เทศน์บนศาลา

เทศน์ในวันวิสาขบูชา

๓๑ พ.ค. ๒๕๓๙

 

เทศน์ในวันวิสาขบูชา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๓๙
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

แล้วเราเกิดมาเป็นคนแล้ว เราจะหลงระเริงในความเป็นคนนี้หรือ? เราว่าเราเป็นชาวพุทธ บุญพาเกิด บุญคืออะไร? พระพุทธเจ้าสอนว่าบุญคืออะไร? บุญ ทำบุญแล้วก็ได้กุศลใช่ไหม? บุญกุศล ทำความดี ศาสนาสอนถึงความดี

ความดีมีหลายชนิด ความดีเห็นไหม มีทาน มีศีล มีภาวนา มีทานคือการให้ เราหามาเท่าไรก็แล้วแต่ เราก็หาเข้ามา เราทำมาหากิน เราหาเข้ามาเก็บไว้นะ วิชาชีพที่เราใช้วิชาชีพ เพื่ออะไร? เพื่อหาเงินหาทองมา พอเราไปหาเงินหาทองมา เงินทองนี่มันเป็นอะไร? เงินทองก็เป็นเงินทองใช่ไหม? หัวใจของเราสิ เป็นเจ้าของเงินทองนั้น

วิชาชีพต่างๆ เราดูถูกกันไม่ได้เลย ชาวไร่ ชาวนานะ เขาทำ เขาก็ทำถนัดของเขา เห็นไหมวิชาชีพนี้มีหลายแขนง แล้วแต่คนที่ถนัดแขนงไหนก็ได้ประโยชน์แขนงนั้นขึ้นมา แต่สุดท้ายทุกคนก็ต้องการหาเงิน ให้เป็นเงินเป็นทองขึ้นมา ธรรมะของพระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน กว้างขวางมาก จะเดินแนวไหนก็ได้ สุดท้ายแล้วต้องให้ใจนี้เป็นสุข ใจนี้เป็นสุขนะ

แต่ถ้าเราเดินแนวทางที่ผิด ใจนี้เป็นสุขไหม? เหมือนกับเราทำการค้าขายแล้ว เราขาดทุน ทำการค้าแล้วขาดทุน เป็นอย่างไรล่ะ อันนี้ก็เหมือนกัน เราทำความเพียร เราพยายามจะทำเรื่องการภาวนา แต่แล้วเราทำไม่ถูกทาง มันจะได้ประโยชน์อะไร อย่างเช่นเราบริหารร่างกาย เราบริหารร่างกาย เราได้อะไรขึ้นมาบ้าง ได้สุขภาพที่ดี จิตใจผ่องใส การทำสมาธิก็เหมือนกัน ถ้าเราทำถูกต้อง เราทำความดี เราจะได้อะไรขึ้นมา? เหมือนเราทำแล้วไม่เห็นได้อะไรขึ้นมาเลย ได้... ได้ความสุข ฟังสิ ได้ความสุขนะ จิตนี้ปล่อยวางจากอารมณ์ต่างๆ แต่นี่เราทำอย่างไรกันล่ะ? ถึงว่าทำบุญๆ ไง

ให้มีทาน ทานเพื่ออะไร? เราให้ออกไป เราสละออกไป มันเป็นผลบุญกับเราใช่ไหม บอกว่ามนุษย์นี้บุญพาเกิดไง เราให้ทานไป เป็นเส้าที่ ๑ เรามีศีล มนุษย์นี้เป็นเครื่องเล่นของธรรมชาติ หลวงพี่ว่างั้นเลยนะ มนุษย์นี่ เห็นเราเลี้ยงสัตว์ไหม? เราเลี้ยงไก่ เราฟักไก่ เราเลี้ยงไก่ แล้วเราก็ขายไปหรือเราเชือด มนุษย์นี้แล้วเหมือนอย่างนั้นเลย ถ้ามองนะ ไม่ใช่ดูถูกมนุษย์นะ เพราะหลวงพี่ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน แต่นี่เราเปรียบเทียบให้ดูหรอก ว่าการเกิดของเราขึ้นมานี่ เราจะปฏิเสธไม่ได้ ในเมื่อมันบุญพาเกิด บุญมีแล้ว

มนุษยสมบัติมันเกิดขึ้นมาเพราะเราทำความดีมา คือเหมือนไก่เกิดแล้วนั่นล่ะ ไร้เดียงสา ถ้าเราไม่ใช้ร่างกาย และใช้มนุษยสมบัตินี้ทำความดีต่อไปนะ ไม่มีที่สิ้นสุดหรอก วัฏวนนี่ ธรรมชาติคือวัฏวน ธรรมชาตินี้เป็นวัฏวนนะ แล้วเราก็เป็นเครื่องเล่นของธรรมชาติ เรานี่เป็นเครื่องเล่นของธรรมชาตินะ เพราะเราพูดอย่างนี้ เป็นแต่เพียงเครื่องเล่นเพราะมันเวียนวนไปตามวัฏฏะนี้ แต่จริงๆ คือเป็นเครื่องเล่นของกิเลสต่างหากล่ะ

วัฏวนอันนี้มันก็เป็นธรรมชาติอยู่อย่างนี้แหละ แต่เพราะมีกิเลส มีตัณหาอยู่ กิเลสตัณหาเป็นยางเหนียวไง เป็นตัวสอดไง กิเลสเป็นเครื่องให้ทำกรรม มันอยากเห็นไหม กิเลสนี้เป็นเครื่องให้อยากทำกรรม ทำกรรมดีก็ได้ดี ทำกรรมชั่วก็ได้ชั่ว ทำเสร็จแล้วกิเลสนี่ ถ้าเกิดทำกรรมดี ทำความดีนี้ก็เป็นมรรค ถ้าทำความชั่ว ทำเสร็จแล้วไปไหน? กิเลสไปไหน? กิเลสมันเกิดขึ้นที่ใจ แล้วก็ดับที่ใจ กิเลสนี้ไม่มารับผลบุญผลบาปกับเรา

จิตเรานี้ต่างหาก มารับผลบุญและผลบาปที่กิเลสมันพาสร้าง นี่เห็นโทษของมันไหม? กิเลสของเราในใจเรานั่นล่ะ ฉะนั้นถ้าเราจะมาทำความดี มาถือศีลถือเพื่ออะไรกัน? ศีลเพื่ออะไร ก็อยากได้มนุษยสมบัติต่อไปไง ต่อบุญ เราต้องมาต่อบุญของเรา น้ำหนักเห็นไหม เสื้อผ้าที่ใส่อยู่นี่ขาวกับดำ

ฝ่ายดำคือความเคยใจ ทำตามใจของตัว มันเคยใจ มันว่าเป็นความดี มันพอใจทำไป แล้วเรามาถือศีล ศีลนี้คือเครื่องขอบเขตไม่ให้มันคิดออกไป อย่างเช่นถือศีล ๘ ข้าวเย็นก็ไม่กิน เราสละเสียล่ะ แล้วผู้มีศีลจะทำให้มีโภคทรัพย์ไง มีโภคทรัพย์นะ โภคทรัพย์มีตั้งแต่หยาบๆ ขึ้นไปนะ อย่างเช่นมื้อเย็น ราคาเท่าไร เราได้แล้ว ไม่กินเหล้าเมายานี่ เงินมหาศาลเลย ในศีล ๕ นะ เครื่องใช้ไม้สอยถ้าเราใช้ตามกิเลส มันจะใช้แบบฟุ่มเฟือย ใช้เกินกว่าเหตุ

พระพุทธเจ้าสอนให้เป็นปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัย แต่ส่วนใหญ่แล้วเราเป็นขี้ข้าของเครื่องอยู่อาศัย เรานี่ไปหามานะ หามาใช้ประโยชน์ไม่เท่าที่ควร แต่เป็นขี้ข้าหามา เหนื่อยมากกว่า เหนื่อยมากกว่าใช้ประโยชน์นะ แต่ถ้าปัจจัย ๔ เราใช้ประโยชน์ปัจจัย ๔ เพราะอะไรล่ะ? ก็เพราะเรามีศีล ศีลนี้ตัวกั้นแล้ว กั้นไม่ให้ออกไปทางนู้น ไม่ให้ออกไปตามใจของตัว

ตามใจของตัวก็คือตามใจกิเลส เพราะกิเลสมันอยู่ที่ใจ กิเลสนี้เป็นนามธรรมนะ เราว่าถ้าเราชี้ว่าเราผิด เราผิด เรื่องกิเลสอยู่ที่ใจนี่มันจะขยะแขยง แต่ก็ตัวนี้มันเป็นตัวโทษนี่ แล้วเราไม่สามารถเห็นตัวโทษ แล้วเราจะไปแก้ที่ไหนล่ะ? มันก็ต้องมาแก้ที่ตัวโทษใช่ไหม? ตัวโทษ โทษอยู่ที่ไหน? อยู่ที่ใจ ฉะนั้นความคิดที่เราออกมาว่า วิชาชีพนี่ ถ้าเราทำตามโลก เราก็เป็นขี้ข้าเขา แต่ถ้าเรามีความเข้าใจในธรรมะ เรามีคำพระพุทธเจ้าสอน ให้ขวนขวาย ให้มีความเพียร ให้อยู่ในศีลธรรมไง อยู่ในขอบเขตของความดี

