เทศน์เช้า วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เรื่องวินัยกรรมมันเป็นพระวินัย พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ พระในสมัยพุทธกาลไปฉันถั่วเขียว ไปฉันเมล็ดพืช แล้วไปถ่าย ถ่ายแล้วมันเกิดอีกไง พอเกิดอีกนี่มีความรังเกียจ ไม่ยอมฉัน เวลาโยมมาใส่บาตร พระไม่ยอมฉัน พอพระไม่ยอมฉัน พระไปฟ้องพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าถามพระ เหตุผลที่ไม่ยอมฉันผลไม้นั้นเพราะเหตุไร
เพราะเวลาฉันไปแล้ว ถ่ายแล้วมันยังเกิดได้อีก
นี่เวลาภิกษุพรากของเขียว เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ฉะนั้น ถ้าภิกษุ นี่เขาเรียกพืชคาม ภูตคาม คือว่าไม้ที่มันเกิดตามปล้อง ตามตา ต้องกัปปิยะ หมายถึงว่า โยมเอามาให้พระนี่มีความตั้งใจมาให้แล้ว ถ้าของไม่ได้ประเคน พระฉันนี่เป็นอาบัติปาจิตตีย์ แต่ของนั้นประเคนแล้ว แต่มันยังเกิดได้อีก ถ้าพระฉัน พระไม่ทำกัปปิยะก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์เหมือนกัน ต้องทำกัปปิยะไง
ของนี่เอามาให้แล้วใช่ไหม มันยังเกิดอีก พระพุทธเจ้าอุบายมหาศาลเลย บอกว่า ถึงสิทธิเขาจะได้เกิดอีก แต่เจ้าของเขาเอามานี่ คนที่หามานั้นเป็นเจ้าของ ถึงบอกว่า ของสิ่งนี้สมควรแก่ภิกษุไหม กปฺปิยํ กโรหิ ของสิ่งนี้สมควรแก่ภิกษุไหม
แล้วผู้เป็นเจ้าของบอกว่า กปฺปิย ภนฺเต ของเป็นกัปปิยภัณฑ์ ของนี้สมควรแก่ภิกษุมาก เห็นไหม เอามาถวายแล้วชั้นหนึ่ง เอามาประเคนนี่มันถวายด้วยกาย แต่ต้องถวายด้วยใจอีกชั้นหนึ่ง นี่เป็น ๒ ชั้นขึ้นมา ถึงฉันอันนี้แล้วพระพุทธเจ้าให้ทำอย่างนั้นไง
วันนี้เป็นวันขึ้นปีใหม่ วันปีใหม่ทุกคนอยากเป็นคนดี อยากได้ทำของที่ดี สิ่งที่จะเป็นของดี ดีนี้อยู่ที่การประพฤติปฏิบัติ นี่ของเราจะดีโดยตนเองไม่ได้ คนเกิดมาแล้วดี เราไม่ต้องมีการศึกษา ไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงมันก็ดีเอง คนเราเกิดมาจะดีได้มันต้องมีการศึกษา มันต้องมีการประพฤติปฏิบัติ มันต้องมีการดัดแปลงตน การจะดัดแปลงตนนี่ต้องหาผู้ที่รู้จริงไง ถ้าผู้ที่รู้จริงจะชี้ให้เห็นตามความเป็นจริง
อย่างเช่นอาหารนี่ เราบอกว่าอาหาร กินอาหารให้ครบหมู่แล้วร่างกายจะเจริญ ร่างกายจะสมบูรณ์ ถ้ากินอาหารไม่ครบหมู่ ร่างกายจะอ่อนแอ นี่เวลาคิดกันไปอย่างนั้น ต้องกินให้ครบหมู่ แล้วอย่างเด็ก เด็กก็กินนม พอกินนมแล้วร่างกายจะสมบูรณ์ แต่เรื่องของพ่อค้า เรื่องของธุรกิจ เขาก็เอาน้ำตาลไปปนกับนม เห็นไหม เด็กกินนมแล้วก็ฟันผุ เด็กกินนมแล้วร่างกายมันก็ไม่สมบูรณ์
อาหารที่เป็นนมมันก็สมบูรณ์ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่สะอาดบริสุทธิ์มาก หลวงปู่มั่นพูดไว้ในมุตโตทัย ธรรม ถ้าสถิตในหัวใจของพระอรหันต์ สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่สะอาดบริสุทธิ์ทั้งหมด
