เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๑ มิ.ย. ๒๕๕๑

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราชาวพุทธนะ ชาวพุทธพระพุทธเจ้าสอนไว้แล้วนะ

“ธรรมะย่อมชนะอธรรม”

ธรรมะนี่สุดยอดเลย ธรรมะคือความถูกต้อง ความถูกต้อง ความดีงาม ศีลธรรม จริยธรรมต้องชนะทุกๆ อย่างเลย แต่กว่าจะชนะ เห็นไหม กว่าจะสู้ได้ เหมือนพวกเรานี่ทำดี ทุกคนจะพูดเลยว่าทำดีไม่ได้ดี แต่ทำดีของใครล่ะ? เด็กๆ ทำดี เอามาวัดนี่บางคนนะเด็กๆ ต้องไปงัดเอามาจากที่นอน มันก็ว่า อู๋ย อันนี้เป็นสุดยอดนะ แต่พ่อแม่หามานะ หาของหาทุกอย่างมาให้ลูกให้ทำบุญ กว่าจะไปงัดมันออกมาจากที่นอนมันยังบอกว่างานใหญ่เลย

นี่ก็เหมือนกัน ทำดีของใคร? เราว่าทำดีๆ ทุกคนบ่นว่าทำดี ไปดูครูบาอาจารย์สิ นี่เราไปหาอาจารย์จันทร์เรียนมา อาจารย์จันทร์เรียนบอกว่าสมัยอยู่กับหลวงปู่ชอบ เดินขึ้นเขาไป ๓ วัน น้ำก็ไม่มีจะกิน กินน้ำปัสสาวะตัวเอง น้ำปัสสาวะตัวเอง น้ำเหงื่อตัวเองนี่คั้นออกมากิน ท่านบอกว่าต่อสู้กันมาขนาดนั้น แล้วมาเห็นการทำกันของพระปฏิบัติเดี๋ยวนี้ท่านบอกว่าเหมือนเด็กเล่นขายของนะ

นี่ทำดีของเรา พวกเราเห็นพระปฏิบัติก็ว่า อู้ฮู พระนี่เคร่งครัดมาก พระนี่เคร่งครัดมาก ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าไอ้นี่เด็กเมื่อวานซืน นี่ความดีของใคร? ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว แต่ความดีของใคร? แต่ดีของเรา เราดีแค่นี้เราก็ว่าเป็นความดีแล้ว เห็นไหม ส่วนใหญ่เกิดขึ้นมานี่ ความดีของกิเลสมันก็มีมากนะ ถ้าความดีของธรรม นี่ศีลธรรม จริยธรรม ศีลธรรมฝ่ายที่เป็นธรรมะต้องชนะอธรรม

ธรรมะต้องชนะอธรรม เห็นไหม ดูสิบอกว่าธรรมะของเขาๆ ธรรมะของโจร นี่เสียงข้างมากๆ เสียงข้างมากมันได้อย่างไร? นี่อำนาจมันได้มาอย่างไร? สุดท้ายมันก็แพ้ความจริง สิ่งที่แพ้ความจริง ความจริงคืออะไร? ความจริงคือความถูกต้องดีงามไง นี้เอาเสียงข้างมาก เอากฎหมายบังคับไง กฎหมายนี่นะ กฎหมายอำนาจรัฐ ถ้ามันจะใช้ได้ต่อเมื่อมันถูกต้องแล้วคนยอมรับ ถ้าไม่อย่างนั้นใช้ไม่ได้เลย กฎหมายอันไหนก็ใช้ไม่ได้

กฎหมายเอาไว้บังคับคนใช่ไหม? แต่คนที่ดีขึ้นมานี่มันเหนือกฎหมาย เห็นไหม ดูสิในการประพฤติปฏิบัติของเรา กฎหมายมีไว้บังคับใคร? ถ้ามีไว้บังคับ นี่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติไปแล้ว ธรรมและวินัย สิ่งที่เป็นวินัย สิ่งที่เป็นธรรม นี่สิ่งนี้มันเป็นสมมุติบัญญัติ สมมุติบัญญัติคนมันเขียนขึ้นมา เรานี่ประชาธิปไตยใช่ไหม? เราออกกฎหมายมา แต่เราก็เปลี่ยนแปลงกฎหมายได้ คนนี่เปลี่ยนแปลงกฎหมายได้ เพราะกฎหมายเราเป็นคนเขียนขึ้นมาเอง

