ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ฟังแต่ไม่รู้

๓ เม.ย. ๒๕๕๓

ฟังแต่ไม่รู้

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบปัญหาธรรม วันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๓ 

วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง .โพธาราม .ราชบุรี

 

คำถามมาจากเว็บไซต์ เขาเขียนมาแล้วก็โทรมาย้ำด้วย

ถาม :            ได้ฟังเทศน์คำถามคำตอบจากมุมมองกับความจริง เมื่อวันที่ ๒๗ แล้วค่ะ เสียใจมากที่ท่านอาจารย์บอกว่า สะเทือนใจมาก แต่ที่ถามไม่ใช่เรื่องนิพพานคืออะไรนะคะ ที่เป็นคำถามคือพระ......น่ะแหละ กับเจ้าคุณ......น่ะ ท่านว่าสัพเพ สังขารา อนิจจา สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ นั้น ธรรมที่ไม่เป็นอนิจจาแต่เป็นอนัตตานั้นคือวิญญาณ แล้วเจ้าคุณ......อธิบายไปมากมาย ข้าน้อยจึงกราบเรียนท่านอาจารย์ว่า ความจริงที่ถูกต้อง ความจริงที่ถูกของท่านคือไม่ใช่วิญญาณใช่ไหมคะ และที่จริงคืออวิชชาใช่หรือไม่คะ กรุณาตอบด้วย

หลวงพ่อ :     อันนี้จะตอบเป็น ๒-๓ ประเด็นนะ ประเด็นหนึ่งที่บอกว่าเรากระเทือนใจมาก ในตอนนั้น เขาเขียนมาจากครูบาอาจารย์เรา ที่คำว่าสะเทือนใจเรา เราสะเทือนใจจริงๆ นะ เวลาลูกศิษย์ลูกหาอยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ พออยู่ใกล้ครูบาอาจารย์เราจะคิดของเราเองว่า พวกนี้จะมีภูมิคุ้มกัน ภูมิคุ้มกันหมายถึงว่าถ้าอยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์จะเทศนาว่าการ ครูบาอาจารย์จะดูแล มันจะมีภูมิคุ้มกันตรงนี้ ทีนี้พอมีภูมิคุ้มกัน ถ้ามีคำเทศน์ มีหนังสือที่มาแจกอย่างนี้ ตอนนั้นเขาบอกว่าเราเอาหนังสือพวกนี้ไปแจกที่บ้านตาด แล้วพวกนี้เขาได้รับ พอได้รับก็คิดว่า นิพพานเป็นอัตตาหรือไม่อนัตตานี่แหละเหมือนอาจารย์นี่แหละ พออ่านไปแล้วเขาบอกว่า ความจริงก็ผิดใช่ไหมคะ หรือว่า ความจริง

ไอ้คำนี้ที่บอกว่าเราสะเทือนใจ เราสะเทือนใจตรงนี้ไง ที่ความจริงก็ผิดใช่ไหมคะ คือเราผิดใช่ไหมคะ คำว่าผิดใช่ไหมคะเพราะทางวิชาการอธิบายแล้วใช่ไหม พออธิบายแล้วเราอ่านมาก แล้วเราก็จะเชื่อตามวิชาการนั้น หรือว่ามีเหตุโน้มน้าวเราไป พอโน้มน้าวเราไปทำให้เราคลอนแคลนใช่ไหม พอเราคลอนแคลนก็จะบอกว่า พวกเรานี่ผิดใช่ไหมคะ ไอ้ที่ว่ามันสะเทือนใจ มันสะเทือนใจตรงนี้ไง พอบอกว่าอาจารย์สะเทือนใจ เขาก็เสียใจมากเหมือนกัน ไอ้คำว่าเสียใจ นั้นไม่ต้องเสียใจ คำว่าสะเทือนใจของเราเพราะเราอ่านคำถามแล้ว เรามีความคิดว่าอย่างนั้นไง

เรามีความคิดว่าอยู่ใกล้ครูบาอาจารย์แล้วทำไมภูมิคุ้มกันไม่มี ภูมิคุ้มกันหมายถึงว่าสิ่งที่เขาเสนอทางวิชาการมา เราภาคปฏิบัติเราได้ศึกษามาแล้ว เราควรจะมีภูมิคุ้มกันของเรา คือสิ่งนั้นมันไม่ถูกต้อง เราก็เข้าใจได้เพราะเราอยู่ใกล้ครูบาอาจารย์เราไง อันนี้พอบอกว่าเราก็ผิดใช่ไหมคะ หรือว่าความผิดนี้มันผิดใช่ไหมคะ เหมือนกับภูมิคุ้มกันเราไม่มีเลยไง ที่คำว่าสะเทือนใจ คือสะเทือนใจตรงนี้ อันนี้แต่ถ้าเขาบอกว่ามันไม่ใช่ถามเรื่องนิพพาน ทีนี้มาถามเรื่อง สัพเพ สังขารา อนิจจา สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ ไอ้กรณีอย่างนี้ เห็นไหม กรณีอย่างนี้คือว่านี่คำถามนะ แต่กรณีที่เขามีปัญหากัน เพราะเขาบอกว่า พระ......เขาบอกว่า สัพเพ ธัมมา ขันธ์ ๔ ถึงเป็นอนิจจา แต่เขาบอกว่ายกวิญญาณมาล้วนๆ ยกวิญญาณมาหนึ่งเดียว วิญญาณถึงจะเป็นวิญญาณหนึ่งเดียว แบบว่าขันธ์ ๕ไง สัพเพ ธัมมา อนัตตา ขันธ์ ๕ต้องเป็นอนัตตา แต่เขาบอกว่าพอวิญญาณมันพ้นจากอนัตตาไปมันเป็นธรรมอะไรของเขาก็ว่าไป ก็เถียงกันตลอดไปไง

ฉะนั้น มันไม่มีหรอก มันไม่มีว่า ขันธ์ ๕ ก็คือขันธ์ ๕ใช่ไหม รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ วิญญาณน่ะ จะยกวิญญาณมาเดี่ยวๆ ไม่ได้ ถ้ายกวิญญาณมาเดี่ยวๆ วิญญาณเดี่ยวๆ เราไม่มีนะ วิญญาณเดี่ยวๆ เราไม่มี เพราะว่าแม้แต่วิญญาณความรู้สึกนั้นมันก็ต้องมีข้อมูลในความรู้สึกนั้น ไม่อย่างนั้นเราจะรู้สึกได้อย่างไร เพราะว่าในขันธ์ ๕ ในรูปมันก็มีขันธ์ ๕ ในเวทนามันก็มีขันธ์ ๕ ในสัญญาก็มีขันธ์ ๕ ในสังขารก็มีขันธ์ ๕ ในวิญญาณก็มีขันธ์ ๕ไง ถ้าในวิญญาณไม่มีขันธ์ ๕ แล้ววิญญาณจะรับรู้ได้อย่างไร

ฉะนั้น บอกว่า เวลาเขายก บอกขันธ์ ๔ เป็นอย่างนั้น เพราะหนังสือเล่มนี้เราก็ได้อ่านแล้ว พอเขายกอะไรกันไป ไอ้นี่เราจะบอกว่ามันเป็นนกแก้วนกขุนทอง คำว่านกแก้วนกขุนทองหมายถึงว่าศึกษาทางวิชาการมามากขนาดไหน ก็พูดกันไปทางวิชาการ แต่ความจริงมันยังไม่ประสบ เห็นไหม มันก็ไม่รู้ อย่างนกแก้วนกขุนทอง เห็นไหม ดูสิ แม่จ๋า แม่จ๋า ให้กินแต่กล้วย กินแต่กล้วย นกขุนทองมันคิดว่าแม่จ๋าคือกล้วยนะ เพราะว่าพูดคำว่าแม่จ๋ามันก็ได้กล้วยทันที เห็นไหม มันเป็นสมมุติคำหนึ่งไง สมมุติว่าแม่จ๋า แต่เวลาเราได้ผลตอบแทนคือกล้วย เห็นไหม

