เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒o มิ.ย. ๒๕๔๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๔๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ฟังธรรม ใส่บาตร เห็นไหม ใส่บาตรก่อน ทำทานก่อน ทำทานแล้วฟังธรรม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันมีอยู่ แล้วเราพยายามตักตวงใส่ใจของเรา เราจะตักตวงใส่ใจของเราได้มากได้น้อยนี้มันเป็นความสามารถของแต่ละบุคคลนะ ถ้าแต่ละบุคคล เราเป็นคนที่ว่าเปิดหัวใจแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาเทศน์สมัยพุทธกาล ถ้าเวลาเปิดใจ เหมือนกับหงายภาชนะ ถ้าใครหงายภาชนะขึ้นมา ธรรมจะตกใส่ภาชนะนั้น

นี่ก็เหมือน ถ้าเราหงายใจของเราแล้ว นี้เป็นธรรมที่ว่าถ้าใครเข้าไปถึงหลักความจริงอันนั้น หงายภาชนะ ภาชนะนั้นเวลาหงายขึ้นมาแล้วฝนตกใส่ไปมันมีน้ำ มันมีน้ำในภาชนะนั้น คือมันมีความร่มเย็นจากใจดวงนั้น โดยสัจจะ โดยข้อเท็จจริง

แต่ในปัจจุบันนี้เราโดนกิเลสปิดไว้ คว่ำไว้เหมือนกัน เวลาโลกเขาเรียกร้องความเป็นธรรม เขาเรียกร้องความเป็นธรรม เพราะอะไร เพราะว่าเขาโดนรังแก เขาโดนกลั่นแกล้ง เขาถึงเรียกร้องความเป็นธรรม แต่ความเป็นธรรมแบบนี้ก็เป็นความเป็นธรรมแบบโลกเขา ถ้าเป็นประชาธิปไตย เสียงส่วนใหญ่ยกเสนอกฎหมาย กฎหมายจะผิดจะถูกนั้นเป็นเสียงส่วนใหญ่ นั่นก็คือโลก โลกคือความเห็นของเขา

เขาว่าสิ่งนั้น ในเหตุการณ์ ในปัจจุบันนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าเหตุการณ์นั้นล่วงเลยไป เวลาล่วงเลยไป กฎหมายนั้นก็ล้าสมัย กฎหมายนั้นก็มาเป็นการขัดขวาง กฎหมายนั้นก็เป็นสิ่งที่ว่ามันเป็นเรื่องเบียดเบียนกับสังคมนี้อีกต่างหาก นี่ความเห็นของโลกมันเป็นแบบนั้น ถึงว่าเรียกร้องความเป็นธรรมของโลก ก็เรียกร้องความเป็นธรรมของโลกอย่างนั้น

ในนิยายของเซนนะ คนเลี้ยงลิง เวลาเขาให้อาหารลิง เขาให้ลูกท้อน่ะ เช้า ๓ เย็น ๔ ลิงมันประท้วงกันใหญ่เลยนะว่าไม่พอกิน ไม่พอ เป็นไปไม่ได้ เช้า ๓ เย็น ๔ นี้เป็นไปไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นเอาใหม่ เอาเช้า ๔ เย็น ๓ พอเช้า ๔ ขึ้นมาทำไมมันพอใจน่ะ เหตุการณ์ที่เดือดร้อน เหตุการณ์ที่มีความเป็นปัญหานั้นสงบไปหมดเลย

จากเริ่มต้นเช้า ๓ เย็น ๔ มันไม่พอใจหรอก ลิงมันไม่พอใจ มันประท้วง มันไม่พอใจของมัน เพราะว่าเช้ามันได้น้อย เช้า ๓ เย็น ๔ มันไม่พอกินหรอก แต่อย่างนั้น ผู้เลี้ยงเขาฉลาด เขาจึงบอกว่าอย่างนั้นเอาใหม่เลยนะ ให้เช้า ๔ เย็น ๓ มันก็อันเดียวกัน กลับขึ้นมา

