ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

วิญญาณในขันธ์

๒๕ ก.ค. ๒๕๕๒

 

วิญญาณในขันธ์
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

โยม ๑ : จะตั้งเอาไว้ที่ประมาณนี้ครับ ก็จะบริกรรมพุทโธๆๆ ไป คือพยายามที่จะมีสติ หรือบางครั้งมันก็เห็นว่าจริงๆ คำบริกรรมมันก็อยู่ในหัว บางทีมันก็พยายามที่จะมาอยู่ที่ตรงกลางตรงนี้ ผมอยากจะเรียนถามท่านอาจารย์ หลวงพ่อว่า “เราควรจะต้องมีที่ตั้งให้มันเป็นหลักเป็นแหล่งไหม? หรือว่ามันแล้วแต่ว่ามันจะไปอยู่ตรงไหน”

หลวงพ่อ : เป็นหลักเป็นแหล่ง แต่ว่าที่ไหนก็ได้ไง คำว่าที่ไหนก็ได้ มันอยู่ที่..

เวลาหลวงตาท่านสอน หลวงตาท่านบอกเอาไว้ที่ปลายจมูกใช่ไหม เพราะบางทีถ้าพวกใหม่ๆ เราพุทโธพร้อมกับลมหายใจเข้าออก หายใจเข้านึกพุทโธ ท่านเปรียบเหมือนว่าปลายจมูก หรือว่าที่จุดใดจุดหนึ่ง กลางหน้าอกก็ได้.. กลางหน้าอกก็ได้.. จุดใดจุดหนึ่ง

ทีนี้เปรียบเหมือนปากประตูบ้านเรา ถ้าเรารักษาที่ปากประตูบ้าน เวลาคนเข้าคนออกเราจะเห็น

แต่บางคนบอกว่าลมหายใจเข้าให้ตาม ท่านบอกไม่ต้องตามก็ได้ เพราะมันเคลื่อนที่

อันนี้อย่างของโยม.. ท่านบอกว่า “เดี๋ยวก็อยู่บนหัวก็ได้ บนศีรษะก็ได้ ตรงหน้าอกก็ได้” ทีนี้จุดใดจุดหนึ่ง เพียงแต่นี่ทำไมมันย้ายล่ะ? มันย้าย.. เดี๋ยวก็รู้สึกที่บนศีรษะ เดี๋ยวก็อะไร.. ถ้าอย่างนี้ปั๊บ มันเหมือนมีประเด็นขึ้นมา

โยม ๑ : ใช่ครับ

หลวงพ่อ : (หัวเราะ) เราเองสงสัย เพราะเรามันมีประเด็นขึ้นมาใช่ไหม ว่าเราควรที่ไหน

เราจะบอกว่า “กิเลสเราเองมันหลอกเรา”

ธรรมดาของเรา แล้วเราตั้งไว้ที่ไหน มันก็ควรอยู่ที่นั่นใช่ไหม ทำไมมันเคลื่อนไปเคลื่อนมาล่ะ? เดี๋ยวอยู่บนศีรษะ เดี๋ยวมาอยู่ที่นี่ปั๊บ พอกิเลส.. คำว่า “กิเลสมันหลอกเรา” เหมือนเราตั้งใจทำสิ่งใดปั๊บ ถ้าเราไม่ได้ตั้งใจทำสิ่งใดนะ ไอ้ของที่ทำมันง่ายๆ พอตั้งใจทำปั๊บนะ มันมีปัญหาทันทีเลย

ไอ้กิเลสเรานี่ ฉะนั้น ถ้าเราเอาใหม่ เราวางไว้ที่ไหน ที่ไหนก็ได้ แล้วตั้งสติตามพุทโธไว้ ถ้ามันเคลื่อนไปแล้ว แบบมันอยู่ที่ไหน ถ้าเราจะไปจับปั๊บ มันจะกลับอีก ตรงไหนก็ได้ ตามรู้มันไป

หลวงตาท่านใช้คำนี้ คำว่า “ให้อยู่กับสติ อยู่กับผู้รู้ ไม่เสีย”

ผู้รู้ หมายถึงว่า ถ้าไปอยู่บนศีรษะก็เป็นผู้รู้ ผู้รู้รู้ตรงนั้น อยู่กลางหน้าอก เราก็รู้ ผู้รู้ก็อยู่ที่นั่น เหมือนกับรู้ตรงนั้นใช่ไหม ผู้รู้ใช่ไหม “อยู่ที่สติ อยู่กับผู้รู้ ไม่เสีย”

โยม ๑ : เพราะฉะนั้นมันก็เลยไม่เกี่ยวกับตำแหน่ง

หลวงพ่อ : ใช่.. ไม่เกี่ยวกับตำแหน่งหรอก เพียงแต่ว่าพอเราไปยึดว่าอยู่ตรงไหนปั๊บ ไอ้ข้อต่อรองของกิเลสเรา มันก็จะต่อรองว่า “จะเอาตรงไหนดี? ” มันก็เคลื่อนไปเคลื่อนมา แล้วเรา.. เพราะต่อไป ภาวนาต่อไป มันจะมีปัญหาขึ้นมา

ปัญหานี้ เพราะมันมีลูกศิษย์เรา เมื่อก่อนมาถามหาบ่อย บอกว่า “ถ้าเวลาเราพุทโธไปบ่อยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ พอถึงจุดหนึ่ง มันจะเกิดเหงื่อแตกพลั่กเลย” แล้วพอพุทโธๆ ถึงตรงนั้น มันก็เกิดอาการอย่างนั้น

นี่ก็เหมือนกัน เวลาบางคน เวลาพุทโธๆๆ ไปแล้ว มันจะมีอาการต่างๆ อาการที่มันเกิดขึ้น “อาการของใจ ไม่ใช่ใจ” อาการมันจะเกิดขึ้นเองนะ พอจิตเราเริ่มจะดีขึ้น มันจะมีข้อต่อรองอีกแล้ว

บางทีเรานั่งๆ อยู่ พอถึงจุดหนึ่งปั๊บ เราใช้คำศัพท์ของเราว่า “แผ่นเสียงตกร่อง”

พอจิตเราเริ่มพุทโธๆๆ พอจิตเราเริ่มจะดีขึ้น มันจะตกร่อง คือมันจะไปถึงจุดที่เราฝังใจไว้ แล้วมันแสดงอาการออกมา

โยม ๑ : ที่เราติดใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : ใช่.. พอมันไปจุดใดที่เราฝังใจไว้ มันจะรู้สึกอย่างนั้น แล้วเราก็จะไปตก คาอยู่อย่างนั้นน่ะ คือแผ่นเสียง เวลาเราเล่นแผ่นเสียงปั๊บ มันจะไปตกร่องตรงนั้น

วิธีแก้ของมันนะ วิธีแก้.. แผ่นเสียงตกร่องแล้ว เราต้องพยายามให้ร่องนั้นมันจางไป หรือให้เข็ม คือว่าเข็มอ่านกินเข้าไป

ทีนี้พอมันเจออาการปั๊บนะ เราก็ตั้งพุทโธไว้เฉยๆ ตั้งพุทโธไว้ เราอยู่กับผู้รู้ อยู่กับสติเรา อาการที่มันเป็น ไม่รับรู้มัน มันจะค่อยๆ เบาไป.. เบาไป.. เบาไป.. จนผ่านอาการนั่นไป

โทษนะ.. เดี๋ยวก็ไปเกิดอาการใหม่อีก (หัวเราะ)

เพราะกิเลสเรา.. เราจะทำสมาธิ เราจะบำเพ็ญธรรม ไอ้สิ่งที่มันจะทำให้เราผิดพลาด ทำให้เราโต้แย้ง คือกิเลสของเรานี่ล่ะ มันจะโยนประเด็นอะไรมาให้จิตเรารับไว้ แล้วเราก็จะฝังคาใจอยู่อย่างนั้น.. ไอ้นี่คืออุปสรรคในการปฏิบัติ จะมีทุกคน มากหรือน้อย

โยม ๑ : หมายถึงว่าหลวงพ่อแนะนำให้ ถ้าพุทโธก็คือเด็ดเดี่ยวไปเลยใช่ไหมครับ โดยไม่สนใจเลยนะ

หลวงพ่อ : ไม่สนใจกับมัน พอไม่สนใจกับมันปั๊บนะ ประสาเรานะ พอมันโยนปัญหาให้เรา แล้วเราไม่รับรู้ไอ้ปัญหานี้ เดี๋ยวมันจะ ดูสิ มันจะโยนปัญหาเข้ามาอีก

โยม ๑ : อย่างปีที่แล้ว ผมมีความรู้สึกเวลาที่อยู่นิ่งๆ แป๊บเดียว มันจะมีแบบสั่นทั้งตัวเลย มันคล้ายๆ กับว่ามันจะเป็นปีติ หรืออะไรก็ไม่ทราบเหมือนกัน

หลวงพ่อ : ใช่

โยม ๑ : แต่พอมาปีนี้ปุ๊บ มันไอ้ตัวอันนั้นมันจางลง แต่ว่ามันลักษณะจะเป็นแสบตาม ผิวหนังแทนคล้ายๆ กับว่ามันพัฒนาหรือมันเปลี่ยนอะไรของมันก็ไม่รู้ครับ

หลวงพ่อ : มันโยนปัญหามาให้เล่น กิเลสน่ะ

โยม ๑ : แล้วพอเรารู้สึกขึ้นมา เราก็ว่า “เอ๊ะ.. นี่มันอะไร หรือว่ามันจะดี หรือมันจะไม่ดี” อะไรประมาณนี้ล่ะครับ

หลวงพ่อ : ตอนนี้มันมีลูกศิษย์อยู่คนหนึ่ง ที่นี่นะ เด็กๆ ญาติเขา เด็กเวลามันภาวนา หรือมันอยู่เฉยๆ มันจะเห็นดวงแก้วอะไรของมัน มันตกใจของมัน เขามาถามเรา เราบอกว่า “มันเป็นสิ่งที่ดี” เด็กมันเล็ก เล็กมากจนแบบว่าเราจะพูดให้มันเข้าใจยาก ก็เลยบอกว่า “มันเป็นสิ่งที่ดี” คือแบบว่า “เป็นเทวดาเป็นอะไรมา.. อนุโมทนากับเรา เราตั้งสติไว้เฉยๆ ไม่ต้องตกใจ เขามาในแง่บวก ไม่ได้มาในสิ่งชั่วร้าย”

อันนี้ย้อนกลับมาที่เรา อาการที่เกิดใดๆ ก็แล้วแต่ อาการที่เกิด อาการของใจกับใจ

“ความคิด” เวลาเราคิด เราฟุ้งซ่าน เราทุกข์ เราร้อนอยู่ ก็คือความคิด

ทีนี้เราพุทโธๆๆ เราต้องการให้ความคิดมันสงบตัวลง

ทีนี้ความคิดสงบตัวลง ความคิดเวลามันเคยธรรมชาติของมัน พออย่างนั้นมันสงบตัวลง อาการที่มันจะปล่อย อาการที่อะไร.. เหมือนรถเรา เราวิ่งไปเต็มที่เลย เวลาเราเข้าเกียร์บริดจ์ เราเข้าเกียร์แล้วมันว่าง.. วู๊ว.. นี่ พลังงานที่มันจะส่งไปที่เฟืองท้าย มันไม่ได้ส่งไป เครื่องมันก็เลยฟรี

ความคิดที่มันเคยคิดอยู่บ่อย จิตกับความคิดที่มันเคยคิดกันอยู่ตลอดเวลา มันทำให้เราทุกข์มากเลย ทีนี้เราจะให้มันว่าง บางทีมันก็มีอาการอย่างนี้ อาการที่มันไม่เป็นไป มันยังไม่.. ถ้าถึงเราจอดรถเลย เราจอดแล้วเราปลดเกียร์มันก็จบ

ถ้าลงสมาธิ แล้วก็กำหนด.. ก็จบ

แต่ตอนนี้ กว่าที่รถเรามา เราวิ่งรถเรามา แล้วมันยังไม่ถึงที่ เราเข้าเกียร์ผิด.. วู๊วๆ เลย เครื่องมันร้องเลย เราจะบอกว่า “อาการต่างๆ มันจะมีตลอดไป”

