เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๕ ก.ย. ๒๕๔๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๔๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาธรรมะของพระพุทธเจ้าว่าไว้ ถ้าทำอะไรให้มีสติ สิ่งใดทำไปแล้วผิดพลาดมันเป็นสิ่งที่ว่าแก้ไขไม่ได้ แล้วจะเสียใจภายหลัง จะเสียใจภายหลังก็เป็นกรรมไปแล้ว เวลาเราทำกรรม ทำกรรมดีกรรมชั่ว สิ่งที่ทำกรรมชั่วหรือกรรมดีนี่ เราไม่รู้ว่าชั่วหรือดี แต่เพราะเรามีกิเลสใช่ไหม เราไม่รู้ว่าชั่วหรือดี แต่ถ้าครูบาอาจารย์จะรู้ชั่วรู้ดีนะ สิ่งใดเป็นความถูกต้องสิ่งใดเป็นความไม่ถูกต้อง แล้วมันต้องมีสติไง บางทีเราก็รู้ว่าสิ่งนี้มันเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง แต่มันเป็นความจำเป็น มันต้องดันไป นี่มันก็เป็นกรรมทั้งนั้นน่ะ สิ่งที่เป็นการกระทำไง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกว่า “สิ่งใดที่ทำไปแล้ว แล้วเสียใจภายหลัง สิ่งนั้นไม่ดีเลย” ถ้าสิ่งนั้นไม่ดีเลย ถ้าเรามีสติในปัจจุบันนี้ เราก็จะไม่ทำสิ่งนั้นเลย ทำไมเราบังคับตัวเองไม่ได้ว่าจะไม่ควรทำสิ่งนี้ล่ะ เพราะอะไร เพราะเราเป็นปุถุชน เราเป็นคนที่ว่าเป็นคนปุถุชน เรามีความจำเป็น เราอาศัยความจำเป็นไป

แต่เวลาพระอริยเจ้าหรือว่าครูบาอาจารย์ที่ท่านมีธรรมของท่านนะ สิ่งที่ว่าจะสละชีวิต ท่านสละชีวิตได้เลย บางอย่างนี่ท่านจะปล่อยเลย ถ้ามันเป็นอะไรให้มันเป็นไป เช่น หลวงปู่แหวนนะ หลวงปู่แหวนท่านอยู่ในป่า ท่านป่วยนะ ท่านทอดชีวิตแล้ว ท่านปล่อยให้ตายนะ ตอนนั้นอายุประมาณ ๖๐ เท่านั้นเอง ท่านธุดงค์อยู่ในป่าแล้วท่านไม่สนใจเลย แต่อาจารย์หนูไปเจอท่านเอง แล้วไปอาราธนาท่านออกมา แล้วพยายามเอาท่านออกมารักษานะ เราถึงได้กราบไหว้หลวงปู่แหวนกัน ไม่อย่างนั้นเราจะไม่มีโอกาสได้เห็นหลวงปู่แหวนเลย เพราะท่านอยู่ในป่า ท่านทอดธุระแล้วท่านปล่อยแล้ว

เห็นไหม ถึงเวลาถ้ามีความจำเป็น แม้แต่ชีวิตนี้สละ เป็นของเล็กน้อยเลย เพราะอะไร เพราะผู้ที่ประพฤติปฏิบัติไปแล้วเมื่อถึงที่สุด สิ่งนี้มันไม่มีอะไรหรอก มันเป็นอาการที่แปรสภาพไป เพราะธาตุรู้เรานี่ ความรู้สึกอันนี้มันมีอยู่ แล้วมีเขาสติอยู่ มันเป็นสภาพไหนไปนี่มันเป็นไปได้มันเป็นไป สิ่งนี้มันเป็นไปถ้าเราระลึกได้ เรามีสติ เราก็ยับยั้งสิ่งนี้นะ

