เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๘ ต.ค. ๒๕๔๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มาวัดไง มาวัดมาวัดใจ วัดใจนะ คำว่าใจถ้าทางโลกสมัยใหม่ว่าความรู้สึก ความรู้สึกเราดี ความรู้สึกเราโศกเศร้า ความรู้สึกเราเสียใจ ความรู้สึกเรามีความสุข ความรู้สึกเราคึกคะนอง ความรู้สึกอันนี้ นี่วัดอันนี้ ถ้าความรู้สึกอันนี้เราปล่อยไปตามธรรมชาติของมัน มันเป็นพลังงานอันหนึ่ง มันจะเป็นไปธรรมชาติของมัน มาวัดมีข้อวัตรปฏิบัติไง

เหมือนถนน ถนนนี่บังคับให้รถวิ่งไปตามถนน ถ้าไม่มีถนน รถไม่ขึ้นไปบนถนน รถจะจอดที่ไหนก็ได้ รถจะทำอย่างไรก็ได้ แต่รถพอขึ้นไปบนถนนแล้วต้องทำตามกฎของจราจร เพราะถนนนี้เป็นที่ส่วนรวม

วัดก็เหมือนกัน วัดเป็นที่สาธารณะ ข้อวัตรปฏิบัติของพระก็เป็นเรื่องของสาธารณะ สาธารณะ เห็นไหม ปฏิปทาเครื่องดำเนินไง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา สิ่งนี้เป็นความละเอียดอ่อนมาก จะสอนใครได้ จะสั่งสอนใครได้เพราะอะไร? เพราะมันเหนือความคาดหมาย

ตรรกะ ปรัชญาต่าง ๆ เราศึกษาแล้วมันก็เป็นสิ่งที่ให้เราเข้าใจเรื่องต่าง ๆ ได้มาก แต่ตรรกะปรัชญาขนาดไหนมันจะไม่เข้าใจเรื่องของตนเอง เรื่องของตนเองเรื่องของเรานี่เข้าใจได้ยากที่สุด เรื่องของสิ่งต่าง ๆ เรื่องทางวิทยาศาสตร์ ต้องทดลองพิสูจน์กันขึ้นมา ดูเทคโนโลยีเจริญขึ้นมาจากไหน? เจริญมาจากนักวิทยาศาสตร์เขาค้นคว้ากัน เขาตรรกะ เขาตรึกของเขาขึ้นมา แล้วพิสูจน์ของเขาขึ้นมาได้มาเป็นสภาวะแบบนั้น

แต่เราตรึกเรื่องใจของเรานี่ตรึกไม่ได้เลย ความรู้สึกของเรานี่ตรึกไม่ได้เลย นี่วัดใจ วัดใจเพื่อจะทำให้หัวใจของเราอยู่ในหลักเกณฑ์ ถ้าอยู่ในหลักเกณฑ์นี่อยู่ที่การควบคุมได้ ถ้าจิตเราควบคุมได้ เห็นไหม เป็นเอกัคคตารมณ์ จิตตั้งมั่นนะ เราสามารถควบคุมจิตของเราได้ แล้วเราสามารถเอาจิตของเราออกไปทำงานได้

แต่ในปัจจุบันนี้เราควบคุมจิตของเราไม่ได้ แต่เราทำงานไปโดยธรรมชาติไง ทำงานไป เห็นไหม สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่มีชีวิตอยู่ ทำไมมีเศษส่วนล่ะ พระอรหันต์ที่มีชีวิตอยู่ นี่ความคิดไง ความคิดน่ะขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง มันมีอยู่โดยธรรมชาติของมัน เวลาอนุปาทิเสสนิพพานคือพระอรหันต์ที่สิ้นกิเลส สิ้นคือตายไปแล้ว ละเศษส่วนคือละความคิดอันนี้ เพราะความคิดอันนี้เป็นสมมุติ

