เทศน์บนศาลา

ศากยบุตร

๕ ก.ค. ๒๕๔๔

 

ศากยบุตร
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๔
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐที่สุด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมะอันนี้ ธรรมอันประเสริฐนี้ ถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ธรรมหรือไม่ตรัสรู้ธรรม ธรรมะก็มีอยู่แล้ว

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสวงหาธรรม แสวงหาโมกขธรรม ๖ ปี กว่าจะได้ธรรมะอันนี้มา ได้ธรรมะมาแล้วมีความสุขมาก มีความสุขในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พ้นจากกิเลสทั้งหมด เสวยสุขอยู่จนสิ้นอายุขัยแล้วก็ปรินิพพานไป ทิ้งธรรมะอันนี้ไว้ไง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่จะเผยแผ่ศาสนา ถึงได้วางศาสนาไว้ให้พวกเราได้เดินตาม พวกเราจะศึกษาศาสนา อ่านศาสนา อ่านธรรมะ อ่านด้วยอะไร? อ่านด้วยสมมุติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมนะ เป็นวิมุตติ ธรรมอันนั้นประเสริฐ ประเสริฐเพราะมันกังวานในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไป ธรรมก็ยังกังวานอยู่สำหรับใจผู้ที่เป็นธรรม

แต่ใจผู้ที่ไม่เป็นธรรม เห็นไหม เกิดมา กิเลสพาเกิด เกิดมาแล้วพยายามแสวงหาธรรม เอาอะไรแสวงหาธรรมล่ะ? เอาสมมุติแสวงหาธรรม ในเมื่อเป็นสมมุติ เห็นไหม ทุกคนเกิดมาแล้วต้องศึกษาหาความรู้ขึ้นมาเพื่อแสวงหาธรรม ได้ความรู้มาแล้วค่อยไปแสวงหาธรรม ความรู้นั้นเป็นภาษาหนังสือ ตัวหนังสือนี้เป็นตัวสื่อบอกความหมาย เราพยายามศึกษามาเพื่อจะสื่อความหมาย ตัวหนังสือนั้นก็เป็นสมมุติอันหนึ่ง กิเลสในหัวใจของเราก็เป็นสมมุติอันหนึ่ง ในเมื่อสมมุติกับสมมุติมันเข้ากัน มันก็หมุนเวียนไป มันเป็นไปตามสมมุติ นี่เวลาเราศึกษาศาสนา

แต่ธรรมที่ประเสริฐนั้นสัมผัสได้ด้วยใจ ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสัมผัสธรรมอันนั้น แล้วดื่มกินรสของธรรมอันนั้น เพราะใจนั้นสัมผัสธรรมอันนั้น แต่เราใช้ภาษาของสมมุติเข้าไปจับธรรม เราถึงอ่านธรรมะไม่ออก

เราอ่านหนังสือออกนะ เราศึกษางานตำรับตำราขึ้นมาเป็นวิชาการ เพื่อจะแสวงหาธรรมๆ เราอ่านอยู่นั้น เราศึกษาอยู่นั้น แล้วมันจะเป็นธรรมเข้ามาในหัวใจของเราไหม เราว่าเราเป็นธรรมๆ เพราะเราศึกษาธรรม เราศึกษาธรรมต้องเป็นธรรมสิ แต่เราศึกษาธรรมขึ้นมาทำไมมันถึงไม่เข้าถึงธรรมล่ะ

มันไม่เข้าถึงธรรม เพราะหัวใจนี้มันไม่ใช่เป็นธรรมจริง แล้วศึกษาอยู่อย่างนั้น มันเป็นการศึกษาในสมมุติ ในโลกของกิเลส แล้วกิเลสก็หลอกลวงไปว่าเราศึกษาธรรม เราจะเข้าถึงธรรม มีความสุขมากถ้าศึกษาธรรม เวลาเราอ่านธรรมะไป ข้อความใดก็แล้วแต่ ถ้าถูกใจเรา มันเป็นสิ่งที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังมา สิ่งที่เราคาดไม่ถึง พออ่านถึงตรงนั้น มันจะมีความรู้สึกว่าดูดดื่มมาก มีความโล่ง โปร่ง ปล่อยวางหมด เราก็ว่าอันนั้นเป็นธรรมๆ

มันเป็นสัญญา สัญญาความจำได้หมายรู้ นี่การสร้างภาพของสัญญานั้นขึ้นมาไง พอเราอ่านไปถึงตรงนั้นมันก็สร้างภาพขึ้นมา ความเป็นภาพขึ้นมานั้น เงาซ้อนเงา เรามีเงาอยู่อันหนึ่งคือในหัวใจของเราเป็นเงาอันนี้อยู่แล้ว เงาคือสัญญาของเรา แล้วกิเลสมันก็ควบคุมเงาอันนี้อยู่หนึ่งชั้น แล้วเราอ่านธรรมะไป

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้ววางธรรมไว้เป็นสมมุติบัญญัติ แล้วเราก็ศึกษาสมมุติบัญญัติเพื่อจะเข้าหาธรรม เห็นไหม มันออกมาเพื่อเป็นการแสวงหา เพื่อเป็นการสืบต่อ การดำเนินเข้าไปหาธรรมมันต้องเป็นอย่างนั้น...ถูกต้อง ตามหลักความเป็นจริงแล้วมันก็ต้องศึกษาธรรมเข้าไปโดยการศึกษาเล่าเรียนนี่ถูก

ถูก หมายถึงว่า เริ่มต้นถูกต้อง แต่ถูกต้องขึ้นไปแล้วมันไม่เป็นไปตามความเป็นจริง มันไม่เป็นไปตามความเป็นธรรมของหัวใจเพราะเหตุใดล่ะ เพราะว่าเราก้าวเดินไปไม่ถูกทางอันนั้น เพราะกิเลสมันขับไส กิเลสมันเบี่ยงเบนให้เป็นความเห็นผิด ความเห็นของเราเป็นความเห็นผิดแล้วมันจะถูกต้องได้อย่างไร

ความเห็นของเราเป็นความเห็นผิดเพราะกิเลสมันพาเห็น มันพาบิดเบือนออกไปจากหลักความเป็นจริง เพราะเราตีความหมายไง เงาของความหมาย เงาของจินตนาการ เงาของความรู้สึกอันนั้น นี่เพราะมันเป็นเงาของความรู้สึกอันนั้น ความเห็นของเราถึงไม่ตรงตามความเป็นจริง มันถึงได้ไม่เป็นความจริงในหัวใจของเรา แล้วเราจะก้าวเดินอย่างไร

การจะก้าวเดิน เราก็ต้องก้าวเดินถูกต้องตามหลักวิชาการอย่างนี้ นี่ก้าวเดินอย่างนี้ เราศึกษามา นี่เป็นสมมุติ เราศึกษาสิ่งนั้น อันนั้นก็เป็นการสื่อความหมาย เห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์ไปอยู่กับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านจะเคารพตัวหนังสือมาก ท่านถามลูกศิษย์ว่า “เวลาเจอหนังสือ วางหนังสืออย่างไร หยิบหนังสืออย่างไร”

หลวงปู่มั่นให้หยิบทูนไว้บนหัวนะ ท่านบอกว่า “หนังสือ ตัวอักษรทุกตัว มันเป็นการสื่อความหมายของธรรม” ธรรมะจะสื่อกันได้ก็อาศัยตัวอักษรนี้สื่อออกมา แล้วเราก็อ่านตามตัวอักษรนั้นเข้าไป เห็นไหม หลวงปู่มั่นเคารพ เพราะมีความเคารพนบนอบ หัวใจมันถึงควรแก่การงาน เพราะมีความอ่อนน้อมถ่อมตน จิตใจควรแก่การงาน จิตใจนั้นอ่อนน้อมถ่อมตน จิตใจนั้นเปิด จิตใจนั้นต้องการความเข้าใจ ต้องการความรู้อันนั้นใช่ไหม

แต่ในสมัยปัจจุบันนี้เราไม่คิดอย่างนั้น เราคิดว่าเรารู้อยู่แล้ว เราอ่านความหมายออก เราก็ว่าเรารู้อยู่แล้ว เห็นไหม ในเมื่อว่าโลกเจริญๆ กิเลสมันก็เจริญตามโลกไปด้วย กิเลสมันอยู่ในหัวใจของเราแล้วมันเจริญตามโลกไป มันว่ามันครอบโลกธาตุ ความรู้ครอบโลกธาตุ สิ่งใดก็มีความรู้ไม่เท่าตัวเรา เรานี้ฉลาดที่สุด เรารู้มากที่สุด เราก็ตีความหมายไปตามประสาเรา เห็นไหม เวลากิเลสมันเบี่ยงเบน มันเบี่ยงเบนอย่างนี้

ความหมายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ตีความหมายอย่างหนึ่ง ความหมายนั้นเป็นโลกุตตระ ความหมายเป็นความหลุดพ้นจากกิเลส ความหมายนั้นเป็นธรรมล้วนๆ นั่นน่ะ ท่านอ่านธรรมขาดเลย อ่านออก อ่านขาดเป็นชั้นๆ เข้าไป แต่เราอ่านไม่ออก เราอ่านภาษาของเรา แต่อ่านธรรม อ่านไม่ออก อ่านแต่ตัวหนังสือออก แต่อ่านความหมายธรรมอันนั้นไม่ออก เห็นไหม มันอ่านไม่ออกเพราะว่ามันมีกิเลสพาอ่านอยู่แล้ว

สมมุติเป็นสมมุติ บัญญัติเป็นบัญญัติ สมมุติบัญญัติ ไม่ใช่วิมุตติ

สมมุติบัญญัติ เห็นไหม ธรรมหยาบๆ ถ้าว่าไม่เป็นธรรมแล้วเราจะเอาอะไรไปก้าวเดิน มันก็ต้องก้าวเดินตรงนี้ขึ้นไป ก้าวเดินตามธรรมเข้าไป ก้าวเดินตามธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานไว้แล้ว เราก็ศึกษาแล้วเราก็ก้าวเดินเข้าไปๆ นี่ศึกษาเพื่อดึงดูดเราเข้ามาในเรื่องของศาสนา ถ้าไม่มีตรงนี้ดึงดูดเข้ามาเลย เราจะเชื่อใคร

แต่ครั้งพุทธกาลนี้ไม่มีหนังสือ ต้องศึกษากันโดยปากต่อปาก ศึกษาไปแล้วมันก็มีความเข้าใจ เปล่งวาจานะ “เป็นพุทธมามกะ ถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ขอให้จำข้าพเจ้าไว้ ขอถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง” เห็นไหม ศึกษากันอย่างนั้น แต่ปัจจุบันนี้มีหนังสือหนังหาให้เราศึกษาได้สะดวกสบายขึ้นมา ศึกษาขึ้นมาเพื่อความศรัทธาของเรา เห็นไหม

ความดูดดื่มอันที่ว่า เราสร้างสัญญาขึ้นมา เป็นเงาซ้อนเงา เราศึกษา เราอ่านเข้าไปแล้วมันมีความถูกใจ มันมีความดีใจ มีความจินตนาการว่าเหมือนมันปลดเปลื้องได้ มันปลดเปลื้องความคิดของใจได้ ความคิดของใจมีความผูกพัน แล้วความคิดของใจไม่มีทางออก ความคิดของใจมันอัดอั้นตันใจอยู่นี่ ทุกข์ของใจเกิดอย่างนั้น อัดอั้นตันใจอยู่หนึ่ง วิตกกังวลอยู่หนึ่ง ลังเลสงสัยในหัวใจอีกหนึ่ง นี่หัวใจไปไม่ได้เพราะเหตุนั้น แล้วมันก็ไม่มีทางออก ไม่มีทางออกที่จะเป็นไปได้เลย พอมาอ่านตำรับตำรา อ่านหนังสือ อ่านเรื่องของธรรม มันก็ชี้ว่าใจนี้เป็นนามธรรม ใจนี้เป็นอย่างนั้นอยู่โดยธรรมชาติของเขา อัดอั้นขึ้นมาเพราะกิเลสมันปิดกั้นอยู่ เห็นไหม

