เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๓ เม.ย. ๒๕๕๓

 

เทศน์เช้า วันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมก่อน ฟังธรรมแล้วมันสะเทือนใจนะ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง สิ่งที่เคยได้ยินได้ฟังแล้วก็ตอกย้ำ แล้วแก้ความลังเลสงสัย ถ้าแก้ความลังเลสงสัยได้ จิตใจมันจะทะลุปรุโปร่งจิตใจผ่องแผ้ว คำว่า “จิตใจผ่องแผ้ว” นั่นล่ะ..อาหารใจ

สิ่งที่เป็นอาหารใจ เห็นไหม สิ่งใดที่มันหมักหมมใจนี้ มันจะมีความทุกข์มาก เวลาเราทุกข์ยาก เราก็ไปหากันแต่ปัจจัยเครื่องอาศัย เพราะเราเกิดมาแล้วเราทุกข์เรายาก แต่ถ้าเรามีปัจจัย ๔ เครื่องอาศัยสมบูรณ์ เราจะมีความสุข

เราก็มีตัณหาความทะยานอยากคาดหมายไปตลอดเวลา มันจะคาดหมายไปข้างหน้า มันไม่อยู่กับปัจจุบัน เวลาประพฤติปฏิบัติเราก็บอกว่าเป็นปัจจุบันๆ คำว่า “ปัจจุบัน” แต่มันเป็นปัจจุบันของเด็กๆ เด็กก็ว่าเป็นปัจจุบัน

ดูสิ เวลาผู้ใหญ่เขาจะทำธุรกิจกัน ส่วนเด็กมันเล่นขายของ มันทำเลียนแบบผู้ใหญ่ทั้งนั้น แล้วมันได้ผลจริงไหม มันก็มีความสนุกสนานของมัน เด็กมันมีความสนุกสนาน ผู้ใหญ่พอทำอะไรก็แล้วแต่เวลาเด็กมันเล่นกัน มันก็เล่นเลียนแบบผู้ใหญ่นั้น แต่เวลาผู้ใหญ่ทำมันจะเป็นไปตามข้อเท็จจริงนั้น มันเป็นอำนาจวาสนา เป็นจังหวะและโอกาสของคนที่ประกอบธุรกิจหรือทำหน้าที่การงาน  แล้วจะประสบ ความสำเร็จ หรือไม่ประสบความสำเร็จ

คนเราทำงานเหมือนกัน บางคนทำแล้วประสบความสำเร็จ บางคนทำแล้ว ทำไมมันไม่ประสบความสำเร็จ มันมีความทุกข์ความยากตลอดไป อันนี้เป็นอำนาจวาสนาของคน มันเป็นจังหวะและโอกาส

เด็กเวลามันเล่นเลียนแบบ มันก็ทำเหมือนกันเปี๊ยบเลย ทำเหมือนกัน แต่มันเล่นกันตามประสาเด็กๆ มันทำได้ประสบความสำเร็จทั้งหมด เพราะมันสมมุติเอา สมมุติว่าได้ สมมุติว่าเป็นไป เห็นไหม

ทีนี้ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน คำว่า “ปัจจุบัน” มันปัจจุบันของใคร ใครๆ ก็อ้างว่าปัจจุบันทั้งนั้น เพราะเด็กมันก็คิดว่าปัจจุบันของมัน แต่มันไม่มีผลตอบสนองแบบผู้ใหญ่ แต่ถ้าผู้ใหญ่ทำมันจะมีผลตอบสนองตามความเป็นจริงอันนั้น

ถ้ามีผลตอบสนองตามความเป็นจริงอันนั้น นั่นล่ะความเป็นจริง ความจริงเป็น “สันทิฏฐิโก” ความจริงที่ไม่ต้องให้ใครมาการันตีเราต้องการคนค้ำประกัน คนการันตี เห็นไหม แต่ “สันทิฏฐิโก” คือ การันตีโดยหัวใจของเรา

