เทศน์เช้า วันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ทั้งๆ ที่เป็นวัดของหลวงปู่ลีนะ กรรมฐานมันเริ่มต้นจากที่นั่น นี่ถ้าเริ่มต้นจากที่นั่นมันต้องความจริง ความจริงมันต้องเข้ากับความจริงสิ แต่ไปพูดความจริงทำไมมันขัดแย้งกับเขาล่ะ? มันขัดแย้งกับคนที่ไม่เป็นความจริงไง แต่คนที่เป็นความจริงเขาเห็นด้วยไหม? เขาเห็นด้วย เพราะการประพฤติปฏิบัติมันจะเป็นพิธีเฉยๆ แล้ว สิ่งที่ทำมันเป็นพิธีกรรม แล้วพอพิธีกรรมนี่คนเข้าไม่ถึงนะ แล้วเราไปพูดความจริงเข้า
คนที่ความจริงเพราะอะไร? เพราะสังคมมันมีหลายหลาก สังคมที่เขาทำมานะ สังคมที่เขาประพฤติปฏิบัติมานะ ดูสิเวลาเราไปเที่ยวหนองผือ ไปเที่ยวใหม่ๆ ไปหนองผือเพราะอะไร? เพราะรุ่นหลวงปู่มั่นมีไง หลวงปู่มั่นไว้ในสายเลือด เขาสวดมนต์หลายๆ ชั่วโมงเลยนะ แล้วพระไปนี่เขาเคยสัมผัสมากับของจริงแล้ว เขามาเจออย่างนั้นเขาก็แปลกใจ
แต่นี้เวลาไปพูด เห็นไหม ของจริงคือพวกอุบาสกที่อายุมากๆ เขามาขอกราบนะ ทุกคนขอกราบๆ มันเคยได้ยินได้ฟังมา มันเคยรู้จริงมา แล้วมันถึงกาลเวลามันไปตามกระแสโลก แล้วเวลาไปพูด เห็นไหม แต่เดี๋ยวนี้คนรุ่นใหม่ไง เพราะคนรุ่นใหม่มันเยอะขึ้นมาๆ การประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันจะเอาสะดวกสบายกัน เอาแต่ความเห็นของตัวเองไง แต่ไม่เอาความจริง
เอาความจริง ถ้าเป็นความจริงมันต้องเป็นความจริงของมัน ความจริงเข้ากับความจริง ถ้าของจริง เห็นไหม นี่เราเห็นกันไม่จริง เราเห็นเป็นสัญญาอารมณ์ เราเห็นโดยการคาดหมาย แล้วว่าสิ่งนี้คือปัญญา คือคนคิดไปเองไง คือคิดไปเอง ดูสิเวลาคนเขาถามกัน
วิมุตติสุขมันเป็นอย่างไร?
วิมุตติสุขมันไม่ใช่สุขเวทนา ไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ แล้วมันเป็นวิมุตติสุข มันเป็นวิมุตติสุขอย่างไร? นี่ขนาดคาดหมายมันยังคาดหมายไม่ได้ใช่ไหม? แต่เวลาทำความสงบ เราประพฤติปฏิบัติขึ้นไป พอจิตมันมีอาการเปลี่ยนแปลงนิดหน่อยก็คิดว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมๆ เพราะมันไปติด มันไปคาอยู่กับเปลือกหมด แล้วพอคาอยู่มันเป็นสัญญาอารมณ์ใช่ไหม?
