เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๓ ก.พ. ๒๕๕o

 

เทศน์เช้า วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

สิ่งนี้มันประเสริฐขนาดไหน เพียงแต่คนไม่เห็นค่าของมัน ถ้าเห็นค่าของความประเสริฐอย่างนี้ การกระทำของเรานี่มันยอมอดยอมทนนะ

ทำไมเวลาเราอดอาหารกัน การอดข้าวนี่ไม่หิวเป็นไปได้ไหม? มันเป็นไปไม่ได้หรอก การอดอาหารนี่มันเป็นเรื่องที่ว่ามันท้องโซ มันต้องหิว แต่เรามีเป้าหมายว่าเราทำเพื่ออะไร เห็นไหม ถ้าเรามีเป้าหมายแบบเราทำสิ่งใดก็ได้

เวลาว่าผู้ที่ภาวนานี่ ใจต้องใจเพชร ถ้าไม่ใจเพชร เห็นไหม มันไปมันระยะทางไง ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน การประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี กาลว่า ๗ ปีนี่ถ้าเราทำสม่ำเสมอไง

เราบอก ๗ ปีนี่ เราบวชมา ๒๐ พรรษาแล้ว เกิน ๗ ปีอีกทำไมเราจะภาวนาไม่ได้ล่ะ? เอ้า..ก็มันไม่ต่อเนื่อง ภาวนาแล้วขาดๆ ตกๆ หล่นๆ เห็นไหม มันเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา ถ้าเราพยายามของเราขึ้นไป สิ่งนี้ที่ว่าใจเพชรเพชรตรงนี้ไง ใจเพชรตรงทำต่อเนื่อง

การทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ทำต่อเนื่องไป มันเหมือนไม่ขาดตอน อย่างเช่น ชีวิตเราเราขาดออกซิเจนนี่สมองตายนะ ชีวิตเราจะไม่มีเลย เห็นไหม การต้องการออกซิเจนเข้าไปฟอกเลือด ต้องไปต่างๆ มันจะขาดตอนไม่ได้เลย ขาดตอนชีวิตนี้จะสิ้นไป ต้นไม้ก็เหมือนกัน ต้นไม้นี่ตั้งแต่ปลูกขึ้นไป ถ้าทิ้งช่วงมันก็ตาย ตายแล้วมันจะฟื้นอีกไหม เราก็ต้องมาพยายามบำรุงรักษามัน

นี่ก็เหมือนกัน การประพฤติปฏิบัติมันก็เหมือนการดำรงชีวิต สิ่งที่ดำรงชีวิตแล้วขาดช่วงไปขาดตอนไป แต่การปฏิบัติ เห็นไหม สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมมันมีการเริ่มต้น เริ่มต้นสภาวะเริ่มต้น เริ่มต้นได้บ่อยๆ ครั้ง บ่อยครั้งเข้า เห็นไหม

“อนัตตา” ฟังอนัตตาสิ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สมาธิก็เป็นอนัตตา สภาวธรรมก็เป็นอนัตตา มันเป็นอนัตตาในตัวมันเองไง ความร้อนนี่มันคลายตัว เห็นไหม ความร้อนมันก็หมดไป นี่ก็เหมือนกัน ความเพียรมันเกิดขึ้นมา มันก็คลายไป แต่จิตมันไม่อนัตตาสิ จิตมันมีอยู่ ความที่มีอยู่ของจิต มันเป็นผู้รับรู้สิ่งนี้ สิ่งที่รับรู้ เห็นไหม มันเป็นที่รับรู้ ความที่สิ่งรับรู้แล้วไปชำระมันสะอาดขึ้นมา มันก็มีอยู่

นิพพานมีอยู่ เห็นไหม นี่ว่าสุญญตา สูญจากกิเลสต่างหาก สูญจากกิเลสแต่ใจไม่สูญหรอก ใจมันมีสภาวะแบบนั้น แต่ถ้ายังไม่สูญนะ ถ้ายังไม่สุญญตานะ ถ้ายังไม่สูญจากกิเลส กิเลสทั้งตัวเลย มันเป็นอัตตา มันเป็นความยึดมั่นถือมั่น มันเป็นเรื่องของกิเลสทั้งหมด

