เทศน์พระ วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ตั้งใจฟังธรรม ธรรมะเป็นสัจธรรม ไม่ใช่ธรรมะแบบโลกียธรรม โลกียธรรมแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ธรรมะมันเป็นธรรมที่เหนือโลก เหมือนอวกาศ จากโลก มีแกนของโลก แล้วก็มีอากาศ อากาศหายใจ ออกซิเจน พ้นออกไปเป็นอวกาศ นี่อวกาศนะ ถ้าพูดถึงเป็นวิทยาศาสตร์ สิ่งนั้นมันก็เป็นธรรมชาติที่มันแปรปรวนตลอด แต่ธรรมะที่มันไม่เข้าฝักฝ่ายไง สัจธรรมที่เป็นความจริงไง
แต่ถ้าเป็นธรรมะที่เราศึกษากัน ธรรมะของเรา แสดงธรรม ธรรมของเรา ธรรมของกิเลสไง กิเลสเกิดจากใจ ใจมันเป็นสภาวะ ใจเป็นโลก ใจเป็นปฏิสนธิจิต มันมีด้านมืดและด้านสว่าง ถ้าไม่มีด้านสว่างเลย มันจะสว่างไม่ได้
โดยสัจธรรม ชีวะ จิตมันมีชีวิต มันเป็นธรรมชาติที่ไม่เคยตาย แต่มันโดนด้านมืด ด้านมืดคืออวิชชาครอบงำไว้ ด้านมืดที่มันมีด้านมืดอยู่ เราถึงต้องหมุนไปในวัฏฏะ สิ่งที่หมุนไปในวัฏฏะ เราพยายามจะออกจากด้านมืด ทีนี้เราพยายามจะออกจากด้านมืด แต่ด้านมืดมันมีกำลังมากกว่า ถ้าด้านมืดมีกำลังมากกว่า การแสดงออกมันแสดงออกโดยด้านมืด ทั้งๆ ที่แสดงธรรมว่า นี่สัจธรรมๆ มันเป็นด้านมืด
ดูสิ แม้กระทั่งเข้าพรรษามา นี่วันออกพรรษา วันนี้จะเป็นวันมหาปวารณา ถ้าเป็นมหาปวารณา ถ้ามันจะเป็นสัจธรรม มันต้องปวารณาออกมาจากใจ มันต้องให้อภัยกันมาตั้งแต่ใจ ใจนี้ต้องให้อภัยต่อกัน สิ่งที่มันเกิด มันเกิดมาจากด้านมืด ด้านมืดคือสิ่งที่มืด ดูสิ ดูอย่างดวงจันทร์ยังมีข้างขึ้นข้างแรม อย่างพระอาทิตย์ยังมีกลางวันมีกลางคืน สิ่งที่เกิดขึ้นมามันเป็นธรรมชาติอย่างนั้น ความเจ็บช้ำน้ำใจ ความสุข ความพอใจ มันก็เป็นด้านมืดกับด้านสว่าง ถ้าด้านมืดกับด้านสว่าง มันเป็นธรรมชาติอันนั้น แต่มันมีกิเลสของเราเข้าไปยึดมั่น มันเลยทำให้สิ่งนั้นมันกระเทือนกันไปหมด ดูสิ เวลาออกพรรษา พระก็แตกกันมา นั่นก็แตกกันออกมาแล้ว มันอยู่กันไม่ได้เพราะมันบีบคั้น สิ่งที่บีบคั้นเพราะอะไร ด้านมืดมันบีบคั้น
ถ้าด้านสว่างล่ะ ด้านสว่าง เราพอใจนะ เราพอใจ เราเห็นภัยในวัฏฏะ เห็นภัยในโลก เราถึงเสียสละออกมา เราเสียสละจากโลกมา สิ่งที่เป็นสิทธิตามกฎหมาย เราเสียสละหมดเลย เป็นภิกษุ เป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เราออกประพฤติปฏิบัติ ออกประพฤติปฏิบัติเพื่อจะให้มันรู้แจ้ง สิ่งที่รู้แจ้งมันก็ต้องอาศัยโลก อาศัยหัวใจ อาศัยชีวะ อาศัยความรู้เข้าไปค้นคว้า ทีนี้การค้นคว้าถ้ามันผ่านจากด้านมืดออกมาไม่ได้ สิ่งที่ด้านมืดออกมามันระราน มันมีปัญหาไปหมดเลย เพราะธรรมะที่อยู่ด้านมืดมันปิด มันครอบงำไว้ มันถึงต้องมีข้อวัตร พอมีข้อวัตรขึ้นมา ถ้ามันทำข้อวัตรด้วยความรื่นเริงอาจหาญ เราทำขึ้นมาเพื่อจะเปิดความมืดบอด ความหมักหมม ความต่างๆ ออกไป นี่มันแค่เปิดโอกาสเปิดการกระทำนะ มันยังไม่เป็นการกระทำเลย การกระทำมันต้องทำความสงบของใจเข้ามา แล้วมันจะเกิดปัญญาเข้าไปรักษาสิ่งต่างๆ
ด้านมืด-ด้านสว่าง คำว่า ด้านสว่าง ด้านสว่างคือตัวใจ ถ้าไม่มีตัวใจ อะไรไปรับมัน สิ่งที่สัมผัสธรรมะคือความรู้สึกใช่ไหม ความรู้สึกที่ว่าด้านสว่าง มันโดนความมืดปกคลุมไว้อยู่ มันนอนเนื่องมากับใจนะ มันเป็นอนุสัย มันควบคุม มันเหมือนไฟฟ้า พลังงานความร้อนกับแสงสว่าง สิ่งต่างๆ มันมาด้วยกัน สิ่งที่มาด้วยกันมันต้องมีพลังงานของมัน มันถึงเป็นไปได้ แต่ถ้าไม่มีความร้อน ไม่มีสิ่งใดเลย มันสว่างได้อย่างไร แสงมันจะเป็นไปได้อย่างไร แสงที่มันเกิดขึ้นมา แสงสว่างคืออวิชชา แล้วความพ้นทุกข์ไปมันเป็นอย่างไร
มันมีอยู่ในหัวใจ มันมีโอกาสไง ทีนี้มีโอกาส การกระทำมันถึงทุกข์ร้อน การทุกข์ร้อนเพราะว่าด้านมืดมันมีกำลังมากกว่า ด้านมืดมันมีกำลังมากกว่ามันก็ฉุดรั้งเราให้เราทำตามกระแสของมัน ถ้ามันมีธรรมะเข้ามากล่อมใจ มันจะเห็นวันเวลาที่ผ่านไป มันจะสลดสังเวชนะ ดูสิ เราเกิดมาตั้งแต่เด็ก จากแบเบาะจนโตเป็นผู้เป็นคนขนาดนี้ ชีวิตที่มันผ่านไป เราได้อะไรมา แล้วสิ่งที่ต่อไปมันจะได้อะไรไป ถ้ามันยังเป็นด้านมืดครอบงำอยู่นี่ มันก็จะเร่าร้อนอย่างนี้ไป มันก็จะโลเลกันอย่างนี้ไป มันจะไม่มีอะไรจับติดไม้ติดมือเราไป ถ้ามันจับติดไม้ติดมือเราไป มันต้องฝืนทน ถ้าเราทนกับความมืดบอดกับอวิชชาได้ เราทนกับมัน ทนแบบขันตินะ ไม่ใช่วิธีการต่อสู้ เป็นขันติธรรมก่อน ถ้ามีขันติธรรมในการอดทน มันจะทำให้เรามีจุดยืน เราจะต่อสู้กับมัน
