เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๓ ส.ค. ๒๕๔๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๔๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

นี่พูดอย่างนี้ปั๊บมันก็ทิ่มมาที่ใจเรา คนเชื่อและคนไม่เชื่อ นี่ธรรมชาติเป็นอย่างนี้ เราก็เจอกันอย่างนี้ เห็นไหม พระพุทธเจ้าสอนเลย “เกิดในประเทศอันสมควร” ประเทศอันสมควรมี ๒ อย่าง อย่างหนึ่งประเทศที่ว่าเป็นชาวพุทธเรา เพราะเป็นกระแสสังคม สังคมชาวพุทธเรานี่ร่มเย็นเป็นสุข ประเทศอันสมควรประเทศจากพ่อแม่ เกิดจากครรภ์นี่ประเทศอันสมควร เกิดสัมมาทิฏฐิ พ่อแม่พาเข้าวัดเข้าวา พ่อแม่พามาฟังธรรม ถ้าได้ฟังธรรมอย่างนี้ นี่ได้ฟังธรรม แล้วฟังธรรมอย่างนี้ธรรมมาจากไหนล่ะ? ธรรมมาจากใจนะ

ดูสิองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลย “มีบุรุษผู้หนึ่งเป็นผู้ฉลาด สังคมร้องกันว่าร้อนๆๆ ถือดุ้นไฟคนละดุ้น คือกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจ แล้วก็วิ่งไปร้อนๆๆ คราวหนึ่งมีบุคคลที่ฉลาดได้สละท่อนฟืนนั้น...” แล้วบอกให้พวกเราสละท่อนฟืนนั้นกันไง ให้วางให้ได้ท่อนฟืนที่กำที่มือไว้ แล้วก็บอกว่าร้อนๆๆ แล้วมันสละได้อย่างไรล่ะ?

นี่พูดถึงท่อนฟืนที่ถือไปแล้ว คำว่าร้อนๆ เพราะอะไร? เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นโดยชัดเจนแล้วอุปมาอุปมัยไง พออุปมาอุปมัยมาว่าถือท่อนฟืน เราก็ว่าท่อนฟืนเราไม่ถือก็ได้ เราก็ไม่ร้อน เพราะเราไม่ถือท่อนฟืนเราจะร้อนได้อย่างไร? คนถือท่อนฟืนถึงร้อน เราไม่ได้ถือ

นี่กิเลสมันคิดอย่างนี้ กิเลสมันคิดให้มันเป็นไปไม่ได้ไง ท่านเปรียบเทียบเป็นอุปมาอุปมัย แต่เราก็คิดว่าท่อนฟืนคือมือเราไปกำมา มันอยู่ในใจเรา จะกำหรือไม่กำมันก็ร้อนอยู่ในนั้น เพียงแต่ท่านอุปมาอุปมัยให้เห็น ว่านี่คนเราทั่วไปส่วนใหญ่ถือท่อนฟืนไปคนละท่อน ท่อนฟืนนั้นคือคบไฟ คบไฟนี่ร้อนๆๆ อยู่ แล้วเราก็คิดประสาเราไง แต่ท่านเปรียบเทียบให้เราเห็น

นี่ก็เหมือนกัน เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาทำความสงบของใจ น้ำใสแล้วจะเห็นตัวปลา น้ำใสจะเห็นตัวปลา แล้วก็ติดกันนะ เวลาทำสมาธิไปจิตใส รอให้ปลามันมาชนเรา คือรอให้กิเลสมันมาชนเรา แล้วกิเลสที่ไหนมันจะชนเรา เหมือนโจร โจรเวลามันปล้นแล้วมันจะวิ่งเข้าไปหาเจ้าหน้าที่ไหม? นอกจากโจรมันมีกรรมนะมันวิ่งเข้าไปชนเจ้าหน้าที่เอง นี่ก็เหมือนกัน นอกจากเวลาเราส้มหล่นไง เวลาจิตมันสงบขึ้นมา ไปเห็นกายขึ้นมา โดยเป็นครั้งเป็นคราวขึ้นมา อันนั้นส้มหล่นนะ กิเลสมันไม่อยากวิ่งเข้ามาชนเราหรอก มันมีแต่หลบหลีก