ปริยัติก็เหมือนกัน ปริยัติเวลาศึกษา จะขันธ์ ๔ ขันธ์ ๕ อะไรก็แล้วแต่ เขาบอกว่าแล้วยกมาเดี่ยวๆ ยกมาทั้งขันธ์ ๔ นั่นเป็นเรื่องของเขา ไปทางวิชาการไง ถ้าทางวิชาการน่ะมันจะพูดได้ เปรียบเทียบนะ เปรียบเทียบเหมือนในปัจจุบันนี้ เราบอกว่าบะหมี่สำเร็จรูป ทุกคนก็เข้าใจได้ว่า บะหมี่สำเร็จรูปเนี่ย เราไปซื้อมาจากร้าน จริงไหม บะหมี่สำเร็จรูปทุกคนก็รู้จักได้ เพราะอะไร เพราะว่าบะหมี่สำเร็จรูปมันมีอยู่แล้วในร้านค้า ทีนี้ในพระไตรปิฎกก็พูดถึงบะหมี่ บะหมี่ แต่คำว่าบะหมี่มันไม่ใช่บะหมี่สำเร็จรูป เพราะบะหมี่สำเร็จรูปมันเพิ่งมีสมัยเมื่อไม่กี่ปีนี้ใช่ไหม แต่ถ้าเป็นบะหมี่ในพระไตรปิฎก บะหมี่นั้นก็แสดงว่าเราจะต้องทำนา ต้องได้ข้าวสาลีมาก่อน พอได้ข้าวสาลีเราก็ทำแป้งมาก่อน พอเราได้แป้งแล้วเราต้องมานวดแป้ง กว่าเราจะได้บะหมี่ขึ้นมามันต้องมีการกระทำไง นี่เราจะแยกเห็นว่าปฏิบัติกับปริยัติไง

ถ้าปริยัติเห็นไหม บะหมี่เราก็ โอ้โฮ ง่ายๆ หาที่ไหนก็ได้ นี่เราบอกปริยัติ เห็นไหม ปริยัติ เพราะว่าพระไตรปิฎกมาศึกษาแล้วมันก็ง่าย ใช่ไหม ศึกษามาแล้วเราเข้าใจได้ เราเข้าใจได้ เราไปร้านค้าเราก็เอาบะหมี่ เราก็เอามา เราก็เห็นได้ว่ามันอยู่ในซองจริงๆ แต่ถ้าในภาคปฏิบัติมันไม่เป็นอย่างนั้น ขันธ์ ๕ ในระหว่างภาคปฏิบัติขึ้นมามันเกี่ยวเนื่องกันใช่ไหม ถ้าไม่มีข้าวสาลีก็ไม่มีแป้งสาลี ไม่มีแป้งสาลีมันก็ไม่มีการนวดแป้งขึ้นมาเป็นเส้นบะหมี่ขึ้นมาได้ เพราะเส้นหมี่มันเกี่ยวเนื่องกันมา เห็นไหม เพราะฉะนั้นจะบอกว่าจะแยกเฉยๆ ไง บอกว่าวิญญาณโดดๆ วิญญาณดวงที่ไม่มีขันธ์ ๕ วิญญาณโดดๆ มันมีได้ แต่มีได้ต้องพูดให้ถูก วิญญาณโดดๆ มีได้คือสัมมาสมาธิ

จิตสงบหนึ่งเดียวนี่จิตเดิมแท้ วิญญาณโดดๆ วิญญาณโดดๆ ทำงานได้ไหม วิญญาณโดดๆ ทำงานได้ไหม จิตเป็นสมาธิ เวลาเข้าสมาธิ ติดสมาธิแล้วก็คิดว่านิพพานนี่ ทำงานได้ไหม วิญญาณโดดๆ ทำงานไม่ได้ พอเป็นพลังงาน เห็นไหม เป็นตัวสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิเวลาออกรู้ เห็นไหม ออกรู้นี่ใช้อะไร ออกรู้มันก็เป็นขันธ์ ๕ อีกแล้ว แต่ขันธ์ ๕ นี่มันมีสมาธิรองรับ แต่โดยปกติมันเริ่มต้นจากในภาคปฏิบัตินะ

อย่างเช่นรถ พอจะประกอบขึ้นมาเป็นรถได้ เห็นไหม เวลารถอยู่ในเกียร์จะติดเครื่องไม่ได้ เราต้องปลดเกียร์ว่าง เวลารถปลดเกียร์ว่างเสร็จแล้ว ถ้าเราไม่ใส่เกียร์มันก็ไปไม่ได้ มนุษย์เหมือนรถประกอบเสร็จ พอรถประกอบเสร็จเป็นรถหนึ่งคัน เห็นไหม รถประกอบเสร็จทางเทคโนโลยีเขาประกอบไว้เป็นรถหนึ่งคัน มนุษย์ประกอบมาด้วยกรรม ถ้ามันมีกรรม พอเราเกิดเป็นมนุษย์คือรถคันหนึ่ง เกิดเป็นมนุษย์เพราะอะไร เพราะเด็กทารกก็มีความคิดแล้ว เด็กทารกมันก็ร้องต่อรองแล้ว เด็กทารกมันยังร้องต่อรองเลย มันจะร้องไห้ มันจะเอาแต่ใจมัน มันเอาการร้องไห้มาต่อรองกับพ่อแม่มัน เห็นไหม พอการต่อรองนะ รถนี่มันอยู่ในเกียร์ตลอดเวลา

ทีนี้พอความคิดของเรา คำว่าขันธ์ ๕ ความคิด เห็นไหม ความคิดเป็นขันธ์ ๕ เพราะว่าเวลาขันธ์ ๕ นี่พอมันอยู่ในขันธ์มันก็เป็นโลกียปัญญา เราถึงต้องทำความสงบของใจ เห็นไหม พอทำความสงบของใจเข้ามา นี่คือจิตโดดๆ วิญญาณหนึ่งเดียวไง ทีนี้พอเป็นวิญญาณหนึ่งเดียวกับขันธ์ ๕ ทีนี้พอขันธ์ ๕ นี่มันแยกผิดไง มันแยกผิดว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ วิญญาณที่เป็นคำในขันธ์ ๕ มันเป็นวิญญาณอายตนะ เป็นวิญญาณสามัญสำนึกของพวกเรานี้ ทีนี้ในวิญญาณสามัญสำนึก วิญญาณในขันธ์ ๕ กับวิญญาณในปฏิจจสมุปบาท เห็นไหม อวิชชา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญานัง  วิญญาณเห็นไหม วิญญาณยังมีหยาบมีละเอียดอีกนะ แล้วบอกว่าวิญญาณโดดๆ วิญญาณโดดๆ เพราะคำว่าปริยัติมันบะหมี่สำเร็จรูปไง บะหมี่คือบะหมี่ไง วิญญาณคือวิญญาณไง แล้ววิญญาณในขั้นตอนไหน ทีนี้วิญญาณมันคนละขั้นตอน