ถ้าเราศึกษาธรรมเข้าไป อ่านเข้าไป เงาขึ้นมา ต้องสร้างภาพขึ้นมา เห็นไหม สร้างภาพขึ้นมาเป็นอย่างนั้น มันก็ซ้อนเงา พอซ้อนเงา เงากับเงา ภาพอันนั้นเหนือกว่าภาพเดิมของเรา ภาพนั้นมีความสามารถครอบคลุมความคิดความเห็นเดิมของเรา มันก็ปล่อยความเห็นเดิมของเรา เห็นไหม จิตใจปล่อยความเห็นเดิมที่มันอัดอั้นตันใจอยู่นี่ มันก็โล่ง มันก็ว่าง เห็นไหม นี่เงาซ้อนเงา ภาพซ้อนภาพ ภาพอันนั้นสร้างขึ้นมา เพราะเราจินตนาการขึ้นมา นี่ศึกษาด้วยความเห็นของตัวอักษรมันเป็นอย่างนั้น แต่มันมีความศรัทธา ความศรัทธาความเชื่อของเราเริ่มเข้ามาในหัวใจ มันเป็นสิ่งที่แปลกประหลาด เราไม่เคยพบเคยเห็นสิ่งนี้ เราคาดเราหมายเรื่องอย่างนี้ไม่ได้ เพราะความรู้ของเราเป็นความรู้ในวงของกิเลสที่มันพาใช้อยู่ กิเลสพาใช้อยู่จะไม่ให้ความคิดเรามุ่งออกไปข้างนอกหรอก มันให้ความคิดวนอยู่ในเรื่องของกามราคะ ในเรื่องของโลภะ โทสะ โมหะ เรื่องของความหลงใหลของหัวใจ มันจะวนอยู่ในนั้น มันไม่ให้อิสระออกไปได้ มันก็เวียนคิดเวียนทำอยู่อย่างนั้น

แล้วเรามาศึกษาธรรม มาอ่านธรรม ธรรมะนี้พาแหวกออกๆ นี่ความศรัทธาเกิดขึ้น ความเชื่อมั่นเกิดขึ้น มันมีความเชื่อมั่นเกิดขึ้นมันก็ลากเราเข้ามาได้ เห็นไหม ลากเราเข้ามา หัวใจ ความเห็นของเราอยากประพฤติปฏิบัติ อยากจะพ้นจากทุกข์ เราก็มาประพฤติปฏิบัติ แล้วพอมาประพฤติปฏิบัติ ทำไมมันไม่เป็นไปตามนั้น

ความที่ไม่เป็นไปตามนั้นเพราะมันก็ยังอ่านหัวใจไม่ออก เราอ่านใจของเราไม่ออก ใจของเรามันวิ่งเต้นเผ่นกระโดดอยู่ ธรรมอันนั้นเป็นความจำ เป็นสัญญามา ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้อยู่ในตู้พระไตรปิฎก เราก็จำมาๆ กว่าจะหยิบจะใช้ได้มันต้องไปแสวงหาขึ้นมา มันต้องสร้างเงาขึ้นมา มันต้องสร้างภาพขึ้นมา คือต้องไปจำสิ่งนั้นขึ้นมา มันอยู่ตรงไหน อยู่เล่มไหน อยู่หน้าไหน วันนั้นเคยอ่านที่ไหน แล้วมันตรงกับความคิดของเราอย่างนี้ เห็นไหม นี่มันไม่ใช่เป็นสมบัติของเรา มันเป็นสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสรู้แล้ววางธรรมไว้ เห็นไหม พระปัจเจกพุทธเจ้าสามารถรู้เหมือนกัน แต่ไม่สามารถวางธรรมได้ เพราะไม่สามารถอธิบายเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้ง ธรรมนี้ละเอียดลึกซึ้งมาก แล้วไม่มีความสามารถเอาของที่ลึกในหัวใจออกมาวางให้เราก้าวเดินตามได้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีปัญญามาก พุทธวิสัย สามารถเอาเรื่องที่ลึกลับในหัวใจของเราออกมาบัญญัติเป็นตัวอักษรเขียนไว้ แล้วเราอ่าน เราก็ศึกษาตามพระไตรปิฎก ถ้าอ่านตามพระไตรปิฎก เห็นธรรมตามความเป็นจริงในพระไตรปิฎก ในพระไตรปิฎก เทศน์ทุกกัณฑ์สอนถึงที่สุดได้นะ เราทำถึงที่สุดของทุกข์ได้ ทำถึงที่สุดของธรรมอันนั้นได้ มันจะขาดไปหมดเลย

แต่เราอ่านแล้วเราตีความหมายไม่ออก แล้วความเห็นของเราไม่เป็นไปตามนั้น คือเราอ่านธรรมไม่ออกไง เราอ่านหนังสือออก แต่อ่านธรรมะไม่ออก เพราะเราอ่านโดยกิเลส อ่านโดยสมมุติ มันเอาสมมุติพาอ่าน เอาสมมุติไปติดต่อกับสมมุติ สมมุติมันก็เวียนอยู่ในสมมุติอย่างนั้น มันถึงเป็นโลกียะไง ความเป็นโลกียะคือความเป็นสมมุติ ความเป็นความคิดของเรา ความคิดของโลกเขา นี่อ่านไม่ออก เพราะเราไปอ่านในหนังสือ

ถ้าจะอ่านธรรมะออก มันต้องอ่านในหัวใจ เพราะกิเลสมันอยู่ที่ใจ ถ้าเราอ่านที่ใจได้ เราค้นคว้าใจของเราเจอ เราจะสามารถเริ่มมีหนังสืออีกเล่มหนึ่ง หนังสือคือตัวใจ เอามาอ่านเรื่องของกิเลส ถ้าอ่านเรื่องของกิเลสโดยเอาธรรมเข้าไปอ่าน แล้วใครเป็นคนอ่าน? หัวใจเป็นผู้ที่จะอ่านขึ้นมา ทำความสงบเข้าไปๆ

ความสงบนี้ทิ้งไม่ได้เลย สมถกรรมฐานนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการงานที่ควรจะเป็นการงานที่ประเสริฐในหัวใจของเรา ถ้าสมถกรรมฐานไม่เกิดขึ้น เราอ่านขนาดไหนก็อ่านอย่างที่เราเคยอ่านกันอยู่อย่างนี้ เราทำขนาดไหน ประพฤติปฏิบัติขนาดไหน ก็วนอยู่ในสมมุติอันนั้น วนในสมมุติแล้วมันก็มีความสุขประสาสมมุติ

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐมาก ผู้ที่เข้าถึง เห็นไหม ทาน ศีล ภาวนา ผู้ที่พอใจในเรื่องของทาน เขาก็มีความสุขในการสละทาน ผู้ที่สูงขึ้นไป เรื่องของศีลมันก็สูงกว่าเรื่องของทาน เห็นไหม มีความสงบของใจ ใจสงบมันก็สูงขึ้นมา มีปัญญาขึ้นมามันก็ค้นคว้าของมันไปอีกเรื่องหนึ่ง นี่ความสูงของใจ ความจงใจ ความเห็นของใจที่มันจะเป็นไป มันจะเป็นไปตามอย่างนั้น

นี่ก็เหมือนกัน เราศึกษาขึ้นมามันตรงกับความพอใจของเรา มันก็พอใจของมันอย่างนั้น พอใจมันก็ปล่อยวางของมัน ประสาที่ว่ามันปล่อยวางของมันได้ เพราะธรรมชาติของใจ ถึงที่สุดแล้วเขาก็ปล่อยวางของเขาโดยธรรมชาติของเขาเหมือนกัน ถึงที่สุด ใจนี้มันเป็นอนิจจัง ไม่มีความคิดอันใดเลยที่จะคงที่ตลอดเวลา ไม่มีความผูกมัดของใจ ความคิดของใจอันใดเลยที่จะมาฝังใจตลอดไป มันจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความเปลี่ยนแปลงของมัน มันเปลี่ยนแปลงด้วยความไวของมันที่เรามองไม่เห็น

การศึกษามาก็ศึกษาเรื่องของใจ อ่านพระไตรปิฎก ศึกษาธรรมะก็ศึกษาเรื่องของใจ แต่ศึกษาแล้วมันไม่เห็นใจ มันอยู่ในขอบของใจ แต่เข้าไม่ถึงใจ ศึกษาธรรมอยู่ แต่เข้าไม่ถึงธรรม เพราะไปติดอยู่ที่ขอบของธรรม ขอบของธรรมคือการศึกษา เรารู้มาก เราศึกษามา เรารู้เราเห็นตามความเป็นจริงอย่างนั้น เราก็จินตนาการของเรา เห็นไหม มันสร้างกรอบขึ้นมาอีกกรอบหนึ่ง กรอบของเราผูกมัดกรอบของเราเอง

กรอบของเรากับขอบของธรรม...กรอบของเราคือความเห็นของเรา ขอบของธรรม เห็นไหม เราเข้าไปถึงธรรมตัวนั้นไม่ได้ เพราะเราไม่มีการเอาใจเข้าไปถึงธรรมตัวนั้น เราเข้าไปถึงขอบเฉยๆ แต่กรอบของใจ ความเห็นของเรา สัญญาความจำได้หมายรู้ การจินตนาการของเราก็ว่า “ธรรมะต้องเป็นแบบนั้น ศึกษามาแล้วเรามีความรู้ เรามีวิชาการ ต้องปล่อยวางอย่างนั้น” นี่มันสมกับความจริงของเราไหม เราทำแล้วมันปล่อยวางจริงไหม

มันปล่อยวางสัญญาอารมณ์ แต่มันไม่ได้ปล่อยวางกิเลส

ถ้าปล่อยวางกิเลสมันไปอีกชั้นตอนหนึ่ง ชั้นตอนนี้เป็นชั้นตอนของพื้นฐาน มันต้องมีพื้นฐานของการประพฤติปฏิบัติ มีพื้นมีฐานขึ้นมา จะมารองรับสิ่งที่สูงขึ้นไปๆ ถ้าไม่มีพื้นฐานมารองรับสิ่งที่สูงขึ้นไป จะเอาอะไรไปรองรับขึ้นมา

ทาน ศีล ภาวนา ก็เหมือนกัน ใจของเราเปิดหรือไม่เปิด ถ้าเปิดขึ้นมาแล้วมันจะเข้ามาถึงศาสนาได้ ถ้าใจเราไม่เปิด มันจะไม่มาเรื่องศาสนา “เราศึกษาเองก็ได้ เราทำของเราเองก็ได้ ทำไมต้องไปศึกษากับครูบาอาจารย์” เห็นไหม เวลากิเลสมันจะดึงเราไว้ในอำนาจของมัน เวลากิเลสศึกษาธรรมแล้วมันก็ศึกษาเพื่อเกิดทิฏฐิมานะ ศึกษามาเพื่อความรู้ของตัวว่าตัวเองรู้ ตัวเองฉลาด ว่าตัวเองเป็นผู้ที่เอาตัวเองรอด

หนังสือพระไตรปิฎกเต็มตู้ ใครก็ศึกษาได้ ใครก็เล่าเรียนได้ ใครก็อ่านเองได้ ใครก็สามารถจะประพฤติปฏิบัติได้ เห็นไหม ประพฤติปฏิบัติแล้วมันก็อยู่ในกรอบของตัวเอง ในกรอบของกิเลสมันหลอกตัวเองชั้นหนึ่งว่า “ธรรมะต้องเป็นแบบนั้นๆ” เป็นแบบจินตนาการ จินตมยปัญญา มันจินตนาการธรรมะขึ้นมาชั้นหนึ่ง มันหลอกตัวเองไว้ว่านี่คือธรรมๆ

