เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๔ มิ.ย. ๒๕๔๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาเราเกิดมา ทุกคนเกิดมาไม่รู้ว่าชีวิตนี้คืออะไร เกิดมาอย่างไร เกิดมาแล้วก็เป็นมนุษย์ แล้วเขาอยู่กับโลกเขานะ เห็นความเจริญโลกเขา แล้วเราศึกษาเรื่องของโลก เห็นเขามีความสุขกัน เราก็อยากมีความสุข มันมีความสุข สุขโดยสมมุติไง มันสุขชั่วคราว ความสุขของโลกนี้เป็นความสุขนะ

ถ้ามีสมความปรารถนา เราอยากไปเที่ยว เราอยากจะได้ อยากเสพอะไรก็แล้วแต่ แล้วเราได้เสพ เราจะมีความสุข แต่มันเคยพอไหมล่ะ เวลาคนเขากินเหล้าเมายา เขากินเหล้านะ เวลาเขาเมาเต็มที่ มันเหมือนว่าอิ่มพอนะ แต่เดี๋ยวก็กินอีก นี่ภาษาโลกมันเมากันอย่างนั้นไง เมาเรื่องของชีวิตของโลก

ถ้าเราเกิดมาแล้ว เราใช้ชีวิตของโลก มันก็เป็นอำนาจวาสนานะ ทำไมโลกเกิดมาบางคนมีบุญกุศลมาก เกิดมามั่งมีศรีสุข บางคนเกิดมาทุกข์จนเข็ญใจ ความเกิดอย่างนั้น มันเกิดมาเพราะอำนาจของกรรมไง เราถึงได้ทำบุญทำกุศลกันนี้ เพื่อกรรมอันนี้ไง

ถ้าเราทำกรรมอันนี้เห็นไหม เวลาเราไปเกิดอีก มันก็เกิดในที่ๆ บุญพาเกิด เกิดมีความสุขในภาษาโลก แต่สุขขนาดไหน มันก็สุขในสมมุติ สิ่งที่เป็นสมมุติ แล้วสุขที่เป็นความจริงล่ะ สุขที่เป็นความจริง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นกษัตริย์นะ ถ้าคำว่ากษัตริย์ ทุกอย่างในเรื่องของกษัตริย์ กษัตริย์ต้องได้ก่อน

แต่เวลาท่านออกประพฤติปฏิบัติแล้ว ท่านถึงว่าบอกว่า “ความสุขจะเกิดจากความสงบของใจนี้ไม่มี” ความสุขนะ ความสุขเกิดจากความสงบ ความสุขที่ยิ่งกว่าความสงบนี้ไม่มี ในโลกนี้ไม่มี โลกนี้วุ่นวายไป

แล้วเรามองมุมกลับสิ เวลาเขาจัดงานกันเห็นไหม เวลาเขามีงานบุญกุศลกัน เขาจัดงานกัน เขาเหนื่อยไหม... เขาต้องเหนื่อยนะ เขาต้องลงทุนลงแรงนะ เขาทำทุกอย่าง

เช่น งานบวชเหนื่อยมาก ! พ่อแม่เหนื่อยมาก แต่พ่อแม่ได้บุญนะ ! ได้บุญ ! ลูกออกมาบวช เลือดเนื้อเชื้อไขไปค้ำศาสนา ๓ เดือน หรือกี่เดือนก็แล้วแต่ พ่อแม่ได้บุญตรงนั้น แต่มันก็เป็นการกระทำที่ว่าต้องลงทุนลงแรง

แต่ในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา ความสุขอันนี้มันจะว่าไม่ลงทุนลงแรง ทำไมต้องอดนอนผ่อนอาหารล่ะ มันลงทุนลงแรงยิ่งกว่า แต่ผลของมันเป็นความสุขที่แน่นอนไง ความสุขนะ..