“น้ำใสแล้วจะเห็นตัวปลา” พอน้ำใสแล้วคนยิ่งไม่เห็น คนเดินก็เห็นไม่ชัด ต้องคนนิ่ง หรือคนยืนอยู่กับที่ถึงจะเห็นกิเลสชัด จิตก็เหมือนกัน ถ้ามันยังคิดฟุ้งซ่านอยู่ มันเห็นกิเลสไม่ได้หรอก มันต้องสงบของมัน ถึงต้องทำสมาธิไง เขาบอก “สมาธิไม่มีคุณค่า สมาธิไม่มีประโยชน์ ต้องใช้ปัญญา นี่ชำระด้วยปัญญา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้บอกว่าชำระกิเลสด้วยสมาธิ”...นี่มันตีความกันไป กิเลสมันเข้าข้างตัว เวลากิเลสเข้าข้างตัวไปก็ตีธรรมะไปโดยกิเลสตีความ โดยกิเลสตีความก็หมุนออกไปข้างนอก แล้วมันก็ออกไปด้วยสัญญาอารมณ์ว่าสิ่งนี้เป็นธรรม สิ่งนี้เป็นธรรม

มันไม่เป็นหรอก มันไม่เป็นเพราะอะไร? เพราะมันฆ่าไม่ได้ มันรู้ๆ อยู่ เวลาเราทำความสงบของใจเข้ามา จิตสงบขนาดไหน เวลามันคลายตัวออกมามันละกิเลสได้แค่ไหนล่ะ? ดูประวัติหลวงปู่มั่น นี่พรรษา ๒ พรรษา ๓ นะ ขนาดว่าเวลาจิตสงบเข้ามานี่เห็นไปหมดเลย เข้าไปในเมืองไปถึงทางตันกลับมา แล้วเวลาไปเห็นสภาวการณ์ขนาดไหน ออกมากิเลสมันก็ยังเป็นอย่างนั้น จนสุดท้ายนะต้องมาสละพุทธภูมิ สละเลย สละพุทธภูมิของตัวออกไป ถ้าไม่สละมันเป็นฌานโลกีย์ เวลาผู้ที่ถือพระโพธิสัตว์ๆ ที่ว่าทำสมาบัติกันมันเป็นฌานโลกีย์ ฌานโลกีย์มันเจริญได้ก็เสื่อมได้

มีอาจารย์เล่าให้ฟัง สมัยหลวงปู่มั่นมีพระองค์หนึ่งไปถาม พอพูดเรื่องสมาบัติต่อหน้าองค์หลวงปู่มั่นมันไม่ผิดหรอก แต่เวลาหลวงปู่มั่นล่วงไปแล้ว นี่ทำไมความประพฤติของเขาเปลี่ยนแปลงไปล่ะ? เพราะอะไร? เพราะสิ่งนี้เป็นฌานโลกีย์ไง ฌานโลกีย์เวลามันเสื่อมขึ้นมามันเป็นครั้งเป็นคราว

นี่ที่ว่าสัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวธรรมเป็นอนัตตา สมาธิก็เป็นอนัตตา ความเป็นไปก็เป็นอนัตตา ศรัทธาเรานี่ก็อนัตตานะ ศรัทธาเรา นี่ศรัทธาเรามันเชื่อมั่นมาก มันมีความมุมานะมาก แต่เวลามันปฏิบัติไปแล้วมันไปอั้นตู้ มันเสื่อม มันคลายตัวออกมา มันถึงต้องมีครูมีอาจารย์ เห็นไหม มีครูบาอาจารย์คอยส่งเสริมกำลังใจกันไง นี่ต้องส่งเสริมกำลังใจให้ใจเข้มแข็งขึ้นมา ให้ใจเข้มแข็งขึ้นมาตลอดไป

