เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๖ ธ.ค. ๒๕๔๖

 

เทศน์เช้า วันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๔๖
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มีคนเขามาหานะ เขาบอกพาลูกไปบวช เวลาลูกบวชแล้วนี่ พอบวชออกมาแล้วนี่ ไม่เข้าวัดเลย แล้วแอนตี้วัดมาก แล้วจะแก้ไขอย่างไร จะแก้ไขนะ เพราะลูกไปบวชแล้วไปเห็นสภาวะต่าง ๆ แล้วไม่ยอมรับ แต่คนเรามันก็ยังเป็นอยู่นะ คือว่าเห็นพระเห็นเจ้านี่ใส่บาตรทำบุญอยู่ แต่ไม่ยอมไปวัดเลย

นี่ทิฏฐิไง ความเห็นผิดเวลาเห็นแล้วมันยึดมาก เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินี่ ถ้าความเห็นที่คัดค้านกัน เห็นไหม ทิฏฐิความเห็นต่างกัน มันจะมีขัดแย้งกัน แล้วมันจะยึดมั่นถือมั่นของมัน ทิฏฐินี้แก้ยากมาก พระนาคเสนนะ มาแก้พระมิลินทปัญหานี่ เวลาแก้พระเจ้ามิลินท์นี่แก้ยากมาก พระอรหันต์มากมายมหาศาลเลย แต่ไม่สามารถแก้ได้นะ แล้วพระนาคเสนนี่มาเกิด แต่เกิดในตระกูลของพราหมณ์ แล้วพระจะต้องไปเอาพระนาคเสนออกมาบวช

นี่ไปบิณฑบาตนะ ไปบิณฑบาตทุกวัน ๆ ไปหน้าบ้านเขาเขาไม่เคยใส่บาตรเลย เพราะเขาเป็นศาสนาพราหมณ์ เขาไม่ใช่ศาสนาพุทธ เขาไม่ใส่บาตร จน ๗ ปีนี่ ไปบิณฑบาตอยู่ ๗ ปี จนวันหนึ่งไม่มีใครอยู่ คนใช้ก็บอกว่าให้ไปก่อน นิมนต์ไปข้างหน้าก่อน แล้วเขาเดินกลับไป ไปเจอกับพราหมณ์คนนั้นไง

เขาถามว่า “ได้อะไรไหม?” เพราะไปบิณฑบาตอยู่ ๗ ปีไม่เคยได้อะไรเลย

“ได้” เขาเป็นพราหมณ์นี่ เขาโกรธมากเลยว่า ได้นี่แสดงว่าคนใช้ในบ้านใส่บาตรไป เขาไม่พอใจมาก เขาไปถามคนใช้ว่า

“วันนี้ใส่บาตรพระไปหรือเปล่า?”

“ก็ไม่ได้ใส่ ไม่เคยได้ใส่เลย” นี่แสดงว่าสมณะโกหก ถ้าพรุ่งนี้สมณะมาจะต่อว่าสมณะไง เวลาพระไปบิณฑบาต บอกว่า

“สมณะนี่โกหก ไม่ได้ใส่บาตรเลยทำไมถึงว่าได้”

“ได้สิ เพราะมายืนอยู่ ๗ ปีไม่เคยใส่บาตร ไม่เคยพูดอะไรเลย แต่เมื่อวานนี้บอก ให้นิมนต์ไปข้างหน้าก่อน”

เพราะคนใช้นิมนต์ไปข้างหน้าก่อน นี่ด้วยความเห็นว่า ขนาดที่ว่าเขาไม่ได้อาหารเลย ได้คำว่านิมนต์ไปข้างหน้าก่อน เขายังบอกว่าเขาได้ แล้วถ้าใส่บาตรนี่เขาจะได้ขนาดไหน นี่มีความเลื่อมใสไง เริ่มใส่บาตร เห็นไหม นิมนต์พระเข้าไปในบ้าน ไปฉันในบ้าน แล้วนาคเสนกุมารอยู่ในบ้านนี่ เรียนตำรานะ เรื่องพราหมณ์ ไตรเวทนี่เรียนจบหมดเลย แล้วไปเรียน พระสอน เห็นไหม สอนเรื่องอริยสัจ...ไม่รู้ไง ถ้าไม่รู้นี่ อยากเรียนไหม? อยากเรียนขอให้บวชเณร แล้วเอามาบวชเณร สอนอย่างนี้แล้วพยายามประพฤติปฏิบัติเข้าไป

