เทศน์พระ

ทิฐิมีโทษ

๑๓ ก.พ. ๒๕๕๓

 

ทิฐิมีโทษ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เรื่องของธรรมะ เวลาธรรมะเขาบอกว่ามันคือสภาวธรรม สมมุติคือไม่มีสภาวะรองรับ สิ่งที่มีสภาวะสิ่งนั้นคือความจริง แล้วสภาวะต่างคนต่างจริงนั้น มันจะไม่ให้โทษกับใคร นี่เวลาเขาพูดของเขา

แต่ความจริงของเราล่ะ สิ่งต่างๆ เกิดขึ้น สภาวะ ความรับรู้ไง รู้สุขไง ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ความจับต้องได้ไง ความคิดก็มี เวทนาก็มี ข้อมูลก็มี ปรุงแต่งก็มี วิญญาณก็มี แต่มีเกิดดับ สภาวะนี่มันมีของมัน แต่มันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากที่เขาไม่รู้ไม่เห็นไง คำว่ากิเลสตัณหาความทะยานอยากเขาบอกว่า เป็นอัตตาแล้วเป็นอนัตตา สิ่งนี้มันเป็นอัตตาเป็นอนัตตามันเกิดดับ สิ่งทุกอย่างมันเกิดดับ

การเกิดดับถ้าคิดแบบวิทยาศาสตร์แบบนี้ มันก็เหมือนพระอาทิตย์ที่มันเกิดดับ เราถึงบอกไง เสาไฟฟ้ามันก็เกิดดับ พอมันเกิดดับขึ้นมา เขาบอกว่า “สิ่งนั้นมันเป็นการพูดโดยเฉไฉ” แต่พูดด้วยเอาเหตุเอาผลไง ด้วยความรู้สึกความนึกคิดไง ความรู้สึก ความเป็นจริงมันเป็นสภาวะที่มันเป็นนามธรรมมันก็เกิดดับใช่ไหม แต่เสาไฟฟ้ามันก็เกิดดับโดยที่เห็นชัดๆ น่ะ มันยิ่งพิสูจน์ได้ มันยิ่งเป็นสภาวะที่มันจับต้องได้ด้วยรูปของตา ด้วยการรับรู้ของแสง การรับรู้มันยิ่งชัดเจนขนาดนั้น แต่เขาก็บอกว่า “นั้นเป็นการเฉไฉ” มันไม่เป็นความเฉไฉเลย แต่มันเป็นการบอกสัจจะความจริง

สิ่งนั้นมันคืออะไรล่ะ สิ่งที่ความเห็นของแต่ละคนมันเกิดขึ้นมาน่ะมันคือคือทิฐิ ! ทิฐิเสมอกัน ทิฐิไม่เสมอกัน ทิฐิไม่เสมอกันทิฐิอะไร ทิฐิคือความเห็นไง สิ่งที่ทิฐิความเห็นน่ะ สัมมาทิฐิ มิจฉาทิฐิ ทิฐิความเห็นอันที่มันกระทบกระเทือนกันอยู่ในหมู่คณะเรา ที่มันกระทบกระเทือนกันด้วยความทิฐินี่แหละ

ถ้าทิฐิเห็นไหม แม้แต่เราทำข้อวัตร เราทำการงาน ทำก่อนไป ทำช้าไป ทำหลังไป มันก็คืออะไร ก็คือทิฐิไง ทิฐิของคนว่าควรทำอย่างไร แล้วยึดมั่นทิฐิของตัว ถ้ายึดมั่นทิฐิของตัว เวลามีปัญหาขึ้นมาของเราน่ะ ของหมู่คณะเราจะมีการประชุมกัน มีการเคลียร์กัน มีการประชุมกันว่า เหตุและผลสิ่งใดสมควรอย่างใด เห็นไหม เอาเสียงส่วนใหญ่นะ

ดูอย่างทางโลกเขามีประชาธิปไตย แต่ในทางธรรมของเราน่ะธรรมาธิปไตย ธรรมาธิปไตยคือเห็นเหมือนกันหมดไง แต่เห็นเหมือนกันหมดต้องแบบว่าฉันทามติ จะไม่มีการคัดง้าง ถ้ามีการคัดง้างการประชุมนั้นสิ้นสุดลงไม่ได้ การสิ้นสุดของการประชุมของเราคือสาธุ เช่น การทำสังฆกรรม เวลาทำสังฆกรรมของเรา เราทำพร้อมกัน มันเป็นคารวะ ๖ การประชุมๆ พร้อมกัน เวลาเลิกๆ ประชุมพร้อมกัน มีความเห็นเสมอกัน เวลามีสิ่งใดเราควรคุยกัน เราควรเคลียร์ต่อกัน

การเคลียร์ต่อกันเห็นไหม ในปัจจุบันนี้ทางโลกเขาบอกเลย การแก้ไขปัญหาคือการแก้ไขด้วยการเจรจานี้ดีที่สุด การแก้ไขด้วยกำลัง การแก้ไขด้วยสงคราม การแก้ด้วยสิ่งต่างๆ มันจะไม่มีที่สิ้นสุดหรอก มันจะมีสงครามต่อไปเรื่อยๆ

แต่การเจรจา การเจรจามันก็ไม่ได้ผล ไม่ได้ดั่งใจ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่มันก็เป็นการเจรจา การยอมรับใช่ไหม เพราะการเจรจาด้วยเหตุด้วยผล อีกคนไม่เห็นด้วยก็จริงอยู่ แต่เราจำนนด้วยเหตุด้วยผล สิ่งที่เราไม่พอใจ สิ่งที่เราคั่งค้างอยู่ในใจมันก็คือทิฐิมานะของเราเอง

ทิฐิมานะของเราเอง ความเป็นไปของโลก ตามข้อเท็จจริงของโลก ข้อเท็จจริงของโลกเขาเป็นอย่างนั้น ถ้าข้อเท็จริงของโลกน่ะ ดูซิ สภาคกรรม เราเกิดมาบนสภาคกรรม สภาวะที่เป็นกรรมร่วมกันมาอย่างนี้ ถ้าเกิดมาร่วมสภาคกรรมร่วมกันอย่างนี้เราจะปฏิเสธสภาวะกรรมได้อย่างไร

ดูซิ ดูฤดูกาลที่มันเปลี่ยนไปน่ะ ฤดูร้อน ฤดูหนาว ฤดูฝน ฤดูหนาวน่ะแล้วก็ไปฤดูร้อน ฤดูฝน มันเปลี่ยนของมันไปอย่างนี้ ถ้ามันเปลี่ยนไปอย่างนี้ เราไม่พอใจขนาดไหนมันก็เปลี่ยนตามฤดูกาลน่ะ ฤดูกาลมันมีชีวิตไหม ฤดูกาลมันมีความอิจฉามาดร้าย อิจฉาตาร้อนที่จะทำร้ายเราไหม มันเป็นฤดูกาลของเขา แล้วฤดูกาลของเขา แล้วในฤดูกาลนั้นมันยังเกิดภัยแล้ง เกิดอะไรต่างๆ ในฤดูกาลอย่างนั้นอีก ธรรมชาติของมันๆ เป็นสภาวะแบบนั้น

