เทศน์เช้า วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๔๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เวลาภาชนะเราจะใส่อาหารนะ ภาชนะจะใส่อาหารนี่เราต้องล้างให้สะอาด ถ้าภาชนะเราสะอาด อาหารนั้นจะเป็นประโยชน์กับร่างกาย ถ้าภาชนะนั้นไม่สะอาด อาหารนั้นก็จะสกปรกไปด้วย ถ้าภาชนะนั้นเป็นพิษนะ เป็นพิษ เป็นสิ่งที่เป็นโทษกับร่างกาย ใครกินอาหารเข้าไปก็จะเป็นโทษกับร่างกาย เห็นไหม ภาชนะที่ใส่อาหาร เราต้องทำให้สะอาด แม้แต่ของใช้ที่เป็นวัตถุยังต้องให้สะอาด
แต่เวลาเราเป็นชาวพุทธต้องมีทาน ต้องมีศีล ศีลเพื่อทำให้ใจนี้สะอาดไง ถ้าเรามีศีล ทำใจนี้ให้สะอาดเพื่อเป็นภาชนะที่รองธรรม รองรับสภาวธรรมที่มันจะเกิดขึ้นมาจากศีล ถ้ามีศีลปกติ ความสงบปกติของใจ แล้วมันจะเกิดสมาธิไง ถ้าเราทำสมาธิขึ้นมาได้ จะมีความสุขแล้ว เริ่มทำสมาธิ เราทำความสงบ เราปฏิบัติธรรมกัน นี่เพื่อแสวงหา แสวงหาหลักของใจไง หลักของใจให้มันเป็นอิสระชั่วคราว คือความสงบของมันพักชั่วครั้งชั่วคราว
เครื่องยนต์เวลาติดเครื่องแล้วพักไม่ได้ มันจะเสียหาย เห็นไหม ต้องหยุดได้ เครื่องยนต์ต้องติดได้ต้องดับได้ แต่ใจของมนุษย์นี้ติดแล้วไม่เคยดับไง ถ้าเรามีความปกติอย่างนี้ มันจะดับ มันจะปล่อยวาง มันจะพักชั่วคราว ถ้าพักชั่วคราว นี่สัมมาสมาธิ แล้วจะยกขึ้นวิปัสสนา ถ้าวิปัสสนานั้นคือปัญญา ขั้นของปัญญานั้นมันแตกฉานออกไป มันแตกแขนงออกไปอีกมหาศาลเลย ขั้นของปัญญานะ
เวลาพระเราปฏิบัติ เช้าขึ้นมาเวลาเช็ดบาตร ฝุ่นตกไปในบาตรก็ไม่ได้นะ เช็ดบาตร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้มีสติสตังขนาดนั้นนะ เวลาหน้าฝนบิณฑบาตออกไป ถ้าฝนตกใหม่ จากชายคา ตกลงสู่บาตร สิ่งนั้นขาดประเคน เพราะอะไร เพราะเวลาฝนตกใหม่ ในหลังคานั้นมันมีฝุ่นมีละออง สิ่งที่เป็นฝุ่นละอองนั้น ถ้าน้ำนั้นตกใส่ในบาตร นี่ต้องประเคนใหม่ แล้วทำไมเวลาบิณฑบาต เขาใส่บาตรอยู่ นั้นก็เป็นการประเคนแล้ว แต่เวลาฝุ่นตกบาตร บาตรก็อยู่กับเรา ทำไมต้องประเคนใหม่ ทำไมว่าขาดประเคนล่ะ? เพราะเป็นความไม่มีสติของเราไง เราต้องมีสตินะ เราต้องรักษาของเรา รักษาของเรา ภาชนะของเรา