ความดีของเรา ความดีของกิเลส ความดีของใคร? นี่สิ่งต่างๆ ถ้าเป็นความชอบธรรมมันอยู่ที่ไหนมันก็ดีนะ นี่ทองอยู่ที่ไหนมันก็ไม่กลัวไฟหรอก ไฟยิ่งเผาทองมันยิ่งสุกนะ มันจะไล่แต่ขี้ทองออกไป สิ่งที่ไม่ดีออกไป แต่ถ้าเป็นความชั่วมันไม่กล้าเผชิญสิ่งใดๆ เลย อ้างกฎหมาย อ้างแต่สิ่งที่เป็นสมมุติเราบัญญัติขึ้นมา แล้วดูสิ ดูคนที่เป็นนักกฎหมาย เห็นไหม นักกฎหมายที่ดีเขาต้องตีตามบทกฎหมาย แล้วต้องทำให้ถูกต้องศีลธรรม ถูกต้องกฎหมาย ถูกต้องศีลธรรม แต่ถ้านักกฎหมายเอากฎหมายไว้หากิน กฎหมายนี่หาเงินได้ทั้งนั้นแหละ

กฎหมาย เห็นไหม ดูสิบริษัทใดก็ได้เอากฎหมายยึดมาได้เลย บริษัทใช้เล่ห์หน่อยเดียว ยึดมาด้วยเล่ห์กล เขาไม่ต้องลงทุนอะไรเลยนะ เขาใช้เล่ห์กลของเขา เขายึดบริษัทของเราไปต่อหน้าต่อตานะ อ้างกฎหมายอ้างกัน แล้วมันถูกต้องตามศีลธรรมไหม? เรารู้ๆ อยู่ว่าเราไปโกงเขามา เรารู้อยู่ว่าเราไปยึดของเขามา นี่มันจะถูกต้องตามศีลธรรมไปได้อย่างไร?

มันไม่ถูกต้องตามศีลธรรมหรอก แต่ก็อ้างกันไป นี่มันเรื่องของโลกๆ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ นี่เราชนะศึกหมื่นแสนนะ คูณด้วยพันคูณด้วยแสน มันก่อกรรมก่อเวร การชนะตนเองสำคัญที่สุดนะ ถ้าการชนะตนเอง เห็นไหม ถ้าการชนะตนเองนี่เหนือธรรมวินัยไง เหนือธรรม เหนือวินัย เหนือกฎหมายหมดเลย

ความดีของเราเหนือกฎหมาย กฎหมายนี้เป็นเรื่องสมมุติเท่านั้นแหละ สิ่งที่เป็นสมมุติแต่เขายึดของเขา ยึดของเขาเพราะเขาโกงไง คนเราไม่มีสิ่งใดเลย จะเอาสิ่งนี้เป็นอาวุธ เอากฎหมายเป็นอาวุธ แต่ถ้ามันเป็นสิ่งที่ชอบธรรม อาวุธเราก็ต้องยอมรับ เราต้องยอมรับนะ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลย

“มนุษย์นี่โง่กว่าสัตว์”

นี่เราว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐๆ แต่โดยสามัญสำนึกมนุษย์นี่โง่กว่าสัตว์ สัตว์นี่ดูสิ ดูนกมันบินได้ตามอิสรภาพของมันนะ มนุษย์เกิดขึ้นมาต้องสร้างกติกาสังคม สร้างโซ่ตรวนไว้มัดตัวเองไง เพราะเป็นสัตว์สังคมใช่ไหม? สัตว์สังคมทำไมเอารัดเอาเปรียบกัน? เพราะมนุษย์มันฉลาด มนุษย์ฉลาดกว่าสัตว์ สัตว์มันใช้แต่กำลังนะ ดูสิที่มีเขี้ยว มันกัดกันด้วยเขี้ยว มันตะปบกันด้วยเขี้ยว มนุษย์นี่ใช้ปัญญา ใช้สมองหลอกหมดเลย หลอกจนหมดเนื้อหมดตัวเลย

