ดูแต่ไม่เห็น
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เขาถามมาเรื่องสีลัพพตปรามาส ใช่ไหม
ถาม : เรื่องสีลัพพตปรามาสที่พระโสดาบัน ท่านเว้นจากการลูบคลำในศีลนั้น แต่พูดง่ายๆ คือว่า ถือว่าไม่สึกแล้ว และที่จริงเคยได้ยินท่านอาจารย์สิงห์ทองพูดว่า อย่าว่าแต่พระเลย กระทั่งเณร พ่อขาว แม่ขาวก็ไม่สึกแล้ว (เพราะเป็นการตกจากศีลระดับสูงลงต่ำ) แม้จะมีคำกล่าวว่าพระโสดาบัน ศีล ๕ บริสุทธิ์ มีครอบครัว ลูกเมียได้
ตอบ : ถึงแม้ว่าจะมีครอบครัวได้ อันนี้ก็รู้กันอยู่ ปัญหานี้ ประเด็นมันอยู่ตรงที่ว่า สึกหรือไม่สึกนี่ไง
ถ้าเป็นพระโสดาบันแล้วคือไม่สึก พอเราไปตั้งประเด็นกันอย่างนี้ว่าไม่สึกใช่ไหม ทีนี้ในข้อเท็จจริงมันสึกได้ คำว่าสึกได้ แต่ไม่สึกนี้มันถูก พอมาคำว่าสึกได้นี่ ที่มันเป็นประเด็นขึ้นมา เขาบอกว่า ไม่อยากพูดเลย มีพระฝรั่ง ๒ องค์ องค์หนึ่งท่านเป็นปะขาวอยู่อังกฤษจะมาบวชกับหลวงตา สึกมามีแฟนระหว่างทาง แล้วมาบวชพระอยู่เดี๋ยวนี้ อีกองค์หนึ่งมาจากอังกฤษ อยากอยู่กับหลวงตา ก็สึกมาเป็นฆราวาส แล้วเดินทางมาบวชธรรมยุติ แล้วมาอยู่กับหลวงตา
๒ องค์นี้ เขาว่าได้ไง เขาว่าได้กันอยู่ นี่เขาว่าใช่ไหม คำว่าได้นี่ใครเป็นคนตัดสินว่าได้หรือไม่ได้ล่ะ ฉะนั้นพอได้นี่มันก็เหมือนว่าสึกทั้งคู่ไง สึกทั้งคู่มาบวชใหม่ทั้งคู่ ทีนี้พอบวชใหม่ทั้งคู่นี่ เขาก็อ้างว่า การบวชใหม่นี้มันไม่เสียหาย เพราะการบวชใหม่คือว่าบวชให้สูงขึ้น ไม่ใช่สีลัพพตปรามาส นี่คำว่าสีลัพพตปรามาสนี้ คำว่าสีลัพพตปรามาสคือไม่ลูบคลำในศีล ถ้าไม่ลูบคลำในศีล เราจะเอาตรงไหนว่าไม่ลูบคลำในศีล ศีลใครบริสุทธิ์กว่ากัน
คำว่าศีล ประสาเราว่า ศีลก็คือกฎหมาย ฉะนั้นถ้าไม่ลูบคลำในศีล คำว่าไม่ลูบคลำในศีล เราจะพูดอย่างนี้นะ เราจะพูด เหมือนกับวีซ่า อย่างที่ว่าเขาถือบัตรวีซ่าใช่ไหม ที่ว่าออกนอกประเทศ ถ้าบัตรสีแดงคือบัตรวีซ่าทูต เห็นไหม ไม่ต้องได้รับการตรวจสอบ อันนั้นมันได้เพราะอะไร อันนี้มันได้มาเพราะว่าคนนั้นได้ฐานะ เขาถึงได้ให้วีซ่าระดับของทูต ระดับของบุคคลธรรมดาระดับต่างๆ
สีลัพพตปรามาส ความรู้ในศีล ได้รับรู้ในศีลมากน้อยแค่ไหน ถ้าคำว่ารู้ ในศีลมากน้อยได้แค่ไหนนี้ สีลัพพตปรามาสนี่ของใครมันจะถูกต้อง ในเมื่อคำว่าของใครถูกต้อง สีลัพพตปรามาส เราไปมองกันว่าไม่ลูบคลำในศีล แต่ทีนี้คำว่า สีลัพพตปรามาสนี้ มันเกิดขึ้นมาจากสังโยชน์ ๓ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ถ้าละสังโยชน์ ๓ เป็นพระโสดาบัน มันต้องละสังโยชน์ที่สักกายทิฏฐิ
สักกายทิฏฐิ คือความเห็นในกายนั้น พิจารณากายนั้น พอความเข้าใจอันนั้นต่างหากล่ะ มันถึงจะมีผลถึงสีลัพพตปรามาส อย่างพวกเรานี้ เราก็อยากให้มีสีลัพพตปรามาส พวกเรานี่จะไม่ลูบคลำในศีลเลย เพราะว่าพยายามศึกษาศีลนี่ให้มั่นคง เราพยายามรักษาศีลให้ได้ดั่งใจ แล้วมันจะเป็นตามนั้นไหม เพราะอะไร เพราะรากเหง้า เราลังเลสงสัยไง เพราะเราไม่ได้พิจารณาจนละทิฏฐิไง ละสักกายทิฏฐิใช่ไหม เพราะเราละสักกายทิฏฐิ ปั๊บจิตนี้มันเข้าถึงนะ พอเข้าถึงปั๊บนี่ ไอ้ลูบคลำในสีลัพพตปรามาสมันก็ไม่มีไปเอง มันไม่มีของมันไปเอง
ทีนี้เราบอกว่า ไม่สีลัพพตปรามาส คือมีศีล เห็นไหม นี่ถึงบอกว่า ได้ยินจากอาจารย์สิงห์ทองมาว่า แม้แต่ปะขาว แม้แต่เณรก็ไม่สึก คำว่าไม่สึกถูกต้อง อันนี้ถูกต้องเลย เพราะไม่สึก ถ้าคนเรานะมันเห็นโทษแล้วนี่มันจะไม่สึกหรอก สิ่งที่ว่าเขาว่ามันสึกออกมานี่ เราจะบอกว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องวัฒนธรรมเหมือนกัน ถ้าวัฒนธรรมของเขา เห็นไหม นี่วัฒนธรรมของเขานี้ เขาศึกษาของเขา เขาจะรู้เรื่องของเขาได้มากน้อยแค่ไหน
ฉะนั้น มันจะเอาประเด็นว่า สึกหรือไม่สึกนี้มันเป็นอีกประเด็นหนึ่ง มันไม่ใช่ประเด็นว่า สีลัพพตปรามาสแท้หรือไม่แท้ ถ้าสีลัพพตปรามาสแท้มันไม่สึกหรอก แล้วมันไม่สึกนี่มันมีทางออกของมันได้ อย่างเช่น บวชเป็นพระมา ไม่สึกบวชพระอะไรก็ได้ ทำไมต้องสึกมาบวชล่ะ เพียงแต่ว่ากรณีอย่างนี้มันน่าจะเป็นว่า มันต้องมีประเด็นอื่นด้วยไง มีความขัดแย้งมีประเด็นอื่น ก็บอกว่าสึก
นี่เราจะบอกว่ามันต้องฟังหูไว้หู เพราะว่าอะไร เพราะกาลามสูตร ไม่เชื่อใดๆ ทั้งสิ้น ที่บอกว่าพระ ๒ องค์นี้ว่าเขาได้ของเขา เราไม่เชื่อ เราไม่เชื่อเลย คำว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อนี่ มันต้องได้รับการพิสูจน์ อย่างเช่น การแสดงธรรมนี่ ถ้าคนๆ นั้นมีจริงนะ จะแสดงอย่างไรก็แล้วแต่ คนผู้ที่เห็นได้จริงนี่จะฟังออกหมดเลย แต่ถ้าสมมุติว่าอย่างเรานี่ เรานี่ไม่รู้อะไรเลยนะ แต่เราจะพูดธรรมะให้เหมือนพระพุทธเจ้าหมดเลย เราจะพูดให้สุดยอดเลยนะ พูดอย่างไรนะมันก็เป็นความจำ
