เหตุและผล
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๓
วัดป่าสันติพุทธาราม(วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เมื่อวานมีคนมาถามปัญหาเยอะมาก แล้วปัญหามันก็หลากหลาย พอหลากหลายคนก็นั่งรอเป็นชุดๆ พออธิบายชุดแรกไปเห็นไหม
ประเด็น : เขาก็พูดถึงว่าปฏิบัติไปแล้ว มันตกภวังค์บ้าง มันวูบหายบ้าง
หลวงพ่อ : ก็แก้ไปเรื่อย
ประเด็น : พอชุดที่สองมาบอกว่าไอ้ชุดเมื่อกี้นั่นของผม ผมเป็นผ่านมาแล้วแหละ แล้วของเอ็งเป็นไง พอถามต่อไปนะ พอถามแก้ชุดที่สองเสร็จ ไอ้ชุดที่สามมาบอกไอ้ชุดที่สองนี่ผมก็เคยเป็นแล้วแหละ ไอ้ชุดที่สามมาก็พูดต่อไป ชุดที่สามบอกว่าผมพิจารณาอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น ถูกไหมครับ
หลวงพ่อ : บอกว่าเออ! ก็ถูกอยู่
ประเด็น : มันมีหนึ่ง สอง สามนะ ไอ้ชุดแรกก็ถามก่อนเลย เขามาส่งพระไง แล้วก็หัด แบบว่าทำงานโรงงานกัน แล้วเพิ่งปฏิบัติ พอปฏิบัติปั๊บเขาก็บอกว่ากำหนดไปแล้ว บางทีมันก็บางทีก็หายไปเฉย ๆ แล้วเข้าใจว่าเป็นสมาธิ
หลวงพ่อ : เราบอกมันไม่ใช่หรอก ถ้าเป็นสมาธิ เราจะไม่เข้าใจหรอก ถ้าเป็นสมาธิจะไม่ถามเราอย่างนี้เลย ไม่ถามเพราะอะไร ไม่ถามเพราะว่ามันไม่วูบหายไง มันจะมีสติรับรู้ความรู้ของเราตลอดเวลา ถ้ามันวูบหายไป คือว่ามันขาดสติไปแล้ว เราก็อธิบายให้เขาฟัง อธิบายให้เขาฟังว่าต้องพุทไว้ชัดๆ เราบอกว่าต้องกอดพุทโธไว้เลย
ประเด็น : คำอย่างนี้ พอเรากอดพุทโธไว้เลย การปฏิบัติของคนจะคิดว่า ถ้าพุทโธอยู่นี้มันหยาบ ถ้าพุทโธมันหายไปนี่มันจะละเอียด
หลวงพ่อ : ทีนี้พอมันหายไปแล้วมันกลับกลายเป็นภวังค์ไปซะ เราบอกว่าต้องกอดพุทโธไว้เลย พอกอดพุทโธไว้ปุ๊บ คนที่ไม่เข้าใจก็บอกว่ากอดพุทโธไว้ พยายามกอดพุทโธ พยายามนึกพุทโธไว้ คือมันหยาบเกินไป ไอ้หยาบๆ นั่นแหละ คนที่ว่าหยาบๆ ถ้ากอดพุทโธไว้นะ จิตกับพุทโธ เราเปรียบเทียบนะ เหมือนตบมือเห็นไหม สองข้างจิตกับพุทโธมันตบมือเห็นไหม มีเสียงดังเกิดขึ้น ตบมือข้างเดียวจะมีเสียงดังไหม
ประเด็น : พุทโธไปเขียนไว้เป็นตัวอักษรเป็นตัวหนังสือไว้โดยที่ไม่มีจิตนึก มันจะเป็นพุทธานุสสติไหม ถ้ามีจิตเฉยๆ ไม่นึกพุทโธมันจะมีไหม
หลวงพ่อ : ทีนี้พอนึกพุทโธเห็นไหม พุทโธกับจิตเห็นไหม ตบมือสองข้างเสียงดังจะเกิดขึ้น ทีนี้ถ้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมันหายไปเห็นไหม พุทโธหายไปหรือจิตหายไป มันตกภวังค์มันวูบหายไปเห็นไหม พุทโธ พุทโธ จนพุทโธไม่มีแล้ว มันก็วูบหายไปเห็นไหม มันตบมือข้างเดียวมันไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา
ประเด็น : แล้วตบมือสองข้างจะเกิดประโยชน์ได้อย่างไรเสียงมันดังอยู่
หลวงพ่อ : ก็เสียงมันดังอยู่ มันรู้สึกตัวอยู่ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธกับจิต แล้วเรากับพุทโธ จนพุทโธกับจิตเป็นอันเดียวกันเห็นไหม พออันเดียวกันเห็นไหม พุทโธกับจิตเห็นไหม เราตบมือสองข้าง มันก็มีเสียงดังขึ้นมา ตบไป ตบไป ตบไป จนมันสนิทกันเห็นไหม เป็นเนื้อเดียวกันเห็นไหม พอเป็นเนื้อเดียวกันเพราะอะไร
เพราะว่าถ้าจิตอย่างเดียวเฉยๆ มันก็เป็นจิตอย่างเดียว เรามีจิตอยู่แล้ว แต่เราไม่เข้าใจจิตของเรา มีแต่ความทุกข์ จิตไม่เห็นของเรา เรากำหนดพุทโธ พุทโธ ขึ้นมา ให้จิตไปนึกพุทโธ มันนึกพุทโธแล้วมันไม่ทุกข์ไง
ประเด็น : ถ้านึกถึงอารมณ์ความรู้สึกเห็นไหม ดีชั่ว ถูกต้องดีงามนี่เราจะมีอารมณ์ความรู้สึกไปกับเขา อันนั้นยิ่งตบมือ มันก็ออกไปข้างนอกเห็นไหม
หลวงพ่อ : เราบอกว่าให้ยึดพุทโธไว้เลย กอดพุทโธไว้เลย เกาะไว้แน่นๆ เกาะพุทโธไว้แล้วมึงจะได้ของดี
ประเด็น : แต่โดยสามัญสำนึก เราบอกถ้าเรานึกพุทโธไว้ เกาะพุทโธไว้นี่มันหยาบ เราต้องการให้มันละเอียด ละเอียดก็เลยแว้บหายไปเห็นไหม
หลวงพ่อ : พออธิบายให้เขาฟังว่าต้องกอดพุทโธไว้เลย
ประเด็น : นี่พอชุดนี้ไป ชุดต่อมาก็ว่า ไอ้อย่างนี้ ผมเคยเป็นมาแล้วล่ะ ผมเข้าใจหมดเลย แล้วของผมล่ะ มันก็แตกต่างกันไป มันก็ไปอีกอย่างหนึ่งเห็นไหม เขาบอกว่าขบวนการของเขาเป็นวิปัสสนาแล้ว เขาเอาหนังสือของเราไป เขามาดูเห็นไหม ใช้ความคิดอย่างนี้ ความคิดเป็นทุกข์เห็นไหม พอจิตสงบขึ้นมาแล้วมันใช้ความคิดอีกอันหนึ่ง
หลวงพ่อ : เราบอกว่าขบวนการมันเป็นอย่างนี้ แต่ว่าของเรายังไม่เป็นความจริง ไม่เป็นความจริงเพราะความคิดของเรา เราคิดเองไง
