนใหญ่แล้วที่มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดานะ ไม่ใช่ว่าเสื่อมไปด้วยความเห็นจริงนะ เสื่อมไปด้วยความหลงส่งออกเป็นธรรมดา วิปัสสนาไป ปล่อยครั้งหนึ่ง พอปล่อยครั้งหนึ่งแล้วจิตทำไม่ได้อีก พอจิตทำไม่ได้อีก คิดจินตนาการไป จินตนาการไปส่งไปร้อยแปดพันประการที่เห็นขึ้นมา แล้วก็ไปเข้าข้างตัวเอง เห็นไหม นี่ส่งออกโดยอีกส่วนหนึ่ง ส่วนที่วิปัสสนาอยู่นะ พิจารณาอยู่ก็ส่งออก

แม้แต่ทำความสงบอยู่ เห็นไหม จิตเห็นต่างๆ นั้นก็ส่งออก แต่ขณะที่วิปัสสนาอยู่แล้วเข้าใจการวิปัสสนา แต่ไม่ใช่เดินตามสัจจะความจริงนั้น นี่จิตนั้นส่งออก ส่งออกมานั้นไขว้เขวไป งานนั้นเบี่ยงเบนจากที่จะเข้าหลักอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

นี่ทุกข์ ความเห็นผิดมันต้องเป็นทุกข์อยู่แล้ว ตัณหาความทะยานอยาก เพราะเราไม่รู้สัจจะความเป็นจริง มันไม่ดับหรอก มันปล่อยวางเฉยๆ นิโรธไม่เกิดหรอก นี่มรรคหมุนไป มรรคควรจะหมุนไปในสัจจะความจริง สัจจะความจริงนี่เราต้องตั้งขึ้นมาด้วยความค้นคว้าของเรา เราต้องตั้งใจจริง ถ้าเราไม่ตั้งใจจริงขึ้นมา สิ่งที่มันปล่อยครั้งก่อนนั้นก็เพราะสิ่งนี้ นี่ยืนยันได้ ถ้ายืนยันได้มันต้องพยายามเข้ามา แต่ไม่พยายามกัน สิ่งที่ไม่พยายามเพราะสิ่งนั้นต้องใช้พลังงาน

สิ่งที่ทำอยู่นี้ งานซึ่งๆ หน้าไง งานแบกหามงานอะไรนี่มันทำให้เราเหนื่อย แต่การใช้พลังงานของใจนี้เหนื่อยมาก ทำความสงบ ว่าใช้สติใช้สัมปชัญญะสูงมาก วิปัสสนานี้ละเอียดอ่อนกว่า สิ่งที่เป็นวิปัสสนานี้ละเอียดอ่อนเพราะว่ามันเคลื่อนไหว มันมีการต่อสู้ มีการคัดง้างของสิ่งที่เป็นสิ่งต่อต้านในหัวใจนั้น จะทำให้งานนี้เบี่ยงเบนไป พอเบี่ยงเบนไป เราก้าวตามนั้นไป แล้วจิตใจอ่อนแอ พอจิตใจอ่อนแอจะตามสิ่งนั้นไป ว่าสิ่งนั้น สิ่งที่อารมณ์มีความเวิ้งว้าง มีออกไปนั้น สิ่งนั้นจะเป็นธรรมไง

สิ่งนี้เป็นธรรมได้อย่างไร นี่วิปัสสนึก ความนึกของเรา ความคาดความหมายของเรา ความคาดความหมายก็พ้นห่างไกลจากเป้าหมายไปเรื่อย ห่างไกลจากเป้าหมายไปจนไม่ย้อนกลับมาไง นี่ส่งออกไปจนเสีย นี่เสื่อม เสื่อมจากวิปัสสนา เห็นไหม ส่วนใหญ่แล้วพยายามจะดันขึ้นมา พยายามสร้างฐานของตัวเองของใจขึ้นมาถึงจุดนี้แล้วปล่อยให้เสื่อมไป พอเสื่อมไปแล้วก็เป็นวิปัสสนึกไป วิปัสสนึก นึกเอา นี่ส่งออก ออกจากฐาน ออกจากสัจจะความจริง

ถ้าไม่ส่งออกล่ะ ไม่ส่งออก...สิ่งนั้นมันเป็นไป แล้วมันก็เกิดดับๆ ที่ว่าเวิ้งว้างขนาดไหนก็เกิดดับ มันเป็นอนิจจังตลอด แต่วิปัสสนาให้เห็นบ้านนี้เป็นบ้าน เรานี้เป็นเรา กายนี้เป็นกาย จิตนี้เป็นจิต ไม่เกี่ยวกัน มันแยกได้ แยกได้วิปัสสนาญาณ ญาณที่เกิดจากเราวิปัสสนา วิปัสสนาคือการขุดคุ้ย คือการพยายามค้นคว้าแล้วดูความต่างของเขาไง ความต่างคืออนิจจัง สิ่งใดอนิจจังมันต้องเคลื่อนที่ใช่ไหม สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ใช่ไหม สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นต้องเป็นอนัตตา อนัตตา ความแปรสภาพ นี่เห็นจริง จะปล่อยสัจจะ ปล่อยตามความเป็นจริง

จริงของเขา บ้านจริงของเขาโดยดั้งเดิม แต่เพราะเรามาเกิดเป็นมนุษย์เราถึงมีกายกับใจ เป็นของเขาโดยดั้งเดิม แล้วหัวใจนี่สมานเป็นเนื้อเดียวกัน แต่เพราะวิปัสสนาอันนี้แยกออก บ้านเป็นบ้าน ใจเป็นใจ เห็นไหม ความหลงผิดเป็นความเห็นถูก จากความหลงผิดนั้นหลุดออกไป นี่สุดท้ายแล้วหลุดออกไป สิ่งที่หลุดออกไปอย่างนี้ไม่ใช่ว่าจะเป็นอนิจจัง มันจะเป็นความจริงที่เห็นจริงไง

จิตที่เห็นจริง จิตที่รู้จริง ต่างกับจิตที่รู้ปลอม

จิตที่รู้ปลอม ความเห็นปลอมนั้นยังเวียนไปเวียนมา มันไม่ได้สิ่งใด ถ้าส่งออกแล้วมันเป็นอนิจจังวนเวียนอยู่ในน้ำครำนั้น แต่ถ้าเป็นสัจจะ เป็นอริยสัจนี้จะหลุดออกไป ปล่อยสัจจะไว้ตามความเป็นจริง อิสระ เห็นไหม นี่จิตที่เป็นอิสระชั่วคราว

นี่ยกขึ้น วิปัสสนาไป มีความสุข เสวยสุขอยู่พักหนึ่งๆ ทำความสงบเข้ามาเรื่อยๆ จิตนี้มันก็ยังส่งออกไปอีก จินตนาการไปคิดไป โดยธรรมชาติจิตนี้จะส่งออกโดยทุกขั้นตอน ส่งออกไปเพราะว่าพลังงานนี้เป็นพลังงานที่ต้องส่งออก เป็นพลังงานที่ว่า สิ่งนี้พอน้ำมันเจอไฟเข้า เผาไหม้เข้าจะให้ความร้อน จิตนี้ ความคิดนี้ อวิชชาจะตะล่อมอยู่ตลอดเวลา จะให้ความคิดนี้พุ่งออกไป จะขั้นตอนไหน พลังงานตัวนี้ส่งออก เพราะขันธ์มีขันธ์นอก ขันธ์ใน ขันธ์ในขันธ์

