เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑ มี.ค. ๒๕๕๑

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ฟังธรรมะนะ ฟังธรรม ถ้าทุกคนกลับมาถึงชีวิตของตัวเอง แล้วถึงการเกิดและการตาย จะซึ้งใจธรรมะมาก ซึ้งมากนะ เพราะอะไร เพราะเราอยู่ในปัจจุบัน เราเกิดมาเหมือนทายาท พ่อแม่หาไว้ให้ แล้วมีมรดกมหาศาลเลย แต่ใช้กันไม่เป็น แล้วใช้กันฟุ่มเฟือยมาก

แต่ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์สักหน่อยหนึ่งนะ ตั้งแต่พระจอมเกล้าฯ ออกบวช ดูสิ ศาสนามันเป็นขนาดไหน จนทฤษฎีกับความเป็นจริงมันไม่เหมือนกันเลย จนค้นคว้านะ สิ่งนั้นต้องย้อนกลับไปก่อนว่าศาสนานี่มันเสื่อมไปๆ จนพระกับโยมจะเหมือนกัน อยู่ด้วยกันสภาวะแบบนั้น แล้วพระจอมเกล้าฯ เป็นเจ้าฟ้าออกมาบวช เป็นสภาพแบบนั้นน่ะ แล้วเวลาถามไปแล้วก็ตอบอะไรกันไม่ได้ ถึงต้องค้นคว้าเองนะ ค้นคว้าตั้งเป็นธรรมยุตขึ้นมา

“ธรรมยุตนิกาย” ธรรมยุตนิกายมันยุติกันที่ธรรม ยุตินะ ยุติกับสิ่งที่เป็นธรรม สิ่งที่เป็นความถูกต้อง ให้ยุติกันที่นั่น ยุติกันที่นั่นด้วยความค้นคว้าของพระจอมเกล้าฯ นะ เพราะอะไร เพราะเป็นกษัตริย์ ศึกษามาขนาดนั้นก็ยังไม่เข้าใจ เห็นไหม

แต่เวลาองค์หลวงปู่มั่นออกมาประพฤติปฏิบัติสิ มันน่าสลดใจตรงนี้ ตอนหลวงปู่มั่นออกประพฤติปฏิบัตินะ ทฤษฎีมี เห็นไหม นี่พระโพธิสัตว์ท่านตรัสรู้เองโดยชอบ มันจะไม่มีทฤษฎี ไม่มีสิ่งใดเลย ต้องค้นคว้าด้วยเชาวน์ปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียเอง

แต่นี่พระโพธิสัตว์ปรารถนาเป็นพุทธภูมิ ปรารถนามาเหมือนกัน มีเชาวน์ปัญญาเหมือนกัน ถ้าออกนอกลู่นอกทางแล้วอย่างนี้ไม่ใช่ อย่างนี้ไม่ใช่ จนมาศึกษามาค้นคว้านะ ค้นคว้าขององค์หลวงปู่มั่นเอง นี่มีผู้ปรึกษา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่เสาร์ปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

ค้นคว้าขนาดไหนมันก็มีความลังเลสงสัย ความลังเลสงสัยแต่พิสูจน์เอา ทดสอบเอา ตรวจสอบเอา จนถึงที่สุดนะ ถึงที่สุดแล้ว เห็นไหม เวลาออกมาเผยแผ่ ตั้งแต่ถ้ำสาริกา แล้วออกเผยแผ่ทางภาคอีสาน “กำลังมันไม่พอนะ กำลังไม่พอ”

คำว่า “กำลังมันไม่พอ” เวลาเราวินิจฉัยหรือวิจัยโรค เห็นไหม เวลาเกิดธรรมะขึ้นมามันวินิจฉัยไม่ครบวงจรหรอก มันมีอะไรคาใจอยู่ ถึงว่า “กำลังไม่พอ กำลังไม่พอ” ทิ้งหมู่คณะขึ้นไปเชียงใหม่นะ แล้วไปสำเร็จพรรษาที่ ๓๘ กว่าจะสำเร็จได้สามสิบกว่าพรรษา เห็นไหม ครูบาอาจารย์ของเราบางองค์น้อยกว่านั้น พรรษาน้อยกว่า คือใช้เวลาน้อยกว่าเพราะมีคนชี้นำไง