เวลาเราอยู่ในสังคมโลก ถ้าสังคมเขานับหน้าถือตา เราจะมีความพอใจ มีความสุขของเรา นี่พูดถึงเรื่องของสังคม มนุษย์เป็นสัตว์สังคมอยู่คนเดียวไม่ได้ มนุษย์ต้องพึ่งพาอาศัยกัน การพึ่งพาอาศัยกันเป็นสัตว์สังคม

มนุษย์เป็นผู้ที่เป็นสัตว์ประเสริฐ มนุษย์แปลว่าประเสริฐกว่าสัตว์ แต่เขียนกติกา เขียนกฎหมายขึ้นมา เพราะกติกาสังคมใช่ไหม สังคมเกิดขึ้นมาแล้วเราต้องมีกฎหมายมีข้อบังคับ เพื่อจะไม่ให้เบียดเบียนกัน ริดรอนสิทธิต่อกัน

เห็นไหม สัตว์มันมีอิสรภาพมากกว่าเรา นกกามันบินไปตามอิสรภาพของมัน มันทำตามใจของมันได้ มนุษย์เป็นผู้ที่เป็นสัตว์ประ-เสริฐ เป็นผู้เขียนกติกาขึ้นมา แล้วติดข้องกับกติกาของตัวเอง เพราะอะไร เพราะเป็นสัตว์สังคมไง เราอยู่ด้วยกันด้วยตัณหาทะยานอยาก

เรื่องของจิตใจมันไม่มีขอบเขต มันคิดจินตนาการของมันไปมหา- ศาล ความที่คิดไปมหาศาล เห็นไหม

“ศีล คือ ความปกติของใจ” ถ้าใจมันปกติขึ้นมาได้ ศีลมันเป็นวินัยข้อบังคับ เห็นไหม เราว่าเรามีศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ อันนั้นเป็นข้อบังคับ ศีล คือ ความปกติของใจ ตัวศีล คือตัวจิต “ศีล - อธิศีล” ดูสิ ที่เราอาราธนาขอศีล หรือวิรัติเอาเพื่อเป็นศีลของเรา

เวลาเป็นพระอริยบุคคลขึ้นมาแต่ละชั้นแต่ละตอน มีศีลโดย “อธิศีล ศีลโดยจิต” เพราะจิตมันจะกระดิกพลิกแพลงอย่างไร มันก็เท่าทันความรู้สึกความนึกคิด ถ้ามันเท่าทันความรู้สึกความนึกคิด สิ่งใดล่ะที่มันจะผิดทำนองคลองธรรม นี่คืออธิศีล

ศีลมันเกิดขึ้นมาจากหัวใจ เกิดจากการฝึกฝนของเรา ฝึกฝนจนมันเป็นความจริงของมันขึ้นมา อันนั้นคือศีลที่อยู่ในหัวใจของเรา

ฉะนั้นเราอยู่ในสังคม มันต้องพึ่งพาอาศัยกัน เราต้องอาศัยกันในสังคม มันเป็นโลกธรรม ๘ มีสรรเสริญนินทา แต่ถ้าเรามีสติปัญญาของเราขึ้นมา เราจะมาแก้ไขของเรา เรากดปุ่มตัวเองได้ เราจะกดปุ่มให้คะแนนตัวเองเท่าไรก็ได้ เราจะกดปุ่มลดคะแนนตัวเองก็ได้

เวลาความคิดมันเกิดขึ้นมานี่ไง เวลาความคิด ความทุกข์ ความยาก มันเกิดขึ้นมาจากหัวใจของเรา มันเป็นการอิงกัน มันอาศัยสังคมถ้าสังคมเขาติฉินนินทา สังคมเขาทำร้ายเรา เราก็มีความเสียใจ แต่ถ้าสังคมเขายกย่องสรรเสริญ มันก็ฟูขึ้นมา เห็นไหม เราอาศัยอย่างนั้นมากดให้คะแนนหัวใจ

