เทศน์บนศาลา

เทศน์อบรมในพรรษา

๑๓ ส.ค. ๒๕๓๙

 

เทศน์อบรมในพรรษา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๓๙
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ทุกคนปรารถนาความสุข หันไปทางไหนก็มีแต่ความทุกข์ ว่าศาสนธรรมๆ ว่าอยากจะมาพึ่งศาสนธรรม

ธรรม ธรรมแท้ๆ ธรรมแท้มันอาศัยอยู่ในสมมุติ ของดีๆ มันก็อาศัยของที่ไม่ดีบังไว้ไง ของจริง ของที่ไม่มีเลยนี่อาศัยสิ่งที่มีอยู่ หลบอยู่ข้างล่าง ทองคำกว่าเขาจะขุดกันขึ้นมา มันอยู่ในเหมือง อยู่ใต้ดินนู่นน่ะ เขาถึงพยายามขุดขึ้นมาแล้วก็จะเอามาหลอม

ทองคำนะ ทองคำแท้ๆ ทำใจให้เป็นทองนะ ธรรมแท้ๆ อยู่ที่ใจ ธรรมน่ะ เราไปตื่นแต่ทองข้างนอกกัน ตื่นทองไง เห็นทองก็ว่าเป็นของดี ทองมันให้ประโยชน์แล้วก็ให้โทษด้วยนะ ของมันเป็นกลาง เราใส่กับตัวไว้ ออกไปข้างนอกเขาก็จี้ปล้นเอา เวลามันให้โทษขึ้นมาน่ะ เวลาเราขัดสนขึ้นมา ทองมันก็ให้ประโยชน์เรา แต่ถ้าเป็นทองอยู่ในหัวใจ เป็นบุญล้วนๆ เลย เป็นความดีล้วนๆ เป็นความสุขภายในล้วนๆ ข้างนอกมันจะมีสุขมีทุกข์บ้าง จะขาดเขินบ้าง ถ้าหัวใจเป็นทองแล้วนะ มันอยู่ได้

ก็อย่างที่ว่า โลกนี้จะแตกสลายไป หัวใจนั้นมันก็ยังอยู่ได้ สบายๆ นะ ให้ผลเป็นบวกหมดเลย ไม่มีลบแม้แต่นิดเดียว แต่มันยังอาศัยโลกนั้นอยู่น่ะ ธรรมแท้ๆ ธรรมที่ใจไง ทำใจเราให้เป็นทอง แล้วทองข้างนอกจะไม่มีความหมายเลย ทำใจเราให้เป็นทอง อยู่ที่การกระทำนะ นี่ถ้าทำได้จริง เรามั่นใจจริง เราไม่ทำเล่น ทำเล่นก็ได้ผลเล่น

หัวใจมันแปลกมาก ลองปักลงไปตรงไหนสิ ปักลงไป เชื่อมั่นแล้วจริงจัง ว่าใจเด็ดใจเพชรแล้วจะได้ผล มันหลอกตัวเอง เริ่มต้นก็หลอกตัวเอง ก็เหมือนกับทองคำมันมีอยู่ที่ใจ เห็นไหม แล้วมันอยู่ในดิน ใต้ดิน ถ้าไม่ขุดขึ้นมา มันมีอะไรบังอยู่บ้างล่ะ

มันเองมันก็คลุกอยู่ในดิน คลุกอยู่ในแร่ธาตุต่างๆ กว่าจะขุดขึ้นมาได้ กว่าจะทำได้ ไอ้นี่ความรู้สึกที่ว่ามันเป็นความจริง ความอริยสัจ มันก็อยู่ที่ใจ แต่กิเลสตัณหา ความที่มันบังไว้ ความมักง่าย ความพ่ายแพ้ ว่าอย่างนั้นเลยนะ

ความแพ้ของใจ ใจมันแพ้มาตลอด ความคิดอะไรที่มันคิดขึ้นมา มันชนะมาตลอดเลย มันก็เหมือนกับดินบังไว้นั่นน่ะ เราต้องหลอมไง หลอมใจขึ้นมาให้เป็นทองไง หลอมใจขึ้นมามันก็ต้องชำระสิ่งนั้นออกไป สิ่งที่มันฝังอยู่ที่ใจนั่นน่ะ แล้วถ้าใจมันไม่มั่นคง มันก็ทำไม่ได้ใช่ไหม เริ่มต้นก็ล้ม เริ่มต้นก็ล้ม เริ่มต้นกัดฟัน เพราะสิ่งที่เริ่มต้นมันเป็นเหมือนสิ่งที่แบกภูเขา

หัวใจเดิมแท้ หัวใจความคิดดั้งเดิมมันชนะเรามาตลอด มันมีเราคิดไงเพราะว่าเราคิด เราทำนี่เราถูกต้องหมดเลย ทั้งที่มันคิดผิด เราก็ว่าเราถูก พอเราปักใจเชื่อธรรมะของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกว่า ให้งดเว้นในการทำความไม่ดี เราก็คิดการกระทำของเราบางอย่าง ก็ดีและไม่ดีปนกัน แต่ส่วนใหญ่มันจะคิดไม่ดี แล้วก็ว่าทำได้ จะไม่มีใครเห็น ทำได้ ทำเลย

พอบอกว่า เอาศีลเอาธรรมขึ้นมา เอาเข้ามาขัดเกลาไง มันก็จะมาต่อต้าน พอเริ่มต่อต้าน...ไม่เคยทำเลย เพียงแต่ว่าธรรมของพระพุทธเจ้าเอาเข้ามาต่อต้าน เห็นไหม ทำไม มันจะสู้อะไรไหวเพราะมันเป็นของข้างนอก จะว่าหนึ่งในสี่ หนึ่งในห้า หนึ่งในร้อย หนึ่งในพัน ก็ไม่ได้นะ มันไม่มีเลยในใจเรา แล้วจะเอาเข้ามาในหัวใจ มาต่อสู้ มันถึงว่ามันแทบจะเป็นไปไม่ได้ ถ้าคิดตามหลักแล้วแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย แต่ไอ้ความคิดปรารถนาของคนไง ความวาสนาบารมีว่าอยากปรารถนาความสุข มันก็เลยจะดึงเข้ามาไง

เชื่อ...คนตาบอดต้องเชื่อคนตาดี เราว่ามรรคผลไม่มี นรกสวรรค์ไม่มี พระพุทธเจ้าว่ามี เราเชื่อพระพุทธเจ้า เชื่อคนตาดีก่อนไง พอเชื่อคนตาดี ความเชื่อมั่น คือความปักใจแล้ว ความเชื่อ ความเลื่อมใส ความจริงจังเกิดขึ้น แล้วก็ขวนขวายต่อสู้ ขวนขวายนะ ขวนขวายขึ้นมา เกิดขึ้นมาจากภายใน

เช่น นักสมาธิ เริ่มต้นมันก็เป็นแบบแบกภูเขาเลย พวกนี้ทำอย่างไร หลับตาลงไปแล้วมีแต่ความคิด ตามตำราเขาว่าอยู่ว่า ความสงบมันตรงข้ามกับความฟุ้งซ่าน แต่ความฟุ้งซ่านนี้ทำไมมันมากนักล่ะ ความคิดใฝ่ดี เริ่มต้นก็ใฝ่ดีอยู่ นี่เขาเรียกกิเลสมันปล่อยให้หายใจไง ถ้าคิดทางดีนะมันก็ปล่อยให้หายใจนิดหนึ่ง พอเริ่มทำมันก็หลอกมาแล้ว แม้แต่นั่งสมาธิอยู่ ตั้งใจมาทำความดีนะ มันก็ยุแหย่อยู่ข้างในนั่นน่ะ เดี๋ยวเมื่อนั้นเดี๋ยวเมื่อนี้ เห็นไหม เดี๋ยวพักก่อน เดี๋ยวค่อยทำ นี่มันเริ่มนะ มันเริ่มแหย่เฉยๆ นะ

พอเสนามาร ลูก หลาน เหลนของมาร มันยังไม่ได้ขยับเลย ถึงบอก โอ๋ย! มันนอนเนื่องมาในใจ ถึงว่า ทองคำนี้มันซุกอยู่ข้างล่างน่ะ แต่สามารถทำได้ด้วยตบะ ตบะธรรมไง ตบะคือความฝืน ไฟเผาเข้าไป ไฟคือตบะธรรม

ไม้เปียก ไม้ชื้น ใส่ไฟมันไม่ติด พระพุทธเจ้าสอนให้ตัดไม้แล้วตากให้แห้ง ไม้แห้งไง คนถือศีลก็เหมือนไม้แห้ง เห็นไหม ไม่ถือศีลเลยก็เหมือนชุ่มอยู่ในกาม ทำได้ตามความใจชอบ พอมันตายยืนต้นหรือเขาล้มลงแล้วเราตัดขึ้นมา นี่ก็เหมือนกัน ชีวิตความเป็นอยู่ของเราก็ครบวงจร วันหนึ่งใช้ทำอะไรบ้าง ประกอบอาชีพต่างๆ ถึงวันพระ วันศีล หยุดมาก็ผลักออกมาๆ ผลักใจ ผลักกายออกมาให้แห้งไง ศีลบังคับไม่ให้ทำตามใจตัว อดข้าวมื้อเย็น เห็นไหม เริ่มทำให้แห้ง ไม้แห้งใส่ไฟมันจะติด นี่ตบะธรรมมันเผา ไม้แห้งจุดไฟมันก็ติดง่าย ไม้ดิบ ไม้ชื้นจุดไฟติดยากนะ หัวใจเรามีศีลพอสมควรไหม ถ้าหัวใจได้ระวังมา มันก็ไม้แห้งไง หัวใจได้ระวังมา