ประเด็น : เพราะความคิดเราก็คิดของมันอยู่แล้วใช่ไหม พอเราคิดของเราอยู่แล้วใช่ไหม พอเราคิดเป็นธรรมใช่ไหม เพราะมันก็เอาหนังสือของเรามาด้วย หนังสือว่าเป็นอย่างงี้ อย่างงี้ เข้าใจว่าตัวเองอยู่ตรงนี้ไง
หลวงพ่อ : คำนี้มันฟ้องว่าผิด ไม่ใช่ผิด คำนี้มันฟ้องว่าเรายังไม่รู้จริงไง เพราะอะไร เพราะเข้าใจว่าอยู่ตรงนี้เห็นไหม เข้าใจว่าอยู่ตรงนี้ ถ้าอยู่ตรงนี้จริงมันก็ไม่ใช่เข้าใจ เพราะมันเป็นความจริง อันนี้เข้าใจอยู่อย่างนี้ เรามีความรู้อันหนึ่งใช่ไหม แต่ธรรมะมันสอนมาอย่างนี้ ก็เข้าใจว่าอยู่ตรงนี้
เราบอกว่าขบวนการมันเปลี่ยนผ่าน แล้วมาอีกอันหนึ่ง มันก็เป็นไปอีก ฉะนั้นเราจะบอกว่ามันเป็นเหตุและผล เหตุ! เหตุอย่างหยาบมันก็ได้ผลอย่างหยาบ เหตุอย่างกลางมันก็ได้ผลอย่างกลาง เหตุอย่างละเอียดเราก็ได้ผลอย่างละเอียด อย่างเช่น เราปฏิบัติ เราไปห่วงนะ เหตุเห็นไหม โดยพื้นฐานเราจะพูดเรื่องพื้นฐานประจำ พวกเราบอกว่าอาหารพื้นฐานของเราคือข้าว ข้าวสุกนี่คือพื้นฐาน อาหาร นี้มันคือส่วนที่เราหาสิ่งใดมากินกับข้าวสุกนั้น
เหมือนกันโดยจิตของเราโดยพื้นฐาน เราต้องการพื้นฐานของเรา แต่นี้อาหารมันจะเป็นอย่างไร แล้วแต่ว่ามื้อนี้เราจะกินอาหารกับอะไร อารมณ์ความรู้สึกของเราแต่ละครั้งมันไม่เหมือนกัน ในการพิจารณาของเรามันนี่จะแตกต่างกันไป ฉะนั้นอาหาร คืออารมณ์ความรู้สึกหรือคำบริกรรมต่างๆ มันแตกต่างได้ แต่โดยพื้นฐานคือข้าวสุกใช่ไหม พื้นฐานคือข้าวสุก นี่ก็เหมือนพื้นฐานโดยจิต พื้นฐานโดยทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบ ไอ้อาหารมันแตกต่างกันไป กินก็เพื่อความอิ่มเห็นไหม นี่ไงด้วยเหตุและผล
นี่เหตุละเอียด ผลก็ละเอียด เหตุมันหยาบ ผลก็หยาบ มันมีเหตุและผล เหตุและผลรวมลงกันแล้วมันถึงจะเป็นธรรม มันมีจะเห็นไหม เวลาคนมาปฏิบัติไป เขาเองเป็นกลุ่มๆ เลย เรานั่งคุยกับเขานะ ขำ! ไอ้ชุดแรกพูดจบไปแล้ว ชุดสองมันบอกว่า ไอ้อย่างนี้ผมก็เคยเป็นมาแล้ว ผมผ่านมาแล้ว ไอ้ชุด ๓ บอกว่า ชุด ๒ นี่เขาก็ผ่านมาแล้ว นี่มันจะมาเข้าตรงนี้ไง มันจะเข้าตรงนี้เห็นไหม บอกว่า
ประเด็น : พระสงบตรวจสอบหนังสือของพระอาจารย์องค์หนึ่ง เหนื่อยเปล่า! เสียประโยชน์! เพราะเขาไม่ฟังหรอก! อยู่ที่การประพฤติปฏิบัติของเขา เขาปฏิบัติของเขาแล้วได้ผลของเขา เขาปฏิบัติของเขา เขาได้ผลของเขา มันเกี่ยวอะไรกับพระสงบด้วยล่ะ พระสงบยุ่งอะไรด้วยกับเขา เขามีความสุขอยู่ พระสงบมาเกี่ยวอะไรกับเขา
หลวงพ่อ : เขาเขียนมา โอ้.. เวรกรรม
ประเด็น : พระสงบไปเกี่ยวอะไรกับเขาด้วย ในเมื่อสังคมเขามีความร่มเย็นเป็นสุข ไปปฏิบัติที่วัดไหนมาก็มากมายมหาศาลแล้ว มันก็หลายปีดีดัก มันก็ละทุกข์ไม่ได้เลย นี่พอมาศึกษากับพระองค์นี้เห็นไหม เข้าใจเรื่องไตรลักษณ์ นี่ละทุกข์ได้หมดเลย
หลวงพ่อ : โอ้โฮ สาธุ!
ประเด็น : มันก็เหมือนไอ้ ๑ ๒ ๓ นั่นล่ะ ไอ้ ๑ ก็อย่างหนึ่ง ไอ้ ๒ ก็บอกไอ้ ๑ ของผมผ่านมาแล้วอย่างนั้น พอไอ้ ๒ บอก ไอ้ ๒ เมื่อกี้ผมก็ผ่านมาแล้ว นี่เห็นไหม ละทุกข์ได้แล้ว ละทุกข์ได้แล้ว
หลวงพ่อ : มึงจะละได้อย่างไง มึงยังไม่รู้จักตัวมึงเองเลย มึงจะไปละทุกข์ที่ไหน คนเรานี่นะ มันก็เหมือนกับกระแสเห็นไหม ดูสิ ซีดีเพลง เวลาไอ้นั่นเขาเรียกว่า ไอ้ซีดีแรกมาเห็นไหม กว่ามันจะติดตลาดใช่ไหม พอคนฟังชินชา เขาก็เบื่อหน่ายใช่ไหม เขาก็ต้องเงียบเก็บตัวพักหนึ่ง ๑๐-๒๐ ปี เขาก็มาออกเวอร์ชั่นใหม่นะ
ประเด็น : ทุกข์มาเกือบเป็นเกือบตาย ไปปฏิบัติมาทุกสำนักเลย อู๋ย.. ไม่รู้เรื่องเลย ไปปฏิบัติที่ไหนมาก็ไม่ได้เรื่องเลย แต่พอมาปฏิบัติกับพระองค์นี้เห็นไหม โอ้โฮ.. เข้าใจเรื่องไตรลักษณ์เลย
หลวงพ่อ : ถ้าเข้าใจเรื่องไตรลักษณ์ เอ็งรู้จักไตรลักษณะจริง เอ็งจะรู้จริง แล้วจะไม่มีใครหลอกเอ็งได้ไง ไอ้นี่เอ็งบอกเอ็งรู้จักไตรลักษณ์ เอ็งรู้จักไตรลักษณ์ แล้วคนสอนเขาพูดไตรลักษณ์ด้วยการบิดเบือน คำสอนแล้วเราไปบิดเบือนตามเขา เหมือนคนเลยเห็นไหม อย่างตอนนี้เห็นไหม
ประเด็น : เด็กมันจะเอ็นฯเห็นไหม เขาบอกว่าเมื่อก่อนถ้าเอ็นฯก็ต้องศึกษาอย่างหนึ่ง ตอนนี้เด็กเอ็นฯก็ต้องศึกษาอีกอย่างหนึ่ง