มนุษย์นี่ร้ายมาก ถ้าคนทำชั่วนะมันทำได้มหาศาลเลย ด้วยความคิดมันต้มมันตุ๋น เราไม่ทันมันหรอก เราไม่ทันหรอก แต่ถ้าเป็นคนมีศีลธรรม เห็นไหม ดูสิเราดูลูกหลานเราสิ ลูกหลานเราถ้ามันมีการศึกษา ให้มันมีเชาว์ปัญญาขึ้นมา นี่สิ่งต่างๆ มันส่งต่อกัน ดูสิดูพระเรา เห็นไหม ตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานมา พระนี่ไม่ขาดช่วงนะ ถ้าพระขาดช่วง ดูสิลังกาไม่มีหรอก สยามวงศ์ ลังกาวงศ์ ทำไมต้องมาบวชกัน? พระนี่ไม่ขาดช่วงเลย

นี่ก็เหมือนกัน มนุษย์เรา เผ่าพันธุ์ของเราเราไม่ขาดช่วง เห็นไหม ลูกเด็กเล็กแดงให้มีการศึกษา แล้วถ้าผู้ใหญ่มันเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีล่ะ? เป็นแม่ปูนะ บอกเดินให้ตรงๆ เดินอย่างฉันเดินให้ตรง ก็มึงเดินไม่ตรง มึงเดินไม่ตรงแล้วบอกให้คนอื่นเดินตรงได้อย่างไร? แต่ถ้าเราเดินตรงขึ้นมา ดูสิดูการปกครอง ดูกษัตริย์เป็นมหาราชมีซักกี่องค์ นี่สิ่งที่สร้างสมขึ้นมามันมีกี่องค์ นี่สิ่งนี้มันยอมรับกันที่ไหน? มันยอมรับกันที่คุณธรรมนะ

ถ้าคุณธรรมความดี ทำดีมันอยู่ที่ไหนล่ะ? ความดีมันยอมรับขึ้นในหัวใจ การลงใจ ใจนี้มันลงนะ ดูสิเวลาพวกเราลงครูบาอาจารย์ลงที่ไหนล่ะ? เพราะท่านทำได้นะ เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่ จะพูดสิ่งใดก็แล้วแต่ท่านรู้หมดแล้ว เวลาครูบาอาจารย์เรากราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เองโดยชอบ เป็นสยมภูตรัสรู้เองโดยชอบ ตรัสรู้เองโดยชอบ แต่เจ้าลัทธิต่างๆ ตรัสรู้เองโดยไม่ชอบ ไม่ชอบที่ไหน? ไม่ชอบที่ตัวเองคิดว่าเป็นธรรมไง นี่เป็นธรรมๆ แต่มันไม่ชอบ ไม่ชอบเพราะอะไร? เพราะมันไม่ได้ทำสิ่งใดเลย มันปัดสิ่งสกปรกซ่อนไว้ในใต้พรม

นี่ก็เหมือนกัน ว่างๆ ว่างๆ ไม่มีเหตุไม่มีผลจะไปว่างได้อย่างไร? มันไม่ว่างหรอก ว่างเดี๋ยวมันก็ตีกลับ มันตีกลับตลอดเวลา มันไม่ชอบไง ไม่ชอบคือมันไม่มีเหตุไม่มีผล มันไม่มีสัจธรรม ไม่มีกิจจญาณ ไม่มีความเป็นจริงจากหัวใจของมัน แต่ถ้ามันเป็นความชอบนะ ความชอบมันมีเหตุมีผล

ดูสิเราโค่นต้นไม้ทั้งต้น เราขุดรากถอนโคนมันขึ้นมา เราอาบเหงื่อต่างน้ำขนาดไหน? แล้วเราโค่นต้นไม้ทั้งต้นเราทำขนาดไหน? แล้วการขุดการทำลายนั้นเราจะบอกคนอื่นไม่ได้ มันเป็นไปได้อย่างไร? โค่นต้นไม้ทั้งต้น มันล้มก็เห็นว่ามันล้มนะ ขุดรากถอนโคนมันก็เห็นว่าขุดรากถอนโคนมันนะ นี่ก็เหมือนกัน ในการภาวนา ในการกระทำของใจ ใจมันต้องมีเหตุมีผลสิ ว่างๆ ว่างๆ ว่างอย่างนี้มันว่างแบบฤๅษีชีไพรไง ว่างแบบไม่รับผิดชอบ ไม่ทำสิ่งใดเลย