แม้แต่โยม เวลาภาชนะจะใส่อาหารก็ต้องให้สะอาด เวลาพระจะบิณฑบาตน่ะ ก่อนออกบิณฑบาต บาตรนี้ต้องเช็ดก่อนไม่ให้มีฝุ่น ไม่ให้เป็นอามิส ถ้าเราล้างบาตรวันนี้ ล้างบาตรไม่สะอาดนะ ในเหลื่อมในขอบบาตรมันมีไขมันอยู่ เวลาไปบิณฑบาต เขาใส่อาหารเป็นของร้อน แล้วถ้าความร้อนนั้นทำให้ไขมันนั้นละลาย นี่ขาดประเคน เพราะอะไร เป็นสันนิธิไง สิ่งนี้อาหารเก็บไว้แรมคืน
เห็นไหม เพื่อให้มีสติ เพื่อให้มีความควบคุมใจให้ได้ ถ้ามีความควบคุมใจได้ คฤหัสถ์ก็มีสติระดับหนึ่ง เพราะผู้ที่ประพฤติปฏิบัติต้องมีสติอีกระดับหนึ่ง ระดับที่ว่าต้องพยายามควบคุมใจให้ได้ ควบคุมใจให้ได้ ใจตัวนี้มันดิ้นรนมาก สิ่งที่ดิ้นรนมาก เวลามือของเราถ้าเป็นแผล มือของเราจะไปจับสิ่งที่เป็นพิษนี้ไม่ได้ มือเราเป็นแผลนะ ใจเราเป็นแผล ใจเรามันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ใจเราเป็นแผล มันจะไปจับสิ่งใด มันจับสภาวะของมัน
ถ้ามือเราไม่เป็นแผล มือเราไม่มีบาดแผล มือเราจะลงไปในน้ำเค็ม จะลงไปในสิ่งใด มันจะไม่แสบไม่เจ็บไม่ปวดของมัน เพราะอะไร เพราะมันเป็นปกติไง นี่ใจปกติ เริ่มต้นจากปกติ ใจแค่ปล่อยวาง มันก็เป็นปกติของมันแล้วนะ สิ่งที่เป็นปกตินี้ ปกติเพราะมันปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ เข้ามา แต่มันยังไม่ได้รักษาแผลนั้นไง ถ้ารักษาแผลนั้น แผลเกิดขึ้นมา แผลมันมีในหัวใจนะ นี่แผลในใจ แผลเป็นของใจ แผลเป็นในร่างกายเรา มันเป็นแผลแล้วเป็นแผลเป็น หายแล้วมันก็ฝังอยู่กับร่างกายเราตลอดไป
แต่แผลเป็นของใจ ร่างกายเวลาตายแล้วมันทิ้งสภาวะนี้ไปได้ หรือให้หมอเขารับจัดการทำศัลยกรรมก็ได้ แต่หัวใจทำไม่ได้ หัวใจนี้ทำไม่ได้นะ เราไปหาอยู่กับครูบาอาจารย์ พ่อแม่ครูจารย์ พ่อแม่ครูจารย์เพราะอะไร เพราะเลี้ยงเราตั้งแต่ร่างกาย บิณฑบาตมา เลี้ยงมา ปัจจัย ๔ พ่อแม่ครูบาอาจารย์จะต้องดูแลเรา ดูแลเราเพื่อให้มีความสะดวกสบายในการประพฤติปฏิบัตินะ ไม่ใช่ดูแลเราจนทำให้เรามีความสุขจนเรานอนใจนะ สิ่งที่มีมากเกินไปก็ต้องพยายามกระตุก พยายามชักให้มันน้อยลง ให้น้อยลงเพื่อให้มันเป็นมัชฌิมาปฏิปทา
เราเป็นเด็ก เราเห็นสิ่งใด เราก็ต้องใช้ประสาของเราว่ามันเป็นความพอดีของเรา แต่ผู้ใหญ่เขาจะรู้ของเขา เห็นไหม ดูอย่างโค้ชนักกีฬาสิ เรื่องอาหารการกิน เขาต้องมีอาหารของเขาเพื่อพลังงานของเขา เขาต้องจ้างนักโภชนาการสำหรับอาหารของเขาเลยนะ นักกีฬาที่มีชื่อเสียงระดับโลก เขาจะมีนักโภชนาการประจำตัวของเขา เพื่อจะให้กินอาหารของเขาให้กับร่างกายของเขามีกำลังแข็งแรงของเขาอย่างนั้น นี่ขนาดว่านักกีฬายังขนาดนั้น แล้วเราจะชำระกิเลส เราจะต่อสู้กับกิเลสนะ นี่เป็นกิเลส โค้ชที่จะต่อสู้กับกิเลสได้ก็คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเข้าใจเรื่องสิ่งนี้ก่อนไง