นี่เหมือนกัน ความคิดวงจรไหน วงจรระหว่างกายกับใจ เห็นไหม ที่ว่าเราเห็นบ้านกับเราเป็นเนื้อเดียวกัน นั่นก็เป็นความเห็นถูกต้อง เพราะบ้านเป็นของเรา เราเป็นบ้าน นี่ถูกต้องตามสมมุติ ถูกต้องตามความเป็นจริงที่เราเกิดเป็นมนุษย์ แต่ธรรมะบอก ไม่ใช่

ธรรมะบอกว่า สิ่งที่ประเสริฐกว่า กายกับจิตนี้อาศัยอยู่ด้วยกันเฉยๆ แต่เพราะเราไม่รู้จริงเห็นจริง เราถึงต้องเป็นขี้ข้ากับความเห็นผิดตลอดไป แต่ถ้าความเห็นถูกต้องขึ้นมานะ ความเห็นจริงขึ้นมา นี่อาศัยกันอยู่ชั่วคราว เขาไม่ใช่อันเดียวกัน เพราะว่ากรรมทำคุณงามความดีถึงเกิดเป็นมนุษย์ขึ้นมา นี่ปล่อยออกมา

ความปล่อยออกมานี้เป็นอริยสัจ เป็นความจริง เป็นสัจธรรม

เราทำสัจธรรมขึ้นมาจนใจนี้รู้เห็นด้วยสัจจะ เป็นปัจจัตตัง รู้จากใจดวงนั้นขึ้นมา นั่นน่ะ เสวยสุขอยู่พักหนึ่ง เห็นไหม นี่ถ้าไม่ส่งออก เพราะอะไร เพราะเราก้าวเดินตามธรรม ก้าวเดินตามครูบาอาจารย์ เห็นไหม ตรวจสอบ ค้นคว้าอยู่กับครูบาอาจารย์ คอยชี้แนะว่าสิ่งนั้นถูกหรือสิ่งนี้ผิด สิ่งที่ทำอยู่นี้ถูกผิด

คนที่ผ่านแล้ว เห็นไหม คนที่อยู่สูงกว่าสามารถดึงคนที่อยู่ต่ำกว่าให้ขึ้นสูงกว่าได้ นี่เราถึงต้องตรวจสอบเพื่อไม่ให้ความส่งออก...จะรู้ว่าส่งออกต่อเมื่อมันมีความเห็นถูกต้องในหัวใจ ถึงจะรู้ว่าส่งออก แต่ถ้าไม่ถึงกับว่าเรามีพื้นฐานนี่ ความส่งออกกับเราเป็นอันเดียวกัน เรากับความส่งออก ส่งที่พุ่งออกไปนี้เป็นเนื้อเดียวกัน มันจะไม่รู้หรอกว่าส่งออก

ถ้าเราเข้ามา ถึงเข้ามาตามธรรม ก้าวขึ้นมา ความสุขอันนี้ก็เป็นผลงานของเรา ผลงานของใจดวงนั้น เห็นไหม ใจดวงนั้นเสวยความสุขอยู่ แต่ความทุกข์ที่ละเอียดขึ้นมานี่ คนเราพอก้าวเดิน คนทำงานเป็นนะ ความคิดว่าจะเอาให้ได้เดี๋ยวนั้นๆ นี่จิตส่งออก ต้องทำความสงบ ทำความสงบเข้ามาอีก หุบร่มเข้ามาให้ได้ ให้ไม่ให้ส่งออก ให้เข้าไปถึงเนื้อของใจ

เห็นไหม ที่ว่า เราจะทำความสะอาดในบ้านของเรา เราต้องเข้ามาในบ้านของเรา อันนี้มันละเอียดเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง พอละเอียดเข้าไปอีกชั้นหนึ่งก็ต้องทำความสงบขึ้นมาอีก ให้จิตนั้นถอยเข้าไป ถอยเข้าไป สงบเข้าไปตรงควรแก่การงาน ควรแก่การงานที่ใจนี้มันเกาะเกี่ยวอยู่ไง ใจนี้มันเกาะเกี่ยวอยู่กับสิ่งที่ว่าเป็นอุปาทาน บ้านนี้ไม่ใช่ของเรา ก็รู้ว่าไม่ใช่ของเรา แต่มันกังวล...

...ต้องพิจารณากายซ้ำ กายนอก กายใน พิจารณากาย ยกกายขึ้นมา ถ้าพิจารณากายขึ้นมา นี่พิจารณากาย พิจารณาเข้าไปที่กายนั้น แต่ถ้าไม่เจอกายนั้น พุ่งดูข้างนอก จิตสงบเข้าไปแล้วมันจะเป็นไปเรื่อย ความคิดความเห็นต่างๆ นี่คือความคิดส่งออก ถ้าพ้นออกไปจากกาย เวทนา จิต ธรรม พ้นจากกาย เวทนา จิต ธรรม เห็นไหม จิตนี้ก้าวเดินออกไปแล้วมันมีความเอร็ดอร่อยในอารมณ์นั้นน่ะ อารมณ์ที่คิดแล้วมันมีความรู้สึกเอร็ดอร่อย มีความพอใจในสิ่งที่อารมณ์นั้น นี่มันจะก้าวตามอารมณ์นั้นไป จะทำให้เนิ่นช้า จะเป็นทุกดวงใจ ทุกดวงใจจะมีสิ่งนี้ขึ้นมา

เพราะว่าเริ่มเข้าไปถึงขั้นตอนไหนก็แล้วแต่ มันจะมีแรงต่อต้านนั้นยังเข้มแข็งอยู่ เราต้องพยายามทำความสงบบ่อยๆ เข้าไป ให้ความต่อต้าน สิ่งที่ต่อต้านนั้นอ่อนตัวลงๆ พออ่อนตัวลงนั่นน่ะ นี่จะค้นคว้า ถึงเห็นกายอีกกายหนึ่งได้ ถ้าไม่เห็นกายในกายไง

ถ้าเห็นกายนั้น นี่จะเห็นวิปัสสนา ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ ธาตุแตกออก ความแตกออกอันนี้ไม่ส่งออก อันนี้เป็นสัจจะตามความเป็นจริง สัจจะตามความเป็นจริงนะ สัจจะตามความเป็นจริงแล้วมันจะรู้เท่า รู้จริงเห็นจริง ความเวิ้งว้างของใจนี่หุบเข้ามาเรื่อยๆ หุบเข้าไปเรื่อย พลังงานของใจนี้จะต่อต้านตลอด ยิ่งมาถึงช่วงที่ว่าจิตนี้ปล่อยจากกายหมดเลย บ้านนี้ไม่ใช่ของเรา อุปาทานในบ้านนี้ก็ไม่ใช่ของเรา เห็นไหม ความที่อุปาทานในบ้านนี้ไม่ใช่ของเรา

แล้วมูลค่าของบ้านล่ะ นี่มันติดในมูลค่าของบ้านเพราะอะไร

เพราะจิตดวงนี้ยังเกิดยังตายต่อไป เห็นไหม มันจะไปสร้างบ้านใหม่ มันจะไปสร้างที่อยู่ที่อาศัยของมันใหม่ นี่มูลค่าของบ้านนั้น ก็เหมือนกับว่า ใจดวงนี้ยังสามารถสร้างภพสร้างชาติต่อไปไง ใจดวงนี้ถึงจะรู้จริงเห็นจริงก็จริงอยู่ รู้จริงเห็นจริง ถึงที่สุดแห่งกระแส เข้ากระแสแล้ว

