เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑o ธ.ค. ๒๕๔๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๔๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาเราปฏิบัติ เห็นไหม พวกเราปฏิบัตินี่นะคนตาบอด ถ้าคนตาบอดทำอะไรไปนะ ตาบอดคลำช้าง เห็นไหม แล้วดูหลวงปู่มั่นสิ หลวงปู่มั่นเป็นคนตาดี หลวงปู่มั่นเวลาท่านเทศนาว่าการ ท่านพูดถึงผลไหม? ไม่พูดถึงผลเพราะอะไร?

เวลาหลวงตาท่านพูดว่า “หลวงปู่มั่นท่านไม่พูดถึงผลเลย ท่านพูดถึงแต่เหตุๆ” เพราะอะไร?

เพราะถ้ารู้ผลแล้วมันคาดหมาย เรารู้ เราคาดหมาย ถ้าไม่มีเงินแท้นะ ไม่มีแบงก์จริงๆ นะ จะไม่มีแบงก์ปลอม ถ้าไม่มีแบงก์จริงจะไม่มีแบงก์ปลอมเลย เพราะมันมีแบงก์จริง ไอ้คนมันก็ไปทำแบงก์ปลอม ไปเลียนแบบ ถ้าไม่มีของจริงให้เป็นแบบอย่าง มันจะเอาอะไรมาเลียนแบบ?

ฉะนั้น หลวงปู่มั่นถึงไม่พูดเรื่องผลเลย ท่านพูดแต่เหตุๆ ให้ปฏิบัติมา แต่เวลาครูบาอาจารย์เรามาเพราะอะไร? เพราะว่าเวลาเทศนาว่าการไปแล้วมันเผยแผ่มา เวลามันยาวไกล เวลาพูดต้องเอาเหตุผลมาแสดงให้มันชัดเจนจะแจ้งสิ ก็เอาเหตุเอาผลมาแสดงให้ชัดเจน พอผลมันออกมาอย่างนั้นปั๊บ มันก็เอาผลนั้น

จิตนี่ร้ายกาจนัก ร้ายกาจเพราะอะไร? เพราะว่าเวลามันขึ้นมา เราสัญญา เราข้อมูล เราไม่คิดถึงมัน อุปาทานนะ จิตใต้สำนึกนี่เราควบคุมมันไม่ได้หรอก พอจิตใต้สำนึกมันไปคิด นี่เป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว

ใช่.. เป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เวลาเราไปรื้อค้นในพระไตรปิฎกสิ ในพระไตรปิฎกเขาสร้างแต่เหตุนะ ดูสิ นิพพานเป็นอย่างนั้น นิพพานเป็นอย่างนั้น.. แล้วคนเขาไปอ้างกันว่านิพพานเป็นอย่างนั้นๆ เป็นอายตนะนิพพาน

เราฟังแล้วมันน่าสลดสังเวช อายตนะนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี่มันเป็นนิพพานได้เหรอ? อายตนะคือตานี่เป็นนิพพานได้เหรอ? มันเป็นวัตถุ อายตนะเป็นนิพพานไม่ได้ วัตถุเป็นนิพพานไม่ได้หรอก นิพพานมันอยู่ที่จิต เวลาหลวงปู่มั่นบอกกับหลวงตา “นิพพานไม่ได้อยู่บนภูเขา ไม่ได้อยู่ในวัตถุต่างๆ นิพพานมันอยู่ที่ใจของคน อยู่ที่ความรู้สึกอันนั้น”

ถ้าความรู้สึกอันนั้นมันเข้าถึงนิพพาน คือใจนั้นคือนิพพาน แต่วัตถุมันเป็นนิพพานไม่ได้ แต่เวลาไปศึกษานะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอธิบายไง อายตนะนิพพาน เห็นไหม นิพพานอยู่ที่ไหน? อายตนะนิพพานหมายถึงว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ท่านเป็นพระอรหันต์ ใจของท่านเป็นวิมุตติ เป็นนิพพาน แต่ใจอยู่ที่ไหน?

