เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๗ พ.ย. ๒๕๔๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาโลกว่าประชาธิปไตยเสียงเสมอกันทุกคน “เสียงเสมอกัน” แต่เสียงเสมอกันเวลาประชาธิปไตยมันเป็นความคิดของโลก แต่ความจริงแล้วมันไม่เสมอกันหรอก ดูสิ คนไม่เหมือนคน เห็นไหม คนเหมือนกัน คนมีหัวใจมีร่างกายเหมือนกัน แต่คนไม่เหมือนกัน คนไม่เหมือนกันเพราะความคิดของคนไม่เหมือนกัน

เวลาเราไปดูคนที่ทำความผิดพลาด ไม่น่าคิดว่าคนคิดอย่างนั้นได้อย่างไร ทีนี้เวลามันผิดพลาดไปมันแบบว่าเวลามันโกรธหรือมันฟิวส์ขาด นั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เวลาคนที่วางแผน เวลาคนที่ทำความผิดนะ เขาคิดอย่างนั้นได้อย่างไร นี่ความคิดอย่างนั้นมันเกิดไม่ได้ ถ้าไม่เกิดได้เพราะอะไร เพราะว่ามันเกิดมาจากใจใช่ไหม ทุกอย่าง การขับเคลื่อน “ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกอย่างเกิดขึ้นจากใจ” ถ้าเราควบคุมใจ เราควบคุมใจของเราหนึ่ง แล้วสอง การสร้างสม การสร้างสมคือว่าอำนาจวาสนามันจะคิดออกอย่างนั้นไปไม่ได้หรอก

แต่ถ้าคนมันหยาบสิ ดูอย่างพระเทวทัต เวลาอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาพระพุทธเจ้านะ เพราะอะไร เพราะลาภสักการะเท่านั้นเอง เห็นลาภสักการะ เห็นความเป็นไปอย่างนั้น

ลาภสักการะ เราเกิดเราตายขึ้นมามันก็ทุกข์แสนทุกข์ขนาดนั้นอยู่แล้

ดูอย่างพระกัสสปะสิ พระกัสสปะมีฐานะมาก นี่เอาใจพ่อเอาใจแม่ก่อนนะ พ่อแม่ไม่อยากให้บวช พ่อแม่อยากให้มีครอบครัว ก็ยอมมีครอบครัว มีครอบครัวแต่สัญญากับภรรยาไว้ว่า “เราจะถือพรหมจรรย์กัน” เพราะเราอยากจะบวช ภรรยาก็อยากจะบวช เห็นไหม คิดดูสิคนอยู่ด้วยกันเพื่อเอาใจพ่อแม่ให้พ่อแม่มีความสุข จนพ่อแม่ตายไปแล้วแจกสมบัติทั้งหมดนะ สมบัติที่เป็นของแจก ๗ วันไม่มีวันหมด แจกไม่รู้จักหมดเสียที พอหมดแล้วออกไปบวช นี่สละสิ่งนั้นออกมาไง

แล้วพระเทวทัตก็เป็นลูกของกษัตริย์นะ สถานะของลูกกษัตริย์ก็มีวาสนามาก เพราะอยู่ในกษัตริย์มันก็มีความสมบูรณ์พอสมควรในฐานะของกษัตริย์ เวลาออกมาแล้ว เวลาบวชมาแล้วก็มาติดในลาภสักการะ ติดในชื่อเสียง ติดในอะไร

นี่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจะเข้าใจอย่างนี้ ละสิ่งต่างๆ มานะ ข้าราชการผู้ใหญ่มาก เวลาละสถานะเข้ามา ละเรื่องครอบครัวมา เวลามาปฏิบัติออกมาบวชพระแล้วก็มาติดแค่บริขาร ๘ นี่แหละ บริขาร ๘ มันก็มีผ้า มีบาตร ถ้าเป็นทางโลกเราไม่ได้ใช้ เห็นไหม บริขาร ๘ เป็นเรื่องของพระ แต่เวลาเราอยู่ทางโลกเราก็คิดตามแฟชั่น โลกต้องการอย่างไรเราก็ตามสภาวะแบบนั้น

พระก็เหมือนกัน นี่เพราะกิเลสอันเดียวกันไง ปัจจัย ๔ คือเครื่องอาศัย บริขาร ๘ อาศัยไป เพราะเรามีแค่บริขาร ๘ พระพุทธเจ้าท่านบัญญัติไว้ มีบริขาร ๘ ก็เหมือนมีปัจจัย ๔ เพราะปัจจัย ๔ นี่โลกนี้ขาดไม่ได้ ชีวิตนี้ดำรงไม่ได้ เราต้องรักษาชีวิตของเราไว้เพื่อจะประพฤติปฏิบัติ

