เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๗ ต.ค. ๒๕๔๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๔๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้ทั่วไปเขาเป็นวันตักบาตรเทโว วันตักบาตรเทโวเป็นวันนักขัตฤกษ์ เวลาชาวพุทธเรา เราว่าเป็นชาวพุทธ ทำบุญวันเข้าพรรษา แล้วก็ทำบุญวันออกพรรษา ทำบุญ ๒ วันนะ แต่เวลาหายใจนี่ หายใจวันหนึ่งไม่รู้กี่ร้อยหนกี่พันหน เราทำกันอย่างนั้นเพราะอะไร? เพราะเราทำเป็นประเพณีไง วันตักบาตรเทโวเพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยู่ในพระไตรปิฎก โปรดพุทธมารดา ลงมาจากดาวดึงส์

มันเป็นชาดก เป็นชาดกที่เป็นความจริง ชาดกคือนิทาน นิทานชาดกนี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกถึงเมื่อชาติที่แล้วเราเป็นพระเจ้าพรหมทัต เราเป็นกษัตริย์ เป็นจักรพรรดิ เป็นอะไรนี่ เป็นชาดกแต่มีที่มา มีที่เป็นที่ไป มีความจริงอยู่ในชาดกนั้น เป็นชาดกนั้นเพราะอะไร? เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้แจ้งโลกนอกโลกใน แต่พอเรามาฟังกันปั๊บเราว่าเป็นนิทาน เป็นชาดก ในศาสนาเรานี่เป็นสิ่งที่ว่าไม่น่าเชื่อถือ ความไม่น่าเชื่อถือเพราะเราเอากิเลสเราไปจับไง

สิ่งที่เป็นชาดกเป็นนิทานมาจากผู้รู้จริง ก็มีสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นสิ่งที่จูงใจ เป็นสิ่งที่เจริญศรัทธา ถ้ามีความศรัทธา ตัวศรัทธานี่เข้าไปแสวงหาความจริง ตัวศรัทธาไม่ใช่ความจริงนะ ตัวศรัทธาเป็นความเชื่อ ถ้าตัวศรัทธาเป็นความเชื่อ ความเชื่ออันนั้นจะทำให้เรามีโอกาส เห็นไหม สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา สุตมยปัญญาคือการศึกษาเล่าเรียน การศึกษาการค้นคว้า ค้นคว้ามาแล้วนี่ค้นคว้ามาเพื่อใคร ถ้าค้นคว้ามาเพื่อกิเลส คนเรานี่มีปัญญานะ ถ้ามีปัญญานี่เบียดเบียนกัน แก่งแย่งกัน ชิงดีกัน ด้วยปัญญานี่เล่ห์กลจะมหาศาลเลย

เวลาสัตว์นะมันมีปัญญาขนาดของมัน ถ้ามันมีกำลังมันก็จะเป็นผู้ควบคุมฝูง ถ้าหัวหน้าสัตว์ตัวนั้นดี มันจะควบคุมฝูง หมู่คณะจะมีความสุขมาก ถ้าหัวหน้าสัตว์ตัวนั้นเอาเปรียบเขา นี่สิ่งที่เหลือแล้ว นั่นเป็นสัญชาตญาณของมันนะ สัญชาตญาณของสัตว์ นี่คำว่าปัญญา ปัญญามันใช้ในทางที่ดีก็ได้ ปัญญาในทางที่เลวก็ได้ ปัญญาอย่างนี้เป็นโลกียปัญญา ถ้าเป็นสุตมยปัญญานี่ศึกษามา ศึกษามาแล้วถ้าไม่มีความเชื่อ ยิ่งศึกษามายิ่งลังเลสงสัย ยิ่งศึกษามายิ่งที่ว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไร

แต่ถ้ามันเป็นความเชื่อนะ พอมันศึกษาไปมันจะมีความเชื่อไง ขนาดเวลาเราไปศึกษาในพระไตรปิฎก เห็นไหม เราจะขนลุกขนพองเลย สิ่งใดนี่มันสะเทือนหัวใจมาก การสะเทือนหัวใจ ถ้าธรรมะสะเทือนหัวใจคนนั้นมีวาสนามาก เพราะการสะเทือนหัวใจทำให้เราได้ฉุกคิดไง ชีวิตนี้คืออะไร? เกิดมาทำไม? การเกิดมานี่เกิดมาทำไม? สิ่งนี้เวลาถามขึ้นมาตัวเองนี่ สิ่งนี้เกิดมาทำไม เกิดมาแล้วได้ผลประโยชน์อะไร เกิดมาตายเปล่าหรือเกิดมามีสิ่งใดติดไม้ติดมือไป อันนี้เป็นความคิดของเรานะ เป็นความคิดของผู้มีศรัทธาที่เห็นคุณค่าของชีวิตไง

แต่ถ้ามันเป็นสัจจะทางโลกเขา มันปฏิเสธไม่ได้ มันเหมือนธรรมชาตินี่มันเวียนไป ถึงบอกว่าเวลาครูบาอาจารย์หรือว่าพระอรหันต์ในสมัยพุทธกาล เวลาไปประสบถึงกรรม การกระทบของกรรมมันเป็นผลของวัฏฏะ พระอรหันต์ไม่มีสิ่งใดเข้าไปหัวใจนี่มีความเบียดเบียนหรือมีใจบกพร่อง ให้มีใจติดกับในโลกเขา แต่พระอรหันต์มีกรรม ถ้ามีกรรม สภาวะกรรมที่เกิดขึ้น ดูองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พราหมณ์ที่นิมนต์ไปแล้วข้าวยากหมากแพง ยังต้องอดต้องฉันข้าวดิบ ๆ ๓ เดือน เห็นไหม

ถ้ามีกรรมขึ้นมา เวลามีกรรมเราก็สลดสังเวชกัน แต่พระอรหันต์บอกว่า “มันเป็นผลของวัฏฏะ” คือผลของการเวียนว่ายตายเกิด ชีวิตนี้คืออะไร? ชีวิตนี้คือการที่กรรมมันพาเกิดมาเป็นชีวิตนี้ แต่ชีวิตนี้คืออะไร? ชีวิตนี้เราปฏิเสธชีวิตนี้แล้วเราก็เบื่อหน่ายชีวิตนี้ แล้วเราจะปฏิเสธมัน ปฏิเสธมันไม่ได้ เพราะสิ่งนี้มันสสารสิ่งที่มันมีคุณค่าของมันอยู่ มันต้องเวียนไปธรรมชาติของมัน

ธรรมชาติคือความแปรปรวน ดูสิว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติคือธรรมชาติ ธรรมชาติอันหยาบ ๆ นี่ ธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมะคือความเป็นไปของธรรมชาติใช่ไหม ถ้าเป็นธรรมชาติมันจะพ้นออกไปเป็นนิพพานไม่ได้ เพราะมันจะเวียนไปในธรรมชาตินั้น ธรรมะเหนือธรรมชาติไง แต่ความเป็นธรรมชาตินั้น ธรรมชาติคือกรรมดีกรรมชั่ว กรรมดีกรรมชั่วหมุนไปในธรรมชาตินั้น นี่ธรรมะหยาบ ๆ

ธรรมหยาบ ๆ คือธรรมเริ่มต้นจากปุถุชน ปุถุชน กัลยาณปุถุชน ถ้าเป็นธรรมะของพระโสดาบันนะ จะไม่ถือมงคลตื่นข่าว จะตรงกับหลักธรรมวินัย จะเข้าถึงหลักธรรมวินัย จะไม่ถือมงคลตื่นข่าวออกไป สิ่งนี้มันถึงเป็นอกุปปธรรม แต่ถ้าเป็นสภาวธรรมอย่างนี้ มันเวียนไป แล้วมันต้องเกิด มันปฏิเสธไม่ได้ ความปฏิเสธ ดูสิ เวลาเขาประหารกัน เขาฆ่ากันนะ เขาตายไป ตายไปแล้วไปไหนล่ะ นี่ว่าตายแล้วก็จบกัน แต่กรรมมันไม่จบนะ จิตนี้ทำลายไม่ได้ ไม่มีสิ่งใดทำลายได้เลย