นี่ความเห็นของลิง มันก็เหมือนกัน เหตุการณ์อย่างนี้ ความเป็นไปของโลกมันเป็นอย่างนี้ เราเกิดมาสภาวะแบบนี้ แล้วเรามีความขัดข้อง มันเป็นเรื่องของสภาวะของสังคมโลก แต่ในศาสนาของเราสอนไปเรื่องของกรรม สภาวกรรมนะ ในครั้งพุทธกาลมีพระอรหันต์องค์หนึ่ง เวลาร่ำลือในพระไตรปิฎก เวลาออกไปบิณฑบาต นี่อยู่ข้างหลัง เขาใส่บาตรหมดแล้ว พอใส่บาตรอาหารนั้นหมด ไปถึงองค์หลังก็ไม่ได้อาหารบิณฑบาตนั้น วันนั้นก็อด

เริ่มต้นนะ พระสารีบุตรได้ข่าวอันนี้ก็ไปดู เริ่มต้นจากให้พระองค์นี้ไปอยู่ข้างหน้า มันก็ไปพร้อมกับโยม โยมเขาใส่บาตรเมื่อวาน บอกว่าเมื่อวานตักบาตร ใส่บาตรมากเลย แล้วไปถึงองค์หลัง ไม่พอ ก็ไม่ใส่บาตรองค์หน้า แม้แต่กลับแล้วมันก็ไม่ได้ผล นี่มันเป็นสภาวกรรมแบบนั้น กรรมแบบนั้น จนพระสารีบุตรสงสารมาก บิณฑบาตกลับมาแล้วจับบาตรของพระองค์นั้นไว้ ให้พระองค์นั้นได้ฉันข้าวนะ จับบาตรนั้นคือบุญของพระสารีบุตร จับบาตรอันนั้นไว้ แล้วพระองค์นั้นก็ฉันข้าว

นี่ในพระไตรปิฎกว่าไว้นะ ฟังแล้วมันสะเทือนใจมาก ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยฉันข้าวอิ่มแม้แต่มื้อเดียว คนเราเกิดมาทั้งชีวิตเลย ไม่เคยกินอาหารตกท้องแล้วอิ่มท้อง มันเป็นไปได้อย่างไร แล้วไม่เคยมีความสุขเพราะมีความอิ่มนี้เป็นอย่างไรเลย จนอาศัยบุญของพระสารีบุตร วันนั้นฉันข้าวอิ่มมื้อนั้นแล้วก็ตาย นิพพานวันนั้นนะ นี่สภาวกรรม

โลกนี้เป็นเรื่องของกรรม ทางวิทยาศาสตร์เราพยายามจะให้เสมอภาค ความเสมอภาค เวลายกมือ ประชาธิปไตยยกมือหนึ่งเสียง หนึ่งเสียง แต่กำปั้นใหญ่ กำปั้นเล็กมันก็ยังมีอีก เห็นไหม เสียงเท่ากัน ในทางกฎหมายเสียงเท่ากัน แต่ในความรู้สึกมันก็มีเสียงที่หนักกว่า เสียงที่เบากว่า อันนี้มันเป็นสภาวะเรื่องของสัจจะ เรื่องของความจริง เรื่องของธรรม นี่เรื่องภายนอก

ถ้าเรื่องภายใน เวลาเราศึกษาธรรม สุตมยปัญญาเราศึกษาธรรมขึ้นมา เราถึงสะเทือนใจมาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมไว้อย่างนี้ นี่มันมีนะ มีทางยุโรปเขามาเล่าให้ฟังอยู่ บอกว่าภรรยาไปวัด เริ่มศึกษาธรรมแล้วไปวัด เขาเป็นคริสต์นะ แล้วสามีติเตียนมากว่า “มันเสียเวลา มันเสียเวลา ทำไมไปทำอย่างนั้น”

นี่ภรรยาฉลาดมาก “อย่างเพิ่งว่าสิ อย่าเพิ่งว่า” เอาพระไตรปิฎกให้อ่าน “อ่านหนังสือนี้ก่อน ให้อ่านหนังสือนี้” พอสามีอ่านหนังสือนั้นเข้าไป ก็เลยไปทั้งสามีไปทั้งภรรยา ไปวัด ไปศึกษา ไปหาของจริงไง

