เทศน์เช้า วันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๕๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เวลาพวกเราปรารถนา เห็นไหม เราประพฤติปฏิบัติกันเราอยากได้ความสุข แล้วเราอยากได้ความสุขเราก็ไปติดสุข ทำไมธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ให้ติดสุขล่ะ? ให้พ้นจากความสุขและความทุกข์ ความสุข ความสุขมันคือความทุกข์อันหนึ่งนะ ความสุข พวกซาดิสก์เขามีความสุขของเขา มันเป็นซาดิสก์มันจะมีความสุขได้อย่างไร?
นี่ก็เหมือนกัน ความสุขก็คือความทุกข์อันหนึ่ง คือความพอใจ ความสุขมันเป็นความพอใจ ถ้าใจมันพอใจมันก็เป็นความสุข ถ้ามันไม่พอใจมันก็เป็นความทุกข์ ความสุข ความทุกข์มันอันเดียวกัน เพียงแต่ว่ามันพอใจหรือไม่พอใจ มันเข้าไปยึดมั่นถือมั่น แล้วถ้ามันไปผลักไส เห็นไหม ในการประพฤติปฏิบัติ เจ้าคุณอุบาลีพูดเอาไว้อยู่ในหนังสือของหลวงปู่แหวน ไปอ่านสิ เราไปอ่านเจอเข้า เพราะเจ้าคุณอุบาลีเป็นคนวางรากฐานในการประพฤติปฏิบัติ ท่านบอกเลยนะ
ปริยัติกับปฏิบัติห่างกันราวฟ้ากับดิน
ห่างกันราวฟ้ากับดินนะ เจ้าคุณอุบาลีเป็นนักปราชญ์ในทางการศึกษานะ ท่านเป็นเจ้าคณะภาค แล้วท่านเป็นคนวางการศึกษาของประเทศไทยนะเจ้าคุณอุบาลีเนี่ย แล้วเทศน์เก่งมาก แต่เวลาหลวงปู่เจี๊ยะเล่าให้ฟัง หลวงปู่เจี๊ยะเล่าให้ฟังว่าอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง หลวงปู่มั่นเอาเจ้าคุณอุบาลี นี่เกิดมาทุกข์นะ เกิดมาทุกข์นะ คือเจ้าคุณอุบาลี เพราะหลวงปู่มั่นท่านปรารถนาพุทธภูมิ หลวงปู่เสาร์ปรารถนาพระปัจเจกพุทธเจ้า
นี่เจ้าคุณอุบาลีก็ปรารถนาพุทธภูมิเหมือนกันถึงได้มีปัญญาอย่างนั้นไง แล้วขณะที่สร้างสมบุญญาธิการ เป็นนักวิชาการวางการศึกษาเพื่อผลประโยชน์ทางโลกไง แต่นี้หลวงปู่มั่นท่านก็ปรารถนาพุทธภูมิเหมือนกัน นี่เพราะหลวงปู่เจี๊ยะท่านเล่าให้ฟัง ท่านอยู่ในเหตุการณ์ด้วย
หลวงปู่มั่นเอาเจ้าคุณอุบาลีอยู่ในโบสถ์วัดเจดีย์หลวง พยายามพูดให้ละพุทธภูมิให้ได้เพื่อจะมาประพฤติปฏิบัติ นี้คือคำพูดคำเล่าของหลวงปู่เจี๊ยะ แล้วเราก็ไปอ่านในประวัติหลวงปู่แหวน ประวัติหลวงปู่แหวนไปดูได้ ที่เป็นเทศน์ของเจ้าคุณอุบาลี มีรูปท่านเจ้าคุณอุบาลีด้วย บอกว่าเทศน์ไปเรื่อย แล้วท่านอธิบายถึงปริยัติไง กับปฏิบัติว่ามันห่างกันราวฟ้ากับดิน
นี้ถ้าเราประพฤติปฏิบัติไป เราศึกษา เห็นไหม ศึกษามันเป็นทฤษฎี ไม่ใช่ปฏิเสธปริยัตินะ เราไม่เคยปฏิเสธธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราไม่เคยปฏิเสธความร้อนของอากาศของแดด เราไม่เคยปฏิเสธ เราไม่เคยปฏิเสธความร่มเย็นของลมพัด ความร่มเย็นของอากาศเย็น เราไม่เคยปฏิเสธนะ ร้อน-เย็นมันเป็นธรรมชาติ เป็นอากาศ เรายอมรับความจริงทั้งนั้นแหละ แต่คนที่ไปขัดใจกับความร้อนความเย็นอันนั้น