อย่างเชื้อโรค อย่างโรคภัยไข้เจ็บ ทางวิทยาศาสตร์เขายังแก้ไขได้ อวัยวะนี่เปลี่ยนได้ หัวใจยังเปลี่ยนได้เลย หัวใจเปลี่ยนได้ สมองผ่าตัดได้ ทุกอย่างทำได้หมดเลย ร่างกายนี่ทำได้ทั้งนั้นน่ะ เปลี่ยนแปลงได้ แต่จิตใจจะเปลี่ยนแปลงได้อยู่ที่ความ... ชีวิตนี้คืออะไรไง ถ้าชีวิตนี้คืออะไรมันก็ยอมรับตัวมันเองใช่ไหม ถ้าคนว่าชีวิตนี้คืออะไรมันจะฉุกคิด คนเราต้องฉุกคิด การฉุกคิดมันจะย้อนกลับเข้ามาในหัวใจของเรา

ถ้ากลับมาในหัวใจ เห็นไหม ถ้าเป็นชาดกเป็นนิทานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เป็นการเชิดชูศรัทธา แต่ในปัจจุบันนี้เราประพฤติปฏิบัติกันนี่ นิยายนะ ธรรมะนิยาย เราแต่งกัน เราเทศนาว่าการกัน ถ้าไม่รู้นะ ออกมามันเป็นนิยายธรรม ถ้านิยายธรรม ถ้าเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันยังเชิดชูทำให้ขนลุกขนพองนะ แต่นิยายธรรมมันเกิดจากความ เห็นของเรา

ถ้าเกิดจากความเห็นของเรา ดูสิ บ้านเราไฟไหม้ บ้านเราโจรขโมยเข้า เราต้องปิดบ้านเรา บ้านเราไฟไหม้เราต้องดับไฟบ้านเรา ไม่ใช่ว่าบ้านเราไฟไหม้ไปดับไฟบ้านคนอื่น บ้านเราไฟไหม้นะ โอ้โหย...เที่ยวไปดับไฟคนอื่นเลย กองไฟบนหัวของตัวไม่ดับ กองไฟบนหัวของตัวไม่ดูแล จะไปดับไฟบนหัวของคนอื่น แต่ถ้าสัจจะความจริง ถ้าไฟบนหัวของเรานี่ความร้อนมันมี มันเจ็บปวดมันต้องปัดก่อนโดยธรรมชาติของมัน

แต่ถ้าเป็นธรรมะนิยายนะ ธรรม...สภาวะเป็นธรรมอย่างนั้น สภาวะเป็นธรรมอย่างนี้ มันไม่ออกมาจากความจริงหรอก เพราะถ้าออกมาจากความจริง ครูบาอาจารย์ท่านสอนไว้ให้ดูใจเราก่อน สรรพสิ่งสภาวธรรม สภาวธรรมสภาวะของโลกจะเป็นอย่างนั้น วัฏฏะต้องหมุนไปสภาวะแบบนั้น นี่คนคิดชั่วคนคิดดี บางคนคิดได้สูงส่งมากนะ เขาทุกข์จนเข็ญใจขนาดไหนเขามีน้ำใจของเขา เขาเชิดชู เขาเป็นหัวหน้า เขาดูแลสังคม บางคนขนาดมีโอกาสแล้วเขาไม่ยอมทำ เขาเบียดเบียนสังคม เห็นไหม เขาคิดได้อย่างไร เขาคิดได้อย่างไร

นี่คือความคิดไง ถ้าความคิดอย่างนี้มันเกิดมาจากไหน? มันเกิดมาจากใจ แล้วถ้าเวลาภาวนาเข้าไปล่ะ อริยสัจเกิดตรงนี้ไง ธรรมะเป็นความจริงไม่ใช่ธรรมะนิยาย ถ้าเป็นชาดกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เพราะอะไร? เพราะในสังคมในวัฏฏะนี่ทุกคนเด็กมันเกิดมามันไร้เดียงสา ถ้าเราไม่มีธรรมอย่างหยาบ ๆ เพื่อให้เด็กมันมีความสนใจ เราเกิดมานี่เรามีลูก สอนกราบพระนะ นั่งสมาธิภาวนานะ สิ่งนี้เป็นธรรมะปลูกฝังเด็กก่อน ถ้าเด็กไม่มีการปลูกฝังขึ้นมามันจะเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาได้อย่างไร

