เทศน์เช้า วันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๔๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เวลาเชื้อไข้หวัดนก เวลาเชื้อไข้หวัดนกมันแพร่ระบาด การสื่อสาร เวลาเครื่องบินไปทางไหนเขาต้องมีหมอคอยกักกันโรคไง เวลาการสื่อสารเขายังป้องกันใช่ไหม แล้วมันป้องกันไม่ได้ เวลานกเขามาเป็นธรรมชาติของเขา นกถึงเวลาอพยพของเขา ถึงปีของเขาเขาต้องอพยพของเขาไป นี่มันแพร่ไปตามเชื้อ เชื้ออย่างนี้มันให้ผลกับทางร่างกายนะ ให้ผลทางร่างกาย เขาหวั่นเกรงมากว่ามันจะแพร่มาถึงคนได้ นี้เชื้อของเขานะ
แต่ดูในข่าวนะ ดูที่ญี่ปุ่นสิ เขาฆ่าตัวตาย เขาฆ่าตัวตายนะ เขามีในเว็บไซต์ เขาเปิดในเว็บไซต์ มีเว็บไซต์วิธีการฆ่าตัวตาย นี่เป็นความเห็นของเขาไงว่าเป็นการฆ่าตัวตาย แล้วเวลาเขาจะฆ่าตัวตายนะ เขาฆ่าตัวตายเป็นหมู่ ก่อนเขาจะฆ่าตัวตายเขาก็ยังอีเมล์ไปบอกเพื่อนเขาว่าเขากำลังจะฆ่าตัวตาย เขาว่ามันเป็นความถูกต้องของเขา
เชื้อของไข้หวัดนกมันเป็นเรื่องของร่างกาย ร่างกายถึงได้รับเชื้ออันนี้ไป ถึงกับเสียชีวิตได้ แต่เวลาเรื่องของหัวใจ ถ้ามันเป็นความเห็นผิด มันก็ฆ่าตัวตายได้ แต่เวลาฆ่าตัวตาย เวลาเราติดเชื้อตาย เราตายเพราะว่ามันเป็นเชื้อ เราไม่มีโอกาสแก้ไข แล้วไม่มีใครอยากตายนะ แต่เวลาคนฆ่าตัวตายนี่ เขาคิดว่าเขาฆ่าตัวตายเป็นความสุขของเขาไง แล้วมันเป็นความสุขของเขาไหม? นี่ความเห็นผิดของเขา
ในศาสนาพุทธเราสอนว่าอย่างไร? สอนว่าให้มีศีล ๕ ก่อน แม้แต่สัตว์เล็กสัตว์น้อยเราก็ไม่ทำลายเขานะ เพราะอะไร เพราะสัตว์ทุกตัวมันมีความสุขมีความทุกข์ของมัน มันปรารถนาความสุข เกลียดความทุกข์ทุกตัว สัตว์เกิดขึ้นมาปรารถนาความสุขมาก ต้องการความสุข ต้องการความเห็นอกเห็นใจ ต้องการพึ่งพาอาศัย ต้องการทั้งหมด เห็นไหม นี่ศีลธรรมเข้าไปให้หัวใจมีความสุขไง
ให้เข้าใจสิ่งนั้นว่า คนเราเกิดมา เกิดมาโดยอำนาจของกรรม เรามีการกระทำมาถึงเกิดมาสภาวะแบบนั้น เวลาเจอสิ่งที่ว่าสุดวิสัย เห็นไหม กรรมคือสิ่งที่สุดวิสัยที่มันจะต้องประสบไง สิ่งที่สุดวิสัยต้องประสบนี่คือสภาวกรรม แต่ถ้าสภาวะเรามีบุญกุศลอยู่ เวลาสิ่งที่สุดวิสัยนี่เราก็แก้ไขเหตุวิกฤติของเราออกไปได้ นี่บุญกุศลพาไปควรให้เราเกิดเราตาย มันมีความสุขพอสมควรนะ มีความสุข มีบุญกุศลอันนี้ช่วยหนุนพาส่งให้เรามีความสุขไป นี้คือศีล ๕ นะ แล้วมันยังมีความปกติของใจ ให้ค้นคว้าหาใจได้