แล้วธรรมชาติมันเกิดจากสิ่งใดล่ะ ธรรมชาติก็เกิดจากธรรมชาตินี่แหละ อ้าว ! ก็ธรรมชาติที่มันแปรสภาวะก็เกิดจากสภาวะธรรมชาติกาลเวลาที่มันเปลี่ยนแปลงมา มันเกิดจากอะไรล่ะ ก็เกิดจากสภาวะธรรมชาตินั้นแหละ ในธรรมชาติใครเป็นคนอาศัยมันล่ะ ใครเป็นคนเกื้อกูลกับมันล่ะ ก็มนุษย์ไงล่ะ ก็สัตว์ก็สิ่งแวดล้อมต่างๆ มันก็อาศัยเกื้อกูลกัน ไม่มีมนุษย์นะ เจอโรคทำร้ายมนุษย์ มนุษย์มันตายไปหมด ธรรมชาติมันก็ต้องปรับตัวมันเอง ธรรมชาติก็เกิดจากธรรมชาตินั้นแหละ สิ่งที่ดีมันก็ส่งต่อสิ่งที่ดี สิ่งที่ไม่ดีมันก็ส่งต่อสิ่งที่ไม่ดีตลอดไป

ที่นี้เราเกิดมาในสภาวะกรรมเหมือนกัน สิ่งที่เป็นไป ถ้าสิ่งที่เป็นไปด้วยเหตุด้วยผล มันด้วยเวรด้วยกรรมนะ คนมีบุญมีกรรมขึ้นมา คนมีบุญดีขึ้นมา ดูผู้มีศีลมีธรรมอยู่ที่ไหนฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ก็ธรรมชาตินั้นน่ะ มันก็ตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารมันก็อุดมสมบูรณ์ คนก็อยู่กันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ภิกษุ สมณะ ชี พราหมณ์ ก็มีโอกาสได้ภาวนา สมณะ ชี พราหมณ์ ได้ภาวนา สมณะ ชี พราหมณ์ได้ทำอะไรบ้างที่เป็นประโยชน์บ้างกับสมณะ ชี พราหมณ์.. สมณะ ชี พราหมณ์ปัจจุบันเราอาศัยเขาอยู่นะ

ดูซิ สังคมตระกูลใด ครอบครัวใดที่มีความผูกพัน มีความรัก มีความเชิดชูกันขนาดไหน ตระกูลนั้นก็มีพลัดพรากเป็นธรรมดา ดูซิ ทางพระเขาให้พร ให้ปู่ย่าตายายตายก่อน แล้วพ่อแม่ตายไป แล้วให้ลูกหลานตายไป ผู้ที่เป็นเจ้าภาพเขาไม่พอใจมากเลย ให้พรอย่างนี้ได้อย่างไร

อ้าว ไม่จริงหรือ ปู่ย่าตายายตายไปก่อน แล้วก็ให้พ่อแม่ตายไป ลูกหลานก็ตามกันไป นี่มันเป็นธรรมชาติ มันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ถ้ามันพลิกกลับล่ะ ลูกหลานตายก่อนนะ พ่อตายก่อน ปู่ยังนั่งเฝ้าอยู่ ปู่ก็ทำศพ ปู่จะมีความเสียใจช้ำใจไหม เห็นไหม

ข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างนั้น แต่เวลาพอพูดขึ้นมาเราไม่กล้าพูดกัน โลกเขาไม่กล้าพูดกันตามความเป็นจริงกัน เขาต้องพูดโดยสังคมนิยม เขาไม่พูดถึงสัจจะความจริง

ถ้าพูดถึงสัจจะความจริง แล้วเราเกิดมา เรามาประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา เราจะเอาความจริงของเราขึ้นมา เราจะสังคมนิยม สังคมนิยมอย่างไร ดูสิ ในปัจจุบันนี้นิยมในการประพฤติปฏิบัติ ก็สังคมนิยมไง สังคมก็บัญญัติศัพท์กันขึ้นมา การประพฤติปฏิบัติก็บัญญัติศัพท์กันขึ้นมา สิ่งใดบัญญัติขึ้นมาตามที่เขาสังคมเขานิยมกัน เพื่อความพอใจกัน เพื่ออนุโลมตามความเห็นของกิเลสกันไป

แต่ถ้าเราศึกษาของเราล่ะ เราทำของเราล่ะ เราปฏิบัติของเราเห็นไหม นี่ไง เราถึงไม่มีทิฐิมานะ ในตามกิเลสของเรา ไม่มีทิฐิมานะตามที่สังคมเขาเชิดชูกัน แต่เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราศึกษาขึ้นมาโดยบัญญัติ โดยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยข้อวัตร ข้อธรรม โดยประพฤติปฏิบัติธรรมขึ้นมา แล้วประพฤติปฏิบัติธรรมขึ้นมา เราตั้งสติปัญญาของเรา แล้วถ้าเราปฏิบัติของเราไป นี่ความเป็นจริงที่มันเกิดขึ้นมา

ถ้ามันมีสติสัมปชัญญะ เราเดินไป เราผิดพลาดในสิ่งใด พอมีสติก็เตือนเราขึ้นมา ผิดแล้วไหม เราผิดมาเห็นไหม เราทำของเรา สิ่งใดที่เราทำมา เราผิดพลาดมา เราไม่มีสติสัมปชัญญะพอ เราทำอะไรผิดพลาดมานี่มันเตือนตัวเราเองเห็นไหม มันเตือนเราในปัจจุบันนั้น มันเตือนเราในขณะนั้น เพราะมันเตือนเราในขณะ เรามีอะไรล่ะ เราก็กำหนดความสลดสังเวช

ความสลดสังเวช ถ้าเราเตือนเราเอง เราจะไม่มีใครมาเตือนเรา พอไม่มีใครมามีความเห็นในเรื่องการกระทำของเรา นี่ไง สิ่งนี้เรายอมรับ แต่ถ้ามีคนมาเตือนเรา มีคนมาบอกเรา ทิฐิมันเกิดแล้ว มันจะเป็นจริงตามนั้นไหม มันจะมีความเห็นไหม

ฉะนั้นการปฏิบัติของเรา การปฏิบัติหมายถึงว่า มันเป็นการปฏิบัติในการควบคุมจิตใจของเรา ถ้าเราควบคุมใจของเรา เรามีโอกาสได้บริหารใจของเรา แต่นี้ไม่ได้ควบคุมบริหารใจของเรา เราให้มันควบคุมเราต่างหากล่ะ เราให้ตัณหาความทะยานอยากมันล้นฝั่ง มันจินตนาการ มันมีทิฐิมานะ มันมีความเห็นของมันไป แล้วเราจะเหนื่อยมาก เราจะตามมันไปไม่มีวันที่สิ้นสุดนะ

โลกจะเจริญขนาดไหน โลกจะเสื่อมทรามไปขนาดไหน เราก็คือเรานี่แหละ ความเห็นของเรา ความทุกข์ความสุขของเรามันก็คือเรานั่นแหละ พอมันคือเรานั่นแหละเราต้องดูใจเรา ถ้าดูใจเราเห็นไหม นี่คือการประพฤติปฏิบัติ

การประพฤติปฏิบัติคืออะไร คือศีล สมาธิ ปัญญา ศีลมันอยู่ที่ไหน สมาธิมันอยู่ที่ไหน สติมันอยู่ที่ไหน มันอยู่ในตำราที่ไหนล่ะ มันอยู่กับครูบาอาจารย์ใช่ไหม ที่เราเทศน์อยู่นี่มันอยู่กับเราเหรอ มันอยู่ของเรามันก็เป็นสมบัติของเราน่ะ ถ้าเรามีสติขึ้นมา เราก็ไม่ไปทุกข์ร้อนกับคนอื่นล่ะ มันเป็นสมบัติของผู้เทศน์น่ะ