นี่คือธรรมก็เป็นธรรมขั้นสมมุติ ธรรมขั้นปล่อยวางเป็นสัญญาอารมณ์ความมั่นหมาย เราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น มันจะตื่นเต้นกับความเห็นของตัว มันตื่นเต้นกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น เห็นไหม แค่ยิบๆ ยับๆ นะ แค่ยิบๆ ยับๆ เห็นไหม ยิบๆ ยับๆ คืออาการของใจมันแค่เกิดขึ้น แค่ประกายของธรรมมันเป็นออกมา ประกายของธรรมขึ้นมาให้เห็นเท่านั้นเอง นี่หัวใจคิดอย่างนั้น ประกายของธรรม เกล็ดของธรรมเล็กๆ น้อยๆ มันมีคุณค่าขนาดนั้น แต่ใจมันโดนกิเลสปกคลุมไว้ มันมืดบอด มันไม่รู้ มันไปมั่นหมายว่าตัวเองรู้เสียก่อน เห็นไหม ตัวเองรู้ ตัวเองเห็น ตัวเองเก่ง ตัวเองรู้ประสาเรา นี่กรอบของกิเลส กรอบของความคิดเห็นของตัว แล้วขอบของธรรม หลักความเป็นจริงของธรรมยังเข้าไม่ถึง นี่เราไปติดตรงนั้น ติดที่กรอบของตัวเอง แล้วกรอบของเราไปกระทบกับขอบของธรรม

ขอบของธรรมตามหลักความเป็นจริง “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” เห็นไหม ธรรมในพระไตรปิฎกส่องเข้าไป ชี้เข้าไปถึงหัวใจ ที่ว่าใจสัมผัสกับธรรมๆ ใจดวงนั้นอยู่ที่ไหน สมถกรรมฐานสำคัญตรงนี้ สำคัญตรงที่ว่า สิ่งที่ชี้เข้าไปถึงใจมันจะเข้าไปถึงใจก่อน พอเข้าไปถึงใจก็ไปถึงขอบ นี่ไง ขอบของธรรมอยู่ตรงนี้

เราศึกษาแล้วเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาขนาดไหน มันจะปล่อยวางสัญญาเข้ามา ปล่อยสัญญาเข้ามาอันนั้นเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เป็นความว่างของใจ ใจมันจะว่างอย่างนั้นเข้ามาตลอด มันจะว่าง มันจะปล่อยวางเข้ามา ถ้ามันปล่อยวางเข้ามา เพราะเราศึกษาโดยสมมุติ แล้วมันจะเป็นบัญญัติ สมมุติบัญญัติ เห็นไหม สมมุตินี้โลกสมมุติกันไป แล้วแต่ภาษาของแต่ละสัญชาติ สัญชาติใดสัญชาติหนึ่งก็สมมุติของสิ่งนั้นต่างๆ กันไป นี่สมมุติมันกว้างขวางจนเราไม่สามารถจะเอามาเป็นหลักเป็นเกณฑ์ได้ ต้องมีบัญญัติขึ้นมา บัญญัติคือธรรม เราก็อ่านอักษร อ่านหนังสือคือธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ กิเลส อวิชชา ตัณหา อุปาทาน นี่คือบัญญัติ บัญญัติก็ซ้อนเข้ามา เห็นไหม ขอบของธรรม มันจะปล่อยวางเข้ามา นี่มันชนขอบของธรรม

ถ้ามันสงบเข้ามา การพิจารณาให้มันปล่อยวางนี่ถูกต้อง มันเป็นชั้นของสัญญา ชั้นของความจำได้หมายรู้ นี่ประกายของธรรม เห็นไหม เงาของธรรมทำให้ใจมันสุข ใจมันสุข มันก็พอใจ ถ้าใจมันพอใจขึ้นมา มันเข้ามาปล่อยวาง ปล่อยวางเข้ามา สงบเข้ามา สงบเข้ามาแล้วเราไม่ตื่นไปตรงนั้น เราไม่ตื่นกับประกายของธรรม เราไม่ตื่น เห็นไหม เราก็พยายามทำความสงบเข้าไปๆ จนเป็นความตั้งมั่น จิตเป็นสมาธิ จิตตั้งมั่น

มีความสงบเข้าบ่อยๆ มีความสงบเข้าบ่อยๆ มันจะตั้งมั่น ควรแก่การงาน ถ้ามันไม่ตั้งมั่น มันเหลาะแหละ ไม้หลักปักขี้เลน อะไรจะไปวางบนไม้หลักปักขี้เลน มันจะเป็นประโยชน์อะไรกับเรา เสาสิ ถ้าปักบนดิน อะไรไปวางบนเสาก็ได้ จะสร้างบ้านสร้างเรือนบนเสานั้นก็ได้ ถ้าหัวใจตั้งมั่น มันก็จะเข้าไปในขอบของธรรม แล้วยังยกขึ้นเป็นธรรมได้ ถ้ายังไม่เป็นธรรม

จะอ่านธรรมต้องใช้หัวใจอ่าน ใช้หัวใจนี้อ่านธรรม

ถ้าจะอ่านธรรมให้ออก ถ้าอ่านธรรมออกแล้วเข้าถึงธรรม มันต้องมีความสงบของใจขึ้นมาก่อน แต่นี้มันยังไม่สงบ แล้วเราจินตนาการไปก่อน เราคาดหมายเป็นธรรมไปก่อน มันก็เป็นวงเวียน วงของสัญญา มันเป็นชั้นของสัญญา จะบอกว่าผิด มันไม่ใช่ว่าผิดทั้งหมด มันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง การก้าวเดินขึ้นมาต้องอาศัยตรงนี้ก้าวเดินเข้ามาทั้งนั้น ถ้าไม่อาศัยตรงนี้ก้าวเดินขึ้นมา แล้วเราเกิดขึ้นมาเป็นมนุษย์ มนุษย์มีธาตุ ๔ และ ขันธ์ ๕ มีหัวใจ ธาตุ ๔ และ ขันธ์ ๕ นี้เป็นเนื้อหนังมังสา เป็นเนื้อ เป็นจิตใจของเรา เนื้อและจิตใจของเราเป็นที่อยู่อาศัยของเรา เราได้ธาตุ ๔ และ ขันธ์ ๕ ได้กายกับใจมา เราถึงเป็นมนุษย์อยู่นี่ แต่เราใช้สิ่งนี้เป็นสมมุติออกไป ใช้สิ่งนี้ดำรงชีวิต ใช้สิ่งนี้หาปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัยออกไป แล้วก็จะหาความสุขกับสิ่งนี้ ความสุขกับสิ่งนี้มันไม่เป็นความสุขขึ้นมาหรอก มันเป็นเครื่องอยู่อาศัย

เครื่องอยู่อาศัยของนักบวชนักพรต เพื่ออยู่เพื่ออาศัย เพื่อจะแสวงหาธรรม แต่ถ้าเราเป็นปุถุชน เราไม่ได้สนใจขึ้นมา สิ่งที่เป็นเครื่องอยู่อาศัย อันนั้นคือหลักของชีวิตแล้ว ปัจจัยเครื่องอยู่อาศัยเป็นหลักของชีวิต คือเราหาสิ่งนั้นเป็นที่ดำรงชีวิต แล้วชีวิตจะมีความสุขเพราะตรงนั้น แล้วปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัยก็จินตนาการให้มันละเอียดอ่อนขึ้นไป มันละเอียดอ่อน มันนิ่มนวล มันควรแก่ความเป็นอยู่ของเรา เราไปติดตรงนั้น เห็นไหม เราไปติดเครื่องอยู่อาศัยว่าเป็นความสุข เป็นจินตนาการว่าเราพอใจ ติดในการกิน การอยู่ การนอน การทุกอย่าง

นี่เกิดขึ้นมามันก็มีกินกับนอน กินกับถ่ายเท่านั้น แล้วก็หาความสุขตรงนั้น เห็นไหม สมมุติเป็นแบบนั้นๆ แล้วเราก็ติดในสมมุติ อันนั้นว่าเป็นสุขๆ มันหาความสุขไม่ได้หรอก ความสุขในโลกนี้ไม่มี มีแต่ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ แล้วทุกข์ดับไป แต่เราไม่เคยเห็นทุกข์ เราไม่เข้าใจว่าทุกข์ แล้วเราปฏิเสธทุกข์

นี่ปัญญาของผู้ที่ปฏิบัติธรรม เข้าใจว่ามันจะเป็นธรรม สิ่งที่เป็นทุกข์ๆ เราปฏิบัติแล้วจะมีความสุข...นี่เอาความสุขเสียก่อนไง ชิงสุกก่อนห่าม มันต้องห่ามแล้วมันจะสุกไปข้างหน้า นี่ไม่เคยห่าม ไม่เคยเห็นผลไม้มันจะห่าม ไม่เคยเห็นความเป็นไปของใจ พอไม่เคยเห็นความเป็นไปของใจ กิเลสมันก็พาตัดสิน กิเลสมันพาตัดสินของมันไปเองว่า “สิ่งนั้นเป็นสุขๆ สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่พอใจ สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่แสวงหา” เห็นไหม นั่นน่ะ ความสุขในโลกของเขา มันถึงได้ความทุกข์มาตลอด

เพราะมันไม่มีความจริงเจือปนอยู่แม้แต่นิดเดียว มันตะครุบเงาไง ตะครุบเงาแล้วจะเอาเงานั้นเป็นหลักความจริง เอาเงานั้นเป็นเพชรเป็นทองขึ้นมา เห็นไหม แล้วตะครุบเป็นเงาขึ้นมา มันจะเป็นเพชรเป็นทองขึ้นมาได้อย่างไร เพชรเป็นเพชร ทองเป็นทองสิ เงาเป็นเงา เพราะเพชรกับทองมันเป็นวัตถุที่จับต้องได้ มันเป็นแก่น มันเป็นของที่มีคุณค่า แต่เงานั้นไม่มีคุณค่า ตะครุบไปมันก็ว่าเป็นเพชรเป็นทอง ตะครุบไปแล้วมันจะได้อะไรขึ้นมา? ก็เป็นเงา ตะครุบลงไปมันก็ได้แต่พื้นดิน ตะครุบลงไปมันก็ได้แต่สิ่งที่่วางอยู่ มันจะไม่มีเพชรมีทองอยู่ในนั้นเลย

เพราะเราไปหาความสุข ไปหาความจริงในการจินตนาการของเรา ไปหาความจริงในปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัยของเรา ไปหาความจริงในเรื่องกายกับจิตใจของเรา ร่างกายและจิตใจของเราอยู่อย่างนี้ แล้วเราก็อาศัยโลกอยู่ แล้วเราก็ต้องการสิ่งนั้นให้เป็นความสุข มันเป็นความสุขไปไม่ได้ แต่กิเลสมันพาคิดอย่างนั้นว่า “สิ่งนี้เป็นความสุข สิ่งนี้เป็นความสุข เราได้ประพฤติปฏิบัติธรรมแล้ว เราได้นั่งสมาธิแล้ว เราได้ให้ทานแล้ว เรามีศีลแล้ว เรามาทำสมาธิแล้ว”

พอจิตมันปล่อยวางมา ว่างจากสิ่งนั้นมา เห็นไหม พิจารณาเข้ามา ปล่อยวางเข้ามา รู้ธรรมเข้ามา ธรรมสิ่งนั้นเป็นอนัตตา สรรพสิ่งนั้นเป็นอนัตตา สรรพสิ่งนั้นไม่มีตัวตน เราก็เข้าใจตามนั้น แล้วสัญญาก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ มันก็ปล่อยวางเข้ามาอย่างนั้นจริงๆ นี่ประกายของธรรม แล้วก็ว่าอันนี้เป็นธรรมๆ...อันนี้เป็นกรอบของธรรม เราต้องทำซ้ำเข้าไปนะ สิ่งนี้มันจะส่งต่อเข้าไปหาโลกุตตระ ถ้ามันเป็นโลกียะมันจะส่งต่อเข้าไปหาโลกุตตระ

ถ้าเราไม่มีโลกียะ เพราะใจเราก็เป็นโลกียะ ใจและกายของเรานี้เป็นโลกทั้งหมดเลย เราเกิดมาจากโลก โลกทั้งนั้น โลกนี้เป็นโลกสมมุติ แล้วเราก็อยู่ในโลกสมมุติ แล้วเราจะพลิกขึ้นไปเป็นโลกุตตระ เห็นไหม พ้นจากโลก เราต้องพลิกให้เราพ้นออกไปจากโลก ถ้าเราไม่พลิกให้เราพ้นออกไปจากโลก มันก็วนเวียนอยู่ในโลกนี้ ถ้าวนเวียนอยู่ในโลกนี้ นี่หรือคือการปฏิบัติธรรม นี่อ่านไม่ออก เพราะเราเอาสมมุติอ่านสมมุติ