“มโนกรรม กายกรรม วจีกรรม” มโนกรรม ความคิดของใจ ลองดึงไว้สิ ดึงให้หยุดให้ได้

พองานภายนอก พอเราว่าหนัก หนักมากนะ คนไม่เข้าใจเรื่องธรรม เห็นคนทำงานแบกหามก็ว่างานหนักมาก แต่ลองมาดูหัวใจมันทำงานสิ มันเครียดขนาดที่ว่าทำให้เราเสียคนไปเลยนะ มันไสให้เป็น ๒ ชั้น ทำให้เราเป็นขี้ข้ามันชั้นหนึ่ง แล้วยังไปวิตกวิจารณ์จนเครียด จนทำให้เสียสติไปอีกชั้นหนึ่ง แล้วเวลามันเสียสติไปแล้ว ก็เรานี่เป็นคนรับรู้ คนมีสติเสียไปมันก็มีจิตอยู่เพราะมันไม่ตาย นี่มันให้ผลร้ายขนาดนั้น ให้เราทุกข์ยากอย่างหนึ่ง เราทุกข์ยากแล้วนะ แถมยังทำให้แบบว่าประคองตัวเองไม่ได้ คือสติเสียไปเลย ไม่เป็นคนสมบูรณ์ แต่มันไม่ตาย มันให้ผลลบถึง ๒ ชั้น ๓ ชั้นน่ะ กิเลสเรามันทำอย่างนั้นล่ะ เราสงบมัน เราสงบกิเลสเรา เราก็มีความสุข

ไฟนี่มันไหม้อยู่ทั้งวันน่ะ ดับไม่ได้ ดับไฟเมื่อไหร่ก็เย็นเมื่อนั้น ไฟดับลงชั่วคราว หัวใจก็ร่มเย็นชั่วคราว ไฟไม่เคยดับเลย ดับไม่เป็น ดับไฟก็เอาน้ำธรรมไปดับ น้ำของธรรม น้ำของศีลไง นี่ขันติธรรม ขันติความอดทน มันจะไหม้มาเราก็ฝืนไว้ๆ ถ้าฝืนไม่ไหวก็ไม่คิดเลย นี่จะดับไฟชั่วคราว นี่ดับไฟชั่วคราวนะ แล้วเราชักฟืนออกเรื่อยๆ หมายถึงพยายามไม่คิด ความคิดนี้มันให้โทษ รู้อยู่ ความคิดให้โทษ ไม่คิดมัน ชักฟืนออกๆ มันจะคิด บอก “อันนี้คิดแล้ว เบื่อ” ชักฟืนออกท่อนหนึ่ง เคยคิดแล้ว ความคิดนี้เราคิดแล้วมันจะมีอารมณ์รุนแรงทุกที ไม่คิด ถ้าสติทันนะ เราก็ชักฟืนออกท่อนหนึ่ง ถ้าไม่ทันก็เท่ากับเพิ่มฟืนเข้าไปอีก ๒-๓ ท่อน ไม่ทันก็คิดไปจบรอบแล้วไง นั่นใส่ฟืนเข้าไปๆ

พอชักฟืนออกๆ จากยับยั้งไม่ให้ไฟลุกนะ พอชักฟืนออกจนฟืนไม่มี ไฟมันจะมอดลง พอไฟมอดลง นั่นมันดับแท้ นั่นคือสมาธิธรรม ใจสงบไง พอใจมันสงบก็เหมือนกับไฟดับชั่วคราว ไฟดับเลยล่ะ ไฟดับก็เหมือนกับใจมันพักได้ชั่วคราว นี่! นั่นเจอทองแล้วนะ นั่นเจอทอง ทองอยู่ที่ใจนั่นน่ะ แต่ทองนี้เอาขึ้นมามันยังไม่ได้หลอม มันก็มีสิ่งสกปรกเต็มไปหมดเห็นไหม แต่ก็ยังเจอ ยังเจอแร่ทองคำ

ธาตุ ๔ ธาตุ ๖ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศธาตุ กับธาตุรู้ ธาตุทั้ง ๖ คลุกอยู่รวมกันต้องหลอม หลอมให้ธาตุรู้เป็นธาตุรู้ อากาศเป็นอากาศ ลมเป็นลม ดินเป็นดิน ไฟเป็นไฟ น้ำเป็นน้ำ เห็นไหม แยกสิ แยกด้วยวิปัสสนาไง สิ่งใดเป็นน้ำ ดูสิ เหงื่อไง เลือด น้ำ นี่หลอม จะหลอมทอง ทำใจให้เป็นทองแท้ กำหนดกายดู ถ้าจิตมันสงบนะ กำหนดกายดู ถึงไม่สงบก็ดูกายนอก กายในไง ดูความแปรสภาพไป

มีน้ำจริงๆ ไหม? มี เวลาเหงื่อออก เหงื่อไหลไคลย้อย น้ำกลั่นออกมาจากข้างในเลย เวลาปัสสาวะ นั่นน้ำไหม แล้วดิน เราตัดผมสิแล้วไปฝังไว้ในดินมันจะแปรไปเป็นดินไหม ศพเขาฝังไว้ก็เป็นดิน สิ่งที่คมแข็งนี่เป็นดินหมด มันแปรสภาพเป็นดิน ไฟคือไออุ่น ลมหายใจเข้าออกไง อากาศธาตุ อากาศ ในโพรงกระดูกไง แล้วธาตุรู้มันอยู่ที่ไหน ธาตุรู้น่ะ แต่นี่มันไม่อย่างนั้นน่ะสิ มันรู้ทั้งตัว เพราะมันแบ่งไม่ได้

ธาตุรู้นี้เป็นผู้มาดูดิน น้ำ ลม ไฟ มาดูกายไง กายจะไม่แปรสภาพ มันหลอมไม่ได้ เพราะเตา ทั้งเตาเอย ทั้งภาชนะเอย มันต้องหาขึ้นมานะ เตาภายใน อย่าไปเตาภายนอก เผาลงที่กายนี่ เตาก็ได้ทั้งตัวเรานี่ เตา ส่งออกน่ะไฟแลบออกข้างนอกแล้ว ต้มน้ำไม่เดือดเพราะไฟมันไม่จดจ่อที่ก้นหม้อ

อันนี้ก็เหมือนกัน จิตเวลาเพ่งมันไม่เพ่งลงที่กายนี้หรอก มันส่งออกหมดล่ะ คิดแต่ไปเรื่องอื่น มองแต่เรื่องอื่น ไม่มองลงที่นี่ ไม่อยู่ในเตาไง กำหนดเตาได้ไหม ขอบเขตของเตา ขอบเขตของกายเรา ของเขตของผิวหนังนี่ หลับตาแล้วนึกดูสิ ส่วนใดส่วนหนึ่ง ไฟเผาเข้าไป เผาลงส่วนที่เราคิดขึ้นมานั่นน่ะ ใจมันจ่อ จะเป็นเนื้ออะไรก็ได้ หัวกะโหลกก็ได้ เผาเข้าไปเลย นั้นล่ะเตา นึกขึ้นมานั่นน่ะคือการเผานะ ตบะธรรม

การเผา หัวกะโหลก ดูสิ ตาโบ๋ แล้วมันอยู่ที่ไหน? มันอยู่บนหัวเรานั่นน่ะ หัวของเรานี่นะแปรสภาพแล้วเป็นอย่างนั้น แต่นี่มันยังไม่แปรสภาพ อาศัยเอาไว้ชั่วคราวเท่านั้นเอง คือว่าหัวใจนี้มันโง่ หัวใจพวกเรานี่โง่นะ ไม่เข้าใจตามหลักความเป็นจริง มันเหมือนขี้ข้าให้เขาหลอกใช้ไง เกิดมาด้วยกรรม

คนเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นคน ทำกรรมพอสมควร ทำกรรมดีนะ ถือมีศีลมีสัตย์ ถึงได้เกิดเป็นมนุษย์ แล้วก็หลงระเริงกัน ใช้ชีวิตมนุษย์นี้ให้มันหมดไป ๑ ภพ ๑ ชาติ พอประสบความสำเร็จทางโลก เห็นไหม เป็นขี้ข้า แต่ไม่ได้เปิดตาใจ ตาธรรม

เกิดเป็นมนุษย์แล้วก็ตายไป ทำความดีก็ไปเกิดบนสวรรค์ ทำความดีพอสมควรก็ได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ทำความชั่วก็ไปเกิดในนรกในอบาย เป็นสัตว์เป็นเปรตเป็นผีไป วัฏฏะมันก็วนไปอย่างนั้นน่ะ

ฉะนั้น ถ้าเราเกิดเป็นมนุษย์แล้ว เรามีสมบัติพร้อม มีกายกับใจ แล้วมาเกิด วิธีการไง เทคนิคการทำให้ใจนี้พ้นจากวัฏฏะคือว่า ไม่ต้องหมุนไปตามธรรมชาติ ฝืนไง ออกจากวัฏฏะ ออกจากกระแส การออกจากระแสต้องทำให้ใจนี้ฉลาด หัวใจของบุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ต้องให้หัวใจบุคคลนั้นเป็นผู้พาออกกระแสเอง วิธีการพระพุทธเจ้าสอนไว้ แต่วิธีการก็คือวิธีการ