แล้วสมบัติของผู้ฟังล่ะ สมบัติของเราอยู่ที่ไหนล่ะ ถ้าสมบัติของเรา ดูซิ จิตใจเรามันมีมารยาสาไถยขนาดไหน มันมีความพอใจไหม มันมีความขัดข้องหมองใจขนาดไหน ถ้ามีความขัดข้องหมองใจนั้นมันคืออะไร สิ่งที่มันเกิดขึ้นมาจากใจ ความขัดข้องหมองใจ ความไม่พอใจ ที่จิตใจเรามันขัดแย้งอยู่นี่มันคืออะไร ถ้ามันคืออะไร นี่ ! พระปฏิบัติเราอยู่ที่นี่ สมบัติของพระคือศีลธรรม สมบัติของพระคือการสติปัญญาที่เราจะใคร่ครวญตัวของเราได้ สมบัติของพระไง สมบัติที่เขาเชิดชูกันนะ

ดูซิ ดูพระบ้านซิ เขาเคยมาเยี่ยมเรานะ พึ่งบวชใหม่ อู้.. เขามาถึงนะ เขาบอกว่า “อู้...หลวงพ่อบวชมากี่พรรษาแล้วน่ะ อู้...หลวงพ่อไม่มีอะไรเลยน่ะ อู้..ผมพึ่งบวชนะ เครื่องยนต์กลไกครบเลยนะในกุฏิของผมน่ะ มีเครื่องเสียง มีทุกอย่างพร้อมเลย อู้...หลวงพ่อบวชมาขนาดไหนนะ”

เขาสมเพชเรานะ เขาสมเพชเรามาก ทั้งๆ ที่เขาพึ่งบวชนะ เขาเห็นเราบวชมาขนาดนี้นะ เขาเห็นเราไม่มีอะไรเลย เขามาเยี่ยม.. เขามาเยี่ยม เขาบอก อู้ฮู...ไม่มีอะไรเลยน่ะ อู้ฮู...ดูแล้วมันแบบว่ามันด้อยค่ามากน่ะ

แต่ในความเห็นของเรา เรากลับสังเวชคนพูดนะ คนพูดเขาพูดด้วยความภูมิใจนะว่าเขาเพิ่งบวชพรรษาเดียว ในห้องในกุฏิของเขามันจะมีเครื่องเสียง มีเครื่องอำนวยความสะดวกครบชุดเลย ! อู้ฮู...บวชมาตั้งนานไม่มีอะไรเลยน่ะ เขาสังเวชเรามากเลย เขาไปติดสมบัติทางโลก

สมบัติทางโลกนะ เราเดินผ่านไปร้านขายเครื่องเสียงสิ มันมีครบชุดเลย มันมีทุกยี่ห้อเลย มันมีความสุขไหม เจ้าของร้านเขาทุกข์เกือบตายนะ เพราะสินค้าเราเอาของเขามา สินค้ามันจะขายได้มากน้อยแค่ไหน เครื่องเสียงมันไม่ให้สุขไม่ให้ทุกข์ใครเลย เจ้าของร้านขายเขาอยากจะระบายสินค้าของเขาออกไปมหาศาล

แล้วนี่ของเรามี ขนาดร้านขายเครื่องเสียงนะ มันยังไม่มีความสุขความทุกข์เลย แต่ของเขามีเข้ามา เขามีความภูมิใจของเขา นี่คือทิฐิของ ความเห็นผิดของเขา แต่สมบัติของเรา ถ้าเรามีสติเราระลึกถึงการกระทำของเรา เราก็สลดใจนะ ธรรมสังเวช มันเป็นสภาวธรรมแล้วมันสลดสังเวชน่ะ คอตกนะ

ดูซิ ดูหมาสิ หมาที่มันมีนิสัยดีนะ มันทำความผิดนะ มันหนีไปเที่ยว เวลามันเดินกลับมาหาเราหางมันตกเลยนะ มันกลัวโดนทำโทษ หางมันตก มันรู้จักว่ามันทำผิด หมามันยังรู้ถูกรู้ผิดนะ เราเป็นคน แล้วเราก็เป็นพระด้วย ถ้าเราเป็นคน แล้วเราก็เป็นพระด้วย ความถูกความผิด เราควรจะตั้งสติ เราควรจะระลึกรู้เตือนใจตัวเอง ทิฐิความเห็นนั้นน่ะเราต้องดัดแปลง ไม่ใช่ทิฐิความเห็นนะจะให้มันเข้มแข็ง จะเอาเหตุเอาผลทางวิทยาศาสตร์หนุนมันให้มันเข้มแข็งว่าเราคิดถูก เราทำถูกต้อง เพราะมันเป็นทางความถูก

เวลาทางโลกน่ะมันเป็นประโยชน์กับเขา เวลาเป็นทางธรรมเราต้องกดตัวเราลงให้ได้ กดทิฐิมานะเราลงให้ได้ ถ้าเรากดทิฐิมานะด้วยสติด้วยปัญญาของเรา ถ้าเราไม่มีปัญญา ไม่มีสติปัญญา จับทิฐิมานะ.. จับทิฐิมานะ.. จับความคิดเรานะ จับความคิดความเห็นที่มันคิดอยู่เอามาพิจารณาดู ดูว่าความคิดความเห็นของเรามันถูกต้องไหม

แล้วความคิดความเห็นนะ เวลาเราปฏิบัติไปแล้วความคิดความเห็นน่ะเราละเอียดลงเรื่อยๆ ปัญญาที่เกิดจากเรามันจะละเอียดลงเรื่อยๆ ปัญญาที่เคยเกิดกับเราในปัจจุบันนี้มันเป็นอย่างหนึ่ง ปัญญาในอนาคตนะ ถ้าสติปัญญาเราดีขึ้น เราจะเห็นความผิดพลาดเรามากขึ้นไปเรื่อยๆ เราจะสลดสังเวชมาก

หลวงตาท่านพูดประจำ “มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด” มรรคหยาบๆ เราว่าเราทำความดี ความถูกต้องมันเป็นมรรค แต่ถ้ามันยังยึดถือ นี่ทิฐิ ยึดถือความเห็นอันนี้ด้วยความยึดมั่นถือมั่น มันจะไม่คลายตัว ไม่ปล่อยความคิดความเห็นอย่างนี้ แล้วความคิดความเห็นที่จะเป็นประโยชน์กับเขาข้างหน้ามันจะเกิดมาไม่ได้เพราะอะไร เพราะจิตมันยึดมั่นถือมั่นกับขันธ์ ๕ มันยึดมั่นถือมั่นกับความคิดอันนี้ ถ้าจิตมันยึดมั่นถือมั่นกับความคิดอย่างนี้ มันไม่ปล่อยความคิดอย่างนี้ จิตนี้มันจะมีโอกาส มีปัญญาที่เกิดขึ้นละเอียดกว่านี้ได้อย่างใด

จิตถ้ามันปล่อยความยึดความเห็นอย่างนี้ มันปล่อยของมันไป แล้วเวลาปัญญามันเกิดขึ้นมา ความคิดความเห็นมันจะละเอียดไปเรื่อยๆ หลวงตาท่านเน้นย้ำประจำ “มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด ! มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด !” มันฆ่าด้วยไม่ให้มรรคมันเกิดเลยล่ะ มันฆ่าเพราะอะไร เพราะมันยึดมั่นถือมั่นทิฐิมานะของเรา มันยึดมั่นถือมั่นความเห็นของเรา ว่าความเห็นของเรานี้มันถูกต้องเห็นไหม นี่สมบัติของพระ

สมบัติของพระถ้ามันปล่อยความยึดมั่นถือมั่นอันนี้ ยึดมั่นถือมั่นนี้ปล่อยวางมัน พอปล่อยวางมัน สติมันเกิดขึ้นมาเห็นไหม มีสติขึ้นมา มันปล่อยมันวางตัวมันเองดูซิ เวลาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ทำไมในหลวงท่านบอกให้ทำแก้มลิงน่ะ แก้มลิงน่ะเขาให้เอาน้ำไปพักไว้ พอเอาน้ำนั้นไปพักไว้น้ำนั้นน่ะเอากลับมาใช้ประโยชน์ได้