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เวลาบรรลุธรรมขึ้นมาแล้ว นี่ตรัสรู้ธรรม นี่จะสอนใครได้หนอ จะสอนใครได้หนอ นี่เพราะอะไร? เพราะคำพูดเดียวกันแต่ความลึกซึ้งมันต่างกัน ความลึกซึ้งของธรรมนะ กับความลึกซึ้งของโลก
ความลึกซึ้งของโลก โลกคืออะไร? โลกคือหมู่สัตว์ แล้วสัตตะจิตมันข้อง พอจิตมันข้องจิตมันสัมผัสอย่างนั้น นี่จิตมันข้อง มันข้องกับความรู้สึกของตัวเอง นี่สัตตะเป็นผู้ข้อง สัตตะมันข้องไป ข้องกับความรู้สึก ข้องกับต่างๆ แต่ธรรมะมันพ้นออกไปจากความยึดติด ถ้าพ้นออกไปจากความยึดติดมันไม่เกี่ยวข้อง ไม่เกี่ยวข้องกับความรู้สึก เห็นไหม นี่ความคิดถึงไม่ใช่ธรรมไง ความคิดนี้ไม่ใช่ธรรมนะ เวลาจิตมันสงบขึ้นมา จิตสงบขึ้นมามันปล่อยความคิดเข้ามาทั้งหมด นี่จิตมันสงบเข้ามา แล้วเวลาใช้ปัญญา ปัญญามันทันกว่าเหตุ มันเป็นมรรค มรรค ๔ ผล ๔
มรรค ๔ ผล ๔ เวลาเป็นมรรคเวลาเป็นผลขึ้นมา มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ทำไมมันเป็นผลและมันไม่เป็นผลล่ะ? คำว่าเป็นผล มรรค ๔ ผล ๔ ผลของการประพฤติปฏิบัติ ผลของเหตุ ผลของการใช้ปัญญา เห็นไหม ยถาภูตัง ญาณทัศนะ ยถาภูตังมันเกิดญาณหยั่งรู้ไง นี่ยถาภูตังมันปล่อยมาแล้ว มันยังรู้ว่าปล่อยอีกต่างหากนะ แต่นี่มันปล่อยเพราะสัญญาอารมณ์ มันปล่อยเพราะเป็นเหตุ มันปล่อยในขั้นของสมถะ มันปล่อยตามความเป็นจริง
มันปล่อยตามความเป็นจริง แต่เพราะเราติดในโลกไง เราเอาโลกไปจับ แต่ปล่อยตามความเป็นจริง จริงของโลกไง จริงของโลก โลกคือตัวตน โลกคือหมู่สัตว์ มันจริงเข้ามา มันจริง มันปล่อยเข้ามา มันปล่อยเข้ามาพร้อมที่จะทำงานเท่านั้นแหละ มันปล่อยเข้ามาพร้อมที่จะทำงานโลกุตตรธรรม ถ้าพร้อมทำงานโลกุตตรธรรม ผู้ที่เห็นการปล่อยเข้ามามันรู้ว่าปล่อยมาเพื่อจะทำงาน ไม่ใช่ปล่อยมาเพื่อเป็นผลไง พอปล่อยมานี่มันนึกว่าเป็นผล มรรค ๔ ผล ๔ ไม่ใช่ผล ไม่ใช่ผลแล้วนิพพาน ๑ ทำไม?
มันเป็นผลของสมาธิไง ผลของนักกีฬาที่ฝึกซ้อมมา เห็นไหม เวลานักกีฬาฝึกซ้อมมานี่เหงื่อไหลไคลย้อยนะ เหนื่อยมาก แต่ร่างกายแข็งแรงขึ้นมา นี่เวลาฝึกซ้อมขึ้นมา ผลของมัน ผลคือการเตรียมพร้อม นักกีฬาที่เขาเตรียมพร้อมขึ้นมาเขาต้องขึ้นไปแข่งขัน แข่งขันกับใคร?
นี่ธรรมกับกิเลส
ธรรมกับกิเลส สิ่งที่เป็นกิเลสคือมันต่อต้าน สิ่งที่เป็นกิเลสมันต่อต้าน มันยึดมั่นถือมั่นในหัวใจ แล้วถ้ามันไปปลดอันนั้น มันไปปลด มันไปแยกแยะ มันไปทำความสะอาด มันไปทำต่างๆ นี่ไงคนเราจะทำงานมันต้องมีบัญชีก่อน บัญชี เห็นไหม คนเปิดบัญชี เวลาเงินเดือนออกเขาโอนเข้าบัญชีเลย แล้วบัญชีเรามีการใช้จ่าย เรามีการเคลื่อนย้าย บัญชีมีการเคลื่อนย้ายนะ มันมีเพิ่ม มันมีลด ลดไปเพราะเราใช้จ่ายไป มันมีเพิ่มเพราะเราแสวงหาเข้ามา