โลกมันไม่เป็นธรรม โลกเป็นเรื่องของกรรม สภาวะเวลาฝนตกน้ำป่ามันท่วมท้นไปหมดเลย เวลาหน้าแล้งขึ้นมา จนขาดแคลนน้ำ ความพอดีมันอยู่ตรงไหน สภาวกรรมมันมีอยู่สภาวะแบบนั้น เรื่องของสภาวะข้างนอกมันเป็นสภาวะหมุนไปตามธรรมชาติของมัน นั่นหนึ่ง เรื่องของคนทำไมไปตกในเหตุการณ์อันนั้นหนึ่ง นี่เรื่องของโลกเป็นอย่างนี้

เราก็หาปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัย นี้เป็นสภาวธรรมแบบว่า เราพยายามจุนเจือกัน เราพยายามให้ทานกัน นี่ศาสนาสอน สอนอย่างนี้ จากข้างนอกให้ทานกันขึ้นมา พอศึกษา สามีภรรยาอ่านพระไตรปิฎก อ่านพระไตรปิฎกเข้าไปทั้ง ๒ คนเลย เพราะอะไร เพราะว่าเรื่องภายนอกมันจุนเจือกันได้ เราชาวพุทธ เรายังมีว่า เดี๋ยวนี้เขาจะเลี้ยงสัตว์ เขาจะอะไร เขาพยายามจะให้มันมีชีวิตอยู่ของมัน นี่เราให้ทานกัน สิ่งที่มาให้ทาน แต่มันก็ทุกข์ในหัวใจ

แต่เวลาเรามาศึกษา อ่านพระไตรปิฎกมันสะเทือนใจสิ พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้หรือ เราเห็นความประพฤติของพระ พระสอนกันอย่างนั้น สอนชาดก สอนสิ่งต่างๆ เราก็สงสัยว่าศาสนาสอนแค่นี้เองหรือ ทำไมคนโบราณเชื่อกันมาได้อย่างไร

คนโบราณที่ประพฤติปฏิบัติ เช่น หลวงปู่มั่นอย่างนี้ ท่านปฏิบัติถึงธรรม ท่านถึงธรรม ใจของท่านพ้นออกไปจากกิเลส ท่านวางธรรมเอาไว้ ทำไมเราศึกษา เราค้นคว้ากัน เพราะเราทุกข์กัน เราหาผู้ชี้นำไม่ได้ ศึกษาพระไตรปิฎกขึ้นมามันก็สะเทือนใจ เวลาสะเทือนใจขึ้นมามันก็ขนลุกขนพอง

เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นไป จิตมันสงบ เวลามันสภาวธรรมมันเกิด สภาวธรรมมันเกิดอย่างนี้มันจะสะเทือนใจมาก ถ้าสะเทือนใจมาก เวลาผู้ที่ออกบวช เวลาออกบวช เวลาบวชขึ้นมาใหม่ๆ มันจะมีศรัทธามาก มีความเชื่อมาก ทำอะไรก็ทำได้นะ กำลังใจนี้มหาศาลเลย แต่ทำไป ทำไป ทำไมพระเราสึกก็มี พระเราถอนตัวไปก็มี ผู้ปฏิบัติกลับไม่ปฏิบัติก็มี เพราะอะไร

เพราะเวลาจิตมันเจริญขึ้นมา เวลาสภาวธรรมมันเกิด มันสะเทือนใจมาก สิ่งที่สะเทือนใจนั้น เพราะเราทำความสงบของใจเข้ามา ใจนี่ธรรมมันเกิด คือว่าความเห็นมันเกิด คือความคิด ความดำริอันนี้คือสภาวธรรม สิ่งที่คิดถูกต้อง คิดสะเทือนใจ ทำไมเป็นอย่างนั้น นี่มันเกิด แต่มันเกิดชั่วคราว สิ่งนี้สภาวธรรมมันก็หยาบเข้ามา