แต่ถ้าเรากดของเราเองล่ะ ถ้าเรากดของเราเอง ถ้าเราทำความปกติของใจ สังคมนี้ คือ โลกธรรม ๘ สรรเสริญนินทามันก็เรื่องของโลกเขา เป็นจริงหรือไม่เป็นจริงนั้นอีกเรื่องหนึ่ง สังคมเขาสรรเสริญนินทาด้วยข้อมูลที่เขาได้ของเขามา แต่เราเองเราจะรู้ว่า เราเป็นอย่างนั้นไหม เราเป็นอย่างที่เขาบอกไหม เราเป็นอย่างที่เขาพูดไหม

ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะขึ้นมา มีศีล คือ ความปกติของใจ ถ้าใจเราปกติ เรากดปุ่มให้คะแนนตัวเราเองได้ ถ้ากดปุ่มให้คะแนนตัวเองได้ เกิดจากอะไร เกิดจากเรามีปัญญา เกิดจากเราสร้างปัญญาของเราขึ้นมา แล้วมันเป็นปัจจุบันหรือยัง ยังหรอก..

ถ้ามันเป็นปัจจุบัน เห็นไหม พุทโธๆ นี่เป็นปัจจุบัน พุทโธๆๆๆเพราะอะไร เพราะมันไม่เคลื่อนไป พุทโธๆๆ ถ้ามันยังเป็นคำบริกรรมอยู่ มันก็เป็นอดีต - อนาคตอยู่เหมือนกัน เพราะเราวิตกวิจารขึ้นมา

พุทโธๆๆๆ จนพุทโธกับจิตเป็นเนื้อเดียวกัน นี่ถึงจะเป็นปัจจุบัน เป็นปัจจุบันในขั้นของสมถะ

เวลาความคิดของเราเกิดขึ้นมา เห็นไหม ความคิดความนึกของเราเกิดขึ้นมา นี่คือสังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง มันเป็นปัญญาในโลกียปัญญา ปัญญาเกิดจากโลก ปัญญาเกิดจากการศึกษาเล่าเรียนมันเป็นความจำ เพราะมีตัณหาทะยานอยากเป็นแรงขับที่เกิดจากข้อมูลนั้น มันก็ขับไป มันไม่สะอาดบริสุทธิ์ เห็นไหม

พุทโธๆๆๆ จนจิตเราสะอาด จิตเราเป็นปัจจุบัน พอจิตเราเป็นปัจจุบัน แล้วถ้ามันออกรู้

คำว่า “ออกรู้” ถ้าจิตมันเป็นปัจจุบัน เวลาออกรู้มันจะออกรู้ด้วยปัญญา ถ้าปัญญามันเกิดขึ้นมาอย่างนั้น ปัจจุบันต้องมีสติ มีสมาธิ พอมีสติสมาธิขึ้นมา ถึงจะเป็นปัจจุบัน พอเป็นปัจจุบันขึ้นมา จะมีความเห็นที่แตกต่าง ความเห็นหรือความคิดมนุษย์เรานี้ ดูสิ เราก็เห็นเรื่องต่างๆ ทั่วไป สิ่งที่เขาสรรเสริญนินทา เราก็เห็น เราก็รู้ แล้วเราก็อยู่กับโลกตลอดไป แต่พอมันรู้จากข้างใน มันรู้จากปัจจุบัน จากภายใน “อ๋อ.. ทำไมมันเป็นอย่างนี้”

ครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติมา เวลาจิตมันเป็นไป ท่านจะเสียใจมาก เสียใจกับตัวเอง “ทำไมเราโง่อย่างนี้ ทำไมเราโง่อย่างนี้” ทุกคนจะรำพึงรำพันขึ้นมา “ทำไมเราโง่อย่างนี้” แต่ถ้ามันเป็นโลกมันจะว่ามันฉลาด มันฉลาดเพราะว่ามันศึกษามา มันเข้าใจไปหมดทุกเรื่อง แต่เวลาปฏิบัติเข้าไปถึงจุดความจริงขึ้นมา ก็จะบอกว่า “ทำไมเราโง่อย่างนี้”

