ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

พันธุกรรมทางจิต

๑๓ มี.ค. ๒๕๕๓

 

พันธุกรรมทางจิต
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบปัญหาธรรม วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เมื่อวานมีคนเขามาบอกว่าเขาไปเปิดเว็บไซต์ แล้วเขาก็บอกว่าสิ่งที่ปฏิบัติกัน คนที่ชอบความง่ายความสะดวกนั้น เพราะว่าติดความง่ายความสะดวก มันถึงไม่ได้ผล

เราก็บอกว่า พูดอย่างนั้นมันไม่ถูกหรอก มันไม่ใช่ว่าติดความง่ายหรือติดความทุกข์ยาก ไอ้ง่ายหรือทุกข์หรือความลำบากนี้ มันเป็นอำนาจวาสนาบารมีของคน มันไม่เกี่ยวกับว่าคนชอบง่ายแล้วจะได้ง่าย คนชอบยากแล้วจะได้ง่าย คนชอบอย่างไรก็แล้วแต่ ความชอบมันก็อย่างหนึ่ง ความจริงอีกอย่างหนึ่ง ไม่ได้อยู่ที่ความชอบ ทุกคนชอบสะดวกสบาย ทุกคนชอบง่ายทั้งนั้นล่ะ แต่มันจะได้ผลหรือไม่ได้ผลนั้นมันก็อีกเรื่องหนึ่ง

คนที่ปฏิบัติด้วยความง่าย แบบว่าได้สร้างบุญกุศลมา ปฏิบัติยากมันก็ไม่ได้ผลหรอก มันต้องปฏิบัติตรงกับข้อเท็จจริงอันนั้น ตามข้อเท็จจริงต่างหาก ไม่ใช่ว่าคนชอบง่ายหรือคนชอบยาก เหมือนเราให้ของเด็กเลย เราต้องให้ของมีคุณภาพกับเด็กทั้งนั้น แต่เด็กนี่มันจะคิดโต้แย้ง มันไม่ได้ดั่งใจมัน

อันนี้การปฏิบัติก็เหมือนกัน เขาบอกว่าเพราะคนเราไปติดความชอบความสะดวกสบาย ชอบง่าย มันถึงโดนหลอกกันอยู่เป็นประจำไง

เราบอกว่าอันนี้มันก็เป็นความจริงครึ่งหนึ่ง แต่ไอ้เรื่องถ้าเราปฏิบัติตามความเป็นจริง หรือเราขยันหมั่นเพียรมันก็อีกเรื่องหนึ่ง

ฉะนั้นในครูบาอาจารย์เราถึงสอนบอกว่าให้เข้มแข็งไว้ก่อน ให้ทำจริงจังเข้าไป ถ้าจริงจังเข้าไป เวลาทำขึ้นมา มันจะผิดมันจะถูกขึ้นมา ความจริงจังของเราอันนี้ ถึงมันจะผิดพลาดอย่างไร ถ้ามันจะต้องเป็นแบบง่าย เห็นไหม มันก็มีอยู่แล้ว เพราะเราทำด้วยความเข้มแข็งอยู่แล้ว ด้วยความเข้มข้นอยู่แล้ว

ฉะนั้น อันนี้มันเป็นเวรเป็นกรรมของคน มันไม่ใช่ว่าเราชอบง่ายหรือเราชอบยากหรอก หรือว่าความง่ายความยากนั้นมันจะมีผลกับเราหรอก ไม่ใช่ทั้งนั้นเลย ไม่ใช่สักอย่างหนึ่ง อย่างหนึ่งคือตามข้อเท็จจริงต่างหากว่า เราปฏิบัติแล้วมันเป็นอย่างนั้นจริง ตามความเป็นจริงว่าปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ปฏิบัติง่ายรู้ยาก ปฏิบัติยากรู้ง่าย ปฏิบัติยากรู้ยาก

ในบัว ๔ เหล่ามันมีความจริงของมันอย่างนี้อยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าเราชอบหรือไม่ชอบหรอก เราชอบไม่ชอบมันเป็นธรรมดา เป็นสัญชาตญาณ เป็นความเห็นของเรา เราก็ชอบไม่ชอบเป็นเรื่องธรรมดา แต่ความจริงมันไม่เป็นอย่างนั้นหรอก ความจริงคือความจริง มันต้องเป็นตามข้อเท็จจริงอย่างนั้น มันถึงจะให้ผลตามความเป็นจริงอย่างนั้น แล้วผลตามความจริงอย่างนั้น เรามาปรารถนาเอาตอนนี้มันไม่ได้ไง

เวลาเราเกิดมาแล้ว เราเป็นคนมาแล้ว ก่อนเกิดเป็นคน เรามาจากไหน เรามีสิ่งใดเป็นการขับเคลื่อนมา สิ่งนั้นต่างหากมันเป็นจริตเป็นนิสัย ถ้าอย่างนั้นสิ่งที่เราเสนอมามันเป็นเรื่องโลกไง เรื่องโลกมันเป็นคนตาบอด เขาเสนอกันมาอย่างนี้เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นหลักตายตัวอยู่อย่างนี้

แต่ถ้าเป็นเรื่องธรรม มันก็เป็นวิทยาศาสตร์เหมือนกัน แต่วิทยาศาสตร์อย่างนี้มันมีเวรมีกรรมอีกชั้นหนึ่ง มีเวรมีกรรมคอยขับไส มีเวรมีกรรมเบี่ยงเบียนอีกทีหนึ่ง ไอ้เวรกรรมเบี่ยงเบียนอันนั้น มันจะทำให้ได้ประโยชน์หรือไม่ได้ประโยชน์ไง

ดูสิ ดูอย่างการรักษา บางทีคนไปรักษา ไอ้ยาถูกๆ รักษาเราหายหมดนะ โอ๊ย เราไปหาหมอซะแพงเลย หมอสุดยอดเลย รักษาอย่างไรก็ไม่หาย แต่พอไปเจอยาพื้นบ้าน ก็หายได้ เห็นไหม หญ้าปากคอก

นี่ก็เหมือนกัน ในการปฏิบัติ ถ้ามันเป็นความจริง มันเป็นเวรเป็นกรรม เห็นไหม เรื่องเวรกรรมนี่มันอันหนึ่งนะ เวรกรรมอันหนึ่ง แล้วเรื่องเกิดมาปัจจุบันนั่นอีกเรื่องหนึ่ง สองเรื่องมันบวกกัน ถ้าสองเรื่องบวกกัน ถ้าเรื่องในโลกนี้เขาพูดถึงเรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้นี่เป็นข้อเท็จจริง ใช่ มันพิสูจน์ได้ตามข้อเท็จจริง

ดูสิ เวลาข้อเท็จจริงเห็นไหม ดูการก่อสร้าง มันมีอุปสรรคต่างๆ ที่ทำให้การก่อสร้างนั้นบิดเบือนไปได้เหมือนกัน เรานี่ปรารถนาดีมากเลย สร้างให้เป็นสิ่งที่ดีงามเลย โอ้โฮ ทำซะเต็มที่เลย แต่มันมีอุปสรรค มันมีอุบัติเหตุให้บิดเบี้ยว ให้มันเป็นบิดเบือนอย่างนั้นไปได้ ก็ต้องแก้ไขกันไป พอแก้ไขมันก็ไม่สมบูรณ์ จริงไหม

นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติของเรา เขาบอกว่า นี่เพราะชอบความเรียบง่าย ชอบความสะดวกสบาย มันถึงมีปัญหากันไปหมดเลย อันนั้นมันก็มีส่วนจริงอันหนึ่ง