คำว่า ”ทองข้างนอก” เห็นไหม ท.ทหาร อ.อ่าง ง.งู...“ทอง” นี่วิธีการ

สัจธรรม อริยสัจจะ พระพุทธเจ้ากำหนดแล้ว “ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค” มรรคคือวิธีการ เห็นไหม มันก็เหมือน ท-อ-ง “ทอง” เราก็ว่าทอง เขียนกันแล้วก็ให้เด็กอ่าน แล้วก็ให้ผู้ใหญ่อ่าน แม่สอนลูก เห็นไหม ลูก ทองเป็นอย่างนี้นะ ทอง อ๋อ! ทองเป็นอย่างนี้เหรอ ชื่อว่า “ทอง” นะ แล้วก็ที่อยู่ในคอลูกเรียกว่าทอง เห็นไหม สอนเด็กโง่ๆ ให้รู้จักชื่อทองก่อน แล้วก็เห็นตัวทองข้างนอก

แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น พระพุทธเจ้าสอนทองที่หัวใจ ทองแท้ ทองคำแท้ ธรรมะแท้อยู่ที่ใจ ใจผู้ที่ฉลาด ผู้ที่ฉลาดก็ผู้ที่เอาใจออกจากวัฏฏะไง นั่นคือทองแท้ ทองที่มันไม่บุบสลาย ทองที่ฝังที่ใจ เกิดจะมีทองแท้ก็ใช้วิธีการนี้ไง วิธีการที่พิจารณานี่ วิธีการพิจารณาดูกาย สอนใจให้ฉลาดไง ใจฉลาดแล้วมันเห็นทอง แล้วหลับตาสิ หลับตาก็เห็นทองที่ใจ เห็นไหม ภาพของตา เพ่งกสิณ เป็นทองๆๆ ก็ทองที่ใจ อันนั้นเป็นทองธรรมดานะ แต่วิธีการทำทอง ทำทองเข้าไปใจ วิธีการทำ ก็การวิปัสสนาไง

ใจโง่ๆ ใจที่ไม่เข้าใจ เพราะมันติดสมมุติมา ภพชาติผ่านมามาก มันก็ยึดสมบัติ ยึดกายนี่ ปรารถนานะ กาย กลัวจะเป็น กลัวจะตาย กลัวจะเจ็บ กลัวจะปวด กลัวเราจะไม่ประเสริฐเลอเลิศ ถนอมในสิ่งที่มันบูดเน่า ถนอมในสิ่งที่มันจะพัง ถนอมในสิ่งที่มันเป็นไปไม่ได้ มันนอกจากความคิดยับยั้งไว้ของเรา มันต้องแปรสภาพตามความเป็นจริงตามกฎของอนิจจัง

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับไปเป็นธรรมดา”

สิ่งนั้นไม่มีการฝืนโลก มันไม่มีสิ่งใดๆ อยู่ค้ำฟ้า ไม่มีสิ่งใดๆ เลยจะคงที่ ไม่มี แต่หัวใจมันโง่ มันก็พยายามจะดึงให้คงที่ไง มันโง่แล้วไม่พอนะ มันจะดึงให้ร่างกายนี้ไม่แปรสภาพอีกด้วย กลัวเป็น กลัวตาย กลัวการแปรสภาพ ตัวมันเองก็แปรสภาพ กายก็แปรสภาพ แต่มันก็ฝืนกระแสเพราะความโง่ของมัน มันจะเอาอะไรไปสอนมันให้มันเห็นตามความเป็นจริงล่ะ มองข้างนอกมองแล้วก็ยิ่งมองก็ยิ่งโง่

มองกายนอกให้มันไม่สวย มันก็สวย ยิ่งมองมันยิ่งสวย กายเราก็สวย กายเขาก็สวย ถึงไม่สวยก็จะทำให้สวย ไม่สวยก็จะตบแต่งให้มันสวย เอาสิ่งใดๆ มาปรนเปรอมันไง ชำระล้างมัน น้ำหอมพรมเข้าไปจะให้มันสวย มันสวยได้ไหม น้ำหอมกลิ่นที่ถูกใจมันก็ว่าหอม กลิ่นที่ไม่ถูกใจมันกลับจะเหม็นอีกด้วย เนื้อก็เหม็น เอาของเหม็นโปะเข้าไปมันก็หอมมันก็เหม็น ถึงเวลาแล้วมันต้องเหม็น แต่ก็อยากให้มันหอม เห็นไหม นี่โง่ชั้นหนึ่งแล้วนะ แล้วเมื่อแปรสภาพแล้วก็ยังไม่เชื่อ ถึงต้องทำใจให้มันสงบ ให้เห็นตามความเป็นจริง แล้วก็เพ่งพินิจดู

ถ้าจิตมันสงบนะ แล้วทำตามพระพุทธเจ้าสอน จิตมันสงบแล้วมันจะเห็นความเป็นไป ถ้าไม่มันเห็นความเป็นไป จิตหนึ่งไง จิตนี้ตั้งมั่น พอจิตนี้สงบ จิตนี้เป็นสมาธิ จิตนี้ได้เคลื่อนไหว สิ่งที่การเคลื่อนไหวมันเข้ากับสิ่งที่เคลื่อนไหว น้ำอยู่กับน้ำ ดินอยู่กับดิน ลมอยู่กับลม ไฟอยู่กับไฟ ใจอยู่กับใจ การเคลื่อนไป กาลเวลาอยู่กับกาลเวลา จิตนี้หมุนไปตามวัฏวน มันก็วนไปอยู่อย่างนั้นน่ะ

ความเคลื่อนไป การเคลื่อนไปมันมองไม่เห็นหรอก พอหยุดอยู่ ภาพจะชัดขึ้น ความหยุดอยู่ จิตหยุดอยู่ จิตเป็นหนึ่ง จิตเป็นสมาธิ จิตมีการตั้งมั่น จิตมีการเพ่งพินิจ มันต้องเห็นสิ กายต้องเห็น เห็นตามความเป็นจริงด้วย เพราะว่าจิตนี้ตั้งมั่น จะเห็นกายตามความเป็นจริง ไม่ใช่เห็นกายตามความสมมุติ

ปกติของมนุษย์จะเห็นกายตามความสมมุติ ความสมมุตินะ เพราะเราสมมุติว่ากาย เห็นไหม สมมุติ หนึ่ง คือเราสมมุติแล้ว สอง สมมุติคือว่า มันเป็นตามสภาพเท่านั้น เราไม่รู้ แต่ถ้าเห็นตามความเป็นจริง จิตนี้ตั้งอยู่ เห็นกายใน เห็นตามความเป็นจริง มันไม่มีกาลเวลา เห็นปั๊บ มันจะมีสภาพเคลื่อน ไม่มีกาลเวลา จับได้นะ จิตเราไม่เคลื่อน จิตเราจับอยู่ มันก็เป็นการจดจ่อ จดจ่อเราก็ให้มันแปรสภาพไง แปรสภาพแบบรื้อถอนกับแปรสภาพตามความเป็นจริงต่างกัน

ตามความเป็นจริง ธรรมดามันเคลื่อนไป มันแปรสภาพโดยอัตโนมัติ มันตายสูญ ตายแล้วตายเล่า เซลล์ในร่างกายนี้ตายตลอดแล้วก็สร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมา เห็นไหม อันนั้นมันตามธรรมชาติ แต่นี่มันเหนือธรรม เหนือธรรมเพราะจิตนี้เหนือธรรม จิตนี้ตั้งมั่น ธรรมชาติของจิตคือต้องเคลื่อนไป แต่จิตนี้ตั้งอยู่แล้วมันเหนือธรรมแล้ว เหนือธรรมส่วนหนึ่ง แล้วกายที่เห็นกายภายในก็เหนือธรรมชาติ มันน้อมใจไป มันรำพึงไป มันจะเคลื่อน...ไหวทันที ไหวให้จิตนี้เห็นไง

พอจิตนี้เห็น โอ้โฮ! มันฉลาดนะ มันจะตื่นเต้น มันจะเข้าใจตามความเป็นจริง โอ๋ย! กายที่มันแปรสภาพแบบพระพุทธเจ้าสอนมันเป็นอย่างนี้หนอ มันไม่ใช่อยู่ในอำนาจของเราจริงๆ มันจะสลดสังเวชมากนะ มันจะฉลาดขึ้นไง

เห็นไหม การฝึกให้ฉลาดต้องฝึกด้วยตัวเอง เห็นปัจจุบันธรรม เป็นปัจจุบันธรรม เป็นปัจจุบันจิต จิตเดียว จิตหนึ่งเดียว เห็นขณะเดียว เห็นขณะจิตที่มันแปรสภาพโดยตามความเป็นจริง ไม่ใช่แปรสภาพตามความเป็นธรรมชาติ แปรธรรมชาติตามธรรมชาติ ใครๆ ก็เห็น ใครๆ ก็รู้ ใครๆ ก็พูด แต่ก็โง่ ก็พูดสักแต่ว่าพูดนี่ ไม่ได้พูดให้หัวใจนี้ออกไปนี่