ถ้ารถมันจอดเข้าที่ มันจอดโดยธรรมชาติของมัน เราจะรู้ว่ามันจะจอดตามธรรมชาติของมัน ถ้าจิตมันลงโดยความสงบ มันก็จะเป็นสภาวะแบบนั้น ทีนี้เราจะประคองรถเราให้จอดอย่างไรเท่านั้นน่ะ

ประสาเรานะ “ไม่มีสูตรสำเร็จ” คนหนึ่งมาก็จะมีอาการอย่างหนึ่ง คนหนึ่งมาก็จะมีอาการอย่างหนึ่ง หลากหลายไปตามแต่กรรมที่ทำไว้ ตามแต่จิต กรรมของเรา เราสร้างอะไรไว้ร้อยแปดเลย

ฉะนั้น เวลาอะไรจะเกิดขึ้นมา.. เราปฏิบัติมาด้วยตัวเราเองหนึ่ง กับประสบการณ์ต่างๆ เราจะบอกลูกศิษย์ทุกๆ คนว่า “ไม่ต้องน้อยใจ ไม่ต้องไปวิตกกังวลอะไรทั้งสิ้น”

คือสิ่งที่เราทำมาแล้ว คือจริตนิสัย ใจมันจะเป็นอย่างนี้ อันนี้โดยหลัก พระพุทธเจ้าสอนอยู่แล้ว “ศีล สมาธิ ปัญญา” เราก็รักษาศีล เราไปทำความปกติของใจ แล้วเราก็จะฝึกฝนปัญญาของเราขึ้นมา

มันก็จะเกิดอาการ.. มันหลากหลาย ไม่ต้องไปวิตกกังวลกับใคร ไม่ต้องไปเทียบเคียงกับใคร ใครจะทำได้ ทำยาก ทำง่าย.. เหมือนเรา เราจะไปวัด เราจะวัดกับใครทำไม? สมบัติในบ้านของเราก็คือของเรา อาการที่เกิดก็คือของเรานี่ล่ะ.. โดยหลักเป็นอย่างนี้

ทีนี้อย่างที่พวกเราที่ส่วนใหญ่ที่มันจะเสียหาย ก็เสียหายตรงนี้

อาการของเราเป็นอย่างนี้ เงินของเรามีเท่านี้ คนที่เขามีเงินมากกว่าเรา เขาใช้จ่ายโดยปกติของเขา เขาใช้จ่ายได้มากกว่าเรา คนที่มีเงินน้อยกว่าเรา เขาก็ใช้จ่ายได้น้อยกว่าเรา

แล้วเราจะเทียบกับใคร?

เราก็ต้องดีใจเสียใจไปกับเขาเหรอ? เห็นเขาใช้จ่ายได้มากกว่าก็ อื้ม.. ต้องวิ่งไปหาเขา เห็นเขาใช้จ่ายมากหน่อยก็ อื้ม.. ฟู.. ใจก็พอง

ทีนี้ย้อนกลับมาที่นี่ เราพูดคำนี้ออกมาเพื่อให้เราเทียบเคียงกับเฉพาะปัญหาของเรา เราต้องแก้ปัญหาของเรา ของใครๆ เขาจะแนะนำอย่างไร มันเรื่องของเขา

โยม ๑ : ตอนนี้ก็รู้สึกว่ามันมี ใจมันเบาๆ

หลวงพ่อ : ดีมาก..

โยม ๑ : ถ้าเป็นอย่างนี้ดีใช่ไหมครับ?

หลวงพ่อ : ถูกต้อง.. ต้องมีสตินะ เวลามีสติ พุทโธไว้เรื่อยๆ ถ้าใจมันเบามา ทำให้ใจมันเบามา แล้วพอจิตมันสบายๆ เราก็ออกใช้.. จิตสบายๆ คือว่าจิตมันเบาแล้ว เราหัดฝึกใช้ปัญญาของเราบ้าง คือว่าดูกาย ดูจิต เรานี่ล่ะ พิจารณากาย พิจารณาจิต.. พอความรู้สึก..

โยม ๑ : ใช้ความคิดอย่างโลกีย์นี่ใช่ไหมครับ?

หลวงพ่อ : นี่ล่ะ โลกีย์นี่ล่ะ ฝึกได้ เพราะจิตมันมีความสงบบ้าง เราก็ใช้โลกีย์นี่ล่ะ ต้องใช้โลกีย์ไปก่อน ถ้าเราไม่ฝึกหัดเลย เราจะรอให้มันสงบถึงเต็มที่ แล้วเมื่อไรจะสงบล่ะ ถ้าเราคิดอย่างนี้ปั๊บ มันจะเกิด.. เหมือนกับให้กำลังใจตัวเองไง เหมือนกับเราให้รางวัลตัวเอง

พอเรา จิตเราสงบแล้ว เราออกไปคิดเรื่องกาย เรื่องกาย เรื่องจิต มันจะให้เราตื่นตัว ให้รางวัลหมายถึงว่า เห็นแล้วมันจะมีปลงธรรมสังเวชไง “เออ.. มันก็มีเท่านี้ล่ะ” มันทำให้เราตื่นตัว มันต้องฝึกหัดไปเรื่อยๆ

โลกียปัญญา การปฏิบัติมันก็มาจากโลกียะทั้งนั้นล่ะ เราไม่มีโลกุตตรมาก่อนหรอก แต่โลกียปัญญามันจะทำให้เกิดโลกุตตรปัญญา

“หน้ามือกับหลังมือ” ก็มือเรานี่ล่ะ จะทำอย่างไร หัวใจเรานี่ล่ะ มันเป็นอย่างนี้

เพียงแต่ที่เราเน้น ในซีดีเราจะเน้นตรงนี้เพื่อให้มีความเข้าใจไง

คนเราจะเสีย เสียเพราะถลำ ถลำไปว่า “นี่เป็นโลกุตตรปัญญา.. โลกุตตรปัญญา.. ” คือจะคิดว่าตัวเองมีปัญญาทั้งนั้นน่ะ ถ้าเราคิดว่าเรามีปัญญา เราคิดว่า “เรามีปัญญา” กับเราสำนึกตัวเราเองว่า “ให้มันเป็นตามธรรมชาติ” อันไหนจะดีกว่ากัน?

โยม ๑ : ตามธรรมชาติ

หลวงพ่อ : ถูกต้อง.. ให้มันเป็นตามเนื้อหาสาระ คือว่าก็เลยออกมาฝึกหัด มาคิดได้ โลกียปัญญานี่ล่ะ คิด.. เราออกคิด ถ้าเรามีสติปัญญา เรามีสติสัมปชัญญะ เราคิดสิ่งใด ทำสิ่งใด เราก็รู้ตามความเป็นจริงนี่ล่ะ แล้วพอมันเป็น มันจะพัฒนาของมัน

อย่างเรา.. เรามาจากไหน? เรามาจากเด็ก แล้วก็จะเป็นผู้ใหญ่ แล้วก็จะแก่ไปข้างหน้า

มันมาจากไหน? ธรรมชาติของมันอย่างนี้

ความคิดก็เหมือนกัน แต่ความคิดมันร้ายกว่าเราอีกนะ เวลามันโตขึ้นมาแล้วนะ มันไม่ยอมรับว่ามันโตนะ เพราะมันไม่มีวัยไง ความคิดมันไม่มีวัย มันคิดกลับไปกลับมาได้ แต่เรานี่มีวัยนะ

โยม ๑ : หมายถึงว่าช่วงที่เราสติดี เราก็ดูเหมือนจะควบคุมใจเราได้..

หลวงพ่อ : ใช่..

โยม ๑ : แต่พอเราเสียสติปุ๊บ มันก็กลับเป็นเด็ก เป็นอะไรไป

หลวงพ่อ : หึ.. เราเปรียบเทียบอย่างนี้ เราเปรียบเทียบเหมือนโลกียปัญญา หรือโลกุตตรปัญญา มันมาจากเด็กนี่ไง เราเปรียบเทียบอย่างนี้ เราเปรียบเทียบว่าใจของเรา ไอ้ที่ว่าโลกียปัญญา โลกียปัญญาก็เพราะว่าเราคิดโดยธรรมชาติของเรา มันจะเป็นโลกุตตร เพราะว่าเราคิดแล้วเราก็สังเวช.. นะ.. เราคิดเรื่องชีวิตเราก็สังเวช.. สังเวช.. สังเวช.. จิตใจมันจะดีขึ้น

พอสังเวชขึ้นมา มันก็หดสั้นเข้ามาเรื่อยๆ.. หดสั้นเข้ามาเรื่อยๆ.. พอเราคิดไป มันจะเข้าไปคิดตัวมันเอง การแก้กิเลส มันจะเข้ามาที่ตัวมันเอง ตัวมันเองคือตัวจิต ความคิดนี้คือสัญชาตญาณ ความคิดของมนุษย์

เราบอกบ่อย เราจะโต้แย้งกับเขา ที่เขาว่าเขา “ดูจิตๆ”

เราจะบอกเขาว่า “ความรู้สึกคือรูป ความคิดคือนาม” หลวงปู่ดูลย์พูดอย่างนี้

“ความรู้สึกคือจิต” ความรู้สึกเฉยๆ คือตัวจิต เป็นรูป ความคิดเป็นนาม

มีรูป เหมือนกับน้ำเต็มแก้ว พอมีความคิดขึ้นมา มันใช้พลังงานไป มันก็มีความว่าง เพราะเป็นนาม พอนามก็เกิดช่องว่าง ช่องว่างมันก็หมุนไป

ฉะนั้นพอคิดๆๆ ความคิดมันดับ มันเหลือแต่รูป พอเหลือแต่รูปมันเข้ามา มันจะมาแก้กันที่นี่ แก้กันตรงที่รูป แก้กันตรงที่ความรู้สึก “ความรู้สึกคือรูป ความคิดคือนาม”

ทีนี้ความคิดมันเกิดดับ แต่รูปไม่เคยเกิดดับ

ความรู้สึกเรามีอยู่ตลอดเวลา แต่ความคิดมันเกิดดับ แต่ความรู้สึกเราไม่เคยเกิดดับ ความรู้สึกเรา จิตเราอยู่กับเราตลอดเวลา แต่ความคิดสิ “เดี๋ยวคิด เดี๋ยวไม่คิด เดี๋ยวคิด เดี๋ยวไม่คิด”

ฉะนั้นพอทีนี้มันว่างลง.. ว่างลง.. มันจะถึงตัวมัน แล้วมันจะมาทำลายกันในตัวของมันเอง ถ้าเป็นโลกุตตรนะ แล้วมันจะเห็นอาการของมัน.. แต่ต้องฝึกอย่างที่เราว่านี่ล่ะ

โยม ๑ : ครับ

หลวงพ่อ : ฝึกมันเข้ามา

โยม ๑ : ผมเข้าใจที่หลวงพ่อเทศน์ว่า “ตัวจิตเหมือนกับเนื้อส้ม”

หลวงพ่อ : ใช่

โยม ๑ : “ตัวความคิดคือเปลือกส้ม”

หลวงพ่อ : แน่นอน..

มีลูกศิษย์นะ เขาใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ใช้ไปเรื่อย แล้วมันหยุด เขามาใช้คำนี้เลยนะ “หลวงพ่อ.. มันแฮงค์เลยนะ มันแฮงค์” (หัวเราะ) คือมันแฮงค์เลย มันไปไม่ได้ไง

โยม ๑ : คือหมายถึงว่าความคิดมันหยุดไปเหรอครับ? หรือว่ามันไปรวมกับจิต

หลวงพ่อ : หยุดก่อน.. มันหยุดไปเรื่อยๆ ใหม่ๆ มันยังไม่รวม มันหยุดก่อน เพราะมันแฮงค์หมายถึงว่ามันยังไม่เข้าใจไง แต่ถ้าเราตามไปเรื่อยๆ..

พุทโธส่วนพุทโธนะ พุทโธมันก็เหมือนกับ.. พุทโธ

ปัญญาอบรมสมาธิ มันใช้ความคิด

พุทโธนี่เราใช้ความคิดทั้งหมดไปอยู่ที่พุทโธ “พุทโธๆๆ”

ถ้าเราไม่ใช้คำว่าพุทโธ มันจะคิดโดยธรรมชาติของมัน คือความคิดสกปรก

พุทโธนี่สะอาด พุทโธคือพุทธานุสติ เราระลึกถึงพุทโธตลอดเวลา เหมือนกับเราคิดถึงพ่อแม่ “พ่อแม่ๆๆ” พอพุทโธ พระพุทธเจ้าเป็นเจ้าของศาสนา เราคิดถึงพุทโธปั๊บ “พุทธานุสติ” เราคิดถึงพระพุทธเจ้า “พุทโธๆๆ” เราไม่คิดเรื่องอื่น.. มันเป็นความ..

