ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เหตุที่ออก

๙ ส.ค. ๒๕๕๒

 

เหตุที่ออก
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

จะพูดเรื่องแนวปฏิบัตินะ แนวปฏิบัติ! ถ้าแนวปฏิบัติ ตามที่ครูบาอาจารย์ของเราปฏิบัติ เห็นไหม เราต้องทำความสงบของใจ ครูบาอาจารย์ทุกองค์ที่ปฏิบัติได้มาจะบอกว่า ต้องทำความสงบของใจให้ได้ก่อน ทีนี้พอทำความสงบของใจให้ได้ก่อน เราก็พยายามจะทำความสงบกัน พอเราทำความสงบกัน นี่ความสงบมันทำไม่ได้ง่าย

ธรรมดานี่ของมันมีอยู่นะ อย่างเช่น! อย่างเช่นโดยปกติเรานี่ พวกเรานี่มีสมาธิอยู่แล้ว เราจะบอกประจำว่าพวกเรานี่มีสมาธิอยู่แล้ว ถ้าไม่มีสมาธินะ พวกเรานี่เสียสติไปเหมือนคนบ้า นี้มีสมาธิอยู่แล้ว สมาธินี่เป็นสมาธิของปุถุชน

ทีนี้เป็นสมาธิของปุถุชน เห็นไหม คนที่มีสมาธิดี คนที่มีเชาว์ปัญญาดี ดูเขาทำงานสิ งานของเขาประสบความสำเร็จนะ เขาจะตั้งสติของเขาดี เขาทำงานของเขาดี แต่คนสมาธิสั้นมันจะมีความฉุนเฉียว ทำอะไรไม่ได้ดั่งใจก็ฉุนเฉียว.. ฉุนเฉียว นั่นเพราะสมาธิเขาสั้น

นี่ของอย่างนี้ถ้าเป็นเวรเป็นกรรม เวรกรรมเราก็บอกว่าเวรกรรม เวรกรรมนี่มันเป็นสิ่งที่ว่ามันพิสูจน์ไม่ได้ แต่คำว่าเวรกรรมนี้มันอยู่ที่ในปัจจุบันที่เราสร้างมา คือว่าเราเคยได้สร้างอย่างไรมา เราสร้างสติมา ดูสิอย่างพวกฤๅษีชีไพร เห็นไหม พระในสมัยพุทธกาล พระสันตกายนี่สงบเสงี่ยมมาก จนพระบอกว่านี่เป็นพระอรหันต์นะ

พอคิดว่าเป็นพระอรหันต์ก็ไปถามพระพุทธเจ้าว่า พระองค์นี้เป็นพระอรหันต์หรือเปล่า พระพุทธเจ้าบอกไม่ใช่! พระองค์นี้ไม่ใช่พระอรหันต์หรอก เขาสงบเสงี่ยมมาก เขาสติพร้อมอยู่ตลอดเวลาเลย พระพุทธเจ้าบอกนี่อดีตชาติเคยเป็นเสือ เป็นราชสีห์มา ๕๐๐ ชาติ นิ่ง... สตินี้ดีมากเลย ๕๐๐ ชาติ

นั่งนี่สงบเสงี่ยมมากเหมือนพระอรหันต์เลยนะ จนพระเข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์นะเลยไปถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกไม่ใช่หรอก สันตกายนี่แต่เดิมเขาเป็นราชสีห์ เขาเป็นเสือมา พวกนี้สติจะดี แล้วพอมานี่สติเขาดีมาก แต่เขาก็ไม่ได้อะไรเลย เห็นไหม จนพระพุทธเจ้าเทศน์สันตกาย ให้ค้นคว้าในเรื่องของกาย เอาสติปัญญานั้นมาค้นคว้าเรื่องของกาย จนเป็นพระอรหันต์เลย

นี่ไงสิ่งที่ว่าเป็นเวรเป็นกรรม หมายถึงว่าสติมันสั้น สติสั้นนี่เพราะว่าเราทำอะไรมา เราเคยสร้างมา ถ้าเราทำคุณงามความดีของเรามา เราประพฤติปฏิบัติมา เรามีสติมา สติมันจะดีขึ้น พอสติดีขึ้น เวลาทำสมาธิทำความสงบมันก็ทำได้ง่าย ทีนี้การทำความสงบนี่เห็นไหม “ปุถุชน.. กัลยาณปุถุชน”

ในการปฏิบัติมันมีปุถุชน! ปุถุชนคือคนหนาด้วยกิเลส... กัลยาณปุถุชน เห็นไหม เป็นปุถุชนเหมือนกัน กัลยาณปุถุชน เป็นกัลยาณชนที่ทำความสงบของใจได้ดีไง ไอ้ใจสงบ! ใจสงบนี้ กัลยาณปุถุชนนะมันตัดรูปรสกลิ่นเสียงได้ เข้าใจควบคุมรูป รส กลิ่น เสียงของตัวเองได้ คือเสียงกระทบไง รูป รส กลิ่น เสียงที่มันกระทบเรา นี่เราจะควบคุมได้ง่าย พอควบคุมได้ง่าย เราก็ทำจิตใจให้สงบได้ง่าย

พอทำจิตใจสงบได้ง่าย คนที่จิตใจสงบใช่ไหม อย่างเช่นพวกเรานี่ไม่มีงานทำเลย ทุกอย่างเราทำเสร็จหมดแล้ว กระบวนการเราเสร็จหมดแล้ว เราจะทำอะไรเราสะดวกไหม แต่ถ้าเรามีหน้าที่การงาน ละล้าละลังไปหมดเลย เราทำอะไรเราทำไม่ถนัดหรอก

นี่ก็เหมือนกัน กัลยาณปุถุชนมันตัดรูป รส กลิ่น เสียง นี่เป็นคนที่มีจิตมั่นคง... มีจิตมั่นคง เห็นไหม ถ้าออกรู้กาย เวทนา จิต ธรรม จะเป็นโสดาปัตติมรรค นี่ขั้นตอนของการกระทำมันเป็นแบบนี้ไง

จากปุถุชน ถ้าทำจิตสงบก็เป็นกัลยาณปุถุชน.. กัลยาณปุถุชนถ้าจิตออกรู้นี่มันก็เจริญโสดาปัตติมรรค.. โสดาปัตติมรรค มันก็จะเป็นโสดาปัตติผล.. พอโสดาปัตติผลมันก็จบแล้ว ขั้นตอนมันก็จบแล้ว พอขั้นตอนจบเราจะเดินต่อไป มันจะเป็นสกิทาคามิมรรค... พอถึงสกิทาคามิผล ขั้นตอนมันก็จบอีกแล้ว เราจะเดินต่อไปก็จะเป็นอนาคามิมรรค.. ผลของมันก็เป็นอนาคามิผล แล้วก็อรหัตมรรค

นี่มันคู่ไงระหว่างเหตุและผล.. เหตุและผล.. เหตุและผล แล้วเหตุและผลแต่ละขั้นตอนมันก็หยาบละเอียดแตกต่างกันไป ฉะนั้นถ้าทำจิตสงบนะ ถ้าทำจิตสงบ คนที่จิตสงบนี่มันจะไม่พูดอย่างนี้

แล้วอย่างที่เขาพูดกัน เห็นไหม นี่สิ่งที่เขาพูดไปนะ “สติมันจะเกิดขึ้น... นี่พอจิตเผลอปั๊บสติเกิดเอง พอจิตเผลอปั๊บสติเกิดเอง.. สติจะเกิดของมันเอง นี่มันจะโล่งมันจะโปร่ง สติเกิดเอง นี่สัมมาสมาธิเกิดเลย.. ถ้าจิตตั้งมั่นอยู่แล้ว นี่จิตปลอดโปร่ง สัมมาสมาธิจะเกิดเลย”

คำว่าเกิดเลย นี้มันเหมือนเกิดที่ไม่มีเหตุมีผลไง คำว่าเกิดเลย ทุกอย่างมันจะเกิดเลย ทุกอย่างมันจะเป็นไปโดยที่มันจะเป็นเอง มันก็เหมือนกับสิ่งที่มันมาที่ไม่มีเหตุมีผล มันลอยมาจากฟ้า คนที่ลอยมาจากฟ้านี่แสดงว่าคนไม่เคยทำ อย่างพวกเรานี่นะทุกอย่างเงินทองนี่ไม่มีลอยมาจากฟ้าใช่ไหม เงินทองนี่เราต้องทำมาหากิน เราต้องทำงานของเรา เราถึงจะได้เงินของเรามา

สติก็เหมือนกัน สติปัญญาที่เราจะได้มา นี่เราทำของเรามา เราต้องทำเราต้องหา เราต้องสร้างมา เราต้องทำมามันถึงจะเป็นไป มันจะลอยมาเองไม่ได้หรอก ถ้าลอยมาเองมันก็เหมือนที่ว่าพัฒนาการของมัน คือธรรมชาติของมันไง เดี๋ยวเราก็ฟุ้งซ่าน จิตเราเดี๋ยวก็หยุดนิ่ง เดี๋ยวจิตเราก็มีความคิด เห็นไหม นี่มันเป็นไปเอง โดยธรรมชาติของมัน แต่พอเรามีสติมาควบคุมมัน เรามีสติมาควบคุมหัวใจของเรา ให้มันเป็นเส้นตรง เป็นเส้นตรงแล้วให้เส้นตรงนี้มันเดินไปได้ ถ้าเส้นตรงนี้เป็นประโยชน์แล้ว เส้นตรงนี้จะเอาไปทำงานอย่างอื่นอีกต่อไป

แต่เขาบอกว่า “มันจะเป็นไปเอง.. มันจะเป็นไปเอง” เพราะคำพูดว่า

ประเด็น : พอจิตเผลอปั๊บ สติก็จะเกิดเอง อันนี้นะมันเป็นคำสอนของเขา แล้วมันก็จะมาฟ้องไง ถ้าร่องน้ำ ความคิดของใครเริ่มต้นอย่างใด มันจะเป็นไปตามความคิดแนวนั้น พอเผลอปั๊บสติจะเกิดเอง แล้วพอจิตส่งออก เห็นไหม

ประเด็น : จิตส่งออกนี่มันเป็นไปไม่ได้ มันไม่น่าจะมีจิตส่งออก! มันไม่น่าจะมีจิตส่งออก... นี่ความเห็นของเขานะ จิตส่งออกน่าจะเป็นจิตที่ส่งออกนอกคืออาการของจิตที่มันตั้งมั่นอยู่ที่รู้อารมณ์ เห็นไหม นี่ไงเพราะเขาไม่เคยเห็นจิตใช่ไหม พอจิตส่งออกเขาก็บอกว่า “จิตส่งออกคืออาการของจิตที่ไปตั้งมั่นขณะที่รู้อารมณ์”

หลวงพ่อ : คำว่ารู้อารมณ์เป็นความคิดไง พอคำว่ารู้อารมณ์ คือเขาบอกว่านั่นคือจิตส่งออก เห็นไหม เพราะว่าจิตไม่สงบ เขาไม่เคยเห็นความสงบของจิต

ทีนี้พออาการความคิด นี่เขาไปดูที่ความคิดกัน คือความคิดเกิดดับ แล้วพอความคิดเกิดดับ เขาว่าสิ่งนั้นคือธรรมะ... เขาไม่ได้ว่าจิตสงบนะ! เขาว่าเป็นธรรมะเลย พอมันเกิดดับนี่ดูไปเรื่อยๆ ดูไปเรื่อยๆ... ดูไปเรื่อยๆ เพราะอะไร เพราะดูสภาวธรรม! จนมันจำสภาวธรรมนั้นได้! พอมันจำสภาวธรรมนั้นได้นะ มันรู้ตามสภาวธรรมนั้น มันก็เป็นปัญญาขึ้นมา

นี่ความเห็นครั้งแรกมันผิดมาแต่แรก... พอความเห็นผิดมาแต่แรก นี่ความเข้าใจต่างๆ คือต้นมันผิดไง มันก็ทำให้ผิดกันไปหมดเลย พอผิดกันไปหมดเลย แล้วพอความผิดอันนั้นมันเป็นผิดไป นี่ความรู้เห็นมันผิดไป แล้วที่มันร้ายกาจไง

