เทศน์บนศาลา

เทศน์อบรมในพรรษา2

๕ ก.ย. ๒๕๓๙

 

เทศน์อบรมในพรรษา ๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๕ กันยายน ๒๕๓๙
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ทุกข์เป็นอริยสสัจ ทุกข์เป็นความจริง เขาถึงว่า ศาสนาพุทธเป็นทุกข์นิยม ไม่ใช่นะ ศาสนาพุทธนี้ไม่ใช่ทุกข์นิยม ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งความเป็นจริง เป็นศาสนาที่ประเสริฐเลอเลิศ ศาสนาพุทธ ทุกข์มันเป็นความจริงของโลกเขา แต่พวกเรามันโกหก พยายามจะแบบว่ามีความสุข ถึงว่า ไม่เข้าใจ

พระพุทธเจ้าตรัสรู้นะ พระพุทธเจ้ากว่าจะปฏิบัติ ตอนปฏิบัติค้นหาสัจธรรมความจริง ศาสดาของเราเลย เป็นครูคนแรกที่ผ่านพ้นจากทุกข์ไปได้ว่า “ทุกข์นี้เป็นทุกข์นิยมๆ”...ไม่ใช่ ถึงที่สุดแล้วข้ามพ้นทุกข์ แต่ทุกข์นั้นเป็นเหตุ ทุกข์นั้นเป็นผลเริ่มต้น ต้องจับทุกข์นั้นมาตั้ง ทุกข์เป็นผล สมุทัยเป็นเหตุ ละที่เหตุนั้น

แต่ถ้าไม่มีคนสอน ไม่มีคนบอก มันก็ว่าเป็นประเพณีกัน เป็นศีลธรรม จริยธรรม โลกเป็นอย่างนั้น ดีได้แค่นั้น ไม่มีศาสนาก็มี มีคนดี ดีได้แค่เป็นตามโลกเขา พระพุทธเจ้าอยู่ในโลกนะ ตอนเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แล้วสร้างบารมีมา มันอยู่ในหัวใจ เม็ดใน อยู่ในหัวใจ เขาปรนเปรอความสุขขนาดไหน ทำไมจะออกบวชล่ะ ปรนเปรอนะ พ่อนี้กลัวจะไปมาก ปราสาท ๓ ฤดู นางสนมนี้เต็มไปหมดเลย เพื่อจะให้อยู่ในโลก จนเป็นจักรพรรดิ แต่เพราะว่าการสะสมมา การบำเพ็ญมา การได้ทำมาแต่อดีต เห็นแล้วมันสะกิดใจ เห็นไหม เห็นเทวทูต เห็นผู้เฒ่า เห็นผู้แก่ เห็นคนเจ็บ เห็นคนตาย เราก็ต้องตาย คิดสิ คนเราไม่หลงระเริง ไม่หลงระเริงอยู่ในโลก อยู่ในความสุข

พวกเรามันปรารถนาสุขก็เลยเกลียดทุกข์ ก็เลยว่าทุกข์นี้เราไม่กล้าเข้าเผชิญมัน ถ้าเรากลัวมันก็เพิ่มทุกข์เป็น ๒ ชั้น ๓ ชั้น ถ้าเราเผชิญแล้วทุกข์ไม่มี ทุกข์ก็ไม่มี ทุกข์เป็นเพราะเรายึด ทุกข์เพราะเราไปจมปลักอยู่อย่างนั้น เราวิดจนโคลนตมนั้นออกไป ปลักมันก็แห้ง แล้วเราจะไปจมอยู่ในทุกข์นั้นได้อย่างไร พอปลักมันแห้งทุกข์ก็ต้องหายไป เพราะไม่มี ไม่ได้แช่อยู่ในทุกข์แล้ว เห็นไหม ถึงว่าทุกข์มันไม่มี ทุกข์ไม่มีหรอก แต่มันมีเพราะมีใจ มีใจเราไปยึดมันถึงได้เป็นทุกข์

พระพุทธเจ้าสะกิดใจ เห็นไหม ถ้ามีคนเกิด มีคนแก่ คนเจ็บ คนตาย เราก็ต้องตาย ถ้าเราตาย เราตายเปล่า แล้วทำอย่างไรล่ะ คนมีตายก็ต้องมีไม่ตาย ฟังสิ คนมีตายนะ มันต้องคู่กับไม่ตายได้ ออกนะ สละสมบัติออกมา ทุกข์ขนาดไหน ใจแทบขาด มันอาลัยอาวรณ์น่ะ ไม่มีกิเลสเหรอ กิเลสล้วนๆ นะ ตอนยังไม่ตรัสรู้ กิเลสทั้งนั้นล่ะ อาลัยอาวรณ์มาก ลูกก็เกิดแล้วน่ะ ได้ม้าตัวหนึ่ง กับนายฉันทะไปด้วยกัน ไปแล้วไปทุกข์ขนาดไหน

ความเพียรนะ ตอนที่เริ่มตรัสรู้ ความเพียรที่อุกฤษฏ์ที่สุดในโลกนี้นะ ใครมากกว่าพระพุทธเจ้า ไม่มี ฟังสิ ความเพียรที่อุตส่าห์ลงแรงไป อะไรที่ว่าเป็นทางประเสริฐ ที่ว่าจะเป็นทางพ้นทุกข์ได้ โลกเขาสอนกันได้อย่างไร พระพุทธเจ้าลองมาหมดแล้ว ลองมาหมดแล้ว อดอาหารนะ ไม่ฉันอาหาร ไม่กินข้าว จนขนนี้เน่าเลย รากของขนนี้เน่านะ ขนนี้ร่วงหมดเลย อดอาหารนะ ไม่กินจนผอม ผอมขนาดนั้นน่ะ ก็มันไม่พ้นทุกข์ ดันนะ กลั้นลมหายใจไว้ กลั้นลมหายใจจนช็อกสลบไป ฟื้นขึ้นมากลั้นอีก ถ้าเป็นธรรมดาก็ตาย เขาว่าตายแล้วฟื้นถึง ๓ หน คนเราตายแล้วฟื้นใหม่ๆ ดูความเพียรของพระพุทธเจ้า ท่านสร้างบารมีไว้ขนาดนั้นแล้ว ยังต้องได้ลงมือลงแรงขนาดนั้น แล้วเราชาวพุทธเป็นลูกศิษย์ผู้มีครู มันชุบมือเปิบ มันจะเป็นไปได้อย่างไร

เราดูความเพียรของพระพุทธเจ้านะ แล้วดูความเพียรของครูบาอาจารย์นะ ถึงจะเป็นตัวอย่างของเรา เราเป็นชาวพุทธ เราต้องเดินตามครูบาอาจารย์ ว่า “ทำไมเราไม่เห็นทุกข์ ทำไมเราทำไม่ได้” ทำไมตลอดเลย แต่ไม่ดูว่าเขาลงแรงกันขนาดไหน เขาจริงจังขนาดไหน เรามันอ่อนแอ เรามันเหลาะแหละ ใจคิดอยากจะได้ผลมากๆ แต่เวลากระทำ กระทำลูบๆ คลำๆ การลูบคลำ มันก็ได้ธรรมะลูบคลำ พระพุทธเจ้าขนาดนั้นนะ แล้วดูพระโสณะสิ เดินนะ เดินจงกรมจนพระพุทธเจ้าไปเจอทางจงกรมจนตกใจ ที่นี่เป็นที่เชือดโคของใครน่ะ เลือดเปรอะขนาดนั้นเลย เดินไม่ได้ คลานเข่าก็เอา เพราะตัวเองอยากจะพ้นทุกข์มาก ฟังเทศน์พระพุทธเจ้านี่ซึ้งมากๆ

ฉะนั้น ธรรมะของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเทศน์มาสอนมันเข้าถึงหัวใจเลย แล้วคนมันพร้อมอยู่แล้ว เราก็ฟังธรรมครูบาอาจารย์ ฟังพระพุทธเจ้าเหมือนกัน มันเข้าถึงหัวใจไหม? ถึง แต่ความเพียรมันไม่ได้อย่างนั้นล่ะ

๑. ความเพียรไม่ได้

๒. มันเป็นผู้รู้มาก เราว่าเราฉลาดไง

เดี๋ยวนี้โลกมันรู้มาก โลกมันใหญ่กว่าธรรม โลกนี้รู้มากนะว่าจะสะดวกสบาย ทำอะไรก็จะแบบว่าอำนวยความสะดวกของตัว ถ้าใครอำนวยความสะดวกให้ตัวมากได้ คนนั้นเป็นผู้ที่ฉลาด อำนวยความสะดวกให้ตัว ใครเป็นคนคิดล่ะ