แต่ถ้าทำให้สะอาดแล้ว สุญญตา สูญไปจากกิเลส แต่จิตนั้นมันมีอยู่ เห็นไหม ความมีอยู่ สิ่งนี้คงที่สิ่งที่มีอยู่ เวลาสภาวธรรมที่มันเกิดดับเกิดดับเกิดจากใจนี่ เราพยายามค้นคว้าของเรา พยายามสะสมของเรา ต้นไม้ เห็นไหม หน่ออ่อนมันแทงยอดขึ้นมา แล้วเราก็ดีใจกับมัน หน่ออ่อนนะ ไปดีใจกับหน่อนั้นนะ เราไม่รดน้ำพรวนดินไง

เวลาจิตมันสงบขึ้นมา เราก็ไปลืมกับตั้งสมาธิไง เราก็ไปลืมกับการนั่งสมาธิภาวนาไง นี่เราไม่ไปรดน้ำพรวนดิน หน่ออ่อนมันออกมาจากเรารดน้ำพรวนดินนะ มันแตกยอดออกมาเพราะว่าเรารดน้ำพรวนดินมัน

นี่ก็เหมือนกัน ความสงบของใจมันเกิดจากอะไร? ความสงบของใจมันลอยมาจากฟ้าเหรอ? ความสงบของใจมันมาจากเราควบคุมสติไง เราเห็นโทษของมันไง เห็นไหม ความคิดที่เป็นโทษ สิ่งใดที่เป็นโทษเราต้องหลีกเร้น ครูบาอาจารย์ท่านสอน เห็นไหม “อยาก...ก็ไม่ทำ” ถ้าทำไปแล้วมันต้องให้ผลแน่นอน

นี่การกระทำเกิดขึ้นมาแล้ว กรรมนี่กรรมดี-กรรมชั่ว เห็นไหม เวลาความปรารถนาของใจ ใจมันปรารถนา มันต้องการของมัน เราก็สนองมัน สนองมันเสร็จแล้ว มันได้สนองตอบไปแล้วผลคือใคร ผลก็ไอ้จิตที่ไม่เคยตายนี่มันรับ เพราะมันเกิดที่นี่ เห็นไหม ใครเป็นเจ้าของพลังงาน ใครเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยง สัตว์เลี้ยงนี่เที่ยวไปกินพืชไร่ของใคร เขาปรับเจ้าของนะ สัตว์เลี้ยงมันไม่รู้เรื่องของมัน มันหิวมันก็กินของมัน

นี่ก็เหมือนกัน อาการของใจกับใจ ใจเป็นเจ้าของอาการ เพราะใจนี่เป็นหลักการ เห็นไหม เป็นหลักแล้วอาการคือเกิดจากใจ แล้วอาการนี้มันเกิดขึ้นมา กิเลสมันก็เกิดจากอาการนะ เพราะอะไร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเยาะเย้ยมารนะ เยาะเย้ยมารนี่มันสะใจมาก

“มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา เดี๋ยวนี้เราเห็นเจ้าแล้ว เจ้าจะเกิดอีกไม่ได้เลย”

เกิดจากความดำริ ความดำริ ความคิด เห็นไหม เวลาเราจะคิด เราต้องมีดำริ ดำริที่นี่ มารมันเกิดตรงนั้น ถ้ามารมันเกิดจากความคิด เวลาเกิดดับ เวลาความคิดเกิด มารมันก็เกิดตาม เวลาเกิดตามมันก็เป็นไปสภาวะเป็นไป เห็นไหม แต่ถ้าปัญญามันถึง ปัญญามันใคร่ครวญออกมาแล้ว พอมันสุญญตา มันสะอาด

สิ่งนี้เป็นหางจิ้งจก หางจิ้งจกหมายถึงว่าหางจิ้งจกมันขาด เห็นไหม หางจิ้งจกมันขาดจากจิ้งจกไป มันดิ้นของมันประสามัน เห็นไหม นี่มารเกิดไม่ได้อย่างนี้ไง เพราะหางจิ้งจกมันขาดจากตัวจิ้งจกไป มันสืบต่อกันไม่ได้ พอมันสืบต่อกันไม่ได้ แล้วมันดิ้นได้อย่างไร?