ถ้าเราประพฤติปฏิบัติจนถึงที่สุดเห็นไหม “อกุปปธรรม” ถึงว่าอฐานะ คำว่าอฐานะโลกความสุขมันเป็นอนิจจัง ความว่า “อนิจจัง” มันแปรปรวนตลอดไป นี่คืออฐานะ คือมันไม่เป็นอนิจจังไง มันคงที่ตลอดไป

พระโสดาบันก็จะคงที่ของพระโสดาบันตลอดไป พระสกิทาคามี พระอนาคามี คงที่ตลอดไป เป็นอฐานะที่มันจะเสื่อม ที่มันจะแปรปรวน เป็นไปไม่ได้ ! สิ่งที่เป็นไปไม่นี่ สุขอันนี้ต่างหากถึงไม่ใช่สุขในสมมุติไง

เราสุขในสมมุติ เราอยู่ในสุขสมมุติกัน โลกนี้เป็นความสุขในสมมุติ กระแสมันเป็นอย่างนี้ แล้วเราประพฤติปฏิบัติ ตอนนี้ถ้าสมมุติโลกเป็นใหญ่ ถ้าโลกปกครอง โลกเป็นใหญ่ ในการบริหารจัดการต่างๆ มันก็เป็นเรื่องของโลก ถ้าเป็นเรื่องของโลก มันตีบตันไง ความตีบตันเพราะมันไม่เป็นสัจจะความจริง

แต่ถ้าเป็นธรรมนะ.. ถ้าเป็นธรรมมันจะเกิดเป็นปัจจัตตัง สิ่งที่หัวใจเกิดเป็นปัจจัตตังกับใจดวงนั้นตลอดไป ใจดวงนั้นจะสัมผัสอันนี้ จะสัมผัสความสงบของใจ มีศรัทธา มีความเชื่อก่อน

เรามีศรัทธาความเชื่อ มันต้องมีทาง ๒ แพร่ง ทางหนึ่งคือเป็นทางของโลกเขา ทางหนึ่งคือเป็นทางของธรรม แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ เรามีหลักของเราแล้ว จะเป็นทาง ๒ แพร่ง ทางของโลกเขาก็ปฏิบัติธรรมได้

ทำงาน...เราอยู่กับงานเห็นไหม ถ้าเราอยู่กับงาน เราอยู่กับสติตลอดเวลา งานก็ไม่เสียด้วย สิ่งนี้เป็นการภาวนาแบบหยาบๆไง อยู่กับโลกทำงานแบบโลก มีสติเห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน สั่งว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ! เธอจงอยู่โดยความไม่ประมาทเถิด”

พิจารณาสังขารโดยตลอดไป โลกนี้จะไม่สิ้นจากพระอรหันต์เลย อยู่ด้วยความไม่ประมาท แม้แต่การประพฤติปฏิบัติก็ต้องไม่ประมาท ! ในการทำงานของเราก็ต้องไม่ประมาท ! ถ้าเราไม่ประมาท เราทำงานทำการของเรา เรามีสติตลอดไป มันเป็นการฝึกฝนสติ ถ้าเราฝึกฝนสติขึ้นมา แล้วจิตมันพัฒนาขึ้นมา มันจะรู้ของมันเอง ใจของเราจะรู้ของเราเองนะ

ถ้าจิตเราพัฒนาขึ้นมา มันจะหาทางออกของมันเอง ดูสิ เวลาเราทำงานทำการเห็นไหม ดูเด็กมันเล่นขายของกัน มันก็มีความสุขของมันนะ เด็กมันเล่นสมมุติกัน มันมีความสุขของมัน เวลามันเล่นอะไรก็แล้วแต่มันมีความสุขของมัน นี่ความสุขแบบเด็กๆ แค่นั้นมันก็มีความสุขได้

แล้วเราพัฒนาขึ้นมา เราทำธุรกิจต่างๆ ถ้าเราประสบความสำเร็จ เราก็อยากได้ๆ ขึ้นไป ความสุขอันนี้มันพัฒนาขึ้นมา... มันพัฒนาขึ้นมา มันก็เหมือนกัน ถ้าจิตเรามีความศรัทธา มีความเชื่อ มันจะมีเวล่ำเวลาของเราเองไง เราจะออกหาเวล่ำเวลาของเรา เวล่ำเวลาเห็นไหม เวลาที่เขาทำงานทางโลกไป เขาทำงานไป แล้วเขาได้สิ่งที่ว่าเป็นธุรกิจของเขามา เขาได้ผลประโยชน์มา นั่นเป็นผลประโยชน์ของเขา