อยากจะสะดวก อยากจะสบาย ไอ้จะสะดวกสบายนั้นล่ะกิเลสมันบอก แล้วเราก็ว่าเราไม่เคยเห็นกิเลสเลย กิเลสมันอยู่ตรงไหนของเราหนอ เรานี้อยากเห็นกิเลส เพราะพระพุทธเจ้าว่า นามธรรมที่คิดว่าเป็นกิเลสๆ นี้มันเป็นสิ่งที่ไม่ดีที่อยู่ในหัวใจ แต่เราก็ไม่เคยเจอใช่ไหม เราอยากจะชำระกิเลสออกจากใจเรา แต่เราไม่รู้จะชำระตรงไหน ก็อยากจะหากิเลส แต่แล้วกิเลสนั้นก็เป็นต้นขั้วให้เราคิดออกมา มันก็เป็นมหาโจรใหญ่อยู่ในใจเรา

แต่เวลาคิดออกไป เราว่าเราฉลาด เราถึงไม่ได้เคยเจอหน้ามันเลย ความเป็นอยู่ของเรานี่แหละ ลองฝืนเข้าไปสิ ความเป็นอยู่ของเราน่ะ การจับจ่ายใช้สอย การกินการอยู่ การขับเคลื่อนไปนั่นแหละ ลองฝืนสิ ฝืนตรงนั้นก็ฝืนกิเลส พอเริ่มได้ฝืนนะ ได้ฝืนความรู้สึกของตัว เวลาคิดไปมันคิดมาก มันทุกข์มากขนาดไหน หยุดก่อนๆ หยุดความคิดของตัวนั่นน่ะ

ถ้าหยุดความคิดของตัว ยับยั้งตัวได้ อันนั้นต่างหากถึงว่าเป็นผู้ฉลาด เราว่าเราฉลาดๆ กิเลสมันบอกให้คิดว่าฉลาดต่างหาก กิเลสมันบอกอยู่ข้างหลังนั่นน่ะ ถ้าเราหยุดมันได้ต่างหาก เราถึงว่าฉลาดตามธรรมของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าถึงบอกให้มีขันติ มีขันติ มีความอดทน พอจะพ้นจากไฟ เราจะพ้นจากไฟนะ เราอยู่ในไฟ โทสัคคินา โมหัคคินา ไม่ไฟหรอ ก่อนจะพ้นจากไฟต้องดับไฟก่อน แล้วค่อยดูว่าเชื้อมันเกิดจากอะไร

นี่ก่อนจะพ้นจากไฟ เอาไฟสุมเข้าไปแล้วพุ่งออกไปข้างหน้า มันก็ยิ่งร้อนไปใหญ่ แต่เราเข้าใจว่าเย็น แต่มันให้ผลเป็นความทุกข์ ให้ผลเป็นความร้อนไง เราทำอะไรก็แล้วแต่ เห็นไหม เราทำสิ่งที่เราคิดว่าทำดีนั่นน่ะ พอถึงทำที่สุดแล้วมันได้ผลอะไรขึ้นมา? ไม่ได้เลย เหนื่อยเปล่า

แต่ลองเรายับยั้งความคิดขณะปฏิบัตินี้นะ ยับยั้งความคิดของเรา ยับยั้งความคิด ยับยั้งสิ่งที่มันฟุ้งเฟ้อออกไปนั่นน่ะ ถ้าหยุดได้ต่างหากถึงว่าเป็นผู้ชนะ ถ้าหยุดได้แล้วจะสบายใจด้วย แล้วจะพอใจด้วย เราหยุดได้ไหม นี่ถึงว่าไม่เห็นกิเลส ไม่เห็นกิเลสเพราะว่ากิเลสมันใช้เราชั้นหนึ่ง แล้วเราก็ตามมันออกไป ต้องหยุดตรงนี้ก่อน หยุดตรงนี้มาให้จิตมันสงบ

พระพุทธเจ้าสอนเรื่องทาน เรื่องศีล เรื่องภาวนา จิตคนกว่าจะสงบได้นะ คนเรานี้มันมืดบอด ว่าอย่างนั้น คนเรานี่มืดบอด มันไม่เข้าใจ มันเข้าใจ เราเกิดมา เรามีครูมีอาจารย์ใช่ไหม มีพ่อมีแม่ มีครูมีอาจารย์ ศึกษาเล่าเรียนมา สอนมาอย่างนี้ๆ ความเป็นอยู่ของโลก เราว่าอันนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แล้วพระพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยให้วางนี่ มันไม่เชื่อ มันเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อการปล่อย การวางแล้วจะมีความสุข เป็นไปไม่ได้

ต้องมีสมบัติมากๆ ต้องมีสิ่งของมากๆ ต่างหาก มันถึงจะมีความสุข ต้องคิดให้ได้มากๆ ต้องทำให้มันฟุ้งซ่านมากๆ ต้องคิดได้ ๓ โลก อย่าว่าแต่โลกเราเลย คิดถึง ๓ โลก นี่ถึงว่าคนมืดบอด มืดบอดเพราะมันไม่เชื่อ มันไม่ย้อนกลับมา ปากว่าเชื่อๆ ปากว่าเป็นชาวพุทธ เชื่อพระพุทธเจ้า แต่ใจมันไม่เคยเชื่อ ใจไม่เชื่อหรอก เพราะใจนี้มันยังไม่เคยเข้าไปลิ้มรสความเป็นจริง มันถึงไม่เชื่อ

เพราะมันเป็นการคาดเดา ถึงว่ามืดบอด เพราะมืดบอด มันไม่เห็นความสว่างตามความเป็นจริง ถ้าเห็นความสว่างตามความเป็นจริง มันก็จะปล่อยวางได้ตามความเป็นจริง เห็นไหม คำว่า “มืดบอด” กับ คำว่า “สว่าง” นี่ต่างกัน คนตาบอดกับคนตาสว่าง เพราะคนตาบอดถึงทำไม่เป็น ถึงยับยั้งตัวเองไม่ได้ ยับยั้งความคิดของตัวเองไม่ได้ ยับยั้งให้ใจมันสงบไม่ได้ มันถึงได้ฟุ้งซ่าน มันต้องปล่อยวางอันเดิม ความคิดเดิม ปล่อยความคิดเดิม นั้นล่ะ ไอ้ตัวนั้นมันถึงจะสงบลง

ทีนี้ปล่อยความคิดเดิม ปล่อยอย่างไร ก็มันคิดออกมาโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว

ก็จิตมันได้การฝึกฝนมาอย่างนั้น เราได้ฝึกฝนมาอย่างนั้น เป็นโลก ถึงว่า เป็นโลกียะๆ โลกเขาฝึกกันมาอย่างนั้น แล้วเราย้อนกลับ ทวนกระแส ธรรมะนี้ ธรรมะกับโลกมันคนละอัน แต่ก็ต้องอยู่ด้วยกัน

ธรรมะ ธรรมตามความเป็นจริง จิตนี้มันเหมือนกับความร้อน เหมือนกับสสารที่มันต้องเป็นในธรรมชาติอย่างนั้น จิตนี้เหมือนกับวัตถุอันหนึ่งที่ต้องหมุนไปตามกระแสโลกเขา ทีนี้พระพุทธเจ้าถึงกลับมายับยั้งให้มันหยุดได้ แล้วหยุดได้จริงด้วย หยุดได้จริง เพราะสิ่งที่เคลื่อนไป สิ่งที่เร็วมาก แล้วพอสิ่งนั้นหยุดขึ้นมา มันจะได้ประโยชน์ขนาดไหน หัวใจที่หมุนไป มันให้แต่ความเร่าร้อน แล้วเราก็กลัวว่าหยุดแล้วมันจะขาดทุน เราจะไม่ทันเขา

หยุดต่างหากถึงจะเป็นผู้ที่ว่าเหนือเขานะ

เหนือเขาที่ไหน? เหนือเขาที่ว่า เขาวิ่งอยู่เขาไม่เคยเห็นอะไรกันเลย เราหยุดอยู่นี่ ของที่มันตกอยู่ตามทาง เห็นไหม เขามีแต่เดินข้ามไปๆ เราเก็บๆ เพราะเราเห็น เห็นไหม ถึงว่า ผู้หยุดอยู่ ผู้หยุดต่างหากถึงจะได้ประโยชน์มากกว่าผู้ที่วิ่งเต้นเผ่นกระโดดไปตามเขา ต้องฝืนใจให้เชื่อ ต้องสอนใจตัวให้มันเชื่อ ไอ้นี่ว่า “เราทำไม่ได้ๆ” ทำไมมันคิดอยู่อย่างนั้นล่ะ

มันเหมือนกับมีกระจกอยู่แผ่นหนึ่ง ในห้องกระจก เรามองไปข้างนอกสิ เอาน้ำสาดไปก็ไม่ได้ หรือเราอยู่ข้างนอก เอาน้ำสาดเข้าไปสิ กระจกมันบังไว้ ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ความคิด ความที่เราศึกษามานี่มันไม่เข้าถึงใจ เพราะมันมีแผ่นกระจกนี้บังไว้ พระพุทธเจ้าถึงได้ว่าอันนี้คือกิเลสๆ