ความคิดความเห็นเราก็เหมือนกัน ในเมื่อน้ำมันท่วมน่ะ ความคิดความเห็นน่ะทิฐิมันท่วมใจน่ะ แล้วถ้ามันมีแก้มลิงน่ะ มันเอาความคิดความเห็นนั้นน่ะด้วยสติปัญญาน่ะ ปล่อยวางมัน ขับเคลื่อนมันให้ออกไปพักไว้ที่แก้มลิง ความคิดความเห็นน่ะมันไม่ไปไหนหรอก ความเห็นของเรา ความคิดของเรา สัญญาของเรา สังขารของเรา มันก็ปรุงแต่งซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากข้อมูลเดิมเรานี้แหละ จากข้อมูลเดิมๆ เพราะอะไร เพราะข้อมูลของเราคือสัญญาที่ข้อมูลของเรา จริตนิสัยเป็นอย่างไร มันก็เป็นอย่างนั้นน่ะ

แต่ถ้าให้ความคิดความเห็นน่ะออกไปอยู่ที่แก้มลิง ไปวางไว้นั้นก่อน แล้วพอไปวางน้ำมันก็ไม่ท่วม พอน้ำไม่ท่วม ธุรกิจเขตเศรษฐกิจเขาก็ได้ทำมาค้าขาย มันก็จะมีระบบเศรษฐกิจ มันก็มีกำไรขาดทุนขึ้นไป มันก็มีประโยชน์ขึ้นมา

ไอ้ทิฐิความเห็นน่ะไปกองอยู่ที่แก้มลิงโน้น แล้วนี่ถ้าเอาทิฐิความเห็นจากแก้มลิงน่ะเอาเข้ามาในกรุงเทพฯ น้ำมันก็ท่วม เศรษฐกิจก็ทำไม่ได้ ธุรกิจก็ทำไม่ได้ ทุกอย่างก็ต้องยกเลิกหมด มันก็กลายเป็นดอกเบี้ย กลายเป็นหนี้สิน กลายเป็นอะไร มันก็ทำให้เราจมอยู่กับความคิด ทิฐิมานะอันนั้น

แต่ถ้าในหลวงบอกให้ทำแก้มลิง นี่เราก็ต้องพยายามตั้งสติปัญญา ทำความเห็นของใจ ทิฐิมานะไม่ต้องไปห่วงมันหรอกว่ามันจะไม่อยู่กับเราน่ะ เอาไปไว้ที่แก้มลิงก่อน ไอ้ที่ว่าปล่อยมันไป สร้างสติปัญญาไป พอจิตสงบที่ว่ามันก็หายไปเองน่ะ ทิฐิมานะก็เอาไปไว้ที่แก้มลิงก่อน แล้วพอเรามีระบบเศรษฐกิจ มันมีการทำธุรกิจ มันมีผลกำไรขาดทุนขึ้นมา มันเห็นผลประโยชน์น่ะ ประเดี๋ยวน้ำมา น้ำไม่เอา น้ำก็เป็นเกษตรกรรม ธุรกิจเศรษฐกิจเราไม่ต้องการน้ำ ที่นี้อันนั้นน่ะ พอน้ำมันเริ่มลด สิ่งต่างๆ ไป ถ้าเราจะชักน้ำจากแก้มลิงมาใช้ประโยชน์มันยังได้อีกน่ะ

เราไม่ต้องการหรอก แต่เราต้องการน้ำประปา เราต้องการน้ำอุปโภคบริโภค เราต้องการของเรา เราไม่ต้องการทำเกษตรกรรม แต่เราก็ต้องใช้มันน่ะ ถ้าเราใช้มันเห็นไหม มันจะย้อนกลับมานะ มันจะใช้ประโยชน์ของเราได้ มันมีการกระทำ

นี่ทิฐิ ถ้าทิฐิเราตายตัว อารมณ์ไง หลวงตาท่านบอกว่า “อย่าเสียดายอารมณ์” ความคิดความเห็นของเราน่ะเราเสียดายอารมณ์นะ โอ้.. เรามีปัญญานะ เราคิดได้ อู้..สิ่งนี้มันเป็นปัญญาของเรานะ อู้...อย่างนี้ต้องจดลิขสิทธิ์เลยนะ อู้..ให้คนอื่นก๊อบปี้น่ะ มันเป็นปัญญาของเรา เรากอดมันนะ เราอยู่กับทิฐิ พอเรายึดมั่นมันกับอารมณ์อันนี้ อารมณ์อื่นมันเกิดขึ้นไม่ได้ อย่าเสียดายอารมณ์ ทิ้งมันไป ทิ้งมันไป มันทิ้งไม่ได้.. มันทิ้งไม่ได้เพราะมันเป็นวิทยาศาสตร์ไง เพราะมันเป็นความจริง

มันเกิดมันถูกต้องมีเหตุผลรองรับหมด จะทิ้งมันได้อย่างไร ทิ้งไม่ได้หรอก ของมันจริงๆ ของมันเป็นความจริงทั้งนั้นน่ะ ทิ้งไม่ได้ ทิ้งไม่ได้ เอ้า...วิทยาศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์นะ ปริยัติเป็นปริยัติ ถ้าเป็นปฏิบัติน่ะ พุทโธๆ น่ะ ตั้งสติ เอาปัญญาอบรมสมาธิ

ความคิดนี้มันถูก มันถูกเพราะเหตุใด ทำไมมันถึงถูก แล้วความถูกความคิดนี้กินได้ไหม ความคิดน่ะเป็นประโยชน์กับเรากินอร่อยไหม กินลงท้องไปแล้วท้องไม่ขัด อาการหิวโหยขาดไปจริงไหม.. ไม่มีหรอก ความคิดคือความคิดเป็นนามธรรม ท้องต้องการอาหาร เช้าออกบิณฑบาตเถอะแล้วได้อาหาร ได้ข้าวปลาอาหารมา เรากลับมาน่ะเราจัดบาตรเสร็จแล้วเราได้ฉัน พอฉันขึ้นมาแล้วในท้องมันจะมีอาหาร

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เป็นความคิดอยู่นี่มันกินได้ไหม มันเป็นประโยชน์กับเราจริงหรือเปล่า แต่ถ้ามันเอาเหตุเอาผลมันก็พอจะมีเหตุมีผลเพราะอะไร เพราะมันเป็นจริตนิสัย มันเป็นสิ่งที่ชอบ มันเป็นสิ่งที่คิดกี่พันรอบ กี่หมื่นรอบ เหตุผลก็ลงตัวตลอด เพราะอะไร เพราะมันเป็นสายทางของตัณหาความทะยานอยาก

แต่ถ้าวางมันไว้ เหตุผลอันละเอียดมันจะเกิดขึ้นมา ถ้าเหตุผลอันละเอียดขึ้นมา ทิฐิอันนั้นมันจะวางได้ เพราะอะไร เพราะมรรคละเอียดมันเกิดขึ้น เพราะเหตุเพราะผลที่มันละเอียดกว่า เพราะเหตุเพราะผลที่มันมีคุณประโยชน์กว่า เพราะเหตุเพราะผล เพราะเราต้องการสิ่งที่เป็นนามธรรม ธรรมะเห็นไหม สภาวธรรมที่เป็นนามธรรม สภาวธรรมที่มันเกิด ความสุขความทุกข์ ความพอใจ ปัญญาที่มันเกิด ปัญญาที่มันแยบยล ปัญญาหยาบๆ ปัญญายังพอเอาชีวิตรอด