ธรรมนั้นสถิตในหัวใจของปุถุชน สถิตในหัวใจของเรา เราคิดขนาดไหน เราคิด เราตีความขนาดไหนมันก็เปื้อนไปด้วยปุถุชน เปื้อนไปด้วยกิเลส เหมือนกับนม นมมันเป็นคุณประโยชน์อยู่ แต่พ่อค้าเขาก็ต้องการกำไรของเขา เขาต้องการดึงลูกค้าของเขา เขาเอาน้ำตาลปนไปเพื่อจะให้เด็กกินแล้วมันติดของมัน มันพอใจ มันอร่อยของมัน มันกินของมัน แต่ร่างกายมันก็เป็นไป
นี่เหมือนกัน ถ้าธรรมวินัยนี้ ถ้าสถิตในใจของผู้บริสุทธิ์ในทางบริสุทธิ์ การประพฤติปฏิบัติของเรานะ สัตว์ วัว เราจะใช้งานมันเราต้องเอามาหัดคราดหัดไถ ถ้าวัวไม่หัดคราดหัดไถมันก็เป็นวัว วัวมันก็เป็นวัวอย่างนั้น คุณประโยชน์ของมันคือร่างกายของมัน เวลามันตายไปนี่เนื้อของมัน หนังของมันเป็นประโยชน์ทั้งหมดเลย แต่ถ้ามันจะให้มันไถนาเป็น มันต้องฝึกมัน ต้องจับมันมาไถนาเหมือนกัน
ในการประพฤติปฏิบัติเราก็เหมือนกัน ถ้าเราประพฤติปฏิบัตินะ ตรงต่อธรรม ตรงต่อหลักความจริง ถ้าเราทำตรงต่อหลักความจริงนี่เป็นคนดี คนดีเกิดจากการประพฤติปฏิบัติ ทางโลกเป็นคนดีของโลก พ่อแม่สั่งสอนลูก ลูกอยู่ในโอวาทของพ่อแม่ สิ่งนี้เป็นความดีหมด แต่ทำไมมันไม่สมความปรารถนาของทุกๆ คนล่ะ? เพราะมันมีกิเลส เพราะมันมีจริตนิสัย กรรมอันนั้นสะสมมาไง ถ้าบุตรของเรา ลูกของเรามีกรรมดีกับเรามา สิ่งนั้นจะเชื่อฟัง จะอยู่ในโอวาทของเรา แต่ถ้ามีกรรมมานะ สิ่งนั้นจะขัดไป
กิเลสก็เหมือนกัน อยู่ในหัวใจนี่ เราอ่านธรรมของพระพุทธเจ้าเราก็ตีความของเราไป ถ้าเรามีความเห็นถูกต้องมันก็เข้าทาง เข้าทาง เห็นไหม หลวงปู่มั่นไม่มีครูไม่มีอาจารย์นะ ธรรมวินัยก็มีอยู่ เวลาประพฤติปฏิบัติไปมีความขัดข้องใจ ไปถามหลวงปู่เสาร์นะ หลวงปู่เสาร์บอกว่า เราก็ไม่รู้ ต้องให้ดัดแปลงตนเอง
เพราะคนที่เกิดมามีอำนาจวาสนามีบารมี เหมือนลูกของเรา เกิดมาลูกเป็นคนดี มันจะใฝ่ดีแล้วมันจะหาดี อันนี้เป็นวิถีทาง การประพฤติปฏิบัติ มรรคอริยสัจจังนี้เป็นวิถีทาง วิถีทางไม่ใช่ผลของมันนะ ผลของมัน วิถีทาง เราเถียงกันเรื่องวิถีทาง วิถีทางของใครถูกต้องๆ การประพฤติปฏิบัติแบบหลวงปู่มั่น กำหนดพุทโธๆ ไปแล้วจะเกิดนิมิต เกิดนิมิตนั้นเป็นการติดนิมิต เป็นการผิดไป เห็นไหม
การเกิดนิมิตเหมือนกับเด็ก เหมือนกับเรานี่ เรากินอาหาร เราชอบอาหารรสนั้นๆ คนอื่นกินนี่ไม่ชอบก็ได้ นิมิตไม่เกิดทุกคนหรอก คนมีอำนาจวาสนามันจะเกิดนิมิต เกิดนิมิตขึ้นมาแล้วมันจะไปติดนิมิตนั้น อันนั้นเป็นทางเนิ่นช้า นี่วิถีทาง ไม่ใช่ผลลัพธ์ ผลลัพธ์มันเป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี
แต่ถ้าวิถีทาง เขาว่า นี่คือวิถีทาง นี่คือการประพฤติปฏิบัติ แต่ไม่มีผลลัพธ์ ผลลัพธ์จะเกิดขึ้นไม่ได้เพราะมันกึ่งพุทธกาลแล้ว ไม่มีพระอรหันต์ มรรคผลไม่มี ถ้ามรรคผลไม่มี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ เห็นไหม พระศรีอริยเมตไตรยจะตรัสต่อไป