สิ่งแวดล้อมสัปปายะ หมู่คณะเป็นสัปปายะ อาหารเป็นสัปปายะ ครูบาอาจารย์เป็นสัปปายะ ครูบาอาจารย์สำคัญมากนะ ถ้าครูบาอาจารย์ไม่สำคัญ จะชี้ความมืดบอดได้อย่างไร มืดกับสว่าง อะไรมันมืด อะไรมันสว่าง มืด มันมืดเพราะใคร สว่าง สว่างเพราะใคร
ในมืดมีสว่าง ในสว่างมีมืด มันมีอารมณ์ความรู้สึกตั้งใจดี เจตนาดี แต่ทำไปแล้วมันมีปัญหา มันมีความขัดแย้ง
นี่มีสว่าง ในสว่างมันมีมืด ในมืดมีสว่าง มันไม่อยากทำ มันไม่พอใจทั้งหลายทั้งสิ้นเลย แต่ฝืนมันไป กระทำมันไป ฝืนมันไป มันมืด มันขัดแย้งไปทั้งหมด แต่ทำไปมันจะเห็นโทษของมัน เห็นโทษของการกระทำว่าสิ่งที่มืดบอดทำให้เกิดโทษอย่างไร
ในมืดมันมีสว่าง พอมันไปถึงที่สุดมันมีสว่างขึ้นมานะ เราเอาชนะเราได้ไง เราเอาชนะสิ่งที่มืดบอดในหัวใจได้ มันเป็นสิ่งที่เราอดกลั้นได้ เราทำได้ มันเป็นขันติธรรม ขันติธรรมไม่ใช่ปัญญาธรรม ขันติธรรมคือขันติบารมี เราทนได้ เราพยายามเพิกต่อความมืดบอดออกไปได้ สิ่งที่ออกไปได้มันก็สว่างขึ้นมา ความสว่างขึ้นมามันก็เห็นแจ้ง เห็นแจ้งมันก็เข้าใจ พอมันเข้าใจแล้ว ไม่มีอะไรเลย เหตุเกิดเพราะความยึดมั่นถือมั่น เหตุเกิดเพราะสิ่งที่กระทบกระเทือนกัน เหตุเกิดเพราะมันเป็นไปตามธรรมชาติของมัน ธรรมชาติของมันเป็นอย่างนั้น แต่คนเราไปยึดติดมาก-ยึดติดน้อย มันมืดมาก-มืดน้อย สว่างมาก-สว่างน้อย ต่างๆ นี่นานาทัศนะ
ถ้านานาทัศนะ สิ่งนี้มันกระทบกระเทือนกัน มันกระทบกระเทือนกันแล้วเราต้องกลับมาดู เราจะทำอะไร งานของพระคืองานอะไร งานข้างนอก งานอาบเหงื่อต่างน้ำในการบริหารจัดการ เราว่าเป็นงาน สิ่งที่เป็นงาน งานบริหารจัดการ ดูสิ พระสังฆาธิการต้องไปศึกษาการบริหารจัดการ ต้องไปศึกษาการซ่อมบำรุง
แต่ถ้าการบริหารจัดการใจล่ะ การซ่อมบำรุงขึ้นมาซ่อมบำรุงเพื่อใคร ซ่อมบำรุงมาเพื่อความทุกข์ ทุกข์สิ ไปแบกมันไว้ไง โน่นก็ยังไม่ได้ทำ นี่ก็ยังไม่เสร็จ เห็นไหม แม้แต่ในสังคมสงฆ์ก็ยังว่าการบริหารจัดการ หน้าที่ของพระอธิการต้องมีการบริหารจัดการ แต่ไม่คิดว่าหน้าที่ของพระ หน้าที่ของผู้บริหาร หน้าที่ของหัวหน้าจะดูแลหัวใจอย่างไร ใจหัวหน้ามีจุดยืนไหม จุดยืนคือว่ามันรู้แจ้งในใจไหม ถ้ารู้แจ้งในใจ มันจะเข้าใจเรื่องของด้านมืดและด้านสว่าง สิ่งใดเป็นความมืด สิ่งใดเป็นความสว่าง
ในความมืด ผู้ที่อยู่ในความมืดไม่เข้าใจว่ามืด ถ้าไม่เข้าใจว่ามืด การแสดงออกมามันแสดงออกมาด้วยความมืดไง ความไม่เข้าใจ มันมืดเพราะไม่เข้าใจ พอพูดออกไปมันจะขัดแย้ง มันจะไม่เป็นสัจจะความจริงหรอก มันมีจุดบกพร่องตลอดไป แม้แต่ด้านมืด แต่อาศัยแสงสว่างจากธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแสดง แต่ในหัวใจมันมืด พูดออกไปมันก็เหมือนกับตาบอดคลำช้าง มันก็ต้องผิดพลาดเป็นธรรมดา
นี่ไง ครูบาอาจารย์ที่มืดสว่างมา ท่านรู้หมด พูดมามืดหรือสว่าง รู้ทั้งนั้นน่ะ เพียงแต่ว่าโอกาสของคน โอกาส ศาสนทายาท ธรรมทายาท เราจะมีศาสนทายาท ศาสนาจะมั่นคงได้อย่างไร ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า เมื่อไหร่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ไม่สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงต่างๆ ได้ ไม่สามารถยืนอยู่ได้... มันต้องมีจุดยืนขึ้นมาไง
ศาสนทายาทมันจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
หัวหน้าจะทำให้เกิดศาสนทายาทขึ้นมา ความมืดความสว่างนั้นมันต้องแก้ไข ความแก้ไข เพราะความแก้ไข เพราะเรามีกำลังอ่อน จิตใจเราอ่อนแอ จิตใจเราไม่มีกำลัง เราถึงเป็นขี้ข้ามัน เราถึงต้องยอมจำนนกับมัน เราถึงต้องให้มันฉุดกระชากลากไปให้เกิดเป็นความขุ่นมัวในหัวใจของเรา