แต่ในเมื่อมีกิเลสมีความพอใจ มันก็ต้องรักสวยรักงาม ถ้าคนรักสวยรักมันก็ต้องแสวงหาสิ่งนั้น มาติดเรื่องอย่างนี้ แสวงหาสิ่งนี้ มันเป็นความวิตกกังวลนะ เวลาเข้าทางเดินจงกรม จะวางแผนเลย “ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องสีเป็นอย่างนั้น” นี่มันคิดของมันไป

แต่ถ้าผู้ที่มีธรรมนะ อันนี้เป็นเครื่องอาศัย ถ้าขึ้นไป ๕ พรรษาขึ้นไป ๑๐ พรรษาขึ้นไปจะพ้นไป เริ่มต้นบวชตั้งแต่พรรษา ๑ ถึง ๕ พรรษา จะติดสภาวะแบบนี้ไปก่อน แต่พอ ๕ พรรษาขึ้นไปมันใช้จนเคยชินไง สิ่งที่เคยชินอย่างนี้มันเคยชินมันก็ออกไปทางอื่น แต่ถ้าเราควบคุม เราควบคุมใจของเรา ดูใจของเราเข้ามาตลอด สิ่งที่ดูใจตัวเองเข้ามาตลอดเพื่ออะไร? เพื่อให้มันสงบ

ถ้ามันไม่พอใจนะ มันไม่พอใจก็บังคับให้มันใช้ไง เวลาครูบาอาจารย์บางองค์ สิ่งที่ได้อะไรสวยงามทำให้มันเศร้าหมองซะ สิ่งที่ทำให้เศร้าหมอง ถ้ามันสวยงามก็ทำให้มันเศร้าหมอง แล้วถ้ามันมักง่ายไง สิ่งต่างๆ จะทำแต่ความสะดวกสบายของตัว ถ้าเป็นความมักง่าย เป็นความสะดวกของตัวว่า “เราปล่อยวาง เราไม่ต้องการสิ่งใด”

สิ่งที่การปล่อยวางมันต้องมีเหตุมีผล สิ่งที่มีเหตุมีผล เราต้องใช้ ไม่ใช่ความมักง่าย เราต้องรักษา ปัจจัยเครื่องอาศัย ของที่เราใช้อาศัยอยู่ต้องทำความสะอาดมัน ต้องเก็บสงวน ต้องรักษามันเป็นความประหยัด ความประหยัดมัธยัสถ์กับความตระหนี่ถี่เหนียวคนละเรื่องกันนะ ถ้าความตระหนี่ถี่เหนียวมันหวงมันแหนแล้วมันจะไม่ให้ใครเลย มันหวงมันแหนแล้วมันจะเอาไว้ใช้ของมันคนเดียวแล้วใช้ไม่หมดหรอก เพราะของสิ่งนี้โรงงานผลิตออกมานี่มหาศาลเลย รถออกมาเป็นแสนๆ คัน เราซื้อแค่คันเดียวเท่านั้นแหละ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันตระหนี่ถี่เหนียวมันจะยึดของมันทั้งหมด แต่ถ้าเป็นความประหยัดมัธยัสถ์ เราใช้ด้วยสติปัญญาของเรา ธรรมมันอยู่ตรงกลางตรงนี้ มัชฌิมาปฏิปทาคืออยู่ตรงกลางที่ว่าไม่ตระหนี่ถี่เหนียวแล้วก็ไม่ฟุ่มเฟือย มันประหยัดของมันเพื่อจะฝึกนิสัย ถึงต้องมีข้อวัตรปฏิปทา ถ้ามีข้อวัตรปฏิปทาเครื่องดำเนิน นี่หัวใจต้องไปตามแนวปฏิปทาเครื่องดำเนิน ต้องบังคับมัน

ถ้ามันไม่ต้องการก็บังคับให้มันสงวนรักษา ให้มันรักษาของของสงฆ์ รักษาของสาธารณะ ถ้ามันจะเห่อเหิมเกินไปก็บอกว่า “คนเราเกิดมามันต้องตาย” นี่บังคับสิ่งนี้เข้ามา มันก็เป็นมัชฌิมาปฏิปทา มัชฌิมาปฏิปทาของแต่ละบุคคล แต่ละบุคคลเพราะคนติดไม่เหมือนกัน คนพอใจไม่เหมือนกัน สิ่งที่พอใจนี่มันเรื่องของกิเลสตัณหาความทะยานอยากไปทั้งหมด ตัณหาความทะยานอยากมันเข้าไป มันใช้เกินตลอดๆ