กิเลสของเรา ศึกษามา ฟังมา มันก็ได้แต่คิด ได้แต่ด้นได้แต่เดา มันเข้าไม่ซึ้งใจของตัว ถึงได้ต้องฝึกให้มันเข้าไป ต้องการไปปฏิบัติ พระพุทธเจ้าถึงได้บอก พระพุทธเจ้าเป็นผู้สั่งนะ เป็นผู้สั่งผู้สอน แต่การจะเข้าถึงหัวใจของลูกศิษย์ทุกคนต้องเป็นผู้ที่ฝึกฝนด้วยตัวเอง มันถึงต้องปฏิบัติ ถึงได้ต้องเข้าไปในที่เป็นชัยภูมิ ต้องลงที่กายและที่ใจ เห็นไหม

กายวิเวก จิตวิเวก ต้องลงที่ตรงนี้ ทุกคนต้องลงไปฝึกเอง ไม่สามารถให้ใครทำให้ได้ ฝึกเองก็ฝึกเพื่อใจ ต้องฝึก ต้องปั้นขึ้นมากันเอง มันถึงต้องมีข้อวัตรปฏิบัติ มันถึงต้องมีวางแนวทาง เราต้องวางแนวทางนั้น ทรมานใจ ทรมานความรู้สึก ทรมานให้เข้าที่

เหมือนกับหลอมเหล็ก เผาเหล็ก หลอมเหล็ก หลอมทอง อันนี้หลอมหัวใจ มันเป็นการกระทำของเราทั้งนั้น แล้วเราได้ผลตามความเป็นจริงด้วย ฟังพระพุทธเจ้า พระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ยกมือกราบไหว้เต็มที่เลย แก้วสารพัดนึกนะ เป็นรัตนะ แก้ว แล้วเราก็เป็นชาวพุทธ แล้วนึกได้อย่างนั้นไหม มันนึกแล้วมันเจือไป มันเจือไปด้วยความรู้สึกของเราเอง ความรู้สึกในใจของเราเอง มันคาด มันหมาย มันเดา มันไม่ลงตามความเป็นจริง มันไม่มัชฌิมา

พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ตอนที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วไปเทศน์ธัมมจักฯ “ไม่ทำกายนี้ให้ลำบากเปล่า อัตตกิลมถานุโยค” ที่ว่าความเพียรอันอุกฤษฏ์ที่ว่าท่านทำมาน่ะ มันทำลงที่กาย ทรมานกาย แล้วพอถึงสุดยอดแล้วมาคิดถึงตอนที่ว่า เป็นเด็กอยู่ที่โคนต้นหว้า ตอนพระเจ้าสุทโธทนะออกไปแรกนาขวัญ วางไว้ ยังเล็กๆ อยู่ ให้อยู่ใต้ต้นหว้า เข้าอานาปานสติ เข้าสมาธิ จิตมันสงบ เห็นไหม จิตมันสงบ อันนั้นมีความสุขพอสมควร จิตสงบ จิตมันเข้าอานาปานสติ ก็เลยเอาอารมณ์นั้นมาเริ่มต้นภาวนา

ถึงว่า เป็นกายและใจ ลงที่หัวใจ เพราะกิเลสมันอยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่กาย

กิเลสนี้อยู่ที่หัวใจนะ ต้องทำ

ทรมานกายไป กายก็ลำบากเปล่า แต่ถ้าเราบำรุงบำเรอเกินไป กายนี้ก็มีแรงมากเกินไป ก็ไปกดถ่วงจิตใจเหมือนกัน เช่น ง่วงหนาวหาวนอน ฉะนั้น เวลาปฏิบัติมันถึงว่า ต้องมีศีล ถือศีล อดนอนผ่อนอาหาร ให้ร่างกายนี้เบาลง ให้ธาตุ ๔ นี้ไม่ทับขันธ์ ๕ มากเกินไป พอร่างกายมันเบาลง จิตใจมันก็แบบว่า ไม่ง่วงหนาวหาวนอน ไม่โดนทับมากเกินไป มันก็ทำให้ตาสว่าง ตาในนะ ความสว่างคือความข้างในโพลงอยู่ รู้สึกตัวตลอดเวลา พอเรานั่งสมาธิไป มันจะเริ่มสัปหงก นิวรณธรรม ๕

เห็นไหม ผลของกายและใจมันเนื่องกัน

ก็ดูใจของตัว มันเนื่องกัน เราปล่อยไปอย่างนั้นเลย ความเข้าใจของเรา เราเข้าใจถึงการประพฤติปฏิบัติ เราเข้าใจแล้ว เราก็จะรู้จักเหตุรู้จักผลใช่ไหม

เวลามันให้ทุกข์ มันให้ทุกข์เอง เวลามันให้สุข เราประคองไว้ไม่ได้

“ทุกข์ควรกำหนด” แล้วสุขล่ะ สุขต้องควรกำหนดเหรอ สุขของเราให้อยากอยู่นานๆ เวทนา กรรม เหมือนกัน เป็นกลางๆ กรรมก็เหมือนกัน กรรมดี กรรมชั่ว เวทนา เห็นไหม มีสุข มีทุกข์ แต่หัวใจเรามันประคองไว้ไม่ได้ มันน่าคิดนะ มันกลิ้งไปนะ มันกลิ้งไป มันไม่เป็นผู้ใหญ่ มันเป็นเด็ก หัวใจพวกเรามันเป็นเด็ก แล้วไม่รับรู้อะไรนะ

ดูเด็กเล็กๆ สิ มันช่วยตัวเองไม่ได้ มันก็ร้องไห้หาพ่อแม่ตลอดเวลา ร้องไห้แต่จะหาเอาตามใจมัน หัวใจเราก็เป็นแบบนั้นน่ะ มันไม่เป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา มันพึ่งตัวเองไม่ได้ แล้วเราก็ช่วยตัวเองไม่ได้ ถ้าช่วยตัวเองได้นะ อะไรจรเข้ามามันก็รู้ผิดรู้ถูกใช่ไหม อะไรจรเข้ามา อารมณ์ที่มันจรเข้ามา ความรู้สึกจรเข้ามา เวลาทุกข์จรเข้ามาล่ะ ธรรมชาติของความคิดมันคิดไปอย่างนั้นน่ะ เพราะมันสิ่งเจืออยู่ในใจอยู่แล้ว คิดออกไปแล้วจริงหรือไม่จริงยังไม่รู้ ความคิดเราจริงหรือไม่จริง ไม่รู้นะ บางทีก็จริง บางทีก็ไม่จริง เพราะมันเป็นความคิด

ออกไปโลกนี้ โลกมันมีสิ่งเนื่องกันด้วยมหาศาล ของในโลกนี้ กรรมมันคละเคล้า กรรม ไม่ใช่มีกรรมของเราคนเดียว กรรมมันคละเคล้าไปในโลกภายนอก สัตว์ที่มันเกิดเนื่องด้วยกันมาตลอด ฉะนั้น มันถึงต้องมีการเบียดเบียนกันตลอด แล้วเราก็เป็นสัตว์หนึ่งในโลกนี้

เราเกิดมาท่ามกลางนะ ทีนี้เราจะต้านกระแสไปได้อย่างไร

เวลากระทบขึ้นมาก็ต้องดูใจเรา ไม่มีสิ่งใดจะสมปรารถนาหรอก ในโลก ไม่มี

เพราะใจมันคิดกว้างขวาง คิดใหญ่โตมากนะ แล้วสิ่งที่เนื่องด้วยโลกเข้ามาให้หัวใจเรามีความสุข เราถึงว่ายอมรับมันไง มากบ้างน้อยบ้าง แต่ถ้าเราฝืนนะ เราคิดตามใจเรา นั่นเราทุกข์แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา เราทำมาทั้งหมด เราทำมาทั้งหมดนะ ทีนี้ทำมาเราก็ยอมรับใช่ไหม เรายอมรับเพราะอะไร เพราะว่ามันเป็นกรรม กรรมมาแต่อดีตชาติ กรรมปัจจุบัน

ทีนี้ พอเราเข้ามาถึงเรื่องของกรรม เรื่องของใจ เราเห็นว่าเป็นโทษขนาดนี้แล้ว เกิดมาชาตินี้ก็ทุกข์ขนาดนี้แล้ว แล้วจะเกิดอีกไหม มันต้องคิดอย่างนั้นนะ พระพุทธเจ้าว่าเกิดคู่กับไม่เกิด ทุกข์คู่กับไม่ทุกข์ นี่จะว่าไม่เกิดๆ ให้พ้นทุกข์นั้นล่ะ “ผู้ใดปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม” รสของธรรม รสของความสุข