นี่สิ่งที่เราศึกษามาแล้วมันเป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า ท่านบอกร้อนอย่างนั้น เย็นอย่างนั้น แต่เราเป็นเด็กๆ ไง เราเป็นเด็กๆ เราไม่เข้าใจสภาวะแบบนั้น แล้วเราไปยึด เหมือนเด็กที่มันไม่ได้ดั่งใจมันเลย มันจะร้องไห้งอแงมาก อย่างนั้นๆๆ มันจะเอาแต่ตามใจมัน เพราะมันได้รับการฝึกฝนมาอย่างนั้น จิตใจของเขาไปยึดมั่น ความรู้สึกอย่างนั้นคือความรู้สึกของเขา แต่มันมีความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนไปกว่านั้น
ในการประพฤติปฏิบัติ เราศึกษาปริยัติเราต้องศึกษาจริงๆ เวลาปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติจริงๆ แต่อย่าไปคาดหมาย ต้องวางให้หมดไง ต้องวางสิ่งต่างๆ ให้หมด แล้วมันจะเกิดอะไรให้มันเกิดเอง แต่วางผลคือวางให้หมด วางผลคือวางสิ่งที่อยากได้ อยากเป็น แต่สิ่งที่การกระทำคือเหตุ เหตุคือคำบริกรรม เหตุคือสติ อย่างนี้วางไม่ได้ เราต้องอยู่ที่เหตุ แล้วมันจะเป็นอย่างไรให้มันเป็นไปสิ อย่าไปวิตกกังวล มันจะเป็นอย่างนั้น มันจะเป็นอย่างนั้น
หรือถ้ามันออกนอกลู่นอกทาง เราขับรถไปนะ เราขับรถไปบนถนน ถนนถ้ารถมันติด มันอะไรมันไปไม่ได้หรอก มันขวางอยู่ เราก็เลาะไป ลัดไป แล้วถ้าเราเลาะไป ลัดไปมันก็เป็นไปไม่ได้ เห็นไหม เกิดถ้าเบรกหรือยางเราเสีย เราออกลงข้างทางไป รถเขาบอกให้วิ่งบนถนน แล้วรถของเรามันแฉลบลงข้างทางเพราะยางมันแตก แล้วบอกให้วิ่งไปบนถนน แล้วจะวิ่งอย่างไรล่ะ? มันก็ต้องเอารถขึ้นจากถนนใช่ไหม? เหตุการณ์ที่ประพฤติปฏิบัติไป ถ้าเหตุการณ์เกิดขึ้นกับใจที่มันต่างจากข้อเท็จจริงไง มันต่างจากปริยัติที่เราศึกษามาเป็นอย่างนั้น อย่าไปวิตกกังวล
นี่เราขับมา รถเราขับมามันจะเกิดอุบัติเหตุก็ได้ มันจะเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นมาก็ได้ ถ้าเกิดเหตุการณ์ต่างๆ เห็นไหม อย่างเช่นเบรกไม่ดี ยางไม่ดี ไฟไม่มี เครื่องติดไม่ได้ หรือมันกระตุก มันไปไม่ได้เราก็ซ่อม เราก็รักษาของเราไป แต่โดยหลักรถก็ต้องวิ่งไปบนถนน ถ้ารถวิ่งบนถนน นี่รถที่มันตกข้างทาง รถที่มันซ่อมมันตกข้างทาง ไอ้อย่างนั้นมันห้ามมีเว้นไหม? ห้ามไม่ให้เกิดได้ไหม? ห้ามไม่ให้เกิดไม่ได้หรอก มันเป็นเพราะความประมาทของคน มันเป็นเพราะอุบัติเหตุ มันเป็นเพราะว่ารถเรามันไม่สมบูรณ์ มันบกพร่อง
นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติของเรามันบกพร่องในอะไรบ้างล่ะ? บกพร่องในสติ บกพร่องในความตั้งใจ นี่ถ้าเราอยู่ในเหตุการณ์ เครื่องยนต์ดี รถดี คนขับดี เราขับไปบนถนนที่เราไม่มีความประมาท มันต้องถึงเป้าหมายใช่ไหม? ถ้ามันถึงเป้าหมายเราก็รู้เอง อุบัติเหตุเกิดเราก็รู้นะ ความผิดพลาดไปในหัวใจเราก็รู้ สิ่งที่รู้เราอย่าไปทดท้อ อย่าไปถอนใจสิ มันเป็นธรรมดา ก็วาสนาเราเป็นอย่างนี้
นี่เขาขับมาเป็นปกติ เห็นไหม พอเราขับมา สิ่งใดมันวิ่งตัดหน้า สิ่งใดมันเกิดอุบัติเหตุกับเรา มันเกิดอุบัติเหตุกับเรา กรรมของเขา กรรมของเรา กรรมของสัตว์ กรรมของเรา กรรมของทุกๆ คน มันมีกรรมมาแต่ละบุคคล ทีนี้กรรมแต่ละบุคคล ไอ้อย่างนี้มันไม่มีในตำราไง ในพระไตรปิฎกไม่บอกนะ ว่ารถตกข้างทางเอาขึ้นอย่างไรเขาไม่ได้บอกหรอก แต่เขาบอกให้รถวิ่งไปบนถนน นี่มัชฌิมาปฏิปทาบนถนน แต่รถเราตกข้างทางเราทำอย่างไร? ตกข้างทางมันเป็นประสบการณ์ของเรา
นี่ครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติมา มันต้องมีสมบุกสมบันมาอย่างนี้ ทีนี้การสมบุกสมบันเวลาพูดนี่รู้เลยนะ เอ๊ะ อ๋อ รถคันนี้ยางแบน ถ้ายางแบนนี่เอ็งไปเติมลมสิ เติมลมก็หาย แค่นี้หรือ? ตอบแค่นี้? ใช่ รถยางแบนไง มันเกิดยางแบนรถมันไปไม่ได้ นี่เวลากำหนดพุทโธไป พุทโธไปมันอั้นตู้ มันไปไม่ได้ หรือเวลากำหนดภาวนาอบรมสมาธิ ภาวนากำหนดไปแล้ว ตามสติไปแล้วคิดไม่ทันมัน มันฉุดกระชากลากไปต่างๆ มันเป็นไปได้ทั้งนั้นแหละ
นี้มันเป็นไปได้ มันก็อยู่ที่ว่า สิ่งที่ว่าอย่างเช่นถ้าเรามีฐานะหน่อย เราก็ถอยรถป้ายแดงมามันก็สมบูรณ์หน่อย มันก็ไปได้ไกล เราไม่มีฐานะ เราไปซื้อรถเก่ามา มือ ๒ มือ ๓ มา เป็นมือที่ ๑๐ มือที่ ๑๐ มารถมันก็ชำรุดมาแล้ว เห็นไหม เราก็ซ่อมของเราไป เพราะวาสนาคนไม่เหมือนกัน เขาจะถอยป้ายแดงก็เรื่องของเขา เราจะเอามือที่ ๒๐ มือที่ ๑๐๐ ก็เรื่องของเรา ก็ยังมีรถไปเว้ย เรายังทำของเราไปได้ เรายังมีศรัทธา เรายังเชื่อในศาสนา เรายังเห็นคุณงามความดีของใจ ถ้าเราเห็นคุณงามความดีของใจ เราก็ตั้งใจทำของเรา
ตั้งใจทำของเรานะ ทุกข์-สุขของเรา การประพฤติปฏิบัติของเรา แต่เราไม่คิดกันอย่างนั้น นี่เศร้าใจตรงนี้แหละ เศร้าใจที่ว่าเรานี่รถมือที่ ๑๐๐ แล้ว แล้วไปเห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกมันเป็นรถป้ายแดง มันจะให้เหมือนกันหมดเลยไง จะให้รถของเรา จะให้อำนาจวาสนาเราเหมือนพระไตรปิฎกนะ พระพุทธเจ้าบอกต้องทำอย่างนั้นๆ เราก็เอารถที่มันผุแล้วนะ ทำไมรถหนูผุล่ะ? ทำไมรถป้ายแดงมันเอี่ยมเลยล่ะ? ทำไมของเขาสีมันเงาวับเลย นี่สนิมมันจะลอกหมดแล้ว