นี่ก็เหมือนกัน ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ ความคิด ความคิดว่าเป็นอาการเกิดดับเกิดดับนี่ อาการของใจไม่ใช่ใจ เห็นไหม นี่ขันธ์ ๕ สิ่งที่ขันธ์ ๕ สิ่งที่เป็นความคิด เวลาเป็นอนุปาทิเสสนิพพาน มันไม่มีตรงนี้ไง เพราะมันขาดตั้งแต่ตอนกิเลสขาด

อย่างเช่น เราพิจารณากาย เวลามันปล่อยสักกายทิฏฐิ เห็นไหม สิ่งนี้มันขาดออกไป แต่ความขาด ความคิดมันก็ยังมีอยู่ สิ่งที่มีอยู่มันขาดมี เห็นไหม ขาดมีอย่างนี้เพราะยังมีกิเลสอยู่จากภายใน แต่ถ้ามันสิ้นจากกิเลส นี่หางจิ้งจกมันขาด คือขันธ์นี่มันเป็นภาระ มันเป็นความเห็นของมัน แต่มันไม่สืบต่อ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงเย้ยมารได้ไง อ๋อ..มันเกิดอย่างนี้เอง

สิ่งที่ว่ามันสอดแทรกเข้ามาจากความรู้สึกของเรา มันเป็นกิเลส มันพ่วงไปอย่างนี้เอง มันพ่วงนะ มันพ่วงกับความเกิดดับ กิเลสมันพ่วงอันนี้ไป แล้วเราชำระอันนี้ออกไปแล้ว มันจะพ่วงไปได้ไหม? มันถึงเป็นขันธ์ที่สะอาดไง พระอรหันต์มีความคิดที่สะอาด ความคิดที่ดีเป็นความคิดที่เป็นประโยชน์ทั้งหมดเลย เพราะอะไร เพราะมันไม่มีตัณหาความทะยานอยาก มันไม่มีความต้องการ ไม่มีสิ่งใดๆ ไปเจือปนอันนั้น สิ่งนี้เกิดขึ้นมาจากไหนล่ะ?

ของมันมีอยู่ทั้งนั้นแหละ แล้วเราจะรักษาอย่างไร ถ้าเรารักษา เราแก้ไขของเราขึ้นมา ถ้าเราแก้ไขขึ้นมา ความสุขอันนี้มันเกิดขึ้นมา นี่ธรรมะประเสริฐอย่างนี้ ถ้ามันประเสริฐอย่างนี้ เรามีเป้าหมายอย่างนี้ ความเพียรเรามันก็เข้มแข็งขึ้นมา ความเพียรนะ ถ้าความเพียรชอบ แล้วความเพียรไม่ชอบล่ะ

ดูเด็กมันเล่นกันนี่ มันความเพียรชอบไหม มันสนุกสนานของมันนะ แต่ไม่เป็นประโยชน์สาระกับครอบครัวนั้น เพราะเด็กมันเล่นของมันใช่ไหม? แต่เป็นสาระกับเด็กคนนั้น เพราะเด็กคนนั้นมันจะสร้างเชาวน์ปัญญาของมันไง มันมีการละเล่นของมัน มันมีความเห็นของมัน เป็นเชาวน์ปัญญาของมัน แต่ในครอบครัวเราได้อะไรขึ้นมา?

นี่ก็เหมือนกัน ความเพียรไม่ชอบ เห็นไหม ไม่ชอบของใคร ของธรรม ของใคร แต่ถ้าเป็นการกระทำ นี่ความเพียรไม่ชอบ มันก็ได้ความเห็นกับใจดวงนั้น ถ้าได้ความเห็นกับใจดวงนั้นนะ แล้วเป็นกิเลสตัณหานะมันยึดด้วย เห็นไหม สิ่งที่เห็นทั้งหมดน่ะเห็นจริง แต่ความเห็นนั้นไม่จริง มันเห็นแล้วมันยึด พอมันยึดมันก็เป็นกิเลส พอมันยึดมันก็ไม่ก้าวเดิน

เหมือนสวะ สวะลอยไปในแม่น้ำ เห็นไหม มันไปติดกอไผ่ ไปติดอะไรนี่ มันไปได้ไหม มันไปไม่ได้ มันติดอยู่นั่นแหละ แต่ถ้ามันปลดจากสิ่งที่มันติดไปนะ ถ้าไม่ติด น้ำไม่แห้งนะ เศษสวะนั้นมันจะลอยออกทะเลแน่นอน มันต้องลอยออกทะเลไป

