เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๘ ต.ค. ๒๕๔๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๔๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ทำเพื่ออะไร? ทำเพื่อให้ใจมันได้สัมผัสไง ดูสิบรรยากาศที่ดี เราไปที่ไหนเรามีความสดชื่น ความสดชื่นเกิดจากความพอใจ เกิดจากความสุข เห็นไหม ความขัดแย้ง ความดิ้นรน เวลากลางแดด อยู่กลางทะเลทราย สิ่งนั้นเราไม่ต้องการเลย แต่ถ้าเป็นการสดชื่น อยู่กลางทะเล อยู่ชายทะเลนี่ลมพัดชื่นใจ เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าหัวใจมันได้สัมผัสไง ได้สัมผัสสิ่งที่เราพอใจ ได้สัมผัสบรรยากาศ เห็นไหม สัปปายะ สิ่งใดเป็นสัปปายะที่ควรแก่การประพฤติปฏิบัติ แล้วการประพฤติปฏิบัติ เดี๋ยวนี้เขามีบริษัทจัดสวน เขาจะจัดสวนให้เราสวยงามขนาดไหนก็ได้ ถ้าเรามีงานจัดสวน แต่ถ้าหัวใจเราทุกข์ร้อนนะ ไปนั่งอยู่บนกลางสวนที่สวยงามขนาดไหนมันก็มีความทุกข์ร้อน

ความสุขใจ ความสุขใจเกิดจากรสของธรรม รสของธรรมคือความเข้าใจไง ปัญญารู้แจ้ง เรารู้สิ่งใดก็แล้วแต่มันจะไม่ไปขัดแย้งกับหัวใจเรา ขัดแย้งกับอะไร? หัวใจเราขัดแย้งได้หรือ? หัวใจเราเป็นนามธรรมนะ สิ่งที่เป็นนามธรรม สิ่งใดเห็นไหม ดูอากาศสิ เราเอามือปัดไปในอากาศ มีอะไรกระทบเราบ้าง มันว่างไปหมดล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เป็นนามธรรม เป็นความรู้สึก เวลามันไม่มีอะไรขัดแย้ง แต่ไอ้กิเลสนี่มันขัดแย้ง กิเลสคือความยึดมั่นถือมั่น ความต่อต้านไง ความรั้งไว้ สิ่งที่เป็นความสุขของเรา สิ่งที่เราพอใจเราก็รั้งไว้ไม่ยอมให้มันเป็นไป มันรั้งไว้ได้ไหมล่ะ โลกนี้มันเป็นไปสภาวะแบบนั้นน่ะ ครูบาอาจารย์ท่านบอกเลย “ธรรมชาติเหมือนกับถนนหนทาง มันเป็นที่สาธารณะให้รถเขาได้แล่นผ่านไป”

ชีวิตเราก็เป็นอย่างนั้นนะ ชีวิตของเรานี่ถนนสายชีวิตนี้ ตั้งแต่เด็กเกิดมา ประสบสิ่งใดบ้างในชีวิตนี้ แล้วต่อไปมันก็ต้องปลายทาง ปลายทางเราก็ต้องตายไป สิ่งที่ตายไปนี่ชีวิตของเรามีคุณค่าขนาดไหน มีคุณค่ามาก เรามีคุณค่ามากนี่ เพราะอะไร? เพราะมันเป็นโอกาส เราตาบอด เราถึงไม่สามารถจะรู้แจ้งได้ เราตาบอดเราไม่เห็นความรู้จริงได้ เพราะอะไร? เพราะการเกิดของจิต จิตอยากเกิดมาก โลกนี้เขาต้องคุมกำเนิดไว้นะ คุมทุกอย่างเลย เพราะประชากรมันจะล้นโลก เพราะอะไร? เพราะคนอยากเกิดเป็นมนุษย์

