เทศน์บนศาลา

เพราะเกิดจึงทุกข์

๒๗ ต.ค. ๒๕๔๓

 

เพราะเกิดจึงทุกข์
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

...ที่ได้มาแสนยากไง เราแสวงหากันอยู่ เห็นไหม ธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสวงมาด้วยพระองค์เอง ตรัสรู้ธรรมมาแล้ววางธรรมไว้ในโลกนี้ วางธรรมไว้ในโลกนี้ให้เรามีที่พึ่งที่อาศัย ถ้าไม่มีธรรม ไม่มีธรรมนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ตรัสรู้ธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องแสวงหาเองไง ไม่ตรัสรู้ธรรม ธรรมไม่มี ถ้าธรรมไม่มี หมายถึงว่า สัจจะความจริงไม่มี คนเราประพฤติปฏิบัติก็สักแต่ว่าประพฤติปฏิบัติกันไป

ทำความดี พยายามสร้างคุณงามความดีกัน สร้างคุณงามความดีไปมันก็เป็นคุณงามความดี แต่มันไม่มีอริยมรรค ไม่มีความรู้จริง ไม่มีคนบอกกล่าวถึงหลักความเป็นจริง มันก็ทำไป เวียนไปในวัฏฏะไง เป็นสมมุติ เป็นความดีก็ความดีในโลกของเราที่เวียนตายเวียนเกิดกันอยู่อย่างนี้ ทำความชั่วมันก็เวียนตายเวียนเกิด แต่เวียนตายเวียนเกิดในทางต่ำทางชั่ว ทางต่ำทางชั่วเพราะกรรม อกุศลกรรม กรรมที่เป็นกรรมหนักทำให้เกิดไปในที่อบายภูมิ เกิดไปในที่ต่ำ ทำความดี-ความชั่วมันมีมาอยู่โดยดั้งเดิม จิตนี้ถึงได้เกิดตายเกิดตายมาโดยที่ว่าไม่มีต้นไม่มีปลาย การเกิดและการตายนี้เป็นประจำทุกๆ ดวงใจ

ดวงใจที่เกิดมานะ จิตปฏิสนธิ จิตเป็นตัวพาเกิด ถ้าเกิด เกิดขึ้นมาแล้วก็มีทุกข์ที่นั่น สิ่งใดที่เกิดขึ้นมาก็มีทุกข์ แล้วพอมีทุกข์ขึ้นมา ทุกข์ในหัวใจ ทุกข์ในหัวใจเรา เราอย่าชะล่าใจ เราชะล่าใจกันมากว่าเราเกิดมา เรามีสถานะเรามีความสุขของเรา เราคิดของเราเฉยๆ แต่ทุกข์ประจำธาตุขันธ์มันมีอยู่แล้วประจำในหัวใจที่พาเกิดนั้นเพราะอวิชชาพาให้เกิด จิตที่พาให้เกิด เห็นไหม เกิดพั้บ! ทุกข์ทันที มันต้องแสวงหาต้องดิ้นรนไปตลอด

แต่เราก็ว่าเราเข้าใจกันว่า การเกิดของเราก็เกิดมาเฉพาะออกมาจากครรภ์ของมารดานี้ก็เป็นเรา เราว่าเราเกิดมาเท่านั้นไง แต่ความจริงกรรมต่างหาก กรรมพาเกิด กรรมที่สะสมมากับในดวงใจดวงนั้นพาเกิดมา กรรมเท่านั้นพาเกิด เหมือนกับเราเกิดมา เกิดมาแล้วเราเป็นมนุษย์ เราใช้ชีวิตของเราฟุ่มเฟือย เราใช้ชีวิตของเราประมาทเลินเล่อ เราว่าเราประมาทในชีวิตของเรา เปรียบเหมือนกับไม้ขีด ไม้ขีดเราขีดไฟ มันไหม้หมด หมดไม้ขีดไฟนั้นก็หมดไป

ชีวิตของเราก็เหมือนกัน เกิดมาแล้ว ๑๐๐ ปีต้องตายไป เราก็ว่าเวลานี่มากมายมหาศาล ๑๐๐ ปีนะ แล้วผัดวันประกันพรุ่งกันไปตามแต่ว่าเราจะคิดของเราไป นี่มันไม่ตื่นตัวไง ไม่ตื่นตัว ไม่เห็นภัย ไม่เห็นโทษว่า “การเกิดนี้เป็นทุกข์” การเกิดนี้เป็นทุกข์ แล้วมันต้องเกิดไป เราจะปฏิเสธความเกิดไม่ได้ เราปฏิเสธไม่ได้เลย ไม้ขีดไฟลองขีดออกไปแล้วมันต้องติดขึ้นมา ติดขึ้นมามันต้องไหม้ไป ไหม้จนถึงก้านหรือไม่ก็ดับไป แล้วก็จุดก้านใหม่ๆ

ชีวิตเราก็เหมือนกัน มันต้องใช้ชีวิตไป อายุขัยก็เหมือนไม้ขีดก้านหนึ่ง แต่ไม้ขีดก้านหนึ่ง เวลาจุดขึ้นมาก็เป็นก้านหนึ่ง แต่ชีวิตของเรา เราเกิดมาเหมือนไม้ขีดก้านหนึ่ง คือว่าให้เห็นเวลาว่ามันสั้นไง ชีวิตนี้มันสั้นนัก มีเวลาเท่านั้นเอง เวลาแค่นั้นแต่ทำไมเราประมาทกันเพราะอะไร เพราะเราไม่เห็นโทษของมัน แล้วไหนว่าเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าไง ว่าฟังธรรม ธรรมสอนลงที่ไหน?

การแสวงหาของเรานะ การทำบุญกุศล เราสร้างบุญกุศล เราทำคุณงามความดี เราว่าเป็นความดี เราทำคุณงามความดีมาเป็นความดี เป็นความดีของเรา เราว่าเป็นความดี “เราว่า” เราว่าเป็นคุณงามความดีเราก็ทำเท่านั้น หรือว่าคนที่เขาไม่เห็นด้วย เขาไม่ซึ้งในศาสนา เขาบอกว่าเขาไม่ต้องทำก็ได้ เขาอยู่เป็นปกติของเขา เขาอยู่เฉยๆ เขาไม่ได้ทำบุญ ไม่ได้ทำบาป ก็เป็นความดีของเขา เขาไม่ได้ทำอะไรเลย...มันก็เป็นอุเบกขา เป็นอุเบกขาที่ใจมันจะแสวงหา มันจะเบี่ยงเบนไปทางไหนก็ได้ นี่ไม่ได้ทำอะไรเลย นั่นน่ะ เหมือนกับไม้ขีดไฟที่จุดไว้ มันก็ไหม้ตัวมันเอง แต่เขาว่าเขาไม่ได้ทำอะไรเลยก็เป็นคุณงามความดีของเขา

“การเกิดเป็นมนุษย์นี้แสนยาก” การเกิดเป็นมนุษย์นี้เป็นบุญกุศลอย่างมหาศาลนะ จิตมาเกิดเป็นมนุษย์นี่ในพระไตรปิฎกว่า เปรียบเหมือนกับเต่าอยู่ในกลางทะเล แล้วลอยโผล่ขึ้นมาในน้ำ ถ้าโผล่ขึ้นมาในบ่วงที่ว่าวางอยู่ในทะเล อันนั้นได้เกิดเป็นมนุษย์

การเกิดเป็นมนุษย์นี้แสนยาก แต่เราประมาทกันเพราะว่าเราเกิดมาแล้วไง

ของที่อยู่กับเรา เราจะไม่ค่อยเห็นมีคุณค่าเท่าไรหรอก ของที่หลุดจากมือเราไป เราจะเห็นมีคุณค่ามาก ชีวิตนี้ก็เหมือนกัน ถ้ายังไม่ถึงกับความตายเราก็ยังประมาทเลินเล่อกันอยู่ แต่ถ้าวันไหนจะถึงความตาย มันจะคิดถึงว่าเราจะมีเสบียงอะไรไปข้างหน้าไง ถึงความตายไปแล้ว ทุกคนต้องตาย พอจะตายออกไป จิตนี้ต้องออกจากร่างไป นี่ตอนนี้เป็นการยืนยันกันแน่นอนว่าจิตนี้ไม่เคยตาย มันต้องหลุดออกจากร่างนี้ไป แล้วเราคิดว่าเราเห็นคนตาย เวลาตายไปแล้วก็หมดกัน ทิ้งแต่ร่างกายนี้ไว้ หัวใจนี้ต้องหลุดออกไป จิตนี้ต้องหลุดออกจากกายไปแล้วไปตามบุญตามวาสนาของเขา

เราเห็นแต่ร่างกายนี้ ตาเราเห็นขนาดนั้น เราก็อยู่แค่นั้น ไม่มีพยานยืนยัน แต่ในเมื่อถ้าตนเองบุคคลนั้นต้องตาย พอดับจากนี้ไป ความรู้สึกมันไม่ตาย ความรู้สึกมันต่อเนื่องไป ความต่อเนื่องไป เห็นไหม กรรมดีกรรมชั่วของกรรมนั้น ใจดวงนั้นจะต้องแสวงออกไป ไปตามความดีและความชั่วที่สร้างมากับใจดวงนั้น นี่กรรมอันนั้น

จิตดวงนั้นก็เหมือนกัน พอตายไปมันก็อุบัติไปเกิดเป็นอย่างอื่นต่อไป ไปเกิดเป็นตามดีตามชั่วเหมือนกัน ในลักษณะเดียวกัน การเกิดเป็นมนุษย์นี้ก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีจิตดวงนั้นมาเกิด ทำไมพ่อแม่บางคนที่ว่าเป็นหมัน ทำไมเขาไม่มีลูกล่ะ บางคนอยากจะมีลูกมากก็ไม่มีลูกขึ้นมาเพราะอะไร เพราะจิตปฏิสนธิตัวนั้นมันเข้ามาไม่ได้ แต่ถ้ามีกรรมบาลานซ์กัน กรรมถึงเสมอกัน เขามาเกิดในครรภ์นั้นแน่นอน พอเกิดในครรภ์นั้น อะไรพาเกิด? จิตดวงนั้นพาเกิด จิตดวงที่มีปฏิสนธิจิตนั้นมาเกิด อาศัยไข่ เกิดในไข่ เกิดในครรภ์ เกิดในน้ำคร่ำ เกิดเป็นโอปปาติกะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกแล้ว การเกิด เกิดโดย ๔ อย่างนี้ ในวัฏวนนี้ จิตของเราก็ต้องเกิด เกิดในขณะนี้ ตายไปเกิดเป็นเทวดาก็โอปปาติกะ เกิดเป็นผี เกิดเป็นเปรตก็โอปปาติกะ จิตดวงนี้ถึงไม่เคยตาย จิตดวงที่ไม่เคยตายอยู่ในหัวใจนั้นน่ะ แต่เรามองไม่เห็นไง เกิดทุกข์ ทุกข์แล้วก็ไม่เห็น ความไม่เห็นทุกข์เพราะมันเกิดดับเกิดดับอยู่ตลอดเวลา แล้วเราก็ศึกษาธรรมะกัน เราเข้าใจว่า “เราศึกษาธรรมะกันนะ ศึกษามาก รู้จักธรรมะ เราเข้าใจเรื่องธรรม มันจะปล่อยวาง เราศึกษาแล้ว”...มันเป็นสุตมยปัญญา มันเป็นความเข้าใจ มันเป็นกิเลสหลอกอีกชั้นหนึ่ง กิเลสหลอกอีกชั้นหนึ่งนะ

ถ้าการศึกษาธรรมะมาแล้วเป็นคุณงามความดี เป็นกุศลจริงๆ ก็ดูเอาปัจจุบันนี้ ทำไมว่าพระที่บวชมาทำไมมาทำกันแบบที่เป็นข่าวล่ะ ข่าวทำอย่างนั้น ทำไมเขาทำได้ เขาทำอย่างนั้นเพราะอะไร เพราะเขาก็ศึกษาธรรมะมา ศึกษาธรรมะมาทำไมไม่แก้ไขกิเลสในหัวใจล่ะ