ถ้ามันจะอ่านออกตรงนี้ ตรงที่ว่ามันเริ่มเข้าโลกุตตระ มันจะเริ่มอ่านธรรมออกไง ถ้าเริ่มอ่านธรรมออก มันจะขนพองสยองเกล้า มันจะขนลุกขนพอง ขนลุกขนพองเพราะอะไร เพราะไดโนเสาร์ กิเลสที่มันอยู่ในหัวใจ มันอยู่ไม่มีวันไม่มีคืน ชีวิตนี้การเกิดและการตายไม่มีต้นและไม่มีปลาย ใจดวงนี้กิเลสมันครอบคลุมมาตลอด มันยิ่งกว่าไดโนเสาร์อีกนะ เพราะไดโนเสาร์เป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ อันนี้มันก็สัตว์โลก สัตว์ดึกดำบรรพ์ กิเลสนี้อยู่ในหัวใจ ดึกดำบรรพ์ไม่มีต้นไม่มีปลาย แล้วโลกุตตระจะเข้าไปเห็น เข้าไปอ่านเรื่องของกิเลสในหัวใจ ถ้าเรามีที่อ่านกิเลสในหัวใจ เราจะถึงธรรม ถ้าเราได้อ่านธรรม เราจะเข้าใจธรรม

เราไม่เคยได้อ่านธรรมกัน เราอ่านแต่หนังสือแล้วเราเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมๆ ถึงอ่านธรรมไม่ออก อ่านหนังสือออก แต่อ่านธรรมะไม่ออก ถ้าอ่านธรรมะออก กิเลสมันจะขาดออกไปจากใจ ถ้าเราไม่ได้อ่านกิเลสเลย เราอ่านแต่หนังสือ อ่านแต่เงาแล้วก็ตื่นเงา แล้วก็ตะครุบเงา อยู่กับเงาไปอย่างนั้นตลอดไป ไม่เคยเห็นธรรม

ถ้าเคยเห็นธรรมนะ ธรรมที่เป็น ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นอริยสัจ อริยสัจเป็นความจริง ความจริงมันเกิดขึ้นที่ไหน ทุกข์มันเกิดขึ้นที่ไหน? ทุกข์มันเกิดขึ้นที่หัวใจ หัวใจนั้นมีอะไร มีขันธ์ ๕ เห็นไหม ถ้าจิตมันสงบเข้ามา มันควรแก่การงาน มันจะหาใจของตัวเองเจอ มันจะจับขันธ์ ๕ นี้ได้

แต่เดิมที่เป็นสมมุติๆ เพราะขันธ์กับใจนี้เป็นอันเดียวกัน ขันธ์กับใจผูกมัดตัวเองเป็นอันเดียวกันแล้วก็หมุนออกมา มันหลอกตัวเองชั้นหนึ่ง แล้วมันก็ออกมารับรู้สิ่งต่างๆ ข้างนอก แล้วเวลาปล่อยวางมันก็ปล่อยวางเงาเข้าไปสงบในตัวมันเอง เห็นไหม นี่โลกียะเป็นอย่างนั้น แต่เดิมเราไม่เคยเห็น อันนี้เป็นการทำงานของธรรมชาติของขันธ์ ๕ ขันธ์กับใจอยู่ด้วยกันจะเป็นแบบนั้น ความจริงของเขาเป็นอย่างนั้น แล้วเขาทำงานของเขาอย่างนั้นโดยธรรมชาติของเขา

โดยธรรมชาติ ฟังสิ คำว่า “ธรรมชาติ” คือความเคยชิน ความจำเป็น ความเป็นของเขาเป็นอย่างนั้นตลอดเวลา แล้วก็อ่านหนังสือออกไป เห็นไหม จากอย่างนั้นแล้วออกไปอ่านหนังสือ แล้วก็ตื่นอยู่ในหนังสือ มันถึงไม่เคยเห็นตัวมันเอง แต่พอจิตมันสงบเข้ามา อ่านแล้วมันก็ปล่อยวางเข้ามา

เพราะกิเลสกลัวธรรมเท่านั้น ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ประเสริฐที่สุด ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสามารถชำระกิเลสได้ แม้แต่ธรรมที่ว่าเป็นสมมุติๆ ที่อยู่ในหนังสือ เราอ่านแล้วมันก็ยังสะเทือนหัวใจ ยังขนพองสยองเกล้า ถ้ามันซึ้งใจก็จะเข้าใจตามหลักความเป็นจริง แล้วปล่อยวางเข้ามาๆ

เพราะอันนั้นเป็นสมมุติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้เป็นธรรม เป็นศาสนธรรมให้เราศึกษา เราก็ศึกษาธรรมอันนั้นมาเพื่อเข้าถึงใจของเรา ในเมื่อเข้าถึงใจของเรา ใจเราก็ปล่อยวางจากสัญญาอารมณ์ พอปล่อยจากสัญญาอารมณ์เข้ามามันก็เป็นเอกัคคตารมณ์ เห็นไหม ใจนี้เป็นเอก เป็นอารมณ์อันหนึ่งเหมือนกัน แต่อารมณ์ที่มันปล่อยวางเข้ามาจนเป็นเอกัคคตารมณ์ เป็นจิตหนึ่งเดียว ไม่คลุกเคล้าไป ไม่คลุกเคล้าไปมันก็เป็นเป้า สิ่งที่ตั้งอยู่เป็นเป้าให้เราจับต้องได้ สิ่งที่มันใช้ไป เคลื่อนไหวไปตลอดเวลา มันเคลื่อนไหวไปรับรู้สิ่งข้างนอก มันเคลื่อนไหวไปพร้อมกับเรา เรากับความเคลื่อนไหวนั้นเป็นอันเดียวกัน มันมัดรวมกันแล้วก็หมุนออกไปๆ มันก็เป็นโลกไปทั้งหมดเลย

พอมันสงบเข้ามา สงบเข้ามามันก็ตั้งมั่นขึ้นมา เราก็จับต้อง เห็นไหม เราจับต้อง เราพิจารณา เราจับต้องได้ นั่นคือได้หนังสือ ได้ตัวธรรม นี่จับต้องใจกับกายได้คือได้ตัวธรรม แล้วค่อยอ่าน เห็นไหม นี่ขั้นของปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญาจะเริ่มต้นจากตรงนี้ ถ้าตรงนี้เริ่มต้นขึ้นมาได้ นี่อ่านธรรม ถ้าอ่านธรรม พิจารณาธรรมไป เราต้องตั้งใจจงใจ

เราอ่านเรื่องของโลก เราศึกษามา เรื่องของโลกเราต้องศึกษา ก.ไก่ ก.กา กว่าเราจะอ่านตัวอักษรออก กว่าเราจะผสมกันได้เป็นคำ เป็นประโยคขึ้นมา เรายังต้องฝึกมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย อันนั้นเป็นเรื่องของหนังสือ เรื่องของธรรมนี้ก็เหมือนกัน เราก็ต้องเริ่มต้นจากเราจะสามารถจับต้องได้อย่างไร แบ่งแยกพิจารณาอย่างไร ถ้าเราแบ่งแยกพิจารณาได้ เห็นไหม นี่สมบัติส่วนตน

ผู้ใดอ่านธรรม ต้องเอาใจนี้อ่าน เอาใจอ่านขันธ์ อ่านขันธ์ว่าขันธ์นี้เกิดขึ้นอย่างไร? เกิดขึ้นจากใจ เพราะใจกับขันธ์มันคนละอันกัน แต่เดิมใจกับขันธ์เป็นอันเดียวกัน เพราะเราไม่รู้ เราไม่เข้าใจ แล้วเราก็หมุนเวียนตามมันไป มันก็หมุนของมันออกไป เห็นไหม มันเป็นอย่างนั้นเพราะเราไม่เข้าใจ เราหวังเอาความสุขจากสิ่งที่มันไม่เป็นความจริง

แต่เพราะเราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหนึ่ง เพราะเราประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมาหนึ่ง เราประพฤติปฏิบัติ พยายามเก็บเล็กผสมน้อยนะ ต้องใช้คำว่า “พยายามเก็บเล็กผสมน้อย” เพราะอารมณ์ของใจมันเกิด อารมณ์ที่ใหญ่โตก็มี อารมณ์ที่เล็กน้อยก็มี เห็นไหม เก็บเล็กผสมน้อย เพราะถ้าเราไม่พิจารณาของเรา สิ่งที่เล็กน้อยนั่นแหละมันจะสร้างเป็นความใหญ่โตขึ้นมาในหัวใจได้

ทั้งสิ่งที่เล็กน้อยและใหญ่โต เราพยายามเก็บหอมรอมริบขึ้นมา เราพยายามเก็บเล็กผสมน้อยขึ้นมา จนมันตั้งมั่นขึ้นมาๆ เห็นไหม นี่มันเป็นเพราะใครทำขึ้นมา? เพราะใจของเราทำขึ้นมา เรามีความจงใจ มีความตั้งใจ ความตั้งใจอันนี้ต้องเป็นพื้นฐาน ถ้าเราไม่จงใจ เราไม่ตั้งใจ เรื่องของกิเลสนี้มันอยู่กับเรา มันรู้จักความนึกคิดของเรานะ มันรู้จักความพอใจของเรา แล้วมันจะป้อนสิ่งนั้นมาให้เราเคลิบเคลิ้มตามไป ถ้าเราไม่เด็ดเดี่ยว ทำอย่างนั้นไม่ได้ เว้นไว้แต่ผู้ที่มีอำนาจวาสนา ทำได้ง่ายก็มี เวลานั่งแล้วสงบๆ มันเป็นอำนาจวาสนาของเขา อำนาจวาสนาของคนเทียบกันไม่ได้

การประพฤติปฏิบัติแล้วแต่อำนาจวาสนาของแต่ละบุคคล สัตว์ บุคคล ที่สร้างสมมานั้นมันเป็นเรื่องของฝังมาในหัวใจ ถ้ามันทำยาก เราก็พยายามของเราเข้ามา เก็บเล็กผสมน้อยจนมันเป็นไป พอมันเป็นไป จับต้องขันธ์ เห็นไหม จับต้องขันธ์แล้ววิปัสสนาขันธ์นั้นไป จับต้องขันธ์ ขันธ์ไม่ใช่จิต จิตกับขันธ์เป็นคนละอันกัน แต่มันรวมกันอยู่ มันจะแยกได้อย่างไร

มันแยกไม่ได้ เพราะเราไม่มีกำลัง ถ้าเรามีกำลัง เราก็พยายามจับอารมณ์ของเรา มันหมุนออกไปๆ สิ่งใดเกิดขึ้นก่อน? สัญญาเกิดขึ้นก่อน สังขารปรุงขึ้นไป นี่หมุน ดูออกไป สติตามทันมันจะปล่อยวางเข้ามา เห็นไหม สติตามทันมันจะปล่อยเข้ามา นี่คือการอ่าน การอ่านธรรม มันจะเห็นธรรม เห็นธรรมคือเห็นการเกิดขึ้นของสภาวธรรมตามความเป็นจริง

สภาวธรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงในหัวใจของเรา ที่เป็นอารมณ์ไปกว้านเอาความทุกข์มาให้ ความทุกข์นี้มันเป็นผลของความคิดอันนี้ แล้วความคิด อารมณ์ที่มั่นหมายออกไปยึดเขา มันเป็นสภาวะที่เกิดดับโดยธรรมชาติของมัน โดยธรรมชาติของมันเป็นสภาวะเกิดดับโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่เราไม่เคยเห็น เราไม่เคยอ่าน เราอ่านไม่เป็น แล้วเราโดนสิ่งนี้ดึงไปใช้เป็นประโยชน์

