เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๙ เม.ย. ๒๕๔๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ฉะนั้น เวลาผู้ใหญ่มาเราจะต้องเจียมตัว เพราะอะไร? เพราะวัดหลวงปู่ลีที่ผาแดงนี่ ๒,๐๐๐ กว่าไร่ ของเรานี่นะแค่เศษเสี้ยวที่ของท่านนะ ของท่านเป็นพันๆ ไร่ ๒,๐๐๐ - ๓,๐๐๐ ไร่ ท่านดูแลอยู่ เวลาท่านมาหาเราท่านก็ทำตัวอย่างนั้นแหละ ทำตัวแบบว่าไม่มีความหมายเลย แต่จริงๆ ท่านเป็นมือขวา เป็นผู้บุกเบิกให้กับหลวงตา สมัยก่อนนะที่หลวงตาท่านวิตกวิจารมาก ท่านบอกว่าตอนที่เขาพยายามจะไล่พระออกจากป่า ให้ออกจากป่า ท่านบอกว่าศาสนามันจะหมดแล้วหรือ? แล้วท่านก็ไปพูดกับคณะรัฐบาล ไปพูดกับพวกในหลวง พระราชินีว่า “ถ้าศาสนาจะมั่นคงได้ต้องมีป่าให้ภิกษุได้ฝึกฝนตัวเองขึ้นมาให้เป็นพระ”

ท่านพยายามจะรักษาป่าให้พระเราอยู่ แต่! แต่โทษนะ ในวงการพระ พระที่ว่าเข้าไปในป่าแล้วไปตัดไม้กัน ไปหาผลประโยชน์กันมันก็มี เพราะสังคมเราจะให้ลูกเราดีทุกคน มันเป็นไปไม่ได้หรอก แต่เราต้องยืนในหลักไว้ให้สถานที่ ให้พระเขาได้ฝึกหัดไง

ฉะนั้น หลวงปู่ลีท่านถึงเป็นมือขวา มือขวาหมายถึงว่า ตอนนั้น ก่อนหน้านั้นท่านเคยจะไปเอาดงหลวงที่จังหวัดเลย ดงหลวงมันเป็นอุทยานแห่งชาติใหญ่มากเลย แล้วหลวงปู่ลีจะเอา หลวงปู่ลีไปอยู่กลางดงหลวงที่ไม่มีที่บิณฑบาตเลย แล้วหลวงตาก็ส่งเสริม แต่พูดจริงๆ แล้วมันเป็นอุทยานแห่งชาติที่เอาไม่ได้ไง ถึงได้ออกมาอยู่ที่ผาแดง

ตอนนี้ผาแดงนี่หลวงปู่ลีโดนจับหลายครั้งมากเลย พอโดนจับ หลวงตาท่านก็พยายามค้ำไว้ แล้วบอกว่าถ้าหลวงปู่ลีโดนจับ หลวงปู่ลีโดนจับนะ ถ้าเขารู้ว่าเป็นเรื่องของหลวงตา เพราะหลวงตาเป็นอาจารย์ของหลวงปู่ลี ถ้าเป็นเรื่องหลวงตาทางรัฐบาลหรือทางเจ้าหน้าที่เขาจะทำเขาก็ไม่ค่อยรุนแรงขนาดนั้น นี่มันก็ผ่านพ้นมาจนได้ ๒,๐๐๐ กว่าไร่ เห็นไหม แล้วก็มาภู...ที่ว่าโดนจับๆ สิ่งนี้ทำมาเพื่ออะไร?

ท่านสมบุกสมบันมามาก ท่านผ่านวิกฤติมามหาศาลเลย แต่เรามองกันว่าท่านเหมือนกับพระหลวงตาองค์หนึ่งไง เราไม่ได้มองประสบการณ์ของท่านเลยว่าท่านจะผ่านอย่างนี้มา ท่านรับรู้อย่างนี้มา เห็นไหม รัฐบุรุษเขาเห็นแก่ลูกหลาน เห็นแก่อนุชนรุ่นหลัง ดูพระกัสสปะสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามพระกัสสปะ “กัสสปะเอย เธอถือธุดงควัตรทำไม? เพราะว่าเธอก็เป็นพระอรหันต์”

พระกัสสปะเป็นพระอรหันต์นะ ขณะอายุ ๗๐-๘๐ ก็ยังถือธุดงควัตรอยู่ “เธอถือเพื่ออะไร?” พระกัสสปะบอก “ข้าพเจ้าถือเพื่ออนุชนรุ่นหลังได้คติ ได้แบบอย่าง เพื่อจะปฏิบัติตาม” เพราะมันมีแต่ตำราใช่ไหม? ธุดงค์อย่างนี้ๆ แต่ประพฤติปฏิบัติตัวอย่างไร?