ดูสิดูอย่างนายกรัฐมนตรี เห็นไหม เวลาทำความผิดแล้วนี่บอกว่าตัวเองไม่ผิด รัฐธรรมนูญมันผิด ต้องไปแก้ไขรัฐธรรมนูญไง เพราะรัฐธรรมนูญนั้นมันให้โทษใช่ไหม รัฐธรรมนูญนั้นมันมีผลบังคับใช้ เราทำความผิดแล้วเราต้องผิด

อันนี้ก็เหมือนกัน เราดูจิต.. ดูจิต พอดูไปดูมานะ หลวงปู่ดูลย์ผิดไง... จะไปแก้ที่รัฐธรรมนูญกันนะ นี่รัฐธรรมนูญผิดอีกแล้ว

ประเด็น : “จิตส่งออกเป็นสมุทัยนั้น! น่าจะคลาดเคลื่อนจากสภาวธรรมที่หลวงปู่ดูลย์สอน เพราะจิตจะเป็นตัวสมุทัยนั้นเป็นไปไม่ได้! จิตเป็นวิญญาณขันธ์ จัดอยู่กองทุกข์ไม่ใช่ตัณหา... ไม่ใช่ตัณหาอันเป็นตัวสมุทัย”

หลวงพ่อ : ทำไปทำมามันจะไปแก้ตัวรัฐธรรมนูญกันนะเนี่ย ไอ้นั่นมันจะไปแก้รัฐธรรมนูญ ไอ้นี่มันจะไปแก้คำสอนของหลวงปู่ดูลย์ไง นี่เขาไปแก้คำสอนของหลวงปู่ดูลย์กันแล้ว “ว่าจิตส่งออกไม่ได้.. การส่งออกของจิตคืออารมณ์ต่างหาก” นี่มันจะไปแก้รัฐธรรมนูญกันแล้วนะ

นี่ทางโลกนะ พอเขาผิดพลาดขึ้นมานี่เขาไม่ยอมรับว่าเขาผิด เขาจะไปแก้รัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญนั้นมันให้โทษ ให้ผลกับเขา เพราะเขาทำผิดมาแล้ว

อันนี้นะเวลาสอนผิดขึ้นมานะ จะไปแก้ไขที่รัฐธรรมนูญ จะไปแก้ไขที่คำสอนของหลวงปู่ดูลย์ ไม่แก้ไขที่ตัวเอง ถ้าไม่แก้ไขที่ตัวเอง คือตัวเองไม่เข้าใจ ตัวเองเข้าไม่ถึงไง ตัวเองเข้าไม่ถึง ตัวเองทำผิดรัฐธรรมนูญ... รัฐธรรมนูญคือความจริง!

ฉะนั้นถ้าเราจะเอาจริงเอาจัง นี่พอเราจะทำกันมันก็เป็นอย่างนี้ เวลาในการปฏิบัตินะ ครูบาอาจารย์ของเรานี่ท่านทำของท่านมา ท่านทำจริงของท่านมา เวลาพูดถึงการฆ่ากิเลสมันไม่ใช่ฆ่าง่ายๆ การฆ่ากิเลสนี้แสนยาก งานทางโลก งานต่อสู้ขนาดไหน เขายังต่อสู้ของเขามา

คนที่มีความวิริยะอุตสาหะ เห็นไหม คนที่มีฐานะ ส่วนใหญ่จะบอกเลยว่าเขาทำงานด้วยความตั้งใจของเขา เขาขยันหมั่นเพียรของเขา เขามีความอดทนของเขา เขาไม่ท้อแท้ของเขา เขามีอุปสรรคเขาจะแก้ไขของเขา คนๆ นั้นจะประสบความสำเร็จ

นี่ส่วนใหญ่ที่เขาทำธุรกิจประสบความสำเร็จเพราะไม่ท้อแท้! ไม่ท้อแท้ ไม่อ่อนแอ จะต่อสู้จะเข้มแข็ง แล้วเขาจะประสบความสำเร็จของเขา มันจะมีอุปสรรคไหม... มี! อุปสรรคมีทุกคน มีอุปสรรคด้วยกันทุกๆ คน

คนหนึ่งมีอุปสรรคแล้วไม่ท้อแท้ ต่อสู้... ไอ้ของเรามีอุปสรรคแล้วเราก็ท้อแท้ท้อถอย แล้วเราก็ไปกองรวมกัน รอให้คนชี้บอกที่ง่ายๆ ไง เราก็ไปกองรวมกันว่าเราต้องการความสะดวกสบาย แล้วพอคนมาเสนอทางสะดวกสบายเราก็ไปตามเขาเลย แล้วคนที่เขาประสบความสำเร็จล่ะ เขาประสบความสำเร็จเพราะการกระทำของเขา เขาไม่ท้อแท้ เขามีความมั่นคงของเขา เขามีดุลพินิจของเขา เขาต่อสู้ของเขา ทุกข์ทนเข็ญใจนะ เขาพยายามต่อสู้ของเขา เขาประสบความสำเร็จของเขามาได้ เพราะการกระทำของเขา

ไอ้เรานี่ พอเราประสบอุปสรรคปั๊บเราก็อ่อนแอ พอเราอ่อนแอขึ้นมา แล้วมีคนคอยจะชี้นำ เหมือนรัฐบาลเลยเอาเงินมาแจก รอแต่เช็คช่วยชาติไง ถึงเวลาก็รอเช็คช่วยชาติ ง่ายๆ ง่ายๆ ไง แล้วก็จะเอาเช็คช่วยชาติกัน

เช็คช่วยชาตินะ เราไม่ได้หาเอง.. เราไม่มาหาเอง เราไม่มีเงินใช้ตลอดไป เช็คช่วยชาติก็รอให้เขามาช่วย รอให้เขามาแจก พอเขาแจกเสร็จเราใช้หมดแล้ว เราจะเอาอะไรไปใช้ แต่เวลาปฏิบัติเอง นี่เราต้องทำของเราเองทั้งนั้น ถ้าเราทำของเราเองขึ้นมา เห็นไหม

นี่ความสงบของใจ! เราต้องทำความสงบของใจ ถ้าความสงบของใจนี่มันทำได้ยาก เหมือนกับเราประกอบธุรกิจของเรา เราพยายามทำผลงานของเรา เราต้องทำได้ยาก ครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติมา ท่านจะรู้ของท่านอย่างนั้นว่ามันทำได้ยาก ถ้ามันทำไม่ได้ยาก พระพุทธเจ้าไม่ท้อใจ

พระพุทธเจ้านี่สร้างมา! สร้างมาเพื่อที่จะเป็นผู้สอน สร้างมาเป็นครูบาอาจารย์ สร้างมาที่จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ แต่เวลาตรัสรู้ขึ้นมาแล้ว โอ้โฮ.. แต่ก็ต้องทำ ก็ต้องสอน เวลาสอนแล้วเห็นไหม เล็งญาณ นี่ไม่ใช่ว่านั่งอยู่นี่ทั้งหมด แล้วทุกคนจะได้เป็นพระอรหันต์หมดเลย ไม่ใช่! พระพุทธเจ้าเล็งญาณก่อนนะ จิตของใครสมควร จิตของใครมีอำนาจวาสนา

มีอำนาจวาสนาก็เหมือนกับคนคอเดียวกันไง พอคุยสิ่งใดแล้วนี่มันจะคุยด้วยความเข้าใจ พูดสิ่งใดแล้วมันเห็นตาม แต่ถ้าเป็นคนละคอนะ เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกให้ทำอย่างนี้นะ ไอ้เราก็คิดไปนู้น เขาบอกว่านกจะขึ้นเขา บินขึ้นยอดไม้ ไอ้เราก็นึกว่าดำลงน้ำไง เราจะไปหาแพลงตอนนู้นเลย อาจารย์ก็บอกว่า เฮ้ย.. บินเว้ยบิน ไอ้เราก็กระโดดลงน้ำ กระโดดลงน้ำ นี่มันไม่ใช่คอเดียวกัน พอไม่ใช่คอเดียวกันมันก็ไปเลย

สิ่งที่เป็นคอเดียวกัน นี่มันต้องมีอำนาจวาสนา เห็นไหม เล็งญาณ... เล็งญาณรู้ว่าสมดุลไหม สมควรไหม พระพุทธเจ้าทำขนาดนี้นะ พระพุทธเจ้าไม่ใช่บอกว่าใครก็ได้ ทำได้เป็นพระอรหันต์หมด ไม่มี พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนนะ พระพุทธเจ้าไม่เคยสอน และพระพุทธเจ้าทำไม่ได้ด้วย

ไม่ใช่พระพุทธเจ้าไม่สอนแล้วพระพุทธเจ้าไม่ทำ แต่พระพุทธเจ้าทำไม่ได้! คือมันเป็นข้อเท็จจริง มันเป็นความจริงอันนั้น เป็นความจริงอย่างนั้น พอเป็นความจริงอย่างนั้นทำไม่ได้ สิ่งที่พระพุทธเจ้าทำไม่ได้ แล้วคนอื่นทำได้ นี่มันน่าเชื่อไหม...

บอกเลยคนที่ท้อถอย คนที่มักง่าย คนที่ไม่เอาไหน คนที่นั่งกระดิกเท้าแล้วบอกว่าจะเป็นพระอรหันต์ ดูกันไปดูกันมาแล้วว่าจะบรรลุธรรม.. นี่มันเป็นไปไม่ได้! เพราะมันไปขัดแย้งกับมรรค!

ความเพียรชอบ.. ความวิริยะอุตสาหะชอบ... นี่ไงศาสนาพุทธบอกว่ามักน้อยสันโดษ มีแต่ความพอเพียง ถือแต่ความว่างนี่มันจะไม่เจริญ

ความเพียรชอบ.. ความเพียรนี่ขยันหมั่นเพียรโดยคดโกง โดยการแก่งแย่งกัน อันนั้นแหละมันเป็นมิจฉา! ความวิริยะอุตสาหะ... ความขยันหมั่นเพียรในการทำงานที่ถูกต้องดีงาม อันนี้เป็นมรรค! นี้ความเพียรในหน้าที่การงานของโลกนะ

แล้วความเพียรของเรา ความเพียรในการนั่งสมาธิ นี่ดูสิทำความสงบแล้วเราได้สงบไหมล่ะ มันชอบหรือไม่ชอบล่ะ ไม่ชอบเพราะอะไรล่ะ... ไม่ชอบเพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยากไง บอกนั่งสมาธิมันก็จะเอาสมาธิเลย มันไม่นั่ง มันจะเอาสมาธิเลย พอนั่งแล้วก็ว่าสมาธิอยู่ไหน จะคว้าสมาธิเลย

พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น! พระพุทธเจ้าสอนให้ตั้งสติ พระพุทธเจ้าสอนให้พุทโธ “พุทโธคือพุทธานุสติ” พุทธานุสติ... ระลึกพุทโธ พุทโธนี่เป็นสติเป็นพระพุทธเจ้า พุทธานุสติ... พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่

จิต เห็นไหม เราอธิบายประจำ ความคิดของเรานี่มันเป็นความคิดโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เพราะมันคิดโดยการคาดหมายจินตนาการของตัว “โอ้โฮ.. นั่งไปแล้วนี่วันนั้นจะได้นิพพาน... วันนั้นจะได้นั่น... วันนี้จะได้นี่” มันจินตนาการไปก่อนแล้ว เห็นไหม นี่ความคิดนะ ทั้งๆ ที่ตรึกในธรรมะนี่แหละ แต่มันคิดจินตนาการไปก่อนเลย

แต่เรามาพุทโธ พุทโธ.. พุทโธ พุทโธนี่เป็นเนื้อหาสาระ เป็นข้อเท็จจริง พุทธานุสติเป็นชื่อขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธะ พุทโธนี่เป็นชื่อขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็กอดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้เลย เอาจิตเอาใจกอดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธไปเรื่อยๆ เห็นไหม มันเป็นความคิดสะอาด! เพราะจิตของเรานี่มันยังสกปรกอยู่ จิตของเรานี่! จิตของเราที่ว่าทำความสงบของจิต แต่จิตยังไม่สงบ เพราะธรรมชาติของจิต เห็นไหม ธรรมชาติของจิตมันเป็นพลังงาน เป็นธรรมชาติของจิต

ทีนี้ธรรมชาติของจิตมันเหมือนส้มกับเปลือกส้มไง ธรรมชาติของจิตมันต้องมีเปลือก เปลือกของมันคือขันธ์ ๕.. รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ...