การประพฤติปฏิบัติเข้าแล้วความเพียรชอบ การกระทำของเราความเพียรชอบ เราทำของเรา มันต้องมีเหตุมีผล มันต้องถึงที่สุดให้ได้ เห็นไหม ความเพียรมันเกิดอย่างนี้ แล้วเรามีสัจจะ จะทำอะไรต้องมีตั้งสัจจะ สัจจะกับเรา เห็นไหม เรื่องของคนอื่นเขาเรื่องของเขานะ

ครูบาอาจารย์ท่านบอก สมัยอยู่บ้านหนองผือ เห็นไหม ก่อนเข้าพรรษานี่ถือธุดงควัตรเกือบทั้งวัดเลย แล้วพอไปๆ นะ พอมันไปเห็นไง เวลาเราบิณฑบาตมา ได้ข้าวเปล่าๆ มา แล้วมีภัตตามมา มาถวายหลวงปู่มั่น เห็นไหม นี่มันก็อยาก มันก็เป็นไป ล้มเลิกไปก็มี นี่มันไม่มีสัจจะไง

พอไม่มีสัจจะ เราไม่มีสัจจะกับตัวเราเองนะ ไอ้นั่นมันเป็นเรื่องของรส ลิ้นได้รับรส เห็นไหม แต่คุณธรรมคือว่าสัจจะของเรา ถ้าเรายับยั้งได้มันจะภูมิใจนะ ถ้าเราภูมิใจตัวเราเอง เราภูมิใจคือเรากินธรรม เรากินธรรมเราชนะกิเลส เห็นไหม พออันนั้นผ่านไป แค่ลิ้มรสมันผ่านไปมันก็จบแล้ว

แต่ถ้าเรายอมจำนนกับกิเลส เห็นไหม เราจะเสียใจนะ เราทำแล้วเราทำไม่ได้ เราทำอย่างนั้นแล้วเราก็ทำไม่ได้ เราจะน้อยเนื้อต่ำใจ เห็นไหม แต่ถ้าเราผ่านสิ่งนั้นไป พอผ่านสิ่งนั้นไป เรามีสัจจะ เราไม่เอา เราถือธุดงควัตรของเรา เห็นไหม มันจะภูมิใจนะ ภูมิใจว่าเราชนะกิเลสไปเรื่อยๆ ชนะกิเลสไปเรื่อยๆ

ถ้าการชนะกิเลสไปเรื่อยๆ นี่กำลังใจ เหมือนต้นไม้เลย มันงอกงาม มันเติบโตขึ้นมา วุฒิภาวะใจมันเติบโตขึ้นมา ต้นไม้มันเติบโตแล้วมันเติบโต เว้นแต่มันตายมันถึงจะแห้งไป แต่ไอ้การเติบโตของใจมันเกิดขึ้นมา เห็นไหม มันเป็นอนัตตา มันเป็นอนิจจัง มันเติบโตเดี๋ยวมันก็อ่อนแอ เดี๋ยวมันก็ล้มลุกคลุกคลาน

นี่มันถึงต้องทำบ่อยครั้งเข้า ชำนาญในวสี แม้แต่การทำสมาธิยังต้องชำนาญในวสี เห็นไหม เรากำหนด ใช่..เราทำอยู่นะ เราไม่ต้องกำหนดพุทโธหรอก กำหนดรู้นี่มันเข้าเลยๆ เราก็ทำได้ เริ่มต้นต้องกำหนดพุทโธก่อน แต่ผู้ที่ชำนาญนะทำได้ แต่ผู้ที่ยังไม่ชำนาญต้องอาศัยสิ่งนี้ไปก่อน ต้องชำนาญในวสี ชำนาญในวสีนะ นี่กำหนดรู้ กำหนดรู้ หลังผู้รู้นะคือสมาธิ กำหนดรู้ถอยเข้ามาเลย นั่นน่ะมันเข้าสมาธิหมดล่ะ

แต่ถ้ามันไม่เป็นนะ มันกำหนดรู้มันก็รู้ออก ไม่รู้เข้าหรอก มันรู้ออก ถ้ารู้ออกนี่มันเป็นธรรมชาติของสสาร ธรรมชาติของพลังงาน มันต้องรู้ออก นี่ส่งออกหมด รู้เข้าไม่มี แต่ถ้าผู้ที่ชำนาญ เห็นไหม ชำนาญในวสี มันกำหนดรู้เข้าเพราะอะไร เพราะมันเห็นผลไง เห็นผลว่าถ้าจิตสงบจะเป็นสภาวะแบบนี้ มันจะมีความสุขอย่างนี้ มันกำหนดมีสติเข้ามา มันก็กำหนดเข้า