ดูในพระไตรปิฎกนะ เวลาสัตว์เขาเกิดเป็นสัตว์ของเขา เวลาเขาจะตาย เขาไปเข้าฝันพระ บอกว่าเวลาตายไปแล้วขอให้ฉันเนื้อสัตว์ของฉันเถิด เพราะอะไร? เพราะฉันตายไปแล้วฉันจะได้เกิดเป็นมนุษย์ไง เพราะอะไร? เพราะมนุษย์นี่ สัตว์มันมองมนุษย์มีอิสรภาพ สัตว์มันเป็นประสามัน มันไม่มีใครคุ้มครองไม่มีใครดูแลมัน มันใช้กำลังของใครมีกำลังมากกว่ามันเป็นผู้กดขี่เขา แต่มนุษย์นี่มีกฎหมาย มีทุกอย่างเลย เขาอยากเกิดเป็นมนุษย์

แต่เวลาเราเกิดเป็นมนุษย์ขึ้นมาแล้วเราก็ว่าต้นทางของสัจธรรม ต้นทางของการเกิดไง เกิดมาเป็นเด็ก ดูสิ ดูเด็กเกิดมานี่มันไร้เดียงสา มันเป็นสิ่งที่น่าทะนุถนอมมาก เด็ก เห็นไหม แล้วต้องโตไป มันจะทะนุถนอมเป็นเด็กอยู่อย่างนี้ไม่ได้ เด็กจะต้องเจริญเติบโตขึ้นมา เด็กต้องมีวิชาชีพ เด็กต้องยืนในสังคม เพราะชีวิตเกิดมาเป็นอย่างนี้ นี่มองกันด้วยวิทยาศาสตร์ มองด้วยทางโลกไง

แต่ถ้าเรามองเรื่องของกรรมล่ะ การกระทำ กรรมเกิดมากรรมพาเกิด กรรมดีกรรมชั่วไง กรรมเก่านี่เราไม่เข้าใจเรื่องกรรมเก่า ในศาสนาพุทธของเราสอนให้เชื่อเรื่องกรรมเพราะอะไร? เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนไปบุพเพนิวาสานุสติญาณ เพราะอะไร? เพราะทศชาติ ๑๐ ชาตินั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสละมหาศาลเลย การสละอย่างนั้น การได้สร้างคุณงามความดีอย่างนั้น ผลตอบรับขึ้นมาจึงได้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แต่ขณะที่จะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ลอยมาจากฟ้าไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังค้นคว้าอีก ๖ ปี คืนสุดท้ายนั่งอยู่โคนต้นโพธิ์ นี่สิ่งที่เกิดขึ้นกิจจญาณ กิจ การกระทำของหัวใจ ไม่ใช่กิจการกระทำของร่างกายนะ ดูสิ ในปัจจุบันนี้ผู้บริหารนะ การบริหารจัดการ บริหารจัดการเพื่อให้มันประสบความสำเร็จ ให้มันเรียบร้อยขึ้นมา นี่ประสบความสำเร็จเรียบร้อยเพราะมันทางวิชาการ วิชาชีพเขาสามารถบริหารจัดการได้

แต่เวลาเป็นธรรมะ เห็นไหม นี่มรรค ๘ มรรคญาณ ใครก็ว่ามรรค ๆ ๆ มรรคทั้งนั้นเลยนะ วิชาชีพเขาก็ว่ามรรคของเขา เพราะเขาทำถูกต้อง ทำถูกของเขา แต่มันมรรคของเด็ก ๆ ไง ดูสิเด็กมันเล่นกัน เด็กไม่มากวนเรา เด็กคนนี้เป็นเด็กที่ดี เด็กที่ว่ามากวนมาอะไรนี่ เด็กนี่มันไม่ให้ความร่วมมือกับเรา นี่มรรคเด็ก ๆ ไง มรรคเด็ก ๆ คือว่าวิชาชีพจากข้างนอกมันเป็นมรรคเด็ก ๆ คือว่ามันประกอบสัมมาอาชีวะเลี้ยงปากไง