นี่สิ่งการสื่อสารสัมพันธ์นี่มันเป็นเปลือก พลังงานคือตัวจิต ตัวจิตคือพลังงาน เห็นไหม คำว่าจิตส่งออกเขายังไม่เข้าใจเลย อันนี้ฟังแล้วเศร้าใจ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะคำว่าส่งออก.. กรรมฐานเราพูดกันมานมนานกาเล ว่าจิตส่งออก! จิตส่งออก

“คำว่าจิตส่งออก คือพลังงานนี้มันส่งออก” เห็นไหม เวลาเราคิดนี่มันส่งออกแล้ว มันพุ่งออกไปแล้ว นี่เวลาคิดว่าเราจะปฏิบัติ เราได้สมาธิ เมื่อนั้นจะได้สมาธิ เมื่อนั้นจะได้ปัญญา... อย่างนี้คือมันส่งออกหมดเลย

ทีนี้ถ้าจะไม่ส่งออกคืออะไร จะไม่ส่งออกก็คือพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ นี่มันส่งออกมาแล้วไง พลังงานนี้มันคลายตัวมาแล้ว มันส่งออกมาแล้ว แต่เรามาพักไว้ที่พุทโธไง เรามาให้มันอยู่ที่พุทโธ พุทโธ พุทโธ เห็นไหม พลังงานนี้มันก็แปะอยู่ที่พุทโธ พุทโธ พลังงานนี้มันก็ไม่กระจายไปในอากาศ พุทโธ พุทโธนี่

ทีนี้พุทโธนี่ คำ ๒ คำนี้เห็นไหมมันปกป้องไว้ เหมือนกับเราเอาภาชนะนี่ใส่น้ำ ภาชนะเปล่ามันก็น้ำหนักอันหนึ่ง พอภาชนะเรามีน้ำ น้ำหนักมันมีเวลายกมันก็หนักขึ้นมา พุทโธ พุทโธ นี่พอจิตมันมีพุทโธ พุทโธ พุทโธ นี่ตัวมันเองมันรู้จักตัวมันเอง แต่ด้วยธรรมชาติของมันมันจะส่งออกไง มันกระจายไป เดี๋ยวพุทโธก็หาย เดี๋ยวพุทโธก็ลืม เดี๋ยวพุทโธก็เครียด เห็นไหม มันมีน้ำหนักไง! ในภาชนะนั้นมันมีน้ำบรรจุอยู่ น้ำบรรจุอยู่มันก็ต้องมีน้ำหนักเป็นธรรมดา

พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่เห็นไหม พุทโธ พุทโธนี่ เพราะว่าพุทโธกับจิตมันเริ่มจะสมานกัน แต่เวลาความคิดปกติเรานี่ว่า “วันนั้นจะได้นิพพาน.. วันนั้นจะได้ธรรมะ.. วันนั้นจะได้ความว่าง” นี่มันคิดไป แล้วมันไปไหนล่ะ มันส่งออกไปหมดไง

นี่มันไปตามกระแส! ตามกระแสคือน้ำมันไหลลงต่ำ...

ทวนกระแสขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทดน้ำขึ้นสูงไง ทดน้ำขึ้นภูเขาไง ทดน้ำขึ้นภูเขาทำได้ไหม.. น้ำมันต้องทดขึ้น มันพยายามยกขึ้นสูงนี่มันทำได้ แต่จิตนี้มันใช้สติปัญญาทดขึ้นมา เห็นไหม พุทโธ พุทโธ พุทโธ มันจะทดสู่ขึ้นภูเขา

นี่ทวนกระแสเข้าไปไง ถ้าทวนกระแสเข้ามานี่จิตมันจะมีพลังงานของมัน เพราะตัวจิตมันหดสั้นเข้ามาเป็นตัวของมัน พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ จนพุทโธไม่ได้นะ เอ๊อะ! เอ๊อะ!

ถ้ามันเป็นตัวพลังงาน ไม่มีตัวขันธ์ มันนึกพุทโธไม่ได้! ที่มันนึกพุทโธได้เพราะอะไร เพราะพลังงานเห็นไหม พลังงานกับตัวจิตใช่ไหม พลังงาน... แล้วพลังงานนี่มันเป็นรูปใช่ไหม มันมีนาม.. นามคือความคิดไง พุทโธ พุทโธนี่มันคิดอยู่ นี่พุทโธ.. นามรูปนะพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ... พุทโธจนนามไม่มี มีแต่รูป มันเข้ามาที่ตัวจิตนี่ มันจะพุทโธได้ไหม พอพุทโธไม่ได้

นี่ไง หลวงตาท่านบอกว่าท่านพุทโธจนพุทโธไม่ได้เลย พอพุทโธไม่ได้ก็จะทำอย่างไรดีล่ะ ทำอย่างไรดี มันก็อยู่กับพุทโธเลย อยู่กับพุทโธ พอมันเริ่มคลายตัวออกมา ก็เอาพุทโธยัดใส่มันเลย พอมันมีนาม คือว่าพอมันมีความพร่อง มันนึกพุทโธได้ ต้องเอาพุทโธยัดทันทีเลย พอยัดขึ้นมามันก็กลับมาสงบอีก เห็นไหม แล้วมันก็กำลังจะคลายออกมา ก็เอาพุทโธอัดมันเข้าไปอีก อัดเข้าไป ทำจนมันชำนาญไง เห็นไหม

นี่จิตสงบ! พอมันชำนาญแล้วก็เหมือนเงินเลย สิ้นเดือนก็รับเงินเดือน พอรับแล้วเราไม่ใช้เลย เงินเดือน ๒ หมื่นก็เต็ม ๒ หมื่น ไม่ใช้เลย เงินเดือน ๕ หมื่นก็เต็ม ๕ หมื่นไม่ใช้เลย

นี่ไง พุทโธ พุทโธจนมันเต็มของมันเลย ก็เหมือนเงินที่ไม่ใช้เลย อู้ฮู.. เงินเยอะนะ ไอ้นี่ไม่ถึงเดือนนะเงินหมดแล้ว กู้เขาก่อนเลยนี่ เงินเดือนยังไม่ออกลเลยนะ มันไปกู้เขาไว้แล้วนะ ถึงเวลาแล้วมันต้องเอาไปจ่ายเขาก่อนเลย

จิตแห้งผาก.. จิตไม่มีพุทโธ.. มันออกหมด! พอจิตออกหมด นี่ไงความสงบของจิต! นี่ที่ว่าต้องการความสงบๆ พอจิตมันสงบขึ้นมาแล้ว เห็นไหม นี่ตัวจิตเป็นรูป ความคิดเป็นนาม พอความคิดเป็นนามแล้วมันหมุนออกไป พุทโธ พุทโธนี่ทำจิตให้สงบ ถ้าจิตมันสงบมันไม่ต้องสงบถึงที่พูดนี่หรอก ที่สงบอย่างนี้ นี่อัปปนาสมาธิคือตัวจิตเลย มันหยุดของมันเลย นี่คืออัปปนาสมาธิ!

“อัปปนาสมาธินี่ทำงานไม่ได้.. แต่อัปปนาสมาธินี้มันจะเป็นการตรวจสอบ”

เวลาเราสอนนะ... การตรวจสอบหมายถึงว่า เราจิตสงบแล้วเราจะพิจารณากาย เวทนา จิต หรือธรรม คือเราจะออกวิธีการอย่างใด นี่ถ้าเราทำอะไรแล้ว ทำอะไรก็เก้อๆ เขินๆ ทำอะไรก็ก้าวเดินไม่ได้

นี่เราเดินไปไม่ได้ใช่ไหม ทีนี้เราก็ต้องย้อนกลับมา... ย้อนกลับมาถึงอัปปนา คือว่าย้อนกลับมาถึงความสงบเต็มที่เลย แล้วรื้อข้อมูลของเราดู ถ้าถึงข้อมูลอย่างนี้ปั๊บนะ ถ้าออกมานะ ถ้าพอจิตมันสงบถึงฐานปั๊บ พอมันคลายตัวออกมาถึงอุปจาระ นี่น้อมไปที่กาย ถ้าเห็นกายได้ นั่นล่ะเราทำงานได้ ถ้าน้อมไปที่กาย.. กายมันยังไม่ได้ ทุกอย่างยังไม่ได้ เราต้องรื้อค้นแล้ว เราจะไปทางจิตหรือไปหานามธรรม คือหาจิตที่มันกระทบ

ความรู้สึกคือธรรมไง.. ธรรมคืออารมณ์ความรู้สึกเรากระทบกับข้อมูล อันนี้จะเป็น “ธรรมารมณ์” ถ้าเราจับอารมณ์ความรู้สึกเรามาตั้งได้ มันก็เป็นวิปัสสนาเหมือนกัน

“คำว่าวิปัสสนานี่มันได้กาย เวทนา จิต ธรรม”

ทีนี้เราจะวิปัสสนาในข้อมูลใด เหมือนวิชาชีพ เราจะประกอบอาชีพอะไร เรามีความถนัดสิ่งใด เห็นไหม อันนี้คือการตรวจสอบ แต่ถ้าผู้ปฏิบัติใหม่จะไม่เข้าใจอย่างนี้ แล้วตรวจสอบไม่ได้ ทีนี้การตรวจสอบไม่ได้ เวลาใครมา เวลาเราสอนนี่เราจะพูดของเรา แล้วเราให้ทำ แต่ผู้ที่รับฟังไม่รู้หรอก.. รู้ไม่ได้!

คำว่ารู้ไม่ได้มันคืออะไร เหมือนเด็กกับผู้ใหญ่ เด็กนี่มันก็เข้าใจประสาเด็ก บอกกินข้าวนี่เด็กจะรู้ กินข้าว... นอน.. ทำงาน... นี่มันรู้ของมันทั้งนั้นแหละ แต่เทคนิครายละเอียดมันไม่เข้าใจหรอก จะบอกให้มันเข้าใจอย่างนี้ไม่ได้ แต่ถ้ามันโตขึ้นมาแล้วนี่ โดยประสบการณ์ของเขา เขาจะเข้าใจประสบการณ์ของเขา

จิตของเราผู้ที่ปฏิบัติใหม่มันก็รู้ได้โดยหลัก ตามหลักเกณฑ์นี่เข้าใจได้ แต่วิธีการทำไม่เป็นหรอก แล้วจะบอกว่าทำอย่างนั้น ให้เขาเข้าใจตามที่ครูบาอาจารย์สอนนะ อาจารย์คนนั้นเซ่อ! อาจารย์จะต้องไม่เซ่อ เพราะอาจารย์เคยผ่านอย่างนี้มา เคยซื่อบื้อมาก่อน จะเป็นอาจารย์เขานี่เคยโง่มา เคยซื่อบื้อมา เคยทำความผิดพลาดมา แล้วเวลาจิตผิดพลาดขั้นตอนไหน มันจะรู้ว่าความรู้สึกเรานี่ เวลาเราเป็นอย่างนี้ แล้วเราคิดอย่างไร

แล้วมันเป็นอย่างนี้ เวลามาถามปัญหา คนถามปัญหานี่จิตยังไม่สงบ จิตสงบแล้วเห็นกายนี่พิจารณาไม่เป็น มันบอกถึงว่าวุฒิภาวะเหมือนกับอายุของเด็ก เด็กอนุบาลนี่มันช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ พ่อแม่ต้องดูแลใกล้ชิด เด็กที่มันพอช่วยเหลือตัวเองได้ พ่อแม่ถึงมีระยะห่าง ลูกของเราเป็นวัยรุ่น ลูกของเขาเริ่มทำงานเป็น พ่อแม่ก็นอนใจได้แล้ว แล้วลูกของเราโตขึ้นมาเป็นหนุ่มแล้ว ทำงานได้แล้ว ก็จบแล้ว! ชีวิตของเขาแล้ว เราเลี้ยงมาจนป่านนี้แล้ว ชีวิตของเขา เขาต้องดูแลชีวิตของเขาเองแล้ว

ในการปฏิบัติเวลาถามปัญหานี่มันบอกเลย คนถามปัญหา ถ้าปัญหาเป็นอย่างนี้จิตสงบหรือยัง.. จิตพิจารณากายแล้วได้หรือไม่ได้... พิจารณากายไปแล้วมันเสื่อม... พิจารณากายไปแล้วนี่มันท้อถอย.. พิจารณาแล้วมันไปไม่ได้.. พิจารณาแล้วมันติด..