แต่ถ้าเป็นปัจจัยเครื่องอาศัย ถ้าเป็นธรรมขึ้นมามันจะพอดีตลอดๆ สิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์ตลอด ถ้าเป็นประโยชน์ตลอด ประโยชน์กับเราก่อน ประโยชน์กับเราเพราะอะไร เพราะมันไม่เห่อเหิมไม่ทะเยอทะยานเกินไป โลกเวลาเห่อเหิมทะเยอทะยานเกินไป นี่มันออกไปอย่างนี้มันเป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แต่ถ้ามันเศร้าหมอง มันเฉา มันก็ต้องมีปัญญาทั้งหมดนะ

คนประพฤติปฏิบัติ คนจะเอาตัวรอดได้ต้องมีปัญญา ถ้าไม่มีปัญญา ขนาดปัญญาอย่างนี้ยังใช้ควบคุมใจของตัวเองไม่ได้แล้วจะไปใช้ปัญญาชำระกิเลสมันจะเอาปัญญามาจากไหน เวลากิเลสมันเกิดขึ้นมาในหัวใจ เวลาปฏิบัติขนาดไหนมันก็จะแทรกเข้ามาตลอด “นี่เป็นธรรม นี่เป็นธรรม นี่ปล่อยวาง” นี่ทั้งนั้นเลย คำว่า “นี่” เพราะอะไร เพราะมันไม่เคยเห็นสภาวะแบบนั้นไง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าผ่านสิ่งนี้มาตลอด เราถึงมีครูบาอาจารย์คอยชี้อย่างนี้ไง ถ้ามีครูมีอาจารย์คอยชี้ “สิ่งนี้ไม่ใช่นะ ต้องซ้ำ ต้องพิจารณาใคร่ครวญนะ ถ้าใคร่ครวญขึ้นมาแล้วมันจะละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป”

ที่ว่า “ธรรมเป็นอย่างนี้หรือๆ”...ไม่ใช่หรอก ไปถึงที่สุดแล้วไม่มีตัวตน ไม่เป็นอย่างนี้ มันเป็นธรรมชาติของมัน มันเป็นการปล่อยวางของมัน มันชำระขาดของมันออกไปจากใจ สิ่งนี้เป็นสัจจะความจริง ถ้าเป็นสัจจะความจริง สิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นธรรมดาเกิดขึ้นเป็นธรรมดา มันเหมือนธรรมดาไง

สิ่งที่เป็นธรรมดา เห็นไหม เหมือนกับอาหารทางโลก รสเค็มรสจัดอย่างนี้มันทำให้ร่างกายต้องขับถ่ายของมัน ต้องเป็นภาระหนักของอวัยวะในร่างกายของเรา แต่ถ้าเป็นสิ่งที่จืดสนิท น้ำฝนน้ำจืดสนิท ธรรมก็เหมือนกัน สิ่งที่ธรรมถึงที่สุดแล้วมันเสมอภาค มันจะปล่อยวาง มันเสมอ มันเป็นรสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง

รสของธรรมรส สิ่งที่จืดสนิทที่ไม่มีโทษกับร่างกายเลย สิ่งที่เป็นคุณค่า น้ำที่มีคุณค่าน้ำเปล่ามีคุณค่ากับร่างกาย แต่ถ้าน้ำเป็นสุราเป็นต่างๆ มันให้แต่รสชาติ แอลกอฮอล์มันจะเข้าไปขับเคลื่อนในเส้นเลือดมันทำให้ร่างกายมีปัญหาไปตลอดเลย แต่จะมีตลอดไป คนจะกินน้ำเปล่ามันเสียศักดิ์ศรี คนเราจะกินต้องไวน์ขวดละเป็นแสน เป็นหมื่น เป็นล้าน นี่มันจะมีศักดิ์ศรีของมันขึ้นมา โลกเป็นแบบนั้นนะ แล้วจะมากินน้ำเปล่า มันเป็นสิ่งที่ว่ามันไม่มีศักดิ์ศรีเลย

