เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๗ ก.ค. ๒๕๔๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๔๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

บุรุษอาชาไนยนะ เวลาเจออุปสรรคนี่มันไม่ทิ้งธรรม ธรรมคืออะไรล่ะ? ธรรมคือคุณงามความดีความถูกต้องไง ถ้าความถูกต้อง สิ่งที่ทำถูกต้อง เราทำแล้วเราไม่หลอกตัวเราเอง ความลับไม่มีในโลก เรานี้เป็นคนทำดีทำชั่ว เราเป็นคนรู้ของเราเอง เราคิดอย่างไร อกุศลเกิดขึ้นมาจากใจ เราก็รู้ของเรา เห็นไหม เราจะเบียดเบียนเขา เราจะเอาเปรียบเขา เราจะรังแกเขานี่เราต้องคิดของเราขึ้นมาทั้งนั้นน่ะ ใจมันเป็นใหญ่ ใจมันเป็นประธาน ใจตัวนี้มันถึงสะสม สะสมออกมาเป็นจริตเป็นนิสัย แล้วนิสัยนี้มันแก้ยากนะ แก้ยากเพราะอะไร เพราะอยู่ที่ความเห็นของเขา

แข่งอำนาจวาสนา เห็นไหม เขาแข่งรถแข่งเรือเขาแข่งกันได้ แต่แข่งอำนาจวาสนาจะให้เป็นไปอย่างนั้นมันเป็นไปไม่ได้ อย่างเช่นจังหวะและโอกาส อย่างฤดูกาล เวลาหน้าหนาว อากาศหนาว คนชอบอากาศหนาวเขาจะมีความสุขของเขา เวลาหน้าร้อนเขาจะมีความเดือนร้อนมาก เวลาหน้าฝนขึ้นมายิ่งเฉอะแฉะไปหมดเลย แต่ฤดูกาลมันเป็นแบบนั้น แล้วเราปรารถนาของเรา ความเห็นของเราน่ะ เราต้องการให้โลกนี้ให้มีฤดูเดียว แต่ว่าเราต้องการให้มีฤดูเดียว แต่เวลาเขาไปอยู่ทางอลาสก้า เขาจะหนาวตลอดไปเลย นี่มันอยู่ที่ว่าเราเกิดในประเทศอันสมควร เราเกิดในที่ไหน

ถ้าเราเกิดในที่อันสมควร ประเทศอันสมควร เกิดในครอบครัวที่เป็นสัมมาทิฏฐิอีกด้วย พ่อแม่ปู่ย่าตายายพาเข้าวัดเข้าวา ทำไมต้องเข้าวัดเข้าวาล่ะ ตอนนี้วัดต่างๆ พยายามจะเผยแผ่ธรรมออกไป พยายามดึงประชาชนเข้ามา แต่ดึงเข้ามาแล้วมันเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ล่ะ แต่ถ้ามันเป็นประโยชน์ เห็นไหม ไม่ต้องดึงเข้ามา

ครูบาอาจารย์บอกเลย การสอนอย่างประเสริฐที่สุดคือการสอนโดยไม่สอน คือการดำรงชีวิตของเรานี่ ชีวิตของเราดำรงอยู่ในศีลในธรรมนี่ เขาศรัทธา เขามีความเชื่อของเขาเอง ถ้าเขามีศรัทธามีความเชื่อของเขา เราไม่ต้องสอนไปสอนเขา เราพยายามจะยัดเยียดเขานะ แล้วเขาปฏิเสธ เขาไม่สนใจเข้ามานะ มันจะไม่เป็นประโยชน์หรอก นี่เพราะธรรมะเป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ทองคำ ธรรมนี้เป็นขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน ดูสิ ดูอย่างการเรี่ยไร เราจะเรี่ยไรกันมาก เราว่าเรี่ยไรว่าเราไปเอาบุญไปให้เขาๆ เวลาพระเขาพูดกันนะ แต่เราเป็นผู้ที่ว่า เราเป็นคนที่ว่าทำบุญนี่เราเหนื่อยไหม เราพอใจไหม? เราไม่พอใจหรอก แล้วธรรมวินัยก็บอก ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณา เราจะไปขอเขาไม่ได้หรอก พระไปขอเขาไม่ได้หรอก ถ้าพระไปขอเขามานี่ สิ่งนั้นเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ สิ่งที่ได้มาเป็นนิสสัคคีย์ พระเป็นปาจิตตีย์แน่นอน ถ้าเราเรี่ยไรเขา เพราะไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณา

แต่เวลาทำนะ เวลาเขาพูดกันว่า เราเอาบุญไปให้เขาๆ นี่มันหลีกเลี่ยงไง บัญญัตินี้บัญญัติไว้ ธรรมวินัยนี้บัญญัติไว้แล้ว กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว พระนี้ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณา ไปขอเขาไม่ได้ ขอเขาสิ่งนั้นมาเป็นนิสสัคคีย์ วัตถุเป็นนิสสัคคีย์ ถ้าพระใช้นั้นเป็นปาจิตตีย์ สิ่งที่เป็นปาจิตตีย์ ให้พระดำรงอยู่ สอนโดยไม่สอนไง ให้พระดำรงอยู่ของพระ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ

ถ้ามีความร่มเย็นของใจ จะมีความสงบเสงี่ยมกับใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะไปอยู่ที่ไหนก็มีความสุขกับใจดวงนั้น ไม่ได้เร่าร้อนไง แต่นี่มันเร่าร้อน อยู่ในวัดก็เร่าร้อน อยู่ในป่าก็เร่าร้อน อยู่ที่ไหนก็เร่าร้อน เพราะกิเลสมันสุมหัวใจไง แล้วเราจะเอาอะไรไปเผยแผ่ธรรมล่ะ เราว่าเราเผยแผ่ธรรม เราพยายามเผยแผ่ออกไป เผยแผ่ไปแต่กิเลสของเราออกไป เผยแผ่แต่ความเห็นของเราออกไป

ความเห็นของเราเป็นกิเลส แต่อาศัยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนกับสุนัขมันห่มหนังเสือไง เวลามันเห่าออกมามันเห่าเป็นเสียงสุนัข ไม่ใช่เสียงเสือหรอก แต่เวลาครูบาอาจารย์ออกมา บันลือสีหนาท บันลือออกมา มันเป็นธรรมออกมาจากใจ มันเป็นเสียงธรรม มันสะเทือนหัวใจมาก

กิเลสนี้กลัวธรรมนะ กิเลสมันเป็นความเห็นแก่ตัวของเราในหัวใจ แต่ธรรมของครูบาอาจารย์ท่านมีความเมตตา ท่านมีความรู้จริงของท่าน เราจะกลัวธรรมอันนั้นไง กลัวธรรมความจริงของครูบาอาจารย์ที่จะครอบกิเลสของเราไง มันถึงต้องหาสัปปายะ ๔ สัปปายะที่ครูบาอาจารย์ที่มีธรรมในหัวใจของเรา เพื่อที่จะปกป้อง เพื่อที่จะคุ้มครองไม่ให้กิเลสของเรามันแผ่กิ่งก้าน แผ่สาขา แผ่ความเห็นแก่ตัวของมันออกไปทำลายคนอื่นไง

นี่การประพฤติปฏิบัติคือการทำลายกิเลสของตัวเอง แต่ในเมื่อกิเลสของตัวเองมันมีอำนาจเหนือเรา มีอำนาจเหนือกว่าสัตว์บุคคลคนนั้นนะ ถ้ามันมีอำนาจเหนือสัตว์บุคคลคนนั้น มันก็ทำลายจิตใจของสัตว์ของบุคคลคนนั้น แล้วธรรมขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าชำระกิเลสๆ มันไปเสริมกิเลสไง เสริมกิเลสว่าฉันนี่รู้ธรรม ฉันนี่มีทิฏฐิมานะ ความเห็น

ความเห็นผิดหรือความเห็นถูกต้องล่ะ ถ้าความเห็นถูกต้อง สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้องมันต้องเป็นความถูกต้องขึ้นมา ต้องความถูกต้อง ถูกต้องตามธรรม ตามวินัย ถูกต้องตามธรรมความเห็นของความเห็นภายใน