นี่เมื่อวานเขาโทรศัพท์มา เขาบอกว่าเขาขอนะ เขาพิมพ์หนังสือรำลึกวันวานไง แล้วมันมีปัญหากัน เวลามานี่ เขาเป็นนักปราชญ์นะ กองบรรณาธิการเขาเอาเทปนี่ไปฟังแล้ว พอไปฟังแล้วเขาไม่อัดเทปแจกกัน เขาบอกว่าอัดเทปแจกกัน มันมีเหตุมีผลอยู่ในนั้น เขาเวียนกันฟังคนละสองวัน สองวันนะ แล้วประชุมกัน ประชุมกันบอกว่าหนังสือนี้ต่อไปข้างหน้าจะมีปัญหาแน่นอน พอมีปัญหาแน่นอน เขาบอกเลย เขาระงับการแจกแล้ว แต่ทีนี้ระงับการแจกแล้ว พิมพ์มาแล้วเป็นหมื่นๆ เล่ม นี่มีความเสียดายมาก จะขอนะ ขอว่าให้เอาคำพูดที่เราคัดค้านไป แล้วให้เอาคำพูดนี้เป็นใบแทรกไปได้ไหม

เราบอกไม่ได้ ไม่ได้หรอก เราแทรกไม่ได้ ถ้าเราแทรกไป ทั้งๆ ที่ว่าประวัติหลวงปู่มั่นนะ เขียนเรื่องประวัติหลวงปู่มั่น สิ่งที่ประวัติหลวงปู่มั่นนี้ แล้วถ้าแทรกไป ถ้าเป็นกระแสโลก สิ่งนี้มันเป็นกระแสโลก แต่เราบอกว่า “เป็นไปไม่ได้” เป็นไปไม่ได้เพราะว่าอะไร เพราะว่ามีครูมีอาจารย์อยู่ หลวงตาท่านยังอยู่ พระผู้ใหญ่ท่านยังอยู่ เห็นไหม นี่แซงหน้าแซงหลังมันแซงตรงนี้ไง

ถ้าเป็นการแซงหน้าแซงหลัง ครูบาอาจารย์ก็มีอยู่ ทำไมไม่ให้ครูบาอาจารย์วินิจฉัยล่ะ ถึงบอกว่าต้องให้ครูบาอาจารย์วินิจฉัยก่อน ให้ครูบาอาจารย์วินิจฉัย ให้เสนอขึ้นไป ให้ข้างบนวินิจฉัยลงมา แล้วถึงเป็นไป

เขาบอก เสียดายหนังสือ เพราะหนังสือนี้พิมพ์มาแล้ว เพราะถ้าไม่แจกมันจะกองไว้เฉยๆ เห็นไหม แต่ถ้าแจกไป...นี่เขาพูดคำนี้นะ ถ้าแจกไป ทำบุญกุศลก็กลัวตกนรก กลัวตกนรกเพราะไปบิดเบือนธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าแจกหนังสือไปก็กลัวตกนรก ถึงทำบุญแล้วกลัวตกนรก เลยจะเอาใบแทรกของเราแทรกไป

เราบอก “ไม่ได้” ถ้าเราแทรกไป ประวัติหลวงปู่มั่น หนังสือนี่รูปเล่มสวยมาก แล้วถ้าออกไปนี่ใครๆ ก็อยากได้ใช่ไหม เอาชื่อไปเกาะไว้นี่มันเกาะกระแสไป มันให้เขาเหลียวมาดูหน้า ให้เขารู้จักชื่อเสียง มันก็เป็นเรื่องของกิเลสทั้งหมด ถึงบอก ไม่ได้ ไม่ได้เลย จะต้องให้หลวงตาเป็นผู้วินิจฉัย ถ้าหลวงตาวินิจฉัยแล้วให้เป็นไปตามนั้น ให้เป็นไปตามนั้นนะ

ถึงบอกว่า การที่ว่าสิ่งที่ทำแล้วมันเป็นโทษ เพราะอะไร เพราะว่าตัวเองเป็นนักปราชญ์นะ ถามว่าแล้วเวลาทำ ทำไมไม่ไปหาผู้เขียนล่ะ

เขาบอกว่าผู้เขียนคนนี้ป่วยแล้ว ผู้เขียนเข้าออกโรงพยาบาลตลอด แล้วตั้งแต่เขียนหนังสือมาก็พบผู้เขียนเพียงหนเดียว แล้วจะไปหาเขาอีกไม่ได้เลย จะไม่ไปหาเขา แล้วเวลาในหนังสือ ข้างหลังหนังสือมีมหา มีเจ้าฟ้าเจ้าคุณเต็มไปหมดเลยนะ ผู้ให้คำปรึกษานี่เป็นหน้าๆ ทำไมไม่ปรึกษาเขา? ก็ปรึกษาเขาไม่ได้อีกล่ะ เพราะอะไร เพราะเขาไม่มีเวลาให้เลย จะไปปรึกษาเขา