แต่ถ้าเรามีปัญญาขึ้นมามันจะแยกแยะ มันจะเข้าใจ มันจะเห็นสิ่งนี้มันเป็นอาการ มันเป็นความเกิดดับ ถ้าเราผ่านพ้นไปได้ มันจะปล่อยวาง มันจะเบามาก มันจะเข้าใจและมีความเบามาก เหมือนกับ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนแก้ไขตน ตนเข้าใจตน พอตนเข้าใจตน มันแก้ไขของมันไป พอมันแก้ไขของมันไป มันก็ปล่อยๆ มันมีความสุข ความสุขนะ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต เราจะเห็นสัจธรรมในหัวใจของเรา เราจะเห็นความจริงในใจของเรา
ครูบาอาจารย์ส่วนครูบาอาจารย์นะ ท่านสอนเรา สาธุ! กตัญญูกตเวที เคารพบูชาท่าน แต่ความจริงมันเกิดจากเรา ถ้าเกิดขึ้นมา เราเข้าใจได้ แหม! แหม! นี่ไง ถึงธรรม ถึงธรรมคือถึงใจ ถึงธรรมคือถึงฐานของจิต ถึงธรรมคือถึงความรู้สึก ถึงหมดเลย แต่ถ้าเราไปลูบๆ คลำๆ กันอยู่จากภายนอก มันจะถึงธรรมได้อย่างไร มันเป็นธรรมจากข้างนอก เราไปลูบคลำขึ้นมาแล้วมันจะถึงเราไหม แต่ถ้ามันเกิดขึ้นมาจากเรา มันทิ่มเข้ามาในหัวใจ มันทิ่มเรา มันทิ่มเรา มันทิ่มมากลางหัวใจ มันทิ่มมาอย่างนั้น นี่ถึงธรรม ถึงธรรมมันต้องต่อสู้นะ มันต้องตั้งใจ มันต้องมีสัจธรรม มันต้องต่อสู้กับการกระทำ สิ่งที่มันเกิดขึ้นมามันเป็นสมบัติส่วนตนนะ
ด้านมืดด้านสว่างมันอยู่ที่ไหน เวลาพูดถึงพระอาทิตย์ พระจันทร์ พูดถึงแสงสว่างต่างๆ มันเป็นบุคลาธิษฐาน แต่ความสว่างความมืดในหัวใจ แสงสว่างใดๆ ก็ไม่เท่าแสงสว่างแห่งปัญญา ปัญญามันสว่างกระจ่างแจ้ง มันฉุดลาก มันเปิดจากความมืดบอดของใจได้ทั้งหมดเลย ถ้าเปิดจากความมืดบอดของใจ เราเริ่มต้นจากที่ไหนล่ะ เริ่มต้นจากว่า จุดยืนของเราเป็นอย่างไร สังคมที่เป็นมา เราเคยเป็นมาอย่างไร สิ่งที่เคยกระทำมันเป็นมาอย่างไร
เวลาบวชขึ้นมาแล้ว คฤหัสถ์เข้ามาบวชเป็นบรรพชิต ภิกษุใหม่จะทนการกล่าวตักเตือนได้ยาก ทีนี้ภิกษุเก่าเคยผ่านจากการเป็นภิกษุใหม่มา มันก็ต้องเข้าใจเรื่องสภาวะแบบนั้นว่าสิ่งใดควรไม่ควร นั่นเป็นหน้าที่ไหม เวลาเราปรึกษาหารือกัน เราสนทนาธรรมกัน สิ่งใดเป็นการชี้นำกัน แต่สิ่งใดที่ไม่ได้เป็นการชี้นำกัน หัวหน้ามี หัวหน้ามี เป็นหน้าที่ของหัวหน้า หัวหน้าจะจัดการของหัวหน้าไป เพราะบางอย่างมันรับกันได้ รับกันไม่ได้ มันเป็นสถานะๆ กันไป นี่ภิกษุใหม่-ภิกษุเก่า
อย่าว่าแต่ภิกษุใหม่เป็นผู้ว่ายากสอนยาก แล้วภิกษุเก่าไม่ใช่เป็นภิกษุใหม่มาก่อนหรือ ภิกษุเก่าก็ต้องเคยเป็นภิกษุใหม่มาก่อน การผ่านจากความรู้สึก ความเห็นของเรา จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่งนะ ถ้าเป็นด้านมืด ดูสิ รับน้องใหม่ๆ เราพูดบ่อยกับพวกเรา ถ้าเราเคยโดนรับน้องใหม่มา เราจะไม่รับน้องใหม่อีกแล้ว เพราะอะไร เพราะการรับน้องใหม่มา เราก็รู้ว่าความรู้สึกเป็นอย่างไร นี่ก็เหมือนกัน แต่พอเราเป็นภิกษุใหม่มาก่อน เราเคยอยู่สภาวะอย่างไร พอเป็นภิกษุเก่า มันไม่ทิ้งนิสัย มันจะเป็นภิกษุใหม่ตลอดไป มันไม่ยอมเป็นภิกษุเก่า
เป็นภิกษุเก่ามันเข้าใจ มันเห็นอกเห็นใจนะ ดูสิ ดูครูบาอาจารย์ เช่น หลวงปู่มั่น สมัยสงคราม ผ้าผ่อนแพรพรรณใครไม่มี ท่านหาให้ ท่านดูแลให้ แล้วเวลาบอกว่า ของอาจารย์ไม่มี
ไม่เป็นไร หัวหน้าเขาให้เอง
หัวหน้าต้องได้ก่อนอยู่แล้ว หัวหน้าได้เท่าไรหัวหน้าจะเจือจานให้กับลูกศิษย์ก่อน เจือจานไป ทั้งการเป็นอยู่จากภายนอก ทั้งการเป็นอยู่จากภายใน ท่านทำมาจากอะไร? ท่านทำมาจากน้ำใจของท่าน ถ้าเป็นน้ำใจของท่าน ท่านทำตามสัจจะความจริงของท่าน
แต่ของเราขึ้นมา สิ่งนี้มันเป็นเรื่องภายนอกนะ ถ้าหัวใจเราต้องการแก้ด้านมืดด้านสว่างในหัวใจ เรื่องอย่างนี้มันเห็นเป็นของไร้สาระเลย เป็นของข้างนอก ถ้าเป็นของข้างนอก เราจะกลับมาดูใจเรา เวลามันได้หรือมันไม่ได้ มันมีอาการอย่างไร แล้วถ้าเรามีปัญญาไล่ตามทัน เราเสียสละไป เสียสละไม่เอา สิ่งนี้มันเป็นโทษ
เหรียญมี ๒ ด้าน มีคุณและมีโทษในตัวของมันเองหมด ถ้ามีคุณและมีโทษ ของที่เราใช้อยู่นี่มันเป็นของใช้สอยของเรา ที่เราใช้สอยแล้วมันเบากายเบาใจ มันไม่ต้องวิตกกังวลกับมันไป แล้วเราไปเอาสิ่งใหม่มา มันมีความวิตกกังวล สิ่งที่เราภาวนาอยู่ แล้วมันก็วิตกกังวล มันจะมารักษาแต่สิ่งนี้ มันเป็นประโยชน์ไหม
