เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๗ ส.ค. ๒๕๔๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๔๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

โลกนี้มีสองด้านตลอด เหรียญมีสองด้าน เห็นไหม ดูสิดูอย่างป่าไม้สิ เวลาเราทำลายป่า ทำลายป่า แล้วพวกฟื้นฟูป่าล่ะ? นี่ป่ามันก็ต้องช่วยตัวมันเอง แต่เราก็ยังไปบำรุงมัน เราไปให้ปุ๋ยมัน เราไปทำไม? เพื่ออะไร? เพื่อฟื้นฟูมัน สิ่งที่ฟื้นฟูมัน คนที่เห็นคุณงามความดีก็รักษา พยายามรักษา คนที่เห็นผลประโยชน์ก็ไปทำลายมัน เหรียญมีสองด้านตลอด เหรียญจากข้างนอกนะ เหรียญจากข้างใน

ความคิด เห็นไหม นี่อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา อเสวนา ไม่คบคนพาล คนพาลภายนอก ถ้าเรามีจุดยืน คนพาลภายนอกทำอะไรเราไม่ได้หรอก แต่ถ้าคนพาลภายใน ความคิดของเราภายในมันเบียดเบียนตลอดเวลานะ คบบัณฑิต คบความคิดที่ดีไง ถ้าความคิดดี ความคิดที่ดีคืออะไร? คือธรรม ธรรมคืออะไร? ธรรมคือธรรมอย่างหยาบๆ เราคบสิ่งนี้ขึ้นมา เราจะเอาตัวเราพัฒนาตัวเราขึ้นมา มันจะมีการพัฒนาการของมันนะจิตนี่

ถ้ามีพัฒนาการของมัน เห็นไหม เรื่องของโลกมันมีพัฒนาการ สภาวธรรมที่ว่าเป็นสภาวธรรม สภาวธรรมทั้งนั้นแหละ ดูสิลมพัดก็เป็นสภาวธรรม ต่างๆ เป็นสภาวะเพราะมันมีการหมุนเวียนของมันเป็นสภาวธรรม

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเปลี่ยนแปลง พัฒนาการของจิตมันก็เป็นสภาวธรรมมันกระทบกัน แต่สภาวธรรมภายนอก มันเป็นสภาวธรรมที่ว่าเวลาหลวงปู่มั่นบอกหลวงตาว่า “นิพพานไม่ได้อยู่บนภูเขา ไม่ได้อยู่บนดิน ฟ้า อากาศ ไม่อยู่ในวัตถุใดๆ เลย นิพพานอยู่ในหัวใจ”

เพราะอะไร? เพราะสภาวธรรมที่เกิดจากภายใน มันมีจิตเป็นผู้รองรับ มันมีจิตรับรู้ มันรู้สุขรู้ทุกข์ สภาวธรรมที่มันเป็นไป ดูสิลมพัดต่างๆ ที่เรื่องภายนอก มันไม่รู้สุขรู้ทุกข์หรอก มันเป็นธรรมชาติของมัน มันทำลายบ้านเรือน ดูแผ่นดินไหว ดูสึนามิสิ มันทำลายชีวิตคนเป็นแสน เป็นล้าน มันมีความรู้สึกอะไร? มันเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง แล้วมันก็กลับไปสู่สภาพเดิมของเขา นี่สภาวธรรมอย่างนั้นเขาไม่รู้เรื่องอะไรของเขาเลย แต่เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง สภาวธรรมของเรา พัฒนาการของจิตมันพัฒนาการอย่างนี้

ถ้าเราคบบัณฑิต คบบัณฑิตคือคบความคิดเราเอง บัณฑิตคือความคิดนะ บัณฑิตคือสิ่งที่เป็นนามธรรม นี่เพราะอย่างนี้ไง เวลาปริยัติเขาถึงบอกว่าสวรรค์ในอกนรกในใจไง เพราะว่าคบบัณฑิต บัณฑิตก็คือความคิด คือสภาวธรรม เขาถึงปฏิเสธเรื่องนรกสวรรค์ไง เรื่องที่ว่าเทวดา อินทร์ พรหม บอกว่าสวรรค์ไม่มี นรกไม่มี เพราะอะไร? เพราะธรรมะส่วนละเอียด แล้วอริยสัจย้อนกลับมาที่จิต แต่สภาวะจิตที่มันเป็นไป เวลาเกิดเวลาตายเป็นสถานะ นี่มันเป็นภพไง เป็นสถานที่รองรับความรู้สึกอันนี้