ทีนี้บอกว่า สัพเพ สังขารา อนิจจา สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ เขาจะให้อธิบายว่ามันไม่ใช่วิญญาณใช่ไหม เพราะคำว่าวิญญาณนี้ เพราะพระ......เขายกวิญญาณขึ้นมาโดดๆ แล้วเขาบอกว่าสิ่งนั้น สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ เพราะว่าที่เขาเถียงกัน เขาเถียงกันว่านิพพานคืออะไร เพราะเริ่มต้นคนหนึ่งบอกว่านิพพานเป็นอัตตา อีกฝ่ายหนึ่งบอกนิพพานเป็นอนัตตา แล้วหลวงตามาเสนอว่านิพพานเป็นนิพพาน เพราะฉะนั้นเราจะบอกว่าคำถามนี่มันเกี่ยวเนื่องกันมา แล้วบอกว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ มันไม่ใช่อนัตตา พอเขาบอกว่าไม่ใช่อนัตตา ไม่ใช่อนัตตามันหมายความว่าอะไร มันหมายความว่าวิญญาณอย่างที่เขายกมาหรือเปล่า หรือมันเป็นอวิชชาแบบที่ผู้ถามนี้ ผู้ถามนี้เขาบอกว่า ถ้าเป็นอนัตตาตินี่มันไม่ใช่อนัตตา ถ้ามันไม่ใช่อนัตตา มันคืออะไร เขาบอกว่ามันไม่ใช่วิญญาณใช่ไหมคะ เพราะทางโน้นเขาอ้างว่าเป็นวิญญาณ แล้วทางนี้บอกว่าเป็นอวิชชาใช่ไหมคะ ไม่ใช่ทั้งคู่เลย ไม่ใช่ทั้งคู่เพราะอะไร

เห็นไหม สัพเพ ธัมมา อนิจจา คำว่าอนิจจา เห็นไหม เวลาพวกดูจิตเขาบอกว่า สติก็เป็นอนัตตา สมาธิก็เป็นอนัตตา ทุกอย่างเป็นอนัตตา พอเป็นอนัตตามันก็ไม่มี ก็ไม่มีอะไรแล้ว เราบอกไม่ใช่ มันเป็นอนิจจังต่างหาก ไม่ได้เป็นอนิจจา มันเป็นอนิจจัง สิ่งที่เป็นอนิจจังมันไม่คงที่ มันแปรปรวน มันไม่ใช่อนัตตา ทีนี้บอกว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ เห็นไหม เขาบอกว่าธรรมะนี่ไม่ใช่อนัตตา อนัตตาติ อนัตตาติคืออะไร เขาถามว่านี่คืออะไร อนัตตาติมันเป็นทำวัตรเช้า ทำวัตรเช้าเขาเรียก รูปัง อนิจจัง เวทนา อนิจจา สังขารา อนิจจา วิญญา อนิจจา มันเป็นอนิจจังไปทั้งหมด พอเป็นอนิจจังไปแล้ว สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ เห็นไหม สัพเพ ธัมมา อนิจจัง สิ่งที่เป็นอนิจจัง ขบวนการของมันคือมันเป็นอนิจจัง พอเป็นอนิจจังปั๊บ ถ้าสภาพมันเป็น มันเข้าใจ มันพิจารณาของมันมาแล้วเนี่ย มันถึงว่าไม่ใช่อนัตตา สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ มันไม่ใช่อนัตตา ถ้ามันไม่ใช่อนัตตาแสดงว่าขบวนการมันทำงานของมันจบแล้วไง ถ้าขบวนการของมันทำจบแล้ว มันทำขบวนการจบแล้ว มันถึงไม่ใช่อวิชชา ถ้าเป็นอวิชชานะ มันก็ผิดมาตั้งแต่ต้นไง

นี่จะบอก คำถามเขาบอกว่า ถ้ามันไม่ใช่อนิจจัง มันไม่ใช่อนัตตา แล้วมันคืออะไร คำถามก็คือว่ามันคืออะไรไง มันคืออะไร เขาบอกว่า แล้วฝ่ายหนึ่งเขาบอกว่า ถ้าขันธ์ ๕ ไม่ใช่ เขาถึงยกวิญญาณขึ้นมาเลย บอกมันเป็นวิญญาณ แต่ผู้ที่อธิบาย คือ......เขาอธิบายแบบว่าไม่ใช่ทั้งหมด ไม่ใช่ทั้งหมด แต่ไม่ใช่อะไรก็ไม่บอกว่าคืออะไรเหมือนกัน เพราะหนังสือก็อ่านแล้วมันอธิบายแล้วมันจับต้นชนปลายไม่ถูก จับต้นชนปลายไม่ถูกเพราะคนมันไม่เคยปฏิบัติไง เราถึงบอกว่ากรณีอย่างนี้มันเป็นกรณีที่เขาแบ่งแยกกัน เขาแบ่งแยกกันว่าปริยัติกับปฏิบัติ วิปัสสนาธุระ คันถธุระ

คันถธุระนี่มันเป็นทางวิชาการ มันเป็นการศึกษาธรรมของพระพุทธเจ้านี่เป็นคันถธุระ วิปัสสนา คันถธุระ ปกครองวิปัสสนาธุระ มันก็ยกมาเข้ามาไอ้ที่ว่าวัชชีบุตรไง วัชชีบุตร เห็นไหม ที่บอกว่าน้ำในขัน เห็นไหม ธรรมกถึกเวลาเข้าห้องน้ำแล้ว ใช้น้ำแล้ว น้ำเหลือก้นขันแล้วไม่ได้คว่ำทิ้งก็วางไว้ วินัยธรคือคันถธุระเข้าไปเห็นเข้าก็บอกว่า มันเป็นความผิด ทางวิชาการบอกว่ามันผิดไง เพราะรู้เพราะว่าเขาเรียนกฎหมายมา ว่าถ้าอยู่ในห้องน้ำของเรา ห้องน้ำส่วนตัว เหลือไว้ได้เพราะตัวเองเป็นคนใช้ แต่ถ้าเป็นสาธารณะนี่ไม่ได้เพราะบุคคลอื่นต้องใช้ ดังนั้นต้องคว่ำขันให้หมดเลย เพราะมันเป็นของสาธารณะ มันรังเกียจกัน ถ้าใครเหลือไว้มันจะเป็นอาบัติทุกกฏ

ทีนี้พอคันถธุระเขาไปเห็นเข้า เขาบอกว่านี่ใครเป็นคนเหลือไว้ ธรรมกถึกคือพวกวิปัสสนาธุระ ก็บอกว่า เพราะเราเหลือไว้เอง เพราะเราเหลือไว้เอง หมายความว่าเหลือไว้เองได้ไง เพราะว่าไม่เข้าใจไง คิดว่ามันเอาไว้ได้ไง คือมันไม่ได้ เขาบอกว่านี่มันผิด ถ้ามันผิดผมก็จะแสดงอาบัติ  ถ้ามันผิดนะ เห็นไหม ดูสิ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ถ้ามันผิด ผมจะแสดงอาบัติ แล้วไปคว่ำทิ้ง เพราะผมไม่มีเจตนา ผมไม่เข้าใจ ผมไม่มีเจตนา ผมก็เลยเหลือไว้ ถ้าเหลือไว้ ถ้าไม่มีเจตนา ก็ไม่ผิด นี่ คันถธุระ ถ้าบอกว่ามันเหลือไว้นี่มันผิด ไปบอกว่าผิด ไม่มีเจตนาไม่ครบองค์ไงมันไม่ผิด พอมันไม่ผิดก็แล้วกันไป