นี่เราเหมือนกัน ขณะที่ว่าเราศึกษาธรรมะ ว่าเราศึกษาธรรม ศึกษาธรรม ศึกษามานี่มันเป็นศึกษามาจากภายนอก มันยังไม่ได้ชำระกิเลสออก มันเพียงแต่ว่าศึกษาแล้วเข้าใจ เราเป็นคนมืดบอด พอมืดบอด อาศัยดวงตา อาศัยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม แสงสว่างของไฟจากถนนเป็นสาธารณะ เราขับรถไป เราเดินไปบนถนนสายนั้น เรามีแสงสว่างดวงนั้น เราก็ว่าเราเห็น เรามีแสงสว่างขึ้นมา แสงสว่างอันนั้นเป็นแสงสว่างจากเราเกิดเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา เราถึงว่ามีอำนาจวาสนา วาสนา ๒ ชั้น

ชั้น ๑. ได้เกิดเป็นมนุษย์

๒. พบพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนาสอน “เรื่องบุญ เรื่องกุศล เรื่องกรรม เรื่องอริยสัจ”

หัวใจของศาสนา “เรื่องอริยสัจ เรื่องมรรค เรื่องการชำระกิเลส” ชำระกิเลสให้ดวงใจนั้นผ่องแผ้ว ให้เป็นไฟความสว่างกระจ่างแจ้งของใจดวงนั้น แต่เราไม่สามารถทำความกระจ่างแจ้งจากใจดวงนั้น เราเห็นแต่ไฟสาธารณะตามถนนหนทาง แล้วเราว่าเป็นความเห็นของเรา เราอ่านเข้าไป เราศึกษาเข้าไป มันตื่นเต้นอย่างนั้น ความสว่างของใจ ความเข้าใจ มันก็แบบว่ารู้เห็นเหมือนกับความสว่างสาธารณะนั้น แต่มันไม่ใช่ความสว่างของเรา มันไม่ใช่ความเห็นของเรา

ถ้าความเห็นของเรามันต้องชำระกิเลสของเราได้ ถ้าชำระกิเลสของเราได้ “มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเย้ยมารไง “มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา ต่อไปนี้เธอจะเกิดไม่ได้อีกในหัวใจของเรา”...จะไม่ดำริถึงมารนั้นอีกเลย ความคิดที่เริ่มจะคิดออกมาจากหัวใจดวงที่เป็นธรรมนั้น ถ้ามีธรรมในหัวใจจะไม่คิดทำเป็นสิ่งที่เป็นผลลบกับตัวเอง เป็นอกุศลทำให้ใจดวงนี้มีแต่บาปมีแต่กรรม หาบบาปหาบกรรมไป

แล้วจิตดวงนี้ยังไม่ถึงที่สุด จิตดวงนี้ ใจของเรามันเป็นความรู้สึกของเรา เรารู้ของเราเอง หัวใจผ่องแผ้ว หัวใจเศร้าหมองในใจของเรา เราจะรู้ หัวใจมีความสงบความสุขขนาดไหน หัวใจเราจะรู้ ความเป็นปัจจัตตังในใจของตัว อันนี้มันถึงว่าเป็นการชำระกิเลสจากภายในออกของเราเข้าใจจริงๆ

แต่ในการศึกษาธรรมที่ว่าเราศึกษาธรรมะกัน ศึกษาธรรมะกันนี่ มันเป็นความสว่างขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรายืมมา เป็นสุตมยปัญญา เป็นการศึกษา เป็นความเข้าใจ มันก็เป็นความเข้าใจ ความสว่างอันนั้น พอสว่างเป็นสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา

นี่ถ้าศึกษาธรรม ที่เป็นข่าวอย่างนั้นเขาจะไม่ทำอย่างนั้น เขาเข้าไปเพราะเขาอยู่ในธรรม เห็นไหม ทัพพีอยู่ในหม้ออยู่ในแกง ไม่รู้รสของแกง อุตส่าห์นี้ เราก็เหมือนกัน เราว่าเราเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมไง เราอยากจะประพฤติปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงธรรม “ธรรม” ธรรม ก็เอาตัวเข้ามา เหมือนกับเอาตัวเข้ามาประพฤติปฏิบัติธรรม ธรรมนี้เป็นธรรม เป็นเนื้อธรรม นี่แกงอยู่ในหม้อ ไม่รู้จักรสของแกงไง

ความสุข ความสงบของใจเราหาไม่เจอ ความสุข ความสงบของใจลิ้มรสของธรรม เรายังหาไม่เจอ ทำบุญกุศลของเรา บุญกุศลพาไป พาไป มันพาไปหมายถึงว่ามันอิ่มใจ ความอิ่มใจชั่วครั้งชั่วคราว มันก็เป็นความอิ่มใจเข้ามา เหมือนเรากินอาหารเข้าไป แต่มันก็เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ใจของเราจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา นี่เราถึงไม่เห็นใจของเรา เราถึงว่าไม่เห็นใจของเรา เราเกิดมาเราทุกข์แต่เราไม่เห็นทุกข์ ถ้าเราเห็นใจของเรา เราถึงว่าเห็นใจ เราจับใจของเราได้ เราจะเห็นทุกข์ตามความเป็นจริง

สิ่งที่บ่นกันว่าทุกข์ว่าร้อนอยู่นี้ มันเป็นอาการของทุกข์ เราบ่นตามมันไปเฉยๆ เราบ่น เห็นไหม ทุกข์นี้เกิดขึ้นจนขับถ่ายสิ่งต่างๆ ไว้ในหัวใจของเราหมดแล้ว เขาหายตัวไป เขาหายไปไง เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป เกิดขึ้นเป็นอาการของเขาเป็นนามธรรม แล้วเขาก็คิด เราก็คิดฟุ้งซ่านไป จบอาการหนึ่งอาการหนึ่ง แล้วเราก็บ่น บ่นกันตรงนั้นไง บ่นตามหลังเขาไป เราถึงไม่เห็นอาการของใจ เราเห็นแต่เงาของใจ เงาของใจคือความคิดธาตุขันธ์ที่มันเป็นเงา เป็นพยับแดดเท่านั้น เราไม่สามารถตามอันนั้นทัน เราไม่สามารถตามทัน เราถึงต้องทำความสงบ ทำความสงบก่อน

แต่ในการศึกษาธรรมมา ธรรมสอนบางอย่างว่าไม่ต้องทำความสงบ ให้พิจารณาไปเลย ให้พิจารณาไปเลย...การพิจารณาไปเลยนั่น พิจารณาขนาดไหน การพิจารณาเขาว่าเป็นพิจารณา “เขาว่า” แต่ความจริงการพิจารณานั้นมันต้องมีจิตพิจารณา จิตของเราควรทำความสงบก่อนไง ถ้าจิตของเราไม่ทำความสงบก่อนมันก็เหมือนกับความพิจารณาเข้าไปเลย เท่ากับการศึกษาในสุตมยปัญญาในธรรมะในตู้พระไตรปิฎกนั้น มันก็เป็นความสว่างจากสาธารณะ จากถนนหนทาง จากไฟสาธารณะ

เพราะพิจารณาเข้าไป มันก็เป็นการตรึก เราศึกษาเข้าไป ศึกษาเข้าไป เราพิจารณาเข้าไป พิจารณาเข้าไป เพราะจิตยังไม่สงบอยู่ มันยังไม่เป็นเอกเทศ มันไม่เป็นเอกเทศของใจ ใจยังไม่สามารถเอาสมบัตินั้นเป็นของเราได้ มันก็ยืมสมบัติของเขาทำเข้าไป มันเป็นไปได้อย่างเดียว เป็นไปได้ด้วยการทำความสงบของใจไง

ทำใจนั้นให้สงบได้ด้วยใช้ปัญญาอบรมสมาธิ การใช้ปัญญาใคร่ครวญนั้นไม่ใช่วิปัสสนา มันเป็นการทำความสงบไล่ต้อนใจของเราเข้าไป ถ้าเรากำหนดพุทโธ พุทโธ หรือคำบริกรรมของเรา บางทีกำหนดเข้าไปแล้วมันเครียด มันทำไม่ได้อย่างใจของเรา เราก็ต้องใช้ความคิดย้อนไง ย้อนความคิด หนามยอกเอาหนามบ่ง เห็นไหม จิตนี้ฟุ้งซ่านนัก จิตนี้คิดมากนัก คิดออกไปมีแต่ความเร่าร้อนให้ถึงตัวเราเอง เราใช้สติสัมปชัญญะ ใช้ขันติความอดทนตามจิตนั้นไป อ้าว! คิด คิดไป คิดให้มาก คิดเข้าไป สติตามไป เห็นไหม อันนี้เป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาที่ใคร่ครวญไปตามกับความเห็นของเราไป มันไม่ใช่วิปัสสนาขึ้นมาได้หรอก

แต่คำว่า “เป็นวิปัสสนา” เขาว่า เขาว่าใครเป็นคนว่าล่ะ?

เขาว่าเขาก็...องค์ศาสดาพูดอย่างไร?

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขนาดว่าออกศึกษาปฏิบัติ ไม่มีนะ ไม่มีธรรมะนะ ต้องใช้ขวนขวายด้วยตัวของท่านเอง ออกค้นคว้าไป ศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ ไป นี่ไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ ความไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ ลัทธิอย่างใดสอนว่าอันนั้นเป็นความดีความถูกต้องก็ต้องศึกษาก่อนเพราะเราก็ไม่รู้ ทุกคนก็ไม่รู้ เห็นไหม จนได้สมาบัติ สมาบัติ ๖ สมาบัติ ๘ นั้นน่ะ เป็นความสงบของใจ

ความสงบของใจ แต่ก็ใช้ไม่เป็น คำว่า “ใช้ไม่เป็น” เพราะไม่มีธรรมอยู่ ไม่มีธรรมหมายถึงว่าไม่มีมรรค ไม่มีใครค้นคว้าให้ก่อน ไม่มีใครสอนมา ก็ใช้คิดอย่างนั้นศึกษาเข้ามา พอจิตนั้นสงบแล้ว พอใช้ไปมันก็เสื่อมไปอยู่อย่างนั้น สิ้นสุดกระบวนการของเขา ทำความสงบของที่ว่าค้นคว้ามา ถึงว่าแล้วพอพิจารณาไป มันอดอาหาร มันอะไรก็แล้วแต่ นั้นทำไปตลอด

สุดท้ายแล้วย้อนกลับมา ย้อนกลับมาถึงอำนาจวาสนาขององค์ท่านเอง ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง คิดถึงว่าโคนต้นหว้านั้นน่ะ ทำอานาปานสติ “อานาปานสติคือการกำหนดลมหายใจเข้า-ออก” กำหนดลมหายใจเข้า-ออกเข้ามาก่อน ทำใจให้สงบเข้ามา ใจนั้นสงบเข้ามา สงบเข้ามาอย่างนี้ จิตสงบเข้ามาแล้วถึงค่อยออกรู้ไง ออกรู้ไป นั่นน่ะเป็นปัญญา ปัญญาอันนั้นก็ไม่ใช่ คำว่า “ไม่ใช่” หมายถึงว่าเป็นปัญญาที่ส่งออกไปตามนิมิต เวลาย้อนออกไปดูเห็นต่างๆ

นี้ก็เหมือนกัน นี้เห็น บุพเพนิวาสานุสติญาณ เห็นถูกต้องด้วยนะ เห็นสัตว์ไปเกิดที่ไหน เกิดที่ไหน เห็นใจของตัว การเกิดนี่มันย้อนกลับเข้าไปในสัญญาดั้งเดิม ที่ว่าจิตปฏิสนธิ จิตมาเกิด การเกิดตายเกิดตายแต่ละภพแต่ละชาติมันจะซ้อนลงที่ใจนั้น ใจเรา สมมุติว่าเราเกิดชาติหนึ่ง จิตนี้ได้สถานะๆ หนึ่ง ตายไปเกิดใหม่ ตายไปเกิดใหม่ เห็นไหม มันจะซ้อนสถานะนั้นตลอดไปจากใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะมีข้อมูลอยู่ในสัญญาอันละเอียด สัญญาอันละเอียดในปฏิจจสมุปบาท อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา มันเป็นขันธ์อันละเอียด แต่สัญญาข้างนอก สัญญาในภพมนุษย์มันจะซ้อนลงไป การเกิดการตายแต่ละภพแต่ละชาติ จะมีสิ่งต่างๆ นี้สะสมลงไปที่ใจ ถ้าจิตนั้นสงบถึงจุดแล้วจะสาวถึงบุพเพนิวาสานุสติญาณได้ทั้งนั้น เพราะว่าเป็นข้อมูลเดิมของใจ นี่มันจะยืนยันถึงว่าใจดวงนี้เกิดตายเกิดตายไม่มีที่สิ้นสุดตรงนี้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนถอยกลับไป กลับไปขนาดไหนก็ไม่มีที่สิ้นสุด ถึงย้อนกลับมา กลับมาเริ่มต้นที่ใจใหม่ ทำความสงบเข้าไปใหม่ แล้วพอถึงมัชฌิมยาม จุตูปปาตญาณ จนถึงอาสวักขยญาณ พออาสวักขยญาณ ปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้นเอง ความเกิดขึ้นเอง อันนี้เป็นปัญญา ปัญญาที่มาตัดด้วยมรรคอริยสัจจังไง ตามรู้ปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทในจิตปฏิสนธิ ที่จิตปฏิสนธินั่นน่ะ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ เห็นไหม ปฏิจจสมุปบาทในใจดวงนั้น ชำระอันนั้นขาด...อันนี้เป็นปัญญา

ปัญญาที่ใคร่ครวญมาชำระกิเลสด้วยปัญญา เพราะว่าย้อนกลับมาแล้ววางหลักการอันนี้ไว้ แล้วเราศึกษาขึ้นมา เราก็คิดตามของเราออกไป เราคิดตามออกไป เขาว่านี่ใครว่า? องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทางเดินขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแบบอย่าง เป็นครูของเราที่ว่าเดินผ่านไปแล้ว แล้ววางธรรมไว้เป็นหลักการเลย แล้วเราจะทำอย่างใด?