ทำอะไรก็แล้วแต่มีความดี มีศีล มีธรรมอยู่ เข้าไปเป็นเครื่องร้อยรัดนี่ มันก็เป็นประโยชน์ขึ้นมา จากที่ว่าเป็นโทษ ถ้าทำแล้วมันก็เป็นโลก แต่ถ้ามีธรรมเป็นเครื่องส่องใจแล้ว มันจะเป็นธรรมหมดเลย ประกอบอาชีพก็เป็นธรรม รถ.. ถ้าเบรกเสีย ไปไม่ได้หรอก รถต้องมีเบรก จริงไหม? ไม่ใช่มีแต่คันเร่งนะ

เราเห็นแต่รถต้องมีคันเร่ง แต่ไม่เห็นว่าเบรกของรถจะมีประโยชน์ขนาดไหน ธรรมะนี่เป็นเบรกนะ เป็นเบรกหัวใจ เวลามันจะหิวกระหาย มันจะคึกคะนอง ใช้ธรรมะนี้เป็นเครื่องเบรก นี่ศีล ศีลนี้เบรกใจได้ เบรกใจนะ เริ่มต้นก็เบรกใจ แต่พอเบรกไป การประพฤติปฏิบัติ เข้าไปขัดใจ ใจมันก็ต้องหาทางต่อสู้ หาทางจะหลบหลีก ถึงจะเริ่มมีศีลแล้ว ต้องเริ่มภาวนาต่อไป อย่าชะล่าใจนะ

ถ้าชะล่าใจปล่อยไว้แล้ว จะเป็นอย่างนั้นเลย ในการต่อสู้ มันต้องหาทางที่จะทำลายความดีของเราจนได้แหละ ทีนี้ความดีก็มีหยาบ มีกลาง มีละเอียด อย่างเช่นผัก เช่นสวะในน้ำ เวลาน้ำขึ้นให้ขึ้นตามน้ำ เวลาน้ำลงก็ลงตามน้ำ หัวใจเราก็เหมือนกันนะ เวลาเราตั้งใจทำความดีอยู่น่ะ อย่าคิดว่าจะไม่มีสิ่งนั้นอยู่นะ สิ่งนั้นสู้ไม่ได้มันก็ยอมแพ้อยู่ ว่าสิ่งนั้นเลย เพราะเราไม่เคยเห็น นั่นเริ่มจะเข้าภาวนา พระพุทธเจ้าถึงสอนความดีของศาสนาเราไง ศาสนาพุทธ มีทาน มีศีล มีภาวนา

พอเป็น ๓ เส้าอย่างนี้ มีทานก็ ๑ มีศีลก็ ๒ มีภาวนาก็ ๓ พอ ๓ เส้าเห็นไหม ๓ เส้านี่มันจะค้ำยันกัน ถ้าครบวงจรอันนี้แล้ว มันจะทำให้จิตใจเราหมุนไปได้ โดยไม่อยู่กับที่ ไม่หยุดนิ่ง ถ้ามีทานอย่างเดียว ทำทานไปก็ดูสิ พอไปเจอสิ่งกระทบเข้ามันก็ไม่อยากทำ แต่ถ้าพอมีศีลและมีภาวนา ภาวนานี้เป็นการเสริมปัญญาไง ปัญญานี้มันจะคอยเสริมใจเรา สิ่งใดผิดสิ่งใดถูก จะไม่เป็นเหยื่อของโลก

คำว่าไม่เป็นเหยื่อของโลก เป็นเหยื่อนะ เรานี้เป็นเหยื่อของโลกเขา ธรรมะเป็นของที่สื่อยาก แล้วไม่มีใครจะสามารถรู้แล้วจะเอามาสื่อ มันก็ยังลำบาก แต่พอว่าธรรมะนี้เป็นของดี แล้วเราเป็นชาวพุทธ แล้วเขาก็มาตักตวงเอาตรงนี้ เอาธรรมะที่เป็นธรรมะมาแสดงกิริยาออกว่าเป็นธรรม วัตถุนะ อย่างวัตถุเราเอามาทดลอง มันก็เป็นวัตถุใช่ไหม? เราเลิกทดลอง อย่างวิทยาศาสตร์เราวางไว้ มันก็เป็นวัตถุเฉยๆ อยู่อย่างนั้น

แต่ธรรมะมันอยู่ที่ใจใช่ไหม? เวลาเราจะอวดธรรมะกัน เราก็อวด ฉะนั้นกิเลสมันอยู่ที่ใจ เผลอไม่ได้ ยิ่งยกขึ้นสูงเท่าไร ไอ้ตัวกิเลสมันก็ตามไปตลอดเวลา แล้วมันก็ผิดพลาดอย่างที่เป็นกันอย่างในปัจจุบันนี้ล่ะ อันนั้นเพราะอะไร? นั่นล่ะถึงว่าธรรมแท้ ธรรมไม่แท้มันอยู่ที่นั่น ธรรมแท้มันแก้ลงที่ใจ แก้ลงที่ใจนะ เพราะกิเลสมันอยู่ที่ใจใช่ไหม? กิเลสมันตัวยุตัวแหย่ใจเราน่ะ พระพุทธเจ้าถึงได้สอนไง สอนให้มีทาน

มีทานมันทำให้จิตใจอ่อนลง จิตใจที่มีกิเลส กิเลสนี้เป็นสิ่งที่เห็นแก่ตัว มันต้องเห็นแก่ตัว มันต้องยุแยงให้ตัวเองว่าอยู่เหนือเขาตลอดเวลา แต่พอเรามีให้ทานออกไป ฟังสิ คำว่าให้ทานมันก็ตัดรอนความทิฏฐิมานะตัวนี้ มันง่ายลงเห็นไหม ตัดรอนทิฏฐิมานะ ความที่ตระหนี่ถี่เหนี่ยว ความที่ไม่อยากให้ใคร พอเริ่มให้วัตถุออกไป มันจะมีความสุขขึ้นนะ

ผู้ให้เขายิ้มแย้มแจ่มใส ได้ความสุขจากเรา เป็นผู้ให้น่ะ เราลองเป็นผู้ขอเขาสิ เราไปขอเขาทุกข์ไหม? อายไหม? แต่เป็นผู้ให้นี่ แล้วเขามีความสุขเกิดขึ้น ให้เท่าไรก็สุขเท่านั้นล่ะนะ แต่กิเลสมันบอกไม่ได้ เราหามาด้วยน้ำพักน้ำแรง เหนื่อยยากขนาดไหน จะให้ใครโดยที่ไม่มีประโยชน์ได้อย่างไร เห็นไหมกิเลสมันปิดกั้น ปิดกั้นไม่ให้ทำความดี

ถ้าเราจะทำความดี กิเลสมันจะปิดกั้น ถ้าเราต่อสู้ล่ะ การต่อสู้นั้นเป็นปัญญานะ ต้องมีศีล มีสมาธิ แล้วก็มีปัญญา ถ้าใจไม่มีสมาธิ ไม่มีหลัก มันก็สู้ความคิดนั้นไม่ได้ ถ้ามีสมาธิมันก็ยับยั้งเห็นไหม ยับยั้ง จะสู้ไม่ได้ก็ยับยั้งเหมือนเราตั้งใจจะสู้ ดีกว่าให้ฝ่ายกิเลสคิดแต่ฝ่ายเดียว เมื่อก่อนคิดแต่ฝ่ายเดียวนะ แล้วเราก็พอใจจะคิด เราว่าเราฉลาด เวลาคิดขึ้นมาเราว่าเราเก่งซะด้วย แต่พอมีธรรมะขึ้นมา ความคิดอันนี้เป็นความคิดที่ผิด เราให้ ให้ในที่ควรจะให้ ปฏิคา ๖ ไง ผู้ให้ได้ให้ด้วยความบริสุทธิ์ ถ้าผู้รับบริสุทธิ์ ก็เจตนาดีกับเจตนาดีเจอกันไง

มงคล ๓๘ ประการ “อเสวนา จ พาลานํ” ไม่คบคนพาล “ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา” ให้คบบัณฑิต คนพาลนอกกับคนพาลใน คนพาลนอกก็มนุษย์พาลข้างนอก คนพาลใน ข้างนอกเราวางไว้ก่อน เราต้องมาว่าข้างใน อารมณ์ที่จรมานั้นเป็นวัตถุอันหนึ่ง ความคิดนี่จรมาเป็นแขก เราไม่คบ เห็นไหมเราไม่คบกิเลส เราไม่คบความเห็นแก่ตัว เราจะคบบัณฑิต บัณฑิตคิดแต่สิ่งที่ดี บัณฑิตทำแต่สิ่งที่ถูกต้อง ฉะนั้นจะถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง เราทำถูกหรือยัง? เราไม่ถูกเพราะเรายังไม่รู้