เวลาเราคิดนี่ดูภาษาสิ เราอยู่คนละสื่อคนละภาษาเราจะไม่เข้าใจกัน แต่เรามองตากันสิ มีความรู้สึกนี่เราเข้าใจกันได้ ภาษาของใจเป็นภาษาสากล เวลาเราควบคุมความรู้สึกของเราเข้ามานี่เราควบคุมจิตของเราได้ เราจะใช้ขึ้นไปโดยวิปัสสนาญาณ แต่ถ้าเราไม่ได้ควบคุมจิตของเราได้ มันทำงานตามธรรมชาติของเขานี่มันทำงานด้วยพลังงานอันนั้น มันมีกิเลสควบคุมอยู่ พอกิเลสควบคุมนี่ควบคุมตัวไม่ได้

เหมือนรถเราไม่ได้เข้าไปในท้องถนนไง รถเราจอดในบ้านของเรา รถเราอยู่ในสนามทดลองของเรา รถเราอยู่ในที่เอกชน เราจะทำอย่างไรก็ได้เพราะสิทธิเป็นของของเรา แต่ถ้ารถของเราเข้าไปบนถนนปั๊บนี่เราต้องเคารพกฎจราจรเลย เพราะถ้าผิดถูกมันมีตำรวจจราจรเขาจะจับนะ เขาจะอะไร วัตรปฏิปทาเครื่องดำเนิน เห็นไหม ในวัดนี่ กิจของสงฆ์ ๑๐ อย่างทำอะไรบ้าง กวาดลานเจดีย์ ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น รักษาศีล นี่กิจของสงฆ์

คนถ้าผู้ที่อยู่ในอาวาสนั้นต้องทำตามกติกาอันนั้น เพราะอะไร? เพราะมันเป็นข้อวัตรปฏิปทาควบคุมใจของเรา นี่วัดใจ เพราะอะไร? เพราะการกระทำอย่างนั้น การกระทำสิ่งต่าง ๆ ถ้าการทำครั้งแรกหรือการทำด้วยความพอใจจะมีความสุขมาก การกระทำต่าง ๆ ที่ไม่พอใจจะทำแล้วทำด้วยความฝืนทนมันจะเป็นการต่อต้านมาก

แล้วเวลากิเลสมันขึ้นมานี่มันไม่อยากจะทำเพราะอะไร? เพราะมันจำเจ สิ่งนี้มันจำเจมันทำอยู่แล้วทุกวัน ๆ การทำทุกวัน เวลาทำทุกวันนี่มันเบื่อหน่าย แต่เวลาทุกข์ทุกวันนี่มันไม่ยอมเบื่อหน่าย เวลาเราทุกข์ทุกวัน เวลาเราคับข้องใจทุกวัน ใจเราโดนเบียดเบียนทุกวัน ใจเราโดนกิเลสเหยียบย่ำทุกวัน มันไม่เคยเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นโทษเลย แต่เวลามันจะทำข้อวัตรปฏิปทา เหมือนกับน้ำที่เป็นตะกอน ถ้าได้แกว่งสารส้ม น้ำได้นิ่งอยู่ ตะกอนมันจะนอนก้น น้ำข้างบนจะใส เห็นไหม

