เทศน์บนศาลา

จิตหนึ่ง

๖ ส.ค. ๒๕๓๙

 

จิตหนึ่ง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๓๙
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราอยู่ในโลกนี้นะ เราว่าโลกนี้มีเพราะว่ามีเรา ถ้าเราลองตายไป เราลองไม่มีสิ โลกนี้ก็ไม่มีเลย โลกทั้งโลกมันมีเพราะเราไปยึดมั่น เราไปรับรู้ โลกถึงมี ถ้าเราไม่รับรู้โลกมีไหม โลกก็มีอยู่อย่างนั้นแหละ มันก็มีตามธรรมชาติของมัน มันมีจริงตามประสาของมัน แล้วเราไปรับรู้ด้วย เห็นไหม เรื่องของใครก็ของบุคคลนั้นไง เรื่องของเขาก็เป็นเรื่องของเขา เรื่องของเราก็เป็นเรื่องของเรา ทุกข์ในหัวใจเราก็เป็นทุกข์อยู่ในหัวใจเรา ทุกข์ในหัวใจคนอื่นก็เป็นทุกข์ในหัวใจคนอื่น

แต่ตัวกิเลส ตัวความสัมพันธ์ ตัวความเกี่ยวเนื่องกัน เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม โอ้โฮ มันยุ่งตรงนี้ มันยุ่งมากๆ เลย ถ้าเราสรุปลง เห็นไหม เรื่องข้างนอกมันเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมถ้ามันไม่ดีก็ทำให้โลกก็เสียไป มนุษย์ก็เสียไป ถ้าสิ่งแวดล้อมไม่ดีเราก็อยู่ลำบากแล้ว เช่น เรื่องการหายใจหรือเรื่องอะไรอื่น สิ่งแวดล้อมของมนุษย์เราก็คือเรื่องโลกธรรม ๘ เรื่องการติฉินนินทา นั่นล่ะสิ่งแวดล้อม มันก็ให้ผล เห็นไหม

ฉะนั้นถ้าเราตัดได้ ใหม่ๆ นี้เราตัดไม่ได้ แต่เราก็มาศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกไว้ โลกธรรม ๘ นี้เป็นมาโดยดั้งเดิม เป็นธรรมคู่โลก เป็นของเก่าแก่ พระพุทธเจ้าองค์ไหนก็ต้องมาเจอสภาพแบบนี้ มันเป็นของดั้งเดิมอยู่ ศาสนาพุทธเรานี้เพิ่งเกิดขึ้นมา ๒,๐๐๐ กว่าปี ส่วนโลกนี้มีมาเป็นล้านๆ ปี ในกัปนี้พระพุทธเจ้าเราเป็นองค์ที่ ๔ มีผู้มาตรัสรู้ไง แล้วก็เอามาสอนว่า สิ่งนั้นเราแก้ไขไม่ได้ สิ่งนั้นมันเป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น การจะหลบเลี่ยงได้ การจะแก้ไขได้ คือ ต้องแก้ไขที่เรา

ถึงว่าโลกนี้มีเพราะมีเรา เราไปยึดมั่นถือมั่น มันก็เลยเจ็บปวดเข้ามา ถ้าเราดับที่นี่นะ ดับที่ใจเรา จิตนี้เป็นหนึ่งเดียว ฟังสิ จิตนี้หนึ่งเดียวนะ จิตนี้เป็นหนึ่งมีค่าเท่ากันหมด จิตหนึ่งอยู่ในหัวใจของทุกๆ คน คนเกิดมาก็มีจิตหนึ่ง พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ก็มีจิตหนึ่ง ขณะนี้สำเร็จไปแล้ว ลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าก็จิตหนึ่ง สำเร็จได้ไง จิตหนึ่งคือสิ้นสุดของจิต มีค่าเท่ากัน ค่านี้อยู่ในหัวใจของเราทุกๆ ดวง มีค่าเท่ากันเสมอภาค

พระอรหันต์ทุกองค์เสมอกันหมด ไม่มีองค์ไหนสูงกว่าต่ำกว่ากัน ยกเว้นแต่บารมี สิ่งแวดล้อมของที่ว่าสะสมมา ด้วยการสร้างบุญสร้างกรรมมาของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน แต่ดวงใจเหมือนกันหมด ถึงบอกว่า “จิตหนึ่ง” จิตหนึ่งในหัวใจเราก็มี หัวใจที่เป็นทุกข์เป็นสุขอยู่นี้ หนึ่งในหัวใจเรา แล้วจิตหนึ่งนี้มันสมบุกสมบั่นมาขนาดไหน มันสมบุกสมบั่นมามากนะ แล้วได้มาเกิดเป็นมนุษย์ แล้วพบพุทธศาสนาซึ่งสอนถึงจิตหนึ่งเดียวของเรานี้

ค่าของใจสำคัญที่สุด ค่าของใจ ค่าของความรู้สึกในหัวใจ มีค่ามากที่สุด ในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดๆ มีค่าเท่ากับหัวใจของเรา ไม่มี ไม่มีหรอก สิ่งที่จะมีค่าขนาดไหนก็ไม่มีค่าเท่าหัวใจ มันก็เป็นวัตถุอยู่อย่างนั้น หัวใจเรานี้ไปแบกทุกข์ต่างหาก ไม่มีสิ่งใดๆ มีค่าเกินหัวใจของมนุษย์ ไม่มี ไม่มี เพราะหัวใจนี้มันชำระได้ มันสิ้นได้ แล้วจะเห็นความประเสริฐ มันประเสริฐมาก ประเสริฐจริงๆ จากใจธรรมดา ใจที่หว้าเหว่ ใจที่ไม่รู้ว่าการมานี่มาจากไหน ไปแล้วจะไปไหน ไม่รู้ที่ไปที่มานะ รู้ว่าเกิดมาเป็นคน ก็นึกว่ามีเฉพาะที่เป็นคนนี้อย่างเดียว

ไม่ใช่ ไม่ใช่หรอก ภพชาติมันซ้อนๆๆๆ ซ้อนกันมาไง ซ้อนมานะ ทำคุณงามความดีมาก ก็ได้เกิดเป็นมนุษย์และได้เกิดเป็นเทวดา เห็นไหม นั่นก็สิ่งที่เป็นแง่บวกเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าทำความชั่วมา พอเกิดเป็นมนุษย์ก็เกิดเป็นมนุษย์ที่ทุกข์ยาก ทุกข์ยากนะ มนุษย์ก็ไม่เท่ากัน จิตหนึ่งเดียวเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกันด้วยความต่างกันของกรรม ตกนรกมาก็แสนทุกข์ร้อน แล้วพอพ้นจากใช้หนี้ใช้เวรใช้กรรมหมดเป็นชาติๆ ภพๆ ไป ก็ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ที่ทุกข์ๆ ยากๆ นี่ไง

ถึงบอกว่าที่ภพมนุษย์นี้เป็นภพกลาง เป็นภพกลางที่เรามาเป็นมนุษย์ ภพของมนุษย์ มนุษย์สมบัติ จิตหนึ่งเดียว แล้วพบพุทธศาสนา พุทธศาสนาสอนอะไร สอนไม่ให้ลืมตัว สอนให้กลับมาที่หัวใจของตัว สอนให้กลับมาไม่ให้หลงระเริงไปตามกิเลส ตามความไสไปของความคิดในหัวใจ กิเลสตัณหาคือความทะยานอยาก มันพอใจสิ่งใด มันก็พยายามไสเราไปคิดแต่สิ่งนั้น แล้วเราตามมันไป เราก็พอใจ นึกว่าสิ่งนั้นมันจะเป็นสุข ไม่ใช่

งานสิ่งใดก็แล้วแต่ เราว่าสิ่งนั้นมันจะให้ผลกับเรา แล้วเราทำไป พองานนั้นเสร็จแล้วเห็นไหม งานนั้นเสร็จสมความปรารถนาทุกอย่างเลย แล้วให้ผลครบคุณค่าหมดเลย เรามีความสุขขนาดไหน มีความสุขขนาดที่ว่า งานมันเสร็จก็พอใจ แล้วก็มีงานใหม่ต่อไปใช่ไหม มันไม่มีวันสิ้นวันสุดไง กิเลสนี้ไม่เคยอิ่มพอ แม้ว่าจะเป็นงานที่ประสบความสำเร็จนะ

แล้วงานที่ไม่ประสบความสำเร็จล่ะ เหนื่อยก็เหนื่อยเปล่า แถมงานนั้นยังให้โทษกับใจอีก เพราะมันเสียใจ ทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จเห็นไหม เหนื่อยเพราะงาน ทุกข์เพราะงานหนึ่ง ทุกข์เพราะความเสียใจที่ไม่ประสบความสำเร็จอีกหนึ่ง แล้วก็ครุ่นคิดที่จะหาทางออกอีกหนึ่ง มันกี่ชั้น แต่งานภายในนี่เสร็จ งานของจิตหนึ่งนี้สำเร็จได้ เสร็จสิ้นเลย ไม่กลิ้งไปตามความเห็นเดิม เดิมนี้เรากลิ้งไป เราไสไป เราหมุนไปโดยที่ไม่มีวันที่สิ้นสุด มันเหนื่อยมากๆ มันต้องหยุด พยายามหยุดให้ได้