พอมันมีปัญญา มันทันกับด้านมืดในหัวใจ มันจะสบายใจมาก เราไม่ติดข้อง เราสละทิ้งได้ แล้วพอสละทิ้งไป มีคนเขาเอาไปใช้ไปสอย ดูเขาสิ เขาใช้เขาสอยแล้วเป็นประโยชน์ไหม เขาใช้สอย เขาต้องบำรุงรักษาไหม เขาเสียเวลาไปกับมันวันหนึ่งเท่าไร เราไม่ต้องเสียเวลาไปกับมันเลย มันรื่นเริงอาจหาญ นี่ไง มีคุณธรรมในหัวใจ ด้านสว่างในหัวใจมันเปิดขึ้นมา มันสว่างไสว มันมีความพอใจ มันมีความสุขใจ ไปดูคนด้านมืด ด้านมืดมันแบกหามอยู่นั่นน่ะ มันได้ไป มันแบกมันหาม มันดูแลรักษา มันทำให้ทุกข์ร้อนกับมัน
ถ้าเราพัฒนาใจของเรา ด้านมืดด้านสว่างจากแค่บริขารสิ่งที่เป็นปัจจัยเครื่องอาศัยเท่านั้นเอง แต่ถ้าถึงอารมณ์ความรู้สึกล่ะ ความรู้สึกจากภายใน เราดูแลรักษาของเรา เราแก้ไขของเรา มันจะเป็นประโยชน์กับเรานะ เป็นประโยชน์กับเราเพราะเราเห็นภัยในวัฏสงสาร เราถึงเสียสละเพศของฆราวาสมาเป็นเพศของนักบวช เพศของภิกษุเป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ถ้าเห็นภัยในวัฏสงสาร ภัยในวัฏสงสารมันเกิดที่นี่
ดูสิ วันคืนล่วงไปๆ ชีวิตเรา เราเห็นนะ เห็นวันคืนล่วงไป เห็นคนเกิดและคนตายอยู่ตลอดไป แล้วเราก็จะเกิดจะตาย แต่เราไม่เห็นการเกิดการตายของเรา เราไม่เห็นการเกิดการตายของเรา วันคืนล่วงไปๆ เราไม่เห็นการเกิดการตายของเรา ต่อเมื่อเราสิ้นอายุขัย เราไปเกิดเป็นภพใหม่ขึ้นมาแล้วเรายังไม่รู้เลยว่าเราเป็นใคร แต่ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะขึ้นมา เราเข้าไปถึงความสงบของใจ ใจตัวนี้ไง ปฏิสนธิตัวนี้ไง ตัวที่มันจะไปไง ถ้ามันเห็นตัวที่จะไป เราจะแก้ไขอย่างไร
มันเห็นคุณค่านะ มันเห็นคุณค่าของการกระทำ มันเห็นคุณค่าของชีวิต มันเห็นคุณค่าของเพศนักบวชเรา เป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร มันเห็นภัยจริงๆ แล้วมันเป็นผู้ที่เห็นภัยด้วย เห็นความเป็นไปของจิตด้วย เห็นความเป็นไปของจิตแล้วมันจะแก้ไขจิต
ความแก้ไข เอาอะไรมาแก้ไข ถ้าเรายังไม่มีปัญญา เรายังไม่มีปฏิภาณไหวพริบ เรายังต้องอยู่ในอำนาจของด้านมืดของอวิชชา เราจะแก้ไขมันได้อย่างไร
ถ้ามันจะแก้ไขได้ ดูปฏิกิริยาการเคลื่อนไหวของภิกษุ ถ้ามันมีเรื่องของปัญญาจากภายใน สิ่งที่ปัญญาจากภายในขึ้นมา การแสดงออกจากภายนอก ภายในกับภายนอก ภายนอกเป็นเครื่องอยู่อาศัย ภายนอกเป็นปัจจัย ดูสิ วัดวาอาราม กุฏิวิหารเป็นเรื่องของภายนอก ภายนอก ข้อวัตรปฏิบัติก็ดี
ภายใน ถ้ามันมีดีขึ้นมา ข้างนอกมันจะร้ายไปไม่ได้ มันจะไม่ดีไม่ได้ เพราะข้างในมันดี ถ้าข้างในมันจะดีได้ มันอาศัยข้างนอกเป็นข้อวัตรปฏิบัติเข้ามา เพื่อจะเข้ามาข้างใน ถ้าเข้ามาข้างใน เพราะข้างในมันเกิดได้ยาก ความเป็นสุข ความพอใจ ความชนะโดยเราเพิกความมืดบอดของใจออก มันเป็นสิ่งที่เราต้องตั้งสติ สิ่งที่เราต้องใช้ความสามารถของเรา เราต้องใช้ความสงบสงัดของใจมาก ถ้าใช้ความสงบของใจมาก เราต้องถนอมรักษา ถ้าถนอมรักษา การเคลื่อนไหว การแสดงออก มันไม่แสดงออกมาแบบโลกๆ มันแสดงออกอย่างนั้นไม่ได้หรอก
กิริยาแสดงออกมันฟ้องถึงอาการของใจ ถ้าใจมันดี มันร่มเย็นของมัน มันจะมีความสุขของมัน มันจะแก้ไขของมัน มันแก้ไขของมันนะ มันทำให้สิ่งนี้เป็นประโยชน์กับเราทั้งนั้นน่ะ ทำสิ่งที่ดีๆ ขึ้นมา เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา เห็นไหม มันเป็นปุถุชน เป็นกัลยาณปุถุชน เป็นโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล หัวใจมันพัฒนาได้
เราไม่สามารถที่จะไปแย่งชิงพื้นที่ของใครมาทำงาน เราจะต้องใช้พื้นที่จิตของเราเป็นที่ทำงาน แล้วจิตของเรา นิสัยเราก็เป็นอย่างนี้ นิสัยเขาก็เป็นอย่างนั้น แล้วนิสัยกับนิสัยมันไม่เหมือนกัน เราจะไปแย่งนิสัยของแต่ละบุคคลมาปรับปรุงให้เข้ากับความรู้ความเห็นของตัว มันเป็นประโยชน์ของใคร? มันไม่เป็นประโยชน์ของใคร
ดูสิ ดูโรงงานอุตสาหกรรม โรงงานอุตสาหกรรมประเภทหนึ่ง เขาทำอุตสาหกรรมประเภทหนึ่ง โรงงานน้ำตาล เขาก็ทำน้ำตาลของเขา โรงงานประกอบรถยนต์ เขาก็ประกอบรถยนต์ของเขา เทคโนโลยีต่างๆ มันไม่เหมือนกันสักอย่างหนึ่ง ทีนี้พื้นที่ของจิตแต่ละดวงมันก็ไม่เหมือนกัน พื้นที่ของเราเป็นโรงงานน้ำตาล แล้วของเขาเป็นโรงงานรถยนต์ อีกโรงงานเป็นโรงงานประกอบเรือ อ้าว! แล้วการกระทำมันจะเหมือนกันได้อย่างไร ในเมื่อไม่เหมือนกันแล้วเราจะไปบังคับบัญชาให้มันเหมือนกัน ไม่รู้ว่าใครเป็นคนเสียสตินะ เป็นคนไม่เข้าใจอะไรเลย
