เทศน์บนศาลา

กิเลสเป็นภัย

๘ เม.ย. ๒๕๔๔

 

กิเลสเป็นภัย
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๘ เมษายน ๒๕๔๔
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

จะเริ่ม จะเห็นว่ากิเลสมันเป็นอย่างไร กิเลสมันเป็นอย่างไร กิเลสมันอยู่ในตัวเรา แต่เรามองไม่เห็นเลย เพราะกิเลสพาเกิดพาตาย มันเป็นสิ่งที่พาให้เกิด สิ่งที่มองไม่เห็น พาให้เราเกิดมา เกิดมาพร้อมกับเพราะว่ากิเลสพาเกิด

แต่เกิดขึ้นมาแล้ว มันก็เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นเราทั้งหมดเลย เป็นความคิด เป็นของเราหมด ถ้าเราจะทำอะไรมันก็มีมันเป็นคนคิดออกมา มีมันเป็นคนเข้ามาพยายามจะยึด เบี่ยงเบนไง ให้เป็นความผิดไปทั้งหมด

ถ้าเรื่องของกิเลส เป็นความผิดไปทั้งหมด ถ้าเรื่องของกิเลสนะ แต่ให้กิเลสพาในทางที่ถูกล่ะ ความคิด ความอยากนี้เป็นกิเลสไหม? ความอยากจะประพฤติปฏิบัติ ความอยากจะฟังธรรม ความอยากอันนี้เป็นกิเลสไหม?

ความอยากนี้เป็นกุศลไง ถึงจะเป็นกิเลส แต่มันเป็นกุศล กุศลกับอกุศล อกุศลคือทำความชั่ว ถ้าความชั่วของกิเลสมันทำได้เต็มที ถ้ากิเลสที่เป็นกุศล มันยังเป็นกุศล คือว่าเวลาข้ามพ้นกิเลส มันถึงข้ามพ้นทั้งความดีและความชั่วออกไปทั้งหมด ข้ามพ้นทั้งดีและชั่วเลย ดีก็เป็นส่วนที่ติด แต่ส่วนที่ติดต้องอาศัยเห็นไหม

เราจะเดินทาง เราต้องมีทางออกไป เราต้องมีถนนหนทาง รถเราถึงวิ่งไปได้ มรรคอริยสัจจังก็มีอยู่แล้ว ถ้าคนสนใจมันก็จะมีทางอยู่ เป็นกุศลไง กุศลนี้เหมือนกับแพ เอาเราข้ามแม่น้ำ เรือแพเอาเราข้ามแม่น้ำแล้ว เรือแพต้องอยู่ที่นั่น แต่ขณะที่เราจำเป็นจะข้ามแม่น้ำ ต้องมีความจำเป็นมาก ถึงเป็นกิเลส ก็เป็นกิเลสแต่มันเป็นฝ่ายดี

แต่กิเลสฝ่ายดี ถ้ามีอยู่ จะทำให้เรามีความร่มเย็นในหัวใจ ถ้ามันไม่มีเลย มีแต่ความร้อน ความคิดสงสัยคิดร้อยแปด แล้วคิดอยากดิบอยากดีว่า “โลกนี้เจริญ โลกนี้เจริญ” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “โลกนี้ไม่เจริญ โลกนี้ล้อมไปด้วยไฟ แล้วสัตว์โลกหาอะไรเป็นที่พึ่ง?” เราจะหาอะไรเป็นที่พึ่งของเรา? เพราะเราไม่มีที่พึ่ง เราหวังพึ่งอะไร พึ่งไม่ได้ทั้งหมดเลย

ความหวังพึ่ง ความหวังเป็นอะไร? เป็นตัณหา ความตัณหาทะยานอยาก หามาเพื่อจะหวังพึ่ง ก็ไม่ได้พึ่ง สิ่งนั้นก็พึ่งไม่ได้ ความคิดก็พึ่งความคิดไม่ได้แล้ว แล้วไปแสวงหาสิ่งที่มันต้องการ ก็ยิ่งพึ่งไม่ได้ใหญ่เลย

ความเป็นของปลอมไง ปลอมมาจากข้างใน ข้างนอกมันก็ปลอม ข้างในมันปลอมแล้ว มันก็ว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ สิ่งนั้นจะพึ่งได้ เราจะมีหลักประกันของชีวิต ถ้าเราหาสิ่งใดมาเป็นเครื่องอยู่อาศัย มาเป็นทรัพย์สมบัติของเรา นี่หาหลักประกันชีวิต เวลาไปหามาแล้ว มันไม่เป็นหลักประกันชีวิตหรอก มันเป็นการกดถ่วงชีวิต ให้ชีวิตนี้ต้องไปรักษา ไปปกป้องสิ่งนั้น หามาแล้วก็ต้องรักษา

การหามาก็เหนื่อยยาก หามาเสร็จแล้วก็คิดว่าจะเป็นความสุข ก็ต้องไปรักษามัน เพื่อจะเก็บไว้ให้สมกับความอยากนั้นไง เห็นไหม ข้างในเป็นของปลอม หาข้างนอกมา ข้างนอกก็เป็นของปลอม แล้วของจริงก็หาไม่เจอ

“ความโลภ ความโกรธ ความหลง” ความโลภ โลภอยากได้ อยากได้ขึ้นมา พยายามแสวงหา แสวงหามาติดขัด พอติดขัดขึ้นมา ความโกรธ ความผูกโกรธเกิดขึ้น ความโลภ ความโกรธ ความหลง อยู่ในหัวใจทั้งหมด แล้วมันคิดออกไปมันเป็นเรา ขณะที่เราคิด เราไม่รู้ว่าเราคิดหรอก เราคิด เราแสวงหาออกไป ความโลภ ความโกรธ ความหลง เอาแต่ไฟมาเผาหัวใจของตัว แล้วก็เร่าร้อนอยู่กลางหัวใจนะ แล้วเราก็แสวงหาธรรมๆ

แสวงหาธรรม ก็แสวงหาไม่เจอ เพราะแสวงหา มันก็แสวงหาในความคิดเดิม ในความคิดของเรา ความโลภ ความโรธ ความหลง อยู่ในความคิดของเรา มันมีอยู่กับตัวเราตลอดเวลา แล้วมันคิดออกไป มันบิดเบือนไง มันเบี่ยงเบนความเห็นตามความเป็นจริง

ในศาสนาสอนหลักศาสนาถูกต้องทั้งหมดเลย แต่เราไม่เห็นตามเป็นจริงของศาสนานั้น เราเบี่ยงเบนความคิดของกิเลสเห็นไหม ที่ว่ากิเลสมันเป็นไฟ เป็นไฟตรงนี้ เป็นไฟเพราะมองไม่เห็นมัน แล้วมันคิดมาพร้อมกับความคิดของเรา แล้วคิดว่า ควรจะเป็นอย่างนั้น น่าจะเป็นอย่างนั้น แล้วทำอย่างนั้นจะได้ผลประโยชน์เป็นอย่างนั้น เห็นไหม นี่มันล่อก่อน

พอมันล่อขึ้นมา ทำไป ทำตามนั้น พอมันล่อขึ้นมา มันก็ว่าผลจะเป็นอย่างที่มันพอใจ มันก็จินตนาการออกไป นี่มันปลอมแต่ข้างใน แล้วกระทำออกไป ความคิดนั้นพยายามกระทำออกไป อย่างที่กิเลสมันเบี่ยงเบนให้เห็นอย่างนั้น แล้วก็ทำไป ทำอย่างนั้น พอทำไม่สมปรารถนาความโกรธ ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันคลุกเคล้า มันหมุนเวียนไป ไปจนหัวใจเราก็เอาแต่ไฟมาเผาลนใจตัวเอง นี่ธรรมะสอนอย่างนั้น

สอนไม่ได้สอนที่อื่นเลย เรามองกันโลกเจริญๆ โลกเขาใช้กิเลสกัน ไม่ให้มันเจริญขึ้นเลย เราก็ตามโลกไป เกิดมาในโลก ต้องอยู่กับโลกเขา ปัจจัยเครื่องอยู่อาศัย เราอาศัยเขา เราอาศัยปัจจัยเครื่องอยู่อาศัย ถ้ามันสะดวกสบาย สิ่งที่มาดำรงชีวิตเป็นปัจจัย ๔ มันจะให้เรามีความเป็นอยู่ดีขึ้น อันนั้นเราก็ใช้ไปด้วยความที่ว่าภาระหน้าที่ รู้สิ่งนี้มันเป็นเครื่องดำรงชีวิตเพื่อดำรงชีวิต เพื่อความสะดวกสบายของเรา

ความสะดวกสบายนั้นเป็นส่วนหนึ่ง แต่เราไม่ติดมันเห็นไหม นี่ผู้มีธรรมในหัวใจ มีความคิดในหัวใจ สิ่งนั้นมันเป็นประโยชน์ มันเป็นประโยชน์ขณะที่เราใช้มัน แต่การบำรุงรักษามันก็เอาพลังงานของเราไปขนาดไหน แสวงหามาบำรุงรักษามัน นี่มันเป็นโทษทั้งหมด การบำรุงรักษาเป็นโทษ มันก็เป็นโทษถ้าเราติด ถ้ามันไม่เป็นโทษ มันเป็นประโยชน์ ก็ประโยชน์เล็กน้อย

การครองเรือนในโลกนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลย “เปรียบเหมือนวิดน้ำทั้งทะเลเพื่อเอาปลาตัวเดียว” ชีวิตนี้แสนทุกข์ ไม่ต้องบอกหรอก เราหันหน้าเข้าหากัน ชีวิตนี้แสนทุกข์

เว้นไว้แต่กิเลสขาขึ้น พวกวัยรุ่น พวกคนหนุ่มคนสาว ขณะที่ชีวิตกำลังรุ่งเรือง กำลังจะไปข้างหน้า มองแล้วก็จินตนาการว่าชีวิตนี้จะมีความสุขมากเลย จะว่าชีวิตนี้ หวังว่าจะประสบความสำเร็จอย่างนั้นๆ คิดไปกัน แล้วก็ใช้ชีวิตไป จนถึงค่อนชีวิต ถึงบั้นปลายของชีวิต นี่กิเลสขาลง

ถ้าคนมีธรรมในหัวใจ มันยังคิดว่า เราควรจะหาที่พึ่ง ถ้าคนไม่มีธรรมในหัวใจ ไม่คิดถึง ศาสนามีเหมือนไม่มี มีอยู่เหมือนมันไม่มี เพราะไม่สนใน มันจะไม่เข้ามาหาสิ่งนี้เลย แล้วก็เร่าร้อนอยู่กับใจดวงนั้น แล้วก็เกิดตาย เกิดตายไป

อำนาจวาสนาของใจแต่ละดวงไม่เหมือนกัน เพราะการเกิดและการตาย การสะสมของใจมาไม่เหมือนกัน นี่คนถ้ามันสะสมไป เรายังทำของเราบ้าง เราสะสมใจของเราไป เราไปเกิด เราก็ไปเกิดในที่มีบุญพาเกิด ที่มีที่พึ่งอาศัยพอสมควร แต่ถ้าคนที่มันกิเลสขาลงก็ไม่สนใจเลยเห็นไหม แล้วมันจะเกิดเป็นอะไร ในเมื่อชีวิตนี้ ปัจจุบันนี้เร่าร้อน ไปด้วยความเร่าร้อน

ความเร่าร้อนในหัวใจนั้นมันหนักเห็นไหม จิตนั้นเหมือนก้อนหิน มันตกไปในที่หนักอยู่แล้ว จะเกิดเป็นอะไรไปอีกล่ะ เพราะจิตมันเร่าร้อนไปตลอด นี่กิเลสขาลง ถ้ากิเลสขาขึ้นมันก็มองไป นี่มันมีภัยไปตลอดเลย แต่เราไม่เห็นว่าอันนี้เป็นภัย เมื่อไม่เห็นเป็นภัย เราก็ต้องอยู่กับสิ่งนั้นไป มันเหมือนอยู่แบบภาวะจำยอม เราต้องยอมไปกับสิ่งนั้นเพราะเราไม่มีเครื่องมือ