แต่พระพุทธเจ้าสอนให้ออก ให้เห็นตามความเป็นจริง แล้วเห็นออกจากวัฏฏะ ถ้าเห็นใหม่ๆ นี้ เห็นตามความเป็นจริง เพราะจิตนี้หนาแน่นไปด้วยกิเลส เห็นครั้งแรกๆ มันไม่หลุด ยกเว้นแต่ขิปปาภิญญา เห็นแล้วจะหลุด ผลัวะ! ผลัวะ! เลย

แต่สัตว์ผู้มีกิเลสหนาอย่างพวกเรา เห็นแล้ว มันจะเห็นตามความเป็นจริงแล้วจะสลดสังเวช มันจะปล่อย ปล่อยเลยนะ จิตนี้รวมลง จิตนี้ปล่อยออกไป เหมือนกับเราโยนก้อนหินลงไปในน้ำนั่นน่ะ จ๋อม! หายไปเลยน่ะ จิตนี้เหมือนกัน พอมันเข้าใจ มันสลด โอ้! เราโง่มาขนาดไหนเนาะ มันปล่อย ผลัวะ! เย็น สุขมาก

สุขที่อะไร? สุขที่มันฉลาดขึ้นไง สุขที่มันหายโง่ไปชั่วคราวไง มันหายโง่นะ นี้มันเข้าใจแล้ว มันเพียงแต่ว่ามันไม่ขาดออกจากใจ

คำว่า “เข้าใจ” กับ “ขาด” ต่างกัน เข้าใจนี้มันก็ปล่อย สักแต่ว่าเนาะ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต มันจะเข้าใจไปอย่างนั้นนะ แต่ถ้ามันเข้าใจอย่างนั้นแล้ว เราก็ศึกษาธรรมะด้วยใช่ไหม คำสอนพระพุทธเจ้าบอกพิจารณากายซ้ำไปอีก ซ้ำไปๆ เพื่ออะไร? เพื่อให้เป็นตามที่ในธัมมจักฯ ที่พระพุทธเจ้าสอน ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ...เราเห็นแล้ว แต่มันยังไม่เข้าใจถึงโดยรอบไง กิจนี้ควรกำหนด เรากำหนดแล้ว กิจนี้ควรชำระ เราชำระแล้ว แต่มันยังไม่ขาด

กำหนดจิตแล้วพิจารณาอีก พิจารณากายซ้ำนั้นนะ พิจารณาทองที่เราว่าที่มันยังสกปรกนั่นล่ะ พิจารณาสิ พิจารณาซ้ำนะ งานอันเอก งานของเอกบุรุษ เอกสตรีไง เอกนะ งานอันเอกเลย เพราะงานอันนี้ทำแล้วมันจบ ทำแล้วมันสิ้น ไม่ใช่งานอย่างโลกเขา งานอย่างโลกเขาไม่มีวันจบ ไม่มีวันสิ้น จะงานใดๆ ก็แล้วแต่ ทำไปแล้วมันวนไปไง วนไปเพราะสิ่งนี้มันชำรุด ทุกอย่าง งานในโลกมันมีการชำรุด มีการเกิดขึ้น มีการตั้งอยู่ แล้วมีการดับไป

งานใดๆ ก็แล้วแต่ งานสร้างภพสร้างชาติ จะสร้างครอบครัว จะสร้างอะไรก็แล้วแต่ มันก็หมุนไปอย่างนั้นน่ะ สร้างแล้วยังต้องกลับมาสร้างซ้ำอีกนะ สร้างซ้ำอีกๆๆ เพราะชอบใจไง ชอบใจในการประสบความสำเร็จ ชอบใจให้รางวัลกัน เพื่อยึดเพื่อถือ แต่เราไม่เคยให้รางวัลใจเลย เราให้รางวัลเองนะ เราต้องทำเอง ให้รางวัลเอง เป็นปัจจัตตัง รู้จำเพาะตนเอง นั่นงานภายใน งานอันเอก งานอันประเสริฐ งานของพระพุทธเจ้า งานทางศาสนา งานของผู้จะรื้อภพรื้อชาติ ชาติของใจ รื้อภพรื้อชาติไง รื้อให้มันสั้น กำลังใจมันก็เกิด เพราะมันได้เทียบไง งานข้างนอกเราก็ทำมหาศาลเลย แล้วเคยมีความสุขขนาดนี้ไหม

ขณะจิตที่มันปล่อยนี่ ขณะจิตที่มันหลุดออกไปชั่วคราว มันเวิ้งว้างน่ะ สุขใดๆ จะสุขแบบในศาสนานี้ไม่มี ไม่มีหรอก ธรรมะ รสของธรรม มันประเสริฐเลอเลิศเพราะคนไม่เคยดื่ม คนไม่เคยกิน ใจไม่เคยเสวย พอไม่เคยเสวยมันก็คาดเดาว่า สุขของธรรมมันจะสุขอย่างใดหนอ ทำไปก็ทุกข์ก็ยากอยู่นี่ นั่งมันก็ทุกข์ ฝืนใจก็ทรมาน เห็นไหม เวลาสุข สุขอย่างไร

เดี๋ยวนี้ได้ประสบแล้ว จิตมันได้เสวยแล้ว อ๋อ! ธรรมมันเป็นอย่างนี้เอง นี่มันก็มีแก่ใจ คนมีแก่ใจ คนก็จะขวนขวาย พิจารณาซ้ำ การพิจารณานี้มันต้องมีพื้นฐานไง พื้นฐานคือความสงบของใจเป็นพื้นฐาน ถ้าจิตนี้ไม่มีความสงบเป็นพื้นฐาน การพิจารณานี้จะไม่เกิด การพิจารณากาย พิจารณาแล้วมันก็ไม่เกิด คำว่า ”ไม่เกิด” คือว่า พิจารณา มันพิจารณาหลอกตัวเองไง

ถ้าพิจารณาแล้วมันไม่เป็นไป เห็นไหม ความสุขมี ๒ อย่าง

สุขเกิดจากจิตมันปล่อยวาง จิตสงบสุขอย่างหนึ่ง

สุขเกิดจากการพิจารณาแล้วรู้ตามความเป็นจริง ปล่อยวาง อย่างหนึ่ง

เราอย่าไปโลภมากในการพิจารณาแล้วปล่อยวาง ถ้ามันทำไม่ไหว เราต้องกลับมากำหนดจิตให้มันสงบ กำหนดจิตให้มันมีพื้นฐานไง พื้นฐานเหมือนเรามีกำลัง เรามีกำลังเรายกก้อนหิน ยกอะไรเราก็ยกไหวใช่ไหม ถ้าเราเพลีย เราเมื่อยล้า ยกไม่ขึ้นแล้วก็จะฝืนยก เพราะคนมันงก มันอยากให้งานเสร็จไวๆ คนมักง่าย คนมักง่ายจะได้ยาก คนมักง่ายจะทำงานผลุบผลับ คนมักง่ายทำงานแล้วมันจะไม่ได้ผล เราอย่าให้ใจมักง่าย ให้เดินตามขั้นตอน ให้ใจก้าวเดินไปตามความเป็นจริงของมัน อย่าไปคาด อย่าไปหมาย จะคาด จะหมาย จะเอาผล จะเอาประโยชน์ บ้าไปตามกิเลส เห็นไหม กิเลสมันหลอกในขณะปฏิบัติ

กิเลส คือความเคยใจ มันจะขวางการปฏิบัติตลอด มันจะขวางทุกสิ่งทุกอย่างที่จะพ้นจากเงื้อมมือของมัน ฉะนั้น ถ้าเราตั้งใจทำ เราก็ต้องฝืน การฝืน ฝืน ๒ อย่าง ฝืนความทุกข์ยากอย่างหนึ่ง ฝืนการกระทำของใจที่มันไม่ให้ทำอีกอย่างหนึ่ง ฝืนความทุกข์ความยากที่มันต่อต้านอย่างหนึ่ง กับฝืนไอ้ความเหนี่ยวรั้งของกิเลสนี้ในหัวใจอีกอย่างหนึ่ง

ฉะนั้น เราต้องมาทำความสงบ การฝืน กิเลสมันบังเงา ต่อต้าน จะไม่ให้เราทำ แต่พอเราทำได้ประโยชน์ มันก็จะยุให้เสีย ให้พิจารณา ให้ก้าวเดินไป ให้เราหมุนไป ให้เราหกล้มไง พอเราก้าวไป หกล้มไป ล้มลุกคลุกคลาน พอล้มลุกคลุกคลานมันก็เบื่อในการปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วก็เหนื่อยขนาดนี้ งานก็ไม่ได้สมปรารถนา ถ้าท้อใจ อันท้อใจนั่นแหละเสียท่ากิเลสแล้วนะ เสียท่าไอ้กิเลสที่มันยุแหย่แล้ว

ในการปฏิบัตินี้ ถึงปฏิบัติไปมันก็ยุแหย่ไปตลอด เพราะการเริ่มต้นมันจะเป็นอย่างนั้น เราก็ฝืนนะ เราก็ต้องฝืน เพราะการฝืนนั้นเป็นยอดคน การฝืนคือฝืนกิเลส ไม่ใช่ฝืนเราหรอก เราปรารถนาดี เราต้องการทำความดี เราต้องการให้ใจเราเป็นเอกบุรุษ เราต้องการใจให้เราหลุดพ้น มันต้องให้กำลังใจเราตลอดไป...