วัตรปฏิปทาก็เหมือนกัน มันเป็นการแกว่งใจไง เพราะใจมันไม่ยอมทำ ใจมันชอบตามความสะดวกของมัน มันไม่ยอมเข้าไปในกติกานั้น ถ้าเข้าไปในกติกานั้น สังคมดูสิ ร่างกายของมนุษย์ ถ้าเราเหยียบหนาม ถ้าเรามีอะไรทิ่มแทงเรา เราจะวิการ สิ่งใดต่าง ๆ ถ้ามันวิการไป ร่างกายนี้จะกระเทือนกันไปหมดเลย อย่างเช่นปากนี่ ปากถ้ามันมีแผลมีสิ่งต่าง ๆ นี่เรากินอาหารไม่ได้นะ แล้วร่างกายจะอยู่อย่างไรล่ะ? มันอาศัยกัน มันต้องอาศัยกันมันถึงเป็นร่างกายมนุษย์ มันจะเป็นปกติของมัน ถ้าร่างกายของเรามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมันวิการไป มันสะเทือนกันไปหมดเลย ปฏิปทาเครื่องดำเนินก็เหมือนกัน เวลามันไหลไป เหมือนกระแสน้ำไหลไปทางแม่น้ำลำคลอง มีอะไรไปกีดขวางมัน มันจะมีเสียงดัง มันจะมีพลังงานเกิดขึ้นมาทันทีเลย

นี่ก็เหมือนกัน ปฏิปทาเครื่องดำเนินเหมือนกฎจราจร รถไหลไปตามธรรมชาติของมัน แล้วรถคันหนึ่งไปขวาง รถคันหนึ่งไปเสีย ไปอุบัติเหตุอยู่กลางถนนนี่มันจะติดขัดกันไปหมดเลย นี่ปฏิปทาเครื่องดำเนินมีอย่างนี้ไง เป็นประโยชน์อย่างนี้ไง นี้เป็นเครื่องดำเนินนะ ปฏิปทาเครื่องดำเนินไม่ใช่ผล วิธีการไม่ใช่ผลนะ เราไปเข้าใจกันว่าวิธีการเป็นผล ศาสนาต้องทำสมาธิอย่างนั้น ต้องวิปัสสนาอย่างนั้น มันเป็นวิธีการทั้งนั้นเลย ไม่ใช่ผลหรอก

ผลของมันคือผลของใจ มันเป็นอกุปปธรรม ถ้าวิธีการนะเป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมะเป็นอนัตตา สรรพสิ่งเป็นอนัตตา เป็นอนัตตาหมดเลย เราเข้าใจแล้วเราปล่อยวาง... ขี้ลอยน้ำไง อนัตตาขี้ลอยน้ำนี่มันคลุ้งเหม็น ๆ ไปหมดล่ะ เพราะอะไร? เพราะมันเป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนัตตา มันเป็นอนิจจัง มันยังไม่เข้าใจเป็นสัจจะความจริง มันเป็นวิธีการ วิธีการไม่ใช่เป้าหมายนะ เป้าหมายมันต้องเป็นอกุปปธรรม เป้าหมายนี่ใจมันจะรู้ นี่ความรู้สึก นี่วัดใจ

ถ้าใจมันยังมีสิ่งกระทบ ใจมีแรงดึงดูดนะ ถ้าใจดวงใดมีกิเลสอยู่มันจะมีแรงดึงดูดของมัน แรงดึงดูดนี่มันจะชอบสิ่งใด มันจะผลักไง ทั้งมีแรงดึงดูดด้วย ทั้งมีแรงผลักด้วย แรงผลักเพราะอะไร? เพราะมันไม่พอใจอะไรไง ไม่พอใจไปกระทบสิ่งใดมันจะผลัก แรงผลักอันนี้มันทำให้เราทุกข์ แรงพอใจแรงดึงดูดก็ทำให้เราทุกข์ นี่ตัณหาไง สมุทัยควรละ แล้วละได้อย่างไร?

สมุทัยควรละ ทุกข์ควรกำหนด แรงผลักแรงดันตัวนี้มันทำให้ใจเราขับเคลื่อนไป ที่มาเกิด ๆ อยู่นี่ เกิดจากแรงผลักแรงดันนี่ เกิดจากตัณหาความทะยานอยากนี่ เกิดจากอวิชชานี่ ทำให้เราเกิดตาย ๆ ชีวิตนี้คืออะไร? วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้นะ วิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้นี่ชีวิตนี้ก็เกิดมาจากไข่ เวลาสิ้นไปก็จบสิ้นกัน ชีวิตนี้สูญเปล่า