พอแล้วกันไปก็ไปบอกว่า แม้ขณะนี้ เห็นไหม เราจะบอกว่า วิปัสสนาธุระอาศัยความรู้สึก อาศัยความเป็นจริง อาศัยความเป็นจริงว่าไม่มีเจตนาคือทำด้วยไม่มีเจตนาเขาบอกว่าไม่ผิด พอไม่ผิดบอกว่า วิปัสสนาบอกว่าแค่นี้ก็ไม่รู้ ของแค่นี้ก็ไม่รู้ แล้วจะไปสอนใคร เราจะบอกว่ามันเป็นเรื่องข้างนอกนะ มันเป็นเรื่องข้อบังคับ แต่ถ้ามันเป็นการปฏิบัติ มันเป็นความรู้สึก มันเป็นเรื่องของหัวใจ ถ้าเรื่องของหัวใจ เห็นไหม ถ้าเรื่องของหัวใจ คันถธุระมันก็เป็นเรื่องวินัย แต่ถ้าเป็นวิปัสสนาธุระ เห็นไหม คันถธุระถึงไม่เข้าใจความเป็นไปของวิปัสสนาธุระ วิปัสสนาธุระเพราะอะไร

เพราะถ้าจิตมันสงบ จิตมันเป็นไป จิตมันเป็นไปอย่างไร แล้วถ้าเกิดมันวิปัสสนามันจะเกิดปัญญาขึ้นมาอย่างไร ถ้ามันเกิดปัญญาขึ้นมา เห็นไหม แล้วพอเกิดปัญญาขึ้นมา เห็นไหม คนที่จะตัดสินกันได้ เห็นไหม เวลาฝ่ายปกครอง เมื่อก่อนสมัยโบราณมันจะมีคันถธุระกับวิปัสสนาธุระ วิปัสสนา พระป่าจะปกครองพระป่ากันเอง ถ้าพระป่าปกครองพระป่า พระป่านั้น พระผู้ที่เป็นพระปกครองนั้น วิปัสสนาธุระต้องมีภูมิ ถ้าไม่มีภูมิมันจะไม่รู้จักเรื่องของสมาธิ มันจะไม่รู้จักการที่จิตออกทำงานอย่างไร ถ้ามันไม่รู้วิธีการทำงานออกไป พอทำงานไปมันจะเข้าตรงนี้ มันจะมาสัพเพ สังขารา อนิจจา ความเป็นอนิจจา ความเป็นอนิจจัง สรรพสิ่งเป็นอนิจจัง ทุกอย่างเป็นอนิจจัง แล้วถ้าเป็นอนิจจังขึ้นมาแล้วนะ สรรพสิ่งเป็นอนิจจังเพราะเราเข้าไปรู้ไปเห็นใช่ไหม มันมีอยู่ เป็นอนิจจัง ถ้าอนิจจังแล้วขบวนการของอนัตตาเกิดได้อย่างไร ถ้าจิตมันไม่สงบมาก่อน ผู้ที่มีการกระทำจะได้เห็นขบวนการอนัตตา แล้วที่สุดเป็นอนัตตาติ มันไม่ใช่อนัตตา แล้วไม่ใช่อนัตตาอย่างไร ถ้าเป็นวิปัสสนาธุระมันจะเข้าใจได้หมดไง

ถ้าเราเป็นคันถธุระ เป็นปริยัติใช่ไหม สรรพสิ่งพวกนี้เป็นสัพเพ ธัมมา มันเป็นอนัตตา อะไรก็เป็นอนัตตา ขอนไม้ผุๆ นี่เป็นอนัตตาไหม ขอนไม้ผุๆ ที่มันย่อยสลายตัวมันเองเป็นอนัตตาไหม อุณหภูมิ อากาศร้อนอากาศหนาวมันเป็นอนัตตาไหม อุณหภูมิเวลาตอนกลางวัน ความร้อนจะขึ้นมา ๓๘-๓๙ องศา เวลาเช้าๆ ขึ้นมาเหลือ ๑๕-๑๖ โอ้โฮ หนาวมากเลย พอไปบ่ายๆ ขึ้นมานี่ออกแล้ว ขึ้นเป็น ๓๐ กว่าแล้ว เป็นอนัตตาไหม เป็นอนัตตาหรือเปล่า ไม่เป็นอนัตตาหรอก จริงไหม นี่ไง สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ มันไม่เป็นอนัตตาเพราะเหตุใด

ถ้ามันเป็นอนัตตา คำว่าสรรพสิ่งทั้งหลายนี้มันเป็นอนัตตา อนัตตาคำว่าเรารู้ เราเห็น เราเข้าใจ  เรารู้ เราเห็น เราเข้าใจ เราสัมผัสได้ มันเป็นอนัตตาเพราะมันมีคนเข้าไปใช้ประโยชน์กับมันได้ใช่ไหม แต่ว่าถ้าเป็นปริยัติใช่ไหม อนัตตามันแปรสภาพไง พอมันแปรสภาพ ขอนไม้ผุๆ นี่เป็นอนัตตาไหม ดูสิ ดูดินโคลนสิ น้ำพัดมามันไปหมดเลย เป็นอนัตตาไหม ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์บ่อยนะ เจดีย์ทราย ดูสิ เวลาเราก่อกองทรายขึ้นมานี่ พอคลื่นมันซัดขึ้นมาแล้วมันหายไปไหน อันนี้มันเป็นบุคคลาธิษฐาน เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ ท่านจะพยายามยกบุคคลาธิษฐาน คือยกตัวอย่างมาให้เราเข้าใจ ความเข้าใจความเห็นของเรานั่นต่างหากมันเป็นวิปัสสนา มันเป็นความรู้ที่มันเกิดปัญญา มันเกิดขบวนการ เกิดผลประโยชน์ไง

แต่ลูกคลื่นมันซัดเข้าฝั่ง มันซัดเข้าสู่หาดทราย นี้มันเป็นอะไร มันเป็นธรรมชาติ มันเป็นธรรมชาติ มันเป็นเรื่องของสสารเรื่องของโลก มันไม่มีจิตไม่มีวิญญาณ ถ้าไม่มีจิตมีวิญญาณจะมีประโยชน์ไหม มีประโยชน์กับสิ่งสภาวะแวดล้อมนะ สภาวะแวดล้อมต่างๆ มนุษย์ผู้มีชีวิตอาศัยมันได้ แต่มันเป็นอะไรล่ะ มันเป็นผลของวัฏฏะ มันเป็นผลของการเปลี่ยนแปลง มันเป็น
ผลของโลกไง
ทีนี้พอมันเป็นผลของโลก ครูบาอาจารย์เวลาท่านเทศน์ ท่านก็เอาตรงนั้นมาเป็น
บุคคลาธิษฐาน เอามาเป็นตัวอย่างเพื่อให้เราคิด
เราคิดแล้วมันย้อนกลับเข้ามาในใจเราไง แล้วเวลาเราเกิดสภาพแบบนั้นน่ะ มันมีคนรู้คนเห็นเป็นปัจจุบันธรรมในความเป็นไปของมัน เห็นไหม  

ฉะนั้นพอบอกว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา สรรพสิ่งเป็นอนัตตา สมาธิก็เป็นอนัตตา ปัญญาก็เป็นอนัตตา สติก็เป็นอนัตตา โอ๊ย กูปวดหัวนะ มันจะเป็นอนัตตาได้อย่างไร ถ้าเป็นอนัตตามันก็เหมือนกับขอนไม้ผุนี่แหละ มันก็เหมือนกับคลื่นซัดก่อเจดีย์ทราย กองทรายมันโดนซัดพังหมด มันเป็นอนัตตาไหม นี่ไงเราบอกว่า คันถธุระกับวิปัสสนาธุระต่างกันตรงนี้ไง ต่างตรงที่คันถธุระ ทางวิชาการปริยัตศึกษาอนัตตา ก็เข้าใจ เข้าใจส่งออกไง เข้าใจไปสู่ขอนไม้ผุๆ เข้าใจเป็นอุณหภูมิมันเปลี่ยนแปลงเป็นอนัตตา ธรรมะเป็นธรรมชาติ นี่ความเห็นของปริยัติไง