โลกนี้นะ เราก็ได้สัมผัสมาทุกอย่างแล้ว เราก็ผ่านมามากแล้วล่ะ แล้วรสของใจ ที่ว่ารสที่สุขมหาศาลนี้เราเคยได้รับไหม หาความสุขอย่างนั้นน่ะ หาความสุขอย่างนั้น สุขที่ไม่เจือด้วยอามิส สุขที่ไม่เจือด้วยอามิสนะ สุขทางโลกเขามันต้องมีเหตุถึงเกิดสุขได้ มันไม่สุขเกิดขึ้นลอยๆ แต่หัวใจเรานี้มันประหลาด มันมีความสุขในตัวมันเองได้ สุขที่ไม่เจือด้วยอามิส สุขแท้ๆ เลย นี่ความสุข เห็นไหม ความสุขที่ละเอียดเข้าไปๆ นะ ความสุขที่หยาบๆ ก็มี ละเอียดเข้าไปๆ นะ ไม่อย่างนั้นพระอยู่กันได้อย่างไร ฤๅษีชีไพรเขาอยู่ในป่า เขาอยู่กันได้อย่างไร

เพราะสิ่งในโลกมันให้ความสุข มันก็ให้โทษไปด้วย แต่เราไปตื่นกับมันเอง นี้เราเกิดมามีปากมีท้อง เราก็ต้องอยู่กับโลกเขา อยู่กับโลกเขาแล้วให้พ้นจากโลกได้ เหมือนกับไฟ มันเผาบ้านเผาเรือนก็เผาหมดนะ แต่เอามาทำประโยชน์ก็เป็นประโยชน์ กายนี้ก็เป็นโลก ใจนี้เป็นธรรม ว่าอย่างนั้นเลยนะ กายนี้เป็นโลก ต้องอยู่กับเขา ใจมันเป็นธรรมเพราะมันรู้สึก เป็นธรรมมันรู้สึกหนึ่ง แล้วมันพลิกแพลงได้

ดูอย่างกายมนุษย์สิ กายเป็นมนุษย์นะ แต่ใจเป็นเทวดา เห็นไหม ขณะที่เราคิดความดีนั่นน่ะ ถ้าเราคิดความชั่ว ใจเป็นอะไรล่ะ กายเป็นมนุษย์อยู่นั่นล่ะ ใจมันเป็นเดรัจฉานไปเลย นี่ถึงว่าใจมันเปลี่ยนได้ขณะจิตๆ เลยนะ ความคิดมันแว็บๆ ในใจมันแว็บตลอด มันต้องทรมาน

คำว่า “ทรมาน” เราก็กลัว ทรมานไป ทรมานกลับดีขึ้นมา ทรมานคือการยับยั้งไว้ เรายังไม่เคยเจอทุกข์หนักๆ มันยังไม่เห็นโทษนะ เวลาไปเจอทุกข์หนักๆ เข้า เหมือนคนใกล้ตายนั่นล่ะ คนป่วย เห็นไหม อยากจะปฏิบัติ อยากจะหาที่เกาะที่เหนี่ยว เวลาที่เราจะมีที่เกาะที่เหนี่ยว เราต้องตุนเอาไว้ เสบียงของเราต้องตุนเอาไว้ สร้างเอาไว้ตลอดเวลา ความดีสร้างเอาไว้ตลอดเวลา เวลามีทุกข์ขึ้นมามันจะได้มีน้ำคอยดับทุกข์ได้บ้าง ไปหาน้ำไว้เลย ไปเตรียมไว้เลย เวลาไฟไหม้ขึ้นมา น้ำหาไม่ได้ หัวใจเราสร้างไว้ตลอดนะ บุญกุศลสร้างไว้ตลอดๆ สร้างไว้ๆๆ เวลาทุกข์มามันก็แก้ไปได้ เวลาทุกข์มานะ แล้วทุกข์มันไม่มาทำอย่างไรล่ะ

เวลาทุกข์ไม่มา เราไม่เห็นเองนี่ มีหรือทุกข์ไม่มา ลองนั่งสิ นั่งอยู่นี่มันเจ็บมันปวดไหม ทุกข์กาย ทุกข์ใจนะ ทุกข์กายพอช่วยกันได้ แต่มันจะจนตรอกเวลาสุดท้ายนั่นน่ะ เวลามันจะทิ้งร่างกายนี้ช่วยไม่ได้แล้ว เรือนี้มันจะพัง

พระพุทธเจ้าก่อนจะนิพพาน พระอานนท์ถามเลยล่ะ สงสารมาก เหมือนเกวียนเก่าคร่ำคร่า เหมือนเกวียนเก่านะ ท่านไม่ได้คิดห่วงร่างกายเลย จิตใจนี้มันประเสริฐ เหมือนเกวียนเก่าคร่ำคร่าชำรุด แต่ต้องหมุนไป หมุนไปเพื่อไปถึงจุดหมาย ไปจุดหมายเพราะนัดไว้ ไปถึงจะไปทิ้งกาย

คนเราเกิดมามันตายหมด แม้แต่พระพุทธเจ้ายังต้องสิ้นไป แล้วเราเกิดมาน่ะ มันเจอพระพุทธศาสนานะ เจอแนวทางปฏิบัติ เจอแนวทาง เจอนะ คนเจอนี้ก็เป็นโอกาสมาก พอมีบุญมีกุศล มีบุญมีกุศลถึงได้เจอ เหมือนกับเขาเจอน้ำมันนั่นน่ะ ที่ไหนมีน้ำมันชาตินั้นก็รวย นี่ก็ชาตินี้เป็นชาติชาวพุทธ ชาติเกิดมาพบพระพุทธศาสนา แล้วว่าตัวเองไม่มีวาสนาได้อย่างไร วาสนาของตัว แต่นี้เราไปมองอย่างอื่นน่ะสิ ไปมองอย่างอื่นว่าเป็นความดี

การให้ค่าของใจ ถ้าจะให้ค่าสิ่งใด มันยึดติดทั้งนั้นล่ะ ความติดนี้น่าคิดมากนะ ใจมันติดน่ะ ถ้าคิดว่าเราถูก ถ้าคนอื่นคิดว่าคนอื่นผิด ค่าของใจนี่ การให้ค่าก็กิเลสไง ยึดเหนียวๆ ลองดูให้มันสงบดูสิ ให้เห็นโทษ จับอารมณ์ที่ว่ามันเป็นความทุกข์หนักๆ จับอารมณ์ที่มันรุนแรง แล้วลองใคร่ครวญดูสิ มันมาอย่างไร มันไปอย่างไร อารมณ์นี้มันเป็นวัตถุอันหนึ่งเลยนะ ปัญญาอบรมสมาธิไง ปัญญา ถ้าปัญญานี้มันทันความคิด มันรอบรู้ในกองสังขาร กองสังขาร สังขารคือความคิด ความปรุง ความแต่ง ที่ว่าใจๆ นั่นน่ะ เราเอาทั้งหมดนี้เป็นใจ เอาความคิดทั้งหมดนี้เป็นใจ เอาความรู้สึกทั้งหมดนี้เป็นใจ แต่ใจนี้มันยังแบ่งได้ไปอีกนะว่า ความรู้สึก วิญญาณ ใจ ความรู้สึก อารมณ์นี้ วิญญาณ

ก่อนจะคิดมันต้องมีเหตุมีผลสิ ไม่มีอะไรเกิดมาลอยๆ หรอก ความคิด คิดขึ้นมาได้อย่างไร คิดมาจากสัญญาเดิม สัญญาเดิมนะ ต้องเคยได้ยินได้ฟังมา ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก็ต้องเป็นสัญญาเก่า จากเดิมๆ มา มันถึงคิดขึ้นมาได้ นั่นสัญญา มันเป็นเชื้อ สัญญานี้เป็นเชื้อ เป็นตัวจุดชนวน นั่นแหละความคิดล่ะ

อารมณ์ทุกข์ยาก อารมณ์ที่มันสุขมันทุกข์นั้น อันนั้นมันเต็มรูปแล้ว เป็นรูปคือว่ามันเป็นความรู้สึกทั้งหมด แล้วอารมณ์ดีใจเสียใจ นั่นน่ะกิเลสมันจะรับไป มันเป็นวิญญาณ ทีนี้พอใจหรือเสียใจล่ะ ดีใจหรือเสียใจ นั่นเวทนาไง

จากดับนะ จากที่ว่าเราคิด เราทุกข์อยู่นี่ เราหมุนไป จากให้มันสงบ สงบแล้วก็มาดูอย่างที่ว่านี่ ว่าความคิดนี้มันเกิดจากอะไร ถ้าตามความคิดอันนี้ทัน มันจะเริ่มยับยั้ง ยับยั้งแล้วไม่เกิดความสุขขึ้นมาพร้อมกับเราชนะตัวเอง การชนะตนเองนี้ยอดเยี่ยมที่สุด

การชนะ เห็นไหม เราบังคับสัตว์ อย่างพวกช้างพวกม้า ถ้าเราเอาไว้อยู่เราก็พอใจใช่ไหม แต่เราบังคับใจเราอยู่นี่ เป็นสัมมาสมาธินะ สัมมาสมาธิคือการเอาใจไว้อยู่ แล้วเป็นความสุขมาก ไอ้อย่างที่คิดไปเมื่อกี้นี้มันเป็นธรรมชาติ คือว่าเราปล่อยไปไง เหมือนกับพวกสัตว์ มันดิ้นรนไปตามอำนาจของมัน แต่พวกตัวสัตว์มันก็เป็นวัตถุใช่ไหม มันเป็นใหญ่ แต่เวลาความคิดมันฟุ้งซ่านไป เหมือนกัน แล้วมันไปกว้านเอาความทุกข์เข้ามาไง ไปกว้าน...