คนที่ปฏิบัติจริง ฟังเราพูดนี่รู้เลยว่าเราภาวนาไม่เป็น แต่พูดธรรมะนี่ พูดธรรมะพระพุทธเจ้านะ ภาวนาไม่เป็นเพราะว่าอะไร เพราะเวลาคำพูดที่ออกไปมันจะขัดแย้งกัน คำพูดมันจะขัดแย้งกัน ถ้าคำพูดที่มันเป็นความจริง มันเหมือนคนทำอาหาร เหมือนคนแม่ครัวใหญ่ทำอะไรทุกอย่างมันจะสำเร็จไปด้วยความชำนาญของมัน มันจะราบรื่นของมัน แต่ของเรานี่มันจะกลับหัวกลับหาง ยังไม่ทำอะไรเลยนะเสริฟอาหารแล้ว เสริฟออกมาแล้ว ยังไม่ทำอะไรเลยเสริฟออกมาแล้ว นี่เป็นผลออกมาเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น กลัวเขาจะไม่รู้ว่าเรามีธรรมะไง มาถึงก็เสริฟออกมาเลยนะ อาหารเป็นอย่างนี้ อย่างนี้ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ทำ ครัวยังไม่ได้เปิดนะ ยังไม่ได้เปิดครัวเลยนะเอาอาหารมาวางบนโต๊ะเลย ผมทำเสร็จแล้วครับ
นี่มันจะขัดแย้งกันอย่างนั้น แต่ถ้ามันเป็นความจริง จะทำอย่างนั้นไม่ได้ ฉะนั้นไอ้ที่ว่าสีลัพพตปรามาสหรือไม่สีลัพพตปรามาส อันนี้มันกรณีหนึ่ง ไอ้ที่ว่าได้โสดาบันหรือไม่โสดาบัน อีกกรณีหนึ่ง เพราะสังคมไทยเราไปยึดติดกันไง เราไปยึดติดว่าสิ่งนั้นมันประเสริฐ เห็นไหม พระโสดาบัน พระสกิทาคา พระอนาคานี่ประเสริฐมาก พอประเสริฐมาก พยายามจะพูดกัน พูดเป็นนัย พูดเป็นนัยว่ามีสถานะอย่างนั้น คำว่าพูดเป็นนัยนั่น มันละอายแก่ใจไหม
ถ้ามันละอายแก่ใจ การพูดเป็นนัย เห็นไหม ดูสิ พระพุทธเจ้าพูด เห็นไหม มีตั้งแต่สมัยพุทธกาล มันข้าวยากหมากแพงไง พระที่ไหนมาหาพระพุทธเจ้านะมีแต่ โอ้โฮ เส้นเลือดขึ้นปูดโปนหมดเลย เพราะว่ามันอดอาหารมา ไม่มีปัจจัยเครื่องอาศัย มีพระอยู่กลุ่มหนึ่งมาหาพระพุทธเจ้า โอ้โฮ ผิวพรรณ สัณฐาน ผิวนี้ดีมากเลย พระพุทธเจ้าถามว่า เธออยู่กันอย่างไร พวกนี้เขามีแต่ทุกข์มีแต่ยากทั้งนั้นเลย พวกเธออยู่อย่างไร โอ้โฮ ข้าพเจ้าอยู่กันนะ นี่องค์นี้ก็บอกองค์นั้นได้อนาคา ไอ้องค์อนาคาก็บอกองค์นี้ได้โสดาบัน ไอ้โสดาบันก็บอกองค์นั้นได้สกิทาคา
ชาวบ้านเขาเชื่อถือศรัทธานะ เขาอุปัฏฐากอย่างดีเลย ตอนนั้นพระพุทธเจ้ายังไม่ได้บัญญัติวินัยใช่ไหม ก็รายงานพระพุทธเจ้าว่าตัวเองนี้มี อุบายในการดำรงชีวิตที่ดีมาก พระพุทธเจ้าบอกนี่มหาโจร ต่อไปนี้ห้ามทำไง เป็นมหาโจร ดูพระทั่วไป เห็นไหม เวลาเข้ามานี่ เส้นเอ็นนะ เส้นเลือดนี่ปูดโปนหมดเลย เพราะว่ามันคราวข้าวยากหมากแพง ความเป็นอยู่ของชาวบ้านเขาก็ลำบากอยู่แล้วใช่ไหม เขาก็ถวายพระด้วยความจำเป็นของเขา แล้วนี่ก็ข้าวยากหมากแพงเหมือนกัน
แต่เพราะข้าวยากหมากแพงนี่ แต่พระที่อยู่ด้วยกัน เห็นไหม องค์นั้นก็ยกย่ององค์นั้นว่าเป็นอนาคา องค์นั้นก็ยกย่องอีกองค์หนึ่งว่าเป็นโสดาบัน องค์นั้นก็ยกย่องว่าเป็นสกิทาคา ยกย่องกันไปก็ยกย่องกันมา เห็นไหม ต่างคนต่างกล่าวยกย่องกัน ชาวบ้านเขาก็ยิ่งศรัทธา เขาเชื่อมาก พอเขาเชื่อถือศรัทธาเขาทุกข์ยากอยู่แล้ว แต่ด้วยความเชื่อของเขา ด้วยความมั่นคงของเขา เขาถวายทานมหาศาลเลย เขาจะทุกข์ยากแค่ไหนเขาก็ทนเอา เพราะเขาจะเอาบุญกุศลของเขา
พระชุดนั้นมาหาพระพุทธเจ้านะ ไม่มีอะไรเลย ถ้ามีอะไรพระพุทธเจ้าถามเลยนะ เธออยู่กันได้อย่างไร เธออยู่กันอย่างไร ข้าพเจ้าอยู่กันด้วยอุบายนะ องค์นั้นได้อนาคา ไอ้องค์อนาคาก็บอกองค์นั้นได้โสดาบัน เอ้า พระกับพระพูดยกย่องกันชาวบ้านเชื่อไหม พระกับพระพูดยกย่องกันชาวบ้านเขาก็ต้องเชื่อเป็นธรรมดา แล้วยกย่องกันไปยกย่องกันมา พอยกย่องกันไปยกย่องกันมา พระพุทธเจ้าบอกเลยนี่ นี่มหาโจร เพราะโจรมันยังไปปล้นที่บ้านเขา ไอ้นี่พูดให้ เอาเขามาให้ปล้นที่วัดเลย เขาเอามาให้ปล้นที่วัด
นี่ไง เพราะคำอย่างนี้ มันมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล นี่เราถึงบอกว่า เห็นไหม ถ้าได้โสดาบัน ได้สีลัพพตปรามาสนี่พูดกันไป พอเราพูดกันไปนี้มันเป็นอะไรนะ เป็นประเพณี เป็นวัฒนธรรม เป็นความเชื่อ แล้วเอาความเชื่อนี่ เห็นไหม ถ้าพระได้โสดาบันแล้วจะไม่สึก ฉะนั้นพระที่บวชจนแก่ จนฝังตายไปคาผ้าเหลืองนี่เป็นพระโสดาบันหมด เพราะว่าไม่ได้สึก นี่พูดนี้เราไม่ได้พูดเพื่ออะไรนะ เราพูดเพื่อแบบว่า ให้ชาวพุทธนี้หูตาสว่าง อย่าเชื่ออะไรโดยเป็นประเพณีเฉยๆ อย่าเชื่อ อย่าเพิ่งเชื่อ ว่าเป็นพระโสดาบันจะไม่สึก สึกไม่สึกนั้นเป็นกรณีหนึ่ง สีลัพพตปรามาสก็เป็นกรณีหนึ่ง