เพราะสิ่งที่ศึกษามามันแตกต่างกัน สิ่งที่เป็น “ความเป็นจริง”มันถอดมันถอน มันลึกซึ้งกว่า แล้วจะบอกใครได้ล่ะ จะบอกใครได้ถ้าบอกครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติ ที่ท่านมีจิตใจที่สูงกว่าเราที่ท่านผ่านไปแล้วนี่บอกได้ แต่ถ้าไปบอกคนอื่นนะ “เหมือนกันๆ ”มันก็เหมือนกันโดยการคาดหมาย

การที่เราอยู่กับสังคม เราต้องการความสุข ทุกคนปรารถนาความสุข เราทำบุญกุศลกันเพื่อความสุขของเรา การเสียสละนี้เป็นความสุขนะ

ดูสิ เราเป็นผู้เสียสละให้ เห็นไหม ถ้าทางวิทยาศาสตร์จะบอกว่าผู้รับคือผู้ได้ผลประโยชน์ ผู้เสียสละคือผู้เสียผลประโยชน์ แล้วถ้าเราคิดว่า ใครทำบุญกุศลมีแต่ขาดทุนสูญดอก มันจะขาดจากเราไปคำว่าได้รับนี่นะ มันได้รับการจุนเจือ มันเป็นผลบุญผลกรรม สิ่งต่างๆ นี้มันจะมีผลต่อกันทั้งนั้น

ฉะนั้นเวลาที่เป็นผู้ให้ มันจะมีความสุขมากกว่า ผู้รับเขามีความอัตคัดขัดสนของเขา เวลาเราทำบุญกุศลกับครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม กับพระ กับเณร สิ่งนี้มันเป็นปฏิคาหก ผู้ให้ก็ให้ด้วยความบริสุทธิ์ ผู้รับก็รับด้วยความบริสุทธิ์

ดูสิ เวลาเราอยู่ทางโลก สิ่งต่างๆ ที่เราแลกเปลี่ยนมา สิ่งนั้นมันสะอาดบริสุทธิ์ไหม...ไม่ สิ่งนั้นไม่สะอาดบริสุทธิ์เลย ขณะที่เรามีการแลกเปลี่ยน เรามีการซื้อหาสินค้า มันไม่มีก็คือหมดไป แต่อันนี้มันสะอาดบริสุทธิ์เพราะอะไร สะอาดบริสุทธิ์เพราะเราให้ด้วยความบริสุทธิ์ ผู้รับก็รับด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ สิ่งนั้นเป็นบุญกุศลของเขา เป็นเนื้อนาบุญของโลก

“สิ่งที่เราได้พึ่งพาอาศัย คือ ปัจจัย ๔” ปัจจัย ๔ นี้เป็นวัตถุ แต่นามธรรมล่ะ แต่สิ่งที่หัวใจมันเสียสละไปนั้นล่ะ สิ่งนี้คือบุญกุศลบุญกุศลมันเกิดจากหัวใจ ผู้เสียสละก็เพื่อให้มีความสุข

สิ่งของนั้น คุณค่าของมันจะมากน้อยขนาดไหน แต่ถ้าจิตใจเรามีความสุข จิตใจเรามีความพอใจ มันมีคุณค่ามากกว่านั้น

ผู้ให้ก็เป็นผู้ให้ที่ฉลาด ผู้ให้ที่ไม่ฉลาดมันให้ไปเพื่ออะไร เห็นไหมที่เขาว่า “ค้ากำไรเกินควร” เวลาที่เขาตั้งปรารถนากัน นั่นมันเรื่องของความปรารถนา แต่เรื่องของบุญกุศล กรรมใหม่-กรรมเก่า มันจะมีกรรมแตกต่างหลากหลาย

“เราเสียสละของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา” นี่คือผู้ให้ เราคือผู้ให้ให้เพื่ออะไร ให้เพื่อจะมีจิตใจเข้มแข็งขึ้นมา การเสียสละทาน ความตระหนี่ถี่เหนียว ความคับข้องหมองใจ ให้มันเสียสละออกไป ให้เกิดความตกตะกอน พอตกผลึกในใจเพราะ มันเสียสละจนมันควรแก่การงาน