แต่ถ้าเป็นความเห็นของวิปัสสนาธุระ เห็นไหม  ถ้าจิตไม่สงบ ความรู้ความเห็น เขาเรียกว่าโลกียปัญญา ปัญญาเกิดจากกิเลส ปัญญาเกิดจากโลก ปัญญาเกิดจากสัตตะผู้ข้อง จิตนี้เป็นสัตว์ตัวหนึ่ง จิตนี้คือผู้ข้อง ข้องในวัฏฏะ มันเกิดมันตายในวัฏฏะ ความข้องอันนี้ เห็นไหม พอมันใช้ปัญญาขึ้นมา โลกียปัญญาเป็นปัญญาของสัตว์ สัตตะเป็นปัญญาของโลก เป็นปัญญาของหัวใจ ทั้งๆ ที่ตรึกธรรมะของพระพุทธเจ้านี่แหละ ทีนี้พอตรึกธรรมะพระพุทธเจ้าก็เถียงกันไปไง ฉะนั้นจะบอกว่าให้ปริยัติเขาเถียงกันไปเถอะ ให้เขาเถียงกันไป ถ้าเขาเถียงกันไปมันเป็นวงจรของทางวิชาการที่เขาจะเถียงกันก็เรื่องของเขา

พอเรื่องของเราคือเรื่องของวิปัสสนาธุระ วิปัสสนาธุระคือฝ่ายภาวนา ถ้าฝ่ายภาวนามันต้องรู้ต้องเห็นจากความเป็นจริง ถ้ามันรู้มันเห็นจากความเป็นจริง ไม่ต้องไปเอาเรื่องอย่างนี้มาใส่ใจเลย มันไม่มีประโยชน์อะไรเลยเพราะว่าในเมื่อคนเขามีมุมมองอย่างนั้น เห็นไหม มุมมองกับความจริง ก็พูดไว้ชัดเจน มุมมองกับความจริงมันเป็นมุมมองของเขา  

เราเป็นพ่อเป็นแม่คนนะ เรามีลูกมีหลานขึ้นมา เราต้องการให้ลูกหลานเราฉลาดใช่ไหม แล้วสังเกตุได้ไหม เด็กอายุ ๒-๓ ขวบมันช่างซักช่างถามเหลือเกิน แล้วมันช่างซักช่างถามเหลือเกินนี่ เราคุยกับมันน่ะ ปีหนึ่งก็ไม่จบหรอก โน่นอะไร นี่อะไรทั้งกะปีทั้งกะชาติน่ะ คันถธุระน่ะมันเป็นอย่างนั้น มันจะนู่นอะไรนี่อะไรทั้งปีทั้งกะชาติน่ะ แล้วเราจะไปเถียงไปคุยมันไม่จบหรอก เพราะอะไร เพราะเด็กมันไร้เดียงสา เด็กมันไม่มีวุฒิภาวะ มันอยากรู้อยากเห็นอะไรมันก็ถามกันไปเรื่อยน่ะ ไอ้นี่ก็ไปศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้าน่ะ ก็ไม่มีวุฒิภาวะ แค่อยากรู้อยากเห็นแล้วก็ไม่เห็น นี่ไง ฟังแต่ไม่รู้ พูดแต่ไม่ได้ยิน นี่ไง ฟังแต่ไม่รู้ พูดจนพูดเดี๋ยวนี้ก็ไม่รู้เหมือนกัน คนฟังก็ไม่รู้ ฟังแต่ไม่รู้ ต้องปฏิบัติแล้วถึงรู้ ปฏิบัติมันเป็นอย่างนั้น พูดให้จนตายก็ไม่รู้ ถ้าไม่ปฏิบัติเข้าไปถึงจุดนั้นไม่มีวันรู้หรอก

เพราะฉะนั้น คนถามนี่นะ “ฟังแต่ไม่รู้” นี่ตอบเพราะว่ามันเป็นคำถาม พอสะเทือนใจ ก็สะเทือนใจมาก แล้วมันจะเป็นจริงอย่างนั้นไหม แล้วมันเป็นความเป็นไป คืออยากจะถามให้รู้น่ะไม่รู้หรอก ฟังแต่ไม่รู้ ฟังแต่ไม่ได้ยิน แต่ถ้าปฏิบัติไปจะรู้ ไม่ต้องฟังใครเลย ปฏิบัติไปนี่รู้ แล้วถ้ารู้ขึ้นมานะมันจะเป็นอย่างใด มันจะเป็นอย่างที่เขาพูดไหม ไม่ต้องไปวิตกวิจารเลย มันเป็นอย่างนี้เอง เห็นไหม ดูสิ เวลาหลวงตาท่านพูดถึง อย่างเช่น มหาเขียนท่าน ๙ ประโยค หลวงตานี่ ๓ ประโยค ไปฟังมหาเขียนเทศน์ทีแรก เห็นไหม ท่านบอกนี่ปริยัติ อย่างนี้จำมา ตอนที่มหาเขียนท่านสร้างวัดสมัยที่ท่านเทศน์อยู่น่ะ แต่สุดท้ายแล้วมหาเขียนท่านก็สำเร็จ เพราะกระดูกเป็นพระธาตุหมดแล้ว พอไป พอไป เห็นไหม มันพัฒนาของมันไป

ฟังแต่ไม่รู้หรอก ต้องปฏิบัติเข้ามาถึงจะรู้ พอปฏิบัติเข้าไปถึงที่สุดแล้วมันจะเข้าใจ พอเข้าใจ เรื่องอย่างนี้มันจะวางไว้หมดเลย เพราะเรื่องอย่างนี้ จริงๆ นะ ธรรมะของพระพุทธเจ้านี้ สาธุ เทิดไว้เหนือหัว หลวงปู่มั่นครูบาอาจารย์ท่านเทิดไว้เหนือหัวหมดล่ะ แต่เวลาเราไปศึกษา ถึงจะอายุ ๗๐-๘๐ นะมันก็เป็นเฒ่าทารก เพราะจิตเวลามันสัมผัสอะไรมา ชีวิตเห็นไหม  ภิกษุบวชเมื่อเฒ่า ที่จะว่าง่ายสอนง่ายไม่มี เพราะว่าราตรีของเขา เขาได้สะสมความรู้ความเห็นของเขามา ถ้าสะสมความคิดเห็นมา อันนั้นน่ะจะเป็นทิฏฐิมานะในใจ เห็นไหม จะอายุมากขนาดไหน ยิ่งศึกษายิ่งอยู่กับโลกมาก มันเป็นเรื่องของโลกๆ ทั้งนั้นเลย

ฉะนั้น เวลาผู้ที่บวชใหม่หรือผู้ที่จะบวชใหม่ต้องพยายามทำความสงบของใจ การทำความสงบของใจนี้มันแสนยาก แสนยากเพราะอะไร เพราะต้องรื้อค้นความที่สะสมมาในใจ สิ่งที่มันเป็นที่สะสมมา ต้องพยายามทำให้มันสะอาดให้ได้ คนน่ะมีข้อมูลน้อย อย่างเช่นเรานี่มีความสกปรกน้อย เราก็ทำความสะอาดได้ง่าย คนที่มีความสกปรกมากคือเก็บไว้น่ะ เด็ก ๒๐ ปี ผู้บวชใหม่ ๒๐ ปีบวช เห็นไหม ผู้ที่บวชเข้ามา เห็นไหม ๒๐ กับบวชอายุ ๖๐-๗๐ปี ความรับรู้กับสังคมมันแตกต่างกันอย่างใด