ดูสิ อย่างปัจจุบันนี้ ดูสมัยอดีตมา เห็นไหม เรื่องเทคโนโลยีมันยังไม่เจริญ การเป็นอยู่ของเราเหมือนกับว่า… ถ้ามองไปก็ว่ามันเป็นความลำบาก แต่ถ้าเป็นสมัยนั้น เขาก็อยู่ของเขาด้วยยุคสมัยของเขา ยุคสมัยของเขาทำให้คนเข้มแข็ง ทำให้คนมีวิริยะอุตสาหะ

แต่ในปัจจุบันนี้ ทุกอย่างวิทยาศาสตร์มันเจริญขึ้น การดำรงชีวิตสะดวกสบายขึ้นมา ทีนี้พอสะดวกสบายขึ้นมา เมื่อก่อนนะ เราจะมองกันว่า เรื่องปัจจัยเครื่องอาศัย หมายถึงว่า อาหารการกิน เราต้องแสวงหามา

เดี๋ยวนี้ ทางยุโรป ทางต่างๆ บอกเลย โรคที่เด็กๆ เป็นโรคอ้วน เป็นเรื่องสิ่งที่รัฐบาลต่างๆ ปวดหัวเลย โรคอ้วน คือมันมีอาหารการกินจนอุดมสมบูรณ์เกินไปไง มีมากเกินไปก็ผิดเห็นไหม มีน้อยเกินไปก็ทุกข์ มีมากเกินไปมันก็ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บกับร่างกายได้

ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ขาดแคลนก็ไม่ได้ มากเกินไปก็ไม่ได้ แล้วความสมดุล มันสมดุลของใคร นี่มัชฌิมาปฏิปทา มันมัชฌิมาปฏิปทาของใครล่ะ มันอยู่ที่เวรอยู่ที่กรรมนะ

เราจะบอกว่า เราจะถือว่าเราสะดวกสบายก็ไม่ได้ ก็ไม่ใช่ จะทุกข์ยากเกินไปก็ไม่ใช่มัชฌิมาปฏิปทา แต่ก็มัชฌิมาปฏิปทาเพื่อชำระกิเลส ดัดแปลงตน การฝืน เวลาทำธรรมวินัยขึ้นมา อย่างเช่นเช้าๆ ขึ้นมา สิ่งที่เราทำกันนี่ เหมือนพ่อแม่เลี้ยงลูก ลูกไม่รู้เรื่องหรอก เราอยู่กับครูบาอาจารย์มาเห็นไหม หลวงตาท่านพูดประจำ น้ำส้ม น้ำหวาน มันจะท่วมหัวใจ ท่วมตับ ท่วมปอดพระ

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งต่างๆ ถ้าเราเผลอมันท่วมตับ ท่วมปอดเลย แล้วถ้าเราไม่เผลอล่ะ ไม่เผลอ ก็ต้องตื่นตัว การตื่นตัว เห็นไหม มันต้องฉับไว การฉับไวเพื่อให้สติมันฉับไวตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ถ้าเรามองทางโลก เอ้า ก็ในเมื่อของอย่างนี้มันมีความจำเป็นแล้ว เราก็ทำให้สะดวกสบายก็ได้ เราทำให้มันเรียบง่าย ใช่ เรียบง่าย แต่เราต้องมีสติ เราต้องตื่นตัวตลอดเวลา

ถ้าการตื่นตัวตลอดเวลา มันก็เป็นปัจจัยเครื่องอาศัย แต่ถ้ามันเป็นกิเลส มันชอบของมันอย่างไร ดูสิ ในเมื่อเราฉันของมัน ของที่มีพลังมากๆ แล้วเราก็ไปนั่งสัปหงกโงกง่วง เห็นไหม แล้วทำไมเขาต้องผ่อนล่ะ เห็นไหม การอดนอนผ่อนอาหาร นี่ไง ธุดงควัตร เป็นเครื่องขัดเกลากิเลส มันมีผลมาแล้ว มันมีเครื่องขัดเกลา มันขัดแย้งกับความพอใจของเรา เราต้องพอใจอย่างนั้น เราต้องมีความสุขอย่างนั้น เรามีความต้องการอย่างนั้น จิตใจมันปรารถนาไปอย่างนั้น

ธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าเหมือนพ่อแม่ไง พ่อแม่ปรารถนาให้ลูกเป็นคนดี พ่อแม่ก็ต้องพยายามสอนลูก ลูกมันก็ต้องการตามใจตัวมันทั้งนั้น ต้องตามใจตามความสะดวกของมัน แต่พ่อแม่ก็ต้องให้มีการศึกษา ต้องไปโรงเรียน ต้องอะไรต่างๆ ต้องดัดแปลง ต้องฝึกฝนขึ้นมา ต้องให้จริตนิสัยเขาดีขึ้นมา

การประพฤติปฏิบัติ มันต้องมีการวางพื้นฐานมา เพราะโลกมองไม่ออกนะ คนปฏิบัติไม่เป็นจะไม่เข้าใจคำว่าโลกกับธรรม โลกเป็นเรื่องของโลกๆ โลกเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ โลกเป็นเรื่องความเป็นอยู่

ธรรมะเห็นไหม ธรรมะมันกินลึกเข้าไปในเนื้อของใจเลย ดูสิ มีสัมมาสมาธิ เวลาจิตมันเป็นสมาธิขึ้นมา เราจะ อื้อหือ อื้อหือ เลยนะ แล้วถ้าเกิดปัญญาขึ้นมา ทุกคนเวลาฝึกปัญญาขึ้นมา โอ้โฮ ปัญญามันละเอียดมาก คนเรานะตามความคิดของตัวเอง ปัญญาอบรมสมาธินี่ตามความคิดของตัวเอง แล้วเอาความคิดของตัวเองหยุดได้ มันก็เป็นเรื่องมหัศจรรย์แล้วนะ

ถ้าพูดถึงว่าการเอาความคิดของเราหยุดไว้ได้ด้วยอำนาจของเรา นั่นคือสัมมาสมาธิ คือจิตมันหยุดเฉยๆ แค่จิตอยู่เฉยๆ ถ้าคนภาวนาเป็นสมถะ เห็นว่าจิตมันเป็นสมถะ เห็นจิตที่มันพักตัวของมัน แล้วถ้าเวลามันเกิดปัญญาขึ้นมา โลกุตตรปัญญาที่มันเกิดขึ้นมาอีก โลกุตตรปัญญาคือปัญญาของธรรม ไม่เป็นปัญญาของโลก

ปัญญาของโลก เห็นไหม เพราะเวลาปัญญาของโลกกับปัญญาของธรรมมันแตกต่างกัน เวลาปัญญาของโลกเกิดขึ้นมาว่าเรามีปัญญา เช่น ศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้า โอ้โฮ มันจะรู้ไปหมดเลย แล้วเราซาบซึ้งมาก ซาบซึ้งเพราะอะไร ซาบซึ้งเพราะมันมีเราให้ซาบซึ้งไง

แต่เวลาถ้าจิตมันสงบขึ้นมาแล้ว มันเกิดโลกุตตรปัญญา มันพิจารณาไป มันถอดมันถอน มันจะมีคุณค่ามากกว่าคำว่าความซาบซึ้ง ความซาบซึ้งมันเป็นสัญญา มันเป็นสัญชาตญาณที่มันตกผลึกในใจ มันซาบซึ้ง มันฝังใจ โลกมีตัวตนที่ซับไว้ไง แต่ถ้าเป็นโลกุตตรปัญญา ถ้าปัญญามันเกิดขึ้นมา มันลึกซึ้งกว่าความซาบซึ้งเพราะมันถอดมันถอน ถ้ามันลึกซึ้งกว่าความซาบซึ้ง มันจะแตกต่างระหว่างโลกียปัญญากับ โลกุตตรปัญญา ระหว่างโลกกับธรรม