เราปลูกต้นไม้ เวลาต้นไม้เล็ก ๆ เรารดน้ำกันที่ไหน เวลามันออกผลมันออกผลที่ไหนล่ะ มันออกกันที่โคนที่ไหน บางชนิดเท่านั้นผลไม้มันจะออกที่โคน แต่ส่วนใหญ่แล้วมันจะออกที่ปลาย

ชีวิตเริ่มต้นถ้าเป็นนิยาย เป็นชาดกก็เพื่อศรัทธาความเชื่อ พอศรัทธาความเชื่อขึ้นมานี่อนุปุ-พพิกถา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ เห็นไหม เรื่องของทานก่อน พอเรื่องของทาน เรื่องของผลของทาน คือสวรรค์ เรื่องของสวรรค์ก็ยังติด เรื่องของเนกขัมมะ เรื่องของพรหม พอเรื่องของพรหม ก็เรื่องของอริยสัจ เรื่องสัจจะความจริง นี่มันต้องปูพื้นมา

ทีนี้เวลาเราไปศึกษาธรรมวินัยนะ “อย่างนั้นก็ไม่ถูก อย่างนี้ก็ไม่ถูก” มันมีขั้นตอนมาก มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียดไง ถ้าเราไม่มีปัญญาของเรา เราจะพัฒนาความคิดของเราขึ้นมาได้อย่างไร ทำไมมีสุตมยปัญญา ทำไมมีจินตมยปัญญา จินตนาการน่ะ จินตนาการของโลกนักวิทยาศาสตร์ จินตนาการอย่างนั้นใช้ไม่ได้ ถ้าจินตมยปัญญามันจะเหมือนธรรมะนิยายนี่ เพราะมันเกิด เวลาเกิดนิมิตเกิดต่าง ๆ นี่จินตมยปัญญา มันจะเข้าไปสภาวะแบบนั้น มันจะไม่เป็นอริยสัจเลย

ถ้าเป็นอริยสัจ เป็นภาวนามยปัญญา ถ้าภาวนามยปัญญาขึ้นมามันจะซึ้งใจธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่มรรค ๘ เลี้ยงชีพชอบ เราเลี้ยงชีพชอบเราก็เป็นสัมมาอาชีวะ เราทำการค้าชอบ ทำมาหากินชอบ นี่คนขนาดที่พูดว่าเลี้ยงชีพชอบ ปล้นมาก็ชอบ เขาว่าชอบอย่างไรรู้ไหม เขาบอกปล้นมานี่เขาไปเลี้ยงลูกหลานเขา เลี้ยงลูกเลี้ยงหลานครอบครัวมีความสุข เขาว่าสิ่งนั้นเป็นเลี้ยงชีพชอบ เห็นไหม เลี้ยงชีพชอบของกิเลสไง ถือว่าถ้าเราเอาไปเลี้ยงครอบครัวของเรา ครอบครัวเราได้มีความสุข อันนั้นเป็นเลี้ยงชีพชอบ มันคิดได้ขนาดนั้นนะ

สัมมาอาชีวะมันเป็นสิ่งที่ว่าเราไม่เบียดเบียนกัน นี้เป็นสัมมาอาชีวะจากภายนอก แต่ถ้ามันเป็นอริยสัจนะ สัมมาอาชีวะ เห็นไหม คิดผิดเท่านั้นน่ะ คิดเกียจคร้าน คิดไม่ทำการงาน คิดไม่ภาวนา นี่เลี้ยงชีพผิดแล้ว เพราะอะไร? นี่มันแถออกนอกลู่นอกทางแล้ว เพราะอะไร? เพราะวิญญาณาหาร หัวใจมันกินความรู้สึกเป็นอาหาร ถ้าความรู้สึกเป็นอาหาร นี่เป็นสภาวธรรม