แต่ถ้าดับ เห็นไหม ต้องดับ การเกิดการตายในภพชาตินี้ไง การเกิดและการตาย เกิดขึ้นมาแล้วต้องให้กิเลสตายในชาตินี้ไง ถ้ากิเลสตายในชาตินี้ มันเป็นโอกาสทอง โอกาสที่เราจะทำของเราได้ ถ้าโอกาสส่วนใหญ่เราจะปล่อยว่าจะรอเมื่อนั้นจะรอเมื่อนี้...มันก็เป็นไปได้ แต่การเกิดการตายอีก ๑ ชาติก็ให้ความทุกข์ ๑ ชาติเท่ากัน

ความเกิดความตายใน ๑ ชาติ ทุกข์ตลอดไป แต่การที่ว่าจิตมีพื้นฐานอยู่ นี่เกิดต้องเกิดดี การเกิดดี การเกิดสถานะที่สมควรที่ว่าเราจะได้แสวงหาคุณงามความดี ถึงแสวงหาทางออกไง นี่ภพชาติถึงได้สั้นเข้ามาๆ

นี่มูลค่าของบ้านนี้มันเป็นเรื่องของนามธรรม เรื่องของบ้านนี้เป็นเรื่องของบ้าน เรื่องมูลค่าของบ้านนี้ เห็นไหม บ้านเล็กบ้านใหญ่ บ้านมีมูลค่ามากมูลค่าน้อย ใจก็เหมือนกัน ใจนี่เหมือนกับว่าติดมากติดน้อย หัวใจของคนหยาบละเอียดต่างกัน ความเล็กน้อยที่ว่าทำให้หัวใจนี้ฟูได้ บางคนอารมณ์กระทบรุนแรง อารมณ์นั้นก็ไม่ฟู เห็นไหม เข้มแข็ง จิตใจนั้นคงเส้นคงวา นี่ใจไม่เหมือนกัน

พอใจไม่เหมือนกันนี่มันก็ทุกข์ไม่เหมือนกัน ความทุกข์ที่ไม่เหมือนกัน มูลค่าถึงไม่เท่ากัน

การเกิดในสถานที่ต่างๆ สูงๆ ต่ำๆ เห็นไหม เกิดในสถานะก็ยังเป็นสถานะ นี่การเกิดคือการสร้างบ้านใหม่ ในเมื่อเราทิ้งบ้านหลังเก่าแล้ว เราทิ้งออกมาแล้ว ทิ้งกายแล้ว ทิ้งอุปาทานในกาย แล้วทำไมยังมาติดข้องอยู่ในมูลค่าอันนี้? มันติดโดยธรรมชาติของมัน เพราะมันเป็นโอฆะ มันเป็นกามภพไง

สิ่งที่เป็นกามภพอยู่ในหัวใจ นี่สิ่งที่ให้คุณค่าความคิดนี้เป็นจิตจินตนาการทั้งหมด จินตนาการที่มันคิดได้โดยอิสระของมัน เพราะใจของมันมีความเห็น ความย่นเข้าไปในความเห็นที่เร็วขึ้นไง ความเห็นความคิดที่เร็วขึ้น การค้นคว้าที่เร็วขึ้น เห็นไหม พลังงานเร็วขึ้น ความคิดเร็วขึ้น ถึงว่า ถ้าตามตรงนี้ทันต้องใช้มหาสติ ความเป็นมหาสติ มหาปัญญาเข้าไป

ความเป็นมหาสติ มหาปัญญา เพื่อจะหุบร่มเข้าไปอีกชั้นหนึ่งหุบร่มเข้าไปนะ พยายามดึงใจเข้ามาหาความสงบของตัวเองให้ได้ ถ้ามีความสงบของตัวเอง จิตนี้ก็ควรแก่การงาน เห็นไหม จิตทำไมต้องสงบอีก ในเมื่อปล่อยบ้าน ปล่อยอุปาทานในบ้านแล้วมันต้องมีพื้นฐานของมันอยู่แล้ว

พื้นฐานนั้นเป็นพื้นฐานที่ใช้งานไปแล้ว เห็นไหม กินข้าวอิ่มแล้วกับมื้อต่อไปคนละมื้อกัน มื้อต่อไปก็ยังต้องกินข้าวใหม่ เห็นไหม จิตที่ปล่อยวางมาเป็นชั้นๆ เข้ามา มันก็ปล่อยวางเป็นชั้นๆ เข้ามานั้นเป็นสิ่งที่ปล่อยวางไปแล้ว แล้วกิเลสตัวใหม่ กิเลสตัวที่ว่า ขณะที่ปัจจุบันธรรม ขณะที่เราจะวิปัสสนาในตรงปัจจุบันที่ไม่ส่งออก เป็นควรแก่การงานไง เป็นงานชอบ เป็นความเพียรชอบ

ถ้างานชอบ มันต้องงานตรงชำระกิเลส งานชำระในความคิดเริ่มต้นของมูลค่าบ้านนั้น

การสร้างมูลค่าใหม่ การตีมูลค่าขึ้นมาเพื่อจะสร้างบ้านใหม่ เห็นไหม นี่มันเป็นนามธรรม บ้านหลังนี้มันถึงเป็นความคิด พอเป็นความคิดขึ้นมา ใจก็เหมือนกัน ถ้าจับตรงนี้ได้ พยายามค้นคว้า ตีมูลค่าแล้วจับว่าใครจะเป็นคนตีมูลค่าบ้านได้ มันจะจับกายได้ จับกายได้ก็เป็นอสุภะอสุภังไง กายที่เป็นอสุภะอสุภัง ถ้าเป็นธรรมนะ พิจารณาเป็นธรรม เป็นอสุภะอสุภัง ถ้าไม่พิจารณาเป็นธรรมมันก็พิจารณาเป็นสุภะ เป็นความสวยความงาม เห็นไหม ความสวยความงามที่เคลิบเคลิ้มไป มันจะเคลิบเคลิ้มไปถ้าพลังงานมันไม่พอ

พลังงานของใจ ใจนี้ไม่มีพลังงาน ร่มนี้หุบเข้ามาไม่ได้ จิตมันส่งออกโดยธรรมชาติ พลังงานนี้ส่งออกทั้งหมด พลังงานนี้ไม่มีพลังงาน พอพลังงานมันเกิดขึ้น มันจะพุ่งออกไปข้างนอก จิตนี้ส่งออกโดยตลอด นี่พยายามจะค้นคว้าตรงนี้ ต้องพยายามค้นคว้ามาก ถ้าไม่อย่างนั้นมันส่งออก

ความส่งออกทำให้เสียพลังงานหนึ่ง

ทำให้ความคิดความเห็นของเราผิดไปจากสัจธรรมความเป็นจริงหนึ่ง

ธรรมเป็นธรรมอยู่วันยังค่ำ ธรรมมีอยู่ในธรรมชาติของธรรมอยู่แล้ว ธรรมนั้นมีอยู่โดยธรรมชาติ เราพยายามศึกษาค้นคว้าธรรม สร้างเหตุของธรรมขึ้นมา เห็นไหม ธรรมจักร จักรที่เราจะสร้างขึ้นมานี้เราสร้างขึ้นมาเอง เราสร้างจักรของเราขึ้นมาเป็นธรรม นี่ อันนี้ธรรมฝ่ายเหตุ

ธรรมมีอยู่ดั้งเดิม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมเพราะว่าเข้าไปรู้ธรรมความเป็นจริง ก็อาศัยเหตุ เห็นไหม จนอาสวักขยญาณชำระล้างกิเลสเข้าไปจนธรรมกับใจดวงนั้นเป็นเนื้อเดียวกัน ถึงจะสิ้นสุดของการประพฤติปฏิบัติไป