ถึงบอกว่าให้อดนอนผ่อนอาหาร ผู้ที่มีธุดงควัตรขัดเกลากิเลส ต้องมีการขัดเกลากิเลสนะ ขัดเกลามัน มันต้องการมาก เราก็สละออก สละสิ่งนั้นออก ต้องการสิ่งใด เราจะฝืนมันๆ โลกต้องการสิ่งใด ร่างกายต้องการสิ่งใด เราว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เราพอใจของเรา แต่ในการประพฤติปฏิบัติอยู่ ขณะที่มันพอใจนั้นคือกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เพราะการฉันของพระนะ การกินของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ โลกเขากินกันเพื่อกาม โลกเขากินกันเพื่อเกียรติ โลกเขากินกันเพื่อดำรงชีวิตนี้ โลกกินกันอยู่อย่างนี้ กินอยู่โดยสารอาหารนะ
แต่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติกินเพื่อดำรงชีวิตเท่านั้น สิ่งที่ดำรงชีวิตนะ พอให้มันหายใจได้ พอให้มันมีพลังงาน อันนี้พอแล้ว สิ่งที่มีพลังงาน เห็นไหม การประพฤติปฏิบัติมันจะง่ายเข้ามา ง่ายเข้ามา เพราะอะไร เพราะธาตุขันธ์มันไม่แข็งแรงเกินไป ความคิดเราไม่รุนแรงเกินไป ความคิดรุนแรง เห็นไหม ครูบาอาจารย์เราสมัยที่ออกประพฤติปฏิบัตินะ เวลาจิตใจไปเกาะเกี่ยวกับสิ่งใด ไปชอบพอสิ่งใด อดอาหาร รักไหม? รัก ไม่ต้องกิน รักไหม? รัก ไม่ต้องกิน จนร่างกายมันอ่อนแอมาก มันเพลียมาก รักไหม? ไม่รักแล้ว เพราะอะไร เพราะมันจะตาย พอมันจะตาย มันยับยั้งกิเลสได้ เห็นไหม ธุดงควัตรขัดเกลากิเลสไหม ขัดเกลาอย่างนี้ไง สิ่งนี้มันเป็นประโยชน์ แล้วมันเป็นประโยชน์กับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ แต่ทางโลกเขามองไม่ออกว่าในการประพฤติปฏิบัติต้องการสิ่งใดไง
เราจะรักษาแผล เราต้องรักษาแผลของเราเข้ามาตรงนี้ไง เพื่อให้จิตของเรามีกำลังขึ้นมาก่อน ถ้าจิตของเรามีกำลังขึ้นมาก่อน นักกีฬาถ้าเก่งขนาดไหน ไม่มีกำลังก็แพ้ นักกีฬามีกำลังมากขนาดไหน แต่เทคนิคไม่มีก็แพ้ เห็นไหม มันแพ้ไปหมด