หลวงพ่อ : นี่ไง เพราะอะไร เพราะว่าเขาตั้งกติกาใหม่ใช่ไหม พอเขาตั้งกติกาใหม่แล้ว เราก็ต้องตามกติกานั้นใช่ไหม ไอ้นี่ก็เหมือนกัน อาจารย์องค์ใหม่เขาสอนกติกาของเขา เขาไม่ได้สอนกติกาของพระพุทธเจ้า เขาไม่สอนเรื่องอริยสัจ ถ้าสอนอริยสัจมันเป็นความจริง มันเป็นสากลนะเว้ย เอ็งจะเรียนศึกษาอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเอ็งจบมามันจะเหมือนกัน
ประเด็น : นี่ไปเรียนมาทุกสำนักเลย เขาจะพูดทำนองนี้ว่า ปฏิบัติมาเก่าแก่แล้วไม่ได้ผล แต่พอมาปฏิบัติอย่างนี้เข้าใจเรื่องไตรลักษณ์เลย นี่ทุกข์ก็ละได้ ทุกข์ก็วางได้
หลวงพ่อ : คนพูดอย่างนี้เยอะมาก
ประเด็น : เห็นไหมผู้ที่ปฏิบัตินะ เมื่อก่อนผมเป็นคนโทสะนะ เมื่อก่อนเป็นคนขี้เหล้าเมายานะ เดี๋ยวนี้ผมเลิกได้หมดเลย ผมเป็นคนดี
หลวงพ่อ : ขอนไม้มันก็ไม่กินเหล้า ขอนไม้มันก็ไม่ไปโกรธใครด้วย นี่ไง คำพูดมันเข้าใจ เวลาความโลภ ความโกรธ ความหลง ถ้ามันขาดจากใจ มันขาดอย่างใด แล้วพอมันขาดไปแล้วเห็นไหม
ประเด็น : เวลาเขาพูดกันเห็นไหม ที่เขาพูดกัน เขาบอกว่าไปครูบาอาจารย์แล้วจะสงบเสงี่ยมมากเลย พอไปหาหลวงตาพูด ๒ คำเท่านั้น หลวงตาแบบว่าเอาขวานขว้างใส่เลย เขาบอกว่านี่ยังมีโทสะอยู่
หลวงพ่อ : โลกไปคิดกันอย่างนั้นเห็นไหม แต่หลวงตาท่านจะบอกเลย บอกว่าพลังของธรรม พลังของธรรม เวลาพลังของธรรมมันออก พลังของธรรมเวลาสิ่งใดที่มันเป็นประโยชน์เห็นไหม สิ่งใดที่เป็นประโยชน์เป็นพลังของธรรม นี่ธรรมจะออกเลย ออกเพื่ออะไร เป็นวุฒิภาวะของใจนะ
ใจเวลาปกตินี่ อย่างเช่น ความเข้าใจผิด เรานี้เข้าใจผิด ใครจะพูดอะไรให้ฟังเราก็ไม่เชื่อหรอก เพราะเรามีข้อมูลของเรา เราเข้าใจของเราอย่างนี้ แล้วครูบาอาจารย์จะให้เราเปลี่ยนความเข้าใจผิดเป็นความเข้าถูกนี้มันง่ายไหม พอไม่ง่ายนะ คำพูดอย่างนี้ต้องสะกิดไปที่จิตใต้สำนึกให้หูตาสว่างโพลงเลย โอ๊ะ! มันจะปล่อยความรู้สึกอันนั้นเลย ฉะนั้นครูบาอาจารย์ ท่านจะรอจังหวะนี้ จังหวะที่ว่าเวลาพูดคำไหน มันจะเป็นประโยชน์กับใครบ้าง
ถ้ายังไม่เป็นประโยชน์ อย่างเช่น ยกตัวอย่างประจำนะ อย่างเช่นหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นจะไม่รู้หรือว่าหลวงตาท่านติดสมาธิอยู่ หลวงปู่มั่นก็รู้ พอหลวงปู่มั่นรู้ มหาจิตเป็นอย่างไร! สบายครับ ดีมากครับ เอ้อ! พอถามๆ ต่อไป มหาจิตเป็นอย่างไร! โอ๊ย สุดยอดเลยครับ โอ๊ย สุดยอดเลยครับ ๕ ปี! มหาจิตเป็นอย่างไร คำว่ามหาจิตเป็นอย่างไร นี่คือเตือนแล้วนะ คอยบอกมาเป็นระยะๆแล้ว แต่คนติดไม่รู้หรอก คนเข้าใจผิดไม่รู้
จนถึงที่สุดแล้วปล่อยไปแล้ว พอติดไปสักพักหนึ่ง คนเรามันก็ถนอมอันนี้มานานแล้วใช่ไหม พอถึงที่สุดแล้วนะ มันจะบ้าหรือ มันสุขอย่างนั้น มันสุขอะไร มันดี มันดีของใครนะนั่น พอปึ๊กเข้าไป โอ้โฮ นี่ปึ๊กเข้าไป ตัวเองก็พร้อม เตรียมพร้อมนะ คนภาวนาจะรู้ คนภาวนาเหมือนเรามีข้อมูลในใจ เราเคยประสบกับสิ่งใดมา อย่างเช่น จิตเราสงบ หรือเราไปวิปัสสนา เราใช้ปัญญาอย่างไร อันนั้นเราเคยเห็น เราเคยทำได้หนหนึ่ง มันจะฝังใจไว้เลย
ฝังใจไว้ว่าอะไรรู้ไหม ฝังใจไว้เป็นข้อมูลของกูไง เป็นเหตุของกูไว้ กูจะไว้เถียงกับคนอื่นไง เพราะกูรู้อย่างนี้ กูเห็นอย่างนี้นะ อันนี้เป็นปัญญาของกูนะ กูยึดไว้เลยนะ เพราะกูเคยทำได้นะ พอใครมาเถียง กูจะเถียงกับเขา ข้อมูลนี้กูจะเถียงเลย กูเป็นอย่างนั้นๆๆๆ แล้วมันจะเถียง นี่เขาเรียกว่าติด แล้วบอกว่าติดแล้วท่านก็ปล่อยเห็นไหม พอปล่อย พอถึงเวลาปั๊บนะ จิตเป็นอย่างไร! สบายดีครับ ก็เปรี้ยงเลย พอเปรี้ยงก็เถียงแล้ว
ประเด็น : เอ้า! จิตท่านเป็นอย่างนี้ จิตท่านก็ติดอย่างนี้ สมาธิอย่างนี้มันสมาธิแบบหมูขึ้นเขียงนะ เอ้า! แล้วสัมมาสมาธิเป็นอย่างไรล่ะ สัมมาสมาธิพระพุทธเจ้าเห็นไหม นี่ตำรา ตำราจะมาเข้านี่เห็นไหม เข้าใจเรื่องไตรลักษณ์ เข้าใจเรื่องอริยสัจ เข้าใจหมดเลย เข้าใจตำรา เข้าใจตำราแล้วมันเปลี่ยนอารมณ์ แต่เดิมปฏิบัติกับครูบาอาจารย์มาเยอะเลย โอ้โฮ ปฏิบัติแล้วไม่รู้เรื่องเลย ทุกข์ไปหมดเลย
หลวงพ่อ : อันนี้ปฏิบัติตามข้อเท็จจริง ดูโรงยิม ดูค่ายมวยสิ เขาฝึกนักมวยในโรงยิมของเขามีมหาศาลเลย เขาจะเอานักมวยของเขาให้ได้เหรียญทองสักกี่คน ในโรงยิมๆหนึ่ง เขาจะได้เหรียญทองของเขาสักกี่คนในโรงยิมนั้น เขาฝึกคนเป็นร้อยเป็นพันนะ เขาจะได้นักกีฬาเป็นหัวกะทิได้คน สองคนเท่านั้นเอง
ประเด็น : ในการประพฤติปฏิบัตินี่ก็เหมือนกัน ปฏิบัติกับสำนักนั้นมา ปฏิบัติกับสำนักนี้มาไม่ได้เรื่องเลย
