เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๘ ต.ค. ๒๕๔๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

นี่ประเพณี เห็นไหม วันนี้วันออกพรรษานะ วันนี้วันมหาปวารณา พระจะปวารณากัน วันนี้เป็นวันอุโบสถ คำว่า “อุโบสถ” คือหมายถึงว่า สวดพระปาฏิโมกข์ไง สวดพระปาฏิโมกข์คือว่า ชำระศีลให้พระบริสุทธิ์ตลอดไป ๑๕ วัน จะต้องสวดหนหนึ่งๆ สวดตลอดไป ตั้งแต่พระพุทธเจ้าปรินิพพานมาจนป่านนี้นะ

แล้วท่านบอกว่า ถ้าวันมหาปวารณาให้เปลี่ยนจากคำปวารณา ถ้าเป็นกฎหมายคือเราทำความผิด เราทำความผิดกฎหมายจะให้โทษใช่ไหม ถ้าพระทำความผิดมันเป็นอาบัติ อาบัติทำให้กังวลใจ ถ้ากังวลใจแล้วภาวนามันจะเป็นไปได้อย่างไรในเมื่อเรากังวลใจ

ขนาดเราไม่กังวลใจนะ เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติมันยังฟุ้งซ่าน มันยังคิดไปประสามัน ตามกิเลสที่มันจะขับไสออกไป แต่พอมีกติกาขึ้นมา คือศีลนี่ถ้าเป็นอาบัติ ปลงอาบัติ ปลงอาบัติเพื่อจะยับยั้งไง ยับยั้งสิ่งนี้ว่าเราสำนึกผิด เราสำนึกผิดแล้วเราปลงอาบัติ แล้วเราจะสำรวมระวังต่อไปข้างหน้า แล้วเรามาตั้งต้นใหม่ คือการเริ่มทำสมาธิ เริ่มต้นใหม่

ถ้าทำสมาธิอย่างนี้จิตมันจะสงบเข้ามา เพราะอะไร เพราะมันตัดความปลิโพธ ความกังวลต่างๆ แล้วบริขาร ความเป็นอยู่ นี่มันเป็นความกังวลไปทั้งหมด วัดวาอารามการก่อสร้างมันจะเป็นความกังวลไปทั้งหมด ถึงว่าให้วางไว้ไง ถ้าพระปฏิบัติ ให้ธุดงค์ไปเหมือนนก นกมีปีกกินอาหารแล้วก็บินไป บริขาร ๘ อาศัยเหมือนขนนก เพื่อเป็นเครื่องอาศัยไม่ให้ไปติดมัน อาศัยสิ่งนี้ดำเนินไป นี่คือธรรมและวินัย

แต่วันมหาปวารณานี่ให้ภิกษุปวารณากัน ไม่ต้องสวดปาฏิโมกข์ แม้แต่กฎหมายเป็นกฎหมายวางไว้เพื่อบังคับพระนะ บังคับพระให้อยู่ในศีลในธรรม ถ้าศีลธรรม ศีล ๒๒๗ ศีล ๒๑,๐๐๐ ข้อ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ กฎหมายโลกไม่มีความหมายเลย กฎหมายไม่มีความหมายเพราะอะไร

เพราะศีลเราทำประพฤติปฏิบัติไปมันผิด มันถึงเป็นความผิดกฎหมายใช่ไหม แล้ววันมหาปวารณา คือเหมือนกับถ้าปลงอาบัติ เราเป็นอาบัติแล้วเราปลงอาบัติใช่ไหม นี่เราอยู่จำพรรษากัน พอจำพรรษากัน เราจำศีลกัน ใน ๓ เดือนนี้มีความบาดหมางกัน มีความกระทบกระเทือนกัน เห็นไหม มหาปวารณาคือให้ปวารณาต่อกันไง