ถ้าเรามรรคไม่รวมตัว เทคนิคต้องมีในนักกีฬาคนนั้น กำลังต้องมีในนักกีฬาคนนั้น มรรคญาณเวลาเกิดขึ้น อาสวักขยญาณเกิด เกิดอย่างนี้ไง มรรคต้องรวมตัว ต้องมีพลังงานชอบ พลังงาน พลังงานที่พลังงานชอบ แล้วพลังงานที่ไม่ชอบคือพลังงานอะไรล่ะ เวลาพลังงานที่ไม่ชอบ เวลาจิตสงบขึ้นมา พลังงานอันนั้นเขาทำได้ คุณไสยเขาก็ทำได้ สิ่งใดก็ทำได้
ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิมันก็เป็นสภาวะอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นสัมมาสมาธิมันก็เป็นสภาวะอย่างหนึ่ง แล้วทำไมสติล่ะ สติ เห็นไหม สติสตังน่ะ มันมีมิจฉามีสัมมาหมด มรรคไง มิจฉามรรค สัมมามรรค ถ้าเป็นมิจฉามรรค ความคิดหยาบๆ อย่างนี้มันมีเกิดขึ้น แล้วถ้าเกิดขึ้นมา ครูบาอาจารย์ถึงบอกว่าโลก กระแสของโลกนะ เขาจะพูดขนาดไหน มันเป็นเรื่องของคนที่ปากสกปรก ปากที่มีกิเลส มันก็พูดตามความเห็นของเขานะ แล้วมุมมองของเขาก็แตกต่างกัน แตกต่างกันมาก ปัญหาปัญหาเดียว มุมมองคนละมุมมองน่ะ พูดกันร้อยแปดปัญหาน่ะ ยิ่งมากเรื่องก็มากความ
แต่ถ้าพูดถึงผู้ที่มีปัญญา ครูบาอาจารย์เราที่มีปัญญา ถ้าพูดถึงผู้ที่มีปัญญาติ ผู้มีปัญญาคอยเคาะให้เราได้สติ สิ่งนี้เราต้องฟัง ฟังเพราะอะไร เพราะผู้มีปัญญา ผู้มีประสบการณ์ทำสิ่งนี้มา แต่เรื่องโลก เรื่องความพอใจของเขา เรื่องตัณหาความทะยานของเขา เขามีความตัณหา เขามีความทะยานอยาก เขามีความคิดเขา เขาก็ทำของเขา เขาเรียกว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ไง ประโยชน์ ประโยชน์กับกิเลส ไม่ใช่ประโยชน์กับโลก
ถ้าประโยชน์กับโลก สิ่งที่เป็นโลก ทุกคนต้องยอมรับ ถ้าสิ่งที่ยอมรับ สิ่งที่เป็นคุณงามความดี ใครไม่ยอมรับ ใครไม่ยอมรับคุณงามความดี? ทุกคนต้องยอมรับคุณงามความดี ทุกคนชอบคุณงามความดี ทุกคนชอบความเป็นธรรมไง เรียกร้องความเป็นธรรม ความเป็นธรรมนะ ถ้ามันเป็นความดี มันเป็นธรรมอยู่แล้วในตัวของมันเอง แต่มันสุดวิสัยถ้าเรื่องของกรรม ถ้ากรรมมันสุดวิสัยอย่างนั้น ก็ต้องตอบสนองกัน ต้องช่วยเหลือเจือจานกัน แล้วแต่กรรมของเขา เห็นไหม คนที่อ่อนแอกว่าก็ต้องให้มากกว่าหน่อยหนึ่ง คนที่เข้มเข็งกว่าก็ให้น้อยหน่อยหนึ่ง นี่เป็นสภาวะคนที่เป็นธรรมจะเห็นสภาวะแบบนั้นไง นี้เป็นธรรมจากภายนอกนะ
แล้วถ้าเป็นธรรมจากในหัวใจของเราล่ะ เราเป็นธรรมน่ะ เป็นสภาวธรรมเกิดขึ้น สภาวธรรมเวลาจิตสงบขึ้นมา มันจะตอบปัญหาธรรมขึ้นมา เราลังเลสงสัย เราสงสัยสิ่งใดอยู่ เวลาจิตสงบขึ้นมามันจะตอบปัญหานั้น นั่นน่ะธรรมมันเกิด เวลาธรรมมันเกิด มันจะเกิดมีความรู้สึกขึ้นมา มันเกิดตอบปัญหาปุ๊บ จิตนี้จะปล่อยหมดเลย ว่างหมด โล่งหมดเลย สิ่งนั้น เห็นไหม สิ่งนี้ก็ธรรม สภาวธรรมเกิด แต่ไม่ใช่อริยสัจ