...ความดีใจ ความเสียใจ อันนั้นมันเป็นความรู้สึกทั้งหมดเลย แล้วก็สร้างกรรมไป มโนกรรม คิดมาพอใจมันก็คิดซ้ำ คิดมาพอใจนะ คิดซ้ำๆ เพราะมันพอใจคิด อารมณ์นั้นล่ะ พระพุทธเจ้าสอนให้หยุด ให้ดูใจของตัวแล้วหยุดให้ได้ พอหยุดปั๊บมันก็เป็นแท่งใส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใสนะ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใสมันก็เหมือนกับทีวีที่ไม่มีภาพ ทีนี้พอทีวีไม่มีภาพ มันเป็นทีวีจอภาพเฉยๆ ใสอยู่อย่างนั้นแหละ จอภาพมันออกมาเป็นใสอย่างนั้น

จิตนี้ก็เหมือนกัน ถ้ามันสงบ มันอยู่อย่างนั้นน่ะ ถึงว่าจิตสงบมันถึงว่าผ่องใส จิตสงบนี้ผ่องใส กำหนดไว้เรื่อย มีความสุขมาก นี่รสของธรรม รสของสมาธิธรรมนะ ว่าพออยู่พอกิน ทำให้ไม่เร่าร้อนจนเกินไป คนที่หิวกระหายแล้วได้กินอาหารขึ้นมาจนอิ่มหนำสำราญพอสมควร คนที่ร้อนมาก ทำงานมาเหนื่อยแสนเหนื่อยเลย ได้อาบน้ำแล้วมันก็ผ่อนคลาย

จิตนี้เคยเป็นขี้ข้าของกิเลส มันไสคิดไปอย่างที่ว่านั่นน่ะ คิดไป กว้านมาหมดเลย โลกทั้งโลกกว้านมาหมด ตั้งแต่พ่อแม่ปู่ย่าตายาย เรื่องของทุกๆ คนมันคิดไปได้หมด ไม่ใช่เรื่องของตัวเองนะ เรื่องของทุกๆ คน แล้วยังเรื่องของเราอีก แล้วยังเรื่องในใจของเราอีก แล้วคิดโดยที่ว่าเราไม่สามารถยับยั้งได้อีก มันอยู่เฉยๆ มันก็คิด ไม่คิดมันก็จ่ออยู่อย่างนั้นน่ะ พลังงานมันใช้อยู่ เพลียมาก คิดจนถึงว่าเสียสติ

นั้นเรื่องของใจ ไอ้ทุกข์ของกาย ส่วนทุกข์ของกาย ทุกข์ของใจ เพราะกิเลสอยู่ที่ใจ พอมันสงบเข้า มันเห็นความสุข แต่พอมันออกมานี่เราบังคับมันไม่ได้ ความสุขมันเข้าไปถึงฐานใช่ไหม เราเข้าไปซอยตัน พอเข้าไปถึงซอยตัน มันก็ต้องย้อนออกมาอีก เราพยายามดูใจเรานะ แล้วเราใช้พุทโธๆ หรือสติคุมไว้ ความระลึกรู้อยู่ จิตคุมไว้ๆ จิตมันสงบลงๆ มันเหมือนกับเข้าไปตันไว้ ถึงซอยตัน จิตนี้มันจะรวมลงๆ มันจะเบา มันจะปล่อย พอเราไม่รักษาเอาไว้ ถอนออกมามันก็เป็นโลกอย่างเก่า ถอนออกมานะ

ธรรมชาติของมัน ธรรมชาติของใจมันต้องส่งออกมา แต่ธรรมะของพระพุทธเจ้าบอกให้ย้อนกลับ ทวนกระแสเข้าไป ใช้ความคิด ที่ว่าโลกๆ เราคิดเปรียบเทียบโลก ให้เห็นโทษเห็นคุณ ว่าโลกนี้เราใช้ความคิดไปหรือเราอยู่กับเขานี่เราเจือจานเขา เราอยู่ในสังคม มันให้โทษหรือให้คุณใช่ไหม

แล้วเรามาศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้าบอกว่า ให้คิดแบบนี้ ให้ดู เห็นคุณไหม ความคิดของเรา เราคุมของเราได้ เราเป็นคนประเสริฐนะ ไอ้พวกนั้นเป็นคนอะไร? เป็นคนพาล เพราะเขาไม่รู้ตัว มันเหมือนกับสัตว์ที่ไม่รู้ตัวเลย กินหญ้าไปตามเวรตามกรรม แต่ของเรานี้สัตว์เริ่มผูกแล้ว เป็นสัตว์เหมือนกันนะ ใจ เราเอาธรรมะเลี้ยงหัวใจ ล่อใจมา ใจเหมือนสัตว์ เอาหญ้าให้มันกิน พอมันได้กินอันนี้มามันก็หันมาทางนี้ เห็นไหม ไม่ไปตามที่ว่า กินตามนั้นไป

เพราะกินตามโลกไป มันออกไป มันยังไปเจอนายพรานล่า ไปเจอสัตว์ที่รังแก เห็นไหม กับเราเอาของเราเข้ามา เราเอาใจของเราเข้ามา เอาธรรมะของพระพุทธเจ้านี้สอน ดึงเข้ามาๆ เราต่างหากเอาเราไว้ในอำนาจของเรา เราต่างหากนะ ใจของเราต่างหากนี่แหละ

สติเกิดขึ้นจากใจ เราระลึกรู้อยู่ เราลองนึกสิ นึกขึ้นมา สติขึ้นมา เห็นไหม มันก็ดึงไว้ได้หนหนึ่ง ถ้าสติอ่อนมันก็ออกไป ถ้าเราระลึกไว้ ดึงไว้ๆ พอดึงมันจะเห็นคุณเห็นโทษ ที่ว่าไม่เห็นกิเลสๆ เพราะมันคิดออกไป เมื่อกี้มันคิดออกไป มันผิดไหม ดึงเอาไว้อย่างนี้ เพราะไม่เสียพลังงานหนึ่ง ไม่เสียการที่มันหลอกใช้หนึ่ง

พอคิดออกไปว่า ของนั้นยังไม่ได้เก็บเลย ของนั้นอยู่ที่นั่นๆ...ไปแล้ว ความคิดนี้หลอกใช้เราไป ๑ รอบ ถ้าเราลุกไปทำนะ ๒...๒ ชั้นแล้วนะ ความคิดคิดไปแล้วรอบหนึ่ง เรายับยั้งอย่างนี้ ยับยั้งจากความเป็นอยู่ของเรานี่แหละ ยับยั้งเข้ามา ยับยั้งเข้ามา จากคนใช้ของฟุ่มเฟือยมันก็เหลือน้อยลง ใช้น้อยลงๆ เพราะจริงๆ แล้วมันใช้ตามความจำเป็นเท่านั้นเอง แต่เราใช้มากจนเกินกว่าเหตุ

พอจิตมันสงบออกมามันก็เป็นโลกอย่างเก่า โลกอย่างเก่า หมายถึงว่า มันไม่ได้ชำระ มันสงบเข้าไปเสวยรสของสมาธิธรรม เสวยนะ มันสุข มันพอใจ พอออกมามันก็เหมือนกับว่า “เอ๊ะ! มันก็เหมือนกับไม่ได้ทำเลย หรือว่าเราทำแล้วทำไมเราเป็นคนที่อารมณ์รุนแรงกว่าเขาอีก” จะเป็นอย่างนั้นนะ

จากเดิมเพราะเราไม่รู้อะไรเป็นอะไรใช่ไหม มันก็เหมือนผ้าที่ว่าไม่สะอาด จะมีสิ่งใดมาเปื้อน มันก็ดูไม่ค่อยออก มันดูเป็นปกติ ถ้าผ้าขาวนะ อะไรมาเปื้อนหน่อยเดียวมันจะเห็นภาพชัด อารมณ์ที่มีความสุข พอออกไปนี่มันจะหงุดหงิด ใครมาทำ พูดไม่ถูกใจ มันจะคิดได้เร็ว ความคิดมันจะหมุนรอบได้เร็ว เหมือนกับคนเป็นผู้ใหญ่ เขาพูดอะไรนี่มันคิดทัน ความคิดทันมันเสวยหนักเข้าไปอีก แล้วก็ต้องดู “เอ๊ะ! ทำไมเป็นอย่างนี้” ดูความคิด

เวลามันสงบขึ้นมา มันมีความสุข เวลาออกมาวนอย่างนี้ทำไมมันมีความคิดอย่างนี้ ก็ให้ดูคุณดูโทษสิ ปฏิบัติแล้วมันมีความสุข ออกมามันเป็นอย่างไร ย้อนกลับมาดู พอย้อนกลับมาดู อ๋อ! มันต้องเริ่มใช้ปัญญาไง การใช้ปัญญา...