คำว่าพุทโธ คือพุทธะ มันสะอาดบริสุทธิ์ แต่จิตมันไม่ยอมคิดหรอก มันไม่ชอบ มันไม่มีรสชาติ มันชอบคิดตามประสามัน

แล้วเราบังคับมัน “พุทโธๆๆๆ” พุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ เราคิดแต่เรื่องดีๆ “พุทโธๆๆ” แต่สิ่งที่ดี เพราะพุทโธมาจากอะไร? มาจากความรู้สึก เพราะว่าความคิดมาจากความรู้สึก

เปลือกส้มมาจากส้ม.. เปลือกส้มมาจากเนื้อส้ม ถ้าไม่มีเนื้อส้ม เปลือกส้มจะเกิดมาไม่ได้หรอก ทีนี้เราพุทโธๆๆ ไป ถ้ามันหดเข้ามา มันก็หดมาถึงเนื้อส้ม

ปัญญาอบรมสมาธิก็เหมือนกัน ที่ว่ามันหยุดของมัน มันหยุดไปเรื่อยๆ หยุดไปเรื่อยๆ ความหยุดปั๊บ ใครใช้สติปัญญาตามความคิดเราไปล่ะ? ก็คือตัวจิตนั่นน่ะ

ตัวจิต คือตัวเราตั้งใจมันนั่นน่ะ เราศรัทธา เราตั้งใจ มันก็คิดออกไป

พอมันคิด ตามความคิดไป พอมันหยุดปั๊บ.. มันหยุด ครั้งแรก คนเห็นมันก็ทึ่งน่ะ แต่ถ้าพอมันหยุดปั๊บ เหมือนกับเราไปเห็นของที่มันมีราคา อยากได้ แต่ไม่มีตังค์.. เอาไม่ได้หรอก มันหยุดเฉยๆ ตามมันไปเรื่อยๆ เราหัดตามมันไปเรื่อยๆ พอมันหยุดไปเรื่อยๆ หยุดก็เอ๊าะ.. เอ๊าะ.. มันเข้าใจเรื่อยๆ ต่อไปมันคุมได้หมดเลย

มันจะเห็นเลยว่า “ความคิด.. เวลาหยุดแล้ว มันจะเหลืออะไร? ”.. เหลือเนื้อส้ม

แล้วพอมันหยุดเสร็จแล้ว ตั้งใจให้ดี.. เอกัคคตารมณ์ จิตตั้งมั่น

เนื้อส้มกับส้ม มันมีโดยธรรมชาติ ความคิดกับจิตมันมีโดยธรรมชาติ แต่เราไม่เคยรู้เคยเห็นมัน ไอ้ส้มนั่นมันไม่มีชีวิตนะ จิต-ธาตุรู้มันเป็นสิ่งที่มีชีวิต ธาตุรู้มันจะแสดงตัวออกได้เพราะเปลือกส้ม เพราะความคิด ถ้าไม่มีความคิด เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราอยู่ที่ไหน

มันมีของมันอยู่ แต่พวกเราไม่เคยรู้เคยเห็นไง เราไปรู้ไปเห็นแต่ในตำรา ในธรรมะพระพุทธเจ้า อ่านไปแล้ว “โอ้โฮ.. ทึ่งน่าดูเลยนะ” แต่ตัวเองไม่เห็นตัวเองน่ะ

เราไม่เคยเห็นตัวเราเองเลย.. เห็นครั้งแรกตกใจเลย “เอ๊อะ !”

เราเห็นของเราครั้งแรก เราไปถามอาจารย์เราเลยนะ “ไหนว่าความคิดมันไม่มีไง”

แหม.. นึกว่าเก่งไง.. ไปว่าอาจารย์เลย “ก็ว่าความคิดเป็นนามธรรมไง” มันไม่มี

พอจับได้ครั้งแรก โอ้โฮ.. เหมือนกับเราจับได้ชัดๆ อย่างนี้ แล้วมันไม่มีได้อย่างไร พอสติมันจับความคิดได้ “เอ๊อะ !”

ขึ้นไปถามอาจารย์นะ ตอนเย็นๆ ไปสรงน้ำไง “ไหนว่าความคิดมันไม่มี”

ท่านหันกลับมานะ “แล้วใครบอกมึงว่าไม่มี”

ก็ความเข้าใจเราเองไง.. ความเข้าใจว่าคำว่านามธรรมนี่ไง โดยสามัญสำนึกของโลก คิดว่า “นามธรรม.. เป็นนามธรรม.. เป็นนามธรรม”

แล้วพอเราปฏิบัติไป จนมาถึงมาอ่านพระไตรปิฎก เรามาอ่านทีหลังนะ พระพุทธเจ้าพูดกับหลานพระสารีบุตรที่เขาคิชฌกูฏ เพราะหลานจะมาต่อว่าพระพุทธเจ้าว่าเอาตระกูลพระสารีบุตรมาบวชหมดเลย เพราะท่านเป็นหลานไง จะมาต่อว่าพระพุทธเจ้า “ไม่พอใจนั่น ไม่พอใจนี่” ไม่กล้าพูดตรงๆ ไง พระพุทธเจ้ารู้อยู่

พระพุทธเจ้าบอกว่า “ถ้าเธอไม่พอใจสิ่งต่างๆ เธอต้องไม่พอใจอารมณ์ความรู้สึกของเธอด้วย เพราะอารมณ์ความรู้สึกของเธอนั้นก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง”

โอ้โฮ.. พระพุทธเจ้า !

ท่านว่า “ความคิดเราเป็นวัตถุอันหนึ่ง” เป็นวัตถุเลย แต่ความคิดเรามันบวกด้วยดีและชั่ว นี่พระพุทธเจ้าเทศน์อย่างนี้โต้ตอบกับหลานพระสารีบุตร

พระสารีบุตรตอนนั้นยังไม่เป็นพระอรหันต์ ตอนนั้นพระสารีบุตรกำลังปฏิบัติอยู่ พัดพระพุทธเจ้าอยู่ข้างหลัง คำพูดคำนี้ไป “ปิ๊ง” พระสารีบุตรเป็นพระอรหันต์เลย

โยม ๒ : ตกลงพุทโธนี่มันคืออะไรคะอาจารย์

หลวงพ่อ : พุทโธนี่ถ้า..

โยม ๒ : ถามแล้วเลยลืม.. สับสนว่าพุทโธนี่คือ..

หลวงพ่อ : พุทโธนี่โดยทฤษฎีนะ พุทโธคือพุทธานุสติ

“พุทธานุสติ” มันเป็นกรรมฐาน ๔๐ ห้องไง พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติไง

พุทโธนี่เป็นพุทธานุสติ เป็นทฤษฎีที่พระพุทธเจ้าสอนการทำสมถะวิธีการหนึ่ง

“พุทโธ” คำว่าพุทโธๆ เรานี่คือพุทธานุสติ เป็นทฤษฎี แล้วเราก็มาสร้างขึ้นมา ให้เป็นการปฏิบัติ “พุทโธๆๆ” นี่ล่ะ ที่เรานึกพุทโธๆๆ กัน “พุทธานุสติ” อยู่ในนี้ พระพุทธเจ้าสอนไว้ พระพุทธเจ้าวางหลักเกณฑ์ไว้

หลวงปู่มั่นท่านพูดกับพวกลูกศิษย์มา “พุทธภาษิตไม่เอา ไปเอาสาวกภาษิตกัน”

“พุทธภาษิต” พระพุทธเจ้าสอนไว้ไง พระไตรปิฎกไง

“พุทธภาษิต” เป็นภาษิตของพระพุทธเจ้าไง

เป็นภาษิต คือคำพูด คำสอนของพระพุทธเจ้า.. พุทธภาษิต

“สาวกภาษิต” เราพูดอยู่นี่สาวกภาษิต สาวก-สาวกะ พูดออกมาแล้วเราจะเชื่อฟังใคร?

ฉะนั้นอย่างที่พูดว่าสับสน.. ไม่ต้องสับสน เพียงแต่เรา.. เพราะมันเป็นประเด็นอยู่ในปัจจุบันนี้ มันมีหลักๆ อยู่ ๒ ประเด็น คือพุทโธ ก็คือเจโตวิมุตติ กับใช้ปัญญา ปัญญาอบรมสมาธิ คือปัญญาวิมุตติ

เราเลยพูดหลายแขนง โยมก็เลยสับสนเลย

“เอ.. หลวงพ่อเอาสักอย่างสิ เอาหลายอย่างแท้”

คือเราพูดหลากหลาย เพื่อให้คนแบบว่า.. เหมือนกับมานี่ มารถก็ได้ มาเรือก็ได้ มาเครื่องบินก็ได้ มา..

เราหลากหลายเพราะว่าคำว่าหลากหลายของเรา เราเห็นกับคนที่ปฏิบัติมันมาหลากหลาย ปัญญาเขามาหลากหลาย ความรู้สึกเขาหลากหลาย เราเลยเสนอประเด็นเข้าไปเยอะ เลยทำให้พวกโยมสับสน “เอ๊ะ.. หลวงพ่อเอาสักอย่างสิ” (หัวเราะ).. เอาอย่างใดอย่างหนึ่ง

แต่ทีนี้เราเสนออย่างนี้ออกมาก็เพื่อให้ใครชอบทางไหน หรือว่าอย่างไร

คำว่าชอบนะ.. ทุกคนจะไปถามหลวงตาว่า “แล้วหนูทำอย่างไรล่ะ? ”

หลวงตาบอกว่า “กำหนดพุทโธๆๆๆๆๆ ธัมโมๆ สังโฆ กำหนดอะไรก็ได้ คำบริกรรม หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้”

“อะไรทำแล้วว่าง โล่ง โปร่ง สบาย.. นั้นคือทางของเรา” หลวงตาท่านเสนออย่างนี้

เราเอามาใช้แล้วได้ประโยชน์กับเรา นั่นน่ะ คือทางของเรา เราเอามาใช้ทำประโยชน์แล้วมันเกิดประโยชน์ขึ้นมา อันนั้นน่ะ.. ใช่

ทุกคนจะถามเลย ทุกคนจะปลงไม่ตก “แล้วของฉันจะทำอย่างไรล่ะ? ”

ตั้งใจ.. ตั้งใจทำ.. มันต้องมีที่มาที่ไป เราตั้งใจทำ แล้วเราทำแล้วมันเกิดประโยชน์กับเรา เกิดประโยชน์กับเราจริงๆ ให้มัน..