เวลาความรู้สึกอันนี้มันเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาเป็นสัตว์ เกิดมาเป็นอะไร มันเกิดได้ ถึงว่าสวรรค์ในอกนรกในใจก็จริงอยู่ แต่สวรรค์จริงๆ ก็มีอยู่ไง เทวดา อินทร์ พรหมก็มีอยู่ไง เวลาเข้าป่าเข้าเขา เห็นไหม เสือตัวใหญ่ๆ สิ่งที่เสือตัวใหญ่ นี่เวลาภาวนาไปเจอสภาวะแบบนี้เพื่ออะไร? ก็เพื่อมาทรมาน เพื่อมาส่งเสริม เพื่อมาทำลายก็มี

นี่ในเทวดาก็มีฝ่ายเทพฝ่ายมาร ในสิ่งต่างๆ ก็มีเทพมีมาร ในตัวเราก็มี ในตัวเรา เห็นไหม ดูเลือดสิ เลือดเวลามันสูบฉีดได้ดี มันจะเป็นเลือดดี มันจะหล่อเลี้ยงร่างกาย เราจะสุขสบาย เวลาเลือดเสีย เลือดเสียก็สูบกลับไปที่ปอด ปอดก็ไปฟอกเลือด ในร่างกายเรามันก็มีของดีของเสียต้องขับถ่าย ต้องหมุนเวียนตลอดเวลา สิ่งนี้เรื่องของร่างกาย เรื่องของความเป็นไปนะ เรื่องของอวัยวะต่างๆ เรื่องของร่างกายมันก็มีสภาวะแบบนั้น

เรื่องของความคิดละเอียดเข้าไปอีก เรื่องของความคิดก็เป็นเรื่องของโลก เรื่องของโลกนะ เรื่องของโลกเพราะอะไร? เพราะความคิดนี่มโนกรรม สิ่งที่เกิดขึ้น สภาวะที่เกิดขึ้นก่อน แล้วสิ่งที่เป็นมรรคญาณที่มันละเอียดกว่าความคิดเข้าไปอีก เห็นไหม นี่ปัญญาที่ละเอียดเข้าไป ความคิดเข้าไป เราใช้แต่ความคิดๆ ความคิดโดยขันธ์

ดูสิสิ่งที่หยาบๆ ธรรมะหยาบๆ เป็นขันธ์ เป็นสังขารขันธ์ ความคิด ความปรุง ความแต่ง สิ่งนี้มันเป็นอาการของใจ เกิดจากใจ ดับจากใจ แต่เริ่มต้นก็ต้องอาศัยอย่างนี้เข้าไปก่อน แต่มันละเอียดเข้าไป ปัญญาละเอียดเข้าไปๆ มันไม่ใช่ความคิด ความคิดไม่ได้ ถ้าเป็นความคิดนะ เครื่องมือที่หยาบ ดูสิอย่างเช่นเครื่องมือของเราที่ใหญ่โต จะไปทำที่แคบที่อะไรไม่ได้

นี่ก็เหมือนกัน ความคิดที่ละเอียดเข้าไป จิตมันละเอียดเข้าไป ความคิดละเอียดเข้าไป มันเป็นญาณ มันเป็นญาณ มันไม่ใช่ขันธ์นะ ขันธ์คือสังขาร สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง ปัญญารับรู้ในกองสังขาร ปัญญา ปัญญาในศาสนาพุทธเราคือรอบรู้ในกองสังขาร สังขารคือ ความคิด ความปรุง ความแต่ง ปัญญานี่รอบรู้ความคิดเราเองอีกทีหนึ่ง ยับยั้งความคิดของเราเองอีกทีหนึ่ง

ปัญญารอบรู้ความคิดของเรา ยับยั้งความคิดของเรา คิดพาลไปหาโทษมาใส่ตัวเอง นี่ยับยั้งมัน สิ่งที่เป็นคุณงามความดีนี่ส่งเสริมมัน ส่งเสริมมัน เห็นไหม นี่มีคันเร่งแล้วมีเบรก อันนี้เป็นปัญญารอบรู้ในกองสังขาร สังขารนี่เป็นอาการของใจ แล้วมรรคญาณที่ละเอียดกว่าสังขารเข้าไป มันจะละเอียดเข้าไปอีก นี่ปัญญาๆ ปัญญาอย่างละเอียด แต่เราก็ไปติดกันว่าเวลาใช้ปัญญาแล้ว มีความคิดแล้วความคิดเป็นปัญญา ปัญญาสภาวะแบบนั้นปัญญาโดยกิเลสไง ปัญญาโดยวิชาชีพ