ถ้าหยุดนี้ จิตก็เป็นจิตหนึ่งเหมือนกัน หยุดนี้เป็นสมาธิ เราเห็นคุณค่าของใจก่อน พอเห็นคุณค่าของจิตหนึ่ง เราไม่รู้นี่ เราไม่รู้ว่าจิตหนึ่งนี้มันมาอย่างไร มนุษย์มันเท่ากันไหม เหมือนกับนักมวย เวลาเราเข้าไปชกในยกนั้น เหนื่อยแสนเหนื่อย เหมือนตกอยู่ในนรก นี่ขนาดชกนะ มันมีคู่ต่อสู้ มันทั้งเหนื่อย แล้วต้องระวังตัว ต้องสู้ด้วย ถ้าไม่สู้เราก็จะเสียท่าเขา อยู่ในนรกก็เหมือนกัน เวลาเราตกไปในนรกนั้น มันมีแต่ความร้อน จิตนี้ก็ไม่ตาย พยายามจะดิ้นรนจะหนี พอดิ้นรนนะ มันไปไหนก็ไปไม่รอด เพราะอะไร

เพราะกรรมมันให้ผล เวลาพักยก ก็มาเกิดเป็นมนุษย์ ก็ได้พักชื่นใจ นั่งอยู่ที่มุม เขาให้น้ำให้ท่า ทุกวันนี้ก็คือให้น้ำให้ท่า ก็ได้กินได้ใช้ไป เวลาเราชกเสร็จแล้วล่ะ ชกเสร็จแล้วลงมาจากเวที นั่นก็เหมือนกับเราไปสวรรค์ ไปสวรรค์ก็เพลิดเพลิน เราลงจากเวทีมา เราก็เป็นอิสระเพลิดเพลินไป ทีนี้พอเพลิดเพลินหมดจากสวรรค์มา นักมวยก่อนชกก็ต้องเข้ามุมก่อนใช่ไหม เหมือนกัน ออกอีกแล้ว เข้ามุมพัก ลงมาชกก็เอาอีกแล้ว ออกมาก็พักที่มุม ลงจากเวทีมาก็ขึ้นสวรรค์ เท่านั้น

จิตหนึ่งเป็นอย่างนั้น จิตนี้วนไปเวียนมาๆ วัฏวนนี้มันถึงได้น่าคิด วัฏฏะเป็นที่ไปของจิตเรา “สามโลกธาตุ” กามภพ รูปภพ อรูปภพ จิตนี้วนไปเวียนมาๆ จิตหนึ่งนี้ไม่เคยพัก จิตหนึ่งนี้เวียนว่ายตายเกิดไม่มีที่สิ้นสุด ไม่รู้ว่ามาอย่างไรแล้วจะไปอย่างไร หมุนไปอยู่อย่างนั้น

แล้วขณะนี้ถ้าเราทำให้หยุดได้ในปัจจุบันนี้ จิตหนึ่งนี้ก็สิ้นเดี๋ยวนี้ไง ขีดเส้นพักได้ จิตหนึ่งเท่ากัน พระพุทธเจ้าก็จิตหนึ่ง พระอรหันต์ก็จิตหนึ่ง เราก็จิตหนึ่ง โอกาสมาแล้วนี้เราจะทันไหม เราจะเกาะรถเมล์เที่ยวสุดท้ายทันหรือเปล่า เราจะขึ้นรถเมล์ได้ไหม เราจะทำใจเราให้ไปด้วยมรรคมีองค์ ๘ ไง ทางอันเอก การงานชอบ งานการทำให้ใจหยุดนิ่ง งานใดๆ ในโลกนี้ก็ว่าเหนื่อยหอบ ทำงานก็ว่าแสนเหนื่อย นั่งเฉยๆ นี้เหนื่อยไหม เราทำได้ไหม

เพราะงานของกายกับงานของใจ งานของกายก็ได้ประสบได้ทำมาแล้วทั้งวัน งานของใจต้องรั้งให้อยู่ ให้เห็นโทษไง ให้เห็นโทษของการครุ่นคิดออกไป ที่มันคิดตามความเคยชินของมัน กับเราหยุดไว้ รั้งไว้ มันต้องใช้ความรั้ง ใช้ความคิดเบรก ความคิดเบรก มันเบรกไม่ได้ ถ้าเราไม่ยกเท้าขึ้นเหยียบเบรก เบรกรถมีอยู่ รถวิ่งมา รถไสไปข้างหน้า แต่เราเหยียบเบรกไม่เป็น เพราะเราไม่รู้ว่าอันไหนเป็นเบรก จิตมันก็หมุนไป เราไม่รู้แล้วจะเบรกอย่างไร

พระพุทธเจ้าสอนว่า “ขันติ ความอดกลั้น มันก็เป็นตัวเบรก” ให้เหยียบไปตรงนั้น มันหมุนไป ใช่ไหม ถ้าเราไม่เหยียบมันอยู่ไม่ได้หรอก เพราะกระแสมันหมุนไป เราก็คิดว่า “จะหยุด จะหยุด” นั่นคือเราคิดไปแล้ว เอาเท้าเหยียบไว้ที่เบรก ก็เบรกเหยียบไปที่ความรู้สึกนั่นล่ะ ความขันติ คือ อดไม่ให้มันหมุนไป สติก็พร้อมเห็นไหม นี่พระพุทธเจ้าสอน เอาเบรกมาวางไว้ที่ข้างหน้าเลย แต่เราไม่เหยียบ เพราะเราไม่เข้าใจ ถ้าเราเข้าใจเราก็เหยียบลงใช่ไหม เหยียบลงตรงที่ขันติ คือความอดกลั้น ไม่ให้คิด

เริ่มต้นเลยนะ “สติ ! สติ ! ย้ำไว้” เอาสติมาเหยียบถ้าเหยียบมันก็อยู่ แต่ถ้าไม่เหยียบเลย มันก็หมุนไป แล้วก็ว่าทำไมเรารั้งจิตเราไว้ไม่อยู่ จะรั้งได้อย่างไร มันเป็นนายเรานี่ กิเลสนั่งอยู่บนหัวใจ ที่เขาว่า “ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว” แต่นี่ลึกเข้าไปอีกนะ กายเป็นบ่าว ใจเป็นนายหรือ ใจเป็นขี้ข้า นายเป็นกิเลสโน่น ใจเป็นบ่าวใจเป็นขี้ข้า แล้วกิเลสเป็นเจ้านายอีกทีหนึ่ง เราไม่สามารถพลิกหน้ามันมาดูได้ว่าอะไรเป็นกิเลส กิเลสเป็นนามธรรมที่เกิดๆ ดับๆ บนหัวใจเรานั่นล่ะ

แล้วเราอ้างคำว่ากิเลส กิเลส มันเหมือนกับว่าเราพยายามหลบหนีไง หลบหนีความรับผิดชอบ เพราะความรู้สึกอะไรเป็นกิเลสล่ะ กิเลสคือความไม่รู้ อวิชชา ปัจจยา สังขารา อวิชชา คือความไม่รู้ของใจ แล้วไม่รู้มันคิดมาได้อย่างไร ก็คิดประสาไม่รู้นั่นล่ะ งงไหม ไม่รู้คือว่าไม่รู้ว่าอันนี้ดีหรือชั่ว คืออวิชชา มันคิดแบบเด็กไง เห็นเด็กเล็กๆ ไหม มันวิ่งเล่นของมัน มันหกล้ม มันวิ่งไปรถชน มันวิ่งตกขอบถนน ตกอะไร มันไม่รู้เรื่องหรอก มันล้มไปมันยังหัวเราะนะ ก่อนวิ่งไปมันดีใจ มันได้เล่น พอเด็กหลุดมือเราไป มันวิ่งเล่นสนุกครึกครื้นมากเลย แต่พอมันล้ม มันเจ็บ มันก็ร้องไห้

นี่ก็เหมือนกัน เวลามันเริ่มคิดนั่นล่ะคืออวิชชา มันหลุดออกไปจากใจของเรา มันเสวยภพแล้วก็คิดออกไป มันถึงไม่รู้ คือมันคิดประสาไม่รู้ ถึงเรียกว่าอวิชชา กิเลสตัวนี้มันอยู่บนหัวใจ ใจถึงเป็นขี้ข้ามัน วิชชาคือความรู้เท่า ถ้าวิชชาเกิด อวิชชาก็ต้องดับ แต่นี่วิชชาไม่เกิด วิชชาไม่เกิดเพราะเราไม่เคยฝึก เราคิดตามใจตัวของเดิมมัน เราเคยคิดมาตั้งกี่ภพกี่ชาติไม่รู้ก็คิดอยู่อย่างนั้น ถ้าไม่เจอพุทธศาสนา ที่ไม่สอนอย่างนี้ แล้วใครจะเอามาสอน

ใครจะรู้ว่าในจิตที่คิดออกมานั้นคือเราคิดผิด ไม่มีคนใด ไม่มีพระพุทธเจ้า ไม่มีใครมาพูดหรอกว่าเราคิดผิด ทุกคนก็ต้องว่าเราคิดถูก ใครจะว่าเราผิด ไม่มี ไม่มีหรอก เรานี้ถูกทั้งนั้น ถ้าถูกทำไมมันทุกข์ นี่มันแย้งขึ้นมาสิ ถ้าเราถูกทำไมเราทุกข์อยู่นี่ เราก็ว่าเราคิดดีแล้ว เราไตร่ตรองดีทุกอย่างที่เราทำ แต่ผลมันกลับให้แต่โทษเราตลอดเลย เพราะเราคิดประสาโลกไง เป็นโลกียารมณ์ เป็นสิ่งที่สะสม กิเลสมันเป็นแบบนี้ ความคิดของโลกเป็นความคิดที่ให้ผลเป็นเลือดโชกนะ