สิ่งที่เป็นอารมณ์ เป็นความคิด ยิ่งอารมณ์ใหญ่โตขึ้นไป มันจะวิ่งออกไป มันจะเผ่นออกไปทั้งหมด เพราะว่ามันเป็นธรรมชาติของมันอันหนึ่ง แล้วกิเลสขับไส ตัวดึงดูดของกิเลสนี่สำคัญมากเลย แล้วเราทำความสงบเข้ามา เพราะทำความสงบเข้ามาอันนั้น กิเลสตัวนี้มันยุบยอบลง พอยุบยอบลง ยุบยอบจนเราจับตรงนี้ได้ แล้วเราดูใหม่ สิ่งที่เราดูใหม่ เราอ่านสภาวธรรมที่เกิดขึ้นจากตามความเป็นจริงของเรา

สภาวธรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงของเรานี้ แต่เดิมมันหมุนออกไป แต่ปัจจุบันนี้ไม่ มันเกิดขึ้น เรารู้ทัน ความรู้ทันนี่จับ เห็นไหม จับขันธ์ได้ แล้วแบ่งแยกขันธ์ หมายถึงว่า ขันธ์มันเป็น ๕ กอง มันมี รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สิ่งที่เป็น ๕ กอง มันเป็นอันเดียวกัน รวมตัวกันแล้วใจมัดกัน มันก็เป็นอารมณ์ขึ้นมา แล้วเวลาเราแยกออกมา มันหมุนออกไปก็เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นมาได้เหมือนกัน นี่อารมณ์ที่เกิดขึ้นมาได้มันยังหมุนไปได้ เห็นไหม ปัญญาจะเกิด เกิดตรงนี้

เกิดตรงที่ว่า ในเมื่ออารมณ์มันใหญ่โตเหลือเกิน เราไม่สามารถตามมันทันได้ เรากดไว้ให้มันหยุด พอหยุดก็ดูความเกิดใหม่ของมัน สภาวะที่จะเกิดขึ้นมา อะไรเกิดขึ้นก่อน บุรุษ ๕ คน ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ๕ กองนี้ เขาจับมือกันเป็นมัดข้าวต้ม แล้วเขาส่งต่อขึ้นมาอย่างไร เราก็ดูเข้าไป แยกออกๆ ดูเข้าไป ไอ้มัดข้าวต้มมัดมือนี่เราแยกออก ความแยกออกมันจะมีปัญญาเห็นไง มันแยกออก มันจะห่างออกไปเรื่อยๆ ห่างกันออกไป เห็นไหม ปัญญามันจะเกิดตรงนั้น ถ้าปัญญามันเกิดขึ้นมาแล้ว นี่เป็นปัญญาของเราเอง ปัญญาเกิดขึ้นจากอะไร? จากจิตที่เป็นสมาธิ เห็นไหม

จิตที่เป็นสมาธิ ก็เหมือนตาของธรรม ตาของธรรมเห็นการเกิดขึ้น การส่งต่อกัน การรับไม้ รับช่วงต่อกันเป็นอารมณ์ออกมา สิ่งที่จะเป็นอารมณ์ออกมา มันรับช่วงกันขนาดนั้น เห็นช่วงว่ามันหมุน มันส่งต่อกันอย่างไรถึงเป็นอารมณ์ แล้วเราเข้าไปอ่านจนเห็น แล้วเราชำระล้าง เห็นไหม ปัญญาจะก้าวเดินออกไปแล้วมันก็จะปล่อยวางๆ การปล่อยวางคือปัญญาเริ่มจะก้าวเดินนะ แต่เริ่มต้นเราต้องส่งเสริมปัญญาของเราขึ้นมา ปัญญาของการอ่านธรรม ถ้าอ่านธรรม ปัญญาก็เกิดขึ้น เพราะเห็นสภาวะตามความเป็นจริง เข้าใจตามความเป็นจริง นี่เห็นสภาวะตามความเป็นจริงนั้นโดยที่กิเลสมันยังไม่ได้เข้ามาสอดแทรก

แต่ถ้ากิเลสเข้ามาสอดแทรก มันก็จะดึงความห่างให้เข้ามาชิดกัน มันจะดึงความห่างคือว่ามันจะรักษาสถานะของมันเหมือนกัน สถานะของกิเลส เห็นไหม นี่ระหว่างธรรมกับกิเลสต่อสู้กัน กิเลสมันต้องยึดของมันไว้โดยสถานะของเขา เขาจะยึดของเขาไว้ แต่สภาวธรรมนี่อ่านให้ขาด อ่านออกคือการเห็น รู้เท่า รู้สภาวะตามความเป็นจริง นี่อ่านออก อ่านธรรมออก พออ่านธรรมออก มันจะมีความอิ่มเอมหัวใจนะ ใจจะมีความสุขมาก เพราะเวลาอ่านออก เหมือนกับเราไม่เคยรู้สิ่งใดเลย แล้วเราไปรู้สิ่งนั้น นี่เหมือนกัน เราไม่เคยเห็นสภาวะตามความเป็นจริงของหัวใจของเราเลย แล้วพอเรามารู้เข้า มันจะปล่อยวาง ปล่อยวางเข้ามา

ถ้าสมาธิ ความจงใจของเรา ปัญญาของเราก้าวเดินไปได้ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เป็นหินลับปัญญา ถ้าปัญญาได้ลับให้คมกล้าขึ้นมาเรื่อยๆ ลับขึ้นไป ลับคือวิปัสสนาของเราบ่อยครั้งเข้าๆ ความวิปัสสนานี้ต้องทำให้มันบ่อยครั้ง ถ้าบ่อยเข้าไป บ่อยครั้งๆ ขึ้นมา ปัญญามันจะเริ่มคมกล้าขึ้นมาเรื่อยๆ ถ้าปัญญาเริ่มคมกล้า กิเลสจะสิ้นสุดลงได้

แต่เดิมกิเลสในเรื่องของโลกียะ ในเรื่องของโลกเขา มันแค่ปล่อยวางสัญญาอารมณ์เข้ามา แต่กิเลสเต็มตัว มันปล่อยวางอารมณ์แล้วมันหลบซ่อนอยู่ในหัวใจของเรา กิเลสนี้หลบซ่อนอยู่ในหัวใจของเรา แล้วก็แค่ปล่อยวางสัญญาอารมณ์เข้ามาเท่านั้น แต่คราวนี้ถ้าวิปัสสนา ความที่มันปล่อยวางเพราะมันสู้อำนาจของธรรมไม่ได้ อำนาจของธรรมมีอำนาจเหนือกว่า อำนาจของธรรมเป็นอำนาจของใจดวงนั้น อำนาจของธรรมคืออำนาจของใจดวงที่อ่านออก ใจที่อ่านออกมันสะอาดเข้าไปเป็นชั้นๆ เข้าไป ความสกปรกมันจะอยู่ได้อย่างไร

ที่ไหนมันมีความมืด มีแต่ความลังเลสงสัย ถ้าที่ไหนมืดอยู่ เราจะไม่รู้ว่าในความมืดนั้นจะมีสิ่งใดที่จะเป็นโทษกับเราบ้าง จะมีสมบัติหรือจะมีงูพิษอยู่ในความมืดนั้น เราก็มองไม่เห็น แต่ในเมื่อความสว่างเกิดขึ้น ไฟเกิดขึ้น ไฟของปัญญาเกิดขึ้น ความสว่างเกิดขึ้นจากหัวใจ หัวใจทำความสว่างเกิดขึ้นมา มันจะเห็นสภาวะข้างในว่ามันเป็นความหลอกลวงของกิเลส

กิเลสนี้หลอกลวง มันก็ว่าง มันก็ปล่อย ความปล่อยนั้นเราไม่ประมาท เราจะประมาทสิ่งนั้นไม่ได้ เพราะอะไร เพราะมันเป็นกุปปธรรม เห็นไหม “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับเป็นธรรมดา” มันเป็นสภาวธรรมเริ่มตั้งแต่ข้างนอก มันเป็นสภาวธรรมที่เราไม่เคยเห็น แล้วปัจจุบันนี้เราเข้าไปเห็น เราเข้าไปเห็นเราถึงได้อ่าน พอเราอ่านออกมันก็ปล่อยวางๆ สภาวะตามความเป็นจริงที่มันเกิดดับๆ มันเป็นสภาวธรรมเกิดดับ มันเป็นอะไร? มันก็เป็นอนัตตาสิ มันเป็นอนัตตาโดยธรรมชาติของมัน มันเป็นสภาวะอยู่แล้วโดยธรรมชาติของมัน แต่เมื่อก่อนเราไม่เห็น พอเราเห็นขึ้นมา พร้อมทั้งเห็นกิเลสที่ว่ามันไม่เป็นไปตามความเป็นจริงด้วย มันไม่ตามความเป็นจริงที่มันจะคงที่ เป็นเรา เป็นของเรา เป็นความคิดของเรา

แต่เดิมเป็นเรา เป็นความคิดของเรา เราพอใจทุกๆ อย่าง เราก็มีอารมณ์หมกมุ่นไปกับความคิดนั้น แล้วความคิดนั้นมันอยู่ที่กิเลสจะป้อน ป้อนความคิดที่ดี คือว่าเราพยายามคิดดี มันก็มีความคิดว่าอยากจะทำบุญกุศลขึ้นมา มันก็เป็นบุญกุศล มันเป็นสิ่งที่ดี ถ้ามันป้อนสิ่งที่ไม่ดีขึ้นมาล่ะ นี่มันป้อน เรายังไม่มีโอกาสที่เราจะเอาธรรมะป้อน แต่ในเมื่อเราเข้ามาวิปัสสนา ตรงนี้มันเป็นธรรมทั้งหมด ธรรมสามารถจะเป็นอาหารของใจขึ้นมาได้เป็นบางส่วน พอธรรมเป็นอาหารของใจได้บางส่วน ความสว่างเกิดขึ้น เห็นไหม ความมืดมิดปิดบัง ปิดไปด้วยกิเลสทั้งหมด กิเลสคือความมืดมิดปิดบังไว้ทั้งหมดเลย แต่เดิมที่มีความสว่างขึ้นมาบ้างก็เพราะว่ามันเป็นอำนาจวาสนา เป็นเพราะเราจงใจจะทำต่างหาก เพราะใจของเราจะทำ เรามีความเชื่อมั่นของเรา เห็นไหม เกิดจากความเข้มแข็งของใจเข้าไป ถึงว่า กิเลสป้อนความดี ความดีมันป้อนได้อย่างไร ในเมื่อความดีจะฆ่ามันเอง แต่ความดีมันเกิดขึ้นจากอำนาจวาสนา เพราะมันเป็นกิเลสล้วนๆ ตอนนั้นน่ะ

ในเมื่อหัวใจปกคลุมไปด้วยกิเลส มันคือกิเลสปกคลุมในหัวใจของเรา ถ้าเราเผลอมันผลักทันที แต่เพราะเราเชื่อมั่น เราถึงเคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รัตนตรัยเป็นแก้วสารพัดนึก ถ้าเรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งของเรา นี่ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้ววางธรรมไว้ แล้วเราศึกษาธรรมอันนั้น นี่มันเป็นสมบัติยืม

กิเลสในหัวใจมีอยู่ ก็จริงอยู่ กิเลสในหัวใจมันปกป้องหัวใจไม่ให้ธรรมะเกิดขึ้นก็จริงอยู่ แต่เพราะมันมีอำนาจวาสนาของเรา มันถึงเข้ามา แล้วบัดนี้ที่เราวิปัสสนาขึ้นมา ธรรมะนี้เป็นของเรา ธรรมะที่ขึ้นมา ความสว่างของใจเกิดขึ้นมามันเป็นสมบัติของเรา พอความสว่างขึ้นมามันก็เห็นคุณและเห็นโทษ