ดูในเซน เห็นไหม นี่เขาเจาะภูเขา ๓๐ ปีนะ กว่าจะเจาะภูเขาทะลุไปเขาต้องใช้สติของเขา ๓๐ ปี เจาะไปเรื่อยๆ เจาะไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะทะลุออกไป ๓๐ ปีแน่ะ นี่ด้วยความเพียรของเขา แต่ความเพียรของเรา ความเพียรของเราเพราะเราทำด้วยความรู้สึก ถ้ากิเลสมันเป็นความรู้สึก ดุ้นไฟมันอยู่ที่กิเลสของเรา อยู่ที่ความรู้สึกของเรา ดุ้นไฟของเรามันเกิดๆ ดับๆ ด้วย เวลาเรามีความโกรธ เวลาเรามีความหลงดุ้นไฟมันจะไฟโชติช่วงเลย แล้วดุ้นไฟนี่เดี๋ยวมันก็มอดลง มอดลงเพราะเรามีสติ เรามีกำลังใจไง

หินทับหญ้าไว้ หินทับหญ้าไว้ ดุ้นไฟนี่มันอยู่กับเราตลอดไป แต่ผู้ที่สละได้ คำว่าสละได้เพราะอะไร? เพราะมันสมุจเฉทปหาน ถ้าใครยังไม่เคยสมุจเฉทปหานนะ เป็นตทังคปหาน มันไม่เห็นการสละดุ้นไฟ มันไม่เห็นการปล่อยดุ้นไฟไป ดุ้นไฟนั้นไม่ขาดออกไปหรอก ถ้าดุ้นไฟไม่ขาดออกไป เหมือนหินทับหญ้าไว้แล้วก็จะบอกว่าดุ้นไฟไม่มี นี่สิ่งที่สละออกไม่มี สิ่งที่เป็นไป ความว่างนี้เป็นผลอยู่แล้ว สิ่งนี้เป็นธรรมอยู่แล้ว

นี่ถ้ามันไม่เห็นจริง เพราะคนไม่เคยเห็นจริงจะพูดจริงไม่ได้ คนจะพูดจริงได้ต้องเคยเห็นจริง เคยสละออกไปจริงๆ เคยขนาดที่ว่ามันสงบตัวลง ขณะที่มันหินทับหญ้าก็เคยเห็นมันไป เพราะอะไร? เพราะคนต้องผ่านตรงนี้ทั้งหมดเลย ทุกคนส่วนใหญ่ต้องผ่านตรงนี้ เว้นไว้แต่ขิปปาภิญญาที่ทีเดียวรู้ไปเลย แต่ถ้าไม่เคยรู้เลยมันจะเป็นหินทับหญ้า เห็นเป็นการสงบตัวลง แล้วมันก็คลายตัวออกมา

แล้วถ้านี่อาการอย่างนี้เป็นอาการหนึ่ง อาการที่ว่าเราสละดุ้นไฟก็เป็นอีกอาการหนึ่งนะ เพราะมันสมุจเฉทปหาน ขันธ์ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย มันสละออกไป สละออกแต่มีอยู่ สละขาดแต่ก็ยังเป็นอันเดียวกันอยู่อย่างนั้น คือขาดโดยเหมือนเราตัดกระแสน้ำ เวลากระแสน้ำขาดออกไป กระแสน้ำก็มาสงบเหมือนเก่า ความรู้สึกของเรามันขาดโดยความรู้สึก อุปาทานนี้ขาดออกไปเลย สิ่งนี้ไม่มีในหัวใจอีกเลย นี่มันถึงเป็นอกุปปธรรม เห็นไหม ถึงพ้นจากสัพเพ ธัมมา อนัตตา

สัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวธรรมทั้งหมด ปัญญาทั้งหมด ความคิดทั้งหมด นี่จำได้แล้วก็ลืม ลืมแล้วก็จำ คิดแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็คิด สัญญาก็เหมือนกัน เวลานานๆ เดี๋ยวก็ปวด เดี๋ยวก็หาย นี่มันเป็นสัพเพ ธัมมา อนัตตาทั้งหมดเลย แต่อกุปปธรรมพ้นออกไปจากสัพเพ ธัมมา อนัตตา อกุปปธรรมคงที่ไง อฐานะมันจะเสื่อมอีกไม่ได้ มันจะเป็นไปอีกไม่ได้ นี่สิ่งที่มันเป็นอฐานะที่มันจะไม่แปรปรวนอีกแล้ว มันจะคงที่ของมันตลอดไปจนถึงที่สุด จนถึงที่สุดของมัน นี่จิตก็มีอยู่ ถึงบอกว่ามันเหนือต่างๆ นะ