แล้วถ้าเป็นเรื่องโลกๆ เราก็ใช้ปัญญาโลกๆ ถ้าปัญญาโลกๆ มันก็คิดเป็นวิทยาศาสตร์ ใช่ไหม ทุกคน เวลาพูดทางโลกจะบอกเลยนะ เวลามรรคสามัคคี มันใช้สมาธิกี่เปอร์เซ็นต์ ใช้ปัญญากี่เปอร์เซ็นต์ มรรค ๘ มันมีน้ำหนักกี่เปอร์เซ็นต์ แล้วมันจะมรรคสามัคคี มันจะรวม เราจะคิดทางวิทยาศาสตร์ มันเป็นสิ่งที่เราเป็นส่วนผสมของมัน ให้มันสมดุล ให้เป็นมัชฌิมาปฏิปทา

นี่ไง ถ้าเราคิดทางวิทยาศาสตร์มันจะผิด มันผิดตรงไหน มันผิดตรงที่ว่าทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์มันเป็นกฎตายตัวใช่ไหม แต่ธรรมะ ระหว่างคุณค่าของจิต อารมณ์ความรู้สึก แม้แต่คนๆเดียวกันนี่แหละ เวลาใช้ปัญญารอบหนึ่ง เวลาสมดุลของมันขึ้นมา คราวนี้มันลึกซึ้งมาก แต่พอมันชำนาญการขึ้นมา เวลาจิตมันสมดุลของมันขึ้นมา ความคิดพอเริ่มปัญญามันลงแล้ว แม้แต่ๆ ละรอบ แต่ละคราวหนึ่งของการใช้ปัญญามันยังไม่เท่ากันเลย

ถ้าจิตมันดื้อ จิตมันมีการกระทบอะไรรุนแรง มันใช้ปัญญามากมายขนาดไหน มันยังไม่ลงเลย เห็นไหม ในคนๆ เดียว ในการใช้ปัญญาหลายๆ รอบมันยังไม่เท่ากันเลย แล้วแต่ละบุคคล คนหลากหลายในสังคมมนุษย์ เราบอกจะใช้ความสมดุลเท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ เห็นไหม นี่คือความคิดทางวิทยาศาสตร์ไง

แต่ถ้าเป็นความคิดทางธรรมนะ โลกุตตรปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้นระหว่างโลกกับธรรม ถ้าพูดเรื่องโลกๆ เขามองเรื่องโลกๆ แล้วศึกษาธรรมะด้วยโลก ศึกษาธรรมะด้วยปัญญาของเรา ด้วยทางวิทยาศาสตร์ของเรา แล้วยึดตายตัวต้องเป็นอย่างนั้น มันเลยไม่เป็นอะไรเลย มันเป็นทฤษฎี มันเป็นความจำ

แต่เรื่องที่มันเป็นความจริง มันถอดมันถอน เห็นไหม ถ้ามันถอดมันถอนมันเห็นคุณค่าตรงนี้ไง ถ้าคุณค่าตรงนี้ แล้วตรงไหน คนติดความง่าย คนติดความยากล่ะ มันไม่มีอะไรยาก มันไม่มีอะไรง่ายหรอก

ถ้ามันเป็นความสมดุลลงตัวพอดีทุกอย่าง ความลงตัวพอดี นั้นล่ะคือ มัชฌิมาปฏิปทา แล้วความลงตัวพอดีของโลกุตตรปัญญา ของการกระทำ อันนี้สำคัญมากนะ เพราะอะไร เพราะอันนี้ที่มันจะถอดจะถอน แล้วอันนี้ที่ทำให้จิตนี้ไม่หมุนไป ธรรมดาจิตนี้มันจะหมุนไป

ถ้าจิตมันหมุนไป มันผลของวัฏฏะ จิตนี้มันจะไปตามวัฏฏะ แล้วเราก็ศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้าไป มันก็เหมือนโลกๆ คำว่าโลกนะคือโพธิสัตว์ ปรารถนามาเป็นพระพุทธเจ้า ถ้าปรารถนาเป็นโพธิสัตว์ มันจะไม่เข้าถึงอริยภูมิ มันจะเข้าถึงโลกียปัญญา มันเข้าถึงเรื่องโลก การสร้างวาสนาบารมี มันจะหมุนไปทางโลก โลกมีคุณงามความดีขนาดไหน มันจะเป็นอามิส มันจะเพิ่มความดีมากขึ้น

ถ้าพูดถึงธรรม อกุศลขึ้นมา ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ทำไมท่านเคยตกนรกอเวจีล่ะ เคยตกนรกอเวจีนะขณะที่ญาณของพระโพธิสัตว์หรือพลังมันยังไม่แก่กล้า มันยังคิดดีคิดชั่วได้ ถ้าคิดดีคิดชั่วได้มันก็เป็นไปตามผลนั้น

แต่ถ้ามันเข้มแข็ง มันเข้มข้นขึ้นมา มันจะดี ๆๆๆ ดีจนไม่คิดชั่วแล้ว มันจะหมุนไป ๆ ไม่ลงอบายไปแล้ว สิ่งนี้มันสร้างขึ้นมา นี่ไง ที่ว่าผลของวัฏฏะที่มันหมุนเวียนไป มันเรื่องโลก มันถึงว่า พระโพธิสัตว์หรือว่าเรื่องโลกมันจะไม่เข้าสู่อริยภูมิเลย

ถ้ามันจะเข้าสู่อริยภูมิ ทำไมหลวงปู่มั่นต้องลาล่ะ หลวงปู่มั่นลานะ ลาโพธิสัตว์ ถ้าไม่ลาโพธิสัตว์เพราะจิตมันเข้มข้นขึ้นมาแล้ว หรือยิ่งถ้าพระพุทธเจ้าพยากรณ์แล้วหมดสิทธิ์เลย จะต้องดีไปข้างหน้าอย่างเดียวเลย ถ้าดีไปข้างหน้าอย่างเดียว คำว่าดีของธรรมนะ แต่ถ้ามาโลก ดูสิ เวลาพระโพธิสัตว์แต่ละบุคคลที่เป็นพระโพธิสัตว์ เห็นไหม รื้อสัตว์ขนสัตว์ มันก็เหมือนกับนิยายน้ำเน่า พระเอกนางเอกจะโดนรังแกตลอดไป

นี่ก็เหมือนกัน จะทำคุณงามความดีตลอดไป แล้วเรื่องโลกมันเอารัดเอาเปรียบ เหมือนนิยายน้ำเน่าเลย พระโพธิสัตว์จะต้องโดนรังแก จะต้องโดนบีบคั้น โดนรังแกบีบคั้นเพราะอะไร เพราะเราสร้างความดีใช่ไหม แต่เรื่องของโลก เรื่องของมาร มันเอารัดเอาเปรียบกันใช่ไหม

ดูอย่างพระเวสสันดรสิ ดูสิ ทศชาติสิบชาติก็โดนมาตลอดเลย แต่ผู้ที่ได้เปรียบทางโลกอย่างชูชก เห็นไหม ชูชก เทวทัต เป็นคู่บารมี เป็นคู่ที่เอารัดเอาเปรียบกันมาตลอด ถึงที่สุดพระพุทธเจ้าสำเร็จไปเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เทวทัตตกนรกอเวจี แต่ก็เขาคู่กันมา ทำมาด้วยเหมือนกัน แต่ทำอันหนึ่งทำเป็นบาปอกุศล อันหนึ่งทำเป็นบุญกุศล แต่ก็มีทำมาอย่างนั้น