นี่สมาธิก็เหมือนกัน ปัญญาก็เหมือนกัน ขณะกิเลสกับธรรมมันต่อสู้กันมันมีการใช้จ่ายนะ นี่เราไปรูดการ์ดต่างๆ มันต้องตัดยอดไปๆ บัญชีมันก็ต้องตัดยอดไป แต่เวลาเขาโอนเข้ามันก็มีการเพิ่มขึ้น นี่ขณะที่ทำมรรค ๔ ผล ๔ ไง ผลของสมถะ ผลของปัญญา ขั้นของผล ขั้นของสมาธิ เราต้องแสวงหามา เราเพิ่มมาๆ ในบัญชีเราต้องหาเงินเราสะสมเข้าไป เพิ่มเข้าไป เพื่ออะไร? เพื่อให้เรามีเครดิต เพื่อให้ทุกคนเขาต้องการทำธุรกิจกับเรา เพราะอะไร? เพราะเขาเชื่อมั่นเรา
แต่คนที่เข้ามาทำธุรกิจกับเรา เขาหวังผลประโยชน์กับเราก็มี เขาทำเพื่อธุรกิจร่วมกัน เห็นไหม คือผลประโยชน์ร่วมกันก็มี เขาหาผลประโยชน์ร่วมกัน คือว่าทำในสิ่งที่เป็นสัมมาทิฏฐิคือความถูกต้อง แต่ที่เขามาหาผลประโยชน์กับเราโดยที่เขาไม่มีสินค้า เขาไม่มีสิ่งใดๆ กับเราเลย แต่เขาหาผลประโยชน์ของเขาเฉยๆ คือเขามาใช้เล่ห์กลกับเรา
นี่เวลากิเลส เวลาทำนี่กิเลสมันสอดมาตลอด กิเลสมันสอดมาตลอด นี่คนทำการค้า คนทำธุรกิจรอบหนึ่ง ดูสิอย่างเช่นหุ้น เห็นไหม เวลาขาขึ้น-ขาลงมันต้องปรับตัวมันตลอดเวลา หุ้นมันมีขาขึ้นนะ ถึงจุดหนึ่งมันมีแรงต้านของมัน มีต่างๆ นี่การลงทุนมันมีสภาวะแบบนั้น แล้วการประพฤติปฏิบัติมันจะให้เรียบง่ายมา เราไม่ใช่ไปซื้อสินค้านี่ ซื้อสินค้าเราซื้อมามันก็จบนะ แต่สินค้าใช้สอยไป ดูอย่างเครื่องยนต์กลไกเขายังต้องบำรุงรักษาเลย
นี่สมาธิก็ต้องบำรุงรักษา สมาธิต้องมีนะ ถ้าสมาธิไม่มีนะความคิดมันเป็นความคิดของโลก ความคิดของสัตตะ เป็นผู้ข้อง ข้องในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรึก ตรึกแล้วเป็นสมบัติของเราไหม? ถ้าเป็นสมบัติของเรานะทุกข์มันต้องหมดไป แล้วเวลากิเลสมันขาดไปเป็นอกุปปธรรม อกุปปธรรมคือความคงที่ของมัน มันไม่แปรปรวนอีกแล้ว แต่เราศึกษามามันแปรปรวนไหม? ถ้าไม่แปรปรวนทบทวนทำไม? ถ้าไม่แปรปรวนมันลืมทำไม?
สิ่งที่ลืม เห็นไหม ดูสิเวลาลืม นี่ลืมในถนนหนทาง พระอรหันต์ลืมในสมมุติบัญญัติได้ สมมุติคือชื่อที่สมมุติขึ้นมา ชื่อสถานที่ ชื่อสัตว์ต่างๆ นี่สมมุติขึ้นมา
บัญญัติ บัญญัติคือสิ่งที่เป็นบัญญัติที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติขึ้นมา เป็นภาษาบัญญัติ ภาษาตาย บาลีเป็นภาษาที่ตายแล้ว ตายแล้วคือว่ามันไม่เปลี่ยนแปลงแล้ว บาลีเป็นสภาวะแบบนั้น นี่สมมุติบัญญัติ สมมุติบัญญัติมันท่องจำ มันศึกษา แล้วสมมุติบัญญัติมันเปลี่ยนแปลง สมมุตินี่เขาเปลี่ยนแปลงตลอดนะ