เห็นคุณของธรรมะที่มันหมุนออกไป เห็นปัญญาของเราชำระกิเลสได้ นี่คือเห็นคุณ

เห็นโทษล่ะ...เมื่อก่อนเรายังก้าวเดินขึ้นมาไม่ได้ เราคิดว่าอันนี้เป็นโทษไปหมดเลย ร่างกายและจิตใจถ้าเราควบคุมไม่ได้มันก็ให้โทษกับเรา แต่ถ้าเราควบคุมได้ คนเราเกิดมา ถ้าพิจารณา ปล่อยธาตุ ๔ และ ขันธ์ ๕ ออกไปได้ มันจะเป็นอกุปปะ ถ้าเป็นอกุปปะ เป็นสิ่งที่เจริญขึ้นแล้วไม่มีวันเสื่อมเลย แต่ถ้าเป็นกุปปะอยู่ ปัจจุบันนี้ยังเป็นกุปปะอยู่ เพราะยังอ่านไม่ขาด อ่านออกนี่มันต้องอ่านบ่อยๆ อ่านบ่อยๆ พยายามพิจารณาไปซ้ำๆ ซากๆ ต้องซ้ำเข้าไปๆ จนกว่าอำนาจวาสนาเข้าไปถึงเต็มที่แล้วมันจะอ่านขาดไปได้ ถ้ายังอ่านขาดไม่ได้ก็ต้องซ้ำบ่อยๆ อยู่อย่างนี้ ความซ้ำบ่อย นี่หมุนออกไป ปัญญาจะก้าวเดินๆ ปัญญาต้องก้าวเดินขึ้นไปประจำ นี่อำนาจวาสนาของใจดวงนั้น

มันมีกิเลสที่มั่นคง แก่นของกิเลส มันอยู่ที่อำนาจวาสนาของแต่ละบุคคล บางคนรู้เร็วเห็นเร็ว บางคนรู้เร็วแล้วทำลำบาก บางคนลำบากแล้วรู้ช้าด้วย เห็นไหม ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี มันเป็นสิ่งที่ว่าเราอยู่ในขอบเขตของผู้ที่ทำอุกฤษฏ์ ถึงทำได้ตลอดเวลา ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปีนี้ เราต้องเอาอันนี้เป็นหลัก แล้วเราพยายามมั่นหมายของเราให้ได้ มั่นหมายในธรรมก่อน เห็นไหม แต่ความจริงมันมั่นหมายไม่ได้ ความจริงมันต้องเป็นปัจจุบันธรรม ปัจจุบันธรรมที่เราวิปัสสนาไป วิปัสสนาเข้าไป มัดข้าวต้มที่ขันธ์ ๕ มันมัดกันไว้อย่างนั้นมันจะหลุด ปล่อยวางบ้าง เพราะมรรคเข้าไปทำลายตรงไหนวางออกไป มันจะปล่อยวางเวิ้งว้าง ชำระเข้าไปตรงที่มันมัดกันไว้นั่นน่ะ

มันจะไป ไปไม่ได้หรอก มันเป็นกองส่วนใหญ่ เป็นกอง ๕ กอง แยกออกจากกัน แล้วมันหมุนไปโดยนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรมมันเหมือนน้ำ เราจะแยกส่วนไหน น้ำแต่ละคลองที่มารวมกัน มันจะแยกได้อย่างไร มันเป็นเนื้อเดียวกัน เห็นไหม ขนาดนี่เป็นน้ำนะ น้ำเป็นวัตถุ แต่อันนี้หัวใจ ความรู้สึกว่าเป็นขันธ์ ๕ สัญญาคือความจำได้ ความระลึกอยู่ สังขารคือความคิด ความปรุง ความแต่ง เวทนาคือความสุข ความทุกข์ ความพอใจ วิญญาณคือตัวเครื่องรับรู้ ตัวเชื่อมเข้าไป รูปคืออารมณ์ที่เป็นความรู้สึกอันนั้น มันก็หมุนออกไปรอบหนึ่งๆ นี่เวลาแยก แยกได้ขนาดนี้ว่ารอบหนึ่งๆ แต่เวลามันเกิดจริงๆ ในหัวใจมันเป็นอย่างนี้ไหม

ความคิดมันเร็วมาก ความคิดเราแว็บไปๆ มันไปเร็วมาก แล้วเราตามไม่ทัน สิ่งที่ว่ามันมีคุณค่า มีคุณค่าอย่างนั้น แล้วเวลามันเกิด มันไม่แว็บอย่างนี้หรอก มันเกิดภพเกิดชาติขึ้นมา มันไป ๓ โลกธาตุ มันไปเกิดตายๆ ขณะนั้น จิตดวงวิญญาณของเรานี่แหละ ความเห็นของใจที่มันอ่านธรรมอยู่นี่แหละ สภาวธรรมจะเห็นอย่างนั้น เห็นโทษขนาดนั้นนะ

วิปัสสนาเข้าไปจนมันปล่อย เห็นไหม ขันธ์นอกขาดออกไป พอขันธ์นอกขาดออกไปเป็นอกุปปธรรม นี่เป็นอกุปปะส่วนหนึ่ง แล้วขันธ์ในล่ะ วิปัสสนาเข้าไปมันก็ต้องเป็นเรื่องของสัญญาเข้าไปอีก ชั้นของสัญญาคือชั้นของการค้นคว้า ชั้นของสัญญา ชั้นของสมมุติ สมมุติแต่ละชั้นเข้าไปๆ เข้าไปค้นคว้าหาขันธ์ใน

ขันธ์นอก ขันธ์ใน ขันธ์ในขันธ์ เห็นไหม เวทนานอก เวทนาใน เวทนาในเวทนา

“เวทนานอก” เป็นตัวตน เป็นความยึดมั่น เป็นความมั่นหมาย

“เวทนาใน” ก็เป็นความเป็นอุปาทาน อุปาทานความยึดมั่นถือมั่นโดยความหลงไปของใจ

“ขันธ์นอก-ขันธ์ใน” อ่านความละเอียดของใจ มันจะละเอียดเข้าไป อ่านความเป็นชั้นๆ เข้าไป อ่านเข้าไปมันก็ขาดเข้าไปเป็นชั้นๆ ถ้ามันขาด แต่ถ้ามันไม่ขาดล่ะ ขณะที่ก้าวเดินอยู่มันมองไม่เห็น เราก้าวเดินอยู่ คนที่แบกหามไปมันไม่รู้หรอกว่ากิริยาของเราเป็นอย่างไร มันพยายามแบกหามสิ่งต่างๆ พะรุงพะรังไป จะไปถึงจุดหมายปลายทางให้ได้ การวิปัสสนา การก้าวเดินของการบำเพ็ญธรรมก็เป็นแบบนั้น มันล้มลุกคลุกคลานไป มันไม่เห็นว่าขันธ์นอก-ขันธ์ใน มันจะเอาแต่ว่าเอาให้ได้ๆ ความที่จะเอาให้ได้ มันพยายามค้นคว้าของมันไป จะเป็นขันธ์นอก-ขันธ์ใน ให้ถึงที่สุด

กิเลสเวลามันหลอกตัวเองนะ มันจะให้คุณค่ามาก อย่างถ้าเป็นขันธ์นอก มันก็ว่าเหนือทุกๆ ขันธ์แล้ว มันจะปล่อยวางว่าสิ่งนั้นเป็นผล สุดเป้าหมายของการประพฤติปฏิบัติ สุดเป้าหมายของการประพฤติปฏิบัติแล้วมันก็สร้างสัญญาอารมณ์ สัญญาความมั่นหมายของมันในหัวใจ เห็นไหม ถ้าเป็นสัญญาความมั่นหมายในหัวใจ นั่นล่ะเป็นตัวหนังสือ เป็นความคิดความหมาย เป็นสมมุติ เป็นบัญญัติอยู่อย่างนั้น กิเลสสิ่งที่มันละเอียดเข้าไปอีกชั้นหนึ่งในหัวใจ มันจะหลอกออกมาอย่างนั้น แต่เราไม่ได้เชื่อมันตลอดไป เพราะสิ่งที่เกิดกับใจ ความสุข-ความทุกข์ของใจมันประสบสิ่งใด มันรู้ ถ้ามันมีความสะอาดของใจ ใจมันสะอาดตามที่สัญญามันปรุงขึ้นมาว่ามันเป็นเป้าหมายสูงที่สุดแล้ว มันต้องไม่ติดรูป รส กลิ่น เสียงภายนอกสิ

รูป รส กลิ่น เสียงภายนอก ถ้าใหม่ๆ เราทำความสงบของใจเราอยู่ มันจะปล่อยวางได้ เพราะอำนาจของสมาธิ อำนาจของสมาธิกดไว้ มันจะปล่อยวางโดยธรรมชาติของมัน แต่ถ้าสมาธิมันเสื่อมไป นี่มันติด มันพอใจ ความพอใจ ความจงใจ ความเห็นดีเห็นงามไปกับเขา นั่นล่ะตัวมัน ถ้าเห็นตัวนั้นขึ้นมา ย้อนกลับเข้ามา

เห็นไหม ขอบของธรรมกับกรอบของกิเลส มันต้องหมุนเวียนกันไปก่อน แล้วจะเข้าไปกรอบของธรรม กรอบของธรรมคือขันธ์ใน พิจารณาขันธ์ใน การพิจารณาขันธ์ในก็ต้องใช้สมาธิเข้าไป ถ้าสมาธิตั้งมั่นขึ้นมา งานมันจะเป็นงาน ปัญญาจะเป็นปัญญา ถ้าสมาธิไม่ตั้งมั่นขึ้นมา มันจะเป็นสัญญา เป็นเงาซ้อนเงา เห็นไหม เป็นเงาเหมือนกัน เป็นเงานอก-เงาใน เงานี้มันก็จะไปซ้อนกัน ก็จะพอใจ จะปล่อยวางอย่างนั้นเหมือนกัน ปล่อยวางขึ้นมา มันไม่ได้จับต้อง ถ้าเราจับต้องได้ การเห็นตามความเป็นจริงแล้ววิปัสสนา นี่อ่านธรรมก่อนมันถึงจะปล่อยวาง

ถ้าไม่มีการอ่านธรรมก่อนแล้วปล่อยวาง เป็นไปไม่ได้ ในเมื่อมันเป็นความสกปรก เราไม่ได้ชำระสะสางความสกปรกนั้น มันจะสะอาดขึ้นมาได้อย่างไร แต่ถ้ามันปล่อยวางโดยที่เป็นสมมุติ เป็นสัญญาที่มันซ้อนขึ้นมา มันจะปล่อยวางโดยที่เราคิดขึ้นมาเองได้ ภาพซ้อนภาพ ภาพที่ใหญ่กว่ามันจะมีอำนาจครอบคลุมภาพที่เล็กกว่า เงาที่มันใหญ่กว่า มันพอใจ มันปล่อยวาง นั่นมันไม่ใช่งาน ไม่ใช่ความเป็นจริง ถ้าความเป็นจริง นี่มันไม่ได้อ่าน เพราะถ้าเราอ่านขึ้นมา มันต้องจับต้องได้แล้วอ่าน เห็นไหม

ขันธ์นอกเป็นขันธ์นอก ขันธ์ในเป็นขันธ์ใน มันจะขาดออกไปจากกันเลยล่ะ แล้วจะเป็นขันธ์ในเข้าไป พิจารณาขันธ์ในเข้าไป ขันธ์ในกับจิต เห็นไหม จิตไม่ใช่ขันธ์ ขันธ์ไม่ใช่จิต แต่ขันธ์นอก ขันธ์ใน ขันธ์ในขันธ์ เข้าไปขันธ์ในขันธ์ มันจะอ่าน การจะอ่านเข้าไป มันก็ต้องมีสัญญา สัญญาความจำได้หมายรู้ เพราะอะไร เพราะว่าสิ่งที่เราจะเข้าไปจับต้อง เราไม่เคยเห็นมัน สิ่งที่เราไม่เคยเห็น เราจะเอาอะไรไปอ่าน ถ้าเราไม่มีตัวที่จะอ่าน เราก็อ่านไม่ได้ ถ้าเรามีสิ่งที่จะอ่านขึ้นมา เราจะอ่านได้ สิ่งที่จะอ่าน เราต้องค้นคว้า การค้นคว้าสิ่งที่จะอ่าน นี่มหาสติ-มหาปัญญา มหาสติ-มหาปัญญาหมุนเข้าไปๆ พยายามค้นคว้าเข้าไป ถ้าค้นคว้าได้