นี่ความเห็นของคนนะ ๗ ปี บิณฑบาตไม่ได้อะไรเลย ก็ต้องแก้ไขกัน นี่ทิฏฐิความเห็นผิด สิ่งที่เห็นผิดนี่มันคัดค้านมาในหัวใจ พอในหัวใจมันยึดมั่นถือมั่น กิเลสนี่มีอำนาจมาก มีอำนาจในหัวใจของคน เราถึงไง ความเห็นต่าง ๆ ความเห็นที่เราคิดกันไปว่าแก้ไขยาก ๆ นี่ ความเห็นของคนนี่แก้ไขยาก ลูกของเรา เพื่อนฝูงของเรา เราจะให้มาความเห็นชอบนี่ มันเป็นไปไม่ได้ไง บางทียิ่งพูดมากยิ่งขัดแย้งมาก

สิ่งที่ขัดแย้งนี่เป็นทิฏฐิความเห็นของเขา มันต้องปล่อยให้กาลเวลาไง หรือไม่เขาก็ถึงเวลาของเขา เขาจะเห็นความอันนี้เอง ที่ว่า “อินทรีย์แก่กล้า” ความที่อินทรีย์แก่กล้านี่ ต้องบ่มมา เห็นไหม คนเกิดมาเราจะทำบุญทำทาน เราพยายามสร้างบุญกุศลของเรา เราทำของเรานี่ เรามีความเชื่อของเรา เรามีอำนาจวาสนาของเรา

ถ้าความเชื่อของเราเป็นแบบนี้ ดูนะ เวลานักขัตฤกษ์ เห็นไหม เขาปล่อยสัตว์น้ำปล่อยทีเป็นล้าน ๆ ตัวนะ รอดมา ๒๕ เปอร์เซ็นต์นี่เขาพอใจแล้ว อย่างนี้ถือว่าได้ประโยชน์มากเลย ถ้ารอดมา ๒๕ เปอร์เซ็นต์ รอดมา ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ๕ เปอร์เซ็นต์นี่เขาก็พอใจแล้ว เพราะปล่อยไปมันจะรอดตายมาขนาดไหน เราก็เหมือนกัน คนเราจะมาเกิดนี่ จิตวิญญาณจะมาเกิดมหาศาลเลย แล้วเกิดเป็นมนุษย์นี่มีสักเท่าไร

สิ่งที่เกิดเป็นมนุษย์ เห็นไหม เหมือนสัตว์น้ำ มันมีชีวิตแล้วนะ ปล่อยลงไปในแหล่งน้ำนี่ มันจะรอดตายไม่รอดตายยังต้องไปเสี่ยงเอาข้างหน้า ทั้ง ๆ ที่มันเกิดแล้วนะ แล้วจิตของเรานี่ เราเกิดมาเป็นมนุษย์ สิ่งที่จะเกิดมานี่ มันจะต้องเกิด มันต้องอาศัยบุญกุศลพาเกิดเลย แล้วเกิดมานี่ เราได้เกิดเป็นมนุษย์ แล้วพบพุทธศาสนา

แล้วถ้าเรามีความเชื่อมีความศรัทธา เห็นไหม คนเกิดเป็นมนุษย์นี้มหาศาล โลกนี้เป็นกี่พันล้านคน ศาสนาพุทธนี่มีเท่าไร แล้วศาสนาพุทธที่ประพฤติปฏิบัติมีเท่าไร แล้วประพฤติปฏิบัติเข้าไปแล้วจะตรงต่อธรรมเท่าไร ตรงต่อหลักความจริงนะ เป็นความจริงของธรรม ธรรมนี่มันจะย้อนกลับเข้ามา

แต่ของเรานี่มันมีกิเลสอยู่ แม้แต่ประพฤติปฏิบัติ เราก็ประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม นี่เวลาเขาไปวัดไปวากันน่ะ เราไปเห็นของเขานี่ เขาไปวัดถือศีลกัน เขาก็ไปนั่งคุยกัน เขาก็ไปนินทากาเลกัน เราเห็นแล้วเราก็ไม่ชอบใจ เห็นไหม นี่ศีล ถ้าเรามีความปกติของใจ เราปฏิบัติของเราเข้ามานี่ เราย้อนกลับเข้ามา แม้แต่ในการประพฤติปฏิบัติ เขายังประพฤติปฏิบัติออกนอกลู่นอกทาง แต่กิเลสถือว่าได้ปฏิบัติไง