ถ้าชีวิตนี้สูญเปล่า พ่อแม่คนเดียวกันออกลูกมา ลูกคลอดออกมาจากพ่อแม่เดียวกัน ครอบครัวเดียวกัน นิสัยต้องคล้ายกัน ต้องคล้ายคลึงกัน เป็นไปได้ไหม? เป็นไปไม่ได้เลย ถ้าตรวจทางวิทยาศาสตร์ ตรวจเฉพาะเรื่องร่างกายนี่ กรรมพันธุ์เหมือนกันหมดเลย กรรมพันธุ์ต้องมีส่วนเกี่ยวพันกันไปพ่อแม่ลูกนี่ ตระกูลต้องมีส่วนผสมของกันไป

แต่นิสัยล่ะ นิสัยส่วนนั้นได้ไหม นิสัยนี่ย้อนกลับมาจากแรงผลักแรงดันนี่ไง เพราะแรงผลักแรงดันนี่มันทำให้เราเกิดไง ให้จิตนี้ขับเคลื่อนไป แล้วแรงผลักแรงดันนี้ถ้ามีการควบคุมมัน นี่ศาสนาพุทธสำคัญตรงนี้มาก ชนะตนสำคัญที่สุด ชนะความรู้สึกเราสำคัญที่สุด

แต่พวกเราเวลาคับข้องใจนี่โทษสังคม โทษคนอื่น คนอื่นไม่ดีไปหมดเลย สิ่งแวดล้อมไม่ดี ทำให้เราไม่ดี สิ่งแวดล้อมดีหรือไม่ดีมีส่วนบ้าง แต่สิ่งแวดล้อมในหัวใจของเราคือสิ่งแวดล้อมความคิดของเรา ถ้าสิ่งแวดล้อมความคิดของเรา เราได้ฝึกหัด การฝึกหัดเกิดมาจากไหน? การฝึกหัดก็เกิดมาจากความเชื่อ ถ้าเรามีความเชื่อขึ้นมานี่เราต้องการฝึกหัด แล้วความเชื่อเชื่อในอะไร?

ดูสิ เวลาเราเคารพพ่อแม่ของเรา เรากราบไหว้พ่อแม่ของเรา พ่อแม่เรามีความสุข เราก็มีความพอใจ พ่อแม่นี่ถ้าลูกมีความสุข ลูกประสบความสำเร็จพ่อแม่จะมีความสุขมาก แล้วพ่อแม่เรากราบอะไร? พ่อแม่เรากราบพระ พระมาจากไหน? พระก็มาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาจากไหน? องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาจากเจ้าชายสิทธัตถะ เจ้าชายสิทธัตถะเวลาคลอดมาก็เป็นปุถุชนเหมือนเรานี่แหละ แต่เจ้าชายสิทธัตถะสร้างบุญกุศลมามหาศาลเลยที่ค้นคว้าธรรม เห็นไหม

ธรรม ๆ สิ่งที่มีอยู่แล้ว ธรรมคือสภาวะสัจจะความจริงที่มีอยู่แล้ว แต่เราไม่สามารถเข้าไปค้นเข้าไปสัมผัสได้ เราไปสัมผัสได้แต่วิธีการ ที่ในพระไตรปิฎกนี่เขียนแต่วิธีการไว้ บอกวิธีการไว้ แต่ผลอันนั้นเราไม่เคยสัมผัส ถ้าเราไม่เคยสัมผัสเราก็ไม่เคยเข้าใจสภาวะแบบนั้น