หลวงพ่อ : ไม่ได้เรื่องเพราะเอ็งปฏิบัติตัวเอ็งไม่ถูก โรงยิมน่ะ ทำไมเขาปฏิบัติแล้ว แล้วทำไมมันนักกีฬานั้นเขาได้เหรียญทองได้ล่ะ มันก็ปฏิบัติโรงยิมเดียวกัน
ประเด็น : แล้วเอ็งก็ฝึกหัด วัดนั้น วัดนั้น วัดนั้นเลย แล้วเอ็งเห็นว่าไม่ได้เรื่องเลย โอ๊ย ปฏิบัติวัดนั้นมาก็ไม่ได้เรื่องเลย
หลวงพ่อ : แล้วทำไมคนอื่นเขาได้เรื่องล่ะ เขาได้เรื่องเพราะเขาปฏิบัติถูกไง เพราะเขาปฏิบัติถูก เขาทำใจของเขาถูกไง เอ็งปฏิบัติของเขา อำนาจวาสนาของเอ็งมันไม่มีไง เอ็งทำไม่ได้อย่างเขา
ประเด็น : แล้วเอ็งก็บอกว่า อู๊ ปฏิบัติมาทุกสำนักเลย ปฏิบัติมาทั่วเลย เรื่องไตรลักษณ์ก็ไม่เข้าใจ ทุกข์ก็เป็นทุกข์ประจำเลย แหม พอมาปฏิบัติแนวทางใหม่นะ
โอ้โฮ รู้จักลักษณะของไตรลักษณ์เลยล่ะ โอ้โฮ ทุกข์มันก็จางไปเลย โอ๋ มีความสุขมากเลย พระสงบนี่เหนื่อยเปล่าๆ แน่ๆ เลยล่ะ
หลวงพ่อ : เนี่ยมันไม่เข้าใจ คำพูดอย่างนี้ นึกว่าพูดแล้วมันเป็นการโก้เก๋นะ ถ้าพูดอย่างนี้ตามกระแสโลก กระแสโลกก็เชื่อกันนะ แต่ถ้าคนเขาเป็นนะ เขาจะอ้วก! เขารู้ทันหมด เพราะเขารู้ทันเขาถึงได้บอกเอ็งไง เพราะเขารู้ทันเขาถึงได้สอนพวกเอ็งไง เขาได้บอกว่าอนาคตของเอ็งมันจะดีกว่านี้อีกเยอะแยะ ไอ้ของอย่างนี้มันไม่ใช่อริยสัจ มันไม่ใช่ความจริงหรอก ถ้ามันเป็นความจริงนะ ไตรลักษณ์มันคืออะไร ถ้ามันไตรลักษณ์นะ
ประเด็น : ย้อนกลับมาที่หลวงตา เขาบอก โอ้โฮ ไปที่ไหนนะ พระสงบเสงี่ยมเรียบร้อยนะ พูด ๓ วัน ๔ วัน ไม่มีอารมณ์เลย โอ้โฮย เป็นผ้าพับไว้เลยนะ ไปคุยกับหลวงตา ๒ คำเท่านั้นนะ โอ้โฮ ยังกับพ่นไฟใส่เลยนะ
หลวงพ่อ : ไอ้พ่นไฟใส่นั่นล่ะ มันจะหลอมเหล็กหลอมทองคำขึ้นมาให้เป็นประโยชน์กับเอ็งนะ เวลาเขาจะหล่อพระ เขาต้องใช้อุณหภูมิ เวลามันหลอมละลาย โลหะแล้วเขาเทออกมา โอ้ เป็นพระพุทธรูปให้พวกเอ็งกราบไหว้ ครูบาอาจารย์ของเราท่านเป็นความจริงเห็นไหม ท่านหลอมละลายความรู้สึกของเอ็ง
ประเด็น : เวลาเอ็งไปพูดเห็นไหม อู้ยไปพูดกับพระองค์นั้น ไปเจอพระองค์นี้นะ โอย ๕ ปี ๑๐ ปี คุยกันนะ แหม มีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข ไปพูดกับหลวงตา ๒ คำ อู้ย ท่านเอาค้อนใส่เลยนะ
หลวงพ่อ : ใส่เพราะเอ็งพูดไม่ถูกไง เอ็งยังไม่รู้ตัวเอ็งอีก เขาสอนแล้วยังไม่รู้
ประเด็น : แล้วไปบอกว่าอย่างนี้ไม่ชอบเลย
หลวงพ่อ : แต่ถ้าหลอกกันน่ะชอบ โอ้โลมปฏิโลมนั้นชอบ เป็นผ้าพับไว้เลยนะ ฉะนั้นคำว่าผ้าพับไว้ของอย่างนั้น สิ่งที่เป็นอย่างนั้น เวลาความจริงนี่เขาไม่รู้จักความจริง เราจะบอกว่าปริยัติกับปฏิบัตินี่อย่าเอามาเทียบกัน
ประเด็น : เราอยู่ในวงของปริยัติเราคิดว่าปริยัตินั้นถูกต้อง แล้วเอาปริยัตินั่น ธรรมะของพระพุทธเจ้าใครก็พูดได้ ใครก็พูดได้ แต่พูดแล้วมันจริงหรือเปล่าล่ะ พูดแล้วการกระทำมันเป็นความจริงหรือเปล่าเห็นไหม
หลวงพ่อ : ย้อนกลับมาที่เวลาหลวงปู่มั่น ท่านจะเปลี่ยนหลอมละลายความคิดไง หลอมละลายความรู้สึกที่มันติดข้องอยู่ไง ติดข้องเพราะเราไปรู้ไปเห็นใช่ไหม
ประเด็น : ปฏิบัติแล้วสบาย ปฏิบัติแล้วรู้
หลวงพ่อ : พอเราปฏิบัติแล้วสบาย มันรู้ มันรู้อะไร มันสบายนั่นนะ นั่นเหตุกับผล ในเมื่อเหตุมันมีกิเลสอยู่ กิเลสมันอ้าง กิเลสนั้นมันครอบคลุมใจเรานะ แล้วเวลาไปศึกษาธรรมพระพุทธเจ้าใช่ไหม พอศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้า นี่เป็นธรรม นี่เป็นธรรม มันให้คะแนนตัวเอง เรานั่งกันอยู่นี้ โทษนะ มีใครบ้างเป็นคนไม่ดี ก็ดีทุกคน ใครบ้างว่าตัวเองไม่ดี เราถามตัวเอง ทุกคนนั่งนี่เป็นคนดีไหม ดีทุกคนเลย ตัวเองให้คะแนนนะ ตัวเองให้คะแนนตัวเอง ดีทุกคนเลย ใครบ้างเป็นคนไม่ดี อ้าว ยกมือสิ ใครเป็นคนไม่ดี ไม่มีเลย ที่๑ ที่ ๑ คนดีทั้งนั้นเลย
ประเด็น : นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติไป กิเลสมันอยู่กับเรา อู้ รู้จักไตรลักษณ์นะ อู้ ทุกข์ไม่มีเลย ฉันได้ที่ ๑ เลย เป็นคนดีที่ ๑ เลย โอ๊ย รู้จักไตรลักษณ์เลย ไม่มีความทุกข์เลย
หลวงพ่อ : กิเลสมันหลอกกันไง เหตุกับผล เราเห็นเรื่องอย่างนี้แล้วเราขำ สังคมไทยนี่สังคมงี่เง่า! ไม่มีกึ๋นเลย เป็นชาวพุทธแท้ๆ นะ ให้เขาหลอกลวงกัน แล้วยังบอกว่ารู้นั่นรู้นี่ เพราะมันงี่เง่าไง มันถึงโดนเขาหลอกอย่างนี้ไง แต่ถ้ามันมีความจริงสักหน่อย สันทิฏฐิโก จิตมันจะดีขึ้น ดีขึ้นอย่างไร
ประเด็น : ละความโกรธได้ เดี๋ยวนี้เป็นคนดี