หลวงตาบอกว่า ใจของเราเรียกร้องความช่วยเหลือ ใจของทุกๆ คนที่นั่งอยู่นี่ มันเรียกร้องความช่วยเหลือ เพราะว่ามันโดนบีบคั้นจากกิเลส ถ้าเราเรียกร้องความช่วยเหลือ มันต้องให้จิตนี้มันสงบเข้าไป แล้วเข้าไปถึงตัวของมัน แล้ววิปัสสนาแก้ไขกันตรงนั้นนะ

ถ้ามีการแก้ไข เห็นไหม มรรคหยาบ มรรคละเอียด สภาวธรรมที่เรียกร้องกันจากภายนอก โลกเขาก็เรียกร้องธรรมกัน ให้สภาวะความเป็นธรรม ประพฤติปฏิบัติเข้าไปก็เหมือนกัน พอธรรมมันเกิด สภาวธรรมมันเกิด นี่เราเริ่มปฏิบัติใหม่ สิ่งที่ปฏิบัติใหม่ เวลาจิตมันสงบขึ้นมาจะมีความสุขมาก มีความพอใจมาก สิ่งนี้มันอยู่ใต้กฎของอนิจจัง มันก็เสื่อมสภาพของมันไป มันชั่วคราว มันชั่วคราวไง

ถ้าเราทรงอารมณ์อย่างนี้ เรารักษาอย่างนี้ เวลาทำสมาธิขึ้นมานี่ทำแสนยาก เวลาเราประกอบการงาน การประกอบการงานเหนื่อยยากมาก แต่จะทรงไว้ให้ผลอยู่อย่างนั้นมันยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เพราะมันตกอยู่ใต้กฎของอนิจจังทั้งหมด สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา มันต้องแปรสภาพเป็นธรรมดา เราถอยรถวันนี้ใหม่เอี่ยมเลย แต่มันก็ต้องเสื่อมสภาพของมันไปแน่นอนโดยธรรมชาติของมัน

ความสุขอันนี้ก็เหมือนกัน เวลาสภาวธรรมมันเกิด มันเหมือนกับเราได้ของ ได้อามิส สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากใจ สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากอารมณ์ จากความรู้สึก จากการศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากการประพฤติปฏิบัติของเรา จิตของเราสงบขึ้นมา มันจะมีความสุขของมัน สิ่งนี้มันยังเป็นของมัน ยังตกอยู่ใต้กฎของอนิจจัง

ถ้าเราวิปัสสนา จิตนี้สงบแล้วอย่านิ่งเฉย จิตนี้สงบแล้วอย่านอนใจ จิตนี้สงบแล้วพยายามว่ามันสงบขึ้นมามีความสุขขนาดไหน แล้วความสุขอย่างนี้หรือ เวลาเราสวดมนต์ สิ่งที่มีอยู่ สิ่งที่เป็นคุณงามความดีกว่านี้ยังมีอยู่ เราต้องทำคุณงามความดีตลอดไป เราจะดีขนาดไหน เราจะเป็นคนดีขนาดไหน ดีอย่างนี้ดีในโลก ดีอย่างนี้ดีเกิดดีตาย ดีอย่างนี้ดีในการสละทาน ดีอย่างนี้เราได้ช่วยเหลือคน ดีอย่างนี้เราก็เวียนในวัฏฏะ ดีอย่างนี้มันยังเป็นไป มันยังมีเกิด มันยังมีตาย มันอยู่ใต้กฎของอนิจจังตลอดไป

แต่ถ้าดีโดยที่มันพ้นจากกฎของอนิจจัง เห็นไหม เจ้าชายสิทธัตถะออกไปเห็นเขาเกิด เขาแก่ เขาเจ็บ เขาตาย ท่านไม่ได้เป็นพระอรหันต์นะ ท่านออกเที่ยวสวนครั้งแรก ท่านยังคิดว่ามันต้องมีสิ่งตรงข้ามสิ นี่เหมือนกัน สิ่งที่ตรงข้ามมันต้องมี เราต้องหาสิ่งที่ตรงข้ามนั้นได้ ถ้าเราหาสิ่งตรงข้ามนั้นได้ เราจะแสวงหาอย่างไร