นี่ผู้ที่ไม่มีหลักมีเกณฑ์นะ ทำอะไรก็คิดว่าตัวเองทำเป็นกระแสโลก เวลาเราพิจารณากันว่า ธรรมะเป็นวิทยาศาสตร์ ต้องพิสูจน์ด้วยวิทยาศาสตร์ๆ นี่ก็นักปราชญ์ เป็นนักปราชญ์ในประเทศไทยนะ ชาวกรุงเทพฯ เรา ปัญญาชนในกรุงเทพฯ นี่ เมืองไทยนี่นักปราชญ์ก็มีเท่านี้ แล้วสิ่งนี้เราชาวพุทธเราก็มีเท่านี้ แล้วชาวพุทธวินิจฉัยออกมา พิมพ์หนังสือออกมาเป็นอย่างนี้ แล้วขัดกับหลักธรรมหลักวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วพอมันถึงที่สุดแล้วบอก นี่จะตกนรก

จะแจกหนังสือก็กลัวตกนรก จะไม่แจกหนังสือก็ห่วงว่าพิมพ์มาแล้วเป็นหมื่นๆ เล่ม กองอยู่นี่ทำอย่างไร เห็นไหม เวลาทำนี่เราถึงบอกว่า “สิ่งใดที่ทำไปแล้วระลึกได้ทีหลังว่าสิ่งนั้นเป็นความผิดพลาด สิ่งนั้นไม่ดีเลย” แต่ขณะที่ทำก็เข้าใจว่าตัวเองนี่นักปราชญ์ทั้งหมด พิมพ์หนังสือบูรพาจารย์มาก็พิมพ์มาเยอะ พิมพ์มาต่างๆ พิมพ์มามหาศาลเลย แล้วพิมพ์แค่นี้ทำไมจะทำไม่ได้ไง นี่นักปราชญ์

เราถึงบอกว่า เวลาเราสวดมนต์กันนะ คุณงามความดีที่ยิ่งๆ ไปกว่านี้มีตลอดนะ สิ่งที่มีตลอด เราว่าเรามีปัญญาชนๆ เรามีปัญญามาก สิ่งที่จะเป็นประโยชน์เป็นไปกว่านี้มันก็ยังมีอีกนะ สิ่งที่มีอีก เราไม่เข้าใจสิ่งนี้หรอก นี่มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด ความเป็นมรรคหยาบๆ เราว่าสิ่งนี้เป็นมรรคๆ ว่าสิ่งที่ความคิดนี่เป็นมรรค เราทำความดี เราทำความชอบ เราจะชอบ

ควายมันจะกินหญ้ามันก็มรรคชอบ เพราะมันกินหญ้าของมัน มันไม่ทำลายใครเลยนะ มันก็กินหญ้าของมัน มันก็ชอบ ชอบของควายไง แล้วชอบของคนล่ะ ถ้าชอบของคนก็สัมมาชีวะ นั่นก็เป็นของปุถุชน แล้วชอบของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติล่ะ นี่มรรคหยาบ ถ้ามรรคมันหยาบ ว่าเราชอบ เราเจตนาดีๆ ถ้าเจตนาดี เจตนาของใคร เจตนาของธรรมหรือเจตนาของกิเลส เจตนาของการแข่งขัน เจตนาของสิ่งต่างๆ ในหัวใจมันเจตนาของอะไรล่ะ

ถึงว่าเวลาบอกในธรรม กาลามสูตร ไม่ให้เชื่อแม้แต่ครูบาอาจารย์ ไม่ให้เชื่อแม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถ้าผู้มีครูมีอาจารย์อยู่นะ ถ้าสิ่งที่พูดออกมาเป็นธรรม เราไม่เชื่อแต่เราพิสูจน์แล้วมันก็เป็นธรรม เราก็ควรเชื่อ แต่ถ้าครูบาอาจารย์ท่านว่าเป็นธรรมใช่ไหม แต่เราพิสูจน์แล้วมันไม่ใช่ธรรม มันเป็นอธรรม ถ้าเป็นอธรรม เราก็ไม่ควรเชื่อ สิ่งนั้นไม่ควรเชื่อเลยเพราะว่ามันเป็นอธรรม