นี่เวลาปัญญามันคิดอย่างนี้ กิเลสมันส่งเสริมเข้าไป นี่เราได้เปรียบ เราพอใจ เราเอาชนะตนเอง ชนะเขาตลอดเลย สิ่งนี้มันเข้ามาทำไม? มันเข้ามาทำลายตนนะ ทำลายตนเพราะอะไร? สิ่งที่ได้มามันได้มาแค่อาศัยชั่วคราว ดูสิฝนตกแดดออกก็แล้วแต่มันต้องหมด มันแปรสภาพไป ถ้าฝนตกขนาดไหน เดี๋ยวมันก็ต้องหยุดของมัน แดดออกขนาดไหน เดี๋ยวก็ต้องแปรสภาพ ต้องร่ม พระอาทิตย์ขึ้นแล้วต้องตก

นี่ก็เหมือนกัน เราได้สิ่งใดมาก็แล้วแต่ สิ่งที่เราได้มาเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์มันให้ผลกับใจ เห็นไหม สิ่งที่ได้มา ฝนตกแดดออกมันชั่วคราว แต่ผู้ที่รับผลของมันคือใจของเรามันจริงจังนะ จริงจังเพราะอะไร? เพราะสิ่งนี้มันฝังไปที่ใจ มันเป็นอำนาจวาสนาบารมี สิ่งนี้มันเกิดขึ้นมาจากไหน? ก็เกิดขึ้นมาจากที่ว่าเราคบพาลไง เราคบกับสิ่งที่เราคิดว่าสิ่งนี้เป็นประโยชน์ไง แต่ถ้าเราคบบัณฑิต บัณฑิตจะพาไปสิ่งที่ดี เช่น เรามาทำบุญกุศลกันนี่เรามาทำอะไร? เรามาสละออก นี่เขาว่าสิ่งนี้เป็นประโยชน์ พระนี่เวลาพูดเรื่องศาสนาก็มีแต่สละทาน เพราะพระเป็นผู้ได้ พระเป็นผู้ได้

ถ้าพระมีสติสัมปชัญญะนะ ก็มีปากมีท้องเหมือนโยมนี่แหละ ก็กินมื้อเดียวเหมือนกันนี่แหละ อิ่มท้องเหมือนกันนี่แหละ มันจะสะสมไปไหน? สะสมไปเพื่ออะไร? จะทำไปหาใคร? สิ่งที่สะสมไป เห็นไหม มันก็เป็นเปรตน่ะสิ เปรตไปเฝ้าสมบัติของเขา นี้เป็นสมบัติของโลก แต่ในเมื่อมันเป็นการสื่อความหมายการแสดงออกของน้ำใจ น้ำใจแสดงออกมันเป็นบุญกุศลของเขาที่แสดงออกไป เราเป็นผู้ที่ถนอมรักษา ผู้ที่ใช้ประโยชน์อันนั้น จะใช้ประโยชน์อันนั้นโดยเป็นประโยชน์กับเขา เป็นประโยชน์กับโลก

ดูสิอย่างครูบาอาจารย์แสวงหาสิ่งต่างๆ มาก็เพื่อประโยชน์โลกๆ เจือจานโลกไปทั้งหมดเลย พระนี่ถ้ามีคุณธรรม มีคุณธรรมในหัวใจ มันจะไม่ไปเบียดเบียนใคร มันจะไม่ไปสิ่งต่างๆ แต่เวลาโลกไม่มองกันอย่างนั้นไง มองกันที่ว่านี่เวลาพูดก็พูดเรื่องทาน เรื่องเสียสละๆ ก็ตัวเองเป็นคนได้...ได้อะไร? ไม่ได้อะไรเลย ได้ภาระมา ได้สิ่งที่ต้องแสวงหาต้องดูแลมา แต่ถ้ามีคุณธรรมในหัวใจ สละไปเพื่อโลกๆ มันเป็นเพื่อโลก

เรื่องของทานเป็นเรื่องของหยาบๆ เพราะถ้าเรื่องทาน เห็นไหม นี่เขาหัวดำๆ นะ เขาเป็นสิ่งที่ว่าเขาเป็นคฤหัสถ์ฆราวาสเขายังเสียสละได้เลย แล้วเราเป็นพระ เราเป็นพระหัวโล้นๆ ประกาศตนว่าเป็นนักรบรบกับกิเลสของตัวเอง แล้วไปติดของที่เขาเสียสละมา มันน่าสลดสังเวชไหมล่ะ? แต่พระที่เขาแสวงหากันก็มี แล้วเราไปติดภาพอย่างนั้นออกมา เราถึงว่าศาสนาเป็นอย่างไร