แต่นี้เรายังอยู่ในการประพฤติปฏิบัติอยู่ เพราะว่าเราไม่สามารถชำระจิตที่ให้ความเห็นนี้ถูกต้องโดยสมบูรณ์

ความเห็นถูกต้องนี้เห็นเป็นส่วนๆ เข้ามา เห็นไหม ความเห็นถูกต้องจากเรื่องกายกับใจนี้ไม่ใช่อันเดียวกัน แล้วก็ความอุปาทานในกายนี้ก็ไม่ใช่อันเดียวกัน มันละออกมาเป็นชั้นๆ ส่วนๆ นี้คือความเห็นส่วนๆ ที่เราละออกมา เราปล่อยวางออกไปเป็นส่วนออกไปแล้ว แต่ความสมบูรณ์อยู่ข้างหน้านั้น ความสมบูรณ์อยู่ข้างหน้า เราต้องก้าวเดินไปข้างหน้า

พอความก้าวเดินไปข้างหน้า ต้องก้าวเดินสมกับการประพฤติปฏิบัติ สมกับตามความเป็นจริง สมกับสิ่งที่ว่าเป็นกิเลสที่อยู่ในหัวใจ เป็นบ่อเกิดของความให้มูลค่านั้น เราต้องจับต้องตรงนี้ให้ได้ จับต้องได้คือจับจำเลยได้ จับจำเลยไม่ได้ วิปัสสนาไม่ได้ เห็นไหม

ถ้าจับจำเลยได้ วิปัสสนาได้ จับจำเลย จับเหตุนั้นให้ได้ ตีมูลค่าของนั้นให้ได้ พอตีมูลค่าของบ้านได้ขึ้นมา แล้วก็ดูสิว่ามูลค่านั้นมันมีอยู่จริงไหม มันให้ผลรุนแรงมาก เพราะมูลค่านี้แล้วแต่เราจะสร้างขึ้นมาใช่ไหม มีมูลค่ามากมูลค่าน้อยนี้ก็อยู่ที่เรามีวัตถุที่จะตอบสนองกับมูลค่านั้น

ความเห็นของเรา ความเห็นของใจที่มันยึดมั่นถือมั่นมากขนาดไหน ความเห็นของใจที่เกิดตายๆ มา แล้วการจะชำระออกไปจากกามภพอันนี้จะทำลายมูลค่าของใจออกทั้งหมดน่ะ นี้คือตัวรุนแรง

ในการประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่รุนแรงที่ข้ามยากที่สุด ถ้าข้ามได้ ความอ่อน ความเป็นไป ความสะดวกจะเกิดขึ้นมา แต่ความสะดวกยังเกิดขึ้นมาไม่ได้เพราะว่าสิ่งนี้ให้ผล เพราะมันกวนอยู่ตลอดเวลา กวนหัวใจมาก เพราะมันปล่อย เห็นความจริงข้างนอก เห็นตัวบ้าน กับเห็นความอุปาทาน แต่มูลค่านี่มันติดไปกับใจ ใจอยู่ที่ไหนมันก็ติดไป มันติดอยู่ตลอดเวลา มันกวนใจ มันเป็นเนื้อเดียวกันกับใจ

ถึงว่า มันเลาะเปลือกเข้ามา มันปล่อยเข้ามา เลาะเปลือกเข้ามา มันถึงเนื้อของใจ เนื้อของใจนั้นมันก็ให้คุณค่าตลอด พอให้คุณค่าตลอด นี่อารมณ์อย่างนี้ยิ่งเอร็ดอร่อยของความคิดโลก ความคิดของโลก อารมณ์อย่างนี้จะเกิดขึ้น แล้วพยายามจะสร้างให้เกิดขึ้นด้วยนะ แต่อารมณ์ถ้าประพฤติปฏิบัติ นี้คือแรงต้านอย่างสุดยอดของในเรื่องการประพฤติปฏิบัติ เอาชีวิตเข้าแลกกันตรงนี้เท่านั้น ถ้าตรงนี้ไม่เอาชีวิตเข้าแลก มันจะส่งออกโดยธรรมชาติเลย ผลักไสออกมาตลอด ผลักไสออกมาตลอด

เราหาแล้วหาอีกนะ ล้มลุกคลุกคลาน มรรคอริยสัจจังสร้างขึ้นมาว่ามีพลังงานมากแล้ว ว่าเราผ่านขึ้นมา เราเป็นงานแล้ว เราทำงาน เราชำนาญ ถ้าเราชะล่าใจนะ ส่งออกทั้งหมดเลย วิปัสสนาก็เป็นวิปัสสนาส่งออก เทียบเคียงให้เห็นคุณค่าไง สิ่งนั้นเป็นสิ่งนั้น สิ่งนั้นเป็นสิ่งนั้น แล้วสิ่งที่มีบวกลบคูณหารแล้วลงตัวพอดี จบ นี่หมุนออกไป จะส่งออกไป พอส่งออกไป เห็นไหม

วิปัสสนาก็เหมือนกัน วิปัสสนาในกายก็เหมือนกัน นี่จิตนี้สงบ จิตนี้เห็นพิจารณากายจนปล่อยวาง หลบออกไป ความหลบออกไปนี่ส่งออกไปๆ ล้มลุกคลุกคลานอยู่อย่างนั้น ใช้พลังงานอย่างสูงขึ้นมาเพื่อจะให้เห็นสัจจะตามความเป็นจริง สัจจะตามความเป็นจริงไม่ส่งออกไป ต้องส่งเข้ามาในปัจจุบันธรรม

ความคิดความเห็นนี้เป็นสัญญา สัญญานี้เป็นสัญญาใน เวทนาก็เป็นเวทนาใน เวลาสังขารยิ่งเป็นสังขารตัวสังขารในเลย เป็นขันธ์ในขันธ์ เห็นไหม ขันธ์ในขันธ์ที่มันหมุนเวียนออกไป ความหมุนเวียนออกไป ความคิดหมุนเวียนออกไป หมุนออกมาเราก็กลิ้งตามออกไปๆ แล้วเวลาจะย้อนกลับมา ความเห็นจะย้อนกลับมา เราพยายามหมุนตัวเองกลับเข้าไป นี่ไง ที่ว่าจักรมันจะเคลื่อนไง

ถ้าธรรมจักรเคลื่อนออกไป เราส่งเสริมขึ้นไป ความคิดเรานี่แหละ ความคิดอันหนึ่งเป็นความคิดส่งออก ความคิดอีกอันหนึ่งเป็นความคิดโดยธรรมจักร ความคิดที่ส่งออก นี่เราทำงานหรือเวลาเราทำงานมากๆ ขึ้นมา เราจะเมื่อยล้า เราจะทำงานไปสักแต่ว่าทำ เห็นไหม สับอะไรก็แล้วแต่ เราสับฟืนสับอะไรด้วยมีด เราจะสับไปอย่างนั้นน่ะ พอมันหลายหนเข้าๆ มันจะล้า พอล้าเราก็ยกมือฟันไปโดยไม่เต็มแรง ไม่เต็มไม้เต็มมือ เห็นไหม นี่ความที่วิปัสสนาบ่อยเข้ามันจะเป็นอย่างนั้น เราต้องหมุนกลับมาพัก