เวลากระทบอารมณ์ที่รุนแรงที่มีความทุกข์มาเห็นไหม “เลือดโชก” เลือดคือความทุกข์ใจนั่นแหละ มันไหล น้ำตามันไหลจากตาเรามาเป็นน้ำตาข้างนอก “น้ำตาใจ” เวลามันโศกเศร้าภายใน มันซึมอยู่ในใจนั่นล่ะ มันร้องไห้อยู่ข้างใน เพราะเรารู้ว่าเราผิด ใครจะไปรู้กับเราเห็นไหม นั่นแหละความคิดของเราเอง แล้วก็ให้โทษกับเราเอง แล้วก็ว่าเราเป็นคนคิดถูก มันไม่ถูก มันถึงเป็นอวิชชาไง อวิชชา ปัจจยา สังขารา อวิชชา ปัจจยา สังขารความคิดนั่น อวิชาเดิมแท้มันยันออกมา

ถึงว่าใจเป็นนาย ใจเป็นนายนี้มันเป็นโวหาร ใจเป็นขี้ข้าของกิเลส ขี้ข้ามันอยู่หลังความรู้สึก แล้วเราจะเห็นมันได้อย่างไร ไม่เห็น ไม่เห็นหรอก ต้องหยุดก่อนนะ ต้องหยุดใจ หยุดด้วยสมาธิ พอหยุดไปหยุดไป เราก็ยังไม่เห็นนะ เห็นแต่ว่าความหยุด มันเป็นความอิ่มใจ เราหมุนนะ เราเป็นขี้ข้า มันไสเราให้หมุนไปตลอด เหมือนลูกข่างหมุนที่มันหมุนอยู่อย่างนั้น แล้วจิตที่มันหมุนไปด้วยอำนาจของกิเลสที่มันชักให้หมุน หมุนไปไม่มีวันหยุด เราต้องหยุดให้ได้

พอหยุดแล้วมันจะมีความสุข เพราะมันเหนื่อย เหมือนคนทำงานด้วยร่างกายจะเหนื่อยมาก ผู้บริหารเขาใช้ความคิดมาก เขาจะเครียดมากเลย เครียดมากเพราะใช้ความคิดมาก จิตที่หมุนไปก็เป็นอย่างนั้น ถ้าหยุดได้มันก็เหมือน โอ้โฮ! ความเครียดนี้มันจะหายไปหมดเลย มันเป็นความสุขของใจ เพราะใจไม่หมุน ความหมุนมันเหวี่ยงเห็นไหม มันทั้งวิงเวียน มันทั้งไม่มีจุดยืน มันจะล้ม แต่พอหยุดนิ่งขึ้นมาก็สบายมาก สบายจริงๆ “สุขเกิดจากสมาธิธรรม” สุขเกิดจากธรรมไม่ใช่สุขเกิดจากโลก

สุขเกิดจากโลก มันก็หลอกมาไสมาจนเราทุกข์ขนาดนี้ แล้วสุขเกิดจากธรรม จากธรรมะของพระพุทธเจ้า จากธรรมะของศาสนาพุทธเรา ธรรมะไง .ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” เราปฏิบัติได้ขนาดนี้เห็นไหม สุขเกิดจากธรรม เราปฏิบัติได้ธรรม “รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง” สมาธิธรรมให้รสอย่างไร ให้รสที่เกิดจากความหยุดนิ่ง ไม่ใช่แส่ส่ายกลิ้งไปนู่น พอเริ่มหยุด มันก็เริ่มรู้จัก “อ๋อ.. ความสุขเป็นอย่างนี้” ความสุขที่ว่ามันไม่มีในโลก พอเรามีความสุขขึ้นมาเราก็จะเห็นโทษ

นั่นล่ะ พอเห็นโทษก็จะเริ่มเห็นอวิชชาล่ะ ถึงจะเห็นกิเลสล่ะ ถ้าไม่เห็นคุณ มันก็ยังไม่เห็นโทษของกิเลส พอเริ่มเห็นคุณ มันมีสิ่งเปรียบเทียบในหัวใจของเราเอง แต่เดิมหัวใจของเราไม่มีสิ่งเปรียบเทียบ เราก็ว่าอะไรมันคืออวิชชา ก็มันอยู่ข้างหลังความรู้สึกแล้วมันจะเห็นได้อย่างไร มันไม่เห็นพอมันมีความสุขมาเปรียบเทียบ อ้อ.. อันนี้คือความสุข อันนี้คือความทุกข์ ความทุกข์คือการที่เราเป็นขี้ข้า พอความสุข อ้อ.. เราเป็นเจ้านาย

พอเรามีความสุข มันก็เปรียบเทียบกับความทุกข์ ความสุขมันเกิดจากอะไร เกิดจากการหยุด ไม่ให้กิเลสไสเรา เราสามารถหยุดกิเลส หยุดไว้ชั่วคราว พอหยุดชั่วคราวก็มีสิ่งเปรียบเทียบ อ้อ.. หยุดแล้ว พอหยุดแล้วก็สุขเป็นอย่างนี้ ก็เทียบสิ จะให้หยุดมากขึ้น พอหยุดมากขึ้น ความหยุดนี้มันจะต่อเนื่องยาวมากขึ้น ถ้าเราขยันทำมากขึ้น คนเรานะหิวน้ำจะเป็นจะตาย หิวน้ำมากกระหายน้ำเหลือเกิน ไม่เคยได้กินน้ำเลย แล้วมาได้กินน้ำเข้าไป ๑ อึก มันจะเห็นคุณค่าของน้ำขนาดไหน

ใจนี้ไม่เคยได้รสของสมาธิเลย ไม่เคยสงบสักทีหนึ่ง แล้วมาสงบเข้าหนึ่งทีนี้ มันจะแปลกประหลาด จนไม่เชื่อนะว่า “อ๋อ.. ใจมันสงบได้อย่างนี้นะ” ความสุขอย่างนี้มันอธิบายไม่เป็น ใหม่ๆ นะ เพราะคนไม่เคยกิน อธิบายไม่ถูกแต่มันก็รู้สึก จนจะไม่เชื่อนะ เราเอง เราแทบจะไม่เชื่อ แต่ถ้าได้ทำซ้ำเข้าไป ได้กินซ้ำสอง ซ้ำสามนะ “อ๋อ..” ของจริงเป็นแบบนี้เห็นไหม เราอ๋อเองนะ เราเป็นคนอ๋อเองเลยล่ะ แล้วมันก็จะยาวขึ้นๆ เกิดจากการทำไม่เป็น พอทำไม่เป็น มันก็หลุดมือไป แล้วพอทำเป็น รู้ทางด้วย รู้แนวทางด้วยเพราะเคยประสบแล้ว

แต่ก่อนก็ฟังเขามา ฟังเขาว่า แล้วมาทำเป็น เพราะมันเกิดขึ้นมาจากใจ เกิดขึ้นจากการที่เราได้ไปลิ้มรส ใครจะว่าเป็นหรือไม่เป็นนั่นเรื่องของเขา วิธีการร้อยแปดพันเก้า ถ้าเราทำจิตเราสงบ อันนั้นถูกต้อง ถูกต้องกับเราหนึ่งขั้น ทำจิตเราสงบเห็นไหม ใจนี้เป็นหนึ่ง หนึ่งอย่างหยาบๆ นะ เพราะจิตสงบนี่ จิตมันไม่หมุนไปก็เป็นหนึ่ง หนึ่งแล้วมันก็เป็นหนึ่งในมรรคมีองค์ ๘ สมาธิธรรมไง ความดำริชอบ ความเห็นชอบเห็นไหม การงานชอบ การงานอย่างหยาบๆ เลย

ก่อนเราจะปลูกบ้าน ก่อนที่เราจะสร้างตึก เขาต้องไปขนหินขนทรายมากองไว้ก่อน เอาเหล็กมากองไว้ ขนของมากองไว้เพื่อจะได้เริ่มทำการงาน สมาธินั่นก็เหมือนเหล็ก เอาเหล็กมาแล้วจะผูกเหล็กขึ้นไป จะเทต้นเสา แล้วงานอะไรล่ะ เห็นไหม งานเรื่องการทำสมาธิมันก็ทุกข์แสนทุกข์ กว่าเราจะไปหาเหล็กมาได้ เขาหาเหล็กมา เขาขุดแร่เหล็กมา เขาต้องเอามาหลอมถึงจะเป็นเหล็กขึ้นมา เหมือนกัน กว่าเราจะหาสมาธิได้ กว่าจะหาความสุขใจมาได้

ได้มาหนึ่ง ก็ได้เหล็กมาแล้ว “มรรค” สมาธิชอบ งานอย่างการหาเหล็ก ก็เป็นงานที่ถูกต้องนะ มรรคหยาบๆ ไง มรรคในการบังคับใจไม่ให้ฟุ้งซ่าน เดิมใจมันฟุ้งซ่าน มันยึดไปทั้งโลกนี้เลย ยึดไปทั้งสามโลกธาตุด้วย พอเราทำสมาธิ พอจิตมันเริ่มจะสงบ มันจะเห็นนิมิต เพราะอะไร เพราะจิตนี้มันสะสมมายาวนานไม่รู้ขนาดไหน ไม่ใช่ชาติเดียว นิมิตนี้มีได้ร้อยแปดนะ นิมิตถ้าเห็นตามความเป็นจริงก็ยังไม่ถูก แล้วถ้ามันเป็นนิวรณ์ที่ว่าจากเมื่อวานเมื่อสิบปี ยี่สิบปี ที่ว่ามันเกิดขึ้น อันนั้นก็ยิ่งร้ายใหญ่เลย