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ท่านประพฤติปฏิบัติท่านทำไว้เพื่อใคร? เพื่อลูกหลาน เพื่อลูกหลาน นี่เวลามา เห็นไหม ท่านถามเลย “ตรงไหนที่ถวายหลวงตาคราวนี้?”

เราบอกว่า “ที่หนองกวาง”

“แล้วหนองกวางนี่ใครจะไปอยู่?”

บอก “ผมจะไปอยู่เอง”

พอไปอยู่เอง “แล้วที่นี่ใครจะอยู่?”

“ที่นี่เราก็ต้องให้พระอยู่ เพราะต่อไปจะมีพระ ๔-๕ องค์อยู่ที่นี่ แต่เราจะไปอยู่หนองกวาง”

นี่ขออยู่หนองกวาง ขอไปดู นี่ถึงพาไปดู พาไปดู ไปถึงที่นั่นท่านเห็นเขา ภูเขาแดง ท่านบอกว่าสิ่งนี้เป็นไปได้ แล้วเราก็เข้าใจเรื่องนี้เราถึงจะไม่พูดเลย เราไม่บอกอะไรเลย ท่านไปถามทุกอย่าง ไปถามจากที่จากภายใน แล้วถามจากข้างนอกอีก ๑๐๐ กว่าไร่ที่ข้างนอก นี่ที่นี่เป็นเขตวัด ท่านบอกว่าถ้าอย่างนี้เป็นปลูกป่าไป อีก ๕ ปีใช้ได้ แล้วถ้าวิทยุขึ้นมาสภาวะแบบนั้น วิทยุขึ้นไปให้ท่านบนเขา เห็นไหม เพื่อจะรักษาให้อนุชนรุ่นหลัง

นี่เวลาบอกถึงที่นี่ เวลาที่นี่เราบอกหลวงตาเลย ตอนที่หลวงตาท่านพยายามจะให้ขยายไง มันเป็นความรู้กันจากภายในนะว่าตรงนี้ที่มันเป็นไปไม่ได้จะให้ขยาย เราบอกว่าที่นี่การขยายถนนเป็นเรื่องของ อบต. เป็นเรื่องของฝ่ายการปกครองเขา เราจะบอกว่าไม่ทำ สิ่งที่การกระทำอย่างนี้มันเป็นเรื่องของข้างนอก เราจะขยายออกไป นี่สิ่งนี้หลวงปู่ลีท่านรับทราบอย่างนี้มา ท่านบอกว่าแล้วได้ข่าวว่าจะไปอยู่ข้างนอกจะไปอยู่อย่างไร? นี่ไปดูที่กันไง ไปดูที่ ไปสถานะอย่างนั้นมันเป็นป่าเป็นเขา เป็นป่าเป็นเขาเพื่ออะไรล่ะ? ก็เพื่อนี่ไง เพื่ออนุชนรุ่นหลังไง เพื่อความเป็นไปของอนุชนรุ่นหลังที่เขาจะได้มีสถานที่ฝึกหัด

ดูสิดูอย่างทางโลกเขา นักกีฬาเขาจะหาช้างเผือกของเขา เขาจะส่งเสริมช้างเผือก เขาจะส่งให้การศึกษาเพื่ออะไร? เพื่อทำรางวัล เพื่อทำให้กิตติศัพท์ของประเทศชาติให้ขจรขจายไปทั่วโลก