ไอ้อย่างนี้มันเป็นเรื่องธรรมดา มันเรื่องธรรมดานะ เราศึกษา นี่ธรรมดานะ รถมันก็ออกมาจากป้ายแดงก่อน แล้วมันก็มือ ๒ มือ ๓ เขาก็ผ่อนถ่ายกันไป นี่การกระทำของเราเราสร้างสมมาอย่างไร? ถึงที่สุดแล้วนะพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ป้ายแดงเหมือนกันหมดนะ การเกิดปฏิสนธิจิต ความรู้สึกของเรานี่ป้ายแดงเหมือนกันหมดนะ แต่เวลาใช้ไปแล้วๆ มันสมบุกสมบันไปมันเจออะไรบ้างไง
หัวใจของเรา ความทุกข์ของเรามันสมบุกสมบันไป ไม่ใช่ว่าเขามีป้ายแดง เราไม่มีป้ายแดง ถ้าเข้าไปถึงใจอันเดียวกันนะ สมาธิ ความรู้สึกอันเดียวกัน สุข-ทุกข์ต่างกัน คือมันจะลึกจะตื้นแตกต่างกันไป เราตั้งใจทำของเรา เราอย่าขวางไป ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม สมควรแก่ธรรมมันจะขวางๆ เพราะกิเลสเรานะ
กิเลสเรานี่ เห็นไหม ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้น ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น? นี่ครูบาอาจารย์ท่านว่าทำไมถึงต้องเป็นอย่างนั้น? เป็นอย่างนั้นเพราะท่านถึงเป้าหมาย ท่านเคยทำของท่าน นี่เราขับรถนะ เราขับรถ เราจะซ่อมรถ ทำอย่างไรเราก็ไม่มีความชำนาญเท่ากับช่างหรอก ทำอย่างไรเราก็ไม่ชำนาญงานช่างที่เราซ่อมนะ แล้วช่างซ่อมมันยังมีช่างซ่อมแต่ละแผนก เห็นไหม ความชำนาญของแต่ละแผนกเขาก็ต่างกัน
นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราขับรถ เราจะซ่อมรถของเรา ซ่อมรถของเราเพราะมันเสียหายเราก็ซ่อมของเรา เราไม่ใช่ช่าง เราไม่ใช่ช่างนะ เราไม่ใช่อาชีพซ่อมรถเราถึงได้ชำนาญแบบเขา เห็นเขาชำนาญนะ เขาทำอะไรพึ่บพั่บๆๆ เสร็จแล้ว เราจะทำได้อย่างเขา เราทำไม่ได้หรอก แต่เราซ่อมของเราได้นะ ถ้ามันเสียหาย เรารู้ว่าตรงนี้มันเสีย มันไม่ผ่านมาเราต่อได้ นี่สายไฟขาดเราก็ต่อได้ เบรกมันชำรุดเราซ่อมแซมของเราได้ พอประคองตัวของเราไปไง
นี่ไม่ต้องไปคาดหมายถึงว่าจะต้องทำได้แบบที่ต้นแบบ ต้นแบบท่านเป็นจริตนิสัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระไตรปิฎกเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูนะพวกเราเข้ากัน เราศึกษาธรรม พระอรหันต์ต้องมีความสุขมาก ต้องนิ่มนวลมาก เราก็สังเกตครูบาอาจารย์ แล้วครูบาอาจารย์ กิริยานี่มันไม่เหมือนในตำราเลย ไม่เหมือนหรอก แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์กับลูกศิษย์ที่ปฏิบัติด้วยกัน ใจถึงใจนะ
นี่เขาไม่ดูที่นั่น เขาดูเนื้อหาสาระ เวลาธรรมะออกมามันสะเทือนใจเราไหม? แล้วสิ่งที่เราสะดุดในหัวใจเรา สิ่งที่หัวใจเรามันมีปัญหาท่านแก้ไขเราได้ไหม? ถ้าท่านแก้ไขเราไม่ได้ ท่านจะเป็นครูบาอาจารย์เราได้อย่างไร? นี่ครูบาอาจารย์เขาดูที่ตรงนั้น ดูคุณสมบัติ ดูคุณธรรม ดูคุณธรรมในหัวใจ นี่กิริยาท่าทางท่านจะกระด้างกว่าเราก็ได้ จะไม่เหมือนเราก็ได้ เพราะอะไร? เพราะสิ่งนี้มันเป็นอำนาจวาสนาแต่ละบุคคล