แต่เลี้ยงหัวใจล่ะ ถ้าเลี้ยงหัวใจ มรรคมันจะละเอียดเข้ามา ใครก็ว่ามรรค ๆ มรรคคือทางอันเอก มรรคคือมัคโค มรรคอย่างนี้มันเกิดขึ้นมานะ ยิ่งถ้าเป็นนักวิชาการ มันเป็นกรอบนะ เวลาเราล้อมกรอบของเราไว้ เหมือนกับว่าเรามีโลกทัศน์ เรายึดมั่นความเห็นของเรา แล้วเราจะเข้าไปเจอสภาวธรรมได้อย่างไร มันแข็งกระด้าง

แต่ถ้าเราอ่อนนิ่มเราอ่อนโยนกับสิ่งต่าง ๆ เรายอมรับสิ่งต่าง ๆ เรายอมสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ จิตมันจะละเอียดเข้าไป มรรคจะละเอียดเข้าไป มันจะเป็นธรรมชาติของมัน มันเป็นเอง เป็นวิชาการไม่ได้ สิ่งที่เป็นวิชาการนี้เป็นกรอบทั้งหมดเลย มันเป็นแบบว่าหัวเหลี่ยมน่ะ หัวเหลี่ยมมันยึดมั่นถือมั่นของมัน มันเป็นเหลี่ยมของมัน มันยึดทฤษฎีอันนั้น มันปล่อยเป็นสัจจะความจริงไม่ได้ เพราะอะไร? เพราะมันอยู่ที่จริตนิสัยไง

ดูสิ ดูอย่างครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่ชอบ หลวงปู่คำดี หลวงปู่เจี๊ยะ นี่พิจารณากายเหมือนกัน แต่ขณะที่พิจารณาต่างกัน ต่างกันที่ตรงไหน? ต่างกันที่ว่าอำนาจวาสนาไง ต่างกันทั้งจริตนิสัยนะ หลวงปู่เจี๊ยะท่านอยู่ทางทะเล ท่านเวลาพิจารณาไปนี่ท่านจะเปรียบเทียบทางทะเล เพราะอะไร? เพราะท่านมีประสบการณ์ ท่านเดินเรือ สิ่งนี้เวลาปัญญามันเกิด มันจะเกิดจากประสบการณ์ของจิต

หลวงปู่ชอบประสบการณ์จิตของท่าน ท่านประสบการณ์มาอย่างไร หลวงปู่ชอบจะมีอำนาจวาสนามาก เพราะหลวงปู่ชอบไปกับหลวงปู่ขาว เวลาไปภาวนาอยู่ในป่า เทวดามาฟังธรรม แล้วเวลาไปถึงอุกฤษฏ์ขึ้นมานี่มันไปแหล่งน้ำ มันไปอดน้ำ “เวลามาฟังธรรม เทวดาก็มาสัมพันธ์กันตลอดเวลา ขณะที่อดน้ำอยู่ในป่า กำลังจะตายอยู่นี่ไม่เห็นมีใครมาช่วยเหลือ” น้ำผุดขึ้นมา ผุดขึ้นมาจากกลางป่าเลย พอตักน้ำใส่กระติกเต็มกระติก น้ำนั้นหายไปเลย อันนี้อำนาจวาสนาหลวงปู่ชอบไง

หลวงปู่ชอบนะเวลาหลวงปู่มั่นท่านอยู่ที่หนองผือ เวลาท่านจะเทศนาว่าการ ท่านบอกว่าให้หลวงปู่ชอบกับหลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ชอบกับหลวงปู่ฝั้นจะมีจริตนิสัย มีอำนาจวาสนามาก มีบารมีมาก จะรู้วาระจิตของคนไง หลวงปู่มั่นฝากไว้เลยบอกเวลาท่านเทศน์ ถ้าปกติจิตของท่านเหมือนกับเราพร้อม เรามีเรดาร์เราจะจับได้เลยว่าใครคิดอะไร แต่เวลาท่านเทศนาว่าการนี่ท่านทำงานอยู่ เหมือนมือเรากำอะไรอยู่ เราไม่มีมือว่างที่จะไปดูอะไร ฝากให้หลวงปู่ฝั้นกับหลวงปู่ชอบให้ช่วยจับขโมยให้ที