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเทศนา “อนุปุพพิกถา” จะพูดถึงเรื่องของทานก่อน แล้วพูดเรื่องผลตอบสนอง เห็นไหม ผู้ให้ พอเสียสละขึ้นมา จิตใจมันเบาขึ้นมา เวลาเกิดก็ไปเกิดบนสวรรค์ เห็นไหม บนสวรรค์มันก็ยังเวียนตายเวียนเกิด แล้วให้ถือเนกขัมมะ คือถือพรหมจรรย์ ถือพรหมจรรย์เพื่อให้ถึงที่สุด

เหมือนกับเราได้เหล็กมา แล้วเราไปเจอเงิน เราก็ทิ้งเหล็กไปเอาเงิน พอเราเจอทองคำ เราก็ทิ้งเงินไปเอาทองคำ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าหัวใจมันพัฒนาขึ้นมา มันจะเข้าใจของมัน“การทำบุญร้อยหนพันหน ไม่เท่าถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง มีศีลบริสุทธิ์ร้อยหนพันหน ไม่เท่าจิตสงบหนหนึ่ง จิตสงบร้อยหนพันหน ไม่เท่ามีปัญญาหนหนึ่ง”

เห็นไหม มันเกี่ยวเนื่องต่อเนื่องกันขึ้นไปอย่างไร จิตใจมันต่อเนื่องเกี่ยวเนื่อง มีพัฒนาการของมันขึ้นไปอย่างไร มันถึงจะเป็นอย่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “จิตใจที่ควรแก่การงาน” พอจิตใจที่ควรแก่การงานมันเกี่ยวเนื่อง พอมันมีความพร้อมของมันเห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงจะเทศน์ “อริยสัจ” ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

“ทุกข์” เราก็บอกว่า “พุทธศาสนาเป็นทุกข์นิยม”

ไม่ใช่ ! แต่เป็นสัจนิยม.. เป็นความจริง..

ดูสิ ถึงเราจะมั่งมีศรีสุข ถึงเราจะอยู่กับปัจจัยเครื่องอาศัยมากน้อยขนาดไหน แล้วจิตใจเรากังวลไหม จิตใจเรามีอะไรขวักไขว่ในหัวใจไหม

ทุกข์อย่างหยาบ.. ทุกข์อย่างละเอียด.. ทุกข์อย่างหยาบ คนที่ทุกข์จนเข็ญใจ เขาก็แสวงหาปัจจัยเครื่องอาศัยของเขา เขาก็ทุกข์ของเขา ไอ้เรามั่งมีศรีสุข มีเงินทองเต็มบ้าน เราก็ทุกข์ของเรา แล้วคนที่มีอำนาจวาสนาขนาดไหน มันก็ทุกข์ไปอีกอย่างหนึ่ง คนเรามันทุกข์ไปทั้งนั้น !

“ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง”

แล้วทุกข์ของใคร...

เราทุกข์จนเข็ญใจ เราก็ไปแสวงหาปัจจัย ๔

แล้วอย่างที่เขาบอกว่า “โอ๊ย..ฉันมีมากมาย ฉันไม่ทุกข์”

ไม่ทุกข์แล้วไปวิตกกังวลทำไมว่า สมบัติจะไม่มีใครดูแลรักษา

ทุกข์ทั้งนั้น ! ไม่มีใครไม่ทุกข์ !

ถ้าจิตใจมันควรแก่การงาน มันจะมองออกไปว่า ทุกข์ของใครทุกข์เป็นอย่างไร เห็นไหม ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ถ้าเกิดเราเห็นสิ่งต่างๆ เป็นทุกข์ มันเป็นสัจจะ สิ่งต่างๆ มันเสมอภาคกัน คนทุกคนแตกต่างกัน แต่มันเสมอภาคกันด้วยสัจจะความจริง แล้วเราจะมีสติปัญญาย้อนกลับมาดูแลจิตของเราว่าเป็นอย่างไร ก็ย้อนกลับมาด้วยจิต เห็นไหม