ถ้าเป็นความว่างอยู่ ยังมีสิ่งใดๆ อยู่ ยังพูดได้อยู่ สิ่งนั้นยังอยู่ในสมมุติ เห็นไหม ธรรมะนอกสมมุตินะ ถ้าธรรมะนอกสมมุติมันเป็นวิมุตติ แล้วมันอยู่ที่ไหน? มันก็อยู่ที่ใจเรา ใจที่โง่ๆ อยู่นี่ ใจที่ไม่เข้าใจอะไรต่างๆ อยู่นี่ ใจที่ว่าดุ้นไฟก็ไม่รู้จัก อะไรก็ไม่รู้จัก แล้วก็ต่อต้าน แล้วก็ตีความออกไปนะว่าเรารู้ เราเห็น เราฉลาด เรารู้ เราเห็น เราฉลาด เราฉลาดตรงไหนล่ะ? ถ้าเราฉลาดเราต้องเอาตัวเรารอดได้สิ เห็นไหม นี่ฉลาดเหมือนกันแต่เอาตัวรอดไม่ได้ เอาตัวรอดไม่ได้จากสิ่งใด?

รอดได้จากสังคมนะ เวลาเกิดวาตภัย เกิดอุบัติเหตุ เราเอาตัวรอดได้ทั้งนั้นแหละ แต่ไม่เคยเอาตัวรอดจากมัจจุราชได้เลย ไม่เคยเอาตัวรอดได้จากการเกิดและการตาย พญามัจจุราชควบคุมจิตนี้ จิตนี้ต้องยอมจำนนกับมันตลอดไปเลย แต่ขณะที่กิเลสขาดออกไป เห็นไหม พญามัจจุราชหรือ? ความตายหรือ? ไม่มี สรรพสิ่งสภาวะกลับไปสู่สภาวะเดิม ดูสิเราปั้นตุ๊กตากัน แล้วมันแตกสลายออกไปโดยธรรมชาติของมัน ตุ๊กตามันไม่เสียใจ มันไม่มีความดีใจ มันไม่มีอะไรเลยนะ เพราะอะไร? เพราะมันเป็นธาตุอันหนึ่งใช่ไหม?

นี่ก็เหมือนกัน ร่างกายของเรามันก็เป็นอย่างนั้นแหละ เวลามันสลายกลับไปสู่ธรรมชาติของมัน มันไม่มีอะไรบุบสลาย ไม่มีอะไรเลย เพราะจิตตัวนี้มันพาตายพาเกิดต่างหาก จิตตัวนี้สำคัญมาก จิตตัวนี้มันอยู่ในคูหา คืออยู่ในถ้ำในร่างกายนี้ เวลามันสละออกไป นี่ธรรมชาติอันนี้กลับคืนไปสู่สภาพเดิมของเขา เพราะอะไร? ธาตุ ๔ แต่ขันธ์ ๕ ล่ะ?

ขันธ์ ๕ เห็นไหม สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ เศษส่วนคือขันธ์ ขันธ์ ๕ กับจิตใจ ภารา หเว ปัญจักขันธา ขันธ์เป็นภาระอย่างยิ่ง ขันธ์มันอยู่กับจิต แล้วถ้าจิตมันขาดออกไปตั้งแต่เป็นอนาคา อนาคานี่ขันธ์อันละเอียดขาดไปแล้ว แล้วนี่ตัวที่พลังงานอันนั้นคือตัวจิต ตัวปฏิสนธิจิตมันก็ไปทำลายตัวนั้น ถ้าทำลายตัวนั้นหมดไปแล้วมันไม่มีอะไรเลย เพราะอะไร? เพราะไม่มีภวาสวะ ไม่มีที่ปูนหมายป้ายทาง ไม่มีที่บอกกล่าว ไม่มีที่รองรับ ไม่มีอะไรจะรองรับได้เลย มันเป็นนามธรรม