...ศาสนทายาท ผู้ใดเห็นธรรม สมาธิธรรมนะ จิตเป็นได้ จิตเป็นธรรมชาติได้ จิตฟุ้งซ่านได้ จิตต้องสงบได้ จิตสงบได้ เพราะจิตสงบนั้นล่ะเป็นพื้นฐาน เป็นพื้นฐานนะ หันกลับมาดู เป็นพื้นฐาน มันตื่นเต้น มันเลยไม่หันกลับไง แล้วก็จะเสื่อมไป

ดูสิ เวลาปฏิบัตินี่ยากไหม กว่าจะทำให้ขึ้นมาได้ ยากขนาดนี้ อย่างที่เรานั่งกันอยู่นี่ แล้วพอขึ้นมาแล้วเสื่อมหายไปหมดเลย เป็นอยู่อย่างนั้นน่ะ ถ้าเราประคองไม่ถูกนะ เป็นขึ้นมาแล้วก็หายไปๆ จากเดิมเราฝึกครั้งแรก พอเป็นขึ้นมาแล้วมันมีความสุข แล้วพอเสื่อมไป ภาวนาใหม่นี่ทุกข์ขึ้นไปอีก ของเคยกินเคยใช้แล้วหายไป แล้วมันหมดไป จะหามาใหม่ มันจะไม่ตื่นเต้นเหมือนเก่า ความสุขไม่เท่าเดิม ความสุขครั้งแรกที่ได้ประสบ โอ้โฮ! สุขมาก แปลกมาก จะได้หรือไม่ได้ จะเป็นหรือไม่เป็นนะ อย่าไปคาดไปหมาย

เหมือนกับถ้าเราคาดเราหมาย มันก็เหมือนกับเราทำโครงการ อยากจะได้เท่านั้นๆ กำไรเท่านั้น มันเป็นจริงหรือไม่เป็นไม่รู้ เหมือนกัน เรานั่งปฏิบัติ เรานั่งทำใจให้สงบ นั่งทำใจนะ นั่งดูใจ ไม่ใช่ทำใจแบบเซ่อๆ ซ่าๆ นะ เซ่อๆ ซ่าๆ คือว่านั่งเฉยๆ นั่ง ต้องมีสติ ถ้านั่งเฉยๆ มันเหมือนกับหัวตอ

ถ้านั่งมีสตินะ นั่งแล้วสติจ่อไว้ สติคือความระลึกนั้นล่ะ นั่งด้วย นึกด้วย นึกถึงใจของตัว นึกอยู่ก็สติยั้งไว้ๆ เรานึกอยู่ตลอดเวลา พุทโธแล้วก็นึกไว้ๆ นึกนั่นล่ะดึงใจไว้ การนึกคือสายเชื่อมต่อเนื่องๆ ดึงใจไว้ๆ ถ้าเรานั่งเฉยๆ หายหมด ขนาดเป็นสมาธิ ตกภวังค์นะ การนั่งแล้วตกภวังค์คือไม่ย้อนใจกลับ ส่งออกไง ส่งออกไป เป็นไปแล้วคิดไปๆ

คิดไปเหมือนกับเราโยนของออกจากหัวใจไป ถ้าเรานึกไว้ๆ มันนึกขึ้นมาแล้วเรารวบไว้ๆ นึกขึ้นมันเป็นธรรมดาของธาตุรู้ มันจะขึ้นมาตลอดเวลา แล้วเรานึกอยู่ นึกอยู่ สติก็รวบไว้ๆ เหมือนกับฉีดน้ำ ไม่ฉีดออกไป ดึงกลับมาๆ มันก็สงบตรงอย่างนี้ จิตมันสงบเพราะเหตุนี้ เหตุที่ต้องมีสติ ไม่ทำสักแต่ว่าทำ ไม่ทำสักแต่ว่า ทำไว้ๆ มันก็เคย เคยนะ ชำนาญ การชำนาญ ต่อไปจะเข็ดมากเลยล่ะ พอชำนาญแล้วจะรู้จักว่า อ๋อ! มันเสื่อมอย่างนี้ แล้วจะกลัวมาก ทุกข์ร้อนเลยนะ เวลาขึ้นมากลัวมันจะเสื่อม

คนมีสมบัติ เวลาจิตมันสงบ ออกไปทำอะไรมันจะคอยประคองจิตมันไว้ ไม่ออกโดยธรรมดาของมัน มันจะประคองจิตไว้ เพราะจิตอันนี้มันได้ลิ้มรสอันนี้ ลิ้มรสความสุขใจ มันว่างนะ มันปล่อย มันโล่ง ขนาดว่า ถ้าชำนาญแล้วมันเหมือนกับว่าตัวเราเหาะเหินเดินฟ้าได้เลยล่ะ แค่จิตสงบเท่านั้นนะ แค่เราทำใจของเรา หาที่พึ่งของเรานั่นน่ะ

พึ่งข้างนอกก็พึ่งไป พึ่งไปตามประสาโลก แต่ทุกคนต้องมีของพึ่งภายใน เขาว่าคนดีใน คนดีในมีที่พึ่งภายใน โอภาปราศรัยกันข้างนอก โลกนอกก็พึ่งโลกนอก โลกในเราก็ต้องพึ่งของโลกเราให้ได้ โลกในไง

โลกคือหมู่สัตว์ สัตว์เรามันต้องไปเรื่อยๆ สัตว์อย่างเรานี่ สัตว์โลก เกิดดับๆ ไปเรื่อย ความคิดก็เกิดดับๆ เห็นไหม ภพชาติก็ดูที่ใจนี่แหละ วันหนึ่งมันเกิดกี่ร้อยชาติ ดับกี่ร้อยชาติ นั้นล่ะมันวงจรหนึ่ง ความคิดก็เท่ากับชาติหนึ่ง เพราะมันเสวยภพพร้อมกับความคิดนั้น ความคิดในใจมันเสวยภพพร้อมกันเลย มันขึ้นมาๆ เห็นไหม แล้วก็ดับไป

แต่เวลามาเกิดเป็นมนุษย์นี้ว่า อายุขัยหนึ่งถึงเป็นภพหนึ่ง เราก็ย่นไง ย่นให้เห็นการเกิดดับภายในใจกับการเกิดดับข้างนอก การเกิดดับในมนุษย์ การเกิดดับที่ว่าเป็นภพ เป็นรูปภพ แต่การเกิดดับของภพในใจ ว่าแก้ภพชาติๆ แก้ภพชาติต้องแก้ภพชาติในหัวใจถึงจะแก้ภพชาติหลุด ภพชาติข้างนอกมันเป็นผลแล้ว ย้อนกลับมาแก้ภพชาติที่ใจ เกิดที่ใจ ดับที่ใจ มันสะอาดที่ใจ มันเกิดดับที่ใจ เราแก้ได้เท่านี้แล้ว เราแก้ที่ต้นขั้วแล้ว ปลายเหตุมันก็ต้องเป็นไปตามสิ่งที่ต้นขั้วส่งออกมาสิ

ที่ว่า แก้ภพแก้ชาติ ก็ไปเปลี่ยนกันที่ว่าชาติไทยชาติจีนนั่นล่ะ สัญชาติ สัญชาติภายนอก คำศาสนา คำกล่าว แล้วเราก็ไปติดโวหารนะ พอติดโวหาร ใจมันติด

ทีนี้พอแก้ใจได้มันก็เข้าใจหมด การเข้าใจการรู้แจ้ง รู้แจ้งภายใน การรู้แจ้งภายในมันไม่ลังเลสงสัย การไม่ลังเลสงสัยมันก็เริ่มแนวทางที่ถูกต้อง ใจมันมั่นคง ใจมันลังเลสงสัย ใจมันก็มีนิวรณธรรม นิวรณธรรมก็กั้นใจไม่ให้เป็นไปตามที่ว่าครรลองของมัน มันลังเลไปหมด หยิบต้องอะไรไม่ได้เลย ความไม่เข้าใจของมันนะ ความสงสัย เห็นไหม ต้องพิจารณาจนกว่ามันจะปล่อย ปล่อยขาดเลยน่ะ ปล่อยขาดนะ