คำว่า “ปัจจุบัน” นั้น เพราะว่าปัจจุบันของเด็กเล่นขายของ มันก็เป็นปัจจุบันของมัน ผู้ใหญ่ทำธุรกิจการค้า มันก็เป็นปัจจุบันของเขาจิตของเราพอพัฒนาขึ้น มันจะเห็นความแตกต่างอย่างนี้เลย

เห็นไหม เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติไป จิตใจที่สูงกว่าจะดึงจิตใจที่ต่ำกว่าขึ้นมา ไอ้ที่ต่ำกว่าก็ว่า “โอ้โฮ ! มันสุดยอดแล้วนะ..” เหมือนเราปีนเขาแต่ยังไม่ถึงยอดเขา มันก็ยังไปได้เรื่อยๆ มันยังไปได้อยู่ตลอดเวลา ถ้าเราปีนถึงยอดสุดเมื่อไร เราขึ้นอยู่บนยอดเขา ยอดเขาจะสูงส่งขนาดไหน มันก็อยู่ใต้ฝ่าเท้าเรา เพราะเราไปเหยียบอยู่บนยอดเขานั้น

จิตใจก็เหมือนกัน ถ้ามันพัฒนาการของมันขึ้นไป จะละเอียดลึกซึ้งขนาดไหน เราก็ทำของเราไป เราก็ทำของเราไปเรื่อยๆ ทีนี้มันละเอียดลึกซึ้งขึ้นมาแล้ว ถ้าวุฒิภาวะมันไม่พอ มันก็พอใจของมัน ถ้าวุฒิภาวะมันพอ มันจะพัฒนาการของมัน จนพัฒนาการถึงที่สุด

นี่ไง ที่บอกว่า พระโพธิสัตว์ยังต้องสร้างมา ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจะเป็นพระอรหันต์ ต้องสร้างมาแสนกัป

ถ้ามี “วุฒิภาวะ” มันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน มันจะพัฒนาการของมัน มันจะขวนขวายของมัน มันจะทำของมัน

ถ้าไม่ถึงที่สิ้นสุด แต่มันก็มีกระบวนการของมัน มันจะทำของมันไปเรื่อยๆ ถ้ามันมีกระบวนการของมันไป มันมาจากไหน...มันมาจากอำนาจวาสนาของเรานี่ไง มันมาจากการที่เราอุทิศส่วนกุศลกันนี่ไง เราพยายามทำคุณงามความดีของเรา นี่ไง ความดีอันนี้มันตกผลึกมาในหัวใจเรา

เราสังเกตได้ไหม สังคมโลกนี้ ดูสิ เวลาเกิดข้อมูลข่าวสารต่างๆ เรามองออกไปสิ ทำไมบางคนคิดไม่ได้ แต่บางคนคิดได้ บางคนเห็นแล้วไม่ทำ บางคนเห็นแล้วเออออไปกับเขา นี่มันเกิดจากอะไร มันเกิดจากหัวใจนี่ไง มันเกิดจากวุฒิภาวะนี่ไง

ถ้าวุฒิภาวะที่มันมีอำนาจวาสนาบารมี มันจะแบ่งแยกได้ถูกอะไรผิด อะไรถูก มันเข้าใจได้ แต่นี่อะไรผิดอะไรถูก เราก็เข้าใจไม่ได้เลย เราเข้าใจอะไรผิดอะไรถูกไม่ได้เลย แล้วแต่คนจะชักจูงกันไปถ้าคนชักจูงโดยข้อมูลข่าวสาร แล้วก็ไปกับเขาได้ ถ้าเราไม่มีสติปัญญา ของเรา

สติปัญญามันเกิดมาจากไหน ถ้าเราศึกษามาก็เป็น “สุตมย-ปัญญา” ก็เก็บจำเอามาทั้งนั้น

ปัญญามันเกิดจากปฏิภาณไหวพริบ มันแยกผิดแยกถูกได้ ถ้า มันแยกผิดแยกถูกได้ มันเกิดมาจากไหน มันมีที่มาที่ไปหมดนะ เราถึงต้องมีการกระทำ ต้องมีการขวนขวาย มีการแสวงหา มันจะเกิดจากวุฒิภาวะของเรา เกิดจากจิตของเรา