หลวงพ่อ : นี่ไง ตอนนี้ สอนพวกนี้ก็กำลังเป็นไฟอยู่นี่ กำลังจะเผาอยู่นี่ นี่ละความโกรธหรือยัง เวลาละความโกรธแล้วก็ขอนไม้ไง เขาคิดกันไม่เป็น เขาไม่เคยผ่านไง คนเราไม่เคยผ่าน ดูสิ อย่างช่างนี่นะ ช่างหล่อ ช่างปั้น ช่างจิตรกรรม เขาจะขึ้นผลงานของเขา ดูสิ เขาต้องถากต้องถางเห็นไหม อย่างสลักหินนี่ หินทั้งก้อนเลยนะ เขาลงทุนลงแรงของเขา เขาแกะสลักของเขา กว่าจะเป็นจิตรกรรมขนาดไหน จะให้สวยขนาดไหน เขาต้องลงทุนลงแรงขนาดไหน
ประเด็น : ไอ้นี่เอาหินมาก้อนหนึ่งเลยนะ แหม เรียบร้อยดีงาม ก็นั่งมองกันอยู่นั่นล่ะ โอ๊ย มีความสุข ไปเห็นจิตรกรรมของเขา ไปดูของเขา จะยุคไหน รุ่นไหนล่ะ โอ้โฮ ของสวยงามหมดเลย เอาหินมาก้อนมาวางไว้นะ แล้วก็นอนนะ นอนอยู่บนก้อนหินนั้นล่ะ โอ๊ย มีความสุข โอ๊ย สวยงามมาก
หลวงพ่อ : อีก ๑๐๐ ชาติ มึงอีก ๑๐๐ ชาติอยู่นั่นล่ะ
ประเด็น : แต่พอลงมือลงแรงใช้สกัดนะ โอ่ ไอ้นี่มีความโกรธนะ โอ่ คนนี้ใช้ไม่ได้ กิริยาไม่สวยงาม โอ๋ ถ้ามันนอนกอดก้อนหินอยู่นะ มันบอกมันสวยงาม
หลวงพ่อ : มันเป็นไปได้ไหม มันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้หรือ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ทั้งนั้นเลย อย่ามาโกหก อย่ามาหลอกลวง มันเป็นไปไม่ได้ คนเป็นไปไม่ได้ ครูบาอาจารย์ที่ท่านพูดถึงสิ่งที่เป็นไปได้ให้เราเข้าใจ มันจะเป็นประโยชน์ไหม
ประเด็น : แหม พระสงบนี่เหนื่อยเปล่าแน่ๆ เลย โอ้ เขาปฏิบัติแล้วเขาก็ได้ผลของเขา แหม! มาพูดตามตัวหนังสือจะรู้อะไร เขาปฏิบัติแล้วใจมันสงบ ใจมันมีความสุข โอ๋ มีความสุขมาก
หลวงพ่อ : ไปหลอกเด็กเถอะไป๊ ไร้สาระฉิบหายเลย เด็กๆ มันน่ะหลอกได้ แต่อย่ามาหลอกพระนะ พระเขาปฏิบัติมาเขารู้ของเขา เราเห็นแล้วมันตลก มันตลกมากๆ เลย มันเหมือนกับ เขาเรียกอะไรนะ ผู้ใหญ่สอนเด็ก แล้วเด็กมันย้อนผู้ใหญ่ไง บอกผู้ใหญ่นี่เต่าล้านปีไง มันบอกว่ามันทันสมัย
นี่ก็เหมือนกัน บอกมันนะบอกว่าปฏิบัติไป โธ่ ไอ้คำว่าได้ผล ได้ผล นี่มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย ไอ้นี่มันม็อบ มันตื่นกระแส กระแสปลุกขึ้นมาแล้ว คนเข้ากระแสไป ก็ว่าสิ่งนั้นถูกต้อง แล้วพอพวกมากนะ เราเห็นนะ มันมีอยู่คนหนึ่งที่มาหา เขาบอกเขาได้อนาคา แล้วลูกเขา เขามีลูก ลูกเขารู้ว่าแม่เขาติด พยายามพาแม่มาหาเรา
เราก็พยายามพูดให้เขาเข้าใจให้ได้ พอเขาเข้าใจได้ เราบอกให้กำหนดพุทโธไปเรื่อยๆ นะ พอกำหนดพุทโธไปเรื่อยๆ เหมือนกัน อายุ ๗๐- ๘๐ แล้วนะ พุทโธๆๆๆๆ ไปเรื่อยๆ นะ จิตเขาลงนะ มันเป็นความมหัศจรรย์อยู่ พอจิตเขาสงบเท่านั้นนะ เขาพูดกับเราเอง โอ้โฮ พุทโธหลวงพ่อดีกว่าอนาคาอีก พุทโธหลวงพ่อดีกว่าอนาคา เพราะพุทโธแล้วมันสงบจริงๆ มันแตกต่างกับอนาคาอีก
แล้วมันน่าเศร้านะ! พอเขาอย่างนั้นปั๊บ นี่คือปัจจัตตัง คือความรู้จริง ได้สัมผัสจริง สุดท้ายแล้วพออยู่กับเราสักพักหนึ่งนะ เขามีเหตุจำเป็นต้องไปหาเพื่อนเขา ไปหาเพื่อนเขา เขาก็ไปเตือนเพื่อนเขา เพราะเขาคนเดียวใช่ไหม ไปอยู่กับเพื่อนเขา เยอะเป็นสิบๆ เลย เขาบอกว่า เอ้ย! พวกเอ็งนะผิดนะ พุทโธ พุทโธของหลวงพ่อดีกว่าอนาคาอีก
ประเด็น : เพื่อนเขาพูดอย่างนี้ นี่เขามาเล่าให้ฟังเอง เพื่อนเขาบอกว่า เอ้ย เอ็งอย่าไปเชื่อหลวงพ่อมึงเล้ย โธ่ เราได้อนาคาแล้ว เราได้อนาคากันแล้วเห็นไหม เราก็ว่างๆ อย่างนี้เป็นอนาคาเห็นไหม เอ็งก็ว่างๆๆ ๆ เป็นอนาคาใช่ไหม เออ ใช่! เออ ใช่ว่ะ เลยกลับไปเป็นอนาคาอีกอย่างเก่า
หลวงพ่อ : เลยกลับไปเป็นอนาคาอีก คือว่าง ๆ ว่างๆ แล้วว่างๆ อย่างไรล่ะ ก็ว่างๆ ไง เห็นไหม เราก็ว่างๆ ใช่ไหม เธอก็ว่างๆ ใช่ไหม พวกเราก็ว่างๆ ใช่ไหม นี่เป็นพระอนาคาเห็นไหม ว่างๆ ใช่ไหม ใช่ไหม ใช่! เออ เรากลับมาเป็นอนาคาอย่างเก่า ทิ้งพุทโธไปเลยเห็นไหม นี่เรื่องจริงนะ ที่พูดนี่เรื่องจริงหมดนะ ในวงปฏิบัติมันมีอย่างนี้เห็นไหม
ประเด็น : แม้แต่เวลาเขาว่าเขาได้อนาคา เขากำหนดพุทโธๆๆ เขาเห็นเลย คำว่าพุทโธๆ นี้แค่จิตสงบไง
หลวงพ่อ : พอจิตเขาสงบจริงๆ นี่นะ จิตสงบจริงๆ นี่ เราได้สัมผัสจริงๆ ใช่ไหม เพราะเราสงบจริงๆ ใช่ไหม
ประเด็น : แต่คำว่าอนาคาๆ เราศึกษามาใช่ไหม เออ! ธรรมะพระพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวาง ทุกคนก็ว่าง ปล่อยวางทั้งนั้น อู๊ย ว่าง ว่าง มันว่างอะไร