ดูสิดูสัตว์เดรัจฉานแต่ละชนิด เห็นไหม ความเป็นอยู่ก็ไม่เหมือนกันนะ ถึงเป็นชนิดเดียวกัน นิสัยเขาก็ไม่เหมือนกันนะ ดูสุนัขบางตัวใจมันก็ดี บางตัวพาลนะพาลจริงๆ สุนัขถ้ามันพาลมันกัดเขาทั่วไปหมดเลย ถ้าสุนัขที่มันดีนะมันเป็นสุภาพบุรุษเลย มันเปิดโอกาสให้กินก่อน มันดูแลลูกน้องมัน นี่มันเป็นไปทั้งนั้นเลย แล้วใจเราน่ะใจเรา เราไปยึดมั่นคงยึดตายตัวไง ตายตัวว่าต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้น อันนี้นะทำให้เราปฏิบัติยาก
เวลาหลวงตาท่านจบมหานะ นักธรรมเอกจบมหาด้วย แล้วอยากประพฤติปฏิบัติ นี่ไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านก็ค้นคว้าของท่าน ท่านศึกษาด้วยตัวท่านเอง แล้วท่านประพฤติปฏิบัติโดยตัวท่านเอง ท่านมีประสบการณ์จริง เห็นไหม เวลาหลวงตาไป นี่คำพูดอย่างนี้ ถ้าคนมองแล้วมันเป็นคำพูดธรรมดาๆ นะ แต่ถ้าเราพูดถึงคนที่รู้จริงแล้วสอนมันซึ้งมากนะ
มหา มหาก็เรียนมาเยอะนะ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่ดูถูกนะ ต้องเคารพบูชา นี่เคารพบูชาเอาไว้ในลิ้นชักก่อน การศึกษามาเก็บไว้ในลิ้นชักก่อนนะ แล้วปิดไว้ แล้วเอากุญแจลั่นไว้นะ เวลาประพฤติปฏิบัติให้มันเป็นตามข้อเท็จจริงในหัวใจ อย่าให้ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นวิปัสสนึก มานึก มาโน้มนำไปก่อน การประพฤติปฏิบัติมันจะเตะ มันจะถีบกัน มันจะขัดแย้งกัน ทำให้การประพฤติปฏิบัติมันยากขึ้นไปอีก เห็นไหม นี่พ่อแม่อยากให้ลูกทำงาน อยากให้ลูกทำงานได้สะดวกสบาย แต่ลูกมันไม่รู้เรื่อง มันก็เอาทิฐิมานะอันหนึ่งไปเปรียบเทียบๆ มันเลยทำงานยากขึ้น
ทิฐิมานะที่เห็นมาคือเรียนมา เรียนธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เรารู้ขึ้นไปเราก็ยึดๆๆ มันจะทำให้ทำอะไรขัดแย้งกันไปหมดเลย นี่ให้วางไว้ เอาความรู้สึก เอาการศึกษามานี่เอาไว้ในลิ้นชัก แล้วปิดไว้ แล้วลั่นกุญแจไว้ แล้วให้ประพฤติปฏิบัติไปตามข้อเท็จจริงของหัวใจ สมาธิก็เป็นสมาธิจริงๆ ปัญญาก็เป็นปัญญาจริงๆ การชำระล้างก็เป็นการชำระล้างจริงๆ ถึงที่สุด การประพฤติปฏิบัติที่รู้จริงกับธรรมที่เรียนมาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันจะเป็นอันเดียวกัน
ถึงที่สุดสิ่งที่เรียนมานี่มันเป็นความจริง แต่เพราะกิเลสตัณหาของเรา แต่เพราะวิตกวิจารของเรา แต่เพราะความคาดหมาย ความยึดมั่นถือมั่นของเรา มันผิดตรงนั้น มันผิดตรงนั้นคือเราไปเอาผลก่อนไง อย่างเช่นเรานี่เราไม่มีเงินเลย เราอยากรวยเป็นเศรษฐีร้อยล้านพันล้าน เราจะเขียนตัวเลขในกระดาษได้เลยว่าเราจะปรารถนา ๑ พันล้าน ก็เขียนตัวเลขได้เลย แต่เงินไม่มี
นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราประพฤติปฏิบัติ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษามานี่รู้ไปหมดเลย แต่ของเรายังไม่เกิด เห็นไหม ของเรายังไม่เกิด นี่แล้วเมื่อไหร่มันจะได้พันล้าน ไอ้บาทหนึ่งยังไม่มีเลยแล้วจะเอาพันล้าน มันวิตกวิจาร เครียดตายเลยนะ แต่ช่างมัน เราทำประสาเราไป เราทำธุรกิจของเราไป เราทำงานของเราไป มันจะได้หรือไม่ได้ก็ช่างหัวมัน เราทำสบายนะทำงานเพื่องาน เสร็จแล้วถ้ามันผลตอบแทนมามันก็เป็นสภาวะแบบนั้น
แล้วมันก็อยู่ที่วาสนาของคน คนเป็นเศรษฐีพันล้านก็ได้ คนทำแล้วประสบความสำเร็จ ๕๐๐ ล้านก็ได้ คนสำเร็จล้าน ๒ ล้าน มีพอใช้พอจ่ายก็ได้ นี่อนาคตข้างหน้ามันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ในการประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม ประพฤติปฏิบัติของเรา ในปัจจุบันหน้าที่การงานของเราอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเราทำหน้าที่การงานของเรา แล้วหน้าที่การงานของเรามันสมบูรณ์ทั้งหมด ผลมันต้องออกมาเองไง
ผลมันจะออกมาเองนะ ปริยัติ ปฏิบัติ หรือเราไปศึกษากับครูบาอาจารย์มา ถ้าครูบาอาจารย์ท่านปริยัติหรือปฏิบัติไง คือฟังมา จำมา สัญญาจากครูบาอาจารย์มา พูดได้ทั้งนั้นแหละ พูดได้แต่มันตายตัว นี่มันตายตัว พูดเหมือนตายตัว เหมือนวิทยาศาสตร์ แต่ถ้าเป็นธรรมนะมันพูดไม่ตายตัว ผลนี่มันตายตัวเป็นแบบนี้ แต่ของคนที่ไปจบมันไม่ตายตัว มันแบบว่ามันไปตามสิ่งที่มันสมดุลกัน
ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
มันเปลี่ยนแปลงได้ อย่างเช่นเทวดาของชาวพุทธ เทวดาของชาวพุทธ เห็นไหม ศึกษาธรรมมา เวลาอยู่บนเทวดามันพัฒนาได้ เทวดาเลื่อนเป็นเทวดาที่สูงขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์มันไปอยู่ในสถานะนั้น พอจบอายุขัยอันนั้น มันหมดสภาวะนั้นมันก็กลับลงมาเลย กลับลงมาเลยคือเวียนในวัฏฏะเลย
แต่นี้เพราะการเวียนหมายถึงว่าเทวดาตาย หมดวาระคือเทวดาตายจากเทวดาก็ไปเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นสัตว์นรก เกิดเป็นอะไร แต่เทวดาที่ยังไม่ตาย ที่เลื่อนสถานะคือไม่ตาย แต่เลื่อนสถานะได้ เลื่อนสถานะคือว่าขณะที่มันศึกษาธรรมมันเลื่อนสถานะเลย เลื่อนสถานะคือว่ามันเปลี่ยนแปลงเลย แต่ถ้าไม่ได้ศึกษาธรรม เห็นไหม มันเป็นวิทยาศาสตร์ไง มันต้องหมดวาระ มันต้องตาย มันต้องเปลี่ยนแปลง มันถึงเป็นภพชาติที่เกิดตายๆ ไง นี่มันต่างกันตรงนี้ไง ต่างกันที่ว่าถ้าเป็นธรรมจริงๆ มันเลื่อนเปลี่ยนระดับ มันรู้จริง มันเปลี่ยนระดับ มันไม่ได้ตาย แต่ถ้าตายนะตายหมดโอกาสเลย