เหมือนกับเขาจะถลุงเหล็ก แค่เห็นสมาธิ แค่ได้เหล็กมาก็เป็นงานหนึ่ง งานนี้คืองานการทำสมาธิ เป็นงานชอบ แต่มรรคก็ยังมีอริยมรรค ส่วนอันนี้มันเป็นมรรคปุถุชน คือมรรคในการทำความสงบ พอสงบแล้วเดินอริยมรรคไง พอสงบตัดออกไป ตัดนิวรณธรรม จากเดิมไม่รู้เลยว่าอะไรคือนิวรณ์ นิวรณธรรมมันกั้นจิตไม่ให้เป็นสมาธิไง นิวรณธรรมนี้มันทำให้จิตมันฟุ้งซ่านออกไป พอเราตัดออก มันก็ตัดรูป รส กลิ่น เสียงออก จิตมันสงบเข้าฝึกจนชำนาญ ต้องฝึกจนชำนาญนะ

เพราะว่าจิตนี้มันเกาะเกี่ยว แล้วเราก็ตัด จิตนี้เกาะเกี่ยว เราตัด เกาะเกี่ยว เราตัด ความสงบตรงข้ามกับความฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านเพราะเราไปติดรูป รส กลิ่น เสียงภายนอก จิตมันไปเกาะเกี่ยว เพราะไม่เคยทำ พอเคยทำมันก็ชำนาญเข้า เหมือนเปิดสวิทซ์ปิดสวิทซ์เลย มันทำได้ชำนาญขนาดนั้น ถ้าคนติดในสมาธิทำได้ชำนาญ มันจะมีความร่มเย็น แล้วก็ว่าอันนี้เป็นผล มันก็เป็นผลของจิตหนึ่ง เป็นผลเริ่มต้น มันจะเริ่มตรงนี้ จิตหนึ่ง เพราะมันเป็นสมาธิ สมาธินี้ให้ความสุข

สมัยก่อนจะมีศาสนา สมัยก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ ก็ได้ไปศึกษากับอาฬารดาบส ก็มีอย่างนี้ คือมีสมาธิ แต่เขาไม่ได้เดินมรรคไง เขาไม่ได้เอามรรคนี้เป็นการงานชอบ ความดำริลงที่กายไง ความดำริลงที่กาย เวทนา จิต ธรรม กายของเรานี่แหละ กายเป็นบ่าวนี่แหละ เพราะบ่าวกับกาย ๒ คนนี้มันไม่รู้เรื่อง ทั้งบ่าวกับนายมันโดนกิเลสไส บ่าวก็มีเต็มตัวอยู่ แล้ว ๒ คนช่วยกันหากินทั้งบ่าวกับนายนะ หากินมาสุมอยู่ข้างใน

แต่พอจิตมันสงบแล้ว มันก็ต้องมาติด เพราะติดตรงนี้ก่อน โลกข้างนอกก็ต้องเป็นโลกข้างนอก ถ้าแก้ตรงนี้ ไปแก้ที่โลกไม่ได้ต้องแก้ที่กายนี้ เพราะมีกายเราถึงมีกายเขาใช่ไหม มองตรงข้ามสิ เพราะกายเราถึงไปติดตรงข้าม ไปติดกายเขา เพราะใจเราถึงไปติดใจเขา เราทำเพื่อเรา ทำทุกอย่างเลยเพื่อเรา เพราะอยากปรารถนาความสุข เห็นไหมทุกอย่างปรารถนาความสุข แม้แต่ทำความดีนั่นแหละ เช่น อยากทำให้โลกนี้เจริญที่สุดก็เพื่ออะไร ก็เพื่อเราจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีเห็นไหม นี่ความเห็นแก่ตัวนะ

แต่ถ้าทำใจให้สะอาดขึ้นมา ก็ทำให้โลกนี้เจริญนั่นแหละ แล้วก็ไม่ติดในโลกด้วย คนติดดีนี้มันมาแข่งดี ทำความดีแล้วยังมาแข่งดี ยังลัก อย่างในทางโลกเขาทำกันเห็นไหม ลักการทำความดีไง ขโมยผลงานกันเห็นไหม จะขอตำแหน่งหน้าที่กันก็ยังขโมยกัน นี่ติดดี แต่ถ้าปฏิบัติแล้วมันดีในหัวใจ สำคัญมากนะ ความดีข้างนอกยังขโมยกันได้ ความดีข้างในปัจจัตตังนี้ขโมยไม่ได้ ผู้ใดไม่ปฏิบัติ ก็ไม่ได้ผลหรอก

พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว การงานนี้เป็นหน้าที่ของเรา งานการปฏิบัติให้พ้นจากกิเลส เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน ศาสดาครูบาอาจารย์เป็นผู้แนะเทคนิค เพราะแนวทางนี้ เราเป็นชาวพุทธ ทุกๆ คนก็ว่ารู้อยู่ แต่เทคนิคในการทำใจ เทคนิคในการทำสมาธิ แล้วเทคนิคในการพลิกใจขึ้นมาพิจารณา

จิตนี้เป็นสมาธิแล้ว มันจะมีความสงบ แล้วมันจะอยู่เฉยๆ เพราะมันพอใจในความสุขอันนั้น แล้วสมาธินี้มันลึกไปได้ ลึกไปได้ สมาธิมันมีหลายขั้นตอน จากการทำสมาธิเฉยๆ นะ สมาธิใหม่ๆ สมาธิเริ่มแรกมันปล่อยเข้ามา มันมีความสุข มันปล่อยวาง โอ้โฮ มันโล่งหมดเลย แล้วกำหนดเข้าไป กำหนดเข้าไป มันลึกเข้าไป ลึกเข้าไปนะจนมันเวิ้งว้าง มันลึกเข้าไป พอเวิ่งว้างเข้าไปมันจะไม่ยอมเดินไปข้างหน้า แต่เวลาเราออกจากสมาธิมา ออกจากปฏิบัติมาต้องดูใจของตัว มันยังมีความคิดเดิมไหม ยังมีความคิดแบบเก่าไหม มีทุกข์ไหม มี

เวลาเราทำสมาธิ เราต้องการทำความสงบ เราต้องการที่สงัด เพราะไม่ต้องการให้กระทบใช่ไหม จิตนี้พอกระทบนี่เหมือนกับไฟ ขั้วบวกขั้วลบกระทบกันมันจะ สปารค์ไปเลย อารมณ์มันจะเกิดขึ้น แล้วเราใช้ความสงบเพื่อให้ใจเรารั้งใจเราไว้ ไม่ให้กระทบกับเสียงข้างนอก ไม่ให้กระทบกับความเห็นข้างนอก ดึงใจไว้ มันก็มีขั้วลบขั้วเดียว ให้มันสงบลงไป สงบลงไป พอมันสงบลงไปแล้ว มันก็มีความสุข

พอเวลาออกมาแล้ว ไฟอันนี้มันจะมีแรงมาก พอมันเจออารมณ์ข้างนอก มันจะกระทบรุนแรงขึ้นไปอีก มันจะเห็นว่าความทุกข์มันจะเกิดทันที ความขัดใจ ความข้องใจ จิตที่มันสงบเวลามันออกไปกระทบรูป เสียงจากภายนอก มันจะเร็วมาก เพราะกิเลส มันเหมือนกับเราไปรั้งมันไว้ไง ไม่ให้กิเลสนี้ได้กินอาหาร เหมือนมันหิว พอมันกระทบมันจะขี้โมโห นักปฏิบัติจะเป็นแบบนั้น อะไรขัดใจนี่ฟุดฟิดฟุดฟิดเลย เราก็ดูสิ ต้องดูตรงนี้เลยนะ

ก็ไหนว่าเราเป็นพระอริยเจ้าไง จิตนี้สงบแล้ว จิตนี้เวิ้งว้าง ทำไมออกมาแล้วมันยังทุกข์อย่างนี้ ผู้ปฏิบัติที่มีสตินะ จะไม่หลงตัวเอง ต้องเทียบตลอดเวลา ต้องทดสอบ ต้องคอยทดสอบดูใจของตัว พอออกไปแล้วมันไม่เป็นแบบเวลาที่อยู่ในสมาธินี่ เวลาอยู่ในสมาธิ มันมีความสุข เวลาออกมาแล้วมันก็มีความสุข แต่เวลากระทบแล้วทำไมมันมีอารมณ์อย่างนั้น