การประกอบอาชีพทางโลกหรือใช้ปัญญาทางโลก มันคิดขึ้นมา มันก็ว่ามันรู้ใช่ไหม เราคิดขึ้นมาเราก็ว่าเรารู้ แต่ธรรมะ ฟังให้ดีนะ.. ธรรมะพระพุทธเจ้าบอกว่า “ยถาภูตํ ญาณทสฺสนํ” ยถาภูตํ เห็นไหม ว่าเราเข้าไปรู้ เข้าไปเสพความสงบของใจ อันนั้นเป็นความรู้อันหนึ่ง แล้วความรู้ในสิ่งที่รู้นั้น ญาณทสฺสนํ ญาณหยั่งรู้ไง พระพุทธเจ้าถึงสอน สอนว่าสิ้นแล้ว แล้วก็มีว่ารู้ว่าสิ้นแล้วด้วย อย่างเช่น ๒ มือตบเข้าหากันเห็นไหม

๒ มือนี้ตบเข้าหากันมีเสียงขึ้น นี่เรารู้ขนาดนั้น รู้ว่าโลกเป็นอย่างนั้น รู้ยึด รู้มัด แต่มันรู้แบบธรรม รู้แล้วปล่อย รู้แล้ววิปปยุต สัมปยุตเข้าหากัน แล้วปล่อยวางไว้ตามความเป็นจริง นั้นความรู้ของธรรม ความรู้ของโลกเราก็ประกอบอาชีพ เราว่าเรารู้ รู้ยึด ทุกข์นะ แบกมากก็ทุกข์มาก ฉะนั้นไอ้ความรู้แบบโลก นั่นล่ะสุตมยปัญญา

สุตมยปัญญา ปัญญาที่เล่าเรียนไง เล่าเรียนมาว่าเรารู้ เราเข้าใจ ความเข้าใจนี้เห็นไหม มีเรา รู้ในสิ่งที่เรารู้ มันยึดไหม? แต่เวลาเรามาภาวนา เราจะปล่อยรึเปล่า? ถ้ามีรู้อยู่ รู้นั้นเป็นน้ำชาอยู่ในแก้ว ถ้าเราปล่อยรู้ตัวนั้นออก น้ำชาในแก้วก็จะหายไป ในแก้วนั้นก็จะว่าง แต่ก็ต้องใช้ความรู้นะ ตั้งใจฟังนะ มันจะงง… กำหนดรู้ไง แล้วเอารู้นี้ชำระไง แต่รู้แบบโลก ไม่ใช่กำหนดแบบนี้ มันรู้สืบต่อ รู้คิด

อย่างเช่นเราคิดเป็นทางโลกเห็นไหม คำว่าทางโลก เราเป็นความคิดของเรา เราจะคิดสืบต่อ แต่ถ้าเราตั้งสติอยู่ เราระลึกรู้เฉยๆ เพราะจิตนี้มันจะเข้าทาง ต้องเข้าแบบนี้ จิตเข้าหาตัวฐานของจิตไง เข้าหาตัวใจของตัวใจ ใช้ความรู้ กำหนดพุทโธ เวลาเรากำหนดโดยธรรมดา กำหนดพุทโธ หรือถ้าตั้งสติอยู่ แต่ตอนนี้ให้ฟังไว้เฉยๆ นี่ก็เป็นความรู้อันหนึ่ง เพราะสาวเข้าไปหากระแสของใจ สาวเข้าไปหาใจของตัวไง เพราะถ้าสาวเข้าไปถึงใจมันก็เป็นสมาธิสิ เป็นความสงบ ขณะนี้ก็เป็นความสงบ มันจะสงบลง สงบลงไปเรื่อยๆ จิตนี้จะปล่อยเห็นไหม

ปล่อยแล้ว ถ้าเป็นปกติของเรา คำว่าปล่อย เราจะค่อยไม่ยอมทำกัน ก็ปล่อยหมายถึงว่าเราขาดทุน เราไม่ได้ มันจะกว้านเข้ามา ใจของตัวจะกว้านเข้ามา กว้านอะไรเข้ามานี่ หาว่าตัวเองได้กำไร ยิ่งกว้านมากก็ว่าตัวเองได้มาก แต่ถ้าเป็นหลักธรรมแล้ว ยิ่งกว้านเข้ามาเท่าไร ถ้ากว้านเรื่องความเป็นพิษเข้ามาเท่าไร มันก็ยิ่งยุ่งมากเท่านั้น ฉะนั้นเวลาปฏิบัติถึงจะให้ปล่อยไง ให้คิดไว้เป็น หนึ่งเดียว ดูสิเส้นด้ายผูกกันเป็นปุ่มเป็นปม แก้ยากไหม? ถ้าเป็นเชือกที่เส้นใหญ่ขวั้นเป็นเส้นเดียวล่ะ มันต้องเป็นเส้นตรงใช่ไหม?

อันนี้ก็เหมือนกัน ความคิดนี้มันร้อยแปด เราก็กำหนดไว้เป็นหนึ่งเดียวพอ หนึ่งเดียวแล้ว ให้เชือกนั้นเล็กลง เล็กลง จนเป็นเส้นด้าย มันก็สงบได้ นี่มันจะสงบ เราถึงให้กำหนดตามคำสอนของพระพุทธเจ้านะ ครูบาอาจารย์ กรรมฐาน ๔๐ ห้อง อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ ๔๐ ห้อง เอาทั้ง ๔๐ ห้อง อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วให้จิตเกาะไว้ เพราะจิตนี้เป็นธรรมชาติที่รับรู้

จิตนี้เป็นธรรมชาติตัวรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นสสารที่ว่าใครจะไปทำลายอย่างอื่นไม่ได้เลย ยกเว้นแต่ธรรมะเท่านั้น ก็เลยกำหนดกรรมฐาน ๔๐ ห้องนี้ไว้อย่างใดอย่างหนึ่ง มันก็เป็นเกลียวเชือก เป็นเส้นเชือกนั้น จากที่ว่าความคิดทางโลก มันเป็นปุ่มได้ เป็นปมเลย เราไม่เอา เราจะเอาต่อเมื่อเราอยู่ทำหน้าที่การงาน แต่พอเราปล่อยปั๊บ เราจะติดเลย แล้วมากำหนดให้มันเป็นเส้นเชือกเส้นเดียว แล้วก็สาวเข้าไป สาวเข้าไป

จะได้หรือไม่ได้อันนั้นเป็นผล เราไม่ปรารถนา เราปรารถนาแต่เหตุ เราสร้างเหตุเพื่อให้ใจนี้ปล่อยวาง ถ้าเราเข้าใจหลักของธรรม เข้าใจหลักของธรรมนั้น แล้วเราเข้าใจแล้วเราก็ปล่อยไว้ตามความเป็นจริง แล้วเราก็ปฏิบัติเข้าไป ถ้าเข้าใจแล้วไม่ทำ มันก็สักแต่ว่าเข้าใจ เหมือนกับมียา แล้วเราอ่านฉลากของยา แต่เราไม่ได้กินยาเข้าไป ฉลากของยา เราก็ต้องอ่าน ถ้าเราซื้อยามาแล้ว เพื่อรู้ว่าคุณสมบัติเป็นอย่างไร แล้วก็วางไว้นั่น แล้วกลืนยาเข้าไปในปาก อันนี้ก็เหมือนกัน วางไว้เลย ถ้าปฏิบัติ วางไว้เลย นี่เวลาปฏิบัตินะ

แล้วพอเข้าไปถึงจุดหนึ่ง จิตพอเป็นสมาธิแล้ว จะออกพิจารณา อันนั้นคิด คิดอันนี้มันคนละอันกับที่เราคิดทางโลกแล้ว เพราะอันนี้มันเป็นปัญญา มีสมาธิเป็นเครื่องหนุน อันนั้นมันเป็นปัญญาทางโลกเขา มันเหมือนกับทำงานไง งานที่มีกิเลสพาทำ กับงานที่มีมรรคเป็นตัวนำ การพิจารณาที่ว่าพิจารณากายนอก พิจารณากายนอกกับกายใน นี้ก็เหมือนกัน ถ้ามีสมาธิเป็นพื้นฐาน พิจารณาสิ่งใดสิ่งหนึ่งในอะไรก็ได้ เพื่อตัดเข้ามาให้เป็นรูป รส กลิ่น เสียง

กายนอกหมายถึงตัดอารมณ์ที่ไปยุ่งเรื่องภายนอก เวลามันสั้นนะ ฟังให้ดีนะ เวลานี่เราสั้นมาก เราน้อยมาก เรามีเวลาน้อยนะ เราจะนอนใจอยู่ไม่ได้ ดูสิ ดูอย่างสายตาของเรากระทบรูปออกไปข้างนอก อะไรคือรับรู้เข้ามา สิ่งนั้นก็อยู่ที่นั้นนะ เก้อๆ เขินๆ อยู่นั้นนะ รูป รส กลิ่น เสียงเป็นเรื่องของภายนอก เขาอยู่ของเขาเฉย เขาไม่รู้สึกตัวของเขาเลย

แต่เราต่างหากไปให้ค่าเขา เราไปให้ค่าเขานะ ถ้าถูกใจเรา เราก็ว่าสวย ถ้าไม่ถูกใจเรา เราก็ว่าไม่สวย จริงไหม? ถูกใจเรา เราก็ว่าดี ไม่ถูกใจเรา เราก็ว่าไม่ดี อันนี้เราให้ค่านะ สิ่งๆ นั้นจะมีค่าหรือไม่มีค่า จะสวยหรือไม่สวย ในคุณค่าตัวของเอง เขาไม่รู้เรื่องของเขานะ เราต่างหากไปให้ค่าเขา ถ้าเรามีสติ เป็นสมาธิ มันจะคิดแบบนี้ แต่เมื่อก่อนไม่คิดแบบนี้เลย ถ้าเป็นทางโลกจะคิดไปตามเรื่องของเขา อันนี้มีอย่างนั้น อันนั้นเป็นอย่างนั้น สีดำเป็นสีดำ สีขาวเป็นสีขาว