สิ่งที่เป็นสภาวธรรมนี่เลี้ยงชีพชอบ คือความคิดถูกต้อง ถ้าความคิดผิดเป็นความเลี้ยงชีพผิด เลี้ยงชีพผิดเพราะอะไร? เพราะมันเสวยอารมณ์ สิ่งที่เสวยอารมณ์นั้น นี่อริยสัจอยู่ตรงนี้ไง ถ้าอริยสัจอยู่ตรงนี้ มรรค ๘ มรรคจากภายในนี่ มรรคของโสดาปัตติมรรค ไม่ใช่มรรคแบบโลก ๆ เขา มรรคแบบโลกเขานี่การดำรงชีวิตถูกต้อง เขาว่าเป็นความเลี้ยงชีพถูกของเขาแล้ว

สิ่งนี้มันเป็นเรื่องของเด็ก ๆ เหมือนคนเขาดูถูกกัน คนมีฐานะก็ดูถูกว่าคนนั้นคนจน เราเป็นคนมีฐานะเป็นคนร่ำรวย ไอ้คนเศรษฐีโลกก็บอก ไอ้คนนั้นมันเศรษฐีใหม่ เศรษฐีเก่าเขามีเงินมหาศาล มันเหยียบย่ำกันไปตลอดนะ ความคิดก็เหมือนกัน ไอ้นั่นคิดไม่ถูก นั่นธรรมะนิยาย อันนี้ธรรมะอริยสัจ ไอ้ธรรมะจริง...สิ่งนี้มันเป็นพื้นฐาน มรรคหยาบมรรคละเอียด มันต้องมีการพัฒนาของมันขึ้นมา วุฒิภาวะของใจจะเกิดขึ้นมาอย่างนี้ ถ้าไม่มีวุฒิภาวะของใจขึ้นมา เราจะเอาอะไรมาพัฒนากัน

ดูสิ โลกนี้ที่มันอยู่กันได้เพราะอะไร? เขาว่าสัตว์โลกจะสูญพันธุ์ สิ่งที่จะสูญพันธุ์เขาต้องพยายามสงวนรักษาไว้ สงวนรักษาของเขานะ แล้วของเรานี่สัตว์โลกจะสูญพันธุ์ไหม แล้วธรรมะจะสูญไหม ธรรมะจะไม่สูญ ไม่สูญเพราะอะไร? เพราะมีผู้รู้จริง เวลาพระอานนท์ถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

“กาลใดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วนี่มรรคผลจะหมดเขตเมื่อใด?”

“เมื่อใดมีผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เมื่อนั้นมรรคผลนิพพานจะไม่ว่างจากโลกนี้เลย”

ที่มันจะว่างเพราะมันไม่สมควรไง มันเป็นอริยสัจนิยายน่ะ ถ้าเป็นอริยสัจนิยายมันเข้าไม่ได้ แต่ถ้ามันเป็นอริยสัจความจริง แต่นิยายการปลูกศรัทธามันก็เป็นส่วนหนึ่ง มันถึงจะเรียวแหลมไปตรงนี้ไง เรียวแหลมไปตรงความเชื่อของคน มันไม่ใช่เรียวแหลมที่ศาสนาหรอก ศาสนาไม่เคยเรียวแหลมเลย ศาสนาไม่เคยเสื่อมเลย ไม่มีวันเสื่อม แต่บุคคลมันเสื่อม หัวใจคนมันเสื่อม ความเป็นไปของคนมันเข้าไม่ถึง ถ้ามันเข้าไม่ถึงมันเข้าไปแต่ลูบคลำไง ความลูบคลำจากภายนอก มันไม่เข้าถึง เหมือนกับเราเข้าไม่ถึงจุดสำคัญ