ถ้าเฉลียวใจหันกลับมาดู “อ้อ.. อันนี้มันไม่ชำระกิเลสนี่” อันนี้แค่บังคับกิเลสให้มันสงบตัวลงเฉยๆ แล้วแค่เพื่อให้รู้ทันไง ให้มีสิ่งเปรียบเทียบว่าอะไรดีอะไรชั่ว ต้องหันกลับมาดู เวลาจิตสงบแล้วต้องหันกลับมาดู ดูลงไปที่กาย ถ้าคนแบบเป้าใหญ่นะ ลงดูไปที่กายเลย เพราะกายนี้พอจิตมันดูนะ มันเพ่งด้วยตาใน ไม่ใช่ตาเนื้อนะ ตาเนื้อนี้ดูกายก็เห็น เห็นกายนี้แล้วก็พูดกันเพราะมันเป็นความเคยชินว่าคนเราเกิดมาแล้วก็ต้องแก่ แก่แล้วก็ต้องเจ็บ เพราะมันแปรสภาพ แล้วมันก็ต้องตาย อันนี้กิเลสมันหลอกอีกชั้นหนึ่ง หลอกให้ว่าเรารู้แล้ว แต่รู้จากความเคยชินจากประเพณี อย่าว่าจากพุทธศาสนาเลย ศาสนาสอนลึกกว่านั้น แต่ประเพณีไง กิเลสมันจะหลอกให้เราว่า เราเป็นชาวพุทธ เราก็ถือแล้วเราก็รู้ตามนั้น อันนี้มันเป็นประเพณี แต่พระพุทธเจ้าสอนให้ดูด้วยตาใน ให้ดูแล้วเกิดความสลด ให้เกิดความสังเวช อย่างเช่น เราคึกคะนองมาก เราไม่รู้จักเป็นจักตายเลย เราคิดถึงว่าเราจะตาย

การเห็นด้วยตาธรรม มันไม่เหมือนกับการเห็นด้วยตาเนื้อ ฟังให้ดี ตาเนื้อมองข้างนอก เขาเรียกว่าพิจารณากายนอก ใครๆ ก็บอกว่าเห็นกาย กายนี้ทำไมจะไม่เห็น ก็นั่งมองนั่งเพ่งกันอยู่นี่ ทุกคนก็มองเห็น อย่าว่าแต่กายเขาเลย กายเราก็มี ทำไมจะไม่เห็น อันนี้เห็นด้วยคืออุปาทานมันไม่ได้เห็นตามความเป็นจริง

พระพุทธเจ้าสอนให้จิตนี้สงบ แล้วให้น้อมจิตนี้ น้อมความรู้สึก น้อมตาของภายในให้มาดูกาย การเห็นด้วยตาภายในไม่เหมือนกับการเห็นด้วยตาภายนอก ตาเนื้อเห็นแล้ว มันเป็นการเห็น เพื่อเพิ่มความรู้สึกเพิ่มราคะทั้งนั้น เพราะมันเป็นเรื่องของโลก โลกคือการบวก โลกคือการสะสม โลกคือการแสวงหา โลกคือการกว้านเข้ามาให้ทุกข์ แต่ธรรมเป็นการผลักออก ธรรมเป็นการชำระล้าง ธรรมเป็นการที่ให้เรารู้สึกตัวไม่ให้หลงระเริงอยู่ในโลก โลกนี้เป็นแรงดึงดูดให้เราอยู่ในโลกนี้ ไม่ให้เราออกจากโลกนี้

เพราะกิเลสมันไม่อยากให้ออก ถ้าออกไปแล้วกิเลสมันจะไม่มีที่อยู่ที่อาศัย ฉะนั้นถึงต้องให้เห็นด้วยตาใน เห็นด้วยตานอกก็เห็นแบบโลกๆ เห็นแล้วมันไม่มีประโยชน์ มันจะให้โทษด้วย แต่ถ้าเห็นด้วยตาภายในนะ การเห็นครั้งแรกของผู้ที่ไม่เคยเห็น จะเกิดอาการสั่นสะเทือนแบบมโหฬาร การเห็นครั้งแรกของผู้เห็นกายภายในด้วยตาธรรม จะเกิดโลกธาตุนี้หวั่นไหว ร่างกายนี้จะหวั่นไหวสะเทือนเลื่อนลั่นไปหมดเลย เพราะสิ่งเหล่านี้มันสะสมมาเป็นแสนๆ ชาติ มนุษย์นี้เกิดมาไม่ใช่เกิดมาชาติเดียว

เหมือนกับแกนของโลกนี้ แล้วเราสามารถขยับแกนของโลก โลกนี้เคลื่อนที่ โลกเรานี้ไม่เคยขยับเคลื่อนที่ แกนของโลกก็จะหมุนอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา จิตดวงนี้มันหมุนมาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ มันหมุนมาแบบนี้ตลอดเวลา ในสามโลกธาตุนี้ เกิดเป็นเทวดา เกิดในนรก เกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดทั้งหมด จิตหนึ่งนี้ไปเกิดมาทั่วสามโลกธาตุ แล้วไม่มีใครเคยไปเห็นแกนของมัน ไม่เคยจับแกน แล้วหยุดแกนมันได้ ไม่เคยจับจิตหนึ่งนี้หยุดได้เลย

พระพุทธเจ้าสอนให้ใช้ตาภายในจากการทำสมาธิหันกลับมาดู แล้วพอไปจับแกนอันนี้ได้ แกนของจิตหนึ่ง เห็นกายภายใน กายของกายไง มันถึงจะ โอ้โฮ ! ถ้าแกนของโลกเคลื่อนไป โลกนี้มันก็ต้องหมุนกลับ สิ่งใดในโลกนี้ก็จะหมุนกลับหมด ถ้าตาจากภายในเห็นกาย ความหวั่นไหวของโลกธาตุมันถึงเป็นแบบนั้น นี่แค่เห็นเฉยๆ นะ คำว่า “แค่เห็น” มันยังมหัศจรรย์ขนาดนั้น มันประเสริฐ ถึงบอกว่าใจนี้แสนประเสริฐเลอเลิศ พอเห็นมันเคลื่อน เพราะสิ่งนี้ไม่เคยเห็นใช่ไหม สมบัติใดๆ มันจะมาสำคัญเท่าสมบัติตรงนี้ พอเห็นแล้วมันก็หลุดมือไป แค่เห็นก็หลุดมือไปแล้ว เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำ

สิ่งนี้มหัศจรรย์ เราจะแบกโลกนี้ได้อย่างไร โลกนี้เราจะแบกได้อย่างไร มันหนักหนาสาหัสสากรรจ์ขนาดไหน ถ้าคำนวณน้ำหนักของโลก มันจะมีน้ำหนักขนาดไหน ก็คำนวณดูสิ คำนวณวัฏวน สามโลกธาตุนี้มันจะหนักขนาดไหน แล้วจิตดวงไหนที่มันจะเห็นกายแล้วมันจะเข้าใจ มันหนักเกินไปที่จะพิจารณาได้ มันถึงได้หลุดมือไปไง มันหลุดมือนะ เห็นครั้งแรกมันหลุดมือ ตกใจด้วย ตกใจนะ ผงะ! เลย นั่นล่ะมันอยู่ที่ใจ แล้วพอเห็นอย่างนั้น มันก็มีความสุขสิ

ความสุขเกิดตรงไหน เกิดที่เห็นความมหัศจรรย์ไง มหัศจรรย์ในใจนี่เห็นแล้ว การเคลื่อนของใจนี้เห็นแล้ว จับตอได้แล้ว คำว่า “จับตอได้แล้ว” ต้องเป็นอาจารย์บอกนะ ผู้เห็นนั้นมันยังงงอยู่ เซ่ออยู่ เซ่อไปเลย เพราะสิ่งนี้ไม่เคยทำ ถ้าไปเจอครูเจออาจารย์ ไปถามอาจารย์จะบอกนั่นล่ะถูกต้อง แล้วต้องหันกลับมาจับตรงนี้ให้ได้อีก จับแล้วต้องตั้งอยู่ให้ได้ ใช้อำนาจจิตของเราเข้าไปจับจิตหนึ่งของเราอีกทีหนึ่ง พิจารณากายไง เพราะกายอันนี้ไม่ใช่กายข้างนอก กายข้างนอกนี้เป็นกายเนื้อเป็นบ่าว “กายข้างใน” เห็นกายข้างใน

เพราะกิเลสมันอาศัยกาย กิเลสอันนี้มันอาศัยกาย มันนอนอยู่ในกายเหมือนเชื้อโรคมันอยู่ในกายเรา อย่างในเม็ดเลือดจะมีเชื้อโรคอยู่ใช่ไหม แล้วเรากำจัดเชื้อโรคนั้นออก กิเลสนี้มันก็เหมือนกัน เหมือนกับที่มันแทรกอยู่ในเลือด พวกเม็ดเลือดนี้มันแทรกอยู่ กิเลสมันแทรกอยู่ในกายอย่างนั้น การพิจารณากายเพื่อให้กายนี้แตกออก แตกออกเพื่อให้กิเลสมันหลุดออกจากกายไง พิจารณากายนี้เพื่อชำระล้างโรคกิเลสที่มันแทรกอยู่ในกาย

แต่พอไปเห็นแล้วมันก็“สักแต่ว่าเห็น” มันยังไม่ได้พิจารณา เห็นแล้วก็จับมาพิจารณาสิ ความเห็นภายในมันจะเห็นอย่างนั้น พิจารณากายหมายถึงว่าพิจารณากายนี้ให้แปรสภาพ ให้เป็นดิน ให้เป็นน้ำ ให้เป็นลม ให้ไฟเผา ให้มันแปรสภาพออก ให้มันเป็นอนิจจัง ตั้งไว้เห็นไหม จับกายนี้ตั้งไว้ จากภายในนะ ตั้งไว้ พิจารณาแล้วให้แปรสภาพการแปรสภาพก็คือการขยาย ก็เหมือนเราเอาเม็ดเลือดมากรอง เราเอาเม็ดเลือดมาเพาะเชื้อให้เชื้อนั้นออกไป นั่นคือการพิจารณากาย