“ปวารณาต่อกัน” แม้แต่กฎหมายก็ไม่มีความหมายถ้าคนมันสำนึกผิดนะ ถ้าคนมันสำนึกผิด มันยอมรับความผิดมัน แล้วมันปวารณา ขอให้ตักเตือน ขอให้ว่าให้กล่าว ให้ว่าให้กล่าวแล้วต้องทำตามนั้น ถ้าทำตามนั้น คนคนนั้นจะเป็นคนที่ว่ามีโอกาสที่มันจะมีคุณงามความดีตลอดไป

แต่ถ้าทำตามประเพณี เห็นไหม ประเพณี เห็นเขาทำก็ทำกัน ถ้าทำแล้วมันไม่เข้าไปถึงใจ มันไม่ได้มีความระลึกว่าเราทำผิดพลาดอะไรไป ไม่มีความเกรงกลัว ไม่มีความระลึก ไม่มีสติสัมปชัญญะไง นี่สติสัมปชัญญะ ความระลึกรู้ ความเกรงกลัวต่อบาป ถ้ามีสิ่งนี้ขึ้นมามันจะเป็นประโยชน์กับใจดวงนั้นนะ

มหาปวารณาเป็นอริยประเพณี อริยประเพณี อริยวินัย อริยประเพณี เห็นไหม ผู้ใดทำความผิดพลาดแล้วสำนึกผิด แล้วขอทำคืน ขอทำคืนแล้วจะทำคุณงามความดี พระพุทธเจ้าบอกว่าเป็นอริยประเพณี

มหาปวารณา ถึงได้แม้แต่สวดปาฏิโมกข์ กฎหมายยังยกไว้เลย ยกกฎหมายไว้ว่าวันนี้ถ้าทำมหาปวารณา ไม่ต้องสวดปาฏิโมกข์ ปาฏิโมกข์ยกไว้แล้วให้พระปวารณาต่อกัน

“ถ้าข้าพเจ้ามีความผิดพลาดต่อกัน ให้ตักเตือนข้าพเจ้า”

นี่ตักเตือนข้าพเจ้า ประเพณีวัฒนธรรมเป็นอย่างนั้น แล้วประเพณีอย่างหยาบ อย่างละเอียด ดูสิ เมื่อกี้บิณฑบาตมา วันนี้เขาจะไปวัดกันนะ เขาแต่งตัวสวยๆ เขาแต่งตัวจะไปวัดต้องแต่งตัวสวยๆ เห็นไหม นี่ประเพณี ประเพณีนี้เอาไว้ขายเป็นสินค้า

สินค้า เวลาการท่องเที่ยว ประเพณีแห่เทียน ประเพณีออกพรรษา ประเพณีนี่ให้เขามาดู มาดูศีลธรรมจริยธรรมของเรา มาดูประเพณีวัฒนธรรม นี่เป็นสินค้าได้ นี่เป็นเรื่องของโลก โลกเขาต้องมีการส่งเสริม เขาต้องทำให้มีความสวยงาม แล้วเราก็ติดในโลกกัน นี้เป็นประเพณีนะ แต่ก็ดีกว่าคนที่ไม่มีประเพณี คนที่ไม่ไปวัดไปวา คนที่ไม่รู้จักหัวใจของตัว สักแต่ว่าทำ สักแต่ว่าเป็นไป เขาทำกันก็ไม่รู้จักของเขา

คนไม่รู้เหนือรู้ใต้เลยมันก็เหมือนกับสัตว์ตัวหนึ่ง สัตว์ตัวหนึ่งมันก็เกิดเหมือนเรา มันก็ดำรงเผ่าพันธุ์เหมือนกัน มันก็มีความสุขความทุกข์ของมันประสามัน มันกินอิ่มนอนอุ่น มันก็มีความสุขของมัน มันเป็นสัตว์เพราะมันไม่มีศีลธรรม สัตว์บางตัวยังรักลูก ยังเป็นสัตว์ที่ดีนะ นั่นอันหนึ่ง