นี่เรื่องโลกๆ เห็นไหม วัฏวนมันเป็นอย่างนี้ นี่จิตมันเวียนตายเวียนเกิดมาอย่างนี้ มันก็มีผลของมัน ถ้ามีผล ถ้าทำดีขนาดไหนมันก็เป็นโลกียปัญญา มันเป็นเรื่องโลกๆทั้งนั้น โลกกับธรรมไง ถ้าไม่มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะชอบความง่าย ชอบความเรียบง่าย มันถึงได้ทุกข์ได้ยาก แล้วมันถึงไม่ได้ผลตามความเป็นจริงเขาจะบอกว่าอย่างนี้มันจะทุกข์นิยมไง

ทางตะวันตกเขาบอกเลยว่า พุทธศาสนานี่คือทุกข์นิยม มันไม่ใช่ เราบอกว่านิยมความทุกข์ไง ต้องทำความทุกข์ อะไรก็ต้องเผชิญกับความทุกข์ ไม่ใช่ทุกข์นิยม สัจจะนิยม แต่ในเมื่อสัจจะนิยมเข้าไปเจอกับความจริง

อย่างเช่นคนเจ็บ คนไข้ คนป่วย เวลาไปหาหมอ หมอทำอะไรให้บ้าง ตรวจร่างกาย เห็นไหม ถ้ามันมีการรักษา ฉีดยา ผ่าตัด มันก็ทุกข์ทั้งนั้น เอาเข็มจิ้มเข้าไปมันเจ็บไหม มันเจ็บเพื่ออะไร เจ็บเพื่อจะหายแต่เราก็ต้องรักษาของเรา เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน ไม่ใช่ทุกข์นิยม แต่เป็นสัจจะนิยม เพราะทุกข์มันเป็นความจริง ทุกข์มันเป็นโรคเป็นภัยเป็นไข้ เป็นโรคประจำจิต ถ้าโรคประจำจิตแล้วเวลารักษา เราก็รักษาเรื่องทุกข์นั่นล่ะ ถ้าเราจะไปรักษาเรื่องทุกข์ แต่ไม่เข้าไปเผชิญความทุกข์แล้วมันจะแก้ความทุกข์ได้อย่างไร ในเมื่อเข้าไปเผชิญความทุกข์ มันไม่ใช่ทุกข์นิยม มันเป็นสัจจะนิยม

ถ้าเป็นสัจจะความจริง เราเข้าเผชิญกับความจริง แต่นี่มันเป็นเรื่องปฏิบัติทางโลกไง ชอบสะดวกสบายไง ว่างๆ สบายๆ ไม่เข้าเผชิญหน้ากับความจริง ถ้าไม่เข้าเผชิญหน้ากับความจริง ไม่เข้าเผชิญหน้ากับทุกข์ ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ พระพุทธเจ้าเผชิญกับความจริง เข้าสู่ความจริง ถึงเอาความจริง

แต่ถ้าคนไม่เข้าใจ เพราะทุกคนเกลียดความทุกข์ ปรารถนาความสุขทั้งนั้น ถ้าพูดถึงเรื่องทุกข์ ทุกคนจะปฏิเสธ ฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติ ทำบุญกุศลจะได้มีความชื่นใจ สุขใจ เห็นไหม เสียสละทานขึ้นมา มีบุญกุศลขึ้นมาแล้ว ไอ้นี้ โอ้โฮ ขนาดภาวนาอย่างนี้ มันต้องสุขมากกว่านี้สิ ทำไมภาวนาไปแล้วมันทุกข์ ทำไมภาวนาไปแล้วมันเจ็บมันปวด

นี่ไง ก็เข้าเผชิญกับความจริงไง สัจจะนิยม ในเมื่อมันเป็นสัจจะนิยม สัจจะนิยมเพื่ออะไร เพื่อฝึกจิต ถ้าจิตมันเข้าไม่ถึงความจริงแล้ว มันจะกลั่นออกมาจากความจริงได้ไหม ถ้ามันเจอเหตุการณ์ที่กิเลส ที่เวทนา สิ่งที่ตัณหาความทะยานอยากมันเหยียบย่ำใจ เราจะควบคุมมันได้ไหม ถ้าเราควบคุมมันได้นี่วุฒิภาวะจิตมันเกิดแล้ว วุฒิภาวะของจิตมันยืนตัวของมันได้

ถ้ายืนตัวของมันได้ มันเข้าไปเผชิญกับความจริงแล้ว เหมือนกับเราอยู่กลางทะเล เกิดพายุร้ายขึ้นมา เราจะประคองเรือของเราให้มันพ้นจากพายุร้ายนั้นได้อย่างไร พายุอารมณ์ พายุสิ่งที่ตัณหาความทะยานอยากมันเกิดขึ้นมา พายุที่มันพัดหัวใจอยู่ ถ้ามันมีสติปัญญาขึ้นมา มันจะผ่านไปอย่างไร ถ้ามันผ่านของมันได้ เวลาพายุมันสงบไปแล้ว ไม่มีอะไรเลย เราผ่านมาได้ เรือเรายังสมบูรณ์อยู่

จิตเหมือนกัน ถ้าเข้าเผชิญกับความจริง เห็นไหม ถ้าความจริงมันกลั่นออกมาอย่างนี้ มันได้เห็นอยู่แล้ว นี่ไง สิ่งนี้เป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้นจากการเข้าเผชิญกับความจริง ไอ้นี่เราไม่ได้ไปเผชิญอยู่กับความจริงเลย เลาะไป เล็มไป รอบๆ ข้างมันไป ธรรมะพระพุทธเจ้าสอนไว้อย่างนี้ใช่ไหม เป็นความทุกข์ใช่ไหม สิ่งนี้เป็นความทุกข์ รู้เท่าความจริงมันก็ปล่อยวางไง

ทุกข์มีเพราะยึด เราไม่ยึดก็ไม่มี นี่มันไม่ใช่นักรบ มันนักหลบ มันเลาะๆ ไปแต่ขอบของมันไง ถ้าไม่เข้าเผชิญสู้ความจริง มันไม่เจอความจริงหรอก จะเอาเสือไม่เข้าถ้ำเสือ แล้วบอกว่าฉันได้เสือก็เสือกระดาษไง เห็นแต่เสือในกระดาษเห็นไหม แต่ไม่เคยเจอเสือตัวจริงเลย เห็นเสือกระดาษยังน่ากลัวนะ พอเจอเสือตัวจริงช็อคตายเลย แล้วบอกอย่างนี้เป็นพระอริยบุคคล ได้ไปประพฤติปฏิบัติมาแล้ว ได้ทำความจริงมาแล้ว เห็นไหมมันไม่เจอความจริง

แต่ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา พายุต่างๆ ที่เกิดขึ้นมา เวลานั่งไป เวลาปฏิบัติแล้วไม่ใช่ทุกข์นิยมนะ แต่ถ้ามันจะมีความทุกข์ ความทุกข์หรือเวลามีความสุข เวลาที่สิ้นสุดแห่งทุกข์มันเป็นความสุข แล้วความสุข เรามีความสุขกับมัน เราอยู่กับตัวเรา เราเข้าใจในตัวเรา มันจะมีความสุขขนาดไหน แล้วสุขอันนี้ รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง

ถ้าความจริงอย่างนี้ มันเกิดจากความจริง มันเกิดจากครูบาอาจารย์ เกิดจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา การประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เหมือนกับทำธุรกิจ ทำอาหาร ทำหน้าที่การงาน แล้วแต่วิชาชีพของใคร วิชาชีพของใครก็คิดว่าวิชาชีพของตัวทุกข์ทั้งนั้น งานของเรายากที่สุด งานคนอื่นไม่ยากเลย ทุกคนบ่น วิชาชีพเรา โอ้โฮ ยาก โอ้โฮ กว่าจะผ่านมาได้ ยากทุกคน แต่ก็ไม่รับรู้นะว่าคนอื่นเขายากขนาดไหน