ในสมัยพุทธกาลนะ พระอรหันต์ พระสารีบุตรบอกว่าปัญญาเป็นความสำคัญที่สุด พระโมคคัลลานะบอกว่าฤทธิ์ดีที่สุด พระอุบาลีบอกว่าวินัยสำคัญที่สุด นี่พระอรหันต์เถียงกันอยู่ในพระไตรปิฎก เถียงกันอยู่ เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด นี่ความถูกต้องของใครล่ะ ความถูกต้องของพระสารีบุตร ความชำนาญ ความคล่องตัว ถ้าปัญญา ปัญญาจะเป็นประโยชน์กับโลกมากเลย แต่ถ้าเป็นพระโมคคัลลานะ เพราะมีฤทธิ์ ไปบนสวรรค์ ไปเห็นญาติของใครตายไปบนสวรรค์ก็แล้วแต่ จะไปบอกว่าญาติของเขาอยู่บนสวรรค์ชั้นนั้น กลับมาถึงราชคฤห์ จะมาบอกเลยว่าญาติของคนนั้นตายแล้วไปเกิดชั้นนั้นๆ ญาติของคนนั้นตกนรกชั้นนั้นๆ องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าก็พยากรณ์ เขาก็ว่าสิ่งนี้เป็นการจรรโลงศาสนา พระอุบาลีทรงธรรมทรงวินัยไว้ ถ้าภิกษุเรา ถ้ากฎหมายมันไม่ปกป้องไว้นี้ พระเราจะนอกลู่นอกทาง นี่สิ่งนี้ว่าสำคัญที่สุด

จูงมือกัน ตกลงกันไม่ได้ ไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “อาสวักขยญาณสำคัญที่สุด” ธรรมจากหัวใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เกิดขึ้นมาชำระกิเลสนั้นสำคัญที่สุด เพราะกิเลสมันเกิดขึ้นมาจากใจของเรา เราต้องอาศัยธรรมของเราขึ้นมา อาศัยธรรม ธรรมคืออะไรล่ะ? ศีล สมาธิ ปัญญา

ถ้ามีศีลขึ้นมานี่ เรากำหนดวิรัติขึ้นมา ถ้าเราไม่ทำผิดศีล เราเกิดความระงับของเราขึ้นมา ถ้าเราทำตามใจของเรา เราจะเบียดเบียนคนอื่น มันผิดศีลผิดธรรมไปทั้งหมด แต่ถ้ามีศีลขึ้นมา มันจะเริ่มทำให้ใจปกติขึ้นมา แล้วถ้าทำสมาธิขึ้นมาล่ะ กำหนดพุทโธๆๆ ให้จิตสงบเข้ามานี่ ถ้ามีความสุขเข้ามามันจะมีความสุขของมันขึ้นมา จิตนี้จะเป็นเอกของมัน จิตนี้ไม่ต้องเกาะเกี่ยวกับสิ่งใดๆ ไปตลอด จิตนี้มันเหมือนเด็กอ่อน เหมือนกับสิ่งมีชีวิต แต่มันพึ่งตัวเองไม่ได้ มันต้องอาศัยสิ่งอื่นแสดงออก เหมือนน้ำ น้ำในแก้ว ถ้าเราไม่ใส่สีลงลงไป น้ำเต็มแก้วเราก็ไม่รู้ว่าน้ำ แต่ถ้าเราใส่สีแดงก็เป็นสีแดง ใส่สีใดก็เป็นสีนั้น

นี่ก็เหมือนกัน อารมณ์ที่มันเป็นความคิดนี้มันอาศัยออก จิตอาศัยสิ่งนี้ออกไป มันถึงเสวยอารมณ์ มันถึงกินเหยื่อไง มันกินเหยื่อความคิดของกิเลส กิเลสเอาอันนี้มาป้อนใจ ใจก็คิดออกไปตามประสานั้น ถ้าทำสมาธิเข้ามา มันอิ่มเต็มของมันขึ้นมา น้ำเต็มแก้วก็คือน้ำเต็มแก้ว คือความสงบของใจดวงนั้น ถ้าใจดวงนั้นมีความสงบของมันขึ้นมา มันจะมีความสุขของมัน แต่ความสุขอย่างนี้มันเป็นความสุขใต้กฎของอนิจจัง “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา” สิ่งที่เกิดขึ้นธรรมดานี้มันเป็นธรรมดาแล้วมันเบียดเบียนเรานะ

แต่ถ้าเป็นธรรมขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเข้าไปวิปัสสนา เราเห็นสภาวะตามความเป็นจริง สิ่งนี้ก็พึ่งไม่ได้ สิ่งใดก็พึ่งไม่ได้ ร่างกายนี่ก็ไม่ใช่ของเรา สรรพสิ่งนี้ไม่ใช่ของเรา อาศัยกันชั่วคราวๆ หนึ่ง เราเกิดมามีชีวิตอาศัยสิ่งนี้ไป แต่อาศัยสิ่งนี้แล้วต้องรีบขวนขวายไง