ถ้าเป็นคนเข้าใจ ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ เราเป็นกรมโรงงานอุตสาหกรรม เราจะไปตรวจโรงงาน โรงงานอย่างนี้ประเภทนี้ ผู้ที่ไปตรวจโรงงานคือผู้ที่เข้าใจ ผู้ที่ภาวนา ครูบาอาจารย์ หัวใจของท่าน ท่านสว่างของท่าน ท่านเข้าใจของท่านว่า ไปตรวจโรงงาน ดูโรงงาน โรงงานประเภทใด กติกาการปล่อยสารพิษ การกระทำต่างๆ ในกฎหมายเขาบังคับไว้อย่างไร มันก็ไปตรวจสอบตามนั้น
นี่ก็เหมือนกัน โรงงานหัวใจ พื้นที่ของเรามันเป็นโรงงานอะไร โรงงานอะไรเราก็ต้องพัฒนาโรงงานของเราให้ประกอบสินค้าที่โรงงานของเราออกมาเป็นประโยชน์กับเรา นี่ไง มันเป็นหน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราคือโรงงานของเรา หน้าที่ของเราคือใจของเรา หน้าที่ของเราคือการบำรุงรักษาใจของเรา หน้าที่ของเรา เราต้องดูที่นี่ ถ้าเราดูที่นี่ มันย้อนกลับมาที่ใจของเรา ถึงไม่ต้องไปแย่งงานของคนอื่นทำ
โรงงานของคนอื่น เราจะไปรับผิดชอบทำไม โรงงานน้ำตาลของเรา เราผลิตน้ำตาลของเรา แล้วเราจะไปรับผิดชอบโรงงานประกอบรถยนต์ทำไม โรงงานน้ำตาลของเรา เรารับผิดชอบเสร็จไหม น้ำตาลมันได้ออกมาเป็นกระสอบๆ มาส่งออกขายไหม ถ้าน้ำตาลมันส่งออกมาขายเป็นกระสอบๆ ธุรกิจของเรามันก็ประสบความสำเร็จ รถยนต์เขายังประกอบของเขา โรงงานของเขาก็เรื่องของเขา มันไปเกี่ยวอะไรกับเรา แต่ถ้าเป็นผู้ดูแล กรมอุตสาหกรรมเขาดูแลของเขาทั้งหมด มันก็เป็นเรื่องของเขา
นี่ก็เหมือนกัน เรื่องของหัวหน้า เรื่องของผู้ดูแลรักษา มันก็เป็นเรื่องของหัวหน้าใช่ไหม เรื่องของเรา โรงงานของเรา เราดูแลโรงงานของเรา พื้นที่ของใจ แล้วพื้นที่ของใจแต่ละพื้นที่ของใจมันไม่เหมือนกัน การกระทำของใจมันก็ไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกันมันก็ต้องนานาทัศนะ เราคุยกัน เรารักษากัน ภิกษุ เวลาเราออกไปวิเวก ออกไปเที่ยว ออกไปต่างๆ มันไป ๒ องค์ ๓ องค์ จริตนิสัยเหมือนกันไหม ถ้าจริตนิสัยเหมือนกัน มันไปด้วยกันมันก็มีความสุข ถ้าจริตนิสัยไม่เหมือนกัน เดี๋ยวมันก็ไปแยกออกจากกัน
นี่ก็เหมือนกัน หน้าที่ของเรา เราดูใจของเรา คนอื่นไม่เกี่ยวหรอก เรื่องของเขาไม่ใช่เรื่องของเรา เรื่องของเรา ดูใจของเรา แล้วทำตามหน้าที่ของเรา เรื่องของเขา ถ้าเขาทำดีของเขาก็เป็นประโยชน์กับเขา ถ้าเขาทำไม่เป็นประโยชน์กับเขาก็ไม่เป็นประโยชน์กับเขา แล้วถ้าถึงที่สุด ในเมื่อเขาทำของเขา มันมีผลกระทบ เดี๋ยวครูบาอาจารย์ท่านจัดการของท่านเอง ท่านต้องจัดการของท่าน เพราะอะไร เพราะนี่ไง ศาสนทายาทไง ไม่อย่างนั้นจะมีผู้นำทำไม ผู้นำสำคัญ ผู้นำจะคอยชี้นำ ชี้นำในสิ่งที่ดี สิ่งที่เกิดประโยชน์กับศาสนทายาท
บุคลากรในศาสนา ทุกคน ดูสิ อยากให้คฤหัสถ์เข้ามาเป็นภิกษุ ภิกษุก็อยากให้มีคุณธรรมในหัวใจ ในการประพฤติปฏิบัติมันเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามานะ ถ้าเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา เราทำของเรา นี่เป็นงานของเรา งานของเรา เราต้องอยู่ในพื้นที่ใจของเรา ใจของเรา การกระทำของเรา แต่เพราะคนเกิดมามันมีกายกับใจ คนเกิดมามันต้องมีชีวิต สิ่งที่ดำรงชีวิตต้องเลี้ยงชีวิต ดูสิ ภิกษุเรายังต้องภิกขาจาร ภิกขาจารเลี้ยงชีวิต ชีวิตนี้เป็นชีวิตในความเป็นอยู่ ถ้าคุณธรรมในหัวใจล่ะ ถ้าคุณธรรมในหัวใจ ถ้ามันบริหารจัดการขึ้นมาดี คุณธรรมในหัวใจมันเกิดขึ้นมา มันจะรื่นเริงอาจหาญนะ ชีวิตนี้มีความสุข สิ่งที่เกิดขึ้นมามีความสุข
สิ่งที่เป็นความสุข ความสุขเกิดขึ้นมาจากอะไร
ความสุขเกิดขึ้นมาจากความเพียรชอบ ความสุขเกิดขึ้นมาจากการปฏิบัติ ความสุขมันไม่ได้ลอยมาจากฟ้านะ นอนอยู่เฉยๆ จะว่าเป็นความสุข...เดี๋ยวจะมีความทุกข์ เพราะยิ่งนอนเข้าไปเดี๋ยวมันนอนจมอยู่กับกิเลส กิเลสมันเหยียบย่ำนะ กินอิ่มนอนอุ่น กิเลสตัวใหญ่ๆ ขึ้นมา มันเดือดร้อนนะ มันทำให้ข้างในเร่าร้อน