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราเข้าไปเผชิญหน้ากับความจริงของเรา มันก็เป็นความจริงของเรา มันจะยากมันจะง่ายขนาดไหน มันต้องเข้าไปเผชิญกับความจริง เผชิญกับความจริงอันนี้ พอมันผ่านพ้นจากความจริงออกมาได้ เห็นไหม จิตนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นิโรธ นิโรธะ มันปล่อยอย่างไร มันเป็นไปปล่อยอย่างไร

ฉะนั้นถึงบอกว่าไม่ใช่บอกว่าติดง่ายหรือติดยาก บอกว่า โอ้โฮ เพราะคนมันชอบความสะดวกสบาย ชอบความง่าย มันเลยผิดพลาดกันไปหมด ถ้าผิดพลาดไปหมด มันก็เป็นทุกข์นิยม มันก็เหมือนกับว่าทุกคนต้องเป็นแบบว่าอัตตกิลมถานุโยค เขาว่าความลำบากเปล่าๆ ไม่ใช่หรอก ความลำบากเปล่านั้นเป็นเพียงการพิสูจน์

ดูอย่างนักกีฬาสิ นักกีฬาเวลาเขาฝึกซ้อม เขาซ้อมมาตลอดเวลานะ ถ้าความฟิตของเขายังไม่ได้ เขาไม่ลงแข่งเลยนะ ต้องฟิตร่างกายให้พอ ร่างกายต้องฟิตได้เขาถึงลงสนามได้ แล้วนี่พูดถึงนักกีฬาเขายังซ้อมขนาดนั้นเลย แล้วนี่เราจะถอดถอนกิเลสนะ เวลางานของเรา เวลานักกีฬาอาชีพต่างๆ เขาได้ผลประโยชน์ตอบแทน สังคมเขาเชิดชูมากเลย เพราะมันเป็นฮีโร่ในดวงใจของเขา

แต่ในการประพฤติปฏิบัติ เราจะอยู่ในดวงใจของใครล่ะ เราปฏิบัติของเราเองนะ ดูสิ พวกนี้ พวกไม่เอาไหนเลย พวกไม่สู้สังคม นั่งขัดสมาธิ เดินจงกรมอยู่คนเดียวในป่า คือสังคมเขาไม่รับรู้ เขาไม่เห็นผลงานอะไรกับเรา เวลาเราต่อสู้ เราก็ต่อสู้กับตัวเอง เวลาชนะ เราก็ชนะกิเลสตัณหาของตัวเอง ไม่มีใครรับรู้อะไรไปกับเราเลย

เห็นเดินไปเดินมานะ ตุ๊กตามันเดินได้ดีกว่านี้อีก หุ่นยนต์เขาทำให้มันเดินไปเดินมา มันยังดีกว่าเราอีก ท่าทางก็สวยงามกว่าเราด้วย อย่างนั้นต้องให้เหรียญทองเขา ไอ้มนุษย์เดินไปเดินมานี่คือไอ้พวกขี้เกียจ ไอ้พวกไม่ทำอะไรเลย นี่ไง แต่ไอ้ขี้เกียจไม่ทำอะไรเลยนี่มันชนะตัวมันเองได้เห็นไหม

เวลาเราชนะตัวเราเอง เราชนะกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ไม่มีใครรู้กับเรา ไม่เหมือนนักกีฬา นักกีฬาเวลาเขาได้เหรียญทองมา โอ้โฮ สังคมชื่นชมนะ แต่ไอ้พวกเราทำเกือบเป็นเกือบตาย แล้วมันก็เอาตัวรอดอยู่คนเดียวนั่นน่ะ แต่ถ้ามันได้ผลขึ้นมา เทวดา อินทร์ พรหม ยกย่องสรรเสริญ

นาคิตะเวลาเดินจงกรม เห็นไหม เขาไปรื่นเริง อู๋ พวกเขามีความสุขความรื่นเริงกัน ไอ้เราเป็นคนทุกข์ เทวดามายับยั้งกลางอากาศ เทวดาเขารู้ไง ไอ้พวกนั้นที่เขาไปเขาอยู่ในวัฏฏะ เขาหมุนไปในวัฏฏะ ท่านต่างหากจะออกจากวัฏฏะ ท่านจะออกเป็นวิวัฏฏะ นี่มันได้สติสัมปชัญญะขึ้นมาเลย แม้แต่เทวดายังมาชื่นชม ขณะที่การประพฤติปฏิบัติอยู่นะ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราปฏิบัติขึ้นไป คนดีผีคุ้ม เวลาจิตสงบ เห็นไหม ดูสิ หลวงปู่มั่นท่านอยู่ในป่าเทวดามาตลอดเลย คนก็แปลกใจนะ เอ้อ แล้วเทวดารู้ได้อย่างไรว่าหลวงปู่มั่นอยู่ในป่า ไปฟังเทศน์หลวงปู่มั่น อยู่ในป่ามันมืดหมด แต่ใจมันสว่างไสว มันผ่องแผ้วหมด มันก็เหมือนอยู่กลางป่ากลางเขาแล้วมีไฟสว่างอยู่ดวงหนึ่งให้เขามองเห็น

นี่ก็เหมือนกัน จิตใจที่มันประเสริฐขึ้นมาก็เหมือนเรา เรานั่งอยู่นี่เรามืดหมด จิตใจก็มืดๆตัณหาความทะยานอยากทั้งนั้น จิตใจทุกคนโดนกิเลสมันข่มหมด มารมันค้อมไว้ แต่มันมีใจอยู่ดวงหนึ่งที่มารมันปกครองไม่ได้ มันสว่างไสวของมัน ทำไมเทวดา อินทร์ พรหมจะไม่รู้

โลกเวลาเขาชื่นชมกัน เขาชื่นชมกันด้วยสังคม เขาชื่นชมกันด้วยสิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์ ที่สังคมเขายอมรับกัน เป็นสังคมของเรื่องโลก แต่เรื่องธรรมโลกเขาไม่รู้ เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นไป ไอ้พวกนี้ขี้เกียจ ไอ้พวกนี้ไม่เอาไหน ไอ้พวกนี้ไม่สู้สังคม ไม่ทำหน้าที่การงาน มีแต่หลบหลีก เอาตัวรอดอยู่คนเดียว

แต่เวลามันสว่างโพลงขึ้นมาอยู่ในใจสิ ไอ้พวกโลกมันไม่เห็น แต่เทวดา อินทร์ พรหม เขารู้ เขาถึงมาฟังธรรม มาฟังธรรมเพราะอะไร ทำอย่างไรมันถึงสว่างล่ะ ทำอย่างไรมันถึงเป็นอย่างนี้ ใจที่เป็นอย่างนี้มันทำอย่างไร มันถึงสว่างโพลงอย่างนี้ แล้วไอ้ใจมืดๆ ดำๆ เทวดา อินทร์ พรหม มันก็มืดๆ ดำๆ อยู่ เป็นเทวดา อินทร์ พรหม อยู่ แต่เขาไม่รู้อะไรเหมือนกัน อยากจะพ้นทุกข์ๆ แต่มันพ้นไม่ได้เพราะมันเป็นทิพย์อยู่ คำว่าเป็นทิพย์มันก็ยังมืดอยู่ กิเลสตัณหายังครอบงำอยู่