ถ้าทำไม่ได้เราต้องกลับมาทำความสงบ ทำความสงบ กำหนดพุทโธใหม่ก็ต้องทำนะ ถ้าจิตตรงนี้มันจะไม่ยอมกำหนดพุทโธ มันเห็นว่าเราทำงานมาแล้ว งานที่เราทำมานี่เราทำมาแล้ว มีความชำนาญ งานนี้ทำไมเราทำไม่ได้ เห็นไหม นี่ก็ส่งออก ส่งออกให้เราเนิ่นช้า ส่งออกให้เราเสียดายอารมณ์ เสียดายการประพฤติปฏิบัติ มันจะวิ่งเข้าต่อสู้ทันทีๆ

แต่ถ้าเราปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม มันต้องกลับมาพักเพื่อไม่ให้ล้าขึ้นมา พอกลับมาพักขึ้นมา เพื่อย้อนกลับไป จะได้ธรรมไง ความคิดก็เหมือนกัน กายกับจิต สติปัฏฐาน ๔ นี้คือเหตุที่ควรแก่การงาน การวิปัสสนาในกาย เวทนา จิต ธรรม นี้เป็นที่ควรแก่การงาน การหมุนออกไป ความคิดส่งออกไปนั้น ความส่งออกไปให้เสียเวลา

นี่มันมีอยู่ ๒ เป้าหมาย เป้าหมายหนึ่งคือเป้าหมายที่เราประพฤติปฏิบัติเพื่อให้ถึงเป้าหมายของธรรม แต่เป้าหมายของกิเลส เป้าหมายของผู้ที่สงวนรักษาสิทธิของตัวเองอยู่ในหัวใจ มันจะผลักไสให้เป้าหมายเราคาดเคลื่อน ผลักออก ผลักเป้าหมายให้เราคาดเคลื่อนออกไป พอเป้าหมายเราคาดเคลื่อนไป นั้นคือการส่งออก เห็นไหม

ไม่รู้ ถ้ารู้จะส่งออกหรือ เพราะไม่รู้ถึงได้ส่งออกไป ความหมุนออกไปนั่นคือหมุนออกไปแล้ว จนกว่าจะไปได้คติ ได้ความเห็นข้างหน้าไง พอหมุนออกไป ความเห็นออกไป จนไปถึงที่สุดแล้ว เพราะสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เห็นไหม มันเป็นอนิจจังทั้งหมด ความที่เราคิดไปนี่มันต้องแปรสภาพทีหลัง มันจะหมุนเวียนออกไปขนาดไหน เราตามไปแล้วมันจะไม่ให้ผลไง ผลนั้นมันต้องกลับกลอก สิ่งที่กลับกลอกนั้นมันไม่ใช่ธรรม นี่มันก็ ๑ รอบ ๑ วงจรของพลังงานที่ใช้เปล่าไป ความสูญเปล่าออกไปของใจนี้ นี่การทดสอบ การทำงานที่ถูกต้องและผิดจะมีเกิดขึ้นในการวิปัสสนา

วิปัสสนาขั้นนี้ถึงต้องวิปัสสนาไปตลอด แล้วต้องกลับมาพัก ออกวิปัสสนา...กลับมาพัก ออกวิปัสสนา แต่ส่วนใหญ่แล้วมันจะวิปัสสนาตลอดๆ เพราะแรงของใจตรงนั้นมันคิดว่างานนี้เป็นความชำนาญของใจไง แต่ไม่ได้คิดว่าตรงนี้ต้องเป็นมหาสติ มหาปัญญา

มหาสติ มหาปัญญา ต้องตั้งสติเข้า ๒ เท่า ยับยั้งความคิดที่ไหลพรากออกมา เห็นไหม ความคิดที่มันพรากๆ ออกมา พลังงานของใจที่มันพุ่งออกๆ มันจะรุนแรงมาก นี่ความคิดที่รุนแรงที่ไหลพรากออกมาจากใจ มันจะทำให้มหาสติ มหาปัญญานี่ล้มกลิ้งล้มหงายอยู่ตรงนั้น รับพลังงานอันนี้ไม่ไหว พลังงานนี้อันรุนแรง

ความรุนแรงของมัน เพราะว่ามันจะรักษาตัวมันไว้ ไม่ให้เราประสบความสำเร็จของเรา

ประสบความสำเร็จของเรา ฟังสิ เราคือใคร? เราคือการที่ว่ากำลังต่อสู้กันซึ่งๆ หน้านี้ ต่อสู้กับพญามารอยู่ซึ่งๆ หน้า ที่จะเอาพญามารอยู่ใต้กำมือของเราไง นี่แล้วเอาอะไรไปสู้ล่ะ? มีสิ ธรรมจักรไง จักรที่เราสร้างขึ้นมานี่ เป็นธรรมาวุธที่เราสะสมขึ้นมา ธรรมาวุธเกิดขึ้นมาจากเราพยายามทำของเราสะสม แล้วหมุนเวียนออกไป หมุนเข้าไปๆ

นี่หมุนเข้าไป มันจะมีกำลัง เริ่มมีฝ่ายชนะบ้าง พอฝ่ายชนะบ้างขึ้นมานี่ สิ่งนั้นจะยุบยอบตัวลง จะหลุดออกไป ปล่อยออกไป ให้เราได้มีความเวิ้งว้าง มีความสุขขึ้นมา เห็นไหม นี่ปล่อยวางๆ ปล่อยวางบางครั้งบางคราว นี่จะให้เรามีความสุขขึ้นมา เพราะเขาเริ่มจะขยับตัวแล้ว พลังงานฝ่ายธรรมมากขึ้น เหตุที่เราสร้างมากขึ้น มันต้องเสมอ

จากอ่อนด้อยกว่า เห็นไหม จนเสมอกัน จนยับยั้งเขาได้ จนพยายามจะต่อสู้เขาก็ได้ นี่เขาก็ต้องรีบหลบตัวออก เขาไม่ยอมแพ้นะ เขาคือความเห็นของใจเดิมนี่ไม่ยอมแพ้ ความให้มูลค่าของใจนี่จะไม่ยอม จะตีมูลค่ามากมูลค่าน้อยอยู่ตลอดเวลา ต่อรองตลอดเวลา หลบหลีกธรรมจักรอันนี้ตลอดเวลา

การวิปัสสนามันถึงว่า ถ้าทำถูกต้องก็เป็นธรรม ถ้าทำไม่ถูกต้อง จะว่าผิดก็ว่าผิด แต่ความผิดความถูกมีมาทั้งนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษามา ๖ ปีกับลัทธิต่างๆ อย่างนั้นยังมีความศึกษาออกไปข้างนอก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังค้นคว้าอยู่ ๖ ปี ลองผิดลองถูกอยู่ ๖ ปี แล้วของเราล่ะ...นี่ถ้าคิดอย่างนั้นขึ้นมาแล้วมันก็มีกำลังใจ

มันต้องมีกำลังใจขึ้นมา ถ้าใจไม่มีกำลัง ใจอ่อนแอ ใจสู้ไม่ไหว ใจก็ท้อแท้ ความท้อแท้ก็จะว่า “เมื่อนั้นเมื่อนี้” เห็นไหม นี่ส่งออกอีกแล้ว แต่ถ้ามีความเข้มแข็งขึ้นมา ต้องทุ่มทั้งชีวิต ถึงว่าต้องเข้มแข็ง เข้มข้นในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าจืดจางในการประพฤติปฏิบัติแล้วมีแต่วันท้อถอย วันท้อถอยแล้วยังว่าเมื่อไหร่ก็ทำได้นะ ขนาดที่ว่าเป็นนักบวชอยู่ ว่าสึกไปก็มีโอกาสจะทำได้ ขนาดว่าอย่างนี้ยังมีเลย นี่เวลามันท้อถอยขึ้นมานี่มันส่งออกจนเกือบจะด้อยค่าไปน่ะ