ถ้าใช้ปัญญาหมุนเลย หมุนเลย ปัญญาของเราก็หมุนไป ความหมุนไปมันก็สว่างขึ้นมา สว่างขึ้นมา แต่มันไม่สามารถสมุจเฉทปหาน มันไม่ได้ชำระดวงจิตของตัวเองไง มันเป็นความเข้าใจเฉยๆ เข้าใจเฉยๆ เข้าใจเฉยๆ นี่ถ้าเราทำไว้นะ เราปฏิบัติขึ้นไป

เราเกิดเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา มีความตั้งใจที่อยากจะประพฤติปฏิบัติ ประพฤติปฏิบัติไปแล้วมันเจริญรุ่งเรืองขึ้นไป เจริญคือว่าจิตสงบขึ้น จิตเจริญขึ้นไป แต่ไม่ได้ชำระกิเลส “สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาทั้งหมด” แม้แต่การประพฤติปฏิบัติ แม้แต่อารมณ์อยู่ที่ในหัวใจของเราก็เป็นอนัตตา สิ่งที่เป็นอนัตตา เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป

ความเป็นอนัตตา คำว่า “อนัตตา” อนัตตาหมายถึงว่าสิ่งนั้นเราสะสมขึ้นมาได้ ตั้งอยู่ชั่วกาลหนึ่ง แล้วต้องแปรสภาพไปเป็นธรรมดา นี่จิตมันจะต้องเป็นอย่างนั้นโดยตลอดไปถ้าไม่ได้สมุจเฉทปหาน ถ้าสมุจเฉทปหานนี้เป็นอกุปปธรรม สิ่งที่เป็นอกุปปธรรมนั้นไม่มีการเสื่อมสภาพโดยธรรมชาติของจิตดวงนั้น อันนั้นถึงว่าเป็นสมุจเฉทปหาน

ถ้าไม่สมุจเฉทปหานเป็นกุปปธรรม “กุปปธรรม” กุปปธรรม ธรรมที่ยังแปรสภาพอยู่ “อกุปปะ” คือสิ่งที่ไม่แปรสภาพอีก แต่ใจนี้ยังแปรสภาพอยู่ เจริญรุ่งเรืองขึ้นมา เจริญขึ้นไป แล้วพอเสื่อมลงมาก็ต้องแปรสภาพไป พอเสื่อมลงมา นี่ความน้อยเนื้อต่ำใจจะเกิดขึ้น ใจดวงที่เสื่อมสภาพไป จิตที่เสื่อมสภาพออกไป ความทุกข์เร่าร้อนจะเกิดขึ้น

เราทุกข์อยู่โดยธรรมชาติ โดยปกติของใจมีความทุกข์สุมขอนอยู่ในใจนี้โดยเนื้อหาสาระเลย ใจดวงนี้มีแต่ความทุกข์สุมขอนอยู่ ไอ้ความสุขที่เราหามาปรนเปรอมานี่มันเป็นเปลือกข้างนอก มันพอใจมันถึงว่าสิ่งที่มันใช้ประโยชน์เป็นชั่วครั้งชั่วคราว “ความเป็นชั่วครั้งชั่วคราว” สิ่งที่เป็นของจริงคือว่าไฟอันนี้สุมขอนอยู่ แล้วไฟสุมขอนอยู่นี้มันเป็นตัวของจิตนะ

แต่อาการของความคิดเวลาฟุ้งซ่านขึ้นมา อันนี้เป็นโทสะ เป็นโมหะ เป็นโลภะ โลภ โกรธ หลงเกิดจากตรงนี้ เกิดจากสิ่งที่ว่าเป็นไฟสุมขอนนี้คือตัวอวิชชา แล้วเกิดเป็นตัณหาราคะอันนี้ เกิดขึ้นมาจากสิ่งที่ว่าจิตดวงนี้ส่งออกมา ส่งออกมาก็หมุนออกไปเป็นความคิดเข้ามา นี่มันก็ต้องกว้านออกไป ทำให้เราเป็นขี้ข้าไง ทำให้เราต้องวิ่งเต้นเผ่นกระโดดไปตามอำนาจของมัน ไปตามอำนาจของใจที่ทำให้เราหมุนเวียนไป นี่ทุกข์เกิดขึ้น

ทุกข์สิ่งที่ว่าประจำธาตุขันธ์อย่างหนึ่ง

ทุกข์จากกิเลสขับไสให้เราออกไปนี้อีกอย่างหนึ่ง

แล้วเวลาทุกข์ในการประพฤติปฏิบัติ

สิ่งนี้ก็เป็นทุกข์อยู่แล้ว เราทำไมต้องหาความทุกข์มาทับให้มันทุกข์ขึ้นไปอีกล่ะ?

สิ่งที่เป็นความทุกข์อยู่โดยธรรมชาติ อยู่โดยสัจจะความจริง โดยธาตุขันธ์นี้ มันเป็นความทุกข์เพราะเราเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นมนุษย์นี้ อริยสัจนี้มีอยู่โดยดั้งเดิม แต่เราไม่เคยเห็น เราเดินตามทุกข์ไปต้อยๆ แต่เราไม่เคยเห็นทุกข์ เราเสริมความทุกข์ขึ้นไป ผู้นักปฏิบัติมากรายเลย บอกอยากเห็นทุกข์ อยากเห็นทุกข์ พยายามทำความทุกข์ หาเหตุให้ตัวเองทุกข์ก็ไม่เคยเจอทุกข์ ไปทำงานทำการหาเหตุหาผลว่าตัวเองอยากเห็นทุกข์...ไม่เคยเจอทุกข์เลย

อันนี้ในการประพฤติปฏิบัติของเราก็เหมือนกัน ถ้าเราสร้าง เราเดินจงกรม นั่งภาวนา มันว่าเป็นความทุกข์ความยาก เราพยายามดัดตน พยายามดัดตนหมายถึงว่ามันอยากในสิ่งใดเราก็จะไม่ทำสิ่งนั้น เราบังคับตนเอง เราดัดแปลงตัวเอง มันเป็นความต่อต้านกัน มันก็เป็นความทุกข์อันหนึ่ง แต่ความทุกข์อันนี้เราไม่อยากทำกัน ว่ามันเป็นความทุกข์ มันขยะแขยง มันบอกว่าเหมือนกับสิ่งที่ว่า ทำไมต้องไปหามาเพิ่มความทุกข์ขึ้นมาให้กับตัวเรา

สิ่งที่เราว่าเป็นความทุกข์เพิ่มให้ตัวเรานี่มันกลับเป็นผลดี กลับเป็นผลดีกับเราเอง กลับเป็นผลดีเพราะอะไร เพราะมันเป็นเบรก มันเป็นสิ่งห้ามล้อ มันเป็นการเข้าไปต่อต้านกับใจของเรา แต่ถ้าเพราะเราไม่มีสิ่งนี้เลย มันขับเคลื่อนไปโดยธรรมชาติของมันที่มันคิดอยู่นั้นมันเป็นทุกข์โดยธรรมชาติของมัน แล้วเราก็ตามไปตามไป โดยที่เราว่าบ่นว่าทุกข์กันเฉยๆ

แต่ในการประพฤติปฏิบัติ ในการต่อต้าน นักกีฬามันต้องมีฝ่ายตรงข้าม มันถึงจะเป็นการแข่งขัน นี้เหมือนกัน เราสร้างธรรม ธรรมไง ความเพียร ทุกข์นี้จะล่วงพ้นด้วยความเพียร เรามีความเพียรของเรา เรามีความตั้งใจของเรา จะต่อสู้กับทุกข์ของเรา การต่อสู้กับทุกข์ของเราก็ด้วยการประพฤติปฏิบัตินี้ทำความตั้งใจจริงเพื่อทำความสงบของใจ อันนั้นเป็นการค้นคว้าหาใจไง ค้นคว้าหาเหตุผลของเรา

ถ้าเจอนะ ถ้าเราเจอเรา นี่เราเกิดมาเราบ่นว่าทุกข์ ว่าทุกข์ เขาว่ามีกายกับใจ...ก็ไม่เคยเห็นใจของตัวเอง ในการประพฤติปฏิบัติ การต่อต้าน การพยายามต่อต้านเรื่องการกระทำอันนี้ ถ้ากิเลสว่าเป็นความทุกข์ แต่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเข้าไปแล้ว ถ้าพูดถึงผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเข้าไปประสบความเป็นจริง ทุกข์มันก็เป็นความทุกข์อันหนึ่ง แต่ทุกข์อันนี้มันเข้าไปถึงทันกันแล้วมันจะปล่อยวางทุกข์อันนั้น

จิตนี้จะสงบได้ในเมื่อเราพยายามต่อต้านเข้าไป เจ็บปวดขนาดไหนนั่นเป็นเวทนา เวทนาที่เกิดขึ้นในการที่เรานั่ง อันนี้มันปกติ เพราะเหมือนกับเด็ก เด็กนี้เราไม่เคยจับให้อยู่นิ่งได้ ใจนี้ก็เหมือนกัน ใจนี้กระสับกระส่ายอยู่ตลอดเวลา เวลามีอะไรเกิดขึ้นกับในหัวใจมันจะแปรสภาพของมัน มันจะเปลี่ยนอิริยาบถของกายนี้ไปตลอด

ความจริงมันเป็นเวทนาอยู่โดยดั้งเดิม เวทนามันมีอยู่โดยดั้งเดิม อยู่โดยปกติของมัน แต่เราเปลี่ยนสภาวะไป เราเปลี่ยนอิริยาบถไปเรื่อยๆ เราถึงไม่เคยเห็น แต่ปัจจุบันนี้เราจะเข้าไปหา หาคือค้นคว้า คือเข้าไปต่อสู้ ต่อต้านให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นมา เราค้นคว้าของเรา

เราเป็นคนที่ว่าอยากจะเอาตนของตนให้อยู่ในอำนาจของตน มันก็ต้องค้นคว้าลงตรงนี้ไง

กาย เวทนา จิต ธรรม สติปัฏฐาน ๔ เท่านั้นเป็นงาน สิ่งอื่นนั่นไม่เป็นงาน

งานที่โลกเขาทำกันอยู่นี้มันเป็นงานประจำโลกเขา เราเกิดมาหรือไม่เกิดมา งานสิ่งนั้นก็มีอยู่แล้ว เราทำหรือไม่ทำ คนอื่นก็ต้องทำต่อไป งานนี้ถ้าเราตายไป งานนี้ก็ยังอยู่ เรื่องการธุรกิจในโลกนี้ยังมีอยู่ตลอดไป เราเกิดมาก็มีอย่างนี้ เราตายไปก็มีอย่างนี้ หรือถ้าเป็นงานของเรา เราก็จ้างคนอื่น ไหว้วานคนอื่นทำได้

แต่การงานของเรา งานในกาย เวทนา จิต ธรรมนี้มันเป็นงานของแต่ละบุคคล เป็นความสว่างของแต่ละดวงใจ ความสว่างสาธารณะนั้นคือว่าเราสวดมนต์ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบแล้ว ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีความสว่างที่ครอบโลกนี้อยู่ เราเป็นสาวกะ มีแบบมีอย่างอยู่แล้ว ความสว่างของเราเกิดขึ้นต้องทำงานอย่างนี้