แต่อันนี้ต้องสงวนรักษาไว้ เราเสียเวลาไป วันคืนล่วงไปๆ นะ ถือเนสัชชิกนะ กลางคืนไม่ได้นอนทั้งคืนเลย นั่งตั้งแต่ ๖ โมงเย็นยัน ๖ โมงเช้า นั่งตลอดไป เวลาอันนี้มันมหาศาลเลย

แล้วถ้าเรานั่งอยู่มันจะทนกับความเป็นไปของร่างกายนี้ได้ไหม ทนกับหัวใจที่มันฟุ้งซ่านออกไปได้ไหม ถ้าเราไม่มีศรัทธา เราไม่มีความเชื่อ เราไม่มีสัจจะ เราจะทำอย่างนี้ได้อย่างไร เราต้องมีศรัทธา มีความเชื่อ

เวลาเราทุกข์ขึ้นมาเห็นไหม ลูกโคไปกับแม่โค แม่โคปกป้องลูกโคไป ลูกโคอาศัยแม่โคไป แต่แม่โคเวลาเล็มหญ้าไปก็มองลูกของตัวเองไปด้วย ต้องรักษาลูก เพราะความผูกพันความรักอย่างนี้ มันเป็นความผูกพัน

การประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ถ้าเราเชื่อมั่นในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเชื่อมั่นในครูบาอาจารย์ เราเชื่อมั่นในความเป็นจริงไง เวลาวิทยาศาสตร์มันพิสูจน์ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นมาทางทฤษฎี ทางวิทยาศาสตร์ ผลมันต้องออกมาแน่นอน

แล้วในการประพฤติปฏิบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะโกหกโลกหรือ เป็นไปไม่ได้นะ ! องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่โกหกโลก ผู้ที่มีศีล แล้วเป็นอธิศีลอีกต่างหาก พูดจากหนึ่งแล้วไม่มีสอง คำใดคำนั้น ! แล้วจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากอย่างนั้นเลย

พยากรณ์ไว้อีกว่า ต่อไปศาสนาถึงกึ่งพุทธกาลศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองอีกหนหนึ่ง ความเจริญในศาสนาเจริญที่ไหน เจริญในหัวใจของที่ผู้ประพฤติปฏิบัติไง มันเจริญในใจของผู้ที่มีเวล่ำเวลาไง โลกเขาจะหมุนไป สมมุติเขาจะหมุนไป

แต่เรายืนอยู่ในสมมุติ เรายืนอยู่แกนกลางของโลก โลกหมุนไป สิ่งที่เป็นชายขอบของโลกมันจะหมุนเร็วมาก แล้วมันจะมีความเสียดสีรุนแรงมาก แต่แกนของโลกมันอยู่นิ่งๆ ของมันนะ แต่โลกหมุนไป

เราก็เหมือนกัน ถ้าหัวใจเรามีหลักเกณฑ์ของเรา เราจะอยู่กับสมมุติ ยืนอยู่กลางสมมุติ สมมุติมันจะหมุนไป สมมุติมันจะพัดไปขนาดไหน เราก็อาศัยสิ่งนั้น

เรื่องของบุญของกุศลนะ พระอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นผู้ที่สร้างวัดนะ เวลาสร้างวัดเอาเงินปูสร้างวัดเลย เป็นเศรษฐีมาก แต่ถึงคราวหนึ่ง เอาสมบัติซ่อนไว้ไง แล้วโดนน้ำท่วม น้ำพัดไป ทุกข์ทนเข็ญใจหนหนึ่ง จนเทวดาบอกเลยนะ “เพราะทำบุญกุศล ถึงได้ทุกข์จนเข็ญใจขนาดนี้”

แม้แต่ใจของเทวดายังสู้ใจของพระอนาถะไม่ได้ จนพระอนาถะไล่เทวดาออกจากซุ้มประตู ไม่ให้อยู่ซุ้มประตู ไล่เทวดาออกไป แล้วตัวเองทนสภาวะของตัวเอง ประพฤติปฏิบัติมันทำตลอดไป ขนาดว่าเวลาถึงเช้าขึ้นมา ทุกข์จนขนาดว่ามีข้าวกับน้ำผักเท่านั้น เวลาเห็นพระเดินบิณฑบาตมา แล้วยังไม่กินข้าวนะ ก็เอาข้าวนั้นใส่บาตรไป