แต่ถ้ามาเป็นธรรมแล้ว สีนั้นสักแต่ว่าสี สีดำกับสีขาวนั้นคือผ้า ผ้านั้นย้อมสีต่างหาก สีนั้นมันมาเจือในตัวผ้า เราไปให้ค่าทำไม ฉะนั้นมันก็ปล่อยเข้ามา ปล่อยเข้ามา นั้นรูป รส กลิ่น เสียงภายนอก พระพุทธเจ้าถึงสอนไง สอนพระให้ไปเที่ยวป่าช้า ให้ไปพิจารณาซากศพ ซากศพในป่าช้านั้นคือกายนอก ให้ตัดเข้ามา เพราะถ้าไม่เริ่มจากตรงนี้เลย มันก็กว้างเกินไป เราไม่มีเป้าหมายเลย ถ้าเป้าหมายมันกว้างเกินไป เราก็ต้องลดให้มันหดย่นเข้ามา พิจารณาเพื่อให้ใจปล่อยวางนะ

การพิจารณาเช่นนี้คือ พิจารณาเพื่อให้ใจปล่อยวางกับรูป รส กลิ่น เสียงภายนอก รูป รส กลิ่น เสียงภายนอกนี่ มันเป็นเครื่องทำให้ใจเราฟุ้ง ฟุ้งนะ ให้เราคิดไม่มีวันสิ้นสุด แล้วมันก็เข้ามาผสมกับกิเลสในใจของตัว มันเป็นกิเลส มันเป็นโลกอยู่แล้ว มันก็เลยเข้ากันได้พอดี มันเลยคิดไปวันยังค่ำคืนยันรุ่ง นอนก็คิด นั่งก็คิด ก่อนจะตัดความคิดนี้ก็ต้องอาศัยสมุฏฐาน คือใจของเรานั่นล่ะ ตั้งมั่นก่อน แล้วก็พิจารณาออกไป แล้วก็ตัดจากข้างนอกเข้ามา

ตัดจากข้างนอกเข้ามา นั่นคือการพิจารณากายนอก การพิจารณารูป รส กลิ่น เสียงภายนอก นั่นคือการพิจารณา พิจารณาแล้วพอมันตัดเข้ามา ใครเป็นคนรู้? หัวใจที่ตัดนั้นรู้ อันนี้คือญาณทัสสนัง ไอ้ญาณที่หยั่งรู้ นั้นเป็นญาณหยั่งรู้ เห็นไหมนี้ความรู้ของธรรม ถ้าความรู้ของโลก พอกระทบปั๊บมันคิด มันว่ามันรู้แล้ว รู้มัด รู้แบบนั้นรู้ชั้นเดียว ธรรมนี้ให้รู้ ๒ ชั้น รู้สิ่งกระทบแล้ว แล้วพิจารณาสิ่งกระทบนั้นว่ามีคุณค่าหรือไม่มีคุณค่า แล้วปล่อยไว้ คำว่าปล่อยมันต้องอิ่มใจนะ

เราว่าเราปล่อย อันนั้นไม่ใช่หรอก มันลงไปอยู่ในใจแล้ว รูป รส กลิ่น เสียงกระทบนะ ที่หู หรือที่ตา หรือที่ลิ้นก็แล้วแต่ มันจะรวมลงที่ใจทั้งหมดเลย เหมือนแม่น้ำทุกสายจะลงทะเลทั้งหมดเลย เพราะใจนี้มันเป็นที่เก็บไง ทุกอย่างจะซับลงที่ใจ จะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ ถ้าที่ไม่เข้าใจ เห็นแว็บๆ มันก็ไปคิดย้อนหลังกลับไป มันคิดหมด นั้นถึงว่าถ้ามีธรรม หมายถึงว่ามีหลัก มีสมาธิยังตั้งมั่นอยู่

สมาธิตั้งมั่นอยู่ หมายถึงว่ามันปล่อยอารมณ์ทางโลก แล้วเมื่อพิจารณามันจะปล่อยวางอันนั้น แต่ถ้าสมาธิ พลังงานนี้มันอ่อนลง มันคิดเป็นโลก เราก็ไม่คิด ฟังให้ดีนะ หมายถึงว่าเวลาเราคิดแล้วมันปล่อยได้นี่ เราก็คิดเพื่อจะตัดให้ย่นเข้ามา แต่ถ้ามันคิดแล้วปล่อยไม่ได้ เราอย่าไปคิดนะ เรากลับมากำหนดใจของเรา หมายถึงว่าใจของเรานี้ ไม่มีกำลังพอแล้ว ไม่มีพลังงานพอที่จะไปทำงานอย่างนั้นได้ เราต้องพักใจเข้ามาก่อน

ผู้ปฏิบัติต้องฉลาดจากในตัวของตัวเอง ปัจจุบันธรรมหมายถึง ขณะที่เกิดขึ้น แล้วเราพิจารณาขณะนั้น นั่นคือปัจจุบันธรรม พระพุทธเจ้าสอนปัจจุบันธรรมตลอด ไม่เคยสอนธรรมอดีต ธรรมอนาคต ธรรมอดีต ธรรมอนาคตนี้ มันก็เป็นปริยัติไง เราเรียนเรื่องพระพุทธเจ้า ก็ต้อง ๒,๐๐๐ กว่าปี แล้วก็เรียนว่าอีก ๕,๐๐๐ ปี จะมีพระศรีอาริย์มาตรัสรู้ต่อไป เราเรียนแต่อดีตและอนาคต แล้วเราก็มาสุมไว้ สุมไว้ เราก็คิดตาม

เรียนอดีต อนาคตมา ให้มาเป็นปัจจุบันธรรมขณะนี้สิ เช่นเราเรียนหนังสือมา เพื่อเอาความรู้นี้มาประกอบอาชีพใช่ไหม? นี่เราเรียนมา เราศึกษามา ก็เพื่อจะมาปฏิบัติตรงนี้ไง ทีนี้เราปฏิบัติแล้วเราอย่าไปห่วง เราไม่ห่วงความรู้ กลัวว่าเราจะไม่รู้ หรือปฏิบัติแล้วกลัวจะไม่เข้าใจ มันอิ่มใจแล้วมันปล่อยเองโดยอัตโนมัติอันนั้นสิ นั้นคือความรู้แท้ รู้ในศาสนานี้มันรู้แปลกนะ ถึงว่าเป็นปัจจัตตังไง “ปัจจัตตัง” รู้จำเพาะตน ในใจของตนนั้น

พอรู้ขึ้นมาแบบนี้แล้ว มันอาจหาญ มันท้าทายความคิด ที่ว่าเมื่อก่อนมันเป็นความทุกข์นั้น มันอยู่ไหน? ขนาดนั้นนะ แต่เดิมเราเป็นทุกข์ เราก็ไม่รู้ว่าทุกข์มันเป็นอะไร รู้แต่ว่าทุกข์ๆๆ แล้วก็ร่ำไป พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนกับว่า

“มีบุคคลมากมายเลย ถือคบเพลิง แล้วก็ร้องว่า ‘ร้อนๆๆ’ แล้วก็วิ่งไปตลอดเวลาในกาลนั้นมีบุรุษคนหนึ่ง เป็นผู้ฉลาด ได้วางคบเพลิงลง แล้วก็สอนให้คนอื่นวางคบเพลิงด้วย บุรุษผู้ฉลาดนั้นคือพระพุทธเจ้า”

นี่ก็เหมือนกันนะ เราก็ว่าเราทุกข์ๆๆ แต่เราก็ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหนไอ้ทุกข์น่ะ เราก็จับมันไม่ได้ เพราะเราแก้อันนี้ไม่ได้ เราถึงต้องไปเกิดอีกไง ถึงบอกว่าได้มนุษยสมบัติมา แล้วก็จะไปไหนกัน ถึงต้องมาจำศีล ถึงต้องมาหัดภาวนาไง ถึงจะเกิดต่อไปก็ให้บุญนี้พาไปเกิดอีก อย่าให้อกุศลพาเกิดเลย ให้บาปพาเกิดมันร้อนนะ

ให้บาปพาเกิดก็ดูนั่นน่ะ อบายภูมิทั้ง ๔ สัตว์เดรัจฉานเห็นไหม เขาเกิดมาเขาทุกข์ไหม? แล้วยังเป็นเปรต เป็นผี เป็นอสูรกาย นั้นคืออบายภูมิ เครื่องอยู่ของจิตที่ทำกรรมชั่ว ถ้าเรามีบุญพาเกิด อย่างน้อยเราก็เกิดในสวรรค์ อย่างน้อยนะ แล้วถ้าเกิดเป็นมนุษย์อีกล่ะ ดูอย่างเทวดาจะสิ้นสิ เวลาเทวดาจะสิ้น เขาให้พรกันเห็นไหม “ให้ดับในภพของเทวดา แล้วขอให้ได้เป็นมนุษย์เถิด ให้เป็นมนุษย์ แล้วให้พบพระพุทธศาสนา เพื่อจะได้ประพฤติปฏิบัติ ให้ได้เกิดเป็นเทวดาอีกไง”