พระอรหันต์หลงในสมมุติบัญญัติ ไม่หลงในอริยสัจ อริยสัจคือความจริงที่เกิดขึ้นในหัวใจ สิ่งที่เกิดขึ้นในหัวใจ เวลาจิตมันออก จิตมันรับรู้ขึ้นมา มันกระเพื่อม มันจะเสวยอารมณ์ เห็นไหม พลังงานเฉยๆ พลังงานคือตัวจิต เวลามันจะคิดขึ้นมาเพื่อสมมุติ สมมุติว่าศัพท์มันคืออะไร? แล้วเราจะมาสื่อสารกับโลกภายนอกเขา ขณะที่จิตมันเสวยอารมณ์ ที่จะออกมาสมมุติศัพท์นี้มันมีสติพร้อมมา สติพร้อมมา เห็นไหม มันมีสติพร้อมมาในอริยสัจ นี่ถึงไม่หลงในอริยสัจ ไม่หลงในอริยสัจเพราะอะไร? เพราะทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค จิตมันกลั่นออกมาจากอริยสัจ ไม่หลงในสัจจะความจริงอันนี้ แต่ถ้ามันเสวยอารมณ์ออกมาเป็นสมมุติเพื่อสื่อสาร เพื่อแสดงธรรม เพื่อประโยชน์กับโลก สิ่งที่แสวงหาออกมานี่มันออกมาพร้อมกับจิต ออกมาพร้อมกับสติ จิตออกมาพร้อมกับสติสิ่งต่างๆ สตินี่ออกมาในอริยสัจ แต่สมมุติบัญญัติมันออกมาเพื่อหาข้อมูล ออกมาเพื่อหาสัญญาว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร? สิ่งนั้นเป็นอะไร? เห็นไหม
นี่สิ่งที่ไม่เข้าใจเพราะศัพท์ของโลก ดูศัพท์วัยรุ่นมันบัญญัติศัพท์ทุกวันเลย วัยรุ่นเขามีศัพท์ใหม่ๆ มา ผู้ใหญ่ยังงงนะ ผู้ใหญ่ที่อยู่กับโลกเขายังงงเลย นี่คืออะไร? นี่เป็นอะไร? แล้วเราบอกว่าจะให้รู้หมดๆ รู้หมดมันรู้โลกนอก-โลกใน
สิ่งนี้เป็นโลกนอก โลกนอกเหมือนกับความเป็นอยู่ของโลก โลกในนะ โลกในคือโลกทัศน์ โลกในคือมีสัตตะเป็นผู้ข้องนี่ สัตตะเป็นผู้ข้อง ในเมื่อมีโลกใน โลกในก็มีบัญชี ถ้าโลกในมีบัญชี นี่สะสมบัญชี แล้วแต่มันจะบวกมันจะลบ นี่ลบจนบัญชีมันไม่มีนะ ลบจนบัญชีนี่เราลบ เราถอนบัญชีหมดเลย สิ่งที่ถอนบัญชีหมดเลย เห็นไหม สิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ไม่มี แต่มันมีความรู้สึก มันมีความเป็นไป มันมีความจริง
นี่พูดถึงว่าความหยาบ-ละเอียดของสิ่งที่ประพฤติปฏิบัติทางโลก ถ้าโลกประพฤติปฏิบัติทางโลก นี่สัญญาอารมณ์ ความสร้างนั้นมันมหัศจรรย์ จิตนี้มหัศจรรย์มาก เวลามันทุกข์มันร้อนขนาดไหนนะมันก็ไม่เคยตาย แต่มันให้ผลนะ ให้ผลกับสิ่งที่เจ็บปวดแสบร้อนในหัวใจ เวลามันเป็นสุขนะ เวลามันเป็นสุขมันพอใจของมัน มันเป็นอามิสหมด
สิ่งที่เป็นอามิสนะ แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติ สุขเกิดจากการประพฤติปฏิบัติ สุขเกิดจากหัวใจของเราเอง ไม่ต้องอาศัยอามิส สิ่งที่อาศัยอามิสมันมีตัณหาความทะยานอยาก มันต้องการสิ่งใด มันปรารถนาสิ่งใด สมความปรารถนาก็เป็นความสุขเล็กน้อย อามิสไง อามิสคือต้องมีเหตุ เหตุให้มันได้เสพได้สมใจมัน มันจะมีความสุขชั่วคราวๆๆ ไป เห็นไหม แล้วจิตมันไปอิ่มตัวด้วยการกำหนดพุทโธๆๆ เข้าไป มันสุขโดยตัวมันเอง มันไม่ต้องอาศัยอามิส ไม่มีอะไรกระทบ