ถ้าทำงานอย่างนี้ “กาย เวทนา จิต ธรรม” เห็นด้วยอะไร เห็นด้วยอริยสัจไง อริยสัจนี้เป็นนามธรรม “ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค” ทุกข์นี้เกิดดับเกิดดับตลอดเวลา ตัณหาก็เกิดดับ สมุทัยเกิดดับเกิดดับอยู่ตลอดเวลา นิโรธะความดับทุกข์ก็ดับจริงๆ แต่เราก็ไม่เคยเห็น มรรคอริยสัจจังต้องสร้างขึ้นมา ในอริยสัจนั้น ผู้รู้อริยสัจ เห็นอริยสัจ...เห็นอริยสัจในอะไร

ทุกข์นี้เป็นอาการ เห็นในกาย เวทนา จิต ธรรม ในกายของเรา ในเวทนาที่หัวใจกับกายนี้สัมผัสกัน “เวทนากาย-เวทนาจิต” จิตนี้มันทุกข์ มันโสมนัส มันโทมนัส มันก็เป็นทุกข์ มันก็เป็นเวทนาของจิต เวลามันเจ็บปวดร่างกายนี้เป็นเวทนาของกาย แต่จริงๆ แล้วมันเป็นความรู้ของจิตทั้งหมด จิตนี้รวมลงรับรู้อาการของกายมันก็มีเวทนาเกิดขึ้น “เวทนา”

“จิต” จิตคือความเศร้าหมอง จิตคือหัวใจของเรา เราพิจารณาจิตของเรา

“ธรรม” ธรรมคือว่าความคิด ความคิดโลกธรรม โลกธรรม “ธรรมารมณ์” อารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นธรรม เป็นธรรม แต่ถ้าเป็นธรรม มันเป็นธรรมโดยสัจจะความจริง มันไม่เป็นธรรมเพราะเป็นกิเลส กิเลสนี้เข้าไปอยู่ในความคิดนั้นมันก็หมุนไปตามกิเลส มันไม่เป็นธรรม

ถ้าเราดูธรรมารมณ์นี้ให้เป็นธรรม เราย้อนกลับเข้ามา งานที่จะรู้อริยสัจ รู้อริยสัจในสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ นั้นถึงเป็นที่ควรแก่การงาน งานนั้นเอาอะไรทำ? งานนั้นคือเอาหัวใจของผู้ที่เกิดนั้นทำ ผู้ใดเกิด เกิด อะไรพาเกิด? ใจพาเกิด ใจพาเกิด ใจนี้สำคัญที่สุด ใจพาเกิด

ใจนั้นมีอะไร? ใจนั้นมีอวิชชา ใจนั้นมีความลุ่มหลงอยู่ ถึงต้องสอนใจดวงนั้นไง ให้ใจดวงนั้นทำความสงบเข้ามาก่อน ให้ใจดวงนั้นสงบแล้วให้ยกขึ้นวิปัสสนา ถ้าใจดวงนั้น ยกใจดวงนั้นขึ้นวิปัสสนา งานของใจดวงนั้นเกิดขึ้น นี่งานจะรื้อภพรื้อชาติ งานจะพยายามเอาตัวนั้นให้พ้นออกไป ถ้าแก้เข้ามาตรงนี้แล้ว ถึงจะเป็นความจริงจากใจดวงนั้น

ใจทุกดวงถ้าทำเข้ามาถึงใจของตัวเอง มันจะสะอาดเข้ามา ความที่สะอาดเข้ามา สะอาดจากอะไร สะอาดจากกิเลสไง กิเลสพยามยามขับไสให้มันทำไป มันทุจริตอยู่ในหัวใจ ความคิดที่คิดแผลงๆ ก็คิดออกมาจากใจ คิดแล้วถึงมีการกระทำขึ้นไป นั่นน่ะ ถึงว่าทัพพีอยู่ในหม้อก็ไม่รู้รสชาติของแกง ถึงปฏิบัติมา ถึงบวชมาแล้วอยู่ในศาสนา แต่ไม่ได้เข้าไปถึงสัจจะความจริงเป็นภายใน

อาศัยด้วยนะ อาศัยเอาความสว่างของทางขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสินค้า เป็นสิ่งที่แสดงออกไป แต่แสดงออกไปด้วยสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แสดงธรรมออกไปข้างนอก แต่ความคิดภายในไม่สามารถตัดทอนได้

ความจะตัดทอนความคิดภายใน ตัดทอนหัวใจของผู้ประพฤติปฏิบัติมันต้องตัดทอนเข้ามาจากเอาใจตัดทอนใจไง ใจที่เป็นกิเลสนั้นมันคิดออกไปเป็นกิเลส เราถึงต้องรักษาความสงบเข้ามาที่ใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะทำความสงบเข้ามาที่ใจดวงนั้น ใจดวงนั้นพอสงบเข้ามา ถึงจะเป็นโลกุตตระ

ถ้าใจไม่สงบ มันคิดขนาดไหน มันเอนเอียงไง ใจที่เอนเอียง “เขาว่า-เราว่า” ความเป็นไปจะเป็นอย่างนั้น ผู้ใดปฏิบัติธรรมด้นเดาธรรม ความด้นเดาธรรมคือการคาดหมาย ใจของเรามันเป็นความมักง่าย อยากได้สิ่งที่ไวๆ อยากทำอะไรให้เกิดผลเกิดประโยชน์ นี่ความมักง่ายนี้เป็นเรื่องของกิเลส มันก็อยู่ที่ใจทั้งหมด

ความมักง่าย ความคิด ความด้นเดาไป ความคาดหมายไปไง ทุกดวงใจต้องว่าตัวเราเองมีปัญญามาก เวลาปัญญาเกิดขึ้น จะคาดหมายไปกับธรรมนั้น ธรรมสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ไง สิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา พอเกิดขึ้นมากับเรา เราพิจารณาไป เราพิจารณาไป แล้วมันจะคาดหมายไป นี่สุกก่อนห่าม

สิ่งที่จะเป็นความเป็นจริง มันวิปัสสนาไป ความคิดไป มันจะปล่อยวางเป็นชั้นเป็นตอนไป อย่างพวกเราเป็นเวไนยสัตว์ เวไนยสัตว์เป็นผู้ควรแก่การสั่งสอน ควรแก่การประพฤติปฏิบัติ ต้องทำบ่อยๆ เข้า ต้องหมั่นคราดหมั่นไถ

เพราะความประมาทความเลินเล่อของเรา ๑ กับกิเลสมันยุแยงตะแคงอยู่ในหัวใจนะ กิเลสจะเทียบจะเคียงให้ต้องเป็นแบบนั้น สิ่งที่เราไม่เคยประสบ พอจิตสงบเข้าไป เราพยายามทำความสงบบำเพ็ญเข้าไป ด้วยขันติ ด้วยบารมี พยายามอดทนของเราเข้าไป แล้วสร้างสมขึ้นมา มันเป็นไปได้ ธรรมชาติของกิเลสมันก็เกิดดับเหมือนกัน

ถ้าใจเรา เราทรงตัวของเราตลอดไป เวลากิเลสมันยุบยอบตัวไป จะเกิดความผ่องใส เกิดความสุขในใจดวงนั้น เราจะเทียบทันทีว่า “อ๋อ! นิพพานเป็นแบบนี้เหรอ ความว่างเป็นแบบนี้ จะเป็นเหมือนนิพพาน” ความคิดคิดไป มันไม่มีเหตุไม่มีผล ความที่ไม่มีเหตุไม่มีผล กิเลสมันหัวเราะเยาะนะ แต่หัวเราะเยาะว่ามันไม่เป็นความจริง แต่เราเข้าใจ เราคิดของเราเอง...นี่การคาดการหมาย ประพฤติปฏิบัติไปคาดหมายไป มันถึงไม่เป็นผล ความไม่เป็นผลขึ้นมานั้นเพราะความประมาทของเราเองให้โทษกับเรา ให้โทษที่ว่ามันเสียเวลาไง ให้โทษว่ามันต้องเริ่มต้นใหม่ ต้องวิปัสสนาซ้ำเข้าไป

ความซ้ำของเรา เราวิปัสสนาแล้วเราซ้ำอยู่ตรงนั้น “กาย เวทนา จิต ธรรม” อยู่ที่จริตนิสัย อยู่ที่อำนาจวาสนาของแต่ละบุคคล การประพฤติปฏิบัติไม่เหมือนกัน ของใครของเขา เราอย่าไปว่าของเราต้องเหมือนกับคนนั้น เหมือนกับคนนี้ เหมือนกับใครก็แล้วแต่ แต่ถ้าเราจับแล้วมันวิปัสสนาได้ มันก้าวเดินได้ในการใช้ปัญญาหมุนออกไป สิ่งที่หมุนออกไปเกิดจากเราถ้าหมุนออกไป นั่นน่ะคือผลงานของเรา

ถ้าเราจับแล้วมันไม่หมุนออกไป มันจับแล้วมันหลุดมือไป...ต้องพยายามก่อน สิ่งที่พยายามก่อนเพื่อเราจะได้ว่าเป็นผู้ที่ไม่ประมาทไง ทำจนกว่าสุดวิสัย สิ่งที่สุดวิสัย อ้าว! สุดวิสัยอย่างนี้ไม่ได้ เปลี่ยนใหม่

“กาย เวทนา จิต ธรรม” วิปัสสนาธรรมก็ได้ วิปัสสนากายก็ได้ ดูจิตก็ได้ เวทนานี่ยิ่งสำคัญใหญ่ เห็นไหม สู้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นแล้วต่อสู้ในขณะนั้น ในขณะที่ใจจับต้องได้ ถ้าใจจับต้องไม่ได้ มันมีความสงบเข้ามาก็มาอยู่ที่ความสงบนี้ ความสงบนี้ก็ให้ความสุขกับใจดวงนั้น ใจดวงนั้นเคยทุกข์เคยยากมาตลอด พอจิตนั้นสงบเข้ามามันก็มีอาหารของใจได้ดื่มกิน เราอยู่กับใจดวงนั้น เราอยู่กับความสงบของเรา ให้สงบอยู่อย่างนั้น อย่าไปกวน เวลาจิตสงบ สงบเข้าไปเลย จะสงบเข้าไปเวิ้งว้างขนาดไหนให้เข้าไป เข้าไปพักไว้ก่อน

ขณะที่ว่าเราทำความสงบนะ มันไป เราอย่าไปตกใจ ปล่อยไป ปล่อยไป ปล่อยเข้าไปถึงที่สุด แล้วให้พักอยู่ที่ฐานนั้น เวลาถอนออกมา ถอนออกมาแล้วถึงให้ทำงาน ถ้าผู้ที่ว่าวิปัสสนา เวลาถอนออกมาจะทำงานทันที ถ้าจับกาย เวทนา จิต ธรรมได้แล้วนะ ผู้ที่จับได้แล้วจะวิปัสสนาตลอด

แต่ว่าถ้าวิปัสสนาไป เราต้องบังคับ บังคับมาเพื่อจะให้เข้ามาทำความสงบไง ถ้าไม่บังคับเข้ามาแล้ว มันจะอยู่กับงานนั้นตลอด พออยู่กับงานเข้าไป มันทำบ่อยๆ เข้า มันฟั่นเฟือนไง นี่มรรคมันไม่รวมตัว จะเข้าใจว่าทำไมมรรคไม่รวมตัว มรรคไม่รวมตัว มรรคไม่สามัคคี ไม่สามัคคีก็ไม่สมุจเฉทปหาน

สิ่งที่ไม่สมุจเฉทปหาน เพราะความคิดของเรามันคิดไป สมาธิหรืออะไรมันหนักไปส่วนใดส่วนหนึ่ง มรรค ๘ นี้ไม่รวมตัว ถ้ามรรค ๘ นี้รวมตัว อาสวักขยญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่รวมตัวพอดี ขาดออกไปจากหัวใจ นี่เป็นอกุปปะ เป็นสิ่งที่ว่าคงที่อยู่ตลอดเวลา ใจดวงที่สกปรกอยู่ เวลาสะอาดขึ้นมาแล้วคงที่อยู่อย่างนั้น