เพราะฉะนั้น สิ่งนี้พอมันทำความสงบของใจเข้ามา นี่ไง ปัจจัตตัง มันจะรู้ของมันขึ้นมา นี่พูดถึงทางโลกนะ ถ้าพูดถึงทางธรรมล่ะ พูดถึงทางธรรมนะ เรียนมาขนาดไหนมันเรียนธรรมะพระพุทธเจ้า ไม่รู้อะไรหรอก ไม่รู้ พอไม่รู้นี่ ถ้าไม่รู้นะ ยืนยัน ถ้าในสังคมที่มีแต่ไม่รู้ด้วยกันนะ ไอ้คนที่เรียนมานี่จะมีอหังการ์มาก เพราะท่องจำได้แม่น จะพูดได้จ้อยๆๆ เลย ในวงปริยัติเขาก็ต้องว่าเขาชำนาญทางวิชาการมาก แต่เวลาเขามาในวงปฏิบัติ พอพูดไปผิดทุกคำ เพราะคนพูดไม่แน่ใจว่าตัวเองรู้จริงหรือเปล่า จำธรรมะพระพุทธเจ้าได้หมดเลย แล้วพูดออกไปนี่ไม่มั่นใจว่าถูกหรือผิด ไม่มั่นใจ

แต่ผู้ที่ปฏิบัติมาแล้วนะ มั่นใจในความรู้ของตัวมากเลย มั่นใจมากเพราะตัวเองรู้จริงเห็นจริงเลย แต่เวลาสมมุติออกมา สมมุติออกมา เห็นไหม หลวงตาท่านพูดบ่อย แม้แต่คำว่านิพพานก็สมมุติ แม้แต่คำว่าวิมุตติก็สมมุติ เพราะว่าโลกนี้เป็นสมมุติ แต่เวลาปฏิบัติไป ปฏิบัติไปนะ จริงตามความเป็นจริงในใจอันนั้น แต่เวลาสื่อออกมาก็สื่อโดยสมมุติ แม้แต่คำว่านิพพานนี่ก็สมมุติขึ้นมา พระพุทธเจ้าสมมุติคำว่านิพพานขึ้นมา แต่เวลาจิตมันถึงแล้วนี่มันถึงนิพพาน แต่มันก็พูดถึงนิพพาน เพราะว่าสมมุติให้มันเป็นอย่างนั้น แล้วพอจิตมันเป็นอย่างนั้นจริงนะ เพราะพูดคำว่านิพพานแล้วก็สมมุติว่านิพพานแล้ว วิมุตติก็สมมุติหมด ฉะนั้นคนที่ไม่ได้ปฏิบัติขึ้นมา เวลาตัวเองพูดถึงนิพพานนะ นิพพานเป็นอย่างไร นิพพานก็คือนิพพานน่ะนะ ก็ไปใหญ่เลย แต่ถ้าคนมีจริงนะ นิพพานคืออย่างไร ถ้ามันปฏิบัติมันก็รู้เอง แล้วรู้อย่างไร รู้ก็รู้แบบรู้เว้ย เพราะคนรู้จริงมันจะพูดยันกลับไปเลย

แต่ถ้าเรียนมาขนาดไหนนะ นิพพานก็ยังงงนะ นิพพานเป็นอย่างไร นิพพานมันคงจะเป็น จะเป็น จะเป็นแบบว่า... ไปเรื่อย นี่ไง ถึงบอกว่าถ้าเป็นปริยัติ มันเหมือนเด็กไร้เดียงสา มันจะถามว่านี่คืออะไร นี่คืออะไร เรียนธรรมะพระพุทธเจ้ามาแล้วน่ะก็คืออะไร คืออะไร ไม่รู้หรอก เพราะฉะนั้นเขาจะโต้เถียงกันไป มันเป็นวังวนของเขา เป็นสังคมของเขา ปริยัติ อันนี้เราปฏิบัติไง

ทีนี้พอปริยัติปฏิบัติ ความเห็นน่ะ คันถธุระ วิปัสสนาธุระ ถ้าวิปัสสนาธุระต้องเป็นครูบาอาจารย์ที่ทำได้จริง แล้วทำได้จริงมันก็จะเป็นประโยชน์จริงกับผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินะ ฉะนั้น เขาถามว่ามันเป็นอวิชชาหรือเปล่า ไม่ใช่ มันเป็นวิญญาณหรือเปล่า ไม่ใช่ ไม่ใช่ที่เขาว่าทั้งนั้นเลย สัพเพ สังขารา อนิจจา สภาวะที่เป็นอนิจจา อนิจจังทั้งนั้น มันเป็นอนิจจา อนิจจัง เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้จริงในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วบัญญัติ เห็นไหม เขียนเป็นทางวิชาการไว้ ให้เราได้ศึกษา เห็นไหม ปริยัติ แล้วให้ปฏิบัติ

ถ้าปฏิบัติไปจะเข้าใจว่าสิ่งใดมันเป็นอนิจจัง มันเป็นอนิจจังในตัวมันเอง เราเกิดมานี่ต้องแก่ชราภาพเป็นธรรมดา มันเป็นอนิจจังในตัวมันเอง แต่มันไม่เป็นประโยชน์กับใคร ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าเกิดมาแล้วตายเปล่าไง ศึกษาธรรมะก็ศึกษามาเพื่อตายเปล่าไง ศึกษามาทั้งนั้นเลย แต่ตายเปล่าๆ ไม่มีอะไรตกผลึกในใจ ไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรขึ้นมาเลย นี่มันเป็นอนิจจังไหมล่ะ มันเป็น สัพเพ ธัมมานี่ มันเป็นอนิจจังหมดล่ะ สัพเพ สังขารา เป็นอนิจจา มันเป็นอนิจจังทั้งนั้นน่ะ ทีนี้เป็นอนิจจังมันก็เป็นอนิจจังโดยธรรมชาติของมัน ธรรมะมีอยู่โดยดั้งเดิมอยู่แล้ว

แต่พอพระพุทธเจ้าปฏิบัติขึ้นมา อาปานสติ เห็นไหม จิตสงบเข้ามา อาปานสติ
เห็นไหม บุพเพนิวาสานุสติญาณ ข้อมูลเป็นอย่างนี้
จูตูปปาตญาณเป็นอย่างนี้ เวลาย้อนกลับขึ้นมา อาสวักขยญาณเป็นอย่างนี้ นี่มันไม่เป็นอนิจจังอย่างที่ว่าแล้ว มันเป็นรู้จริงจากใจของพระพุทธเจ้า  พระพุทธเจ้ารู้จริง พระพุทธเจ้าวางพระพุทธศาสนาไว้ พอวางพระพุทธศาสนาไว้จะวางอย่างไรล่ะ

แม้แต่หลวงตาพูด เห็นไหม คำว่านิพพานก็คือสมมุติขึ้นมาให้เป็นนิพพาน ไม่สมมุติจะสื่อกันได้อย่างไร คำว่าวิมุติก็คือสมมุติมันขึ้นมา คำทุกอย่างเป็นสมมุติหมด ฉะนั้น ธรรมะพระพุทธเจ้าก็สมมุติหมด ธรรมะพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกสมมุติหมด สมมุติ มันสมมุติบัญญัติ สมมุติว่าเราศึกษากัน แต่ไม่ได้ความจริงของคนที่ศึกษาเลย ไม่เป็น พอไม่เป็นความจริง พอศึกษาแล้ว พอศึกษาแล้วยิ่งยึดขึ้นไปอีก เห็นไหม พอยึดขึ้นไปว่าเป็นความรู้ของตัว ก็เด็กไง ไปดูโรงเรียนอนุบาลสิ เวลามันเล่นกันน่ะ ไอ้นี่ ปริยัติ จริงๆ เราก็ดูว่ามันเหมือนกับเด็กอนุบาลเลยล่ะ เด็กอนุบาลในทางธรรมนะ