พอเชื้อออกจากเม็ดเลือด ออกจากกาย พิจารณาปั๊บ มันจะรวมลง จิตนี้พิจารณาอยู่ เพราะจิตนี้คือสมาธินี้พิจารณากายนั้น เพราะกิเลสอยู่ที่นั่น เห็นไหม จิตกับกายเป็นคนละอันกัน กายภายในนั้นกับจิตเป็นคนละอัน สมาธิมันแยกได้อย่างนั้น แล้วพิจารณาออกไป พอเห็นความแปรสภาพ เพ่งอยู่นะ จิตนี้เพ่งกายภายในอยู่ ถ้ากายภายในแปรสภาพออก พอแปรสภาพก็เห็นโทษสิ “อ้อ.. กิเลสมันอยู่ตรงนี้” กายนี้มันเป็นกาย กิเลสนี้เป็นกิเลส จิตนี้เป็นจิต ผู้ที่พิจารณากายอยู่นั่นแหละ เพราะมันเป็นหนึ่งเดียว มันรวมกันอยู่ พอเชื้อโรคแตกออกไป กายนี้แตกออกเชื้อโรคมันสลายออกใช่ไหม จิตนี้ก็รวมลง มันเป็นนามธรรม มันไม่ใช่วัตถุ มันเป็นอย่างนั้น พอรวมลง รวมลงนี้มันไม่ขาดนะ เพราะอะไร เพราะความที่สะสมมานานนัก

อย่างเช่น เรารักษาโลก เห็นไหม พอมันแพ้ยาไง พอโรคมันแพ้ยาแต่มันยังไม่หายขาด ไม่หายขาดก็ต้องซ้ำใช่ไหม ต้องฉีดยาซ้ำๆ โรคจะเริ่มจางลงๆ การพิจารณาต้องเป็นแบบนั้น ถ้าผู้ใดพิจารณาเป็นนะ ฟังสิ แล้วทำไมถึงพิจารณาไม่เป็นล่ะ เพราะการพิจารณานี้มันเป็นงานที่ไม่เคยทำ โลกนี้เขาไม่เคยทำกันเลย พระพุทธเจ้ามาสอนแล้วถึงมีผู้มาสอนมาบอก พระพุทธเจ้าทำเป็นองค์แรก แล้วก็สาวกทำตามๆ กันมา แล้วเราก็มาทำ งานภายในนี้เป็นงานประเสริฐ ถึงบอกว่าเป็นงานหักภพหักชาติ งานชำระล้างถึงสามโลกธาตุ เพราะสามโลกธาตุนี้เป็นที่อยู่ของหัวใจที่หมุนตามไป แล้วงานอันนี้มันมาล้างมาหัก คิดดูสิ โลกนี้จักรวาลนี้ใหญ่ขนาดไหน แล้วสามวัฏวนนี้ใหญ่ขนาดไหน แล้วงานนี้มันหักทั้งหมดเลย มันจะใหญ่ขนาดไหน

ถึงบอกว่ามันมหัศจรรย์ งานนี้ประเสริฐ ทั้งๆ ที่เรานั่งกันอยู่ตามปกติ แต่งานนี้เป็นงานที่แบบว่า แม้แต่เทวดา แม้แต่พรหม ยังสาธุ..สาธุ..นะ เพราะเป็นผู้ที่จะหลุดออกไป พวกเทวดาพวกพรหมที่เป็นฝ่ายดี เขาสาธุการนะ

นี่คือการพิจารณา ซ้ำอีกต้องซ้ำนะ พอมันรวมลง มันมีความสุข ออกมานี้งานมันจบรอบ เราทำแล้ววันนี้จบรอบ ทำต่อ สืบต่อใหม่ ถ้าแรงหมายถึงพลังงานของเราไม่พอ พิจารณาแล้วมันไม่ก้าวเดิน มันไม่ต่อเนื่อง ต้องกลับมาพักที่สมาธิ กลับมาพักที่เรากำหนดจิต จะพุทโธจะอะไรก็แล้วแต่ กลับมาพัก แล้วค่อยมาพิจารณา เพราะถ้าเราจับตั้งได้แล้ว มันเป็นงานที่เคยทำ มันจะตั้งได้บ่อยๆ กายนี้ จับตั้งอีก พิจารณาอย่างเดิม จะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่

การพิจารณาหมายถึงว่า รำพึงในใจนะ พอกายตั้งขึ้นมาเป็นภาพกายเลย แล้วก็คิด อีกนะคิดว่าให้กายเป็นแบบนั้น ให้ละลายไป ให้แปรสภาพไป ให้ขยายส่วน วิภาคะคือการขยายส่วน อย่างเช่น กายนี้มันอยู่เฉยๆ ใช่ไหม เต็มไปด้วยเชื้อโรค ให้ขยาย ให้เล็ก ให้ใหญ่ ให้แปรสภาพ นั่นล่ะเชื้อโรคมันจะหลุด พอหลุดออกไปก็รวมอีก สมาธิก็สุขถึงขนาดนี้แล้ว

การพิจารณาความสุขในจิตที่ว่าเวิ้งว้างนั่น กับความสุขที่จิตมันปล่อยนั่น คิดดูนะเราเวิ้งว้าง ความเวิ้งว้างนั้นมันก็มีอะไรนอนเนื่องอยู่ในใจ แต่ความเวิ้งว้างจากการพิจารณา สิ่งที่นอนเนื่องในใจมันจางลงๆ ความสุขนี้ต่างกันมากนะ ความสุขจากสมาธิอย่างหนึ่ง ความสุขจากการพิจารณาแล้วปล่อยวางนั้นอีกอย่างหนึ่ง มันต่างกัน

แล้วความสุขจากการพิจารณาจนมันขาดออกไปเลย มันขาดออกไปเลยนะ!! กายนี้ขาดออกไปเลย เชื้อโรคนั้นขาดออกไปเลย แล้วจิตนี้รวมลงไปเลย แล้วขาดออกไปเป็นความรู้ เหมือนคนเป็นโรคแล้วโรคหาย คนปวดแสนปวดแล้วหายปวด กิเลสที่มันนอนอยู่ในใจ สักกายทิฏฐิที่มันนอนเนื่องอยู่ในใจ ที่เราต้องหมุนเวียนว่ายตายเกิด มันขาดออกไป ใครจะมาบอก ไม่ต้องให้ใครมาบอกว่าอันนี้มันขาดแล้วนะ เวลาเราไปรักษาที่โรงพยาบาลเวลาเราหายจากโรค เราต้องให้หมอบอกเราว่าหายหรือ ถ้าเรายังไม่หาย แล้วหมอบอกว่าหายมันก็ยังไม่หาย เหมือนเราเป็นโรคอยู่ เราไปรักษาที่โรงพยาบาล หมอบอกกลับบ้านได้แล้ว รักษาหายแล้ว มันจะเป็นอย่างนั้นไหม ถ้าเรายังไม่หาย ไม่ได้!

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้ามันไม่ขาดใครก็บอกเราไม่ได้ แต่ถ้ามันขาดออกจากใจนะ ขาดออกไปเลย ทุกข์เป็นทุกข์ จิตเป็นจิต กายเป็นกาย สักกายทิฏฐิขาดออกไปเลย ทุกข์ไม่มีในกายกายนี้จะไม่ทุกข์อีก กายไม่ทุกข์อีกแล้ว จิตนี้ก็ไม่ทุกข์อีกแล้ว เห็นไหม มันคนละอัน ต่างอันต่างจริงอยู่ด้วยกัน กาย-จิต กายกับใจไงที่ว่า บ่าวกับนาย บ่าวกับขี้ข้ากับเจ้านาย เพราะเจ้านายนั้นหลุดออกไป ทีนี้ใจนั้นมันจะเป็นนายแท้ๆ จากกายนี้เป็นบ่าว ใจเป็นขี้ข้า แล้วไอ้กิเลสอยู่ข้างหลังนั่น พอกิเลสมันออกไปแล้ว มันขาดออกไปแล้ว คราวนี้แหละวิชชามันเกิด เพราะวิชชาเกิดแล้ว วิชชารู้เท่าแล้ว วิชชารู้เท่าตามความเป็นจริงของจิตที่เคลื่อนไป อวิชชาก็ต้องตายไปชั้นหนึ่งสิ อวิชชานี้มี ๔ ชั้นนะ ชั้นแรกตายแล้ว วิชชาเกิดขึ้น วิชชารู้เรื่องกายไง รู้เรื่องสักกายทิฏฐิ วิชชานี้เกิดขึ้นแล้ว วิชชาของกาย อวิชชามันตายไปแล้ว ก็กลายเป็นว่า ตอนนี้ใจก็เลยเป็นนายจริงๆ กายก็เป็นบ่าวจริงๆ ใจไม่เป็นขี้ข้า ชั้นหนึ่ง