เห็นไหม เราศึกษามามันเป็นการย่นระยะเวลานะ ผู้ที่เป็นธรรม ครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรม จะชี้สิ่งที่เป็นธรรม ว่าทวนกระแสๆ...ทวนกระแส กิเลสมันก็ทวนกระแสได้ เอากิเลสนี่ทวนกระแสไป ทวนกระแสธรรมแล้วทำลายธรรมอีกต่างหากนะ ถ้าเป็นกระแสธรรม เอาธรรมทวนกระแสกิเลสถึงจะถูกต้อง ถ้าจิตใจเป็นธรรมเอาทวนกระแส กิเลสมันชอบเป็นกระแสโลก โลกเป็นกระแส

แต่นี่ไม่นะ นี่จะห้อยกระแส เกาะกระแส ในเมื่อครูบาอาจารย์มีชื่อเสียง ก็จะเกาะครูบาอาจารย์ไป จะเกาะกระแสนั้นไปไง จะเกาะกระแสไป ต้องการให้เขารู้จัก ต้องการให้เขาเห็นหน้า สิ่งนั้นมันเป็นธรรมเหรอ สิ่งนั้นเป็นกิเลสล้วนๆ นี่ทวนกระแสของกิเลสไง ถ้ากิเลสมันทวนกระแส มันก็จะเอากระแสนั้นทวนไป

แต่ถ้าเป็นธรรมทวนกระแส มันต้องการความถูกต้องไง ทำไมพระกัสสปะ เป็นพระอรหันต์อายุ ๘๐ ปีนะ ถือธุดงควัตรตลอดเลย บิณฑบาตอยู่ในป่าในเขา เข้าสมาบัติออกมานี่ ขนาดพระอินทร์ยังต้องมาใส่บาตรพระกัสสปะ เพราะอยากได้บุญกุศล เพราะเข้าสมาบัติ เข้านิโรธสมาบัติออกมานี่บุญกุศลจะมหาศาลเลย

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอายุเท่ากัน “กัสสปะเธอทำไปเพื่ออะไร เธอก็พระอรหันต์เหมือนกัน” สังฆาฏินี่ปะแล้วปะอีก เพราะเก็บผ้าเขามาปะมาชุนเหมือนหลวงปู่มั่นนี่ หลวงปู่มั่นพยายามทำนะ หลวงปู่มั่นใช้ผ้าบังสุกุลมาตลอดชีวิตนะ หลวงตาว่าอย่างนั้น เก็บเอาไม่ใช้คหบดีจีวร จะไม่รับผ้าจากมือของคหบดีเลย จะเก็บเอาจากถนนหนทางมาแปะใช้ นี่มีหลักมีเกณฑ์มา ต้องมีหลักมีเกณฑ์จนถึงลูกศิษย์ลูกหานี่วางใจ ลงใจ ถึงจะยอมเชื่อ

พระกัสสปะนี่ปะสังฆาฏิถึง ๗ ชั้น จนมันหนัก แล้วคนอายุ ๘๐ เห็นไหม จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “กัสสปะ ขอแลก ขอแลกนะ” เอาผ้าสังฆาฏิขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแลกกับพระกัสสปะนะ “กัสสปะ เธอก็เป็นพระอรหันต์ ไม่มีกิเลสแล้วทำไมต้องถือธุดงควัตร”

พระกัสสปะบอกกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ข้าพเจ้าไม่ได้ทำเพื่อข้าพเจ้าเลย ข้าพเจ้าทำเพื่ออนุชนรุ่นหลังจะได้เป็นคติ จะได้เป็นแบบอย่าง จะได้เป็นสิ่งที่เป็นผู้ชี้นำ ให้ว่าอาศัยสิ่งนี้ๆ” ท่านทำไม่ใช่เพื่อชำระกิเลสของท่านนะ เพราะท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านไม่ต้องการสิ่งใดเลย นี่เวลาธรรม ผู้ที่มีหัวใจเป็นธรรม จะทำเรื่องของโลกนี้ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังให้มันก้าวเดินไง