แต่เวลาคนน่ะ เวลามีความทุกข์ มีความเชื่อ มีความหลงผิด มันหลงผิดตั้งแต่เริ่มต้น หลงผิดว่า เพราะมีความทุกข์ แล้วปรารถนาแต่ความสุข ถ้าทำลายตัวเองแล้วจะมีความสุข นี่ทำลายตัวเอง เห็นไหม เวลาเราทำลายคนอื่นยังผิดศีล แล้วทำลายตัวเอง ทำลายขุมทรัพย์อันมหาศาลเลย เพราะอะไร เพราะเวลาเราทำสัมมาสมาธิกัน เราทำความสงบของใจขึ้นมานี่เราหาอะไรกันน่ะ? เราหาใจของเรา หาที่ตั้งของใจของเรา เพื่ออะไร? เพื่อยกให้ใจนี้มันเข้าไปทำความสะอาดในตัวของมันเอง ถ้าทำความสะอาดในตัวของมันเอง มันจะเรื่องความอาลัยอาวรณ์ เรื่องความทุกข์ ความอาลัยอาวรณ์นะ ความเฉาของใจนี่ไม่มีใครทำให้เรานะ
เวลาเราทุกข์เราร้อน เราขาดแคลนสิ่งใด เราขาดว่าเราขาดแคลนสิ่งนั้นแล้วเราถึงมีความทุกข์ แต่เวลาเราอยู่เฉยๆ ของเรา เรามีความสุขมาก แก้วแหวนเงินทองนี่พร้อมเสมอเลย แต่เราก็มีความเหงา เราก็มีความเศร้าสร้อยเสียใจของเรา เพราะอะไร เพราะมันเป็นสิ่งที่ว่าหัวใจดวงนี้มันมีเชื้ออยู่ไง มีเชื้อคืออวิชชา คือความไม่รู้ตัวมันเอง
ถ้ามันรู้ตัวมันเอง ทำไมมันไม่หาความสุขให้ตัวมันเองล่ะ ทำไมมันไม่รู้ตัวมันเอง ทำไมมันไม่เอาตัวมันเองให้รอดพ้นจากสิ่งนี้ล่ะ เห็นไหม นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้มาทำลายตรงนี้ไง ดูลัทธิคอมมิวนิสต์สิ เขาบอกว่าคอมมิวนิสต์คนแรกคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าให้เสมอภาคไง
ความเสมอภาคอันนั้นคือความเสมอภาคอันนี้ อันที่ในหัวใจนี่ ทุกคนมีความเสมอภาค เพราะทุกคนมีชีวิต มีหัวใจ มีความรู้สึก ถ้าความรู้สึกนี้ใครมาแก้ไขได้ พระอรหันต์ในสมัยพุทธกาลนะ พระสีวลีนี่รวยมหาศาลเลย ไปไหนมีแต่ลาภสักการะอะไร เพราะท่านทำของท่านไว้นะ เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน
แต่พระอรหันต์องค์หนึ่ง ที่ว่าตั้งแต่เกิดมาไม่เคยฉันข้าวอิ่มเลย นี่ทุกข์เข็ญใจขนาดนั้นนะ จนพระสารีบุตรต้องจับบาตรไว้ให้ เวลามันร่ำลือกันไปไงว่าพระองค์นี้แปลกมาก เวลาฉันอาหาร อาหารในบาตรมันจะหายไป มันจะไม่เคยอิ่ม นี่มันน่าคิดนะว่าคนเราเกิดมาทั้งชาติหนึ่ง ไม่เคยกินข้าวอิ่มแม้แต่มื้อเดียวนี่มันจะมีความทุกข์ขนาดไหน จนพระสารีบุตรนะ แก้ไขอย่างไรก็แก้ไขไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นกรรมของพระองค์นั้น ถึงต้องเอาสายอำนาจบุญของพระสารีบุตร จับบาตรไว้ให้ฉัน ฉันข้าวอิ่มมื้อนั้นมื้อสุดท้ายแล้วก็ดับขันธ์นิพพานไป