นี่กิเลสถือว่าได้ปฏิบัติ เห็นไหม กิเลสมันบังเงา เราทำคุณงามความดีมันก็บังเงาไปกับเรา เวลาเราปฏิบัติเราถึงต้องย้อนกลับเข้ามาดูเราไง นี่ธรรมและวินัย เห็นไหม แม้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว แต่ธรรมวินัยที่วางไว้ เราพยายามเกาะธรรมเกาะวินัยไว้ แล้วพยายามเข้ามาเทียบเคียงไง เทียบเคียงว่าสิ่งนี้เป็นไปได้ไหม

สิ่งที่เทียบเคียง เห็นไหม อันนั้นเป็นปริยัติ ดูคนเวลาเขาศึกษาเล่าเรียนนี่ ยกชั้น เห็นไหม เราจบเป็นชั้น ๆ ไป อย่างการศึกษาทุก ๆ อย่างเขาจะจบออกไปได้เป็นขนาดนั้นเลย แต่ออกไปแล้วนี่เขาไปประสบความสำเร็จในชีวิตขนาดไหน ในการศึกษาของเราก็เหมือนกัน เราศึกษาเราเรียนมานี่ เราเรียนธรรมและวินัยน่ะ นั้นเป็นส่วนหนึ่ง เพราะอะไร? เพราะธรรมและวินัยนี่เป็นกิริยาของธรรม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาจากใต้ต้นโพธิ์ ใจดวงนั้นตรัสรู้มาจากใต้ต้นโพธิ์ แล้ววางธรรมวินัยไว้ให้เรา เพราะอะไร? เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่สร้างบุญบารมีมา เห็นไหม พระปัจเจกพุทธเจ้าก็รู้เหมือนกัน แต่ไม่สามารถบัญญัติเป็นสื่อออกมา สิ่งที่บัญญัติออกมานี่ บัญญัติเพื่อจะย้อนกลับ เห็นไหม แผนที่กางไว้นี่ เราอ่านแผนที่ เราลงพื้นที่นี่ สิ่งที่เป็นแผนที่นั่น จะสิ่งที่ในแผนที่ไม่สามารถเขียนไว้อีกมหาศาลเลย

เราก็เหมือนกัน ประพฤติปฏิบัติเข้าในหัวใจนี่ สิ่งที่กิเลสมันอยู่ในหัวใจ มันพยายามดัดแปลง เห็นไหม นี่ทิฏฐิในความเห็นผิด ที่ว่าเขาต่อต้าน เขาไม่ประพฤติปฏิบัติเขาก็ต่อต้านอยู่แล้ว ทิฏฐิในการเข้าไปเห็นตามความเป็นจริง เห็นไหม นี่ครูบาอาจารย์ถึงบอก “เวลาเราเห็นน่ะ เห็นจริง แต่ความเห็นของเราไม่จริง”

เราเห็นจริง ๆ เรารู้จริง ๆ เวลาจิตสงบเข้ามานี่ ถ้าคนมีนิมิตจะเป็นนิมิต คนถ้าไม่มีนิมิตก็ไม่จำเป็น เพราะบางคนนี่สงบไปเฉย ๆ ก็มี ความสงบนี้มหาศาลมาก ถึงบอกว่าเป็นอจินไตย เห็นไหม ฌานนี่เป็นอจินไตยอันหนึ่ง ความสงบนี่มันมีระดับต่าง ๆ กันมหาศาลเลย

แต่เวลาพูดขึ้นมานี่ พูดได้ว่า “มันว่าง ๆ” จะว่างของใคร พอเขาบอกมันว่าง เราก็นึกมันว่างของเรา เพราะถ้าเราว่างมาก เราเป็นอัปปนาสมาธินะ เขาว่าว่างเราก็เอาความว่างของเรานี่เข้าไปจับเลย ความจริงเขาพึ่งเริ่มปฏิบัติ เขาพึ่งปล่อยวางอารมณ์เฉย ๆ เขาไม่ได้ว่างขนาดนั้น คำว่า “ว่าง” นี่มันก็ยังมหาศาลว่าว่างขนาดไหน ว่างของใคร ใครทำอย่างไรถึงว่าง พรม เห็นไหม แบบว่าเราซุกปัญหาไว้ใต้พรมนี่ เราว่างอย่างนั้นก็ได้