แต่เรานี่ประเพณีอันหนึ่ง แล้วประเพณีของพระของกรรมฐานเราล่ะ ประเพณีวัฒนธรรมไม่มีการแต่งตัวสวยงาม เพราะการแต่งตัวสวยงามมันศีล ศีล ๘ การถือศีล ๘ ไม่ดูการฟ้อนรำ ไม่มีการนอนในที่สูง ศีล ๘ เรานี่ เราเริ่มจากวางสิ่งนั้น

นางวิสาขาเป็นผู้ที่มีฐานะมากนะ เวลาไปไหนเขามีบุญกุศล เพราะเขาปรารถนา เวลาคนปรารถนานี่อันหนึ่ง ปรารถนาแล้วเราพยายามสร้างสมบุญญาธิการ ต้องสร้างนะ ปรารถนาแล้วไม่สร้างก็ไม่ได้ผลตามนั้น เหมือนกับเราตั้งเป้าหมายแล้วเราเดินไม่ถึงเป้าหมายนั้นก็ไม่ถึงเป้าหมายนั้น ถ้าเราตั้งเป้าหมาย เดินถึงเป้าหมายนั้น ถึงจะได้เป้าหมายนั้น

นางวิสาขาได้อธิษฐานไว้ว่าจะเป็นผู้อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาถึงมีบุญของเขา เขาจะมีทองคำของเขา เป็นชุดทองคำของเขา เป็นชุดไง เป็นเครื่องประดับของเขา เพราะเขามีของเขา คนอื่นทำอย่างนั้นไม่ได้ มีน้ำหนักมาก เวลาจะเข้าวัดนะ ไปถึงบริเวณเขตวัดจะถอดเครื่องประดับออก วางไว้ตลอด จนถึงกับบางคราวลืมนะ พระโสดาบันนะ พระโสดาบันลืมเครื่องประดับของตัว กลับบ้าน เครื่องประดับทิ้งไว้ที่วัด แล้วพระไปเจอเครื่องประดับนั้นนะ ไม่มีใครสามารถที่จะใช้ได้ พระเก็บสิ่งนั้นไว้ได้ มันเป็นทองคำ ถึงต้องหาเจ้าของ

นางวิสาขาถึงบอกว่า ของที่สละลืมแล้วไว้ในวัดก็เลยยกให้วัดเลย แล้วให้ประมูลขายเอา ไม่มีใครสามารถมีเงินซื้อได้ นางวิสาขาก็ต้องประมูลของตัวเองกลับไป เอาปัจจัยนั้น ให้วัดนั้นได้เป็นประโยชน์ นี่อยู่ในพระไตรปิฎก

นี่การประดับสวยงาม นางวิสาขายังต้องปลดเปลื้องสิ่งต่างๆ ออกไป ประเพณีเป็นส่วนหนึ่ง ใครจะเข้าถึงความหยาบ ความละเอียดของประเพณีอันนั้น ประเพณีอันนั้นคือประเพณีเรื่องของโลก ประเพณีเรื่องของการท่องเที่ยวต่างๆ เห็นไหม ประเพณีของพระกรรมฐานเรา ประเพณีของเราต้องมีทาน ศีล ภาวนา ศีลนะ ทำให้ศีลปกติขึ้นมา ถ้าเรามีศีลปกติขึ้นมา มีข้อวัตรปฏิบัติ ประเพณีของเรา เข้าวัดเราต้องรู้จักประเพณีสิ เห็นไหม ไปทางภาคอีสานเขาถือมากในการเข้าวัดนี้ พอเข้าไปในวัด วัดนี่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เราต้องเคารพสถานที่นั้น