แล้วเราเกิดมาเห็นไหม เกิดมาพบพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าสอน เรื่องการตัดดับทุกข์ การตัดกิเลสออกจากหัวใจ แล้วตัดกิเลสออกจากหัวใจ ไปตัดที่ไหนล่ะ? มันไปตัดอยู่ในร่างกายของเรา ถ้าเรามีความเชื่อ เราจะเชื่อหลักการของศาสนา เราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ความเชื่อนั้นทำให้เรามีแก่ใจ หันกลับเข้ามา ความโลภ ความโกรธ ความหลง ดับลงเห็นไหม ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามา สิ่งนั้นมันแค่ระงับตัวลง สิ่งที่ระงับตัวลง มันจะทำให้เรามีแก่ใจ มันมีหลักยึดของหัวใจ หัวใจมีเครื่องอยู่เครื่องอาศัย แต่ตอนมีมันไม่มีเครื่องอยู่เครื่องอาศัย แล้วมันก็จับอะไรไม่ได้

ผู้เริ่มต้นใหม่จะเป็นอย่างนั้นทั้งหมด คนประพฤติปฏิบัติใหม่จะเป็นอย่างนั้นหมดเลย เพราะว่าเหมือนกับเราจะแบกภูเขาทั้งลูกด้วยกำลังของเราคนเดียว อันนี้ก็เหมือนกัน กิเลสมันปกคลุมหัวของหัวใจไว้ทั้งหมดไง มันครอบคลุมความคิดไว้ทั้งหมดเลย จะขยับไป ขยับไม่ออกเลย หนักแน่นมาก ความคิดของเรามันอยู่ในอำนาจของกิเลส

พออำนาจของกิเลส มันกระดิกพลิกแพลงขนาดไหน กิเลสออกหน้าก่อนแล้ว ออกหน้าว่าต้องเป็นอย่างนั้น ควรทำอย่างนั้น แล้วพอจะหันมาเชื่อธรรม ธรรมมาจากไหน? ธรรมมาจากธรรมวินัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ “อานนท์ถ้าเราปรินิพพานไปแล้ว ธรรมและวินัยจะเป็นศาสดา” ปัจจุบันนี้พระไตรปิฎกเป็นศาสดา ธรรมในพระไตรปิฎก ธรรมในหนังสือหนังหาที่เราศึกษากันมา มันก็ย้อนกลับมา

นี่ธรรมที่ย้อนกลับมา มาจากที่ไหน? เราศึกษามา “สุตมยปัญญา” เราศึกษามาจากข้างนอก เราศึกษาเข้ามา กิเลสมันก็พลิกแพลง มันก็บิดเบือนว่าไม่ใช่เป็นอย่างนั้น จะเอาไม่เชื่อเอานะ มันจะเป็นไปได้อย่างไร? คนเราจะเป็นไปได้อย่างนั้นหรือ? ศาสนามีเริ่มต้นเปิดหัวใจนะ กิเลสมันก็พยายามจะปฏิเสธแล้ว มันจะไม่ให้ศึกษาเลย

พอศึกษาขึ้นมาแล้วก็ยังวางแนวทาง มันจะทำได้อย่างนั้นหรือ? แล้วถ้าทำมันก็ยังคิดมันพยายามผลักไสให้ความคิดนั้นผิดไป การกระทำนั้นผิดจากหลักความเป็นจริง มันจะลงตามความเป็นจริงไม่ได้ ธรรมะละเอียดอ่อน ลึกซึ้งมาก... ลึกซึ้งไปในหัวใจ เวลาทุกข์ขึ้นมาเราไม่เคยเห็นหรอก ทุกข์ดับไปแล้วเราถึงสะใจนะ เราถึงเสียใจ เราถึงเจ็บปวดหัวใจว่ามีเราความทุกข์มาก วิบากมันใช้จนหมดไปแล้ว เรายังไม่เห็นเลย เราเห็นแต่ว่ามันขี้ทิ้งไว้ในหัวใจไง

รอยขี้ของมันคือความทุกข์ในหัวใจของเรา เราทุกข์มาก ทุกข์มาก... แล้วเราจะทำความสงบขึ้นมา เราจะจับตัวหัวใจ ให้ใจมันสงบขึ้นมา คำบริกรรมคำเดียวก็พูดไม่ได้นะ พุทโธคำเดียวนี้ยังคิดไม่ออกเลย ถ้าคิดขึ้นมาแล้ว มันจะมีประโยชน์หรือ? มันมองเหมือนกับของไร้ค่านะ ใกล้เกลือกินด่างไง

ของที่มีคุณค่ามาก มองว่าของไร้ค่า ถ้าเราจินตนาการคิดแต่เรื่องของกิเลสออกไป มันจะคิดได้โอ้โห... เรานี้มีปัญญามาก เราคิดได้ว่าเรานี้เป็นผู้ที่มีปัญญา เราจะคิดออกไป ความคิดเราจะไปทางไหนก็ได้ มันไปได้สุดขอบฟ้านั่นน่ะ ว่าอันนั้นจะเป็นธรรม มันจะเป็นธรรม ธรรมกิเลสพาคิด กิเลสพาทำ กิเลสพาออกไป มันจะเป็นธรรมมาจากไหน? มันก็เอาฟืนเอาไฟมาให้เท่านั้น

แล้วเราจะสงบมัน เราจะพยายามทำความสงบของมัน ใช้ปัญญาคิดออกไป ถ้ามีปัญญานะ ความคิดที่ความโลภ ความโกรธ ความหลง ของเราที่เราคิดออกไป ความระงับความโกรธ ความโลภ ความหลง คือว่าเราระงับออกมา ระงับให้จิตมันสงบเข้ามา ด้วยใช้ปัญญาอบรมสมาธิที่เขาคิดออกไป พยายามดูความคิดของใจ ใจเกาะเกี่ยวสิ่งใด เห็นว่าเป็นโทษ สิ่งนั้นเป็นโทษ อะไรก็เป็นโทษทั้งหมด ความคิดนี้ก็เป็นโทษ นี่มันจะปล่อยวางเข้ามา... ปล่อยวางเข้ามา...

ความปล่อยวางเข้าอย่างนี้ มันระงับเฉยๆ มันระงับจากที่มันเคยคิดไปโดยธรรมชาติของมัน มันมีธรรมเข้าไปเกาะเกี่ยวตามความคิดไปตลอดเวลา ความคิดนั้นจะระงับได้ ในเมื่อความคิดระงับได้ มันไม่มีเหยื่อ มันไม่มีสิ่งใดที่ว่ามันจะกิน ไม่มีเชื้อฟืนใส่เข้าไปในกองไฟ กองไฟนั้นต้องดับลง ถ้าเราใช้ปัญญาไตร่ตรองออกไป ใคร่ครวญกับความคิดนั้นไป มีสติสัมปชัญญะเข้าไป เท่ากับเราก็เอาเหยื่อออก เอาฟืนออกจากกองไฟนั้น กองไฟนั้นต้องระงับลง

สิ่งที่ระงับลง ความโลภ ความโกรธ ความหลง ระงับลงเฉยๆ ความระงับลงมันก็มีหลักของใจแล้ว มันเริ่มปล่อยวาง มีความเบา มีความคิดปลอดโปร่งอยู่ชั่วครั้ง นี่สมาธิอ่อนๆ เกิดขึ้น ความปลอดโปร่งของใจ ใจจะสบายมาก มีความสบายใจ มีความสุขใจพอสมควร ทำอย่างนี้บ่อยๆ เข้า

ถ้าทำบ่อยๆ เข้า ความสงบมากเข้า... มากเข้า... จิตจะตั้งมั่น กำหนดพุทโธ... พุทโธ... ก็เหมือนกัน ใช้คำบริกรรม แต่กำหนดพุทโธนี้เหมือนกับข่มเขาโคกินหญ้าเลย ความคิดของใจโดยปกติ ความฟุ้งซ่านของใจมันเป็นอาหาร มันเป็นเนื้อเดียวกัน อาหารกับใจมันเป็นสิ่งที่... ใจนี้หิวโหย ขันธ์กับจิตไม่ใช่อันเดียวกัน แล้วขันธ์มันเกิดดับ เกิดดับ จิตนี้มันรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา นี่มันมีอาหารให้กินตลอดเวลา

พอมันกินตลอดเวลา มันเปลี่ยนเห็นไหม ข่มเขาโคกินหญ้า เปลี่ยนจากอาหารที่มันกินอยู่ มันอยู่คาปากมัน อารมณ์ความคิดฟุ้งซ่านมันอยู่ที่คาปากของใจนั่น เราข่มให้มันมากินหญ้า ข่มให้มากินพุทโธ เอาอาหารใหม่ พุทโธ... พุทโธ... มันถึงสืบต่อเนื่องได้ยาก อาหารนี้เป็นอาหารของธรรม

“ธรรมรส” รสของธรรมชนะรสทั้งปวง รสของธรรมนี่ แต่กิเลสไม่เห็นอย่างนั้น เห็นว่ารสของกิเลส รสของอารมณ์ที่ความคิดฟุ้งซ่านนั้นเป็นอาหารของใจ รสอย่างนี้ต่างหากเป็นความพอใจของเขา มันกินดื่มอยู่อย่างนั้น แล้วมันจะเอาความสงบมาจากไหน นี่ข่มเขาโคกินหญ้า กำหนดพุทโธคำหนึ่งก็หาย แล้วก็พุทโธใหม่ๆ พุทโธอยู่เรื่อยๆจนกว่าจะตั้งมั่นได้ จิตนี้ตั้งมั่น

พอจิตนี้ตั้งมั่น มันก็ปล่อยจากรูป รส กลิ่น เสียงต่างๆ เข้ามา นั่นล่ะความโลภ ความโกรธ ความหลงระงับลง พอระงับลงขึ้นมา มันถึงว่าความระงับเฉยๆ มันก็เวิ้งว้าง ความเวิ้งว้างอันนี้มันก็ว่าบางทีว่าเป็นผลนะ บางคนว่าสิ่งนี้เป็นผล นี่กิเลสเป็นภัย เป็นภัยอย่างนั้น

การประพฤติปฏิบัติไป มันจะเป็นภัยกับตัวเองไปตลอดเลย เพราะว่ามันพยายามขับไสให้สิ่งที่เราต้องการจะให้เข้าเป้า สิ่งที่ว่าเข้าไปชำระกิเลสเข้าเป้า คือเข้าไปทำลายตัวของกิเลสที่ในหัวใจนั้น มันต้องมีความขับไส แก่นของกิเลสนี้ แน่นหนามั่นคงในหัวใจนี้แน่นอน เพราะชีวิตนี้การเกิดและการตาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก ไม่มีเงื่อนต้น และไม่มีเงื่อนปลาย มันฝังมาจนเหมือนกับเป็นเนื้อเดียวกัน จะเป็นเนื้อเดียวกันเห็นไหม

เหมือนเชื้อโรคอยู่ในร่างกาย ถ้ามีเชื้อโรคอยู่ ถ้าโรคนั้นรุนแรง เราจะเจ็บไข้ได้ป่วยมาก ถึงกับเสียชีวิตได้ ถ้าเชื้อโรคนั้นรุนแรง ถ้าเชื้อโรคนั้นอ่อน มันก็อยู่ในหัวใจ ในร่างกายเราเหมือนกัน เราไม่ต้องบำรุงรักษามันก็หายได้เหมือนกัน เชื้อโรคบางอย่างในร่างกายของเรา มันเป็นประโยชน์ขึ้นมา เหมือนพวกวัคซีนฉีดเข้าไปในร่างกาย มันจะเข้าไปป้องกันโรคอย่างหนึ่ง