ประสาเรานี่นะ “ให้หยุดความคิดได้ ให้ทุกอย่างมันทำได้”

ทีนี้การหยุดความคิด เราก็บอกว่า “เขาดูจิต ก็ใช้ได้” คำว่าดูจิตๆ ของเรา ของที่เราปฏิเสธกับเขา เพราะการดูจิตนี่นะ ในความรู้สึกของเรานะ “การดูจิตของเขา เหมือนเราเพ่งกสิณ” คือเขาเพ่งกสิณ ดูกสิณ ทีนี้การเพ่งกสิณของเรา.. การเพ่งกสิณนะ กสิณ ๑๐ นี่ก็อยู่ในพระพุทธเจ้าสอนเหมือนกัน

กสิณ ๑๐.. กสิณแดง กสิณขาว.. มันเป็นวงกลม เขาจะเขียนเป็นวงกลม แล้วเราเพ่งให้วงกลมนั้นไว้ มันแทนพุทโธไง

ถ้าเราเพ่งกสิณขาว.. สมมุติมือเรา เพ่งที่มือเรานี่เป็นกสิณขาว.. เพ่งจนเห็นรูปนี้เป็นสีขาว เพราะจิตเราเพ่งอยู่ตลอดเวลา เพ่งอยู่อย่างนี้ ไม่ต้องกำหนดอะไรเลย เพ่งเฉยๆ ถ้าจิตมันลงนะ คือจิตมันลงหมายถึงว่ามันเพ่งแล้วจนจิตเป็นสมาธิ เราขยายสิ่งนี้ ขยายให้สีขาว ขยายให้กว้างออกได้ ให้แคบได้.. กสิณไง แล้วเราดึงเข้ามาหาเราก็ได้ เพราะอะไร เพราะมันเป็นที่นี่ไง เพราะใจเรานิ่ง ใจเราเป็นแล้ว

ทีนี้ถ้าเพ่งอยู่ เพ่งอยู่ “ดูจิตๆ” ถ้ามันลงอย่างนี้มันก็ใช้ได้ใช่ไหม.. แต่ทีนี้เขาไม่พูดอย่างนั้น เขาว่า “ดูจิตเฉยๆ ดูแล้วมันจะเกิดปัญญาเองอะไรเอง”

ถ้าเราเพ่งอยู่กสิณขาว เพ่งไปดึงไปดึงมา แล้วเราจะรู้อะไรขึ้นมา เราก็เห็นแต่สีขาวขึ้นมาน่ะ

ไอ้ที่เรา.. เพราะว่าเขาพูดไม่จบกระบวนการไง กระบวนการของมัน มันจะมีกระบวนการตั้งแต่ทำให้เป็นสมถะ แล้วกระบวนการที่พัฒนาขึ้นไปเป็นวิปัสสนา มันจะยังมีกระบวนการของมันอีก กระบวนการของมัน มันยังมีอีกหลายหลากนะ แต่เขาพูดเฉพาะประเด็นเดียว แล้วบอกประเด็นนี้ประเด็นเดียว แล้วทำแล้วจะสรุป เสร็จได้หมด

ไอ้ที่เราค้านอยู่ เราค้านตรงนี้นะ นี่เราค้านเขามากตรงนี้ คือเขาทำกระบวนการอันเดียว แล้วจบหมดเลย มันเป็นไปไม่ได้

แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ มันจะมีสมถะ ถ้าไม่มีสมถะนะ ความคิดอย่างที่เราว่าโลกียะหมด แต่การคิดของคน มันก็ต้องมาจากโลกียะนี่ล่ะ ทุกอย่างมันต้องมาจากสมมุติ มันต้องมาจากชีวิตจริงเรานี่ล่ะ ชีวิตจริงเรานี่มันเป็นสมมุติ สมมุติตามที่พระพุทธเจ้าสอน ชีวิตจริงเรานี่

แต่มันเป็นจริงสำหรับเรา มันต้องจริงจังกับเราก่อน แต่พอจริงอันนี้ จริงตามสมมุติไง จากสมมุตินี้ มันก็จะเป็นบัญญัติ บัญญัติ คือธรรมะพระพุทธเจ้า สมมุติบัญญัติ แล้วก็จะไปวิมุตติ ทีนี้เราจะปฏิเสธสมมุติปั๊บ.. มันก็เหมือนบัญชี ถ้าเราไม่เปิดบัญชี เราไม่มีบัญชีเลย เราจะทำนิติกรรมเรื่องเงินทองได้อย่างไร?

ถ้าเราไม่เอาจิตเราเป็นที่ตั้ง ไม่เอาความรู้สึกเราเป็นที่ตั้ง มันมีการกระทำแล้ว เราจะไปฆ่ากิเลสกันได้อย่างไร?

แต่ถ้าบัญชีเปิดมาแล้ว เราไม่ทำอะไรเลย.. มันจะเข้ามาไหม?

กระบวนการของมัน ถ้ามันถูกต้องนะ ถ้ามันถูกต้อง จะทำอย่างไรก็คือถูกต้อง

ถ้ากระบวนการของมันไม่ถูกต้องนะ ทำอย่างไรมันก็ไม่ถูกต้อง

ทีนี้เพียงแต่อย่างที่เราพูด เราเสนอ เพราะว่าเรา.. เวลาปฏิบัติไปนี่นะ มันจะมีอุปสรรคของแต่ละบุคคล ทีนี้อุปสรรคของแต่ละบุคคล หลวงตาท่านใช้คำว่า “อุบาย”

เวลาท่านสอนพวกเรานะ ท่านจะบอกเลยนะ “ไม่ใช่ทำเวลาภาวนาทำเป็นงง ทำเซ่อๆ ซ่าๆ ทำอยู่อย่างนั้นน่ะ กิเลสมันหัวเราะเยาะไง เราต้องมีอุบายพลิกแพลง”

อย่างที่พูดเมื่อกี้.. มันโยนอุปสรรคมาให้เรา มันตั้งเงื่อนไขออกมา มันตั้งขึ้นมาจากไหน? ใจเรานี่มันตั้งเงื่อนไขออกมาเอง

“เดี๋ยวจะเอาอย่างนั้น เดี๋ยวจะเอาอย่างนี้ จะเป็นท่านั้น จะเป็นท่านี้”

นี่ไง กิเลสมันตั้ง มันสร้างเงื่อนไขขึ้นมา.. แล้วเราทำอย่างไรล่ะ?

เพราะธาตุรู้เป็นสิ่งที่มีชีวิต มันเหมือนสิ่งมีชีวิต สันตติมันจะเกิด มันจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราถึงต้องตั้งใจ แล้วสู้กับมัน

ถูกต้อง ! แต่ทำไปเรื่อยๆ ยืนยันว่า “ถูกต้อง”

ทีนี้มันจะเสียอย่างเดียวเท่านั้นน่ะตอนนี้ มันมีการเสนอว่า “เรานี่ทำแล้วชักช้าเสียเวลา” จะมีอะไรที่ลัดสั้น แล้วรวดเร็ว

โยม ๑ : คือมัน..

หลวงพ่อ : เสียเปล่า

โยม ๑ : เป็นไปไม่ได้ใช่ไหม?

หลวงพ่อ : ใช่

โยม ๑ : จริงๆ มันต้องมีขั้นตอนของมัน

หลวงพ่อ : ๑.มันเป็นไปไม่ได้ ไอ้คำพูดของมหายาน เขาพูดอย่างนั้น เขาพูดเป็นให้เราตัดกังวล แต่ความจริงเขาทำยิ่งกว่าเราอีก เราไปดูเว่ยหล่างสิ เว่ยหล่าง เวลาเขานั่งที เขาทำยิ่งกว่าเราอีกนะ เขาทำจริงจังมากกว่าเราเยอะนัก คือเหมือนกับเราทำมาหากิน เราทำมาหากิน เราทำจริงจังขึ้นมา เราถึงมีฐานะ แล้วเขาบอกว่า “ทำอะไรก็ได้ แล้วมีฐานะ” โยมเชื่อกันไหม?

โยม ๑ : ในเวลาที่อ่านเกี่ยวกับเซน เหมือนกับว่าเขาเอาสิ่งที่เป็นผลมาพูดเยอะ พอเอามาพูดเยอะปุ๊บ เรานึกว่าไอ้ผลนั่นน่ะ คือสิ่งที่ต้องไปทำ อย่างเช่น การปล่อยวาง อะไรอย่างนี้ จริงๆ แล้วมันจะต้องทำไปก่อน จนกระทั่งปล่อยวางได้แล้ว ใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : ถ้าพูดอย่างนี้.. ถูก

หลวงตาพูดบ่อย “สักแต่ว่าๆ ไม่ได้นะ เราต้องจริงจัง”

หลวงตาจะใช้คำว่า “จริงจัง” เราจะต้องจริงจัง เราจริงจัง คือเรามั่นคง

อย่างที่พูด สมมุติก็ต้องจริงจังกับมัน ทุกอย่างจริงจังกับมันหมด ตั้งสติจริงจังกับมันหมด ถึงที่สุดแล้วพอเห็นคำว่า “จิตเป็นนามธรรม” มันเป็นความรู้สึก

พอเวลามันปล่อยกันที่ความรู้สึก “เอ๊อะ.. เอ๊อะ.. เอ๊อะ.. ” เราจริงจังนี่ล่ะ แต่จิตมันปล่อยได้ มันฟรีได้ มันว่างได้ พอมันฟรีขึ้นมา มันว่างขึ้นมา มันว่างขึ้นมาด้วยพลังงานที่มันมีอยู่ แต่ความว่างของเขา คือความว่างแบบปฏิเสธ.. ไม่มี

แล้วพอว่าง มาหาเรา “หลวงพ่อ ว่างๆ ว่างๆ ทำอย่างไรต่อ”

เรารู้ เราเลยบอก ถ้าพูดไป เขาจะโต้เถียงไง เราถึงบอก “สมมุติว่าให้นึกพุทโธ นึกได้ไหม? ”

“ได้ค่ะ”

แสดงว่าไม่จริงแล้ว มันจะว่างได้อย่างไร ในเมื่อมันยังนึกพุทโธได้

เราบอก “สมมุติว่าให้นึกพุทโธได้ไหม”

“ได้ค่ะ”

“แล้วทำไมไม่นึกล่ะ? ”

“ก็ถ้านึกแล้วมันหยาบไง”

เขาคิดว่าใจเขาสูงส่งมาก ถ้านึกพุทโธ มันจะถอยหลังมาที่หยาบๆ เขาทะลุเข้าไปที่ละเอียดแล้ว แต่ความจริงนะ เขาไม่ได้อะไรเลย เพราะจิตนี้เป็นนามธรรม มันนึกเอาเองไง มันนึกให้ทุกข์ก็ได้ นึกให้ดีก็ได้ แล้วมันก็นึกให้มันว่างไง มันนึกให้มันว่าง.. แล้วมันว่างไหม?

แต่ถ้าเราทำจริงๆ จังๆ ขึ้นมา มันจริงจังนะ ต้องจริงจัง พอจริงจังแล้วมันก็เป็นทุกข์ใช่ไหม เขาถึงบอกว่า “มันลำบากเกินไป ต้องลัดสั้น ง่าย” เพราะคำว่า “ง่าย” คำเดียวนี่ล่ะ มันเลยเป็นข้อผูกมัดตัวเองว่า “ทำลัดสั้นแล้วต้องได้ผล” พอได้ผลขึ้นมา เขาก็เลยให้ผลกันโดยที่ว่าเป็นผลจริงไม่จริง.. ไม่รู้

แต่ในความรู้สึกเรานะ “ไม่จริงสักอัน” ไม่จริง เพราะถ้าเป็นจริงนะ เป็นจริงขึ้นมา

หลวงปู่ดูลย์ท่านเป็นอาจารย์ใหญ่ของฝ่ายนี้ หลวงปู่ดูลย์สร้างคนมาได้ตั้งเท่าไร แล้วทำไมพวกนี้เขาสร้างคนได้มหาศาลเลย เพราะอะไร เพราะหลวงปู่ดูลย์ท่านสร้างจริง สร้างคนจริงๆ ทำจริงๆ

แต่พวกนี้ เฮไหน เฮนั่นไง เฮกันไปก็เฮกันมา (หัวเราะ) เสียดาย

โยม ๑ : หลวงพ่อครับ ผมเคยฟังซีดีของพระอาจารย์ท่านหนึ่ง ท่านสอนว่า “ไอ้ตัวขันธ์ จริงๆ แล้วมันยึดไม่ได้ แต่เราก็ชอบไปยึด” แล้วมันก็ปล่อยไม่ได้ด้วย เพราะจริงๆ มันยึดไม่ได้ มันก็เลยปล่อยไม่ได้

ไอ้ความคิดของผมตอนนั้น มันรู้สึกว่า “อืม.. จริงๆ แล้วท่านสอนดีนะ” อะไรอย่างนี้ คือแบบใจ เหมือนกับความคิดมาบอกว่า “ไอ้นั่นล่ะถูกต้อง” แต่หลังจากนั้นแป๊บหนึ่ง เรานั่งร้องไห้เลย ผมไม่แน่ใจว่าอันนี้ คือที่หลวงพ่อสอนหรือเปล่า ไอ้ตัว.. มันเหมือนกับว่ามีความคิด ๒ ชั้น ไอ้ตัวหนึ่งก็กำลังยินดีกับเรื่องท่าน ดีแต่ไอ้ตัวที่อยู่ข้างใน..

หลวงพ่อ : ไม่หรอก

โยม ๑ : หรือว่ามันหลอกกัน..