แต่ถ้าเราสู้ขึ้นไปๆ ด้วยความเข้มแข็งของใจ ใจดวงนั้นต้องเข้มแข็ง จักรเคลื่อนออกมาแล้ว มันผิดพลาดไปนั้นยกให้ความผิดพลาดไปเป็นครู เริ่มต้นใหม่ ความเริ่มต้นใหม่ หมุนเข้ามาๆ เวิ้งว้างเข้ามาๆ เพราะมันจับได้แล้ว ความจับได้แล้วนี่วิปัสสนา มันเป็นการต่อสู้กับวิปัสสนาเท่านั้น

หลับหูหลับตาทุ่มเข้าไป ทำเข้าไปตรงนั้น ตรงที่ว่าจับต้องได้ ตรงที่ให้มูลค่านั้น ความให้มูลค่านั้นต้องแตกออกไป เพราะการให้มูลค่านั้นมันเป็นขันธ์ในขันธ์ ขันธ์นั้นให้มูลค่า สัญญามันก็จำ สัญญาความจำได้ของมูลค่านั้นมันก็ยึดอยู่ที่ตรงนั้น

ธรรมจักรนั้น ญาณนั้นเกิดขึ้น ญาณํ อุทปาทิ วิชฺชา อุทปาทิ อาโลโก อุทปาทิ เห็นไหม ญาณเกิดขึ้น วิชชาเกิดขึ้น ความสว่างกระจ่างแจ้งเกิดขึ้น ความสว่างกระจ้างแจ้งคือความแทงทะลุ ความแทงทะลุความมืดบอดของใจนั้น มันแทงทะลุออกไปทั้งหมด ขันธ์นั้นกับใจแยกออกจากกัน ขันธ์ในใจนี่ขาดออกจากใจ ใจนั้นเป็นอิสระ เป็นใจล้วนๆ เลย ไม่มีขันธ์ เห็นไหม นี่ให้มูลค่าในใจอีกไม่ได้

ความให้มูลค่าอีกไม่ได้นะ พอให้มูลค่าอีกไม่ได้ เขาเป็นตัวของเขาเอง สิ่งนี้หมดกัน จะไม่เกิดอีก สร้างบ้านอีกไม่ได้ เพราะการให้มูลค่ากับบ้านนั้นก็ต้องโดนทำลายไปด้วยความเห็นถูกต้องไง ความให้มูลค่านี้เป็นความเห็นผิด ความเห็นว่าเราให้มูลค่านี้ เอามูลค่านั้นไปสร้างที่อื่นก็ยังได้อยู่ต่อไป

แต่ความเห็นถูกต้องนี่ มูลค่านี้เป็นความยึดมั่นถือมั่นของใจ ใจหลอกใจอยู่เท่านั้น พอความรู้เท่าเห็นจริงชำระขาดออกไป ความให้มูลค่านั้นก็ไม่มี เพราะมันเป็นความหลง พอความหลง จิตมันก็ปล่อย เวิ้งว้างมาก ความเวิ้งว้างของใจนะ นี่ใจล้วนๆ ใจที่ไม่มีขันธ์ เหมือนใจที่ไม่สร้างรูป เหมือนน้ำ น้ำนี้อยู่ในที่ไหน อยู่ในแก้วก็อยู่ในรูปของแก้ว อยู่ในแม่น้ำอยู่ในลำคลองก็เป็นแม่น้ำ ความรู้สึกเฉยๆ ไง ใจนี้เป็นสิ่งที่รู้เฉยๆ ความรู้เฉยๆ รู้ที่ไม่มีตัวตน

จิตเดิมแท้นี้ผ่องใสไง ความผ่องใส ถ้าอย่างนี้จะผ่องใส ความผ่องใส ความเวิ้งว้างอยู่ นี่ถ้าอยู่ตรงนี้ ส่งออก ความรู้ส่งออกว่าสิ่งนี้เป็นความรู้สมบูรณ์ ความรู้สมบูรณ์ยังไม่เกิดขึ้น เพราะว่าความรู้นี้มันเป็นความรู้ว่าเรารู้อยู่ แต่ไม่ใช่รู้แบบมีมูลค่า ไม่แบ่งแยกเป็นขันธ์แล้ว มันไม่มีสัญญาความจำได้หมายรู้ มีเวทนาเข้ามาแบ่งว่าความสุขความทุกข์ เฉยๆ แต่นี้เป็นสิ่งที่ว่าเป็นน้ำเฉยๆ เป็นธาตุเฉยๆ เป็นแร่ธาตุที่ว่าไม่ให้มูลค่าใดๆ ทั้งสิ้น แต่สิ่งที่ไม่ให้มูลค่านี้ พอมาเป็นขึ้นรูปเป็นสิ่งใด สิ่งนั้นก็มีมูลค่าขึ้นมา เห็นไหม นี่จะติดอยู่ในความว่าง ส่วนใหญ่แล้วส่งออกตรงนี้ก็ยังส่งออกอยู่ ถ้าความส่งออกมันก็ไม่สมบูรณ์ ความไม่สมบูรณ์ก็เป็นความว่างอยู่

สิ่งที่เป็นแร่ธาตุอยู่ ธาตุรู้ ธาตุทั้ง ๖...ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ นี่บ้านได้ทำลายแล้ว ทุกอย่างทำลาย บ้านคือกาย กายนั้นปล่อยวางออกไปทั้งหมดแล้ว แต่สิ่งที่เป็นธาตุรู้อยู่ก็เป็นธาตุอันหนึ่ง แต่เป็นธาตุรู้

จับธาตุรู้ นี่มีความสุขก็เสวยแต่ความสุข จะอยู่ในความสุขแล้วจะส่งออกอยู่นาน จะส่งออกตลอดไป แล้วไม่มีผู้ใดเลยที่จะไม่พลาด ไม่มีการส่งออก เพราะมันต้องผ่านตรงนั้น สิ่งที่ผ่านตรงนั้น เพราะสิ่งต้องเจอพลังงานอันนี้ พลังงานอย่างนี้ พลังงานที่ส่งออกไป ส่งออกไป นี่ส่งออกไปคือเขาปิดหูปิดตาเราไม่ให้เข้าไปเจอหน้าไง จะปิดหูปิดตาทำให้ผู้ที่ปฏิบัตินี้ไม่เห็น ไม่รู้เท่า ไม่รู้จริง ปิดหูปิดตาแล้วให้มองไปแต่ออกไป

พลังงานที่ส่งออก พลังงาน เห็นไหม น้ำ ถ้าโดนความร้อน ถ้ามันมีพลังงานก็ส่งออก ความเย็น พลังงานของน้ำรวมตัวขึ้นไปมันก็มีพลังงานขึ้นมา เห็นไหม นี่ใจส่งออกอยู่ตลอดเวลา จนกว่าจะเข้ามาเห็น รู้เห็นธาตุรู้นั้น ธาตุรู้เห็นธาตุรู้นั้น ความมหัศจรรย์นี้มหัศจรรย์เลอเลิศ

นี่ถ้าไม่มีมรรคแล้วจะเข้าไปจับผลตรงนี้ได้อย่างไร

ไม่มีมรรค เห็นไหม “สุภัททะ ในศาสนาไหนก็แล้วแต่ ถ้าไม่มีมรรค ในศาสนานั้นจะไม่มีผล”