จากกายที่เป็นบ่าว จากใจเป็นขี้ข้า แล้วมาเป็นเจ้านายมัน ฟังดูสิ จากเรายืมของเขามา สมบัติที่เราฟังๆ มา เราฟังครูบาอาจารย์มา เราฟังพระพุทธเจ้ามา ต่อไปนี้เราเป็นเจ้านาย เราเป็นสมบัติเอง เรามีของเราขึ้นมาแล้วในหัวใจของเรา เห็นไหม ภพชาติสั้นเข้า จะเกิดก็เกิดอีก แต่ไม่เกิดแบบเมื่อก่อน ไม่เกิดแบบหมุนไปเวียนมา หมุนไปเวียนมา ไม่มีที่สิ้นสุด มันน่าเบื่อหน่าย มันน่าขยะแขยง กับการเกิดการตาย

แต่นี้เวลาเกิดมาก็ดีใจ แล้วไปข้างหน้าก็จะเสียใจ เพราะจะไปไหนก็ไม่รู้นะ มันเป็นแต่เรื่องของทุกข์ทั้งนั้นเลย แต่พอเกิดตรงนี้แล้ว ถึงจะเกิดจะตาย มันก็อุ่นใจแล้วนะ เห็นไหม มันยังต้องหมุนไปอีก แต่ก็มีความสุขมาก แปลกโลกแล้ว แปลกจากโลกเขา คนประเภทนี้แปลกจากโลก เขาจะไม่มองเหมือนโลกเขาเลย โลกเขามองปัญหาอย่างหนึ่ง คนๆ นี้จะมองปัญหาอีกอย่างหนึ่ง

 

เพราะปัญหาของโลกอย่างที่ว่านั่นแหละ มันเป็นปัญหาเอามาสะสม เป็นลูกตุ้มถ่วงขาไว้ไงล่ะ กับจะมองปัญหาแบบว่าจะเหนี่ยวให้สูงขึ้นไปไง เราอยู่ในที่ต่ำเราจะเหนี่ยวรั้งลวดสลิงให้สูงขึ้นไปเห็นไหม กับคนที่ว่าหามาสะสมผูกอยู่ที่ขา มันต่างกันไหม ถึงได้มองปัญหาต่างกัน ต่างกันเพราะภพของใจมันต่างกัน เพราะฐานของใจ ฐานความคิดมันคนละฐาน พอคนละฐานแล้วต่อไป เพราะคนที่เริ่มตรงนี้แล้ว จะสบายมาก มันเข้าใจไง การปฏิบัติก็ง่ายขึ้นๆ นะ แต่ก็ไม่ถึงกับง่ายทีเดียว เพราะงานข้างหน้ายังต้องต่อสู้ ง่ายขึ้นเพราะอะไร เพราะคนทำงานบนขาลอย กับคนทำงานที่เหยียบบนพื้นมันต่างกัน เมื่อก่อนเราขาลอยหมดเลย หยิบตรงไหนก็ไม่ได้ ทำตรงไหนก็ไม่ถูก อยู่บนสุญญากาศ มันไม่มีแรงดึงดูดให้เราตั้งมั่น

กายขาดไปแล้วนี้มั่นเด็ดขาด ตามหลักธรรมบอกว่าเหมือนกับคนที่อยู่ในทะเล แล้วว่ายเข้าฝั่งจนตีนเหยียบพื้นแล้วไง การเหยียบพื้นแล้วมันสุขขนาดไหนล่ะ นั่นจิตหนึ่ง เรามีนะ อยู่ในใจเรา แล้วมันมีค่าเท่ากัน อย่าดูถูกตัวเอง อย่าตัดขาตัวเอง อย่าทำลายน้ำใจตัวเอง ใจเท่านั้นที่มันจะกัดเพชร ใจเท่านั้นที่จะปฏิบัติถึงใจ ถ้าไม่ให้กำลังใจตัวเองมันก็เดินไปไม่รอด พอเริ่มฟังว่ามรรคว่าผล ก็เข่าอ่อน “ไม่มี ไม่มีหรอก มรรคผลมันหมดสมัยแล้ว พระพุทธเจ้านิพพานมานานแล้ว ไม่มี” ใครเป็นคนพูดอย่างนั้น กิเลสในใจเราพูด ความลังเลสงสัยพูด ความไม่เคยพบเคยเห็นพูด ครูบาอาจารย์มีอยู่นี่นา คนตาใส มี คนตาสว่าง มี คนเคยพบ มี ของมีอยู่ อย่าเชื่อ กิเลสมันหลอก

ทั้งๆ ที่มันไสมา ทุกขณะนี้แล้วมันยังหลอกต่อไปข้างหน้าอีกว่า “ไม่มี มรรคไม่มี ผลไม่มี ปฏิบัติไปก็จะสูญเปล่า” การให้กำลังใจ มันก็จะเดินข้างหน้า “เราทำไม่ได้ เราทำไม่ได้” คิดแค่นี้มันม้วนเลย ฉะนั้นถึงว่าเรามี ต้องเรามี เราต้องทำได้ แล้วไม่ทำสูญเปล่าด้วย ทำแล้วจะได้ผลจริงๆ คนลุกขึ้นยืนมันก็ยืน คนนั่งลงมันก็นั่ง นี่ก็เหมือนกัน ทุกข์มันอยู่ที่ใจ สิ่งที่มีเหตุมีผล มันต้องสู้กันได้ มีคู่กับไม่มี ไม่มีมันก็ต้องคู่กับมีสิ ต้องทำด้วยความมั่นใจ ทำด้วยความตั้งมั่น อย่าลังเลเพราะลังเลนี่คือนิวรณธรรมอยู่แล้ว ความลังเล ความไม่จริงจัง ความไม่ตั้งมั่นนี้มันเป็นนิวรณ์ทั้งนั้น ถ้าเป็นนิวรณ์สมาธิก็จะไม่เกิด ถ้าสมาธิไม่เกิดอย่างที่ว่านี้ มันก็ทำไม่ได้ เพราะมันยังไม่ได้ก่อสร้างบ้าน

 

ก่อสร้างบ้านเอาทรายไปก่อๆๆๆ ก่อไว้มันก็ล้ม บ้านทรายเห็นไหม เอามาทำบ้านเล่น มันก็ได้ เอาทรายชุบน้ำก่อๆๆ ขึ้นไป พอมันแห้งมันก็ล้ม ทำสักแต่ว่าทำก็เป็นอย่างนั้น สักแต่ว่าทำกัน เอาทรายมาก่อเล่นกัน กองทรายไง มันไม่เป็นบ้านขึ้นมา เพราะเราไม่จริง จะเป็นบ้านขึ้นมาก็ต้องอย่างนี้ ต้องมรรคคือองค์ ๘ ไง การประกอบมันขึ้นมาก็คือเราเป็นคนประกอบเองนะ ช่างผู้ฉลาดเห็นไหม ลงเสาก่อน ขุดหลุม เทฐาน ตั้งเสา ตั้งเสาแล้วผูกเหล็กขึ้นไป เทแบบ มันก็จะเป็นขึ้นมา

นี่ก็เหมือนกันต้องหาขึ้นมา ต้องทำขึ้นมา เป็นไปได้ ทุกคนมีวาสนา ทุกคนต้องมีสมบัติเดิม เพราะถ้าไม่มีสมบัติเดิม ก็ไม่ได้พบพุทธศาสนาแน่นอน ว่าอย่างนั้นเลย แต่นี่พบจังๆ หน้าเลย แล้วไม่ยอมขึ้นรถ รถวิ่งไปแต่ไม่ยอมก้าวขึ้นเอง แล้วก็มานั่งเสียใจอยู่ว่าตกรถ ตก ๕,๐๐๐ ปีนี้เราจะเอาได้ไหม แล้วชีวิตเรา ๕,๐๐๐ หรือ ๑๐๐ปีเท่านั้น เกิดมาแล้วก็ตายไป เกิดมาเจอทองคำ เจอสิ่งที่ประเสริฐเลอเลิศเลยอยู่ตรงหน้า เพียงแต่เราไม่รู้เท่านั้นเหมือนกันเลยนะ เหมือนกับโลกที่เขาไม่รู้จักว่าอันนี้เป็นสมบัติไง แร่ธาตุที่อยู่ในดิน ก็ให้คนอื่นเขาไปหมดเลย ไม่รู้หรอกว่านี้เป็นแร่ธาตุยูเรเนียมที่เขาขายได้ค่ามหาศาล ให้เขาไปหมดแล้ว มารู้ทีหลังเสียใจไหม นี่ก็เหมือนกัน ศาสนานี้มันยิ่งกว่ายูเรเนี่ยมอีก มันเป็นนิวเคลียร์ที่จะระเบิดกิเลสในใจออกไป

พอตายไปก็เท่ากับเราหมดโอกาสอันนี้ พอเราตายจากศาสนาไปก็เหมือนกับเราให้แร่ธาตุคนอื่นเขาไปแล้ว เพราะเราตายจากศาสนานี้ ศาสนานี้ยังอยู่เพราะ ๕,๐๐๐ปีใช่ไหม แต่เราตายออกไป เราตายจากศาสนาไป เราก็ไม่มีแร่ธาตุอันนั้นจะมาทำระเบิดเพื่อระเบิดหัวใจของตัว ถึงบอกว่าไม่ได้ขึ้นรถไง ไม่ก้าวเดินเองนี่ เราจะไปโทษศาสนาไม่ได้ ไปโทษรถไม่ได้ ต้องโทษเพราะเราไม่ก้าว เพราะเราไม่ยกขาขึ้น ถ้าเราก้าวขึ้นรถ เราไปนั่งในรถ รถก็พาเราไป