นี่ก็เหมือนกัน ผู้ที่ชี้นำ เห็นไหม ถ้าคนตาบอดมันจะเอาอะไรไปชี้นำ คนตาดีมันถึงเป็นผู้ชี้นำได้ คนตาดี แล้วคนตาดีมันอยู่ที่พฤติกรรมนะ พฤติกรรมนี่กาลเวลามันจะซับๆ ไปเองว่า พฤติกรรมจะเป็นอย่างไร? เพราะพฤติกรรม นี่สิ่งที่การกระทำของเราเกิดจากความคิด ถ้าความคิดของเรามันมีความคิดอะไรอยู่ นี่กาลเวลามันจะพิสูจน์ ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน การกระทำพิสูจน์คน เห็นไหม

นี่เวลาเราเกิดมาแล้วคนนั้นเป็นคนดีๆ คนดีจะดีต่อเมื่อดินกลบหน้าเท่านั้นถึงเป็นคนดีไง ถึงสุดท้ายชีวิตเขาเปลี่ยนแปลงได้ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ ต้องดินกลบหน้าถึงว่านี่เขาจะไม่ทำความผิดไปข้างหน้าแล้ว แต่ในการประพฤติปฏิบัตินี้เหมือนกัน ถ้าเราชำระของเรา ถ้าเราควบคุมใจของเราได้ เราชำระกิเลส นี่เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูด แม้แต่คิดจะกระทำความผิดมันยังคิดไม่ได้เลย แล้วมันจะไปทำความผิดได้อย่างไร? สิ่งนี้มันเป็นสภาวะ เห็นไหม

นี่ไปเห็นหนองกวางเข้า ท่านบอกเลยสิ่งนี้ต่อไปอนาคตมันเป็นไปได้ แล้วขอไปดูสวนผึ้ง พาไปดูสวนผึ้ง ถามว่านี่หลวงตามาแล้ว เห็นสวนผึ้งเห็นหรือยัง? เห็น นี่ไปเห็นสวนผึ้ง พอข้ามน้ำไป ข้ามน้ำไป นี่เราไปทำไว้เพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติ เราไม่ต้องการให้มันเป็นสิ่งที่ว่าเราไปอยู่ด้วยความสุขความสบายหรอก แล้วพอไปนั่ง นี่ท่านจะเดินข้ามแม่น้ำ นี่เขาว่าเดินไม่ได้

หลวงปู่ลีอายุ ๘๓ แล้วพอเดินข้ามน้ำไป เดินข้ามแม่น้ำไป คนอายุ ๘๓ เราเข้าใจกันว่าคนอายุ ๘๓ ต้องเป็นคนอ่อนแอ แต่เราบอกท่านน่าจะข้ามได้ เพราะอะไร? เพราะพระธุดงค์ธุดงค์มาตั้งแต่หนุ่มจนแก่ ร่างกายจะแข็งแรงมาก แล้วท่านเคยผ่านวิกฤติมา เคยผ่านการลุยป่ามามหาศาล เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องเล็กน้อย เพียงแต่หัวใจมันสุดยอด หัวใจมันไปได้หมด แต่ร่างกายมันจะไปได้หรือไม่ได้มันอยู่ที่เรื่องของร่างกาย คนเฒ่า คนชรา เราควบคุมความรู้สึก เราควบคุมร่างกายไม่ได้หรอก ประสาทสั่งไม่ได้เพราะมันชำรุดทรุดโทรมไง

นี่ถึงให้ค่อยๆ พาข้ามไป พาข้ามไป พอท่านข้ามไปฝั่งนู้น ท่านไปเจอสภาวะแบบนั้น นี่นั่งอมยิ้มนะ นั่งอยู่บนศาลามองไปที่ข้างหน้าเพราะเป็นป่าดิบ ป่าดั้งเดิม ท่านมองไปแล้วท่านว่านี่ป่าอย่างนี้ป่าดั้งเดิม คนเคยอยู่ป่าท่านบอกท่านรักมาก ท่านพอใจมาก พอใจความเป็นอยู่ป่าอย่างนี้ แล้วท่านก็บอกว่าสภาพแบบนี้ สมัยอยู่ที่บ้านตาดท่านบอกว่าพ่อแม่ครูจารย์ท่านไม่ยอมทำ ตัดแต่ไม้ไผ่อย่างนี้มาทำเป็นแคร่ ทำเป็นร้านอยู่ ทำอย่างนี้ทั้งๆ ที่ป่าไม้ก็มหาศาลเลย ของในป่าสมัยปี ๙๘ นะ วัดป่าบ้านตาดสร้างปี ๙๘ ปี ๙๘ นี่ป่ายังมี ต้นไม้ยังมีอยู่ จะแสวงหาสิ่งใดก็ได้ สิ่งที่เป็นวัตถุท่านไม่แสวงหา