จนมันเป็นวินัยอันหนึ่ง ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ถ้าเป็นอเสขบุคคล ถ้าสงฆ์สมมุติคนนั้นว่าเป็นอเสขบุคคล เขาเป็นผู้ที่ว่ามีความศรัทธามาก ห้ามภิกษุไปบิณฑบาต เดินผ่านไป เพราะเขามีอะไร เขาก็จะถวายพระทั้งหมดเลย เพราะใจเขาเป็นอย่างนั้น”

แต่ถึงที่สุดแล้ว บุญกุศลของเขากลับมาเป็นเศรษฐีอีกหนหนึ่ง นี่คือเรื่องของโลก โลกเป็นไปอย่างนั้น สมมุติเป็นแบบนั้น แต่ใจของอนาถะเขาเป็นพระอริยบุคคล อันนี้มันมั่นคงมาก แต่เทวดาเป็นปุถุชน เทวดายังไม่เข้าใจสภาวะสิ่งนี้เลย

ใจของเราถ้ามีการพัฒนาขึ้นมา เราเป็นแกนกลางของโลก ศรัทธาของเรา เรายืนอยู่กลางของโลก โลกจะพัดไปหมุนไปขนาดไหน เรายืนอยู่กลางของโลก แต่พูดถึงผู้ที่อยู่ในกระแสโลก เขาจะบอกว่า “คนนี้อยู่ได้อย่างไร คนนี้เป็นไปได้อย่างไร”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกว่า “อย่าดูถูกความนิ่งเฉยของพระอริยเจ้านะ !” พระอริยเจ้านิ่งอยู่ อย่างเรามีความคิดความเห็นอะไร มันก็แสดงออก มันก็กระทบกระเทือน มันมีความทุกข์มาก แต่ใจของท่านเวลากระทบ ท่านก็รู้แล้วว่ากระทบ พอกระทบแล้ว ท่านเห็นบอกว่า “นี่กระทบนะ” เพราะสิ่งนี้ยังมีอยู่ไง

พระอริยเจ้าเป็นอย่างหยาบๆ มีใจที่กระทบ ใจที่กระทบเพราะมันยังมีอวิชชา มีตัวใจอยู่ มีหลักของใจอยู่ แต่พระอรหันต์ไม่มีสิ่งที่กระทบ ! สิ่งที่เป็นการกระทบนั้นไม่มี แต่ว่าเสวยในสมมุตินี้ เป็นเสวยในสมมุติ สิ่งนี้รู้ความเกิดดับของใจ แล้วควบคุมว่าสิ่งนี้จะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ จะออกไปจากภายนอก สั่งสอนสัตว์โลก

ถ้าแบกโลกนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์จะหนักใจมาก เพราะอะไร เพราะต้องการรื้อสัตว์ขนสัตว์ สงสารนะ ดูอย่างเราเป็นพ่อแม่ เราอยากให้ลูกเราดีทั้งหมดเลย แต่ลูกบางคนปัญญามันเป็นสภาวะแบบนั้น มันก็ต้องอยู่ของเขาสภาวะแบบนั้น เห็นไหม สภาวะแบบนั้น เราก็ต้องพยายามของเราเต็มที่ แต่มันต้องเป็นไปสภาวะแบบนั้น ถึงว่าไม่แบกโลกไง

ถึงว่าผู้ที่เป็นผู้บริหารถึงต้องมีอุเบกขา ถึงที่สุดแล้วโลกเป็นแบบนี้ มันต้องเป็นแบบนี้ กรรมของสัตว์สภาวะแบบนี้ เราทำความเป็นจริงของเรา เราทำของเราขึ้นมาให้ได้ เราเชื่อ เราศรัทธาในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเชื่อในความทุกข์ของเรา เราเห็นในความทุกข์ของเรา

ถ้าความทุกข์ของเรา เราปฏิบัติอย่างนี้ ถ้าให้ความทุกข์อันนี้หลุดออกไปจากใจเห็นไหม ศาสนาเจริญขึ้นมาอย่างนี้ ถ้าศาสนาเจริญอย่างนี้ มันทวนกระแสของโลก ถ้าทวนกระแสของโลก โลกเขาทวนกระแสไป ความเป็นสมมุติให้มันเป็นสมมุติไป เราอยู่กับสมมุติ เราไม่ขวางโลกนะ