ปฏิปทาเครื่องดำเนิน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางปฏิปทาเครื่องดำเนินไว้ มันเหมือนถนนหนทาง ถ้าถนน ๔ เลน ๘ เลน เราอยากได้ถนน ๔ เลน ๘ เลนมาก ทางลูกรังเราไม่อยากได้ ทางเกวียนยิ่งไม่อยากได้ใหญ่เลย นี่ปฏิปทาเครื่องดำเนินคือธรรมวินัยที่เราจะให้ดำเนิน ถ้ามันถูกต้อง คนก็จะไปถึงเป้าหมายปลายทางโดยถูกต้อง แต่ถ้ามันบิดเบือนไป มันออกไปนอกลู่นอกทาง แล้วมันจะไปไหนล่ะ? มันก็ตกทะเลหมด มันก็เป็นไป สิ่งนี้มันเป็นธรรมวินัยที่จะวางไว้ให้กับอนุชนรุ่นหลังไง มันไม่เป็นประโยชน์กับใจของผู้ที่พ้นแล้วหรอก

ครูบาอาจารย์ของเรา อย่างเช่นหลวงตาท่านบอกว่าท่านสบายของท่านแล้ว ท่านไม่ต้องไปแบกโลก ท่านอยู่ของท่านได้สบายหมด ทำไมท่านถึงเอาตัวของท่านออกมาแลกล่ะ แลกไปทั้งหมดเลย ก็เพื่อให้ทฤษฎี ให้ธรรมวินัย ให้ผู้ที่ก้าวเดินเข้าไป เหมือนพระกัสสปะไง พระกัสสปะ ทำเพื่ออนุชนรุ่นหลังเป็นคติ เป็นแบบอย่าง

เป็นคติเป็นแบบอย่างนะ แล้วนี่ผู้ที่มีธรรมอย่างนั้น เอาธรรมทวนกระแสกิเลส ไม่ใช่เอากิเลสทวนกระแสธรรม ถ้าเอากิเลสทวนกระแสธรรม นี่ออกมา พอสุดท้ายแล้วก็นั่งคอตก หนังสือนี้ก็ผิด รู้ๆ อยู่ว่าผิด จะแจกก็ไม่ได้ จะไม่แจกก็เสียดาย จะเอาชื่อของเรา จะขอเอาสิ่งที่มาคุยกับเรานี่มาเป็นไฮไลท์ แล้วแทรกเข้าไปในหนังสือ

แต่ถ้าเป็นความเห็นของเรา ทำไมไม่ยกบทนั้นออก ตัดมันออก บทนั้นยกออกไปเลย แล้วจะแจกก็ไม่ว่ากัน แต่เขาบอกมันเสียดายๆ...ถ้าเสียดายอย่างนี้ต้องไปหาหลวงตา ต้องให้หลวงตาวินิจฉัย เพราะว่าหลวงตาเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของพวกเรา เป็นผู้ที่จะวินิจฉัยเรื่องอย่างนี้ อย่างพวกเราไปวินิจฉัยนี่มันเหมือนกับลูกเหมือนกับหลาน เด็กๆ มันไปวินิจฉัยก่อนครูบาอาจารย์ ไม่สมควรเลย

แต่ในเมื่อมันเป็นสิ่งสาธารณะ เขาแจกหนังสือออกมาถึงเราอย่างนี้ เวลาเราพูดอย่างนี้มันเหมือนหมาเห่าไง เห่าเพราะสิ่งนี้มันมีขโมยเข้ามา ขโมยมันจะเข้าบ้าน หมามันเจอขโมยมันก็เห่าของมัน แต่เจ้าของหมาไง เจ้าของหมาคือครูบาอาจารย์ท่านจะชี้วินิจฉัยไว้อย่างไร ต้องให้เจ้าของหมาวินิจฉัย หมามันวินิจฉัยไม่ได้ เพราะหมามันแค่เห่าว่าขโมยเข้าแล้วๆไง แล้วเจ้าของมาวินิจฉัย นี่มันต้องเป็นไปอย่างนั้น ถึงจะเป็นความดีงามของกรรมฐาน