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อจิตมันสงบขึ้นมา มันสงบเข้ามาเพราะเหตุไร สงบแล้วมันเป็นผลได้อย่างไร มันเป็นผลนี่เราเข้าใจของเราเอง ถ้าเราทำให้สงบอยู่อย่างนี้ เรามีสติแล้วรักษาอย่างนี้ ถ้าจิตมันสะเทือนใจ มันเห็นสภาวธรรมต่างๆ แล้วมันสะเทือนใจ นี่เห็นสัตว์มันกัดกัน มันก็สะเทือนใจนะ เห็นความเป็นไปของโลกมันเป็นอย่างนั้น มันก็สะเทือนใจ ความสะเทือนใจอันนี้ เรารักษาอันนี้ไว้ แล้วพยายามค้นคว้าหาเรา

สติอยู่ไหน สติทำให้ความสะเทือนใจ ปัญญาอันนี้ ความคิดอันนี้ ให้มันยับยั้งความคิดของเราให้ได้ ถ้าปัญญายับยั้งความคิด เห็นไหม เกลือจิ้มเกลือ ถ้าใช้ปัญญาย้อนกลับมา สติย้อนกลับมา มันจะสงบเข้ามาได้ ถ้ามันสงบเข้ามา เป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอย่างนี้มันยังเกิดดับอยู่

เพราะมันสงบเข้ามามันก็เกิดได้ เพราะมันยังมีเชื้ออยู่ ถ้ามีเชื้ออยู่เราต้องพยายามน้อมไปให้เห็นกาย เห็นจิต ถ้าเห็นกาย เห็นจิต วิปัสสนาอันนี้ได้ ถ้าวิปัสสนาอันนี้ได้ นี่สภาวธรรมที่เป็นอกุปปธรรม เจริญแล้วไม่เสื่อม

สิ่งที่เจริญแล้วไม่เสื่อมในศาสนานี้ก็มี แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเรื่องไตรลักษณะ เรื่องอนัตตา โลกนี้เป็นอนัตตาทั้งหมด สรรพสิ่งนี้เป็นอนัตตาทั้งหมด สภาวธรรมนี้ก็เป็นอนัตตา แต่มันมีความมหัศจรรย์ที่ว่าการสร้างอนัตตา เห็นอนัตตาตามความเป็นจริงที่จิตเห็นอันนี้แล้ว จิตนี้พ้นจากอนัตตาออกไปเป็นอกุปปธรรม อันนี้ไม่เสื่อม อันนี้จะเป็นของคงที่ ไม่ต้องรักษาก็ไม่เสื่อม ไม่ต้องรักษาเลย มันเป็นสภาวะของมันอย่างนั้น แต่ถ้าอยู่ในกฎของอนิจจังแล้วต้องรักษา ต้องทำไป

มันถึงจะว่า สภาวธรรมที่เราเรียกร้องไง จากหยาบๆ เข้ามา จากการประพฤติปฏิบัติก็หยาบๆ เข้ามา นี่มันหยาบทั้งนั้น พระพุทธเจ้าสอนเวลาเทศน์ เปรียบเหมือนหงายภาชนะขึ้น ถ้าเราหงายภาชนะนั้นขึ้นขึ้นมา ตอนนี้เรามีความศรัทธา มีความขนพองสยองเกล้า มีความสะเทือนใจ เราหงายภาชนะแล้ว แล้วภาชนะอันนี้ ฝนที่ตกมานี้เป็นฝนยืมมา ยืมมาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยืมจากครูบาอาจารย์มา

แต่ถ้าเราวิปัสสนาขึ้นมา ฝนนั่นฝนของเรา ธรรมะเกิดขึ้นจากเรา เราจะเห็นปัญญาของเรา ปัญญาของเราจะใคร่ครวญจากไหน มันจะมหัศจรรย์ มันจะแปลกประหลาด มันจะทึ่งตัวเองมาก ทึ่งความเห็นอันนี้นะ แล้วพูดถึง ถ้าไม่ถึงเวลาก็จะเก็บไว้ในใจ เพราะมันพูดออกไป โลกเขาไม่มี ดูสิ เวลาเราฝัน เวลาเราเห็นผีเห็นสาง เรายังไม่กล้าบอกใครเลย ถ้าบอกใครเขาจะหาว่าเราเป็นคนที่ล้าหลัง เป็นคนที่ตกสมัย เป็นคนที่ตกรุ่น

แล้วถ้าวิปัสสนาอันนั้นเข้าไป มันพูดให้ใครฟังได้อย่างไรล่ะ เพราะมันไม่มีใครรู้ได้อย่างนี้หรอก ถ้าคนรู้ได้อย่างนี้ อย่างน้อยโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี ขึ้นไปเท่านั้น จะรู้เรื่องอย่างนี้โดยชัดเจนมาก มันจะเป็นความเห็นจากภายในอันนี้ อันนี้จะเกิดขึ้นมาจากเราวิปัสสนา นี่ถ้าผู้ที่ครูบาอาจารย์เราชี้นำอย่างนี้

แต่เขาว่า “พระปฏิบัติทำไมต้องเดือดร้อน ทำไมต้องมาเป็นสภาวะแบบนั้น เวลาทุกข์มันเกิด พระพุทธเจ้าสอน ให้ทุกข์เกิดแล้วทุกข์ดับเท่านั้น นี่ทุกข์เกิดทุกข์ดับเท่านั้น”

ไอ้เกิดดับอย่างนี้ดับอามิส ดับเงา เหมือนเราอยู่กลางแดดแล้วเดินเข้าร่ม เงาก็หายไป มันแก้ทุกข์ไม่ได้หรอก แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดให้ง่ายไว้ นี่ดับทุกข์ เรื่องในศาสนา เรื่องของการเกิดและการตายนี้สำคัญที่สุด แต่การเกิดและการตายต้องดับตรงนี้ ไม่ใช่ดับทุกข์อย่างที่เขาคาดหมายกัน ดับทุกข์อย่างนี้ดับทุกข์แบบเด็กๆ ดับทุกข์แบบกำปั้นทุบดิน ดับทุกข์แบบไม่ปฏิเสธสิ่งใด มันเป็นไปไม่ได้

ในสมัยพุทธกาลนะ มีลัทธิหนึ่งเขาบอกว่า เกิดมาเสพสุขอย่างเดียว เสพสุขเข้าไปเต็มที่เลย กามราคะเสพเข้าไปเต็มที่เลย ๕๐๐ ชาติ คนเราต้องถึงนิพพาน นี่ลัทธิอย่างนี้ก็มี ในสมัยพุทธกาลก็มี คนเรามีอายุขัยแค่ ๕๐๐ ชาติ เกิดตาย เกิดตาย ๕๐๐ ชาติ เกิดมาแล้วเต็มที่ไป ไม่ต้องไปกังวลสิ่งใด แล้วมันจะถึงที่สุดของมัน...มันเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อมันมีเหตุมีผล มันมีสิ่งสาระ สาระที่ใจนี้ซับซึมมา ทำขนาดไหนมันก็ฝังอยู่ที่นั่นไป มันต้องเกิดตายแน่นอน

ถึงต้องเข้าไปชำระกันตรงนี้ ถ้าชำระตรงนี้ หัวใจเรียกร้องในการช่วยเหลือของเรา ถ้าเราพยายามดัดแปลงตน เราทำสัมมาสมาธิขึ้นมา เราสร้างปัญญาขึ้นมา นี่เราได้ช่วยเหลือใจของเราเอง ใจของเราได้รับการช่วยเหลือ ช่วยเหลือจากการประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ ช่วยเหลือใจของเราได้ เราจะเอาใจของเราพ้นออกจากกิเลสได้โดยความเป็นจริงจากใจดวงนั้น เอวัง