ไม่มีศักดิ์ศรีเป็นเรื่องปกติไง กิเลสก็เป็นแบบนั้น มันจะยึดมาก มันจะคิดของมันไปตามนั้น สิ่งที่อะไรกระเทือนในหัวใจ มันจะเผ่นกระโดดไปสภาวะแบบนั้น แล้วจะทำความสงบเข้ามา แล้วชำระล้างมันเข้ามา

สิ่งที่ชำระล้าง เพราะสิ่งนี้มันขับเคลื่อนไปในหัวใจ สิ่งที่ขับเคลื่อนไปในหัวใจ กิเลสสัมผัสไปในหัวใจ ถึงต้องอาศัยสถานที่ เราถึงต้องไปสร้างสนามไง นักกีฬาถ้าไม่มีสนามฝึกซ้อมจะเอานักกีฬามาจากไหน นักกีฬาต้องมีสนามฝึกซ้อม ต้องมีโค้ชที่ดี ต้องมีประสบการณ์ที่ดี ต้องความสามัคคีในทีมงานนั้น ในทีมงานนั้นจะเป็นไป เห็นไหม นี่นักกีฬามันคนละอย่าง

คฤหัสถ์ธรรม สิ่งที่เป็นฆราวาสธรรม เป็นแค่การสละทาน เป็นฆราวาสธรรม สิ่งที่เป็นนักปฏิบัติมันถึงวงในไง ในเวลาพระประพฤติปฏิบัติ อาบัติของพระปฏิบัติ อาบัติของพระต้องอยู่ในวงของพระ ไม่ให้ออกไปวงนอก เพราะพระก็มาจากคนนะ นี่คนมีศรัทธามีความเชื่อ ฆราวาสเรามีศรัทธาความเชื่อเราก็ออกประพฤติ ออกบวช ออกเป็นพระเป็นเจ้า เป็นพระเป็นเจ้าขึ้นมาแล้วเราก็มีกิเลสอยู่ สิ่งที่มีกิเลสอยู่มันมีความผิดพลาดอยู่ทั้งนั้นล่ะ

ถ้ามีความผิดพลาด นี่ความคาดหมายของโลกเขาคาดหมายไว้มาก เห็นพระห่มผ้าเหลืองนี่ต้องเป็นพระอรหันต์ทั้งหมดนะ ต้องอยู่ในธรรมวินัย ต้องเป็นที่สิ่งที่น่ากราบไหว้ แล้วพระที่ห่มผ้าเหลืองมามันเป็นพระอรหันต์ทั้งหมดหรือไม่ล่ะ? มันเป็นกิเลสในหัวใจทั้งนั้นเลย เพราะมันบวชแต่ร่างกาย ไม่ได้บวชหัวใจ

สิ่งต่างๆ มันถึงต้องเวลาประพฤติปฏิบัติ เวลากฎกติกาการประพฤติปฏิบัติมันถึงต้องยอม เราต้องยอมนะ ถ้าเราไม่ยอม เราจะเอาความเห็นของเราว่า “ประชาธิปไตย ประชาธิปไตย”

องค์สมเด็จสัมมาสัมพระพุทธเจ้าบอก “ธรรมาธิปไตย” แล้วถ้าธรรมาธิปไตย ธรรมจะเกิดจากหัวใจของใคร ถ้าธรรมไม่ได้เกิดจากในหัวใจของเรา มันกิเลสธิปไตยไง มันเป็นตัวตนของเรา เป็นความยึดมั่นถือมั่นของเรา

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี้เป็นแก้วสารพัดนึก เป็นสรณะของเรา เป็นที่พึ่งของเรา ถ้าเป็นที่พึ่งของเรา เราต้องเชื่อฟัง ถ้าเชื่อฟัง เชื่อฟังในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เหมือนกฎหมาย กฎหมายถ้ามันเป็นธรรม คำสั่งนั้นที่เป็นธรรม คำสั่งนั้นด้วยกฎหมาย คำสั่งนั้นจะมีผล คำสั่งนั้นผิดกฎหมายไง คำสั่งที่ผิดกฎหมายของผู้บังคับบัญชา ผู้บังคับบัญชาสั่งโดยผิดกฎหมาย สั่งโดยผลประโยชน์ของตัว โดยกิเลสตัณหาความทะยานอยากด้วยความมักใหญ่ใฝ่สูง สิ่งนั้นเป็นคำสั่งที่ไม่ถูกกฎหมาย