นี่ไงคำว่าไม่ชอบ ไม่ชอบมันบอกเขาไม่ได้ ไม่ชอบนี่มันบอกเขาไม่ได้ เหมือนเราทำงานไม่เป็น เห็นไหม เรียนมาทั้งชีวิตนะ นี่เขาพูดประจำ เรียนมาทั้งชีวิตเอากระดาษใบเดียว ความรู้ไม่เอา แต่ในทางยุโรปเขาเอาความรู้กันนะ ใบประกาศไม่มีความสำคัญเลย สำคัญว่าคนนี้มีความรู้จริงหรือเปล่า คนนี้ทำได้จริงหรือเปล่า เขายอมรับกันที่คุณธรรม เขายอมรับกันที่ความรู้อันนั้น เขาไม่ได้ยอมรับที่แผ่นกระดาษนะ

สังคมของเรามันสังคมที่เอาแต่หน้าแต่ตากัน นี่เอาแผ่นกระดาษมาใส่กรอบมาไว้กัน แต่ความรู้ไม่มีเลย เห็นไหม ดูสิเราศึกษามา ศึกษาทางปริยัติ ปริยัติต้องทบทวนๆ ตลอดไป ในการปฏิบัตินะ พระอรหันต์หลงลืมในอะไร? พระอรหันต์หลงลืมในสมมุติบัญญัตินะ สมมุติที่เราคุยกันอยู่นี่พระอรหันต์หลงได้ เพราะอะไร? เพราะมีศัพท์ใหม่ๆ ตลอดเวลา เพราะเขาไม่รู้กับเราหรอก

ศัพท์ใหม่ๆ เห็นไหม พระอรหันต์หลงในสมมุติบัญญัติ คือไม่เข้าใจคำพูดที่เขาพูดกัน เด็กๆ เขาพูดไม่รู้เรื่องหรอก แต่พระอรหันต์ไม่หลงในอริยสัจ สัจจะความจริงในหัวใจ วิธีการ การกระทำ ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ ด้วยมรรคญาณมันตัดกันอย่างไรในหัวใจ มันตัด มันขาดออกไป อันนั้นไม่หลง ไม่หลงเพราะอะไร? เพราะมันเป็นงานของใจใช่ไหม? มันเป็นงานของใจ

ดูสิดูความรู้สึกเราสุขทุกข์นี่เราหลงไหม? เราพอใจไหมสุขทุกข์? สุขทุกข์มันกระทบใช่ไหม? ใจมันกระทบแล้วก็มันสุขมันก็ทุกข์ นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่มันเป็นความจริงมันเป็นความจริงจากหัวใจ มันเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากใจ ปัญญาที่เกิดจากภพ จากการกระทำ เห็นไหม นี่กิเลสสวะ อวิชชาสวะ ภวาสวะ ภพทั้ง ๓ แล้วก็บอกว่ามีกิเลสทำไม่ได้ มีกิเลสทำไม่ได้

มีกิเลสทำไมจะทำไม่ได้ เพราะมีกิเลสไงถึงเอากิเลส เอาสิ่งที่เป็นกิเลส เอาอวิชชา เอาความไม่รู้จักกิเลส เปลี่ยนแปลงให้มันรู้จักกิเลส แล้วมันรู้จักกิเลสแล้วมันก็ทำลายกิเลส ทำลายตัวมันเองไง นี่งานของใจมันเป็นอย่างนั้น ความสกปรกของใจ มือที่มันสกปรก มือนี่ต้องล้างด้วยมือตัวเอง มือเราสกปรกนะ แล้วไปมองคนอื่นเขาล้างมือไง ครูบาอาจารย์ท่านทำอย่างนั้น มรรคญาณเป็นอย่างนั้น เห็นคนอื่นเขาล้างมือ มือเขาสะอาดมือเราไม่สะอาดหรอก ถ้ามือเราจะสะอาดเราต้องล้างมือเราเอง มือเรานี่ต้องล้างมือเรา มือเราถึงสะอาด