นี่เราเป็นธรรมตายๆ เราไปยึดให้มันตายตัวไง ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนั้น เราเลยทุกข์ เห็นไหม เราจริงๆ ของเรา เราตายตัวในเหตุคือเราตั้งใจ แต่ผลช่างมันเถอะ ช่างมัน ให้มันเป็นไปเอง กินข้าวกินน้ำนะเราอิ่มหนำสำราญ มันเป็นเอง ไม่ต้องไปตายตัวว่าต้องเป็นอย่างนี้ แล้วอาหารเราทำ เห็นไหม ถ้าไฟแก่ไฟอ่อนรสชาติมันยังเปลี่ยนแปลงเลย รสชาติของอาหาร ถ้าไฟพอดีมันจะกลมกล่อม ถ้าไฟอ่อนไป ไฟแก่ไป มันจะทำให้อาหารนั้นรสชาติมันเปลี่ยนแปลงเลย
นี่ก็เหมือนกัน ในการปฏิบัติมันละเอียดอ่อนขนาดนั้น นั่นเรื่องใจ เรื่องใจเรื่องละเอียดอ่อนมาก ศึกษาแล้วนะ ศึกษาตามข้อเท็จจริง ศึกษานี่ปริยัติ ศึกษานี่รู้จริงแล้ววางไว้ คำว่าวางไว้ ปฏิบัติไปเถอะ แล้วผิดถูกไปถามหนังสือไม่ได้นะ ให้มาถามอาจารย์นี่ อาจารย์ที่ท่านผ่านแล้วท่านจะอธิบายให้ฟัง ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ แล้วทำไปเรื่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ ถึงที่สุดนะเราจะรู้เอง เป้าหมายถึงกันหมด
พระอรหันต์เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน พระอรหันต์ต้องรู้เหมือนกัน รู้เหมือนกัน ทำเท่ากัน ความสะอาดบริสุทธิ์เหมือนกัน แต่อำนาจวาสนาบารมีต่างกันด้วยบารมีเล็ก บารมีใหญ่ คือสร้างสมมาเยอะ สร้างสมมาน้อยมันธรรมดา แต่เสมอกัน ฉะนั้น คำว่าเสมอกัน นี่ไปหาครูบาอาจารย์ ถ้าครูบาอาจารย์ท่านบอกเรา เราปฏิบัติไป เดี๋ยวเราจะทันครูบาอาจารย์ไง เราอาจจะแซงหน้าครูบาอาจารย์ไปด้วย เดี๋ยวจะกลับมาสอนอาจารย์ อย่างเช่นหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์เป็นอาจารย์หลวงปู่มั่นนะ แต่สุดท้ายทำไมหลวงปู่มั่นกลับมาสอนหลวงปู่เสาร์ล่ะ?
นี่ก็เหมือนกัน ปฏิบัติไปเถอะเดี๋ยวเราจะแซงครูบาอาจารย์ไป แล้วแซงจริงๆ ด้วย แซงให้เป็นธรรมของเรา สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์กับเรานะ เห็นไหม ปริยัติ ปฏิบัติ ห่างไกลราวฟ้ากับดิน ฉะนั้น เราไปศึกษาปริยัติ แล้วยึดที่ปริยัติอยู่ เราก็จะอยู่ที่ดินนี่ เราไม่สามารถสืบผลตอบสนองในการปฏิบัติที่ห่างราวฟ้ากับดิน เรายึดดินไว้ เรากลัวเราจะเสีย เราจะผิด เราจะพลาด เรายึดดินไว้ ความรู้สึกที่มันจะเป็นฟ้าที่อยู่ในหัวใจเรามันเลยไม่เกิดไง เห็นไหม เรายึดดินไว้ แต่เราสร้างไป ถ้าความรู้สึกเรามันจะเป็นฟ้า
นี่ปริยัติ ปฏิบัติ ห่างไกลราวฟ้ากับดิน เอวัง