ดูนะ เหมือนกับคนเคยเข้าไปในสนามหลวง เกิดน้ำท่วม เกิดสิ่งใดก็แล้วแต่ เราต้องหาหนทางวิธีการเข้าไปถึงสนามหลวงนั้นได้ ผู้รู้จริงเข้าไปถึงอริยสัจ สัจจะความจริงนี่มันจะด้วยวิธีการใดก็แล้วแต่ มันจะอ้อมบ้างเพราะอะไร? เพราะคนนี้เป็นคนศรัทธาอ่อน คนนี้เป็นคนปัญญา คนนี้เป็นสมาธิอ่อน นี่เขาเรียกจริตนิสัยไง ถ้าจริตนิสัยวิธีการจะทำเข้าไปอย่างไรจะให้ถึงสนามหลวงให้ได้ วิธีการนี่มันมีเพราะอะไร? เพราะมันเริ่มต้นจากถ้าน้ำท่วมรถเข้าไม่ได้ มันไปไม่ได้แล้ว แต่ถ้าเกิดไม่มีหนทางเลย ไปไม่ได้แล้วมันก็ไปทางอากาศได้ มันเป็นไปได้ จะวิธีการไปอย่างนั้น เพราะอะไร? เพราะเรารู้เป้าหมายใช่ไหม เรารู้ว่าเป้าหมายนี้ วิธีการต้องเข้าเป้าหมายนั้นให้ได้

นี่ก็เหมือนกัน วิธีการจะเข้าไปนี่ถ้ารู้จริงจะพาเข้าไปได้ ถ้าไม่รู้จริงเลย ไม่รู้เลยเพราะอะไร? เพราะมันออกนอกลู่นอกทางไปเลย มันออกอ่าวทะเลไปเลย ว่าจะไปสนามหลวงมันออกไปทะเล ออกไปไหนก็ไม่รู้ ไปสนามหลวงไปไม่ถูกไง สัจจะความจริงเป็นอย่างนี้

นิยายมันต้องผู้รู้จักใช้ ชาดกสิ่งที่เป็นการปลูกเป็นการจรรโลงศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าลงจากดาวดึงส์มา สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ว่าถ้าผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินะ ธรรมะเราที่ว่าศาสนาเรียวแหลม เรียวแหลมที่ไหน ถ้าไม่ได้ประพฤติปฏิบัติแล้วมันจะเป็นไปได้อย่างไร สิ่งนี้เป็นไปไม่ได้ไง นกทำไมมันบินได้ล่ะ ทำไมปลามันอยู่ในน้ำได้ล่ะ นี้เป็นธรรมชาติของเขานะ

ธรรมชาติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะเป็นอจินไตย บุญบารมีมหาศาลเลย มหาศาลทำอะไรก็ได้ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก เวลาพระโมคคัลลานะลงจากเขาคิชฌกูฏเห็นเปรตลอยมาในกลางอากาศ เห็นทุกอย่างเลย แล้วยิ้มให้พระ พระบอกว่าจะไปพูดต่อหน้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก

“เห็นมาตลอดเลยแต่ไม่พูด เพราะไม่มีพยานหลักฐาน” พูดออกไป เห็น ๆ อยู่นี่ไม่พูด เพราะรู้อยู่คนเดียว แต่เวลาพระโมคคัลลานะเห็น “นี่เรามีพยานแล้ว เราบอก พระโมคคัลลานะก็เห็น เราก็เห็น”

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าพูดถึงสัจจะความจริงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาท่านเทศนาว่าการ เห็นไหม ใบไม้ในกำมือกับใบไม้ในป่า สัจจะความจริงยังมีอีกมหาศาลเลย แต่มันไม่เป็นประโยชน์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้พูด ไม่ได้แสดงออกมา แล้วสิ่งที่แสดงออกมา พอเราไม่ได้ปฏิบัติ เราก็ไม่เชื่อนะ มันจะเป็นไปได้อย่างไร

แต่เวลาประพฤติปฏิบัติ เวลากาฬเทวิลย้อนอดีตชาติได้ สิ่งที่ว่าอาฬารดาบสเข้าสมาบัติได้ สิ่งต่าง ๆ นี่ ถ้าเทวทัตนี่เหาะได้ แล้วเราทำได้ไหม แต่ถ้าประพฤติปฏิบัตินะ หลวงปู่เสาร์ ประวัติหลวงปู่เสาร์ เวลานั่งสมาธิตัวนี่ลอยขึ้นตลอดเวลา สิ่งนี้มันเป็นเรื่องฌานโลกีย์ มันเป็นเรื่องจริตนิสัย เวลาคนภาวนาเข้าไป ถ้าพุทโธเข้าไปมันจะเห็นนิมิตก็ได้ ไม่เห็นนิมิตก็ได้ แต่หลักของมันผลของมันคือความสงบของใจ ความสงบของใจคือพลังงาน