ถ้าเราแสวงหาสิ่งที่เป็นวัตถุ ดูสิเหมือนเด็กเวลามันว่าพ่อแม่ เห็นไหม เต่าล้านปีๆ พ่อแม่ไม่มีปัญญา พ่อแม่ทำอะไรไม่ได้ ไม่เข้าใจไง พอมันมีการศึกษาในสมัยใหม่ วิทยาศาสตร์ว่าสิ่งนี้เป็นความเจริญๆ ความเจริญสิ่งนี้เป็นวิทยาศาสตร์ สิ่งนี้มันเป็นวิชาชีพ แต่ความดำรงของชีวิต พ่อแม่ตั้งแต่เป็นเด็กขึ้นมา กว่าจะโตขึ้นมาประสบการณ์ชีวิตมีขนาดไหน?

นี่ก็เหมือนกัน ในการดำรงชีวิต ถึงที่สุดแล้วมันก็เป็นเครื่องอาศัย ถ้าเป็นเครื่องอาศัย พ่อแม่จะเป็นตัวอย่าง แต่เด็กมันอยากสะดวก อยากเป็นอิสรภาพ มันจะไม่ยอมฟังพ่อแม่มันหรอก มันจะว่าพ่อแม่นี่ทำให้มีความลำบากลำบน แต่ต่อไปพอเขาเป็นพ่อแม่ของคนขึ้นมานะ เขาก็อยากให้ลูกเขาเป็นคนดี นี่ลูกเขาเป็นคนดีเขาก็ต้องเป็นตัวอย่างให้ลูกเขา เป็นตัวอย่างว่าแม่ทำตัวอย่างนี้ แม่ประหยัดมัธยัสถ์ขึ้นมาอย่างนี้ แม่ถึงสะสมสมบัติมาให้ลูกได้

สิ่งที่ประหยัดมัธยัสถ์นี่ไม่ใช่ตระหนี่ถี่เหนียวหรอก ความประหยัดมัธยัสถ์ไง เพราะการดำรงใช้ขนาดไหนก็ต้องใช้เพื่อดำรงชีวิต แต่ถ้าเราประหยัดมัธยัสถ์มันทำไม่ให้ใจรั่ว คนเราใจมันรั่ว ถ้าเรามีเงินทองมาก แล้วถ้าเราใช้โดยสุรุ่ยสุร่ายทำให้ใจรั่ว เพราะมันเป็นความเคยชิน ถ้าความเคยชิน การดำรงชีวิตเราจะลำบากมาก เพราะอะไร? เพราะเรามีแต่รายจ่ายแต่เราไม่มีรายรับไง สิ่งที่รายจ่าย รายจ่ายออกไป รายรับเอามาจากไหน?

นี่ก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ท่านไม่พาทำ ท่านไม่ยอมให้ทำ ท่านให้ประหยัดมัธยัสถ์ เพื่อเป็นคติ เป็นตัวอย่าง แต่ไอ้ลูกมันอยากดิ้นอยากรนเพราะอะไร? เพราะใจมันขี้เรื้อนไง ถ้าใจขี้เรื้อนมันต้องการสภาวะต่างๆ มันเป็นความคันของมัน เห็นไหม แต่ใจปกติมันมีความอิ่มเต็มนะ ท่านไม่สร้าง ท่านไปนั่งอมยิ้ม อมยิ้มตรงไหน? อมยิ้มที่ว่าตั้งแต่สมัยตอนที่ท่านอยู่กับครูบาอาจารย์ เห็นไหม นี่สภาพเป็นอย่างนี้ท่านอมยิ้มไง แล้วนี่ก็เป็นสภาวะแบบนั้น อมยิ้มมันมีความสุขไง มันมีความสุขเหมือนเราไปคิดถึงอดีต เราเคยเที่ยวป่าเที่ยวเขามา เราไปเที่ยวมา เราเคยไปรัก ไปชอบพอ ไปเที่ยวที่ไหน เราไปถึงสิ่งที่เราฟื้นความหลังแล้วมันมีความสุขไง