แต่ถ้าเราเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา เราทุกข์ยาก เหงื่อไหลไคลย้อย นั่งสมาธิขึ้นมาหลังขดหลังแข็ง ตรึกในธรรม ง่วนอยู่กับการกระทำนะ แต่มันโล่ง มันโปร่ง มันโปร่งเพราะอะไร เพราะเรารื้อออกขนออก ความเพียรชอบ การกระทำของเราชอบ สิ่งที่ความชอบมันค้นคว้าของเรา เราทุกข์เรายากของเราอยู่ในทางจงกรมของเรา เราภาวนาของเรา มันทุกข์มันยาก แต่ผลของมันเกิดการปล่อยวาง เกิดสัจธรรมขึ้นมาในหัวใจ
ทุกข์ ต้องทุกข์ ต้องมีการกระทำ ต้องมีความตั้งใจ เรามีความตั้งใจ มีความเพียรชอบ มีการกระทำชอบ สิ่งนี้เป็นคุณสมบัติของเรา เป็นคุณสมบัติของพระ พระจะสวยจะงาม งามในศีลในธรรม ไม่ใช่งามในวัตถุ งามในสิ่งที่เรามีข้าวของเครื่องใช้ไม้สอยที่เอามาประดับประดากัน สิ่งนั้นไม่งาม โลกเขามีมากกว่านี้
ปัจจุบันนี้โลกเจริญ เขาจะหาสินค้าใหม่ๆ ของเขาออกมาตลอดเวลา คุณสมบัติของเขา เขาจะออกรุ่นใหม่ๆ มา เราจะตามโลกไม่ทันหรอก แต่ถ้าคุณสมบัติของพระ เรามีศีลมีธรรมของเรา แล้วธรรมมันจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไรถ้าเราไม่ค้นคว้าไม่หามา เพราะใจมันมีด้านมืดด้านสว่างในใจมาตลอด ถ้าไม่มีมา ๒ ด้าน เราจะไม่มาเกิดเป็นมนุษย์หรอก ดูสิ ถ้าด้านมืดล้วนๆ มันเกิดในนรกอเวจี เกิดในสัตว์เดรัจฉาน เกิดขึ้นมาทุกข์มายาก ถ้าด้านสว่างมากใช่ไหม ด้านสว่างมากแต่ไม่สมดุล ไปเกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหมก็ชั่วคราว แต่เกิดมาเป็นมนุษย์มันมีกายกับใจ แล้วในหัวใจมันก็ยังมีกิเลสกับมีธรรมอีก มีสัจธรรมที่เรารื้อค้นขึ้นมา
มันจะออกพรรษา สิ่งที่ทำมา วันเข้าพรรษา พระจักขุบาลอธิษฐานเข้าพรรษา ถือเนสัชชิก ถึงที่สุดวันออกพรรษา ใกล้กับวันออกพรรษา ถ้าไม่นอน ตาแตกนะ ถึงที่สุดแล้วตาแตกพร้อมกับตรัสรู้ธรรมขึ้นมา สิ่งนี้ในพรรษาพรรษาหนึ่ง พระจักขุบาลประสบความสำเร็จ
ของเรานะ ในพรรษาหนึ่งก็ผ่านไป พรรษาหน้า เดี๋ยวเผลอๆ ไม่กี่วันก็เข้าพรรษาอีกแล้ว แล้วก็จะออกพรรษาไป วันคืนล่วงไปๆ ด้วยความรวดเร็วมาก แล้วเรามีอะไรติดไม้ติดมือ สิ่งที่ผลของวัฏฏะ ปีหนึ่งเดือนหนึ่งเวียนไป มีภิกษุใหม่เข้า-ภิกษุใหม่ออก มีภิกษุใหม่เวียนมา ภิกษุเก่าออกไป หมุนเวียนกันไปอย่างนี้ เวลาสร้างวัดขึ้นมา ขอให้ภิกษุจากจตุรทิศ จาก ๔ ทิศ ผู้ที่ยังไม่ได้มา ขอให้ได้มา ผู้ที่มาแล้ว ขอให้อยู่สุขอยู่สบาย ผู้ที่ยังไม่ได้มา ขอให้มา ผู้ที่อยู่แล้ว ออกวิเวก มันจะหมุนเวียนอย่างนี้ มันเป็นอนิจจัง เห็นไหม สิ่งนี้เป็นอนิจจัง ความเป็นอยู่มันก็เป็นอนิจจังอยู่แล้ว ชีวิตมันก็เป็นอนิจจังอยู่แล้ว สัจธรรม สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา มันก็เป็นอนิจจังอันหนึ่ง แล้วความจริงมันอยู่ไหนล่ะ
ความจริงที่มันเกิดขึ้นมา ใจมันเป็นความจริงขึ้นมา มันจริงขึ้นมาจากตัวของมัน มันจริงแท้ขึ้นมาจากการกระทำ มันพิสูจน์ได้นะ เราคิดของเราตลอดเวลา เราประพฤติปฏิบัติ จับโกหกพระพุทธเจ้าให้ได้ พระพุทธเจ้าบอกว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แล้วทำดี ทำไมมันไม่ได้ดี แล้วทำดี เราก็ทำดีของเรา ทำดีของเรา แต่ไปอยู่ในดงของสิ่งที่เป็นอกุศล เขาก็เห็นเราเป็นสิ่งที่แปลกแยก สิ่งที่แปลกแยกมันก็เรื่องของเขา เราก็ทำของเรา
สิ่งใดที่เกิดขึ้นมา เราเป็นมนุษย์ เราเป็นคน แล้วไม่ใช่คนธรรมดา เป็นคนที่จะพ้นจากกิเลส มันมีเชาวน์ปัญญา มันคอยเลือกนะ เขาทำมาอย่างนี้ ถูกหรือผิด เขาติเตียนมาอย่างนี้ ถูกหรือผิด แล้วเขาเป็นครูบาอาจารย์เรา ทำไมเขาติเตียนอย่างนั้น นี่มันคิดอยู่ในใจ มันคิดมันค้นคว้าของมันนะ
เราเคยไปอยู่กับครูบาอาจารย์มาเยอะ ครูบาอาจารย์ที่ดีพูดมา ไม่มีทางค้านได้เลย ไม่มีทางค้านได้เลย แต่ถ้ามันไม่เป็นความจริงนะ พูดมาแล้วมันค้านได้ทุกคำเลย มันไม่เป็นความจริงสักอย่างเลย เอ๊! ไม่รู้ใครเป็นอาจารย์ใครเป็นลูกศิษย์นะ เราไปเจอสภาวะแบบนี้มาเยอะมาก
สิ่งที่มันเป็นการกระทำ เราผ่านมา เราจะรู้เข้าใจของเรา ถ้าเราเข้าใจของเรา มีสติสัมปชัญญะ มันเหมือนกับที่ว่าศีลด่างพร้อยไง ผ้าขาด ผ้าทะลุ ทะลุไปหมดเลย แต่เจ้าตัวไม่เห็น เจ้าตัวไม่รู้ว่าสิ่งนี้มันเปิดให้เห็นจากข้างในได้เห็นหมดแล้ว นี่การแสดงออก การพูดออกไปมันเปิดอกไปหมดแล้ว การเปิดอกว่าเรามีความเห็นอย่างนี้ เรามีความเข้าใจอย่างนี้