แล้วเวลาวางธรรมวินัยไว้นะ เวลาบอก ครูบาอาจารย์ถ้าใครมีพรรษามากแล้วนะ ให้เด็กมันเข้ามาฝึกหัด มันจะได้มีข้อวัตรติดหัวมันไป คำว่า “ข้อวัตรติดหัวมันไป” คือว่าไม่มีหลักมีเกณฑ์ไงว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก ให้มันแยกแยะเป็น ถ้ามันแยกแยะไม่เป็นมันออกไปเป็นเหยื่อทั้งนั้น คำว่า “เป็นเหยื่อ” เป็นเหยื่อเพราะอะไร

เพราะองค์หลวงปู่มั่นท่านปรารถนาพุทธภูมิ เวลาท่านศึกษาค้นคว้า มันมีเหยื่อล่อตลอดทางนะ เหยื่อล่อทางโลกก็มี เหยื่อล่อทางธรรมก็มี เหยื่อล่อทางธรรมคือความสุข คือความปล่อยวาง คือความสิ่งที่เป็นมิตร มันเป็นเหยื่อล่อทางธรรม ถ้าเป็นเหยื่อล่อทางโลกนะ เขามีความดีความชอบ เขามีบัตร เขามีพัดยศ มีตำแหน่งหน้าที่ เขายัดเยียดให้หลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นปฏิเสธหนีมาตลอด เห็นไหม มันมีเหยื่อล่อทั้งทางโลกและทางธรรม

แล้วถ้าไม่มีปัญญา ไม่มีหลักเกณฑ์ในหัวใจนะ มันจะกินเหยื่อไป แล้วมันจะออกนอกลู่นอกทาง ถึงบอกว่าให้ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมันมีข้อวัตรติดหัวมันไป เพื่อสิ่งที่เวลามันเจอเหยื่อล่อ มันจะได้รู้จักแยกแยะไงว่าสิ่งใดสมควรและไม่สมควร แล้ววางแบบอย่างไว้

เวลาหลวงปู่เสาร์ เห็นไหม ไปพบหลวงปู่เสาร์ อุปัฏฐากเหมือนสามเณรน้อย อุปัฏฐากเหมือนสามเณรน้อยเป็นเพราะอะไร เพราะวางข้อวัตรไว้ให้เป็นตัวอย่างแบบอย่าง แล้วห่วงใยมาก ห่วงใยว่าให้ฝึกฝนกัน ใครมีหลักมีเกณฑ์ให้คนนั้นเป็นผู้นำ ใครมีหลักมีเกณฑ์ให้คนนั้นเป็นคนวินิจฉัยว่าถูกหรือผิด เห็นไหม สิ่งนี้วางมา วางมาเพื่ออะไร? เพื่อให้เราก้าวเดิน ให้มันเป็นข้อวัตรปฏิบัติ ให้มันเป็นเครื่องดำเนิน ดำเนินขึ้นมาเพื่อเราจะเข้าถึงธรรมกัน

แล้วเวลาในปัจจุบันนะ หลวงตา เวลาพระไปกราบ พระไปทำวัตร ไปขอขมา เห็นไหม “ไม่ต้อง ไม่ต้อง ไม่ต้อง” เพราะมันเป็นเรื่องโลกๆ มันเป็นพิธีกรรม

ท่านจะเน้นมากเลยว่า การปฏิบัติโดยพิธีกรรม การทำเป็นพิธีกรรม พิธีกรรมก็คือพิธี ไปทำกันแต่พิธี แต่หัวใจมันไม่ลงนะ