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สัมผัส ได้สัมผัสด้วยแล้วสร้างสมบุญญาธิการมาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพุทธวิสัย มันถึงมีโอกาสได้สั่งสอนพวกเราไง พระปัจเจกพุทธเจ้านะตรัสรู้เองแต่ไม่สามารถสั่งสอนใครได้ แล้วพวกเรานี่สาวกสาวกะ ถ้ามีความเชื่ออันนี้ เพราะความเชื่ออันนี้มันแก้วสารพัดนึก แล้วว่าเราแก้วสารพัดนึกนึกได้อย่างไร? ก็นึกแต่เอาเรื่องอกุศล มันเป็นประโยชน์ที่ไหนล่ะ

แก้วสารพัดนึกมันต้องนึกสิ่งที่เป็นกุศลสิ สิ่งที่เป็นกุศลน่ะสิ่งที่เขานึกกุศลเขาควบคุมนะ นี่สีเลนะ สุคติง ยันติ สีเลนะ โภคะสัมปะทา ถ้ามีศีลเป็นปกติ มีศีลมีโภคทรัพย์ โภคทรัพย์เพราะอะไร? เพราะเราไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ดูพระนี่ฉันมื้อเดียว อดอาหารด้วย ถ้าเราทำงานโดยที่ไม่มีรายจ่ายเลยเราจะรวยขนาดไหน แต่นี่พอเราทำงานแล้วเราฟุ่มเฟือยไป นี่สีเลนะ สุคติง ยันติ สีเลนะ โภคะ... โภคะเกิดตรงนี้ไง โภคะเกิดตรงนี้ที่เราทำงานแล้วเรารู้จักเก็บหอมรอมริบ

ถ้ามีศีล ความปกติมันก็จะเกิดโภคะ สุคติง ยันติ มันจะเกิดความสุขขึ้นมา แล้วถ้ามีศีลขึ้นมามันวัดใจเข้ามา ถ้าเรามีความเชื่อแล้วมีการพิสูจน์ขึ้นมา มันพิสูจน์กับใจของเราขึ้นมาแล้วมันชนะตนเองขึ้นมา ชนะตนเองจากไม่ฟุ่มเฟือย ชนะตนเองจากที่ไม่ไปตามกระแสโลก โลกหลอกลวงนะ มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทุกอย่างจำเป็นไปหมดเลย ปัจจัย ๘ ปัจจัย ๑๐ ปัจจัย ๑๐๐ เห็นไหม

คนเราต้องใช้ปัจจัย พระพุทธเจ้าปฏิเสธหมด ปัจจัย ๔ เท่านั้น ถ้าขาดปัจจัย ๔ ชีวิตดำรงอยู่ไม่ได้ แม้แต่พระยังต้องใช้ปัจจัย ๔ ถ้ามีปัจจัย ๔ ขึ้นมานี่เราดำรงชีวิตของเราขึ้นไปอย่างนี้ สิ่งนั้นเป็นสิ่งเครื่องเคียง ไม่ใช่สัจจะความจริง สัจจะความจริงตรงนี้ เห็นไหม โลกเป็นแบบนั้น ถ้าเราตามโลกไป นี่ศีล ถ้าเป็นปกติขึ้นมานี่เราชนะตนเองแล้ว โลกเป็นอย่างนี้นะ แล้วจะเป็นอย่างนี้มากไปเรื่อย ๆ

ถ้าเราไปตามกระแสโลก เราไม่ทวนกระแส ธรรมะคือทวนกระแสโลก เขาบอกถ้าใครศึกษาธรรมแล้วจะมาอยู่กับโลกไม่ได้ ใครศึกษาธรรมแล้วจะเป็นคนขวางโลก ธรรมะเหมือนอากาศ อากาศเคยขวางใคร? น้ำเคยขวางใคร? สัจจะความจริงเราเข้าใจแล้วนี่เราจุดยืนชีวิตเราก็มั่นคง แล้วเราจะไม่เป็นเหยื่อของสังคม ไม่เป็นเหยื่อของโลก นี่เป็นเหยื่อของโลกจากภายนอกนะ