หลวงพ่อ : ไม่หลอกหรอก เราจะบอกว่า “คำสอนของเขาไม่จริง” หนึ่งนะ ประเด็นนะ “คำสอนของเขาไม่จริง” แต่ของโยม.. คำสอนของเขาไม่จริง ทำไมเราร้องไห้ได้ล่ะ? คำว่าร้องไห้ เขาเรียกว่า “ธรรมสังเวช”

อย่างเช่น เราเป็นคนที่เข้าใจอะไรผิด แล้วพอมามีคนมาบอกเรา แล้วเราเข้าใจได้ว่าสิ่งที่เราเข้าใจผิด เราจะเสียกับการกระทำของเรา เราเสียใจ เราสะเทือนใจ นั่งน้ำตาไหลพรากเลย นี่ก็เหมือนกัน พอเราไปฟังคำนี้เข้า มันสะเทือนใจเรา เขาเรียกว่า “ธรรม”

พอเกิดธรรมะ นี่ธรรมะมันสะเทือนหัวใจเรา พอสะเทือนหัวใจปั๊บ ความดีใจ ความเสียใจ มันจะออกมาเป็นการร้องไห้ เขาเรียก “ธรรมสังเวช”

“ธรรมะ กับ การสังเวช”

การสังเวช เหมือนกับเราสลดสังเวชกับเรื่องต่างๆ เป็นเรื่องโลก แต่คราวนี้มันไปสะเทือน ธรรมะมันสะเทือนใจเรา แล้วก็น้ำตาไหลเลย นี่เขาเรียกว่า “ธรรมสังเวช”

แต่ไอ้นี่มันเกิดขึ้นมาเพราะว่าเราไม่ได้ตั้งใจนะ ถ้าเราไปตั้งใจจะให้เป็น ไม่เป็นหรอก

โยม ๑ : ก็นั่งดูตัวเองร้องไห้อยู่แล้วมันจะร้องไห้ทำไมก็ไม่รู้ทั้งๆ ที่ก็คิดว่า มันไม่เห็นมีเรื่องที่ต้องร้องไห้เลย

หลวงพ่อ : มันไปจุดที่มันสะเทือนใจพอดี อันนี้ ไอ้อย่างที่พูดเมื่อกี้ ที่บอกเราไม่เห็นด้วย อะไรนะ

“ขันธ์ ๕ เป็นสิ่งที่ละไม่ได้ แล้วเราถึงไม่ต้องไปละมัน”.. ไม่ใช่

“ขันธ์ ๕ นี่ละได้”

“ส้มกับเปลือกส้ม” ส้มนี่เราปอกเปลือกทิ้งได้ไหม?

ความคิด เราจัดการมันได้ ถ้าเราจัดการความคิดไม่ได้ พระโสดาบันเกิดไม่ได้หรอก พระโสดาบันเขาละขันธ์ ๕ นี่ไง

“ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕”

“ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕”

ละได้ไหม? สักกายทิฏฐิ ๒๐

ก็เริ่มต้นก็นี่ล่ะ เราเริ่มต้นเราก็ต้องทำความสงบของใจเข้าไปก่อน เพราะธรรมชาติของมัน ส้มกับเปลือกส้มมันอยู่ด้วยกัน แต่พอเราทำจิตเราสงบเข้ามา “พุทโธๆๆๆ” พอมันสงบ.. นั่นคือเนื้อส้ม

แล้วพอเนื้อส้ม พอมันสงบ มันสงัด มันสงบแล้วมันมีหลักมีเกณฑ์ของมันแล้ว เราให้ออกรู้ ถ้ามันออกไปเห็นกาย คือเห็นเปลือกส้ม

“กาย เวทนา จิต ธรรม” คือเปลือกส้ม

“ความรู้สึก” คือเนื้อส้ม คือตัวจิต

ตัวความรู้สึกเราคือตัวจิต

“ความคิดไม่ใช่เรา” ทีนี้ความคิด ไอ้ความคิดกับเรา จริงๆ ถ้าพวกนี้ ไม่ใช่กิเลสหมดเลย พวกนี้คือธรรมชาติ แต่กิเลสคือตัณหาความทะยานอยากที่มันอาศัยพวกนี้แสดงตัวออก มันแสดงออก มันแสดงออกมาโดยผ่านกาย ผ่านเวทนา ผ่านจิต ผ่านธรรม

ฉะนั้นพอจิตสงบเข้าไปแล้ว พอจิตเห็นอาการ จิตคือรูป ความคิดคือนาม

นามไง นามคืออะไร? คือสัญญา

สัญญาของเรา ข้อมูลในใจของเราว่า “ร่างกายนี้เป็นของเราหรือเปล่า? ”

“แน่นอนล้านเปอร์เซ็นต์”

ในข้อมูลนี่ก็บอกว่า “เราก็คือเรา” ใช่ไหม แต่ความจริง “มันเป็นเราโดยสมมุติ” คือชั่วชีวิตหนึ่ง

แต่ถ้าเป็นธรรมะ พอธรรมะมันแบ่งแยกตรงนี้ปั๊บ มันจะขาดกันที่สังโยชน์ไง “เครื่องร้อยรัด” เพราะถ้าจิตมันยังยึดอยู่อย่างนี้ มันก็ต้องเกิดต้องตาย เพราะมันมีแรงขับ แต่ถ้าพิจารณาไปจนมันขาด เขาเรียก “สังโยชน์มันขาด” มันก็อยู่ด้วยกันนี่ล่ะ แต่ไม่มีเครื่องร้อยรัด คือน็อตที่มันขัน น็อต.. เราเอาอะไรมาเกี่ยวไว้ เราเอาอะไรมาต่อกัน แล้วน็อตจับไว้ ถ้าเราคลายน็อตออก มันก็อยู่ของมันอย่างนั้น น็อตไม่มี

สังโยชน์ คือน็อต เครื่องร้อยรัดไว้ไง ๓ ตัว “สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส”

ถ้าคลาย ๓ ตัวนี้ออก.. ร่างกายเราก็มีอยู่อย่างนี้ จิตใจเราอยู่อย่างนี้ แต่เรารู้จริงเห็นจริง มันปล่อยออกไปด้วยเครื่องร้อยรัด เครื่องร้อยรัดนี้มันไม่มี มันเป็นอิสระต่อกัน เห็นไหม เราถึงบอกว่า “ความคิดหรือว่าร่างกายไม่ใช่กิเลสหรอก”

แต่ตัณหาความทะยานอยาก ความเข้าใจผิด ความเห็นผิดของจิตใต้สำนึก คือกิเลส

แล้วคือกิเลส เราจะเอามันขึ้นมาเพื่อชำระล้าง เราถึงต้องมีจิตที่สงบ จิตที่..

ความรู้สึกอันนี้ที่มันเป็นอิสระ แต่โดยปกติของเรา ความรู้สึกเราไม่เป็นอิสระแล้ว

ปกติเราความคิด.. ความรู้สึกเราไม่เป็นอิสระเพราะอะไร เพราะมันมีกิเลสมันเป็นอนุสัย มันนอนเนื่องมากับความรู้สึกอันนี้ แล้วมันก็ออกมาเป็นความคิด ความคิดนี้เลยสกปรกไปด้วย

ฉะนั้นความคิดนี้ ความคิด ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ นี้ไม่ใช่กิเลสหรอก เพราะพระอรหันต์ก็มี

พระอรหันต์ท่านจะทำจิต ทำรูป คือทำจิตท่านสะอาดแล้วนะ ไอ้ความคิด ร่างกายพระอรหันต์ก็มีอยู่เหมือนกัน ไม่มีกิเลสเลย แต่เรานี่กิเลสเต็มตัวเลย เพราะเรายังไม่ได้แก้ไง

นี่พระพุทธเจ้าสอนธรรมะ คือเข้ามาแก้ตรงนี้ได้ไง พอยังแก้ไม่ได้ เราก็ทำให้จิตสงบเข้ามาก่อน จิตสงบเพราะอะไร.. จิตสงบเพราะเพื่อให้ความคิดเราไม่บวกด้วยความพอใจของเรา โดยธรรมชาติ ความพอใจ ความนึกคิดของเรา คืออวิชชา คือความไม่รู้ตัว

ฉะนั้น พอมันสงบเข้ามาแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้น ปัญญาที่เกิดขึ้น ให้เกิดขึ้นจากสัจจะความจริง คือไม่ใช่ความพอใจ เกิดขึ้นตามความเป็นจริง เรียก “สัจธรรม”

ทีนี้พอสัจธรรมอันนี้เป็นจริงขึ้นมา เพราะถ้าจิตสงบแล้ว.. พอเห็นกาย ทำไมคนเห็นกาย เห็นกายแล้ว ขยายให้แยกส่วน วิภาคะไง

ทำไมจิตสงบแล้ว.. อย่างที่พูดถึงกสิณเมื่อกี้ ทำไมเราขยายไอ้วงกสิณนี้ให้เล็กใหญ่ได้ล่ะ

พอจิตสงบแล้วไปเห็นกาย มันดูเห็นกาย มันให้กายเป็นไตรลักษณ์ ให้มันแปรสภาพได้ แล้วเราดูด้วยตาก็บอกให้มันเป็นๆ มันเป็นไหมล่ะ?

เพราะอะไร เพราะจิตมันสงบไง เพราะมันไม่มีความพอใจ ความเห็นของเราเข้าไปบวกไง มันเป็นไปตามสัจจะความจริงอันนั้น แต่ต้องมีพลังงานพอ คือจิตต้องมีสมาธิพอ ถ้าพอจิตมันเป็นสมาธิพอ มันไปเห็นกาย เห็นจิต แล้วพิจารณาไป มันจะเห็นเป็นไตรลักษณ์ได้ แต่เป็นไตรลักษณ์ได้ เขาเรียกว่ามันปล่อยชั่วคราว คือตทังคปหาน

ฉะนั้น พอเราทำบ่อยครั้งเข้า เหมือนเราทำบ่อยครั้งเข้า ร่างกายต้องอ่อนเพลียเป็นธรรมดา เพราะทำงาน ร่างกายต้องอ่อนเพลียเป็นธรรมดา จิตพอทำงานมันเข้าไป มันก็เสื่อมเป็นธรรมดา พอจิตมันเสื่อมปั๊บ ให้เป็น ไม่เป็นแล้ว.. กำลังไม่พอ

ต้องรีบทิ้งงานนั้นกลับมาที่สมาธิ มาสร้างความเป็นสัจธรรม สร้างความเป็นสมาธิ คือสร้างความใจที่เป็นกลาง ที่ไม่บวกด้วยความรู้ความเห็นของเรา แล้วกลับไปทำงานอีก มันก็จะเป็นอย่างนั้นอีก แล้วพอมันเสื่อม ก็ต้องกลับมาที่พุทโธอีก

ถ้าจิตเราอ่อนแอปั๊บ เราจะมีความล้า ถ้าจิตเราอ่อนแอปั๊บ จิตเราไม่มีกำลังปั๊บ มันจะไม่เป็นสัจธรรมแล้ว มันจะเป็นความคิดบวกไง คืออยากให้เป็นอย่างที่เราอยากเป็นน่ะ.. ไม่มีทาง

นี่ไง ถึงว่าเหตุผลทำไมถึงต้องทำสมาธิกัน? เหตุผลทำไมต้องทำใจให้เป็นกลาง?

“เพื่อจะไม่ให้บวกด้วยความรู้ความเห็นของเรา”

ฉะนั้น ถ้ามันเป็นจริงนะ นี่โดยข้อเท็จจริง พระพุทธเจ้าสอนหลักสัจธรรมมันเป็นอย่างนี้ ทีนี้พอหลักสัจธรรมเป็นอย่างนี้ปั๊บ แล้วเราเรียนทฤษฎีกัน เราเข้าไปรู้เข้าใช่ไหม ทีนี้ก็เกิดจินตมยปัญญา คือจินตนาการกัน

“โอ้ว.. ร้อยแปดเลย” พระอรหันต์เต็มบ้านเต็มเมือง (หัวเราะ) พระอรหันต์เต็มไปหมดเลย

โยม ๑ : หลวงพ่อครับ อย่างขันธ์ ๕ มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตัววิญญาณมันคือธาตุรู้ที่เป็นปฏิจจสมุปบาทหรือเปล่า

หลวงพ่อ : ไม่ใช่.. ไม่ใช่..

“รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ.. จิต”

วิญญาณตัวนี้.. ถ้าวิปัสสนานะ ถ้าวิปัสสนา ถ้าจิตสงบแล้ววิปัสสนา.. เดี๋ยวให้หนังสือพิจารณาจิตของเรา “วิญญาณตัวนี้เขาเรียกวิญญาณในขันธ์ ๕ กับวิญญาณในปฏิจจสมุปบาทนะ”

“อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง”

ถ้าทำเป็นนะ ถ้าภาวนาเป็น เขาเรียก “ภาวนาเป็น” โอ๊ย.. สนุกมากเลย มันจะไปเห็นเลยนะว่า “วิญญาณอันนี้ วิญญาณในขันธ์ ๕”

ถ้าโยมฟังเสียงเรา แล้วโยมคิดไปเรื่องอื่น เขาเรียก “โสตวิญญาณ”

ขันธ์ ๕ ไง “รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ”

“วิญญาณตัวนี้ วิญญาณในขันธ์ ๕”

“กลิ่น” ดมกลิ่น ถ้าเราดมกลิ่นแล้ว ถ้าเป็นหวัด หรือเราไม่ต้องเป็นหวัด เราปฏิเสธ เราจะไม่ได้กลิ่นอะไรเลย เขาเรียก “ฆานวิญญาณ” วิญญาณทางจมูกไง ในวิญญาณในขันธ์ ๕

วิญญาณในอายตนะ “ตา หู จมูก ลิ้น กาย” มันต้องมีวิญญาณรับรู้ วิญญาณอันนี้เป็นวิญญาณในขันธ์ ๕

โยม ๑ : อ๋อ.. เข้าใจแล้วครับ คือเป็นวิญญาณของอายตนะใช่ไหมครับ?

หลวงพ่อ : วิญญาณของจิตเลยล่ะ

โยม ๑ : ของจิตเลยเหรอครับ

หลวงพ่อ : เออ.. ใช่.. มันเป็นวิญญาณอายตนะ เป็นวิญญาณของสามัญสำนึกนี่ไง

แล้วถ้าขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕.. ในขันธ์ ๕ มี “รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ” แล้ววิญญาณนี้ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่วิญญาณ แล้วกูตายหรือยังล่ะ? กูก็ยังไม่ตายนะมึง ขนาดกูทิ้งวิญญาณกูไปแล้วนะ กูยังไม่ตายเลยนะมึง กูยังอยู่ เพราะเรามีวิญญาณอีกตัวหนึ่ง

“รูป กับ นาม” ในรูปนี่มันมีพร้อมทั้งขันธ์ ๕ มีพร้อมทุกอย่างหมด เพราะอะไรรู้ไหม

เพราะพระอนาคาไม่มีขันธ์ ๕

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส” ในผ่องใส นี่ที่ว่าปฏิจจสมุปบาท อิทัปปัจจยตา ในตัวของมันเอง แต่เขาเอาอิทัปปัจจยตามาใช้กับสามัญสำนึก.. มันคนละเรื่องกันนะมึง อิทัปปัจจยตา มันจะอยู่ในตัวของมันเอง

“สิ่งนี้มี เพราะมีสิ่งนี้” แล้วมันอยู่ในตัวมันเอง มันซ้อนกันอยู่

จิตเดิมแท้นี้จะไวมาก

ทีนี้วิญญาณมัน.. เวลาเราภาวนาไป เราจะเห็นอะไรอย่างนี้หมด

เราบอกนะ ถ้าเป็นพระโสดาบัน ไม่เกิดต่อไป มันมีเหตุใด? อะไรที่มันไม่เกิดอีก?

พระสกิทาคามี พระอนาคามี.. พระอนาคามีจะไม่เกิดบนสวรรค์อีกแล้ว ไปเกิดบนพรหม เป็นเพราะเหตุใด? แล้วพระอรหันต์ไม่เกิดอีก เป็นเพราะอะไร?

นี่วิญญาณ.. หยาบ-ละเอียด

มันเหมือนเราซื้อตั๋วเครื่องบินเลย เอ็งนั่งชั้นไหนอยู่ที่ตั๋วเครื่องบินมึงเลย

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เราทำจิตของเราระดับไหน พอระดับไหน เราจะย้อนกลับมาที่ว่ามันจะเข้าใจที่โยมถามนี่ไง พระโสดาบัน มันได้ละอะไรไปบ้าง? วิญญาณอะไรมันละไปบ้าง? พระสกิทาคามี พระอนาคามี มันตัดอะไรไปบ้าง? มันรู้มาหมดเลยนะ !

โยม ๑ : โดยที่ไม่เคยศึกษาอะไรมา ก็ต้องรู้ได้ด้วยตัวเอง

หลวงพ่อ : แน่นอน! ถ้าไม่อย่างนั้นถ้ามึงไม่รู้ไม่เห็น มึงจะเป็นพระโสดาบันได้อย่างไร?

ไม่ต้องเรียนอะไรมาเลยน่ะ “ผลัวะ ! เอ๊อะ ! เอ๊อะ !” เลยล่ะ

มันเป็นข้อเท็จจริงอย่างนั้นเลย จิตอย่างนี้ คุณภาพของจิตอย่างนี้จะได้ระดับนี้ คุณภาพจิตอย่างนี้จะเป็นอย่างนี้ คุณภาพจิตอย่างนี้จะเป็นอย่างนี้ แล้วคุณภาพจิตอย่างนี้มันได้คายอะไรออกไปบ้าง.. จนถึงที่สุดนะ ตัวจิตต้องทำลายหมด

พระอรหันต์ไม่มีจิต มีแต่ธรรมธาตุ ถ้ามีจิต คือมีภพ

ทีนี้เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า “จิตพระอรหันต์เป็นอย่างนั้นๆๆ”

ถ้าท่านพูดกับเด็กๆ ไง แต่ถ้าพูดด้วยกันนะ ท่านไม่พูดอย่างนี้

ถ้าพูดด้วยกันนะ ถ้าผู้รู้ด้วยกัน พอบอก “จิต”.. “ห๊ะ ห๊ะ?”

“จิตก็ตีหัวจิตเลยสิ”

จิตก็มีสถานที่ มีฐีติจิต มีข้อมูล มีที่เก็บข้อมูล.. ต้องทำลายหมด.. ไม่มี !

“พระอรหันต์ไม่มีจิต”

“อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจิง สูติ” อาสวะสิ้นไป สิ้นที่ไหน? .. สิ้นที่จิต

“อาสเวหิ จิตฺตานิ” จิตวิมุตติ.. หมดสิ้นแล้ว

มารถึงหาไม่เจอไง ถึงไม่เกิดอีกไง มารคือควบคุมจิตทั้งหมดให้เวียนตายเวียนเกิด แล้วผู้ควบคุมมันหาที่มันจะคุม หาที่มันจะยึด.. ไม่มี มันคุมไม่ได้ มันคุมจิตตัวนี้ไม่ได้อีกเลย

นี่วิญญาณ วิญญาณในขันธ์ ๕ เราใช้คำอย่างนี้ เราใช้คำว่า “วิญญาณในขันธ์ ๕” กับ “วิญญาณในปฏิจจสมุปบาท” เพราะเหตุกรณีอย่างนี้ มันถึงทำให้เรา คนเกิดคนตาย ระลึกชาติไม่ได้ เพราะขณะที่เราเป็นมนุษย์ เราจะใช้วิญญาณในขันธ์ ๕ นี้กัน แล้วเราไม่เคยเห็นวิญญาณในปฏิจจสมุปบาท เราไม่เคยเห็นข้อมูลเราเลย เรามีวิญญาณแต่รับรู้กัน สื่อสารกันในสามัญสำนึก

แต่ไอ้ข้อมูลอันที่เราทำได้สะสมมาตั้งแต่อดีตชาติ สะสมมาแบบพระพุทธเจ้าที่เป็นพระโพธิสัตว์.. อันนี้ ที่เราถามกันว่า “หนูจะทำอย่างไร หนูจะปฏิบัติอย่างไร” ไอ้จริตนิสัยอันนี้ มันอยู่ในประเด็นนี้

แต่สิ่งที่เราสื่อสารกัน มันสื่อสารกันด้วยขันธ์ ๕ วิญญาณในขันธ์ ๕ สื่อสารกัน แล้วเขาบอก “เกิดดับ แล้วพอดับแล้วจะสิ้นกิเลส” เราถึงไม่เคยฟังเลย เราไม่เคยฟังเรื่องอย่างนี้เลยนะ เพราะวิญญาณ.. มันลึกซึ้งมาก แต่ถ้าใครเข้าไปทำ รู้เห็นหมดแล้ว คือมันตีแผ่กลางหัวใจเราไง มันเอาความรู้สึกเรามาตีแผ่หมด ไม่มีอะไรซ่อนเร้นเลย ไม่มีอะไรแอบแฝงในใจเรา

พระพุทธเจ้าบอกเลย “ไม่มีกำมือในเรา เราแบตลอด”

จิตนี้จะเคลียร์หมดเลย.. จะรู้จะเห็น

เวลาพูดอย่างนี้ปั๊บ มันก็เลยเป็นขั้นตอนไป พอขั้นตอนอย่างนี้ปั๊บ เวลาปฏิบัติ ถ้าฟังอย่างนี้แล้ว ขาอ่อนเลยเนาะ “แล้วเมื่อไรจะถึงวะ? ” (หัวเราะ) แต่ทำได้ !

โยม ๒ : แต่หลวงตาท่านไม่เคยเทศน์แบบนี้นะคะ

หลวงพ่อ : ยิ่งกว่าเทศน์

โยม ๒ : ท่านเทศน์แต่แบบเราเข้าไม่ถึง

หลวงพ่อ : ใช่ !

โยม ๒ : เราจับไม่ถึง

หลวงพ่อ : ยิ่งกว่าเทศน์อีก เพราะเราอ่านมาตลอด ธรรมะหลวงตา พูดดีกว่าเราหลายชั้นเลย แต่พวกเรา เวลาอ่านแล้ว..

ตอนเช้าวันนี้เราพูดเหมือนกัน เราบอกว่า.. เราพูดกับโยม โยมเขาบอก ที่เขาบอกเขาพิจารณากันแล้วบอก “มันเป็นวิทยาศาสตร์นะ ทำไมหลวงพ่อว่าผิดล่ะ? ”

เพราะเราไปคิดแบบวิทยาศาสตร์ไง มันเลยเป็นชั้นเดียว วิทยาศาสตร์มันเป็นสิ่งที่พิสูจน์ไง แต่ธรรมะมันมีลึกซึ้ง มันมีหลายชั้นหลายตอน ทีนี้เวลาท่านพูดอยู่ แต่เราใช้สมองอันดั้งเดิมของเราไปจับ มันก็เลยคิดแบบตลาดไง

โยม ๒ : แล้วทำอย่างไรจะให้ถึง..

หลวงพ่อ : ที่โยมฟังวันนี้ เข้าใจหรืออะไร เพราะโยมได้ปรับสภาพมาเรื่อยๆ ไง โยมได้ฟังธรรมะมา แล้วปรับสภาพจิตใจเรามาเรื่อยๆ พอมาฟังอย่างนี้ปั๊บก็ “อ๋อ !” แต่ถ้ายังไม่ได้ปรับ.. ถ้าไม่ได้ปรับสภาพมาเลยนะ มันก็ว่าเราพูดแบบวิทยาศาสตร์ไง

เพราะทุกคนมาหาเราจะบอกว่า “หลวงพ่อ ก็พูดให้เป็นวิทยาศาสตร์ ทำไมหลวงพ่อไม่ยอมรับล่ะ? ”

เราพูดในระดับอะไร? มันเหมือนเราพูด เราคุยกับเด็ก เด็กเล็กๆ เราจะสื่อสารกับเด็กเล็กๆ เราต้องลดตัวเราไปคุยกับมันให้รู้เรื่องนะ อันนี้ก็เหมือนกัน ธรรมะพระพุทธเจ้านี้ลึกซึ้งมากเลย แต่เราคิดได้ประสาเรา เราก็ว่า “พระพุทธเจ้าพูดระดับที่เราคิดนี่”

เฮ้ย ! ไม่ใช่นะมึง.. ไม่ใช่ !

แต่เราคิดเลยว่า “พระพุทธเจ้าพูดได้อย่างที่เราเข้าใจ”.. เขาคิดกันอย่างนั้นไง

“โอ้โฮ.. พระพุทธเจ้านี่สุดยอด สุดยอดเลย”

เราจะบอกว่า “เออ.. อีกไกลนะ พวกมึงนี่อีกไกลนัก.. อีกไกลนัก !”