ถ้าเราทำทานของเรา เราสะสมของเรา นี่มันเป็นสิ่งที่เป็นอามิส ทำคุณงามความดีก็เกิดบนสวรรค์เกิดต่างๆ มันต้องเกิดต่อไป อย่างน้อยๆ ก็ขอให้แรงขับเคลื่อนอันนี้มันขับเคลื่อนใจดวงนี้ให้ไปดี ทำทาน เห็นไหม มีศีลขึ้นมา ปกติขึ้นมา เรารักษาศีลขึ้นมา ทำสมาธิขึ้นมา อย่างน้อยมันก็เกิดบนพรหม ถ้าทำจิตเราสงบเป็นสมาธิมันจะฝังใจมาก ฝังใจเพราะมีความสุขไง มันอิ่มเต็มขึ้นมามันจะมีความสุขของมันขึ้นมา

เวลาคนเราใกล้ตายขึ้นมา มันจะหาสิ่งที่พึ่งของมัน ถ้าไม่มีบาปอกุศลจนมาปิดบังตานะ มันจะคิดถึงความสงบอันนี้ไง ถ้าจิตคิดถึงความสงบอันนี้ เหมือนหลวงตาบอกว่า “วัวปากคอก” วัวปากคอกหมายถึงวัวมันจะอ่อนแอขนาดไหนก็แล้วแต่ วัวมันจะแข็งแรงขนาดไหน ถ้ามันอยู่ปากคอก เราเปิดคอก วัวนั้นจะออกก่อน อารมณ์ความคิดของใจก็เหมือนกัน เวลาจิตจะออกจากร่างกายนี่เหมือนวัวปากคอก วัวปากคอกคืออารมณ์ใด ถ้าจิตติดในอารมณ์ใด ถ้าเราไม่มีบาปอกุศลจนเกินไป เวลาเราจะตายขึ้นมา เราคิดถึงความสงบอันนี้ ถ้าคิดถึงความสงบอันนี้มันเป็นเอกัคคตารมณ์ จิตมันเป็นหนึ่ง มันมีความสุขใจกับอันนี้ มันจะไปเกิดบนพรหมไง แต่ถ้าไม่คิดถึงอันนี้ มันก็ไปตามแรงขับเคลื่อนของกรรม

ถ้ากรรมทำบาปอกุศลไว้ บาปอกุศลนั้นมันมีมากขึ้นไป หรือกิเลสเข้ามาทำลายตรงนี้ไง เวลาเราใกล้จะตาย สมบัติก็ยังไม่ได้แบ่ง ลูกหลานเราจะอยู่กันอย่างไร โลกนี้เขาจะเป็นอย่างไร ขาดเราแล้วโลกนี้จะคว่ำ ขาดเราคนเดียว โลกนี้จะอยู่ไม่ได้ มันไม่เป็นไปอย่างนั้นหรอก เรามีหรือไม่มีโลกก็เป็นแบบนั้น เราจะอยู่ไม่อยู่สมบัติก็เป็นแบบนั้น แล้วแต่กรรมของลูกหลานของเรา ถ้าลูกหลานของเรามันมีกรรมดีของมันขึ้นมา มันจะออมชอมกัน มันจะปรึกษาหารือกัน มันจะส่งเสริมต่อเนื่องกัน ถ้าลูกหลานของเราบางคนมันมีกรรมของมัน มันมีบาปอกุศลของมัน มันก็จะเบียดเบียนคนอื่น นี้มันก็เป็นเรื่องของสัตว์โลก เราไม่มีอำนาจจะไปบังคับบัญชากรรมของใครได้หรอก เราต้องดูกรรมของเรา ดูอารมณ์ของเรา ดูความรู้สึกของเรา ย้อนกลับมาดูใจของเรา

ถ้าย้อนกลับมาดูใจของเรา กิเลสมันก็ไม่ใช่มาปั่นป่วนอันนั้น ถ้าจิตมันเคยสงบขึ้นมา มันก็จะย้อนกลับมาตรงความสงบนี้ไง ถ้าความสงบนี้มันก็เป็นไป วัวปากคอกอันนี้ จิตเสวยอารมณ์อันนี้ออกจากจิตดวงนี้ ตายออกไปเดี๋ยวนี้ มันก็เป็นไป