อันนี้ก็เหมือนกัน ในหัวใจ ภูมิต้านทานเป็นเชื้ออย่างหนึ่ง มันก็มีประโยชน์ของมันในหัวใจของเรา กิเลสก็มีกุศล-อกุศลอยู่ในหัวใจ มันเกิดมา มันถึงว่าเกิดลุ่มๆ ดอนๆ ไง เกิดในที่สูงก็ได้ ดวงใจทุกดวงใจ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เคยไปหมดใน ๓ โลกธาตุนี้ จิตทุกดวงเคยเกิด เคยตายใน ๓ โลกธาตุ เทวดาก็เคยเป็น พรหมก็เคยเป็น นรกอเวจีก็เคยตกมา เพราะไม่มีจิตดวงไหนเลยที่ไม่เคยทำความดีและความชั่ว

ความดีและความชั่วคละเคล้ากันไปในจิตแต่ละดวง คละเคล้ากันไปทุกดวงใจ ต้องมีสิ่งนั้นในดวงใจโดยธรรมชาติของมัน แล้วเวลามันดับขันธ์ไป หมดภพชาติหนึ่ง มันต้องไปต่อภพชาติหนึ่ง ต่อไปเรื่อยๆ อย่างนั้น เวียนตายเวียนเกิด เพราะโลกนี้เป็นโลกของอนิจจัง

สรรพสิ่งใดๆ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปโดยธรรมชาติของมัน ทั้งอารมณ์ความคิดของเราก็เป็นอนิจจัง การเกิดและการตายในภพชาติหนึ่งๆ ก็เป็นอนิจจัง มันเป็นสมมุติสัจจะ สัจจะนี่มันมีมีชีวิตเกิดขึ้นมาแล้ว ต้องดำรงชีวิตหนึ่ง แล้วต้องตายไปเป็นธรรมดาเลย

สมมุติสัจจะนี้มันเป็นความจริงชั่วครั้งชั่วคราว แล้วจิตดวงที่มันไม่เป็นสมมุติสัจจะ มันมีอยู่อันหนึ่ง อยู่ในร่างกายของเรา จิตดวงนั้นไม่เคยเกิด ไม่เคยตาย แต่ต้องเสวยภพต่างๆ ถ้ามันเกิดเป็นมนุษย์นี่ มีร่างกายและจิตใจ ว่าเป็นเรา มันจับต้องได้

แล้วเวลาเกิดเป็นนามธรรมล้วนๆ เกิดเป็นเทวดา เกิดเป็นพรหม มันก็เป็นนามธรรม ไม่มีร่างกาย แต่มันก็มีขันธ์ มันมีขันธ์เพราะมันไม่ใช่จิตดวงเดียว จิตที่มีขันธ์สถานะของภพชาติ ขันธ์ ๔ ขันธ์ ๑ พรหมมีขันธ์ ๑ ขันธ์ ๔

ขันธ์ ๕ นี่เป็นสัตว์นรก เป็นมนุษย์อย่างเรานี่ขันธ์ ๕ มีขันธ์ ๕ มีธาตุ มีขันธ์ จิตนี้วนไป เวียนมาอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา จริตนิสัยของคนถึงไม่เหมือนกัน กิเลสในหัวใจคนถึงไม่เหมือนกันไง พอกิเลสไม่เหมือนกัน กิเลสบางคนมันหนักไปทางไหน พอมันถูกสิ่งใดที่ไปถูกใจของกิเลส กิเลสจะพาวิ่งเต้นเผ่นกระโดดไปทางนั้นเลย มันเป็นไปได้ง่าย

การประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ว่าจะไปชำระกิเลส แล้วมันไปชำระกิเลสตรงไหน ในเมื่อจิตมันเป็นความสงบของตัวเอง กิเลสมันก็หลอกแล้วว่าสิ่งนั้นเป็นผล นี่หญ้าปากคอกเลยนะ ระงับความโลภ ความโกรธ ความหลง ระงับ! ก็คำว่าระงับความโลภ ความโกรธ ความหลงมันไม่ได้ดับ ไม่ได้ชำระ ไม่ได้ขาดออกไปจากใจเลย แค่ความสงบของใจ

แต่ความเวิ้งว้าง ความแปลกประหลาดของใจนะ มันจะเวิ้งว้างมาก ถ้ามีความสุขเข้าไป ละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ สิ่งนี้มันเป็นความสุขแน่นอน เป็นความสุข แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับอาฬารดาบสก็เหมือนกัน นี่สมาบัติ ๘

ฌานสมาบัติ ความสงบของใจ มันมีมาโดยดั้งเดิม ของเขามีมาเป็นพื้นเป็นฐานในหัวใจของสมัยพุทธกาล มีสิ่งนี้ในหัวใจ เพียงแต่รอคนชี้ทางออกเท่านั้น แต่ในสมัยเราประพฤติปฏิบัติ แล้วภัยของกิเลสที่กิเลสเป็นภัยในหัวใจ มันก็บอกว่าสิ่งนี้เป็นผล แล้วมันจินตนาการ ถ้าเป็นผลแล้วมันจินตนาการ เวิ้งว้างว่าสิ่งนั้นเป็นผลออกมา เห็นไหม จะเวิ้งว้างขนาดไหนนะ

โมฆราช พราหมณ์ ๑๖ ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “จิตนี่มองไปในโลกนี้ว่างหมด ความว่างนี้ว่างหมดเลย”

“โมฆราช ถ้าโลกนี้เป็นความว่าง เธอต้องถอนอัตตานุทิฏฐิ ถอนอัตตาในความว่างนั้นออกไป”

ถอนอัตตานั้น โมฆราชนั้นถึงสำเร็จเป็นผลไป ความว่างนั้นไม่ใช่! ความเวิ้งว้างของใจที่มันว่าง ปล่อยวางมานี้มันเป็นความว่างอะไร? เป็นความว่างของสมถธรรม ของสมาธิ ของความปล่อยวางของใจ แล้วมันจินตนาการได้ กิเลสเป็นภัย มันจะสวมรอยไง สวมรอยว่าสิ่งนั้นเวิ้งว้าง เป็นความสุข มันชั่วคราว มันเสื่อมสภาพโดยธรรมดาของมัน

ถ้าเราไม่ยกขึ้นวิปัสสนานะ มันจะเสื่อมโดยธรรมชาติเลย เพราะ “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องแปรสภาพเป็นธรรมดา” อันนี้มันแปรสภาพโดยเนื้อหาสาระของเนื้อของใจ เนื้อของธรรมอันนั้น

แต่เราไม่เห็นตามความเป็นจริง ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมันเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เราไม่เห็น เพราะเราไม่เห็นกิเลสไง ตรงนี้ยังไม่เห็นกิเลสเลย ยกขึ้นวิปัสสนามันถึงจะเห็นกิเลส นี่ถ้าเห็นกิเลส จับกิเลสได้ ถ้าจับกิเลสได้ “กาย เวทนา จิต ธรรม” นี่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง จับสิ่งนั้นแล้ววิปัสสนาไป มันจะเป็นผล ถ้าเป็นผลมันต้องมีขณะของจิต

ขณะจิตที่พลิกนะ พลิกจากที่ว่าเป็นปุถุชนเป็นพระอริยบุคคลขึ้นมา ขณะของจิตนี้สำคัญมากเลย ถ้าจิตมันพลิกออกไป จิตพลิกขนาดจากปุถุชนเป็นพระอริยบุคคล สังโยชน์มันขาดออกไปจากใจ สังโยชน์ขาดออกไปขณะจิตที่พลิกออกไป พอจิตนี้พลิกขึ้นไป สังโยชน์ขาดไปพร้อมกัน พร้อมกันขณะที่เป็นไป

ขณะเล็กหรือขณะใหญ่ ไม่เหมือนกัน คนอยู่ที่อำนาจวาสนาการสะสมมา ถ้าขณะใหญ่ ขณะพลิกทีเดียวมันจะฟ้าดินถล่มทลาย เลื่อนลั่นไปในหัวใจ มันจะสั่นไหวไปในหัวใจ แต่ละหัวใจนั้นจะสั่นสะเทือนไปหมดเลย แล้วปล่อยกิเลสออกไป อันนั้นขณะใหญ่

ขณะเล็กมันปล่อยวางไปเฉยๆ แต่สังโยชน์มันขาดออกไปจากใจ นี่ขณะของจิตที่มันจะพลิกสภาพ มันต้องเป็นไป มันถึงว่าเป็นสิ่งที่ว่าเป็นจริงตามนั้นไง แต่มันไม่มีขณะเห็นไหม ถ้ายังไม่มีขณะจิตที่พลิก พลิกแล้วไม่ใช่พลิกธรรมดา โมฆราชนี้ พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าให้ถอนอัตตานุทิฏฐิ ถอนทีเดียวหมดสิ้นกิเลสไปเลยทีเดียว เพราะอะไร? เพราะว่าขิปปาภิญญา

ขิปปาภิญญาหมายถึงผู้ปฏิบัติเร็ว รู้เร็ว ทีเดียวจบไป แต่ปัจจุบันนี้เป็นเนยยะสัตว์ สิ่งที่เป็นเนยยะสัตว์ “มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑” ให้เราก้าวเดินเข้าไป เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป จิตนี้จะก้าวเดินขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ก้าวเดินขึ้นไปตามแต่ว่ามันพัฒนาจิตขึ้นไป เป็นถึงบุคคลขั้นไหนๆ นี่เหมือนกัน ขณะมันต้องมี

แล้วถ้าขณะมี กิเลสเป็นภัย ขณะนี้ ขณะจิตนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า... ธรรมและวินัยอยู่ในพระไตรปิฎก ธรรมและวินัยบอกว่าขณะนี้สำคัญ ขณะที่จิตจะพลิกนี้ แล้วพอรู้จักว่า “ขณะ” มันก็สร้าง

เวลาจิตนี้สงบ ก็ว่าสิ่งนี้เป็นผล ภัยในการประพฤติปฏิบัติ ภัยนี้ยังให้เราผิดพลาด ผิดพลาดแล้วให้ผลกับจิตดวงนั้นนะ จิตดวงนั้นจะทำให้ผิดพลาด ให้เนิ่นช้าไปถ้าจิตดวงนั้นไม่เสียหาย จะทำให้เนิ่นช้า มันไม่ได้ประโยชน์ ไม่ได้ผลตามที่เราตั้งใจไว้ มันจะเป็นความผิดพลาดให้เราเสียเวลาไป แต่ถ้าทำให้เสียจนจิตนั้นเสียไป ก็เป็นได้

พอรู้ว่าขณะนี้ก็เหมือนกัน พอเห็นว่าขณะของจิตนั้นจะเป็นไป ก็พยายามจะพลิกแพลง ว่าสิ่งนั้นเป็นอาการ สิ่งนี้เป็นผลขึ้นมา สร้างจินตนาการขึ้นมา ให้เป็นขณะโดยสำเร็จรูป ขณะของจิตที่เป็นไปให้มันสำเร็จรูปว่า มันควรจะเป็นอย่างนั้น ควรเป็นอย่างนั้น เป็นขณะจิต อันนั้นมันเป็นขณะที่ว่าไร้เดียงสา เป็นขณะจิตของจิตที่อ่อนๆ ที่ไร้เดียงสาภาวะมากเลย

เราสร้างจินตนาการขึ้นมาเพราะอะไร? เพราะมันสร้างขึ้นมาอย่างไร มันรู้อยู่ในตัวมันเอง กิเลสไร้เดียงสา ความคิดอ่อนๆ ของกิเลสที่มันลอกลวงออกไป หลอกลวงว่าจิตนี้เป็นขณะที่พลิก มันสร้างจินตนาการมาให้เป็นแบบนั้น พอเป็นแบบนั้นขึ้นไป มันก็จะสะสมให้กิเลสยิ่งแก่กล้าขึ้น เอาตัวอ่อน เอาเหยื่อล่อ ล่อให้กิเลสมันเข้มแข็งขึ้นมา ล่อให้เป็นไป ว่าเป็นขณะของจิต มันไม่เป็นขณะของจิตเพราะอะไร? เพราะมันไม่มี สังโยชน์ขาดออกไป

สังโยชน์ไม่ขาดออกไปจากใจ จะไม่รู้ตามความเป็นจริงเลย ถ้าไม่ขาดออกไปจากใจ จะเอาอะไรมาเป็นขณะ ในธรรมบอกว่า “ขณะกิเลสขาดออกไปจากใจ ดั่งแขนขาด”