แล้วผู้ที่ปฏิบัติล่ะ เขารู้จริงของเขา เขาเห็นจุดบกพร่อง ถ้าเห็นจุดบกพร่อง ถ้ามันเป็นไปได้ ถ้าคุยกันได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้ ส่วนใหญ่แล้วถ้าเขาเป็นผู้นำ เราจะไปพูดอะไรกับเขา มันจะไม่เป็นประโยชน์อะไรกับเราเลย เราถึงเงียบ แล้วเราก็ไป เก็บของ
แต่ถ้าไปเจอครูบาอาจารย์ที่ถูกต้องนะ เวลาท่านพูดมาคำเดียว เราเถียงไม่ขึ้นเลย แล้วไม่ใช่เถียงไม่ขึ้นธรรมดานะ มันทิ่มเข้าไปในหัวใจของเรา จริงของท่าน เราคิดผิด เราเห็นผิด เราทำผิด แต่ความผิดนี้มันเป็นความผิดจากภายใน เราจะแก้ไข ถ้าเราจะแก้ไขปั๊บ เราจะเริ่มต้นจากการแก้ไข จากการต่อสู้ ตั้งสติ ด้วยมีสติ ด้วยมีสัมปชัญญะ ด้วยการต่อสู้กับมัน แล้วแรงมาก การจะพลิกความเห็นจากใจทั้งๆ ที่รู้ว่าผิดแล้ว แต่จะต่อสู้กับมันนี่รุนแรงมาก
ความรุนแรง ดูสิ เราจะเอาชนะการตกภวังค์สักหนหนึ่ง เราจะเอาชนะปัญญาที่มันเคยย้ำคิดย้ำทำ แล้วเราจะไม่คิดตามมัน เราจะต้องต่อสู้กับมันด้วยกำลังที่แรงมาก แรงมากคือต้องอดอาหาร ต้องผ่อนอาหาร ต้องตั้งสติ ต้องต่อสู้กับมัน แล้วเริ่มต้นจะแพ้ๆๆ มาตลอด จนถึงที่สุด เริ่มยันกันไว้ก่อน แค่ยันกันไว้ให้ได้ ไม่ให้คิด แล้วถึงจะเริ่มเสมอกัน แล้วถึงเริ่มมีปัญญา เริ่มรุก พอรุกเข้าไป ใช้ปัญญาไล่เข้าไป มันถึงจะเริ่มถอยร่นๆ จนถึงที่สุดมันปล่อยหมด เข้าใจหมด อ้อ!
กว่าจะชนะทิฏฐิของตัวแต่ละครั้งแต่ละตอน เราเคยผ่านประสบการณ์อย่างนี้มาแล้ว แล้วในการกระทำมันเป็นสิ่งที่แก้ยากขนาดนี้ แล้วเราใช้คำพูดกันคำสองคำ จะให้คนอื่นเชื่อถือเรา มันจะเป็นไปได้อย่างไร เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรอก แต่อาศัยความเป็นไป อาศัยสังคม นี่ไง สัปปายะไง อาศัยหมู่คณะ อาศัยความเป็นไป ดูสิ ทำอย่างนี้ ข้อวัตรอย่างนี้ ลงศาลาพร้อมกันอย่างนี้ การเก็บล้างอย่างนี้ มันเป็นสิ่งที่พร้อมกัน ข้อวัตรปฏิบัติมันเป็นแนวทางปฏิบัติ ต้องทำไปตามแนวนี้ สิ่งนี้มันเป็นธรรมวินัย มันไม่มีตัวบุคคลเข้ามาให้อีกคนหนึ่งโต้แย้ง มันเป็นธรรมเป็นวินัย เป็นข้อวัตรปฏิบัติที่เราจะต้องทำ
เพราะกิเลสมันไม่ยอมใคร แล้วมันไม่ต้องยอมครูบาอาจารย์ ไม่ต้องยอมเราด้วย เพียงแต่ว่าเวลาประพฤติปฏิบัติไป ครูบาอาจารย์ท่านจะกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยหัวใจทั้งนั้นเลย เพราะสิ่งที่เราไปรู้มันเรื่องปลายอ้อปลายแขมของพระพุทธเจ้าที่วางไว้ พระพุทธเจ้าปรารถนาให้เรารู้มากกว่านี้อีก ให้เรารู้แจ้ง ให้เรารู้มากกว่านี้ แต่เราเข้าได้ไม่ถึง แต่ด้วยทิฏฐิมานะ เราว่าเราเข้าใจ เราเป็นปัญญาชน เราเป็นผู้ฉลาด เรารู้ไปหมด แต่มันไปรู้แต่สิ่งที่พระพุทธเจ้าพูดไว้เป็นทฤษฎี มันไม่เป็นความจริงเลย ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา มันมีความเมตตา มันมีความกรุณา อย่างที่ว่าภิกษุใหม่-ภิกษุเก่า แล้วไม่ต้องไปมองใคร ภิกษุใหม่-ภิกษุเก่าก็คือเรา เพราะทุกองค์ที่บวชมาต้องเป็นภิกษุใหม่มาก่อน อย่างเช่นเราเกิดมาเราต้องเป็นทารกมาก่อน ไม่มีใครที่มานั่งอยู่นี่ไม่เคยเป็นทารกมา เป็นทารกมา เป็นเด็กน้อยมา เป็นวัยรุ่นมา จนมาเป็นผู้ที่มีอายุขัย
นี่ก็เหมือนกัน ภิกษุใหม่ เราบวชใหม่ เราก็รู้อยู่ ความบวชใหม่มันตื่นไหม เราจะรู้ไหมว่าอะไรผิดอะไรถูก แล้วเราทำไปมันลังเลสงสัยไหม แต่ถ้าบวชใหม่แล้วไฟแรง เขาจะไฟแรงขนาดไหน ไฟแรงต้องให้ลองผิดลองถูก ให้เขาลองให้ผิดให้ถูกขึ้นมา พอลองผิดลองถูก เขาจะรู้ของเขาเอง จะไปบอกเขาก่อน เขาก็ไม่ฟังหรอก เป็นเรา เราก็ไม่รู้ ถ้าเราเห็นอย่างนี้ ในนวโกวาท ภิกษุใหม่เป็นผู้ที่ทนการสั่งสอนได้ยาก นี่ไง มันเป็นธรรมชาติ แล้วภิกษุเฒ่าบวชแล้วที่ว่าง่ายสอนง่ายก็หายาก แล้วเราเป็นทั้งภิกษุใหม่ เราเป็นทั้งภิกษุเฒ่า เพราะเราอยู่กันมาจนพรรษาเยอะเป็นภิกษุเฒ่า
เป็นภิกษุใหม่มันก็เป็นผู้ทนคำสอนได้ยาก เป็นภิกษุเฒ่าก็เป็นผู้ที่ว่าง่ายสอนง่าย ไม่มี เราเป็นขึ้นมา ไม่รู้ว่าเราเป็นภิกษุอะไร เป็นทั้งภิกษุใหม่ เป็นทั้งภิกษุเฒ่า เป็นที่ว่ายากสอนยากด้วย เป็นที่ทนการสอนไม่ได้ด้วย มันก็ไม่รู้ว่าธรรมะมันคืออะไร
ธรรมะมันเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ แล้วถ้ามันออกมาจากใจของครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรม ถึงบอกว่า ถ้าออกมาจากสัจธรรม ใจที่เป็นธรรมไม่มีฝักไม่มีฝ่าย มันเป็นธรรมจริงๆ เพียงแต่ว่าจิตใจของเรา เหมือนเราเป็นคนไข้ เราเป็นไข้ที่เป็นโรคร้าย การจะรักษามันจะต้องรักษาด้วยเคมีบำบัด มันต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ทีนี้พอการรักษาอย่างนั้นมันก็ต้องเตรียมคนไข้ ยังไม่ใช่การรักษานะ แค่เราบวชใหม่ขึ้นมา เราฝึกข้อวัตร แค่เราเตรียมตัวเองเพื่อจะเข้าไปรักษา
เรารู้จักข้อวัตรนะ ถ้าข้อวัตรเราเข้มแข็ง เราธุดงค์ไป เราเที่ยวไป เราไปเห็นคนอื่นเขาทำ เราจะรู้ผิดรู้ถูกหมด แต่ถ้าเราไม่มีข้อวัตร เราไป เราไปทำอะไรผิดอะไรถูก เราเป็นคนที่ไม่รื่นเริงอาจหาญ ไม่กล้าเข้าสังคม
มีศีลมีธรรม คนมีศีลเข้าสังคมไหนอาจหาญนะ ถ้าศีลเราด่างเราพร้อย เราไปที่ไหนเราจ๋องๆ เราไม่กล้าเข้าสังคมไหนเลย ข้อวัตรปฏิบัติก็เหมือนกัน การศึกษาข้อวัตรมันเป็นสมบัติของเรา การศึกษาการประพฤติปฏิบัติ วัตรปฏิบัติ เราทำแล้วมันเป็นสมบัติของเรา เพราะเราเคยทำ เราเคยเป็น เราทำเป็น ไปอยู่ที่ไหนเราก็เข้าใจ แต่ถ้าเราไม่ทำ เราไม่รู้ เราไม่ได้ทำเลย พอไปที่ไหนเขาทำกัน เราก็ไม่รู้ คำว่า ไม่รู้ มันก็ด้านมืด เพราะมันมืด มันก็ไม่รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูกเลย ผิดก็ไม่รู้ว่าผิด ถูกก็ไม่รู้ว่าถูก แล้วจะทำอย่างไรล่ะ
แต่ถ้าเราศึกษา เราเข้าใจแล้ว ผิดก็รู้ว่าผิด ถูกก็รู้ว่าถูก ผิดเพราะเราทำไม่ได้ ผิดเพราะเราบกพร่อง ก็ถือว่าผิด คำว่า ผิด เวลาพูดว่าผิดมันก็ไม่มีปัญหา แต่เราเข้าใจว่าถูก แล้วเขาพูดว่าผิด มันก็มีปัญหา ถ้าเราเข้าใจนะ ผิดก็รู้ว่าผิด ถูกก็รู้ว่าถูก เราทำไม่ได้ แล้วถ้าทำได้ ทำให้เป็นประโยชน์ มันก็เป็นธรรมได้
สิ่งนี้มันเป็นการฝึกฝน มันเป็นการประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราเข้าใจถึงสัจธรรม หนึ่ง แล้วก็เข้าใจถึงตัณหาความทะยานอยากของใจที่ไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกัน คนบ้า ๕๐๐ จำพวก คนวิตกจริต โทสจริต โมหจริต จริตของคนก็ไม่เหมือนกัน ความชอบก็ไม่เหมือนกัน แล้วเรามาอยู่ร่วมกัน ลิ้นกับฟันมันต้องมีกระทบกระทั่งกันเป็นเรื่องธรรมดา
ทีนี้ลิ้นกับฟันกระทบกันแล้ว วันนี้วันมหาปวารณา คำว่า มหาปวารณา ปวารณาด้วยใจ อย่าปวารณาเป็นพิธีเฉยๆ ปวารณาด้วยใจ บอกถึงสงฆ์ ให้สงฆ์ตักเตือนเราได้ สงฆ์ตักเตือนเราได้ สิ่งที่ชี้ขุมทรัพย์ของเรา แล้วสิ่งที่เป็นตัวบุคคล ถ้ามันเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ ยกไว้ต่างหาก อันนี้เห็นด้วย เพราะมันเป็นจริตนิสัย บางอย่างมันรับไม่ได้มันก็คือรับไม่ได้ รับไม่ได้ก็คือวางไว้ไง เราวางไว้ เราอย่าไปเขี่ยอย่าไปคุ้ย ถ้าไปเขี่ยไปคุ้ย กลิ่นมันจะแรง เราวางไว้เฉยๆ อะไรที่เรารับไม่ได้ให้มันกองไว้ตรงนั้นน่ะ เรื่องของเขากับเรื่องของเรา เราอย่าไปคุ้ยอย่าไปเขี่ยมัน ไปคุ้ยไปเขี่ยมัน กลิ่นมันจะแรงนะ
ใจเราก็เหมือนกัน เราปวารณากับสงฆ์ สงฆ์คือตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าลงมา สังฆะ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราปวารณากับสงฆ์ เราทำใจในสิ่งที่ดีๆ ไปภาวนาที่ไหน ไปอยู่ที่ไหน ให้พบแต่สิ่งที่ดี คนดีผีคุ้ม เทวดาคุ้มครอง สิ่งต่างๆ เราปวารณา เราเห็นคุณธรรม เวลาคนตายไป เขาถามว่า เคยเห็นธรรมะไหม
บอก ไม่เคย ธรรมะคืออะไร
คือคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย
การเกิด แก่ เจ็บ ตายมันเป็นสัจธรรม นี่เหมือนกัน การเคลื่อนย้ายไปมันก็เป็นสัจธรรม ไม่มีสิ่งใดอยู่ด้วยกันแล้วไม่พลัดพรากจากกัน ไม่มี การพลัดพรากจากกันเป็นเรื่องธรรมดา ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด แต่การพลัดพรากไปแล้วไปอยู่ที่ไหน มันถึงกันหมดนะ เรื่องของวัฏฏะมันถึงกันหมด ฉะนั้น ถ้าทำดีแล้ว สิ่งที่ดีๆ ประสบแต่สิ่งที่ดีๆ มันจะเป็นประโยชน์กับชีวิตของเรา ดังนั้นต่อไปนี้ถึงจะต้องทำให้ตั้งญัตติเนาะ แล้วมาปวารณากันเนาะ เอวัง
>