ปล่อยโดยความที่เราศึกษาเข้าใจ เห็นไหม “อ๋อ! เข้าใจแล้ว หายสงสัยแล้ว” เดี๋ยวก็สงสัยอีก นี่การปล่อยแบบนี้ การปล่อยไม่ขาด ถ้าการปล่อยขาดนั่นน่ะ ดูตรงนี้แหละ ดูการเกิดดับนี่ ดูการเกิดดับแล้วแยก ดูการเกิดดับ การเกิดดับมันให้คุณให้โทษใครสักเท่าไร มันให้คุณให้โทษกับหัวใจเรา มันเกิดดับโดยธรรมชาติ แต่กิเลสเข้าไปเจือ กิเลสความชอบใจและความไม่ชอบใจ ความชอบใจและความไม่ชอบใจมันเข้าไปเจือ ความไม่ชอบใจมันก็ให้ผลเป็นทุกข์ ความชอบใจมันก็ให้ผลเป็นความพอใจคือความสุข ความพอใจของเรา เห็นไหม ความพอใจ กิเลสมันสอนไว้ทั้งนั้นน่ะ

ความเคยใจ อะไรที่พอใจมันก็ว่าสุข แต่ความพอใจของเรากับความพอใจของคนอื่นก็ไม่เหมือนกัน ถ้าความพอใจนั้นเป็นความถูกต้อง มันก็ต้องมาเทียบข้างนอกสิ ของสิ่งใดๆ สิ่งในโลกนี้มันก็ต้องเป็นความดีทั้งหมดใช่ไหม ความดีของโลกนี้ยังไม่เหมือนกันเลย การศึกษาเล่าเรียนก็มีวิชาแขนงต่างๆ ไม่เหมือนกัน ใจคนก็ไม่เหมือนกัน กิเลสคนก็ไม่เหมือนกันนะ บางคนกิเลสหนา บางคนกิเลสหยาบ บางคนกิเลสบาง

คำว่า “กิเลสๆ” บางหยาบ หนาหรือบางก็แล้วแต่ มันก็เหนียวแน่นด้วยกันทั้งนั้นน่ะ มันเหนียวแน่นนะ เหนียวแน่นแก่นกิเลส กิเลสไม่ปล่อยให้ใครเป็นอิสระได้เด็ดขาด กิเลสมันผูกมากับใจ กิเลสนี้เป็นเจ้าของ เป็นเจ้าของหัวใจ เพราะมันอยู่ที่ใจ แต่ถ้าชำระกิเลสออกไปแล้ว มันเป็นเจ้าของไหม? มันต้องตาย คำว่า “กิเลสตาย” แต่ถ้ามันไม่ตายมันก็แนบกับใจนี้ไปตลอด กิเลสของเราก็แนบกับใจเราไปตลอด เกิดไปตลอด เกิดไปทุกชาติๆ เพราะมีกิเลสมันถึงพาเกิด ถ้าไม่มีกิเลสมันก็ไม่เกิดใช่ไหม กิเลสนี้เป็นยางเหนียว เป็นแรงขับ ใจนี้เป็นพลังงานอย่างเดียวนะ แล้วพลังงานต้องมีแรงขับสิ ก็กิเลสเป็นตัวแรงขับ ถ้าพลังงานนั้นไม่มีแรงขับล่ะ พระพุทธเจ้าสิ้นแล้วไง

มันต้องค่อยๆ เลาะออกไปเป็นขั้นเป็นตอนนะ เลาะออกไป มรรค ๔ ผล ๔ แต่ถ้าผู้มีบารมี มันก็ว่า ทีเดียว ผู้ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ไปเลยทีเดียว ไปเลยนะ แต่มันสมัยพุทธกาลนั่นน่ะ สมัยเรานี้มัน สมัยเนยยะ เป็นผู้ที่พอฟังแล้วเข้าใจง่าย เข้าใจได้ เท่านั้นนะ สัตว์ ๔ จำพวก เวไนยสัตว์ คือว่าสัตว์ที่มีโอกาส เราถือว่ามีโอกาส ได้ยินได้ฟังแล้วสามารถประพฤติปฏิบัติใจของตัวเองได้

โลกเขามองผู้ปฏิบัตินี่เป็นคนโง่ มาทรมานตนอยู่ทำไม ทำไมไม่หาความสุขทางโลกเขา

ความสุขทางโลกมันทำให้คนจม คนมันจะจมตายอยู่นั่น คนจะข้ามพ้นกิเลสมันต้องเหนือคน คนเหนือคนมันมีน้อย ไอ้คนส่วนมาก มันเลยว่าไอ้คนเหนือคนนั้นเป็นคนโง่ คนโง่เหรอที่จะเอาตัวรอด คนโง่หรือจะชนะใจของตัว มันอยู่ในที่ลับ มันอยู่ในป่าในเขา มันก็ไม่ทำความผิดพลาด เห็นไหม ต้องสำรวจตนเอง ต้องดูตนเอง ดูใจของตัว ดูความคิดนั่นน่ะ ถ้าเราคิดไม่ดีเดี๋ยวมันก็จะทำตาม เกิดถ้าความคิดไม่มี มันจะเอาอะไรมาทำ เหตุมันไม่มี เอาผลมาจากไหน มโนกรรม

พอเข้าไปถึงในป่าในเขา เข้าไปอยู่ในที่สงัด มันจะดูใจของตัวได้ ถ้ามันอยู่ในสังคม อยู่ในคนมาก มันจะอาศัยแต่คนอื่น จะเรื่องของคนนั้นๆ ตลอด แต่พอมันนานเข้า มันอยู่ในป่าในเขานานเข้าหรืออยู่ในที่สงัดนานเข้า มันจะมีเราคนเดียว ความคิดของคนอื่นหรือความกระทบกระทั่งกันมันจะไม่มีไป มันจะมีกิเลสกับใจกระทบกันเท่านั้น กิเลสในใจเรากับความรู้สึกของเรากระทบกันอยู่ในหัวใจ มันเป็นเรากับกิเลสๆ เท่านั้นเลย พอเป็นเรา กิเลสมันจะชำระกันได้ เพราะเรา เพราะกิเลสเท่านั้นที่กระทบกัน ความคิดของเรากับความรู้สึกของเรากระทบกัน

ก็ดูสิ ก็ไหนว่าเป็นคนอื่นๆ...ก็เราทั้งนั้นน่ะ พอเรากระทบมันก็ดู คิดผิดคิดถูก มันรู้ พอคิดผิดมันก็เป็นความผิด คิดถูกมันก็สบายใจ คิดถูกนะ แต่คิดผิดมันให้โทษ ให้โทษหมายถึงว่า พอคิดผิดไปนี่มันรู้ มันร้อนเลย ก็ดูโทษสิ ดูโทษ ทำไมคิดถูกคิดผิด เห็นถูกเห็นผิด เราก็ต้องเอาความผิดไว้มาแก้ทางถูก

ผิดเป็นครูใช่ไหม แล้วถูกมันก็หลุดไปๆ เราคิดจนกว่าผิดมันจะไม่มี ผิดจนไม่มีนะ แก้ที่ผิดไม่ใช่แก้ที่ถูก ถูกมันเป็นผล เป็นความสุข แล้วผิดมันจะคิดบ่อย เพราะมันเข้ากับกิเลส สิ่งใดเข้ากับกิเลส สิ่งใดที่ว่าให้ตัวเองเป็นผู้ชนะ สิ่งใดให้ตัวเองเป็นคนได้มาก เป็นคนเบียดเบียนเขา มันพอใจ กิเลสมันชอบนั่งอยู่บนหัว หัวคนอื่นด้วย แล้วชอบนั่งอยู่บนหัวตัวเองด้วย นั่งบนหัวของตัวเองนะ แล้วบังคับไป ไสไป คิดไป เป็นขี้ข้าไง

กิเลสมันอยู่บนหัวใจคน แล้วมันยังขี้รด เหยียบใช้บังคับเราอีกนะ เราไม่สามารถยับยั้งได้เลย เราถึงได้ต้องเป็นทุกข์อยู่อย่างนี้ไง เราไม่สามารถนะ เราถึงต้องพึ่งครูบาอาจารย์ เราไม่สามารถ แต่เวลาพึ่งครูอาจารย์ นี่ให้มา ให้ธรรม ให้ความเห็น ก็ยังเถียงนะ ยังค้านอยู่ ยังเถียงอยู่ แต่ถ้ามันเกิดจาดความคิด