ความขาดออกไปดั่งแขนขาด ดั่งแขนขาดหมายถึงขณะของจิต ขณะของจิตที่มันมีมา ถ้าจิตนี้ไม่มี ความโลภ ความโกรธ ความหลงระงับลงเท่านั้น สิ่งที่ระงับลงมันอ่อนตัวลงไป ก็อ่อนตัวลงไป แต่มันไม่สามารถจะชำระหนี้ มันอยู่ที่อำนาจวาสนา

อำนาจวาสนาของคน เราจะยกขึ้นมาเปรียบเทียบกันไม่ได้ ถ้าทำแล้วมันไม่ได้ผล เราก็ต้องทำของเราตรงนี้ มันจะเป็นผล จะเป็นทางสิ่งอื่นไม่ได้ ถ้าทางอื่นมี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนแล้ว ทางที่มันจะสะดวกสบายออกไปกว่านี้ มันไม่มี จะเป็นทางนี้ทางเดียว นี่มรรคอริยสัจจัง

ทางมรรคะ ทางชำระกิเลสนี้ต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น ความสงบของใจขึ้นมาแล้วต้องยกขึ้นเป็นงานชอบ ถ้างานชอบ เป็นความชอบของใจ ความชอบของกิเลสมันเป็นความชอบอย่างหนึ่ง ความชอบของกิเลสมันพยายามผลักไสให้งานนี้ผิดพลาดออกไป แล้วมันก็จะทำงานแต่ความสะดวก สะสมแต่กิเลสขึ้นมาในหัวใจนั้น

ความดำริชอบก็เหมือนกัน งานชอบ ความดำริชอบ ความดำริก็คือปัญญา ปัญญาดำริชอบเรามีออกไปอย่างไร มันดำริประสาของกิเลสที่มันครอบคลุมของในวัฏฏะนี้ กิเลสเหมือนขันธ์ กิเลสนี้เอาความคิดของเรามาใช้ ในเมื่อเราคิดอย่างไร กิเลสคิดตามไป แล้วกิเลสก็ออกหน้าไปตลอดเวลา นี่ความคิดของขันธ์

ความคิดของขันธ์เป็นความคิดของการจำ การจำคือสัญญา สัญญาจำมา สังขารปรุงแต่ง ความคิดมันปรุงแต่ง ความคิดในวงของกิเลส มันความคิดในขันธ์ ความคิดในขันธ์มันจะเป็นมรรคไปที่ไหน มันไม่เจริญเติบโตขึ้นไปได้

แต่ปัญญาในหัวใจสิ ปัญญาที่เกิดขึ้นมาจากใจ นั่นล่ะมรรคอริยสัจจังเกิดจากตรงนั้น มันไม่ใช่ความคิดที่ว่าเราสำเร็จรูปมา ถือว่าเป็นขณะที่สำเร็จรูป ที่ตั้งขึ้นมาได้ ความคิดสำเร็จรูปอย่างนี้ กิเลสมันหัวเราะเยาะ มันเป็นอดีต อนาคต มันไม่เป็นปัจจุบันหรอก มันเป็นอดีต อนาคต ความรู้เท่าทันกัน คนที่จะหลอกลวงกัน ความรู้ไม่ทันกัน แม้แต่ขณะก้าวหนึ่ง ไอ้คนเดินตามหลังมาก็หมดตัวตลอดไป หมดตัวตลอดเวลานะ คนเดินตามคนข้างหน้าไม่ทัน เขาจะทำอะไรก่อน การพนันขันต่อทุกอย่าง เขาจะได้กำไรไปตลอดเวลา

อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อไม่เป็นปัจจุบัน ไม่เป็นหนึ่งเดียว ไม่พร้อมกัน แล้วมันจะเอาอะไรมาเป็นความจริง มันเป็นอดีต อนาคต มันจะโดนหลอกไปตลอดเวลา ใจดวงนี้จะโดนหลอกไป แล้วก็ทำให้จิตนี้เวิ้งว้าง จิตนี้เสียไป มันจะเวิ้งว้าง มันจะมีความผิดพลาดของใจดวงนั้น มันถึงสำคัญ ครูบาอาจารย์สอนตรงนี้ไง ที่ว่าพระกรรมฐานติดครู ติดอาจารย์ ติดตรงนี้

ติดตรงที่ว่า อำนาจวาสนาของเราไม่ถึง ถ้าเราทรงอินทรีย์ของเราไว้ ฟังสิ! ถ้าเราทรงอินทรีย์ พยายามทำอินทรีย์ให้แก่กล้าขึ้นมา มันสามารถทำได้ เพราะอำนาจวาสนามันก็เกิดขึ้นในการประพฤติปฏิบัติ

การนั่งสมาธิ การนั่งภาวนานี้ เป็นยอดของการสร้างอำนาจวาสนา อำนาจวาสนาสิ่งที่ว่ามันจะเป็นไปอย่างนั้น มันเป็นอดีตมา เราสร้างมาแล้วเป็นปัจจุบันนี้มันถึงเป็นเรา ปัจจุบันนี้มันก็เป็นแค่เสมอตัว แต่ในการประพฤติปฏิบัติ ในการสะสมอินทรีย์ให้แก่กล้าขึ้นมา เกิดโพชฌงค์ ธัมมวิจยะ ความโพชฌงค์นี้เราคิดขึ้นมา เราไตร่ตรองในธรรม เรามีสติสัมโพชฌงค์พร้อมอยู่ตลอดเวลา

ถ้าเรายังไม่เป็นไปขณะจิตที่มันจะเกิดขึ้น เราต้องสะสมของเราขึ้นมา การสะสมขึ้นมานี่ก็คือตัวบุญกุศล นี่ก็คือตัวอำนาจวาสนา ตัวสำคัญมาก แต่ถ้าเราเป็นคนด่วนได้ใจเร็ว กิเลสมันแซงหน้า แซงหลัง กิเลสมันพยายามจะบอกให้เป็นไปอย่างนั้น สร้างขณะเทียมขึ้นมาไง

สิ่งที่เป็นขณะเทียมขึ้นมา มันสร้างเทียมๆ ขึ้นมา พอสร้างเทียมขึ้นมามันไม่เป็นไป สิ่งที่ไม่เป็นไป อันนั้นก็เป็นภัยของกิเลส แล้วปฏิบัติไปจะเป็นผลตามนั้นไหม? มันไม่เป็นผลตามนั้น มันเป็นผลเทียมเหมือนกัน ถ้าเป็นผลเทียมขึ้นมา ให้อะไรกับใจดวงนั้น ให้ความสุขจริงหรือ? ในเมื่อสิ่งนั้นไม่เป็นไป มันให้แต่พิษภัยไง

ขณะที่จิตมันสงบ มันสร้างสมขึ้นมา มันมีความสงบเป็นพื้นฐาน มีความสงบ มีความตั้งมั่นเป็นของใจเป็นพื้นฐานขึ้นมา มันถึงดันขึ้นมาได้ขนาดนี้ ถึงทำความเพียรของเราขึ้นมา หมุนขึ้นมาได้ขนาดนี้ แต่ในเมื่ออินทรีย์ไม่แก่กล้า อำนาจวาสนาของเรามันไม่ถึง มันเหมือนกับโลกนี้จะเป็น...

โลกนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “อจินไตย ๔” โลกนี้เป็นอจินไตย แล้วเราเป็นสัตว์โลกเหมือนกับมันจะเป็นอจินไตย เวลามันทำไม่ได้มันเหมือนเป็นอจินไตย เหมือนมรรคผลไม่มี เป็นไปไม่ได้ ทำเป็นไปไม่ได้ โลกนี้เป็นอจินไตย แต่สัตว์โลกไม่เป็น!

สัตว์โลกเปลี่ยนแปลง หมุนเวียนตลอดเวลา สัตว์โลกไม่เป็นอจินไตย แต่สัตว์โลกอยู่ในโลกที่เป็นอจินไตย โลกที่เป็นอจินไตย คือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าไม่มีต้น ไม่มีปลายเหมือนกัน ไม่ต้องไปคร่ำครวญว่าเราจะไม่มีเวลาจะได้เกิด ได้เกิดแน่นอน โลกนี้เป็นอจินไตยที่จะรองรับสัตว์โลกไว้ตลอดเวลา

เราเป็นสัตว์โลก สัตว์โลกที่จะสร้างสมบารมีขึ้นมานี้ ไม่เป็นอจินไตย อจินไตยคือสิ่งที่ใคร่ครวญไม่ได้ สิ่งที่จับต้องไม่ได้ สิ่งที่จะนับเป็นกระบวนการประพฤติปฏิบัติเป็นธรรมไม่ได้ แต่ขณะที่ปฏิบัติอยู่นี่ มันส่งเสริมขึ้นมานี้มันเป็นนี่! มันเป็นเพราะมันมีความเป็นไปได้ จิตมันสงบขึ้นมา แล้วมันสร้างขณะเทียมขึ้นมา ขณะที่เทียมๆ ขึ้นมาเพราะอะไร? เพราะมันด่วนได้ ใจเร็วด่วนได้ อยากให้เป็นไป มันถึงไม่เป็นไปไง

ถ้ามีครู มีอาจารย์ จะย้อนกลับมาตรงนี้ จะต้องก้าวเดินไปทางนี้ทางเดียว ทางชำระกิเลสมันต้องมุมานะ แล้วสร้างสมของเราไป จนกว่าอินทรีย์นั้นแก่กล้า มรรคอริยสัจจังจะสัมปยุตกันชำระกิเลสออกไปได้จริงๆ เพราะนี่เป็นขณะที่จริง ขณะนี้มันถึงจะพลิกออกไป

พลิกออกไปจากปุถุชนกลายเป็นอริยบุคคลขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป ครูบาอาจารย์บางองค์ เริ่มต้นตั้งแต่พิจารณาเวทนาก่อน พอพิจารณาเวทนา จนเวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนา ขาดออกจากกันไป เป็นพระโสดาบัน นี่ขณะจิตที่พลิกขึ้นไป

พิจารณาแล้วคิดขึ้นไป ยกขึ้นวิปัสสนาต่อไปนะ ถ้ามันไม่ยกขึ้นวิปัสสนาจะติดในขั้นนั้น ยกขึ้นวิปัสสนาไป เพื่อพิจารณากาย ทิ้งกายออกไป กายกับใจแยกออกจากกัน เป็นพระสกิทาคามี ยกจิตขึ้นวิปัสสนาในอสุภะ อสุภัง นี่เป็นพระอนาคามี ปล่อยอสุภะ อสุภังตามความเป็นจริง พิจารณาความเวิ้งว้างของใจไง พิจารณาความสว่างไสวของใจ ใจนี้สว่างไสว ใจนี้เวิ้งว้าง พิจารณาจับตรงนั้นได้ พลิกอีกทีหนึ่ง นี่ขณะจิตที่มันพลิกแพลงขึ้นไป ครูบาอาจารย์บางองค์เป็นแบบนั้น

ครูบาอาจารย์บางองค์พิจารณากาย พิจารณากายจนเห็นกาย สักแต่ว่ากาย กายนี้ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย ปล่อยกายไว้ตามความเป็นจริง ปล่อยกายนะ ใจนี้ปล่อยกาย สังโยชน์ขาดออกไป เป็นพระโสดาบันเหมือนกัน พิจารณายกขึ้นเพราะจริตนิสัยสะสมมาอย่างนั้น พิจารณายกขึ้นไปก็ไปเจอกายอีก พิจารณากาย กายจึงเป็นธาตุ เป็นดิน เป็นลม เป็นน้ำ เป็นไฟ แยกออกจากกัน

ถ้าไม่ยกขึ้นมันติดในความว่างอยู่ ความว่างนี้ไม่ใช่งาน ความว่างเป็นความว่าง ยกขึ้นพิจารณากาย เห็นกายนี้เป็นอสุภะ ปล่อยอสุภะเป็นพระอนาคามี พิจารณากายนี้พลิกออกไป เป็นพระอรหันต์ขึ้นไป