ถ้าบอกใจอยู่ที่ใจ เด็กมันก็จะงงใช่ไหม? ใจ อายตนะนิพพาน คือว่านี่มันเหมือนกับผลไม้ เราไปซื้อส้ม เราบอกเปลือกส้มไม่เอา เอาแต่เนื้อส้มมาได้ไหม? เราไปซื้อส้ม ส้มอยู่ที่ไหน ส้มก็คือเอาเปลือกส้มมา

นี่ก็เหมือนกัน เนื้อส้มมันอยู่ในเปลือกส้ม ใจ นิพพานนี่ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ นิพพานนี่มันอยู่ในเปลือก อยู่ในเปลือกคืออยู่หลังตา หู จมูก ลิ้น กาย เห็นไหม เพราะตา หู จมูก ลิ้น กาย มันสิ่งเป็นการแสดงออก เป็นเครื่องสืบต่อของใจ ใจคือนิพพานดวงนั้น

นี่ถ้าบอกว่าอยู่ในอายตนะนิพพาน ความหมายท่านอธิบายอย่างนี้ ความหมายอธิบายว่านิพพานนี่นะมันอยู่หลังเปลือกนี้ แล้วบอกอายตนะนิพพานอยู่หลังนิพพาน ก็ไปเอาเปลือกมาโม้กัน อายตนะนิพพาน อายตนะเป็นนิพพาน มันเป็นไปได้อย่างไร?

ถ้าเราไม่เข้าใจ ถ้าคนไม่เป็น ตาบอดมันก็คลำช้างไป เห็นไหม แล้วเวลาปฏิบัติขึ้นมา กิเลสมันร้ายนัก กิเลสนี่นะเวลามันขึ้นมา มันเป็นสัญญา แล้วเขาถามว่า

“แล้วให้ทำอย่างไร?”

“ให้กลับไปที่พุทโธ”

“กลับไปที่พุทโธเหรอ? กลับไปที่พุทโธนี่ไปเริ่มต้นใหม่เหรอ?”

ไม่ใช่เริ่มต้นใหม่.. คนเรานี่นะ ใจนี่นะ ถ้าหัวใจเราดี ใจเรามีความองอาจกล้าหาญ ใจเรากำลังทำงาน ใจเรากำลังคิดดีมากๆ เลย แล้วคิดดีนะ มันทำอะไรมันก็เป็นคิดที่เรื่องดีๆ ใช่ไหม? ถ้าใจเราท้อถอย ใจเราหดหู่มาก เราคิดอะไรก็คิดแต่เรื่องเศร้าหมอง คิดแต่เรื่องทับถมใจใช่ไหม?

ถ้าเรากลับมาที่พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ ก็กลับมาสร้างกำลังใจขึ้นมา ถ้ากำลังใจขึ้นมาดี เวลาออกไปเรื่องทางปัญญา มันก็จะเป็นโลกุตตรปัญญา ฉะนั้นมันต้องถอยกลับมาที่พุทโธ ไม่ใช่เริ่มต้นใหม่นะ ไม่ใช่เริ่มต้นใหม่ เพียงแต่ว่าเราสร้างใจของเราขึ้นมาให้มันองอาจกล้าหาญ สร้างใจของเราให้มันเข้มแข็งขึ้นมา แล้วเราค่อยออกไปวิปัสสนาใหม่

นี่จะมีสิ่งใดก็แล้วแต่ ถ้ามีอุปสรรคเกิดขึ้นมา จำไว้เลย! กลับมาที่พุทโธ กลับมาที่ตั้งสติ

ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ เรามารู้สึกตัวเรานี่ การทำของเรามันจะไม่ผิดพลาด แต่เวลาเราแบกของหนักนะ เราทำงานมาเหนื่อยล้ามาก เราทำงานมาทุกข์ยากมากเลย แล้วก็จะเอาๆๆ นะ งานมีแต่ผิดพลาดนะ งานจะผิดพลาดไปตลอดเลย ถ้าเรากลับมาพักผ่อน กลับมาตั้งสติของเราขึ้นมา แล้วเรากลับไปทำงานใหม่ งานนั้นจะเป็นงานที่ดีขึ้นมา ถึงว่าให้กลับมาที่พุทโธ กลับมาที่พุทโธนะ

เขาบอกว่า “มาถึงนี่แล้วจะไปไหน?”