ถ้าหัวใจมันลงนะ พิธีกรรมมันเรื่องปลีกย่อย พิธีกรรมมันต้องมีไว้ มีไว้เพราะอะไร เหมือนเรา ถ้าเรามีความยอกใจ ทำสิ่งใดที่แบบว่ามันคิดขึ้นมาด้วยกิเลส เห็นไหม เราทำอะไรโดยที่เรารู้ไม่เท่าทัน แล้วเราเสียใจ นี่ไปขอขมากันอย่างนี้

เวลาขอขมาต่อเมื่อมันมีปมในใจเรา ถ้าเรามีปมในใจแล้วเรายอกใจเรา เราก็ไปขอขมาท่าน ขอขมาท่านเพื่อความสบายใจ เห็นไหม เพื่อความสบายใจ มันมีทางออกไง ไม่ใช่ว่าเราปฏิบัติกันไม่มีทางออก

คนมันมีผิดพลาดได้ คนเรานี่นะ การประพฤติปฏิบัติ กิเลสในหัวใจมีทุกคน แล้วการประพฤติปฏิบัติไปมันก็มีผิดพลาดบ้าง พลั้งเผลอบ้าง การผิดพลาดพลั้งเผลอเพราะสติเราไม่สมบูรณ์ ๑. สติไม่สมบูรณ์ ๒. เรามีกิเลสในหัวใจ มีกิเลสในหัวใจนี่มันตัวเร้า แล้วมีภวาสวะ ตัวภพ เห็นไหม กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันแสวงหามานะ แสวงหาแล้วมันเหยียบย่ำหัวใจ มันเหยียบย่ำหัวใจมา

ใจไม่เคยตาย แต่มันมีสถานะรับรอง คือตัณหาความทะยานอยาก มันทำของมันมา แล้วมันก็มาเหยียบย่ำที่นี่ แล้วเวลาผู้ที่มีธรรมมันไม่มี มันไม่มีที่เหยียบย่ำ มันไม่มีภวาสวะ มันไม่มีใจ ไม่มีอะไรเลย แล้วตัณหามันจะเหยียบย่ำที่ไหน ถ้าตัณหาไม่เหยียบย่ำ มันไม่มีที่เหยียบย่ำ เพราะอะไร เพราะมันไม่มีอะไรเลย แต่มีอยู่ มีความรู้สึกอยู่ แต่ไม่มี สอุปาทิเสสนิพพาน ความรู้สึกมันมี ความรู้สึก ความคิดมี เพราะมันมีเศษส่วน แต่ตัวภพ ตัวจิตมันไม่มี พอตัวจิตไม่มี เห็นไหม ตัณหาความทะยานอยากมันจะตั้งอยู่บนอะไร ถ้าตัณหาความทะยานอยากมันจะตั้งอยู่บนอะไร มันตั้งอยู่บนอะไร

แต่ครูบาอาจารย์เราเวลาเทศนาว่าการทำไมออกด้วยความรุนแรงอย่างนั้น ด้วยความรุนแรงอย่างนั้นเพราะมันเห็นโทษ เห็นไหม เวลาถึงคราววิกฤติ เราจะแก้ไขวิกฤตินั้น เพราะโลกเขาตาบอด นี่ครูบาอาจารย์เป็นดวงตา

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน พระอานนท์เสียใจมาก “ดวงตาของโลกดับแล้ว” ดวงตาของโลกคือส่องทางชีวิตเรา ส่องทางทุกอย่าง ส่องทางในวัฏฏะนะ วัฏฏะนี้ ส่องทางเห็นหมดเลย ตั้งแต่พรหมลงมา วัฏฏะมันวนอย่างนี้ แล้วจะพ้นจากวัฏฏะออกไปอย่างไร นี่ดวงตาของโลกดับแล้ว