ประเพณีวัฒนธรรมมันเป็นเรื่องสิ่งที่หยาบๆ คนที่ทำทานแล้วมีประเพณีวัฒนธรรม อันนี้เป็นเรื่องของเขา เป็นการที่เหมือนกับว่าได้ร้อยดอกไม้ไว้ให้เป็นพวงมาลัยให้สวยงาม ประเพณีวัฒนธรรมเป็นอย่างนั้น สิ่งเป็นประเพณีวัฒนธรรม เราก็ไม่ติดประเพณีวัฒนธรรม เราต้องปล่อยประเพณีวัฒนธรรมเข้ามา เราจะลึกเข้ามา เพราะเราจะเอาหลักความจริงไง

เราจะเป็นอฐานะ สิ่งที่ว่าไม่ให้ความทุกข์เกิดจากหัวใจ เป็นอกุปปธรรมที่ใจไม่ให้เสื่อมเลย ความสุขอันเป็นความจริงไง ความสุขที่เป็นความจริงเกิดจากตรงนี้ เกิดจากการทำทานก่อน พระสีวลีนี่ทำทานไว้มาก สิ่งที่ทำไว้มาก เวลาสิ้นเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาแล้วนี่สมบัติของพระสีวลีจะมีไว้มากเลย

แต่ผู้ที่ไม่ทำไว้เห็นไหม พระพาหิยะฟังเทศน์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา แล้วขอบวชกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าถ้าจะบวชต้องไปหาบริขาร ๘ ก่อน ไปหาบาตรอยู่ เดินหาบาตรนะ หาบริขาร ๘ มาบวช พระอรหันต์นะ ให้ควายขวิดตายเห็นไหม

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสารีบุตร ผู้ที่บวชจะมีเป็นทิพย์ สิ่งที่เป็นทิพย์ มีบริขาร ๘ ที่เป็นทิพย์มาสวมทันทีเลย สิ่งนี้มันเกิดบุญอำนาจวาสนา แต่มีหนเดียวนะ ! หนเดียวขณะที่ว่าบวชครั้งแรก แต่ต่อไปนี้ ต้องตัด ต้องเย็บ เอาเหมือนกัน สิ่งที่เป็นบริขาร ๘ ต้องเย็บ ต้องหาไป พระพาหิยะหาไม่ได้เลยเห็นไหม เพราะการขาดการทำทานไง

เราจะเห็นว่า ทานนี้เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ มันก็เป็นประโยชน์ส่วนหนึ่ง ส่วนที่สร้างอำนาจวาสนา สร้างบารมีของเราขึ้นมา ให้จิตใจเราเข้ามา เราศรัทธาขึ้นมา ยกใจของเราขึ้นมา ถ้าใจพัฒนาขึ้นมา คำว่า “ไม่มีเวลา ! ไม่มีเวลา !” เดี๋ยวมันจะพัฒนาขึ้นมาเอง แล้วเดี๋ยวมันจะออกเองว่าเวลาอยู่ที่ไหน

จนออกประพฤติปฏิบัติ อยู่ในกระแสของพระก็เหมือนกัน ถ้าพระติดกับทางโลก หลวงตาถึงบอกว่า “ไม่ให้มีการก่อสร้าง ไม่ให้มีการมีงานเข้ามาเกี่ยวข้องกับพระ” เวลาพระประพฤติปฏิบัติ พระเขามาวิเวกกันอยู่นี่

พอมาอยู่กับเรา เขาบอกว่า “มีเวลาว่างมาก ว้าเหว่มาก เหงามาก” แต่เวลาอยู่กับหมู่พวกเขา เขาทำงานกันทั้งวัน เขาก็เบื่อหน่าย เขาอยากออกประพฤติปฏิบัติ เวลามาอยู่กับเรา เขาบอกว่า “เวลามันเหลือมากเกินไป”

การสงวนรักษา ก็อยู่ที่หัวหน้าไง จะสงวนรักษาไว้ให้พระมีโอกาส มีเวลาประพฤติปฏิบัติ ถ้ามีเวลาโอกาสประพฤติปฏิบัติ อันนี้มันจะเป็นโอกาสของพระที่จะประพฤติปฏิบัติ