นี่ไง มันเป็นวิปัสสนึกไง นึกถึงว่าเราวิ่ง ๑๐๐ เมตรมา จะถึง ๘๐ เมตรแล้ว จะเข้าเส้นชัยแล้ว ทำไมไม่ให้ต่อไป มันจะเข้าเส้นชัยไปได้อย่างไร เพราะอะไร? เพราะเส้นชัยนี่นะ มันเข้าไปเส้นชัย มันจะมีริบบิ้นให้มึงเขาวิ่งเข้าเส้นชัยนะ ไอ้นี่มึงวิ่งกลับหลังหัน มึงจะไปเส้นชัยที่ไหน? มึงต้องกลับมาใหม่ที่ว่า..

มันจะเป็นสัมมาทิฏฐิ-มิจฉาทิฏฐิไง สัมมาทิฏฐิคือความเห็นที่ถูกต้อง ความเห็นที่เป็นธรรม มิจฉาทิฏฐิคือว่ากิเลสมันบวกเข้าไปไง บวกเข้าไปนะ เป็นธรรมะนะ เป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่บวกกิเลสเราเข้าไป พอบวกกิเลสเข้าไป ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้นนะ มันเป็นการเบี่ยงเบนไปแล้ว มันเป็นการเสียหายแล้ว

นี่ตรงนี้ ถ้ามีครูมีอาจารย์มันสำคัญตรงนี้ไง ถ้ามีครูมีอาจารย์นะ สิ่งใดที่มันเกิดขึ้นมามันเปรียบเทียบ นี่เราไม่เคยเห็นไง ดูสิ ดูเวลาเราไปเกิดนิมิต เราไปเห็นต่างๆ หลวงปู่ดูลย์บอกไว้ “ความเห็นนั้นเห็นจริงๆ แต่ความเห็นนั้นไม่จริงเลย” เห็นจริงๆ นี่ เห็นด้วยตาจะแจ้งจับต้องได้ด้วย นี่ของฉันเองๆ แล้วมันจริงไหม? มันเป็นสมมุติไง มันไม่จริงหรอก

ถ้ามันเป็นความจริงนะ มันเป็นสภาวธรรม สภาวธรรมนะ ถ้าเราสภาวธรรม สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสภาวธรรม เราก็เป็นสภาวธรรม เด็กก็เป็นสภาวธรรม ร้องไห้ก็เป็นสภาวธรรม เด็กมันเล่นมันก็เป็นสภาวธรรม สภาวธรรมของเด็กๆ สภาวธรรมของผู้ใหญ่ สภาวธรรมของผู้ที่เป็นผู้คุมนโยบาย นโยบายนะ เขาสั่งคำเดียวนะ ประเทศไทยนี่บอกให้ทำอย่างนี้นะ ๑๐ ปียังทำไม่เสร็จเลย ให้สร้างเขื่อนๆ หนึ่งนะ เขื่อนสร้างกี่สิบปี มันเซ็นแก๊กเดียว

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นสภาวธรรม สภาวธรรมของใคร? ถ้าสภาวธรรมของผู้ที่เริ่มต้น เห็นไหม มันถึงมรรคหยาบมรรคละเอียดไง สิ่งที่เป็นหยาบๆ ก็ให้มันหยาบๆ ไป สภาวธรรม สภาวธรรมที่มันเป็นความจริง เวลามันวิปัสสนาไป สภาวธรรมที่เกิดขึ้นนะ มัน..

ก่อนจะเป็นสภาวธรรมนะ ทุกคนอย่างเช่นเด็ก กว่าเด็กมันจะทำงานได้ เด็กมันต้องมีการศึกษา ศึกษาเสร็จแล้วมันต้องสมัครงาน มันต้องได้ตำแหน่งหน้าที่การงาน ถ้ามันได้ทำงานแล้วมันถึงได้เงินเดือน แต่ขณะที่มันเรียนอยู่มันไม่ได้เงินจากใครเลย ได้เงินจากพ่อแม่มัน

นี่ก็เหมือนกัน ขณะที่สภาวธรรมๆ นี่ มันจะหลอกไปตลอดเลย เป็นสมาธิก็เป็นสภาวะแบบนั้น จิตสงบก็เป็นสภาวะแบบนั้น นี่จิตร่มเย็นอย่างนั้น มันเป็นสภาวธรรมไปตลอด แต่เป็นสภาวธรรมที่ขณะที่ว่าเป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวธรรมนี่เป็นอนัตตา