ครูบาอาจารย์ของเราถึงที่สุดแล้วมันต้องมีจุดยืน จุดยืนเพื่ออะไร? เพื่อชักนำไปในทางที่ดี ถ้าทางที่ดี เห็นไหม แล้วพอถ้าทางที่ดี มรรคมันก็เป็นโลก คำว่า “โลก” แต่ผู้ที่ชักนำนั้นเป็นผู้ที่หูตาสว่าง

แต่ถ้าโลกโดยมืดบอด โลกมืดบอด โดยโลก เห็นไหม สิ่งที่โลกนะ ในการแสวงหาอำนาจ แสวงหาลาภสักการะ ถ้าจะพูดถึงสิ่งใดออกไป มันเป็นการละอายใจ มันถึงเป็นข่าวลือ พูดออกไปถามทางก่อน โยนหินถามทางกันไป ลือกันไป ความลือนั้นเป็นความจริงนะ

โลกนี่ความลือนั้นเป็นความจริง เพราะอะไร เพราะมันอยากได้อยากทำ แล้วมันพูดไม่ได้ มันละอายแก่มัน มันก็พูดเป็นข่าวลือไปก่อน แต่ความเป็นความจริง ดูสิ ดูทางการเมือง เห็นไหม ข่าวลือนั่นข่าวจริงทั้งหมด ที่ลือออกมาจริงทั้งนั้นเลย แต่ถ้าข่าวลงหนังสือพิมพ์ ข่าวเป็นจริงนั่นข่าวลวงหมดเลย ปลอมหมด เห็นไหม

พลิกกลับมาเป็นทางธรรม ถ้าทางธรรมนะ ความจริงกับข้อเท็จจริงมันจริงในหัวใจ ดูสิ ในใจไม่มีสิ่งใดเลย มันเป็นความจริงทั้งหมด ข้อเท็จจริงเป็นความจริง แล้วพูดออกมาเป็นโลกทั้งหมด เห็นไหม นี่มันสมมุติ สมมุติบัญญัติ สิ่งที่สื่อกันนี้เป็นสมมุตินะ แล้วเอาสมมุติเป็นความจริง เอาสิ่งที่กระแสเป็นความจริง มันเป็นลาภสักการะ มันเป็นลาภ เป็นเสื่อมลาภ มันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ทั้งนั้นน่ะ มันเป็นเรื่องโลกๆ เห็นไหม

ดูสิ ย้อนกลับไปที่หลวงปู่มั่น สิ่งที่โลกนี้เขาไม่มีกัน สิ่งที่มันมีเป็นทฤษฎี เห็นไหม เวลาหลวงปู่มั่นออกประพฤติปฏิบัติขึ้นมา สมเด็จมหาวีรวงศ์ อยากให้เป็นเจ้าคณะจังหวัดที่อุบลราชธานี หนีขึ้นไปเชียงใหม่ เขาจะให้เป็นอุปัชฌาย์ เขาจะตั้งให้อยู่วัดเจดีย์หลวง หนี หนี หนี นี่เรื่องลาภสักการะทางโลกหนีตลอดนะ เพราะมันเป็นเรื่องโลกๆ ถ้าอยู่กับมันก็ต้องตายเปล่ากับมันไง

ถ้าเข้าไปอยู่ในป่าในเขา อยู่ที่โคนไม้ แล้วพอท่านออกมา ดูสิ เป็นผู้นำของเรานะ เป็นแบบอย่าง มีชีวิตแบบอย่าง ตรัสรู้ในป่า สะอาดบริสุทธิ์ในป่า แล้วตายในป่า มันไม่มีเรื่องของโลก ไม่มีเรื่องลาภสักการะ เรื่องของวัตถุเข้ามาเจือปน มันเลยสะอาดบริสุทธิ์ แต่พอสะอาด มันเจริญรุ่งเรืองขึ้นมา มันเป็นผลประโยชน์