๒,๕๐๐ ปีแล้วจะไม่มีมรรคผล แล้ว ๕,๐๐๐ ปีผ่านไปแล้ว จนหมดกัปนะ จนพระศรีอริยเมตไตรยมาตรัสรู้อีก อันนั้นมันเกี่ยวกับกาลเวลาไหม? กาลเวลาไม่เกี่ยวกับมรรคผลนิพพาน แดด เวลาพระอาทิตย์ขึ้นนี่แดดร้อนตลอดไป สัจธรรมมีอยู่ สัจธรรมจะเป็นความจริงอย่างนั้นตลอดไป
พระอานนท์ถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เมื่อไหร่มรรคผลนิพพานมันจะหมดกาลหมดสมัย
ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม พระอรหันต์จะไม่ว่างจากโลกนี้เลย
เพราะเมื่อศาสนานี้ไม่มี พระปัจเจกพุทธเจ้าก็มาตรัสรู้ได้ พระปัจเจกพุทธเจ้าไม่มีศาสนา แต่ก็ต้องค้นคว้าด้วยตัวเอง แต่ไม่มีบัญญัติไง
สิ่งที่เป็นสมมุติคือเราคุยกันโดยสมมุติ บัญญัติคือพระไตรปิฎก เป็นบาลี นี่บัญญัติ บัญญัติสิ่งนี้มา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้วบัญญัติขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ อายตนะ ๑๖ เพื่อจะเอาบัญญัตินี้มาสื่อกัน เห็นไหม สมมุติบัญญัติ บัญญัติอันนี้ไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่างกับพระปัจเจกพุทธเจ้าตรงนี้ไง
พระปัจเจกพุทธเจ้าไม่มีบัญญัติ จะสื่อก็สื่อกันได้วงแคบๆ เหมือนกับไม่มีภาษา ภาษานี่ภาษาใจ แต่เวลาสื่อออกไปนี่สมมุติมันสื่อไม่ได้ แต่ถ้าเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยไว้คือบัญญัติ บัญญัตินั้นเราก็เอาสิ่งนี้เป็นแผนที่ดำเนิน แต่เวลาเราเอาบัญญัติมาเทียบเคียง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางอันนี้ไว้ ศาสนามันถึงเป็นไปได้ พระปัจเจกพุทธเจ้าวางอันนี้ไม่ได้ ถึงว่าสอนกันไม่ได้...สอนได้ สอนได้ในขณะที่ปัจจุบันธรรม คือธรรมของพระปัจเจกพุทธเจ้า เหมือนผู้ใหญ่สอนเด็ก จะใช้วิธีการอย่างไรให้เด็กเข้าใจนี่เป็นไปได้ แต่จะสอนให้คนอื่นไปสอนต่อไปนี่เป็นไปไม่ได้
แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางบัญญัติไว้ เห็นไหม พระอานนท์เป็นพระโสดาบัน สามารถสอนให้ภิกษุเป็นพระอรหันต์มากมายเลย เพราะอะไร เพราะจำธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ถึงจะไม่เข้าใจก็พอสอนได้ นี่สอนได้เพราะเป็นพหูสูต เห็นไหม รู้มาก การศึกษาเล่าเรียนมามาก
แต่ของเราปัจจุบันนี้เราเอาบัญญัติมา วิถีทาง สิ่งที่เป็นวิถีทางแล้วติดในวิถีทางนั้น แล้วผลมันไม่มีไง เพราะอยู่ในวิถีทาง เห็นไหม เราก้าวเดินออกไป เราอยู่กับที่นี่เราอยู่กับที่ เราเริ่มก้าวเดินไปบนถนนหนทาง เราจะมีความภูมิใจมากว่าจิตของเราได้ขยับออกไป เราได้ก้าวเดินออกไปตามทางนั้น จะมีความสุขมากๆ นี้เป็นความสงบของใจ