ใจก็เหมือนกัน ศึกษาธรรมะขนาดไหน มันเป็นวิธีการของคนอื่นทั้งนั้น มันเป็นวิชาการขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเป็นธรรม เป็นธรรมเป็นสาธารณะ เราดูสิ เห็นไหม ฝนตก แดดออก อากาศที่มันเปลี่ยนแปลงไปตลอดมันก็เป็นธรรมชาติของมัน แล้วเราได้อะไรล่ะ? เราเป็นคนๆ หนึ่ง มีความรู้สึกอยู่ในอากาศนั้นใช่ไหม? ฝนตกแดดออกเราอยู่ในท่ามกลางนั้นใช่ไหม? เราเป็นคนรู้ฝนตก แดดออกใช่ไหม? แต่เราควบคุมมันได้ไหม?

สัจธรรมความจริงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เหมือนกัน ธรรมชาติๆ มันก็เป็นธรรมชาติอันนั้นแหละ แล้วเอ็งรู้อะไร? เอ็งทำอะไร? เอ็งสุขทุกข์ในธรรมชาตินั้นก็ศึกษามันเฉยๆ แต่ขณะที่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา สภาวธรรมในหัวใจทำอย่างไร? ใจนี่ทำอย่างไร? ควรเข้ามาอย่างไร?

นี่ไงถ้ามันชนะที่นี่ซะอย่างหนึ่งนะ นี่มันเหมือนผู้ใหญ่นะ เหมือนเราเป็นพ่อแม่คน ลูกเราหลายคน ลูกเราบางคนก็ฉลาดหลักแหลม ลูกเราบางคนก็ปัญญาปานกลาง ลูกเราบางคนเขาพออยู่ได้ จะว่าปัญญาน้อยก็ว่าได้ แล้วเราจะบริหารอย่างไร? เราจะให้ลูกคนนี้ฉลาดขึ้นมานี่ทำงานอย่างไร? เพื่อประโยชน์กับอะไร? ลูกคนนี้ปัญญาปานกลางต้องทำอย่างไร? ลูกคนที่ฉลาดน้อยจะให้เขาดำรงชีวิตอย่างไร?

นี่จะบอกว่ามันเป็นผลของวัฏฏะ มันเป็นผลของกรรม คนจะให้ฉลาดเสมอกันมันไม่มี คนจะให้ดีเหมือนกันหมดมันก็ไม่มี มันเป็นไปไม่ได้หรอก ทำให้คนดีไปหมดมันเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะคนทำกรรมชั่วมาก็มี คนทำความดีมาก็มี ทำอย่างไรให้คนดีมันดีขึ้นไป แล้วทำอย่างไรให้คนดีเข้าถึงสัจธรรมให้ได้ แล้วควบคุมกันไป

นี่มันเป็นกระแสสังคมนะ ขนาดสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน ทำไมพระเทวทัตเป็นญาติในสายเลือดด้วย เป็นสาวกด้วย มาศึกษาด้วย ทำไมพระเทวทัตทำกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขนาดนั้น? นี่ไงเพราะอะไร? เพราะมันเป็นของเดิม เห็นไหม ดูชูชกสิตั้งแต่เริ่มต้นที่ปรารถนาพุทธภูมิมา นี่ไปค้าขายทองคำ ไปแลกของเก่า ไปเห็นทองคำ

สุดท้ายพระเทวทัตอยากได้ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้มีธรรม โอ้โฮ มันมีคุณค่ามาก ถึงบอกจะแลกเท่าไหร่ก็ได้ ให้ไปแล้วแลกมาได้ เทวทัตอยากได้ของเขา หลอกเขา สุดท้ายไม่พอใจกำทรายขึ้นมานะ นี่กำทรายแล้วปล่อยไป เหมือนกับเรากรวดน้ำ แต่กำทรายขึ้นมาแต่เป็นอาฆาตไง บอกว่าจะจองล้างจองผลาญกันทุกภพทุกชาติ แล้วก็จองล้างจองผลาญกันมาเป็นชาติสุดท้าย เห็นไหม ที่ว่าเป็นพระเวสสันดร เป็นชูชก มาเกิดเป็นเทวทัต มาเกิดกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเกิดในสายเลือดเดียวกันด้วย