ของเรามันก็มีความสะอาด มีดวงใจอยู่ แต่มันปกปิดด้วยกิเลสไง สิ่งที่สัมผัสได้ธรรมคือหัวใจ โดนปกปิดไปด้วยของปลอมคืออวิชชา สิ่งที่เป็นอวิชชาปกปิดไว้ พอปกปิดไว้ สิ่งใดมันไม่แน่ใจ สิ่งที่ไม่แน่ใจเหมือนเป็นพิษ สิ่งที่เป็นพิษไปจับต้องสิ่งใด สิ่งนั้นก็เป็นพิษไปหมด หัวใจนี้เป็นพิษ หัวใจนี้ตัวเองก็ไม่เข้าใจตัวเอง แล้วพอจับต้องไปถึงธรรม แล้วจับพลัดจับหลุดมือ จับผิดจับถูก มันไม่เข้าใจตามความเป็นจริง เราถึงว่าต้องกลับมาพักในสมาธิแล้วออกไปวิปัสสนาใหม่ ออกไปวิปัสสนาใหม่ วิปัสสนาคือการใคร่ครวญ

ปัญญา เวลาใช้ปัญญา ปัญญาจะกว้างขวางมาก คำว่า “กว้างขวาง” หมายถึงว่ามันจะเทียบเคียงกับสิ่งใดก็ได้ มันเกิดขึ้นเองก็ได้ ความที่เกิดขึ้นเองให้เป็นปัจจุบัน เวลาเกิดขึ้นมาวิปัสสนาไปมันจะปล่อย สิ่งที่ปล่อยเข้ามา ปล่อยเข้ามามันรู้เอง ถ้าสมุจเฉทปหาน มันปล่อยมันจะขาดออก “กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ธรรมเป็นธรรม” กายนี้เป็นกาย สิ่งที่มันเกาะเกี่ยวอยู่ เกิดมาเป็นมนุษย์มีกายกับใจ สิ่งที่มีกายขึ้นมา เป็นประโยชน์มาก เป็นประโยชน์เพราะมีกายกับใจ

ทีนี้เราจับต้องกันได้แต่ร่างกาย เราไม่เคยจับต้องกันได้ถึงหัวใจ แล้ววิปัสสนาไป วิปัสสนาไปในกาย เวทนา จิต ธรรม เวลามันหลุดออกไป หลุดออกไปด้วยอะไร ด้วยอริยสัจ สิ่งที่เป็นอริยสัจจะเข้าใจทันทีเลย เข้าใจในอริยสัจเพราะว่ามันปล่อยตามอริยสัจไง “ทุกข์เป็นทุกข์” ตัณหาความทะยานอยาก ตัณหาความทะยานอยากนี้ขาดออกไป นี้คือตัวกิเลส

นิโรธะคือความดับ ว่างหมดเลย ด้วยมรรคอริยสัจจังหมุนออกไป รู้อริยสัจตามความเป็นจริง นี่กลั่นออกมาจากอริยสัจเป็นชั้นเป็นตอน มรรค ๔ ผล ๔ เห็นไหม มรรค ๔ รวมตัวถึง ๔ หน รวมตัว ๔ หนเราต้องสร้างมรรคถึง ๔ หน แล้วสมุจเฉทปหานออกมาเป็นชั้นๆ ออกไป นี่รู้ในอริยสัจ รู้อริยสัจตามความเป็นจริง จิตนี้พ้นออกมาจากอริยสัจ นี่สมุจเฉทปหานเป็นแบบนั้น ถ้าตามความเป็นจริงนะ

แต่ถ้าเราพิจารณาไปมันปล่อยไปให้มันปล่อยไป ซ้ำไปเรื่อยๆ ปล่อยไม่มีสิ่งใดหลุดออกไปไง คำว่า “ปล่อย” นี้ นักวิปัสสนาบอกบ่อยว่า “ปล่อยว่าง ปล่อยว่าง” ปล่อยว่างอยู่อย่างนั้นเอง แต่เขาไม่ซ้ำลงไป ซ้ำหมายถึงวิปัสสนาซ้ำสิ่งที่ทำมาแล้ว เขาว่างานนี้ทำมาแล้วไม่อยากทำ จะทำงานสิ่งที่สำคัญกว่าไง จะทำงานที่ใหญ่กว่าไง สิ่งที่สำคัญข้างหน้าอยากจะได้ผลไปข้างหน้า คิดเข้าใจว่างานนี้เสร็จแล้ว เราเข้าใจว่างานเสร็จแล้ว เราจะทำงานต่อไป ทำงานต่อไป

ถ้าเราทำงานต่อไปในวิปัสสนานะ เพราะเรื่องของใจ เรื่องของนามธรรม นามธรรมนี่เราพยายามสร้างจากนามธรรมขึ้นมาให้เป็นรูปธรรม รูปธรรมหมายถึงว่าจิตนี้เราสะสมขึ้นมาจนเป็นมรรค มรรคหมายถึงว่าความคิดความดำริมันเห็นๆ ในหัวใจ มันจับต้องได้ พิจารณากายก็เหมือนกัน นี่เป็นรูปธรรมในการวิปัสสนาไป

ความวิปัสสนาไป รูปธรรมนี่หมุนไป นี่มรรคจะหมุนออกไป เวลาหลุดมันจะหลุดออกไปให้เห็นๆ แต่ถ้ามันไม่ใช่หลุดออกไปให้เห็นๆ ความว่างมันว่างเฉยๆ ความว่างหมายถึงว่าเหตุผลมันไม่เพียงพอ นี่นามธรรมเป็นนามธรรม นามธรรมที่เราสร้างขึ้นมามันเป็นไปแล้วมันปล่อยเอง นั่นเหตุผลกับใจ ใจดวงนั้นก็เป็นอกุปปะขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนขั้นไป

แต่ไม่เป็นอกุปปะ มันปล่อยวาง ปล่อยวางแล้วเราจะทำงานต่อไป ทำงานข้างหน้าต่อไป จะทำข้างหน้าต่อไปขนาดไหน มันก็เป็นงานเดิม มันเป็นสถานที่เดิมนั้นไง มันเป็นจุดเดิมนั้น จุดเดิมเพราะว่ากิเลสมันอยู่ตรงนั้น เรายังไม่ได้เลาะเข้ามา สิ่งที่เลาะเข้ามา เหมือนกับผลไม้ ถ้าเปลือกผลไม้เราไม่ได้ปอกเปลือกผลไม้ เราจับต้องตรงไหนก็เป็นเปลือกของผลไม้ทั้งนั้น ผลไม้ผลนั้น เราเอามือจับ จับกี่ครั้งๆ ก็จับที่เปลือกผลไม้นั้น แต่ความเข้าใจของเราว่าเราจับเปลือกผลไม้แล้วจับเข้าไปอีก เราพยายามจะจับเนื้อผลไม้เข้าไปในเนื้อของผลไม้นั้น นี้ก็เหมือนกัน ความเข้าใจเป็นความเข้าใจ เพราะสิ่งที่เป็นนามธรรมเราจินตนาการได้ จับเปลือกผลไม้เราก็นึกว่าเนื้อเป็นอย่างนั้นๆ คิดเข้าไปแล้วความรู้สึกจะเกิดขึ้นอย่างนั้น

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราเข้าใจว่าเราจะทำงานที่สูงขึ้นไป ทำงานที่สำคัญกว่าข้างหน้าเข้าไป ข้างหน้าเข้าไป “เราเข้าใจว่า” แต่ความจริงเราวิปัสสนาก็ซ้ำลงที่เดิม ซ้ำลงที่เดิม ซ้ำลงที่เดิม แล้ววิปัสสนาจะไม่ได้ผลด้วย ไม่ได้ผลเพราะว่ามันไม่ควรแก่การงานไง มันคิดเลยเถิดไป มันไม่เป็นปัจจุบัน มันเป็นอดีต-อนาคต มันไม่ลงในสถานที่นั้น

ถ้าเราซ้ำเข้าไปโดยความเห็นของเรา ความเห็นว่าเราวิปัสสนาเรื่องกาย พิจารณากายหรือจิต ตรงนั้น ซ้ำตรงนั้น ซ้ำไปตลอด ซ้ำไปๆ จนมันเป็นเอง มันหลุดเอง สิ่งที่หลุดออกไปมันจะเห็นใจโดยสัจจะ สิ่งนี้ต่างหาก ถึงว่าจะไม่มีการเสื่อม สิ่งที่ไม่เสื่อม ใจดวงนั้นก็เป็นคุณกับใจดวงนั้นขึ้นมาเอง ใจดวงนั้น ใจดวงนั้นเป็นหลักเป็นเกณฑ์ที่ยืนได้บนสัจจะความจริง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ธัมมจักฯ พระอัญญาโกณฑัญญะรู้ขึ้นมาอย่างนี้ นี่ดวงตาเห็นธรรม ถ้าจิตพิจารณาตรงนี้ขึ้นมาจะเห็นสัจจะความจริง เห็นธรรมขึ้นมา เป็นที่พึ่งของตนเองได้ ใจดวงนั้นมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา เป็นที่พึ่งของเรา เป็นที่พึ่งของใจดวงนั้นด้วย แล้วยังต้องก้าวเดินต่อไป ก้าวเดินต่อไปไปในหัวใจนั้น

ถึงว่าสิ่งที่ว่าพาเกิดพาเกิด “เกิดแล้วถึงทุกข์” จิตนี้ยังเกิดอยู่ สิ่งยังเกิดอยู่ยังมีความทุกข์อยู่ในหัวใจดวงนั้น ความทุกข์ในหัวใจดวงนั้น ทุกข์นั้นก็เศร้าหมองอยู่ในใจดวงนั้น เราต้องพิจารณาพยายามทำใจดวงนั้นเข้าไป ถึงบอกว่า “มรรค ๔ ผล ๔” มรรค ๔ ผล ๔ ต้องก้าวเดินต่อไป ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ถึงว่าไม่นอนใจ ความไม่นอนใจ จากความประมาท เริ่มต้นเราประมาทเข้ามา ในชีวิตเราก็ประมาทกันอยู่แล้ว การประพฤติปฏิบัติเราก็ไม่ประมาท ความไม่ประมาทพยายามก้าวเดินของเราเข้าไปข้างใน พยายามก้าวเดินเข้าไป ก้าวเดินเข้าไป ก้าวเดินเข้าไป...ค้นคว้าไง สิ่งที่ว่าภาวนาไป ทำความสงบเข้าไป มันถ้าจิตนี้สงบอยู่แล้ว จิตนี้มันมีพื้นฐาน มันจะมีความสงบของมันเป็นพื้นฐาน

แต่กิเลส “กิเลส” สิ่งที่พาเกิดพาตายในหัวใจของเรามันละเอียดอ่อน ความที่ว่ามันฉลาดกว่าเราไง เราจะศึกษาเล่าเรียนมา ปัญญาขนาดไหนก็แล้วแต่ เราจะมีปัญญาขนาดไหน เราว่าเราฉลาด สิ่งที่ฉลาดนั้น เห็นไหม กิเลสพาใช้ กิเลสมันอยู่หลังความฉลาดนั้น คนที่ว่าการศึกษาน้อยแต่มีเชาว์ปัญญา เขามีเชาว์ปัญญา กิเลสก็พาใช้สิ่งนั้น คนที่เรียนมาขนาดไหน สูงมาขนาดไหน กิเลสก็อยู่หลังความคิดอันนั้น กิเลสอันนี้ถึงสำคัญมาก

คำว่า “กิเลสๆ” คือตัวอวิชชา คือพญามารในหัวใจของสัตว์โลก มันทำสัตว์โลกให้เจ็บแสบปวดร้อนมาตลอดเวลา แต่เราไม่เคยเห็นโทษของมันนะ เราจะเห็นโทษแต่ของคนอื่น เห็นโทษของคนรอบข้าง เห็นโทษของคนที่ติเตียนเรา เพราะติเตียนเรา แม้แต่ครูบาอาจารย์ติเตียนเรา ติเตียนว่าสิ่งนั้นชี้ให้เห็นว่าสิ่งนี้เป็นความผิดความถูก เห็นไหม เพราะเราไม่เห็น

สิ่งที่เกิดกับเราแท้ๆ นะ แต่เราไม่เคยเห็นว่าสิ่งนี้เป็นโทษกับเรา แล้วก็ทำให้เราแสดงกิริยาออกไปเป็นโทษ นั่นน่ะ แสดงกิริยาออกไปเป็นโทษกับเรา และเราไม่รู้เราไม่เห็นจนแสดงออกไป มันหยาบขนาดไหน แล้วถ้าเราย้อนกลับมาดูของเรา นี่การค้นคว้าหากิเลสไง การประพฤติปฏิบัติ การค้นคว้าหากาย เวทนา จิต ธรรม ที่เราคิดว่าเราเห็นว่ากาย เวทนา จิต ธรรม เราจะคิดว่าหาได้ง่ายๆ...หาไม่ง่ายถ้าเห็นตามความเป็นจริงโดยตาธรรมนะ กาย เวทนา จิต ธรรมเป็นชั้นๆ เข้าไป

อย่างเช่น “กาย” เห็นกายนอก

พิจารณากายนอกเป็นอนิจจัง

พิจารณากายเข้าไปอีกชั้นหนึ่งเป็นธาตุ ๔

พิจารณากายเข้าไปอีกชั้นหนึ่งเป็นอสุภะ-อสุภัง

พิจารณากายอีกชั้นหนึ่งเป็นกายที่ว่าเป็นตอของจิต กายนี้เป็นตอของจิตอยู่เฉยๆ

นี่กายก็เป็นความละเอียดอ่อนเข้าไปเป็นชั้นๆ เข้าไป

“เวทนา จิต” เหมือนกันทั้งหมด เวทนานอก-เวทนาใน-เวทนาในเวทนา

ที่ว่าเป็นชั้นๆ เพราะอะไร?