เป็นโสดาบัน ไม่เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคา เป็นอนาคานี้ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เวลาตรวจสอบกัน ดูสิ หลวงตานะ นี่เราจะพูดยกหลวงตาประจำเลย เพราะหลวงตาท่านใช้ประสบการณ์ของท่าน แล้วเราอยู่กับท่าน เราฟังท่านพูดมา มันซึ้งใจมาก หลวงตานี้ท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์นี้เป็นพระอรหันต์นะ แล้วด้วยความมั่นใจด้วย แล้วปฏิปทาของหลวงปู่มั่นเห็นไหม ท่านเคร่งครัดเพราะอะไร เพราะท่านทำเป็นชีวิตแบบอย่างเห็นไหม
แล้วหลวงปู่มั่นท่านก็พูดถึงหลวงปู่แหวนเหมือนกัน แล้วหลวงปู่แหวน ท่าน ท่านอยู่กับหลวงปู่มั่นมา เห็นไหม หลวงปู่แหวนกับหลวงปู่ขาวเข้าไปอยู่กับหลวงปู่มั่น ทำไมหลวงปู่แหวนท่านทำเหรียญ โอ้โฮ รุ่นเราสู้ เราสู้นี่ หลวงตาท่านก็เอะใจนะ ว่าหลวงปู่แหวนนี้ หลวงปู่มั่นก็เชื่อถือ หลวงปู่มั่นก็ให้ความเอ็นดูใช่ไหม แล้วหมู่คณะก็เชื่อมั่นกัน ทำไมหลวงปู่แหวนท่านไม่ดำรงชีวิตแบบหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านทำเป็นชีวิตแบบอย่าง
ไอ้นี่มาทำ มาออกเป็น เราสู้ เราสู้ นี่มันเป็นเหรียญเป็นเรื่องโลกเห็นไหม ท่านก็ไปหาหลวงปู่แหวน ๒-๓ รอบ จะหาโอกาสได้สนทนาธรรม จนสุดท้ายแล้วนะ คนมันเยอะไง ที่ท่านพูดเองนั่น ก็บอกกั้นให้โยมไว้ก่อน เราเข้าไปก่อนนะ แล้วถ้ามีโอกาสเดี๋ยวจะให้เข้าไปเอง เพราะเข้าไปถามปัญหาเห็นไหม
นี่ไง โสดาบันหรือไม่โสดาบันมันอยู่ตรงนี้ ถามปัญหาแรกเลยก็ปัญหานี้แหละ ปัญหาแรกก็ปัญหาโสดาบันนี่ล่ะ ปัญหาว่าจะละสักกายทิฏฐิ อย่างไร ปัญหาแรกตอบมาเลย ๒๐ กว่านาที ละกายอย่างไร พอละกายอย่างไรนี่ นี่เห็นไหม คือว่าหมัดแรกผ่านแล้ว คือว่าอันแรกผ่าน อัน ๒ ซัดเข้าไปเลย แล้วอวิชชาทำอย่างไร พออวิชชาทำอย่างไร ท่านใส่มาเลย เห็นไหม ท่านใส่มาเลย ใส่มาเป็น ๔๕ นาที ท่านบอก โอ้โฮ ตัวนี้แดงหมดเลย ถ้าอย่างนั้นปุ๊บ
ถ้าผิดถูกอย่างไร มหาว่ามา
ข้าพเจ้าไม่ว่าอย่างไรหรอกครับ ข้าพเจ้าขอหาฟังอย่างนี้ ข้าพเจ้าขอฟังธรรมอย่างนี้ ธรรมอย่างนี้ข้าพเจ้าแสวงหามาก ข้าพเจ้ากราบด้วยหัวใจเลย
อันนั้นคือหลักธรรมสัจจะความจริง แต่ไอ้เราสู้ๆ นี่มันเป็นเรื่องโลกๆ เห็นไหม พอหลวงตาท่านไปคุยกับหลวงปู่แหวนแล้ว ท่านก็กราบหลวงปู่แหวนด้วยเศียรเกล้า ท่านเอาเท้าเอามือของหลวงปู่แหวนนี้ลูบหัว ลูบหัวเพราะอะไร เพราะเป็นศิษย์อาวุโส เป็นศิษย์หลวงปู่มั่น
หลวงปู่มั่นท่านเป็นชีวิตแบบอย่าง แล้วหลวงตานี้ท่านอุปัฏฐากหลวงปู่มั่นอยู่ พอท่านอุปัฏฐากหลวงปู่มั่นอยู่ หลวงปู่มั่นทำตัวอย่างไร หลวงปู่มั่นสอนพระอย่างใด หลวงปู่มั่นท่านอยากจะให้พระพวกเรานี้เข้มแข็งศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในศาสนทายาท ฉะนั้นเวลาสอนใครนี้มันก็อยู่ที่จริตนิสัย อย่างเช่นเราเป็นนักศึกษา เราเป็นนักเรียนนี่เห็นไหม เราเรียนมหาวิทยาลัยกัน เราจบมาทางวิชาการใดเห็นไหม มันอยู่ที่เราเรียนแผนกอะไร เราเรียนเอกอะไร เราเรียนคณะอะไร นี่ก็เหมือนกัน ทีนี้พอจริตนิสัยของคน เห็นไหม หลวงปู่มั่นท่านดูจริตนิสัยของคน ว่าคนอย่างนี้ควรจะไปได้อย่างไร ท่านถึงบอกไงบอกว่า
หมู่คณะ จำหลวงปู่ขาวไว้นะ เพราะหลวงปู่ขาวได้คุยกับเราแล้ว
นี่โสดาบัน สกิทาคา อานาคานี้ สิ้นกิเลสนี้คุยกับเราแล้ว หลวงปู่ขาวได้คุยสนทนาธรรมกับเราแล้ว พอสนทนาแล้ว หลวงปู่ขาวนี้ท่านดีทั้งข้างนอกทั้งข้างใน เห็นไหม แล้วให้คอยดูเป็นแบบอย่าง นั่นมันเป็นโสดาบัน โสดาบันที่นั่น ไม่ใช่สึกหรือไม่สึก สีลัพพตปรามาสเนี่ย ถ้าสีลัพพตปรามาสนะ พรุ่งนี้เช้าเอาเชือกมามัดกูไว้นะ กูจะเรียบร้อยเลย กูจะอยู่ แหม กูจะไม่ขยับเลย กูจะให้นุ่มนวลไง กูจะได้ไม่สีลัพพตปรามาสไง
เราไปดูกันที่เปลือกนอก ฉะนั้นกรณีอย่างนี้ ใช่ เขาบอกอาจารย์สิงห์ทองบอกว่า แม้แต่ผ้าขาวแม่ชียังไม่สึกเลย แล้วนี่สึกเห็นไหม สึกแล้วมาบวชใหม่ คำว่าสึกแล้วบวชใหม่ เราจะบอกว่า กรณีอย่างนี้ เราจะมาวัดผลกันไม่ได้ เราจะมาวัดผลกับพระ ๒ องค์นั้นที่ว่าเขาสึกมาเพื่อบวชใหม่นี่ เขาบอกว่าเขาได้โสดาบันมาแล้วอะไรนี่ มันก็เรื่องของเขา แต่ถ้าเขาแสดงธรรม หรือเราสนทนาธรรม ถ้าเขารู้จริงตามนั้น มันถึงจะเป็นโสดาบัน
โสดาบันคือเนื้อหาสาระข้อเท็จจริงที่ใจเป็นโสดาบัน โสดาบันเพราะเหตุใดถึงเป็นโสดาบัน โสดาบันเหตุเพราะละสักกายทิฏฐิ สักกายทิฏฐิ ทิฏฐิความเห็นในกายของเรา จิตเรานี้โดยจิตใต้สำนึกนี้มันเกิดมากับเรา จิตใต้สำนึกเช่น เราเกิดในพ่อแม่ใครนี่ เราก็ว่าเราเป็นชาติตระกูลนั้น เราเกิดในพ่อแม่นี่ พ่อแม่คนนั้นก็เป็นพ่อแม่เรา เราเกิดเป็นมนุษย์ ร่างกายนี่มันได้ร่างกายนี้มา ร่างกายกับเรานี่มันก็เป็นชาติตระกูลเดียวกันมา มันเป็นอันเดียวกันโดยธรรมชาติของมัน