การฟังธรรม ได้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเก็บไว้ในใจ แล้วเราไปใคร่ครวญของเราต่อ สิ่งใดที่เกิดขึ้นจากความคิดของเรา นั้นเป็นสมบัติของเรา สิ่งใดที่เกิดขึ้นจากการได้ยินได้ฟังมานั้นเป็นต้นทุน แล้วเราไปคิดเสริมต่อ การคิดเสริมต่อนั้นคือการฝึกปัญญา การคิดเสริมต่อแล้วใคร่ครวญ การคิดเสริมต่อ การจับหลักอยู่ การจับหลักนะ หลักของใจ จับหลักได้ หลักของความคิดต้องมี ฐานของความคิดไง มี ความคิดไม่เกิดลอยๆ จับให้ได้

ความคิดเรา ๑ ความคิด มันให้ผลในรส เห็นไหม คิดถูกคิดผิด ให้ความรู้สึก ความรู้สึกนั้นคือรสนะ แล้วมันคิดเฉยๆ ไม่มีรสล่ะ เป็นอย่างไร นั่นเขาว่าขันธ์สักแต่ว่าขันธ์ มันหมุนไปโดยที่ว่าไม่มีกิเลสเข้าไปเจือปนไง ขันธ์สักแต่ว่าขันธ์นี้มันคิดอ่อนๆ คิดเบาๆ อยู่ในหัว คิดเบาๆ อยู่ในใจ แต่มันไม่ให้ผลว่าผิดถูก แต่ถ้ามันคิดออกมาข้างนอกมันจะให้ผลเลยน่ะ

ความคิดข้างนอกกับความคิดข้างในก็ต่างกันนะ ความคิดข้างนอกคิดออกไปโลกภายนอก ความคิดในใจของตัว คิดถึงตัวภายใน ขันธ์นอก ขันธ์ใน ขันธ์มีหลายชั้น มันชำระได้เป็นขั้นๆๆ เข้าไป ถ้าสติทัน ปัญญาทัน มันแยกออก ความแยกออก หมายถึงว่า ความคิดนี้มันไม่ครบ มันไปไม่ได้ ดูอย่างเช่นเรายับยั้งได้นี่มันหยุด หยุดนั่นถือว่าแยกออก ถ้าไม่อย่างนั้นมันไปต่อ ความคิดสืบต่อ ความคิดต่อเนื่อง

ความคิดสืบต่อ เห็นไหม แต่กำลังมันคิดตัด อย่างพุทโธนี้ พุทโธๆ นะ พุทโธ ๑ แล้วพุทโธ ๒ พุทโธ ๓ ก็พุทโธอยู่อย่างนั้นน่ะ คือว่ามันไม่ต่อเนื่องออกไป มันไม่หมุนออกไปวงกว้าง แต่ถ้าเราคิดเป็นเรื่องเป็นการเป็นงานสิ มันหมุนออกไปหมดเลย

มันหมุนออกไป หมายถึงว่า มันกว้างออกไปๆ มันต่อเนื่องไป แล้วมันมีให้ความรู้สึกให้อารมณ์พอใจ สนุก แต่ถาคิดตัดนี้มันไม่พอใจ มันจืดชืด ความจืดชืด เห็นไหม ถึงว่าไม่กินอารมณ์ไง ไม่กินก็ไม่กินออกไป จืดชืดมันก็สนิทมันก็อยู่ จืดชืดมันก็คู่กับความจืดสนิทใช่ไหม

ธรรมะเป็นรสของน้ำฝน น้ำจืด แต่ให้คุณเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย กับรสของแกง รสของน้ำแกง เห็นไหม มันเผ็ด มันเปรี้ยวหวานมันดี พอมันเปรี้ยวหวานมันดี มันก็พูดออกไปมันก็ให้โทษกับร่างกายด้วย

ธรรมะนี้ให้คุณกับร่างกายนะ พูดถึงร่างกายเพราะมันกิน นี่หัวใจก็กิน หัวใจเสวย หัวใจเสวยอารมณ์ อาหารของใจ มันเป็นเพราะว่าเราไม่เข้าใจจริงๆ แล้วเราไม่เห็นคุณของมันจริงๆ เราถึงว่ากินไม่ถูก ใจมันถึงว่ามืดบอดนั่นน่ะ แต่ถ้ามันเข้าใจแล้ว มันจะกินแต่สิ่งนี้แหละ เพราะกินแล้วมันไม่ให้โทษ กินแล้วมันเย็น

เพราะนิพพานดับสนิท ดับสนิท นิพพานคือเย็น “นิพพาน” ใจเย็น ใจเป็นปกติ

เขาว่านิพพานของคนมีกิเลส นอนหลับสนิทนั่นล่ะ ไอ้นี่ก็เหมือนกันใจเราชำระล้างแล้ว ชำระไปเรื่อยๆ เห็นไหม มันก็เย็นลงๆ คิดเย็นลง คิดใกล้เข้า ไม่คิดออกไป กระแสของนิพพานถึงไม่เข้ามันก็เข้ากระแส

พอเราว่านิพพานสูงแล้วเราไม่กล้าแตะ ไม่กล้าไป ใจมันไม่เป็นไป

บางอย่าง ของที่เราเห็นว่าเป็นของหนักเกินไป เราไม่กล้ายก ใจก็เหมือนกัน ถ้าเราว่าเป็นของใหญ่ ของอะไร มันไม่สู้ มันจะดูถูกตัวเราเองได้อย่างไร จะดูถูกคนอื่นไม่ได้นะ วาสนาของใครของบุคคลนั้นนะ วาสนา ทำปั๊บได้เลยก็มี ทำแล้วได้เลย ใจมันตรงอยู่แล้ว ถ้าเราเห็นว่ามันเป็น แบบว่าเป็นเหตุและเป็นผล ปฏิบัติแล้วต้องได้ มันก็เลยแบบว่าเข้าได้

ถ้าปฏิเสธอยู่ คาดหวังก็ผิด การน้อยเนื้อต่ำใจก็ผิด คาดหวังก็เป็นคาดเดา น้อยเนื้อต่ำใจก็เหมือนกับมันไม่ยอมคว้า น้อยเนื้อต่ำใจ มันก็ต้องเข้มแข็งขึ้นมา แต่ถ้าคาดหมายเกินไปก็ผิด ขึ้นก็ผิดล่องก็ผิดนะ ใจน่ะ วางลงมัชฌิมา

แล้วว่าอะไรก็ผิดไปหมดเลยเหรอ ผิดเพราะมันมีกิเลส มันถึงวางให้ผิด เราวางให้ถูกสิ พอวางให้ถูกมันก็เป็นธรรมๆ เป็นธรรมมากเข้า กิเลสมันก็ต้องจางลง จางลงนะ จางลงอ่อนลงถึงกับกับฆ่ามันเลย ถึงว่ามันตาย ตายเข้าไปเป็นชั้นๆ นะ เหลนตายก่อน แล้วก็หลานตาย แล้วก็ลูกตาย ตายเข้ามาเป็นชั้นๆ กิเลสหยาบๆ ตายไหม ความขยันหมั่นเพียรมีไหม

คนปฏิบัตินะ พอมันได้ลิ้มรสนี่มันขยัน มันมุมานะ ก็คนได้เงินได้ทองนี่ คนได้เงินได้ทองมันก็ต้องรีบคว้านะ แล้วโอกาสของเราด้วย โอกาสของเรา มีชีวิตอยู่นะ เวลามันเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาแล้วจะรู้สึก เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ตายเปล่าๆ เลย

นี่ก็เหมือนกัน เกิดมานี่ตายเปล่าๆ เลย เกิดมาตาย กำของไปด้วย กำธรรมไปด้วย ไม่เกิดมาตายเปล่า คนไม่ปฏิบัติเขายังกำบุญกำกุศลไปนะ นี่ปฏิบัติด้วย ปฏิบัติแล้วต้องกำให้ติดมือไง ถึงว่าทำแล้วให้ได้ผล กัดเพชรขาดเลยล่ะใจ กัดเพชรขาด ใจมันเข้มแข็งนะ นี่หัวใจผู้ปฏิบัติ อ่อนนอกแข็งใน อ่อนน้อมถ่อมตน แต่หัวใจมันเต็มเลย เพราะมันเหนือเพชรนะ เพชรมันยังเปลี่ยนแปลงได้ แต่ธรรมในใจนี้ ลองได้เหยียบขั้นตอนเข้าไปแล้ว อกุปปธรรม

กุปปธรรม อกุปปธรรม ธรรมที่เสื่อมและธรรมที่ไม่เสื่อม ธรรมที่ไม่เสื่อมแล้ว แต่ตอนนี้มันเสื่อมอยู่นี่ เสื่อม เจริญแล้วเสื่อมๆ ทำใจขึ้นมา สูงขึ้นมาแล้วก็เสื่อมไป ทำใจสูงขึ้นมาแล้วก็เสื่อมไป มันยังเกาะไม่ติด...เกาะติดปั๊บ ไม่เสื่อม พอไม่เสื่อมขึ้นมา ภพชาติสั้นเข้าแล้ว มันหมายเลยนะ มันบอกเลยว่าอีกกี่...(เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)