แต่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจนถึงที่สุด จิตนี้ไม่มีการกระเพื่อม จิตนี้ไม่เป็นไป มันไม่มีสิ่งใดๆ เลย สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเศษส่วน เป็นสิ่งที่ว่ามันอาศัยกัน สิ่งที่ไร้สาระ ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ทั้งหลายนี้ภาระอย่างยิ่ง สิ่งที่เป็นภาระ ความคิด ความปรุง ความแต่ง รูป รส กลิ่น เสียง นี่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สิ่งนี้มันเป็นสังขาร มันเป็นความคิด ความปรุง ความแต่ง มันเกิดขึ้นมาจากใจดวงนั้น มันเป็นสิ่งที่สสาร สิ่งที่มีอยู่โดยธรรมชาติของคนเกิดมามีความคิด สิ่งนี้เป็นความคิดขึ้นมาจากหัวใจ มันมีอย่างนั้นก็ใช้กันไปอย่างนั้น ถึงที่สุดแล้วอันนี้กับเรามันเก้อๆ เขินๆ มันเข้ากันไม่ได้หรอก มันเข้ากับจิตดวงนั้นไม่ได้ เพราะจิตดวงนั้นวิปัสสนาถึงเห็นสภาวะแบบนั้น ปล่อยอันนั้นไว้ตามความเป็นจริง นี่คือจิตที่หลุดพ้นออกมาจากวงรอบของกิเลสส่วนหนึ่ง

จากสิ่งที่มันเกาะเกี่ยวกับใจ สิ่งที่เกิดขึ้นมันมีสสารอยู่ในหัวใจนั่นส่วนหนึ่ง นี่ปล่อยวางได้ทั้งหมด มันรู้ขนาดนั้น มันเป็นไปขนาดนั้น แล้วมันจะไปตื่นเต้นอะไรกับสิ่งใด มันจะไปตื่นอะไรกับวัวปากคอกล่ะ

มันไม่ต้องมีวัวปากคอกหรอก เพราะมันไม่มีสิ่งใด วัวก็ไม่มี คอกก็ไม่มี ใจก็ไม่มี สิ่งใดก็ไม่มี แต่มีอยู่ มีอยู่เพราะมันมีความรู้สึกอันนั้นอยู่ มันมีวิมุตติสุขอยู่ ใจมันมีความสุขอันนั้นอยู่ มันเสวยสุขอันนี้ไป สิ่งนี้มันมี มันเป็นอัตโนมัติตลอด

เวลาจิตกระเพื่อมไป เสวยอารมณ์ จิตเสวยอารมณ์นี่ เวลาความคิดเกิดเกิดมาอย่างไร เวลาความคิดไม่เกิด จิตมันอยู่ไหน นี่มันสิ่งที่หยาบๆ นะ แต่เวลามันทำลายเข้าไปนี่ สิ่งนี้มันเป็นเปลือก ผลไม้นี่ เปลือกมันรักษาผลไม้ไว้ เราปอกเปลือกๆ เข้ามา จนถึงผลไม้แล้วเราทำลายผลไม้ อย่างนี้ก็ไม่มี แล้วมันจะไปกระเพื่อมกับอะไรล่ะ สิ่งที่ไปกระเพื่อมมันเป็นอัตโนมัติทั้งหมด เวลาจิตขยับออกมานี่มันมีสติพร้อมๆๆๆ ไปทั้งหมดเลย ความพร้อมของจิตอันนี้มันไปตลอด มันเป็นอัตโนมัติตลอด นี่มันถึงว่าไม่มีความพลั้งเผลอกับจิตดวงนั้นไง

แต่ทำไมพระอรหันต์ พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะถึงได้ต้องโต้เถียงกัน โต้เถียงกันอันนี้เป็นจริต เป็นนิสัย อยู่ในพระไตรปิฎกนะ เวลาพระอรหันต์เราเข้าใจว่าสิ่งนี้มันจะเหมือนกันไปหมด เหมือนกันโดยความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ต่างกันด้วยจริตนิสัย ในการเผยแผ่ธรรม พระกัจจายนะออกไปเผยแผ่ธรรมในชนบทประเทศ ไปบวชพระโสณะจนเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา

เวลามาหาองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้พระโสณะไปขอไง ขอว่าอยู่ชนบทประเทศ รองเท้าที่ใส่ชั้นเดียวเดินไปบนหินนี่มันบาดเท้า จะขอได้ไหม ขอให้องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าอนุญาตให้ใส่รองเท้าได้หลายชั้นก็ได้

ขอองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าในชนบทประเทศพระเวลาบวชนี่ขอให้มีพระ ๕ องค์ได้ไหม เพราะพระ ๑๐ องค์นี่หาพระได้ยากมาก เวลาบวชพระนี่บวชได้ยากมาก พระกัจจายนะออกไปเผยแผ่ธรรมอยู่ในชนบทประเทศ นี่เพื่อเผยแผ่ธรรม เพื่อเป็นประโยชน์ของสังคม

องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกกับพระอรหันต์ ๖๐ องค์ “เราพ้นจากบ่วง พ้นจากบ่วงที่เป็นโลกด้วย บ่วงเป็นทิพย์ด้วย” พ้นออกจากบ่วงทั้งหมด ทั้งๆ ที่เป็นโลกด้วย ทั้งที่เป็นทิพย์ด้วย พระอรหันต์ที่ออกไปเผยแผ่ธรรมก็พ้นออกจากบ่วง พ้นออกจากบ่วงคือว่าลาภสักการะต่างๆ ของโลกเขาก็พ้นแล้ว พ้นจากสิ่งที่เป็นทิพย์ ไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมที่ต้องการสมบัติ อันนี้ไปเกิด มันก็พ้นแล้ว

สิ่งที่พ้นแล้ว พระกัจจายนะถึงไปเผยแผ่ธรรมในชนบทประเทศไง ไม่สนใจสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น เพราะสิ่งใดๆ ทั้งสิ้นนี้มันเป็นสมมุติ มันเป็นขยะ มันเป็นเรื่องของโลกเขา มันเป็นเรื่องของดินไง ดอกบัวเกิดจากโคลนตม แล้วเราจะไปห่วงโคลนตมทำไม ในเมื่อดอกบัวมันบานขึ้นมาบนโคลนตมแล้ว ใจนี้มันก็บานขึ้นมาจากวัฏฏะนี้ จากมนุษย์สมบัตินี้ จากชาติของมนุษย์นี้ ใจพ้นออกไปจากกิเลส จากมนุษย์สมบัตินี้แล้วมันจะไปห่วงอะไรกับสมบัติอันนี้ล่ะ แต่มันอาศัยสมบัตินี้อันนี้เพื่อเผยแผ่ธรรม เพื่อเป็นประโยชน์กับสัตว์โลกไง สิ่งที่เป็นสัตว์โลก

ใจของครูบาอาจารย์เรา ถ้ามีหลักมีเกณฑ์มันจะเป็นแบบนั้น ถึงจะตกอยู่ในที่อุกฤษฏ์ขนาดไหนก็ไม่ทิ้งธรรม ถ้าเราไม่ทิ้งธรรม เราก็จะเป็นที่พึ่ง เห็นไหม เวลาอยู่กับครูบาอาจารย์เหมือนอีกาเกาะภูเขาทองนะ ภูเขาทองนี้สวยงามมาก แต่เราเหมือนอีกาตัวหนึ่งไปเกาะภูเขาทองเลย

นี่ก็เหมือนกัน ธรรมวินัยในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน จิตใจของครูบาอาจารย์ ถ้าผู้ที่พ้นจากทุกข์แล้วมันก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน นี่จะทรงธรรมทรงวินัยอย่างนี้ไง แม้จะอยู่ในเหตุการณ์ที่ว่าอยู่ในท่ามกลางฆ่าศึกก็จะไม่ทิ้งธรรม อยู่ในท่ามกลางของการบีบคั้นขนาดไหนก็ไม่ทิ้งธรรม ธรรมอันนี้กับหัวใจอันนี้มันจะสมานเป็นอันเดียวกัน

เวลากราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ กราบออกมาจากใจดวงนั้น ใจดวงนั้นเป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เหมือนกัน ใจดวงนี้เป็นหนึ่งเดียว เป็นเอโก ธัมโม เอกเหมือนกัน กราบธรรมอันนี้ ธรรมอันนี้ประเสริฐมาก นี่ถึงอยู่ในท่ามกลางของความวิกฤตขนาดไหนก็ไม่ทิ้งธรรม เอวัง