แต่ถ้าการว่างแบบตรงต่อธรรม เราต้องประพฤติปฏิบัติเข้ามา เราต้องทำความสงบของใจเราเข้ามา เราจะรู้ของเราตลอดไป สิ่งนี้เป็นความว่าง มันปล่อยเข้ามาขนาดไหน ความว่างนี่ มันต้องพยายามทำบ่อยครั้งเข้า ๆ จนเป็นเอกัคคตารมณ์ จิตตั้งมั่น

ตามหลักธรรมว่า “จิตนี้เป็นนามธรรม” สิ่งที่เป็นนามธรรมนี่มันควบคุมไม่ได้ เขาว่ากันอย่างนั้นนะ ควบคุมไม่ได้ พอมันว่างสิ่งนี้คือผลไง นี่อย่างนี้มันถึงไม่ควบคุม อย่างนี้มันถึงไม่สามารถยกขึ้นวิปัสสนาได้ เราต้องทำความว่างบ่อยครั้งเข้า ๆ มันมีอยู่นะ เจ้าชายสิทธัตถะไปเรียนกับอาฬารดาบสได้สมาบัติ ๘ สมาบัติ ๘ นี่มันคุมได้ จากจตุตถฌานขึ้นอากาสานัญจายตนะ นี่จิตมันพลิกไป มันเปลี่ยนไปนี่ เห็นตลอด

สิ่งนี้มันเปลี่ยนไป จิตมันเดินไป เห็นไหม นี่ขึ้นจตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะขึ้นไป แล้วมันถอยกลับ สิ่งที่ถอยกลับ ขึ้นไปถอยกลับอยู่อย่างนี้ แล้วจิตนี้จะมีพลังงานมาก นี่ไปได้หมดไง ระลึกอดีตชาติก็ได้ เห็นนรกสวรรค์นี่เป็นไปได้หมดเลย แต่สิ่งนี้เป็นฌานโลกีย์ สิ่งนี้เกิดขึ้น แล้วตั้งอยู่ แล้วดับไป มันเกิดขึ้นมาจากใจ เป็นผู้วิเศษ

แต่ถ้าเราเอาสิ่งนี้ย้อนกลับ แต่ถ้าไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ่งนี้ก็ย้อนกลับไม่ได้ จะย้อนกลับขึ้นมาได้อย่างไร สิ่งที่เป็นนามธรรมควบคุมไม่ได้ไง เขาว่าควบคุมไม่ได้เพราะเขาไม่เคยประพฤติปฏิบัติ ถ้าเขาประพฤติปฏิบัติเข้าหลักตรงต่อธรรมนะ มันจะควบคุมได้ สิ่งนี้ควบคุมได้ จะย้อนกลับเข้ามาวิปัสสนา วิปัสสนาในอะไร?

ถ้าเราว่างขึ้นไปนี่ เราจับอะไรไม่ได้เลย มันไม่มีสิ่งใดวิปัสสนา เราก็พยายามดู เห็นไหม รำพึงขึ้นมาให้เห็นกาย ถ้ามันไม่ได้นะ เวลาเราประพฤติปฏิบัติ เราเกิดเวทนาขึ้นมานี่ เราก็ต่อสู้กับเวทนา ไม่ใช่ไปดูว่า “เวทนาหนอ ๆ” ถ้าเวทนาหนอนี่ เราไปดูเฉย ๆ แล้วมันแสดงตัวให้เราเห็น เห็นไหม เวทนานี้เกิดขึ้นมาจากอะไร? เกิดขึ้นมาจากกระดูก เกิดขึ้นมาจากเนื้อ เกิดขึ้นมาจากเอ็น เกิดขึ้นมาจากความรู้สึก มันเกิดมาจากอะไร?

เวทนาเวลาเราลุกขึ้นมานี่มันก็หายไป เห็นไหม ขณะเราขยับขาหน่อยเดียวเวทนามันก็หายไปแล้ว มันเกิดจากความยึดของใจต่างหาก คนเด็ก ๆ มันเล่นเกม มันนั่งทั้งวันเลยน่ะ มันไม่เคยมีเวทนาของมันเลย เพราะมันไปเพลินอยู่กับเกมนั้น

เวลาเราประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน เวลาเราต่อสู้เราต่อสู้ไม่ไหว เรากลับมาพุทโธ ๆ นี่ เราดึงใจของเรามาอยู่ที่พุทโธทั้งหมด มันก็ปล่อยวางได้ มันก็เหมือนกับเวทนาหนอ มันก็ดูความหนออย่างนั้น มันไม่มีปัญญาไง ถ้ามีปัญญานี่ มันต้องพยายามสิ่งที่ว่า ใคร่ครวญอย่างนี้ มันจะปล่อยวางอย่างนี้ สิ่งที่ปล่อยวางไม่มีเหตุไม่มีผลเราก็ซ้ำไป ๆ จะเป็นกายก็ได้ ถ้ากายมันนึกไม่ได้ เวทนามันต่อหน้า มันมีเวทนา

แต่ถ้าเวทนาเราผ่านไม่ได้หรือว่ามันสู้ไม่ไหว เราก็ถอยกลับมาได้ เราพิจารณากายก็ได้ เพราะมันต้องให้ตรงจริตไง ถ้าผู้วิปัสสนา เห็นไหม ด้วยดูจิตน่ะ สิ่งนี้เกาะเกี่ยวกับอะไร อารมณ์เกาะเกี่ยวอยู่กับอะไร เวลาเราโกรธนี่มันโกรธแล้วได้ผลอะไร นี่ย้อนกลับเข้ามาตรงนี้ นี่ปัญญา

สิ่งที่เป็นปัญญานี้ มันฝึกฝนแล้วมันจะเกิดภาวนามยปัญญา ปัญญาต้องเกิดจากการฝึกฝน ถ้าปัญญาไม่ได้เกิดจากการฝึกฝน ปัญญาเกิดโดยอัตโนมัตินะ นี่ไม่มีพระผู้ปฏิบัติติดสมาธิหรอก ติดในความว่างนี่ไม่มีใครติด เห็นไหม เวลาเราฝึกฝนนี่ ถ้าฝึกฝนโดยกิเลส กิเลสมันสร้างภาพว่าเป็นสภาวะแบบนั้น แล้วมันปล่อยวาง ๆ มันปล่อยวางโดยกิเลสมันบังเงา มันอาศัยการประพฤติปฏิบัติของเรา แล้วบังเงาเราไป

แล้วเราก็จะไม่ได้สมประโยชน์ของเรา แล้วเราก็เชื่อเรา กิเลสเราเชื่อเรา เห็นไหม นี่เชื่อเราเพราะอะไร? เพราะเราเข้าข้างตัวเอง พอเข้าข้างตัวเองนี่ เราก็เทียบกับธรรมวินัย “เป็นอย่างนั้น เป็นแบบพระพุทธเจ้าว่า ๆ” ...พระพุทธเจ้าไม่ได้ว่าอย่างนั้น พระพุทธเจ้าพูดถึงว่าให้ทวนกระแส ให้ย้อนกลับ

แต่นี้มันออกไปรับรู้นี่ มันทวนกระแสหรือไม่ทวนกระแสล่ะ มันออกไปรับรู้ตามอำนาจ เป็นเงาของใจ เห็นไหม อาการของใจเกิดจากใจทั้งหมด สิ่งที่เกิดจากใจนี้มันต้องสงบตัวเข้ามา แล้วมันต้องปล่อยวางเข้ามา แล้วมันจะละเอียดอ่อนมาก มันจะลึกลับมหัศจรรย์มาก

เวลามันเข้าไปถึงภายในนะ มันจะเห็นความละเอียดมากกว่านั้นอีก เพราะอะไร? เพราะมรรค ๔ ผล ๔ เห็นไหม โสดาปัตติมรรคนี่ มันก็เป็นสิ่งที่หยาบ ๆ สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรคมันจะละเอียดเข้าไปมาก ละเอียดเข้าไปขนาดไหน จนมันแบบว่าพระพุทธเจ้าท้อใจนะ “จะสอนได้อย่างไร ใครจะรู้สิ่งนี้ได้” สิ่งนี้มันจะลึกลับมหัศจรรย์ ปัญญาขนาดนั้นนะ

แล้วปัญญาอย่างเรานี่ ปัญญาสาวกะสาวกผู้ได้ยินได้ฟัง จะได้ยินได้ฟังก็มีอำนาจวาสนา เห็นไหม เวลาเขาปล่อยปลาลงไปในแหล่งน้ำนี่ ปลามันต้องพยายามดำรงชีวิตของมันอยู่ เรามีอำนาจวาสนา เรามีปัญญา เราจะเอาสิ่งนี้บำรุงหัวใจของเรา ถ้าเรามีกำลังใจ เราเชื่อมั่นในธรรม เราจะทำสิ่งนี้ได้ ถ้าเราไม่มีกำลังใจนะ เหมือนปลาอยู่ในแหล่งน้ำนี่ มันไปตามกระแสของมัน อาหารมันก็ไม่แสวงหา มันไม่พยายามประคองตัวมันไว้ มันต้องตายแน่นอนเลย