แล้วอนัตตาที่เรากำลังสร้างสมขึ้นมา สิ่งนี้มันสร้างสมขึ้นมามันเป็นอนัตตา มันแปรสภาพเป็นทางบวก แปรสภาพเป็นทางที่ดีไง คือเป็นประสบการณ์ไง เอ้า..คราวนี้ก็เป็นอย่างนี้น้อ เห็นสภาวะแบบนั้น อันนี้นะ ตอนเช้าอากาศดีมากเลย พอเที่ยงมาทำไมมันร้อน พอตกบ่ายทำไมอากาศมันคล้อยไปมันเป็นอย่างนั้นล่ะ จิตมันก็แปรสภาพไปเรื่อยๆ มันก็สะสมวันแล้ววันเล่า วันแล้ววันเล่า มันก็เข้มแข็งขึ้นมา อ้อ.. ธรรมชาติเป็นอย่างนี้ เช้า กลางวัน เย็น มันเป็นอย่างนี้ อากาศมันเป็นอย่างนี้ ใจเราอย่าไปผูกพันกับมัน เรารับรู้ไว้แล้วเราก็ปล่อยวางขึ้นไป จิตมันก็ดีขึ้นมา มันก็ไม่ตื่นเต้นใช่ไหม?

ถ้ามันไม่ยอมเลย เช้าขึ้นมาเป็นกลางวันไม่ได้ ต้องร่มเย็นอย่างนี้ เป็นกลางวันไม่ยอมๆๆ กิเลสมันก็ไม่ยอม มันก็ขัดแย้งไป แต่ถ้ามันยอมรับๆ ไป มันก็พัฒนา จิตมันพัฒนาขึ้นมา เห็นไหม วุฒิภาวะมันก็เจริญขึ้นมา เจริญขึ้นมา..

นี่สภาวธรรมก็เป็นอย่างนี้ สภาวธรรมอย่างนี้เป็นสภาวะเป็นประสบการณ์ เป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา แต่มันวิปัสสนาไปบ่อยครั้งเข้าๆ จนถึงที่สุด ถึงที่สุดมันสมุจเฉทปหานไง สมุจเฉทปหานไปนะดั่งแขนขาดเลย กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ แล้วมันจะกลับมาเป็นแบบเดิมอีกไม่ได้ เพราะว่าสิ่งที่มันแปรสภาพไปแล้ว มันจะกลับมาเป็นปุถุชนอีกไม่ได้

สภาวธรรมเกิดขึ้นมานะ อันนั้นเป็นผล แต่กว่าจะถึงผล ครูบาอาจารย์นะ แต่ละขั้นตอนเห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูด “นั่งจนก้นแตก ภาวนาไปจนฝ่าเท้าเลือดจะออก”

ไอ้เราทำกันนะ โอ้โฮ.. มาคุยโม้นะ ภาวนาทั้งวันเลย ๑๘ ชั่วโมง ๒๐ ชั่วโมง

เราบอก “เอ็งต้องทำอย่างนี้ ๑๘ ชั่วโมง แล้วทำอย่างนี้ ๗ ปี” ทำหนเดียวแล้วก็บอกจะเอาธรรมะๆ กินข้าวหนเดียวแล้วบอกโตเลย มันจะเป็นได้อย่างไร? เอ็งกินข้าววันละกี่หน? แล้วกินข้าวมากี่ปี? กินข้าวตลอดชีวิต แล้วภาวนาหนเดียวก็จะให้มันเป็นไปได้อย่างไร? มันเป็นไปไม่ได้ เว้นไว้แต่ขิปปาภิญญา ผู้ที่ปฏิบัติเร็วรู้เร็ว เขาสร้างสมบุญญาธิการมา ปฏิบัติเร็วรู้เร็วแต่ย้อนหลังสิ ย้อนหลังไปตั้งแต่อดีตชาติ ตั้งแต่สร้างสมมา ต้องสร้างสมมานะ