เหรียญมีสองด้าน ในสังคมพระก็มีดีมีเลวปนกัน สิ่งต่างๆ มีดีมีเลวปนกัน แม้แต่ในตัวของเราก็มีดีมีเลวปนกัน แต่ว่าเราจะเอาอะไรเป็นมัชฌิมาปฏิปทา เราจะเอาอะไรเป็นเครื่องดำเนิน เราจะเอาสิ่งใดเป็นตัวกลาง นี่ธรรมะมันละเอียดอย่างนี้ ละเอียดอย่างนี้ คำว่าละเอียดหมายถึงว่าอะไร? มันต้องมีสติไง เราต้องเลือกเฟ้นเอง เหมือนอาหารนี่มันมียาพิษถ้วยหนึ่ง แล้วก็มีอาหารถ้วยหนึ่งมาวางไว้ต่อหน้าเรา เราจะกินอะไร?

นี่แล้วอาหารก็เหมือนกัน แต่เราไม่รู้ว่าอะไรมียาพิษหรือไม่มียาพิษ ความคิดก็เหมือนกัน ความคิดเกิดขึ้นต้องมีสติ นี่มันยากมันยากตรงนี้ไง ยากอะไรเป็นมาร อะไรเป็นพาล อะไรเป็นบัณฑิต ความคิดขึ้นมานี่อะไรเป็นพาล แล้วมีสติไหม? ถ้ามีสติ สติควบคุมอย่างไร? สติตั้งอย่างไร? ฝึกฝนอย่างไร? นี่สิ่งนี้มันยากเพราะสิ่งนี้มันเป็นการชำระกิเลสไง

งานของโลกๆ เขานะ ดูสิอาบเหงื่อต่างน้ำทุกคนก็ว่ายาก ประกอบสัมมาอาชีวะทุกข์ทั้งนั้นแหละ คนเกิดมาบ่นทุกคนเลยว่าเป็นความทุกข์ นี่สิ่งต่างๆ เกิดมาเป็นภาระต้องแสวงหา ต้องแสวงหาสิ แสวงหาเพื่อดำรงชีวิตไง ถ้าดำรงชีวิตเพื่อกลับมาแสวงหาให้มันมีจุดยืนของหัวใจไง ถ้ามีจุดยืนของหัวใจมันก็จะเห็นว่าอาหารจานนี้มีสารพิษ อาหารจานนี้เป็นอาหารที่ไม่มีสารพิษ

นี่ก็เหมือนกัน อาหารเหมือนกัน ความเห็นเหมือนกัน ดูสิดูเวลาโลก สิ่งใดที่มันเป็นแสง สีเสียงเราชอบมากเลย สิ่งใดที่เป็นประโยชน์กับเรามันจะดูไม่เป็นกระแสกับโลกเขา โลกเขาไม่ต้องการ สิ่งใดที่เป็นความสงบเสงี่ยมเรียบร้อย ความดีงาม นี่โลกเขาไม่ต้องการกัน แต่ถ้าเป็นแสง สี เสียง เป็นภาวะตลาด คนจะชอบใจกันมากเลย

นี่ย้อนกลับมาในความเห็นของเรา แต่ถ้าจิตสงบเข้าไปเห็นเทวดา เห็นอินทร์ เห็นพรหม เห็นต่างๆ อู้ฮู ไอ้นี่เป็นธรรมๆ แต่ถ้าจิตสงบเฉยๆ เป็นพลังงานมันบอกไม่ใช่ธรรมนะ สิ่งที่เป็นพลังงานเฉยๆ พลังงานสัมมาสมาธิไง สมาธิมันย้อนกลับเข้ามา มันจะละเอียดเข้ามา ละเอียดเข้ามาเป็นคนบัณฑิต บัณฑิตจะย้อนกลับมาอริยสัจ อริยสัจมันละเอียดกว่านั้น เห็นไหม

นี่อาสวักขยญาณ ไม่ใช่ปัญญาในสังขาร ไม่ใช่สัญญาในการปรุง การแต่ง ไม่ใช่สัญญาโดยปัญญา นี่มันละเอียดเข้ามาอย่างนี้ ปัญญาเกิดขึ้นมาอย่างนี้ นี่ไงที่ว่าธรรมะละเอียดมาก เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา บอกว่า “จะสอนใครได้อย่างไร? จะสอนใครได้อย่างไร?”