ใจของเราก็เหมือนกัน เราเกิดมาเป็นมนุษย์นี่ เห็นไหม กรรมพาแต่งมา เราได้เกิดมาแล้วนี่ แล้วเราพบพุทธศาสนานี่ เรามีกำลังใจไหม ถ้ามีกำลังใจเราจะพยายามเกิดในธรรมไง เกิดตาย ๆ ในวัฏฏะนี่ เกิดตายมาตลอด ถ้าเราเกิดในธรรม เห็นไหม มีดวงตาเห็นธรรม ยกขึ้นวิปัสสนาทำแล้วทำเล่าอยู่อย่างนั้น สมบัติอันนี้ เห็นไหม พ่อแม่ลูกหลานนี่พึ่งพาอาศัยกันได้ เจือจานกันได้

แต่การประพฤติปฏิบัติน่ะ ครูบาอาจารย์แค่ชี้นำเท่านั้น เพราะมันต้องเป็นปัจจัตตัง มันต้องถึงบางอ้อไง ต้อง “อ๋อ...” ขึ้นมาจากใจดวงนั้น ใจดวงนั้นมีกิเลสปิดบังอยู่ ใจดวงนั้นมันต้องเพิกถอนของใจดวงนั้นเอง แต่วิธีการครูบาอาจารย์ชี้นำได้ ครูบาอาจารย์พยายามตบให้เข้าทางไง จะต้องพยายามดึงให้เข้าทาง

สิ่งที่มันออกไปนี่ กิเลสมันพยายามดึงออกไปข้างนอก มันถึงไม่มัชฌิมาปฏิปทาไง อัตตกิลมถานุโยค ทำให้ความทุกข์ ทำให้เดือดร้อน เราคิดกันอย่างนั้น แล้วเราจะไม่ทำ กามสุขัลลิกานุโยค นี่เสวยความสุขนะ ว่างมีความสุข มีความพอใจ สิ่งนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ไม่ใช่ทางทั้งหมด” ต้องมัชฌิมาปฏิปทา คือการทำงานของเรา คือทำความเพียรของเรา ผลจะเกิดขึ้นมาขนาดไหนเป็นเรื่องของผลไง

นี่เกิดในธรรม มีดวงตาเห็นธรรมเพราะเห็นสภาวธรรมเกิดขึ้น มันมหัศจรรย์มาก มันชำระกิเลส มันตัดออกไปจากใจนะ กิเลสนี่สามารถชำระได้ กิเลสนี่อยู่กับหัวใจของเรา เพราะหัวใจของเราพาตายพาเกิด อวิชชาตัวไม่รู้ มันไม่รู้ธรรม แต่มันรู้ตัวมันเอง แต่มันไม่รู้ธรรม เห็นไหม อวิชชารู้ตัวมันเอง แล้วมันก็ยึดตัวมันเอง มันแน่นะ ใจของคนนี่ เวลาเราคิด เห็นไหม เด็กหรือใครก็แล้วแต่เวลาคิดนี่ คิดจินตนาการมหาศาลเลย โลกของเรา โลกทัศน์นี่มันจะกว้างหมด คิดไปได้หมดเลย

นี่เวลากิเลสมันเกิดมันเกิดอย่างนั้นไง เรารู้ เราชำนาญ เราพยายามนึกของเราไว้ กิเลสนี้พองตัวในหัวใจของเรา มันข่มขี่เราแล้วนะ แล้วมันก็ยังว่ารู้มากกว่าคนอื่น ดีกว่าคนอื่น...ไม่มีความจำเป็น แพ้เป็นพระ ดูใจของเรา ใจของเรานี่อย่าให้ไปเบียดเบียนคนอื่น