เห็นไหม ความเสมอภาคด้วยความบริสุทธิ์ของใจอันหนึ่ง ความเสมอภาคด้วยอำนาจวาสนาบารมีอันหนึ่ง ความเสมอภาคไง นี่มันเสมอภาคไปไม่ได้ เพราะนิ้วของคนไม่เท่ากัน การเกิดของกรรมไม่เท่ากัน มันเป็นไปไม่ได้เลยที่คนนั่งกินอาหารกันอยู่ในสำรับนี่แล้วให้อิ่มพร้อมกันนะ เรานั่งกินข้าวด้วยกันในวงหนึ่ง แล้วให้อิ่มพร้อมกันทุกคน เป็นไปได้ไหม? เป็นไปไม่ได้หรอก จะมีคนอิ่มก่อน อิ่มหลัง ความอิ่มอันนั้นมันเป็นเรื่องของหัวใจอันนั้นไง นี่ก็เหมือนกัน ความทุกข์ในหัวใจ ต้องเข้ามาตรงนี้นะ ต้องเข้ามาแก้ไข ศาสนาพุทธมันละเอียดอ่อนมาก
ว่านิพพานๆ นี่ มันเวลาพูดถึงนิพพานนี่มันเหมือนกับสิ่งที่สุดเอื้อมไง เราคิดว่ามันเป็นสิ่งที่สุดเอื้อม สิ่งที่เราเป็นไปไม่ได้ไง พระอริยบุคคลจะเป็นได้อย่างไร แต่เวลาผู้ที่ครูบาอาจารย์ประพฤติปฏิบัติเป็นพระอริยบุคคลขึ้นมาเป็นชั้นเป็นตอนนะ จะไม่พูดให้ใครฟัง เพราะมันอยู่ในหัวใจของตัวเอง มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นการประสบของใจนั้นไง ถ้าใจเข้าประสบสิ่งนั้น แก้ไขสิ่งนั้น มันจะเป็นไปไม่ได้อย่างไร ในเมื่อเรามีเหตุมีผลพอ เรามีสิ่งที่รองรับได้พอไง เราจะมีภาชนะอะไรไปใส่วัตถุสิ่งใดมันต้องหาภาชนะสิ่งนั้น
นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อมรรคผลนิพพานเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคนี่วางไว้ในศาสนา สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ค้นคว้า แล้วเรามีโอกาส เพราะเรามีสิ่งนี้เกิดขึ้นได้จากหัวใจของเรา ถ้าเกิดขึ้นได้จากหัวใจของเรา นี่มันสำคัญตรงนี้ไง สำคัญตรงที่ว่าจะทำอย่างไรให้เรามีความเชื่อความศรัทธาในศาสนาพุทธก่อน ถ้าเรามีความเชื่อความศรัทธาอันเปิดประตูบ้านไง เปิดประตูสิ่งที่เราจะเข้าไปหาสิ่งนั้น
ถ้าเราเปิดประตูสิ่งนี้ เปิดโอกาสให้เรา เราก็จะมีโอกาสเข้าไป ถ้าเราไม่เชื่อนะ การกระทำนั้นมันจะไม่ได้ผลนะ เพราะเราไม่เชื่อ เหมือนกับเราทำสิ่งใดแล้วเราปฏิเสธผลนั้น เราทำโดยที่ไม่มีความจงใจ สิ่งนั้นก็สักแต่ว่าทำ แล้วผลนั้นมันจะไม่ได้ผลสมบูรณ์อันนั้น แต่ถ้ามีความเชื่อมีความศรัทธา ถ้ามีความเชื่อความศรัทธา การกระทำนั้นมันจะเข้าไปถึงในความรู้สึกอันนี้ไง
ถ้าเข้าไปถึงความรู้สึก มันก็จะเป็นสัมมา คือความถูกต้องทั้งหมด สิ่งที่ความถูกต้อง สติมันก็พร้อม ทุกอย่างก็พร้อม ถึงหาตรงนี้ หาสัมมาสมาธิ หาจิตที่ตั้งมันก่อน ความว่าง ว่างขนาดไหนก็แล้วแต่ ว่างโดยไม่มีเหตุมีผลนี้ว่างเป็นสมถะทั้งหมด เราจะกำหนดขนาดไหน จะใช้ปัญญาขนาดไหน สามัญสำนึกขนาดไหน อันนี้เป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันจะเป็นความว่างเข้ามา เพราะมันยังไม่ฆ่ากิเลสหรอก เพราะการฆ่ากิเลส เห็นไหม ภาวนามยปัญญาอันนี้มันถึงว่าเป็นการเกิดขึ้นจากภายใน