เพราะกิเลสมันละเอียดอ่อน มันอาศัยความเป็นชั้นเป็นตอนนั้นซุกซ่อนตัวมาตลอด เวลาความคิดออกมาจากความดำริ แล้วออกมาสื่อกันโดยโลกเขาใช้กัน มันจะผ่านสิ่งนี้ออกมาแล้วกิเลสก็ใช้ออกมา ออกมา เห็นไหม จะทำงานใดๆ ก็แล้วแต่ จะคิดด้วยสมองด้วยเรื่องอะไรก็แล้วแต่ สิ่งนี้จะเคลื่อนตามไปตลอด กิเลสนี้เคลื่อนตามออกไปตลอด แต่เราไม่สามารถย้อนกลับเข้าไปเห็นสิ่งที่อยู่หลังความคิดไง

กิเลสนี้อยู่หลังความคิดของเรา เราถึงไม่เคยเห็นกิเลสเลย

ถึงต้องทำความสงบ พยายามทำความสงบเข้าไป ทำความสงบเข้าไป เพราะเป็นสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิมันจะหยุดความคิดได้ชั่วคราวแล้วหันกลับไง หันกลับมาเห็นหลังความคิดนั้น เห็นสิ่งที่อวิชชาใช้ความคิด ที่ว่าคนจะฉลาดหรือโง่ขนาดไหน ความคิดอันนั้นมันเป็นกิเลสพาใช้ทั้งหมด ย้อนกลับเข้าไปถ้าจับตรงนี้ได้ นั้นคือจับงานได้

กาย เวทนา จิต ธรรม จับได้แบบนี้ เห็นกาย เวทนา จิต ธรรมแบบนี้ไง สิ่งที่เกิดขึ้นแบบนี้ ที่ว่าหมุนอยู่หลังความคิดที่ใช้ความคิดโดยธรรมชาติที่ว่าเราเกิดเป็นมนุษย์อยู่นี่ แล้วเห็นแล้วเราวิปัสสนา วิปัสสนาให้เห็นในอริยสัจ มันเป็นอริยสัจ อริยสัจนี้เป็นธรรม ธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้มันเป็นความจริง ความจริงเป็นอย่างนี้

แต่สมมุติของเราที่เราใช้อยู่ในโลกสมมุติ ความคิดของเรานี้เป็นสมมุติ ความที่สมมุตินี้ก็เกิดดับ เกิดดับโดยสมมุติแล้วก็เวียนไปในสมมุตินั้น เกิดตายไปในสมมุตินั้น มันไม่ใช่เป็นอริยสัจ อริยสัจคือเป็นความจริง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นี่วิปัสสนาไปจนเห็นไง เห็นอย่างนั้นเป็นชั้นเป็นตอน

“เห็นทุกข์” ทุกข์นี้เกิดจากอะไร? ทุกข์นี้เกิดจากความคลาดเคลื่อนกับความคิด จากหัวใจของเรา จากกายที่เราปรารถนา จากความเห็นของเรา เห็นไหม ความเห็นผิด ตัณหาความทะยานอยาก ความทะยานอยากไม่ต้องการให้เป็นไปตามธรรมชาติ ต้องการรั้งไว้สิ่งที่เราพอใจ ต้องการผลักไสสิ่งที่เราไม่พอใจอันนั้นออกไป ไม่รู้สิ่งใดๆ เลย อยู่เฉยๆ นั้นก็เป็นตัณหา

ตัณหา-ภวตัณหา-วิภวตัณหา เพราะตัณหานี้ อวิชชานี้มีอยู่โดยดั้งเดิม ตัณหานี้พาหัวใจนี้เกิดดับเกิดดับ เกิดตายมาโดยธรรมชาติของมัน มันมีอยู่แล้ว จะพอใจ-ไม่พอใจ ตัณหานี้มีอยู่โดยดั้งเดิมอยู่แล้ว

“ทุกข์ สมุทัย” ตัณหาเป็นสมุทัย สมุทัยวิปัสสนาตรงนี้ อันนี้เป็นฝ่ายผูกมัด เป็นฝ่ายที่เรามองไม่เห็น เป็นฝ่ายที่ว่ามันเป็นไปโดยที่ว่าเคลื่อนไป นี่ใช้มรรคเข้ามาวิปัสสนาตรงนี้ วิปัสสนาในสติปัฏฐาน ๔ ในสติปัฏฐาน ๔ พิจารณาอย่างนี้ พิจารณาไป ซ้ำไปๆ พิจารณาจนปล่อยวางทั้งหมด ตัณหานี้หลุดออกไป นิโรธะเกิดขึ้นน่ะ ดับหมด

นิโรธความดับกิเลสเป็นชั้นเป็นตอน เป็นชั้นเป็นตอนที่ว่าเราวิปัสสนาของเราเองนั่นล่ะ นี่วิปัสสนาเพื่อแบบนี้ ไม่ใช่วิปัสสนาเพื่อความรู้สิ่งใด วิปัสสนาให้รู้สัจจะตามความเป็นจริงตามธรรม เห็นธรรมตามความเป็นจริงต้องเห็นธรรมแบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็น

ถ้าเห็นธรรมตามความเป็นจริงแบบนั้น นี่ความสว่างของใจจะเกิดขึ้นเป็นชั้นๆ เข้าไป ใจนี้สว่างขึ้น สว่างขึ้น เป็นสว่างที่เกิดขึ้นจากพลังงานใจดวงนั้น “อาโลโก อุทปาทิ” ความสว่างกระจ่างแจ้งเกิดขึ้นกับใจดวงนั้นแล้ว ใจดวงนั้นเป็นอิสระขึ้นมาเป็นชั้นๆ เข้ามา ความที่เป็นอิสระ สิ่งที่เป็นอิสระขึ้นมา อิสระขึ้นไปเป็นชั้นเข้าไป อิสระมันก็ต้องไม่เป็นขี้ข้าเขาสิ สิ่งที่ไม่เป็นขี้ข้ากิเลสเลย สิ่งที่เป็นอิสระขึ้นมา อิสระเข้าไปจนถึงว่าดับกิเลสทั้งหมด เห็นไหม สิ่งที่ไม่เกิดอีกไง

ถ้าเกิดก็สิ่งที่พาให้เกิด “เกิดถึงทุกข์” เพราะเกิดแล้วก็ทุกข์ ทุกข์ไปเรื่อยๆ

แต่ขณะที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วออกประพฤติปฏิบัติด้วย จนเป็นอิสระแล้ว เกิดแล้วไม่ตาย เกิดแล้วไม่ตายอีกเลย ใจดวงนี้จะไม่มีวันตายอีก แล้วใจดวงนี้ก็ไม่ไปเกิดอีก สิ่งที่ไม่ไปเกิดเพราะอะไร เพราะใจนี้เป็นอิสระแล้ว ถ้าใจดวงนี้เป็นอิสระแล้ว ถึงมีอยู่ ถึงผลของการประพฤติปฏิบัติมีอยู่ในหัวใจดวงนั้น หัวใจดวงนั้นจะมีความสุขในใจดวงนั้นมาก ใจดวงนั้นจะมีความสุขไปตลอด แต่อาศัยร่างกายนี้เป็นเครื่องอยู่ไปเรื่อยๆ นี่ถึงว่าไม่มีวันเกิดและวันตาย

การเกิดและการตายถึงเป็นการหลอกกัน หลอกกันแต่เปลือกๆ นะ ใจที่พาเกิดพาตายนี้เวียนตายเวียนเกิดไปตลอด แต่ใจดวงนั้นถ้ามันดับแล้วมันก็อยู่เฉยๆ อยู่เฉยๆ ย้อนกลับมาสิ ย้อนกลับมาดูการเกิดการตายที่มันเคยเกิดเคยตายมาแล้วไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ นั่นน่ะ ความเกิดความตายนั้นถึงว่าเป็นทุกข์มาตลอดเลย มีแต่ความทุกข์สะสมมาตลอด

แล้วพอมาเป็นอิสระแล้วจะไม่มีทุกข์เข้าถึงใจดวงนั้น ใจดวงนั้นก็เป็นอิสระ ไม่มีการเกิดและการตายจากใจดวงนั้น นี่มันถึงว่า “ไม่เกิดถึงไม่ทุกข์ไง” ถ้ายังเกิดอยู่ ยังทุกข์อยู่ตลอดไป ถ้าใจดวงที่ไม่เกิด ความสุขจากใจดวงนั้น นี่อำนาจวาสนาของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเข้าถึงใจดวงนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงได้เย้ยมาร ความดำริเกิดขึ้นจากตรงนี้ ทีนี้พอดำริเกิดขึ้นจากตรงนี้มันก็ใช้ไปโดยธรรมชาติของมัน นี้ไง เวทนาที่ไม่เสวยไง จิตที่กระเพื่อมไปเฉยๆ

แต่พวกที่ว่าเราปุถุชนที่การประพฤติปฏิบัตินี้ จิตนี้เสวยเวทนาไปตลอด ความคิดที่เกิดขึ้นมากับเรากับใจนี้เป็นเนื้อเดียวกัน นี้เขาเรียกว่าเสวยอารมณ์ เสวยเวทนา ความคิดนี้มันเสวยไปตลอด มันเป็นอันเดียวกัน มันเป็นเนื้อเดียวกันเหมือนกระดาษซับ กระดาษซับซับน้ำหมึกไป มันซับน้ำหมึกมาอยู่ในกระดาษนั้นแล้ว กระดาษนั้นก็ต้องเป็นสีของหมึกนั้นไปตลอด

ใจก็เหมือนกัน มันเสวยอารมณ์ไป มันไม่เป็นอิสระ พอเสวยอารมณ์ไป มันถึงได้ทุกข์ได้ยากอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าเป็นอิสระแล้วไม่เสวยใดๆ ทั้งสิ้น พอไม่เสวย ไม่เสวยเพียงแต่สิ่งที่ยังมีชีวิตอยู่ สิ่งที่เป็นไป เป็นประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ตนเกิดประโยชน์ขึ้นมาแล้วมีความสุขขึ้นมาจากใจดวงนั้นแล้ว ประโยชน์ของคนอื่นไง ประโยชน์ของคนอื่น เห็นไหม จรรโลงศาสนาไป

ผู้ที่จรรโลงศาสนาไป เป็นที่พึ่งของตนด้วย เป็นที่พึ่งของหมู่คณะ เป็นที่พึ่งของสัตว์โลก เป็นประโยชน์ไปตลอด แล้วมีแต่เป็นประโยชน์นะ ไม่มีโทษจากใจดวงนั้นเลย ใจดวงนั้นมีความสุขด้วย แล้วเป็นประโยชน์ไป เราปรารถนาอย่างนั้น เราจงใจทำกันอย่างนั้น เพื่อจะให้ถึงที่สุดของการประพฤติปฏิบัติ ถึงที่สุดของการประพฤติปฏิบัติคือว่าการทำให้ใจนี้เป็นอิสระจากทั้งหมด

แต่ถ้ายังไม่ถึง เราต้องก้าวเดินไป ความก้าวเดินไป ถึงว่ามรรคผลนิพพานมีอยู่ กำลังใจจะเกิดขึ้นมากับเรา สิ่งที่เราเป้าหมาย เป้าหมายของเรา เรามีเป้าหมายอยู่ แล้วเป้าหมายนั้นมีผลจริงๆ ด้วย ไม่ใช่ว่าเป้าหมายนี้เป็นเป้าหมายที่เลื่อนลอย สิ่งที่เลื่อนลอยไง การสอนนี้ก็สอนกันไปไม่มีเหตุไม่มีผล...เหตุผลมันมีอยู่แล้ว แต่เราไม่สามารถสร้างเหตุผลขึ้นมาได้ อย่างว่าสิ่งที่เป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรมมันก็เลื่อนลอยไป เสวยอารมณ์ไปตลอด