แต่สุดท้ายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำดีๆๆ ดีที่สุดจนพ้นจากดีไปหมดเลย แต่พระเทวทัตอาฆาตมาดร้ายกันมา ถึงที่สุดแล้วนะ การกระทำมา เห็นไหม ดูสิคู่แข่งขันเขาแข่งขันกันมา เขาต้องแข่งขันกันมาตลอด พระเทวทัตก็สร้างแต่ความอาฆาตมาดร้ายมา แต่การกระทำ เห็นไหม ดูสินักกีฬามันเล่นตุกติก เล่นไม่ดีแต่มันก็ฝึกฝนมาตลอดใช่ไหม?

พระเทวทัตนี่ขณะที่แข่งขันมากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สร้างบุญญาธิการมาเหมือนกัน เพราะเกิดมาร่วมกันก็จองล้างจองผลาญมาตลอด จองล้างจองผลาญในทางที่ลบ แต่หัวใจมันก็พัฒนามา จนสุดท้ายได้คิดนะ พระเทวทัตยังได้คิดเลย นี่คิดถึงเสียใจว่าทำลายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะมาขอขมาไง มาขอขมาแต่ว่าทำไว้มากจนธรณีสูบไป แต่ก็ยังอธิษฐานนะ อธิษฐานว่าสิ่งที่เหลือนี้ถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สำนึกผิด

ความสำนึกผิดอันนี้มันกลับใจ พอกลับใจนี่พระเทวทัตตกนรกไป นี่ตกนรกอเวจี แต่ถึงที่สุดแล้ว นี่ในตำราบอกไว้ชัดเจนมากเลย ต่อไปพระเทวทัตพ้นจากนรกอเวจีขึ้นมา จะตรัสรู้เองโดยชอบเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเหมือนกัน เพราะสิ่งที่สร้างมา สร้างพลังมา สร้างสิ่งต่างๆ มา แต่ทิฐิความเห็นมันผิด

ดูสิเรานี่คนฉลาด แต่ถ้าหมุนไปในทางโกงมันก็โกง เห็นไหม หมุนไปทางที่ดีมันก็ดี ปัญญานี่อยู่ที่การควบคุม นี่สติปัญญา สติ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ความเห็นผิด ฉลาด ถ้าฉลาดในทางโกงมันก็โกงๆๆ ไปเรื่อยๆ ฉลาดทางดีก็ดีไปเรื่อยๆ แล้วเรากลับจากโกงมาเป็นดี เพราะปัญญามันมีอยู่แล้ว ถึงบอกว่าพระเทวทัตจะมาตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์ต่อไปข้างหน้า

นี่เพราะการสร้างมา ปัญญานี่สร้างมา ความเห็นนิดเดียวระหว่างดีกับชั่วเท่านั้นแหละ แต่ถ้าปัญญามันฝึกฝนมามันจะดี เห็นไหม นี่เวลาประพฤติปฏิบัติถึงว่าต้องมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิคือความเห็นที่ถูกต้อง การกระทำที่ถูกต้อง ถ้าการกระทำที่ไม่ถูกต้องมันทำโดยเรา ทำโดยสามัญสำนึก นี่ธรรมะย่อมชนะอธรรม ทั้งข้างนอก ทั้งข้างในนะ ข้างนอกนี่ดูสิธรรมะย่อมชนะอธรรม แต่กว่าจะชนะมันก็ต้องสร้าง ต้องทำให้คนเข้าใจ

นี่ก็เหมือนกัน ธรรมะจากภายในต้องทำให้เราเข้าใจ ต้องทำให้เราเห็นว่าอะไรดี อะไรไม่ดี ถ้าเราเข้าใจว่าสิ่งไหนดีแล้วมันจะทำได้หมดแหละ งานที่ว่าหนักหนาสาหัสสากรรจ์นะเป็นงานเบาไปหมดเลย ถ้าใจมันเอานะทุกอย่างทำได้หมดเลย ภูเขาทั้งภูเขานี่ย้ายได้ มนุษย์ย้ายมันได้หมด ทำได้หมดเลย แต่ถ้ามันอ่อนแอนะ ก้อนหินก้อนเดียวก็ยกไม่ขึ้น เพราะใจมันไม่เอา