ดูเรามีการศึกษาเล่าเรียน เวลาเราส่งหน่วยกิตให้ครบหน่วยกิต แล้วเราสอบผ่านทุกหน่วยกิตเราถึงผ่านได้ อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าภาวนมยปัญญามันเกิดขึ้นมานี่มันเป็นไปไม่ได้เพราะอะไร เพราะสิ่งที่ว่าเราส่งหน่วยกิต เราส่งแต่ละหน่วยกิต เราเรียนแต่ละหน่วยกิต แต่ขณะที่เราปฏิบัติมันเป็นมรรคสามัคคี มันต้องพร้อมกันตลอด มันไม่เหมือนกับหน่วยกิต หน่วยกิตนี้เราส่งหน่วยกิตนี้มันก็เป็นหน่วยกิตอันหนึ่งๆ ครบหน่วยกิตแล้วเราก็สอบผ่านๆ นี่เป็นเรื่องของโลก คือปัญญาที่ว่าปัญญาทางโลกนี้มันมีโอกาสที่ว่ามันจับมารวมกันได้
แต่ภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นน่ะ เพราะเป็นนามธรรมไง สิ่งที่รองรับนี้เป็นนามธรรม คือสภาวะใจนี้เป็นนามธรรม มันจะเกิดพร้อมกันอันนั้น ทำลายอันนั้นไง นี่ภาวนามยปัญญาอันนี้ ปัญญาเกิดขึ้นอันนี้มันถึงต้องเริ่ม มันเป็นภาวนาจากภายใน มันไม่ใช่ภาวนาแบบปัญญาอดีตอนาคต ปัญญาแบบโลกนี่เป็นอดีตอนาคต เราจะคิดถึงเด็กก็ได้ คิดถึงเมื่อไหร่ก็ได้ เราจะไปเอาหน่วยกิตมาจากไหนมาส่งก็ได้ถ้าเราทำคะแนนของเราได้ เห็นไหม อันนี้มันเป็นเรื่องของโลกๆ แล้วเราตัวนี้ไปเทียบเคียงไง สิ่งนี้มันถึงต้องย้อนกลับมาเป็นประสบการณ์ของใจดวงนั้น ถ้าใจดวงนั้นมีความทุกข์อันนี้
แล้วถ้ามันเกิดการที่เขาทำลายตัวเขาเอง อันนี้มันไม่ได้ทำลาย มันเป็นการสร้างกรรมไง มันเป็นการเห็นผิด เป็นการสร้างกรรมว่าเราทำลายชีวิตของเราแล้วเราจะมีความสุข เพราะเราเชื่อในลัทธิ เชื่อในความเห็นอันนั้น
ถ้าเชื่อในความเห็นอันนั้นมันไปน่ะ ความเห็นอันนั้นเป็นลัทธิ เป็นความเชื่อ มันไม่เป็นความจริง ไม่เป็นความจริง พอตายไปตูม พอตายไปแล้ว ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก เราพูดกันบ่อยนะว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน คนที่เขาทำความชั่วที่เราเห็น เขาได้บุญกุศล เขาได้ผลของเขาตลอดไป อันนี้ เพราะมีลมหายใจอันนี้เข้าออก ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกรักษาชีวิตนี้เรายังมีโอกาสใช้ ใช้สิ่งที่เราแสวงหามาด้วยบาปอกุศลก็ได้ ด้วยบุญกุศลก็ได้ เพราะเรายังมีชีวิตอยู่สถานะอันนี้อยู่ เวลาตายไปปั๊บ ลมหายใจขาดปั๊บนี่มันเป็นอีกสถานะหนึ่ง อันนั้นมันไม่เป็นอย่างนี้ไง