สิ่งที่เป็นรูปธรรมมันแยกออกมา นามธรรมนั้นแยกออกมาเป็นสมาธิ เป็นปัญญา” ศีล สมาธิ ปัญญา” ศีลเกิดขึ้นมาได้ เห็นไหม นี่สิ่งที่เป็นนามธรรม ถ้าเราไม่เริ่มต้น เราทรงตัวขึ้นมา เราทำจิตของเราให้สงบขึ้นมาได้...เอาอะไรมาแยก? ถ้าไม่นับ ๑ จะ ๒ ๓ มาจากไหน ถ้าเราไม่ทำความสงบของเราขึ้นมาจากใจให้เห็นตัวเราก่อน ให้เห็นสถานที่ทำงานขึ้นมาก่อน แล้วเราจะเอาอะไรทำงาน ถ้าเราไม่มีแก่ใจเลย เราตั้งขึ้นมาไม่ได้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ปรารถนาจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ สงสารสัตว์โลกนี้มาก อยากจะขนสัตว์โลกไปให้หมด แต่จะขนไปได้อย่างไร จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ก็รื้อสัตว์ขนสัตว์ประทานธรรมะอันนี้ไว้ ให้เราเดินตามธรรมะอันนี้ขึ้นไป นี่ถึงว่าชี้ถึงการประพฤติปฏิบัติไง จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ได้ สัตว์นั้นต้องขวนขวาย สัตว์นั้นต้องทำเอง

เพราะใจดวงนั้น กิเลสมันอยู่ในหัวใจ ความสกปรกอยู่ในหัวใจของเรา สิ่งที่สกปรกเราซ่อนเอาไว้อยู่ในร่างกายของเรา เราชำระอาบน้ำอยู่ทุกวันๆ เราก็อาบน้ำเฉพาะชำระล้างร่างกายเท่านั้น แต่หัวใจนี้เอาอะไรไปชำระล้างมัน เห็นไหม ความคิดนี้จะเอาอะไรไปชำระล้างให้สะอาดได้...ธรรมเท่านั้น! ธรรมเท่านั้นถึงชำระล้างความคิดของเราได้

ความสะอาดของเราคือว่าต้องวิปัสสนาเข้าไป ชำระความคิดอันนี้ออกไปเป็นชั้นๆ เข้าไป ถ้าสัมมาสมาธิ สมาธินี้เพียงแต่กดไว้เฉยๆ กำหนดคำบริกรรม บริกรรมพุทโธ พุทโธ พุทโธ กำหนดคำบริกรรมไว้ เคยจะคิดอย่างใดที่เคยเป็นอิสระไม่ให้คิด ให้คิดเฉพาะเรื่องพุทโธ พุทโธ เท่านั้น คิดพุทโธ พุทโธ พุทโธ เพื่อจะให้ความสงบนี้เข้ามา

อาหาร จิตนี้เสวยอารมณ์เป็นอาหาร พอเสวยอารมณ์มันก็เสวยไปทั่ว แต่ตอนนี้เราให้คำบริกรรม ให้จิตนี้เสวยคำบริกรรม พุทโธ พุทโธ บังคับให้จิตคิดถึงพุทโธ ให้เอาพุทโธนี้เป็นอาหาร นี่ธรรมอย่างหยาบๆ ธรรมในสมาธิธรรม ให้จิตนี้ได้เสวยสมาธิธรรม

นี่แยกออกมาแล้ว แยกออกมาจากที่ว่ามันเป็นความคิดออกไป คิดออกไปโดยกิเลสล้วนๆ ให้แยกออกมาเป็นธรรมบ้าง พอแยกออกมา พอแยกออกมาก็แยกแยะได้ สิ่งที่เป็นสมาธิขึ้นมาแล้วก็แยกแยะได้ พอแยกแยะได้ก็ค้นคว้า ค้นคว้า ค้นคว้าหากาย เวทนา จิต ธรรม สติปัฏฐาน ๔ เท่านั้น

สติปัฏฐาน ๔ อยู่โดยธรรมชาติอยู่แล้ว อริยสัจ ๔ สติปัฏฐาน ๔ มีอยู่ในตำรา เราว่าเราเข้าใจ เราศึกษามา ใครก็อธิบายได้นะ อธิบายได้ วิเคราะห์ได้ อริยสัจ ๔ วิเคราะห์ด้วยวิเคราะห์วิจัย วิจารณ์มันเป็นความคิด วิพากษ์ เป็นกิเลสทั้งหมด ความเห็นจริงไม่ใช่วิเคราะห์ ความเห็นจริงคือแทรกเข้าไปในเนื้อของอย่างนั้น ใจจะแปรสภาพเป็นอริยสัจออกไปอย่างนั้น ไม่ใช่การวิเคราะห์วิจัย

แต่ความรู้ของเรานี้เป็นการรู้แบบวิเคราะห์วิจัย วิเคราะห์วิจัยนั้นกิเลสมันก็หัวเราะเยาะสิ มันก็อยู่หลังการวิเคราะห์วิจัยนั้น วิเคราะห์วิจัยนั้นก็วิเคราะห์วิจัยความเห็นของเรา เราเอาความเห็นของเราไปวิเคราะห์ธรรมที่เป็นปัจจัตตัง ธรรมที่เป็นอกาลิโกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นความเป็นเที่ยงตรงอยู่อย่างนั้นแล้ว

แต่เราก็เอาความเห็นของเราเข้าไปคาดหมาย การวิเคราะห์วิจัยของเรา วิเคราะห์วิจัยโดยการคาดการหมายในอริยสัจนั้น แล้วเราได้อะไรขึ้นมา? เราได้แต่การเดินวนเวียนอยู่ในหัวใจตรงนั้น เหยียบย่ำอยู่ในที่เดิม ไม่ก้าวเดินออกไปจากใจนั้น คือมันไม่ได้ชำระอะไรออกไปจากใจดวงนั้นเลย ใจดวงนั้นก็ก้าวเดินอยู่ในโคลนตมของมันที่ความคิดของมัน นี่วิเคราะห์วิจัย นี้ความเห็น ความเห็นที่วิเคราะห์วิจัยในอริยสัจ

แต่ถ้าเป็นความจริง ความจริงก็เป็นความจริงในการประพฤติปฏิบัติที่แทรกเข้าไป แทรกเข้าไป มันเห็นเองรู้เอง รู้ชัดๆ ขึ้นมาในอริยสัจนั้น นั่นน่ะ เป้าหมายมันเป็นอย่างนั้น เรามีของเราอยู่แล้วคือหัวใจ หัวใจนี่สร้างพลังงานขึ้นมา ถ้าเราสร้างพลังงานขึ้นมามันจะก้าวเดินออกไปได้

ถ้าเราวิเคราะห์วิจัยโดยการคิดของเรา มันจะเหยียบเดินซอยเท้าอยู่กับที่ แล้วกิเลสมันก็อยู่ตรงนั้น แล้วก็หมดไปชาติหนึ่งภพหนึ่งชาติหนึ่งภพหนึ่ง แล้วว่าเราประพฤติปฏิบัติธรรมไง เราประพฤติปฏิบัติธรรมโดยเอากิเลสมาให้อยู่เหนือไง ประพฤติปฏิบัติธรรมโดยที่ว่าเดินตามกิเลสของเราไป ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติธรรมเดินตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นครูบาอาจารย์ เป็นศาสดาองค์เอกที่เป็นครูบาอาจารย์ เห็นไหม สลบถึง ๓ หนนะ สะสมบารมีมาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่บุญกุศลขนาดไหน ต้องตรัสรู้โดยเด็ดขาด อัญญาโกณฑัญญะทายไว้ตั้งแต่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะแล้วว่า “ต้อง” ต้องสำเร็จ ต้องออกบวชโดยแน่นอน พราหมณ์ทั้ง ๘ พยากรณ์ทั้งหมด นี่ออกประพฤติปฏิบัติมายังต้อง ๖ ปี พยายามเต็มที่อยู่ ๖ ปี

ของเรานี้มีอยู่ แผนที่เครื่องดำเนิน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางเอาไว้แล้ว เพียงแต่ก้าวเดินออกไป เหมือนกับชุบมือเปิบนะ ถ้าจะสร้างกำลังใจให้ตน ต้องคิดอย่างนั้น เรานี่ล้างมือมาแล้วก็เปิดสำรับอาหารแล้วก็กินเลย นี้เหมือนกัน ตำรับตำราเขียนไว้หมด แต่เราไปวิเคราะห์วิจัยไง อาหารที่เป็นอาหารควรจะเป็นอาหาร อาหารที่เรากินเป็นคำข้าว อันนี้ก็ดูอาหาร คิดเอาเอง คาดเอาเอง ให้เป็นอะไรก็ไม่รู้ เป็นอาหารที่กินไม่ได้ไง มันกินเข้าไม่ถึงใจ ถ้ากินได้ อารมณ์นี้เป็นเครื่องเสวยกิเลส กับใจเสวยธรรมไง

ใจเข้าถึงธรรมแล้วใจอิ่มในธรรม จิตดวงนั้นอิ่มเสมอไม่มีสิ่งใดๆ จะเติมเข้าไปในใจดวงนั้นได้ ใจดวงนั้นพอ ใจดวงนั้นอิ่มเต็ม นั่นน่ะ เสวยธรรม จิตที่เป็นธรรมเสวยธรรม ธรรมกับใจนี้เป็น “เอโกธัมโม” เป็นเอก เป็นหนึ่งเดียว ไม่มีสอง หนึ่งไม่มีสองคือธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่เป็นของคู่ ไม่มีมืดมีสว่าง ไม่มีการแปรปรวน เป็นหนึ่งตั้งมั่น อันนั้นเป็นธรรมโดยสมบูรณ์

แต่ของเรามันไม่ใช่อย่างนั้น เราคาดเราหมายไป คาดหมายไปของเรา มันยังพร่องอยู่ เพราะการคาดการหมายมันมีที่ว่างที่จะให้คาดให้หมาย มันยังมีคนโต้แย้งได้ กิเลสนั้นแหละพาให้โต้แย้ง กิเลสนั้นน่ะพาให้เป็นไป เราก็หมุนเวียนไป หมุนไปในความคิดของเรา มันต้องเห็นโทษเข้ามา เห็นโทษเข้ามา ๑ สร้างกำลังใจให้ตัว

ถ้าเราไม่มีกำลังใจ เราก้าวเดินไปไม่ได้ การประพฤติปฏิบัตินะ การซอยเท้าอยู่กับที่นะ แล้วมันจะทำให้เศร้าหมอง พอใจเศร้าหมอง ใจก็ท้อถอย พอใจท้อถอย ใจก็ไม่อยากจะทำ แต่ถ้ามีกำลังใจขึ้นมานี่ จะซอยเท้าขนาดไหน ซอยเท้ามันต้องขยับไปข้างหน้า ซอยเท้านั้นกลายเป็นก้าวเดิน ก้าวเดินกลายเป็นวิ่งออกไป

เวลาจิตมันเป็นไป วิปัสสนาเป็นไป ไม่เหมือนเดิมนะ ไม่คิดว่ามันจะเป็นไปได้ มันเป็นไป เวลามันก้าวเดินถูกช่อง ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ต้องถูกตามธรรมด้วย ไม่ใช่ถูกตามความเห็นของเรา ถูกตามความเป็นธรรม มรรคสามัคคีรวมตัว ภาวนามยปัญญาเกิดขึ้น มันทำลายไปหมดนะ ชำระสะสางเข้าไปเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป หลุดออกไปเป็นชั้นเป็นตอน เข้าไปเป็นต่อหน้าต่อตา ต่อหน้าต่อตานะ มันถึงว่าเป็นปัจจัตตังไง ไม่ต้องถามใคร เห็นๆ ออกไปหลุดเป็นชั้นเป็นตอน

แล้วย้อนกลับมาถึงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “เป็นอย่างนี้เอง เป็นอย่างนี้เอง” ทำไมเป็นอย่างนี้เอง แล้วลึกละเอียดเข้าไป มันถึงกับว่าสะท้อนใจ มันลึกซึ้งขนาดนี้ รู้ได้อย่างไร รู้ได้อย่างไร ทำไมเราเห็นได้อย่างไร แต่ที่ว่าเราว่ารู้ได้อย่างไรเพราะอะไร