สัมมาสมาธินี้คือวิถีทาง นี้ไม่ใช่มรรคผล นี้ไม่ใช่ผลลัพธ์ ผลลัพธ์จะเกิดขึ้นจากข้างหน้านะ ผลลัพธ์จะเกิดขึ้นจากข้างหน้าต่อเมื่อเราดัดแปลงตนให้จิตนี้สงบขึ้นมา แล้วเรายกขึ้นวิปัสสนาได้ ยกขึ้นวิปัสสนาหมายถึงว่าผู้ที่วิปัสสนาเป็น ถึงจะเป็นวิปัสสนาไง แต่ของเราว่าสรรพสิ่งต่างๆ นี้เป็นวิปัสสนา...ไม่ใช่ ถ้าสรรพสิ่งนี้เป็นวิปัสสนานะ ไอน์สไตน์มันเป็นไปแล้ว ไอน์สไตน์เขาคิดสูตร เขาสนใจทฤษฎี
ทฤษฎีสัมพันธ์นี้มันเป็นปฏิจจสมุปบาท อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ ทฤษฎีสัมพันธ์คือความสัมพันธ์ไป แต่เขาบอกว่าเขาไม่เข้าใจถึงการระเบิดของมัน เขาเข้าใจแต่ทฤษฎีสัมพันธ์นั้น แต่เขาไม่เข้าใจจุดระเบิด เขาบอกถึงจุดระเบิดนั้นไม่ได้ เห็นไหม
อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ นี่ปัจจยาการของจิตถ้ามันรวมตัวขึ้นไป อวิชชารวมตัว มรรคญาณมันจะเกิดอย่างไร มันระเบิดอย่างไร มันจะทำลายตัวมันเองอย่างไร มันจะปล่อยวางกิเลสอย่างไร จิตเจริญเข้ามาอย่างไร มันปล่อยวางสิ่งต่างๆ ไว้ตามความเป็นจริง เห็นไหม นี้คือผลลัพธ์ไง แต่วิถีทางการดำเนินไปมันจะผิดถูก มันยังเป็นอีกมหาศาล ความผิดความถูกนี้เกี่ยวกับจริตนิสัย
จะเห็นว่ากำหนดพุทโธๆ จิตสงบแล้วติดนิมิต ถ้าใครไปติดนิมิต เหมือนกับรสอาหาร ติดในรสอาหารก็ต้องเสพรสอาหารนั้นมาก ร่างกายจะบวม ร่างกายจะไม่สมบูรณ์ นั่นเพราะเสพรสอาหาร แต่ก็สามารถพลิกแพลงได้ไง วิธีการที่เข้าไปนะ อาหารเป็นประโยชน์กับร่างกายทั้งนั้น แต่ถ้าใครกินมากเกินไป เห็นไหม ชูชกกินจนท้องแตกตาย เพราะอะไร เพราะอาหารไง เราว่าอาหารเป็นประโยชน์ๆ แต่ถ้ากินมากเกินไปก็เป็นโทษ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้พระฉันอาหารเหมือนกับหยอดน้ำมันแค่ล้อเกวียนให้เพื่อเคลื่อนไหวไปได้เท่านั้น เพื่อดำรงชีวิตไว้ไง
ปัจจัย ๔ สิ่งที่เกิดขึ้นต่างๆ นี้เป็นสมมุติบัญญัติทั้งหมด มันจะวนเวียนไปทำไม วนเวียนไปในธรรมชาติของมัน ถึงที่สุด จิตวิมุตติไป พ้นจากสมมุติ พ้นจากบัญญัติ นั่นคือผลลัพธ์ สิ่งนี้เกิดขึ้นจากผู้รู้จริง ถ้าผู้รู้จริงจะชี้เข้ามาตามความเป็นจริง แล้วจะเห็นว่าสิ่งที่ก้าวเดินนั้นเป็นวิถีทาง
วิถีทาง เห็นไหม อย่าไปยึดวิถีทางเป็นผลลัพธ์สิ ถ้ายึดวิถีทางเป็นผลลัพธ์ เราจะไปไม่ถึงผลลัพธ์นั้น เรานี่เสร็จออกจากศาลานี้ ทุกคนนึกว่ากลับบ้านแล้วไม่เดินไป เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเดินไปแล้วยึดสิ่งต่างๆ บนถนนก็เป็นไปไม่ได้ การเดินไปนี่มันเป็นไปตามธรรมชาติของมัน จริตนิสัยมันไม่มีสูตรสำเร็จ
พระครูบาอาจารย์จบเปรียญ ๙ ประโยค ไปถามหลวงปู่ฝั้น ผมนี่เรียนมาก ผมนี่รู้มาก พระพุทธเจ้าสอนทุกอย่าง ผมรู้หมดเลย แต่ผมทำไม่ถูก ผมทำไม่เข้าใจ ผมไม่รู้จะทำอย่างไร เริ่มต้นไม่ถูกเลย