...ทุกข์ยากขนาดนั้นนะ เพื่อจะปรารถนาโพธิญาณไง ศาสดาองค์เอกก็ทุกข์มาเป็น...

...เกิดมา ชาติปิ ทุกฺขา ชาติการเกิดนี้เป็นทุกข์ เป็นอริยสัจ ชาตินี่การเกิดเป็นทุกข์ เราเกิดมาท่ามกลางกองทุกข์ แล้วจะไปกลัวทุกข์ทำไม เราเกิดมาท่ามกลางของกองทุกข์ แต่เราเข้าใจว่าสุข แต่หัวใจมันโง่มาตลอดนะ เราเกิดมาท่ามกลางกองทุกข์ แล้วเมื่อมาปฏิบัติมันจะทุกข์ขนาดไหน ให้มันทุกข์ให้ตายให้ดูเถอะน่า

เพราะทุกข์นี้มันจะทำให้เราพ้นทุกข์ไง ทุกข์นี้ ถึงพอใจในจะทุกข์ ถ้ามีความพอใจจะทุกข์ มีความพอใจในการปฏิบัติ กำลังใจมันก็มา ไอ้กิเลสที่มายุแหย่เมื่อกี้นี้มันก็จะน้อยหน้าถอยลงไป ไอ้กิเลสที่มันมายุมาแหย่นั้นแหละว่า “เราวาสนาน้อย เราทำแล้วไม่ไหว หรือทำไปก็ทำแล้วมันทุกข์ขนาดนี้” ก็มาเทียบดู ก็เทียบดูสิ เทียบดูทุกข์เวลาไม่ต้องปฏิบัติ มันก็ทุกข์อยู่แล้ว ผู้ปฏิบัตินำหน้ามาก็ทุกข์เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ทุกๆ องค์มา ทุกข์มาอยู่หน้า ทุกข์มาทั้งนั้นน่ะ แล้วเราจะมาชุบมือเปิบ

ถ้าไม่ชุบมือเปิบมันก็จะทอนกำลังใจ กิเลสมันก็ทอนกำลังใจของเราไปแล้ว เห็นไหม “โอ๋ย! ไม่ไหว โอ๋ย! ไม่ไหวแล้ว โอ๋ย!” โอ๋ย! ก็ทอนแล้ว ในเมื่อเรามีกำลังใจขึ้นมาแล้ว เรามาเทียบอย่างนั้น เทียบถึงทุกข์ แล้วเราก็ดูทุกข์จริงๆ ด้วย พอเราใช้ปัญญานี้ไล่กิเลสจนมันสงบแล้วนะ พอเรากลับมาทำ ใจก็สงบ เพราะอันนี้พอเราทันมันแล้ว มันจะอาย ความคิดเป็นของกิเลส มันอายนะ อายสติปัญญาของธรรม ไอ้สังขาร ความปรุง ความแต่ง มันอาย ถ้าสติเราไม่พอ ความสงบเราไม่พอ ความคิดนั้นเป็นสังขารมาร เป็นมารสังขาร การปรุงของมาร มารมันปรุง

แต่พอสติเราทัน การปรุงนั้นมันจะหยุด สังขารจะหมุนไปด้วยมรรค สังขารอันนี้จะเป็นมรรคนะ ความคิดที่ให้กำลังใจ ความคิดก้าวเดิน ใจมันก้าวเดินไปในความคิดของเรานี้ อันนี้เป็นมรรค พอเป็นมรรคมันก็ชุ่มชื่น งานนี้ก็เป็นงานอันชอบ ความเพียรก็เพียรลงที่การปฏิบัติ เพียรลงที่การวิปัสสนา ก็พิจารณาทองอย่างเก่า เอาทองนั้นมาตั้งขึ้นอีก กายที่เห็นนั่นน่ะ

การเห็นครั้งก่อน เห็นครั้งที่แล้ว จะกายรูปทรงใดก็แล้วแต่ อันนั้นเห็นเป็นอดีตไปแล้ว เราก็ตั้งปัจจุบันธรรมไง ปัจจุบันธรรม ปัจจุบันจิต จิตนี้ก็ตั้งขึ้น กำหนดดูที่กายอีก กายส่วนใดส่วนหนึ่งนะ มันไม่ทั้งกายหรอก แต่ถ้าเห็นทั้งกายยิ่งดี กายส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งโครงร่างก็ได้ แล้วแต่บารมีของแต่ละบุคคล ทั้งโครงร่างนะ บางขณะจะเห็นกายเป็นกายเลย กายเป็นกายเรานี่แหละ เป็นซากศพก็มี เป็นซากศพนะ ทั้งตัวเลย จับพลิกจับหงายเลย มันนอนอยู่ตรงหน้านั่นล่ะ นอนอยู่ในคลองของตาเรา ตาธรรม จะเป็นร่างกายทั้งกาย จะส่วนใดส่วนหนึ่ง

ดูสิ พอดูแล้วรำพึง ใจรำพึงให้แปรสภาพ ให้เอาไฟเผา ถ้าจิตเป็นสมาธิ เอาไฟเผาก็พรึ่บ! มันจะลุกไหม้ ละลายไปเลย เอาไฟเผานะ เอาน้ำท่วม เอาน้ำซัด เอาดินกลบ ให้ละลายได้ ให้ละลาย กายละลายทันที เพราะมันละลายด้วยอำนาจของจิตไง เพราะจิตนี้มันติดตรงนี้ พอจิตติดตรงนี้มันต้องเกาะเกี่ยวตรงนี้ พอจิตติดตรงนี้ เกาะเกี่ยวตรงนี้ การเกาะเกี่ยวมันเกาะเกี่ยวด้วยกระแส ด้วยความผูกมัด มันไม่แตกออกไปไง มันเป็นทิฏฐิ เป็นการอุปาทาน การยึดมั่น

ทองนี้ยึดมั่นขึ้นมา ยึดมั่นในตัวทองนั้น มันก็เลยไม่สะอาด มันไม่สะอาด ฟังสิ ความยึดมั่นความเป็นทิฏฐิมานะ ทุกอย่างมันยึดลงไปหมดเลย ยึดลงที่กาย เพราะจิตมันโง่ จิตมันไม่เข้าใจ มันเป็นธรรมชาติของมันโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้วด้วยที่มันยึดมาอย่างนั้นน่ะ มันยึดมาอย่างนั้นนะ ยึดมาตลอด ไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ ก็ซ้ำลงไปสิ พอซ้ำ เห็นถึงความแปรสภาพไง

การแปรสภาพหมายถึงว่า มันหลุดมือไปไง อย่างจิตนี้มันพิจารณาอยู่มันก็เหมือนกับว่า กำไว้ไง พอกระแสของใจมันไว กระแสของมรรค กระแสของการเพ่ง การเพ่งนะ การพินิจ การดู การไตร่ตรอง งานลงที่ไหน? งานลงที่ใจ ความเพียรลงที่กายนั้น งานก็ชอบ ความเพียรก็ชอบ สติก็ชอบ ปัญญา คือการใคร่ครวญก็ชอบ เห็นไหม ครบองค์มรรคไหม จี้ลงไป พิจารณาลงไป ซ้ำลงไป เหนื่อย งานภายในนะ เหนื่อย ถ้าพิจารณาไหว สู้ ถ้าเห็นว่าไม่ไหว ถอยกลับมาดู กลับมาพักใจ เหนื่อยมาก เหนื่อยมาก งานรื้อภพรื้อชาติ งานอันประเสริฐ

ดูกำลังของตัว ผู้ที่พิจารณา ผู้ที่ฉลาด มันรู้กำลัง เป็นกำลังของแต่ละบุคคล แต่ละบุคคลนะ แต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน ถ้าพิจารณากายนะ พิจารณาเวทนาก็เหมือนกัน ไม่เหมือนกัน ถ้าพิจารณาไหวก็พิจารณาไปเลย แต่มันผิดหรือถูก แล้วแต่ความไม่เคยทำ บางทีเข้าใจว่ามันพิจารณาได้ พิจารณาใหญ่เลย มันก็แยกแยะออกไป แต่พิจารณาไปสักพักหนึ่ง “เอ๊ะ! อันนี้มันพิจารณาด้วยมรรคหรือด้วยมารเนี่ย” เพราะมันจะเห็นผลเอง กินข้าวกันอิ่มเอง

ไอ้นี่กินข้าวไป เอาข้าวยัดเข้าปาก ยัดเข้าจมูก ยัดเข้าลูกตา มันจะเข้าได้อย่างไร แต่ขณะเพลินนี่ไม่รู้นะ มันจับส่ง จับส่งไป แต่พอทันเข้าถึงได้พักไง โอ๋ย! มันผิด งานนี่ฟั่นเฝือแล้ว การพิจารณาเป็นอย่างนั้นจริงๆ งานนี้ฟั่นเฝือแล้วมันจะปล่อย ปล่อยกลับมาสงบ พุทโธๆๆๆ เลยล่ะ หรือไม่พุทโธ ปล่อยเฉยๆ มันก็สงบเอง มันเหนื่อยแล้วนี่ กลับมา พิจารณาซ้ำอีก