ถ้ากำหนดเข้า เข้าไปหาใคร คูหาของจิต คูหาคือใจเราไง ความสงบร่มเย็นอยู่จากภายในนะ ถ้ามันสงบอย่างนี้ ความสุขที่เกิดขึ้นอื่นนอกจากความสงบไม่มี โลกของโลกเขานี่มันเกิดอามิส มันเกิดการเสพ มันเกิดการได้สัมผัส มันถึงว่ามีความสุข

แต่ถ้าเป็นสมาธินะ มันสุขในตัวมันเอง มันอิ่มเต็มในตัวมันเอง เห็นไหม ขั้นของสมาธิมันก็พออยู่พอกินแล้วนะ แล้วออกวิปัสสนา ต้องมีวิปัสสนา ถ้าไม่มีวิปัสสนามันแก้กิเลสไม่ได้ สมาธิแก้กิเลสไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีสมาธิก็ไม่เห็นกิเลส ถ้ามีสมาธิ เห็นไหม

หลวงตาบอกว่า “สมาธิจับ แล้วเอาปัญญาฟัน” ถ้าไม่มีสมาธิ จะไปจับกิเลสตรงไหน? ถ้าไม่มีเรา ไม่มีเจ้าของ ไม่มีผู้กระทำ มันจะไปจับกิเลสตรงไหน? มันจะรู้ว่าตัวมันเองมันถูกมันผิดได้อย่างไร? มันจะไม่รู้ตัวมันเองว่ามันถูกมันผิดเลย มันปล่อยๆ เข้ามา มันปล่อยมันโดยสามัญสำนึกใช่ไหม?

เราคิดที่จะไปไหนแล้วเราไม่ไป เราก็นี่เราดีแล้ว เป็นคนดีแล้ว เห็นไหม เราไม่ไปๆ ไม่ไปเพราะเหตุใด ใครเป็นคนไม่ไป แล้วไม่ไปเขาแล้วได้ผลประโยชน์อะไร เห็นไหม แล้วตัวไหนที่ตัวมันไม่ไป

ปัญญามันจะเกิดเข้ามาจากภายในอีกชั้นหนึ่ง แล้วปัญญานี่เป็นตัวตัด เห็นไหม สมาธิเป็นตัวจับ จับเห็นไหม เราเกี่ยวข้าว มือจับ เอาเคียวเกี่ยว นี่ก็เหมือนกัน สติจับ สมาธิจับไว้ แล้วเอาปัญญาเข้าไปใคร่ครวญมัน ใคร่ครวญสภาวะแบบนี้ ถ้าอย่างนี้แล้วมันขาด ขาดอย่างนี้มันเป็นอกุปปธรรม ไม่ใช่ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา มันเป็นสภาวธรรม ขาดมี ขาดอันนี้คงที่ไง จิตคงที่แล้วมันเจริญเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ ไง จิตเราเจริญเติบโตไปเรื่อยๆ แล้วมันจะมองไป เหมือนเรามองเด็กๆ เลย เด็กๆ นี่มันเล่นขายของ มันเล่นกัน มันมีประโยชน์อะไรกับมัน

นี่ก็เหมือนกัน ในการทำความเพียรนะ มันเป็นสมมุติ นี่ทำความเพียรอย่างนั้นแล้วได้อะไรขึ้นมา นี่ได้ผลอันนี้ขึ้นมาไง ได้ผลของใจนี้ขึ้นมา ความเพียรนั้นก็ทำให้ถูกต้องนะ ความเพียรนะ ครูบาอาจารย์จะเข้าไป

ความเพียร สรรพสิ่ง เดินธุดงค์ สิ่งต่างๆ หาอะไร? หาอะไร? หาใจทั้งนั้นนะ แล้วถ้าการกระทำอยู่นั้น เห็นไหม ครูบาอาจารย์ท่านพูด “ขณะที่เราเคร่งครัดน่ะถูก แต่ถ้าพอเราผ่านอันนั้นไป อันนั้นก็บ้าอันหนึ่ง”