มันบอกเลย! บอกเพราะอะไร บอกเพราะอาจารย์บอกผู้ที่กระทำมา นี่มันผ่านอย่างนี้มาก่อน พอมันผ่านมาแล้วเราก็รู้สิ เพราะว่าเราเป็นเด็กเราก็มีความรู้สึกอันหนึ่ง เราเป็นเด็กนี่เราก็จะเอาสุขสบายของเราทั้งนั้นแหละ พอเราเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาเราต้องรับผิดชอบแล้ว เราโตขึ้นมานี่เรามีน้องแล้ว เราต้องดูแลน้องเราแล้ว เราจะเอาแต่ใจเราไม่ได้แล้ว เพราะเราไม่ได้อยู่คนเดียวแล้ว เรามีน้อง เรามีครอบครัว เราต้องดูแล

นี่มันโตขึ้นมาไง พอจิตมันโตขึ้นมา นี่มันพัฒนาของมันขึ้นมา มันจะมีความรับผิดชอบของมัน! แล้วพอคนมันถาม นี่มันจะรู้ถึงว่า ถ้าอย่างนี้เขายังรู้ไม่ได้ คือวุฒิภาวะอย่างนี้มันรู้ได้อย่างนี้.. รู้ได้อย่างนี้ก็สอนอย่างนี้ ให้เขาทำอย่างนั้น...

ถ้ามันทำขึ้นมานะมันจะไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ มันจะไม่ขัดแย้งกับที่ครูบาอาจารย์สอนไว้หรอก ครูบาอาจารย์ท่านเป็นอย่างนั้นมาก่อน

“นี่แล้วมันเป็นอันเดียว.. อริยสัจมันมีหนึ่งเดียว! ฉะนั้นเราทำความสงบของใจเราเข้ามา”

ทีนี้การทำความสงบของใจนี่มันมีหลากหลาย “กรรมฐาน ๔๐ ห้อง” เห็นไหม ปัญญาอบรมสมาธิ.. สมาธิอบรมปัญญา.. แล้วอย่างการเพ่งดูนี่มันเป็นกสิณ! อย่างการเพ่งดูนี่มันเป็นกสิณ นี่อย่างดูจิตๆ มันเป็นกสิณ ถ้าเป็นกสิณการเพ่งดู เห็นไหม

คำว่ากสิณ.. คือมันเพ่งดูเพื่อให้จิตสงบเท่านั้นเอง แต่คำว่าเพ่งดูแล้วมันจะเป็นมรรคผลนิพพาน นี้มันเป็นไปได้อย่างไร... มันเป็นไปไม่ได้หรอก! อย่างการเพ่งดูนี่เราก็จับมาสิ มันเป็นกสิณไง กสิณ ๑๐ รู้สีขาว สีแดง สีเขียว อากาศ ไฟ นี่กสิณไง! เพ่งดูคือกสิณไง!

แต่นี้การเพ่งดู... นี่การเพ่งดู ถ้ามันดูให้สงบมันก็ดูได้ แต่มันเป็นกสิณ เห็นไหม กสิณมันมีกำลังของมัน แต่ถ้าปัญญาอบรมสมาธิล่ะ... ปัญญาอบรมสมาธิคือมันใช้ปัญญา มันไม่ใช่ดูเฉยๆ

การเพ่งดูนี่มันเป็นกสิณ! ปัญญาอบรมสมาธิมันไม่เป็นอย่างนี้!

เราถึงบอกว่าเวลาปฏิบัติไปนี่พวกเราได้ฌาน... ฌาน ๒ ฌาน ๓ นี่แก้ยากน่าดูเลย พอเป็นฌานแล้ว... กสิณนั่นแหละคือฌาน แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิไม่ใช่ฌาน

“ฌานเป็นฌานนะ... สมาธิเป็นสมาธินะ”

ฌานมีปฐมฌาน.. ทุติยฌาน.. ตติยฌาน.. จตุตถฌาน.. อากาสานัญจายตนะ.. วิญญาณัญจายตนะ... อากิญจัญญายตนะ.. เนวสัญญานาสัญญายตนะ...

นี่ความสงบ ๔... ๘ ขั้นตอน!

แต่ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ นี่จิตสงบพุทโธ พุทโธ พุทโธ เป็นขณิกสมาธิ.. อุปจารสมาธิ.. อัปปนาสมาธิ แล้วอัปปนาสมาธิมันว่างอย่างไร

มันคนละเรื่องกันนะ ไม่ใช่ฌาน ไอ้ที่พูดบอกว่านี่ฌาน ๒ นะ แล้วแก้ฌาน ๒ ยากมาก ใครได้ฌาน ๒ ฌาน ๓ มา ต้องได้ระดับของฌาน ๒ มรรคมันถึงเป็นมรรค...

เราว่าไอ้พวกนี้มันปลากับนกไง พอเป็นปลาใช่ไหม ปลาก็ลงน้ำ.. นกก็อยู่บนดินใช่ไหม แต่ไอ้นี่บอกว่าเต่า มันบอกว่าสะเทินน้ำสะเทินบกไง! นี่มันสะเทินน้ำสะเทินบก จะเป็นปลาก็ไม่เป็นปลา จะเป็นนกก็ไม่เป็นนก กลายเป็นเต่า กลายเป็นเขียด มันก็ว่าของมันไป แต่มันไม่เป็นอย่างนั้น

ฌานส่วนฌาน... ถ้าเป็นฌานแล้วนี่มันส่งออก มันไม่เป็นมรรคหรอก เพราะในมรรคมีสัมมาสมาธิ ไม่มีมิจฉาฌาน.. ไม่มี! ไม่มีสัมมา ฌานสัมมาไม่มี มีแต่สัมมาสมาธิ ฌานสัมมาไม่มี ไม่เอามาเกี่ยวเลย

นี่ไงจับแพะชนแกะ.. ตัวเองไม่มีหลัก แล้วก็ไปอ้าง จะอ้างเหตุผลไงว่าการทำสัมมาสมาธิ การทำความสงบของใจนี้เป็นฌาน แล้วพอเป็นฌานแล้ว ต้องมาเปลี่ยนให้มันเป็นมรรค..

สัมมาสมาธินี่นะมันเป็นความสงบของใจ ถ้าใจสงบ เหมือนเรานี่มีกำลัง ใจสงบนะ ฟังนะ... พระพุทธเจ้าบอกเลยนะ ถ้าใครได้พบพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจะไปรื้อสัตว์ขนสัตว์ นี่จะเป็นกุศลมาก แล้วเวลาที่ว่าพระพุทธเจ้าจะไปบิณฑบาตไง แล้วมี ๒ คนตายาย ทุคตะเข็ญใจนั่งขอทานอยู่ พระพุทธเจ้าผ่านไปแล้วพระพุทธเจ้ายิ้มนะ ยิ้ม... พอยิ้มปั๊บนี่มีเลศแล้ว จะบอกนัยอะไรอยู่ พระอานนท์เป็นผู้ปัจฉาสมณะเห็นก็จำไว้

พอจำไว้นะ กลับไปตอนเย็น พอหัวค่ำพระพุทธเจ้าจะเทศน์สอนพระไง พุทธกิจ ๕ พอเทศน์สอนพระ แล้วพระอานนท์นั่งอยู่ข้างๆ ก็ถามว่าตอนเช้าที่พระพุทธเจ้ายิ้มนี่เพราะเหตุใด พระพุทธเจ้าบอกว่า เห็นไหม เห็นทุคตะเข็ญใจตายาย ๒ คนที่ขอทานไหม นั่นล่ะเศรษฐีนะ เมื่อก่อนเขาเป็นเศรษฐี แต่ที่สุดแล้วโดนคนใช้ โดนพวกกรรมกรโกง... โกงจนหมดเลย พอหมดขึ้นมา แล้วเล่นการพนันด้วย ก็เลยหมดตัว ก็เลยกลายมาเป็นขอทาน

ท่านบอกว่า นี่เศรษฐี.. ทุคตะเข็ญใจ ๒ คนนี้ ถ้าตอนเป็นเศรษฐีอยู่นะพบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ อย่างน้อยจะได้เป็นพระอนาคา แต่ตอนนี้พระพุทธเจ้าเดินผ่านไปผ่านมา แต่จิตใจเขาเศร้าหมองไง คนทุกข์ไง คนเป็นเศรษฐีไง แล้วพอโดนโกงจนหมดแล้วนี่ หัวใจมันช้ำ มันเจ็บช้ำ มันไม่ฟังธรรม พอฟังธรรมแล้วมันไม่เข้าถึงหัวใจ

นี่เราเอามาเปรียบเทียบถึงสัมมาสมาธิ! ความสงบของใจ กับใจที่ไม่สงบ มันต่างกันอย่างนี้ไง ใจเราไม่สงบ ใจเรายังคิดโดยธรรมชาติของเรานี่ แล้วเราจะบรรลุธรรม ประสาเราว่า “ปัญญาของเรา มันชำแรกธรรมไม่ถึงตัวธรรม”

แล้วพอมันไม่ถึงตัวธรรมปั๊บ นี่พวกเราถึงต้องทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบขึ้นมา ก็เหมือนเศรษฐี.. เศรษฐีที่เงินทองของเขาเต็มบ้านเต็มเมือง แล้วเขาจะมีความสุขของเขา จิตใจของเขาอิ่มเต็มไง พอจิตใจของเขาอิ่มเต็มแล้วฟังอะไรขึ้นมานี่มันสะเทือนใจ มันเข้าถึงหัวใจ แต่เวลาเราทุกข์ทนเข็ญใจนี่มันเจ็บช้ำน้ำใจไง คนนู้นก็โกง คนนี้ก็โกง เราเคยใช้ชีวิตโดยเศรษฐีใช่ไหม แต่ปัจจุบันนี้ต้องมานอนข้างถนนอย่างนี้ ดูซิจิตใจมันจะคิดอย่างไร

ย้อนกลับมาใจพวกเรานี่ ที่เขาบอกว่าไม่ต้องทำความสงบ ใช้ปัญญาไปเลย... อย่างนั้นมันก็เป็นปัญญาของทุคตะเข็ญใจไง ปัญญาของคนนอนข้างถนนไง จะทำอย่างไรให้ตัวเองนอนอยู่ข้างถนนแล้วไม่ให้คนมารังแก ไม่ให้คนมาทำร้าย กับคนที่เขานอนสุขสบาย แล้วพอตื่นเช้าขึ้นมานี่ร่างกายเขาสดชื่น เขาทำมาหากินของเขา

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันสงบเข้ามานี่มันแตกต่างอย่างนี้ไง แล้วปกตินี่เขาว่า “ไม่ต้องทำ.. ทำสมาธิแล้วอีกกี่ชาติมันจะได้ภาวนา.. ทำสมาธิกว่าจะได้สมาธิ แล้ววิปัสสนามันจะเกิดเมื่อไหร่... เราตายแล้วเกิดมายังไม่ได้ภาวนาเลย.. เราไม่ต้อง เราใช้ปัญญากันไปเลย”

นี่ไงความคิดของเขาคิดกันอย่างนั้นไง การทำความสงบของใจมันก็คือการภาวนา! การภาวนา เราทำพุทโธ พุทโธ พุทโธ นี่ก็คือการภาวนานะ เพราะเราทำความสงบของใจไง ถ้าใจมันสงบขึ้นมา ก็เหมือนเรามีบ้านเรือน มีที่อยู่ที่อาศัยไง

จิตสงบเข้ามา... ถ้าจิตมันสงบเข้ามาแล้วมันไม่มีความมหัศจรรย์ ทำไมครูบาอาจารย์จิตสงบท่านถึงคิดว่าเป็นนิพพานล่ะ ทำไมจิตสงบแล้วติดความสงบของใจล่ะ

จิตสงบนี่มันติดได้นะ... มันมีความสุขนะ.. แล้วเราภาวนาอยู่นี่ ความสุขอย่างนี้ มันก็เป็นความสุขพื้นฐานที่เราต้องมีกันก่อน ถ้าความสุขพื้นฐานมันมีขึ้นมาแล้ว แล้วมันออกรู้ออกไปเป็นอริยภูมิขึ้นมานะ นั่นมันอีกขั้นตอนหนึ่ง ไอ้ขั้นตอนนั้น เรามีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ

ไอ้นี่ไม่อย่างนั้น ไอ้นี่บอกว่า นี่ไงเต่าไง สะเทินน้ำสะเทินบก ลงน้ำก็ได้... บนบกก็ได้.. แต่บินไม่ได้นะ เต่าบินไม่ได้ ลงน้ำก็ได้.. ขึ้นบกก็ได้..