คำว่า “พิจารณาซ้ำ” อย่าคิดว่าพิจารณาซ้ำแล้วมันเป็นการที่ว่างานนี้ไม่เป็นงานนะ เรานับเงิน แบงก์ใบเก่าไหม แบงก์ร้อยก็แบงก์ร้อยเก่า แบงก์พันก็แบงก์พันเก่า เราทำไมอยากจะนับมากๆ ล่ะ ถ้ามันใบเดียวเราก็นับใบเดียว เราก็ได้ร้อยเดียวใช่ไหม นี่เรานับแบงก์ร้อยสิบใบ เราก็ได้พันหนึ่งใช่ไหม ร้อยใบก็หมื่น แสนใบล่ะ ใครก็อยากจะนับมากๆ

งานนี้ก็เหมือนกัน วิปัสสนาก็พิจารณานั่นล่ะ ยิ่งพิจารณามากเท่าไรมันยิ่งได้มากเท่านั้น ไม่ใช่ว่าพิจารณาแล้วจะได้เท่าเก่า...ไม่ใช่ พิจารณาซ้ำลงไปเท่าไหร มันก็ได้มากเท่านั้นๆ มากจนมันขาดออกไปเลยล่ะ น้ำหนัก ความชั่งน้ำหนักมันเท่ากันไง อย่างทอง ๑ บาท เรารู้ได้ค่าอย่างไรว่า ๑ บาท มันก็ต้องเอาลูกตุ้ม ๑ บาทมาชั่งใช่ไหม ก็ได้ค่า ๑ บาท ความเสมอกัน ๑ บาทต่อ ๑ บาท มันก็จ่อกันไว้

การพิจารณากาย การพิจารณาเท่าทันกัน มันก็เทียบกัน มันก็จ่อกันไว้ มันก็เสมอกัน มันก็พอกัน มันวางได้มันก็พอกัน แต่ถ้าน้ำหนักการพิจารณามันเหนือกว่าสิ ทอง ๑ บาท แต่น้ำหนักของเรามันเกิน ๑ บาทแล้ว พอเกินบาทมันก็ต้องฟันสิ มรรคสามัคคี มรรคนี้คือองค์ ๘ มันรวมตัว รวมตัวด้วยกระแสของธรรม พอรวมตัวมันก็ม้วนลง พอม้วนลงมันก็ม้วนลงที่กระแสจิต กระแสจิต กระแสของกิเลสมันจะขาดออกไป หลุดออกไปเลย เหลือใจล้วนๆ ทองคำ ทองคำล้วนๆ กิเลสขาดออกไป สักกายทิฏฐิจะขาดออกไป หลุดออกไปเลย จิตนี้จะรวมลงเป็นหนึ่ง กายออกไป ทุกข์ออกไป เห็นไหม กายจะหลุดออกไปเลย จิตมันเป็นทุกข์นี่ รวมลงมา อันนี้มันไม่ใช่จิตนะ ถ้าจิตรวมจริงๆ คือจิตความรู้สึก อันนี้มันเป็นธรรม มันปล่อยออกมา มันถึงได้ออกมารู้ไง

พอปล่อยออกมา ญาณทสฺสนํ รู้ว่าขาดไง รู้ว่าสักกายทิฏฐิขาดออกไป เห็นไหม มันขาดแล้วมันถึงไม่...ขณะที่มันวิปปยุตเข้าไป วิปปยุตเข้าไปมันจะรู้ว่าขาดออกไป หลุดออกไปจากความรู้สึกของกระแสโลกพักหนึ่ง วิปปยุตนะ แล้วสัมปยุตกลับมา วิปปยุต สัมปยุตกลับมา อ้อ! ขาดออกไปแล้ว สักกายทิฏฐิขาดออกไป ทุกข์นี้ขาดออกไป จิตนี้เป็นจิต เห็นไหม

คำว่า “จิตเป็นจิต” แล้วธรรมเป็นธรรม ธรรมคือความเข้าใจอีกอันหนึ่ง กับที่ว่ารวมลง ที่ว่าพิจารณาเท่าแล้วรวมลง เห็นไหม ความเป็นไปมันคนละอย่าง ความเป็นไปของการพิจารณาแล้วปล่อยวาง อันนั้นมันจิตล้วนๆ เลย ปล่อยวางจิต โอ๋ย! สบาย แต่มันไม่ขาดออกไปจากกิเลส สักกายทิฏฐินี้ไม่ขาดออกไป

แต่ถ้าขาดออกไปนี้มันเป็นธรรม มันรวมลงลึกกว่า สุขมหาศาลนะ ก็คนหนักมหาศาลแล้วมันปล่อยออกไป กระแสกิเลสที่มันทับใจอยู่ มันหลุดออกไป นั่นน่ะทองคำ เห็นไหม นั่นทองที่ใจ ก็แสวงหากันๆ แสวงหาแขวนไว้ที่คอเหรอ ทองนอกๆ นี่ทองใน จะอ่านว่า ท-อ-ง ทองๆๆ แต่เวลาเป็นที่ใจของเรา โอ๋ย! ทองภายใน แสวงหาทองภายใน นี่ทองพระพุทธเจ้านะ นี่ทองนะ

แต่ทองอันนี้ พอเราได้ประสบแล้ว มันก็พูดได้ไง หมายถึงว่า จับต้องได้ จากเมื่อก่อนจับต้องไม่ได้ ฟังแต่ฟังของคนอื่น ฟังแต่พระพุทธเจ้าสอน ฟังแต่ครูบาอาจารย์สอน เห็นไหม ก็เหมือนทองของคนอื่น วิธีการของคนอื่น แล้วทองอยู่ในใจของตัว ใจนี้มันเป็นทองแล้ว ใครต้องมาสอน? มันรู้เท่าเอง

พระพุทธเจ้าสอนเรื่องกาลามสูตร ไม่เชื่อเพราะครูบาอาจารย์สอน ไม่เชื่อเพราะตำราสอน ไม่เชื่อเพราะเล่าลือสืบๆ กันมา ตำราสืบๆ กันมา

อันนี้ไม่ต้องใครสอน ใจมันสอนใจ แล้วทองมันเกิดขึ้นจากภายใน มันจะเป็นไปโดยธรรมชาติ จะเข้าใจโดยธรรมชาติ จะทำได้โดยธรรมชาติ แล้วจะจับต้องได้โดยธรรมชาติ เห็นไหม

เขาว่า “เหนือธรรมๆ” แต่มันถึงว่า มันอธิบายธรรมชาติของใจอันนั้นได้ไง มันเหนือธรรมชาติส่วนหนึ่ง เหนือธรรมชาติในความเข้าใจส่วนนี้ มันก็เลยเป็นทองคำหลอม ทองคำหลอม ก่อนจะหลอมแล้วจะทำอย่างไรต่อไปล่ะ ก็ทำเป็นทองคำแท่งสิ ทำเป็นทองคำแท่ง เพราะจิตนี้มันหลุดออกมา ธรรมมันบอกแล้ว เห็นไหม หลุดออกมาจากกิเลสในสักกายทิฏฐิ เราก็มีความสุข มีความสุขมาก

จากเป็นคนธรรมดา มันเหนือคนแล้วล่ะคนอย่างนี้ แต่มันก็ยังเป็นคนอยู่นั่นล่ะ เราก็อยู่ในโลกมนุษย์อยู่ แต่มันเหนือคนแล้วนะ แต่การเหนือคนนี่มันยังมีทุกข์อยู่ในหัวใจ เพราะเหนือคนมันจะยังไม่เหนือแบบประเสริฐเลอเลิศ เหนือเขาส่วนหนึ่ง อยากจะประเสริฐต้องพิจารณาซ้ำต่อไป คนเรานะ พอมีเงินเข้าก็อยากจะมีมาก ใครมันอยากมีเงินน้อยๆ ทุกคนก็เอาเงินมาอวดกัน คนมีเงินน้อยควักออกมามันก็อายเขา แล้วคนมีเงินมากแล้วเขาทำอย่างไรถึงมีเงินมากกว่าเราล่ะ นี่มันก็ทำให้ได้คิดนะ

เราก็คิดสิ ทำอะไรที่ทำให้เราได้เงินมา งานอะไรที่ทำให้เราได้ทองคำมา? ก็งานวิปัสสนาใช่ไหม งานการประพฤติปฏิบัติใช่ไหม แล้วงานข้างหน้ายังมีอีกเปล่า? มี มีก็ทำต่อสิ ต้องทำต่อ

บุคคล ๘ จำพวก ในสวดสังฆคุณ “บุคคล ๘ จำพวก” นี่มันเป็นบุคคล ๒ จำพวก เราได้เป็นแล้ว ๒ จำพวก แล้วเป็นต่อไป ทำอย่างไร เพราะความเกิดขึ้น เป้นประเสริฐขึ้นมา เพราะเกิดขึ้นมาจากใจของเราใช่ไหม เกิดขึ้นมาจากงานภายในใช่ไหม ไม่ใช่งานภายนอก งานภายนอกเราก็ทำไปเพราะคนเกิดมามันต้องอาศัยปัจจัย ๔ แต่งานภายในเป็นงานเหนือโลก งานออกจากโลก เราก็ทำซ้ำสิ