ดูสิ ดูอย่างแร่ธาตุ อย่างน้ำมัน น้ำมันเป็นบางบ่อน้ำมันจะมีคุณภาพ น้ำมันบางบ่อน้ำมันคุณภาพต่ำ ทำไมคุณภาพต่ำคุณภาพสูงเพราะอะไร? เพราะมันการสะสมของมัน นี่ก็เหมือนกัน ใจก็เหมือนกัน จะรู้เร็วรู้ไม่เร็วนี่ก็เพราะมันสะสมมา มันทำของมันมา ถ้ามันทำของมันมา มันมีคุณภาพของมัน น้ำมันบ่อนั้นก็ดี น้ำมันบ่อนั้นก็มีคุณภาพ ถ้าน้ำมันบ่อนั้นไม่มีคุณภาพ แต่เขาก็มากลั่นใช้ได้เหมือนกัน กลั่นใช้ได้มันก็ต้องลงทุนลงแรงหน่อย ก็ต้องทำให้ยากหน่อย ทุกข์ยากหน่อยก็ต้องทนไปเพราะอะไร?

เพราะอันนี้เป็นสมบัติของเรานะ สิ่งที่เป็นอดีตของเรา เราสร้างสมมา มานั่งกันอยู่นี่ไม่ใช่มาลอยๆ หรอก มันต้องมีเหตุมีผลมา อย่างเช่นมาทำบุญก็มีศรัทธา มีชักชวนกันมา มันต้องมีที่มา ไม่ลอยมาจากฟ้าหรอก! ใจนี่ก็เหมือนกัน ที่มาเกิดอยู่นี่ไม่ใช่ลอยมาจากฟ้าหรอก มันมีกรรมของมัน มันทำคุณประโยชน์ขึ้นมา ได้อริยทรัพย์ ได้มนุษย์สมบัติ มันต้องทำของมันมา แล้วทำของมันมาแล้ว

ดูสิ ดูโลกเขาสิ เขาไปสนุกครึกครื้นของเขา เขาว่านะ เขาว่า “คนมาวัดนี่คนมีปัญหา เขามีอยู่สุขอยู่สบาย ไอ้คนมาวัดนี่มีปัญหา”

ใช่..มีปัญหาโว้ย กูคนป่วย กูป่วยด้วยกิเลส เพราะกูจะมาชะล้างใจของกู ไอ้มึงนี่นะป่วยด้วย แล้วยังไม่รู้สึกตัว วันไหนไปตรวจเจอขึ้นมา ตรวจเจอที่ไหน? ตรวจเจอในโลงไง พอตายขึ้นมานี่จะรู้เลยว่าป่วยไม่ป่วย

ไอ้เรามันคนป่วย เรารู้จักแก้ไขนะ เรามีประโยชน์กว่า แต่โลกพูดกันอย่างนั้นไง หลวงตาพูด เราสลดใจนะ “ตอนไปวัดต้องแอบไป” ไม่กล้าไปนะ มีแต่คนคอยติคอยเตียนไง

ไอ้คนไปวัดไปวา เอ้า.. คนเข้าโรงพยาบาลเป็นอะไรไป เอ็งแน่จริง เดี๋ยวเอ็งมาเช็คเจอโรคร้ายขึ้นมา เอ็งจะรู้สึกตัว เอ็งยังไม่เคยเจอโรคร้าย เราจะไปตรวจสุขภาพร่างกายจะเป็นอะไรไป?

นี่ก็เหมือนกัน เราไปวัดไปวาก็เพื่อไปวัดใจเรา เพื่อไปหาความสงบของเรา มันจะไปน่าอายตรงไหน? แต่มันจะเป็นเรื่องน่าอาย ครึ ล้าสมัย ล้าสมัยนะ ล้าสมัยเพราะมันเป็นของเก่าแก่ ธรรมะเป็นของเก่าแก่ ความรู้สึกนี้เป็นของเก่าแก่นะ ใจเรานี่เกิดตายเกิดตายเป็นของเก่าแก่ ของเก่าแก่แล้วก็ไม่เคยเจอเลย