แต่ถ้ามันสว่างโพลงขึ้นมา มันสว่างโพลงสามโลกธาตุ เวลาเปิดโลกธาตุ นรก สวรรค์ มนุษย์ เห็นกันหมดเลย จิตเวลามันสว่างโพลง มันไม่มีมิติเลย มันพ้นจากมิติไปหมดเลย มิติกาลเวลาบังคับมันไม่ได้ จิตเวลาเวรกรรมมันไป มันไปเกิดภพชาติใดมันก็อยู่ในมิตินั้น มิตินั้นคือกาลเวลาของภพชาตินั้นคุมมันไว้ เวลามันสว่างโพลงขึ้นมามันพ้นมิติหมดเลย

สิ่งที่เห็นกันหมดเห็นไหม เรื่องของธรรม โลกมันได้ประโยชน์ ประโยชน์กับผลประโยชน์กับโลก ได้แต่ตัวเลขขึ้นมาในธนาคาร แต่เวลาจิตมันผ่องแผ้วขึ้นมา มันพ้นจากวัฏฏะ พ้นจากมิติ พ้นจากต่างๆ ไป พ้นจากวัฏฏะ มันเป็นวิวัฏฏะ นี่ไง โลกุตตรธรรม สิ่งนี้มันเกิดขึ้นมาโดยอำนาจของจิตที่มันสร้างสมมา ไม่ใช่ว่าเราไปติดที่สบาย หรือติดที่ไม่สบาย เราติดไม่ได้

คำว่าติดสบาย ภาวนาสะดวกสบาย ภาวนาอย่างนี้มันง่าย ไอ้ภาวนาอย่างนู้นมันยาก จะเอายากหรือเอาง่ายเราเลือกเอาเอง เราเลือกตอนนี้ไง เวลาเราโกรธ เวลาตัณหาครอบงำจิตเรา เราไม่เป็นอิสระต่อตัวเราเองเลย อารมณ์นั้นมันจะถูกกระชากลากไป

แต่เวลาพออารมณ์เราดีขึ้นมา อารมณ์เราปกติ อือ อย่างนี้ดีกว่าอย่างนั้น อย่างนั้นดีกว่า มันเห็นหมดนะ เห็นว่าควรไม่ควร ทุกข์ไม่ทุกข์ รู้หมด อะไรดีไม่ดี รู้วาระจิต จิตมันมีสติสัมปชัญญะ เวลาจิตมันโดนอารมณ์ครอบงำไม่รู้สิ่งใดๆ เลย

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราเกิดขึ้นมาแล้ว เราบอกว่า เราชอบ เราติดสบาย เราเกิดมาเราอยู่ในอารมณ์ความโลภ ความโกรธ ความหลง เพราะมันมีตัณหาทะยานอยากทำให้เราเกิด แล้วสิ่งที่เราเกิด มันก็อยู่ในสถานะอย่างนั้น เราจะไปเลือกตรงไหน เราจะไปเริ่มต้นตรงไหน

เราเริ่มตรงไหนไม่ได้ เพียงแต่ว่าเราประพฤติปฏิบัติของเรา เรามีสติปัญญาของเราขึ้นมา กรรมฐาน ๔๐ ห้อง จะทำอย่างไรก็ได้ใน ๔๐ ห้อง ถ้ามันตรงกับจริตนิสัยของเรา มันปฏิบัติแล้วมันจะปลอดโปร่ง มันมีโอกาสของมัน ทำแล้วมันจะได้ผลประโยชน์ของมัน แต่ถ้าทำแล้วไม่ใช่จริตนิสัยของเรา เราก็ทำได้เป็นครั้งคราว

เหมือนเราไปดูกีฬา กีฬาที่สังคมเขาชื่นชมกัน สังคมเขายอมรับกัน ไอ้เราไม่ชอบ เราไปดูแล้วมันไม่สนุก แต่ถ้ามันเป็นกีฬาที่เราชื่นชอบ สังคมเขาไม่เล่นกัน แต่เรากีฬาอย่างนี้มันชื่นชอบ เราไปในสังคมนั้น มันถูกใจเรานะ ใจมันมีส่วนร่วมไปกับเขา แต่ถ้าไปดูกีฬาที่เราไม่ชอบ เห็นไหม เราก็ไปดูเป็นพิธีเฉยๆ

จิตก็เหมือนกัน เวลาเราปฏิบัติ แล้วมันโล่ง มันโปร่ง มันสะดวกสบายของมัน จะบอกว่ามันไม่ได้เลยมันก็ได้ เพราะกีฬาแล้วนี้ไม่ชอบ แต่สังคมเขาชอบกัน เราอยู่ในสังคมนั้นเราก็ตามไปกับเขา เขาพุทโธก็พุทโธไปกับเขา เขาจะปัญญาอบรมสมาธิก็ปัญญาอบรมสมาธิไปกับเขา มันก็ได้วูบๆ วาบๆ เห็นไหม มันไม่ก้าวหน้าไง

แต่ถ้ามันเป็นกีฬาที่เราชื่นชอบ เรากำหนดแล้ว โอ้โฮ มันเข้าใจ มันดูดดื่ม จิตใจมันจะดีขึ้น นี่จริตนิสัย คำว่าจริตนิสัย นี่อนาคตังสญาณ อนาคตังสญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาท่านสอนใคร ท่านบอกใคร ท่านจะดูพื้นฐานก่อน เหมือนกับคนนี้เป็นโรคภัยไข้เจ็บอย่างใด เราจะแก้ไขเขาอย่างใด นี่พื้นฐานมันต้องมีมา

ทีนี้ถ้าเราไม่มีตรงนี้ ไม่มีอนาคตังสญาณของครูบาอาจารย์คอยชี้นำบอกเรา เราก็พยายามทดสอบของเราไง ถ้าทดสอบของเราโดยเบื้องต้น สิ่งที่มันจะผิดพลาดได้น้อยที่สุดก็คือ พุทโธๆๆๆ พุทโธเห็นไหมคำบริกรรม จิตมันไม่มีที่พึ่ง มันก็เกาะคำบริกรรม เกาะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคำบริกรรมไปก่อน

ถ้ามันเกาะไป แล้วมันทำไป แล้วมันเป็นสมประโยชน์ของมันขึ้นมา ถ้ามันเกาะไป มันปฏิบัติไปแล้ว มันมีเหตุใด เราก็ดัดแปลงแก้ไขของเราไป ต้องมีอุบายของเราเพื่อจะเอาต้นทุนของเรา จิตนี้เป็นต้นทุน ถ้าเราไม่มีต้นทุนของจิต เราจะทำสิ่งใดๆ ไม่ได้เลย

ถ้าเรามีต้นทุนของจิต เพราะจิตนี้เป็นปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตเกิดในไข่มานั่งเป็นเรา เวลาปฏิบัติ เราก็ต้องเข้าไปสู่ต้นขั้ว เข้าไปสู่ปฏิสนธิจิต ถ้าปฏิสนธิจิตคือสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิเราออกไว้ใช้วิปัสสนา ใช้ออกปัญญาขึ้นไป นี่คือวิปัสสนา นี่คือภาวนามยปัญญา ผลที่เกิดจากการภาวนา

ถ้าผลประโยชน์เกิดจากการภาวนาขึ้นมา มันตามข้อเท็จจริง เวลาปฏิบัติไปตามข้อเท็จจริงอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าคนชอบง่าย คนชอบยาก คนพูดกันอย่างนั้นนะ เวลาคนชอบยากนะ ดูสิ ที่เขาบอกว่าพวกกรรมฐาน พวกอัตตกิลมถานุโยค พวกลำบากเปล่าครูบาอาจารย์ต้องประพฤติปฏิบัติอย่างนั้นเชียวเหรอ ทุกข์นิยม ต้องปฏิบัติให้ลำบากกัน ต้องอดนอนผ่อนอาหาร ต้อง โอ้โฮ มันทำเกินกว่าเหตุ