บุคคล ๒ จำพวก มันเป็นเงินแล้วก็ใช้เงินหมดแล้วไง มรรคและผลของ ๒ จำพวก แล้วถ้าจะทำต่อก็ต้องสร้างต่อ เราสร้างบ้านชั้นที่ ๑ เราใช้วัสดุหมดไปแล้วมันก็เป็นรูปร่างบ้านขึ้นมา ทั้งๆ ที่จะทำชั้นที่ ๒ ต่อขึ้นไป ก็ต้องใช้วัสดุเดิมหรือเปล่า

วัสดุเดิมหมายถึงว่า ถ้าเป็นตึกก็ต้องมีไม้แบบเดิม โครงเหล็กเดิมต่อขึ้นไปๆ มันก็ต้องกลับมาที่สมาธิไง กลับมาที่ทำใจสงบไง จิตสงบด้วยกิเลสอย่างหนึ่ง จิตที่ฟุ้งซ่านที่ไม่เคยสงบจากปุถุชนเลยอย่างหนึ่ง จิตพื้นฐานของที่ว่า เราเป็นบุคคล ๒ จำพวกแล้ว มันมีพื้นฐานของความสงบอยู่แล้ว แต่ความสงบมันต้องเพิ่มขึ้นอีก มันถึงจะเป็นงานใหม่ต่อไปไง

งานใหม่ก็ต้องใช้มรรคองค์ใหม่ มรรค ๘ อีกอันหนึ่ง มรรค ๘ ที่สูงขึ้นไปคือละเอียดกว่ามรรคอันเก่า มรรคหยาบๆ มรรคก็ละเอียดเข้า การพิจารณากายซ้ำลงไป พอจิตสงบให้เห็นกายก็ยังเห็นอีก เพราะเห็นภายในนี่มันกระแส ขาดคือกิเลสขาด แต่กายยังอยู่ กายในกายยังอยู่ เพราะเวลามันขาดออกไป มันขาดแต่สิ่งสกปรก แต่ร่างกายนอก กายในพร้อม ยังอยู่บริบูรณ์ พิจารณาซ้ำก็เห็นอีก พิจารณากายในกายก็เห็นอีก พิจารณากายนอกก็ปล่อยเข้ามา พิจารณากายในเพื่อจะปล่อยกิเลสที่ละเอียดลงไปอีก ลองพิจารณาดูสิ

แต่เวลาถ้ามันจะทำ ของไม่เคยทำทุกอย่างนะ มันจะติดขัด มันจะทำไม่ถูกต้อง ทำใจสงบเลย ทำใจให้สงบอีก พื้นฐานจะสงบอยู่แล้วเพราะคนระดับนี้มันมีพื้นความสงบอยู่แล้วที่ว่านั่นล่ะ แต่พื้นอย่างนี้มันไม่พอถึงว่า ปั้นเป็นกายขึ้นมาให้เห็นนี่นะ ให้มันสงบเลย เพ่งดู เพราะการทำให้สงบมันก็เป็นมรรคอยู่แล้ว

งานภายนอกก็ทำงานภายนอก งานภายใน ไอ้ที่ว่า งานภายในๆ ในใจมันก็มีความละเอียดลึกๆๆ เข้าไปเรื่อยๆ นะ มันอัศจรรย์ไปเรื่อยๆ นะ ว่าการก้าวเดินของจิต จิตนี้มันก้าวเดินเข้าไป มีแต่เราก้าวเดินออกไง

เราสร้างบ้านขึ้นมา บ้านเรามีกี่ห้องล่ะ เราผ่านห้องชั้นในออกมาก็ผ่านห้องชั้นนอกใช่ไหม ๔-๕ ห้อง มีห้องใต้ดินด้วย ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ไอ้ที่เราเข้าไป เข้าไปแค่ห้องรับแขกนะ ผ่านเข้าไปนั่งในห้องรับแขก เราสำเร็จว่าห้องรับแขกนี้สำเร็จเป็นของเรา เราก็พอใจแล้ว นี่เราจะก้าวเดินเข้าไปห้องชั้นในอีกล่ะ ความลึกเข้าไป ความก้าวเดินของใจที่จะก้าวเดินเข้าไปอีกๆ

บ้านส่วนใหญ่ ชั้นนอกก็ต้อนรับแขกไว้ก่อน แล้วการพักอาศัยก็อยู่ข้างใน เห็นไหม นี่บุคคล ๒ จำพวก ข้างนอก บุคคลจำพวกที่ ๒ ก็เป็นห้องชั้นใน บุคคลจำพวกที่ ๓ นั่นห้องนอน บุคคลจำพวกที่ ๔ ล่ะ ห้องครัวนะ แล้วเหนือออกไปนั่นน่ะ ออกจากนั้นไปเลยนะ เหนือกว่านั้นอีก เพราะบุคคล ๘ จำพวกนี้มันเป็นวิปปยุต สัมปยุต เป็นการก้าวเดินของจิต จิตนี้ก้าวเดินไป จิตพัฒนาตัวเองขึ้นไปจนหลุดออกไปจาก ๘ จำพวกนี้เลย ออกจากบ้านนี้ไปเลย เวิ้งว้างไปเลย หลุดออกจากบ้านไปเลยนะ กายอยู่สักแต่ว่ากายเลย จิตนี้หลุดออกไป กระแสใดๆ ที่ผูกกันไว้ไม่มี

แต่ ๒ จำพวกนี้ แค่ห้องรับแขก ยังเหลืออีกตั้ง ๓-๔ ห้องกว่าจะก่อร่างเข้าไปอีก ทำไมมันจะไม่ทำงานอีกล่ะ ผู้ที่มีทองคำในหัวใจมันจะรู้ว่าทองคำนี้มันจะหลอมเป็นแท่งได้ ทองคำแท่งนี้เอาไปทำเป็นเครื่องประดับใดๆ ก็ได้ เห็นไหม ทำเป็นเครื่องประดับก็ได้ เอาไปขายเป็นเงินก็ได้ การแลกเปลี่ยนเอามาเป็นเงิน เห็นไหม ก็ยังทำได้ แต่คนที่ไม่เคยเห็นทองเลย ไม่เคยเห็นการเริ่มต้นเลย ไม่เคยเห็น ไม่มีการก้าวเดินเลย มันถึงลำบากไง เราถึงต้องพยายามก้าวเดินๆ ให้จิตก้าวเดินขึ้นมาให้ได้

โรงงานใดๆ ก็แล้วแต่นะ ถ้ามีวัตถุดิบมันก็ทำได้ นี่ทองคำมันวางอยู่ที่หัวใจเลยล่ะ อยู่ที่วาสนาบารมีด้วยนะ วาสนาบารมีถ้าคนวาสนาบารมีไม่พอ ถึงจุดนี่มันจะอิ่ม มันจะอิ่มก่อน คำว่า “อิ่ม” ไม่ใช่ว่ามันอิ่มด้วยธรรมนะ มันอิ่มด้วยกิเลส กิเลสมันนอนเนื่อง มันเข้าใจ มันชักให้หลงว่า นี่สิ้นแล้ว คำว่า “อิ่ม” คือว่ามันยัดให้อิ่มเอง กิเลส คำว่า “ยัด” เลย มันหลอกนี่

จิตมันสงบ มันมีพื้นฐานของความสงบใช่ไหม เราก็ว่าแค่นี้เองมันเป็นความสุข เพราะมันไม่เคยก้าวเดินมาให้ลึกกว่านั้น ถ้ามันก้าวเดินเข้าไปนี่ ดูใจ ถ้าพิจารณากายก็พิจารณากาย จับกายได้นะ จับกายได้ กายเมื่อกี้นี้มันแปรสภาพเฉยๆ แต่กายอย่างนี้ กายจะแตก กายอย่างนี้ ถ้าพิจารณากายอย่างนี้มันจะแตกออกเลย แตกอันนี้ จิตมันเป็นจิต กายเป็นกายต่างหากเลยล่ะ โลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง ความรู้สึกที่ใจไง ความรู้สึกที่ใจมันจะรู้เลยนะว่าจิตนี้ไม่มีอะไรเลย

คำว่า “ราบ” เหมือนกับจิตนี้ไม่มีความรู้สึกใดๆ ทั้งสิ้น จะราบสนิทไปเลย กายนี้ก็ราบสนิทไปเลย โลกนี้จะแบบว่าเหมือนกับโลกแบน โลกมันกลมมันก็หมุนไปตามวัฏฏะใช่ไหม แต่ถ้าโลกแบนล่ะ โลกคงที่ไง ขณะที่เห็นช่วงนี้ โลกจะคงที่ จิตนี้จะราบสนิทหมด สิ่งใดๆ จะไม่มีเข้ามาเกี่ยวข้องได้ มันเป็นนิมิตนะ บางเจ้า บางคนนิมิตว่าโลกนี้โล่งเตียน มีต้นไม้อยู่ต้นหนึ่ง แล้วเราถอนต้นไม้นั้นออก ยิ่งโล่งเตียนไปหมดเลย เวิ้งว้างไปหมดเลย นั่นบุคคล ๒ จำพวกล่ะ เป็นบุคคลจำพวกที่ ๒ จิตนี้จะเวิ้งว้างไปหมด