ถ้าเป็นอริยสัจ จิตมันสงบแล้วมันต้องจับนะ จับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เห็นไหม กาย เวทนา จิต ธรรม...กาย เวทนา จิต ธรรม สภาวธรรมอย่างนี้คือสภาวธรรมที่เกิดขึ้นจากการที่เราวิปัสสนาญาณ วิปัสสนาญาณเป็นกิเลส เห็นไหม เวลาธรรมมันเกิด สภาวธรรมมันเกิด มันเป็นส้มหล่นไง มันเกิดสภาวะแบบนั้น ถ้าจิตผู้ประพฤติปฏิบัติมีความสงบนะ แล้วมีอำนาจวาสนา มันจะไปเห็นต่างๆ มันเหมือนกับหูทิพย์ตาทิพย์ อภิญญามันจะรู้สิ่งต่างๆ ขึ้นไป นี่เราไปรู้
แต่สภาวธรรมมันเกิด ไม่ใช่เราไปรู้ มันเกิดคือสภาวะสิ่งที่เป็นตามความเป็นจริง อย่างเช่นพรุ่งนี้จะมีใครมาก่อน จะมีใครเห็น มันจะบอกก่อน นี่สภาวธรรม ถูกก็ได้ ผิดก็ได้ ถ้าจิตไม่ละเอียดอ่อนพอ จิตที่สมาธิไม่แข็งพอ มันก็ผิดได้ ถ้าจิตมันละเอียดอ่อน มันมีหลักฐานอยู่ สิ่งนั้นก็ถูกได้ สิ่งนี้สภาวธรรมก็ยังมีถูกและผิด
แต่ถ้าเป็นอริยสัจ ความเป็นจริง ปัญญามันเกิดขึ้นมา มรรคญาณเกิดขึ้น สิ่งนี้เกิดขึ้นมา ความดำริชอบ ความเพียรชอบ งานชอบ งานในวิปัสสนาชอบ นี่ชอบขึ้นมา ครูบาอาจารย์จะมีสภาวะแบบนั้น จะยกสิ่งนี้ขึ้นมาไง จะเคาะสิ่งนี้ให้มรรคมันออกทำงาน นี่ภาวนามยปัญญา ปัญญาอันนี้มันเกิดขึ้น มันจะเห็นการเคลื่อนไปของหัวใจ ของความคิดไง ความคิดที่เป็นสภาวธรรม ความคิดที่ไม่มีตัวตน มันเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์นะ มหัศจรรย์ว่าเหมือนกับอยู่กลางอวกาศที่ไม่มีแรงดึงดูดใดๆ เลย ถ้าเราไม่มีสมาธิอยู่ มันมีตัวตน มีความคิดของเรา
แต่เวลาเราไปอยู่ในอวกาศ เป็นสัมมาสมาธิ มันว่างอยู่ แล้วมันทำงานของมัน ไม่มีแรงดึงดูด คือไม่มีเราไม่มีเขา ไม่มีสิ่งใดๆ มันเกิดขึ้น มันเป็นไปของมันโดยเราส่งเสริมขึ้นมาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม นี่ภาวนามยปัญญามันเกิด แล้วมันปล่อยวาง มันปล่อยวางสิ่งต่างๆ นี่อริยสัจ สิ่งที่เป็นอริยสัจมันจะเป็นสภาวะแบบนี้