นี่ก็เหมือนกัน อะไรก็ได้... ทำอะไรก็ได้.. แต่ของครูบาอาจารย์เรานี่อะไรก็ได้ คำว่าอะไรก็ได้ คือ “กรรมฐาน ๔๐ ห้อง” อะไรก็ได้เหมือนสอนเด็ก.. เด็กนี่นะทุกคนเลยพ่อแม่จะบอกว่า อะไรก็ได้ ขอให้กินแล้วนอน อย่ากวนก็พอ... ยิ่งเด็กๆ แล้วโอ้โฮ.. ถ้าใครเลี้ยงดีนะ เด็กเรานี่เป็นเด็กดีมากเลย เด็กไม่กวน

นี่อะไรก็ได้.. คำว่าอะไรก็ได้นี่มันเป็นวุฒิภาวะของผู้ใหญ่พูดกับเด็ก คือครูบาอาจารย์ของเราท่านสอนลูกศิษย์ ก็ต้องการให้ลูกศิษย์นี่มั่นคง ให้มั่นใจ! ให้มั่นใจทำให้มันสงบได้ ถ้ามันมั่นใจแล้วพอมันสงบได้นี่มันรู้ของมันเอง

เด็กนี่โดยธรรมชาติของมัน มันจะโตขึ้นมา มันจะต้องเป็นหัวหน้าครอบครัว มันจะต้องมีครอบครัวของมัน พอมันโตขึ้นมานี่มันจะรู้ความรับผิดชอบของมัน มันจะทำอย่างไรของมัน.. จิตของเรานะถ้ามันสงบแล้วนี่ มันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน มันจะทำอย่างไรต่อไปมันจะรู้ของมัน

นี่ไง นี่การปฏิบัติถึงเวลาทันกันแล้วมันจะเหมือนกัน แต่นี่มันไม่อย่างนั้นน่ะสิ เขาจะพูดนะ นี่มันย้อนกลับมา.. ย้อนกลับมาว่า “จิตเป็นนิรันดร์... ไม่มี”

นี่ก็เหมือนกัน มันจะให้เหมือนกัน โดยที่ว่าทุกอย่างเหมือนกันโดยที่ให้เป็นนิรันดร์ ให้เป็นอันเดียวกัน...

มันลืมไปนะ ลืมไปว่านานาจิตตัง จริตของคนไม่เหมือนกัน คนเกิดมาไม่เหมือนกัน กรรมของคนไม่เหมือนกัน การกระทำอย่างเดียวกันไม่มี! ไม่มี! แม้แต่ครูบาอาจารย์เราพิจารณากายเหมือนกัน ครูบาอาจารย์เราพิจารณากายเหมือนกันยังไม่เหมือนกันเลย พิจารณากายเหมือนกันนะ

ดูสิลูกศิษย์หลวงปู่มั่นนี่เป็นพระอรหันต์ทั้งนั้นเลย เวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศนาว่าการนี่ทำไมท่านบอกหลวงปู่ชอบ หลวงปู่ฝั้นล่ะ ว่าช่วยจับขโมยให้ที นี่เวลาท่านเทศน์อยู่ เพราะเวลาท่านเทศน์ พลังงานของท่านออกมาเป็นเทศน์หมดใช่ไหม นี่มันจะแว็บออกไปจับลูกศิษย์ที่ว่าใครคิดนอกลู่นอกทางมันไม่มีใช่ไหม ท่านก็บอกให้ลูกศิษย์จับ.. แล้วทำไมท่านไม่ใช้ทุกองค์ล่ะ ทำไมท่านใช้เฉพาะองค์ล่ะ เฉพาะองค์ก็คือว่าจริตมันเป็นอย่างนั้น มันทำอย่างนั้นได้

ในประวัติของหลวงปู่มั่น เห็นไหม นี่หลวงตาท่านเล่า... มีเทวดาไปหาหลวงปู่ชอบ ไปฟังเทศน์หลวงปู่ชอบ แล้วหลวงปู่ชอบถามเทวดาว่า “ทำไมต้องมาหาผมล่ะ” เทวดาบอกว่า “หลวงปู่มั่นสั่งให้มา” พอบอกว่าหลวงปู่มั่นสั่งให้มาเสร็จแล้วนะ เพราะหลวงปู่มั่นรับแขกไม่ไหว เทวดามาหาเยอะมาก หลวงปู่มั่นก็บอกว่าให้เทวดานี่ไปหาลูกศิษย์หลวงปู่มั่น ให้ไปหาลูกศิษย์องค์ที่รับได้นะ องค์ที่เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน แต่รับยังไม่ได้ รับไม่ถนัดก็ไม่ต้องไปหา ให้ไปหาหลวงปู่ชอบ

หลวงปู่ชอบก็รับเทวดา พอรับเทวดาเสร็จ เทศน์เทวดาเสร็จ แล้วเวลาไปทำข้อวัตรกับหลวงปู่มั่นไง ก็ถามหลวงปู่มั่นว่า “มีเทวดาไปหาผม แล้วบอกว่าหลวงปู่มั่นให้ไปหาผม นี่หลวงปู่มั่นพูดจริงหรือเปล่า”

นี่ไงขนาดรับเทวดาแล้ว... แม้แต่พระอรหันต์ แม้แต่ผู้ที่คุณธรรม คุณสมบัติที่การทำงานมันยังไม่เหมือนกัน แล้วเรานี่เราเป็นสาวก-สาวกะ เราเป็นปุถุชนที่เราจะประพฤติปฏิบัตินี่ แล้วให้ทำเหมือนกันหมดเลย!

เราถึงบอกว่าน้ำพริกถ้วยเดียว แล้วให้ทุกคนกินอร่อยเหมือนกันหมด มันเป็นไปไม่ได้...น้ำพริกถ้วยเดียวนะ ถ้าคนชอบน้ำพริกนี่โอ้โฮ.. สุดยอดเลย แต่ให้คนจีนกินไม่ได้ เพราะคนจีนเขากินอาหารจืดๆ คนจีนกินน้ำพริกนะร้องตายเลย

มันเป็นไปไม่ได้! แต่นี่เขาบอกว่าชนชาติไหนก็แล้วแต่นะเหมือนกันหมดเลย... อย่างนี้มันก็บอกถึงว่าอาจารย์องค์นั้นน่าจะ.. อย่างที่เราว่าไง อาจารย์ทุกองค์ต้องเซ่อมาก่อนนะ แล้วค่อยมาฉลาด พอฉลาดแล้วถึงจะสอนลูกศิษย์ได้ ไอ้นี่ลูกศิษย์กลับฉลาดนะ แล้วอาจารย์กลับเซ่อ บอกให้ลูกศิษย์ทำให้เหมือนกันหมดเลย แล้วลูกศิษย์มันเถียงไง ทำไม่เหมือนกันหรอก จะเอาอย่างนู้น อย่างนี้ อาจารย์กลับเซ่อนะ บอกว่าต้องทำกันอย่างนี้.. ต้องทำอย่างนี้

นี่หลายๆ อย่างมันจะฟ้อง เราถึงบอกว่าเราทำความสงบของใจ แล้วเราทำความสงบนี่มันเป็นการภาวนาแล้ว! เพราะการภาวนา มีสมถกรรมฐาน..วิปัสสนากรรมฐาน.. ในสมถะก็มีวิปัสสนา..ในวิปัสสนาก็มีสมถะ..

“ถ้าในวิปัสสนาไม่มีสมถะ สัมมาสมาธิเกิดในมรรค ๘ ไม่ได้! ”

ในสมถะก็มีวิปัสสนา.. ถ้าในสมถะ ในการทำความสงบของใจ นี่ถ้ามันไม่มีปัญญา มันจะทำความสงบของใจได้อย่างไร คนไม่มีปัญญาจะหาตังค์เป็นเหรอ คนไม่มีปัญญารักษาตังค์เป็นไหม คนมีปัญญาถึงรักษาตังค์ได้นะ คนที่เขาประกอบธุรกิจกันมา ที่เรารักษาธุรกิจของเขาได้นี่เพราะเขามีปัญญาของเขา เขารักษาธุรกิจของเขาได้ เขารักษาเงินทองของเขาได้

ในสมถะก็มีวิปัสสนา... ในวิปัสสนาก็มีสมถะ.. แต่! แต่เวลาประพฤติปฏิบัติในการทำความสงบของใจ ในสมถะก็มีวิปัสสนา ก็ว่า “มันก็วิปัสสนาแล้ว” นี่ไม่ใช่!

“ในสมถะก็มีวิปัสสนา เพราะมันใช้ปัญญาเหมือนกัน.. เพราะมันเป็นปัญญาของขั้นสมถะ”

คำว่าสมถะนะ หลวงตากับหลวงปู่เจี๊ยะพูดบ่อย “เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ... ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เป็นได้ทั้งสมถะ! เป็นได้ทั้งวิปัสสนา! ”

ถ้าจิตใจมันเป็นสมถะ มันพิจารณาเกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ มันก็เป็นสมถะ! แต่ถ้าใจมันมีสมถะ ใจมันมีสมาธิอยู่แล้ว ใจมันมีความสงบอยู่แล้ว วิปัสสนากาย เวทนา จิต ธรรม อายตนะ ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ มันจะเป็นวิปัสสนา

ผลของวิปัสสนา เห็นไหม ผลของมัน มันเกิดที่ใจไง มันเกิดจากที่ทุน ถ้าทุนของมัน นี่ต้องการหาทุน ก็เอาทุนมาเป็นทุนก่อน แต่ถ้ามันมีทุนแล้ว เราเอาทุนไปทำธุรกิจ มันก็อีกขั้นตอนหนึ่ง

นี่มันก็เกี่ยวเนื่องกัน มันเหมือนกับเราเป็นพ่อแม่กับลูกไง ลูกนี่ปฏิเสธพ่อแม่ไม่ได้หรอก เพราะลูกมาจากพ่อแม่ แล้วบอกว่าเวลาลูกทำผิด นี่พ่อแม่ต้องรับผิดหรือเปล่าล่ะ แต่เดี๋ยวนี้เอาผิดนะ เด็กแว้นเวลามันออกไปขับรถไง เดี๋ยวนี้แม่ต้องรับผิดชอบด้วย

นี่ก็เหมือนกัน ลูกไปทำผิดแล้วพ่อแม่ต้องรับผิดชอบไหมล่ะ... นี่ไงถ้าสมถะมันผิด แล้ววิปัสสนามันผิดหรือเปล่าล่ะ... แล้ววิปัสสนากับสมถะมันมากันอย่างไรล่ะ มันเกิดมาเหมือนพ่อแม่กับลูกไง อ้าว.. พ่อแม่กับลูก ก็ลูกเกิดมาจากพ่อแม่ อันนี้มันเกี่ยวเนื่องกัน แต่มันไม่ใช่อันเดียวกัน เห็นไหม

พ่อแม่กับลูกคนละคน แต่พ่อแม่กับลูกก็เกี่ยวกันมาด้วยสายบุญสายกรรม เกี่ยวกันด้วยสายเลือด เกี่ยวกันด้วยความผูกพัน โอ้โฮ.. พ่อแม่นะ ใครคนหนึ่งมีความกระทบกระเทือนนะ พ่อแม่จะมีความรู้สึกมากเลย

นี่ก็เหมือนกัน “ในสมถะกับวิปัสสนามันไม่ขาดจากกัน แต่มันก็ไม่ใช่อันเดียวกันแต่มันก็ไม่ขาดจากกัน”

พ่อกับแม่มันไม่ขาดจากกันหรอก พ่อแม่ลูกนี่ไม่ขาดจากกัน แต่มันก็ไม่ใช่อันเดียวกันนะ พ่อแม่กับลูกคนละคนนะ

นี่ก็เหมือนกัน ในสมถะก็มีวิปัสสนา... ในวิปัสสนาก็มีสมถะ แต่มันไม่ใช่อันเดียวกัน... คำว่ามันไม่ใช่อันเดียวกัน เพราะว่าถ้ามันทำสมถะอย่างเดียว นี่ผลของมัน! ผลของการปฏิบัติทั้งหมด ทุกลัทธิ ทุกวิธีการ ที่เขาโม้ๆ กันน่ะ ว่าวิปัสสนาสายตรงๆ นี่เป็นสมถะทั้งนั้น!!