แล้วเวลาเราศึกษาธรรมของพระพุทธเจ้า เห็นไหม พอจิตมันสงบเข้ามาแล้วออกวิปัสสนา เห็นไหม จนมันเห็นว่า นี่แม้แต่อยู่ด้วยกัน เห็นไหม ใช่ เราเป็นชาติตระกูลเดียวกัน เรามีสายบุญสายกรรมมา เราจึงเป็นชาติตระกูลเดียวกัน แต่ถึงที่สุดแล้ว เห็นไหม เราถอดถอนความยึดมั่นถือมั่น มันก็ขาดตรงนี้ไง อันนี้ก็เหมือนกัน พอเราพิจารณาไปนี่ เราจะบอกว่า กายกับจิตนี้มันได้มาโดยกรรม โดยบุญกุศล โดยอะไรต่างๆ นี้ มันจะเป็นอย่างนี้ ปากจะพูดอย่างไร จะศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้าขนาดไหน จะมีสมองศึกษาขนาดไหน มันเป็นเรื่องจำทั้งหมด มันละถอนทิฏฐิ ถอนความเห็นของจิตใต้สำนึกไม่ได้ จะมีความเรียบร้อยมหาศาล จะเชื่อในศีล จะสีลัพพตปรามาสไม่ลูบไม่คลำในศีล จะเอาธรรมะพระพุทธเจ้า เอาศีลนี้สักไว้ในสมองเลยนะ ให้มันติดอยู่ในสมองเลยว่าศีลกูบริสุทธิ์ มันก็ไม่เกี่ยว
มันไม่เกี่ยวกับการละถอนสักกายทิฏฐิเลย ถ้ามันเกี่ยวกับมันละถอนสักกายทิฏฐิอันนั้นแล้ว อันนั้นต่างหาก ฉะนั้นที่ว่าสึก สึกหรือไม่สึกนี่ ธรรมดานะ ถ้าจิตของเรานี่นะ จิตของเรานี่มันดีขึ้น มันพัฒนาขึ้น คนเรานี่ไม่ลงต่ำแน่นอน ถ้าจิตเราดีแล้วนี่ เรา เราจะทำแต่สิ่งที่พัฒนาขึ้นมา อย่างเช่น เราทำอะไรแล้วประสบความสำเร็จนี่ เราก็อยากจะมีสิ่งที่มีความสำเร็จมากขึ้น มากขึ้น พอจิตของเราเป็นอย่างนั้นนะ และอารมณ์ความรู้สึกนี่ เวลาเป็นพระโสดาบันนี่ โธ่ ขนาดไม่ได้สีลัพพตปรามาสนะ เราอยู่ในหมู่ของพระนี่ พระบอกเลยนะ ถ้าผิดศีลนะ บางอย่างบังคับให้ทำนี่ เอาชีวิตนี้ไปได้เลย
เวลาคนศีลเขาบริสุทธิ์เขาทำอย่างนั้นจริงๆ นะ ถ้าพูดถึงเขามีสติพร้อมนะ แต่คนเรานี่นะ สติมันพร้อม สตินี่มันพร้อม แต่ด้วยเจตนาด้วยอะไรนี่ เราถึงบอก การเดินการเหยียบไปบนแผ่นดินนี่ ไอ้ตัวสัตว์ที่เราเห็นหรือไม่เห็นนี่ เราไม่ได้ตั้งใจหรอก เราไม่ได้ตั้งใจ เราบอกว่าเราเหยียบไปบนแผ่นดินต่างๆ เราใช้ชีวิตดำรงชีวิตนี่ เราจะไม่ให้สัตว์ตัวไหนตายจากโดนเราเหยียบย่ำเลยนี่ เราว่ามันเป็นไปไม่ได้นะ ดังนั้นถ้าเป็นไปไม่ได้นี่ อย่างนี้สีลัพพตปรามาสไหม อย่างนี้ผิดศีลไหม มันไม่ผิดศีล
คำว่าสีลัพพตปรามาสนี่ เราไปคิดทางวิทยาศาสตร์ คิดแบบโลกไง คือจะเอากล้องจุลทรรศน์ส่องเลยนะ ถ้าเป็นสีลัพพตปรามาสนะ มึงจะมาขยับอะไรไม่ได้เลยนะ สีลัพพตปรามาสนี่มันฝังอยู่ที่จิตเว้ย เพราะถ้าจิตนี่มันรู้ มันรู้จริงเห็นจริงใช่ไหม ว่าคุณธรรมได้อย่างนี้ปั๊บนี่ มันก็จะรักษาสิ่งนี้ คำว่ารักษาไว้ แต่ด้วยความไม่รู้ ความไม่เข้าใจนี่ ทำไมพระพุทธเจ้าถึงว่า
ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่นะ ศีลนี้ไม่ ๒๒๗ หรอก มันจะมีมากไปกว่านี้อีก พระพุทธเจ้าจะบัญญัติมาเรื่อยๆ แต่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ถึงบอกว่า ธรรมและวินัยที่จะไปข้างหน้า ถ้าเหตุใด ถ้ามีสิ่งใดที่มันขัดแย้งกับสังคม แม้แต่ของเล็กน้อย ภิกษุจะแก้ไขก็แก้ได้ ทีนี้พอพระพุทธเจ้าพูดไว้อย่างนี้ พอสังคายนานี่ พระอานนท์ก็บอกว่า พระพุทธเจ้าพูดไว้อย่างนี้ ทีนี้พระกัสสปะกับพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์เห็นไหม คำว่าเล็กน้อย แค่ไหนว่าเล็กน้อย แค่ไหนว่ามาก พระอานนท์ตอบไม่ได้ พอตอบไม่ได้ถึงตั้งญัตติขึ้นมาไง ตั้งญัตติขึ้นมาว่า สงฆ์เราที่ประชุมกันอยู่นี่ พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์นี้ ทำสังคายนานี้ บอกว่าเราจะไม่แก้ไขธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าแก้ไขธรรมวินัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ ในลัทธิต่างๆ ในสังคมต่างๆ เขาจะติฉินนินทาได้ว่า แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพิ่งจะปรินิพพานไป แม้แต่พระ ลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่สามารถรักษาธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ กลัวเขาจะติเตียนไง เขาถึงบอกว่า เราถึงญัตติกันไว้ว่าจะไม่แก้ไข
ทีนี้พอไม่แก้ไขนี่มันก็มีอีกข้อหนึ่ง ข้อที่ว่ามหาปเทส ๔ ที่ไหนเขาทำกัน เขาประพฤติปฏิบัติกัน ถ้ามันเข้ากับธรรมวินัยได้ให้ถือว่าถูกต้อง แต่ถ้าที่ไหนเขาทำกัน แล้วมันเข้ากับธรรมวินัยไม่ได้ เขาเรียกมหาปเทส ๔ ใช้มหาปเทส ๔ ตัดสินไง สิ่งใดที่เขาทำสังคมวัฒนธรรมเขาทำกันอยู่ มันเข้ากับธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าได้ ให้ถือว่าพระพุทธเจ้าตัดสินแล้ว ตัดสินว่าห้ามทำ หรือให้ทำได้ตามความถูกต้อง