จิตหนึ่ง จิตหนึ่งมันเป็นสมาธิ เพราะอะไร? เพราะจิตหนึ่งมันมีภพ แต่ถ้าเป็นธรรมนะมันไม่มีจิตหนึ่ง เพราะเวลาเราใช้ปัญญากันว่ามรรค ๘ รวมแล้วเป็นหนึ่ง หนึ่งคือตัวตน หนึ่งคือสิ่งที่มันมรรคสามัคคีไม่ได้ สิ่งที่มรรคสามัคคีไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่หนึ่ง มันเข้าไปทำลายกัน เห็นไหม นี่กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์
จิตเป็นจิต พอจิตนี่ จิตวิญญาณที่มันรับรู้ความรู้สึก ความคิดกับความรู้สึกมันรับรู้กัน เห็นไหม จิตเป็นจิต นี่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สิ่งที่เป็นขันธ์ ๕ จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ นี่แล้วความรู้สึกมันปล่อยไป ปล่อยอันนี้ไปมันเป็นวัตถุอีกอันหนึ่ง สิ่งที่เป็นอันหนึ่งอันนี้ อันหนึ่ง อันนี้มันเป็นอกุปปธรรม อกุปปธรรมมันเป็นสิ่งที่พ้นออกไป พ้นออกไปจากโลกๆ ถ้าจิตเป็นโลกๆ จิตมันสื่อกันได้ จิตมันสื่อกันได้ เห็นไหม
ดูสิ เวลาพูดถึงมรรค ผล นี่ให้ค่ามาสิ แสดงมาให้มันรู้ว่าค่ามันขนาดไหน? มันเป็นไปอย่างไร? นี่ให้ค่ามา ความให้ค่ามามันก็เป็นโลก เห็นไหม มันเป็นโลกออกมาแล้ว มันมีให้ค่ามาต่างๆ แต่ขณะที่มันเป็นความจริงของมัน มันให้ค่ามันได้ไหม? มันให้ค่าไม่ได้ ยถาภูตังไง ยถาภูตัง ญาณทัศนะว่ารู้ไง
ญาณทัศนะว่ารู้นะ มันปล่อยแล้วกายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ มันปล่อยหมด ยถาภูตัง รู้ชัดๆ เลย อย่างที่เราเห็นสิ่งใดที่เราไม่เข้าใจ เราเห็นอยู่แต่เราพูดไม่ได้ เราเห็นอยู่หมดเลย เราพูดไม่ได้ ญาณทัศนะ พอมันรับรู้ของมัน ใช่ มันปล่อยหมดเลย มันขาดแล้ว นี่ยถาภูตัง ญาณทัศนะมันเกิดขึ้น สิ่งที่เป็นญาณทัศนะเกิดขึ้น นี่มันเป็นธรรมที่ละเอียดเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป
ในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าไม่รู้ไม่เห็นพูดไม่ได้หรอก ทีนี้สิ่งที่เขาฟังครูบาอาจารย์มา เห็นไหม เขาได้ยินได้ฟังมา แล้วเวลาได้ยินได้ฟังมามันก็มีข้อมูลของเขา แล้วมันไม่มีครูบาอาจารย์พูดได้อย่างนี้ไง มันพูดได้แต่สิ่งที่โลกเขาสื่อกัน สิ่งที่โลกสื่อกันมันแบบวิทยาศาสตร์ นี่มันเป็นปรัชญาชีวิตนะ ชีวิตของคนมันเข้าใจสิ่งต่างๆ มันอธิบายปรัชญาชีวิต มันก็เหมือนกับหนังสารคดี
หนังสารคดี เห็นไหม ดูสิเขาทำชีวิตของมนุษย์ เขาทำความเป็นอยู่ของโลก เขาทำสารคดีสัตว์ในแอฟริกา แล้วเขาเอาออกมาฉายให้เราดูเป็นหนังสารคดี เราเห็นเฉยๆ นะ แต่ถ้าเราเป็นเขาล่ะ? เราเป็นสิ่งที่เราไปกระทบล่ะ? ความทุกข์มันเกิดขึ้นมากับเรานะ เราเห็นเขาทุกข์เขายาก ดูสิสารคดีของคนทุกข์คนยากที่เขาทำมาออกทีวี เราเห็นแล้วเราสงสารไหม? เราสลดสังเวชไหม? นี่จิตมันรับรู้ จิตมันเป็นไป มันเป็นของโลก แต่ถ้าเราเป็นอย่างนั้นล่ะ? เราเป็นอย่างนั้นเราทุกข์ไหม? เราสลดสังเวชกับชีวิตเราไหม?