ครูบาอาจารย์บางองค์พิจารณาจิต จนจิตนั้นพิจารณาจิตนี้ จิตนี้ไปติดข้องในอะไร? จิตนี้ไปติดข้องในกาย พิจารณาจิตซ้ำอยู่อย่างนั้น จิตอันนี้ไปเกาะเกี่ยวเพราะอะไร? เพราะว่าจิตกับกายนี้ยึดกันเป็นตัวตนของมัน มันยึดกันโดยธรรมชาติของมัน พิจารณาจนปล่อยวาง พิจารณาจนเข้าใจแล้วชำระออก

ขณะจิตที่ชำระออก เป็นพระโสดาบัน พิจารณาจิตซ้ำเข้าไป ยกขึ้นเข้าไปเจอจิต พิจารณาจิตซ้ำเข้าไป พิจารณาจนเข้าไปตามความเป็นจริง มันปล่อย จิตกับกายนี้ปล่อยออกจากกัน เป็นพระสกิทาคามี ยกขึ้นพิจารณากามราคะ มันก็พิจารณาจิต ไปเจอจิตอีก จิตนี้ก็เป็นกาม พิจารณาจิตนี้ซ้ำเข้าไป จนจิตกับกามแยกออกจากกัน ขันธ์กับใจแยกออกจากกัน ปล่อยวางไปตามจริง เป็นพระอนาคามี

พิจารณาจิตซ้ำเข้าไปอีก จิตนี้เป็นตอของจิต พิจารณาจิตเป็นตอของจิต พลิกออกไป พิจารณาซ้ำเข้าไป ปล่อยวางออกไป เป็นพระอรหันต์ออกไป

ในสติปัฏฐาน ๔ พิจารณากาย พิจารณาจิต พิจารณาเวทนา พิจารณาธรรม ก็ได้ ถ้าเราพิจารณากาย พิจารณากายส่วนใดส่วนหนึ่งของกาย การพิจารณายกขึ้นวิปัสสนา จิตนี้สงบแล้วยกขึ้นวิปัสสนาในกายนั้น

วิปัสสนากาย ก็วิปัสสนาอยู่ตรงกายนั้น จนกว่าอินทรีย์จะแก่กล้า พิจารณาจนปล่อยตามความเป็นจริง อำนาจของธรรมจักร อำนาจของปัญญา อำนาจของสมาธิ มันจะเข้าไปสมุจเฉทปหาน พอสมุจเฉทปหานขาดออกไป นี่กายนี้สักแต่ว่ากาย จิตนี้สักแต่ว่าจิต ทุกข์นี้สักแต่ว่าทุกข์ มันจะแยกออกจากกัน ขณะที่มันเป็นไป มันขาดออกไปจากใจ เวิ้งว้างออกไปจากใจเลย นี้ในสติปัฏฐาน ๔ พิจารณากาย

สิ่งใดสิ่งหนึ่ง พิจารณาตรงนั้นที่เดียว จนกว่ามันจะขาดออกไป ไม่ต้องไปพะวงว่าเรายังไม่ทำสิ่งอื่น คือพิจารณากายอยู่นี้ จะไม่ได้พิจารณาอย่างอื่น แล้วมันจะพยายามไปดึงสิ่งนั้นมาพิจารณา มันทำให้งานนั้นผิดพลาดออกไป ทำให้งานนั้นเนิ่นช้าออกไป ทำให้งานนั้นเป็นภาระรุงรังมากขึ้น

แม้แต่การรบซึ่งๆ หน้ากับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่แล้ว มันยังเป็นงานสุดความสามารถ ยังต้องไปเอาอะไรเหนี่ยวรั้งมาเป็นภาระอีก เห็นไหมกิเลสเป็นภัย! มันเป็นภัยขณะที่เรากำลังสู้ต่อหน้า มันก็เป็นภัย แล้วเราจะชำระตัวมันเอง มันจะเอาความสะดวกสบายมาจากไหน? มันต้องชำระตัวมันเองด้วย ชำระเล่ห์เหลี่ยมภัยที่มันจะสะสมขึ้นมา ให้ขาดออกไป

ขาดออกไปเห็นไหม พิจารณากาย พิจารณาเวทนา เวทนากับจิต ถ้ายกขึ้นวิปัสสนาได้ จับกาย จับเวทนา พิจารณาเวทนาไป เวทนานี้กับจิตนี้เป็นอันเดียวกันหรือ? นี่เวทนากับจิต เวทนาไม่ใช่จิต จิตนี้ไม่ใช่เวทนา มันอยู่เกาะเกี่ยวกันด้วยอุปาทานเท่านั้น พิจารณาเวทนาซ้ำไปจนจิตมันปล่อยวาง มันปล่อยนะ มันจะปล่อยของมันได้ พิจารณาซ้ำบ่อยเข้า... บ่อยเข้า... จนมันปล่อย ปล่อยเวทนานี้เป็นขันธ์ หลุดออกไป จิตนี้เป็นจิต แยกออกจากกัน เป็นพระสกิทาคามี

พิจารณาจิต นี่กาย เวทนา จิต ธรรม พิจารณาจิต จิตนี้มันเป็นกามราคะ จิตนี้ตัวจิตเองเป็นตัวกาม สิ่งที่เกาะเกี่ยวกันอยู่นี้ โลกเขาอยู่กันนี่ ความคิดที่ว่าความทุกข์ ความยาก ความคิดต่างๆ มันเป็นเรื่องของใจเป็นเรื่องส่วนใหญ่นะ ใจนี้ต่างหากเป็นผู้ดิ้นรน ใจนี้ต่างหากเป็นผู้สั่งสมให้เราก้าวเดินไป ใจนี้ต่างหากเป็นผู้อยาก ใจเท่านั้นเลยเป็นผู้อยาก

ความอยากอันนี้เป็นกามราคะ แล้วมันแสดงออกมาถึงตรงร่างกาย พิจารณาจิตตรงนี้ จนปล่อยวาง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะมันเรื่องของความรุนแรง จนมันปล่อยวาง เป็นพระอนาคา

พิจารณาธรรม ธรรมทำไมต้องพิจารณาอีก ในเมื่อมันเป็นธรรมแล้ว ธรรมอันนี้ ธรรมที่ไปยึดมั่นถือมั่น ธรรมที่เป็นตัวตน ธรรมที่มีแก่นสารที่จับต้องได้ เราว่าเรารู้ธรรม รู้ธรรม คำว่าธรรม มันเป็นธรรมที่ว่าเราคิด เรานึกขึ้นมา ไม่ใช่ธรรมจริงไง การพิจารณาธรรมตรงนี้ ตัวนี้แหละ ที่ว่าพิจารณาธรรม ธรรมตัวนี้เป็นตัวเริ่มต้น ธรรมตัวนี้เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ธรรมตัวนี้เป็นผู้รับรู้ เก็บข้อมูลต่างๆ ไว้กับธรรมตรงนี้ไง

กาย เวทนา จิต ธรรม ธรรมนี้เป็นสิ่งที่ว่า ยังเป็นเป้าหมายอยู่ “สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายต้องแปรสภาพทั้งหมด” “สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน ธรรมทั้งหลายไม่คงที่” เพราะเป็นธรรม ธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมชาติคือความแปรปรวน ธรรมะกับธรรมชาติอยู่ขณะที่ว่า ก้าวเดินนี้ ธรรมะเป็นธรรมชาติก้าวเดินไป

แต่พิจารณาธรรมชาติไง พิจารณาธรรมตามความเป็นจริง จับธรรมได้พิจารณาธรรมตามเป็นจริง ธรรมนี้ก็พึ่งไม่ได้ ธรรมนี้ก็แปรปรวน ธรรมนี้ก็ไม่ใช่ธรรม เพราะมันไม่คงที่ มันเป็นที่พึ่งไม่ได้ จนสละทิ้งออกไป เห็นตามเป็นจริง ทิ้งธรรมนี้ออกไป นี่กาย เวทนา จิต ธรรม พิจารณาธรรม จนปล่อยธรรมไว้ตามความเป็นจริง ใจนั้นถึงหลุดออกไป

พอใจดวงนั้นหลุดออกไป จะว่าธรรมหรือไม่ว่าธรรม จะว่าธรรมก็ไม่ใช่ จะไม่ว่าธรรม นั้นแหละเขาคือธรรม เป็นสักแต่ว่าไง สิ่งที่เป็นสักแต่ว่า จะไม่เกาะเกี่ยวกับโลกนี้เลย เขาอยู่ของเขาเป็นเอกเทศ เป็นสิ่งที่ว่าคงที่ คงตัวอยู่อย่างนั้นเลย นั้นคือใจที่พ้นออกไป

จากขณะของจิต จิตที่เป็นขณะ ขณะเข้าไป มันพลิกแพลงขึ้นไป ขณะของจิตนี้มันต้องมีแน่นอน แล้วต้องมีตามความเป็นจริงด้วย ไม่ใช่ว่ามีแบบที่เราจะเอาสิ่งนั้นเข้ามา ให้มันเป็นไปตามความเห็นของกิเลส

ถ้ากิเลสเป็นภัย การประพฤติปฏิบัตินี้จะเป็นภัยไปตลอดเลย ถ้ากิเลสนี้เราจะชำระแล้ว เราต้องครอบคลุม ต้องทำเป็นไปเป็นสุภาพบุรุษไง ต้องซื่อสัตย์กับธรรม ถ้าเราซื่อสัตย์กับธรรม ความซื่อสัตย์คือทำซึ่งหน้า ทำตรงๆ หน้าเข้าไป ก้าวเดินตามความเป็นจริงขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป เราจะได้ดื่มกินธรรม

จากที่เราได้ดื่มกินกิเลส เราว่าเราจะดื่มกินกิเลสหรือไม่ดื่มกินกิเลส กิเลสกับหัวใจนี้เป็นอันเดียวกัน มันเร่าร้อนอยู่ตลอดเวลา แล้วเราปลิ้นปล้อน เราลัดหน้าลัดหลัง เราอยากได้ธรรมด้วยความสะดวก นี่กิเลสเป็นภัยอย่างนั้น มันลัดหน้าลัดหลังออกไป มันก็เป็นอดีต อนาคตทั้งหมดเลย แล้วก็ลัดไปลัดมา เราเหนื่อยนะ เหนื่อยมาก... ทุกข์มาก...

การชำระกิเลส การสะสมเพื่อสะสมธรรมขึ้นมา เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา เพื่อจะชำระกิเลสแต่ละชั้นแต่ละตอน การทำความสงบของใจนี้ก็แสนยาก พอใจมันสงบแล้ว มันก็นอนตายอยู่อย่างนั้น นอนตายในความสงบนั้น เพราะว่าความสงบนั้นเป็นผล พอนอนตายขึ้นมาต้องพลิกขึ้นมา พลิกขึ้นมาหากาย

กายนอกส่วนกายนอก กายนอกที่เห็นๆ กัน เป็นกายนอกหยาบเกินไป กายนอกทำใจให้สงบเข้ามาไปถึงกายในเท่านั้น พลิกขึ้นมาให้เห็นกาย เวทนา จิต ธรรม กายก็ได้ จิตก็ได้ สิ่งใดสิ่งหนึ่งเห็นไหม เวทนาก็ได้ จับอันเดียว เราไปห่วง ไปพะวงกัน สิ่งที่พะวงนี้ก็เป็นกิเลส นิวรณ์ธรรม ความลังเลสงสัย มันเป็นกิเลสโดยเนื้อหาสาระอยู่แล้ว เพราะมันมีอยู่ในหัวใจ

ฉะนั้นหน้าที่ของมันคือ การทำงานของมัน ในเมื่อกิเลสทำงาน มันก็ทำงานของมันอย่างนี้ มันทำงานของมันอย่างนี้โดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว นี่มันก็เป็นอกุศลไง เป็นธรรมโดยฝ่ายดำ เป็นอกุศล แล้วเราไม่เข้าใจว่าอันนี้เป็นอกุศล พอไม่เข้าใจเป็นอกุศล เราก็ไปขุ่นเคือง พอขุ่นเคืองเข้าไป นี่ซ้อนเข้าไป ซ้อนเข้าไป กิเลสมันก็ซ้อนต่อไป ต่อไปเรื่อยๆ