ขณะที่เทศน์นี่เป็นวิชาการ เทศน์นี่เป็นสัจธรรมความจริงออกมาจากหัวใจของหลวงปู่มั่น เพื่อยื่นจากใจดวงหนึ่งยื่นให้ลูกศิษย์ แต่ขโมยมันฟังธรรมมันก็ยังคิดออกนอกลู่นอกทาง คิดไปเรื่องต่าง ๆ นี่คือขโมย ให้พวกนี้คอยเตือนที เวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศนาว่าการ เวลาหลวงปู่ชอบท่านจับว่าใครคิด นั่น! นั่น! พอกระแอม ไอ้คนที่คิดตกใจเลย นี่คืออำนาจวาสนา พิจารณากายเหมือนกัน แต่การพิจารณาก็ต่างกัน ต่างกันเพราะอยู่ที่อำนาจวาสนา อยู่ที่บุญบารมี ไม่มีสูตรสำเร็จ เป็นหัวเหลี่ยมไม่ได้

ถ้าเป็นวิชาการเป็นหัวเหลี่ยมมันเป็นไปไม่ได้หรอก มันไม่ใช่สมบัติของเรา มันเป็นสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมบัติของครูบาอาจารย์ มันต้องเป็นประสบการณ์ตรงของเรา ถ้าประสบการณ์ตรงของเรามันจะเป็นแก้กิเลสของเรา ดูสิ อาหารนี่มหาศาลเลย เรามองสิอันไหนอร่อย แล้วเวลาอร่อยนี่มันเป็นการคาดหมายใช่ไหม แต่ถ้าเมื่อใดอาหารนั่นใส่ถึงลิ้นของเรา เราจะตัดสินได้เลยอร่อยหรือไม่อร่อย เค็มหรือเผ็ด ลิ้นเรานี่เป็นคนตัดสิน ลิ้นนี้มันเป็นสิ่งที่เราสมมุติขึ้นมาให้เห็นได้

ถ้าหัวใจล่ะ หัวใจมันสัมผัสได้ไง หัวใจมันสัมผัสเลยเผ็ดแสบร้อนอย่างไร เผ็ดแสบร้อนนี่มันเป็นเรื่องของกิเลสตัณหาความทะยานอยากทั้งนั้นเลย ว่ามันเป็นมรรค ๆ เป็นมรรคทำไมมันเดือดร้อนขนาดนี้ล่ะ แต่ถ้ามันเป็นธรรม มันว่าง มันโล่ง เหมือนกับอาหารที่มันถูกปาก อาหารนี่พื้นเพเราเราเคยกินอาหารอย่างไร อาหารอย่างนั้นเราชอบมาก พอเราได้อาหารที่ถูกจริตเรา มันจะดูดดื่มมาก

หัวใจเหมือนกัน ถ้าวิปัสสนาไปมันเป็นธรรมชาติของมัน มันจะเป็นสภาวะแบบนั้น มันถึงว่าเป็นกรอบไม่ได้ จริตนิสัยแม้แต่เดินมาเส้นทางเดียวกัน เราเดินมาบนถนนสายนี้มาที่วัดนี่มาด้วยเส้นทางเดียวกันนะ แต่พาหนะเราต่างกัน สิ่งต่าง ๆ เราต่างกันทั้งหมดเลย แต่เรามาในเส้นทางเดียวกัน

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งต่าง ๆ ที่จะใช้วิปัสสนาใช้ปัญญาเข้าไป ถึงที่สุดแล้วเป็นอริยสัจเหมือนกัน อริยสัจเหมือนกันคือผลมันเหมือนกันไง สิ่งที่เป็นผลเหมือนกัน สิ่งที่ต้องละกิเลสเหมือนกัน แต่ถ้าไม่ละกิเลสขึ้นไปนี่ ถนนหนทางทุกคนก็ผ่านไปผ่านมา แต่ไม่ได้ผลประโยชน์อะไรขึ้นมาเลย แต่คนที่เขาทำธุรกิจ เขาใช้ถนนเส้นนี้ใช้ขนสินค้าของเขา เขาจะได้ผลประโยชน์ของเขาขึ้นมา เราผ่านไปผ่านมา