ถ้าสิ่งที่เป็นอริยสัจเกิดอย่างนี้ ถึงว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญาอันนี้ต่างหากอยู่ในภาคสนามไง อยู่ในภาคปฏิบัติของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ภาคสนามที่จะค้นคว้าในหัวใจของตัว ภาคสนามคือหัวใจ คือภวาสวะ คือภพของใจที่กิเลสมันเกิดดับที่ใจตรงนั้น แล้วเราไปทำลายกันตรงนั้น ทำลายตรงนี้เป็นอริยสัจ ถ้าเป็นอริยสัจ ทำลายอย่างนี้ มันจะเริ่มปล่อยวางไปเรื่อยๆ เพราะมีการฝึกซ้อมไง เพราะกิเลสมันหนาแน่นมาก
มันวิปัสสนาไปมันจะปล่อยวางๆ ปล่อยวางขนาดไหนต้องซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนถึงจุดหนึ่ง มันต้องเป็นธรรมชาติของมัน คือมันขาดออกไป เห็นไหม สมุทัย สังโยชน์ขาดไป ทุกข์เป็นทุกข์ จิตเป็นจิต แยกออกจากกัน ออกจากกันโดยสัจจะความเป็นจริง แล้วสิ่งนี้เป็นอกุปปธรรมคือจะไม่เสื่อมสภาพอย่างนี้เลย จะคงที่อย่างนี้ตลอดไป จะเกิดตายกี่ภพกี่ชาติ มันก็จะอยู่อย่างนี้ตลอดไป
พระโสดาบันจะเกิดอีก ๗ ชาติเท่านั้น เวลาไปเกิดก็สิ่งนี้จะไปกับจิตดวงนี้ เพราะจิตดวงนี้มันได้แปรสภาพแล้ว จิตดวงนี้ไม่ใช่จิตธรรมดาแล้ว จิตดวงนี้จะเป็นจิตที่มันใช้ปัญญาเข้าไปใคร่ครวญแล้ว นี้เป็นอริยสัจ เห็นไหม ฝังไปกับใจ อริยสัจฝังไปกับใจนั้น
สภาวธรรมนี้ยังลืมได้ ยังลืมเลือนได้ แต่อริยสัจนี้ไม่มีเลือนกับใจดวงนั้นไป สิ่งนี้เป็นสมบัติส่วนตน สมบัติของใจดวงนั้นไง ภาชนะอย่างนี้มันถึงแก้แผลได้ ถ้าแก้แผลของใจ นี่ปะแผลของใจเข้ามาชั้นหนึ่งๆ จนรักษา โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี จนสิ้นกิเลสไป แผลนั้นหายทั้งหมดเลย เห็นไหม ในภาชนะนั้นถ้ามีความสะอาด ใส่อาหารสิ่งใดที่เป็นความสะอาด นั้นเป็นภาชนะ เป็นขันธ์ เป็นสภาวะของการเกิดและการตาย ภพชาติ แต่มือคือหัวใจดวงนั้น อยู่ในภาชนะนั้น ใจดวงนั้นอยู่ในภาชนะนั้น ธรรมอยู่ในหัวใจนั้น
ธรรมอยู่ที่ใจเท่านั้น ใจนี้ทุกข์ ทุกข์มาก เวลาสุข สุขมาก เวลาพ้นออกจากทุกข์จากสุข สุขก็ต้องทิ้งมัน สุขเพราะมันติดได้ อารมณ์ที่พอใจ อารมณ์ที่รักใคร่มาก จะสงวนมาก อาลัยอาวรณ์มาก อาลัยอาวรณ์ในตัวเองนะ เวลาใจจะพ้นไปจากกิเลส เราจะไปอยู่กับใคร เราอยู่ในโลกนี้มีพ่อ มีแม่ มีเพื่อนมีฝูง มีทุกอย่างไปหมดเลย แล้วไปอยู่คนเดียวจะไปอย่างไร กิเลสมันรั้งความอาลัยอาวรณ์ สุดท้ายแล้วอาลัยอาวรณ์นั้นก็คือกิเลส นี่ความดีมันยังติดไป