ปัญญาของสัตว์ ดูซิ เวลาเสือมันอยู่ในป่าน่ะมันต้องหาอาหาร มันต้องใช้ไหวพริบใช้ปฏิภาณของมันเพื่ออาหาร เพื่อท้องของมัน เพื่อดำรงชีพของมัน สัตว์ ! สัตว์ที่เขาหาอยู่เขาหากินตามธรรมชาติ โดยกินพืช เขาหาอาหารใส่ท้องของเขาด้วยเขากินพืชผัก เขากินใบหญ้า เขาก็ต้องระวังชีวิตของเขา มันยังมีปฏิภาณ มันยังมีไหวพริบ แม้แต่สัตว์การอิ่มท้อง เขาอิ่มท้องมื้อหนึ่งเขายังต้องรักษาชีวิตของเขา เพื่อให้ชีวิตของเขาต้องอยู่รอดไปวันหนึ่งๆ

สัตว์ที่มันต้องกินเนื้อเป็นอาหาร มันก็ต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบของมันเพื่อจับสัตว์นี้เป็นอาหาร นี่ไง สัตว์มันยังใช้ปัญญาของมัน แล้วเราเป็นมนุษย์ เราเป็นคน แล้วบวชเป็นพระด้วย พระเป็นผู้ที่ประเสริฐ ดูซิ เวลาบวชแล้วสึกไปเป็นบัณฑิต เป็นบัณฑิตเพราะอะไร เพราะได้เข้ามาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ตั้งแต่ปฏิสนธิจิต จิตมันปฏิสนธิวิญญาณเกิดในไข่ เกิดในอะไร ในตำรา ในพระไตรปิฎกมันมีหมดน่ะ เราศึกษาแล้วเราเข้าใจถึงชีวิตไง เข้าใจถึงทฤษฎี เข้าใจว่าชีวิตนี้มาจากไหน เกิดมาทำไม เกิดมาแล้วดำรงชีวิตอย่างไร ทำบุญกุศลแล้วเกิดมาเป็นเทวดา อินทร์ พรหมก็ศึกษากันไป พอศึกษากันไป พอถึงเวลาสึกออกไปเป็นบัณฑิต มนุษย์เวลามาบวชเป็นพระ เวลาสึกออกไปเขาเรียกว่าบัณฑิต

แล้วเป็นพระเราล่ะ พระเราบวชอยู่นี่ เราประพฤติปฏิบัติอยู่นี่ เราใช้ปัญญาของเรา เราไม่ได้เป็นบัณฑิตน่ะ เราจะบรรลุธรรม เราจะเอาทิฐิของเรา เอามานะของเรา เอาความเห็นของเราไว้อยู่ใต้อำนาจสติปัญญาของเรา สติปัญญาของเราต้องมีปัญญา ต้องใคร่ครวญแยกแยะสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์และสิ่งที่ไม่เป็นคุณประโยชน์

สิ่งที่เป็นคุณประโยชน์กับโลก อาหาร.. อาหาร ดูซิ เวลาเรากิน มีไก่.. ไก่ทอด ไก่ย่าง ไก่ต้ม ไก่ต่างๆ เพราะตรุษจีนน่ะ เขาไม่กินหรอก.. กระดูกเขาไม่กิน เขากินแต่เนื้อ กระดูกเขาโยนทิ้ง เอาไว้ให้สัตว์

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าคุณประโยชน์อะไรเป็นคุณประโยชน์ เป็นคุณประโยชน์ทั้งหมดเลยเหรอ แล้วเราจะกินไก่ทั้งขนทั้งเปลือกทั้งไม่ต้องเชือดมันเลยหรอ กินสดๆ เลยหรอ เราไม่ใช่ผีนะ ผีดิบมันกินเลือดสดๆ พระนี่ห้ามกินเนื้อสด ห้ามทั้งหมดน่ะ แม้แต่เนื้อ ๑๐ อย่างก็ห้าม พระพุทธเจ้าห้ามไว้หมดเลยเพราะมันจะเป็นโทษ ทั้งๆ ที่กินแล้วมันอิ่มท้องนะ แต่มันเป็นโทษกับการประพฤติปฏิบัติ

พระพุทธเจ้ามองเอาไว้หมดเลย พระพุทธเจ้าฉลาดมาก ฉลาดด้วยพุทธวิสัยน่ะ สุดยอดจริงๆ พอสุดยอดก็วางธรรมและวินัย สิ่งใดที่ห้าม มันจะเกิดกระทบกระเทือนในการประพฤติปฏิบัติ มันกระทบกระเทือนนะ ดูซิ อย่างเนื้อสุนัข ห้ามกินเนื้อสุนัข เพราะเนื้อสุนัขถ้ากินเข้ามาแล้วนี่กลิ่นของเนื้อสุนัขมันจะเข้ามาอยู่ในสายเลือดของเรา จะไปบิณฑบาต จะไปธุดงค์ที่ไหน สุนัขมันจะมากวนเราอยู่ตลอดเวลา

ห้ามกินเนื้อสุนัข ห้ามกินเนื้องู ห้ามกินเนื้อมนุษย์ ห้ามกิน..ห้ามกินทั้งนั้นแหละ เนื้อ ๑๐ อย่าง พระพุทธเจ้าห้ามไว้หมด พอห้ามไว้หมดเวลาถ้ามันกินเข้าไปน่ะมันจะมีผลต่อเนื่องกันไป มันจะมีผลต่อเนื่องในการดำรงชีวิตของเรา พระพุทธเจ้าห้ามเลย ทั้งๆ ที่เราไม่มีปัญญารู้นะ เราไม่รู้หรอกว่า เอ้ากินเข้าไปแล้วน่ะ ก็เนื้อก็เป็นเนื้อน่ะ

อ้าว ทำไมหมูกินได้ ทำไมโคควายกินได้ ทำไมสุนัขกินไม่ได้ สิ่งที่เป็นโคควาย ก็ส่วนโคควายนะ เวลากินสุนัขเข้าไปมันสัญชาตญาณของมัน แล้วความเป็นอยู่ของเรา เวลาเราธุดงค์ไปพระพุทธเจ้ามองวางเป้าหมายไว้ทั้งหมด ว่าการประพฤติปฏิบัติน่ะคือที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ เราจะทำอะไรต้องสิ้นที่สุดแห่งทุกข์

แล้ว ! แล้วอะไรเป็นอุปสรรค อะไรเป็นสิ่งที่กีดขวาง พระพุทธเจ้าห้ามไว้เพราะอะไร เราไม่รู้ อู้ย...วินัยนี่ยุ่งไปหมดเลย อะไรก็ยุ่งไปหมดเลย ทั้งๆ ที่เป็นเมตตา เป็นมหากรุณาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไอ้พวกเรามันพวกเตี๊ยอุ้มค่อมน่ะ อะไรก็ไม่รู้น่ะ ท่านก็บัญญัติไว้แล้วเพื่อป้องกันน่ะ

ดูเด็กๆ ทางรัฐบาลก็บอกว่า ยาเสพติดนี่ห้ามไปหมด ห้ามเสพยาเสพติด ทำไมเขาลักเสพกันล่ะ เด็กๆ มันลักเสพของมันนะ มันด้วยการชักจูงไปของสังคม รัฐบาลเขาเห็นว่ามันเป็นโทษไง ถ้าประชากรในสังคมนั้นจะทุพพลภาพ จะไม่มีคุณภาพ สังคมนั้นจะมั่นคงไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้หรอก

พระพุทธศาสนาเห็นไหม ดูซิ แม้แต่เนื้อ ๑๐ อย่างก็ห้าม เนื้อสดๆ ก็ห้าม เนื้อดิบๆ ก็ห้าม ห้ามทั้งนั้น เพราะถ้ามันดำรงชีวิตอย่างนั้นไปแล้วนี่ การประพฤติปฏิบัติไม่ใช่อยู่ที่.. การกระทำนั้นเป็นกรรมอันหนึ่งนะ การประพฤติปฏิบัตินี่เพราะอะไร เพราะเป้าหมายของเรานะ นี่ที่สุดแห่งทุกข์ ทิฐิมานะต้องฆ่ามันให้หมด