ถ้านามธรรมที่เป็นสมมุติ เป็นอวิชชา นี่มันมีรองรับเพราะอะไร? อวิชชา อวิชชาคือมันไม่รู้ ถ้ารู้เป็นสถานะ เป็นสถานที่ตั้ง เป็นภวาสวะ เป็นภพ เป็นที่กำเนิด เป็นที่จุดเริ่มต้น เป็นที่เกิดที่ตาย เป็นที่รับรู้ทั้งหมด นี่แล้วเวลาไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ ทำบุญกุศลก็ซับไปที่นี่ ทำบาปอกุศลก็ซับไปที่นี่ แล้วนี่ปัจจยาการ ปัจจยาการมันแสดงตัวออกมา จะออกมาเป็นปัจจยาการ

นี่มารแสดงออก นี่ที่ว่าพญามารๆ อยู่ที่นี่ไง เรือนยอดของมาร แล้วนี่วิชชาย้อนกลับทวนกระแสเข้าไป ทวนกระแสกลับไปทำลายปัจจยาการนี้ทั้งหมด ถ้าทำลายปัจจยาการนี้ทั้งหมด มันไม่มีสถานที่ตั้ง สิ่งนี้ที่ว่าเกิดตายมันเกิดตายตรงนี้ ปฏิสนธิจิต จิตไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นสัตว์ต่างๆ ตัวนี้เป็นตัวเกิด แต่ไม่มีใครรู้ แต่เวลาปัญญาเข้าไปทำลายตรงนี้แล้วมันจะไปเกิดที่ไหน? ตายที่ไหนล่ะ?

ความเกิด ความตาย เห็นไหม ดุ้นไฟ สละดุ้นไฟทั้งหมด สิ่งที่เราแสวงหากัน แสวงหาดุ้นไฟ แม้แต่ความดี การศึกษาก็เหมือนกัน เพราะเรากลัวผิดพลาด กลัวทุกอย่างไปหมดเลย สิ่งนี้เราแสวงหาของเราเข้าไป แสวงหาเข้าไป มันเป็นสัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวธรรม เพราะอนัตตา อนัตตาคือการที่มันทำลายกัน ดูสิเวลาเราทานข้าว เรากินข้าวไปเราต้องเคี้ยวไหม? ขณะเราเคี้ยว เรากลืนข้าวไปในลำคอ ขณะที่เคี้ยวอาหารนั่นแหละ นี่ขณะที่ธรรมะที่มันกำลังเป็นอนัตตา เป็นการกระทำของเขา กิจจญาณเกิดขึ้น กลืนลงไปจนถึงกระเพาะอิ่ม

นี่ก็เหมือนกัน อันนี้เวลาปัญญามันเกิดมันหมุนเข้าไป นี่มันเข้าไปทำลายปัจจยาการตรงนั้น มันไปทำลาย เห็นไหม สัพเพ ธัมมา อนัตตาถึงต้องสละหมด ถึงที่สุดแล้วเราถ่อแพมา เรามารถ มาเรือ เราจะเข้าบ้านเข้าเรือนเรา เราต้องทิ้งรถนะ นี่รถหรือพาหนะ สัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวธรรมเป็นเครื่องดำเนิน เป็นเครื่องดำเนินที่เราจะเข้าไปถึงเป้าหมาย เป้าหมายคือผลของเขา ผลของธรรมอันนั้นที่จะได้ ถ้าเป็นสมถะ เป้าหมายคือความสงบ ถ้าเป็นตทังคปหาน ผลก็คือการปล่อยวางชั่วคราว ถ้าสมุจเฉทปหาน ผลคือมรรคสามัคคีรวมกัน ขาดหนเดียว