 

ถ้าเราก้าวเข้าไปในธรรม เราปฏิบัติเข้าไป เราก็เข้าไปในธรรม ฟังสิ ทำไมถึงว่าเข้าไปในธรรม เพราะธรรมนี้อยู่ที่ใจ พอปฏิบัติแล้วหัวใจนี้เป็นธรรม หัวใจนี้เป็นธรรมทั้งแท่ง เพราะธรรมะอยู่ที่หัวใจ อยู่ที่ใจของมนุษย์ อยู่ที่ใจของเทวดา ใจเท่านั้นที่จะเป็นภาชนะรับธรรม แล้วภาชนะนั้นมันปฏิบัติตัวมันเอง จนภาชนะนั้นเป็นธรรมเอง ฟังสิถึงว่าเข้าไปในธรรมไง เราดันหัวใจเราเข้าไปอยู่ในธรรม

เขาบอกว่าโลกนี้เป็นธรรมชาติ สิ่งใดก็เป็นธรรมชาติ กิเลสก็เป็นธรรมชาติอยู่แล้ว มันก็หมุนกันอยู่อย่างนี้ แต่ถ้าเป็นธรรมจริงๆ ในหัวใจจะรู้จักเลยว่า “อ๋อ ธรรมจริงมันเป็นแบบนี้” ธรรมชาติเป็นวัฏวน ธรรมแท้ของพระพุทธเจ้าคือการออกจากวัฏฏะ ออกจากความหมุนเวียนของธรรมชาติ หลุดออกไปจากธรรมชาติเลย ไม่ใช่อยู่ในธรรมชาตินี้หรอก เพราะธรรมชาตินี้เป็นวัฏฏะอยู่แล้ว จะเป็นหรือไม่เป็น มันเป็นโดยธรรมชาติเห็นไหมโดยธรรมชาติ แต่ธรรมแท้นี้มันหลุดออกไป แล้วเราจะอยู่ในธรรมไหน มันอยู่ที่ใจเรานั่นล่ะ เวลาใจเราเป็นธรรม มันก็เป็นเห็นไหม

แต่เราเป็นกิเลส อย่างนี้นี่เป็นกิเลส ที่มันทุกข์อยู่นี่เป็นกิเลส เวลามันเป็นธรรมขึ้นมา เราก็เข้าไปในธรรม นี่ขนาดเข้าธรรมครั้งแรกนะ ถึงบอกว่าใจนี้สำคัญ มหัศจรรย์ เรามีคุณค่ามาก ถ้ายังไม่ตายนี่มีคุณค่ามาก ตายแล้วจะเสียใจ ถ้าเสียใจแล้วใครจะมาบอก ในพระสูตรเห็นไหม เขาไม่เชื่อนรกสวรรค์ เขาสั่งคนใกล้ตายไว้ว่า ตายแล้วตกนรกก็ให้มาบอกนะว่าตกนรก แล้วใครมันจะมาบอกได้ล่ะ นี่ก็เหมือนกันเวลาตายแล้วจะเสียใจตรงไหน ก็ตายไปแล้ว เพราะใจมันไปเป็นภพๆ ไป มันอยู่ในนรกแล้ว มันก็ อ้อ..ฉันอยู่ในนรก แล้วจะไปบอกใครล่ะ ก็เสวยภพนั้นไป มันไม่เห็นข้างหน้าข้างหลังนะ ไม่เห็นหรอกข้างหน้าข้างหลัง โง่กันมาตลอด

จนพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้เห็นไหม วันเพ็ญเดือน ๖ บุพเพนิวาสานุสติญาณ วิชชา ๓ บุพเพ คือ อดีตว่าเกิดเป็นอะไรมา เวลาเทศน์ออกมานั่น ๕๐๐ ชาติ ๑๐ ชาติสุดท้าย พระเวสสันดร พระพุทธเจ้าบอกว่า “เราเคยเป็น” พระพุทธเจ้าบอกว่าท่านเคยเป็น เพราะว่าเป็นไม่ได้ เพราะพระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว พระเวสสันดรนั้นเป็นอดีต ถ้าเป็นมันก็ต้องเป็นภพเดียวกันสิ เคยเป็นหมายถึงว่าเคยเป็นในอดีตมาคนละชาติ คนละไง แต่มันสะสมบารมีอันนั้นขึ้นมาให้ใจ เห็นไหม มันถึงแปลกประหลาดนะ ชาติต่างๆ แล้วมันจะม้วนลงไง ความดีความชั่วมันจะม้วนเข้าไปอยู่ในใจหมดเลย

ทำความดีก็เกิดเป็นบารมีขึ้นมา ถึงมาสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ถึงได้มีผลบุญส่งมหาศาลมาก เพราะได้สร้างไว้มหาศาล ฉะนั้นมันอยู่ที่การสร้างทั้งนั้น ศาสนาพุทธเราถึงได้เป็นศาสนาแห่งเหตุและผล ไม่ใช่ศาสนาของการอ้อนวอน ไม่ใช่ศาสนาของการขอเอา ขอนี้เป็นแค่เป้าหมายไง บารมีธรรม อธิษฐานบารมี เรายังไม่มี หัวใจยังลังเลสงสัย มันไม่มีที่เกาะที่เหนี่ยว ก็อธิษฐานไว้ว่าข้าพเจ้าจะทำแบบนั้น แบบนั้นคือเป็นเป้าหมาย เป็นการอธิษฐาน แต่ไม่ใช่ขอ ขอไม่ได้ แต่ตั้งเป้าหมายไว้แล้วพยายามเดินหาเป้าหมายนั้น

นั่นเขาเรียกอธิษฐานบารมี บารมี ๑๐ ทัศไง เป็นพระพุทธเจ้าก็ต้องอธิษฐานว่าอยากเป็นพระพุทธเจ้า แล้วก็เป็นพุทธภูมิมา “พุทธภูมิ” ภูมิของพระพุทธเจ้า ทุกข์ยากมามหาศาล ก็สร้างมาๆ เรานี่ชุบมือเปิบนะ ชุบมือเปิบจริงๆ เพราะทุกข์มาขนาดนั้น ทุกข์มาทุกๆ ชาติ สร้างมาขนาดนั้น แล้วอย่างพวกเรานี้ไม่มีปัญญาหรอก แล้วพระพุทธเจ้ามาวางไว้ วางไว้นะแล้วเราไม่ก้าวขึ้นเอง วนมาดูที่ใจ อย่าให้เพลินไปข้างนอก ให้เพลินเข้าข้างใน เพลินในธรรม

เวลานั่งสมาธิเดินจงกรมเคยเพลินไหม เพลินแบบเต็มที่เลย เพลินมีความสุข เดินนี่ตัวปลิวนะ สุขของการปฏิบัติ สุขของการหาน้ำดื่มในใจของตัว ไม่ใช่สุขแบบวิ่งเต้นเผ่นกระโดดไปหาข้างนอกนู่น นี่เป็นพุทธแท้ไง มันรำพึงทุกทีนะ เวลามันคิดถึงความสุขภายในว่า “อู้ฮู อู้ฮู” อุทานเลยนะ ความสุขมีอยู่ในใจนี่มหาศาลเลยแต่ไม่หากัน โลก มองไปสิ แล้วถึงวันหนึ่งมันจะต้องแปรปรวน อนิจจัง สรรพสิ่งนี้เป็นอนิจจัง ไม่คงที่หรอก จะเจริญไปขนาดไหนนะ แล้วมันต้องบุบสลายไป แต่สิ่งที่ไม่สลายก็คือใจ สิ่งที่ไม่สลายมีอยู่ ถ้าเราหาได้ก่อน เราก็พ้นทุกข์ก่อน

เราหาสิ่งที่เป็น “นิจจัง” ว่าอย่างนั้นเลยนะ เป็นนิจจัง นิจจังจริงๆ ความสุขภายในนี่เป็นนิจจัง แต่ถ้าเราไปยึดเป็นนิจจังไม่ได้ เพราะธรรมดานี้มันเป็นอนิจจังอยู่แล้วการเคลื่อนของใจนี้เป็นอนิจจังอยู่แล้ว กิเลสก็เป็นอนิจจัง แต่ถ้าพิจารณาสุดๆ ไปแล้วคือจิตหนึ่งเดียวไง เข้าไปที่จิตหนึ่งเดียว จะบอกว่าจิตหนึ่งก็ไม่ได้ เพราะคำว่าจิตหนึ่งนี่เป็นแท่งเป็นอัน

แต่ใช้คำว่าจิตหนึ่งเพราะว่าต้องสมมุติให้รู้กันไงว่าเราก็มี พระพุทธเจ้าก็มี พระปัจเจกพุทธเจ้าก็มี เพราะถ้าไม่มีจิตหนึ่ง ไม่มีใจนี้จะเป็นขึ้นมาได้อย่างไร เพราะเป็นขึ้นจากภายใน การเกิดการตายนี่เกิดขึ้นจากใจ คนยังมีชีวิตอยู่เพราะมีหัวใจ พอใจออกจากร่างดับแล้ว นั่นล่ะคือคนตาย จิตหนึ่งนี้ก็ไปเสวยภพที่มันเป็น ก็ยังเป็นจิตหนึ่งอยู่อย่างเก่านั่นล่ะ แต่อย่างเก่าคือจิตหนึ่งแบบขี้ทุกข์ (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)