นี่ท่านมีความสุขมากนะ เอารถพาท่านออกไปดูในป่า แล้วตรงนี้เป็นอะไร? นี่ก็วัด นี่ก็วัด นี่ก็วัด โอ๋ย! วัดกว้างขนาดนี้เชียวหรือ? สิ่งที่วัดเป็นอย่างนี้หรือ? นี่เพราะไปเห็นอย่างนี้ เราเป็นนักธุรกิจใช่ไหม? เรามองการตลาด เราจะรู้เลยว่าการตลาดอย่างนี้เราจะประกอบธุรกิจประสบความสำเร็จไม่ประสบความสำเร็จ

นี่ก็เหมือนกัน นักปฏิบัติไง เห็นสถานที่ เห็นชัยภูมิ เห็นชัยภูมิถึงการประพฤติปฏิบัติ สิ่งนี้มันเป็นวัดหรือ? ตรงนี้เป็นสถานที่ปฏิบัติหรือ? ตรงนี้อยู่เขาอยู่น้ำอย่างนี้หรือ? นี่ท่านไปเห็นท่านมีความภูมิใจ ท่านนั่งอมยิ้มมีความสุข มีความสุข มันเป็นความหวังไง มันเป็นความหวังของพ่อแม่ ของพ่อแม่อยากจะฝากสิ่งที่เป็นสมบัติไว้ให้ลูกรักษาตลอดไป

ดูจะเริ่มต้นตั้งแต่ว่าหลวงตาท่านบอกว่าถ้ารัฐบาล ถ้าทางโลกบอกว่าป่านี่ไม่สำคัญ พระไม่ควรจะอยู่ป่า พระควรอยู่สุขสบาย ถ้าพระควรอยู่สุขสบาย กิเลสมันก็พองขน กิเลสมันก็ชูหาง มันก็เตรียมตัวของมัน เห็นไหม แต่พระได้เข้าไปดัดตนก่อน ดัดกิเลสก่อนนะ ดัดกิเลสเวลาเข้าป่าไป

สัตว์มันอยู่ในป่านะ มันไม่มีครูบาอาจารย์ มันเป็นสัตว์ ถ้าการอยู่ป่ามันเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา สัตว์ป่ามันก็เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาหมดแล้ว การไปดัดตนไม่ใช่อยู่แบบสัตว์ป่า สัตว์ป่ามันอยู่ของมัน มันดำรงชีวิตของมัน มันอยู่ในป่าของมัน แต่เราเป็นมนุษย์ เรามีปัญญาของเรา แต่กิเลสมันเรียกร้อง มันต้องการ มันแสวงหาของมัน เราต้องใช้ชัยภูมิป่าบีบคั้นมันไง เราเข้าไปอยู่ในป่าแล้วไม่มีสิ่งนี้เราจะทำได้ไหม? แต่ทีนี้เราเข้าไปโดยกิเลส เราเข้าไปอยู่ในป่าเราก็ไปสร้างป่าเป็นเมืองเลย สร้างป่าเป็นรีสอร์ท สร้างป่าเป็นที่อาศัย สร้างป่าเป็นที่ไปติดสุขกันในป่าไง

สิ่งนั้นมันไม่เป็นประโยชน์หรอก อ้างว่าเราอยู่ป่า แต่พฤติกรรมของการอยู่ป่าเขาเรียกวัตรปฏิบัติไง นี่เราเข้าไปอยู่ในป่า ดูสิดูสัตว์มันก็ดำรงชีวิตของมัน เราเข้าไปอยู่ในป่าเราก็มีกลดอยู่หลังเดียว ฝนตกก็อยู่ใต้กลดนั้นนะ เราดำรงชีวิตของเรา แต่เรามีปัญญาของเรา เราใคร่ครวญชีวิตไง มันเห็นแล้วมันสลดสังเวชไง ความสลดสังเวชจิตมันก็สงบเข้ามา แล้วถ้ามีปัญญาขึ้นมา ชีวิตก็เป็นแบบนี้ ถ้าเรากลัวเป็นกลัวตาย ทำไมสัตว์ป่ามันไม่มีโรงพยาบาลด้วย สัตว์ป่าโบราณมันไม่มีโรงพยาบาลนะ มันยังดำรงเผ่าพันธุ์ของมันมาได้