ฉะนั้น เด็กอนุบาลในทางธรรม มันถึงบอกว่า มันไม่ใช่ทั้งวิญญาณ ไม่ใช่ เพราะคำว่าวิญญาณที่เขาเถียงกันน่ะ เขาพูดถึง สัพเพ ธัมมา อนัตตา เขาพูดถึงขันธ์ ๔ รูป เวทนา สังขาร วิญญาณ  รูป เวทนา สัญญา สังขาร แล้วเขาแยกวิญญาณไปเป็นอีกขันธ์หนึ่งไง แล้วก็บอกว่าพระพุทธเจ้าพูดขึ้นมา วิญญาณโดดๆ เลย แต่ทีนี้คำว่าวิญญาณโดดๆ ทางนี้เขาก็บอกว่าไม่ใช่อีกน่ะ เพราะมันไม่มี เพราะมันไม่มีเพราะอะไร ของแค่นี้นะมันยังเอามาเถียงกันเลย แต่ถ้าพูดถึงเวลาเราปฏิบัตินะ พอเราจิตสงบเราจะเห็นว่าขันธ์ ๕ ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ขันธ์ ๕ จิตมันสงบอย่างไร

ถ้าจิตมันยังมีความคิดอยู่มันอยู่ในขันธ์ ๕ พอมันอยู่ในขันธ์ ๕ ก็เหมือนรถอยู่ในเกียร์ รถมันปลดเกียร์ว่างแล้ว มันไม่มีกำลังอะไรหรอก มันอยู่ในความว่างของมัน พออยู่ในความว่างมันก็ปลดออกหมดแล้ว แล้วมันจะเป็นวิญญาณอีกได้อย่างไร ทีนี้พอประพฤติปฏิบัติไปนะ หลวงตาท่านปฏิบัติไป พอท่านพิจารณาอสุภะไปแล้ว ท่านบอกหมดแล้ว หมดรูป มันเป็นขันธ์ ๔ มันไม่มีรูป อันนั้นมันเป็นวิทยานิพนธ์ของผู้ที่ปฏิบัติ เพราะหลวงปู่เจี๊ยะท่านก็พูดของท่านไปอีกอย่างหนึ่ง

หลวงปู่เจี๊ยะท่านพูดเรื่องพิจารณากาย จนในที่สุดเห็นกาย กายอย่างเดียว กายของจิต พิจารณากายตลอดสายไปเลย พอหลวงตาท่านพิจารณาของท่านไป เห็นไหม พิจารณาของท่านไปถึงที่สุดแล้วมันเป็นอสุภะไปแล้ว ท่านบอกว่า หมดแล้ว หมดเลย ว่างหมดเลย มันไม่มีนิมิต ไม่มีสิ่งต่างๆ เห็นไหม ถ้าเกิดนิมิตมันมีรูปของจิต มันมีรูปของมันอยู่ นี่มันไม่มีรูปเลย พอไม่มีรูป ท่านบอกขันธ์อันละเอียด ท่านบอกว่ามันเป็นนามธรรม มันเป็นขันธ์ ๔ หลวงตาท่านก็พูดอยู่ ทีนี้ คำพูดของหลวงตานี่มันเป็นการปฏิบัติจริง พอมันเป็นการปฏิบัติจริง ผู้ที่ปฏิบัติจะรู้ทันกันได้ จะวัดค่าตรงนั้นได้ไง ถ้าวัดค่าตรงนั้นไม่ได้ หลวงตาพอถึงตรงนั้นปั๊บ ทำไมเอามาสอนหลวงปู่บัวได้ หลวงปู่บัวก็มาติดอยู่ตรงนี้ ตรงที่ว่าทุกอย่างมันไม่มีหมดแล้ว เห็นไหม หลวงปู่บัวบอกมันว่างหมด คิดว่าเป็นนิพพาน

หลวงตาท่านก็บอกพิจารณาไปแล้วมันหมดแล้ว พอมันหมดแล้วขึ้นมามันเป็นขันธ์ที่ละเอียดมาก มันเป็นนามธรรม ไม่มีรูปเลย ไปฟังเทศน์หลวงตาจะมีตรงนี้บ่อยมาก แต่บ่อยมากนี่มันอยู่ในขั้นสูง ขั้นที่ว่าว่างหมด ว่างหมด แบบหลวงปู่ฝั้น เห็นไหม พุทโธสว่างไสว พุทโธผ่องใส นี่ไงขั้นที่ไม่มีอะไรเลย ถ้าขั้นที่ไม่มีอะไรเลย หลวงตาใช้มหาสติของท่านไปจับ ท่านบอกว่ามันไม่มีรูป มันเป็นทิพย์ มันไม่มีรูปเลย มันละเอียด คำว่าขันธ์ ๔

ที่พูดนี่ขึ้นมา เพราะพูดกันไว้ก่อนไง ถ้าไม่พูดตรงนี้ออกมานะ เขาจะเถียงกลับมาว่าหลวงตาก็พูด ขันธ์ ๔ ขันธ์ ๔ น่ะ ไอ้ที่พูดนี่พูดกันเอาไว้ก่อนเลย เดี๋ยวมันจะอ้างอีกไงว่า ที่มาพูดว่าเขาผิด เขาผิด หลวงตาก็พูดขันธ์ ๔ เหมือนกัน แต่มันคนละความหมาย มันคนละความหมาย มันเหมือนเด็กเอาแบงก์ปลอมมาเล่นกับผู้ใหญ่เอาแบงก์จริงมาจ่ายเงินน่ะ ต่างกัน ไอ้แบงก์ปลอมน่ะแบงก์สมมุติ เด็กๆ มันเล่นกัน ไอ้แบงก์จริงมันแบงก์จ่ายหนี้ได้ตามกฎหมาย มันคนละเรื่อง ฉะนั้น มันไร้เดียงสามาก

เพราะฉะนั้นเราถึงบอกว่า จะบอกว่ามันเป็นเรื่องของปริยัตินะ มันไม่เป็นเรื่องของปฏิบัติเลย แต่ในปัจจุบันนี้ ในการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าสอนไว้ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ พยายามจะสอนปฏิบัติกัน สอนแบบวิปัสสนาธุระ พยายามทำพยายามปฏิบัติกัน มันทำเป็นพิธีน่ะ มันเหมือนแสตมป์ คอยปั๊มไว้ว่าของใครของใคร เห็นเขาทำก็จะทำตาม มันพอเป็นพิธีเฉยๆ นะ เพราะฉะนั้นถึงบอกว่า สัพเพ สังขารา อนิจจา สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ ธรรมที่ไม่เป็นอนิจจาแต่เป็นอนัตตานั้นคือวิญญาณใช่หรือเปล่าคะ ไม่ใช่

ข้าน้อยกราบเรียนท่านอาจารย์ว่า ความจริงของท่านคือไม่ใช่วิญญาณใช่ไหม ใช่ และที่จริงคืออวิชชาใช่ไหม ก็ไม่ใช่ ไม่ใช่อวิชชา ถ้าเวลาปฏิบัติไปแล้ว เราจะบอกว่าถ้าปฏิบัติมันไม่ใช่อนัตตา  ถ้าสัพเพ ธัมมา อนัตตาติ แล้วนี่มันเป็นผล ถ้าผลของมันเป็น กุปธรรม อกุปธรรม กุปธรรมคือ สัพเพ ธัมมา อนัตตา คือสภาวะที่ยังเป็นอนัตตา มันเป็นอนิจจัง อนิจจังเพราะไม่มีใครเข้าไปบริหารจัดการ พอมันเป็นอนัตตา อนัตตาเพราะมีจิตของเรา จิตของเราบริหารจัดการ จิตของเราถึงจะเป็นอนัตตา