หลวงพ่อ : มันสร้างอารมณ์ว่าง มันเป็นอารมณ์ความรู้สึกของเรานี่แหละ เราคิดว่ามันว่าง พอมันก็ว่าง กูก็ว่าง แล้วก็เป็นกระแสใช่ไหม เออ มึงก็อนาคา กูก็อนาคาใช่ไหม ก็คากันอยู่นั่น พอมาพุทโธๆๆ เขาเป็นเองนะ เขาเป็นเอง เขาเป็นอนาคาเอง แล้วเขากำหนดพุทโธๆ เอง แล้วจิตเขาสงบเอง เขาก็มาพูดกับเราเอง โอ้ย พุทโธหลวงพ่อดีกว่าอนาคาอีก เวลาเราสัมผัสสิ่งใด เรารับรู้สิ่งใด มันจะรู้เดี๋ยวนั้น แล้วคำพูดครั้งแรกมันจะเป็นความจริง
ประเด็น : พอสุดท้ายแล้วก็ไปอยู่ในกระแสใช่ไหม พุทโธหลวงพ่อเอ็งผิดนะ พุทโธหลวงพ่อเอ็งผิด เห็นไหม พุทโธหลวงพ่อเอ็ง กว่าจะว่างๆ นี่เกือบตาย ท่องพุทโธเกือบตาย กว่าจะลงสักทีหนึ่ง เอ็งก็ว่างๆ ข้าก็ว่างๆ เห็นไหมอนาคา
หลวงพ่อ : คำว่าเอ็งก็ว่างๆ ข้าก็ว่างๆ พวกเราก็ว่างๆ มันเป็นอะไรล่ะ มันเป็นใครทำก็ได้ใช่ไหม ใครทำก็ได้ใช่ไหม พระอนาคาอะไร มีทีเป็น ๑๐-๒๐ องค์อย่างนั้น เร็วๆ เดี๋ยวนั้น เอ็งก็ว่าง ข้าก็ว่าง อ้าว เด็กนี้ก็ว่างเนาะ อ้าว ข้าก็ว่างเนาะ อนาคาเทียบได้เลย อนาคาเอ็งกับอนาคาข้าเทียบกันได้เลยนะ ว่างๆ เนี่ย
พูดแต่ปาก! มันเป็นกระแสใช่ไหม มันเป็นสถานะทางสังคมใช่ไหม ว่าเราเข้ามาในสังคมนี้แล้วเขาว่างกูก็ต้องว่างกับเขาใช่ไหม ก็เหมือนพวกเรา ใส่สีเสื้อสีเดียวกัน เราเป็นพวกเดียวกันใช่ไหม นี่ก็เหมือนกันไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์นี่มึงรู้ไตรลักษณ์อะไร ไตรลักษณ์ ถ้ามันรู้ไตรลักษณ์นะ มันเวลาเราที่เราพูดเห็นไหม ถ้ามันจะรู้ไตรลักษณ์มันต้องมีที่มาของไตรลักษณ์
นมนี่มาจากไหน นมที่ตั้งนี้มาจากไหน อ้าว! นมนี่ก็นมหนองโพใช่ไหม มันก็โคนมหนองโพ เขาก็รีดนมมาจากเต้านม นมวัว อ้าวนมวัวมาจากไหน นมวัวมันก็มาจากวัว มาจากอะไร วัวมันก็กินหญ้า แล้วหญ้ามาจากไหน หญ้ามันก็มาจากดิน หญ้ามันเกิดจากดิน มันต้องที่มาที่ไปเว้ย ธรรมะมันลอยมาจากฟ้าหรือ เอ็งรู้ไตรลักษณ์ แล้วไตรลักษณ์มันเป็นอย่างไร ไตรลักษณ์มันมาจากไหนอะไรทำให้เกิดไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์มันเกิดที่ไหน
ไตรลักษณ์มันเกิดบนกระดาษนี่หรือ นี่ไง ไม้ มาลัย ต.เต่า ร.เรือ ล.ลิง ไม้หันอากาศ ก.ไก่ ษ.ฤาษี เห็นไหม ณ.เณร การันต์ ไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์เกิดบนกระดาษหรือ ไตรลักษณ์มันเกิดกันที่ไหน ไตรลักษณ์มันเกิดบนจิตเว้ย แล้วจิตมึงอยู่ไหน แล้วจิตรู้ได้อย่างไร โธ่..อย่ามาพูด มันก็เหมือนกับบอกว่าต้นทุเรียนเกิดบนก้อนเมฆ กูไม่เชื่อมึงหรอก ทุเรียนต้นไหนเกิดบนก้อนเมฆ ทุเรียนมันก็เกิดที่สวนทุเรียน
ไอ้นี่ก็บอกว่าไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์มันเกิดที่ไหน มึงรู้หรือว่าไตรลักษณ์ มันเกิดที่ไหน อ้าว ทุกข์มันจางไป จางไป ทุกข์มันจางไปเพราะมันหลอกมึงไง โอ้โลมปฏิโลมกัน โอ๋ โอ๋ โอ๋ ทุกข์หายหมดเลย โอ๋ โอ๋ ไม่มีทุกข์ สบาย มึงกลับไปอยู่บ้านมึงก็ทุกข์ ไม่มีใครโอ๋มึงก็ทุกข์ ทุกข์มันหายเพราะเขาโอ๋มึง เขาหลอกมึง มันเป็นเรื่องไม่จริงนะ
ประเด็น : เรื่องไม่จริง แล้วมาอวดรู้ อวดรู้ออกเว็บไซต์ซะด้วย แหม พระสงบจะเหนื่อยเปล่า
หลวงพ่อ : เหนื่อยมาตั้งแต่เกิดโน้น หายใจนี่เหนื่อยฉิบหายเลย เกิดจากท้องแม่มันก็หายใจอยู่ ยังไม่เลิกเลยจนป่านนี้ แล้วยังจะหายใจอีกใครจะไม่เหนื่อย เหนื่อยน่าดูเลย ตอนหายใจ พุทโธๆนี่
ประเด็น : พระสงบต้องเหนื่อยเปล่าแน่ๆ เลย
หลวงพ่อ : โธ่ เริ่มต้นของการมีชีวิต จิตมันมีชีวิต จิตดำรงชีวิตอยู่นี้ งานการที่เกิดจากชีวิตนี้ เกิดจากจิตนี้ เกิดมาเพื่อประโยชน์กับตัวเอง กับเกิดมาเพื่อประโยชน์ของโลก แล้วพอจิตนี้มันเกิดมาเพื่อประโยชน์ตัวเองกับประโยชน์โลกนี้ เราทำประโยชน์อยู่แล้ว สิ่งที่เราพูดออกไป เพื่อประโยชน์กับสังคม เราจะไปเหนื่อยอะไร
เราพูดออกไปนะ เพียงแต่ว่า เขาเรียกว่าอะไรนะ บอกว่าขวนขวายน้อย ทำหรือไม่ทำเท่านั้น ถ้าไม่ขวนขวายก็คือไม่ต้องทำ ถ้าขวนขวายก็ขวนขวายเพื่อประโยชน์โลก ถ้าประโยชน์โลกเห็นไหม เขาว่าพระสงบเหนื่อยเปล่า เราไม่อยากต้องหาหลักฐานเนาะ จะให้ดูพวงมาลัยที่โต๊ะบูชาพระกู พวงมาลัยเต็มเลย ใครๆ ก็มาขอขมา ใครๆ ก็มาขอขมา มันเหนื่อยเปล่าตรงไหนวะ