ดูเวลาฟังเทศน์สิ เวลาเราเทศน์ บางคนบอกว่า “ฟังไม่รู้เรื่องเลย” แต่ถ้าบอกว่า ทำบุญแล้วจะได้สวรรค์ ได้วิมาน ๕ ชั้น ๑๐ ชั้น “เอ้อ.. เข้าใจๆ ล่ะ” มันเข้าใจกันหมดเลย

แต่เวลาเข้ามาที่อริยสัจ เข้ามาถึงสัจจะความจริง เข้ามาถอดถอนในหัวใจของมันนะ “พูดอะไรก็ไม่รู้เรื่องเลย” เห็นไหม

“ยอดของเจดีย์มันมีน้อย” คนที่จะทำคุณงามความดี คนที่มีวุฒิภาวะในหัวใจจะมีน้อย ไม่ต้องไปเสียอกเสียใจ เราจะอยู่ส่วนไหนของสังคม เราจะอยู่อย่างไหน หัวใจเราจะพัฒนาขนาดไหน

เวลาใจเราพัฒนาขึ้นแล้ว มันจะอยากฟังเทศน์ที่มันละเอียดกว่านั้น..ละเอียดกว่านั้น.. “บอกมาสิ.. ทำอย่างไรบอกมา.. มีครูบาอาจารย์ที่ไหนให้บอกมา.. จะทำอย่างไรให้บอกมา..จะทำให้ได้ แต่ก็ไม่มีใคร บอก..” เห็นไหม แต่เวลาเรื่องพื้นๆ “โอ้โฮ ! ทำบุญแล้วได้สวรรค์ ๕ ชั้นนะ” จนวิมานมีไม่พอให้อาศัยเลย.. ก็คุยกันไป

มันเป็นอนิจจังทั้งหมด มันเป็นผลของวัฏฏะ ส่วนอริยสัจ สัจจะความจริง มันละเอียดกว่านั้น มันดีกว่านั้น ถ้ามันดีกว่านั้น เราทำบุญกุศลนี้เพื่อตัวเรา เพื่อสัจจะของเรา เพื่อความดีของเรา

ถ้าเพื่อความดีของเรานะ มันจะทุกข์ มันจะยาก เราก็จะขวนขวาย ของเรา ครูบาอาจารย์ท่านพูดประจำ “ใครจะดี ใครจะชั่ว มันเรื่องของเขา แต่เราจะทำความดีว่ะ เราจะทำความดี เราจะทำเพื่อเรานี่” เห็นไหมเราเสียสละของเราก็เพื่อเรา เห็นๆ กันอยู่นี่ เราทำเพื่อเรา แล้วจิตใจเราเป็นอย่างไร ถ้าจิตใจเราเป็นอย่างนี้ เราจะพัฒนาไหม

เวลาออกไป กลับบ้านกลับเรือนไป ทุกข์ไหม...ทุกข์ ทุกข์เพราะอะไร เพราะเราเกิดเป็นมนุษย์แล้ว แม้แต่ลมหายใจ มันก็ทุกข์นะหายใจเข้า-หายใจออก เห็นไหม แล้วยังมีหน้าที่การงานที่เราต้องรับผิดชอบอีก คนที่มีวุฒิภาวะมากก็รับผิดชอบมาก รับผิดชอบมากก็ขวนขวายมาก คนที่วุฒิภาวะน้อย “นู่นก็ไม่เป็นไร นี่ก็ไม่เป็นไร” มันก็เป็นภาระของผู้ที่มีวุฒิภาวะคอยดูแลรักษา

เห็นไหม สังคมเป็นอย่างนั้น มีความเห็นแตกต่างหลากหลายกัน เราก็รักษาใจของเรา เราจะทำคุณงามความดีว่ะ เราจะทำคุณงามความดีเพื่อใจของเรา เพื่อพัฒนาการของจิตเรา ใครจะทำอย่างไรเรื่องของเขา เราจะทำคุณงามความดี เอวัง