นี่คือพรของเทวดา เพราะเทวดาไม่รู้เรื่องอริยสัจ เพราะเทวดานี้ไม่รู้ซึ่งถึงการย้อนศรทิ่มแทงกิเลส จนให้กิเลสนี้ราบคาบ ให้ตายไปแล้วไปเกิดเป็นมนุษย์ เพราะเป็นเทวดานี่ เราได้ใช้คุณงามความดีหมดแล้ว ใช่ไหม? เหมือนเงินเราหมดแล้ว เราจะไปไหน เราก็ต้องกลับมา

เกิดเป็นมนุษย์ ดีกว่าตกนรกนะ ได้เกิดเป็นมนุษย์ แล้วให้พบพระพุทธศาสนา ถ้าไม่ได้พบพระพุทธศาสนา ดูสิ ในโลกนี้ก็ดูเอา แล้วยังเกิดในเวลาภัทรกัปที่ศาสนาเสื่อม อันนี้ถึงว่าทำคุณงามความดี ถือศีล ถือเพื่ออะไร? ปฏิบัติเพื่ออะไร? ไม่ใช่เพื่อใคร เพื่อหัวใจของเรา ไม่ใช่เพื่อพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เพื่อครูบาอาจารย์นะ

ไอ้ของทางโลกมันทำแทนกันได้ แต่อริยสัจนี้ก็เป็นเครื่องเดิน ไอ้หัวใจที่รู้ธรรมนั่นน่ะ มันเป็นผลการกระทำของแต่ละบุคคลเท่านั้นเลย ฉะนั้นเราทำเท่าไรเป็นของเราทั้งหมด ถึงจะไม่ได้ผล ถึงจะทำปฏิบัติแล้วไม่ได้ผล แต่ว่ามันไม่เข้าถึงที่ นี่ไง.. นี่ไง.. นี่กิริยา กิริยาวัตถุไง

“กิริยาวัตถุ” กิริยาที่เป็นการปฏิบัตินี้ก็เป็นบุญแล้ว พระพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ไว้ อานนท์ บอกเขานะ.. คืนวันนิพพาน เขาเอาดอกไม้ธูปเทียนมาคารวะ “มันเป็นอามิสบูชา ให้ปฏิบัติบูชาเถิด” อันนั้นเป็นบูชาอย่างเลิศ ปฏิบัติบูชานี่ นี่เราบูชาพระพุทธเจ้าแล้ว เริ่มต้นเราก็ทำถูกต้องตามหลักคำสอนขององค์พระศาสดา เราเข้าทางหรือยัง? เราหลงป่านี่ เราหลงป่าไป เราไม่มีทางออก มันจะทุกข์ขนาดไหน? แล้วเรามาพบทางออกแล้ว ฉะนั้นถึงต้องมา ถึงควรมา ถึงต้องทำไง

เราเข้าในแนวทางแล้ว เราจะไปแนวทางนี้ แนวทางนี้พาถึงที่สุดของทุกข์ ขนาดเทวดาเขายังให้พรกันเพื่อมาเป็นเรา แล้วเราเป็นของเราอยู่แล้ว มนุษยสมบัติ เพราะมนุษย์นี้มันมีสุขมีทุกข์ มีสุขมีทุกข์เห็นไหม มันมีเครื่องเปรียบเทียบน่ะ หมายถึงว่ามีกำไรและขาดทุน แต่ถ้าเป็นอย่างเทวดามันมีกำไรอย่างเดียว กำไรล้วนๆ กำไรแล้วมันก็หมดไป หมดไป ไม่มี คำว่าขาดทุนมันก็หายไปเฉยๆ มันไม่มีอะไรเปรียบเทียบไง

เหมือนกับมีเงิน ไม่มีตลาด สวรรค์ไม่มีตลาด ไม่มีธุรกิจ มีแต่ให้ออกไป ใช้ออกไป มีแต่ใช้ เป็นที่ที่เราไปใช้ทรัพย์สมบัติ ไม่ใช่เป็นที่ที่การหาเพิ่ม นรกก็เหมือนกัน ไปตกนรกอยู่อย่างนั้นล่ะ จนกว่าจะสิ้นกรรม แต่มนุษย์นี้มันหาดีและชั่วได้ ดีก็หาได้ ชั่วก็หาได้ แต่ชั่วนี้ไม่ต้องหานะ มันเป็นเองโดยอัตโนมัติ เพราะกิเลสเป็นแบบนั้น ใครไปหาชั่วจากไหน ทำเลย.. มันชั่วอยู่แล้ว แต่ดีนี่สิ.. หายาก ถึงมาเจอความจริง ดีจริงดีแท้แล้ว ความจริงอยู่ที่ไหนล่ะ?

ความจริงที่พระพุทธเจ้าสอน นั้นก็เป็นความจริงของพระพุทธเจ้า ความจริงของครูบาอาจารย์สอน นั้นก็เป็นความจริงของท่าน แต่ความจริงในหัวใจของเรา เราเข้าไปสัมผัสปั๊บ มันก็เป็นจริงของเรา จริงของเรา ตอนนี้จริงอะไร? ตอนนี้เราจริงอะไร? ทุกคนว่าเป็นจริง เป็นคนดีหมดนะ แต่จริงที่ใจมันหยุดนิ่ง อันนั้นเริ่มจริงน้อยๆ แล้วนะ อันนี้มันไม่หยุดน่ะสิ มันหมุนเห็นไหม

มันหมุนคือว่ามันคิดเรื่อยไป ถ้าหยุดปั๊บ! โอ้โฮ..มันประหลาดแล้ว ของที่ไม่เคยหยุด แล้วมันหยุด จะตื่นเต้นน่ะ พอตื่นเต้นแล้วมันก็มีวัตถุดิบ เพราะมีสมาธิแล้ว ใจตั้งมั่นแล้ว ใจปล่อยแล้ว ใจเป็นอิสระแล้ว พอใจเป็นอิสระแล้ว ใจมันก็จะเดินอริยมรรค จากเมื่อก่อนนั้นเป็นขี้ข้ากิเลส พอหยุดปั๊บเป็นกัลยาณปุถุชน จิตนี้เป็นสมาธิ จิตนี้ตั้งมั่น จิตนี้ปล่อยจากรูป รส กลิ่น เสียงภายนอก มันถึงหยุด

ถ้าไม่หยุด เพราะรูป รส กลิ่น เสียงนี้เองมันถึงพาให้ใจนี้หมุน ถ้าใจปฏิบัติมันจะเห็นเป็นแบบนั้นเลย จิตนี้หยุดเพราะว่าไม่มีเชื้อ ไอ้รูป รส กลิ่น เสียงนี้เป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งให้มันหมุนไป เราเห็นตามสภาพความเป็นจริง แล้วเราก็ปล่อยให้มันเป็นภาพความเป็นจริงนั้น ใจเราไม่ไปยุ่งกับเขา ใจเราก็นิ่ง พอใจเรานิ่ง เราก็มาเดินอริยมรรค ก็พิจารณาซ้ำอย่างเดิมนั่นล่ะ แต่จากเด็กทำกับผู้ใหญ่ทำ ต่างกัน เด็กทำงานก็เป็นปัญญาของเด็ก ผู้ใหญ่ทำงานก็เป็นปัญญาของผู้ใหญ่

การพิจารณารูป รส กลิ่น เสียงภายนอก นั้นคือเป็นงานของอนุบาลไง เป็นปัญญาของอนุบาลนะ แล้วก็เข้ามาเรียนชั้นประถม นี่โรงเรียนของศาสนาพุทธ อนุบาลเห็นไหม แล้วการศึกษาของเราก็ว่า คนจะดีต้องให้พื้นฐานดี คนจะเรียนได้ดีต้องให้พื้นฐานได้ดี ถ้าเราทำสมาธิ เราทำใจตั้งมั่นด้วยความดี นี่คือพื้นฐานของเรา พื้นฐานที่ดี ให้มีความชำนาญ ให้มีความคล่องแคล่ว

ความชำนาญเห็นไหม กำหนดปั๊บเป็นสมาธิ กำหนดปั๊บจิตไม่ไปยุ่งกับโลก เรื่องภายนอก ทำได้ไหม? พยายาม.. พยายามทำนะ พยายามทำตรงนี้ให้ได้ ทำตรงนี้ให้จิตหยุดได้ ถ้าเราไม่สามารถ ฟังสิ ถ้าเราไม่สามารถทำให้สูงขึ้นไป อย่างน้อยเราก็ไปเกิดบนพรหมนะ เพราะคนเราเวลาจะสิ้น เวลาจะดับนี่ มันจะคิดถึงแต่ความดีของมัน มันจะคิดถึงสิ่งที่ว่าใจเคยหยุด พอใจหยุดมันก็เป็นหนึ่ง