ถ้าเคารพสถานที่นั้น กุฏิ อาวาสนะ เห็นทางจงกรม จะไม่กล้าก้าวล่วงทางจงกรมนั้น เพราะทางจงกรมนั้นเป็นที่เดินของพระอริยเจ้านะ เพราะเราไม่เข้าใจว่าพระองค์ไหนเป็นพระอริยเจ้า พระองค์ไหนเป็นพระผู้ที่สิ้นกิเลส แล้วเดินจงกรมอยู่บนทางจงกรมนั้น สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ฝึกให้จากปุถุชนกลายเป็นอริยบุคคลขึ้นมา แล้วเราเข้าไปในเขตวัด เราจะไปก้าวล่วงไม่ได้

ดูสิ อย่างวัดหลวงปู่มั่นที่อำเภอพร้าว เขาสร้างกำแพงล้อมไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ของเขาเลย เพราะมันเป็นที่เดินจงกรมของเขา ไปถึงก็เข้าไปศาลาการเปรียญต่างๆ เขาจะต้องเคารพสถานที่ ต้องให้ความสงบสงัดไง

คนเราไม่เข้าใจนะ ไปที่วัดต้องรื่นเริง ต้องมีเสียง ต้องมีเครื่องมหรสพ นี่เป็นเรื่องของโลกทั้งหมดเลย แต่เราเข้าไปประเพณีของพระกรรมฐาน จะมีงานขนาดไหนก็ไม่มีมหรสพ มีแต่การเทศนาว่าการ ธรรมไง ธรรมอย่างนี้ธรรมที่แสดงออกมาเพื่อมันจะเข้าถึงหัวใจ หัวใจมันสะเทือนใจมากนะ ถ้าพูดถึงสิ่งใดแล้วสะเทือนหัวใจเรา ถ้าสะเทือนหัวใจเรานี่ เราจะต้องมีสติขึ้นมา เราต้องตั้งตัวของเราขึ้นมาให้ได้

ถ้าเราไม่ตั้งตัวของเราขึ้นมาให้ได้ เวลาทุกคนมีความทุกข์ ไปวัดนี่อยากมีความสุขมาก ทุกคนทำบุญกุศลยังไม่เห็นมีความสุขเลย ความสุขมันเกิดจากที่ไหน? ความสุขมันเกิดจากที่ใจนี้ ใจมันทุกข์อยู่ในหัวใจนี้ ถ้าสุขมันก็สุขอยู่ในหัวใจนี้

เวลาเราทำบุญกุศล พ่อแม่มีศรัทธาความเชื่อ ทำด้วยความรัก ทำด้วยความเคารพ ความเมตตา แต่ลูกๆ มันทำตามพ่อแม่ บุญกุศลมันก็ไม่เท่ากัน เพราะอะไร เพราะเจตนานี้มันเข้าไม่ลึกถึงหัวใจ แล้วถ้ามีความสุขมันก็สุขต่างกัน เห็นไหม ลูกสุขเพราะได้ไปวัดไปวา ได้นั่งรถเที่ยว ได้ไปวัด ไปเล่นกับเพื่อน นี่ลูกสุขประสานั้น แม่สุขสุขเพราะได้ไปวัดไปวา หัวใจมันสะเทือนมาก เวลาเข้าถึงหัวใจ นี่มันจะไปแก้ทุกข์ตรงนั้น ถ้ามีความสุขความทุกข์มันจะไปแก้ตรงนั้น

แล้วเวลาโลกเขามีความทุกข์ เขาจะแก้ทุกข์ของเขา เขาก็ไปที่สถานเริงรมย์ สถานที่เขาไปผ่อนคลายของเขา มันแก้ทุกข์ไม่ได้ เพราะมันเข้าไม่ถึงตรงที่ทุกข์มันเกิดไง มันไม่เข้าไปถึงตรงที่ทุกข์มันเกิด ตรงที่ทุกข์มันผุดขึ้นมา แล้วจะไปแก้ทุกข์ที่ไหนล่ะ มันไปถึงเหตุไม่ได้ไง