พอทีนี้มหาปเทส ๔ เหมือนกัน ทีนี้พระเวลาปฏิบัติไปนี่ เวลาโตขึ้นมานี่ ไอ้ตรงนี้มันจะตัดสินกันได้ แล้วพอตัดสินกันได้นะ สิ่งต่างๆ นี่มันแก้ไขได้ คำว่าแก้ไขได้ ฉะนั้นถ้าย้อนกลับมานี่ ย้อนกลับมาที่ว่าต้องสึก ต้องสึกนี่ เราจะพูดอย่างนี้ เราจะพูดคำว่า สึกหรือไม่สึกนี่ จะเอามาเทียบกับตรงนี้ไม่ได้ เพราะเวลาเราบวชขึ้นมา เห็นไหม สมมุติสงฆ์ เวลาบวชเวลาสึกนี่สมมุติสงฆ์ แต่ถ้าว่ามันเป็นอริยภูมิขึ้นมานี่มันไม่มีสึก มันบวชไม่ได้สึกไม่ได้ เพราะมันเป็นไปแล้ว มันเป็นอกุปปธรรมนี่ พระโสดาบันสึกจากพระโสดาบันได้ไหม สึกจากพระสกิทาคาได้ไหม สึกจากพระอนาคาได้ไหม สึกจากพระอรหันต์ได้ไหม ไม่ได้ เพราะอะไร เพราะมันไม่ได้เป็นที่รูปสมมุติที่จะสึกนี้ แต่มันเป็นที่หัวใจนี้
ถ้าหัวใจที่มันเป็นขึ้นมาเอง แล้วมันเป็นขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าใจมันเป็นพระโสดาบันขึ้นมา เห็นไหม นี่อริยภูมินี้มันเป็นขึ้นมาได้อย่างไร ถ้ามันเป็นขึ้นมาแล้ว อันนั้นล่ะมันเป็นความจริง ฉะนั้นไอ้ที่ว่าไม่สึกๆ ตรงนั้น อย่างที่อาจารย์สิงห์ทองนี้บอกว่า แม้แต่ผ้าขาวก็ไม่สึกเลย ใช่ เราเห็นด้วยนะ เราเห็นด้วย และเราจะบอกว่าที่ว่าไม่สึก ถ้าได้โสดาบันแล้วไม่สึก ไม่สึกเด็ดขาด ทีนี้ว่าสึกได้ไหม ได้ ไอ้คำว่าสึกได้นี่สึกได้ แต่ไม่สึก
อย่างเรานี่นะ พูดถึง ไฟนี่นะมันอยู่บนตัวเรา เราปัดไฟออกไปจากตัวเราแล้ว เราจะเอาไฟมาเผาเราอีกไหม ไม่มีทาง ใครนะถ้ามีก้อนไฟอยู่ก้อนหนึ่งบนศีรษะ แล้วเราปัดมันออกไปแล้ว มีใครบ้างบอกให้เอาไฟมาใส่หัวกูอีก มีใครบอกบ้าง อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นโสดาบันแล้ว มันได้คุณธรรมในหัวใจแล้ว มันจะลงไปเอาความทุกข์อย่างนั้นอีกไหม ไปเอาความร้อนอย่างนั้นอีกไหม ไม่ไปเด็ดขาด ฉะนั้นไอ้สึก ไม่สึกเด็ดขาด แต่สึกนั่นได้ไหม ได้
มันสึกได้โดยข้อเท็จจริงไง มันสึกได้หมายถึงว่ามันเป็นอันนั้นแล้วไม่สึก เราเห็นด้วยกับอาจารย์
ฉะนั้นเวลาเราปฏิบัติกัน ความจำเป็นมันปิดทิ้งเลยนะ ไม่ทำ หลวงตาบอกเลย มันจะไปไหนไม่ไป ทำไมไม่ไป ถ้าไม่ทำตัดขาดเลย จะเป็นจะตายช่างหัวมัน แล้วมันก็ไม่เห็นตายสักทีเลย แต่ถ้าเราเว้นไว้แต่ตรงนั้นนะ มันจะเข้าตรงนั้นล่ะ จำเป็นแล้ว เออ เว้นไว้ตรงนี้ ออกช่องนี้หมดเลย นี่มันการปฏิบัติเพราะเราอ่อนแอไง ถ้าปฏิบัติแล้วอ่อนแอเราจะไม่ได้ผลตามเป็นจริง ถ้าจะปฏิบัติเราต้องเข้มแข็ง ฉะนั้นว่า ไอ้กรณีอย่างนี้ เวลาพระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ เห็นไหม สังเกตได้ไหม วัดทั่วไปเยอะแยะเลย ไม่มีพระอยู่ แล้วเวลาสร้างวัดก็บอกทำไมไปสร้างวัดทำไม วัดเยอะแยะไม่มีพระอยู่ เอ็งลองเข้าไปอยู่สิ เจ้าของมาเลยล่ะ เจ้าของมาทันที เวลาไม่มีใครอยู่นะ มันอยู่แล้วมันทุกข์มันยาก ต่างคนก็ต่างหนี แต่พอมีพระไปอยู่นะ มีคนมาอยู่นะ หมามันหวงก้าง มันจะเข้ามาอยู่ทันทีเลย พอเข้ามาอยู่แล้วจะมีปัญหาทันที อะไรถ้ามันเป็นผลประโยชน์ มันเป็นอย่างนั้นขึ้นมาแล้ว มันจะมีคนเข้ามาอย่างนี้ แต่ถ้าไม่มีใครมาสนใจ มันจะไม่เป็นอะไร
แต่นี้กรณีที่ว่าสึกไม่สึก เห็นไหม นี่เราตั้งเป็นประเด็นขึ้นมาปั๊บนี่ มันก็มีการโต้แย้งอย่างนี้ เราฟังมาเยอะ แล้วเราไม่เอาประเด็นนี้มาทำให้เป็นประเด็นขึ้นมาเลย เพราะมันเป็นประเด็นขึ้นมาแล้วนี่ เพราะเอาตรงนี้เป็นตัวตั้งใช่ไหม นี่ ดูแต่ไม่เห็น ดูแต่ไม่เห็น นี่ก็เหมือนกัน เวลาให้ดูไปเห็นไป เพราะอะไร เพราะคำว่าดูนี่ดูเขาสึก ดูเขาเป็น ดูเขาไป สีลัพพตปรามาส ดูไปเถอะ เพราะอะไร มันมาจากพระไตรปิฎก เหมือนดูจำ อย่างเช่น เราเอาสินค้าลิขสิทธิ์มาผลิต เราผลิตขึ้นมาเราขายได้ แต่มันขายได้ มันก็เท่านั้น แต่เจ้าของสินค้านั้น เขาพัฒนาสินค้าเขาไปข้างหน้าไปประจำเลย ไอ้สินค้าเรา เราก็ก้อปปี้เขาไปตลอด นี่เห็นไหม พอเขาออกสินค้าใหม่มานี่ วันเดียวเท่านั้น พรุ่งนี้จะมีสินค้าใหม่มาทันทีเลย แต่ถ้าเจ้าของสินค้านั้นเขาพยายามพัฒนาสินค้าของเขาไปเรื่อย เพราะอะไร เพราะเขามีฐานของเขา เขามีความรู้จริงของเขา เขาพัฒนาสินค้าของเขาไปได้ ไอ้เรานี่ไม่มีฐานความรู้อะไรเลย เห็นเขาทำสินค้ามา ก็ไปเอาตัวสินค้าเขามาเลย แล้วมาแกะออกว่าเขาทำอย่างไร แล้วก็เลียนแบบเขาไป เลียนแบบเขาไป