โธ่..เวลาใครก็มาขอขมา กูไม่ต้องการอะไรหรอก กูต้องการให้พวกมึงเป็นคนขึ้นมาเท่านั้น ต้องการให้พวกเอ็งเป็นคนขึ้นมา ให้มีร่างกายกับจิตใจ ให้เอาหัวใจเอ็งไว้ในร่างกายเอ็งกูพอใจแล้ว ต้องการให้พวกเอ็งเป็นคน!ขึ้นมาเท่านั้น เป็นคนที่มีร่างกายพร้อม มีจิตใจพร้อม ไม่ใช่เป็นคนที่มีแต่ร่างกายแล้วจิตใจก็ให้เขาหลอกลวงไป ให้เขาควักหัวใจเอ็งไป แค่พวกเอ็งเอาร่างกายนี้มา แล้วเอาหัวใจมาอยู่ในร่างกายของเอ็งเท่านั้น มันจะไปเหนื่อยที่ไหน กูจะไปเหนื่อยอะไรกับพวกมึง ไม่มีทาง
ประเด็น : นี่พูดถึงเขาจะอวดไง เขาจะอวดว่าเขาทำถูก แล้วพระสงบจะเหนื่อยเปล่า
หลวงพ่อ : เวรกรรม! มันจะไปเหนื่อยที่ไหน มันเหนื่อยๆ ก็ตอนหายใจ หายใจก็เหนื่อย ฮื่อ ฮ้า เหนื่อยน่าดูเลย หายใจนี่โคตรเหนื่อยเลยนะ งานอย่างอื่นมันเป็นงานอย่างอื่น ฉะนั้นไอ้นี่มันเรื่องของเขานะ หนึ่งเรื่องของเขา แต่เราพูดเห็นไหม
ประเด็น : เขาพูดมาอย่างนี้เห็นไหม เขาจะพูดให้มีแบบว่าพูดให้มันมีน้ำหนักไง ให้มีน้ำหนักว่าเขาปฏิบัติแล้วเขาได้ผลไง แล้วพระสงบพูดเป็นตัวอักษร
หลวงพ่อ : ไม่ใช่ตัวอักษร พูดจากประสบการณ์เลยล่ะ ไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์มาอย่างไร ทุกข์ ทุกข์มาอย่างไร
ประเด็น : ทุกข์ยังไม่รู้จักเลย แล้วนี่มันไม่ทุกข์ ไม่ทุกข์เลย ไม่ทุกข์เล้ย ไม่ทุกข์เลย
หลวงพ่อ : ไม่ทุกข์เพราะว่าไม่รับรู้ไง
ประเด็น : อย่างนี้ต่างหากมันเข้าปริยัติ ทุกข์มีเพราะยึดใช่ไหม
หลวงพ่อ : ไม่ยึดก็ไม่ทุกข์ใช่ไหม นี่ไม่ทุกข์ไง เอาทุกข์ไปกลบไว้ในใจ
ประเด็น : ดูอย่างนี้ เมื่อวานเขาพูด พูดเรื่องน้ำใสแล้วเห็นตัวปลา ไอ้ที่ว่า ๑ ๒ ๓ ๔ เขาบอกว่าในธรรมพระพุทธเจ้าเห็นไหม น้ำใสจะเห็นตัวปลาแล้วเราก็ทำความสงบของใจกัน แล้วเราก็รอนะ รอกิเลสมาชนเรานะ กูจะจับปลา รอมาชน
หลวงพ่อ : บอกว่าอีก ๑๐๐ ชาติ
ประเด็น : ในธรรมะบอกว่าน้ำใสจะเห็นตัวปลา จิตสงบแล้วจะเห็นกิเลส
หลวงพ่อ : ถ้าจิตสงบแล้วเห็นกิเลส ฤๅษีชีไพรเป็นพระอรหันต์หมดแล้ว ไม่เห็นหรอก! จิตสงบขนาดไหน กิเลสมันจะละเอียดกว่านั้น พอจิตสงบปั๊บมันก็บอกว่านี่นิพพานเลยล่ะ เพราะติดสมาธิ สมาธิทุกคนที่ติดจะเข้าใจว่านิพพาน ถ้าใครติดสมาธิมันจะว่างหมด แล้วมันก็เข้าใจว่านั่นคือนิพพาน แล้วบอกว่านิพพาน แล้วมันจะเจอกิเลสไหมล่ะ ก็ไม่เจอ ไม่เจอเพราะอะไร เพราะกิเลสมันละเอียดกว่า ละเอียดกว่าแล้วน้ำใสจะเห็นตัวปลาอีก ๑๐๐ ชาติเลย
หลวงตานี่สอนถูก ครูบาอาจารย์ของเรานี่สอนถูก หลวงปู่มั่นนี่สอนถูก สอนอย่างไร ถ้าจิตสงบแล้วให้ออกค้นหา ให้ออกใช้ปัญญา ถ้าจิตมันสงบแล้วให้ออกรื้อค้น ใสแค่ไหน ปลาอยู่ไหน แล้วปลาเป็นอย่างไร แล้วดูว่ามันเสวยอารมณ์อย่างไร พอเสวย จิตเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม นั่นล่ะวิปัสสนา วิปัสสนาเกิดเพราะมันเห็นกิเลส
กิเลสมันอยู่บนอะไร กิเลสเป็นนามธรรม ความรู้สึกมันเป็นนามธรรม มันติดในอะไร ก็ติดในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม มันติดเพราะอะไร ติดเพราะเราไปติด ติดนั้นคืออะไร ติดนั้นคือกิเลส แต่กิเลสมันมีตัวตนไหม กิเลสไม่มีตัวตน กิเลสเป็นนามธรรม แต่กิเลสอาศัยสิ่งนี้เป็นที่อาศัย กิเลสอาศัยสิ่งนี้เป็นที่อาศัยปั๊บ จิตสงบมันถึงจับได้ ถ้าจิตไม่สงบมันก็เป็นเราใช่ไหม
โอ้ย เขาให้พิจารณากาย ไอ้เราก็แหม พิจารณาอย่างดีเลยนะ โอ๋ ทำซะแจ๋วเลย เฮ้ย เขาพิจารณาโดยจิตนะ มันเห็นเป็นกาย เห็นเป็นไตรลักษณะนี่มันจะขยาย มันจะแยกส่วน มันเห็นในการแยกส่วนขยายส่วน มันไม่ใช่เห็นอย่างเรารักษาหรอก โอ้ว! ภาวนาเป็นไม่เป็น เขาฟังกันตรงนี้ ฟังตรงนี้ ว่ามันเห็นจริงหรือไม่จริงไง
เขาบอกให้กินทุเรียน มันหยิบทุเรียนมันกินทั้งเปลือกเลย มันเอาปากนี้เคี้ยวทุเรียนเลย เอ๊อะ! ใครเห็นก็ตกใจเนาะ เจอทุเรียนมันม่ำเลย เขาบอก เฮ้ย! ไม่ใช่ เขาปอกทุเรียน กินทุเรียนต้องปอกทุเรียน ปอกแล้วกินเนื้อมัน ไม่ใช่กินลูกทุเรียน คำพูดอย่างนี้ เวลาเขาพูดเขาไม่รู้ตัวเขาเลยว่าเขาพูดออกมาอย่างนี้ คนที่เขาภาวนาเป็น เขาเห็นแล้วเขาตลก เขาสังเวช เขาสังเวช
คำว่าไตรลักษณ์ เวลาพูดเห็นไหม เห็นไตรลักษณะ เห็นทุกข์ เห็นอะไรต่างๆ แต่พฤติกรรมล่ะ เพราะอะไร เหมือนเด็กเลย เวลาเจอแม่นะ แม่ขอตังค์ แม่ขอตังค์ ไอ้พ่อแม่หาตังค์เกือบตาย ไอ้ลูกมาแบตังค์ขอตังค์ นี่ก็เหมือนกันเจอไตรลักษณ์ก็ขอไตรลักษณ์ไง มาถึงก็แบมือขอไตรลักษณ์ มันได้ไตรลักษณ์มาแล้ว ไอ้คนหาตังค์นะหาตังค์เกือบตาย คนหาเงินนะมันต้องทำหน้าที่การงานมา กว่าจะได้เงินตอบแทนมา เพื่อเอามาใช้ดำรงชีวิต ไอ้ลูกก็แบมือขอ แบมือขอ