ทิฐิผิด ความเห็นผิด ต่างๆ ถ้ามันเกิดขึ้นมาแล้วเราต้องมาใคร่ครวญ จับซิ จับสิ่งนี้มา แล้วมาใคร่ครวญว่ามันควรจะเก็บเอาไว้กับเราไหม ถ้ามันไม่ควรเก็บไว้กับเรา แต่มันเป็นจริตนิสัยนะ เราต้องแก้ไขมัน การว่าต้องแก้ไขนะ เพราะว่าเราประพฤติปฏิบัติก็คือการแก้กิเลส ถ้าพูดถึงกิเลสมันไม่มีแล้วนะ สิ่งที่ว่าเป็นทิฐิมานะต่างๆ ไม่มีผลกับเราหรอก

มันจริตนิสัยนี่ ร่องน้ำ.. ร่องน้ำนี้มีโทษกับใคร.. ร่องน้ำไม่ให้โทษกับใครหรอก แต่ร่องน้ำมันเซาะไปแล้ว มันทำให้ดินพังต่างๆ นี่ไงจริตนิสัยของเรา มันเกิดขึ้นจากเรา มันเป็นสัญชาตญาณของเรา แต่กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันอาศัยสิ่งนี้ทำลายเราไง มันอาศัยทิฐิมานะทำลาย

ทิฐิเห็นไหม คำว่าทิฐิ ทิฐิมานะ มานะคือตัวตน คือกิเลส ทิฐิคือความเห็น สิ่งต่างๆ ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ มันก็เกิดดับของมัน โดยธรรมชาติของมัน แต่เพราะมันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากโดยที่เราไม่รู้ตัว ยิ่งกิเลสยิ่งละเอียดนะ มันซึมเข้ามา.. ก็ไม่ได้อยากน่ะ ก็ไม่รับรู้อะไรเลยน่ะ สัญชาตญาณทำไปโดยที่ไม่มีอะไรเลยน่ะ มันอ้อยสร้อยนะ กิเลสละเอียดเราไม่รู้ว่ามันละเอียด กิเลสหยาบๆ มันเหยียบเรานะ เราก็เจ็บช้ำน้ำใจ

สิ่งต่างๆ นี้มันเกิดขึ้นมากับเรานะ เราเป็นพระเป็นเจ้า พรรษาเราเยอะขึ้นมาเรื่อยๆ พอพรรษาเยอะขึ้นมาเรื่อยๆ สิ่งนี้เราควรจับต้องได้บ้าง อย่างเช่น พืช.. แพทย์แผนโบราณเขารู้นะ ว่าพืชสมุนไพรอย่างนี้แก้โรคอะไร พืชสมุนไพรอย่างนี้ควรแก้โรคอะไร เขารู้ของเขา แต่ถ้าไม่ใช่แพทย์เขาก็ไม่รู้

นี่ก็เหมือนกัน เราก็เป็นแพทย์เหมือนกัน เราเป็นแพทย์เพื่อจะชำระกิเลสของเรา ความคิดนี้มันเกิดเพราะเหตุใด ความคิดเกิดขึ้นมาแล้วมันให้ผลเป็นอย่างไร แพทย์แผนโบราณเขารู้ถึงพืช การรักษาโรค เราต้องรู้ถึงธรรมและวินัย รู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกที่มันทำลายเรา ที่มันจะทำให้จิตใจเราน่ะยึดมั่นตามแต่อารมณ์ความรู้สึกอย่างนั้นตลอดไป เราพยายามจะแก้ไข เราต้องแก้ไข เราต้องดัดแปลงของเรา ถ้าเราแก้ไขดัดแปลงของเรานั้นน่ะคือการปฏิบัติ การปฏิบัติคือการเอาชนะตนเองนะ

การปฏิบัติคือการทำลายทิฐิมานะ ทำลายทิฐิมานะไปเรื่อยๆ นี่ทิฐิมานะที่มันหยาบ ทิฐิมานะมันจะละเอียดไปเรื่อยๆ ทิฐิมานะไม่หมดไปง่ายๆ หรอก ดูซิ เวลาขันธ์อย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ขันธ์อย่างละเอียดสุด ขันธ์อย่างหยาบๆ ถ้าเราพิจารณาของมัน มันปล่อยไหม ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ นี่โสดาบัน

เวลาอุปาทานในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ อย่างกลางเป็นพระสกิทาคามี ขันธ์ ๕ อย่างละเอียด กามราคะ ปฏิฆะ สิ่งต่างๆ มันก็เกิดมาจากขันธ์ ๕ เกิดมาจากสัญญาข้อมูลต่างๆ มันอย่างละเอียด ถ้าเราทำลายมันหมดมันก็เหลือแต่จิตล้วนๆ จิตล้วนๆ มันก็เป็นปัจจยาการ ปัจจยาการก็เป็นขันธ์ละเอียดสุด ละเอียดจนถ้าจิตมันไม่ละเอียดพอจะจับต้องสิ่งนั้นไม่ได้เลยน่ะ

ถ้าจิตมันละเอียดพอมันจะจับของมันได้ ถ้าจับของมันได้มันจะเห็นเหตุเห็นผลของมัน มันจะเกิดปัญญาของมัน ใคร่ครวญของมัน ถ้าใคร่ครวญของมันไปมันจะสิ้นสุดแห่งทุกข์เลยนะ เพราะอะไร เพราะถ้ามันทำลายปัจจยาการของมัน ทำลายธรรมชาติของมัน ทำลายหมดแล้ว สิ่งต่างๆ ทิฐิมานะ มันจากหยาบแล้วละเอียดเข้าไปทำลายไปถึงที่สุดไม่มีสิ่งใดๆ เลย ไม่มีสิ่งใดเลยนะ ไม่มีสิ่งใดเลย เพราะสิ่งนั้นมันเป็นสภาวะ มันเป็นความจริงของมัน

แต่อันที่เหนือสภาวะ เหนือความจริงต่างๆ มันเกิดมาจากไหน มันเกิดมาจากการทดสอบ การตรวจสอบของเรา เกิดจากการกระทำของเรา นี่ทิฐิมานะ สิ่งที่มันเป็นอารมณ์ความรู้สึกอย่าไปหวงแหน เราต้องใช้ปัญญาใคร่ครวญตลอด การหวงแหนเพราะอะไร เพราะปัญญาเราหยาบ ปัญญาเราไม่ทันมัน

แต่ถ้าเราไม่หวงแหน เราต้องพิสูจน์ต้องตรวจสอบตลอดเวลา สิ่งใดเกิดขึ้นมาน่ะ เราต้องเอาพิสูจน์ เอามาตรวจสอบ สิ่งนั้นมันเป็นความจริงไหม มันเคยให้ประโยชน์กับเรามากน้อยแค่ไหน มันเคยทำลายให้เราเจ็บช้ำน้ำใจมากน้อยขนาดไหน แล้วถ้ามันยังอยู่กับเรามันจะอยู่กับเราตลอดไปไหม ความคิดกับจิตนี้มันจะอยู่ด้วยกันตลอดไปไหม ถ้าจิตเวลาตายไปแล้ว จะมีความคิดอยู่อย่างนี้อีกไหม ถ้ามันยังมีความคิดอย่างนี้ เราจะห่วงทำไม

มีคนถามปัญหาบ่อยมากนะ เวลาจิตมันดีขึ้นมา จะมีความสุข อยากจะมีอารมณ์อย่างนี้ตลอดไป สิ่งที่มีความอยากจะยึดมั่นถือมั่นมันให้มันอยู่กับเรา มันจะอยู่กับเราไหม สิ่งที่เราไม่ต้องการ เรายังผลักไสมันไม่ยอมไปหรอก ความทุกข์น่ะ ความเศร้าหมองใจ ความต่างๆ ที่มันกระทืบหัวใจเราน่ะ เราพยายามผลักไสมันน่ะ มันจะไปได้ไหม มันไม่เห็นไปสักที มันก็อยู่กับเราตลอดไปน่ะ

มันอยู่กับเราด้วยตัณหาความทะยานอยากโดยที่เราไม่รู้ไง แต่สิ่งที่เรารู้เราอยาก เพราะเราเข้าใจว่ามันดีหรือไม่ดีเราก็ยังทำมันไม่ได้ นี่เพราะทำไม่ได้ เราถึงไม่เห็นความเพียรชอบของเรา ไม่เห็นสติปัญญา ไม่เห็นคุณสมบัติของเรา ถ้าเราเห็นคุณสมบัติของเรานะ ต้องได้ !