เพราะว่ามันแปลกประหลาดไม่เหมือนโลก สิ่งที่โลกนี้มี ในวัฏวนนี้มีนะ ไม่เคยมี ถ้าคนเคยเห็นเรื่องธรรมแล้วจะไม่เกิดตายในวัฏฏะนี้ แล้วในวัฏฏะ ในเทวดา ในพรหม เพราะในมนุษย์โลกเราวิชาการใดๆ มันก็ต้องมีอยู่ในโลกนี้ สิ่งที่มีในโลกนี้ก็ผูกมัดอยู่ในโลกนี้ สิ่งที่เคยเห็นนี้มันไม่มีอยู่ในโลกนี้ มันก็เลยกลายเป็นของที่ตื่นเต้นมาก เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มาก ความที่เป็นมหัศจรรย์มาก มันถึงว่าเป็นอย่างนี้หรือ อย่างนี้หรือ เห็นไหม นี่สิ่งนี้มหัศจรรย์

ถึงว่ามหัศจรรย์ในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มหัศจรรย์ในครูบาอาจารย์ที่ล่วงผ่านพ้นไป มหัศจรรย์ครูบาอาจารย์ที่สามารถชี้ความผิดความถูกของเราไง

เราประพฤติปฏิบัติอยู่ เราก้าวเดินอยู่ เราก็ว่าเราถูก เราก้าวเดินตามช่องทาง แต่ทำไมเราปฏิบัติเข้าไป ไปรายงานครูบาอาจารย์ จะบอกว่าอันนี้ผิด อันนี้ผิด อันนี้ผิด อันนั้นถูก อันนี้ผิด เราว่าเราถูกเพราะเราเห็นของเรา เราเห็นของเราแต่เราเห็นแล้วยังเห็นผิด

นี่ขณะที่ว่าปฏิบัติเข้าไป มันยังซึ้งในอันนั้นไง ซึ้งในอันที่ว่าเราเข้าไปหาครูบาอาจารย์เป็นผู้ชี้ถูกชี้ผิด จากนั้นก้าวเดินเข้ามา จนเราเห็นตามทัน มหัศจรรย์เป็นชั้นๆ เข้าไปนะ มหัศจรรย์ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เราจะประพฤติปฏิบัติ มหัศจรรย์ผลงานของเรา มหัศจรรย์ในผลงานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย มหัศจรรย์ในสิ่งที่เกิดขึ้นกับใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติด้วย นั่นน่ะ มันถึงว่าธรรมอันนี้ถึงประเสริฐ ประเสริฐที่ว่ามันเป็นสิ่งที่เราควรจะได้สัมผัส

เกิดเป็นมนุษย์ ไอ้อำนาจวาสนาอันหนึ่ง พบพระพุทธศาสนา เป็นวาสนาอีกอันหนึ่ง แล้วทำให้เราได้หันหัวใจออกมาประพฤติปฏิบัติ เป็นชาวพุทธ เราชาวพุทธมีมากเลยว่าทำคุณงามความดีแค่นี้พอ แค่นี้พอ อันนั้นก็เหมือนกับว่าเป็นสมบัติส่วนเล็กน้อยๆ ในพระพุทธศาสนา

สมบัติส่วนใหญ่ขึ้นไป ทำศีล สมาธิ ปัญญา เริ่มมีศีล มีสมาธิ ปัญญา ทานนี่ใครๆ ก็ทำได้ สิ่งที่ทำกันมาเป็นทานอยู่แล้ว เราทำบุญกุศลนี่เป็นทาน สิ่งที่เป็นทานแล้วเราก็ว่าเราพอใจ เราไม่อยากจะทุกข์ ไม่อยากจะบำเพ็ญ ไม่อยากจะประพฤติปฏิบัติ

การประพฤติปฏิบัตินี้มันต้องทรมานตน ทรมานในความสะดวกสบายของเรา เราพยายามหาทางออกของเรา เห็นไหม ไม่อยากทำ แต่เวลาเราเกิดผลขึ้นมา ผลนี้มีคุณค่ามหาศาล นักวิชาการขนาดไหนก็แล้วแต่ เรื่องของวิทยาศาสตร์ เรื่องของโลกนี้ ไม่มีวิชาการใดเลยที่จะทำให้ไม่เกิดไม่ตายอีก ไม่มีในโลกนี้ เรื่องของยารักษาโรค เรื่องของสิ่งที่ว่ารักษาหัวใจ...ไม่มี โลกนี้รักษากันได้แต่เรื่องของร่างกาย เรื่องของร่างกายที่รักษากันสืบต่อไป แต่ก็ต้องตายหมด

แต่ในศาสนาที่เราประพฤติปฏิบัตินี้มีธรรมาวุธ อาวุธของธรรม มียาคือธรรมนี้เป็นยา สามารถชำระเรื่องของใจได้ทั้งหมด ใจนี้สามารถชำระล้างได้ทั้งหมดด้วยศีล สมาธิ ปัญญา...ศีล สมาธิ ปัญญานี้เป็นแต่ชื่อ เราต้องสร้างศีล สมาธิ ปัญญาขึ้นมาจากใจของเรา ใจของเราต้องเป็นสมาธิเอง ใจของเราต้องเป็นปัญญาเอง ศีล สมาธิ ปัญญาของใจดวงนั้นก็ชำระใจดวงนั้น

ที่ว่ารื้อสัตว์ขนสัตว์ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่สามารถรื้อได้หมด เพราะอย่างนี้เพราะผู้ที่ไม่เห็นคุณของธรรมารส รสของธรรมอันนี้ ไม่เห็นธรรมาวุธ อาวุธของธรรมที่ชำระกิเลสอันนี้ เขาก็ไม่ขวนขวาย เขาไม่มีแก่ใจปฏิบัติ ถ้าเขาไม่มีแก่ใจ ฟังสิ! เขาไม่มีแก่ใจ ใจดวงนั้นไม่ขยับออก ใจดวงนั้นก็ไม่สามารถชำระได้

แต่เราเกิดเป็นมนุษย์ แล้วเราพบพระพุทธศาสนา แล้วเราได้ประพฤติปฏิบัติ นี่บุญกุศลเกิดขึ้นอีกชั้นหนึ่ง การประพฤติปฏิบัติจะได้ผล-ไม่ได้ผล เราขวนขวาย พยายามสะสมของเราไป น้ำหยดลงตุ่ม น้ำหยดลงไห วันละหยด วันละหยาด มันต้องเต็มตุ่ม เราต้องพยายามอดทน งานของเรา งานของโลก มันเป็นงานที่เราสร้างเราเกิดขึ้นมา มันเป็นสิ่งที่ตามมาในสถานะของเรา...ทำไป

แต่งานในการประพฤติปฏิบัตินี้ไม่ควรทิ้ง งานในการประพฤติปฏิบัติของเรานี้ไม่ควรทิ้งเลย งานอย่างนี้ต่างหากเป็นงานอันเอก เป็นงานการชำระล้างใจของเราได้ ทำให้ไม่ต้องเกิดอีกได้ เกิดแล้วเป็นทุกข์นะ ทุกข์มากๆ เลย แต่ถ้าชำระจนสะอาดแล้ว อิสระแล้ว นี่มันไม่เกิดอีก

สิ่งที่ไม่เกิดอีก เพราะมีกิเลสถึงทำให้พาเกิด พอหมดกิเลสแล้วมันก็ไม่พาเกิด “เกิด” เกิดเพราะมีกิเลส ไม่มีกิเลสมันก็ไม่เกิด ถ้าไม่เกิดมันก็ไม่ทุกข์ “เกิดถึงทุกข์” ไม่เกิดเลย ความไม่เกิดเลยแล้วไม่เกิดเลยทำอย่างไร?

ในศาสนาสอนอย่างนี้ สอนในการชำระล้างใจให้สะอาด สิ่งที่ไม่มีเชื้อเอาอะไรไปเกิด เหมือนกับเมล็ดพันธุ์พืช เมล็ดพันธุ์พืชที่มันไม่มีเชื้อ มันเกิดอีกไม่ได้ สิ่งนี้เหมือนกัน เมล็ดพันธุ์พืชที่สุกแล้วไง โดนทำจนสุกแล้วไม่เกิดอีก แล้วคิดดูสิ เมล็ดพันธุ์พืชที่ดิบ มันเก็บไว้มันก็งอก

ใจก็เหมือนกัน ใจที่สุกแล้ว ใจที่ไม่งอกอีก ใจที่ไม่งอก ใจนั้นจะมีความสุขขนาดไหน นี่เทียบเคียงเข้ามาในใจของเรา มันจะมีแก่ใจนะ ใจเราไม่งอกอีก ใจเราเหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ “มารเอย เธอจะเกิดอีกไม่ได้อีกเพราะความดำริ” นี้ไม่งอก ไม่ดำริไปตามเขา ไม่ดำริไปตามที่ต้องเกิดอีก แต่ถ้าสุกแล้วไม่มีการเกิดและการตาย แต่ใจดวงนั้นสมบูรณ์ กลับสมบูรณ์อยู่ในใจดวงนั้น สมบูรณ์อยู่ในหลักใจ ใจที่ประพฤติปฏิบัติจนถึงอันนั้น นี่ไม่เกิดอีก

ความไม่เกิดอีกก็ไม่มีทุกข์ พอใจในตรงนั้น สิ่งที่พอ พอสมควรอยู่ ความเป็นไป การดำรงชีวิตนี้เป็นไปตามโลกเขา สิ่งที่ตามโลกเขา โลกเป็นไปอย่างไรเป็นไปธรรมดา ผู้ที่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เห็นคุณค่าของธรรม ประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วเป็นพระปกติธรรมดานั่นล่ะ อยู่ในศีลในธรรม อยู่ดำเนินไปในวัตรปฏิบัตินั้นเพื่อจรรโลงศาสนาไว้ต่อไป นี่อยู่ในศาสนาเพื่อให้ศาสนานี้มีคุณค่าไง

พระที่ว่าประพฤติปฏิบัติถึง ถึงได้ ธรรมนี้ไม่มีกาลไม่มีเวลา เราอย่าเข้าใจว่า ๒,๕๐๐ ปีแล้วจะไม่มีผู้ที่จะปฏิบัติถึงที่สุดแห่งธรรม มีตลอดไป ถ้าไม่มีแล้วพระศรีอริยเมตไตรยจะมาตรัสรู้อะไรข้างหน้า อีก ๕,๐๐๐ ปีศาสนานี้หมดไป แล้วถึงพระศรีอริยเมตไตรยถึงจะมาตรัสรู้ต่อไป แล้วเวลาอย่างนั้นทำไมตรัสรู้ได้ พระศรีอริยเมตไตรยตรัสรู้ได้ ทำไมเราถ้าพูดถึงประพฤติปฏิบัติจริงสมควรแก่ธรรม ทำไมจะเข้าถึงธรรมไม่ได้ กาลเวลาถึงไม่เป็นสิ่งที่จะมาคัดค้านได้ กาลเวลาเป็นกาลเวลาหมุนไป กาลเวลาเป็นกาลเวลาเฉยๆ อกาลิโก ไม่มีกาล ไม่มีเวลา ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ถึงธรรมได้ตลอดทุกๆ นาที ทุกๆ ที่สิ่งที่เป็นไป ไม่มีกาล ไม่มีเวลา

เวลานี้สมมุตินับกันไป นับกันไป สมมุตินับเฉยๆ ดูแต่ศาสนาพุทธกับศาสนาอื่น เวลาก็ต่างกัน นับต่างกันอยู่แล้ว แต่ของเรานี้ อันนั้นเป็นเรื่องของการสื่อโลกของเขา ไม่มีกาล ไม่มีเวลาให้มาเป็นความจริงในหัวใจ อกาลิโก ไม่มีกาล ไม่มีเวลาภายในหัวใจของเรา อันนี้ยิ่งประเสริฐใหญ่ ประเสริฐเพราะมันเป็นเครื่องยืนยันในใจดวงนั้น ใจดวงนั้นยืนยันแล้วถึงกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เต็มหัวใจ ถึงว่าเป็นชาวพุทธแท้ไง

ชาวพุทธทะเบียนบ้านอย่างหนึ่ง ชาวพุทธในการศรัทธา ในการทำบุญทำทานอย่างหนึ่ง ชาวพุทธในการประพฤติปฏิบัติอย่างหนึ่ง ชาวพุทธในการยกใจเข้าไปให้ถึงธรรมนั้นอย่างหนึ่ง ใจเท่านั้นเป็นภาชนะที่จะใส่ธรรม (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)