ไอ้พวกเรา สบายๆ กินดี อยู่ดี คนเขาก็ปฏิบัติได้ ปฏิบัติได้ด้วยสามัญสำนึก ปฏิบัติได้เพราะความนึกคิดของตัวเองว่าคือการปฏิบัติ มันเป็นเรื่องปัญญาโลกๆ เอาปัญญาโลกมาพิจารณาธรรม มันก็สบายใจ เหมือนเรา เวลาทุกข์เวลาร้อนขึ้นมา แล้วเข้าที่กำบัง มีน้ำเย็น เข้าสปา ว่างั้นเถอะ แหม เข้าไปแล้วเขาบริการ โอ้โฮ สุขสบาย ออกไปกรำแดดก็ทุกข์อีกแล้ว

แต่ของเรา เราก็หาของเราไม่ต้องมีใครบริการ ไม่ต้องเข้าสปา หิวกระหายเราก็หาดื่มหากินของเราเอง เราทำของเราเองโดยตามข้อเท็จจริง เห็นไหมมันจะเป็นข้อเท็จจริงขึ้นมา มันอยู่ที่ข้อเท็จจริง มันไม่ได้อยู่ที่ใครจะชอบหรือไม่ชอบนะ ฉะนั้นบอกว่าเพราะมันชอบมันไม่ชอบ มันถึงทำให้มันทุกข์มันยาก มันชอบหรือมันไม่ชอบมันเป็นความเห็นอันหนึ่ง

แต่ตามความเป็นจริง ถ้าเราปฏิบัติตามความเป็นจริงอันนี้ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้ ครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติแล้วท่านจะมีความเห็นของท่าน ท่านจะรู้ตามความจริงของท่าน ถ้ารู้ตามความจริงของท่าน ผู้ที่ผ่านมาแล้วไง จิตใจที่สูงกว่าพยายามจะดึงจิตใจที่ต่ำกว่าขึ้นมานะ พยายามชักจูงขึ้นมา จิตใจที่ต่ำกว่าอย่างไรมันก็รู้สิ่งใดไปไม่ได้ จิตใจที่สูงกว่าก็ดึงขึ้นมา ดึงขึ้นมา

พอดึงขึ้นมาเหมือนสาวเชือกเลย เปรียบเหมือนคนจมน้ำ คนว่ายน้ำไม่เป็นไปช่วยคนจมน้ำ ตายหมดนะ ถ้าคนว่ายน้ำเป็นนะ จะช่วยคนจมน้ำ เขาจะระวังตัวของเขา เขาจะเอาสิ่งอะไรให้เกาะ แล้วดึงขึ้นมาๆ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราไปประกัน คนนี้เราจะปฏิบัติ เรารับประกันเลยนะ คนนี้ปฏิบัติแล้วจะได้อย่างนั้นอย่างนั้น นี่ไง คนจมน้ำ โดดไปอุ้มเขานะ แล้วเอ็งจะจมน้ำตายไปกับเขาเลย เอ้า เอ็งจะปฏิบัติใช่ไหม ปฏิบัติไป ทำสมาธิเข้ามา ใช้ปัญญาเข้ามา นี่ไง โยนเชือกให้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าเราเป็นคนชี้ทาง เป็นคนบอก ถ้าเขาปฏิบัติจริง ตามความเป็นจริง เขาจะได้ผลของเขาขึ้นมา ถ้าเขาจับเชือกได้แล้วเขาสาวขึ้นมา เขาจะพ้นจากจมน้ำนั้นได้ นี่การสาวตัวเองขึ้นมา

นี่ก็เหมือนกัน เราพยายามทำตัวเองของเราขึ้นมา เราพยายามปฏิบัติขึ้นมา ใครจะรับประกันได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังประกันใครไม่ได้เลยแต่อนาคตังสญาณนี่รู้ รู้ว่าใครอะไรจะเป็นอะไรไปข้างหน้า แต่ยังไม่ถึงเวลาก็จะไม่พูด เพราะถึงเวลาพูดไปแล้วคนมันวิตกกังวลไง มันไม่เป็นความจริงขึ้นมา แต่ถ้าเป็นความจริง เอาตามความเป็นจริงนั้น

ฉะนั้น ในการประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าคนชอบง่ายหรือคนชอบยาก แล้วจะติดตามนั้น คนชอบคือศรัทธา ศรัทธาต้องมีปัญญาคอยกรองด้วย ศรัทธาในสัจจะความจริง ศรัทธาเห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปิดโลกธาตุ ชาวมงคตปรารถนาพุทธภูมิหมดเลย นี่ไง เพราะความเชื่อ เห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปิดโลกธาตุ ทุกองค์จะมีอย่างนี้หมด ทุกองค์จะมีหนหนึ่ง

มาฆบูชาเหมือนกันมีหนหนึ่ง เอหิภิกขุเป็นผู้บวชให้ เป็นผู้ที่เทศนาว่าการอบรมจนเป็นพระอรหันต์ แล้วจำนวนมากน้อยอยู่ที่บารมี นี่ไง พระพุทธเจ้าทุกๆองค์จะเปิดโลกธาตุ เพราะสร้างมาอย่างนั้น เวลาพระพุทธเจ้าหรือพระอัครสาวกหรือผู้ที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ นี่คือความเสมอกัน พระพุทธเจ้าท่านเป็นพระอรหันต์ สาวกสาวกะเป็นพระอรหันต์

แต่พระอรหันต์ที่เป็นสาวกะได้ยินได้ฟัง มีคนชี้นำ มีคนบอก มีคนชักจูง แต่เวลาพระพุทธเจ้าไม่มี พระปัจเจกพระพุทธเจ้าตรัสรู้เองโดยชอบ เหมือนเรามีพ่อแม่เกิดมา เราเกิดจากพ่อแม่นะ มันมีแปลกอยู่ เกิดโดยที่ไม่มีพ่อแม่ เกิดเองนี่ พระพุทธเจ้านี้เกิดเอง ไอ้พวกเราเกิดจากพ่อแม่ เกิดจากสัจธรรม เกิดจากครูบาอาจารย์ นี่ขนาดเกิดมา แต่มันสะอาดๆ เหมือนกัน เกิดเป็นคนเหมือนกัน แต่พระพุทธเจ้าเกิดเอง นี่เกิดเองเปิดโลกธาตุ

พอเปิดโลกธาตุใครเห็นอำนาจวาสนาบารมี ปรารถนาเป็นพุทธภูมิ ปรารถนาว่าอยากเป็นอย่างนั้น อยากมีอำนาจอย่างนั้น ถ้าอยากมีอำนาจอย่างนั้นก็ต้องสร้างบุญกุศล พยายามสร้างไป แล้วถึงที่สุดนะ เวลาปรารถนา ก็ปรารถนากันมหาศาลเลย

ดูอย่างเช่นหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นก็ปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ หลวงปู่มั่นปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า หลวงปู่เสาร์ปรารถนาเป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้า ดูอำนาจวาสนาบารมีของหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์สิ

หลวงปู่เสาร์เป็นอาจารย์ของหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์เป็นคนเอาหลวงปู่มั่นมาบวชเอง แต่เวลาหลวงปู่มั่นท่านเผยแผ่ธรรม เวลาหลวงปู่มั่นท่านรื้อสัตว์ขนสัตว์ เวลาท่านเอาลูกศิษย์ลูกหา ทำไมท่านได้ลูกศิษย์ลูกหาเป็นกอบเป็นกำมากกว่าหลวงปู่เสาร์ล่ะ เพราะอำนาจวาสนาบารมี เป็นลูกศิษย์ แต่ได้สร้างบุญกุศลมาแต่อดีตชาติ ไม่ใช่ชาติปัจจุบัน