นี่ก็เหมือนกัน การประพฤติปฏิบัติเรานี่ เราผ่านไปผ่านมา เราไม่มีความจงใจ เราไม่มีความตั้งใจ เราไม่มีสติไม่มีสัมปชัญญะ ไม่มีการรับรู้ ไม่มีการต่าง ๆ เลย แล้วมันจะเอาผลมาจากไหนล่ะ เราก็สักแต่ว่าทำกันไป แล้วพอจะทำขึ้นมา จะเอาจริงขึ้นมาก็บอกอันนี้มันเป็นตัณหาความทะยานอยาก ตัณหามันเป็นการเบียดเบียนเขาต่างหาก เบียดเบียนตัวเองเบียดเบียนผู้อื่น ไอ้นี่มันเป็นมรรค มันเป็นเราที่เราจะประกอบสัมมาอาชีวะ

เราทำธุรกิจเราทำอาชีพของเรานี่ มันจะเป็นตัณหาที่ไหนล่ะ มันเป็นหน้าที่การงานของเรา เพราะเราเกิดมาเรามีปากมีท้อง เราต้องหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเรา เลี้ยงปากเลี้ยงท้องมันเป็นอาชีพที่ถูกต้องมันก็ทำไป ทำหน้าที่ของเราไป พอเสร็จจากหน้าที่เราก็ภาวนาขึ้นไป เราทำความสงบของใจนี่ก็หน้าที่ของใจ เวลากินเราก็กิน เวลานอนเราก็นอนสิ เวลานอนก็ห่วงไม่ได้กิน เวลาจะกินก็อยากจะนอน มันเป็นไปไม่ได้หรอก เวลาคนนอนก็ต้องนอนสิ นอนพักให้มันสดชื่นขึ้นมา สดชื่นขึ้นมาแล้วจะทำหน้าที่การงานก็ทำกันขึ้นมา มันเป็นขั้นเป็นตอนของมันการกระทำน่ะ

กิเลสมันขัดแย้งไปหมดเลย นี่เรื่องของความรู้สึก เรื่องของอริยสัจ มันเป็นความจริงกับเรา ไม่ต้องห่วงนะว่าเป็นสมถะหรือเป็นวิปัสสนา ไม่ต้องไปห่วงหรอก ปัจจุบันนี้ทำให้ดีเถอะ ปัจจุบันนี้เงินเต็มกระเป๋าเลย ไปที่ไหนมีแต่คนต้อนรับเพราะเรามีสตางค์จ่าย ปัจจุบันนี้เงินไม่มีสักสลึงเดียวเลย แล้วก็บอก “ฉันเป็นเศรษฐี ฉันเป็นเศรษฐี” เพราะอะไร? เพราะฉันวิปัสสนาเป็น วิปัสสนาเป็น

มันมีแต่กู้หนี้ยืมสินมาใช้ กู้หนี้ยืมสินก็กู้หนี้ยืมสินขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง มันเป็นธรรมจากพระไตรปิฎกไง รู้ไปหมดเข้าใจไปหมดเลย เป็นวิชาการก็วิชาการของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่วิชาการของเราหรอก เราไปยืมของเขามา กู้ของเขามาแล้วมาใช้จ่าย แล้วมันเป็นสมบัติของเราไหม ถ้ามันเป็นสมบัติของเรานี่ไม่ต้องใครจะคัดค้านเลย ใครจะโต้แย้งอย่างไรเรื่องของเขา นี่มันเรื่องของเรา