นี่สิ่งที่เราเห็น สิ่งที่เราเป็น เห็นไหม ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ถ้าธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมนี่มันเป็นสาธารณะ นี่มันเป็นปรัชญาชีวิต มันเป็นธรรมที่ว่าธรรมะเป็นสาธารณะ ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติไง แต่ถ้าเราเป็นเองล่ะ? เราเป็นเองมันเป็นความเป็นไปของเรา แล้วสิ่งที่เป็นเองมันเป็นในแง่ที่ดี แง่ที่ดีเกิดปัญญานี่โลกุตตรปัญญาแล้วมันขาดออกไป ขาดออกไป นี่มันเป็นลึกไปอีกชั้นหนึ่ง อีกชั้นหนึ่ง
ปรัชญาชีวิตของคน ปรัชญาชีวิตของคนที่เขารู้ เขาเห็น เขาเป็นไป นี้มันเป็นปรัชญาชีวิต แสดงธรรม พูดธรรมได้แตกฉาน แต่ถ้ามันไม่เป็นความจริง มันแยกแยะขั้นตอนความเป็นไปขณะที่มันเปลี่ยนแปลง ความเป็นไปขณะที่มันเปลี่ยนแปลง จิตมันรวมอย่างไร? สมุจเฉทปหานอย่างไร? มรรคสามัคคีอย่างไร? เขาพูดไม่ได้ พอเขาพูดไม่ได้ คนที่เขาเคยได้ยินได้ฟังมันฟังออกไง สิ่งที่ฟังออก นี่ขนาดคนที่ได้ยินได้ฟังนะ แล้วถ้าผู้รู้จริง คนที่เคยเป็นมันยิ่งเห็นชัดเจนมาก เห็นชัดเจนว่าสิ่งนี้มันเป็นไปไม่ได้
นี่จิตหนึ่งๆ จิตหนึ่งก็ขอนไม้ไง จิตหนึ่งคือสิ่งที่เป็นหนึ่ง เลขหนึ่ง เห็นไหม นี่เลขหนึ่ง แต่หลวงปู่มั่นบอกว่าต้องเป็นศูนย์ จิตศูนย์ จิตศูนย์จิตไม่มีค่า จิตไม่มีค่าไปเข้ากับเลข ๑ ก็เป็น ๑๐ ไปเข้ากับเลข ๙ ก็ ๙๐ แต่ตัวเลข เลข ๑ คือตัวตน ต้องศูนย์ จิตศูนย์ จิตศูนย์ด้วยอะไร? ศูนย์จากกิเลส แต่มันมีอยู่ไง ถ้าจิตหนึ่งมันผิด จิตหนึ่งคือภพ จิตหนึ่งคือภวาสวะ จิตหนึ่งคือสถานที่ จิตหนึ่งคืออวิชชา แต่ถ้ามันเป็นศูนย์ ศูนย์จากกิเลส ไม่ใช่ศูนย์จากตัวมันเอง
ศูนย์มีค่ามาก เลขศูนย์ ๒ ตัวเป็นร้อย ๓ ตัวเป็นพัน ๔ ตัวเป็นหมื่น เลขศูนย์หลายๆ ตัวเข้ามันเพิ่มเข้าไป นี่มรรค ๔ ผล ๔ มันเพิ่มเข้าไปๆ เพิ่มกับตัวเราเองเข้าไป เห็นไหม แล้วมันมีคุณค่ามาก มีคุณค่ากับตัวเรา นี่ธรรมที่ละเอียดไง เราว่าเป็นจิตหนึ่งๆ จิตหนึ่งเป็นคุณประโยชน์ แล้วจิตศูนย์ล่ะ? มันศูนย์จากอะไร? ถ้ามันศูนย์โดยตัวตน มันศูนย์แบบมี ศูนย์แบบทุกข์นะ ศูนย์แบบปฏิเสธโลก ปฏิเสธโลกไม่เป็นความจริง
นี่มันถึงว่าคนจริงถึงเข้าของจริง ธรรมะจริง เห็นไหม สิ่งที่เป็นความจริงเข้ากับความจริง เอวัง