แต่เราคิดเลย “โอ้โฮ.. พระพุทธเจ้านี่สุดยอดเลย แหม.. อย่างนี้สุดยอดเลย”

พอไปรู้อะไรเข้า มันตื่นเต้นไง

โยม ๑ : คือหลวงพ่อบอกว่าคนที่มีระดับทางจิตต่างกัน เวลาฟังธรรมะของพระพุทธเจ้าจะเข้าใจต่างกัน

หลวงพ่อ : ทุกคน ทุกที่ นานาจิตตัง เป็นอย่างนี้มาตลอด

ครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติมา ท่านเข้าใจสิ่งนี้แล้ว ทีนี้เวลาเทศนาว่าการไป..

หลวงตาท่านใช้คำนี้นะ ซึ้งมากเลย “แกงหม้อใหญ่ รสชาติเข้มข้นไม่ได้” คือเด็กมันกินไม่ได้

“แกงหม้อใหญ่ แกงหม้อเล็ก แกงหม้อจิ๋ว”

แกงหม้อจิ๋ว คือ พระกับพระคุยกัน ผู้ปฏิบัติกับผู้ปฏิบัติ นักวิชาการกับนักวิชาการคุยกัน เราใช้ศัพท์สื่อทางวิชาการ เข้าใจได้หมด

ถ้าแกงหม้อใหญ่ พูดกับสังคม เราจะเอาอะไรคุยกับเขา?

แต่ถ้าในวงพระกับพระ ท่านใส่กันได้เลย

ยิ่งผู้ปฏิบัติ ระดับปฏิบัติ เวลาแก้จิตกัน

ฉะนั้น ไอ้จิตแก้จิต มันถึงเข้าใจได้ว่า “ใครอยู่ขั้นไหน”

หลวงตาจะบอกเลย “พูดมา ! โสดาบันผ่าน สกิทาคาผ่าน อนาคาไม่เห็น”.. จบแล้ว แค่นี้

ถ้าอนาคาผ่าน “ต่อไป !”

เพราะเขารู้กันอยู่แล้วใช่ไหม มาจากกรุงเทพฯ ใช่ไหม นครปฐม เข้าโพธาราม มาถึงหนองกวาง บอกเขาออกจากกรุงเทพฯ มาเลย พอถึงนครปฐมบอกว่า “ถึงแล้ว” มันจอดอยู่นั่นน่ะ มันนอนอยู่นั่น มันบอกว่า “ถึงแล้ว”

เราเข้าใจได้หมด ถ้าไม่เข้าใจ มันผ่านนครปฐมมา.. มันผ่านมา.. ผ่านมา.. มันต้องบอกเลย ผ่านนครปฐมมา ผ่านถนนอะไรมา ออกอะไรมา.. อะไรมา.. เวลาพระเขาคุยกัน เขาคุยกันอย่างนี้นะ

“พิจารณากายหรือยัง? ผ่านกายอย่างไร? ผ่านจิตอย่างไร? ”

ไม่เคยเห็นนครปฐม เห็นแต่รูป นครปฐมอยู่นั่น นครปฐมตั้งอยู่ตรงไหนวะ? ก็ตั้งอยู่ตรงนั้นไง

แล้วตั้งอย่างไร? ก็ตั้งอยู่ตรงนี้ไง

แล้วทำอย่างไร? ก็ตั้งอยู่ตรงนั้นไง

มันเห็นแต่รูป.. แต่ถ้าเราขับรถผ่านมาเลย.. โอ้โฮ..

เวลา “ธัมมะสากัจฉา” มันจะเข้าใจกันได้

เราทำของเราไป ปฏิบัติของเราไป.. ถูกต้อง กระแสมันจะแรง มันจะอย่างไร มันก็กรรมของสัตว์ กรรมของสัตว์ ใครเชื่อ ใครติดร่างแหไป มันก็เรื่องกรรมของเขา

ถ้าเรามีหลักมีเกณฑ์ มีหลักมีเกณฑ์ ถ้าพูดอย่างนั้น เขาจะหันมาดูพวกเรานะ แล้วก็จะบอกเลยนะ “ไอ้พวกนี้โง่ฉิบหายเลย ทางง่ายๆ ทางลัด ทางสั้นก็เยอะแยะไป มันไม่ทำ มันตะบี้ตะบันให้ลำบากอยู่นี่ พวกนี้โง่มากๆ เลย”

เขาก็สังเวชพวกเรานะว่าเรานี่ “โอ้โฮ.. โง่มาก เต่าตุ่น มีทางดีๆ ไปไม่ไป”

ไอ้เราหันกลับไปดูว่าไอ้พวกนี้ พวกอะไรนะ “พวกตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” พอเดี๋ยวน้ำพริกมันละลายหมดแล้ว มันไม่มีอะไรจะกิน มันจะรู้ตัวทีหลัง

ไอ้เราก็มองไป มองไปสงสารเขา.. ไอ้เขาก็มองเรา เขาก็สงสารเรา

เอ้อ.. ก็แปลกกันอยู่ นี่เอาความจริงพิสูจน์กัน เขาก็สงสารเรา เราก็สงสารเขา.. ไม่รู้ใครสงสารใคร เขาก็สงสารเราเนาะ “ลำบากน่าดูเลยน่ะ มันทรมานตนน่าดูเลยน่ะ ง่ายๆ ก็ไม่มากัน โอ้โฮ.. พวกนี้.. พวกอะไรนะ.. ทุกข์นิยม” (หัวเราะ)

โยม ๑ : หลวงพ่อครับ ที่หลวงพ่อบอกว่าคนที่ภาวนาแล้วจิตลงเป็นสมาธิง่ายๆ คือพวกสัทธาจริต แล้วคนที่ภาวนาจิตลงยาก ก็เป็นพวกพุทธจริต ดังนั้น มันเลยมีการปฏิบัติแบบปัญญานำสมาธิ กับ สมาธินำปัญญา

หลวงพ่อ : ใช่.. เราพูดอย่างนั้น

โยม ๑ : อยากจะให้หลวงพ่อช่วย..

หลวงพ่อ : เราพูดอย่างนั้น แต่โยมเข้าใจผิด เมื่อกี้ให้ปล่อยให้พูดมาก่อน เราไม่ค้านไง เราไม่ค้านว่าสัทธาจริตจะปฏิบัติง่ายๆ ไม่ใช่

สัทธาจริต คือมีความเชื่อมั่น คนที่มีศรัทธาเป็นฐาน เขาทำด้วยความเชื่อมั่นของเขา

ฉะนั้น กำหนดพุทโธๆๆ เพราะเขาเชื่อมั่นของเขา เขาถึงทำของเขาได้

พุทธจริต มันเป็นพวกปัญญาชน “อะไรวะ.. อะไรก็พุทโธ อะไรก็พุทโธ พุทโธอย่างเดียวก็ไม่เห็นมีอะไรเลย”

สัทธาจริต มันเชื่อมั่น

พุทธจริต มันต้องหาเหตุผล

สัทธาจริต คือพระโมคคัลลานะ ๗ วันเป็นพระอรหันต์

พุทธจริต คือพระสารีบุตร.. ไม่ได้ ต้องหาเหตุผล ต้องหาเหตุผล.. ๑๔ วัน ช้าอีกเท่าตัว

อันนี้คนอย่างพวกเรา โดยสามัญสำนึก ดูเราวิจัยสิ

พุทโธเราก็ “พ.พาน สระอุ ธ.ธง พุทโธมันจะมีอะไรวะ”

เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเราไม่ซาบซึ้ง เราไม่ใช่พุทโธออกมาจากจิต แต่ถ้าเราจะพุทโธด้วยความซาบซึ้งของเรานะ เราอ่านประวัติของพระพุทธเจ้าก่อน พระพุทธเจ้าท่านทุกข์ยากมาขนาดไหน พระพุทธเจ้า ทำไมท่านถึงเป็นพระอรหันต์ได้ พระพุทธเจ้าท่านสร้างบุญญาธิการน่ะ อ่านแล้วน้ำตาไหล.. เศร้าใจน่ะ

พุทโธได้แล้ว เพราะมันซึ้งใจ คือคำว่าพื้นฐานจากใจมันมี มันก็นึกถึงพระพุทธเจ้าได้ด้วยความดูดดื่ม ทีนี้ ด้วยปัญญาชนเดี๋ยวนี้ ศาสนาก็ไม่ได้ศึกษา อะไรก็ไม่เคยรู้เรื่องเลย อยู่ดีๆ ก็ให้พุทโธ

เราถึงย้อนกลับหลวงปู่เจี๊ยะไง หลวงปู่เจี๊ยะท่านบอกเลยนะ “ขี้ๆๆๆ นี่สงบได้หรือเปล่า? ”

เอ็งบอก “พุทโธๆ”

ทีนี้ คนอีกคนหนึ่งมาบอกว่า “คนนี้โง่มาก ไม่เข้าใจอะไรเลย นึกพุทโธก็ไม่ได้ นึกว่าขี้ๆๆๆ”

“ขี้ๆ” คือคำบริกรรม เหมือนกับเราบริกรรมออกมาจากใจนั่นล่ะ “ขี้ๆๆ” มันจะสงบได้ไหม.. ก็ได้

พอคำว่า “สัทธาจริต” คือมีความเชื่อมั่น มีความศรัทธา

“พุทธจริต” คือว่าต้องมีปัญญา

ทีนี้พุทธจริต พวกเราปัญญามันเยอะ มันต้องมีเหตุผล ฉะนั้นมีเหตุผลว่าเหตุผลอันนี้ เหตุผลที่กิเลสมันกระตุ้นขึ้นมา มันเลยทำให้เราทุกข์ เราก็เลยเอาสติปัญญากรองมัน.. กรองมัน.. พอกรอง มันมีเหตุผลที่เหนือกว่ามันก็หยุด หยุดเฉยๆ นะ

เพราะการที่ทำด้วยปัญญาอบรมสมาธิ มันมี ๓ ขั้นตอนของมัน

“รู้เท่ารู้ทัน”

“ตามรู้ตามเห็น”

“รู้เท่ารู้ทัน รู้แจ้งแทงตลอด”

“ตามรู้ตามเห็น” เรามาคิดถึงชีวิตเราสิ เราทุกข์ไหม? แต่ถ้าคนเขาไม่คิดหรอก เขาบอกว่า “คนโน้นทำเรา คนนี้ทำเรา” ก็มันโทษคนอื่นหมดเลย

แต่ถ้าเราตามรู้ตามเห็น ความคิดเรามันให้ผลเป็นความทุกข์กับเรา แล้วเราจะหยุดมันอย่างไร? ตามมันไป “มันจะรู้เท่ารู้ทัน”

“รู้เท่ารู้ทัน” อย่างที่ว่ามันเห็น แฮงค์.. เห็น “รู้เท่ารู้ทัน รู้แจ้งแทงตลอด” มันจะควบคุมได้หมดเลย

ความคิดนี้มันเกิดมาจากไหน? มันเกิดมาเพราะเหตุใด?