เพราะไปกอดหลักไว้ไง เช่น เรามากับรถ แล้วเราไม่ทิ้งรถ เราไม่ขึ้นมาบนศาลานี่ เรานั่งในรถจะเป็นไปได้ไหม? นี่มันไปยึดสิ่งนั้นไม่ได้ ถ้าถึงที่สุดแล้ว แต่ขณะก้าวเดินถูกต้องนะ ปล่อยไม่ได้! ปล่อยไม่ได้! ต้องยึดก่อน ยึดอะไรก็ได้

ในสภาวธรรม เห็นไหม อย่าให้ยึดตัวบุคคล ให้ยึดธรรมะ แล้วธรรมะนี่มันเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิตไง เราก็ไปตีความ เอากิเลสเราไปยึดธรรมะ กิเลสเราก็ไปยำธรรมะกับกิเลสเป็นอันเดียวกัน

แต่ถ้าธรรมะอยู่ในครูบาอาจารย์ของเรา อย่างเช่น หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม ใจเป็นธรรมนี่ต้องยึด! เพราะ! เพราะใจดวงนั้นเป็นธรรม นี่ยึดบุคคล ยึดครูบาอาจารย์ที่ชี้นำ เห็นไหม นี่โคนำฝูง โคที่ดีนำฝูง นำให้พวกเรานี่ขึ้นฝั่งให้ได้ ไม่ไปวังน้ำวน ไม่เอาชีวิตนี้ไปสูญเปล่า เห็นไหม ต้องยึดครูบาอาจารย์ที่มีหลักมีเกณฑ์ มีหลักมีเกณฑ์นะ มีหลักมีเกณฑ์ตรงไหน?

ถ้าเราทำสมาธิได้ เราเอาสมาธิไปถามท่าน ท่านตอบผิดแสดงว่าไม่เราผิดก็ท่านผิด ถ้าเรามีปัญญาขึ้นมารอบสองรอบนี่ เราไปถามท่าน ถ้าท่านตอบผิดนะเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะอะไร เพราะเอาประสบการณ์ของเรานี่ถาม เอาประสบการณ์ของเรานี่ตรวจสอบ เอาความเป็นจริงเราตรวจสอบ ตรวจสอบด้วยแล้วเปิดในพระไตรปิฎก นี่เป็นไปได้ไหม? เป็นไปได้ไหม?

นี่ตรวจสอบได้ ของอย่างนี้ตรวจสอบได้หมดหรอก ความลับไม่มีในโลกหรอก โกหกวันนี้ได้แต่วันหน้าโกหกไม่ได้หรอก โกหกไม่ได้ ต้องรู้เข้าสักวันหนึ่ง เห็นไหม แต่ถ้าเป็นความจริงนะ มันจะเป็นความจริงตลอดไป สัจจะเป็นสัจจะ สัจจะเป็นอันเดียวกัน หัวใจเป็นสิ่งที่สัมผัสสิ่งนี้ แล้วหัวใจจะเป็นเครื่องการันตีกับเรา

นี่สันทิฏฐิโก ความเป็นไปของภาคปฏิบัตินะ ความเป็นไปของสุข สุขในหัวใจนะ เรื่องของโลกนะ แค่ปัจจัย คำว่าปัจจัยเครื่องอาศัย โลกนี่เราเกิดมาอาศัยกัน อาศัยกันเพื่อค้นคว้า ถ้าโลกเขาหาแต่เรื่องของโลก เขาก็ได้สมบัติของโลก แล้วเขาก็ต้องทุกข์ไปกับกองเงินกองทองอันนั้น

แต่ถ้าเราหาธรรมนะ อาศัยเราก็หาอยู่หากินพออาศัยไป แต่พยายามรักษาใจ แล้วเอาใจพ้นจากแรงดึงดูดของกิเลส เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเยาะเย้ยมาร มารอยู่ที่ใจ อยู่ที่ดำริ อยู่ที่ตั้งต้นของความคิด ไม่ได้อยู่ข้างนอกเลย ไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย อยู่ฐีติจิต อยู่กลางหัวอกเรา อยู่ในหัวใจของเรา โทษของเราอยู่ที่นี่ ถ้าเราถอนศรจากหัวใจของเราออกหมดแล้วจะเป็นความสุขอย่างยิ่ง เอวัง