ทำไมบอกว่าค้นคว้าได้กับค้นคว้าไม่ได้ล่ะ

บางคนค้นคว้าไม่ได้เพราะจับต้องไม่ได้ มันเป็นสัญญานอกทั้งหมด มันเป็นสมมุติ เป็นสมบัติยืมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม สิ่งนั้นเป็นธรรมคือความว่างอยู่ มันเป็นไปได้ เพราะกิเลสมันอยู่ในหัวใจ กิเลสมันจะส่งเสริมทันที กิเลสมันจะส่งเสริมว่า “สิ่งนี้เป็นธรรม สิ่งนี้เป็นความเวิ้งว้าง สิ่งนี้เป็นความว่าง” เพราะกายกับใจแยกออกจากกันแล้ว ใจมันเป็นใจล้วนๆ มันจะแยกออกไป ถึงเป็นขันธ์ในมันก็เป็นขันธ์ที่ละเอียดอยู่ มันจะจับต้องไม่ได้ มันจะหลบหลีก มันจะไม่ยอมเป็นเป้าให้ได้อ่าน มันจะให้เป็นความมืดอยู่อย่างนั้น

ความมืดของโลกเขาเป็นความมืดนะ แต่ความมืดภายใน ความมืดบอดของใจกับความมืดบอดของโลกต่างกัน ความมืดบอดนี้เปรียบเทียบมา ความมืดบอดของโลก เห็นไหม ถ้ามันมืด เราจุดไฟมันก็สว่าง แต่ความที่มันตาบอดตาใส มันมืด มันไม่เห็น ความไม่เห็นของใจนั่นน่ะมืดบอด แต่มันก็สว่าง สว่างด้วยอะไร? สว่างด้วยใจ มันโล่ง มันว่างอยู่อย่างนั้น เห็นไหม มันถึงเข้าใจได้ไง นี่ความหลอกของใจ ความหลอกของกิเลสมันหลอกอย่างนั้น มันโล่งมันว่างอยู่อย่างนั้น แต่มันมืดบอดโดยความไม่เห็นเท่านั้นเอง มันถึงต้องพยายามค้นคว้าเข้าไป ถึงว่าอำนาจวาสนาของคนเห็นหรือไม่เห็นมันอยู่ตรงนั้น พระผู้ปฏิบัติบางองค์ไม่เห็นก็มี ติดอยู่ตรงนั้นก็มี แต่ผู้ที่ยังค้นคว้าอยู่ ยังมีโอกาสอยู่ เห็นไหม

พยายามเข้าไปๆ มันต้องจับต้องได้ พอจับต้องได้มันเลยมีโอกาสได้อ่าน เห็นไหม แล้วหนังสือเล่มนี้ ธรรมตรงนี้เป็นสิ่งที่ใหญ่โตมาก อ่านแล้วอ่านเล่า อ่านจนกว่าจะทะลุเข้าไปได้ ถ้าอ่านทะลุเข้าไป เห็นไหม ถ้าเล่มใหญ่ กิเลสต้องตัวใหญ่ด้วย กิเลสตรงนี้เป็นกิเลสตัวใหญ่มาก กิเลสตัวใหญ่พยายามต่อสู้ต่อต้านกับสิ่งนี้ ต่อต้านกับธรรม แล้วธรรมจะทำอย่างไรถึงจะสู้ได้ล่ะ

ธรรมสู้ได้ เพราะกิเลสกลัวธรรมอย่างเดียว ธรรมเท่านั้นชำระกิเลสทั้งหมด ธรรมเท่านั้นนะ แต่อย่างอื่นกิเลสไม่กลัว แล้วเราสร้างธรรม ธรรมาวุธ สัมมาสมาธิ ความดำริชอบ ความเห็นชอบ ความเพียรชอบ ความระลึกชอบ อินทรียสังวรธรรม มรรคเป็นมรรค อินทรีย์แก่กล้า-ไม่แก่กล้า สักแต่ว่าทำไปเฉยๆ แล้วหู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ ปล่อยไปตามประสาโลกได้อย่างไร

เห็นไหม ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมถึงอด ฉันแต่น้อย นอนแต่น้อย ทำความเพียรให้มาก ความพยายามอุตสาหะเพื่อจะชำระกิเลสขึ้นมา เพิ่มเติมขึ้นมา เพราะมีดเชือดไก่มันก็เล่มเล็กๆ ใช่ไหม มีดเชือดโคก็ต้องเล่มใหญ่ขึ้นมาใช่ไหม แล้วกิเลสตัวเล็กๆ เราชำระขึ้นมา เราอ่านขาดเป็นชั้นๆ ขึ้นมา แล้วเครื่องมือที่ชำระสิ่งนี้มันต้องใช้เครื่องมือใหญ่ขึ้นมา เพราะกิเลสมันตัวใหญ่ขึ้นมา ความที่กิเลสตัวใหญ่ขึ้นมา แรงผลักไสของเขาก็ต้องมากกว่าเป็นธรรมดา แล้วเราก็จะล้มลุกคลุกคลานไปตลอดเวลา ความล้มลุกคลุกคลานเพราะเราสู้ไม่ไหว มันก็มีความท้อใจเหมือนกัน

คิดว่าประพฤติปฏิบัติไปแล้วจะมีความสุขไปข้างหน้า นี่กิเลสมันหลอกอีกชั้นหนึ่งแล้ว “ประพฤติปฏิบัติแล้วมันจะมีแต่ความสุข ถ้ากิเลสมันขาดไป ความเวิ้งว้าง ความว่างขึ้นไป เป็นอกุปปธรรมขึ้นมา เป็นชั้นๆ ขึ้นมาแล้ว มันจะมีความสุขข้างหน้านะ”

ความสุขมันมีอยู่โดยที่เป็นอกุปปธรรมจากชั้นต้นๆ ขึ้นมา แต่เรื่องตรงนี้มันยังไม่เป็นอกุปปะ มันเป็นกุปปธรรมของกามราคะ มันสอยเราล้มทุกที แล้วความน้อยเนื้อต่ำใจมันจะมีมาในหัวใจ ความน้อยเนื้อต่ำใจของกิเลส เห็นไหม กิเลสมันหลอกหัวใจให้เรายุบยอบออกไป เราก็ต้องพยายามต่อสู้

ถึงต้องคิดถึงครูบาอาจารย์ที่เป็นแบบอย่าง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากว่าจะอ่านธรรมขาดนี่ ๖ ปี ทุกข์ยากขนาดนั้น แล้วเราเกิดมามีอำนาจวาสนาของเรา เราก็ยังไม่มั่นใจตัวเราตั้งแต่ทีแรก แต่เพราะเราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม เพราะเราเชื่อธรรมใช่ไหม ธรรมเท่านั้นที่กิเลสกลัวใช่ไหม

ธรรมเท่านั้น กิเลสมันจะยอมกับธรรมเท่านั้น แล้วเราสร้างสิ่งนั้นขึ้นมา เราก็เป็นคนคนหนึ่ง เป็นลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง เป็นแก้วสารพัดนึกที่จะสามารถชำระกิเลสได้ เป็นที่พึ่งเป็นที่อาศัย คำว่า “ที่พึ่ง” กับ “ความจริง” เห็นไหม ที่พึ่งที่อาศัย กับความที่เราสร้างสมคุณธรรมขึ้นมา เราสร้างสมมรรคอริยสัจจังขึ้นมา อินทรีย์มันจะแก่กล้าขึ้นมา เพราะเราต้องสะสมอินทรีย์ของเรา ถ้าเราไม่สะสมอินทรีย์ของเรา อินทรีย์ของเรามันอ่อนเกินไป สิ่งที่เป็นมรรคอริยสัจจัง มรรค ๔ ผล ๔ ขึ้นมา มันจะทรงตัวบนที่ไหนล่ะ? มันก็ต้องทรงตัวอยู่บนอินทรีย์ของเรา อินทรีย์ของเราคือธาตุขันธ์ของเรานี่แหละ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

อินทรีย์ เห็นไหม ปัญญินทรีย์ ปัญญาก็เป็นปัญญาอินทรีย์อันหนึ่ง ถ้าปัญญาอันนี้มันคมกล้าขึ้นมา มันก็ต้องมีความคมกล้าสามารถชำระกิเลสให้มันยุบยอบตัวลงได้ ถ้ามันยุบยอบตัวลงได้นะ มันจะปล่อยวางเหมือนกัน ปล่อยวางแล้วก็ต้องพยายามซ้ำๆ อยู่อย่างนั้น ต้องซ้ำอยู่อย่างนั้น อ่านจนมันขาด มันขาดออกจากใจไปเลย ขันธ์ก็ขาดออกไปจากใจ ใจนี้ไม่ใช่ขันธ์ ขันธ์นอก ขันธ์ใน ขันธ์ในขันธ์ หลุดออกไปจากใจทั้งหมด มันเป็นใจล้วนๆ แล้วอะไรอ่านใจตัวนี้ล่ะ

ใจตัวนี้คือคบไฟ ใจตัวนี้คือดุ้นของไฟ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกอยู่ ในหมู่ชนถือดุ้นไฟไว้คนละดุ้น นั่นหมู่ชนนะ อันนี้มันถืออวิชชา ถ้าผู้ที่ถืออวิชชาอยู่ มันเป็นไฟร้อนอยู่ในหัวใจ แล้วจะเอาอะไรอ่าน

นี่ต้องพยายามค้นคว้าเข้าไป ความละเอียดอ่อนของใจ ถ้าใจประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เห็นใจมันพลิกแพลงเป็นชั้นๆ ขึ้นมา พลิกจากข้างล่างขึ้นมาเป็นข้างบน มันจะจับตรงนี้ได้ จับตรงนี้ได้แล้วปล่อยดุ้นไฟนั้น ปล่อยดุ้นไฟนั้น เห็นไหม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกอยู่ว่า ในหมู่ชนถือดุ้นไฟไว้คนละดุ้น แล้วก็เอามาอวดกัน ชนกัน อยู่ในหมู่ชนนั้น ไฟของตัวก็ร้อนเผาผลาญตัวเองอยู่แล้ว ยังเร่าร้อนเผาผลาญคนนอกอีก ในกาลนั้นมีคนฉลาดอยู่คนหนึ่งคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทิ้งดุ้นไฟดุ้นนั้นไป แล้วก็บอกให้พวกเราทิ้งดุ้นไฟ ทุกคนพยายามทิ้งดุ้นไฟของตัวเอง ทิ้งดุ้นไฟ นี่ความร้อนของใจไง

แต่นี้มันไม่ใช่ ใครมีความสว่างของดุ้นไฟนั้นก็อวดอ้างความสว่างกัน ใครศึกษาธรรมะปฏิบัติมา ใครศึกษามา ใครศึกษาจำธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา ก็ว่าตัวเองมีความสว่างของใจ เห็นไหม ทั้งๆ ที่ไฟดวงนั้น ดุ้นไฟนั้นเป็นความร้อนจะเผาผลาญตัวเองนะ เผาผลาญตัวเองแล้วไปเผาผลาญคนอื่น เพราะกิเลสของเรามันเผาเราอยู่แล้ว มันทำให้เราทุกข์ยากอยู่แล้ว มันทำเราทุกข์ยากแล้วยังไม่พอ ยังจะทำให้คนอื่นได้รับความเดือดร้อนจากดุ้นไฟอันนี้ด้วย แล้วไม่ยอมทิ้ง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้ทิ้งดุ้นไฟดุ้นนี้ ทิ้งดุ้นไฟ แต่ถ้าเราอ่านธรรมไม่ออก มันทิ้งไม่ได้ ดุ้นไฟอยู่กับมือ ถ้าเรารู้ว่าร้อน เราปล่อยมันก็ปล่อยได้ แต่นี้เราจะปล่อยกิเลสจากใจ มันปล่อยได้ไหม เราคิดว่าเราจะปล่อยกิเลสในหัวใจเรา มันหลุดออกไปจากใจเราไหม? มันไม่หลุดออกไป เพราะมันเป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรมมันให้ความร้อนในหัวใจนั้น สิ่งที่ให้ความร้อนในหัวใจนั้นมันเป็นความทุกข์อยู่แล้ว