เห็นไหม เพราะว่าลาภสักการะ โมฆบุรุษตายเพราะลาภ ข่าวลือ ข่าวเด่น ข่าวลวงต่างๆ เป้าหมายมันคือลาภ ลาภสักการะทั้งนั้น ถ้าเป้าหมายเพื่อลาภ มันเป็นโลกไหม? มันเป็นโลกทั้งนั้นเลย มันไม่เป็นธรรม

ถ้ามันเป็นธรรม ธรรมความจริงมันอยู่ที่ไหน? ความจริงมันอยู่ที่หัวใจ อริยสัจอันนั้นน่ะ ถ้าใจมันเป็นอริยสัจ ความจริงมันอยู่ที่นี่ ถ้าความจริงมันอยู่ที่นี่ มันมีความละอาย มีความเกรงกลัว เพราะใจมันลงนะ

ครูบาอาจารย์ เห็นไหม หลวงตาท่านเจอหลวงปู่มั่นที่ไหนท่านจะกราบตลอดเลย ท่านบอกใจมันลง ถ้าลงใจนะ ขณะที่เดินจงกรมอยู่ในป่า ท่านพูดบ่อย “ถ้าไม่มีรูปเคารพ ให้ตั้งสมมุติขึ้นมาในหัวใจแล้วกราบไป กราบหลวงปู่มั่นทุกวินาที ตลอดเวลา กราบตลอดเวลา เพราะมันเป็นสิ่งที่มันลงใจ เพราะนั่งอยู่ในหัวใจ”

ไม่มีรูปเคารพมันก็ลง แต่ถ้ามีรูปเคารพจะยอมจำนนตลอด มันลงใจ ถ้าใจมันลงนี่เป็นธรรม ถ้าสิ่งที่เป็นธรรมนะ มันจะไม่มีความขัดแย้ง ไม่มีความโต้แย้ง จะไม่มีสิ่งใดๆ เลย

สิ่งใดๆ เพราะอะไร เพราะสิ่งที่ดวงตาของโลก ธงชัยนำ ธงนำอันนั้นมันถูกต้อง เราจะไปตามธงนำอันนั้น ทำไมมันไม่ไปตามธงนำอันนั้น สิ่งนี้มันเป็นเพราะอะไรล่ะ มันเป็นเพราะว่าเรามีภวาสวะ เรามีภพ เรามีความเห็น เรามีความโต้แย้ง แต่มันไม่แสดงออกมา ถ้าแสดงออกมาก็เป็นข่าวลือๆ ข่าวลือไปทั้งนั้นน่ะ ข่าวลือเป็นเรื่องโลกๆ ไม่เป็นความจริงเลย

แต่ที่พูดเพราะให้มีจุดยืนไง คนเราต้องมีจุดยืนนะ คนถ้ามีจุดยืน เห็นไหม ธรรมะมันเกิดที่นี่ ธรรมะมันเป็นความจริงนะ มันเป็นข้อเท็จจริง แต่เพราะเรา ภาระคืออินทรีย์อ่อนแอ มันไปตามสภาวะอย่างนั้นหมดเลย แล้วอ้างอิง อ้างอิงที่มา ถ้าอ้างอิงเป็นครูบาอาจารย์หมด ต้องมาจากครูบาอาจารย์ แล้วครูบาอาจารย์ท่านได้พูดไหม เวลาขึ้นไปไม่รู้อะไรเลย คำว่า “ไม่รู้” ไม่รู้อะไร

พระอรหันต์ไม่รู้ในสมมุติบัญญัติ ลืมได้ในสมมุติบัญญัติ สมมุตินะ สวดมนต์ก็ลืมได้ ให้พรก็ลืมได้ เพราะมันเป็นข้อมูลในขันธ์ มันไม่ใช่ความจริง

นี่ไม่มีลืมเลย ไม่ลืมในอะไร? ไม่ลืมในอริยสัจ ไม่ลืมในธรรมะกับอธรรม ธรรมะนี่ไม่ลืมหรอก ธรรมะ อริยสัจเกิดในหัวใจ เพราะเราสร้างสมขึ้นมา