เพราะผลของมันคือสงบไง! ผลของมันคือการปล่อยวาง! ผลของมันคือความว่าง แต่! แต่มันเป็นมิจฉาหรือสัมมา ถ้าเป็นสัมมาคือเรารู้จริงไง... เรารู้จริง อ้อ! ว่าง... อ้อ! สงบ.. อ้อ! ว่าง..

ว่างนี้เป็นสมถะเพราะอะไร เพราะเราไม่รู้อะไรเลยไง เรารู้ว่าว่างไง แต่นี่ผลของมันคือสมถะ.. ผลของมันคือสมาธิล้านเปอร์เซ็นต์ เรายืนยัน!

เพียงแต่ผู้ปฏิบัติมันซื่อบื้อ มันคิดว่าสมถะนั้นเป็นมรรคผลนิพพาน พอมันว่างมันก็ว่านี่เป็นธรรมๆ ไง มันก็ให้ค่ากันไง แล้วมันไม่จริง! นี้มันเลยเป็นมิจฉาไง มันเป็นมิจฉาเพราะว่าพอมันว่างขึ้นมา พอมันปล่อยวางไง มันปล่อยวางมันมีว่างๆ ก็ว่านี่เออ.. โสดาบัน พอพิจารณาไปใช้ปัญญาอีกรอบหนึ่ง เออ.. สกิทาคา เป็นอนาคา.. นี่มันก็ย่ำอยู่กับที่! ถ้าไม่ย่ำอยู่กับที่ นี่จิตส่งออกยังไม่รู้เลย...

ถ้าไม่ย่ำอยู่กับที่นะ พระโสดาบันมันละขันธ์อย่างหยาบ คือขันธ์ ๕ ไม่ใช่เราเราไม่ใช่ขันธ์ ๕... สกิทาคาละขันธ์อย่างละเอียด ขันธ์อย่างกลาง เพราะอะไร เพราะถ้ามันพิจารณาเป็นธาตุไป กามราคะนี่มันเป็นขันธ์อย่างละเอียด มันเป็นข้อมูล มันเป็นปฏิฆะ มันเป็นข้อมูลของใจ พอมันออกหมดแล้วนี่มันว่างหมดเลย มันจะเหลือจิตล้วนๆ มันไม่มีขันธ์

พอเหลือจิตล้วนๆ นี่จิตมันคืออะไร.. จิตคือปัจจยาการ.. จิตคืออวิชชา พอมันเข้าไปเห็นจิต นี่ไงคำว่าจิตส่งออก.. จิตส่งออก

คำว่าจิตส่งออก.. ครูบาอาจารย์ของเราท่านปฏิบัติหมดแล้ว ท่านถึงบอกว่า คำว่าจิตส่งออกหมด! การทำสมาธิคือจิตส่งออก เพราะมันออกไปรู้พลังงาน... สมาธินี่คือจิตส่งออกแล้ว! แต่เขาบอกว่าจิตส่งออกไม่มี มันเป็นอาการของจิตต่างหาก...

อาการคือความคิดไง นี่ไงเพราะอะไร เพราะถ้ามันไม่เป็น ถ้ามันย่ำอยู่กับที่ มันเป็นมิจฉา มันเป็นจินตนาการ มันเป็นความคิดสำเร็จรูปที่คิดที่ตรึกในธรรมะของพระพุทธเจ้า ไม่มีความจริงเลย! มันถึงเป็นมิจฉา...

ถ้าเป็นสัมมานะ การกระทำทั้งหมด เพราะมีปัญญาอบรมสมาธิ.. สมาธิอบรมปัญญา... ไอ้วิปัสสนาสายตรงๆ นี่ถ้ามันเป็นสัมมานะ มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ! คือมันเป็นปัญญาอบรมให้ใจว่างไง! มันเป็นปัญญาอบรม.. เป็นความคิดให้ปล่อยวางไง..

ถ้าเป็นความคิดให้ปล่อยวาง.. มีสติ เห็นไหม มันเป็นสัมมา.. สัมมาคือมันเข้าใจว่ามันเป็นสมาธิ เอ๊อะ! เอ๊อะ! คือเราว่าง แต่กูไม่รู้อะไรเลยนะ คือกูรู้ว่ากูปล่อยวางเข้ามาแล้วกูว่าง แต่กูไม่รู้ว่ากูจะชำระกิเลสอย่างไร

คือตัวเองไม่รู้จักตัวเอง มันเลยเป็นมิจฉา.. แต่ถ้าเป็นสัมมานี่ตัวเองจะรู้ตัวเอง พอมันไล่เข้ามาแล้วมันปล่อยวาง เอ๊อะ! ปล่อยวาง โอ้โฮ.. เป็นอย่างนี้เนาะ โอ้โฮ.. เราเป็นอย่างนี้นะ.. มันรู้ว่าเราปล่อยวาง คือเราปล่อยทุกอย่างมาได้ เป็นตัวของเราเองได้ แล้วมีสติรู้ตัวของเราเอง

พอออกไปวิปัสสนาไง พอออกไปวิปัสสนามันก็จะไปรู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม มันจะไปแก้ไข แล้วมันจะไปละวาง พอละวางแล้วมันจะรู้เป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไป... มันจะพูดอันเดียวกันครูบาอาจารย์ของเรา! เพราะครูบาอาจารย์ของเราท่านทำมาอย่างนี้

“อริยสัจมีหนึ่งเดียว” พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ก็ตรัสรู้อริยสัจอันนี้! พระอรหันต์ทุกๆ องค์ ก็ตรัสรู้อริยสัจอันนี้! แล้วถ้าคนที่รู้อริยสัจอันนี้ มันจะไปขัดแย้งกับอริยสัจอันนี้ได้อย่างไร..

แต่นี้จะย้อนกลับไปแก้รัฐธรรมนูญแล้วนะ เราเห็นมาตั้งแต่แรก เพราะเวลาเขาพูดออกมา เรื่องสติเกิดเอง.. เรื่องอะไรนี่นะ เรารู้แล้ว พอเรารู้แล้วนะ เราก็บอกไว้ตั้งแต่ทีแรกใช่ไหม เราพูดไว้ตลอดกับลูกศิษย์นี่ บอกว่าเป็นห่วงมากว่าหนังสือของหลวงปู่ดูลย์จะโดนแก้ไข เราพูดคำนี้มานานนะ นี่แก้แล้ว.. แก้แล้ว เห็นไหม

เพราะอะไรรู้ไหม เพราะว่าพอเราทำความผิดไปแล้ว กฎหมายมันโต้งๆ ไง กฎหมายบอกเลยว่าลักทรัพย์นี่มันต้องติดคุก แล้วเราไปหยิบฉวยอะไรเขามา แล้วจะไปแก้กฎหมายว่า “ลักทรัพย์นี้เป็นคุณประโยชน์.. ลักทรัพย์นี่คนนั้นเป็นคนดีมาก เพราะได้ลักทรัพย์แล้ว ทรัพย์นั้นจะได้ไปเจือจานกันต่อไป.. ทรัพย์นั้นไม่ได้เป็นของบุคคลคนเดียว.. ทรัพย์นั้นจะได้แจกจ่ายกันไป ใช้เป็นประโยชน์กับสังคม” นี่แก้แล้ว

มันเป็นไปไม่ได้หรอกว่าสติจะเกิดเอง มันเป็นไปไม่ได้! สติจะเกิดเอง นี้มันเป็นสติของปุถุชน... โดยธรรมชาติของมนุษย์มันมีสติเผลอ สติเผลอเพราะเราไม่ได้ตั้งใจทำจริง แต่พอเรามาศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้วนี่เราอยากได้สิ่งที่ดีงาม กับความดีในสมมุติ ความดีในชีวิตประจำวัน เราต้องใช้สติปัญญาลึกซึ้งมากมายกว่านี้ ถ้าเราต้องการสติปัญญาที่ลึกซึ้งมากมาย หรือรื้อค้นกิเลสของตัว นี่มันจะทำสมาธิเข้ามา แล้วสติมันจะพร้อม ถ้าสติไม่ดีสมาธิเกิดไม่ได้ หลวงตาพูดประจำ..

“ขาดสติ... การทำความเพียรทุกอย่างเป็นโมฆะหมด”

ถ้ามีสติขึ้นมานะ ทำสมาธิก็ถูกต้อง.. ใช้ปัญญาก็ถูกต้อง.. แต่ขาดสติตัวเดียวนะ การกระทำทั้งหมด ถ้าเวลาเดินจงกรมท่านบอกเลย “อย่าไปแย่งเท้าหมามันมานะ” หมามันวิ่งไปวิ่งมาน่ะ หมามันมี ๔ เท้า มันวิ่งไปวิ่งมา ดีกว่าคนอีก มันก็เดินจงกรมของมันนะ แต่มันไม่มีสติ มันไม่เข้าใจว่าทำอะไร

แต่พวกเราเข้าใจอยู่นะว่าเราต้องการคุณงามความดี มากกว่าคุณงามความดีในการอยู่กับโลกนี้ เราถึงต้องมีสติปัญญามากกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ในชีวิตประจำวันนี้ ถ้าในชีวิตประจำวันนี้ พอมันตั้งสติขึ้นมา จิตมันสงบขึ้นมา มันมีสติมันควบคุม นี่มันจะรู้มันจะเห็นของมัน แล้วมันจะทำประโยชน์ของมันขึ้นมา มันไม่พูดอย่างนี้...

เห็นมาตั้งแต่แรกเลย คำแรกเลยที่เราเห็นหนังสือเขาคือว่า “สติไม่ต้องฝึก มันจะเป็นเองนะ” เราหมายหัวได้เลย แล้วรอเวลามันจะล่ม... นี้ออกมาแล้ว แก้แล้วว่า...

ประเด็น : “ความเห็นจิตส่งออกเป็นสมุทัยนั้น น่าจะคลาดเคลื่อนจากสภาวธรรมที่หลวงปู่ดูลย์สอนเพราะ! เพราะจิตเป็นตัวสมุทัยไปไม่ได้”

หลวงพ่อ : แต่เขาลืมคิดไปว่า “จิตนี้เป็นตัวอวิชชาครอบงำ! ตัวจิตนั้นล่ะคือตัวสมุทัย” ตัวจิตนั้นล่ะคือตัวพญามาร.. แล้วพอพญามารมันส่งต่อมานี่ ก็เป็นให้พ่อของมาร คือพวกโทสะ โมหะ แล้วมันก็ส่งต่อไปให้ลูกของมาร ลูกของมารก็คือความเข้าใจผิด แล้วหลานของมารนี้คือความเห็นผิดในร่างกาย

นี่ไง มารมันมีหยาบมีอ่อน โอ้โฮ.. แล้วไปแก้หมดเลย นี่กำลังจะแก้! นี่กำลังจะแก้รัฐธรรมนูญ กำลังจะแก้รัฐธรรมนูญ.. ไอ้เรานี่ก็เป็นประธานสภานะ กูไม่ยอมโหวตให้ผ่าน ไม่บรรจุวาระ... รัฐธรรมนูญนี่แก้ไม่ได้ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะหนังสือนี่มันพิมพ์มาตั้งแต่ไหนแต่ไร

“จิตส่งออกเป็นสมุทัย ผลที่เกิดจากการส่งออกนั้นเป็นทุกข์”

ฉะนั้นต้องให้จิตสงบ... จิตเห็นจิตถึงเป็นมรรค จิตส่งออก! เพราะจิตส่งออก เพราะจิตมันไม่รู้ตัวมันเอง มันถึงส่งออก พอจิตมันมีสติในตัวของมันเองใช่ไหม พอจิตเห็นจิต มันเป็นมรรคขึ้นมา พอเป็นมรรคขึ้นมา ผลจากการที่จิตเห็นจิตนั้น ถึงจะเป็นนิโรธ นี่ของหลวงปู่ดูลย์...