เพราะคำว่า “ต้องได้” ขึ้นมา ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงหมดนะ ต้องได้ขึ้นมาเห็นไหม การเดิน การก้าวไปตามที่กิเลส เราก็จะไม่ก้าวเดินตามมันไป เราจะก้าวเดินไปตามธรรม ก้าวเดินไปตามธรรม พระพุทธเจ้าบอก ก้าวเดินให้มีสติสัมปชัญญะ ถ้ามีสติสัมปชัญญะความคิดมันจะเกิดได้อย่างไร เพราะสติสัมปชัญญะเราอยู่กับการก้าวเดินนั้น สติสัมปชัญญะอยู่กับการเคลื่อนไหวของเรานั้น ความคิดจะเกิดได้อย่างไร

แต่ถ้าความคิดเป็นเรานะ เราจะคิดของเรานะ ทิฐิมานะมันเกิดขึ้นมากับเราอยู่อย่างนั้น เราก็อยู่กับความคิดของเรา เพราะความคิดของเรามันอยู่กับเราตลอดเวลา มันสลัดไม่ออก สลัดไม่ได้ ก็อยู่กับเราอย่างนี้ตลอดไปน่ะ

เพราะเราขาดสติไง ถ้ามีสติขึ้นมา การเคลื่อนไหว การเดิน เราจะมีสติปัญญาอยู่กับมัน แล้วสิ่งที่มันคิดออกไป นี่ไงคิดแล้วไง รู้ทันไง เพราะมันรู้ทัน เพราะมีสติมันรู้ทันหมด ความคิดมันเกิดไม่ได้ ถ้าความคิดเกิดได้สติก็ตามทัน ถ้าสติตามทันมันก็มีโอกาสแก้ไข มีโอกาสกระทำ

นี่คุณสมบัติ สมบัติของพระ.. สมบัติของพระคือศีลธรรมจริยธรรม การกระทำน่ะ สภาวธรรมที่เกิดเป็นสมาธิ สภาวะที่เกิดเป็นปัญญา เป็นสภาวะที่มีการเกิดไง มีการกระทำ แล้วมีการเกิด พอมีการเกิดขึ้นมาเพราะปัญญามันหมุนรอบวงรอบของมัน มีปัญญาของมัน มีการแยกแยะของมัน

แล้วปัญญาแยกแยะของมัน ดูซิ เวลามันปล่อยวางด้วยปัญญาอย่างหนึ่ง เวลามันปล่อยวางด้วยคำบริกรรม ปล่อยวางด้วยปัญญาอบรมสมาธิอย่างหนึ่ง ปล่อยวางด้วยปัญญาคือการแยกแยะ การคัดแยกคัดกรอง ปัญญาที่มันพิจารณาของมันเป็นอีกอย่างหนึ่ง มันเห็นหมด มันรู้หมด รู้ว่าปัญญามันปล่อยวางอย่างไร มันมีรู้สึกอย่างไร มันมีความภูมิใจอย่างไร

ถ้ามันมีความภูมิใจอย่างนี้เกิดขึ้นมา ความภูมิใจนะ เราชนะ ดูซิ ทางโลกเขาแข่งขันกีฬากัน ชนะกัน เขายังมีความภูมิใจ เขายังมีการเลี้ยงฉลองกันเลย แล้วเวลาสติปัญญาเราชนะกิเลสแต่ละรอบๆ ทำไมเราจะไม่ภูมิใจ แล้วไม่มีใครรู้กับเรานะ เวลาเราทุกข์ตรอมใจใครจะรู้อะไรกันเรา มันมีแต่หน้าชื่นอกตรม เวลาจิตใจเรามันถอดถอนขึ้นมา ใครมันจะรู้อะไรไปกับเรา แต่เรารู้กับเราน่ะ มันเป็นปัจจัตตัง มันรู้จำเพาะตน มันรู้ในหัวใจ มันชื่นใจ มันพอใจ ถ้ามันพอใจ กีฬาเขาแพ้ชนะกัน น่ะเขายังเลี้ยงฉลองกัน

ไอ้นี่เราชนะกิเลสแต่ละรอบๆ น่ะ เราจะฉลองกับอะไรล่ะ เราก็ฉลองกับการปล่อยวางของใจ ใจมันปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกทั้งหมด มันมีความสุขทั้งหมด มันมีความพอใจทั้งหมด มันมีสติสัมปชัญญะทั้งหมดเห็นไหม นี่มันมีความสุขไหม

ทุกข์นี้ควรกำหนด สุขไม่ต้องกำหนดมัน สุขก็คือสุข มีสติตั้งอยู่รับรู้เห็นไหม ดูซิ เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาอยู่กับสติ อยู่กับพุทโธจะไม่เสีย นี่ก็เหมือนกัน จิตมันปล่อยวางหมด มันก็อยู่กับผู้รู้ อยู่กับสุข ความสุขเราอยู่กับมัน

ทิฐิมันไปไหน ทิฐิน่ะ ทิฐิมันไปไหน ทิฐิมันโดนปัญญาตะล่อมเข้ามา โดนปัญญาทำลายหมด สิ่งนั้นมันเป็นวิชาชีพ สิ่งนั้นมันเป็นความเป็นอยู่ สิ่งนั้นดูซิ พระเราก็มีอาชีพนะ เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง พระเรามีอาชีพบิณฑบาต

ดูซิ มีการขัดแย้งทางโลก อาตมาขอบิณฑบาตความขัดแย้งนั้น ความขัดแย้งนั้นน่ะอย่าขัดแย้งกันเลย อาตมาขอบิณฑบาตใส่บาตร เห็นไหมอาชีพของพระเราบิณฑบาตเป็นวัตร อาชีพของเราอยู่ได้ ดูสิ ปัจจัย ๔ เรามีบาตร มีไตรจีวร มีอาหาร มีเครื่องนุ่งห่ม มีบ้าน มีที่อยู่อาศัย มียารักษาโรค ปัจจัย ๔ พระเราก็มีบริขาร ๘ ก็ปัจจัย ๔ เหมือนกัน เราเลี้ยงชีพโดยชอบ

ถ้าเลี้ยงชีพโดยชอบสิ่งที่เราเลี้ยงชีพชอบ เราก็มีอาชีพของเรา เราก็มีวิชาชีพของเรา ที่นี้ ศีลธรรมจริยธรรมเป็นคุณสมบัติของเรา วิชาชีพของเรา อาชีพเราบิณฑบาตเป็นวัตร เดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา มันไม่มีอะไรวัดค่าเป็นสถิติ เป็นสมบัติทางโลก แก้ว แหวน เงิน ทอง เขานับจำนวนของเขาได้ แต่เราจะนับจำนวนของเราด้วยการภาวนา เราจะนับจำนวนของเราด้วยความสงบของใจ มันปล่อยวางมากี่หน ปล่อยวางด้วยสมาธิกี่หน ปล่อยวางด้วยปัญญากี่หน เรารู้ของเรา ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก รู้โดยจิต ทิฐิมานะวางไว้