นี้เพราะเราหลงใหลได้ปลื้มไปกับการส่งออกอยู่ตลอดเวลา จนมีความเอะใจ เพราะว่าพลังงานของน้ำนี่ทำให้เรารู้สึกตัวขึ้นมาไง พลังงานของน้ำ เห็นไหม พลังงานความร้อน มันมีความเฉา มันเป็นนิจจัง มันเป็นอนัตตาอยู่ตลอดเวลา ถึงจะไม่มีมูลค่ามันก็เป็นอนิจจัง ถึงไม่มีมูลค่ามันก็เปลี่ยนแปลง น้ำนี้ต้องไหลไปที่ต่ำ มันจะแปรสภาพไปตลอดเวลา

สิ่งที่ใจที่ว่าไม่มีมูลค่านี้ มันก็มีความเฉาๆ อยู่ในหัวใจ มันมีความพอใจ สิ่งใดที่ถูกใจมันก็จะมีความพอใจ สิ่งใดที่ไม่มีความถูกใจมันก็จะมีความเฉา มีความไม่พอใจอยู่ในหัวใจนั้น แต่มันให้ค่าไม่ได้ เห็นไหม มันละเอียดอ่อนอยู่ขนาดนั้น

นี่ถ้าเราพยายามค้นคว้ากลับเข้ามา นั้นคือการไม่ส่งออก นั้นคือควรแก่การงาน

การพยายามทำจักรนี้ขึ้นมา ถ้ามีมรรคตัวนี้ มรรคตัวนี้จะเข้ามาจับเหตุอันนี้ได้ พอจับเหตุตัวนี้ได้ นี่งานเกิดขึ้น งานในการวิปัสสนาเกิดขึ้นอีกแล้ว วิปัสสนาในการให้คุณค่านั้น วิปัสสนาอันนี้มันจะไม่ออกมาเป็นขันธ์ที่ว่าหมุนออกไป มันเป็นพลังงานเฉยๆ เห็นไหม พลังงานกับพลังงานนั้นจับต้องกัน พลังงานนั้นถ้าเท่าทัน กลืนกินเข้าพลังงานอีกพลังงานหนึ่ง นั่นน่ะ ความสมบูรณ์ของใจ ความสมบูรณ์ของผู้ที่ว่าไม่กลับมาเกิดอีก

เพราะมรรคอริยสัจจังนั้น ธรรมจักรนี้กลืนกินใจดวงนั้นจนใจดวงนั้นเป็นธรรมทั้งหมด พอเป็นธรรมทั้งหมด นี้คือความสมบูรณ์ของใจ ใจนี้ไม่มีการส่งออกอีกเลย เพราะใจนี้สมบูรณ์เต็มที่ พอสมบูรณ์เต็มที่นี้ จิตนี้มีสติมีสัมปชัญญะพร้อมตลอดเวลา อย่างนี้แล้วถึงเคลื่อนไหวกลับจะต้องส่งออก ส่งออกมาด้วยสมมุติเพื่อจะชี้ทางการก้าวเดินของใจ

ใจจะก้าวเดินเข้าไป จากเหตุเป็นผล จากเหตุเป็นผล จากเหตุเป็นผล จนเข้าไปถึงจุดความสมบูรณ์ของใจดวงนั้น ถ้าถึงใจดวงนั้น นั้นถึงเป็นธรรมสมบูรณ์เต็มที่ ความธรรมสมบูรณ์เต็มที่ก็ถึงจุดหมายปลายทาง เห็นไหม จากหยาบๆ ขึ้นไป ละเอียดอ่อนเข้าไป ละเอียดเข้าไปจนละเอียดสุด ความละเอียดสุดแล้ว นั้นรู้เต็มๆ ในหัวใจนั้น

จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส อุปกิเลสนั้นโดนทำลายลงด้วยธรรมจักรนั้นกลืนกินใจดวงนั้นทั้งดวง จนถึงที่สุดของธรรมดวงนั้น นี่ความส่งออกอันนี้ ส่งออก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าส่งออกอยู่ ๔๕ พรรษา...๔๕ พรรษานั้นรื้อสัตว์ขนสัตว์ออกไปจากโลกนี้มากมายมหาศาล แม้แต่เทวดามาฟังธรรมนั้น นี่คำพูดก็เหมือนกับการส่งออกไง ส่งออกมาด้วยขันธ์ ๕ ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์นั้นถึงต้องเป็นการงาน เป็นเครื่องมือในการใช้งานนั้น

แต่สำหรับส่งออกแบบผู้ที่ก้าวเดินอย่างพวกเรานี้ การส่งออกแต่เริ่มต้น กิเลสพาส่งออก ความยึดมั่นถือมั่น พยายามทำให้การประพฤติปฏิบัตินั้นไขว้เขวออกไปจากธรรม ความไขว้เขวออกจากธรรม เราต้องฝืนจากว่า ทุกข์ทรมานในการประพฤติปฏิบัติหนึ่ง ทุกข์จากความเห็นผิดของเรา ทั้งๆ ที่ว่าเรารักตนนะ

เรารักตน เราปรารถนาจะให้ตนนี้เป็นผู้ที่มีคุณงามความดี เราปรารถนาถึงขนาดว่าต้องการให้ใจดวงนี้มีธรรมในหัวใจ ไม่อยากจะเกิดมาทุกข์ยากอย่างที่เราประสบอยู่อีก เห็นไหม เรามีแต่ความปรารถนา เรามีแต่ความคิดความเห็นคุณงามความดีขณะที่ใจนี้เป็นธรรม แต่คิดได้ชั่วครั้งชั่วคราว กิเลสก็เกิดขึ้นมาล้มความคิดอันนี้ พอล้มความคิดอันนี้ขึ้นมามันก็หมุนเวียนออกไป เห็นไหม นี่ความคิดของเรามันเป็นความส่งออกโดยธรรมชาติ เราฝืน ฝืนขึ้นไป

แต่ความส่งออกแบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ ๔๕ พรรษานั้น ความส่งออกอันนี้ส่งออกมาด้วยความเมตตาสงสาร ถ้าไม่เอาสิ่งนั้นมาสื่อกับสัตว์โลก ไม่มาสื่อกับเหล่าสาวกทั้งหลาย เหล่าบริษัท ๔ ที่ว่าจะให้รู้ธรรมเห็นธรรม

ต้องรู้ธรรมเห็นธรรม จับหลักความเป็นจริงของธรรมนี้ไว้ให้ได้ หลักความเป็นจริงของธรรม เห็นไหม แล้วสิ่งนี้เป็นธรรมจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เป็นธรรมล้วนๆ เพราะใจนั้นสะอาด แต่ถึงว่าส่งออกมาก็ส่งออกมาจากใจที่บริสุทธิ์ ใจที่บริสุทธิ์ออกมาเป็นธรรม เป็นเครื่องดำเนิน ถึงจะไม่มีความผิดพลาดเลย

เพราะใจนั้นเป็นธรรมแล้ว ใจนั้นได้ก้าวเดิน ก้าวเดินตามสัจจะขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป ปล่อยวางตามสัจจะความจริงขึ้นไป เห็นตามความเป็นจริงขึ้นไป