การประพฤติปฏิบัติขณะขาดแต่ละขั้นตอน หนเดียวเท่านั้น เพราะการขาดแล้วจะไม่มีการซ้ำสอง แต่ถ้ายังไม่ขาดอยู่ มันขาดไม่ได้ มันไม่ได้ขาด แต่อุปาทานมันบอกว่าขาด ถ้าบอกว่าขาด สิ่งนี้สภาวะต้องซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ถ้าขาดแล้วจะไม่มีอะไรเหลืออีกเลย แล้วจะจับต้องสิ่งนี้อีกไม่ได้เพราะมันขาดไปแล้ว แต่ถ้ามันยังจับต้องได้ ยังมีความรู้สึกอยู่มันไม่ขาด มันเป็นตทังคปหาน ขณะที่วิปัสสนาไปจะมีหนเดียวเท่านั้นที่ขาด เราบอกหนเดียวที่ขาด เราต้องต่อไป เสริมขึ้นไป เสริมขึ้นไป จนถึงที่สุดดุ้นไฟ ถึงที่สุดจะไปเห็นดุ้นไฟนะ

การสละดุ้นไฟ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดธรรมะไว้นี่ซึ้งใจมาก เพียงแต่คนที่ไปรู้เงาก็อย่างหนึ่ง การศึกษานี่รู้เงา การที่ประพฤติปฏิบัติเดินตาม แต่ไม่ถึงเป้าหมายก็อย่างหนึ่ง การที่ถึงเป้าหมายแล้วอย่างหนึ่ง เพราะอะไร? เพราะสิ่งนี้ครูบาอาจารย์ท่านบอกไว้เลยนะ เราว่าเรามีปัญญามาก เรามีการศึกษามาก เราปฏิบัติได้มาก มันมหัศจรรย์มากๆ ไม่ได้ขี้กระพี้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธวิสัยนี้กว้างขวางมาก เราว่าสุดลึกซึ้ง ความซึ้งใจขนาดไหนไม่ได้ขี้กระพี้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรอก

ฉะนั้น ธรรมสภาวะแบบนี้มันถึงกว้างขวางมาก ใบไม้ในกำมือกับใบไม้ในป่า นี่เราปฏิบัติไป สิ่งนั้นเป็นสภาวธรรม ธรรมะถึงเหนือธรรมชาติตรงนี้ไง เขาว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ ก็ยอมรับส่วนนี้เป็นเรื่องโลกๆ เรื่องสภาวะธรรมชาติ แต่จริงๆ แล้วเป็นธรรมชาติ เราก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่งนะ การเกิดและการตายของมนุษย์เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง โลกนี้มันหมุนไปธรรมชาติอันหนึ่ง เราเป็นจักรกลอันหนึ่งของธรรมชาติ เพราะอะไร? ดูสิดูนก เห็นไหม มันไปกินเกสรต่างๆ มันผสมพันธุ์ เกสรดอกไม้ผสมพันธุ์จากนกที่มันกิน มันถ่ายของมัน

มนุษย์ก็เหมือนกัน เราเข้าไปทำวิจัย เราเข้าไปทำการต่างๆ ในโลกนี้เราก็เป็นจักรกลตัวหนึ่งของธรรมชาติ ถ้าอย่างนั้นแล้วมันก็เป็นธรรมะอยู่แล้วไง ถ้าว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ เรานี่เป็นธรรมชาติอยู่แล้ว เราเป็นธรรมะอยู่แล้ว แล้วทุกข์ไหม? ทุกข์น่าดูเลย แต่ถ้าสภาวธรรมเราเกิดขึ้นมา สิ่งนี้เรารู้เราเห็นเรื่องของธรรมชาติ แล้วจะไม่อยู่กับมันอีกแล้ว ธรรมชาตินี่ขอให้ธรรมชาติมันเป็นไป มันเป็นสสารแปรปรวนเป็นธรรมดาของมัน เป็นอนิจจัง แต่ธรรมะในหัวใจ อกุปปธรรมมันไม่แปรปรวนไปกับเขา มันคงที่ๆ มันเหนือธรรมชาติไง ธรรมะจริงๆ ต้องเหนือธรรมชาติ เอวัง