สิ่งที่มันเป็นอริยสัจ สัจจะมันเกิดขึ้น เพราะมันไม่ใช่ทิฐิมานะ มันเป็นมรรคญาณ มันเป็นสัจจะ มันเป็นความจริง เพราะเราวางทิฐิได้ ปัญญามันเลยเกิด มันเลยมีการกระทำ มันเลยมีมรรคผลขึ้นมา ถ้าเรายังมีทิฐิอยู่ ยึดทิฐินั้นมันเป็นโลก ทิฐิเป็นโลก สัมมาทิฐิ มันเป็นเรื่องของโลกๆ มันเป็นสภาวะที่โลกนั้นเกิดขึ้นมา

แต่สภาวธรรมที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง สภาวธรรมที่เป็นมรรคญาณที่เกิดขึ้น สิ่งที่มันเกิดขึ้นมันมาจากไหนล่ะ มรรคญาณมันเกิดขึ้นมาจากไหน มันขึ้นมาอย่างไร เราเอาตัวนี้เป็นตัวตั้ง ธรรมะมันเกิดขึ้น ปัญญามันเกิดขึ้นมา ทิฐิมันไม่มี ถ้าทิฐิมี มรรคสามัคคี มรรค ๘ มันรวมตัวอย่างไร ถ้ามันมีทิฐิอยู่ ทิฐิมันขวางอยู่ มรรคจะรวมตัวไม่ได้

มันจะไม่มรรคสามัคคีไม่ได้ มรรคสามัคคีไม่ได้ มันจะเกิดธรรมจักรไม่ได้ ทางเอก มัคโคเกิดไม่มี มัคโคไม่เกิด มรรคไม่เกิด มันเกิดนิโรธได้อย่างไร ถ้าไม่มีมรรคนิโรธมาจากไหน แล้วถ้ามันจะมีมรรค มีมรรคมันจะมาอย่างไร ถ้ามันเกิดทิฐิมานะอยู่ มรรคมันจะเกิดได้อย่างไร ในเมื่อมันขวางมรรคนั้นอยู่ เราถึงต้องให้เป็นสัจจะความจริง เราจะไม่ถือทิฐิสิ่งใดๆ เลย ไม่มีทิฐิอะไรที่จะมาเป็นอัตตาไง

ทิฐิของเราไง อะไรของเรานี่เป็นอัตตา แต่สัมมาทิฐิ สัมมาทิฐิคือความเห็นที่เคลื่อนที่ไป เป็นศีล สมาธิ ปัญญา ในทิฐิในความเห็นปัญญาของศีล ปัญญาของสมาธิ ปัญญาของวิปัสสนา ดูซิ ปัญญามันเคลื่อนไป มันละเอียดขึ้นไปเป็นชั้นๆ ขึ้นไป ใครเป็นคนรู้ใครเป็นคนเห็น ถ้ามันไม่มีปัญญาอยู่มันจะรู้จะเห็นของมันได้อย่างไร

ถ้ามันมีปัญญา มันรู้ของมันอยู่ มันพัฒนาการ จิตมันพัฒนาการเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป มันเข้ามาทำงานของมัน นี่มรรคมันเกิด นี่สมบัติของพระ ถ้าสมบัติของพระมันเกิด สมบัติตรงนี้ นี่ไง พยายามกระตุ้นเตือน พยายามพูดอยู่ ให้เราได้มรรคได้ผล ได้มรรคได้ผลน่ะ มันจะเป็นอริยทรัพย์ มันจะเป็นสมบัติของเรา

ถ้าเป็นสมบัติของเรา สมบัติของพระ เราเป็นพระ เราเป็นนักปฏิบัติ ถ้าสมบัติอย่างนี้เกิดขึ้นมามันเป็นอริยทรัพย์จากภายใน มันเป็นอริยทรัพย์ไม่ใช่หินทับหญ้า ไม่ใช่ขยะใต้พรม มันเป็นอริยทรัพย์ มันเป็นทรัพย์ของพระ มันเป็นทรัพย์ของเราที่เราบวชมาทั้งชีวิตเลยน่ะ เราต้องการสิ่งใด เราต้องการมรรคญาณ มรรคเกิดขึ้น เกิดนิโรธ ความรู้แจ้ง ถ้าเกิดความรู้แจ้งของเราขึ้นมา อันนี้เป็นหัวใจนะ

อันนี้เราอยู่ด้วยกัน สังคมทุกสังคมมันต้องมีการขับเคลื่อน มันต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัย นี้สังคมของเราต้องอาศัย แล้วสังคมของเรา ดูซิ สังคมถ้าเขาเชื่อถือขึ้นมา งานมันเกิดขึ้นมาต่อเนื่อง เพราะเรามีสังคม เรามีโลก เราอาศัยโลกอยู่ เราจะสงเคราะห์ เราจะเจือจานโลก งานจึงเกิดขึ้นมา งานเกิดขึ้นมาเพราะเราอยู่กับโลกไง แต่เราจะไม่ลืมชีวิตพระ เราจะไม่ลืมสมบัติของเรา

สมบัติของเราเป็นตัวตั้งนะ ถ้าเรามีสมบัติเราถึงจะช่วยโลกได้ ถ้าเราไม่มีสมบัติ เราไม่มีความรู้ เราไม่มีความจริง เราจะเอาอะไรไปช่วยโลก การช่วยโลกไม่ใช่ว่าเราไปช่วยโลกจนลืมตัวนะ จนหลักลอย ขาลอย ว่าเราจะต้องช่วยโลกกันตลอดไปนะ เราจะช่วยโลกต่อเมื่อเรามีหลักเกณฑ์ เราถึงจะไปช่วยเหลือเขา

ที่นี้งานที่เกิดขึ้นมาเป็นงานที่จะสงเคราะห์ งานจะช่วยเขา ไม่ใช่งานของเรา งานของเราคือในทางจงกรมนั่งสมาธิภาวนา แต่ในเมื่อผู้ที่รับผิดชอบผู้ที่ดูแล เราก็ดูแลรับผิดชอบเพื่อให้มันขับเคลื่อนกันไปได้ ไม่ใช่ว่าสิ่งนั้นเป็นตัวหลักนะ ตัวหลักยังเป็นทางจงกรม ตัวหลักยังเป็นสิ่งที่ในร้านในกุฏิเรา แต่การนั่งสมาธิภาวนาคืองานของพระเป็นตัวหลัก งานนั้นเป็นงานบริหารจัดการที่เราจะสงเคราะห์โลก

ฉะนั้นทิฐิความเห็นทางโลกเอาวางไว้ ทิฐิ.. สิ่งที่เป็นสัมมาทิฐิ แล้วทิฐิแล้วมันจะมีหยาบมีละเอียด แล้วถ้าทิฐิมันจะไปขวางมรรค ทิฐิมันต้องปล่อยไปให้มันพัฒนาการของมันไป จากศีล สมาธิ ปัญญา จากปัญญาเป็นโลกุตตรปัญญา แล้วเป็นมรรคญาณ มรรคสามัคคี มรรค ๘ น่ะมันย่อยสลายรวมกันเป็นสามัคคีกัน แล้วรวมตัวเพื่อสมุจเฉทปหานเป็นยะถาภูตัง ญาณทัสสนะ เกิดขึ้นมากับจิต แล้วจิตจะเห็นตามเป็นจริง เพื่อสมบัติของพระ เอวัง