ถ้าใจมันมีสัมมาทิฏฐิ มันมีความเห็นที่ถูกต้อง มันเห็นว่านี่ทรัพย์จากภายนอก ทรัพย์จากภายใน ไม่อย่างนั้นพระเราจะอดอาหารทำไม? อาหารนี่เต็มมหาศาลเลย ไม่ได้เอาออกมาฉันก็มี อาหารเขามาถวายอยู่ บิณฑบาตมาก็ได้ฉัน ทำไมไม่ฉันอาหาร? อดอาหารทำไม? ก็มันเป็นของเล็กน้อยไง มันเป็นของแค่บำรุงร่างกาย เห็นไหม แต่หัวใจมันว้าเหว่ หัวใจมันทุกข์ หัวใจมันเศร้าหมอง เราอดอาหารเพื่อไม่ให้กิเลสมันเหยียบย่ำ ให้เรามีกำลังขึ้นมา

มันทรัพย์จากข้างนอก สมบัติจากข้างนอก สมบัติจากข้างใน ถ้าคนเห็นสมบัติจากข้างใน สมบัติจากข้างนอกมันก็แค่อาศัย แค่อาศัยพึ่งพิงกัน แต่สมบัติจากข้างในเราจะหาอย่างไร? มันมีสมบัตินอก สมบัติใน แล้วสมบัติในเป็นอย่างไรล่ะ? สมบัติใน ถ้าคนไม่เป็นมันก็ไม่รู้ สมบัติในถ้าจิตมีสติไหม? คนมีสติสัมปชัญญะทำสิ่งใดผิดน้อยมาก จะไม่ผิดเลย

คนมีสติสัมปชัญญะทำจิตสงบขึ้นมาได้ จิตสงบมันมีความสุขหรือยัง? ถ้าจิตมีความสุข อะไรมันซื้อได้? เงินกี่พันล้านก็ซื้อสมาธิไม่ได้ เงินกี่พันล้านก็ซื้อมรรค ผล ไม่ได้ เงินกี่พันล้านซื้อสติปัญญาไม่ได้ สติปัญญาฝึกฝนขึ้นมา เชาว์ปัญญาเงินซื้อไม่ได้

เชาว์ปัญญาทุกอย่าง สติปัญญา การฝึกฝน เกิดมาจากการกระทำทั้งหมด เศรษฐีกฎุมพี คนทุกข์จนเข็ญใจ มีสติ มีจิตเหมือนกัน ต้องหาด้วยเหมือนกัน ต้องทำสมาธิ ทำปัญญาขึ้นมาทุกๆ คน ไม่มีการซื้อ ไม่มีการขาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “นี่ไงทางเราเป็นคนชี้บอก” เราจะก้าวถึงหรือก้าวไม่ถึง นี้เป็นการก้าวเดินของเราเองเท่านั้น

เป็นการก้าวเดิน เป็นการกระทำของพวกเรานะ เห็นไหม เห็นสมบัติจากภายในแล้ว การกระทำมาจากไหน? การกระทำก็งานไง เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา นี่งานข้างนอกเราทำหน้าที่การงานก็เพื่อผลประโยชน์ เพื่อธุรกิจ เพื่อการค้า เพื่อปัจจัยเครื่องอาศัย แต่ถ้างานภายในล่ะ? งานภายในทำเพื่อเรา ไม่มีใครเห็นแต่เรารู้ เรารู้ของเรา เป็นสันทิฏฐิโก เป็นปัจจัตตัง ปัจจัตตังคือประสบ สันทิฏฐิโกคือมันรู้ถึงที่สุดของมัน นี่เกิดขึ้นมาจากการกระทำนะ