กรรมฐานจะเคารพครูบาอาจารย์กันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไปไง เราไม่สมควรที่จะออกไปข้างหน้า แต่ขณะที่เป็นปัจจุบันนี้ ถ้าไม่มีใคร หมามันไม่เห่าอยู่ ขโมยมันก็ขโมยของไปได้ใช่ไหม ในเมื่อมันเป็นปัจจุบัน ในเมื่อขโมยเข้ามาเดี๋ยวนั้น หมาเห็นแล้วต้องเห่าเดี๋ยวนั้นไง แล้วการเห่าอย่างนั้นจะเอาไปแกะออกมาแล้วจะไปแทรกไว้ในหนังสือ แล้วจะแจกไปอย่างนี้ ไม่สมควร บอกไม่สมควร ไม่อนุญาต ไม่ให้ทำ ถ้าจะให้ทำต้องขึ้นไปหาหลวงตาก่อน แล้วให้หลวงตาวินิจฉัยลงมา

นี่มันสลดตรงนี้ไง สลดที่ว่า นี่นักปราชญ์ทั้งนั้นนะ กองบรรณาธิการฟังเทปแล้วทุกคนวินิจฉัยว่าหนังสือนี้เป็นปัญหา ถ้าแจกออกไปจะเป็นปัญหา แล้วขนาดกองบรรณาธิการวินิจฉัยขนาดนั้นแล้ว ถ้าอย่างนั้นแล้วถ้าออกไปนี่มันก็จะตกนรก เขาว่าอย่างนั้นเอง โทรศัพท์มาขอ มาออดอ้อน มาอ้อนวอนเลย จะขอเอาของเรานี่แทรกเข้าไป เพื่อจะไปปิดนรกกั้นนรก มันเป็นไปได้อย่างไร มันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น มันควรจะให้ครูบาอาจารย์วินิจฉัยของท่านเป็นอย่างนั้น ถึงบอกว่าต้องส่งขึ้นไป ต้องขึ้นไปหาครูบาอาจารย์เอง แล้วเป็นอย่างนั้นมา

การกระทำสิ่งที่ ทำแล้วระลึกภายหลังว่าสิ่งนั้นผิดพลาด เห็นไหม ไม่ดีเลย เราควรมีสติ เราถึงต้องเชื่อครูเชื่ออาจารย์ของเราไง ครูบาอาจารย์ของเราท่านเคยผ่านอย่างนี้มา ท่านชี้นำอย่างนี้มา ท่านเห็นถูกเห็นผิดไง

เวลาในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกนะ อย่าดูถูกความนิ่งเฉยของพระอริยเจ้านะ ท่านรู้ ความรู้สึกของท่าน แล้วท่านพูดไปจะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ พูดออกไปแล้วมันจะเป็นโทษหรือเป็นประโยชน์

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ หลวงปู่มั่นเวลาท่านอบรมลูกศิษย์ คนที่ไม่เข้าใจนะ “ดุมากๆๆ” เวลาหลวงตานี่เขาว่า “ดุมากๆๆ” ท่านดุเพื่อใครล่ะ? ท่านบอกว่าท่านไม่เคยดุใครเลย ท่านรักมาก ท่านสงวนรักษาลูกศิษย์ลูกหามาก แต่ท่านดุกิเลสในหัวใจของลูกศิษย์ลูกหาต่างหากล่ะ

กิเลสในหัวใจ ความสบายของเรา ความมักง่ายของเรา ความเห็นแก่ตัวของเรา แล้วมันก็คิดตามความเห็นของเรา ท่านดุตรงนั้น ท่านดุให้เราปล่อยวางทิฏฐิมานะที่ความเห็นผิดอันนั้น นี่ถ้าท่านเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ ท่านจะเฉยเสีย

อย่างเช่น ท่านอยู่ที่ถ้ำสาริกา ไปเจอหลวงตาองค์หนึ่ง หลวงตามีครอบครัวแล้วมาบวชไง ตอนกลางคืนนอนก็นอนคิด “ภรรยาจะทำอย่างไร ลูกจะทำอย่างไร” คิดทั้งคืนทั้งวันไง จนหลวงปู่มั่นท่านว่านะ “เป็นไงหลวงตาสร้างบ้านสร้างเรือนทั้งคืนเลย” จนเขาตกใจ เขาตกใจเขาเก็บของไป อันนั้นเป็นคติเตือนใจว่า เตือนแล้วมันเป็นโทษไง เพราะเขาร้อนมาก เขาอยู่ของเขาไม่ได้ไง เห็นไหม ถ้าพูดออกไป มันไปสะเทือนใจคนอื่น มันเป็นโทษ นี่นิ่งอยู่ไง นิ่งอยู่เพราะพูดไปแล้วมันไม่เป็นประโยชน์หรอก พูดไปแล้วเขาจะเดือดร้อน พูดไปแล้วเขาจะเดือดร้อนมาก แล้วเขาจะทุกข์ของเขา