ถ้าเป็นของปัจจุบันล่ะ ถ้าเราเห็นปัจจุบันนะ เห็นสภาวธรรมนี่เป็นปัจจุบัน มันจะเข้าใจ มันจะปล่อยวางของมันโดยสัจจะความจริง ปล่อยวางโดยธรรมจักร ปล่อยวางโดยมรรคญาณ ไม่ใช่ปล่อยวางโดยปฏิเสธ ปล่อยวางโดยการไม่รับรู้ อันนั้นมันไม่ใช่ธรรม ปล่อยวางโดยไม่มีสิ่ง.. ปล่อยวางแล้ว ปล่อยแล้ว ถามปล่อยเพราะอะไร? ไม่รู้ แล้วก็ปล่อยกันตลอดนะ

สภาวธรรมเป็นอย่างนั้นเหรอ? สภาวธรรมมันควรแบบว่า.. ไม่อยากจะพูดนะ สภาวธรรมแบบคนไปทำให้คนไม่มีสติเหรอ? สภาวธรรมทำให้คนต้องไปเข้าโรงพยาบาลบ้าอย่างนั้นเหรอ? อยู่ในโรงพยาบาลนะว่างหมดเลยนั่นน่ะ สภาวธรรมเป็นอย่างนั้นเหรอ?

สภาวธรรม...สติสมบูรณ์ เห็นสภาวธรรมถูกต้อง ปล่อยวาง แล้วจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมอีกไม่ได้ สภาวธรรมอย่างนี้เป็นของจริง แล้วมันต้องอาศัยประสบการณ์ ประสบการณ์คือว่าทำแล้วทำเล่า ทำแล้วทำเล่า นี่ตรวจสอบแล้ว ทดสอบแล้ว ตรวจสอบแล้ว ทดสอบแล้ว ทำแล้วทำเล่าจนถึงที่สุด เพราะทดสอบถึงที่สุดแล้วนะ ถ้าคุณค่าเป็นความจริง มันจะต้องทดสอบตรวจสอบไหม? ในเมื่อมันมีคุณค่า มันต้องเป็นไปตามธรรมชาติของมันใช่ไหม? ถ้ามันขาดแล้วมันจะเป็นอย่างไร?

แล้วมันอยู่ที่ใจของเรา ใจนี่พิสูจน์ได้หมดเลย ธรรมะพิสูจน์ได้ ครูบาอาจารย์ที่ผ่านมา การผ่านมา คนผู้ที่ผ่านงานมา เด็กฝึกงานมันพูดนะ โธ่.. ฟังทีเดียวก็รู้ คนผ่านงานมามันผ่านมา แล้วประสบการณ์ของใจ ถ้าใจไม่ผ่านมาอย่างนี้จะเป็นครูบาอาจารย์ได้อย่างไร? ใจมันต้องผ่านมา

ถึงที่สุดแล้ว แล้วมันสิ้นสุดกระบวนการคือตรงไหน? เป็นโสดาบันอย่างไร? เป็นสกิทาอย่างไร? เป็นอนาคาอย่างไร? เป็นพระอรหันต์อย่างไร? เป็นอย่างไร? เป็นอย่างไร? มันต้องรู้ถึงคำว่าเป็น รู้ถึงว่าเป็นไป แล้วต้องรู้ให้ถึงที่สุด เหมือนอกุปปธรรมไง มันถึงไม่กลับมาเป็นปุถุชนอีก ไม่กลับมาเป็นต่ำกว่านั้นอีกเลย ใจนี้! ใจนี้! หัวใจนี้! มีคุณค่าอย่างนี้

ฉะนั้น เราถึงต้องอดทน อย่าไปเชื่อกิเลสมัน กิเลสมันจะบอกเป็นอย่างนั้นๆ อย่าไปเชื่อมัน ให้ทดสอบ ให้ทดสอบ ทดสอบก่อน ทดสอบก่อน ถึงที่สุดแล้วใครแย่งเราไม่ได้หรอก เงินในกระเป๋าเรา เงินในบัญชีของเรา ถ้าธนาคารไม่ล้ม ไม่มีใครโกงเราได้หรอก

นี่ก็เหมือนกัน การประสบการณ์ในจิตของเรา บุญบารมีของเรา ใครแย่งเราไม่ได้หรอก เป็นสมบัติทิพย์อยู่ในใจของเรา ใครขโมยไม่ได้ ไม่ต้องไปตื่นเต้น แล้วทดสอบไป ทดสอบไป ถึงที่สุดแล้วจะรู้ความเป็นจริง เอวัง