แต่ถ้ามันเป็นสภาวธรรมสัจธรรม ภาวะที่มันเป็นธรรมชาติ สภาวะของมนุษย์ สภาวะของสัญชาตญาณ สภาวะของความคิดนี่มันเป็นอนิจจา เพราะมันเป็นสภาวะแรงขับ แรงขับของเครื่องยนต์ แรงขับของจิต แรงขับของความนึกคิด แรงขับของสัญชาตญาณ แรงขับของมนุษย์นี้มันเป็นอนิจจา มันเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง แต่เพราะมีจิต เพราะมีสมาธิ เพราะมีการกระทำ มันถึงจะเป็นอนัตตา อนัตตาเพราะพระพุทธเจ้าสอน อนัตตาสภาวธรรม ถ้าสภาวธรรม เห็นไหม ถ้าเป็นแรงขับโดยปริยัติ โดยความคิดต่างๆ  มันเป็นอนิจจา แต่ถ้ามันมีสติมีปัญญาขึ้นมาโดยผู้บริหารจัดการ โดยการกระทำของเรา มันจะเป็นอนัตตา

คำว่าเป็นอนัตตาคือสภาวธรรมนี่เป็น สัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวธรรมเพราะมีอนัตตา เพราะมีผู้บริหารมีผู้จัดการ ไม่ใช่ว่าขอนไม้ผุเป็นอนัตตา อุณหภูมิร้อนหนาวเป็นอนัตตา ไม่มี วัตถุไม่มีอนัตตาหรอก มันไม่มีชีวิต มันจะเป็นอนัตตาเพราะจิตมันมีสมาธิของมัน จิตมีการบริหารจัดการ จิตมันพิจารณาของมัน จิตมันเห็นสภาพของมัน จิตมันปล่อยของมัน โอ้โฮ มันตื่นเต้น มันขนพองสยองเกล้า มันเป็นสัจธรรม มันรื้อค้น มันถอดถอนน่ะ พอมันถอดถอนจนเป็นอนัตตาติ เห็นไหม มันเป็นผลของธรรม พอมันเป็นผลของธรรม มันเป็นอกุปธรรม ไม่แปรสภาพ เห็นไหม

เราตีความหมายอย่างนี้ มันเป็นอริยภูมิ มันพ้นออกไปจากวิญญาณ พ้นออกไปจากทุกอย่าง มันเป็นอกุปธรรม อฐานะที่จะแปรสภาพ นั่นถึงเป็นผลของมันไง มันมีดวงตาเห็นธรรม แยกธาตุแยกขันธ์ แยกอสุภะ เห็นไหม มันเป็นผลของมัน ผลมันไปเรื่อยๆ มันก็มีสมมุติละเอียดยังซ้อนอยู่ จนถึงที่สุดมันต้องทำลายตัวมันทั้งหมด ทำลายสรรพสิ่งทั้งหมด เห็นไหม นั่นคือผลที่เป็นแท้จริง ฉะนั้นถึงบอกว่ามันไม่ใช่วิญญาณ มันไม่ใช่อวิชชา มันไม่ใช่สิ่งใดๆ เลย แล้วไม่มีใครรู้ได้ด้วย ผู้ที่ปฏิบัติเท่านั้นถ้าเข้าไปถึงผลของมันจะรู้ของมันตามความเป็นจริง พอรู้ของมันตามความจริง นั่นมันเป็นอย่างนั้น

ในทางธรรมะพุทธเจ้า ในพระไตรปิฎกถึงไม่ได้พูดเรื่องนี้ไว้ไง ไม่พูดเรื่องผลสิ่งใดไว้เลย แต่ผู้ปฏิบัติจริง รู้จริง เห็นจริง จะรู้ได้เหมือนกันหมด ฉะนั้น นี่ตอบแล้ว แล้วตอบเสร็จนะ เดี๋ยวจะถามกลับมาอีก เพราะมันจะมีประเด็นใหม่ขึ้นมา ประเด็นที่ว่าพอฟังแล้วมันจะมีประเด็นใหม่ขึ้นมา ถึงบอกว่า “ฟังแต่ไม่รู้” ต้องปฏิบัติถึงจะรู้ ต้องปฏิบัติ ฟังแต่ไม่รู้ แต่นี่ก็จะตอบไง ก็จะตอบเพราะว่า เวลาเขาเถียงกันเรื่องอนัตตา อัตตา อนัตตาน่ะ เถียงกันไปมันก็เรื่องของเขา โทษนะ อาจารย์ของเรา หลวงตา ท่านไม่รู้เรื่องอะไรด้วยเลย ทำไมเอาหลวงตา เอาอาจารย์ของเราเข้าไปเกลือกกลั้วด้วยล่ะ

เวลาอ้างก็อ้างว่าหลวงตารับประกันอย่างนั้น รับประกันอย่างนี้ เวลาเราจะเหยียบย่ำก็บอกหลวงตาไม่มีความรู้ หลวงตาเลอะเทอะ เวลาจะอ้างเอาหลวงตาไปอ้างเป็นความดีความชอบของตัวก็อ้างหลวงตา เวลาทิฏฐิมานะเกิดขึ้นมาก็เหยียบย่ำ ฉะนั้น เขาจะเถียงกันไปมันเรื่องของเขา อย่าเอาหลวงตา อย่าเอาครูบาอาจารย์ของเรา อย่าเอาความเห็นของเราไปแอบอ้าง ไปเอาเครดิตใส่ตัวว่า ตัวเองผิดตัวเองถูกด้วยหลวงตารับรอง หลวงตาค้ำประกัน เวลาจะเอาประโยชน์ก็รีบเอาผลประโยชน์ เวลาจะเอาทิฏฐิมานะก็คิดเหยียบย่ำทำลายกัน ฉะนั้น อย่า นี่ตอบเพราะเหตุนี้ไง

ตอบเพราะว่าจะกันออกไป เขาจะทะเลาะเบาะแว้งกันไป เขาจะวิจารณ์กันไป อัตตา อนัตตา อะไรก็ว่าไป แต่ในเมื่อหลวงตาท่านก็รับผิดชอบศาสนา ท่านก็บอกนิพพานคือนิพพาน แล้วเราก็เทศน์แล้วว่านิพพานคือนิพพานก็จบแล้ว แล้วจบแล้ว เวลาจะพูดกันก็พูดกันด้วยเหตุด้วยผล อย่าไปยกพระไตรปิฎกข้อใดข้อหนึ่ง แล้วก็มาตั้งเป็นประเด็น แล้วก็เอามาเป็นแอบอ้าง แล้วก็มาเหยียบย่ำกัน ถ้าแน่จริงก็พูดกันต่อหน้า พูดกันต่อหน้าบุคคล ที่ไหน เมื่อไหร่ ก็ว่ากันมา จะได้จบเป็นเรื่องๆ กันไป อย่าเอาสีข้างเข้าถูกันอย่างนี้ แล้วก็จะเอามาเหยียบย่ำกันอยู่อย่างนี้  มันไม่มีวันจบหรอก เพราะมันเป็นปริยัติกับปฏิบัติ พูดกันไม่รู้เรื่อง ไม่รู้เรื่องหรอก ฉะนั้น ฟังก็ไม่รู้เรื่อง พูดก็ไม่รู้รื่อง แล้วก็ตอบแล้วด้วย เอวัง