รวมใหญ่ๆ ดูความละเอียดของมันสิ ความละเอียดของการก้าวเดินเข้าไป นี่ทองคำครั้งที่ ๒ ไอ้อย่างเมื่อกี้มันทองคำหลอมไง นี่ทองคำแท่ง เป็นแท่งนะ ทีนี้พอเป็นแท่งขึ้นมามันยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ ทองคำแท่งนี่เพราะก้อนมันใหญ่ เก็บไว้ที่ใจสิ มันจะอยากจะอวดเขาไง เพราะทองคำมันเป็นแท่งแล้ว มันไปโชว์ที่ไหนก็ได้ สากลเขายอมรับ พอสากลมันยอมรับมันก็เห่อน่ะสิ

จิตล้วนๆ กายล้วนๆ นะ มันเห่อสวย เห่องาม มันไปเห่อไอ้กามราคะ มันถึงต้องพิจารณาอสุภะไง ให้ดูว่าทองคำนี้มันบูดมันเน่าได้ไหม ทองคำมันบูด มันเน่า มันน่าขยะแขยง มันให้โทษ มันผูกให้ใจนี้เป็นขี้ข้า มันผูกให้ใจนี้ต้องอยู่ในกามภพ

ก็เหมือนกับเศรษฐีตื่นทอง เศรษฐีตื่นทองมันเอามาแล้ว มันเอาความงก เศรษฐีงก เอาทองมาให้โทษกับตัวใช่ไหม มาเก็บไว้แล้วก็เป็นขี้ข้าเฝ้ามันไว้ ไอ้ทองอันนี้ก็เหมือนกัน เห็นไหม เวลาให้โทษเพราะมันอยู่ที่ใจ ต้องพิจารณากายให้เป็นอสุภะ อสุภัง ให้มันเป็นของเน่าเปื่อย ลองเพ่งดูสิว่า ทองคำแท่งมันจะมีหนอนไช มันจะเน่าได้ไหม แต่ถ้าเป็นผลไม้นี่ได้ มันปะทุออกมา เหมือนกับมันเป็นสนิมใน มันเป็นสนิมอยู่ในทองนั้น ทองคำเราเผาละลายไป เผาละลายเลย

นั่นมันจะก้าวเข้าห้องนอน แล้วเทียบไว้ เห็นไหม ห้องรับแขก แล้วพอเข้าข้างในแล้วห้องนอน ห้องครัว มันจะไปนอนเนื่องอยู่นั่น แล้วพิจารณาเป็นอสุภะ พิจารณาจนมันเน่ามันละลายไป มันปล่อย ว่างอันนี้มันยิ่งพิลึกพิลั่น

อ้าว! คิดดูสิ ทองคำทั้งหมดเรากล้าทิ้งได้อย่างไร พอเราเห็นโทษของมันเราจะทิ้งเลยนะ ทิ้งออกไปๆ อาการของใจเปรียบเหมือนทอง อาการของใจ อาการของความสุข อาการของการยึดมั่น เราก็ว่าความสุขๆ มันก็ติดสุขติดทุกข์ไง

อันนี้มันหลอกมาก อันนี้มันเป็นการต่อสู้แบบสุดๆ รุนแรงมาก เป็นรุนแรงมากนะ ก็ฟังดูสิ คำว่า ”ทอง” เนาะ คำว่า “กามภพ” เนาะ แล้วทำไมมันจะไม่รุนแรงล่ะ เพราะทองนี้เป็นทองสมมุตินี่ แต่ถ้ามันทำสำเร็จแล้วมันเป็นทองเนื้อ ทองใจ มันเป็นทองทิพย์นี่ต่างกันกับทองสมมุติ ต่างกันมาก ทองที่เป็นทิพย์ ว่าอย่างนั้นเลยนะ โลกทิพย์ ใจเป็นทิพย์

ใจของเราธรรมดานี่แหละ ใจของเราที่เดินชนกันอยู่ แล้วมันเหนือเป็นทิพย์ไปได้อย่างไร มันปฏิบัติอย่างเดียวนี่มันเข้าใจนะ แล้วมันเป็นเอง ของเป็นเอง ไม่ต้องอวดไม่ต้องอ้าง ไม่ต้องเอาไปให้ใครพิสูจน์ ใครก็พิสูจน์ไม่ได้ ยกเว้นพระพุทธเจ้า พระอรหันต์บางองค์เท่านั้นที่รู้เรื่องวาระไง รู้เรื่องกำหนดจิตว่าจิตนี้มันใส จิตนี้ไม่ข้องเกี่ยว จิตนี้ใสนะ

ไอ้อย่างพวกเรามันจิตขุ่นมัว เวลาครูบาอาจารย์ส่งกระแสไปดูจิตแล้วมันไม่เห็น เห็นแต่ความคิดจกเปรตในใจเราเท่านั้นล่ะ แต่ถ้าผู้ที่ปฏิบัติไปแล้วจิตมันพัฒนาไปนะ จิตนี้ใส ไม่มีตัวตนนะ นั้นล่ะทองแท้ๆ

เราเปรียบว่าทองๆๆ เพราะคำว่า “ทอง” นี่มันให้ค่ากันทางโลกไง แต่ใจที่ให้ค่าแล้วมันให้ค่าในนามธรรม แล้วมันสูงส่งมาก สูงส่งกว่าสิ่งของในโลกนี้มากมายมหาศาล สิ่งใดๆ ในโลกนี้เทียบค่ามันไม่ได้เลย เทียบค่ามันไม่ได้หรอก เพราะสิ่งใดๆ ในโลกนี้เราให้ค่ากันเอง มนุษย์ให้ค่าเอง แต่สิ่งที่พระพุทธเจ้าให้ค่านี้ ผู้ที่ไม่มีกิเลสแล้วมันให้ค่า ให้ค่าแล้วก็ขีดคั่นค่าไว้เพื่อให้เราเดินตามไง

พอเดินขึ้นไปแล้ว เดินขึ้นบันไดไปแล้ว เดินขึ้นตามค่าความที่การอธิบายวิธีการของพระพุทธเจ้าแล้ว มันทิ้งไปเรื่อยๆ ต้องทิ้งขึ้นไปเรื่อยๆ นะ การก้าวเดินนี่เหยียบผ่านไปแล้วต้องผ่านไป มันจะมาก้าวไปแล้วเท้าจะติดเหนียวอยู่กับสิ่งที่ก้าวเดินไม่ได้ ธรรมะนี่ก็เป็นอย่างนั้นล่ะ วิธีการก็เป็นแบบนั้น เราก้าวเดินไปๆ จิตนี้พัฒนาด้วยการฟอกจิต จิตนี้ด้วยการพิจารณา

การหล่อหลอม เบ้าไง เผาละลายด้วยวิปัสสนาญาณ สมถะ วิปัสสนา จนกลายเป็นสิ่งที่ประเสริฐ พ้นออกไปจากสิ่งสมมุติทั้งหมด พ้นออกไปนะ มันเลยให้ค่าไม่ได้ ของที่มีค่ามากที่สุดคือว่าให้ค่าไม่ได้เลย ให้ค่าไม่ได้เลย เพราะไม่รู้จะให้ค่าอย่างไร มันเหนือค่า มันถึงได้เหนือค่ากว่าทองคำไง นั่นน่ะคือทองแท้ๆ ธรรมะแท้ไง ธรรมแท้ ธรรมที่ใจ เอโก ธัมโม ธรรมอันเอก เอโก ธัมโม เอโกนะ เอกเป็นหนึ่ง ไม่ใช่ของให้ค่าเป็นสอง

โลกเราให้ค่าเป็นสองหมด ดีคู่กับชั่ว มืดคู่กับสว่าง มีค่ามากก็คู่กับมีค่าน้อย ให้ค่ามากเดี๋ยวก็จะตกราคา ตกแล้ว มีขึ้นก็มีลง ฉะนั้น ถึงต้องดันขึ้นไปก่อน ใจเราต้องดันขึ้นไปก่อน การประพฤติปฏิบัติต้องดันใจให้ขึ้นไป ดันด้วยความเข้มแข้ง ดันขึ้นไปๆ แล้วมันจะไปวิปปยุตกันเอง วิปปยุตด้วยการก้าวเดินของเรานะ มันจะเป็นโดยที่มันจะเป็นเอง โดยมันเป็นเอง เป็นไปไม่ได้ ปัญญาเกิดจากการฝึกฝน การวิปัสสนาเกิดจากการฝึกฝน

การฟันต้นไม้น่ะ เด็กๆ ไม่เคยฟันจะฟันอย่างไร นายช่างไม้ไง นายช่างไม้พวกฟันป่าเขาจะรู้เลยว่าต้นไม้ไหนควรจะฟันอย่างไร ไม่ใช่เหมือนกับเราไปโดนหลอกนะ ไปฟันต้นมะพร้าว เห็นว่ามันจะมีแก่น ให้เราฟันข้างนอกก่อน ให้คนอื่นมาฟันข้างใน มันจะได้เจอแก่น จะได้เจอของแข็งไง เห็นไหม ความไม่เข้าใจ การไม่เคยทำ

แต่ผู้ที่ชำนาญเขาจะรู้เลยว่าไม้ชนิดไหนข้างนอกอ่อน ข้างในแข็ง ฟังสิ มันไม่ใช่ว่ามันมีไม้แข็งเฉพาะเนื้อในทั้งหมดนะ บางชนิด ข้างนอกแข็งกว่าข้างใน บางชนิด ข้างในแกร่งมากเลย ฟันเข้าหรือไม่เข้า ควรฟันช่วงไหน วิธีการก็เหมือนกัน การประพฤติ...(เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)