แล้วเป็นเหยื่อของโลกจากภายในวัฏฏะที่มันเกิดตาย ๆ นี่ มันต้องเกิดตายเพราะมีแรงขับแรงดันอันนี้ แล้วธรรมะเข้าไปรักษาแรงขับแรงดันอันนี้ เข้าไปศึกษาเข้าไปควบคุม แค่วัตรปฏิปทาควบคุมยังทำไม่ได้เลย ปฏิปทาเห็นไหม จะไปวัดนะ คนไปวัดเป็นคนที่มีปัญหา คนที่อยู่บ้านคนนั้นมีความสุข มีปัญหาสิ! ก็มีปัญหาเพราะมันเกิดมันตายนี่ไง ก็พยายามจะละเกิดละตาย ก็ไปมีปัญหาเพื่อไปชำระการเกิดและการตายอันนี้ไง

เพราะคนที่มีปัญหาเหมือนคนรู้จักว่าเรามีความผิดพลาด คนรู้จักตัวตนนี่มันจะรักษาตัวเรา คนที่เพลิดเพลิน คนที่ไม่รู้จักตนเลย คนที่ใช้ชีวิตฟุ่มเฟือย คนนั้นจะตายเปล่า คนตายเปล่าขณะที่ตายออกไปมันมีอะไรติดไม้ติดมือไป แต่ถ้าเราทำคุณงามความดี โลกเขามีสิ่งที่ติดไม้ติดมือไป คือสิ่งที่เขามีตัวเลข เขามีเงินมีทองติดไม้ติดมือไป แต่หัวใจมันมีแต่ประสบการณ์ของมัน ประสบการณ์ของใจที่ได้ทำดีและทำไม่ดีในหัวใจนี่มันจะซัดไปกับใจ

ตั้งแต่เด็กมาเราทำอะไรไว้ที่เรากระทำน่ะเราลืมได้ไหม? เราลืมไม่ได้เลยเพราะมันสะสมลงที่ใจ แล้วเวลามันตายไปไอ้ความลืมไม่ได้นี่มันไปกับใจ ที่ไปกับใจ เห็นไหม ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ ๕ ที่ว่าสอุปาทิเสสนิพพาน ขันธ์ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ขันธ์ สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง มันอยู่ที่ไหน? แล้วสัญญาอยู่ที่ไหน? สัญญานี่สอุปาทิเสสนิพพานมันจะติดกับใจดวงนี้ไป

แต่พระอรหันต์ไม่มี เวลาขาดขึ้นมานี่แรงขับแรงดันนี้จะไม่ไปกับใจพระอรหันต์ พระอรหันต์นี่เข้าใจทั้งหมดแล้วเพราะปล่อยวางทั้งหมด แต่ในเมื่อเรายังมีแรงขับแรงดัน แล้วก็มีสิ่งที่สะสมไปนี่ สิ่งนี้จะพาเกิดพาตาย มันจะพาตายไป จากไม่เป็นเหยื่อข้างนอก ไม่เป็นเหยื่อของสสาร ไม่เป็นเหยื่อของสังคม ไม่เป็นเหยื่อของวัฏฏะ ไม่เป็นเหยื่อของกิเลส ไม่เป็นเหยื่อของมาร นี่วัดใจเข้ามาอย่างนี้ไง

ถ้าเราวัดใจของเรานะ ความรู้สึกนี่สำคัญมาก เวลาเราไปหาข้อมูลในคอมพิวเตอร์มันจะมีโปรแกรมของมัน เราจะไปหาข้อมูล อะไรเราก็หาได้ เราทำได้ทั้งหมดล่ะ แต่เราไม่เคยหาข้อมูลในใจของเราเลย ข้อมูลนี่มันเกิดมาจากไหน? มันมาอยู่ทำไม? มันตายแล้วมันจะไปไหน? แล้วความสุขมันอยู่ที่ไหน? เราเคยค้นคว้าไหม?