เขาว่า กรรมให้ผลได้ คนเราทำความผิดพลาด ถ้ากฎหมายตามไปไม่ถึง เขารอดพ้นจากโทษของเขาได้ แต่กรรมนี้รอดพ้นไม่ได้ อย่างไรก็แล้วแต่ มีแต่ความรู้สึก เห็นไหม ดูสิ ดูแบบที่ว่าเขาทำความผิดกัน พ่อแม่ขอร้องนะ มีนักโทษหลายคนเลยบอกหนีน่ะหนีได้ แต่เพราะเห็นใจพ่อ เห็นใจแม่ พ่อแม่บอกว่า ลูกเอ้ย ถ้าเราทำความผิด ลูกผู้ชายเราต้องสู้กับความจริงสิ เห็นไหม ต้องกลับมารับความจริง ต้องกลับมารับโทษอันนั้น
แต่ถ้าเราพ้นจากอันนั้นไป อันนี้กฎหมายตามไม่ทัน แต่หัวใจเรารู้นะ เราทำความผิด ดูสิ ดูอย่างเวลาเราทำความผิด เราเจอตำรวจ เราจะมีความผิดปกติทันทีเลย เพราะอะไร เพราะใจมันรู้ เรารู้อยู่ของเราคนเดียว สิ่งนี้มันรู้อยู่ แล้วเวลาตายไป สิ่งนี้มันตามอันนี้ไป สิ่งนี้มันตามไปตลอด กรรมมันให้ผลตลอดไป กรรมมันลบล้างสิ่งนี้ไม่ได้ ฉะนั้นเราถึงต้องกลับมาไง
เราถึงต้องยอมรับความจริง ถ้าเราเกิดมาในบุญกุศลของเรา มันผ่านพ้นไปในความสุขความทุกข์อันนี้ มันก็เป็นเพราะการกระทำของเรามา เราถึงต้องมีความอดทนไง ต้องมีขันติ เริ่มต้นต้องมีขันติบารมีก่อน พอมีขันติบารมีเราก็เริ่มต้นทำของเรา สิ่งที่ทำมามันจะเป็นประโยชน์กับเรา นี่คือธรรมในชีวิตนะ ในชีวิตประจำวันของเรานี่เราสร้างบุญกุศล
ทำไมเราต้องทำอย่างนี้ ทำไมเราต้องแสวงหาความสุขของเราทางอื่นไม่ได้หรือ
ความสุขทางอื่นมันเป็นเรื่องของวัตถุนิยม สิ่งที่เป็นไปมันเป็นสภาวะแบบนั้น แต่ความสุขอย่างนี้ไม่ต้องมากไม่ต้องมาย เพียงแต่ว่าอนุโมทนาไปกับเขา ไปเห็นสิ่งนั้นแล้วเรามีความพอใจไปกับเขา สิ่งนี้มันทำให้ใจเราพัฒนาขึ้นมาเรื่อย พัฒนาขึ้นมาเรื่อย มันมีสิ่งใดมันก็สละของมันได้ เพราะมันสละแล้วมันจะเห็นผลของมันไง คนเราเห็นผลแล้วทำได้หมดนะ ถ้าคนไม่เห็นโทษมันจะทิ้งโทษนั้นไม่ได้ เราจะเห็นโทษของมัน เราก็เห็นโทษแต่เรื่องหยาบๆ เห็นโทษว่าชีวิตเราก็ต้องตายไป เราก็ต้องรักษาไป เราก็ต้องอาศัยบุญของเราไป แต่ถ้าผู้ปฏิบัติมันเห็นโทษในปัจจุบันนะ เห็นโทษในปัจจุบันเพราะมันแปรสภาพในปัจจุบัน
แปรสภาพในปัจจุบันจนถึงมันอ๋อ! อ๋ออย่างนี้ อ๋ออย่างนี้ แล้วจิตมันปล่อยทันทีๆ เพราะมันไปเห็นสภาวะแบบนั้น นี่ปัญญาที่เกิดจากอย่างนั้นมันเป็นปัญญาความลึกลับมาก สิ่งที่ลึกลับก็เกิดขึ้นมาจากเรา เห็นไหม ฆ่าอย่างนี้ต่างหาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ฆ่าตรงนี้ ฆ่าคือฆ่าความเห็นผิด ฆ่าอุปาทาน ฆ่าทิฏฐิมานะความเห็นผิดอันนี้ ไม่ใช่ฆ่าตัวตาย ยิ่งฆ่าขนาดไหนมันยิ่งสะอาดบริสุทธิ์นะ จิตจะมีความสุขมหาศาลเลย แต่มันเป็นความละเอียดอ่อนที่ไม่มีใครสามารถชี้ชำระชี้เข้ามาจากภายในไง ให้ทำลายตัวนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทำลายตัวนี้ถึงต้องมีความมุมานะของเรา