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ในการปฏิบัติในปัจจุบันนี้ ไอ้ที่ว่าดูแล้วไม่เห็นนี่ เขาดูจิตรักษาจิต อะไรต่างๆ นี่ เขาดูของเขา เพื่อจะพัฒนาการของเขาไป เขาเห็นตามความเป็นจริงของเขาไป ไอ้นี่พอสินค้ามันมีตัวอย่างแล้ว มันก็เอาสินค้าของเขามาเป็นตัวอย่าง ดูกับเขาเหมือนกัน ดูแต่ไม่เห็น นี่ก็เหมือนกัน ดูเขาทำ แต่ไม่รู้เรื่อง ดูแต่ไม่เห็น ฟังแต่ไม่รู้ นี่ดูไปเห็นไป ดูไปพัฒนาไป มันจะไม่เป็นตามความจริงอย่างนั้น
อันนี้เราตอบปัญหาเขาหรือยังก็ไม่รู้เนอะ เราว่าเราตอบแล้วนะ ให้ช่วยกราบเรียนถามเรื่องสีลัพพตปรามาส ว่าสิ่งใดเป็นสีลัพพตปรามาส ถ้าเป็นโสดาบันแล้ว เราไปเอาสีลัพพตปรามาสเป็นตัวตั้ง แต่ในพระปฏิบัติเรานี่ เอาสักกายทิฏฐิเป็นตัวตั้ง สักกายทิฏฐิ ทิฏฐิความเห็นของจิต ถ้าทิฏฐิเดิมมันจะเป็นโสดาบันไม่ได้ ทิฏฐิเดิมเห็นไหม แต่ถ้าเป็นละสักกายทิฏฐิ พอละสักกายทิฏฐิ เพราะมันรู้จริงขึ้นมา ความลูบคลำมันก็ไม่มี พอความลูบคลำไม่มี สีลัพพตปรามาสคือความลูบคลำเห็นไหม สีลัพพตปรามาส วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ความลังเลสงสัยไม่มี ความลูบคลำก็ไม่มี มันตามมา มันเป็นผลพลอยได้ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เป็นผลพลอยได้จากสักกายทิฏฐิ แต่เราไปเอาสีลัพพตปรามาสเป็นตัวตั้ง เราไม่ได้เอาสักกายทิฏฐิเป็นตัวตั้ง เพราะเอาสีลัพพตปรามาสเป็นตัวตั้งว่าไม่ลูบคลำในศีล ใครมันจะไม่ลูบคลำในศีล
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าห้ามพระแสดงอวดอุตริมนุษยธรรม พอพระพุทธเจ้าไปบัญญัติวินัยข้อนี้ขึ้นมานะ ห้ามพระอวดอุตริมนุษยธรรม ไอ้พวกลัทธิต่างๆ มันก็มาท้าเลย ท้าว่าให้แสดงฤทธิ์ แสดงฤทธิ์ พระองค์ไหนก็แสดงไม่ได้ ท้าไปท้ามา ท้าถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ารับท้าทันทีเลย พอรับท้าขึ้นมา พวกลูกศิษย์ โอ้โฮ มาต่อว่าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นคนบอกเขาเอง พระพุทธเจ้าเป็นคนบัญญัติธรรมวินัยนี้เองว่าห้ามแสดง อวดอุตริมนุษยธรรม แล้วพวกโยมก็ถาม พระพุทธเจ้าห้ามพระพุทธเจ้าทำได้อย่างไร พระพุทธเจ้าเปรียบเทียบนะ เราเป็นเจ้าของสวนมะม่วง เราจะเป็นเจ้าของสวนมะม่วง มะม่วงนี้เราไม่ให้คนอื่นเข้ามาเก็บผลมะม่วงของเรา แต่เราเป็นเจ้าของสวนเราเก็บกินได้ไหม ทุกคนบอกว่าได้ครับ
นี่ก็เหมือนกัน ธรรมวินัยนี้เป็นของเรา เราเป็นคนบัญญัติขึ้นมาเอง เราบัญญัติห้ามทุกคนแสดงอวดอุตริมนุษยธรรม แต่เราจะแสดงเอง เราจะแสดงเองเพราะอะไร เพราะเราจะรักษาสวนมะม่วงนั้น ให้สวนมะม่วงนั้นมีคุณค่าขึ้นมา เพราะลัทธิต่างๆ เขามาท้า พวกลัทธิที่เขาไม่มีคุณธรรมไง ตอนพระพุทธเจ้ายังไม่บัญญัติเขาก็ไม่ท้า พอพระพุทธเจ้าบัญญัติปั๊บ ท้าเลย พอท้าขึ้นมาปั๊บ พระพุทธเจ้าก็รับท้า แต่รับท้านี่ พระโมคคัลลานะ นี่มีอยู่ในพระไตรปิฎก พอรับท้าขึ้นมานี่ พระโมคคัลลานะก็มาขออาสาทำแทน พระองค์ไหนก็มาขออาสาทำแทน พระพุทธเจ้าเลยถาม แล้วเธอจะทำอย่างไร ก็บอกจะแสดงฤทธิ์อย่างนั้นๆ พระพุทธเจ้าไม่ให้หมดเลย ไม่ให้ มันเป็นหน้าที่ของเรา แล้วพอถึงเวลาแล้ว เราจะแสดงฤทธิ์นี้ใต้โคนต้นมะม่วง พอแสดงฤทธิ์ใต้โคนต้นมะม่วงปั๊บ พวกที่มันเป็นนิครนถ์หรืออะไรจำไม่ได้ ที่มาท้าพระพุทธเจ้า จะอวดไง จะอวดว่าตัวเองเหนือกว่าพระพุทธเจ้า
เราจะแสดงฤทธิ์นี้ใต้โคนต้นมะม่วง เราก็สั่งลูกศิษย์โค่นมะม่วงหมดทั้งทวีปเลย โค่นมะม่วงออกหมด ไม่มีต้นมะม่วงแล้วจะแสดงอย่างไร พอถึงวันนั้นปั๊บ ก็มีโยมมาถวายจังหัน ก็มีเม็ดมะม่วงมา พระพุทธเจ้าฉันเสร็จปั๊บ พระพุทธเจ้าวางบนฝ่ามือ พออย่างนั้นมันก็โต โตขึ้นมาเดี๋ยวนั้นเลย แล้วปลูกซะที่นั่น พอเดี๋ยวนั้นพระพุทธเจ้าแสดงธรรมเลย พอขึ้นไปบนอากาศนะ น้ำออกหู หูนี่มีน้ำไหล หูนี่มีไฟออกมา ปั่นป่วน แสดงยมกปาฏิหาริย์
พระพุทธเจ้าบอกห้ามคนอื่นทำ แต่พระพุทธเจ้าทำ ทำเพราะอะไร ทำเพราะประโยชน์ของศาสนาไง เพราะพวกที่ไม่มีคุณธรรม เวลาพระพุทธเจ้าบัญญัติธรรมวินัยขึ้นมาแล้วนี่ มันจะเอาสิ่งที่พระพุทธเจ้าบัญญัตินี่มาเหยียบหัวพระ ทีนี้พอมาเหยียบหัวพระนี่ คนอื่นแสดงธรรมขึ้นมามันก็เป็นผิดใช่ไหม พระพุทธเจ้าแสดงเองเลย พอแสดงเองขึ้นมา เขามาท้าไง ว่าเขามีฤทธิ์มากกว่าไง พอพระพุทธเจ้าแสดงธรรม เขาทำแต่ยังไม่ได้เลย เขามาท้าเพราะคิดว่า ไม่มีใครทำได้ไง เพราะพระพุทธเจ้าบัญญัติเป็นธรรมวินัยแล้ว ถ้าทำแล้วมันผิด มันเป็นปาราชิก พระพุทธเจ้าไม่ให้ทำ