เพราะสอนอะไรล่ะ? สอนโลกเขามันก็เหมือนกับดูหนัง ดูละคร มันมีภาพ มีต่างๆ ดูหนัง ดูละครก็ดูตามเขาไป

แต่ถ้าดูจิตล่ะ? ดูจิตมันเป็นความสงบของมันเข้ามา แล้วดูจิตมันต้องมีสติเข้ามาด้วย ถ้าดูจิตเฉยๆ มันก็เป็นมิจฉาอีกแหละ เพราะอะไร? เพราะมันไปกดไว้ไง สิ่งนี้มันกดไว้ เห็นไหม แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มีปัญญาขึ้นมา มันใคร่ครวญขึ้นมา มันแยกออกไป เหมือนสารพิษ ดูสิเวลาสิ่งใดที่เป็นพิษเขาเอาไปห้องทดลอง เพื่อไปแยกแยะว่ามีสารอะไรบ้าง?

นี่ก็เหมือนกัน เวลาใช้ปัญญาใคร่ครวญเข้าไปอะไรเป็นสารพิษ นี่สิ่งที่เป็นพิษในอาหารของใจที่มันเป็นพิษ คัดออกๆๆ มันก็เป็นสัมมาขึ้นมา มันก็ถูกต้องขึ้นมา ถ้าถูกต้องขึ้นมามันก็ฉลาดขึ้นมา มันก็ดีขึ้นมา นี่ก็ย้อนกลับเข้ามาจากภายใน สิ่งนี้มันละเอียด ละเอียดถึงต้องมีครูมีอาจารย์คอยชี้นำ เราว่าเราทำดีอยู่แล้ว เราพัฒนาอยู่แล้วนะ พัฒนาโดยกิเลสนะ กิเลสมันแอบอ้างพัฒนาขึ้นมา พัฒนาขึ้นมาให้สังคมยอมรับ สังคมยอมรับเราก็มีอำนาจ

สังคมยอมรับ โธ่ เขายกมือไหว้เรา เขาศรัทธาเรา สิ่งนี้ถ้ามันมีสติสัมปชัญญะ มันละอายนะ ว่าเรามีอะไร? ในหัวใจเราเป็นอย่างไร? เรานี่ ดูสิรู้เลยว่าเราจะทำดีหรือเราจะทำชั่ว แล้วเราเจอสภาวะแบบนั้น ยิ่งสังคมยอมรับมันยิ่งจะว่าสิ่งนี้ต้องตรวจสอบเราให้เข้ามา เพราะอะไร? เพราะเราไม่หลอกตัวเองไง เราไม่หลอกตัวเอง เราจะหาของเราขึ้นมา

นี่เหรียญสองด้านจากภายนอก คือดีและชั่ว เหรียญสองด้านจากร่างกาย จากสภาวะของโลกียธรรม เหรียญสองด้านจากโลกุตตรธรรม เหรียญสองด้านนะ เพราะเหรียญสองด้าน เห็นไหม ถ้าเราติดอยู่ ติดอยู่ คนติดคือคนหลง คือคนไม่รู้ ถ้าคนไม่รู้มันจะผ่านไปได้อย่างไร? ถ้าคนรู้ รู้ด้วยอะไร? นี่เหรียญสองด้าน จะเป็นขนาดไหน? มันละเอียดเข้าไปมันติดไปหมด พอมันติดไปหมดมันต้องพยายามใช้สติยับยั้ง ยับยั้งนะ ถามเขาตั้งเหตุตั้งผล สอบสวน สอบทาน

การสอบสวนสอบทานก็เหมือนพอติดเราพยายามปลด ถ้าปลดมันก็ละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป เห็นไหม ละเอียดเข้าไปมันก็เป็นสภาวธรรมที่ลึกเข้าไป สภาวธรรม สภาวธรรมการเกิดกระทบเป็นสภาวธรรมทั้งหมด การเกิดกระทบ การสัมผัสกันเป็นสภาวธรรมหมด แต่ถ้าถึงที่สุดแล้วเป็นอกุปปธรรม ไม่ใช่สภาวธรรม เป็นผลของธรรม เป็นเป้าหมายของธรรม เป็นโสดาบัน สกิทา อนาคา อันนั้นไม่ใช่สภาวธรรม เป็นสภาวะความจริง

ความจริงเหนือความจริง ความจริง อริยสัจ นี่สัจจะ อริยสัจจะ เห็นไหม อริยสัจจะ จนถึงที่สุดแล้วมันเป็นความจริงจากหัวใจอันนั้น นี่หัวใจอย่างนี้ที่พัฒนาขึ้นมาจะเป็นสมบัติของเรา จากเหรียญสองด้านจนเหลือเหรียญอันเดียว ไม่มีสองด้าน เอโก ธัมโม จิตเป็นหนึ่งเดียว ธรรมะหนึ่งเดียวไม่มีสอง หนึ่งไม่มีสองคือธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เอวัง