ฉะนั้น คำพูดส่งออกนั้นฟังดูแล้วมันเหมือนกันกับความคิดของเรา เราศึกษาธรรมมา เห็นไหม ขันธ์ ๕ ก็คือขันธ์ ๕ ความคิดเป็นสังขารก็รู้ว่าสังขาร แต่เนื้อแท้ของสังขาร เนื้อแท้ของความคิดนี่ไม่เห็น เห็นแต่ผลของความคิด เห็นแต่เวลาคิดไปแล้วเอาความทุกข์มาให้เรา เอาความทุกข์คือผลของมัน เห็นไหม

พลังงานที่ส่งออกไปมันเผาไหม้สิ่งใด ให้ความร้อน พอให้ความร้อน สิ่งต่างๆ นั้นเผาไหม้จนทำลายไป จนน้ำตาตกนะ สิ่งนั้นเสียหายไป บุบสลายไป เราทำลายของเราเอง เราทำลายโอกาสของเรา เราทำลายการประพฤติปฏิบัติที่เราจะมีโอกาสประพฤติปฏิบัติของเรา เราทำลายของเราเองทั้งนั้นเลย นี่ถ้าเราทำลาย เพราะอะไร เพราะความคิดส่งออก

ความคิดที่เราส่งออกไป เราคิดว่ามันเป็นความสมบูรณ์ของเรา เป็นความดีของเรา นั่นน่ะความคิดของเรา นี่ความส่งออกของเราถึงเป็นโทษ ความส่งออกของผู้ที่มีกิเลสอยู่ในหัวใจมันเป็นโทษทั้งหมด ถ้ามันพยายามประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันจะเริ่ม ถ้าเห็นตามความเป็นจริงขึ้นมา ความคิดขึ้นมาจะมีคุณค่า ถึงว่าเป็นศรัทธากับอจลศรัทธาไง

ศรัทธานี้ยังคลอนแคลนอยู่ ศรัทธาเกิดขึ้นจากเราที่ว่า ความคิดที่เป็นความคิดที่เป็นแง่บวก เป็นแง่ที่ออกจากกิเลส ความคิดดี เห็นไหม นี่คือศรัทธา แต่ศรัทธานี้มันไม่คงที่ ศรัทธานี้แปรปรวน ทุกอย่างต้องแปรปรวน

ใจนี้ หัวใจที่มีกิเลสอยู่นี้เปรียบเหมือนช้างสารที่ตกมัน ไม่เคยมีใครสามารถเอาใจดวงนี้ไว้ใต้อำนาจได้เลย นี่ความคิดอันนั้นมันถึงให้โทษไปตลอดเวลา นี่ความคิดอย่างนั้นมันให้โทษกับเรา

แต่ธรรมที่ว่าส่งออกมาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เป็นแบบนั้น ไม่เป็น มันสะอาดมาจากเริ่มต้น แต่เพียงแต่ต้องการสื่อด้วยสมมุติเพื่อสื่อให้เข้าใจกันเท่านั้น สื่อให้เข้าใจกัน แต่ความเข้าใจ สื่อให้เข้าใจนะ แต่ความเข้าใจของธรรม ก็ที่ว่า อย่างนี้สมบูรณ์ สมบูรณ์ด้วยธรรม

แต่กิเลสก็ยังปลิ้นปล้อน เอาธรรมนั้นเข้ามาให้เราคิด เอาธรรมขึ้นมาแปรปรวน เอาธรรมนั้นเข้ามาแอบอ้างไง เอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมาแนบกับใจ แล้วว่าให้ใจเป็นแบบนั้น เห็นไหม

ใจดวงหนึ่งสะอาด ใจดวงหนึ่งสื่อเพื่อประโยชน์ของโลก สื่อเพื่อสัตว์โลก สื่อเพื่อให้ขึ้นไป แล้วรื้อสัตว์ขนสัตว์ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนารื้อสัตว์ขนสัตว์ แต่มันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าสัตว์โลกไม่สนใจหนึ่ง กรรมของสัตว์โลกหนึ่ง แล้วมันเป็นไปไม่ได้ที่ว่าทุกๆ ดวงใจจะเข้าถึงสัจธรรมโดยสมบูรณ์แบบนั้น แต่มีอยู่ ถ้าไม่มีอยู่ ทำไมพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระอานนท์ถึงตามไปๆ มีอยู่ตามแบบนั้น ถึงสื่อไว้อย่างนั้นไง สื่อเพื่อคนที่ใจเป็นธรรม ใจที่เป็นธรรมศึกษาเรื่องนั้นมาแล้วมันจะเข้ามาถึงยอมรับตามความเป็นจริง แต่ถ้าใจมีกิเลสหนา สื่อแล้วก็พยายามจะพลิกแพลงธรรมนั้นให้เป็นของเรา เห็นไหม

ใจส่งออกตั้งแต่เริ่มต้น เป็นการส่งออกไปโดยให้เสียเวลา เสียโอกาสของตัวแล้วหนึ่ง แล้วยังยึดธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นธรรมของตนอีก เห็นไหม หลงใหลไง หลงในการประพฤติปฏิบัติ ประพฤติปฏิบัติไม่เข้าถึงสัจจะ ไม่เข้าถึงธรรมตามความเป็นจริง แต่เอาธรรมนั้นมาแนบขึ้นมา เป็นธรรมยืมมา เป็นธรรมยืมออกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วโกงว่าเป็นของตน เห็นไหม นี่โทษมัน ๒ ชั้น ๓ ชั้น แต่ใจดวงนั้นไม่เห็น ใจดวงนั้นมีแต่ความอิ่มเอมใจว่าเรารู้ธรรม เราประพฤติปฏิบัติธรรม เราเห็นธรรม...แต่การส่งออก เพราะใจมีกิเลสดวงนั้น กิเลสมันมืดมิด นี่กิเลสมันให้โทษ ความที่ว่ากิเลสให้โทษ ถึงให้ใจดวงนั้นไม่มีโอกาส ทำลายโอกาสของใจดวงนั้นเอง

แล้วโอกาส เห็นไหม ทำลายโอกาสมาแล้วหนึ่ง แล้วที่หลงอยู่นี่ หลงอยู่นี่ทำให้เนิ่นช้าไปเรื่อย เนิ่นช้าเพราะมันไม่ประพฤติปฏิบัติ เพราะเข้าใจว่าอันนี้เป็นผล เห็นไหม หลง ๒ ชั้น ส่งออก ๒ ชั้นไง ส่งออกเพราะความผิดหนึ่ง ส่งออกเพราะเข้าใจว่าอันนี้เป็นผลอีกหนึ่ง นี่ส่งออกไปๆ เราถึงต้องพยายามทำใจของเราด้วยสมถธรรม นี่สมถกรรมฐานถึงมีคุณประโยชน์มาก สมถกรรมฐานทำใจนี้ให้มีโอกาสได้แยะแยกระหว่างความผิดกับความถูก

ความผิดหมายถึงว่า ถ้าจิตมันไม่สงบ มันคิดอยู่นี่เป็นความเห็นอย่างหนึ่ง ใจมันจะเห็นชัดๆ ถ้าจิตนั้นสงบเข้าไป เวลาสัมผัสสิ่งใดขึ้นมา จิตนั้นจะมีความเห็นอีกอย่างหนึ่ง เห็นไหม สมถกรรมฐานนี้ถึงจะแยกไง แยกแรงดึงดูดของกิเลสที่ดึงดูดใจดวงนั้นให้อยู่ใต้อำนาจไง

ถ้าเกิดสมถธรรมขึ้นมา สมถธรรมนั้นจะแยกให้จิตนั้นอิสระชั่วคราว แรงดึงดูดของกิเลสนั้นจะโดนอำนาจของสมถธรรมนี้ (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)