ถ้าธรรมะชนะอธรรมจากภายใน มันจะรู้จะเห็น แล้วจะเชื่อมั่น แล้วทำได้ ทำได้นะถ้าจะไปทำอย่างนั้น แต่ถ้าพูดถึงว่ากรรมของสัตว์ เห็นไหม กรรมของสัตว์ ถึงเวลาของเขา เขาจะรู้ตัวของเขา ถึงเวลาของเขานะ ถ้าเขาคบมิตรดี ถ้าเขาคบมิตรไม่ดี ถึงเวลาจะเสียโอกาสไปเฉยๆ เวลาคือการพบกันนี่ไง การพบกันนี่นะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลยนะ นี่ถ้าคบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพาพ้นจากกิเลสหมด นี่คบมิตรดีไง คบมิตรดี

ในสังคมไทยเรา สังคมของชาวพุทธ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา เป็นพระอรหันต์ เห็นไหม ถึงพูดไว้ในพระไตรปิฎก แล้วมันถึงตกผลึกเป็นประเพณีวัฒนธรรมของเรา ประเพณีวัฒนธรรมของเรานะ นี่ในทางตะวันออกกับในทางตะวันตกนับถือลัทธิต่างกัน เพราะทางตะวันตกเขาเข้าไม่ถึงหัวใจ เขาเข้าถึงวัตถุ วัตถุเขาเจริญ แต่หัวใจเขาว้าเหว่ เราเข้าถึงหัวใจ นี่มีความกตัญญูกตเวที รักพ่อ รักแม่ มีการรู้จักคนดีคนชั่ว รู้จักการอภัย

สิ่งนี้เกิดขึ้นมาจากหัวใจ แต่วัตถุของเรา เห็นไหม เราไม่ยึดติดตรงนั้น สิ่งต่างๆ สังคมตกผลึกมาเป็นประเพณีวัฒนธรรม แล้วเราเกิดมาท่ามกลางสิ่งนี้มีคุณค่ามาก แต่เราไปมองกันข้างนอก ไม่มีใครชี้นำ ไม่มีใครเตือนสติสังคม ให้สังคมนี่เห็นแก่ความสุขความทุกข์ของใจมากกว่า ให้เห็นคุณธรรม ให้เห็นความจริงมากกว่า

นี่ถ้ามีคุณธรรมมันเตือนสังคมได้ เป็นหลักชัยของสังคม เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระอานนท์ร้องไห้นะ พระโสดาบันนะ บอกว่า “ดวงตาของโลกดับแล้ว” ความรำพึง รำพันของพระโสดาบันนะ

“ดวงตาของโลกดับแล้ว”

เป็นคนชี้นำสังคม เป็นหลักของสังคม แล้วสังคมยอมรับเชื่อถือ เห็นไหม นี่ถ้ามันดีแล้ว สังคมเชื่อถือ อันนี้พูดสิ่งใดเขาก็ฟัง ถ้าสังคมไม่เชื่อถือนะ พูดไปเถอะไม่มีน้ำหนักสิ่งใดๆ เลย

นี่ดีจากภายในมันชนะตนเองก่อน เพราะตนเองไม่ต้องการลาภยศสรรเสริญ ไม่ต้องการสิ่งใดๆ เลยเขาถึงเชื่อถือ แต่ถ้ามันต้องการ เห็นไหม มันมีเล่ห์ มันมีเหลี่ยม มันมีการหมกเม็ดผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่มีทับซ้อน เพราะทับซ้อนมันเป็นของโลกๆ สัจธรรมซ้อนไม่ได้ ถ้าซ้อนกิเลสมันหลบในเหลือบในมุมที่ความซับซ้อนนั่นล่ะ กิเลสมันครอบหัวเรา แต่ถ้าเรามีความสะอาดบริสุทธิ์นะมันจะชนะเข้าไป ชนะเข้าไป ถึงต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา

ทำได้นะ ทุกคนมีสิทธิ์ทำได้เพราะเราเป็นเจ้าของศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้กับบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นเจ้าของเพราะมีใจสัมผัส เราทำได้ ทุกคนทำได้ แต่จะเข้มแข็งมีความจงใจทำหรือไม่มีเท่านั้นเอง ถ้ามีความจงใจทำนะมันจะเห็นแล้วรู้สึกของเราเข้ามา จะทำได้ด้วยความมั่นใจ เอวัง