เราก็เหมือนกัน ถ้าจิตใจเราพัฒนาขึ้นมา คำว่า “ไม่มีเวลา” เพราะอะไร เพราะอยู่กับเรื่องของโลก มันได้ประโยชน์ มันได้ความเห็น มันสนองตัณหาความทะยานอยาก ตัณหาความทะยานอยากมันอยากได้ผลประโยชน์ตลอดไป มันถึงมีเวลาทำตลอดไป แต่มันวางไม่เป็นไง

สิ่งนี้ปัจจัย ๔ เรามีพออาศัยได้ไหม เราพออาศัยได้แล้ว ปัจจัย ๔ เครื่องอาศัย ร่างกายมันอาศัยสิ่งนี้ได้แล้ว แต่หัวใจน่ะ บริขารของมันเห็นไหม การนอนนี่คืออาหารของใจ ถ้าหัวใจเรานอนตลอดไป... ถึงต้องอดนอนผ่อนอาหาร

อาหารของปากคือคำข้าว.. อาหารของใจคือความคิดและการหลับนอน..

การหลับนอน ! ยิ่งนอนเท่าไร มันยิ่งไม่เคยพอไง เราถึงต้องอดนอนผ่อนอาหาร ถ้ามันต้องการนอน... เราไม่นอนเรา เราฝืนไม่นอน เนสัชชิกมันจะทรมานขนาดไหน เราก็ต้องฝึกมันเห็นไหม นี้คืออาหารของใจ !

ปัจจัย ๔ อาหารของร่างกาย เราก็หาของเรา อาหารของใจเราหาให้เราได้ไหม ถ้าเราหาให้ได้ เราจะเห็นความสุขของเรา ความสุขที่เกิดจากความสงบไง สุขในสมมุติโลกเขาสุขกันอย่างนี้ ทุกคนก็เคยเห็น ทุกคนเคยสัมผัส เดี๋ยวนี้เห็นไหม เราก็มีความสุขกันอย่างนั้น เราก็พอหาได้ แต่ความสุขของใจอันนี้มันประเสริฐขนาดไหน ศาสนาพุทธเราเจริญกว่านี้ เจริญที่สุดไง เจริญมาก เจริญจนถึงที่สุดได้ ถึงพ้นกิเลสได้ไง

วันพระวันเจ้า เราต้องถือเนสัชชิก วันพระวันเจ้าเราต้องพยายามเข้มแข็งของเราขึ้นมา วันปกติมันเป็นเรื่องของการหาผลประโยชน์ให้ร่างกาย วันพระวันเจ้าเราต้องอาหารหาผลประโยชน์ให้หัวใจ ถ้าหัวใจได้ผลประโยชน์อันนี้ จะเป็นประโยชน์ของอันนี้เห็นไหม นี่ลืม ๒ ตาไง

ศาสนาพุทธนี้ละเอียดมาก เวลาทุกข์นี้เป็นความจริง จะสมมุติหรือวิมุตติ สมมุติมันเป็นทุกข์ทั้งหมด แต่ถึงวิมุตติแล้วทุกข์อันนี้มันไม่มี ความจริงมันเป็นอย่างนี้ตลอดไป แต่เวลาโลก เห็นไหม สุขมันไม่เห็นเหมือนกันล่ะ

สุขสมมุติ สุขวิมุตติ อยู่ที่ไหนล่ะ ทุกข์เวลามันกำกับไป ทุกข์นี้ควรกำหนด กำหนดแล้วทำลาย สิ้นสุดแล้วทำลายหมด เห็นไหม ทุกข์อันนี้จะเข้าไปในใจอันนั้นอีกไม่ได้เลย มันอยู่อีกคนละส่วนหนึ่งกับของความเป็นไปของสมมุติเขา มันเป็นความสุขอันแน่นอน ความสุขมันเป็นความจริงอย่างนี้ เราถึงต้องเชื่อมั่นในหลัก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

แก้วสารพัดนึกนะ ! เรานึกได้หยาบเราก็ได้หยาบ เรานึกละเอียดเราก็ได้ละเอียด เราปรารถนาขึ้นมา เราสร้างขึ้นมา นึกนะ ! แต่เวลาเราปฏิบัติขึ้นมา ผลเกิดขึ้นมาจากใจของเรา มันจะพัฒนาขึ้นมาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไปจนถึงที่สุด ใจของเราจะสมความปรารถนา เป็นความพ้นไปจากกิเลสทั้งสิ้น เอวัง