เราเข้ามาอยู่ในป่าเดี๋ยวก็จะไม่สบาย เดี๋ยวก็จะเป็นจะตายขึ้นมา เห็นไหม มันเรียกร้องขึ้นมา นี่กิเลสมันขึ้นมา แล้วเราก็ต้องควบคุมมัน เราต้องต่อสู้มัน

นี่เราเข้าป่าไป เขาออกธุดงควัตรเพื่อจะหาใจ เวลาออกประพฤติปฏิบัติเพื่อจะหาใจให้ชัยภูมิอย่างนี้ มันเป็นสถานที่ควรที่จะประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม นี่คนเคยผ่านชัยภูมิมา เคยผ่านการรบมา เคยผ่านสิ่งต่างๆ มา มันจะรู้เลยชัยภูมิอย่างใด การต่อสู้จะเป็นสิ่งที่ว่าเราจะชนะกิเลส ชัยภูมิอย่างไรเราจะเป็นฝ่ายแพ้กิเลส เหมือนกับการรบ เห็นไหม ถ้าชัยภูมิเราไม่ดี เราเข้าไปต่อสู้เราจะแพ้ตลอดไป แล้วเราจะเสียชีวิตด้วย เราจะเสียทุกอย่างเลย แต่ถ้าชัยภูมิเราดี เราเข้าไปต่อสู้กับข้าศึก เราจะมีทางชนะไง

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติ ถ้าชัยภูมิมีการรักษากันไว้ มีการฝึกฝนกันไว้ นี่มันเป็นความสุขนะ ความสุขของพ่อแม่ที่เห็นคนที่จะรับช่วงต่อไปได้ ความสุขอย่างนี้มันเกิดมาจากใจ เกิดมาจากความเห็น แล้วมันเอาใครมาพูดไม่ได้ จะเป็นการจัดฉาก กลายเป็นการต้อนรับ นี่มันเป็นผักชีโรยหน้าเขาก็ดูกันออก แต่ถ้ามันเป็นความจริงมันเกิดขึ้นมาจากเนื้อหาสาระ คนเคยผ่านประสบการณ์มาอย่างนี้มันตบตาได้ไหม? มันตบตาคนที่ผ่านประสบการณ์มาไม่ได้หรอก แต่มันตบตากับคนที่ไม่รู้ได้ คนไม่รู้มันก็ตบตาได้ เห็นไหม แต่คนรู้ตบตาไม่ได้

นี่ความสุขจริงมันเป็นแบบนี้ ของจริงกับของจริงมันเข้ากันไง นี่ท่านพูดเอง ท่านบอกว่าหลวงตาท่านสั่งอย่างนี้ใช่ไหม? หลวงตาท่านบอกอย่างนี้ใช่ไหม? ท่านพูดนะเหมือนกับท่านก็มีความหวัง เพราะหลวงตาท่านพูดเหมือนที่ว่าเมื่อคืนท่านพูดถึงอาจารย์สิงห์ทอง ท่านก็หวังกับอาจารย์สิงห์ทองมาก หวังกับครูบาอาจารย์มาก แล้วท่านก็หวังมาก หวังอะไร? เหมือนกับเราเป็นนักบริหาร เราก็ต้องการผู้ที่รับช่วงไง แต่เวลารับช่วงไป เห็นมีแววๆ มีแววแล้วมันแบบว่าคดปลายตลอด มันคดปลาย มันไม่ตรงไปตลอด มันไปคด มันไปดิ้นไปรนของมัน แต่ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมามันเป็นอย่างนี้แล้วใครจะวัดได้ล่ะ?

ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านจะรู้อดีตอนาคตไปหมด เห็นไหม แต่ถ้าเราเป็นครูบาอาจารย์ของเรานี่รู้แจ้งโลกนอก รู้แจ้งโลกใน โลกในโลกของใคร? นี่โลกข้างในมันจะเป็นสภาวะแบบใด สิ่งนี้ยิ่งท่านมีสภาวะ มีความสุขอย่างนี้ เราก็มีความภูมิใจอย่างนี้ เราถึงต้องรักษาของเรานะ รักษาของเรา ทุกข์ยากขนาดไหนก็ยอมแบกรับ มันเป็นความทุกข์ความยากนะ เพราะอะไร? เพราะชีวิตแบบอย่างไง กินก็ต้องกินแบบนี้ ความเป็นอยู่ต้องเป็นแบบนี้ ทั้งๆ ที่ว่าถ้ามันขยับไปหน่อยมันก็มีความสบายอย่างที่โลกเขาว่ากัน แล้วมันเป็นเรื่องของธาตุขันธ์นะ

ดูสิ ดูเช่นหลวงตาท่านว่า เห็นไหม ท่านบิณฑบาตมาแล้ว บางอย่างที่มันสมควรท่านจะฉันเลย ท่านบอกธาตุมันเรียกร้อง ธาตุคือความรู้สึกมันเรียกร้อง ถ้ามันปล่อยไว้แล้วมันจะรับไม่ได้ ขณะที่ว่าเราต้องถนอมรักษา อย่างเช่นเราเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้ายารักษาอย่างนี้มันต้องให้ยา ถ้ายาอย่างนี้มันจะพอดีกับโรค ถ้าเราเลื่อนไปก่อนมันไม่พอดีกัน

นี่เรื่องของธาตุนะ แต่เรื่องของใจมันพ้นไปแล้ว มันเหนือสิ่งต่างๆ ทุกๆ อย่าง แต่ขณะที่ทำอย่างนี้ก็เพื่อถนอมสิ่งนี้ไว้เพื่อประโยชน์ของโลก แต่โลกไม่มองอย่างนั้นเลย โลกบอกนี่พูดเข้าข้างตัวเอง พูดอย่างนี้พูดเพื่อเห็นว่าตัวเองจะเอาอะไรก็อ้างตลอดไป ถ้ายังไม่ปฏิบัติ ยังไม่เข้าใจสภาวะแบบนี้ ถ้าปฏิบัติแล้วนะธาตุขันธ์ไม่ใช่จิต ความรู้สึกไม่ใช่จิต ความรู้สึกเป็นเงาเฉยๆ ความคิดเป็นเงาของจิต

เวลาความคิดมาจากไหน? เวลาความคิดหายไป ความคิดหายไป ใจยังมีความรู้สึกอยู่ไหม? ใจกับความคิดคนละอันกัน แต่ถ้าเราควบคุมใจวิมุตติสุขแล้ว ความคิดมันเป็นอาการของใจ แต่ถ้าความคิดนี้เพื่อประโยชน์โลก มันก็จะรักษาอันนี้ไว้เพื่อประโยชน์โลก แต่ถ้ามันบอกไม่มีประโยชน์ มันก็สละกันตรงนั้น

นี่พูดถึงหลักของใจ ในเมื่อสิ่งที่บัณฑิต อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา อย่าคบคนพาล นี่คนพาลจะติจะชมร้อยหนพันหนก็ไม่มีความหมายเลย บัณฑิตมาแค่บุคคลเดียว เอกบุรุษมาแค่หนึ่งเดียว เห็นสภาวะแบบนี้ คำพูดของบัณฑิต สายตาของบัณฑิต ความคิดของบัณฑิตจะเป็นประโยชน์กับเรามาก

ความคิดของบัณฑิต เห็นไหม คำหนึ่งก็มีความหมาย ความคิดของบัณฑิตคำหนึ่ง เตือนคำหนึ่ง ความเห็นคำหนึ่ง มันก็จะเป็นความชุ่มชื่นของใจ แต่ความคิดของคนพาลนะ มันเป็นโลกธรรม ๘ ติฉินนินทา ไม่มีประโยชน์หรอก พูดไปเถอะ ๕ ล้าน ๖ ล้าน ๑๐ ล้านเสียงก็ช่างหัวมัน สู้คำพูดคำเดียวของบัณฑิตไม่ได้ เอวัง