เป็นหนึ่ง ก็เป็นขันธ์เดียว ขันธ์เดียวก็คือเป็นภพของพรหม ไม่ต้องไปให้ใครมาสอน ไม่ต้องให้มีใครมาบอก ปัจจัตตัง รู้ในใจของตัวเลย แล้วมันเป็นแค่ขี้เล็บอยู่ในศาสนาพุทธของเรา เห็นไหม ทางมันยังกว้างขวางไปอีกมหาศาล เราต้องเดินต่อ เราอย่าให้กาลเวลาของเราเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ มนุษยสมบัตินี่ เหมือนกับเทียนเล่มหนึ่ง จุดไฟเผามันจะหมดทั้งเล่มนะ อายุขัยเราก็เหมือนกันนะ

อายุขัยเรา เราต้องใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด มีแล้ว.. มีพร้อมเลย ๑.หัวใจก็มีแล้ว ถ้าเราไม่มีหัวใจก็เหมือนคนตาย คนตายน่ะ ถึงเป็นคนที่หมดโอกาส เรามีหัวใจ คือมีหัวใจ ร่างกาย ซ้อนอยู่ในร่างกายนี้ ก็ต้องพิจารณาที่นี่นะ ภวาสวะคือภพ อนุสัยอยู่ที่ใจ ภวาสวะคือตัวอวิชชา ถ้ามีกายและมีใจ มันก็เป็นภพที่นี่ แล้วมันกว้านออกไป ภพคือแผ่นดิน ต้นไม้นี่เกิดบนแผ่นดิน กิเลสนี้คือต้นไม้ เกิดบนแผ่นดิน

ถ้าเราไม่ไปปลูกต้นไม้ มันก็จะเกิดยาก เกิดทุกอย่าง สิ่งมีชีวิตนี้เกิดบนแผ่นดิน หัวใจของเรา มันมีอยู่แล้ว ความคิดนี้มันเกิดบนหัวใจ เห็นไหมเกิดมานี่เป็นกิเลส อวิชชานี้คือตัวภพ แล้วก็ออกมาเป็นลูกเป็นหลานไง เป็นราคะ ราคัคคินา โทสัคคินา โมหัคคินา เป็นไฟ อันนี้เริ่มเป็นลูก ลูกก็เป็นหลานไปอีกล่ะ ไอ้ตัวกว้านออกไป ทั้งนั้นเลย แม้แต่ว่าตัวมีใจมีตัวภพ ตัวอนุสัย ทีนี้เราก็แก้มาตรงที่ใจเรานี่ ถึงว่าเราพร้อมไง นี่ปกคลุมทั่วเลยล่ะ

ถ้าใจนี้ดับ หมายถึงตายไป ไอ้ที่พูดนี่ครบเลย ถึงตายไปก็มีพร้อม เพียงแต่ว่า โอ้โห.. ไปแล้ว เพราะคนตายแล้วนี่นะ จิตนี้มันไปเสวยภพตลอด พอมันพ้นจากอันนี้ไป มันก็ไปอยู่ในที่ที่ของเขา อยู่ในอีกสภาพหนึ่ง พออยู่ในอีกสภาพหนึ่ง มันต้องไปอยู่ในอีกสถานะหนึ่ง การบีบบังคับของสถานะนั้น จะไม่มีโอกาสแบบนี้หรอก มันไม่เป็นอิสระกับตัวเอง

แต่ขณะนี้หัวใจมันถึงจะเร่าร้อนก็จริงอยู่ แต่ความเป็นมนุษยสมบัติ ภพของมนุษยมันมีอิสระ มีสิทธิขนาดนี้ แล้วเราเป็นคนที่บัญชาการใจของเราเอง ทำไมเราทำไม่ได้ล่ะ เราไม่เชื่อพระพุทธเจ้าหรือ? เราไม่ใช่ชาวพุทธหรือ? เพราะชาวพุทธต้องศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าสิ แล้วพระพุทธเจ้าก็สอนทางออกไว้อย่างนี้ นี่ทางออกนะ ไม่มีทางอื่น

ถ้ามีทางอื่นพระพุทธเจ้าสอนแล้ว พระพุทธเจ้าอยากให้พวกเรานี่นะ.. เพราะพระพุทธเจ้า ฟังนะ เป็นผู้มีเมตตามหาศาลนะ เป็นผู้ชี้นำโลกนะ เป็นผู้สอนทั้ง ๓ โลกธาตุ สอนเทวดา สอนมนุษย์ ๓ โลกธาตุ พรหมน่ะ สอนหมดนะ ถ้าสอน เห็นความทุกข์ยาก ก็เหมือนกับเราสอนลูกสอนหลาน เราก็อยากให้ทุกคนมีความสะดวกสบาย ทำไมเราต้องบังคับลูกให้เรียนหนังสือล่ะ? เราต้องบังคับให้เขาทำงาน เพราะว่าอันนั้นมันเป็นสิ่งที่ว่าให้ดำรงชีวิตใช่ไหม? อันนี้ก็เหมือนกัน หัวใจนี่มันจะกินอะไร ก็ต้องมีคุณงามความดีให้เป็นที่พึ่งอาศัยของใจ เป็นที่พึ่งอาศัยนะ

พึ่งอาศัยแล้ว จนประพฤติปฏิบัติ จนพ้นไปจากสิ่งที่ต้องพึ่ง ไม่ต้องพึ่งสิ่งใดๆ เลย มันอยู่ตัวของมันเองได้ อันนั้นแบบว่าเป็นจิตที่หยุดนิ่ง หยุดนิ่งนี้มาพิจารณานะ พิจารณาเป็นชั้นเป็นตอน พิจารณาด้วยปัญญาไง ตาข่ายของญาณ เรดาร์ อะไรมันจะพ้นไปได้ล่ะ ปัญญานี้ส่องอยู่ ในธรรมจักรนะ ในธรรมจักรตอนพระพุทธเจ้าเทศน์สอนปัญจวัคคีย์ อาโลโก อุทะปาทิ , ปัญญา อุทะปาทิ , ญาณัง อุทะปาทิ , วิชชา อุทะปาทิ มรรค ๘ นี่แหละ

อาโลโก อุทะปาทิ ปัญญาของปัญญา ปัญญา อุทะปาทิ , วิชชา อุทะปาทิ วิชชาเกิด ญาณเกิด วิชชาต้องเกิดก่อน มีวิชามีความรู้ มีญาณรู้ อาโลโก อุทะปาทิคือปล่อยวางว่างหมดเลย อาโลโก อุทะปาทินี่ล่ะ นี่ตาข่ายญาณของใจ แล้วมันก็แก้ความคิดที่ยุบยิบในหัวใจนั้น นั่นล่ะเอาปัญญานั้นเข้าไปจับ ไอ้ความคิดยุบยิบ ฟังให้ดีสิ ไอ้ความคิดที่ว่าคิด คิดโลดโผน เวลาคิดแบบโลกนี่โลดโผนนะ แต่ความคิดยุบยิบในใจมันคิดละเอียดอ่อนอ้อยสร้อยอยู่ที่ใจ

เวลาไฟไหม้เห็นไหม ไฟไหม้ตลาด โอ้โฮ.. ไม่มันจะแตกนะ ควันไฟนี้เต็มไปหมดเลย นั้นล่ะปัญญาโลกๆ แต่เวลาไฟสุมขอน ไฟไหม้จนสงบแล้ว เหลือเถ้าถ่าน กองอยู่ที่พื้น ไฟแดงโล่ๆ อยู่อย่างนั้น ใจทั้งนั้นล่ะ ความคิดในใจที่ว่ายุบยิบในใจนั้น เราออกไปข้างนอก ออกไปทำการทำงานก็แล้วแต่ เราใช้ปัญญาแบบไฟไหม้ ไฟแรง

แต่เวลาเราเข้าไปอยู่ตัวคนเดียวสิ มันสุมอยู่ในใจนั้น นี่ใช้ปัญญาอันนี้เข้าไปจับ ปัญญาญาณนี่ เข้าไปจับในความคิดยุบยิบในใจ เอามันมาสาวดูหน้าหน่อยนะ.. ไอ้ความคิดในใจนี่ ทำไมมันเผาให้ร้อนอยู่เรื่อยนะ นั่นล่ะคือการที่จะสาวหาตัวจำเลย ถ้าไม่ใช้ปัญญาตัวนี้เข้าไปจับ ไอ้ความคิดยุบยิบในหัวใจ จะเอาอะไรไปจับ? ไอ้ความคิดข้างนอก ถ้าเราไปรู้เข้า เราถึงทุกข์ตามเขา

เมื่อวานนี้ เมื่อวานซืนนี้ เมื่อปีที่แล้วเขาด่าไว้ มีคนมาบอกมันก็โกรธไปตามเขา เห็นไหมนั้นความคิดข้างนอก เราไม่รู้หรือเรารู้มันก็จะให้ค่าทีหลัง แต่ไอ้ไฟสุมขอน มันร้อนนะ ไม่ต้องใครมาบอกหรอก มันยุแหย่อยู่ในใจเราเอง มันยุมันแหย่อยู่ในใจนี่ ก็มันคิด แล้วถ้ามันดับ มันไม่มี เวลาเรารู้เท่า เราจะมีความสุขขนาดไหน? แต่ก่อนจะมีความสุขมันก็ต้องต่อสู้กันก่อน กิเลสจะอ่อนมือกับเรา ไม่มีทาง กิเลสนี้จะมาทำอ่อนๆ แอๆ จะให้เราชนะนี่นะ ถามว่ากิเลสชาติไหนเถอะ