คำว่าอดีตชาติเป็นสัจธรรม เป็นพันธุกรรม พันธุกรรมของจิตที่มันสร้างมา มันถึงเป็นเพราะพันธุกรรมสร้างมา ทำไมหลวงปู่เสาร์มีมุมมองมีความเห็นไปอย่างหนึ่ง แต่ทำไมหลวงปู่มั่นมีความเห็นไปอย่างหนึ่ง ทำไมไม่เหมือนกันล่ะ หลวงปู่เสาร์เป็นอาจารย์ของหลวงปู่มั่นด้วย นี่ไง มันเป็นจริต มันเป็นนิสัย มันเป็นอำนาจวาสนาที่สร้างมาแต่ละองค์ แต่ละบุคคล มันไม่เหมือนกัน

ถึงบอกจะให้มีการสอน การสอนทฤษฎีเสมอต้นเสมอปลายอันเดียวเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่มี ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์ คือเป็นวิทยาศาสตร์ คือโลก โลกไม่ใช่ธรรม ถ้าเป็นเรื่องโลกก็คือเรื่องโลกๆ วิทยาศาสตร์ก็คือเรื่องโลก สูตรสำเร็จเป็นเรื่องโลกอย่างนั้นหมด ทุกอย่างต้องไปทำบนโต๊ะหมด

แม้แต่กฎหมาย เห็นไหม กฎหมายต้องบอก บังคับใช้ทางกฎหมาย แต่เวลาคนที่เขามีอาชีพทางกฎหมาย ที่ปรึกษาทางกฎหมาย เขาจะเอาบริษัทนั้นลัดเลาะกฎหมายไปเพื่อให้ผลกำไรของเขาผ่านพ้นออกไป ผู้ที่ไม่ใช่ที่ปรึกษาทางกฎหมาย เขายังให้คำแนะนำแตกต่างหลากหลายเลย

ฉะนั้น การประพฤติปฏิบัติ มันเป็นเรื่องของจริตนิสัยพันธุกรรมไง เราจะบอกว่า ไอ้ที่บอกว่าติดง่าย ติดยาก อะไรน่ะ ไม่ติดหรอก แต่ถ้าตรงตามจริต การปฏิบัติตามความเป็นจริง มันจะได้ผลตามความเป็นจริง เพราะปฏิบัติตามความเป็นจริง ที่ใดสกปรก ทำความสะอาดที่นั่น มันก็จบใช่ไหม จิตมันมีความสกปรก จิตมันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ถ้าเราชำระล้างได้มันก็จบไง

แต่วิธีการชำระล้าง เห็นไหม บางคนเขามีเครื่องซักผ้า บางคนเขาต้องซักผ้าในคลอง บางคนเขาไม่มีเครื่องซักผ้า นี่เหมือนกัน มันอยู่ที่เหตุ อยู่ที่ปัจจัยที่เราจะทำอย่างไร จิตของเราก็เหมือนกัน การปฏิบัติก็เหมือนกัน เรามีเหตุมีปัจจัยอย่างไรที่จะทำให้จิตใจของเรามันสะอาด มันร่มเย็นเป็นสุขขึ้นมา ทำอย่างไร

ถ้าจิตมันสะอาดร่มเย็น ความสะอาดร่มเย็นนั้นมันเป็นผลไง ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก เป็นการเทียบเคียง เป็นการวัดผล มันต้องมีการวัดผลนะ ไอ้นี่ไม่มีการวัดผลสิ่งใดเลย ปฏิบัติเรียบง่าย เรียบง่าย เรียบง่ายก็เอาผ้าพับไว้ในตู้ ผ้าพับไว้ในตู้ไม่มีอะไรเลย แล้วผ้าพับไว้ในตู้ก็คือผ้า แต่หัวใจมันพับไว้ได้ไหมล่ะ หัวใจพับไว้ในตู้นะ อย่าให้มันทุกข์ มีอะไรให้มันคงที่ มีอะไรอย่าให้มันกระทบ มันเป็นไปได้ไหม มันเป็นไปไม่ได้สักอย่างหนึ่ง

หัวใจมันเปลี่ยนแปลง มันคลอนแคลนตลอดเวลา ดั่งช้างสารที่ตกมัน มีสิ่งใดขึ้นมากระทบมันไม่ได้เลย ข้างนอกนั่นสงบเสงี่ยมเต็มที่นะ แต่หัวใจนี่ดิ้นโครมๆๆ เลย มันเป็นธรรมชาติของมันเป็นอย่างนั้น ทุกคนที่เกิดมามีกิเลสหมด คนมีกิเลสตัณหาทะยานอยากจะนิ่มนวลอ่อนหวานขนาดไหน จะหยาบกร้านขนาดไหน มันแสดงของมันออกมาแน่นอน มันแสดงของมันออกมา แต่ออกมาเป็นนามธรรมที่มันไม่เห็น

แต่ถ้ามันออกมาเป็นกิริยามารยาท โอ้โฮ นั่นมันอีกกรณีหนึ่ง อันนี้เป็นสัญชาตญาณ เห็นไหม กิเลสเป็นกิเลสนะ ฉะนั้นการปฏิบัติจะเรียบง่าย เขาบอกติดง่ายไง เพราะการติดง่ายมันถึงยาก แล้วพูดตรงๆ ถ้าต้องให้ลำบากมันก็เป็นทุกข์นิยม ไม่ใช่มันอยู่ที่การปฏิบัติตรงกับจริตของเรา

ฉะนั้น นั่งสมาธิ หรือเดินจงกรม ทำอะไร ทำให้จริงให้จัง ไปพิสูจน์ของเรา จิตมันจะสงบหรือไม่สงบขึ้นมา เราก็บูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยบุญกิริยาวัตถุ พยายามปฏิบัติของเรา คำว่าการปฏิบัติเหมือนกีฬา ถ้ากีฬาในเวลาแข่งขันมันมีโอกาสแก้ตัวได้

เวลาในชีวิตหนึ่งของเรา เรายังไม่สิ้นลมนี่เป็นโอกาสของเรา ถ้าหมดเวลาลงมันใจขาดไปแล้วนะ เราได้ภพชาติใหม่ เป็นคนใหม่ ไปสู้กันข้างหน้าโน่น ข้างหน้าโน่นจะเป็นอย่างไรยังไม่รู้ มันจะไปเจอสังคมอย่างใด จะไปเจอภพชาติอย่างใด แต่ในปัจจุบัน ต้นทุนตรงนี้ รู้ๆ เห็นๆ อยู่นี่ ในเวลาที่การแข่งขันในชีวิตนี้ยังมีอยู่ กีฬานี่เขายังไม่หมดเวลาการแข่งขัน เรามีโอกาสนะ วันใดถ้าโอกาสลมหายใจสิ้นไป วันนั้นน่ะหมดเวลาการแข่งขัน

ฉะนั้น เรียบง่ายหรือทุกข์ยากขนาดไหน อันนั้นเป็นความเห็นความคิด แต่ถ้าปฏิบัติจริง ถ้าปฏิบัติของเราตามความเป็นจริง มันจะเป็นประโยชน์ของเรา ต้นทุนอันนี้มันเกิดจากพันธุกรรมของเรา มันเกิดจากจิตเรานี่แหละ มันเกิดมาชาติใดภพใด มันทำตัวของมันมาอย่างใด มันก็ตกผลึกมาเป็นเราในปัจจุบันนี้ มันแก้ไขตามนั้น จิตของใคร มีสิ่งใดหมักหมมมาในใจมากน้อยแค่ไหน ทุกคนต้องแก้ใจของตนเองในภาคปฏิบัติ แล้วเราจะประสบความสำเร็จของเรา เอวัง