ถ้าเราไม่อ่านธรรมให้ขาดออกไป มันจะหลุดออกไปไม่ได้ โดยธรรมชาติของมัน ธรรมชาติของกิเลสมันอยู่บนหัวใจของมนุษย์ อยู่บนหัวใจของสัตว์โลก แล้วมันอาศัยหัวใจของสัตว์โลกเป็นเครื่องอยู่อาศัย แล้วพาจิตดวงนี้เกิดตายๆ มาตลอดเวลา เกิดตายอย่างที่เราเกิดมานี่ มันเป็นการยืนยันได้ว่าเราต้องตายแน่นอน แต่เรายังไม่เคยเห็นการเกิด มันก็ต้องไปเกิดแน่นอน

แล้ววิปัสสนาไป อ่านธรรมไป มันจะเห็นตรงนี้ เห็นการเกิดและการตายของกิเลส เห็นการเกิดนะ กิเลสเกิดอย่างไร ตายอย่างไร ขาดอย่างไร มันจะเห็นความเกิดและความตายของกิเลส กิเลสมันจะตายไปจากใจเป็นชั้นๆ เข้าไป กิเลสจะหลุดออกไปๆ อ่านแล้วขาด พอขาดไป กิเลสจะขาดออกไปเลย ขาดออกไป เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป จนกว่าจะเห็นว่าไม่เกิดในกามภพ ก็จะเห็นอย่างนั้น ไม่เกิดในกามภพ แล้วสิ่งที่ว่ามันละเอียดกว่ากามภพนั้นมันเป็นดุ้นไฟ มันก็เห็นสิ่งนั้น แล้วมันก็จะสละสิ่งนั้นออกไป นี่มันจะเห็นอย่างนั้น พอเห็นอย่างนั้น มันเป็นความสว่าง เป็นความสงบภายในหัวใจนั้น สิ่งนี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุด

ในเรื่องของสัตว์โลกนะ ถ้าไม่มีหัวใจมาปฏิสนธิในครรภ์ของมารดา เด็กจะไม่เกิด จะไม่มีเด็กเกิดมาในนั้นเลย นี่ความเกิดของใจ เกิดในขันธ์แล้วถึงมาเป็นมนุษย์ ถ้าพูดถึงความสำคัญแล้ว หัวใจสำคัญ

ความคิด เห็นไหม เวลาเราคิด เราพลิกแพลงต่างๆ ปัญญาความคิดของเรามันจะมีมหาศาลเลย คิดอย่างไรก็ได้ แล้วมันเป็นความคิดที่เป็นความลึกลับที่ไม่มีใครมาเห็นความคิดของเรา ความคิดของเรา เราแอบคิด แอบทำ มันเหมือนกับเป็นโลกโลกหนึ่งของเรา เป็นโลกส่วนตัวของเราที่เราจะคิดอย่างไรของเราก็ได้ ความคิดอันนั้นมันเป็นเรื่องของใจ เรื่องของร่างกายคือเรื่องของที่อยู่อาศัยของใจเท่านั้น ใจมันถึงเป็นความสำคัญ แล้วพอมันคิดอย่างนั้น มันคิดว่าเป็นความดีความฉลาดของมัน ทั้งๆ ที่มันเป็นความโง่ของมันนะ เพราะมันถือดุ้นไฟอยู่ มันต้องเผาตัวมันเองก่อน เห็นไหม มันจะคิดขนาดไหนมันก็ร้อนอยู่ตัวคนเดียว อยู่ตัวคนเดียวก็ร้อน อยู่ในห้องแอร์ อยู่บนกองน้ำแข็งมันก็ร้อน ถ้าหัวใจมันร้อน อยู่ที่ไหนมันก็ร้อน แต่มันก็พอใจจะคิด เพราะมันปลดดุ้นไฟทิ้งไม่เป็น มันทิ้งดุ้นไฟไม่เป็นมันก็อยู่กับความเร่าร้อนนั้น

แล้วเรามาเจอธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ให้ทิ้งดุ้นไฟ ให้ทิ้งดุ้นไฟดุ้นนั้น ให้ทิ้งด้วยการอ่านมันให้ขาด อ่านธรรมนี้ให้ขาด แล้วทิ้งความสว่างนั้น ทิ้งออกไป ไม่ใช่อ่านแล้วก็จะเอาความสว่างนั้นมาเป็นทิฏฐิมานะ เห็นไหม อ่านแต่ตัวหนังสือ อ่านแต่สัญญาอารมณ์ อ่านอย่างนั้นขึ้นมาแล้วก็ถือเป็นความรู้...เป็นความรู้ที่ไหน ถ้าเป็นปัญญา ทำไมมันเอาความร้อนมาให้หัวใจ ถ้ามันไม่อ่านแบบวิปัสสนาญาณ เห็นไหม อ่านแบบวิปัสสนามันต้องเอาหัวใจอ่านธาตุ อ่านขันธ์ เอาปัญญานี้พิจารณาธาตุ พิจารณาขันธ์ แล้วปล่อยวางธาตุขันธ์เข้ามาเป็นชั้นๆ

อ่านขันธ์แล้วทิ้งขันธ์

“อ่านขันธ์” เห็นไหม หัวใจอ่าน นี่คืออ่านธรรม อ่านหนังสือนั้นเป็นการอ่านสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่อ่านโดยสมมุติ อ่านหนังสือ “อ่านธรรม” เอาหัวใจ เอาใจที่เป็นสัมมาสมาธิอ่านธาตุ อ่านขันธ์ อ่านขันธ์แล้วทิ้งขันธ์นอก เห็นไหม ทิ้งขันธ์นอกเป็นอกุปปธรรมขึ้นมา ทิ้งขันธ์ในก็เป็นอกุปปธรรมขึ้นไป ทิ้งขันธ์ในขันธ์ เห็นไหม นี่อกุปปธรรม หมดขันธ์ หมดขันธ์แล้วก็ไปทิ้งดุ้นไฟนั้น ทิ้งดุ้นไฟนั้นมันก็เป็นความสงบของใจโดยสมบูรณ์ ถ้าจิตโดยสมบูรณ์นั้นมันเป็นการอ่านธรรมออก ถ้าใครอ่านธรรมออก ใจดวงนั้นจะประเสริฐ ใจดวงนั้นจะมีที่อยู่อาศัย ธรรมเป็นเครื่องอยู่ มีธรรมในหัวใจ เต็มในหัวใจนั้นเลย นี่มีธรรมเป็นเครื่องอยู่

ในหัวใจเราไม่มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ มันถึงเป็นเด็กอ่อน ต้องเกาะเกี่ยวกับอารมณ์ไปตลอด เห็นไหม เราจะเอาอะไรเป็นเครื่องอยู่ ถ้าหัวใจไม่มีเครื่องอยู่แล้วมันจะมีความทุกข์ความร้อนไป แล้วมันจะหาเครื่องอยู่ของมันเอง มันก็เป็นเด็กอ่อนไร้เดียงสานะ กิเลสนี้เวลามันเอาตัวเองไม่รอด มันเหมือนเด็กอ่อนที่ไร้เดียงสาในหัวใจ แล้วก็หาที่เกาะที่เกี่ยวไป พยายามหาที่เหนี่ยวรั้งไว้ มันจะเหนี่ยวรั้งอารมณ์ เหนี่ยวรั้งความคิด เหนี่ยวรั้งไว้เป็นที่พึ่งของมัน

แล้วความเหนี่ยวรั้งนั้นก็เหมือนเอาน้ำมันไปเหนี่ยวรั้งไฟ มันก็ยิ่งเกิดไฟโชติช่วงขึ้นมา กิเลสไปเหนี่ยวรั้งอารมณ์นั้น มันจะเกิดอะไรขึ้นมา? มันจะเกิดความผูกมัดขึ้นมา เกิดความโกรธขึ้นมา เห็นไหม เหนี่ยวรั้งแล้วมันจะเป็นที่พึ่ง มันก็เอาไฟสุมเข้าไป มันก็เป็นโทสะ เป็นโมหะ เพราะอะไร เพราะมันไม่พอใจความคิดของมัน มันไม่พอใจ ไม่เข้าใจตามความเห็นของมัน ถ้ามันไม่เข้าใจ มันไม่เป็นไปตามความเห็นของตัว มันก็มีความโกรธ มันก็มีความเกลียด มันก็มีความไม่พอใจ นั่นน่ะ เอาน้ำมันไปเหนี่ยวรั้ง มันก็เอาแต่ไฟเผาตัวเองขึ้นไป ปัญญาอย่างนั้นหรือเป็นปัญญาที่พึ่ง มันถึงไม่ใช่เป็นปัญญาที่เป็นที่พึ่ง มันเป็นความโง่ของใจ แต่ในโลกเรามองไม่เห็น ในโลกเราว่าสิ่งนี้ประเสริฐ ปัญญาเท่านั้น ยิ่งโลกาภิวัตน์ เห็นไหม จะชนะกันด้วยปัญญา...ใครมันจะชนะใคร ถ้าโลกชนะโลก โลกกับโลกกำลังต่อสู้กันเพื่อความเจริญของโลกเขา แล้วพยายามเอาเปรียบกัน นั่นหรือการชนะกัน

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “โลกคือหมู่สัตว์ สัตว์ตัวใดก็แล้วแต่เอาใจไว้ในอำนาจของตัว โลกอันนั้นเป็นโลกประเสริฐ” โลกที่ประเสริฐแล้วไม่เกิดในกามโลก รูปโลก อรูปโลก โลกนั้นเป็นโลกอิสระออกไปจากโลก เพราะการอ่านธรรมของผู้ประพฤติปฏิบัติอย่างนั้น อ่านโลกจนโลกขาดออกไป กามโลก รูปโลก ขาดออกไปจากใจ โลกประเสริฐ เห็นไหม ถึงว่ามีธรรมเป็นที่พึ่ง

เทียบกันสิ ใจที่มีธรรมเป็นที่พึ่งกับใจที่มีกิเลสเป็นที่พึ่ง อันไหนจะมีคุณประโยชน์กว่ากัน อันไหนจะให้คุณหรือให้โทษมากกว่ากัน

ถ้าเราเห็นคุณเห็นโทษของการประพฤติปฏิบัติธรรม แล้วมันจะมีกำลังใจขึ้นมา ถ้าเราเห็นโทษของมัน เราก็จะมีการทำเพื่อกำจัดโทษออกไปจากใจ แต่ถ้าเราไม่เห็นโทษของมัน เราก็อยู่ประสาเราอย่างนี้ แล้วความเพียรของเราก็ไม่คมกล้า ความเพียรของเราก็ไม่เข้มแข็ง ทำสักแต่ว่าทำ ทำแบบเอาแสงไฟ เอาแสงสว่าง เอากิเลสอ่านหนังสือ เอาแต่ความเห็นของตัวเองมาเป็นใหญ่ แล้วก็อยู่ใต้อำนาจของกิเลส อยู่อย่างนั้นไปตลอด เพราะหัวใจไม่เข้มแข็ง หัวใจไม่มัชฌิมาปฏิปทาตามความเป็นจริง

ถ้าหัวใจมีความเข้มแข็งขึ้นมา ทำถึงจุดหนึ่ง เห็นไหม มันเป็นอัตตกิลมถานุโยค คือความลำบากลำบน กามสุขัลลิกานุโยค คือความพอใจของใจ มันเป็นทางสองส่วน “เทฺวเม ภิกฺขเว ภิกษุไม่ควรเสพทางสองส่วน ความสุขและความทุกข์ในหัวใจนั้นไม่ควรเสพเลย”...แล้วทำอย่างไรจึงจะเป็นมัชฌิมาปฏิปทาล่ะ

ถ้ามีความเข้มแข็งแล้ว มัชฌิมาปฏิปทาจะเกิดจากตรงนี้ จากความเข้มแข็งของใจ มันจะมีความถูก-ความผิด มีอัตตกิลมถานุโยค คือความลำบากของมัน พอมันสุขขึ้นมา มันมีอารมณ์สงบขึ้นมา ความสงบของมัน มันมีกามสุขัลลิกานุโยค มีความสุขของมัน สุข-ทุกข์อยู่ในหัวใจ มันก็ผิดทั้งสองฝ่าย แล้วมัชฌิมาจะเกิดจากตรงไหน ถ้าไม่เข้มแข็ง มันเข้าไปกระทบ

(เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)

อนล