ถ้าเราจะดับมันล่ะ เราพยายามยึดไว้ ยึดอะไร? ไม่ยึดมันนะ ไม่ยึดตัวผูกโกรธ ยึดในธรรมสิ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำบริกรรมก็ได้ คำไหนที่เรายึดก็ได้ ปัญญาก็ได้ ยึดตัวนี้ไว้ แล้วเกาะตัวนี้ไว้ สิ่งนั้นจะหายไป ธรรมชาติของจิต รู้ได้หน้าที่เดียว แต่บางทีเราคิดแล้ว มันยังคิดได้ซ้อนๆ อันนั้นมันต่อเนื่องกัน เพราะเราเป็นคนไม่แน่นอนเอง เราเป็นคนไม่จริงจัง เราคิดเราเผื่อเลือกไง

ถ้าเราจริงจัง ความจริงจังนี้มันเกิดจากอะไร? เกิดจากสติสัมปชัญญะ ถ้าสตินี้ดี กำหนดตรงไหนแล้วจะเป็นอย่างนั้น เพราะสติมันจะคุมไปด้วย สติจะคุมไปตลอดเลย สติคุมไปมันก็เป็น ๑ เดียว ความคิดเป็น ๑ เดียว ไม่มีสิ่งนั้นเข้ามา แล้วจะดึงเข้ามาได้

เวลาเวทนาเกิดขึ้น เจ็บปวดมาก... เวทนาเกิดขึ้น นี่เราก็กำหนดอยู่ ฟังอยู่ ทำไมเวทนามันเกิด เพราะอะไร? เพราะว่ามันไม่เป็น ๑ มันรับรู้ ๒ รู้ ๓ ไปไง แล้วว่าจิตนี้เป็น ๑ ได้อย่างไร จิตนี้ไม่เป็น ๑ เพราะสติสัมปชัญญะไม่พอ

ถ้าสติสัมปชัญญะพอนะ กำหนดพุทโธๆๆ พุทโธดึงขึ้นมาได้ พยายามให้แน่นขึ้นมา จิตนี้จะอยู่กับพุทโธ เวทนานี้จะหายไปโดยธรรมชาติ นี้คือหลบเวทนาเข้ามาส่วนหนึ่ง การทำขันติธรรมไง การอด การทน เพื่อกำหนดพุทโธ... พุทโธ... เพื่อไม่สู้กับเวทนา ไม่ใช่วิปัสสนา ไม่ใช่การต่อสู้อยู่ เราถอยเข้ามา อันนี้เป็นการเพิ่มกำลังอย่างหนึ่ง เพิ่มกำลังให้จิตนี้เห็นการแปรสภาพ ให้เห็นว่าเราสามารถพลิกแพลงได้ ๑.

๒. ในเมื่อเวทนาเกิดอยู่กับเรา แล้วมันดับไปต่อหน้า เพราะว่าธรรมะนี้มีจริง มันเป็นการยืนยันกับหัวใจของเรา หัวใจของเราจะยืนยันเพราะเราสร้างสมขึ้นมาเองว่า สิ่งนั้นเกิดขึ้นมาซึ่งๆ หน้าของเรา แล้วมันหลุดออกไปซึ่งๆ หน้า นี่ความเชื่อตน ความเชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างหนึ่ง การผจญกับธรรมแล้วเราสามารถปลดเปลื้อง ทำสิ่งต่างๆ คือความทุกข์ออกจากหัวใจได้บางอย่าง ธรรมนี้เกิดขึ้นจากเรา นี่เริ่มก้าวเดิน

จิตใจจะเริ่มก้าวเดินได้ มีกำลังขึ้นมาเพราะเราสร้างสมขึ้นมา แล้วเหตุการณ์เผชิญหน้า ซึ่งๆ หน้าให้เราเห็นอย่างนั้น มันเป็นการภูมิใจ นี่เป็นการยืนยันกับใจดวงนั้น ใจดวงนั้นก็ไม่ต้องพึ่งใคร พึ่งตัวมันเอง เข้าใจกับตัวมันเอง แล้วต่อไปมันจะทำได้ง่ายขึ้น ง่ายขึ้นในการวิปัสสนาง่ายขึ้น เพราะเห็นสิ่งนั้นแล้วซึ่งๆ หน้า ใจนี้พัฒนาขึ้นมา การพัฒนาขึ้นมาเหมือนกับสั่งสมอินทรีย์แก่กล้าขึ้นไป นี่สั่งสมอินทรีย์

อำนาจวาสนา กรรมเป็นกรรม กรรมสะสมให้เกิดทุกข์ๆ ยากๆ นะ กรรมเป็นกรรม แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติ นี่ก็เป็นกรรมเหมือนกัน แต่เป็นกรรมดี กรรมดีชำระล้างกรรมชั่ว แล้วกรรมดีขนาดไหน? ดีขนาดที่ว่าชำระภพชาตินี้ออกไปจากหัวใจทั้งหมด ภพชาตินี้ไม่ต้องไปเกิดไปตายอีก

สิ่งที่ไปเกิดไปตาย ว่ากิเลสเป็นภัย เป็นภัยขนาดว่า เป็นภัยด้วยแล้วไม่รู้สึกตัวด้วย ไปตามมัน มันทำอย่างไรก็ไปตามมัน แล้วจะปฏิเสธก็ไม่ได้นะ เหมือนกับสัตว์ที่โดนเขาร้อยรัดไว้ แล้วจูงไปโดยธรรมชาติเลย จิตดวงนี้เป็นอย่างนั้นเลยนะ เหมือนกับกิเลสมันควบคุมไว้ แล้วก็จูงไปตามแต่มันจะขับไสไป อำนาจของกรรมพาไสไป

เวลาสิ่งนั้นมันเกิดโดยธรรมชาติของมัน มันเกิดโดยธรรมชาติ มันเกิดดับ เกิดดับในหัวใจ ความอยากก็เกิดดับ เกิดดับ แล้วทำโดยสุ่มสี่สุ่มห้า ทำโดยความไม่รู้ตัว สิ่งนั้นมันเป็นประโยชน์กับอะไร? กับชีวิต สิ่งที่เกิดดับ ธรรมชาติของมันเป็นอย่างนั้น แล้วเราก็ใช้สิ่งนั้นเป็นเครื่องดำรงชีวิตให้ชีวิตนี้ก้าวเดินไป จนกว่าชีวิตหนึ่ง แล้วเราจะใช้ชีวิตอย่างนั้นหรือ? มันก็ใช้ชีวิตแบบสัตว์โลก

สัตว์โลกกับสัตว์มนุษย์ สัตว์มนุษย์จะเอาตัวออกจากโลก ถ้าใช้ชีวิตแบบสัตว์โลก มันก็จะเป็นว่าอจินไตยเหมือนกับสัตว์โลกนั้นไป เหมือนกับโลกที่เป็นอจินไตย มันต้องผูกมัดไปอย่างนั้น เว้นไว้แต่ใจดวงนี้มีอำนาจวาสนา ใจของเราเกิดเป็นสัตว์ขึ้นมาก็ไม่ใช่ว่าเกิดเป็นสัตว์ตลอดไป มันพลิกแพลงไป อำนาจถึงจุดหนึ่งที่เราต้องไปเกิดเป็นสัตว์ ถ้าสัตว์อย่างนั้นสัตว์ประเสริฐไง สัตว์อย่างนั้นมันยังเกิดชาติต่อไป ยังพลิกแพลงได้ มันถึงว่าไม่แน่นอน

แต่ถ้าสัตว์ที่เราเปรียบว่า ในกิเลสของเรามันผูกมัดเราไป มันต้องเห็นความขยะแขยง เห็นความทุกข์ เห็นภัยในหัวใจของเรา ถ้าเราเห็นภัยในหัวใจของเรา เราก็สามารถที่พยายามจะให้เอาตัวออกมาพิจารณาได้ ให้เอาตัวมาประพฤติปฏิบัติ ถ้าตัวไม่ประพฤติปฏิบัติ ใครจะประพฤติปฏิบัติให้?

ถ้าตัวไม่ประพฤติปฏิบัติ เราหาซื้อไม่ได้ มรรคผลนิพพานนี้ ซื้อด้วยเงินด้วยทองไม่ได้ ไหว้วานกระทำก็ไม่ได้ ไม่มีใครจะไหว้วานให้ใครทำให้กันได้ เราต้องทำของเราเองทั้งนั้นเลย เราสะสมของเราขึ้นมาเอง จนกว่ามันจะเปลี่ยนแปลงในหัวใจขึ้นมาได้ ถ้าหัวใจเปลี่ยนแปลงขึ้นมา แล้วเราประพฤติปฏิบัติแล้วไม่ให้ภัยเข้ามาแทรกซ้อนด้วย ถ้าภัยเข้ามาแทรกซ้อน การประพฤติปฏิบัตินี้ก็แสนยาก การทำนี้แสนยาก แล้วประพฤติปฏิบัตินี้แล้วมันเปล่าจากประโยชน์ไง

ถ้าภัยมันเข้ามาแทรกซ้อนในการประพฤติปฏิบัติ มันหลอกลวง มันปลิ้นปล้อน ขณะก็ขณะไม่จริง ความคิดทุกอย่างไม่จริงทั้งหมดเลย สิ่งที่ไม่จริงแล้วก็รวมไปในความไม่จริง พอความไม่จริง มันจะได้อะไรเหลือไว้กับหัวใจที่เป็นความจริง ใจนี้เป็นความจริงนะ ชีวิตนี้ จิตนี้ของจริง

เราจะเกิดตายขนาดไหนก็แล้วแต่ มันไม่เคยตาย แล้วเวลามันประพฤติจนถึงที่สุดแล้ว เพราะมันจริงอยู่แล้ว นิพพานนี้ก็ของจริง พอนิพพานนี้ของจริง ใจดวงนั้นกับธรรมที่ว่าเป็นของจริง เข้าเป็นอันเดียวกันแล้ว สุขอันนั้นมหาศาลมาก สุขอันนั้นเป็นความสุขในหัวใจ เป็นเป้าหมายของชาวพุทธ แต่ขณะที่ว่าเราก้าวเดินอยู่นี้ มันยังไม่ถึงความสุข ถ้าเราเกิดขึ้นได้ มันก็เป็นเครื่องให้กำลังใจของเรา ความสุขในการทำความสงบของใจไง

ความสุขในการวิปัสสนามันปล่อยวางเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไปไง สิ่งนี้มันเป็นความสุข มันมีความสุขเจือจานไปในการประพฤติปฏิบัติ แต่ในเมื่อความเพียรเป็นความทุกข์แน่นอน การยืน เดิน นั่ง นอน กริยาใดก็แล้วแต่ที่เป็นความเพียรของเรา แล้วยืนสักพัก คนนอนว่านอนเป็นความสุข ให้นอนตลอดชีวิตก็นอนไม่ได้หรอก คนที่จำเป็นต้องนอน เขานอนมันยังทับร่างกายจนเป็นแผลขึ้นมาจนได้ มันเป็นไปไม่ได้ที่คนจะต้องนอนอยู่อย่างนั้น แต่เราก็อยากสะดวก อยากสบาย

ฉะนั้นการยืน เดิน นั่ง นอน ในอิริยาบถ ๔ ในการประพฤติปฏิบัตินี้ มันไม่มีความสุขหรอก มันเป็นความทุกข์ล้วนๆ แต่ความทุกข์อันนี้ เป็นความทุกข์ที่เราน่าจะพอใจ ถ้าเราพอใจความทุกข์ ความทุกข์อันนี้มันสามารถจะให้คุณประโยชน์ แต่เราไม่เห็นประโยชน์ของมัน เราไปพอใจกับความโลกเขา ที่ว่าเป็นความสุขในโลกที่กิเลสมันอ่อยเหยื่อไว้ ถ้าเห็นเป็นความสุข อย่างนั้นเป็นความสุข แล้วมันจะได้แต่ความทุกข์