ไอ้นี่ก็รู้ไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์ แล้วไตรลักษณ์มาจากไหน ก็แบมือขอมาไง เพราะมันจะได้มา มันไม่ใช่ว่าได้มาอย่างนี้ การได้มา การรู้ไตรลักษณ์มา การเห็นทุกข์มา มันไม่เห็นอย่างนี้ มันถึงได้ว่าเหตุกับผล ถ้าเหตุมันไม่เป็นจริงนะ ผลมันก็เร่ร่อนอย่างนี้ ถ้าเหตุมันเป็นจริง ผลมันจะเป็นประโยชน์กับเรา ฉะนั้นปฏิบัติเราถึงว่า เราไม่กระต่ายตื่นตูม ไม่เชื่อใครไป
เราเชื่อครูบาอาจารย์ของเรา เราเชื่อฝ่ายปฏิบัติเห็นไหม ปริยัติเป็นการศึกษา เป็นทฤษฎี หลวงตาท่านพูดประจำ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ แยกจากกันไม่ได้ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ แยกจากกันไม่ได้ ทีนี้ถ้าแยกจากกันไม่ได้ เราก็เอามาเป็นแนวทางเพื่อที่จะปฏิบัติเท่านั้น ไม่ใช่ว่า รู้ปริยัติแล้วคือกูรู้แล้ว กูรู้ กูรู้ กูรู้ รู้แบมือขอ แต่ถ้ารู้จริงมันจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ นี่เหตุกับผล ทีนี้เราปฏิบัติแล้วเราดูของเรา เพื่อประโยชน์กับเราเนาะ เฮ้อ! เขาจะแหย่มาให้ฉุน
กูเลยเห็นว่าเป็นเรื่องขำขัน ขำขันที่มันสงสารเด็กๆ แล้วจริงๆ นะ แล้วเด็กๆ อ่าน เด็กๆ ก็เชื่อนะ อู๊ ปฏิบัติแล้วได้ผล ทุกคนพูดคำนี้ไง ได้ผล ได้ผล แต่เราก็พูดไว้ในเว็บไซต์เยอะแล้ว เรื่องได้ผล ได้ผล ได้ผลของใคร ดูเด็กมันมาวัดสิ มาอย่างนี้พ่อแม่ดีใจแล้ว เพราะพาเด็กมาวัดเข้าวัดเข้าวา พอพ่อแม่ดีใจแล้ว แต่เราจะเอาเด็กมาวัด เอาเด็กมา พ่อแม่หาให้เกือบตาย กว่าจะพาเด็กมาวัด เด็กไม่ต้องหาเลย พ่อแม่ต้องหามา
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ปฏิบัติมาเกือบตาย ปฏิบัติมาแล้วมาแนะนำเรา ทำไมเราจะไม่เอา ทีนี้เอาแล้วมันก็ต้องพิจารณาของเรา ให้เห็นตามความจริงของเรา ถ้าเรื่องของเขา ไอ้นี่เรื่องของเขา นี่เรื่องของผลการปฏิบัติ อยู่ที่เหตุนะ ถ้าเหตุมันถูกต้องดีงาม ผลก็ดีงาม ฉะนั้นเวลาเราปฏิบัติ อย่างแนวทางปฏิบัติ บอกว่าอย่าเถียงกัน อย่าให้อะไรกัน แนวทางปฏิบัติมันแตกต่างกันได้ไหมล่ะ มันหลากหลายได้ แต่ผลวัดที่ผล วัดที่ผล
ถ้าวัดที่ผล ถ้าวัดที่ผลมันก็วัดแบบเห็นไหม อย่างเช่น อ.ย. สิ่งใดก็แล้วแต่ผ่าน อ.ย.แล้ว อ.ย.เป็นผู้รับว่าสิ่งนั้นถูกต้องดีงามไม่มีสารพิษ นี่การประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้ามันเป็นจริง ถูกกับผิด ธรรมะมันกลั่นออกมา ถ้ากลั่นออกจากธรรมะนี้นะ มันจะไม่มีสารพิษเลย มันจะมีแต่คุณงามความดี มันจะมีความสุขในหัวใจของเรา ถ้ามีความสุขของเรานะ มันจะเริ่มต้นมาจากพื้นฐานเลย พื้นฐานเห็นไหม ดูพื้นฐาน
อย่างเช่น คนเจ็บไข้ได้ป่วยเข้าโรงพยาบาล เริ่มจากการผ่าตัด เขาเริ่มต้นอะไร เขาต้องให้ฟื้นฟูคนไข้ให้แข็งแรงก่อน ถ้าคนไข้แข็งแรงขึ้นมา เขาทำความสะอาดแล้ว เขาจะเข้าผ่าตัดขึ้นมาเพื่อประโยชน์กับคนไข้นั้น ไม่ใช่คนไข้มาก็จะผ่าตัดคนนี้มาก็จะผ่าตัด ผ่าตัดไม่ได้! คนไข้จะผ่าตัดต้องฟื้นฟูคนไข้ให้แข็งแรงก่อน
ถ้าคนไข้ไม่แข็งแรงแล้วเอาเข้าไปผ่าตัด คนไข้นั้นจะช็อคตายเลย ถ้าพูดถึงคนมีคุณธรรม พื้นฐานตรงนั้นมันสำคัญ แล้วนี้บอกว่าไตรลักษณ์จะเกิดตรงนั้น ผ่าตัดเลย ใครมาจับหัวชนฝาแล้วก็ผ่าตัดเลย มึงผ่าที่นี่ก็ได้ เดี๋ยวเอามีดมา กูจะผ่าให้เดี๋ยวนี้
ประเด็น : พูดกันพร่ำเพรื่อแล้วก็เชื่อนะ ปฏิบัติง่าย รู้ง่าย ปฏิบัติก็ได้ไง โอ๋ย ทำอะไรก็ได้ไง
หลวงพ่อ : ปวดหัว ปวดหัว ไอ้ที่พูดเพราะเราพูดออกไปแล้วมันเป็นประโยชน์กับสังคม สังคมได้สติกันเยอะ
ประเด็น : อย่างที่ว่าพระสงบเหนื่อยเปล่าเนี่ย
หลวงพ่อ : มึงมาดูดอกไม้ พวงมาลัยขอขมากูสิ มึงมาดูดอกไม้ขอขมากูมั่ง ทั้งๆ ที่เวลาเขามานี่ จริงๆ นะเราไม่อยากให้เขาทำ เพราะเราคนมันมีความละอาย มันอาย เราไม่ต้องการให้ใครทำนะ เราถึงบอกใครมาเราจะบอกว่า เราไม่ต้องการอะไรเลย ที่เราพูดออกไป ไม่เคยต้องการอะไรเลยต้องการให้คนเป็นคน นิสัยเราไม่ชอบเรื่องโกหกหลอกลวง ไม่ชอบจริงๆ ใครโกหกหลอกลวงนี่เกลียดมากเลย ฉะนั้นเขาหลอกลวงกันต่อหน้าต่อตา เราก็พูดเพื่อให้สังคมรู้เนื้อรู้ตัวเท่านั้นเลย
ประเด็น : บอกจะเหนื่อยเปล่า เสียเวลาเปล่า
หลวงพ่อ : ไม่หรอก กูหายใจกูก็เหนื่อยตายห่าอยู่แล้ว เอวัง