กิเลสมันก็คือกิเลส กิเลสมันอยู่บนหัวใจของคน กิเลสมันคือเจ้าวัฏจักร ฟังสิ คำว่าเจ้าวัฏจักร เป็นเจ้านายบัญชาการหัวใจของเรามา แต่กาลไหนๆ ก็ไม่รู้ เพราะพระพุทธเจ้าบอกว่า “ชีวิตนี้ไม่มีต้นและไม่มีปลาย” มันจรมา มันเกิดดับ มันเกิดๆ ตายๆ มานี่ ไม่มีต้นและไม่มีปลายนะ หาที่สิ้นสุดต้นและปลายไม่ได้ ไม่มีขอบเขต แล้วเจ้าวัฏจักรนี้เป็นผู้บัญชาการมาตลอด แล้วจะมาอ่อนมืออ่อนแรงกับไอ้แค่เรานั่งสมาธิกันอย่างนี้หรือ นี่..ว่าอย่างนั้นเลยนะ มันก็ต้องต่อสู้สิ เขาเป็นเจ้านายมาตลอด แล้วอยู่ดีๆ จะมาปล่อยออกไป

คำว่ากิเลสมันไม่ใช่ธรรม ธรรมนี่เป็นที่เย็นชุ่ม ที่ชื่นใจ ผู้ใดมีธรรม อยู่ที่ไหน ที่นั่นก็ชุ่มเย็น กิเลสล้วนๆ แล้วมันจะมาปล่อยให้เป็นอิสระหรือ? มันต้องต่อต้านทุกๆ แง่ ทุกๆ กระทงความคิดที่เราต่อสู้ ที่เราทำความเพียรอยู่ แต่บางทีมันสู้ไม่ได้ มันหยุดไปนั่น เพราะมันสู้ไม่ได้ ฟังนะ เพราะมันสู้ธรรมะ สู้ความเพียร สู้ความจริงจังของเราไม่ได้ต่างหาก มันไม่ให้ยอมแพ้หรอก มันไม่ใช่จะปล่อยให้เราสะดวกสบายยาว อย่าหวัง อย่าหวัง.. ฟังให้ดี

มันสู้ความจริงจัง สู้ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ได้ต่างหาก พระพุทธเจ้าสอนให้มีความเพียร ให้มีความวิริยะ ให้มีความอุตสาหะ ท่านถึงเปรียบไง เปรียบเหมือนม้าอาชาไนย เปรียบเหมือนบุคคลที่ควรฝึก มีพราหมณ์ไปถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสอนอย่างไร? ก็สอนเหมือนคนฝึกม้า ถ้าม้าตัวไหนมันคึกมันคะนองมาก ต้องไม่ให้กิน ไม่ให้กินอาหาร ให้อดก่อน ให้กินแต่น้อย ถ้าม้าตัวไหนอย่างกลางๆ มันไม่ค่อยคึกไม่คะนอง ไม่ค่อยพยศ เราก็ฝึกแบบเบาๆมือ ถ้าม้าอย่างละเอียดอ่อน ก็ฝึกอย่างละเอียดอ่อน

แต่ม้าที่ฝึกไม่ได้ เราฆ่าทิ้งเลย การฆ่าทิ้งของพระพุทธเจ้า คือการไม่สั่งสอน การไม่พูด การไม่มอง เหมือนกับการฆ่าทิ้งนะ คือคนๆ นั้นจะหมดโอกาส แล้วเราเป็นคนชนิดไหน เราเป็นคนชนิดที่พระพุทธเจ้าฆ่าทิ้งแล้วหรือ? ถ้าเป็นคนที่พระพุทธเจ้าฆ่าทิ้ง เราจะมาทำไมกัน? ที่เรามาทำอยู่นี่ก็บอก เราเป็นคนที่มีจริตนิสัยอันหนึ่ง เราเชื่อมั่นในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราถึงได้สละความสุขที่จะหาได้จากที่คฤหาสน์ของเรา หาความสุขที่ได้ในส่วนที่รโหฐานของเรา

อุตส่าห์มากระเหม็ดกระแหม่นะ มาถือศีล มาทน อันนี้ใหม่ๆ เราก็ว่าอันนี้เป็นความทุกข์ แต่ถ้าเราทำไป ทำไป ลมเย็นเห็นไหม ลมเย็น ลมชายทุ่งเย็น ความเย็นของธรรมชาติกับความเย็นของหัวใจที่ประพฤติปฏิบัติธรรม มันเข้ากันได้น่ะ กับความร้อนของรูป รส กลิ่น เสียง ความร้อนของแสง สี เสียงน่ะ มันเข้ากับกิเลสไง

กิเลสมันชอบแสง ชอบสี ชอบเสียง ชอบการพลุกพล่าน ชอบการพะเน้าพะนอ ชอบการอยู่ในที่มักมากน่ะ แต่พระพุทธเจ้าสอนว่าให้หลีกเร้น ให้ไปในที่เปลี่ยวๆ ให้ไปในป่าช้า ให้ไปในที่ที่คนเขาไม่ไป เพราะที่ๆ นั้นกิเลสมันกลัว เรากลัวผีนั้นคือกิเลสมันกลัวผี แต่ถ้าเป็นทางโลกเขานะ เรากลัวผี เพราะผีในใจมันกลัวผีข้างนอก แต่พอเรามาปฏิบัติ ถ้าเรากลัวผี ผีมันคึกคะนองขึ้นมา หันดูหน้าผีหน่อย.. ผีในใจของเรานี่ไง

ไอ้ผีตัวนี้มันกินหมดนะ มันกินทุกอย่างที่ขวางหน้า กินหมด กินอารมณ์หมดเลย แล้วยังจะไปกินข้างนอกอีกน่ะ อยากได้นู่นก็กินได้ล่าเสวยไง จิตนี้เสวยอารมณ์ เวทนามันก็เสวย สุขมันก็เสวย ทุกข์มันก็เสวย เสวยคือการกิน จิตเสวยก็คือเหมือนกับเรากินข้าวนั่นล่ะ ถ้าจิตไม่เสวยก็สักแต่ว่า มันก็ปล่อยได้อย่างหนึ่ง

จิตไม่เสวยหมายถึงว่า มันค้ำมันยันกันไว้ สักแต่ว่า ตาเรากระทบรูปเห็นไหม ไม่มีวิญญาณรับรู้ สักแต่ว่าไหม? เรานั่งสบายอารมณ์มันคิดไม่อะไรเลย ปล่อยวางเฉยๆ สักแต่ว่าไหม? นั่นคือสักแต่ว่า แต่สักแต่ว่านี้ มันยังไม่ลง ไม่ปล่อยวางไว้ตามความเป็นจริง เราต้องเสริมมันเข้าไปอีก เสริมเข้าไปเลย เสริมความคิด แรงกว่าที่จะปล่อยวางนะ ไม่ใช่เสริมออกมาข้างนอกนะ สักแต่ว่ามันเหมือนอุเบกขาไง มันจะไปทางซ้ายและไปทางขวา เราต้องเสริมมันเข้าขวาไว้

เสริมคือความคิด สังขารที่มีสมาธินั้นเป็นปัญญา สังขารคือการคิด การปรุง การแต่ง สังขารคือจิตความคิดอัตโนมัติ เขาเรียกสังขาร สังขารร่างกายนี้เป็นอย่างหนึ่ง สังขารความคิดนี้เป็นอย่างหนึ่ง แล้วถ้าจิตนี้มีสมาธิ เขาเรียกว่ามันรอบรู้ในกองสังขาร มันรอบรู้ในความคิดของเราไง ความคิดตามความคิดทัน เพราะหยุดยั้งความคิดได้ ความคิดที่จะคิดออกไปทางโลก พอหยุดยั้งแล้ว สงบตัวคิดใหม่นี้ เป็นธรรมแล้ว

คิดใหม่นี้เพราะมีสมาธิเป็นพื้นฐาน มันก็ไม่คิดไปตามโลกน่ะสิ แต่เดิมคิดไปตามโลก โลกเป็นใหญ่ กิเลสเป็นใหญ่ เจ้าวัฏจักรเป็นใหญ่ เจ้าวัฏจักรท้องใหญ่ กินได้ทั้งหมด ไม่มีวันอิ่ม ถมไม่เต็ม ถมไปเถิด ไม่มีวันเต็ม ยกเว้นแต่ว่าไม่กิน ไม่ถม ไม่เอา นั่นล่ะเต็ม ต้องถอนออกมา ถอนออก ถอนออก พระพุทธเจ้าสอนอย่างนั้น ธรรมะสอนอย่างนั้น สอนให้ไม่ตามความคิดนั้น จนกว่ามันนิ่ง มันหยุด ถ้ามาคิดใหม่

คิดคราวนี้ คิดด้วยเหมือนธรรมจักรไง คิดด้วยธรรมจักร จักรนี้ด้วยธรรม จักรนี้ด้วยความดี ขาดหมดนะ เมื่อก่อนแพ้เลย คิดอะไรไม่เป็นก็ยอมหมด แต่ดวงธรรมจักรได้หมุนขึ้นมาในใจแล้ว มันจะตัดความคิดที่ผิดๆ ตัดหมด ตัดหมดเลย นั่นคือธรรมจักร แล้วมันเกิดขึ้นในใจเราหรือยัง? ถ้าไม่เกิดขึ้นต้องขวนขวายให้จักรนี้เกิด จักรนี้เป็นธรรม เกิดมาที่ใจของเรา นั่นถือว่าเป็นชาวพุทธไง ถึงเป็นผู้ที่เอาตัวรอดได้ไง เอาตัวรอดได้นะ