พอพระพุทธเจ้าไม่ให้ทำ เขาก็ท้าขึ้นมาเลย พอท้าขึ้นมาเพราะเขาคิดว่าทำไม่ได้ เพราะเขาเองเขาไม่มี เขาไม่มีแต่เขามาท้าเพราะว่ามันมีกฎ ทีนี้พอมีกฎ พระพุทธเจ้ารับ รับเองมันก็เปิดไต๋ว่าเขาไม่มีไง แต่พระพุทธเจ้าทำได้ นี่พูดถึงเห็นไหม สีลัพพตปรามาส ไม่ลูบคลำ ไม่ลูบคลำ นี่ในธรรมวินัยมันมีมาอย่างนี้มาตลอด เพียงแต่ว่า อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ สีลัพพตปรามาสหรือว่าการแสดงอวดอุตรินี้ พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ เพราะธรรมดาของคนนะ ไอ้พวกเล่ห์กลมันเยอะ พวกเล่ห์พวกกลนี่มันเยอะ พวกเล่ห์พวกกลนี่ กลัวว่าพวกศาสนาพุทธนี่มันเป็นศาสนาแบบฤๅษีชีไพรไง เหมือนพวกทรงเจ้าเข้าผี พวกทรงเจ้าเข้าผีนี่มันเป็นอย่างนั้น พุทธศาสนาไม่ใช่ไสยศาสตร์ พุทธศาสนาคือพุทธศาสตร์
ฉะนั้นไสยศาสตร์ การทรงเจ้าเข้าผี ความเชื่ออย่างนั้นมันเป็นฤทธิ์เป็นเดชทางโลกียะคือทางโลก แต่ในทางธรรมนี่นะ ทางธรรมมันสะอาดบริสุทธิ์กว่า แต่มันเข้าถึง ได้ยากกว่า ทีนี้พอเข้าถึงได้ยากกว่า พอเข้าไปถึงที่จริงขึ้นมานี่ เห็นไหม ถ้ามีอำนาจวาสนามันจะได้มา โดยของแถมเลย เป็นเครื่องเคียงมา อย่างเช่น เช่นพวกอภิญญา ๖ นี่ หูทิพย์ ตาทิพย์ต่างๆ มันจะได้มา พอได้มาอย่างนี้มันก็เป็นวิธีการสอน เป็นเครื่องสอน มันไม่ใช่อริยสัจ ไม่ใช่ความจริง แต่มันเป็นอุบายเป็นเครื่องมือในการควบคุม ในการดูแล ในการรักษา ในการสอนพระ
ฉะนั้นอภิญญา ๖ มันจะได้มาจากจิตที่มันมีอำนาจวาสนามา แล้วมันปฏิบัติมา จิตมันเข้าถึงฐาน เข้าถึงความสะอาดบริสุทธิ์ สิ่งนั้นมันจะได้มาโดยข้อเท็จจริงเลย แต่ไอ้เรื่องที่ทรงเจ้าเข้าผี มันเป็นเรื่องโลก เรื่องฌาน เรื่องความเป็นไป มันไม่ใช่ได้มาด้วยคุณธรรม ฉะนั้นมันถึงไม่เป็นประโยชน์ไง มันไม่เกี่ยวกับการชำระกิเลส แต่ในอริยสัจมันเป็นความชำระกิเลส ฉะนั้นสีลัพพตปรามาสนี่ เราพูดวันนี้ พูดมายาวเหยียดเลยนะ เพื่อจะบอกว่าอันนี้ให้วางไว้ มันไม่เกี่ยวกับอริยสัจ มันไม่เกี่ยวกับทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มันไม่ใช่มรรคญาณ
เราจะเอามรรคกัน เอาศีล สมาธิ ปัญญากัน แล้วเราก็ไปเอาเรื่องสีลัพพตปรามาส เรื่องวิจิกิจฉา เรื่องอย่างนี้ มาเป็นเหมือนตัวอริยสัจ มาเป็นเหมือนตัวความจริงไง ตัวความจริงคือตัวอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคญาณ ความจริงที่จิตมันพัฒนาการ แต่ไอ้นี่มันเป็นผลที่ตอบสนอง
มันไม่น่าจะเป็นปัญหาขึ้นมาเลย มันเป็นปัญหาขึ้นมาเพราะว่า เราไปเอาเรื่องสึกไม่สึก เอาเรื่องสีลัพพตปรามาสเป็นตัวตั้ง แล้วก็ให้พวกพระนี้มาหลอกกัน แล้วพอหลอกกันแล้วเราก็ว่าบวชหรือไม่บวช สึกหรือไม่สึกนี่ มันไปว่ากันตามที่เขาว่า นี่เพราะอะไร เพราะว่า ถ้ามันไม่มีนะ เมื่อก่อนก็ไม่มีใครเชื่อว่ามีมรรคมีผล สมัยก่อนไม่มีใครเชื่อมรรคเชื่อผลเลย เริ่มมีผู้พิสูจน์ก็คือหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น
หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านทำได้จริง ตัวท่านทำได้จริง ชีวิตหนึ่งนะ แล้วลูกศิษย์ลูกหานี้มาอีกชั่วชีวิตหนึ่ง ชุดของหลวงปู่แหวน หลวงปู่ขาว นี่หลวงปู่ฝั้นพวกนี้ นั่นศิษย์ผู้ใหญ่หลวงปู่ตื้อ นี่พวกนี้เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ฉะนั้นสิ่งนี้เป็นพระอรหันต์หมด เวลาท่านแสดงธรรม ท่านเป็นธรรมทายาท ท่านเทศนาว่าการ ท่านผลิตลูกศิษย์ขึ้นมานี่ สิ่งนั้นมันเป็นเครื่องค้ำประกัน มันการันตีครูบาอาจารย์กลับเข้าไปไง
อย่างเช่นพ่อแม่นี่สอนให้ลูกดี ลูกก็ทำเพื่อประโยชน์สังคมที่ดี สังคมก็เห็นว่า ลูกดี แล้วลูกมีลูกมีหลาน สั่งสอนได้ดีนี่เห็นไหม มันก็ตอบสนองขึ้นไปถึงปู่ย่าตายายว่า เป็นคนดี เพราะว่าตั้งแต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นนี้ท่านทำมาเป็น ๓ ชั่วคน ทีนี้พอสังคมเชื่อถือกันมา ในปัจจุบันนี้ถึงบอกว่า เอาเหตุ เอาผลที่ท่านประพฤติปฏิบัติ เอาผลของท่าน แล้วนี่ลิขสิทธิ์ของครูบาอาจารย์ แล้วก็เอามาอ้างอิงกัน แต่ถ้าสังคมเขาไม่เชื่อถือ อ้างอิงอย่างไรมันก็อ้างอิงไม่ขึ้น แต่เพราะสังคมเขาเชื่อถือถึงมรรคถึงผลที่ครูบาอาจารย์เราทำมา พิสูจน์กันมาถึง ๓ ชั่วชีวิตคน
มันถึงตกผลึกเป็นวัฒนธรรมของสังคมไทย ตอนนี้ก็มาสีลัพพตปรามาสไง มาสึกหรือไม่สึกกันอยู่นี่ อันนี้มันเป็นผลของครูบาอาจารย์ที่เราสร้างความเชื่อถือกับสังคมมานะ ไอ้พวกเรานี้มันพวกเก็บตก เก็บตกผลของครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านทำมา ท่านวางรากฐานมาให้พวกเรา เพื่อคุณงามความดีของพวกเรา แล้วพวกเราก็เอาสิ่งปลีกย่อย สิ่งอย่างนี้มาเถียงกัน แล้วผู้ที่ประพฤติปฏิบัติโดยที่ไม่มีหลักมีเกณฑ์ก็เอาสิ่งนี้มาแสวงหาผลประโยชน์ต่อกัน