ประเพณีกรรมฐานเราถึงต้องทำความสงบของใจ ถ้าทำความสงบของใจ จิตมันร่มเย็น ทุกข์มันเริ่มจางลง มันเป็นการบรรเทาทุกข์นะ ถ้าเราทำสัมมาสมาธิขึ้นมา มันเป็นการบรรเทาไว้ มันยังไม่ได้แก้ทุกข์

ถ้าเราเกิดวิปัสสนาขึ้นมา เราเข้าไปถึงจุดที่หมายแล้ว เราเข้าไปถึงที่ทุกข์มันอยู่ตรงนั้น ผู้ที่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่ความผูกพัน สิ่งที่ตัวตน สิ่งที่ก่อเกิด สิ่งที่ทุกข์ก่อเกิด ทุกข์มันผลิตจากตรงนั้นขึ้นมา เราเข้าไปถึงโรงงานของมัน เข้าไปถึงที่ที่จะแก้ทำลายทุกข์นั้น นี่เราต้องใช้ปัญญา ใช้วิปัสสนาญาณเข้าไปทำลาย ทำลายทุกข์ตรงนั้นไง ถึงว่าแก้ทุกข์ได้ตามความเป็นจริง มันต้องไปแก้ทุกข์

จากประเพณีหยาบๆ เราเห็นของเขา เราเห็นแล้วเราก็ต้องเคารพประเพณีของเขา เราต้องเคารพความเชื่อของทุกๆ คน แต่ความเชื่อของเด็ก เราก็ให้เด็กมีความสุขประสามัน ความเชื่อของเราเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา เราก็มีความเชื่อของเรา ความเชื่อเป็นศรัทธาความเชื่อ แล้วเวลาเราปฏิบัติไปเป็นปัจจัตตัง สิ่งที่เกิดขึ้นกับใจ อาหารรสชาติขนาดไหน เขาจะโฆษณาว่าอาหารรสชาติดีขนาดไหน ถ้าลิ้นเรา เราตักใส่ปากของเรา ลิ้นมันกระทบรส เราจะรู้รสนั้น จิตนี้เหมือนกัน ประเพณีวัฒนธรรมก็เป็นการโฆษณากัน เป็นศรัทธาความเชื่อ แต่ปัจจัตตัง ปัจจัตตังคือลิ้นมันรู้รสนั้น ลิ้นได้ดื่มรสนั้นนะ รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวงไง รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวงมันเกิดจากภาวะของใจ นี่มันจะแก้ทุกข์ตรงนั้นไง

ประเพณีอย่างหยาบเป็นอย่างหยาบของเขา แต่ถ้าเราละเอียดขึ้นมาเราก็ดูของเราขึ้นมา แล้วถ้าเราเคารพสถานที่ เคารพต่างๆ ขึ้นมา เขาบอกเรื่องนี้ ถ้าคนหยาบมันบอกทำไมเรื่องอย่างนี้ทำไมคิด ทำไมต้องไปเคารพ

เวลาเรากราบพระ ทางวิทยาศาสตร์เด็กมันว่าพ่อแม่นะ มีพ่อแม่คนหนึ่งเขามาที่นี่ เขามากราบพระ ลูกมันถามว่า “แม่กราบทำไมทองเหลือง” เขาว่าเขาเป็นคนมีปัญญานะ เพราะเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ “แม่กราบทำไมทองเหลืองนี่ แม่ต้องไปกราบทำไมทองเหลือง” ติแต่แม่นะ แล้วแม่ก็แก้ลูกไม่ได้

เราบอกเลยนะ ทองเหลืองเขาไปทำเป็นอย่างอื่นเขาก็ทำได้ อย่างรูป อย่างพระนี่เขาหล่อด้วยปูน ด้วยอิฐ ด้วยหิน ด้วยทราย ด้วยปูน ก็ได้ อันนี้เป็นสัญลักษณ์ต่างหากล่ะ สัญลักษณ์ สัญลักษณ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเรากราบทองเหลือง เราก็ได้แค่ทองเหลืองคือว่าจิตมันหยาบ จิตมันเข้าไม่ถึง เพราะจิตมันคิดเป็นโลก คิดเป็นวิทยาศาสตร์