เราห่วงแต่อนาคต ห่วงแต่ว่าเราจะไปไหน เราจะทำอะไรกัน แต่เราไม่ได้ห่วงเลยว่าเราจะตาย เราเกิดมาเราต้องตาย ถ้าเราคิดถึงความตายเป็นอารมณ์อยู่บ้าง ไอ้ความคิดที่ว่าเป็นทุกข์ๆ มันจะเบาลงเลยล่ะ เพราะทุกข์เรื่องตายเป็นทุกข์ที่ใหญ่ที่สุด ทุกข์นี้เราต้องไปประสบพบหน้านี่ เพราะอันนี้เราไม่รู้ ไม่เห็น ฉะนั้น เราถึงต้องมาทำตรงนี้ก่อน

ไอ้งานเรื่องอาชีพทางโลก เราก็ต้องทำถึงเวลา แต่เราก็ต้องมาลืมตาอันนี้ด้วย ถึงว่าอันนี้สำคัญ อันนี้จริงๆ แล้วพระพุทธเจ้าสอนว่า อันนี้คือสมบัติแท้ของเราต่างหากล่ะ เราจะหาได้มากได้น้อยทางโลกนะ เราก็ไว้ตรงนั้นล่ะ “สมบัติผลัดกันชม” เรายังมีชีวิตอยู่ก็เป็นของเรา เราตายไปแล้วไม่ใช่หรอก ของใครก็ไม่รู้ ฉะนั้นว่าอันนั้นถ้าเราใช้เป็นปัจจัย ๔ นะ หรือเรามีธรรมแล้วนะ สิ่งนั้นเป็นประโยชน์โลกมหาศาล เพราะเราได้เจือจานไง

น้ำนะ ลงไปที่ไหนนะ ชุ่มเย็นไปหมดเลย ถ้าแห้งแล้งนะ ดินมันแตกระแหง ถ้าใจเป็นธรรมแล้วมันต้องเป็นใจที่ชุ่มเย็นสิ ยกเว้นแต่ว่าดินมันแตกระแหงมาก น้ำก็มีน้อย เราไม่สามารถทำให้ดินมันชุ่มได้ เราก็ต้องอุเบกขาไง พรหมวิหาร ๔ ไง เราต้องมีพรหมวิหาร ๔ โลกนี้อยู่กันด้วยกรรมนะ กรรมแต่ละบุคคลสร้างมาไม่เหมือนกันนะ บางทีเห็นแล้วน่าสงสาร ก็น่าสงสารนะ ถึงว่ากรรมของสัตว์ไง

สัตว์สร้างกรรมมาอย่างนั้นแล้ว เราไม่สามารถชนะกรรมได้นะ กรรมของคนอื่นนะ แต่เราสามารถชนะกรรมของเราได้ กรรมนี่แก้ไขได้ ถ้ากรรมแก้ไขไม่ได้ พระพุทธเจ้าเกิดไม่ได้หรอก เพราะคนเกิด มันเกิดจากกิเลสทั้งหมด เกิดมาจากกรรม แล้วก็เอากรรมดีไปละกรรมชั่ว ถึงที่สุดแล้วกรรมต่อกรรมนี่ มันเข้าหากันแล้ว หายไปในใจเลย ไม่มีกรรม กรรมที่ชำระล้างได้ เป็นกรรมของเรา

แต่ถ้ากรรมของคนอื่น แล้วเราจะไปแบกกรรมของคนอื่น เราแบกตายเปล่าเลย แต่กรรมของตัว เรายอมรับตามความเป็นจริง ก็เหมือนกับเรายอมรับตัว หาจำเลยแล้ว เราแก้ไข แล้วกรรมนี้จะสิ้นลงจากหัวใจของเรา แต่กรรมข้างนอกเราอย่าไปฝืน เราฝืนอันนั้นไม่ได้ แต่เราส่วนใหญ่เราจะฝืนแต่กรรมข้างนอก เรามองแต่กรรมข้างนอก แต่ไอ้ตัวต้นเหตุของกรรมในใจของเรานี่ เราจะมองข้ามหมดเลย

ถ้าเราดับกรรมตัวนี้ได้นะ เราจะเข้าใจ เข้าใจเรื่องของกรรมทั้งหมดเลย แล้วเราจะช่วยคนได้อย่างมหาศาลเลย เพราะบางอย่างช่วยได้ เราก็ช่วยเต็มที่ใช่ไหม บางอย่างช่วยได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นแบบนั้น เราก็ช่วยได้เท่านั้น แล้วหัวใจเราก็ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไปตามเขา ถ้าเป็นโลกนะ เราช่วยไม่ได้ เราก็จะเสียใจ เราจะดีใจ อันนี้ก็เผาใจเราก่อนแล้ว ให้ยุบยอบไป ๕๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วค่อยมี ๕๐ เปอร์เซ็นต์ไปช่วยโลกไง

ถ้าใจเรา ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์นะ มันช่วยได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ อันนี้ถึงเป็นประโยชน์แท้ไง ฉะนั้นประโยชน์แท้จริงๆ คือต้องใจเราก่อน ผู้ที่ว่ายน้ำเป็นจะสามารถช่วยคนจมน้ำได้ ผู้ที่ว่ายน้ำยังไม่เป็น ช่วยคนจมน้ำน่ะ มันจะตายด้วยกันนะ คนว่ายน้ำไม่เป็นจมน้ำ มันจะกอด มันต้องการพยายามเอาชีวิตรอด รัดเราตายเลย ถ้าเราว่ายน้ำเป็น เราจะไม่เข้าไปใกล้เขา เราจะดึงเขาขึ้นมา เพราะเรารู้วิธีการ อันนี้ก็เหมือนกัน เราต้องสอนใจเราก่อน เราต้องทำใจเราก่อน

เราอิ่ม เราสุขในใจของเรา แล้วเราก็เผื่อแผ่ความสุขนี้ออกไป โอ้โฮ... ความสุขนะ สุขแท้ๆ เลย มันไม่มีอะไรเข้ามาหลอกลวงใจที่เข้าใจตามความเป็นจริงได้ ทำไมจะไม่มีความสุขล่ะ ไอ้นี่อะไรผ่านเข้ามาเราก็ตื่นเต้นไปหมดเลย แม้ไม่ผ่านมามันก็ไปหยิบมานะ ไปล้วงมาจากไหนก็ไม่รู้ เห็นไหม ร้อนไหมล่ะ? เพราะมันไม่เข้าใจ ถ้ามันเข้าใจแล้ว มันก็ดูเอาตามความเป็นจริง นั่นผู้มีธรรม

เราพยายามฝึกให้เป็นธรรม ฝึกใจเราขึ้นมา ฝึกใจเรา นี่ทอง หรือวัตถุใดก็แล้วแต่ อย่างเพชรนี่ กว่ามันจะสวยขึ้นมา ต้องมาเจียระไนใช่ไหม? อันนี้ก็เหมือนกัน “ใจ” จะดีขึ้นมาได้มันอยู่ที่การฝึกฝน ใจเราน่ะ อยู่ที่การฝึก อยู่ที่การประพฤติปฏิบัติ

ตักน้ำใส่ตุ่ม ทุกวันๆ ก็เต็มตุ่ม จะได้ไม่ได้ก็พยายามให้มีการกระทำไว้ ต้องเต็มได้สิ ต้องเป็นได้ เป็นได้! เพราะตัวอย่างมี พระพุทธเจ้าก็คน นางอุบลวรรณาเห็นไหม ก็เป็นพระอรหันต์นะ เป็นเอตทัคคะทางหนึ่งด้วย มีมากมาย คนทั้งนั้นเลย เราก็คน ทำไมเราทำไม่ได้ เราต้องทำได้สิ ถ้าอย่างนี้ปั๊บ มันก็มีกำลังใจบ้าง ล้มนะ ถ้าใจอ่อน ใจคิดแต่จะถอยนะ พอเริ่มคิดเท่านั้น มันผลักเลย เจ้าวัฏจักรยุแหย่เลย อันนี้ถูกต้อง คิดเข้าไปเลย

ถ้าลองได้แว็บ หน่อยเดียวเท่านั้นล่ะ ทันทีเลย ฉะนั้นพอภาวนานี่ ถึงต้องทำแบบคนโง่ไง ก้มหน้าก้มตาทำอย่างเดียว ก้มหน้าก้มตาทำ อย่าคิด ถ้าเริ่มคิดแล้วมันจะอ่อนแออีก ทุกข์นะ.. เมื่อยนะ.. ลำบากนะ.. ไม่ไหวนะ.. เหมือนคนจะเข้าป่าไง พอเหลียวเข้าไปในป่าก็ถอดใจแล้ว อยู่ในเมืองดีกว่า อยู่ในเมืองมีคนช่วย มีที่พึ่ง มีเครื่องอำนวยความสะดวกมากมาย นั่นล่ะพออยู่ในเมือง (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)