ในพระไตรปิฎกนี้ เปรียญธรรม ๙ ประโยค จะเรียนจบหมด จะบทไหน จะบาทไหน จะบรรทัดไหน อยู่วรรคไหน จะจำได้หมดเลย แล้วรู้วิธีการมากมายเลย แต่เอาตัวรอดไม่ได้ เห็นไหม ไปถามหลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ฝั้นบอกว่า ทุกข์มันอยู่ที่ไหน ความรู้สึกมันอยู่ที่ไหน ความรู้สึกที่กระทบใจอยู่ที่ไหน เอาตรงทุกข์นั่นน่ะ เอาตรงความรู้สึกนั่นน่ะ จับตรงนั้นเป็นตัวตั้ง ตัวที่ตั้งขึ้นมา
ท่านจะสอนใครนั่นเป็นเรื่องของท่าน ท่านสอนมหาศาลเลย เพราะอะไร เพราะสอนพระโมคคัลลานะก็ไปอย่างหนึ่ง สอนพระสารีบุตรก็ไปอย่างหนึ่ง ปัญญาวิมุตติ ผู้ที่มีปัญญามาก สอนด้วยปัญญานี่มันจะปฏิเสธ เห็นไหม ต้องสอนวิธีการให้ปัญญานั้น ให้จิตนั้นเข้าไปหยิบสิ่งต่างๆ แล้วเข้ามาวิปัสสนา นั้นเป็นปัญญาของเขา
ดูพระในสมัยพุทธกาลเดินไปจะถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปถามปัญหา ไปถึงใต้กุฏิน่ะ เห็นน้ำหยดลงมา ฝนมันตกน้ำนองไป แล้วฝนมันหยดมาเป็นฟองเป็นต่อมแล้วมันแตก แต่ตัวเองมันมีปัญหาอยู่ สิ่งนี้มันย้อนกลับเลยนะ นี่ต่อมน้ำ น้ำจากหลังคาชายคาหยดลงไปเกิดต่อมน้ำ ต่อมน้ำแตกขึ้นไป มันเกิดดับๆ สภาวะสิ่งกระทบ เห็นไหม นี่ปัญญามันย้อนกลับ ย้อนกลับเข้าไปในใจ หลุดเดี๋ยวนั้นนะ ชำระเดี๋ยวนั้น ขาดเดี๋ยวนั้น ใจสำเร็จเดี๋ยวนั้นขึ้นมา เห็นไหม นี่ผลลัพธ์อันนี้มันเกิดขึ้นมาจากวิถีทางอันนั้นน่ะ ทางที่จะขึ้นมา
ทุกข์อยู่ที่ไหน กำหนดที่นั่น ถ้าเราเปิดใจ ใจเรามีหลักเกณฑ์ สภาวะเป็นธรรมทั้งหมด พิจารณาอะไรเป็นธรรมทั้งหมด เขาทะเลาะกัน เขาฆ่ากัน มันจะย้อนกลับมานะ สลดสังเวช เป็นธรรมทั้งหมดเลย แต่ถ้าไม่มีธรรมนะ สิ่งที่เกิดขึ้นมีอำนาจเหนือใจทั้งหมด บังคับใจทั้งหมด
เศร้า เห็นไหม เวลาโลกเศร้าใจเสียใจ ความเศร้าใจ แต่เวลาประพฤติปฏิบัติมันไม่ใช่เศร้าใจเสียใจอย่างนั้น มันเห็นแล้วมันเป็นธรรมสังเวช มันสลด มันสังเวช แล้วมันจาคะ มันสละออก แต่ของเรานะ เศร้าแต่สละไม่ได้ เศร้า เห็นไหม เห็นรถชนกัน เห็นสภาวะต่างๆ เห็นแล้วกินเนื้อไม่ได้เลย กินอะไรไม่ได้ มันจะอาเจียนมันจะอะไร นี่โลกมันเป็นอย่างนั้น โลกียะจะเป็นอย่างนั้น มันสละออกไม่ขาด
แต่ถ้าเป็นโลกุตตระนี่ถึงต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา
สมาธิ ปฏิเสธไม่ได้ ถ้าสมาธิปฏิเสธ มันจะเป็นโลกียะ เป็นปัญญาสามัญ เป็นสามัญสำนึก เป็นปัญญาสามัญมันอย่างนั้น แต่ถ้ามีสมาธิเข้ามานี่มันจะเป็นโลกุตตระ มันจะเป็นภาวนามยปัญญา ไม่ใช่ปัญญาสามัญ ปัญญาสามัญคือปัญญาในโลก หมุนอยู่ในโลกนี้ พ้นจากโลกไปไม่ได้
ภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นมาจากใจแล้วมันจะชำระกิเลส มันจะขาดออกไปจากใจ อันนี้มีอยู่ในมรรคอริยสัจจัง ในอริยสัจนี้เท่านั้น เอวัง