ฉะนั้น ดูแต่ไม่เห็น เพราะไม่มีวุฒิภาวะ เพราะไม่มีวุฒิภาวะถึงไม่เข้าใจตามความเป็นจริง แต่ถ้าผู้ที่มีคุณธรรมในหัวใจ ไม่ต้องดูก็เห็น ไม่ต้องดูก็เห็น ไอ้นี่ทั้งดูทั้งรู้ทั้งศึกษา แต่ไม่เห็น แต่ถ้าผู้ที่มีคุณธรรมในหัวใจ ผู้ที่ผ่านมามันผ่านวิกฤติอย่างนั้นมา คนเราจะประพฤติปฏิบัติมา อย่างเช่น โยมขับรถมาที่นี่กัน โยมผ่านอะไรมาบ้าง ชุดแรกๆ มานะ มาหาที่นี่ทุกคนเลย หลวงพ่อ หลง หลวงพ่อ หลง ใครมาครั้งแรกนี่จะออกนู่น หนองตากยา ไปเมืองกาญจน์แล้ววกกลับมาทั้งนั้นเลย
นี่ก็เหมือนกัน พอเรามาถึงถูกที่ถูกทางแล้ว เรามากี่ครั้งเราก็มาถูก แล้วที่นั่งกันอยู่นี่ คนที่มาเส้นทางเดียวกัน พูดได้เลยใครมาเส้นไหน เส้นใครใกล้กว่ากัน มาคุยอย่างนี้มันก็จบ เห็นไหม ในวงการปฏิบัติก็เหมือนกัน แล้วนี่โสดาบัน โสดาบันอย่างไร มึงมาเส้นทางไหน มึงทำอย่างไรมา เป็นโสดาบันมึงทำอย่างไรมาถึงเป็นโสดาบัน ก็ไม่ลูบคลำในศีลไง ไม่ลูบคลำในศีลมันก็นั่งรถเมล์อยู่ในกรุงเทพฯนั่นล่ะ บอกว่าจะมาที่นี่มันก็ขึ้นรถเมล์ไง ขึ้นสนามหลวงมันก็วนรอบสนามหลวงแล้วมันก็จอด ถึงแล้ว ขึ้นสนามหลวง ลงท่าพระจันทร์ บอกว่าถึงแล้ว ไม่สีลัพพตปรามาสไง เพราะมันเรียบง่าย มันไม่เป็นความจริงหรอก
แล้วเมื่อวานพูดอันหนึ่ง วันนี้อีกพูดอันหนึ่ง ความจริงข้อขัดแย้งอย่างนี้มันเป็นข้อขัดแย้งที่แบบว่าเคลียร์กันไม่ได้ ต่างคนต่างอ้าง ต่างคนต่างแถ เอาความเห็นของตัวออกไป เพราะว่าต่างคนต่างอ้างนี่ ธรรมวินัยเห็นไหม ต่างคนต่างอ้างแต่ละประเด็น เหมือนข้อกฎหมาย ในข้อกฎหมายนี่มันจะเถียงกันตลอด เห็นไหม ในนิติศาสตร์ ในรัฐศาสตร์ รัฐศาสตร์คือการปกครอง การปกครองมันต้องมีความร่มเย็นเป็นสุข ในความร่วมเย็นเป็นสุข มันต้องอาศัยกฎหมาย
ธรรมวินัยนี่คือ รัฐศาสตร์คือการบริหารจัดการในหัวใจของเรา แต่มันก็มีกฎข้อบังคับ มีวินัยนี้บังคับเหมือนกัน อยู่ที่คนเจตนาดี เจตนาดีคือเจตนาเพื่อจะเอาตัวเองพ้นจากทุกข์ ซื่อสัตย์กับตัวเองเห็นไหม ถ้าซื่อสัตย์กับตัวเอง ตัวเองจะมีคุณธรรมขึ้นมา ซื่อสัตย์กับตัวเอง เคารพตัวเอง ถ้าคนเคารพตัวเองนะ จะเคารพคนทุกๆ คนเลย เพราะเราเคารพเรา แต่ถ้าเราไม่เคารพตัวเราเอง เห็นไหม เรานี่ฉ้อโกงตัวเราเองนะ ไม่รู้อะไรจริงสักอย่างหนึ่ง แต่ก็ว่าตัวเองนี้ทำถูกต้องดีงาม แล้วก็อ้างธรรมะพระพุทธเจ้า
ไม่เคารพตัวเองเห็นไหม พอไม่เคารพตัวเองก็ไม่เคารพผู้อื่น ถ้าไม่เคารพผู้อื่น มันก็เป็นปัญหาขึ้นมาในสังคมปฏิบัติ ทีนี้สังคมปฏิบัติมันคืออะไรล่ะ สังคมปฏิบัติมันคือมนุษย์นั่นล่ะ สังคม สิ่งที่มนุษย์รวมตัวกัน ฉะนั้น จะตอบบอกว่าไม่สึกเลยนี่ ใช่ ก็ตอบว่าไม่สึก ไม่สึก แต่สึกได้ไหม ได้ สึกได้เพราะอะไร เพราะสิ่งมีชีวิต มันมีเวรมีกรรม คนเรามีเวรมีกรรมต่อกัน แต่ถึงที่สุดแล้ว ถ้ามันเป็นความจริง มันมีเวรมีกรรมขนาดไหน คนเรามีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมาแล้ว มันจะพาไปในสิ่งที่ดีๆ ได้ ฉะนั้น มันเป็นคนที่เขาไปอ้างไง อ้างว่าเป็นอย่างนั้น อย่างนั้นแล้วสึก
ฉะนั้นผู้ที่มีความเห็นว่ามันไม่ควรสึกแล้ว ก็เลยสงสัย ฉะนั้นเราจะบอกว่ามันเป็นเรื่องของเขา เรื่องของคนที่เขาอยากได้โสดาบัน ไอ้เราเป็นคนดูนี่ เราจะไม่ได้โสดาบัน เราก็ไม่ไปทุกข์กับเขาก็ได้ คือเราก็ไม่เชื่อของเราไง สิทธิของเรา ก็อยู่ในใจของเรา แต่สิทธิของเขาก็เป็นสิทธิของเขา สิทธิของเขา เขาเชื่อว่าเขาเป็นโสดาบัน มันก็เป็นสิทธิของเขา แต่ความจริงนั้นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ ถ้าเป็นความจริงเขาจะเป็นจริง ไม่เป็นความจริงนี้อีกเรื่องหนึ่ง แต่เขาเชื่อของเขา มันเป็นความเชื่อของเขา
แต่ถ้าเป็นความจริงนี่ ความจริงนี่มันมีเป้าหมายไง ความจริงเมื่อถึงที่สุด ขณะจิตที่มันเป็นโสดาบันนี่เป็นอย่างไร แล้วคนที่เขารู้จริงมี คนที่ปฏิบัติได้จริงมี เหมือนกับคนที่ถึงเป้าหมายได้จริงมี แต่เราเข้าไม่ถึงเป้าหมายนั้น เราจะไม่กล้าคุยกับคนที่เข้าถึงเป้าหมายนั้นเลย เพราะคำพูดมันจะแตกต่าง มันไม่เหมือนกันหรอก เพราะเป้าหมายมันคนละที่ แต่ถ้าคนมีเป้าหมายอันเดียวกันนะ มันจะพูดกันได้ แล้วจะเชื่อกันได้ จะเป็นได้ตามความเป็นจริงนั้น อันนี้เป็นข้อเท็จจริง ดูแต่ไม่เห็น แต่ถ้าประพฤติปฏิบัติแล้ว จะเป็นความจริง จะรู้จริงเห็นจริง เป็นประโยชน์กับตัวเองกับผู้ปฏิบัติ เอวัง