สมบัติจากข้างนอกเราค้นคว้าได้หมดล่ะ สมบัติจากข้างนอกศึกษาได้หมดล่ะ จะไปเรียนที่ไหนก็ได้ ดูสิ วิชาการเห็นไหม ไปเรียนมาจากทางตะวันตก พระพุทธเจ้าไม่ต้องการเลย ถ้าไปเรียนได้ มีความสุขขึ้นมาได้จริง มันเป็นสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญานี่ค้นคว้าได้ในขั้วหัวใจของเรา ค้นคว้าได้จากตัวของเรา ไม่ต้องไปค้นคว้าที่อื่นเลย ค้นคว้าที่อื่นน่ะไปจดจำเขามา เป็นสถิติที่ตำราเขาทำวิจัยไว้แล้ว ก็ไปอ่านของเขา ไปเรียนของเขาแต่ลืมตัวเอง

ถ้าค้นคว้าเข้ามาภายใน ตรงนี้ที่มันจะทำแรงขับแรงดันจากใจ ไม่เป็นเหยื่อของตนเองไง เป็นเหยื่อของสังคมก็ทุกข์นะ เราเป็นเหยื่อของเขา เราไม่ทันเขา เราเป็นเหยื่อเขา นี่กรรม เพราะความพอใจของเขา เพราะความโลภของเรา เราเป็นเหยื่อของเขา กินเหยื่อกันไป ไปกินเหยื่อใช่ไหม เบ็ดมันก็เกี่ยวปาก แล้วก็ดิ้น ดิ้นมาก พอดิ้นมันก็เจ็บ

นี่ก็เหมือนกัน เป็นเหยื่อของสังคม เป็นเหยื่อของตัวเอง ไม่เข้าใจตัวเองเลย ไม่เข้าใจแรงขับเลย แล้วมีแต่ความพอใจว่าเราคิดทุกอย่างต้องถูกต้องเพราะเรารักตนเอง “ที่ไหนมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” มีรักมีการถนอมรักษา สิ่งใดก็แล้วแต่ถนอมรักษาไม่ได้ ไม่มีสิ่งใดถนอมรักษาได้เลย มันเป็นอนิจจัง ไม่มีสิ่งใดคงที่เลย จะดีขนาดไหน มันต้องแปรสภาพ ไม่มีสิ่งใดคงที่ แปรสภาพทั้งหมด แล้วจะไปรักษามันได้อย่างไร?

แต่ถ้าเราไปทำลายมัน ทำลายทั้งหมด นี่ไม่เป็นเหยื่อของตนเองไง ที่ไหนไม่มีสิ่งใดเลย มีแต่เมตตาธรรม เมตตาธรรมในหัวใจจะเมตตามาก เพราะอะไร? เพราะสิ่งนี้ใจเขาใจเรา จากใจดวงหนึ่งของครูบาอาจารย์จะทอดถึงใจอีกดวงหนึ่งที่เปิดรับ ถ้าไม่ทอดเปิดรับไม่ได้ สิ่งที่เปิดรับ เห็นไหม แล้วเกิดจากศรัทธา เกิดจากความเชื่อ เกิดจากการประพฤติปฏิบัติ แล้วสิ่งนี้มันจะสัมพันธ์กัน

สิ่งใดถ้าจูนเข้าหากันได้ มันจะส่งต่อถึงกันได้ ถ้าจูนเข้าหากันไม่ได้ มันจะส่งต่อกันไม่ได้ นี่จริตนิสัยของครูบาอาจารย์ที่จะฝึกฝนเรา ถ้าเรามีหลักมีเกณฑ์ของเรา เราจะเป็นคนดีจากตรงนี้ เป็นคนดีเริ่มต้นจากคิดถึงตัวเรานี่ เป็นคนดีจากฐานของจิตนี่ แล้วจิตนี้มันเปิดขึ้นมานี่ มันจูนเข้าถึงธรรมะได้นี่มันจะเป็นโอกาสของเรา เอวัง