เราเป็นคนที่พยายามจะทำความเพียร ทุกข์นี้ล่วงพ้นได้ด้วยความเพียร ความเพียรเท่านั้นที่เราสะสมขึ้นมานี้ มันจะก้าวพ้นจากความทุกข์อันนี้ได้ แล้วมันทุกข์ขนาดไหน มันก็เต็มใจไง สิ่งที่เต็มใจทำ พอเต็มใจทำ มันไม่เป็นสอง สติสัมปชัญญะมันพร้อมขึ้นไป มันทำเข้าไปได้เต็มที่ สิ่งที่เต็มที่มันจะก้าวเดินของมันไป

ก้าวเดินของมันไป แล้วก็ไม่ให้กิเลสเข้ามาดักหน้าดักหลัง ถ้าดักหน้าดักหลัง เรารู้ทันของมัน เรารู้ทันเพราะเราเคยผิดพลาดมา ถ้าเราผิดพลาด เราก็แก้ไขของเราไปเรื่อยๆ แก้ไขของเราไปเรื่อยๆ ใจนี้จะต้องถึงที่สุดได้

ใจของสัตว์โลก สัตว์โลกที่มันหมุนไปกับโลกเขา แต่สัตว์ประเสริฐนี้จะออกมาจากโลกเขาได้ ออกมาจากโลกนะ โลกคือหมู่สัตว์ โลกคือเรื่องของกิเลส กิเลสนี้มันควบคุมสัตว์โลกไว้ในวัฏฏะ กรอบของวัฏฏะให้เราหมุนเวียนไปนะ หมุนไปขนาดไหนมันเป็นของเดิม

ใจเราเคยเกิดเคยตายมาอยู่ในวัฏฏะนี้มาตลอด แล้วก็ซ้ำ ๒ ซ้ำ ๓ มันเป็นของเดิม กรอบมันอยู่เท่านั้น แต่มันจะใหม่ ใหม่ต่อเมื่อเราเกิดใหม่ พอเราเกิดใหม่ เราก็ตื่นภพตื่นชาติไปชั่วคราว ตื่นภพตื่นชาติไปก็พยายามว่าภพชาตินี้จะอยู่กับเรา มีความสุข แล้วมันก็ได้แต่น้ำตามานะ ได้แต่ความทุกข์ไว้ในชาตินั้น ชาตินั้น

ความทุกข์ชาตินั้นมีแต่สะสมไว้ ให้กองทุกข์กับหัวใจนั้น จนสะสมมาในใจดวงนั้น เป็นอำนาจวาสนา เป็นบาปอกุศลติดกับใจดวงนั้นมา ใจดวงนั้นหมุนไปตลอด นี่กรอบของวัฏฏะ กรอบของเก่า แล้วเราจะเป็นอย่างนั้น ถ้าเราไม่พยายามทำของเรา มันก็ต้องเป็นแบบนั้น เป็นแบบหัวใจที่พาไป

หัวใจที่พาไป กระเสือกกระไสแค่ไหนมันก็พาไป ถ้ามันวนออกมาได้ ธรรมมีอยู่ ครูบาอาจารย์มีอยู่ เวลามีธรรม คนที่ฉลาด ดูพระสารีบุตร เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์โปรดหลาน หลานมาต่อว่าพระสารีบุตร “ไม่ประสงค์ ไม่ชอบใจเลย ไม่ชอบใจสิ่งใดๆ เลย” คือว่าไม่ชอบใจองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เอาพระสารีบุตรมาบวช พระพุทธเจ้าบอก

“ถ้าเธอไม่พอใจสิ่งใดๆ ต้องไม่พอใจสิ่งที่เธอไม่พอใจนั้นด้วย”

ในเมื่ออารมณ์ความคิดมันเป็นสิ่งที่ว่า เป็นความเกิดดับ เกิดดับในหัวใจด้วย คนเราน่ะ เราเป็นคนที่ปัญญาทึบ มันมองไม่เห็นว่า เวลาเราโกรธ เราคิด เราไม่พอใจ เราพูดออกไป มันนึกว่าเป็นนามธรรมที่คนอื่นเขามองไม่เห็น แต่กิริยาที่แสดงออก มันแสดงออกมาอยู่แล้ว

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ถ้าเธอไม่พอใจสิ่งใดๆ เธอต้องไม่พอใจสิ่งนั้นด้วย” พระสารีบุตรถวายงานพัดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ข้างหลัง พัดอยู่ คนกำลังเคลื่อนไหวอยู่ ทำไมกิเลสมันขาดตอนนั้นล่ะ? กิเลสขาดออกไปจากตอนนั้น นี่คนมีปัญญามาก มันใช้ความคิดมาก ถ้าความคิดเราคิดมากต่อไป เราสงสัยมาก สงสัยมากต้องไตร่ตรองมาก ต้องใคร่ครวญมาก

ถ้าเจอครูบาอาจารย์ อย่างพระสารีบุตร อยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพอเทศน์สอนคนอื่น ไม่ได้สอนพระสารีบุตรเลย แต่เพราะมีปัญญา ไปเอาสิ่งนั้นเข้ามาเทียบเคียงกับหัวใจ เพราะหัวใจเข้าพิจารณามาอยู่แล้ว พื้นฐานมีอยู่แล้ว ใจผู้ปฏิบัติพยายามพิจารณาของตัวเองอยู่ตลอดเวลา แต่ขณะที่พลิก ขณะของจิตขั้นสุดท้ายมันยังไม่เกิดขึ้น

ขณะของจิต อรหัตตมรรค อรหัตตตผล ขณะที่พลิกจากอรหัตตมรรค ใคร่ครวญตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์สอนหลานตัวเองอยู่ โต้ตอบกับหลานตัวเองอยู่ “ถ้าไม่พอใจสิ่งใดๆ ก็ต้องไม่พอใจสิ่งนั้นด้วย” นี่พร้อมอยู่แล้ว มรรคนี้พร้อมอยู่แล้ว เวียนออก หมุนออกไปเอาสิ่งนั้นมาเป็นเชื้อ พอเชื้อนั้นสรุป มรรคนี้รวมตัว ขณะพลิกไปเลย เป็นพระอรหันต์ไปทันทีเลย ผู้มีปัญญาไง

ถ้าปัญญาใคร่ครวญอยู่ ปัญญาการกดถ่วงใจ ใจมันก้าวเดินไปไม่ได้ ถ้าใจก้าวเดินไม่ได้ นี่ปัญญาอันนั้น ภัยของกิเลสมันอยู่กับปัญญาอันนี้ ปัญญาอันนี้เป็นกิเลสล้วนๆ มันไม่มรรคโดยบริสุทธิ์

มรรคโดยบริสุทธิ์ มรรคโดยที่ว่าไม่มีกิเลสเข้ามาเจือจาน เวลาเราใช้ความคิดของเรา ไฟไหม้บ้าน เราจะไปรื้อค้นของออกมาจากบ้าน เรากลัวไฟไหม? นี่เหมือนกัน กิเลสเป็นไฟเผาหัวใจอยู่ หัวใจนี่ ไฟทั้งนั้นมันเผากันอยู่ตลอดในหัวใจนั้น แล้วเราจะไปเอามรรคผลขณะที่หัวใจนี้เป็นไฟอยู่หรือ? มันถึงต้องเอาความสงบของใจขึ้นมา ถึงว่ามรรคจะบริสุทธิ์ บริสุทธิ์ตรงนี้ไง

ทำความโลภ ความโกรธ ความหลง ความขัดใจ ความอยากได้ตามความเป็นจริง ความอยากเห็น ความอยากได้ผล กิเลสมันเป็นไฟไหม้บ้านอยู่ ถ้าเราจะไปขนสมบัติออกมาจากที่ไฟไหม้บ้าน เราเข้าไปเราก็ละลายหมด ละลายของเราคือความเพียรโดนกิเลสใช้จนหมดเนื้อหมดตัวกับกิเลสไป จนกิเลสเป็นภัย จนไม่ได้ผลขึ้นมาจากการประพฤติปฏิบัติ นี่ทำความโลภ ความโกรธ ความหลง ของเราให้มันสงบตัวลงขึ้นมา ให้ไฟนั้นยุบยอบลง

ความโลภ ความโกรธ ความหลง นี่ไฟมันระงับลง ขนสมบัติอย่างไรก็ไปขนออกมาสิ ถ้าเรายังใช้ความคิดที่มันยังมีเราอยู่ในหัวใจ มีเราอยู่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง

ความหลง มันต้องหลงไปมาหรือน้อย มันต้องหลง จะละเอียดอ่อน จะหยาบ จะละเอียดขนาดไหน ความหลงอันนั้นทำให้ความเห็นนั้นผิด มรรคนี้มันก็เลยหมุนผิดไง นี่ปัญญาเดินออกไป มันถึงเดินผิดไง

พอปัญญาผิด มรรคนี้มันก็ไม่บริสุทธิ์เห็นไหม ความที่ว่ามรรคไม่บริสุทธิ์ มันถึงเป็นอย่างนี้ ถึงเป็นจินตมยปัญญา ถ้ามรรคบริสุทธิ์นะ เป็นภาวนามยปัญญา ความสงบของใจพร้อมอยู่แล้ว ความดำริชอบ การงานชอบ ความเพียรชอบ ต้องงานชอบ งานในสติปัฏฐาน ๔ เท่านั้น ถ้าเป็นงานในที่อื่นมันไม่ใช่การชำระกิเลส เพราะว่าจะเห็นกิเลส หากิเลสไม่เจอ กิเลสอาศัยตรงนี้เป็นที่อยู่อาศัย

กายกับจิตนี้เป็นที่อยู่ของกิเลส กิเลสอาศัยกายนี้ หัวใจถึงอยู่ได้ กิเลสอยู่ในหัวใจดวงนั้น อาศัยกายกับใจอยู่ที่นั่น เราทำลายกายกับใจ กาย เวทนา จิต ธรรมก็คือกายกับใจ ถ้าทำลายกายกับใจ ทำลายที่อยู่ของกิเลสไง ทำลายที่อยู่ของกิเลส กิเลสมันก็ต้องตายไป การชำระกิเลสเขาชำระกันแบบนี้

การชำระอย่างนี้มันมีขณะจิตขึ้นไป เป็นชั้นๆ ขึ้นไป ขณะอันนี้มันถึงเป็นความจำเป็น ๑ เป็นความเห็นจริง ๑ มันไม่ใช่เป็นความจำเป็นแล้วเราไปค้นคว้าเอามา หามาเอง ถ้าเราไปหาของเรามาเอง มันไม่ใช่เป็นความเป็นจริง มันไม่เป็นธรรมไง มันเป็นสัพเพ ธัมมา อนัตตา มันอยู่ในบ่วงของสัพเพ ธัมมา อนัตตา วงนี้เป็นวงของจินตมยปัญญา

สุตมยปัญญา การศึกษามา การจินตมยปัญญานี้ ไม่บริสุทธิ์ จินตมยปัญญานี้มันจินตนาการ มีเราเห็นไหม จินตนาการ-จินตมยปัญญา วงนี้วงของจินตมยปัญญา มันไม่ใช่วงของภาวนามยปัญญา

นี่ปัญญา ๓ “สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา” ภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นมาก่อน มันถึงจะเห็นว่าขณะของจิตมันถึงเป็นตามความเป็นจริง

ถ้าภาวนามยปัญญาไม่เกิดขึ้น มันเป็นจินตมยปัญญา จินตมยปัญญาใคร่ครวญไป แล้วกิเลสมันก็สวมรอยไป ให้แต่ความทุกข์นะ เราว่าทำชำระกิเลสเพื่อจะเอาความสุข แล้วทำไมเวลาภาวนาไปมันถึงทุกข์ยากล่ะ ทุกข์ยากนี้อย่าเข้าใจว่าทำให้เป็นความทุกข์ยาก เราแสวงหาธรรม ธรรมให้แต่ความสุข