ดูสิ เราประพฤติปฏิบัติ มรรค ๘ ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลเราก็เป็นคนรู้ของเราเอง สมาธิเราก็รู้ของเราเอง ปัญญาเราก็รู้ของเราเอง รู้โดยกิเลสก่อน รู้โดยความผิดพลาดก่อน รู้ด้วยการลูบคลำ รู้ด้วยความเห็นที่ยังมีกิเลสเจือปน รู้ไปเรื่อยๆ จนถึงที่สุดนะ

โดนหลอก กิเลสมันจะหลอกเรามาตลอดเลย แล้วเราทำของเราขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงที่สุดถ้ามันพ้นออกไป ธรรมะอันนี้มันอยู่ที่หัวใจ ไม่ลืมอันนี้ อริยสัจนี้ไม่มีวันลืมเลย จะพูดเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ถ้ากระดิกปั๊บ อริยสัจจะออกมาจากหัวใจทันทีเลย

ถ้าอริยสัจออกมาจากหัวใจ เห็นไหม ทุกข์ สมุทัย สมุทัยมันไม่มี ตัณหาความทะยานอยากไม่มี สิ่งใดไม่มี เรื่องเป็นเรื่องโลกๆ ไม่มี พิธีกรรมไม่มี

แต่หลวงปู่มั่น ท่านวางไว้เพื่ออนุชนรุ่นหลัง ท่านวางไว้เพื่อศากยบุตร เพื่อคนที่จะเดินตามไป แต่พอเป็นปัจจุบันมันไม่ใช่เดินตามไป มันเดินเข้าหาลาภสักการะ ถ้าเดินเข้าหาสักการะ ก็บอกว่า “สิ่งนี้มันจำเป็น”

หลวงตาถึงบอก มันไม่จำเป็น ไม่จำเป็น ไม่ให้ทำ เห็นไหม ไม่ไห้ทำ ไม่ให้ทำ ไม่ให้ทำ มันอยู่ที่หัวใจ มันอยู่ที่ความเป็นจริง ถ้าเป็นจริงมันเป็นอยู่แล้ว

เรื่องกิริยามารยาทภายนอก มันเป็นเรื่องภายนอกทั้งนั้น ถ้าเรื่องภายนอก เห็นไหม ถึงว่าเอามาเป็นเหยื่อกัน เอามาเป็นข่าวลือกัน เอามาเป็นสิ่งต่างๆ กันไป เพราะมันไม่มีความสงบในใจ

ถ้าความสงบในใจ เห็นไหม หลับตาที่โคนไม้แล้วพุทโธไป ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา นี่อริยทรัพย์นะ ทรัพย์จากข้างนอกได้มา แสวงหามา ต้องรักษามันนะ อริยทรัพย์ใช่ไหม ดูความรู้หรือว่าปัญญาไม่ต้องแบกหาม ไม่ต้องแบกหาม มันอยู่กับใจเรา

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าปัญญามันเกิดจากเรา แล้วโลกุตตรธรรมเกิดจากใจเรา มันชัดเจนมาก แล้วมันลงใจ ใจมันลงนะ ดูใจลงสิ ดูหลวงปู่ลีลงหลวงตาสิ เห็นเดินมานี่นั่งลงกับพื้นดินเลย มันลงที่หัวใจ ถ้าหัวใจลงแล้วจะไม่มีอะไรโต้แย้งแม้แต่เม็ดหินเม็ดทราย ลงหมด

แต่ถ้ามันไม่ลงนะ มันไม่ลง มันลงกิริยามารยาทภายนอก ลงโดยข่าวลือ ลงโดยลาภสักการะ แต่หัวใจไม่ลง ถ้าหัวใจไม่ลงมันจะมีความขัดแย้งตลอด เห็นไหม นี่ธรรมกับอธรรม แล้วคนถ้าอยู่กับอธรรม กระแสประชาธิปไตยไง เสียงส่วนใหญ่มันหลิ่วตาข้างหนึ่ง แล้วไปด้วยกัน