ต้องมีความมุมานะ ต้องมีความจริงนะ ต้องมีสติ ต้องมีความตั้งใจของเรา นี่ความเพียรชอบไง ความเพียรนะ จะล่วงพ้นทุกข์ได้ด้วยความเพียร เห็นไหม เวลาพระเดินจงกรมทั้งวันทั้งคืนทำไมเดินได้ล่ะ ทำไมนั่งสมาธิกันตลอดรุ่ง ทำไมนั่งได้ล่ะ? เพราะมีเป้าหมาย มีผลที่อยากจะได้ ถ้ามีผลที่อยากจะได้ มันจะไปเอาอันนั้นให้ได้ไง ถ้าไปเอาได้ นี่ความเพียรชอบ มีความเพียรอย่างนี้มันจะเข้าหาเป้าหมายได้
แต่เราทำว่า สิ่งนั้นเป็นอัตตกิลมถานุโยค เป็นความทุกข์อีกอันหนึ่ง...ไม่ใช่ ความทุกข์อีกอันหนึ่งนี่กิเลสมันหลอก หลอกให้เราไม่ก้าวเดินไปไง มันปิดโอกาสของเราไง แต่ถ้าเรามีความเพียรของเราขึ้นไป ถ้าความเพียรของเราถึงจุดปั๊บมันมีความสุขทันที ถ้าเราว่าเป้าหมายนั้นต้อง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ใช่ไหม เรามีอำนาจวาสนา เราทำเข้าไป ๕๐ เปอร์เซ็นต์ เราได้แล้ว เราได้แล้วเพราะอะไร เพราะเราตั้งเป้าหมายไว้มาก แล้วเราเข้าไปประสบผลก่อน มันก็เป็นประโยชน์กับเราใช่ไหม
แต่ถ้าเราจะบอกอันนั้นเป็นอัตตกิลมถานุโยค เราไม่เดินเลย เราทำเฉพาะของเรา มันก็เป็นความสุขของเรา เป็นสมาธิของปุถุชน คนเรานี่มีสมาธิ เด็กสมาธิสั้น สมาธิยาวเขายังรู้ได้ แล้วเราเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาสมาธิของเราก็มีอยู่ แต่สมาธิที่เข้าไปชำระกิเลสมันละเอียดกว่านั้น เพราะมันเป็นความลึกลับกว่านั้น มันเข้าไปถึงจิตใต้สำนึกอันนั้น ไปทำลายกิเลสอันนั้น นี่ความกิเลสอันนี้ในหัวใจอันนี้ ภาชนะอันนี้มันรับผลได้ ถึงว่าทุกคนมีโอกาสเสมอภาคตรงนี้
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเสมอภาคเพราะเราเกิดมาโดยสภาวะของกรรม เป็นญาติกันโดยธรรม เพราะมีปากมีท้องเหมือนกัน มีปากมันก็หิวข้าวเหมือนกัน มีการต้องใช้ปัจจัย ๔ เหมือนกัน เหมือนกันหมดเลย เสมอกันหมดเลย นี่เสมอกันโดยสภาวะแบบนี้ แล้วหัวใจมันเสมอกันอีกทีหนึ่งก็เสมอโดยการชำระกิเลสทั้งหมด เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด นี่เสมอภาคแบบนั้น
แต่สภาวกรรมแบบวัตถุนี่เสมอไม่ได้ มันเป็นเรื่องของกรรม กรรมมันมีสูงมีต่ำไม่เท่ากัน แต่ความสะอาดบริสุทธิ์เสมอกัน มีสิทธิเสมอกัน มีลมหายใจเสมอกัน มีความสุขความทุกข์เสมอกัน แล้วพ้นจากกิเลสได้เหมือนกัน เอวัง