ธรรมนี้ให้ความสุขนะ แต่ให้ความสุขอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด เราทำทานมา เราถือศีลมา เรามาประพฤติปฏิบัติ เราต้องเข้าใจถึงความเติบโตของหัวใจเรา หัวใจเราก้าวเดินมาตั้งแต่เด็กๆ ตั้งแต่ไร้เดียงสาภาวะ จนเห็นคุณประโยชน์ของศาสนา แล้วเราก้าวเดินขึ้นมาจากทาน จากศีล จากภาวนา ใจของเราเติบโตมาตลอด

พอใจเราเติบโตขึ้นมา ธรรมนี้ถึงให้คุณประโยชน์ แต่สิ่งที่เวลาประพฤติปฏิบัติ มันให้ทุกข์อยู่นี้ คือกิเลสมันให้ทุกข์อยู่ กิเลสมันขัดขวาง มันไม่เป็นตามความเป็นจริง แล้วกิเลสนี้ไปเป็นแก่น แก่นของกิเลสอยู่กับใจที่มันผูกเนื้อเดียวกัน เป็นเนื้อเดียวกันที่มันละเอียดอ่อนมาก แล้วกิเลสก็มีอย่างกลาง อย่างหยาบ อย่างละเอียด เราชำระอย่างหยาบๆ ได้ เราก็ทำความสงบของเราได้ เราก็มีความจงใจของเราได้ ธรรมถึงให้คุณประโยชน์กับทุกข์ดวงใจ

ธรรมให้ประโยชน์กับหัวใจของเรา เราได้ภาวนาขึ้นมาจนถึงธรรมจุดใดจุดหนึ่ง ธรรมนั้นจะให้ประโยชน์ ให้ความสุข ธรรมนี้ให้ความสุขถ่ายเดียว เราอย่าไปตีความว่า เราปฏิบัติธรรมแล้วถึงมีความทุกข์อย่างนี้ เพราะเราปฏิบัติธรรมแล้วเราถึงลำบากลำบนอย่างนี้ อันนี้เป็นเรื่องของกิเลสทั้งหมด นี่กิเลสเป็นภัย

เป็นภัยมาตั้งแต่เริ่มต้น แล้วเป็นขึ้นมาในระหว่างประพฤติปฏิบัติ เราถึงว่าต้องพยายามชำระมันให้ได้ พยายามต่อสู้ การต่อสู้นั้นเป็นการดึงกัน เป็นการดึงระหว่างธรรมกับกิเลสที่มันจะดึงกันว่า เราจะไปทางไหน ถ้าธรรมชนะขึ้นมา มันก็จะปล่อยวาง จะว่างขึ้นมา จะวิปัสสนาก็ปล่อยวางขึ้นมาเป็นชั้นขึ้นไป เราจะเห็นได้ ความสุขออกมาจากธรรม สุขอีกแล้ว

สุขนี้ทำให้แต่ความสุข ธรรมนี้ให้แต่ความสมหวัง ธรรมนี้ไม่ให้โทษใคร ไม่เคยให้โทษใคร ในการประพฤติปฏิบัติที่มันทุกข์ยาก มันลำบากอยู่นี้ ต้องว่ากิเลสอย่างเดียว กิเลสในหัวใจเรา กิเลสที่อยู่กับเรานี้ อย่างเดียวเท่านั้นเลย

กิเลสอย่างเดียวขัดขวางอยู่ แล้วเราก็เกิดมากับมัน มันพาเราเกิดมา ให้มันว่าสิ่งที่พาเกิดมา เป็นธรรมชาติ นี้ต้องยอมรับ แต่เราต้องการทำลายเขา เราต้องการทำลาย เพราะว่าเราเชื่อธรรมแล้ว เราเห็นคุณประโยชน์จากธรรมมาแล้ว แล้วเราก้าวเดินขึ้นมา จิตใจเราเติบโตขึ้นมาขนาดนี้ ทำไมเราจะทำไม่ได้ ถ้าเราทำได้เราก็มีมุมานะ เราก็ทำต่อไป

เราทำต่อไป สักวันหนึ่ง อินทรีย์ของเราแก่กล้าขึ้นมา ความเห็นของเราเป็นความเห็นถูก ความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง เห็นถูกต้อง แล้วทำความถูกนั้นให้กับหัวใจของเรา เป็นภาวนามยปัญญาเข้ามาในหัวใจ ทำถูกต้อง ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง จิตนั้นผ่องแผ้ว ความสว่างไสวของใจจะโผล่ขึ้นมา นี่ความมืดบอดของใจ จะไม่เห็น จับต้องสิ่งใดไม่ได้ พูดถึงใจว่าเป็นวัตถุ ใจนี้จับต้องได้ ก็ไม่เข้าใจ

ใจนี้มันเป็นสิ่งที่ว่า เห็นกันในหัวใจ ความสว่างไสวของใจที่ว่า จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้สว่างไสว เราทำความสงบเข้ามา มันเข้าไปหาความสุข ความสว่างไสวนั้นได้เหมือนกัน อันนั้นเป็นความสว่างไสวของการเข้าไปด้วยสมถธรรม

ความสว่างไสว ด้วยการพิจารณาความสว่างไสว “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส” พอจับหัวใจได้ มันก็จับตอของจิตได้ ถ้าจับตอของจิตได้ มันก็จับความสว่างไสวนั้นได้ ความสว่างไสวถึงจับต้องได้ไง ความสว่างไสวที่ว่าสว่างครอบโลกธาตุ เรายังจับต้องมันได้ แล้วเรายังพลิก ขณะที่พลิกออกไปยังพ้นออกไปจากกิเลส นี่มันพ้นไปได้

ผู้นี้ จิตดวงนั้น จิตดวงที่เห็นในสภาวะนั้น จิตดวงนั้นจะไปสงสัยสิ่งใด? จิตดวงนั้นก้าวเดินขึ้นมาจากความเพียรของเรา ที่เราสะสมขึ้นมา เราก้าวเดินขึ้นไป จากเด็กอ่อน จากความไร้ภาวะเดียงสาขึ้นมา ก้าวเดินขึ้นมา มันถึงว่าเป็นปัจจัตตังไง มันถึงว่าใจดวงนั้นเป็นที่พึ่งของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นเห็นตามความเป็นจริง ใจดวงนั้นสุข ใจดวงมีการพึ่งตัวเองได้ ตนเป็นที่พึงแห่งตน แล้วตนจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นอีกมหาศาล

ถ้าตนเป็นที่พึ่งของตนไม่ได้ เรายังเป็นที่พึ่งของเราไม่ได้ เราต้องพยายามเอาตนนี้ให้พ้นออกไปจากกิเลสก่อน เอาตนเป็นที่พึ่ง เพราะไฟมันเผาไปบนหัวของเรา ถ่านแดงๆ อยู่บนหัวของเรา เราต้องดับถ่านแดงๆ บนหัวของเราให้ได้ก่อน

ถ้าเราเห็นว่าถ่านอยู่บนหัวของเราแดงๆ นี่มันเผาแล้วมันเจ็บปวดแสบร้อน คนเรามันจะรีบปัดทิ้งเลย แต่นี่มันเผาอยู่บนหัวของเรา แต่เราก็ไม่เห็น มันครอบหัวใจของสัตว์โลกไว้ สัตว์โลกมองไม่เห็นไง ถ้าสัตว์โลกมองเห็นสิ่งนั้น สัตว์โลกต้องเต็มใจในการประพฤติปฏิบัติ

คนประพฤติปฏิบัติธรรม ต้องมีมากมายมหาศาลเลย นี้เพราะว่ามันมืดบอด มันมองไม่เห็นถ่านไฟเผาอยู่บนหัว อยู่บนหัวแดงๆ นั้น มันถึงเพลินอยู่กับโลกเขา พอเพลินอยู่กับโลกเขา มันก็ใช้ชีวิตแบบโลกเขาไป เกิดมาแบบสัตว์โลก แล้วก็ตายไปแบบข้องอยู่ในโลก

จะว่าเป็นสัตว์หรือไม่เป็นสัตว์มันข้องอยู่ มันต้องเกิดตาย เกิดตายอยู่ตลอดไป มันก็เวียนไปอยู่ของเขาอย่างนั้น เพราะเขาไม่เห็นภัย ถ้าเห็นภัยว่ามันเป็นภัยอย่างร้ายแรงขึ้นมา เป็นภัยที่ว่าเผาหัวของเรานี่ หัวเรามันจะให้ความเจ็บแสบปวดร้อนขนาดไหน ถ้ามันเผาจริงๆ เราทำไมไม่รีบปัดออก

ถ้ารีบปัดออก เราจะเห็นว่าถ่านนี้มันเผาบนหัวจิตหัวใจของสัตว์โลก มันจะสลดสังเวชไง ความสลดสังเวชเห็นไหม จิตนี้เป็นเอกเทศ จิตนี้ทรงตัวอยู่ได้ ความกระพริบ ความเคลื่อนไหวออกมาจากจิตดวงอื่น ใจดวงอื่น มันมองออก มันมองเข้าใจ มันเห็นภัย เห็นตรงนั้น เห็นถ่านที่เผาร้อนๆ อยู่บนหัวของสัตว์โลก เห็นอย่างนั้นไง

เห็นว่าที่ความคิด ความกระทำออกมา มันกระทำออกมาจากถ่านเผา ถ่านนี้เผาหัวมา แล้วทนอยู่ไม่ได้ แสดงออกมาจากกิริยาที่แสดงออกมานั้น นี้คือกิเลส นี้คือกิเลสเผาสัตว์โลกให้มันทุกข์ร้อนอยู่ แล้วจิตดวงนั้นก็เคยเป็นอย่างนั้นมา แล้วเลยชำระกิเลสนั้นออกจากใจ พ้นออกไปจากใจทั้งหมด มันต่างกัน

มันต่างกันได้แต่ความสุข ความทุกข์ คนมีกิเลส มีถ่านอยู่บนหัวหนึ่งก้อน กับคนที่ไม่มีถ่านอยู่บนหัวเลย ความสบายของคนต่างกันไหม? แล้วทำไมคนที่ไม่มีถ่านอยู่บนหัว ไม่สงสาร ไม่สังเวชล่ะ คนที่ไม่มีถ่านบนหัวต้องสังเวชคนที่มีถ่านบนหัวเห็นไหม

แต่นี่ไม่เป็นอย่างนั้น คนที่มีถ่านอยู่บนหัวร้อนๆ กลับสังเวชคนที่ไม่มีถ่านบนหัวไง ว่าพวกนี้เป็นพวกที่มีปัญหา ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ ผู้ที่แสวงหานี้ เป็นผู้ที่ว่าไม่มีความเจริญรุ่งเรืองในโลกเขา มันไม่มีความเจริญรุ่งเรื่องในถ่านก้อนที่ ๒ ไง มีถ่านอยู่ก้อนหนึ่งแล้วไม่ต้องการก้อนที่ ๒ ก้อนที่ ๓ เผาหัวให้มากกว่านั้นไง คนเขารู้ว่าถ่านเผาหัวนั้นมันเป็นสิ่งที่ร้อน เขาถึงปฏิเสธออกมา พยายามจะแสวงหาสิ่งที่มันพ้นทุกข์ออกไป

แล้วคนที่จะพ้นทุกข์ออกไป การปัดถ่านออกจากหัว คนๆ นั้นจะเป็นผู้ที่ว่าไม่จริงจังได้อย่างไร คนผู้นั้นเป็นผู้ที่รกโลกได้อย่างไร ผู้นั้นเป็นผู้ประเสริฐต่างหาก คนผู้นั้นเป็นผู้ประเสริฐ ผู้ใดปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม ผู้นั้นเป็นผู้ประเสริฐ ผู้นั้นต่างหากที่จะเป็นผู้ข้ามพ้นกิเลสได้

ผู้ใดนอนจมอยู่ในมูตร ในคูถ นอนจมอยู่ในกิเลส นอนจมอยู่ในความเห็นของตัว นอนจมอยู่ในกิเลสที่มันป้อนเหยื่อให้กับหัวใจดวงนั้น นอนจมอยู่กับความเป็นมูตร เป็นคูถ แล้วก็ว่าดวงใจของตัวมีความสุข ว่ามีความสุข ๑ แล้วมีพวกมาก ๑ (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)