แต่ถ้าจะอยู่กับธรรมะ มันต้องยืนโต้กระแสนะ...ใช่ เหนื่อย เหนื่อย ไม่อย่างนั้น ทำดีถึงทำยากไง ทำดีทำยาก ทำดีไม่ได้ดี

ทำดีได้ดี แต่ความดีมันขัดแย้งกับกระแส กระแสคนชอบสะดวกชอบสบาย ชอบมักง่าย...สะดวกสบาย มักง่าย นี่กิเลสทั้งนั้นนะ

แต่ของเราขยันหมั่นเพียร ความเพียรชอบ อยู่กับสัจจะความจริง เราจะอยู่กับสัจจะหรืออยู่กับอริยสัจจะ นี่เป็นของเรานะ สัจจะกับสิ่งที่เป็นเรื่องของกิเลสตัณหา สิ่งนี้เราเลือกเอา ถ้าเราเลือกเอาแล้ว ตอนที่เวลาเราเห็น เวลาเราประพฤติปฏิบัติกัน เราเห็นคนที่มีปัญญา คนที่มีเชาวน์ปัญญา เราอยากเป็นอย่างเขา แต่เวลาเราจะสร้างสมอย่างนี้ ทำไมเราไม่ทำ เห็นไหม

เวลาออกมาเคลื่อนไหว เราจะพูดกับพระบ่อยมาก เวลาท้อแท้นะ เราบอกว่า ดูสิ พระโพธิสัตว์ท่านต้องสร้างของท่านเอง ดูสิ กว่าจะเป็น ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย ท่านต้องสร้างของท่านเองนะ แต่ของเรามีครูบาอาจารย์เป็นคนชี้นำ เปิดช่องทางให้ ท่านเอาพรมให้เราเดินเลย เดินไปทำความดี ยังท้อแท้ ยังอ่อนแอ แล้วเราจะเกิดเชาวน์ปัญญาได้อย่างไร

นี่ก็เหมือนกัน เชาวน์ปัญญาสิ่งที่เป็นกระแสเขาปล่อยมา มันจะแยกแยะได้ มันไม่เป็นความจริงหรอก ความจริงอย่างนี้มันไม่เกิดหรอก มันขัดแย้งกัน เห็นไหม ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกข้อจะไปในทางเดียวกัน จะไม่ขัดแย้งกัน ถ้ามีความขัดแย้งกันต้องมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งผิดแน่นอน ไม่เขาผิดก็ต้องเราผิด ถ้าเราผิด เราก็ต้องแก้ไข

ถ้าเราไปถามธรรมะครูบาอาจารย์ เรามีอะไรขัดแย้งกัน ถ้าขัดแย้ง เราควรจะแก้ไขไหม ท่านผิดหรือเราผิดล่ะ มันก็ต้องคิด ต้องรอบคอบ ต้องหา ต้องต่อสู้กับตัวเอง เพราะไม่มีใครว่าเราผิดหรอก เราจะถูกตลอดไป เห็นไหม สิ่งนี้เกิดจากการกระทำ สิ่งนี้เกิดขึ้นมาแล้วเราแยกแยะ ใช้ปัญญา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ กาลามสูตร ไม่ให้เชื่อใดๆ ทั้งสิ้น ให้เชื่อสัจจะความจริง ใครพูดแล้วใครได้ประโยชน์ พูดแล้วใครได้ พูดแล้วใครไม่ได้ ใครเสียผลประโยชน์ นั่นเรื่องของโลกนะ

แต่เรื่องของธรรมนะ ใครพูด ใครกระทำ กรรมทั้งนั้นนะ

กมฺมทายาโท กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กรรมเป็นแดนเกิด กรรมเป็นการกระทำ ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว เอวัง