แต่ถ้าเราเป็นชาวพุทธ เราเป็นจิตที่มีธรรม เรากราบตัวแทนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรากราบถึงปัญญาบารมี เมตตาคุณ ปัญญาคุณขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า วางธรรมไว้นี้เป็นประเพณีวัฒนธรรมขึ้นมาให้ชาวพุทธเราอภัยต่อกัน ให้ชาวพุทธเราทำทานต่อกัน ให้ชาวพุทธเราเจือจานกัน ให้ชาวพุทธ สิ่งนี้มันเป็นเรื่องของโลก

โลกที่ว่าเกิดในประเทศอันสมควร ชาวพุทธจะมีการเจือจานกัน เกิดจากไหน? เกิดจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมด เรากราบคุณงามความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราไม่ได้กราบทองเหลืองหรอก แต่ในเมื่อเราเป็นปุถุชน เราจะกราบว่างๆ นี่มันกราบแล้วใจมันไม่มีจุดเป้าหมาย เราถึงต้องมีพระพุทธรูปนี้ เรากราบถึงองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบถึงพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราไม่ได้กราบทองเหลืองหรอก ทองเหลืองนี้เป็นสัญลักษณ์ เป็นรูปเคารพเท่านั้นเอง

แต่หัวใจมันหยาบเอง คิดทางวิทยาศาสตร์ ว่าตัวเองมีปัญญาไง อวดแม่นะว่าตัวมีปัญญานะ แม่มีแต่คิดหยาบๆ ฉันคิดอย่างละเอียด กราบทำไมทองเหลือง กราบทำไม อิฐ ทราย หิน ปูน

เขาละเอียดกว่าตัวหลายร้อยเท่านัก เขากราบถึงพุทธคุณ ธรรมคุณ เกิดขึ้นมาเพราะเชื่อธรรมขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดขึ้นมาแล้วเห็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมไว้ เกิดในสังคมอันมีความร่มเย็นเป็นสุข ร่มเย็นเป็นสุขนี้เพราะพระพุทธเจ้าวางธรรมไว้ กราบถึงคุณงามความดี กราบถึงบุญคุณ กราบคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมด ไม่ได้กราบทองเหลืองเลย

แต่เด็กมันว่ามันเก่ง มันว่ามันรู้ไง เห็นไหม นี่วิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์คิดอย่างนั้น วิทยาศาสตร์คิดอย่างนี้ว่าความเป็นไปของโลกเป็นไปอย่างนี้ หาสวรรค์ก็หาไม่เจอ พอจะขึ้นไปบนสวรรค์ ขึ้นไป มันเป็นไปไม่ได้ แม้แต่กล้องที่ถ่ายย้อนมิติ ถ่ายย้อนไปเมื่อวานนี้ ถ่ายย้อน มันยังถ่ายย้อนเรื่องของนรกสวรรค์ไม่เจอเลย

แต่ถ้าจิตสงบขึ้นมานี้ไม่มีมิติของใจ ใจมันเห็นหมด ใจมันเข้าใจหมด นี่ปัจจัตตัง แล้วพิสูจน์ได้ เห็นได้ แล้วชำระกิเลสขึ้นมา จากปุถุชนนั้นใจที่มันยังร้อนรุ่ม แล้วใจมันปล่อยพ้นกิเลสมา มันจะมีความสุขมากเลย นี่ไง เกิดจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมไว้ แล้วเราก็จะทำประเพณีกัน นี่ประเพณีวันมหาปวารณานะ ถ้ามหาปวารณา เราเคารพอะไร เราศรัทธาสิ่งใด เรามีความผิดพลาดสิ่งใด ขอให้อโหสิกรรมต่อกัน ไม่มีเวรไม่มีกรรมต่อกันไป เอวัง