พระพุทธเจ้าถึงบอกไง “ความคิดเกิดมาจากรูป รส กลิ่น เสียง”

“รูป รส กลิ่น เสียง” สิ่งนั้นมันมีอยู่ แล้วเรากระทบมัน เราก็เอาอันนี้มาคิด

พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า “รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร”

มาร เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร

มารคือใคร? มาร คือจิต เพราะจิตเรามีมารอยู่ มันได้ผลกระทบจาก “รูป รส กลิ่น เสียง” มันก็ไปเขย่ามัน พอเราใช้สติปัญญาเข้ามาจนทันตัวมารแล้ว “รูป รส กลิ่น เสียง” มันมาบูชามารไม่ได้ไง มันตัดขาดจากกัน พอตัดขาดจากกัน มันก็ควบคุมจิตได้สบายขึ้น ง่ายขึ้น.. นี่ ปัญญาอบรมสมาธิ

เราถึงพูดบ่อยมากเลยว่า “การประพฤติปฏิบัติทุกแนวทาง ผลของมันคือสมถะหมดเลย”

แต่ถ้าเป็นความเข้าใจผิด มันจะเป็นมิจฉา.. มิจฉาสมถะ ทั้งๆ ที่เขาปฏิเสธสมถะ เขาบอกใช้ความคิด คือวิปัสสนาสายตรง แต่ผลของมัน โดยข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างนั้น แต่ด้วยความคิดของเขา ด้วยการให้ชื่อของเขา เขาให้ชื่อตามความพอใจของเขา แต่มันไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง

โดยข้อเท็จจริง คนใช้ความคิดทั้งหมด คนใช้ปัญญาทั้งหมด ผลของมันคืออะไร? คือปล่อยวาง แต่ถ้ามีสติอย่างที่เราทำกัน มีสติก็เป็นมิจฉา มิจฉาเพราะอะไร มิจฉาเพราะเราเป็นเจ้าของ เราเป็นคนกระทำ เราเป็นคนควบคุม.. เอ้ย.. ถ้าเป็นสัมมา สัมมาเราควบคุม เป็นสัมมา

ถ้าเป็นมิจฉา.. มิจฉาก็ปล่อยไง ว่างๆ ไง ไม่มีอะไรเลย ว่างๆ ว่างๆ ใครเป็นเจ้าของ? ใครเป็นคนควบคุม? ใครเป็นคนเข้าใจ? ไม่มี ว่างๆ ก็ว่างๆ ไง

โยม ๑ : คือหมายถึงว่าหลอกตัวเอง

หลวงพ่อ : ใช่

โยม ๑ : ปฏิเสธไว้ก่อน

หลวงพ่อ : เราจะพูดอย่างนั้นตรงๆ เลย เราพูดอย่างนั้นเลยล่ะ มันเป็นอย่างนี้

ฉะนั้นคำว่า “สัทธาจริต-พุทธจริต” เราไม่ต้องไปคิดกับใคร มันเป็นความเชื่อมั่นออกมาจากเรา มันเป็นความเชื่อมั่นออกมาจากจิตอันนี้ ถ้าจิตมีความเชื่อมั่นอย่างนี้ เราก็ทำกระบวนการของเรา เราก็ปฏิบัติอย่างนี้

โยม ๑ : อย่างนั้นแล้วที่หลวงพ่อว่าการปฏิบัติมันจะออกมาผลเป็นสมถะ อย่างนั้น วิปัสสนาจะเริ่มเมื่อไร?

หลวงพ่อ : วิปัสสนาจะเริ่มต่อเมื่อจิตสงบ แล้วจิตเห็นอาการของจิต

จิตสงบแล้ว ถ้าโดยเจโตวิมุตติ พอจิตสงบแล้ว จิตนี้มันจะออกไปเห็น “กาย เวทนา จิต ธรรม” โดยสัจจะความจริง สัจจะความจริงโดยอริยสัจนะ

ถ้าเห็นกายนะ.. “เอ๊อะ” มันกระเทือนขั้วหัวใจ ขนพองสยองเกล้าหมดเลย แต่นี่ก็เห็นกายนะ.. “เห็นกายๆ” เห็นกายก็เหมือนเราฝันไง.. ไม่มีทาง ! คนเห็นกายจริงๆ นะ มันสะเทือนขั้วหัวใจเลย โอ้โฮ.. มันสั่นไหวไปหมดเลย

ถ้าเห็นกายโดยข้อเท็จจริงที่ว่าจะเป็นวิปัสสนานะ ถ้าจิตมันสงบแล้ว จิตมันเห็น “กาย เวทนา จิต ธรรม” โดยข้อเท็จจริงนะ แล้วคำว่า “ข้อเท็จจริง” แล้วเราเห็น ปกติเราก็เห็นอยู่ทุกวัน กาย เวทนา เราก็รู้หมด แล้วมันมีผลอย่างไร?

นี่ไง.. มันจะเทียบเคียงให้เห็นไง มันจะเทียบเคียงให้เห็นว่า “เป็นสมถะมันจะมีความรู้สึกอย่างนี้ เป็นวิปัสสนา มันจะมีความรู้สึกอย่างนี้” คือมันคนละอันกัน.. ว่าชัดๆ เลย

ถ้าไม่คนละอันกัน ทำไมพระพุทธเจ้าบอกว่า “สมถะ-วิปัสสนา”

ทำไมพระพุทธเจ้าไม่มารวมกันไว้ล่ะ?

แต่พวกเรานี่มันไม่เป็นไง ก็นี่เวลาเขาคุยกัน ในอภิธรรม “วิปัสสนาสายตรงก็ได้.. ใช้สภาวธรรมที่เป็นปัจจุบัน” กูบอกเลย “สภาวธรรมที่มันสร้างขึ้น” “สภาวธรรมที่เป็นปัจจุบัน” สภาวธรรม ก็นึกให้มันเป็นปัจจุบัน.. ไม่มีทางหรอก

เพราะจิตนะ ถ้าสภาวธรรมที่เป็นปัจจุบัน ถ้าจิตเป็นสมาธิ พอจิตเป็นสมาธิ จิตมันไม่มีกาลเวลา มันนิ่งของมันอยู่ ถ้าพอมันใช้พลังงานออกไป มันเคลื่อนแล้ว ฉะนั้น สภาวธรรมที่เป็นปัจจุบันของเขาคืออะไร?

ก็ปากเขาพูดอยู่ ปากเขาพูดอยู่ ความคิดเขาคิดอยู่ มันจะเป็นปัจจุบันตรงไหนวะ? เราจะใช้อย่างนี้เลย เวลาพูดกับพวกหมอนะ “ปัญญาสมอง-ปัญญาจิต” ปัญญาสมอง นี่ปัญญาที่เราเรียนศึกษากันมา มันเก็บข้อมูลไว้ที่สมอง

สมองนี่โดยธรรมชาติของมัน ถ้าไม่มีพลังงาน ไม่มีจิต สมองใช้งานไม่ได้หรอก สมองมันเป็นแค่วัตถุ มันจะทำงานได้ มันต้องมีพลังงาน พลังงานอันนี้คืออะไร? พลังงานอันนี้ คือตัวจิต ตัวจิตมันมีพลังงาน “ตัวจิต” จิตมันกระตุ้นมาถึงที่สมอง สมองก็ทำงาน

ฉะนั้น เวลาที่ความคิดของเขาเกิดขึ้นมา สภาวะนั้นเป็นปัจจุบัน มาจากไหน? ก็มาจากสมอง มันเคลื่อนออกมากี่เท่าแล้ว แล้วยังมาพูดว่า “สภาวธรรมที่เป็นปัจจุบันนะ”

เหอ.. กูถามกลับเลยนะ “มันเป็นไปได้เหรอ? ”

มันยังไม่เคยภาวนา มันยังไม่เคยวิปัสสนา มันไม่เคยกระทำ มันจะไม่รู้เรื่องอย่างนี้เลย

โยม ๑ : แล้วที่หลวงพ่อว่าเมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว แต่ว่าวิปัสสนามันจะเกิดขึ้นเอง หรือมันจะต้องตั้งใจ หรือมันจะอย่างไร?

หลวงพ่อ : (หัวเราะ) ค่อยๆ ทำไปสิ..

ยังไม่ได้กวางสักตัวเลย มันบอกมันจะย่างหรือมันจะแกงนี่ เอากวางมาสักตัวหนึ่งก่อนสิ เอาเนื้อกวางมาเนาะ เราจะแกงหรือเราจะย่าง หรือเราจะ..

เราพูดอย่างนี้นะ เราพูดอย่างนี้ บอกว่า “ให้มันเป็นไป” ไปพูดดักหน้า หรือพูดอะไรไว้ก่อน เราทุกข์เอง เหมือนกับเราบอกใช่ไหม เราจะทำ เราฝึกทหารไง จากสถานีที่ ๑ เราจะไปถึงสถานีที่ ๒ พอถึงสถานีที่ ๑ นะ “เอ๊ะ.. แล้วเมื่อไหร่มันจะไปสถานีที่ ๒ วะ? แล้วมันจะออกอย่างไรวะ? ” มันจะเป็นวิปัสสนึก แล้วมันจะทำให้เราทุกข์

เราถึงสถานีที่ ๑ เราทำกระบวนการสถานีที่ ๑ ให้จบ การเคลื่อนต่อไปมันต้องเป็นสถานีที่ ๒ เราทำจิตเราให้สงบ แล้วถึงใช้ปัญญาของเราไป กระบวนการของมัน พอเราทำเสร็จหมดแล้ว งานมันจบหมดแล้ว.. มึงจะไปไหนต่อล่ะ?

มันก็เคลื่อนไปสถานีที่ ๒ โดยข้อเท็จจริงของมัน

ไอ้นี่พอบอกว่า “การฝึกทหาร จะจบด้วยสถานีที่ ๒ นะ แล้วบอกด้วยว่าสถานีที่ ๑” มันก็อยู่นั่นน่ะ ใจแหม.. ไปอยู่สถานีที่ ๒ แล้ว สถานีที่ ๑ แหม.. มันไม่ทำ พอไปเยอะๆ เลยสถานีที่ ๑ ก็ไม่เสร็จ สถานีที่ ๒ ก็เลยไม่มีด้วย

ไม่ต้องไปตกใจ ทำของเราไป อย่างที่เขาว่า “เมื่อไรจะได้วิปัสสนา เมื่อไร..” พวกเราตายตรงนี้ไง “นี่ทำสมาธิ แล้วเดี๋ยวใช้ปัญญาล่ะ แล้วอีกกี่ชาติหนูจะได้ภาวนาสักทีหนึ่ง”

ก็มึงทำสมาธิอยู่แล้ว ทำความดีอยู่แล้ว เราก็ทำอยู่แล้ว ถ้าจิตเราพอใช่ไหม

น้ำ.. เวลาน้ำขึ้น มันเอาสวะขึ้นมาด้วย เวลาน้ำลง มันก็เอาสวะลงไปด้วย

จิตของเรา ถ้ามันแย่ น้ำมันน้อย สวะมันก็อยู่บนนี้ล่ะ เราพยายามทำของเรา ถ้าน้ำมันขึ้นมา มันก็ยกสวะขึ้นมาด้วย ใจเราดีขึ้น พัฒนาขึ้น มันก็จะพัฒนาขึ้นมา ไม่ต้องไปห่วง ไม่ต้องไปทำ.. ก็มันอยู่ที่วาสนาเรา ก็เราไม่สามารถกักน้ำเราให้มากขึ้นมาได้ เราไม่สามารถลอยสิ่งใด ยกสิ่งใดขึ้นมาได้ ถ้าเราทำจิตเราให้ดีขึ้น มันก็ยกเราขึ้นมาได้

ไม่ต้องไป worry ไม่ต้องไปคิดน้อยใจเสียใจกับใครทั้งสิ้น พวกเราตายกันตรงนี้

เราถึงบอกเลย “พวกเรานี่นะ ไอ้ตกทองๆ มันจะได้ทองจากเราไป เพราะความโลภของเราเอง” ทองในคอเราแท้ๆ เลย ยังถอดไปให้เขา ถอดเลยนะ เพราะอยากได้เส้นใหญ่ไง

นี่ก็เหมือนกัน เพราะความอยากได้ของเรา แล้วเขาบอกว่า “เรานี่ลำบาก” เราจะทิ้งอันนี้เลย ทองคำในคอเราแท้ๆ เลย แหม.. ถอดให้เขา โอกาสในการประพฤติปฏิบัติของเราแท้ๆ เลยนะ เขาบอกว่า “ให้ลัดสั้นๆ นะ ให้เราเป็นคนมักง่าย ให้เราเป็นคนไม่ทำอะไรเลย”.. ก็เชื่อเขา

เราจะตาย ตายตรงนี้ไง “เมื่อไรจะวิปัสสนาสักที”

“มาหาเรา วิปัสสนาตลอดเวลาเลย ทิ้งให้หมดเลย แล้วก็มานั่งเพ่ง มานั่งกระดิกเท้ากับเรา นี่เป็นวิปัสสนา”.. แล้วก็เสร็จไง

พวกเราตายเพราะเหตุนี้ เหตุเพราะเขาจะเอาสิ่งที่ว่ามันง่าย มันสะดวกมายัดเยียดให้พวกเรา แล้วเราก็อยากได้ไปกับเขา เราเลยทิ้งรากฐานของพวกเรากันเอง พวกเราต้องทำมาจากราก ทำมาจากการกระทำของเรา

โยม ๑ : มีสมาธิ-ปัญญาใช่ไหม

หลวงพ่อ : แน่นอน เพราะมันได้ขึ้นมามันได้ของจริง มันได้ขึ้นมาจากเรา เ

เราจบนี่ก่อน