ถ้าเราเบียดเบียนคนอื่น นั้นมาร มารมันแสดงตัวแล้ว มันเบียดเบียนทุก ๆ คนไป ถ้ามันไม่เบียดเบียนตนเองนะ มันจะไม่เบียดเบียนคนอื่นเลย นี่มันเบียดเบียนตนโดยที่เราไม่รู้เลย นี่อวิชชา นี่ปัญญาเข้าไปไล่ต้อนสิ่งนี้ ถ้าทำสิ่งนี้ขึ้นไป นี่เกิดในธรรม เหมือนกับปลาที่ดำรงชีวิตในแหล่งน้ำ มันสามารถดำรงชีวิตของมันได้ ใจของเราก็เหมือนกัน ถ้าดำรงชีวิตสิ่งนี้ได้ ทำให้มันเกิดขึ้นมาได้ เราจะไม่ต้องเวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะนั้นหมด

ปลาตายไปแล้วนี่ปลามันมีวิญญาณ เห็นไหม สัตว์ทุกอย่างมีชีวิตมันมีวิญญาณ ตายแล้วมันก็ต้องเกิดสภาวะของมัน ดูอย่างแมลง ดูอย่างนี่ เขาเกิดชั่วครั้งชั่วคราวแป๊บเดียว ๗ วัน ๓ วัน แล้วแต่ เขาตายแล้ว นี่สัตว์บางชนิดเกิดแป๊บตายแล้ว ๆ นี่วัฏฏะเขาหมุนไปขนาดนั้น แล้วเราเกิดเป็นมนุษย์นี่ เรามีปัญญา แล้วเราพยายามแสวงหาของเรา เห็นไหม ปลาถ้ามันฉลาดมันก็ดำรงชีวิตของมันได้ แล้วมันดำรงชีวิตไปอย่างนั้นมันก็เป็นปลา

แต่เราเป็นมนุษย์ ถ้าเราทำใจของเรา เราเป็นมนุษย์ด้วย แล้วเราพบพุทธศาสนาด้วย ถ้าใจดวงนี้เกิดในธรรม อย่างมาก ๗ ชาติ พระอานนท์ เห็นไหม เป็นพระโสดาบันขึ้นมา พระพุทธเจ้าบอก “อานนท์ เธอทำบุญกุศลไว้มาก เธอจะต้องบรรลุโดยแน่นอน จะต้องถึงที่สุดแห่งทุกข์แน่นอน” พระอานนท์ทำไปนี่ เป็นพระโสดาบันอีก ๗ ชาติ ก็ทำเดี๋ยวนี้จนถึงที่สิ้นสุด

นี่พ้นจากกิเลส จะไม่ต้องเกิดอีกเลย ปลามันดำรงชีวิตอยู่ มันถึงที่สุดมันต้องอยู่ในวัฏฏะ มันต้องตายต้องเกิด ถ้าถึงธรรมแล้วไม่ต้องเกิดอีก แล้วเข้าใจนะ ตั้งแต่วันที่ชำระกิเลสแล้ว ตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชำระกิเลสแล้วจะไม่มีทุกข์เข้าไปในหัวใจเลย

แล้วเข้าใจเรื่องของโลก โลกเป็นแบบนั้น สภาวธรรมเป็นแบบนั้น นี่ปล่อยวางอย่างนั้น คนหยาบมันหยาบอย่างนั้น คนละเอียดละเอียดอย่างนั้น มันติดกันไปหมด สิ่งที่ติดไปหมดนั้นเป็นเรื่องของโลก เราดูเขาแล้วมันสะท้อนกลับมาถึงใจนะ นี่มันถึงว่า “โอ้โห...ทิฏฐิความเห็นนี่มันรุนแรงมาก” ความยึดของใจรุนแรงมาก ถ้าความเห็นไปยึดมันก็ทำให้ชีวิตนั้นลุ่ม ๆ ดอน ๆ ไป

ถ้าความเห็นถูก เห็นไหม คนมีธรรมในหัวใจ สิ่งใด ๆ ในสิ่งที่เป็นของของเรา จะเป็นประโยชน์หมดเลย แล้วเราประพฤติปฏิบัติเป็นอริยทรัพย์ ไม่ใช่สมบัติภายนอก อริยทรัพย์ภายใน ถึงที่สุดแล้วใจนี่พ้นจากทุกข์นะ พ้นจากทุกข์ทั้งหมด ทุกข์ที่เกิดกับเรานี่ดับได้หมด แล้วที่ว่าเราทุกข์นี่มันเป็นเครื่องยืนยัน เรามีอยู่แล้ว แล้วสุขที่มันดับได้หมดนี่ เราพยายามแสวงหา แล้วจะสมความปรารถนา เอวัง