ถึงที่สุด ทำทั้งความดีและความชั่วทิ้งออกไป พ้นออกไปจากใจ มือนั้นไม่มีแผล สมบูรณ์ในการประพฤติปฏิบัติ สมบูรณ์กับใจดวงนั้น นี่สมบูรณ์ไปหมดเลย จากการที่เราก้าวเดินอย่างนี้มันเป็นนามธรรม สิ่งที่นามธรรมเป็นเรื่องของหัวใจ แล้วถ้าเราไม่มีหลักมีเกณฑ์นะ สิ่งที่เป็นสัญญา ความจำได้หมายรู้ มันก็คาดหมายไป แล้วสิ่งนี้ทำให้วุ่นวายไปหมดนะ สิ่งที่วุ่นวายไปเพราะอะไร เพราะทิฏฐิมานะ ความเห็นต่างๆ มันก็ว่ากันไปตามทิฏฐิมานะไง
แต่ถ้าเอาอริยสัจเข้าไปเทียบสิ อะไรก็แล้วแต่ ทิฏฐิไหน ความเห็นไหน ถ้าเข้าอริยสัจแล้วต้องเหมือนกัน เหมือนกันตรงลงอริยสัจนั้น อริยสัจนี้แตกต่างกันไม่ได้ เพราะอะไร เพราะมันมีความดำริชอบ ต้องมีปัญญาชอบนะ ความเพียรชอบ งานชอบ ตรงงานชอบนี่ งานตรงไหนมันชอบล่ะ
เห็นไหม เด็กมันเล่นขายของนะ มันเล่นค้าขายกันน่ะ มันก็ทำงานธุรกิจของมันนะ ธุรกิจในการเล่นของเด็ก มันได้เงินได้ทองไหม? มันไม่ได้เงินได้ทองหรอก ไปพูดสิ เล่นขายของกันมา แล้วเวลาเราทำธุรกิจของเรา มันก็เป็นความจริงขึ้นมาอีกอันหนึ่ง เห็นไหม มันเป็นสมมุติซ้อนสมมุติอยู่อย่างนี้ตลอดไป แล้วถ้าทิฏฐิมันต่างกันล่ะ ทิฏฐิต่างกัน ความเห็นต่างกัน มันจะเข้ามรรคได้ไหม? มันเข้าไม่ได้ มันก็ไม่ใช่อริยสัจ ถ้าไม่ใช่อริยสัจ มันก็ไม่เป็นความจริง ไม่เป็นความจริงมันก็เป็นสัญญาอารมณ์ มันก็เป็นการคาดหมายไปอย่างนั้น
แต่ถ้าเป็นความจริงแล้วต้องเหมือนกัน อริยสัจย่อมเหมือนกัน เหมือนกันโดยความเป็นจริงอันนั้น สิ่งที่เป็นจริง ถึงจะเป็นว่าครูบาอาจารย์ถึงคุยกันรู้เรื่องไง ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เป็นมงคลอย่างยิ่ง ถ้าสิ่งนี้ลงตัวกันจะเป็นมงคงอย่างยิ่ง แต่ถ้ามันขัดกัน ต้องมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่จะต้องมีความบกพร่องแน่นอน เพราะมันไม่ลงตัวกัน สิ่งที่ไม่ลงตัวถึงต้องขัดกันไป เราถึงว่ามีแผล ถ้าใจเรามีแผลเป็นแบบนั้น
ถ้าใจไม่มีแผลก็คือใจไม่มีแผล จะลุยน้ำลุยไฟ ลุยน้ำลุยไฟขนาดไหนมันก็ไม่มีความสะเทือนใจกับใจดวงนั้น เพราะใจไม่มีแผล ถ้าใจมีแผลนะ ดูวัวสิ เวลามีแผล อีกาบินมาก็เสียวสันหลัง เสียวไปหมดเลย เสียว เสียวหัวใจของตัว เพราะแผลมันเต็มตัวไง แต่ถ้าแผลไม่มีแล้ว จะไม่มีสิ่งใดสะดุ้งสะเทือนกับใจดวงนั้นเลย นี้คือความสุขสุดยอดในศาสนาพุทธเรา นี้เริ่มต้นจากภาชนะภายนอก ภาชนะภายใน แล้วตัวใจของเราจะปิดแผลทำลายให้สงบได้ เอวัง