ถึงบอกว่าความนิ่งอยู่ไง ถึงเหมือนกับเด็กเลย มันหยิบไฟ มันกอดกับไฟ แล้วไฟจะลวกมันนะ บอกมัน มันก็ยังจะซุกอีก ก็ต้องทนเอานะ ให้มันกอดไฟของมัน ให้เนื้อหนังมันพองไปอย่างนั้น ดีกว่าพูดไปแล้วมันพองด้วย แล้วมันยังกังวลใจอีกด้วย นี่ความนิ่งเฉยอยู่นะ

แต่ถ้าเป็นประโยชน์นะ ประโยชน์หมดเลย แล้วถ้าเราภาวนาของเราขึ้นมา อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ เราเห็นความผิดของเรา เราแก้ไขของเรา นี่เราแก้ของเรา ไม่ต้องมีคนอื่นมาเตือนเรา ถ้าคนอื่นเตือนเรา “น่าจะเป็นอย่างนี้ น่าจะเป็นอย่างนั้น ท่านอาจจะคิดผิดก็ได้ ท่านอาจจะมีข้อมูลผิด เรานี่ข้อมูลถูกต้อง” กิเลสมันร้ายกาจมาก เราถูกๆๆ คนอื่นผิดๆๆๆ หมดเลย

ถึงว่าต้องเป็น อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันมีหยาบมีละเอียดไง ควรเตือน เตือน เขาฟัง เตือนก็จะฟัง ถ้าเขาไม่ฟัง ไม่เตือน ถ้าเตือนเขาแล้วไม่ฟัง นั่นเรื่องของเขา

ถึงว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกการสอน ถ้าเขาไม่ฟังเราก็ชักสะพานซะ คือไม่พูดกับเขา ไม่สอนเขา มันเป็นโทษกับเขา นั่นคือการชักสะพาน นี่คือการฆ่าไง แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านไม่พูดด้วยน่ะ คือการฆ่านะ ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำลังพูดกับใคร สอนใคร นั่นคือท่านสั่งสอน แต่ถ้าท่านจะฆ่าเขา คือท่านไม่พูดกับเขาเท่านั้น นั่นคือการฆ่า คือเขาหมดโอกาสแล้ว เขาไม่มีอะไรเลย

นี่ถ้าพูดแล้วเขาไม่ฟัง เราก็ชักสะพานซะ เหมือนกับเขาหมดโอกาส คือการฆ่าขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ผู้มีธรรมนะ แค่ไม่พูดกับเขานี่ก็ฆ่าเขา เพราะเขาไม่มีโอกาสแล้ว แต่ถ้ามันเตือนแล้วมีประโยชน์ มันจะเป็นประโยชน์กับเราเข้ามานะ ถ้าเป็นประโยชน์ นี่เราต้องจรรโลงสิ่งนี้ไปเพื่ออนาคต ถ้าทฤษฎีเครื่องดำเนินไปอนาคตมันถูกต้อง ปฏิปทาเครื่องดำเนินมันถูกต้อง ลูกกุลบุตรสุดท้ายภายหลังมันจะเข้าถึงจุดนั้นได้

ถ้าปัจจุบันนี้มันจะเริ่มบิดเบือนอย่างนี้ แล้วถ้าเข้าไม่ถึงจุดนั้นนะ โอกาสของอนุชนรุ่นหลังมันจะเสียโอกาสไป นี่ ๕,๐๐๐ ปีในศาสนาพุทธเรา ๕,๐๐๐ ปีไปข้างหน้านะ นี่ ๒,๕๐๐ ปี หลวงปู่มั่นต้องมาค้นคว้าขนาดนี้ แล้ว ๕,๐๐๐ ปีมันจะขนาดไหน เรามีโอกาสอย่างนี้ เราต้องทำของเรานะ เอวัง