นี่เหมือนกัน เราว่าธรรม ธรรมของครูบาอาจารย์มันถูกธรรมหรือเปล่า ถ้ามันถูกธรรมก็ถูกกฎหมาย ถูกธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้ามันก็เป็นประโยชน์กับเราใช่ไหม ถ้ามันผิดธรรมล่ะ ที่ว่าพระบวชแล้วจะเป็นสภาวะแบบใด ถึงว่าเราต้องหาโค้ชที่ดี เราถึงเลือกทีมงานที่ดี ทีมงานที่ดีถึงต้องสงวนรักษานะ

เหนื่อย! เหนื่อยกันมาพอแรงแล้ว เหนื่อยกันมามากเพราะอะไร เพราะต้องการให้สิ่งที่ว่าเข้าถึงธรรม เข้าถึงธรรมไง ถ้าเข้าถึงธรรม อย่างอื่นต้องแบบต้องจำกัดวง วงนี่ต้องแคบเข้ามา แคบเข้ามาก่อน ถึงที่สุดแล้วถ้ามันกระจายออกไปจนความว่าสุดวิสัยที่จะปิดกั้น นั่นเป็นสิ่งที่สุดวิสัย แต่ถ้ามันเป็นวิสัยที่จะปิดกั้นได้ไง

สิ่งที่สุดวิสัยที่จะปิดกั้นได้ ดูสิ ทีมบอลแต่ละทีมบอลกว่าเราจะเข้าเป็นนักเตะของเขา เขาต้องทดสอบ เขาต้องตรวจสอบตลอดไปนะ ต้องสมัครแล้วต้องทดสอบว่ามีเทคนิคขนาดไหน จะมีความรู้สึกขนาดไหน จะมีความรักความตั้งใจขนาดไหน เขาทดสอบตลอดนะกว่าจะรับเข้าเป็นนักกีฬาของเขา

นี่ก็เหมือนกัน ธรรม เวลาสร้างวัดขึ้นมา ถูกต้อง ขอให้ภิกษุสงฆ์จากจตุรทิศ ขอให้มาพักที่วัดนี้ แต่มันต้องมานี่ก็ควรที่จะเป็นธรรมด้วย มาแล้วต้องเคารพกติกาของที่นั้นด้วย ต้องมีความเป็นไป ต้องเคารพกติกานะ เพราะอะไร เพราะการฝึกฝน การศึกษาเล่าเรียนมันมีแตกแขนงไป

ดูสิ ดูสมัยพุทธกาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าบอกว่าลูกศิษย์พระสารีบุตรเป็นผู้ที่มีปัญญาทั้งหมดเลย ลูกศิษย์ของพระโมคคัลลานะเป็นผู้ที่มีฤทธิ์ทั้งหมดเลย ฤทธิ์กับปัญญานะ คนที่ชอบฤทธิ์ก็ต้องไปหาพระโมคคัลลานะ คนที่ชอบปัญญาก็ต้องไปหาพระสารีบุตรใช่ไหม นี่ลูกศิษย์เทวทัตลามกทั้งหมดเลย แล้วมันเข้ากันโดยธาตุ เข้ากันโดยความรู้สึก เข้ากันโดยความพอใจไง

ถ้ามันมีธาตุ มีความรู้สึกเป็นอย่างนั้น มันก็จะเป็นสภาวะแบบนั้น มันพอใจสิ่งนั้น มันฟังแล้วมันซึ้งใจ มันซึ้งใจเพราะมันเข้ากันโดยธาตุ เหมือนน้ำกับน้ำมันเข้ากันไม่ได้หรอก น้ำก็คือน้ำ น้ำมันก็คือน้ำมัน ธาตุของผู้ที่รับครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ดีแสนดี สูงส่งขนาดไหนก็แล้วแต่ เราฟังแล้วเราไม่เข้าใจเลย พูดเรื่องอะไร คุยเรื่องอะไร ทำไมเรางงมาก เราไม่เข้าใจสิ่งนี้เลย เห็นไหม ธาตุเราเข้ากันไม่ได้เลย นี่มันอยู่ที่วาสนาเหมือนกัน ถ้าเรามีวาสนา ถ้าเรามีอำนาจวาสนา เราฟังแล้วเราเข้าใจของเรา แล้วเราเอาสิ่งนี้มาทดสอบนะ

เพราะในกาลามสูตรพระพุทธเจ้าบอกไว้แล้ว “อย่าให้เชื่อแม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าเทศน์นะ อย่าให้เชื่อแม่แต่ครูบาอาจารย์บอก” แล้วความเชื่ออันนี้ กับไม่ให้เชื่อเพราะครูบาอาจารย์บอก กับศรัทธาล่ะ มันคนละเรื่องกัน