จิตส่งออกเพราะเป็นสมุทัย มันก็ส่งออกของมัน ตามธรรมชาติของมัน ผลของการส่งออก ผลของการเห็นผิด ผลของการกระทำมันก็เป็นทุกข์ฉะนั้นก็ต้องหยุดใช่ไหม ต้องจิตเห็นจิต พอจิตเห็นจิตมันเป็นมรรค! ผลจากการที่จิตเห็นจิต แล้วอันนั้นถึงเป็นมรรค อันนั้นก็เป็นนิโรธ คือการดับทุกข์

ท่านพูดถูกชัดๆ เลยล่ะ! แต่คนมันตีความไม่ถูก มันเลยบอกว่า “จิตส่งออกไม่ได้… การส่งออกคืออารมณ์” มันจะแก้รัฐธรรมนูญ

ถ้าเขาไม่เห็นผิด เขาไม่ทำของเขาไป นั่นเรื่องของเขา นี้เราเอาตรงนี้มาเป็นตัวตั้ง.. เอาตรงนี้มาเป็นตัวตั้ง เพราะโยมถามว่าการปฏิบัติทำความสงบของใจไง แล้วมีอาการต่างๆ

เราจะบอกว่า.. “การทำความสงบนี้มันก็เป็นการภาวนาอันหนึ่ง” แล้วถ้าจิตมันสงบแล้ว เราก็พออยู่พอกินไง คือว่าเราก็มีความสุขของเรา เราให้จิตสงบ เรามีพื้นฐานของเรา แล้วพื้นฐานนี้ เราต้องปรับพื้นที่กัน อย่างเช่นเราเป็นชาวไร่ชาวนา เขาเรียกว่าคนไทยต้องมีที่ทำกิน ตอนนี้เขาพยายามจะจัดสรรที่ทำกินให้คนไทย เพราะคนไทยไม่มีที่ทำกิน

ไอ้นั่นมันเป็นที่ทำกินข้างนอกนะ แต่ที่ทำกินของเราคือภพ! คือแผ่นดินในหัวใจ! ถ้าใครทำความสงบของใจเข้ามา นี่ใจคือภวาสวะ คือภพ คือพื้นที่ทำกิน ถ้าใครมีพื้นที่ทำกิน มันจะได้ประโยชน์จากการทำกินของเรา การทำกินของเรา เราหว่านพืชไถนา แล้วเราถึงจะได้ข้าวได้พืชผลขึ้นมา เราทำของเรา

ตอนนี้ถ้าจิตสงบเข้ามานี่เราก็มีภพ แต่นี้เขาบอกว่าจิตไม่ต้องสงบเลย คือมันปฏิเสธพื้นที่ทำกิน พื้นที่ทำกินยกให้คนอื่น แล้วบอกว่าตัวเองร่ำรวย เอ็งว่ามันเป็นไปได้ไหมล่ะ เราต้องหาพื้นที่ทำกินของเรา

จิตสงบเข้ามา.. ฐีติจิต! อวิชชาเกิดจากฐีติจิต! อวิชชาเกิดจากจิต อวิชชาเกิดที่นี่ เพราะอวิชชากับมัน เป็นอนุสัยที่มาด้วยกัน แล้วเวลามันเคลื่อนออกไป นี่มันส่งออกไป แล้วเขาบอกว่าจิตส่งออกไม่ได้...

ฉะนั้นเราต้องทำความสงบ! ความสงบนี่จำเป็นมาก ถ้าไม่มีความสงบเราก็ทำได้ ทำได้เป็นปัญญาอบรมสมาธิ ตรึกในธรรมนี่เป็นปัญญาอบรมสมาธิ

แล้วบอก ทุกคนนี่จะพูดอย่างนี้ เราสงสารเด็กนะ เด็กบอกเลยบอกว่า “โอ้โฮ.. ทำความสงบของใจนี่ก็ทุกข์ ทำอะไรก็ลำบาก.. พอไปดูจิตนี่โอ้โฮ.. มันว่างหมดเลย มันสบายหมดเลย” มันก็เป็นอย่างนี้! ธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้จริงๆ มันเป็นอย่างนี้จริงๆ เห็นไหม ก็เหมือนกับปฏิเสธพื้นที่ทำกินไง

นี่เขาต้องหาพื้นที่ทำกิน ดูสิชาวไร่ชาวเขา ดูชาวเขาเห็นไหม เขาทำไร่พื้นที่เลื่อนลอย ปีนี้เขาก็ถางป่าที่นี่ เขาก็ปลูกพืชเลื่อนลอยใช่ไหม ปีหน้าเขาไปปลูกที่นั่น เขาต้องถางป่าทุกปี เห็นไหม นี่มันลำบากไหม ไอ้นี่บอกว่าไม่ต้องทำอะไรเลย.. ไม่ต้องทำอะไรเลย... ถ้าจะทำมันต้องถางป่า หาพื้นที่ทำกิน

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เราทำความสงบของใจเข้ามา นี่มันก็ต้องลำบาก แต่เขาบอก “ไม่ต้องทำอะไรเลย อยู่เฉยๆ แล้วมันจะว่างเอง” แล้วเด็กมันก็ทำอย่างนั้นจริงๆ ไอ้พื้นที่ทำกิน นี่มันเห็นพื้นที่ มันเป็นที่ดิน มันมีพวกต้นไม้พวกต่างๆ เราต้องฟันต้องฟืน ต้องเผา นี่มันเหน็ดเหนื่อย แต่อยู่เฉยๆ ว่างๆ นี่มันสบายไง แล้วทุกคนก็บอกว่าเมื่อก่อนมันทุกข์มาก เดี๋ยวนี้มันสบายนะ นี่ของจริงนะ

ไอ้นี่มันเป็นไสยศาสตร์! มันเป็นไสยศาสตร์เลย เป็นการอ้อนวอนขอกัน เป็นไสยศาสตร์! ไม่ได้เป็นพุทธศาสตร์... พุทธศาสตร์มันต้องพิสูจน์ แล้วเด็กเดี๋ยวนี้ทุกคนพูดอย่างนี้หมด “ก็ทำแล้วมันสบายไง.. ก็มันจริงไง.. เมื่อก่อนไม่สนใจศาสนาเลย เดี๋ยวนี้ ๗ วันบรรลุนิพพานหมดนะ”

เพราะมันไปเชื่ออย่างนั้นเข้าไง พอมันไปเชื่ออย่างนั้นเข้า อันนั้นมันเป็นการปลูกสร้างศรัทธา ถ้าปลูกสร้างศรัทธาให้คนสนใจในศาสนานะ ตรงนี้ทุกคนต้องการปลุกเร้าให้คนเข้ามาในศาสนา อันนั้นเป็นการปลุกเร้าเพื่อศาสนา แต่เข้ามาแล้วนี่มันก็ต้องเข้ามาตามข้อเท็จจริงสิ พอเข้ามาในศาสนาแล้วนี่เห็นไหม

หลวงตาบอกเลยว่าศาสนาพุทธนี่บังคับทุกอย่างเลย... บอกไม่! เพียงแต่ว่าเราศรัทธา เรามีความเชื่อ เรานับถือศาสนาพุทธแล้ว เราถึงจะต้องทำตามนั้น

“สีเลนะ สุคติง ยันติ สีเลนะ โภคสัมปทา... มีศีลเป็นความปกติของใจ มีศีลเป็นโภคทรัพย์”

นี่พอมีศีลขึ้นมา เพราะเราเป็นชาวพุทธใช่ไหม เราก็ต้องมีศีลใช่ไหม พอมีศีลแล้วนี่เงินทองเหลือเฟือเลย โธ่.. ถ้าโยมเป็นเหมือนพระนะ กินข้าววันละมื้อนะ โอ้โฮ.. โยมจะมีตังค์เหลือเยอะแยะเลย อ้าว... โยมกินข้าววันละมื้อเหมือนพระนี่ วันหนึ่งกินข้าวหนเดียว เงินจะเหลือวันละเท่าไร

นี่สีเลนะโภคสัมปทา... เงินไหลมาเทมา!

นี้ไม่เชื่อนี่ ไม่เชื่อในศาสนา อ้าว... ถ้าเชื่อในศาสนานะ พระฉันมื้อเดียว อ้าว... โยมกินมื้อเดียวก็ได้ ถ้าโยมกินมื้อเดียวปั๊บนะ ทุกอย่าง.. เงินทองไหลมาเทมา ไอ้นี่โภคสัมปทา... จะให้เงินไหลมา แต่ถ้าเราประหยัดมัธยัสถ์แล้ว เงินมันก็มีมา

นี่ไงพุทธศาสตร์! แต่เราไปเอาไสยศาสตร์กัน... ไสยศาสตร์นะ อ้อนวอนขอ.. เชื่อตาม.. มันเป็นไปไม่ได้

นี่พูดถึงการทำ แล้วพอทำแล้วนี่ มันจะโงกง่วง มันมีนะ อย่างเมื่อกี้กลับไปแล้ว ที่บอกว่ามันเอียง มันโยก มันคลอนไง...

มันโยกมันคลอน ถ้าเราโยกคลอนอยู่กับมัน ความโยกคลอนนี้มันจะไปเรื่อยๆ ทีนี้พอมันโยกคลอนขึ้นมาแล้ว เราก็ตั้งสติไว้ ไม่โยกคลอนไปกับมัน พอไม่โยกคลอนไปกับมัน มันก็ต้องฝืน.. ฝืนกันอยู่พักหนึ่ง แล้วมันจะค่อยๆ เบาลง เพราะร่างกายเรามันฝืน เราตั้งสติฝืนไง จิตใจมันเคยเป็นมันก็จะโยกจะคลอน

คิดดูสิ เห็นไหม เหมือนน้ำในแก้วนี่ น้ำมันกระฉอก เราถือแก้วไว้ไม่ให้น้ำมันกระฉอก น้ำคือจิตไง จิตมันเคยโยกเคยคลอน มันก็เหมือนกับน้ำนี่ คือมันก็ไหลไปเหมือนในขวดไง มันเอียงไปเอียงมาใช่ไหม แต่แก้วคือร่างกายของเรา ถ้าเอียงไป คือพอน้ำมันเอียงแล้วขวดมันก็ไปด้วย

อ้าว... ใจมันโยกคลอน อ้าว.. ร่างกายมันก็ไปด้วย อ้าว.. เราจับขวดให้ตรงก่อน จับร่างกายให้ตรง ถ้าใจมันจะไปให้ฝืนมัน เห็นไหม มันต้องค่อยๆ ฝืน... ไอ้นี่มันเป็นกรรม อย่างที่ว่าพระสันตกายไง พระสันตกายทำไมเขาอยู่อย่างนั้นตลอดไป นอนนิ่ง... นั่งสงบเลย พระพุทธเจ้าบอกเป็นราชสีห์มา ๕๐๐ ชาติ

ข้างในมันนิ่งใน ขวดมันก็นิ่ง น้ำมันนิ่งขวดมันก็นิ่ง.. พอน้ำนิ่งขวดก็นิ่ง เขาว่าพระนิพพาน ไม่ใช่! มันก็เป็นกิเลสธรรมชาตินั่นแหละ แต่ของเรานี่เราเป็นงู เราเป็นลิง เรากระโดดข้ามเป็นลิง เห็นไหม พระสารีบุตรเป็นลิงกระโดดข้ามคลอง ไอ้พวกเรามันพวกลิงไง หลุกหลิกๆ ไง จะให้มันตรงไง เออ! หลุกหลิกเพื่อจะให้ตรงไง บังคับมัน! บังคับให้จิตนี้มันตรง

นี่พูดถึง มันมีกายกับจิต! กายมันเคยตัวแล้วนี่จิตก็ฝืนมัน.. ฝืนมัน ตั้งใจ ต้องฝึก สิ่งที่มันเคยเป็นมา จริตนิสัยนี่มันเป็นจากเวรจากกรรม จากการกระทำ ไม่ต้องน้อยใจ ใครเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ มันเป็นสมบัติเดิมทั้งนั้นแหละ สมบัติเดิมในอดีตชาติที่สร้างกันมา

พ่อแม่นี่เป็นสายบุญสายกรรม สายบุญสายกรรมเราเกิดมาจากพ่อแม่... แต่หัวใจของเรา คือเวรกรรมของเรา.. ใครสร้างอย่างไรมา ผลมันตอบสนองอย่างนั้น แล้วเราจะมาดัดแปลงมัน เพื่อเข้าสู่มรรคผลนิพพาน! เราจะมาดัดแปลงมันเพื่อเข้าสู่มรรคผลนิพพาน! ไม่มีใครดัดแปลงให้เราได้

หมอนะ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยเขายังฉีดยาได้ ถ้าธรรมะมันฉีดได้แบบไซริ้งค์นะ เราจะฉีดให้หมดเลย แต่ธรรมะมันฉีดไม่ได้ มันต้องเกิดจากการสร้างของเราขึ้นมา การกระทำของเราขึ้นมา