เราขับรถไปนี่รถเราเติมน้ำมันอะไร? สิ่งที่เติมน้ำมันอะไร? น้ำมันใส่มาในรถเพื่อให้พลังงานเกิดจากเครื่องยนต์กลไกของเราเข้าไป นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าเป็นสมาธินี่ เกิดนิมิตก็ได้ ไม่เกิดนิมิตก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องให้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าจิตของเราสงบไหม เรามีสติของเราไหม ตรงนี้ถ้ามีสัมมาสมาธิเป็นพื้นฐานมันจะเข้ามาเป็นเรื่องของอริยสัจ มันจะเข้ามาธรรมะสัจจะความจริง ไม่ใช่ธรรมะนิยาย

ถ้าไม่ใช่ธรรมะนิยายปั๊บเข้าไปเพราะอะไร? เพราะมันรู้จริง มันเป็นสันทิฏฐิโก มันเกิดขึ้นมาจากใจ ของนั้นจะรสชาติอร่อย จะรสชาติเผ็ดเค็มมันขนาดไหน ถ้าไม่ได้ใส่ลิ้นเรานะ เขาจะโฆษณาขนาดไหน มันก็เรื่องของเขา วันใดอาหารชนิดนั้นถึงลิ้นของเรา ลิ้นของเราเป็นผู้ตัดสินว่าเปรี้ยวหวานมันเค็มอันนั้นมันจะเป็นสัจจะความจริงขึ้นมาจากความรู้สึกของเรา

สมาธิก็เหมือนกัน สัมผัสลงไปที่ใจ ใจได้สัมผัสสมาธิอย่างนี้ขึ้นมาแล้วนี่อริยสัจเกิดตรงนี้ เกิดตรงนี้เหมือนเราแยกมัน ถ้าไม่มีสมาธิขึ้นมาเป็นโลกียปัญญา โลกียปัญญามันเป็นปัญญาของโลก ๆ ถ้ามันจะเป็นโลกุตตรปัญญา มันต้องไม่มีทิฏฐิมานะ ไม่มีความเห็นของเราเข้าไปบวก ถ้ามีความเห็นของเราเข้าไปบวกนั่นน่ะมันเป็นความเห็นของเราใช่ไหม มันไม่มัชฌิมาปฏิปทา

สิ่งที่จะไม่ให้เราบวกได้ เพราะถ้ามีสมาธิ สมาธิมันจะกดอะไร? กดความฟุ้งซ่าน กดตัวตนของเรา ถ้าตัวตนไม่เบาบางลง สมาธิเกิดไม่ได้ สมาธิเกิดได้เพราะตัวตนนี่มันเบาลง พอเบาลงขึ้นมามันก็เป็นอิสรภาพ เวลามันคิดออกไปมันไม่มีมิติด้วย เพราะมันเป็นสมาธิ มันไม่มีมิติ ปัญญามันออกไปนี่มันเป็นธรรมชาติของมัน มันจะเป็นอริยสัจขึ้นมาตรงนี้ไง

นี่สัจจะความจริงอย่างนี้ เหมือนกับสิ่งที่ว่าลิ้นเราได้ลิ้มรสอะไร เราจะรู้เลย ศาสนาเจริญ เจริญตรงนี้ เวลาพระอานนท์ถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

“ศาสนาจะเรียวแหลมเมื่อไหร่?”

“ไม่เรียวแหลมเลย ถ้าเมื่อใดมีผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม”

แล้วปัจจุบันนี้เราสมควรไหม สมควรตั้งแต่เราทำบุญของเราก็เป็นสมควรแก่เรา ปฏิบัติก็สมควรแก่เรา ทุกอย่างเป็นของเรา แล้วจะเป็นธรรมะของเรา เอวัง