ศรัทธาคือโอกาสของเรา ถ้าเรามีศรัทธา เรามีความเชื่อของเรา ความเชื่อในเรื่องของธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้า แต่เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าเทศน์ออกมา เรายังไม่เชื่อทฤษฎีอันนั้น เราต้องทดสอบ เราต้องตรวจสอบ เราต้องประพฤติปฏิบัติไง มันเป็นไปได้ไหม มันจะเป็นไปเองตามหัวใจนี้

ถ้าสิ่งที่ไม่เป็นธรรมนะ เวลาประพฤติปฏิบัติไปมันจะขัดขวาง มันจะขัด มันจะมีปม มีความรู้สึกว่าสิ่งนี้ไม่สมดุล สิ่งนี้เป็นไปไม่ได้ ถ้าเราซื่อสัตย์ เราเป็นสุภาพบุรุษ เราต้องใคร่ครวญใจของเรา เรากระจายออกมา สิ่งนี้มันเป็นไปได้อย่างไร ขัดแย้งกัน ถ้าลองกิเลสแล้วมันจะขัดแย้งกับธรรมไปตลอด กิเลสนี้เข้ากับธรรมไม่ได้ ไม่ได้หรอก

แต่ถ้าธรรมคือธรรม ธรรมคือธรรมมันไม่มีความขัดแย้งกัน เราทดสอบได้ พอทดสอบเข้าไปมันจะเข้าไปชำระกิเลสอย่างไร มันจะเป็นความจริงอย่างไร แล้วจะเข้าใจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้ามาก

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าเทศนาว่าการ เวลาพระภิกษุสำเร็จทีหนึ่งเป็นพันๆ เป็นหมื่นๆ แสนๆ เพราะอะไร เพราะว่าใจเขาเปิดกว้าง เพราะใจเขามีเจตนา เขาเปิดของเขาเต็มที่ สิ่งที่เปิดเต็มที่ หลวงตาท่านบอกว่าเหมือนวัวปากคอก ขอให้มีคนเปิดคอกเถิด ถ้าใครเปิดประตูคอกแล้ววัวจะออกจากคอกทันที เพราะมันอัดแน่นอยู่ในคอก มันจะออกตลอดเวลา

นี่ก็เหมือนกัน พวกเราเกิดมาเรามีกิเลสตัณหาในหัวใจ เรามีความทุกข์ตลอดเวลา ทุกคนปรารถนาความสุขตลอดเวลา แต่ไม่เคยมีธรรมเลยใช่ไหม กึ่งพุทธกาลนี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าวางศาสนาไว้เจริญรุ่งเรืองหนหนึ่ง หนหนึ่งแล้วครูบาอาจารย์ของเราเป็นผู้ชี้นำ ครูบาอาจารย์ตั้งแต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นลงมาเป็นผู้ค้นคว้ามา ทุกข์ยากแสนยากนะ

ธรรมมีอยู่ ธรรมมีอยู่แต่ทฤษฎี ไม่มีความจริงเลย มีทฤษฎีเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้า แต่หัวใจนี้ไม่เคยประสบสัมผัสเลย แล้วหลวงปู่มั่นค้นคว้ามาขนาดไหน ผู้ที่ค้นคว้าคือเปิดประตูเป็นไง

มีพระ มีผู้ที่จรรโลงศาสนามา แต่ไม่รู้ไม่เห็นประตูคอก ไม่เห็นความเป็นไป ไม่เห็นกลอน ไม่เห็นสิ่งที่จะเปิดได้ สิ่งที่เปิดได้ เห็นไหม องค์สมเด็จสัมมาสัมพระพุทธเจ้าบอกว่าคอกวัวเป็นอย่างนี้ วัวอยู่ในคอกเป็นอย่างนี้ๆ แต่ไม่เคยเห็น จับต้องไม่ได้เลย หลวงปู่มั่นเป็นผู้ที่จับต้องประตูนั้นได้ จับต้องกลอนนั้นได้แล้วเปิดกลอนนั้นออก แล้วจิตของหลวงปู่มั่น จิตของหลวงปู่เสาร์ออกไปก่อนไง

แล้วเราประพฤติปฏิบัติกันมา นี่สร้างวัดขึ้นมาเพื่อเหตุนี้ไง เพื่อจะเปิดกลอนประตูของตัว เพื่อจะเปิดให้กิเลสตัณหาความทะยานอยากออกจากใจ แล้วมันจะมามั่วกันอย่างนั้นน่ะมันเศร้าใจนะ เอวัง