เรื่องของเราเพราะอะไร? เรารู้จริงของเรา เป็นเรื่องจริงมันเป็นปัจจุบันของเรา ถามมาสิ เพราะถามมา พอคำถามเกิดขึ้นคือมีเหตุเกิดขึ้น พอมีเหตุเกิดขึ้นนี่ถามมามันจะตอบรับทันที มันจะเป็นปัจจุบันไง ทีนี้เวลาเราไปฟังธรรมครูบาอาจารย์มันถึงซึ้งใจไง เพราะมันเกิดปัจจุบัน เราสงสัย เหมือนกับเราร้อนอยู่เดี๋ยวนี้ พอเราได้น้ำรดเข้าไปเราจะเย็นเดี๋ยวนี้เลย ถ้าเราร้อนเดี๋ยวนี้น่ะนะ ต้องไปหาน้ำนะ น้ำมันจะอยู่ในขัน น้ำมันจะอยู่ในตุ่ม น้ำมันอยู่ในบ่อบาดาล จะไปเจาะจะไปหาชาติหนึ่งก็ยังไม่ได้เย็น

แต่ถ้ามันร้อนเดี๋ยวนี้ ธรรมเกิดเดี๋ยวนี้ เย็นเดี๋ยวนี้ไง นี่ปัจจุบัน ขอให้อยู่กับปัจจุบัน มันจะเป็นของมันไปถ้าเรามีสติ แล้วเราตั้งใจของเราไปมันจะเป็นปัจจุบัน ปัจจุบันเข้าไปถึงในหัวใจของเรา แล้วเราจะร่มเย็นนะ

นี่อาหารใจ ธรรมะนี่เป็นอาหารใจ ธรรมะเห็นไหม เราทำอาหารใจเกิดที่ไหน เวลาฝนตกฟ้าร้องนะ ใครมีภาชนะรองรับน้ำได้จะเป็นของบุคคลนั้น นี่ก็เหมือนกัน ธรรมในหัวใจของเรามันทุกข์ร้อนอยู่นี่ แล้วถ้ามันเย็นขึ้นมา นี่ภาชนะที่รองรับธรรม ว่าธรรมะ ๆ ธรรมะอยู่ที่ไหน หากันนะ อยู่ในตู้พระไตรปิฎก หากันใหญ่เลย นั้นเป็นหนังสือนะ ความสุขความทุกข์มันอยู่ที่ใจ เวลาธรรมะมันเกิดที่ใจ สุขก็เกิดเดี๋ยวนี้ ทุกข์ก็เกิดเดี๋ยวนี้ แล้วธรรมะมันชำระล้างเดี๋ยวนี้ มันก็ชำระเดี๋ยวนี้ แล้วมันรู้สึกเดี๋ยวนี้ หากันที่นี่ ไม่ต้องไปหาที่อื่นเลย ถ้าหาที่นี่แล้วจากอะไรล่ะ เราก็ทำของเราขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของเรา

นี่กรรมเก่ากรรมใหม่ กรรมเก่าคือทำให้เราเกิดมาเป็นมนุษย์ ถึงจะเกิดมาแล้วจะสุขจะทุกข์นี่มันก็มีโอกาสวาสนา กรรมปัจจุบันนี้ กรรมอดีตกรรมอนาคต กรรมจากอดีตมานี่ส่งผลให้มาเกิดเดี๋ยวนี้ ภูมิใจแล้วเกิดเป็นมนุษย์ มีโอกาสที่จะได้แสวงหาสิ่งที่ว่าเป็นโลกและเป็นธรรม

ถ้าแสวงหาสิ่งที่เป็นธรรม ในปัจจุบันนี้ทำอะไรกันอยู่ ถ้าในปัจจุบันนี้เราเป็นปัจจุบัน จิตก็สงบเข้ามา แล้วปัญญาเกิดขึ้นมานี่ ปัจจุบันนี้ทำดี สุคโตเดี๋ยวนี้นะอนาคตดี ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลย ถ้าปัจจุบันดี ทำปัจจุบันนี้ให้ดีที่สุด อย่างอื่นไม่ต้องไปสนใจมัน ปัจจุบันเดี๋ยวนี้ให้ดีที่สุด เอวัง