พูดเรื่องการสร้าง เขาบอกว่านี่เป็นการสร้าง เป็นของสมมุติ... การสร้างคือการกระทำ คือการฝึกฝน คือประสบการณ์ทางจิต! ประสบการณ์ทางจิต จิตมันรู้ถูกรู้ผิด จิตมันบอกว่าถ้าทำอย่างนี้นะเราจะทุกข์จะยาก

ดูอย่างหลวงตาสิ ท่านบอกว่าท่านอดอาหาร จนจะลงไปบิณฑบาตนี่ไปไม่ถึงเลย ใจมันเถียงกันเลย เห็นไหม ท่านทรมานขนาดนั้นเลย ทรมานจิต ทรมานกิเลสไง แล้วของเราจะทำนี่ ถ้าเราเห็นผลของมัน เราจะทรมานมัน เราจะสู้กับมัน เราจะแก้ไขมัน... ถ้าเราแก้ไขมัน นี่เราจะแก้ไขในปัจจุบันนี้ แล้วเราจะถึงที่สุดได้

ฉะนั้นมันจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ ที่มันเป็นของมันไปนี้ เราไปดูไง นี่เพราะประสบการณ์เรายังน้อยไง เราก็ไปดูที่การกระทำว่า เออ.. ทำอย่างนี้ๆ

การกระทำนี่มันเป็นเปลือก แต่ความจริงนี่เป็นสติปัญญามันเป็นนามธรรมอยู่ข้างใน นี้การกระทำอยู่ข้างใน นี่ถ้ามันเห็นนะ นี่มันอยู่ที่การกระทำใช่ไหม บางทีเดินเร็วเดินช้า บางทีเดินเร็วมาตลอด มันเหมือนกับเราฝึกมาตลอด พอฝึกมาตลอดนี่จิตมันชักเริ่มทวนกระแสกลับแล้ว... พอทวนกระแสกลับ คือเรามาเดินช้าแล้วมันลงพอดีไง ก็บอกว่า โอ้โฮ.. ช้าแล้วมันสงบ เร็วมันไม่สงบ

แต่ความจริงมันกลมกล่อมมา เห็นไหม เวลาเราเดินจงกรมสักพักหนึ่ง แล้วเรามานั่งสมาธิ บางคนเดินจงกรมก่อนแล้วค่อยนั่งสมาธิ บางคนนั่งสมาธิก่อนแล้วค่อยมาเดินจงกรม

หลวงปู่ขาวท่านมีทางจงกรม ๓ เส้น เช้าฉันข้าวเสร็จท่านจะเดิน ๒ ชั่วโมง ถวายพระพุทธ... กลางวันเดินอีก ๒ ชั่วโมง เส้นกลางถวายพระธรรม... อีกเส้นหนึ่ง เดินถวายพระสงฆ์...

หลวงปู่ขาวมีทางจงกรม ๓ เส้นนะ! เส้นหนึ่งถวายพระพุทธเจ้า... อีกเส้นหนึ่งถวายพระธรรม... อีกเส้นหนึ่งถวายพระสงฆ์... ท่านมี ๓ เส้น ท่านเดินทุกวัน ๓ เส้น วนตลอด

นี่พระอรหันต์นะ! แล้วเราเป็นใคร! นี่ความเพียรชอบ...

ฉะนั้นการเดินจงกรม การนั่งสมาธิของเรา เราดูใจของเรานี่ เพราะกิริยานะ ถ้าเดินจงกรม นั่งสมาธิเป็นภาวนา แล้วคนที่แบบว่า โทษนะ คนที่พิการเขาทำอย่างไรล่ะ คนพิการก็ไม่เป็นไร เพราะยืน เดิน นั่ง นอน... นอนก็ภาวนาได้

ฉะนั้นถ้าพวกที่เขาเดินไม่ได้เลยนี่ อย่างเช่นหลวงปู่เขียน เห็นไหม ไปนอนอยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น ๒๐ กว่าปี เกือบ ๓๐ ปีเลย นอนเฉยๆ เกือบ ๓๐ ปีนะ เผาศพมาเป็นพระธาตุ เพราะท่านทำอะไรไม่ได้เลย ท่านเป็นอัมพฤกษ์ นอนอยู่โรงพยาบาลศูนย์เกือบ ๓๐ ปีเลย ท่านไม่ได้เดินเลย ไม่ได้เดินไม่ได้นั่งเลย ท่านเป็นพระอรหันต์ได้อย่างไรล่ะ

ทีนี้ไอ้การเดินการนั่งของเรานี่มันเป็นกิริยา! กิริยาการฝึกจิต การเดินการนั่งทุกอย่างเพื่อฝึกจิตเรา ฝึกใจเรา ให้ใจมันมีประสบการณ์ของมัน แล้วเราทำของเราขึ้นมา ใครจะบอกว่าอันไหนง่าย อันไหนสะดวก นี่เอ็งทำไปเถอะ แล้วเราทำของเราไป แล้วกาลเวลามาพิสูจน์กัน ถึงที่สุดแล้วใครจะได้มากได้น้อย เอาตรงนี้

เราบอกว่าการทำความสงบของใจ จะยากก็ยอมรับว่ายาก... จะยากก็ต้องว่ายาก เพราะมันเป็นความจริง เราทำความเป็นจริง แล้วความจริงนี้จะทุกข์จะยากก็คือความจริง ถ้าจะเอาความสะดวกสบายนี่มันเป็นความจอมปลอม มันเป็นการคิดขึ้นมา เว้นไว้แต่ที่บอกว่าขิปปาภิญญา คือผู้ที่ปฏิบัติง่ายรู้ง่ายนี่ยอมรับ แต่ผู้ที่ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย เมื่อชาติที่แล้วนี่เขาทุ่มทั้งชีวิตเลย

เหมือนกับคนที่ปฏิบัติทั้งชีวิตเลย แล้วตายไปโดยที่ยังไม่ได้ผลไง พอมาชาตินี้ไอ้นั่นมันจะส่งมา เขาปฏิบัติมาถึงวิกฤติจนเอาตัวไม่ได้ คือไม่ทะลุไง แล้วดับขันธ์ไป แล้วมาเกิดในชาตินี้ ส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย คือว่าทุกข์ยากมาแต่ก่อน แล้วมาปัจจุบันนี้มันพอไปได้ ไอ้อย่างเรานี่มันกระดิกเท้ามาตั้งแต่ชาติก่อนไง ชาตินี้ก็ต้องกระดิกกันไป ก็ต้องสู้! ต้องสู้

เราไม่ปฏิเสธเรื่องยากเรื่องง่ายนะ แต่เราเอาข้อเท็จจริง คือเราต้องการคนที่ทำจริงแล้วรู้จริง จะยากก็ให้มันยาก แล้วได้จริงรู้จริง.. จะง่ายก็ให้มันได้รู้จริง..

เราไม่ได้ปฏิเสธการรู้ง่ายเห็นง่าย การรู้ยากเห็นยาก ไม่ปฏิเสธ.. แต่ที่ปฏิเสธ คือปฏิเสธว่ามันถูกหรือผิด... จริงหรือปลอม... ตรงนี้!

จริงหรือปลอม ถ้ามันจริงนะ แล้วถ้าคนปฏิบัติง่ายรู้ง่ายจริงนะ เขาก็ไม่สอนให้คนอื่นทำอย่างนั้น เพราะมันทำยากเพราะอะไร เพราะในมหายานในเซนน่ะ เวลาเราปฏิบัติกัน เขาบอกเขาพูดกันว่าลัดสั้นๆ แต่เขาปฏิบัติกันหนักหน่วงมาก ในมหายานไปเปิดดูในตำราสิ เขาภาวนากันนะ เขาใช้กำลังกันเลยล่ะ เขาเอากระบองตีกันเลยล่ะ เขาเอากันจริงจัง เขาเอาจริงจังขนาดนั้น ไอ้คำพูดมันเป็นโวหาร แต่เวลาเขาทำเขาทำจริงๆ

เราพูดนี้เราพูดเพื่อต้องการความจริง เราไม่ต้องพูดให้ใครมาเยินยอ แบบว่าหลอกลวงกัน แบบว่ามายกยอปอปั้นกัน เราต้องการของจริง จะยากจะง่ายให้มันจริง ของเราก็เหมือนกัน เราจะยากจะง่ายก็ให้มันจริง

เราเกิดมาโดยชีวิตจริงๆ นี่สมมุติจริงๆ เป็นอย่างนั้นจริงๆ แล้วทำจริงๆ เพื่อผลประโยชน์จริงๆ ใครจะว่าจะง่ายจะยาก มันเป็นเรื่องของเขา ถ้าเราปฏิบัติได้ง่ายรู้ง่าย นี่มันก็ดี... ถ้าปฏิบัติง่ายแล้วเราไม่ได้ล่ะ ปฏิบัติยากแล้วเราได้ เราก็เอายากไว้ก่อน ถ้าปฏิบัติง่ายก็ไม่ได้ ยากก็ไม่ได้ ก็ให้ปฏิบัติ เพราะมันเป็นการสร้างภูมิปัญญา มันสร้างปฏิภาณไง

ทาน ศีล ภาวนา... ภาวนาเป็นการสร้างบุญกุศล เราก็สร้างของเรา จะไม่ได้ก็สร้าง! สร้างเพื่อให้มันถึงที่สุด เพื่อให้มันเป็นไป เพื่อเราจะมีโอกาสเพื่อปฏิบัติของเรา เพื่อจิตเรานี่ จิตที่ไม่เคยตายนี่ มันตายจากชีวิตนี้มันไม่ตาย มันก็หมุนของมันไปอีก ถ้าเราสร้างไว้ตอนนี้ มันก็จะได้ผลที่มันไปเกิดอีกข้างหน้าไง

มันต้องได้ผล! ทำดีต้องได้ดีสิ ในเมื่อปัจจุบันนี้เราปฏิบัติ เราทำความดีที่สุด พยายามสร้างที่สุด ถ้ามันไม่ถึงที่สุด ถ้ามันยังไม่ได้ผลดี แต่มันได้สร้างของมันมาแล้ว มันมีเหตุของมันมาแล้ว นี่มันต้องได้รับผลของมัน!

นี่ไงนาย ก. ทำความชั่วไว้ เวลาไปเกิดเป็นนาย ข. ไปนอนทุกข์ยากเลย นาย ข. ไม่ได้ทำเลย แต่ทำไมทุกข์เหลือเกินล่ะ ก็นาย ก. มันทำไว้ใช่ไหม ก็ไปบ่นกันว่าทุกข์ยาก

นี้นาย ก. มันทำความดีไว้จนเกือบเป็นเกือบตาย แล้วนาย ก. มันตายไป นาย ก. ไม่ได้อะไร พอไปเป็นนาย ข. นาย ข.ไปนั่งภาวนา ๒ ทีเป็นพระอรหันต์เลย อ้าว... แล้วนาย ข. เป็นพระอรหันต์ แล้วนาย ก. นี่สร้างมาเกือบตาย แต่นาย ก.ไม่ได้อะไรเลย

แต่นี่มันเป็นจิตดวงเดียวกันไง จิตของนาย ก. ตายจากนาย ก. ไป นาย ก.ไม่มีแล้ว เพราะมันเป็นอดีตไปแล้ว จิตนาย ก.ไปเกิดเป็นนาย ข.

นี่ไงจิตมันไม่เป็นนิรันดร์หรอก! จิตมันเวียนตายเวียนเกิดตลอดเวลา ไม่มีนิรันดร์หรอก! แล้วถ้าไม่มีมรรคญาณมาแก้ไขนะ มันไม่มีวันสิ้นสุดนะ มันจะหมุนของมันไปตลอดอนันตกาล มันเป็นวัฏฏะ แต่เวลามีมรรคมีผลมาทำลายมันแล้ว นี่มันเป็นวิวัฏฏะ มันจะไม่หมุนไปในวัฏฏะ เห็นไหม เวลาพระอรหันต์นี่จิตใจครอบสามโลกธาตุ มังกรมันอยู่บนอากาศ มันม้วนตัวของมันได้ตลอดไปเลย

นี่จิตมันพ้นสามโลกธาตุ.. เพราะจิตนี้มันเคยเกิดเคยตายในวัฏฏะ แล้วมันพ้นจากวิวัฏฏะไป นี่มันใหญ่โต มันครอบสามโลกธาตุไง! เอวัง